สร้างเจดีย์บรรจุอัฐิ
เมื่อทำการถวายเพลิงศพท่านแล้ว ได้นำอัฐิครึ่งหนึ่งไปก่อเจดีย์ไว้บนหลังถ้ำชัยมงคล ภูลังกา บ้านโพธิ์หมากแข้ง ตำบลโพธิ์หมากแข้ง กิ่งอำเภอบึงโขงหลง จังหวัดหนองคาย โดยการนำของท่านพระครูวินัยธร (ท่านเจ้าคุณพระจันโทปมาจารย์) พระสิงห์ อินทปญฺโญ (ปัจจุบันคือ พระมงคลนายก) พระหนูเพชร ปญฺญาวุฑโฒ พระเสียน วชิรญาโณ และเด็กวัด คือ นายสังวาลย์ ผงพิลา นายสีทัด ประสงค์ดี การก่อเจดีย์บนภูเขา ซึ่งเป็นที่สูงย่อมลำบากเหน็ดเหนื่อย ลำพังแต่ตัวเปล่าเดินขึ้น ก็เหนื่อยพอแรงอยู่แล้ว นี้ต้องแบ่งเอาซีเมนต์จากถุงใหญ่ใส่ถุงเล็ก กว่าจะหมดปูน ๕ ถุง ต้องเดินขึ้นลงอยู่หลายเที่ยว ส่วนทรายที่จะใช้ก่อ ก็ต้องลงจากหลังเขาที่จะก่อเจดีย์ ลงไปเอาในลำห้วยกั้ง ซึ่งเป็นลำห้วยอยู่บนเขา มีกองทรายพอรวมเอาได้ แต่อยู่ไกลจากที่ก่อเจดีย์ประมาณ ๑ กิโลเมตร เป็นระยะทางบนภูเขา มีขึ้นๆ ลงๆ ตลอด กว่าจะถึงต้องหยุดพักหลายครั้ง มีเหงื่อโทรม ทั่วตัว แต่ทุกคนก็ยินดีพร้อมเพรียงช่วยกันเป็นอย่างดี ส่วนน้ำที่จะผสมปูนนั้น ต้องเอาบาตรลงไปตัก ซึ่งมีน้ำอยู่ใกล้กว่าทรายหน่อย เอามาได้ทีละบาตรเท่านั้น ส่วนอิฐสำหรับก่อนั้นเอาก้อนหินที่พอดี ถากแต่งนิดหน่อยใช้แทนอิฐ แล้วก็ฉาบแต่งตามรูปที่ต้องการ ได้ช่วยกันพยายามทำอยู่ถึง ๒๑ วันจึงสำเร็จ เสร็จแล้วได้นำอัฐิของท่านบรรจุไว้ตรงกลางเจดีย์ ในเวลาที่พร้อมกันทำอยู่นี้ก็ได้อาศัยการอุปถัมภ์จากญาติโยมโนนหนามแท่ง บ้านดอนกลาง บ้านโพธิ์หมากแข้ง ได้จัดทำอาหารขึ้นไปถวายจนสำเร็จลุล่วงไปด้วยดีจึงขออนุโมทนา ณ ที่นี้ด้วย จากนั้นก็กลับลงไปสู่วัดของตน
สร้างอุโบสถเป็นอนุสรณ์แด่พระอาจารย์วัง
วันหนึ่งราว พ.ศ.๒๕๑๖-๒๕๑๗ พระจันโทปมาจารย์ได้พบกับพระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระอุดมสังวรวิสุทธิเถร (พระอาจารย์วัน อุตฺตโม ) ท่านบอกว่า อัฐิพระอาจารย์วังที่เก็บไว้นั้นควรจะสร้างอะไร เพื่อเป็นอนุสรณ์และเอาอัฐิบรรจุ พระจันโทปมาจารย์จึงกราบเรียนท่านว่า ถ้าจะสร้างก็จะสร้างอุโบสถ ท่านบอกว่าสร้างได้เลยเราจะช่วยจึงมีความดีใจอย่างยิ่ง ที่มีครูบาอาจารย์มีความเมตตากรุณาช่วยเหลือ ต่อมาจึงได้ประชุมทางวัดและทางชาวบ้าน แจ้งถึงการที่จะสร้างอุโบสถเพื่อเป็นอนุสรณ์แด่พระอาจารย์วัง ฐิติสาโร แต่การจะสร้างนี้ต้องทำเป็นอุโบสถสองชั้น เหตุผลคือ ศาลาการเปรียญหลังเก่าเล็กคับแคบไม่พอกับจำนวนผู้มาทำบุญ จะสร้างอุโบสถชั้นเดียวก็จะต้องสร้างศาลาการเปรียญใหม่อีก และพื้นที่ดินของวัดก็ไม่กว้างขวางมากนัก ดังนั้นจึงควรสร้างอุโบสถนี้เป็นสองชั้น แต่การสร้างนี้ก็ต้องใช้ทุนนับเป็นล้านสองล้านจึง จะสำเร็จ เรามีปัจจัยที่จะสร้างเพียง ๗๐,๐๐๐ บาท (เจ็ดหมื่นบาทถ้วน) เท่านั้น ดังนั้นพระจันโทปมาจารย์จึงได้แจ้งความในใจต่อที่ประชุมว่า เราได้ระลึกถึงอุปการีที่พระอาจารย์ได้มีแก่พวกเรามามากมาย จึงจะขอสร้างอุโบสถนี้เป็นอนุสรณ์ให้ได้ และได้ยกมือตั้งสัจจะอฐิษฐานว่า “จะขอสร้างให้สำเร็จให้ได้ แม้เวลาจะนานกี่ปี หรือจะสูญสิ้นทุนทรัพย์ไปเท่าไร ก็ตาม ก็จะมุ่งมั่นสร้างไปจนสำเร็จแม้จะตายไปก่อนในชาตินี้และยังสร้างไม่เสร็จชาติหน้าเกิดใหม่ก็ขอให้ได้มาสร้างต่อจนเสร็จ ” ที่ประชุมจึงได้ยินดีพร้อมกันตามที่มีความมุ่งมั่นไว้
สร้างวัตถุมงคล หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม
ก่อนเริ่มลงมือก่อสร้างอุโบสถ พระจันโทปมาจารย์ได้กราบเรียนหลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม (ซึ่งขณะนั้นท่านได้กลับมาอยู่ที่บ้านเกิดของท่าน คือวัดอรัญญวิเวก บ้านข่า อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม) ถึงเรื่องการจะสร้างอุโบสถท่านก็เห็นด้วย และเมตตาให้สร้างวัตถุมงคลของท่านขึ้น ชื่อรุ่นไตรมาสเพื่อรวบรวมปัจจัยไว้ก่อสร้างอุโบสถ ดังมีรายละเอียดดังนี้
๑. พระกริ่งรูปเหมือน เนื้อเงิน ๑๒ องค์ เนื้อนวโลหะ ๕๐๐ องค์
๒. พระผงรูปเหมือนเนื้อว่าน แบบ ๔ เหลี่ยม ๒,๐๐๐ องค์ แบบกลม ๑,๒๐๐ องค์
๓. เหรียญเนื้อทองแดงชุบนิเกิ้ล ๑๕,๐๐๐ เหรียญ เนื้อเงิน ๙๐ เหรียญ เนื้อนวโลหะ ๒๐๐ เหรียญ
วัตถุมงคลชุดนี้มีเครื่องหมายเป็นตัว “ร-ร”(ตัว อะ) ทุกเหรียญ สร้างเสร็จเมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๑๗ แล้วนำไปถวายให้หลวงปู่ตื้อปลุกเสกเดี่ยว ซึ่งท่านตั้งใจว่าจะปลุกเสกตลอดไตรมาส ๓ เดือน แต่เมื่อปลุกเสกได้เพียงเดือนเศษ ท่านก็มรณภาพเสียก่อน เมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๑๗ จึงนับได้ว่าเป็นวัตถุมงคลรุ่นสุดท้ายของท่าน และได้จัดพิธีพุทธาภิเษกอีกครั้งหนึ่ง เมื่อวันทำบุญครบรอบ ๑๐๐ วัน ของการมรณภาพของท่านที่วัดอรัญญวิเวก บ้านข่านั้น โดยมีครูบาอาจารย์สายกัมมัฏฐานหลายรูปเมตตามาร่วมพุทธาภิเษกด้วย
วางศิลาฤกษ์
ต่อมาได้ประชุมพร้อมเพรียงกันทำบุญงานวางศิลาฤกษ์ ในวันที่ ๒๐ เมษายน พ.ศ.๒๕๒๐ ในงานนั้นได้กราบอาราธนานิมนต์ ครูบาอาจารย์ที่เป็นพระเถระผู้ใหญ่คือพระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระราชสุทธาจารย์ วัดศรีเทพประดิษฐานราม, หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร, หลวงปู่แว่น ธนปาโล, หลวงปู่จวน กุลเชฏฺโฐ, พระเดชพระคุณพระอุดมสังวรวิสุทธิเถร และพระเถรานุเถระอื่นๆ อีกประมาณ ๔๐ รูป มาในงานนั้น ท่านผู้ที่วางศิลาฤกษ์นั้นก็ได้แก่ ท่านเจ้าคุณพระอุดมสังวรวิสุทธิเถรนั้นเอง
ข้อมูลอ้างอิงจาก : dharma-gateway.com
http://www.web-pra.com/