ดับไม่เหลือ

ดับไม่เหลือ

อย่าเข้าใจว่าต้องเรียนมาก ต้องปฏิบัติลำบากจึงพ้นได้
ถ้ารู้จริงสิ่งเดียวก็ง่ายดาย รู้ดับให้ไม่มีเหลือเชื่อก็ลอง
เมื่อเจ็บไข้ความตายจะมาถึง อย่าพรั่นพรึงหวาดไหวให้หม่นหมอง
ระวังให้ดีดีนาทีทอง คอยจดจ้องให้ตรงจุดหยุดให้ทัน
ถึงนาทีสุดท้ายอย่าให้พลาด ตั้งสติไม่ประมาทเพื่อดับขันธ์
ด้วยจิตว่างปล่อยวางทุกสิ่งอัน สารพันไม่ยึดครองเป็นของเรา
ตกกระไดพลอยโจนให้ดีดี จะถึงที่มุ่งหมายได้ง่ายเข้า
สมัครใจดับไม่เหลือเมื่อไม่เอา ก็ ” ดับเรา ” ดับตนดลนิพพาน

เพื่อท่านพุทธทาส
โดย น.พ.สันต์ หัตถีรัตน์
ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันเสาร์ที่ ๑๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๖

ท่านพุทธทาสภิกขุ อาพาธด้วยโรคหลอดเลือดในสมองแตก ตั้งแต่วันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๖ หลังจากที่ท่านเคยอาพาธมาหลายครั้งด้วยโรคต่าง ๆ ตามวัยและสังขารตามธรรมชาติ
ในการอาพาธครั้งนี้ ท่านหมดสติ (ไม่รู้สึกตัว) แพทย์บอกว่า ถ้าเป็นในคนหนุ่มสาวคงตายแล้ว เพราะในคนหนุ่มสาว เนื้อสมองจะแน่นเต็มกระโหลกศีรษะ เลือดออกไม่มากนักก็กดเนื้อสมองได้มาก ทำให้ตายได้อย่างรวดเร็ว แต่ในคนสูงอายุ เนื้อสมองหดเล็กลง (สมองฝ่อ) จึงมีช่องว่างให้เลือดออกมาแทรกอยู่ได้โดยไม่กดเนื้อสมองมากนัก
อย่างไรก็ตาม ในกรณีของท่านพุทธทาส เลือดที่ออกได้กดเนื้อสมองมากจนทำให้หายใจเองไม่ได้ และระบบไหลเวียนเลือดล้มเหลว จึงต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ และต้องใช้ยาช่วยหัวใจและระบบไหลเวียนเลือด และอื่น ๆ เพื่อไม่ให้ท่านมรณภาพ
เมื่อครั้งที่ท่านพุทธทาสอาพาธด้วยภาวะหัวใจวายจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบในเดือนตุลาคม ๒๕๓๔ คณะแพทย์ต้องการนิมนต์ท่านไปรักษาที่กรุงเทพฯ ท่านตอบว่า “สำหรับกรุงเทพฯ ไม่ถูกกับอาตมา โโยรูป โดยกลิ่น โดยเสียง โดยรส โดยโผฏฐัพพะ มันไม่ถูกกับอาตมา” ท่านยืนยันที่จะรักษาตนอยู่ที่วัด และท่านก็หายจากการอาพาธได้อย่างเรียบร้อย เช่นเดียวกับการอาพาธจากหลอดเลือดในสมองแตกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๓๕ หลังจากนั้น ท่านพุทธทาสภิกขุได้ปรารภเกี่ยวกับสังขารของท่านเรื่อยมา แม้ในเวลาเพียงไม่กี่วันก่อนการอาพาธหนักครั้งนี้ ท่านก็ยังปรารภว่า
“เราจะตาย แต่เขาไม่ยอมให้ตาย” (น.พ.บัญชา/กุมภาพันธ์ ๒๕๓๖)
“เราเบื่อชีวิต เราเบื่อที่จะฉันอาหาร เบื่อทุกสิ่งทุกอย่าง รักนิพพานมากขึ้นเรื่อย ๆ ” (น.พ.ดวงศักดิ์/พฤษภาคม ๒๕๓๖)
“น่ากลัวอาการเดิมจะมา อาการเดิมที่เป็นคราวก่อน… พรเทพเอาย่ามของเราไปเก็บ แล้วก็เอากุญแจในกระเป๋านี่ไปด้วย เราไม่อยากตายคากุญแจตู้เอกสาร….” (ท่านพรเทพ/เช้าวันที่ ๒๕ พฤภาคม ๒๕๓๖)
การยืดการตายในผู้ป่วยที่สูงอายุและป่วยหนักหลายครั้งแล้ว และยังได้แสดงเจตนารมณ์อย่างชัดเจนไว้ครั้งแล้วครั้งเล่าว่า “จะขอตายตามธรรมชาติ อย่าใช้เครื่องช่วยหายใจ อย่าใส่ท่อใส่สายยาง เจาะนั่นเจาะนี่และขอตายที่วัด” นั้น เป็นการถูกต้องชอบธรรมแล้วหรือ?
ถ้าท่านพุทธทาสเป็นเพียงพระเงื่อม หรือหลวงตาแก่ ๆ ที่ไม่มีชื่อเสียง ท่านคงจะได้จากไปด้วยความสุขสงบตามควรแก่อัตตภาพมาหลายวันแล้ว แต่ทำไมคนที่ทำดีปฏิบัติดี กลับต้องได้รับความทุกข์ทรมานอย่างสาหัสในวาระสุดท้ายเช่นนี้เล่า ?
ท่านพุทธทาสได้วิริยะอุตสาหะปฏิบัติธรรมและเผยแพร่ธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าอย่างแท้จริง ไม่แปรเปื้อนด้วยพิธีกรรมและเดียรัจฉานวิชาที่บ่อนทำลายพระพุทธศาสนา ท่านจึงเป็นที่ชื่นชม บูชา และเลื่องลือไปทุกสารทิศ รวมทั้งนานาอารยประเทศ
แต่กรรมดีที่ท่านได้พากเพียรปฏิบัติและสั่งสมมาตลอดชีวิต กลับตามสนองให้วาระสุดท้ายของท่านตกอยู่ในความทุกข์ทรมาน ในสภาพ “จะตายก็ตายไม่ได้ จะเป็นก็เป็นไม่ได้” ด้วยเครื่องไม้เครื่องมือต่าง ๆ ใน ไอซียู หรือ อาร์ซียู ของโรงพยาบาลอย่างอ้างว้างโดดเดี่ยวเหลือเกินในวาระสุดท้าย เพราะคนที่เคยอยู่ใกล้ชิดไม่สามารถเข้าไปอยู่เคียงกายคอยปรนนิบัติท่านได้
เราที่เป็นพุทธศาสนิกชน ควรตอบแทนคุณงามความดีของท่าน ด้วยการกระทำที่ขัดกับเจตนารมณ์ของท่านอย่างนั้นหรือ ?
การอ้างว่า การรักษาพยาบาลเหล่านั้นเป็นการช่วยชีวิต และจะทำให้ท่านพุทธทาสหายเป็นปกติได้ เป็นการสร้างความหวังที่มิอาจเป็นจริงได้ เพราะการกระทำเหล่านั้นมิได้เป็นการช่วยชีวิต มันเพียงแต่ช่วยเพิ่มตัวเลขอายุ (เป็นวันหรือเป็นเดือน) ตัวเลขชีพจร ตัวเลขความดันและอื่น ๆ โดยผู้ที่ถูกยืดการตายนั้นต้องทนทุกข์ทรมานอย่างสาหัส บางคนอาจจะแย้งว่า ผู้ป่วยหมดสติแล้วไม่ทรมานหรอก หรือถ้ามีสติ แพทย์ก็ให้ยานอนหลับและยาแก้ปวดให้ไม่ต้องทรมานได้
คนที่ชอบแย้งเช่นนั้น น่าจะลองให้แพทย์ใส่ท่อช่วยหายใจ ใส่ท่อให้อาหารทางจมูก ใส่ท่อสวนปัสสาวะ และมัดมือมัดเท้ากันดิ้นจนไม่สามารถช่วยตนเองได้เลย แล้วจะได้รู้ซึ้งถึงความทุกข์ทรมานที่เกิดขึ้น
การทรมานตนเอง ย่อมเป็นบาป
การทรมานผู้อื่น ยิ่งเป็นปาปหนัก
แต่เราก็ยังยอมให้คนที่เรารักและบูชาต้องถูกทรมานโดยความประสงค์ของเรา หรือโดยการกระทำของเรา เรายอมให้คนที่เรารักและบูชา ต้องทนทุกข์ทรมานเพียงเพื่อเราจะได้รู้สึกว่าท่านยังอยู่กับเรา
ท่านจะต้องทนทุกข์ทรมานเพียงใด เราไม่สนใจ ขอเพียงแต่ให้ท่านอยู่กับเราต่อไป แม้จะอยู่ในสภาพ
“จะตายก็ตายไม่ได้ จะเป็นก็เป็นไม่ได้” ก็ตาม นับว่าความต้องการเช่นนี้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของตัวเราเองโดยแท้ โดยไม่ได้คำนึงถึงประโยชน์ของผู้ป่วยซึ่งเป็นผู้ที่เรารักและบูชาแต่อย่างใด
จึงนับว่าเป็นความเห็นแก่ตัว
หากความเห็นแก่ตัวเช่นนี้ยังคงดำรงอยู่ ท่านพุทธทาสที่เรารักและบูชาจะต้องทนทุกข์ทรมานต่อไปอย่างไม่มีกำหนด
เจตนารมณ์ที่จะปลงสังขารตามธรรมชาติในวัดที่ท่านสร้างและได้พำนักมาตลอด ได้ถูกทำลายลงโดยไม่ได้สำเหนียกถึงพุทธธรรมและธรรมชาติที่ท่านพุทธทาสได้พร่ำสอนอบรมให้
ผู้ที่ได้ประโยชน์จากการยืดการตายท่านพุทธทาสจึงไม่ใช่ท่านพุทธทาส แต่กลับเป็นบุคคลต่าง ๆ เช่น
๑.) ผู้ที่ต้องการทำตามความปราถนาของตนมากกว่าความปราถนาของท่านพุทธทาส เพราะต้องการลดความห่วงหาอาลัยของตนลงเป็นสำคัญ โดยไม่คำนึงถึง ท่านพุทธทาส ของ ท่านพุทธทาส
๒.) แพทย์พยาบาลที่ได้มีโอกาสทดลองวิธียืดการตายแบบต่าง ๆ
๓.) ผู้เข้าใจผิดเป็นเหตุให้ท่านพุทธทาส ได้รับความทุกข์ทรมานในวาระสุดท้าย ทำให้จิตใจของ ท่านพุทธทาส ไม่สามารถนิ่งสู่ความสงบและบบรลุนิพพานได้ เนื่องจากความทุกข์ทรมานทางกายและความวุ่นวายของแพทย์พยาบาลต่าง ๆ เป็นต้น
สังคมไทยบางส่วนได้เปลี่ยนไปเป็นสังคมที่โหดเหี้ยมถึงเพียงนี้แล้วหรือ ?

กลับขึ้นข้างบน

บทเรียนจากกรณีอาพาธ ของท่านพุทธทาส
โดย น.พ.สันต์ หัตถีรัตน์
* * ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์สยามโพสต์ ฉบับวันศุกร์ที่ ๙ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๓๖
ในขณะที่เขียนบทความนี้ (คืนวันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๓๖) การอาพาธของท่านพุทธทาสได้ทรุดลงอย่างมาก เช่น :-
๑. ไตของท่านหยุดทำงานหรือทำงานไม่พอ (ไตวาย) จนท่านบวมทั้งตัว และต้องทำการฟอกเลือด
๒. ปอดอักเสบ สายเสียงอักเสบ คออักเสบ ฯลฯ เพราะใส่ท่อช่วยหายใจมานานจึงต้อง “เจาะคอ” ช่วยหายใจแทน
๓. หัวใจทำงานไม่ไหว (หัวใจวาย) เพราะต้องแบกรับภาระการสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ที่กำลังจะหมดแรงทำงานเช่นเดียวกัน และเพราะเป็นโรคหัวใจอยู่ด้วย
๔. สมองของท่านก็อาจถือได้ว่าเกือบไม่ทำงานแล้ว (สมองวาย)
การอาพาธของท่านพุทธทาส ได้ให้บทเรียนแก่เราชาวไทยและเราชาวพุทธหลายประการ
ก. ด้านแพทย์ เช่น :-
ก.๑ ความคาดหมาย (การอนุมานโรค) ต่าง ๆ ของแพทย์ ผิดพลาดอย่างมหันต์ เช่น การคาดหมายว่า
(๑) ท่านพุทธทาสจะดีขึ้นถ้าได้รับการเคลื่อนย้ายมารักษาที่กรุงเทพฯ
(๒) ท่านพุทธทาสจะหายเป็นปกติ หรือหายจนสามารถเทศน์ให้ญาติโยมฟังใหม่ได้
ก.๒ คำมั่นสัญญาต่าง ๆ ของแพทย์ เชื่อไม่ได้ เช่น :-
(๑) ไม่เจาะคอแน่ ๆ ก็ได้ทำการเจาะคอแล้ว
(๒) ไม่เจาะนั่นเจาะนี่หรือผ่านั่นผ่านี่ ก็ได้ทำแล้ว เช่น การผ่าตัดใส่สายต่าง ๆ การฟอกเลือดเป็นต้น
ก.๓ แถลงการณ์ของแพทย์ไม่โปร่งใสและสร้างความสับสนแก่ประชาชน เช่น แทนที่จะแถลงว่า “อาการดีขึ้น เลวลง หรือคงเดิม” กลับแถลงถึงตัวเลขชีพจร อุณหภูมิ ความดันเลือด จำนวนปัสสาวะ และผลการตรวจเลือด แล้วสรุปว่าปกติหรือใกล้ปกติ แต่ยิ่งรักษา อาการอาพาธยิ่งทรุดลง จนทำให้สงสัยว่า แถลงการณ์ต่าง ๆ เหล่านั้นเกิดจาก อวิชชา (ความโง่เขลา) ตัณหา (ความทะยานอยาก) หรืออุปาทาน (ความยึดมั่นถือมั่นอย่างหลงผิด) กันแน่
ข. ด้านการรักษาพยาบาล : จากกรณีของท่านพุทธทาส ทำให้เห็นได้ชัดว่าการรักษาพยาบาลที่ขัดกับเจตนารมณ์ของผู้ป่วยสามารถกระทำได้ในประเทศไทย ต่อไปในอนาคตคงจะไม่ต้องให้ผู้ป่วยเซ็นชื่ออนุญาตให้แพทย์ผ่าตัดได้ หรือรักษาพยาบาลใด ๆ เพราะแพทย์จะทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาต และถึงแม้ว่าผู้ป่วยจะไม่ยอมไปโรงพยาบาล แพทย์ก็สามารถจะไปเอาตัวมาจากบ้าน และถือว่าเป็นผู้ป่วยของตน และของโรงพยาบาลได้ การรักษาพยาบาลเพื่อยืดการตาย แม้จะเป็น “การตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ” เป็นการทำลายทรัพยากร (ธรรมชาตฺและสิ่งแวดล้อม) เป็นการทรมานผู้ป่วยและญาติมิตร และเป็นการเบียดเบียนผู้ป่วยอื่นและสังคม แต่กลับยอมรับกันว่าถูกต้อง เพราะได้กระทำอย่างครึกโครมและมีเกียรติ (ได้ออกโทรทัศน์ด้วย
ค. ด้านศาสนา : แม้จะมีผู้อ้างว่าท่านพุทธทาสได้ “ดับขันธ์” แล้ว ตั้งแต่วันที่ ๒๕ หรือ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๓๖ แต่เราคงจะต้องยอมรับว่า กระบวนการยืดการตายได้กระตุกภาวะ “ละร่าง” หรือ “ละขันธ์” นั้น ให้กลับมาใหม่เป็นครั้งเป็นคราวได้ จนคณะแพทย์ถึงกับออกแถลงการณ์หลายครั้งว่า “ท่านกระดิกนิ้วได้แล้ว ลืมตาแล้ว รู้เรื่องแล้ว เพราะแววตาของท่านแสดงว่าท่านรู้เรื่อง” เป็นต้น ทำให้การ “ละขันธ์” ของท่านต้องถูกกระชากกลับเป็นครั้งคราว ไม่อาจบรรลุสู่ความสุขสงบอันเป็นนิรันดรได้
ง. ด้านค่านิยมและวัฒนธรรมใหม่ : การรักษาพยาบาลท่านพุทธทาสและการแถลงข่าวอย่างครึกโครม สร้างความมั่นคงให้แก่ค่านิยมใหม่และวัฒนธรรมใหม่ เช่น
(๑) การยอมรับการตายในโรงพยาบาล (โดยเฉพาะการตายใน ไอ.ซี.ยู. ในโรงพยาบาล) ว่าเป็นการตายที่ดีที่สุด
(๒) การยอมรับคำวินิจฉัยและคำตัดสินของแพทย์โดยไม่มีเงื่อนไข หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ แพทย์จะทำอะไรก็ได้ ผู้ป่วยและญาติจะปฏิเสธไม่ได้ แม้แพทย์จะผิดคำมั่นสัญญาหรือขาดวิจารณญาณที่ดีก็ตาม
(๓) การยอมรับการแทรกแซงจากผู้อื่น (ที่ไม่ใช่ญาติของผู้ป่วย) โดยแพทย์ ในการเคลื่อนย้ายและการรักษาพยาบาลผู้ป่วย
ท่านพุทธทาสได้ให้คุณประโยชน์แก่มนุษยชาติอย่างมหาศาลทั้งในยามปกติและยามป่วย การอาพาธของท่านได้ให้บทเรียนแก่มนุษยชาติอย่างมากมาย
ถ้ามนุษยชาติไม่สามารถนำบทเรียนเหล่านี้มาศึกษาให้เข้าใจแล้ว ความทุกข์ทรมานจากการรักษาพยาบาลที่ไท่จำเป็นและไม่ถูกต้อง ย่อมจะเกิดขึ้นอีกและจะเกิดขึ้นตลอดไป.
กลับขึ้นข้างบน

๘ กรกฎาคม ครบรอบปี มรณกาล ท่านพุทธทาส
โดย น.พ.สันต์ หัตถีรัตน์
ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันเสาร์ที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๔๓
ท่านอาจารย์พุทธทาสภิกฺขุ (อินฺทปัญโญ) ได้จรรโลงพุทธศาสนาที่แท้จริงตามหลักธรรม

“ธรรม” ในความหมายของท่านคือ:-

๑. ธรรมชาติ

๒. กฏของธรรมชาติ

๓. หน้าที่ตามกฏของธรรมชาติ

๔. ผลที่ได้รับจากการทำหน้าที่

พุทธศาสนาตามหลักธรรมหรือพุทธธรรม จึงเป็นวิทยาศาสตร์ รู้เองเห็นเองได้ (สันทิฏฐิโก) ไม่ขึ้นกับกาลเวลา (อะกาลิโก) และเป็นของจริงที่พิสูจน์ได้ (เอหิปัสสิโก)
ซึ่งตรงข้ามกับสิ่งที่ถูกเรียกว่า “พระพุทธศาสนา” ที่ต้องพึ่งพาพิธีกรรม ไสยศาสตร์ การปลุกเสก การมอมเมาและอื่น ๆ ที่ตื่นตกอยู่ในปัจจุบัน
เมื่อเข้าสู่วัยชรา ท่านพุทธทาสอาพาธหนักหลายครั้ง เช่น
ในเตือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๔ ท่านเกิดภาวะหัวใจวายจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ คณะแพทย์ต้องการนิมนต์ท่านไปรักษาที่กรุงเทพฯท่านตอบว่า
“สำหรับกรุงเทพฯ นั้น ไม่ถูกกับอาตมา โดยรูป โดยกลิ่น โดยเสียงโดยรสโดยโผฏฐัพพะมันไม่ถูกกับอาตมา”แล้วท่านก็รักษาตนอยู่ที่วัดและหายอาพาธ
ได้เรียบร้อย เช่นเดียวกับการอาพาธจากโรคหลอดเลือดในสมองแตกในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๕
ในการอาพาธหนักครั้งสุดท้ายด้วยโรคหลอดเลือดสมองแตกอีกในวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๓๖ ในเช้าวันนั้นก่อนที่ท่านจะอาพาธ ท่านกล่าวกันท่านพรดทพ (พระที่ช่วยงานท่าน) ว่า “น่ากลัวอาการเดิมจะมา อาการเดิมที่เป็นคราวก่อน….พรเทพเอาย่ามของเราไปเก็บ แล้วก็เอากุญแจในกระเป๋านี่ไปด้วย เราไม่อยากตายคากุญแจตู้เอกสาร…..”
แสดงว่าท่านทราบล่วงหน้าด้วยตัวท่านเองแล้วว่า วันนั้นท่านจะอาพาธอีกและไม่รอด จึง “ไม่อยากจะตายคากุญแจตู้เอกสาร” แล้วเย็นวันนั้นเอง ท่านก็หมดสติจากหลอดเลือดสมองแตก และคงจะได้จากไปอย่างสงบตามธรรมชาติในวัดที่ท่านได้สร้างและพำนักมาโดยตลอด และไม่ต้องได้รับความทุกข์ทรมานใด ๆ ที่ไม่จำเป็น
แต่แล้วท่านก็ถูกยื้อยุดฉุดคร่าไปโรงพยาบาล และไปรักษาที่กรุงเทพฯ ทำให้ท่านต้องผ่านกระบวนการ “การตาย” ที่ผิดธรรมชาติ จนถึงวันที่ ๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๖ ผู้รักษาท่านจึงยอมให้ท่านตาย (หลังจาก “ทรมาน” ท่านไว้เดือนเศษ)
“การตาย” ของท่านจึงทำให้สังคมได้ฉุกคิดว่า
๑.การยื้อยุดฉุดคร่าผู้ป่วยไปรับการรักษา ทั้งที่ผู้ป่วยได้ยืนยันไว้อย่างชัดเจนหลายครั้งว่าไม่ปรารถนาเช่นนั้น ถูกต้องหรือไม่ ถูกกฏหมายหรือไม่
๒. การกระทำเพื่อยืดการตาย (หรือที่ชอบเรียกกันว่า ยืดชีวิต) ของ “ผู้ป่วยที่หมดหวัง” ซึ่งทำให้ผู้ป่วย ญาติ และสังคมต้องได้รับความทุกข์ทรมานมากขึ้นและนานขึ้นนั้น สมควรหรือไม่
๓. การตายในโรงพยาบาลเป็นการตายที่ดีที่สุดหรือ การตายที่ต้องผ่านกระบวนการทุบอก กระแทกอก เพื่อนวดหัวใจ การใช้ไฟฟ้าช็อกหัวใจ การใส่สายระโยงระยางต่าง ๆ การเจาะคอ เป็นการตายที่น่าปรารถนาหรือ
อันที่จริง “การตายในโรงพยาบาล” เกือบทั้งหมดเป็นการตายที่ผิดธรรมดา – ผิดธรรมชาติ เพราะเป็นการตายที่ต้องผ่านกระบวนการต่าง ๆ โดยน้ำมือของผู้อื่น
การตายที่ผิดธรรมดา – ผิดธรรมชาติ ตายโดยน้ำมือของผู้อื่น (น้ำมือแพทย์ – พยาบาล) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ เรียกว่า “ตายโหง”
แล้วทำไมคนไทยในปัจจุบัน โดยเฉพาะคนร่ำรวยหรือมีอำนาจวาสนา จึงชอบตายในโรงพยาบาล จนวัฒธรรมแห่ง “การตายในโรงพยาบาล” ได้แผ่ไปครอบงำคนไทยทุกชั้นวรรณะ ยิ่งได้ตายใน ไอซียู ( Intensive Care Unit ) ซีซียู (Cardiac Care Unit ) หรือ ยู พิเศษอื่น ๆ ยิ่งรู้สึกโก้เก๋ จนต้องนำไปโอ้อวดกันประหนึ่งว่า ญาติของตนได้รับการรักษาดีที่สุดและได้ตายดีที่สุดแล้ว
“การตาย” ของท่านพุทธทาสจึงได้กระตุกผู้คนให้ตื่นขึ้น และเริ่มพินิจพิจารณาถึง “แนวทางการดูแล รักษาผู้ป่วยที่หมดหวัง” อย่างจริงจัง
แต่ก็น่าเสียใจ ที่ผ่านไปหลายปีแล้ว ยังไม่มี “แนวทางการดูแล รักษาผู้ป่วยที่หมดหวัง” อย่างเป็นทางการจากแพทยสภา แพทยสมาคม วิทยาลัยและราชวิทยาลัยแพทย์ สภาการพยาบาล สภาสังคมสงเคราะห์ สภาทนายความ มหาเถรสมาคม สมาคมสังคมศาสตร์ และสถาบันอื่น ๆ
“ผู้ป่วยที่หมดหวัง” จึงมักถูกถูลู่ถูกัง และปู้ยี่ปู้ยำไปตามกิเลสของผู้ที่เกี่ยวข้อง จนแม้แต่ใน “คำประกาศสิทธิผู้ป่วย ๑๐ ประการ” ของแพทยสภา สภาการพยาบาล สภาเภสัชกรรม ทันตแพทยสภา และคณะกรรมการประกอบโรคศิลปะที่ประกาศไว้ตั้งแต่วันที่ ๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๑ ก็ยังไม่ครอบคลุมถึง “สิทธิที่จะตายตามธรรมชาติและโดยธรรมชาต” และ “สิทธิที่จะกำหนดการรักษาพยาบาลสำหรับตนเอง” ของผู้ป่วย ทั้งที่รัฐธรรมนูญปัจจุบันได้เน้นสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชนทุกคน ไม่เว้นแม้แต่ผู้ป่วย และใช้บังคับมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๐ แล้ว
ท่านพุทธทาสได้กล่าวถึง “การตาย” ว่า มี ๒ ชนิด
๑. การตายในภาษาคน คือการสิ้นชีวิต หรือการแตกดับของร่างกาย
๒. การตายในภาษาธรรม คือ การตายจากกิเลส การตายจาก “ตัวกู – ของก”
ท่านเรียก ” การตายโดยไม่อยากตาย “ว่าเป็น “การตายโหง” ด้วย เพราะเป็นการตายที่ยังดิ้นรนต่อสู้อยากมีชีวิตอยู่ แต่ชีวิตก็ถูกดับไป
ผู้ที่ “ตายไม่เป็น” จึงเป็นผู้ที่ไม่รู้ว่า การตายอย่างไรดีที่สุด เพราะไม่ได้เตรียมตัวตายไว้ก่อน นั่นคือไม่ได้ “ตาย ก่อนตาย” นั่นเอง
ท่านพุทธทาสกล่าวว่า
พระพุทธเจ้าตายเสร็จสิ้นแล้วตั้งแต่วันตรัสรู้ที่ต้นโพธิ์ นั่นคือ ตายจากกิเลส ตายจากตัวกู – ของกู
การตายให้เป็น คือการให้ร่างกายมันแตกดับไปในลักษณะที่เหมาะสม แม้ยังไม่เป็นพระพุทธเจ้าหรือยังไม่เป็นพระอรหันต์ ก็ทำตามอย่างท่านได้
เราจึงเห็นได้ว่า เรื่องตายนั้น เมื่อควรตายก็ให้มันตายอย่างที่เรียกว่า ปลงสังขาร ปลงอายุสังขาร จะต้องไปดิ้นรนต่อสู้ให้ยุ่งยากลำบากไปทำไม
เรื่องผ่าตัดเอาหัวใจไปใส่ใหม่นี้ ถือว่าเป็นเรื่องบ้า ๆ บอ ๆ ของคนที่ไม่รู้จักตาย ตายไม่เป็น ก็ต้อง “ตายโหง” อยู่ดี คือ ตายด้วยจิตใจที่ไม่อยากตาย เรียกว่า “ตายโหง” หมด
อย่าต้องตายโดยที่ไม่อยากตาย อย่าเป็นคนโง่ เป็นคนไม่รู้ว่าธรรมชาติต้องเป็นไปอย่างนั้น เพราะฉะนั้นอย่าให้มันยุ่งยากมากนัก เมื่อควรตายก็ต้องตาย เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าทรงปลงอายุสังขารว่า สามเดือนจากวันนี้จักปรินิพพาน หมายความว่า ให้ร่างกายแตกดับไปตามธรรมชาติ ส่วนนิพพานของกิเลส นิพพานเสร็จแล้วตั้งแต่วันตรัสรู้ เมื่อเรามีธรรมะในเรื่องนี้ ก็ไม่มีการตายโหง
แล้วท่านพุทธทาสยังสอนว่า
“ความตายในภาษาคน แก้ได้ด้วยความตายในภาษาธรรม หนามยอกก็เอาหนามบ่งได้ แต่ไม่ใช่หนามอันเดียวกัน แม้เป็นหนามชนิดเดียวกัน จากต้นไม้ต้นเดียวกัน อันหนึ่งทำหน้าที่ยอก อีกอันหนึ่งทำหน้าที่บ่ง”
นั่นคือ การตายในภาษาธรรม (ตายจากกิเลส) จะช่วยกำจัด (บ่งหนาม) ความกลัวตายในทางร่างกาย ทำให้การตายในทางร่างกาย (การสิ้นชีวิต) หมดความหมายอีกต่อไป
“พระอรหันต์ไม่กลัวตาย เพราะหมดตัณหาอุปาทาน ส่วนพวกอันธพาลไม่กลัวตาย เพราะตัณหาอุปาทานเดือดจัด ระวังอย่าเอาไปปนกัน มันคนละอย่าง….ความกลัวตายในภาษาโลก (เช่น กลัวอดตาย กลัวถูกฆ่าตาย) นำไปสู่ความเสื่อมเสียศีลธรรม ความหมดศีลธรรม ความวินาศในที่สุด เพราะเห็นแค่ว่ากูไม่ตายก็แล้วกัน มันก็ทำอะไรได้ทุกสิ่งทุกอย่างที่ไม่มีศีลธรรม ความกลัวตายในภาษาธรรม เช่น มรณสติ ทำให้มีการเจริญสติ เพื่อความไม่ประมาท จะได้ทำหน้าที่ที่ต้องทำเสียโดยเร็ว….”
ท่านพุทธทาสได้เล่าถึง วัฒนธรรมการตายของพุทธบริษัท ไว้ดังนี้
สมัยเมื่ออาตมาเป็นเด็กเล็ก ๆ โยมแม่เล่าให้ฟังถึงการตายของตา ตาได้ตายอย่างวัฒนธรรมของพุทธบริษัทตามประเพณีวิธีของพุทธบริษัท
ตาเป็นคนแก่อายุมากแล้ว แต่ไม่ใช่แก่หง่อม เมื่อถึงเวลาที่จะตาย บอกว่า ไม่กินอาหารแล้ว กินแต่น้ำและยา ต่อมาบอกว่า ยาก็ไม่กินแล้ว กินแต่น้ำ
พอถึงวันที่จะตาย แกนั่งพูดกับลูกหลานรวมทั้งโยมแม่ด้วยถึงเรื่องที่จะตาย แล้วก็ไล่คนที่ร้องไห้ออกไป คงเหลืออยู่คนเดียวที่กล้า ที่บังคับตัวเองได้ ที่ไม่ร้องไห้ แล้วจึงพูดตามที่พูด ซึ่งก็หลายนาทีอยู่เหมือนกันแล้วจึงขอนิ่ง แล้วขอตาย
เพราะถึงเวลาจะตาย มีคนมาทุบหน้าอก ใส่ท่อหายใจ ใส่สายโน่นสายนี่ ทำให้เกิด “เวทนา” แก่กล้าอย่างนั้น ย่อมยากที่จะตั้งสติและสงบใจได้
อย่างไรก็ตาม ท่านพุทธทาสได้สอนไว้ด้วยว่า จะเป็นคนชั่วคนดีอย่างไร ถ้าอยากจะตายดีแล้ว ในนาทีสุดท้ายต้องตั้งสติให้ได้และปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่าง ดับความเป็น “ตัวกู – ของกู” ให้หมดสิ้น แล้วจะตายดีได้ ดังนี้

อย่าเข้าใจว่าต้องเรียนมาก ต้องปฏิบัติลำบากจึงพ้นได้
ถ้ารู้จริงสิ่งเดียวก็ง่ายดาย รู้ดับให้ไม่มีเหลือเชื่อก็ลอง
เมื่อเจ็บไข้ความตายจะมาถึง อย่าพรั่นพรึงหวาดไหวให้หม่นหมอง
ระวังให้ดีดีนาทีทอง คอยจดจ้องให้ตรงจุดหยุดให้ทัน
ถึงนาทีสุดท้ายอย่าให้พลาด ตั้งสติไม่ประมาทเพื่อดับขันธ์
ด้วยจิตว่างปล่อยวางทุกสิ่งอัน สารพันไม่ยึดครองเป็นของเรา
ตกกระไดพลอยโจนให้ดีดี จะถึงที่มุ่งหมายได้ง่ายเข้า
สมัครใจดับไม่เหลือเมื่อไม่เอา ก็ ” ดับเรา ” ดับตนดลนิพพาน

ท่านพุทธทาสได้วางแผนการตายของท่านและเหตุการณ์หลังตายของท่านไว้เป็นอย่างดี ตามแบบฉบับของวัฒนธรรมการตายของพุทธบริษัทที่ดี แต่ก็มี “มารผจญ” จนการตายของท่านต้องผิดธรรมดา – ผิดธรรมชาติ และไม่เป็นไปตามความปรารถนาของท่าน ดังที่ท่านได้ปลงสังขารไว้
อย่างไรก็ตาม เหล่าศิษย์และญาติโยมของท่านสามารถทำให้การปลงศาของท่านเป็นไปอย่างเรียบง่ายและไม่ยืดเยื้อดังที่ท่านปรารถนา ทำให้ “เหตุการณ์หลังตาย” ของท่านเป็นที่ชื่นชมกันโดยทั่วไป สมกับความเป็น “พุทธทาส”โดยแท้.

พุทธทาสจักอยู่ไปไม่มีตาย
แม้ร่างกายจะดับไปไม่ฟังเสียง
ร่างกายเป็นร่างกายไม่ลำเอียง
นั่นเป็นเพียงสิ่งเปลี่ยนไปในเวลา

พุทธทาสคงอยู่ไปไม่มีตาย
ถึงดีร้ายก็จะอยู่คู่ศาสนา
สมกับมอบกายใจรับใช้มา
ตามบัญชาองค์พระพุทธไม่หยุดเลย

พุทธทาสยังอยู่ไปไม่มีตาย
อยู่รับใช้เพื่อนมนุษย์ไม่หยุดเลย
ด้วยธรรมโฆณ์ตามที่วางไว้อย่างเคย
โอ้เพื่อนเอ๋ยเห็นไหมอะไรตาย

แม้ฉันตายกายลับไปหมดแล้ว
แต่เสียงสั่งยังแจ้วแว่วหูสหาย
ว่าเคยพลอดกันอย่างไรไม่เสื่อมคลาย
ก็เหมือนฉันไม่ตายกายธรรมยัง

ทำกับฉันอย่างกะฉันนั้นไม่ตาย
ยังอยู่กับท่านทั้งหลายอย่างหนหลัง
มีอะไรมาเเขี่ยไค้ให้กันฟัง
เหมือนฉันนั่งร่วมด้วยช่วยชี้แจง

ทำกับฉันอย่างกะฉันไม่ตายเถิด
ย่อมจะเกิดผลสนองหลายแขนง
ทุกวันนัดสนทนาอย่าเลิกแล้ง
ทำให้แจ้งที่สุดได้เลิกตายกัน
@@@###@@@

พุทธทาส อินทะปัญโญ

ขอน้อมนำคำสั่งสอนของท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ มาเผยแพร่ให้พุทธบริษัทและศาสนิกชนในศาสนาอื่นได้ร่วมกันศึกษา เพื่อให้ผู้ที่ศึกษารู้จัก “ตายเป็น” และ “ตายดี” ได้ ดังคำของท่านพุทธทาสว่า

“ดีอยู่ที่ละ พระอยู่ที่จริง นิพพานอยู่ที่ตายเสียก่อนตาย” นั่นเอง.

กลับขึ้นข้างบน

วัฒนธรรมการตายของ พุทธบริษัท
โดย น.พ.สันต์ หัตถีรัตน์ / คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี
จากนิตยสาร “หมอชาวบ้าน” ฉบับเดือนกรกฎาคม ๒๕๔๔

ท่านอาจารย์พุทธทาสภิกฺขุ (อินฺทปัญโญ) ได้จรรโลงพุทธศาสนาที่แท้จริงตามหลักธรรม

“ธรรม” ในความหมายของท่านคือ:-

๑. ธรรมชาติ

๒. กฏของธรรมชาติ

๓. หน้าที่ตามกฏของธรรมชาติ

๔. ผลที่ได้รับจากการทำหน้าที่

แม้แต่ “การตาย” “ความตาย” และ “เหตุการณ์หลังความตาย” ของท่าน ก็ยังสามารถจรรโลงพุทธศาสนาให้เป็นไปตามหลักธรรม เป็นบทเรียนอันทรงคุณค่าแก่พุทธบริษัทและศาสนิกชนในศาสนาอื่นด้วย
เมื่อเข้าสู่วัยชรา ท่านพุทธทาสอาพาธหนักหลายครั้ง เช่น
ในเตือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๔ ท่านเกิดภาวะหัวใจวายจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ คณะแพทย์ต้องการนิมนต์ท่านไปรักษาที่กรุงเทพฯท่านตอบว่า
“สำหรับกรุงเทพฯ นั้น ไม่ถูกกับอาตมา โดยรูป โดยกลิ่น โดยเสียงโดยรสโดยโผฏฐัพพะมันไม่ถูกกับอาตมา”แล้วท่านก็รักษาตนอยู่ที่วัดและหายอาพาธ
ได้เรียบร้อย เช่นเดียวกับการอาพาธจากโรคหลอดเลือดในสมองแตกในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๕
ในเช้าวันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๖ ท่านกล่าวกันท่านพรดทพ (พระที่ช่วยงานท่าน) ว่า “น่ากลัวอาการเดิมจะมา อาการเดิมที่เป็นคราวก่อน….พรเทพเอาย่ามของเราไปเก็บ แล้วก็เอากุญแจในกระเป๋านี่ไปด้วย เราไม่อยากตายคากุญแจตู้เอกสาร…..”
แสดงว่าท่านทราบล่วงหน้าด้วยตัวท่านเองแล้วว่า วันนั้นท่านจะอาพาธอีกและไม่รอด จึง “ไม่อยากจะตายคากุญแจตู้เอกสาร” แล้วเย็นวันนั้นเอง ท่านก็หมดสติจากหลอดเลือดสมองแตก และคงจะได้จากไปอย่างสงบตามธรรมชาติในวัดที่ท่านได้สร้างและพำนักมาโดยตลอด และไม่ต้องได้รับความทุกข์ทรมานใด ๆ ที่ไม่จำเป็น
แต่แล้วท่านก็ถูกยื้อยุดฉุดคร่าไปโรงพยาบาล และไปรักษาที่กรุงเทพฯ ทำให้ท่านต้องผ่านกระบวนการ “การตาย” ที่ผิดธรรมชาติ จนถึงวันที่ ๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๖ ผู้รักษาท่านจึงยอมให้ท่านตาย (หลังจาก “ทรมาน” ท่านไว้เดือนเศษ)
“การตาย” ของท่านจึงทำให้สังคมได้ฉุกคิดว่า
๑.การยื้อยุดฉุดคร่าผู้ป่วยไปรับการรักษา ทั้งที่ผู้ป่วยได้ยืนยันไว้อย่างชัดเจนหลายครั้งว่าไม่ปรารถนาเช่นนั้น ถูกต้องหรือไม่ ถูกกฏหมายหรือไม่
๒. การกระทำเพื่อยืดการตาย (หรือที่ชอบเรียกกันว่า ยืดชีวิต) ของ “ผู้ป่วยที่หมดหวัง” ซึ่งทำให้ผู้ป่วย ญาติ และสังคมต้องได้รับความทุกข์ทรมานมากขึ้นและนานขึ้นนั้น สมควรหรือไม่
๓. การตายในโรงพยาบาลเป็นการตายที่ดีที่สุดหรือ การตายที่ต้องผ่านกระบวนการทุบอก กระแทกอก เพื่อนวดหัวใจ การใช้ไฟฟ้าช็อกหัวใจ การใส่สายระโยงระยางต่าง ๆ การเจาะคอ เป็นการตายที่น่าปรารถนาหรือ
อันที่จริง “การตายในโรงพยาบาล” เกือบทั้งหมดเป็นการตายที่ผิดธรรมดา – ผิดธรรมชาติ เพราะเป็นการตายที่ต้องผ่านกระบวนการต่าง ๆ โดยน้ำมือของผู้อื่น
แล้วทำไมคนไทยในปัจจุบัน โดยเฉพาะคนร่ำรวยหรือมีอำนาจวาสนา จึงชอบตายในโรงพยาบาล จนวัฒธรรมแห่ง “การตายในโรงพยาบาล” ได้แผ่ไปครอบงำคนไทยทุกชั้นวรรณะ ยิ่งได้ตายใน ไอซียู ( Intensive Care Unit ) ซีซียู (Cardiac Care Unit ) หรือ ยู พิเศษอื่น ๆ ยิ่งรู้สึกโก้เก๋ จนต้องนำไปโอ้อวดกันประหนึ่งว่า ญาติของตนได้รับการรักษาดีที่สุดและได้ตายดีที่สุดแล้ว
“การตาย” ของท่านพุทธทาสจึงได้กระตุกผู้คนให้ตื่นขึ้น และเริ่มพินิจพิจารณาถึง “แนวทางการดูแล รักษาผู้ป่วยที่หมดหวัง” อย่างจริงจัง
แต่ก็น่าเสียใจ ที่ผ่านไปหลายปีแล้ว ยังไม่มี “แนวทางการดูแล รักษาผู้ป่วยที่หมดหวัง” อย่างเป็นทางการจากแพทยสภา แพทยสมาคม วิทยาลัยและราชวิทยาลัยแพทย์ สภาการพยาบาล สภาสังคมสงเคราะห์ สภาทนายความ มหาเถรสมาคม สมาคมสังคมศาสตร์ และสถาบันอื่น ๆ
“ผู้ป่วยที่หมดหวัง” จึงมักถูกถูลู่ถูกัง และปู้ยี่ปู้ยำไปตามกิเลสของผู้ที่เกี่ยวข้อง จนแม้แต่ใน “คำประกาศสิทธิผู้ป่วย ๑๐ ประการ” ของแพทยสภา สภาการพยาบาล สภาเภสัชกรรม ทันตแพทยสภา และคณะกรรมการประกอบโรคศิลปะที่ประกาศไว้ตั้งแต่วันที่ ๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๑ ก็ยังไม่ครอบคลุมถึง “สิทธิที่จะตายตามธรรมชาติและโดยธรรมชาต” และ “สิทธิที่จะกำหนดการรักษาพยาบาลสำหรับตนเอง” ของผู้ป่วย ทั้งที่รัฐธรรมนูญปัจจุบันได้เน้นสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชนทุกคน ไม่เว้นแม้แต่ผู้ป่วย และใช้บังคับมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๐ แล้ว
ท่านพุทธทาสได้กล่าวถึง “การตาย” ว่า มี ๒ ชนิด
๑. การตายในภาษาคน คือการสิ้นชีวิต หรือการแตกดับของร่างกาย
๒. การตายในภาษาธรรม คือ การตายจากกิเลส การตายจาก “ตัวกู – ของก”
ท่านเรียก ” การตายโดยไม่อยากตาย “ว่าเป็น “การตายโหง” ด้วย เพราะเป็นการตายที่ยังดิ้นรนต่อสู้อยากมีชีวิตอยู่ แต่ชีวิตก็ถูกดับไป
ผู้ที่ “ตายไม่เป็น” จึงเป็นผู้ที่ไม่รู้ว่า การตายอย่างไรดีที่สุด เพราะไม่ได้เตรียมตัวตายไว้ก่อน นั่นคือไม่ได้ “ตาย ก่อนตาย” นั่นเอง
ท่านพุทธทาสกล่าวว่า
พระพุทธเจ้าตายเสร็จสิ้นแล้วตั้งแต่วันตรัสรู้ที่ต้นโพธิ์ นั่นคือ ตายจากกิเลส ตายจากตัวกู – ของกู
การตายให้เป็น คือการให้ร่างกายมันแตกดับไปในลักษณะที่เหมาะสม แม้ยังไม่เป็นพระพุทธเจ้าหรือยังไม่เป็นพระอรหันต์ ก็ทำตามอย่างท่านได้
เราจึงเห็นได้ว่า เรื่องตายนั้น เมื่อควรตายก็ให้มันตายอย่างที่เรียกว่า ปลงสังขาร ปลงอายุสังขาร จะต้องไปดิ้นรนต่อสู้ให้ยุ่งยากลำบากไปทำไม
เรื่องผ่าตัดเอาหัวใจไปใส่ใหม่นี้ ถือว่าเป็นเรื่องบ้า ๆ บอ ๆ ของคนที่ไม่รู้จักตาย ตายไม่เป็น ก็ต้อง “ตายโหง” อยู่ดี คือ ตายด้วยจิตใจที่ไม่อยากตาย เรียกว่า “ตายโหง” หมด
อย่าต้องตายโดยที่ไม่อยากตาย อย่าเป็นคนโง่ เป็นคนไม่รู้ว่าธรรมชาติต้องเป็นไปอย่างนั้น เพราะฉะนั้นอย่าให้มันยุ่งยากมากนัก เมื่อควรตายก็ต้องตาย เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าทรงปลงอายุสังขารว่า สามเดือนจากวันนี้จักปรินิพพาน หมายความว่า ให้ร่างกายแตกดับไปตามธรรมชาติ ส่วนนิพพานของกิเลส นิพพานเสร็จแล้วตั้งแต่วันตรัสรู้ เมื่อเรามีธรรมะในเรื่องนี้ ก็ไม่มีการตายโหง
ท่านพุทธทาสได้เล่าถึง วัฒนธรรมการตายของพุทธบริษัท ไว้ดังนี้
สมัยเมื่ออาตมาเป็นเด็กเล็ก ๆ โยมแม่เล่าให้ฟังถึงการตายของตา ตาได้ตายอย่างวัฒนธรรมของพุทธบริษัทตามประเพณีวิธีของพุทธบริษัท
ตาเป็นคนแก่อายุมากแล้ว แต่ไม่ใช่แก่หง่อม เมื่อถึงเวลาที่จะตาย บอกว่า ไม่กินอาหารแล้ว กินแต่น้ำและยา ต่อมาบอกว่า ยาก็ไม่กินแล้ว กินแต่น้ำ
พอถึงวันที่จะตาย แกนั่งพูดกับลูกหลานรวมทั้งโยมแม่ด้วยถึงเรื่องที่จะตาย แล้วก็ไล่คนที่ร้องไห้ออกไป คงเหลืออยู่คนเดียวที่กล้า ที่บังคับตัวเองได้ ที่ไม่ร้องไห้ แล้วจึงพูดตามที่พูด ซึ่งก็หลายนาทีอยู่เหมือนกันแล้วจึงขอนิ่ง แล้วขอตาย
เพราะถึงเวลาจะตาย มีคนมาทุบหน้าอก ใส่ท่อหายใจ ใส่สายโน่นสายนี่ ทำให้เกิด “เวทนา” แก่กล้าอย่างนั้น ย่อมยากที่จะตั้งสติและสงบใจได้
อย่างไรก็ตาม ท่านพุทธทาสได้สอนไว้ด้วยว่า จะเป็นคนชั่วคนดีอย่างไร ถ้าอยากจะตายดีแล้ว ในนาทีสุดท้ายต้องตั้งสติให้ได้และปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่าง ดับความเป็น “ตัวกู – ของกู” ให้หมดสิ้น แล้วจะตายดี
ท่านพุทธทาสได้วางแผนการตายของท่านและเหตุการณ์หลังตายของท่านไว้เป็นอย่างดี ตามแบบฉบับของวัฒนธรรมการตายของพุทธบริษัทที่ดี แต่ก็มี “มารผจญ” จนการตายของท่านต้องผิดธรรมดา – ผิดธรรมชาติ และไม่เป็นไปตามความปรารถนาของท่าน ดังที่ท่านได้ปลงสังขารไว้
อย่างไรก็ตาม เหล่าศิษย์และญาติโยมของท่านสามารถทำให้การปลงศาของท่านเป็นไปอย่างเรียบง่ายและไม่ยืดเยื้อดังที่ท่านปรารถนา ทำให้ “เหตุการณ์หลังตาย” ของท่านเป็นที่ชื่นชมกันโดยทั่วไป สมกับความเป็น “พุทธทาส”โดยแท้.

http://www.geocities.ws/gogfox/sunt.html

. . . . . . .