ตอน หนึ่ง อานาปานสติภาวนา โดย พุทธทาสภิกขุ

ตอน หนึ่ง อานาปานสติภาวนา โดย พุทธทาสภิกขุ

อานาปานสติภาวนา

ภาคนำ

ว่าด้วยบุพพกิจของสมาธิภาวนา

ตอน หนึ่ง

การมีศีล และธุดงค์

วันนี้ จะได้พูดถึงเรื่องแนวการปฏิบัติธรรม ในสวนโมกขพลาราม ภาคสอง อันว่าด้วยหลักปฏิบัติเฉพาะเรื่องหรือเฉพาะคน ต่อจากภาคที่หนึ่ง ซึ่งกล่าวถึงหลักปฏิบัติทั่วไป อันได้บรรยายแล้วเมื่อปีก่อน (ในพรรษาปี ๒๕๐๑).

ขอซ้อมความเข้าใจอีกครั้งหนึ่งว่า ในภาคหนึ่งที่เรียกว่าหลักปฏิบัติธรรมทั่วไปนั้น หมายถึงการปฏิบัติที่เป็นแนวทั่วๆ ไป สำหรับทำให้เกิด “การเป็นอยู่โดยชอบ” คือเป็นพื้นฐาน สำหรับการเป็นอยู่ที่เหมาะสำหรับการปฏิบัติเฉพาะเรื่องเช่นการทำสมาธิข้อใดข้อหนึ่งเป็นต้น ซึ่งจะได้กล่าวในภาคหลังนี้ เพราะฉะนั้นจึงเห็นได้ว่า เป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกันโดยแท้.

เมื่อบุคคลได้เป็นอยู่ตามหลักปฏิบัติในภาคหนึ่งแล้ว ย่อมชื่อว่าเป็นผู้มีศีล มีธุดงค์ อยู่ในตัว และมากพอที่จะเป็นบาทฐานของการปฏิบัติที่สูงขึ้นไปโดยเฉพาะคือ สมาธิภาวนา. อีกประการหนึ่ง หลักปฏิบัติตามที่กล่าวไว้ในภาคหนึ่งนั้น ย่อมเป็นการอธิบายหลักปฏิบัติในภาคหลังเฉพาะส่วนที่เป็นทฤษฎีทั่วไปเกี่ยวกับเรื่องนั้น ซึ่งไม่ควรจะเอามาปนกับหลักปฏิบัติโดยตรง เพราะจะทำให้ฟั่นเฝือหรือตาลาย เพราะตัวหนังสือมากเกินไป; จึงมีไว้เพียงสำหรับให้ศึกษาเป็นพื้นฐานทั่วๆ ไปเท่านั้น. แต่เมื่อเกิดมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนั้นขึ้นมา ผู้ปฏิบัติก็จำเป็นจะต้องย้อนไปหาคำตอบจากเรื่องฝ่ายทฤษฎีเหล่านั้น ด้วยตนเองตามกรณีที่เกิดขึ้น. ขอให้ทำความเข้าใจไว้ว่า หลักทั่วไปในภาคหนึ่ง ก็ต้องเป็นสิ่งที่คล่องแคล่วหรือคุ้นเคย แก่การคิดนึกของผู้ปฏิบัติอยู่เป็นประจำ จึงจะสำเร็จประโยชน์เต็มที่.

ที่กล่าวว่า เมื่อปฏิบัติตามหลักทั่วไปในภาคหนึ่งอยู่เป็นประจำ แล้วได้ชื่อว่าเป็นผู้มีศีลและธุดงค์อยู่แล้วอย่างเพียงพอนั้น ขอให้สังเกตว่าตามหลักในภาคหนึ่ง เราได้ถือเอาใจความของกิจวัตร ๑๐ ประการมาเป็นหลักหรือรูปโครงของการปฏิบัติ เมื่อปฏิบัติครบตามนั้น ก็ย่อมจะเห็นได้ว่า กิจวัตรข้อที่ ๓, ๖, ๗, ๘, ๙, ๑๐ เป็นเรื่องเกี่ยวกับศีล, และกิจวัตร ข้อที่ ๑ – ๒, ๔ – ๕ และ ๑๐ เป็นเรื่องเกี่ยวกับธุดงค์, และมีอยู่อีกบางข้อที่เป็นทั้งศีลและธุดงค์พร้อมกันอยู่ในตัว. เมื่อบุคคลศึกษาและปฏิบัติอยู่อย่างถูกตรงตามความหมายของกิจวัตรเหล่านั้นจริงๆ แล้ว ก็ย่อมทำให้เป็นผู้มีศีลและธุดงค์มากพอจริงๆ ด้วยเหมือนกัน.

เกี่ยวกับศีล ท่านวางหลักใหญ่ๆ ไว้ว่า สำรวมในสิกขาบททั้งในปาฏิโมกข์และนอกปาฏิโมกข์อย่างหนึ่ง, สำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ให้รู้สึกยินดียินร้ายในเมื่อตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง เป็นต้นอย่างหนึ่ง, หาเลี้ยงชีวิตและทำการเลี้ยงชีวิตในลักษณะที่ชอบที่ควรอย่างหนึ่ง, และอีกอย่างหนึ่งซึ่งเป็นข้อสุดท้าย ก็คือการบริโภคปัจจัยสี่ด้วยสติสัมปชัญญะที่สูงสุดหรือสมบูรณ์. โดยนัยนี้เราจะสังเกตเห็นได้ว่า คำว่า ศีล ที่ท่านวางหลักไว้เช่นนี้นั้น มันมากเกินกว่าขอบเขตของศีลปรกติอยู่แล้ว. แม้ว่าหลัก ๔ อย่างนี้ จะเป็นหลักปฏิบัติที่บัญญัติขึ้นในชั้นหลังก็จริง แต่ก็ไม่ขัดขวางกันกับหลักของพระพุทธภาษิตทั่วๆ ไปในทางปฏิบัติ จึงถือเอาเป็นเกณฑ์ได้. และจะเห็นได้ต่อไปอีกว่า ในกิจวัตรทั้ง ๑๐ ข้อนั้นได้ครอบคลุมเอาความหมายของศีลทั้ง ๔ ประการนี้ไว้แล้วอย่างสมบูรณ์ ผู้ปฏิบัติพึงถือเอาความหมายเหล่านี้ให้ได้ ก็จะเป็นอันกล่าวได้ว่า เป็นผู้มีศีลอันเพียงพอแม้ว่าจะไม่สามารถจดจำสิกขาบทหรือรายละเอียดต่างๆ ได้ทั้งหมด ซึ่งเป็นการเหลือวิสัยที่คนแก่ หรือแม้คนหนุ่มแต่เป็นคนเพิ่งบวช จะทำอย่างนั้นได้. นี้คือใจความสำคัญของคำว่า ศีล.

สำหรับสิ่งที่เรียกว่าธุดงค์ ก็มิได้มีความหมายอะไรมากไปกว่า ความสันโดษมักน้อยในเรื่องการเป็นอยู่หรือการบริโภคปัจจัยสี่ กล่าวคือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยาบำบัดโรค และความเป็นผู้มีความเข้มแข็งอดทนมีร่างกายแข็งแกร่งพอที่จะทนทานต่อการปฏิบัติได้ตามสมควร. ตัวอย่างที่ท่านแสดงไว้ในเรื่องอาหาร มีดังนี้ :-

ในเรื่องอาหาร ก็คือการได้มาโดยวิธีง่ายๆ ที่เรียกว่า เที่ยวบิณฑบาต การไม่เที่ยวเลือกเอาแต่ที่ดีๆ แต่รับไปตามลำดับที่จะถึงเข้า, การบริโภคในภาชนะแต่ใบเดียววันหนึ่งเพียงครั้งเดียว, ลงมือฉันแล้วมีอะไรมาใหม่ก็ไม่สนใจ ดังนี้เป็นต้น; แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าจะมีเท่าที่ระบุไว้ ถ้าการกระทำอย่างใดมีผลทำให้มีเรื่องน้อย ลำบากน้อย มีแต่ความเบาสบายและเป็นการส่งเสริมการปฏิบัติแล้ว เราถือเอาเป็นหลักสำหรับปฏิบัติของตนเองได้ทั้งนั้น.

สำหรับ เครื่องนุ่งห่ม นั้น ท่านแนะตัวอย่างไว้ว่า ให้ใช้ผ้าที่คนอื่นไม่ใช้ สำหรับภิกษุก็ได้แก่ ผ้าที่เขาทิ้ง ไปรวบรวมเอามาทำเป็นจีวรใช้ ซึ่งเรียกว่าผ้า “บังสุกุล” และการใช้เครื่องนุ่งห่มมีจำนวนเท่าความจำเป็นจริงๆ ซึ่งสำหรับภิกษุก็มีเพียงผ้านุ่งตอนล่าง ผ้าห่มตอนบน และผ้าคลุมทั่วๆ ไปอีกผืนหนึ่ง ซึ่งรวมกันแล้วเรียกว่า “ไตรจีวร” อนุญาตให้มีผ้าอาบน้ำฝนอีกผืนหนึ่งในฤดูฝน ถ้าไม่มีจริงๆ ก็ผ่อนผันให้เปลือยกายอาบน้ำได้ นี้เป็นการแสดงให้เห็นว่าท่านต้องการให้เป็นผู้สันโดษมักน้อยเพียงไร ในเรื่องเครื่องนุ่งห่ม.

ส่วนเรื่อง ที่อยู่อาศัย นั้น ท่านระบุ ป่า โคนไม้ ที่โล่ง ป่าช้า และสถานที่เท่าที่ผู้อื่นจะอำนวยให้ ในเมื่อจะต้องอาศัยสถานที่เช่นนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ก็คือในฤดูจำพรรษา. ความเป็นธุดงค์ในเรื่องนี้ อยู่ตรงที่เป็นผู้ไม่มีที่อยู่เป็นของตัวเองอย่างหนึ่ง, แล้วยังเป็นผู้สันโดษมักน้อยอย่างยิ่งอย่างหนึ่ง,และมีความแข็งแกร่งต้านทานต่อดินฟ้าอากาศอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นใจความสำคัญ. ข้อปฏิบัติอื่นที่ไม่ได้ระบุไว้ แต่ทำให้เกิดผลอย่างเดียวกัน ย่อมใช้ปฏิบัติได้เช่นเดียวกับที่กล่าวมาแล้ว ในข้อที่ว่าด้วยอาหารหรือเครื่องนุ่งห่มก็ตาม.

สำหรับ ยาแก้โรค นั้น ท่านไม่บัญญัติไว้ในเรื่องธุดงค์โดยตรง เพราะยาแก้โรคไม่เป็นที่ตั้งของความมักมาก เพราะใครๆ ก็ไม่อยากจะกินยาตามปรกติอยู่แล้ว. แต่ตกมาถึงสมัยนี้มีความเปลี่ยนแปลงบางอย่างเกิดขึ้น เช่น มียาประเภทสำอาง หมายถึงยากินเล่น หรือที่กินจริง ก็มีให้เลือก ทั้งที่อร่อยและไม่อร่อย. ผู้ปฏิบัติจะต้องมีหลักปฏิบัติที่เหมาะแก่สมัย คือให้มีความสันโดษมักน้อย และมีความอดกลั้นอดทน ในการใช้หยูกยาให้สมเกียรติของผู้ปฏิบัติด้วย.

ธุดงค์อีกข้อหนึ่งท่านระบุไว้เกี่ยวกับการฝึกฝนตัวเอง ให้แข็งแกร่งโดยเฉพาะ และมุ่งหมายที่จะขจัดการแสงหาความสุขจากการนอนโดยตรง จึงแนะนำให้มีการปฏิบัติธุดงค์ข้อนี้ด้วยการไม่ให้นอนเลยเป็นครั้งคราว เท่าที่ควรจะทำ. ทั้งหมดนี้เมื่อสรุปโดยใจความ ก็พอจะเห็นได้ชัดเจนว่า นอกจากการปฏิบัติในส่วนศีลแล้ว ท่านยังได้ผนวกการปฏิบัติเรื่องธุดงค์เพิ่มขึ้นมาส่วนหนึ่งเพื่อความเข้มแข็งในทางจิตใจและร่างกาย ซึ่งอยู่นอกขอบเขตของความหมายของคำว่า “ศีล” แต่แล้วก็เป็นเพียงเครื่องผนวกของศีล หรือเป็นอุปกรณ์ของสมาธิ ไม่จำเป็นจะต้องแยกออกไว้เป็นหลักอีกส่วนหนึ่งต่างหากจากศีลหรือสมาธิ.

ในกรณีที่เกี่ยวกับกิจวัตร ๑๐ ประการ ย่อมมีศีลและธุดงค์เต็มพร้อมอยู่ในตัว และถือเอาเป็นบาทฐานหรือรากฐานอันสำคัญสำหรับการปฏิบัติที่ก้าวหน้าสืบไป.

เรื่องศีลและธุดงค์ มีใจความที่สำคัญเพียงเท่านี้ จึงในการบรรยายนี้ไม่แยกออกเป็นเรื่องหนึ่งต่างหาก และถือว่ารวมอยู่ในหลักแห่งการปฏิบัติทั่วไปหรือการเป็นอยู่โดยชอบตามที่กล่าวแล้วในภาค ๑. จึงในภาค ๒ นี้ จะกล่าวแต่เรื่อง สมาธิภาวนา ประเภทเดียว ทั้งหมดนี้คือ สิ่งที่ต้องปรับความเข้าใจกันเป็นข้อแรก.

https://sites.google.com/site/smartdhamma/part1_anapanasat_buddhadhas

. . . . . . .