ฝึกฝนสมาธิ กับ หลวงปู่มั่น

ฝึกฝนสมาธิ กับ หลวงปู่มั่น

* วิธีปฏิบัติเบื้องต้น วิธีปฏิบัติตั้งแต่เบื้องต้นของการทำจิต คือ ให้พิจารณา
ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ท่านพระอาจารย์มั่นได้ให้เหตุผลว่า “ทุกคนที่เกิดมาได้ไป
ติด คือ ยึดมั่นถือมั่นไม่มีที่อื่นหรอก โดยเฉพาะก็มายึดมั่นถือมั่นที่ ผม ขน เล็บ
ฟัน หนัง นี้เอง ให้พยายามพิจารณาให้ได้ตามความจริงแก่การยึดถือ ผม ขน
เล็บ ฟัน หนัง เป็นสิ่งสวยงามบ่ได้ ด้วยสามารถแห่งกำลังสมาธิ ก็จะเป็นทาง
ไปสู่ความเป็นอริยเจ้าได้”

* คำแนะนำอบรมทางจิตใจ “กรรมฐาน ๕ มี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ให้
พิจารณาให้เห็นตามความเป็นจริงด้วยสามารถแห่งสมาธิการพูดนั้นเป็นการง่าย
นิดเดียว แต่การทำนั้นเป็นของยาก เช่นพูดว่า “ทำนา” เพียงเท่านี้ เราทำกันไม่รู้
กี่ปีไม่รู้จักแล้ว (แล้ว=เสร็จ) และปริยัติที่เรียนมานั้นให้เก็บไว้ให้หมดก่อน ใช้แต่
การพิจารณาตามความเป็นจริงเพื่อให้เกิดความสงบอย่างจริงจังสมาธิก็ดี มี
คำว่า ขณิก-อุปจาร-อัปปนา และมีคำว่า วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
แต่ถ้าเราจะให้ใจของเราเป็น ฌาน เรานั่งนึกว่า นี่วิตก นี่วิจาร นี่ปีติ นี่สุข
นี่เอกัคคตา มันจะเป็นฌานขึ้นมาไม่ได้ จึงจำต้องละถอนสัญญาภายนอกด้วย
สามารถแห่งอำนาจของสติ จึงจะเป็นสมาธิเป็นฌาน”ท่านพระอาจารย์มั่นได้
สอนแก่พระอาจารย์มหาทองสุข สุจิตฺโต (พระครูอุดมธรรมคุณ) ท่านได้บันทึก
คำสอนโดยย่ออีก ๑๑ ข้อ ที่หมู่บ้านแม่เจ้าทองทิพย์ อำเภอแม่สาย จังหวัด
เชียงราย ไว้ดังนี้

๑. การปฏิบัติทางใจ ต้องถือการถ่ายถอนอุปาทานเป็นหลัก
๒. การถ่ายถอนนั้น ไม่ใช่ถ่ายโดยไม่มีเหตุ ไม่ใช่ทำเฉยๆ ให้มันถ่ายถอนเอง
๓. เหตุแห่งการถ่ายถอนนั้นต้องสมเหตุสมผล ท่านพระอาจารย์มั่นอ้างเอา
พระอัสสชิแสดงธรรมในข้อที่ว่า เย ธฺมมา เหตุปฺปภวา เตสํ เหตุ
ตถาคโต เตสญฺจ โย นิโรโธ จ เอวํวาที มหาสมโณ…ธรรมทั้งหลายเกิด
–มาจากเหตุ พระตถาคตเจ้าทรงแสดงเหตุผลของธรรมทั้งหลายเหล่านั้นและ
ความดับไปของธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณะ (คือพระพุทธเจ้า) มีปรกติตรัส
อย่างนี้
๔. เพื่อให้เข้าใจว่า การถ่ายถอนอุปาทานนั้นมิใช่ไม่มีเหตุและไม่สมควรแก่เหตุ
ต้องสมเหตุสมผล
๕. เหตุได้แก่การสมมติบัญญัติขึ้นแล้วหลงตามอาการนั้น เริ่มต้นด้วยการสมมติ
ตัวของตนเองก่อน พอหลงตัวเราแล้วก็ไปหลงผู้อื่น หลงว่าเราสวยแล้วจึงไปหลง
ผู้อื่นว่าสวย เมื่อหลงตัวของตัวผู้อื่นแล้วก็หลงวัตถุข้าวของนอกจากตัว กลับ
กลายเป็น ราคะ โทสะ โมหะ
๖. แก้เหตุ ต้องพิจารณากรรมฐาน ๕ คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ด้วยสามารถ
แห่งกำลังของสมาธิ เมื่อเป็นสมาธิขั้นต่ำ การพิจารณาก็เป็นฌานชั้นต่ำ เมื่อ
เป็นสมาธิชั้นสูง การพิจารณาก็เป็นฌานชั้นสูง แต่ก็อยู่ในกรรมฐาน ๕
๗. การสมเหตุสมผล หมายถึง คันที่ไหนต้องเกาที่นั่นถึงจะหายคัน คนติด
กรรมฐาน ๕ หมายถึงหลง “หนัง” เป็นที่สุดเรียกว่าหลงกันตรงนี้ ถ้าไม่มีหนัง
คงจะวิ่งหนีกันแทบตาย เมื่อหลงทีนี้ก็ต้องแก้ที่นี้ คือ เมื่อกำลังสมาธิพอแล้ว
พิจารณาก็เห็นความเป็นจริงเกิดความเบื่อหน่ายเป็น ”วิปัสสนาญาณ”
๘. เป็นการเดินตามอริยสัจ เพราะเป็นการพิจารณาตัวทุกข์ ดังที่พระพุทธองค์
ทรงแสดงว่า …ชาติปิทุกข์ ชราปิทุกข์ พยาธิปิทุกข์ มรณัมปิทุกข์
ใครเกิดใครแก่ใครเจ็บใครตาย กรรมฐาน ๕ เป็นต้น ปฏิสนธิเกิดมาแล้ว แก่แล้ว
ตายแล้ว จึงชื่อว่า พิจารณากรรมฐาน ๕ เป็นทางพ้นทุกข์เพราะพิจารณาตัวทุกข์
จริงๆ
๙. ทุกขสมุทัย-เหตุเกิดทุกข์เพราะมาหลงกรรมฐาน ๕ ยึดมั่นไว้จึงเป็นทุกข์
เมื่อพิจารณาก็ละได้เพราะเห็นตามความเป็นจริง สมกับคำว่า รูปสฺมึปิ
นิพฺพินฺทติ เวทนายปิ นิพฺพินฺทติ สญฺญายปิ นิพฺพินฺทติ สงฺขาเรสุปิ
นิพฺพินฺทติ วิญฺญาณสฺมึปิ นิพฺพินฺทติ …เมื่อเบื่อหน่ายในรูป
(กรรมฐาน ๕) เป็นต้น แล้วก็คลายความกำหนัด เมื่อเราพ้น เราก็ต้องมีญาณ
ทราบว่า เราพ้น
๑๐. ทุกขนิโรธ-การดับทุกข์ เมื่อเห็นกรรมฐาน ๕ เบื่อหน่ายได้จริง ชื่อว่า
ดับอุปาทานความยึดมั่น ถือมั่น เช่น เดียวกับสามเณรสุมนะ ศิษย์ท่าน
พระอนุรุทธ์ พอปลงผมหมดศีรษะก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์
๑๑. ทุกขคามินีปฏิปทา-ทางไปสู่ที่ดับ คือ การเกิดมีปัญญา “สัมมาทิฎฐิ”
ปัญญาเห็นชอบ เห็นอะไร? เห็นอริยสัจ ๔ …อริยสัจ ๔ ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย
นิโรธ มรรค การเห็นจริงแจ้งประจักษ์ด้วยสามารถแห่งสัมมาสมาธิ ไม่หลง
ติดสุขมีสมาธิเป็นกำลัง พิจารณากรรมฐาน ๕ ก็เป็นองค์มรรค

ปฏิปทา ท่านพระอาจารย์มั่นแนะนำไว้ว่า…”การฉันหนเดียว-การฉันใน
บาตร-การบิณฑบาต-การปัดกวาดลานวัด การปฏิบัติอุปัชฌาย์อาจารย์
การอยู่ป่าวิเวก เป็นศีลวัตรอันควรแก่ผู้ฝึกฝนขั้นอุกฤษฏ์ จะพึงปฏิบัติ”

คำสั่งสอนของยายที่คอยสะกิดใจอยู่เสมอแก่พระจารย์มั่น…
“ เจ้าต้องบวชให้ยาย เพราะยายก็ได้เลี้ยงเจ้ายาก”

วิธีสอนโดยทำตัวอย่างเป็นแบบของท่านพระอาจารย์มั่น ธุดงควัตร
ที่ท่านอาจารย์มั่นถือปฏิบัติเป็นประจำ..มี
๑. ปังสุกูลิกังคธุดงค์ คือ นุ่งห่มผ้าบังสุกุล นับตั้งแต่วันอุปสมบทมาตราบ
กระทั่งถึงวัยชรา(จึงได้ผ่อนใช้คหบดีจีวรบ้าง เพื่ออนุเคราะห์แก่ผู้ศรัทธา
นำมาถวาย)
๒. ปิณฑปาติกังคธุดงค์ ถือภิกขาจารวัตร เที่ยวบิณฑบาตมาฉันเป็นประจำ
(แม้อาพาธไปในละแวกบ้านไม่ได้ ก็บิณฑบาตในเขตวัด บนโรงฉันจน
กระทั่งอาพาธหนักไปไม่ได้ในปัจฉิมสมัย จึงงดบิณฑบาต)
๓. ปัตตปิณฑิกังคธุดงค์ ถือฉันในบาตร ใช้ภาชนะใบเดียวเป็นนิตย์
(จนกระทั่งถึงอาพาธหนักในปัจฉิมสมัยจึงงด)
๔. ขลุปัจฉาภัตติกังคธุดงค์ ถือการไม่รับอาหารที่ตามส่งภายหลัง คือ รับ
เฉพาะที่ได้มาในบาตร
๕. เอกาสนิกังคธุดงค์ ถือฉันหนเดียวเป็นวัตรตลอดมา แม้ถึงอาพาธหนัก
ในปัจฉิมสมัยก็มิได้เลิกละ
๖. อารัญญิกังคธุดงค์ ถือการอยู่เสนาสนะป่าห่างบ้านประมาณ ๒๕ เส้น
คือเที่ยวอยู่ตามโคนไม้บ้าง ในป่าธรรมดาบ้าง ข้างภูเขาบ้าง หุบเขาบ้าง
ในถ้ำ ในเงื้อมผาบ้าง หลีกเล้นอยู่ในที่วิเวกตามสมณวิสัย
๗. เตจีวริกังคธุดงค์ ถือผ้าไตรจีวรเป็นวัตร คือ มีผ้า ๓ ผืน ได้แก่ สังฆาฏิ
จีวร สบง (เว้นผ้าอาบน้ำฝนซึ่งจำเป็นต้องมีในสมัยนี้)

* ศีลเป็นเบื้องต้นของการปฏิบัติ ท่านพระอาจารย์มั่นปฏิบัติกิจประจำ
วันเป็นอาจิณวัตร เพื่อเป็นแบบอย่างแก่การปฏิบัติของสานุศิษย์ดังต่อไปนี้
เวลาเช้าออกจากกุฏิทำสรีรกิจ คือ ล้างหน้า บ้วนปาก นำบริขารลง
สู่โรงฉัน ปัดกวาดลานวัดแล้วเดินจงกรม พอได้เวลาภิกขาจารก็ขึ้นสู่
โรงฉัน นุ่งห่มเป็นปริมณฑลซ้อนสังฆาฏิ สบายบาตรเข้าสู่บ้านเพื่อ
บิณฑบาต กลับจากบิณฑบาตแล้วจัดแจงวางบาตรจีวรแล้วจัดอาหารใส่บาตร
นั่งพิจารณาอาหารปัจจเวกขณะทำภัตตานุโมทนา คือ ยถา สัพพี…เสร็จ
แล้วฉันจังหัน (ฉันเช้า) ฉันเสร็จก็ล้างบาตรเก็บบริขารขึ้นกุฏิทำสรรีรกิจ
พักผ่อนเล็กน้อยแล้วลุกขึ้นล้างหน้า
ไหว้พระสวดมนต์แล้วพิจารณาธาตุอาหาร-ปฏิกูล-ตังขณิก-อดีตปัจจเวกขณะ
แล้วชำระจิตจากนิวรณ์นั่งสมาธิพอสมควร
เวลาบ่าย ๓-๔ โมงกวาดลานวัด ตักน้ำใช้น้ำฉันมาไว้ที่อาบน้ำ ชำระกายให้
สะอาดปราศจากมลทิน แล้วเดินจงกรมจนถึงพลบค่ำจึงเข้ากุฏิ
เวลากลางคืนตั้งแต่พลบค่ำไป สานุศิษย์ก็ทยอยกันขึ้นไปปรนนิบัติ ท่านได้
เทศนาสั่งสอนอบรมสติปัญญาแก่สานุศิษย์พอสมควร แล้วสานุศิษย์ถวายการ
นวดเฟ้นพอประมาณ ท่านก็เข้าห้องไหว้พระสวดมนต์นั่งสมาธิแล้วพักนอน
ประมาณ ๔ ชั่งโมง เวลา ๐๓.๐๐ น. ตื่นนอน ล้างหน้าบ้วนปากแล้วปฏิบัติกิจ
อย่างในเวลาเช้าต่อไป…ท่านถือคติว่า… “เมื่อมีวัตรก็ชื่อว่า มีศีล ศีลเป็น
เบื้องต้นของการปฏิบัติ”
“ผิดมาตั้งแต่ต้น ฮวงเข่าบ่มี” เปรียบอุปมาเหมือนอย่างว่า “การทำนา
เมื่อบำรุงรักษาลำต้นข้าวดีแล้วย่อมหวังได้ซึ่งผลดังนี้” ท่านอาจารย์มั่น
เอาใจใส่ตักเตือนสานุศิษย์ให้ปฏิบัติศีลวัตรอันเป็นส่วนเบื้องต้นให้บริสุทธิ์
ไว้เสมอ

* ที่พึ่งเสมอชีวิต เมื่อมีศิษย์รูปใดไปอำลาท่านเพื่อออกแสวงหาที่วิเวก
บำเพ็ญสมณธรรม ท่านอาจารย์มั่นจะตักเตือนศิษย์รูปนั้นให้ยึดเอาองค์สมเด็จ
พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นตัวอย่าง เป็นแบบฉบับเสมอ แล้วท่านเล่าเรื่องที่เคยเป็น
มาแล้วในคราวแสวงหาวิเวกทางภาคเหนือแต่รูปเดียว ถูกโลกธรรมกระทบ
กระทั่งนานาประการ พิจารณา ๓ วัน ได้ความว่า ต้องยกธง ๓ สี อุปมาเหมือน
ธงชาติไทยแล้ว ปรากฏพระบาลีขึ้นมาว่า… “สุตาวโต จ โข ภิกฺขเว
อสุตาวตา ปุถุชฺชเนนาปิ ตสฺสานุโรธา อถวา วิโรธา เวทุปิตา ตถาคตํ
คจฺฉนฺติ ภควํมูลกา โน ภนฺเต ภควา ภควํเนตฺติกา ภควํปฏิสฺสรณา สาธุ
วต ภนฺเต ภควาเยว ปฎิภาตุ” แล้วพิจารณาได้ความว่า …
“ระหว่างพระอริยบุคคลผู้ได้สดับแล้วกับปุถุชนผู้มิได้สดับ ก็ย่อมถูกโลกธรรม
กระทบกระทั่งเช่นเดียวกัน แม้พระตถาคตก็ได้ถูกโลกธรรมกระทบกระทั่งมาแล้ว
แสนสาหัส ในคราวทรงบำเพ็ญทุกรกิริยาและการปฏิบัติตามพระธรรมวินัยนั้น
พระองค์มิได้ตรัสสอนให้เอาพระสาวกองค์นั้นองค์นี้เป็นตัวอย่าง ตรัสสอนให้
เอาพระองค์เองเป็นตัวอย่าง เป็นเนติแบบฉบับ เป็นที่พึ่งเสมอด้วยชีวิต”
ดังนี้

* วิธีหยั่งรู้หยั่งเห็น (ไตรวิธญาณ) ท่านพระอาจารย์มั่นสอนให้ฟังว่า การ
กำหนดรู้อะไรต่าง ๆ เช่น จิต นิสัย วาสนาของคนอื่นและเทวดา เป็นต้น ย่อมรู้
ได้ด้วยอาการ ๓ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้ …
๑. เอกวิธัญญา กำหนดพิจารณากายนี้ให้ปรากฏชัด จิตวางอุคคหนิมิตรวม
ลงถึง ฐิติจิต คือ จิตดวงเดิม พักอยู่พอประมาณ จิตถอนออกมาพักเพียงอุปจาระ
ก็ทราบได้ว่าเหตุนั้นเป็นอย่างนั้นอย่างนี้
๒. ทุวิธัญญา กำหนดพิจารณาเหมือนข้อ ๑ พอจิตถอยออกมาถึงอุปจาระจะ
ปรากฏนิมิตภาพเหตุการณ์นั้นขึ้น ต้องวางนิมิตนั้นเข้าจิตอีกครั้งหนึ่ง ครั้นถอย
ออกมาอีกก็ทราบเหตุการณ์นั้นๆ ได้
๓. ติวิธัญญา ปฏิบัติเหมือนในข้อ ๑ พอจิตถอยออกมาถึงขั้นอุปจาระจะปรากฏ
นิมิตภาพเหตุการณ์ขึ้นต้องวิตกถามเสียก่อนแล้วจึงวางนิมิตนั้น แล้วเข้าจิตอีก
ถอยออกมาถึงขั้นอุปจาระก็จะทราบเหตุการณ์นั้นได้ ความรู้โดยอาการ ๓ นี้
ท่านพระอาจารย์มั่นว่า… จิตยังเป็นฐิติ ขณะเป็นเอกัคคตามีอารมณ์เดียว
มีแต่สติกับอุเบกขาจะทราบเหตุการณ์ไม่ได้ต้องถอยจิตออกมาเพียงขั้นอุปจาระ
จึงมีกำลังรู้ได้ หากถอยออกมาถึงขั้นขณิกะหรือจิตธรรมดาก็ทราบเหตุการณ์
ไม่ได้เหมือนกันเพราะกำลังอ่อนเกินไป

ท่านพระอาจารย์มั่น อาศัยไตรวิธญาณนี้ เป็นกำลังในการหยั่งรู้หยั่งเห็น
เหตุการณ์ต่างๆ ทั้งที่เป็นส่วนอดีต ปัจจุบัน อนาคต และกำหนดรู้จิตใจ นิสัย
วาสนาของศิษยานุศิษย์ด้วย

ปรีชาญาณหยั่งรู้โดยวิธี ๓ ประการนี้ จึงควรเป็นเนติของผู้จะเป็นครู
อาจารย์ของผู้อื่นต่อไปธรรมอันน่าอัศจรรย์ในท่านพระอาจารย์มั่นที่แสดง
ตลอดมาไม่มีการสะทกสะท้าน ต่อมรณภัยแต่ประการใด แม้ในสมัยอาพาธหนัก
ท่านกล่าวด้วยว่า… “ใครจะสามารถรดน้ำให้ไม้แก่นล่อน กลับมีใบขึ้นมา
อีกได้ก็ลองดู”

* คติพจน์ คำที่เป็นคติแก่ศิษยานุศิษย์ของท่าน ดังนี้… “ดีใด ไม่มีโทษ
ดีนั้นชื่อว่าดีเลิศ ได้สมบัติทั้งปวงไม่ประเสริฐเท่าได้ตน เพราะตัวตนเป็นที่เกิด
แห่งสมบัติทั้งปวง”“การบำรุงรักษาสิ่งใดๆในโลก…การบำรุงรักษาตนคือใจเป็น
เยี่ยม จุดที่เยี่ยมยอดของโลก คือ ใจ ควรบำรุงรักษาด้วยดี”“ได้ใจแล้ว คือ
ได้ธรรม เห็นใจแล้ว คือ เห็นธรรม รู้ใจแล้ว คือ รู้ธรรมทั้งมวล ถึงใจตนแล้วคือ
ถึงพระนิพพาน”“ใจนี้คือ สมบัติอันล้ำค่า จึงไม่ควรอย่างยิ่งที่จะมองข้ามไป
คนพลาดใจคือ คนไม่สนใจปฏิบัติต่อดวงใจดวงวิเศษในร่างนี้ แม้จะเกิดสักร้อย
ชาติพันชาติ ก็คือ ผู้เกิดพลาดอยู่นั่นเอง”“ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ จะแยกกัน
ไม่ได้หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ต้องอิงอาศัยกันอยู่ฉันใดก็ดีปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ
ก็อาศัยกันอยู่อย่างนั้นสัทธรรมสามอย่างนี้ จะแยกกันไม่ได้เลย”

http://www.dhamma-ngam.com/new/index.php?

. . . . . . .