‘สมเด็จพระสังฆราช’สิ้นพระชนม์แล้ว
เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม เวลา 20.28 น. โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 9 เรื่องพระอาการประชวรของ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ขณะประทับ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ความว่า
วันนี้คณะแพทย์ผู้ถวายการรักษารายงานว่า สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก มีพระอาการโดยรวมทรุดลง ได้สิ้นพระชนม์ลงแล้วเมื่อเวลา 19.30 น. วันนี้ (24 ต.ค.) สาเหตุเนื่องจากการติดเชื้อในกระแสพระโลหิต จึงประกาศมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน
ด้านนายธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังสักการะพระศพ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ว่า สำหรับกำหนดการในวันที่ 25 ตุลาคม อยู่ระหว่างรอทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยคาดว่าจะมีการเคลื่อนพระศพจากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ในเวลา 12.00 น.และอัญเชิญพระศพประดิษฐาน ณ พระตำหนักเพ็ชร ภายในวัดบวรนิเวศวิหาร คาดว่าจะมีพิธีพระราชทานน้ำหลวงสรงพระศพในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน
นอกจากนี้จะออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี แจ้งให้ข้าราชการทั่วประเทศแต่งชุดไว้ทุกข์แสดงความอาลัยเป็นเวลา 15 วัน ส่วนสถานที่ราชการลดธงครึ่งเสาเป็นเวลา 3 วัน สำหรับประชาชนที่ต้องการไปร่วมพิธีถวายน้ำสรงพระศพหน้าพระรูป สามารถไปได้ที่อาคารมนุษยนาควิทยาทาน ภายในวัดบวรนิเวศวิหาร ตั้งแต่เวลา 13.00 น.เป็นต้นไป
ทั้งนี้ เมื่อช่วงเช้าวันเดียวกัน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 8 รายงานความคืบหน้าพระอาการว่า สมเด็จพระสังฆราช มีพระอาการโดยรวมทรุดลง ระดับความดันพระโลหิต อยู่ในเกณฑ์ต่ำลง คณะแพทย์และพยาบาลยังคงถวายพระโอสถ และเฝ้าถวายการตรวจรักษาอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง
ขณะที่ ที่บริเวณตึกอานันทมหิดล โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ตั้งแต่ช่วงเช้ามีพุทธศาสนิกชนจำนวนมากเดินทางมาลงนามถวายพระพรแด่ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก และนั่งสวดมนต์ภาวนาที่หน้าพระรูป เพื่อขอให้พระองค์ทรงหายจากพระอาการประชวร
เช่นเดียวกับที่บริเวณชั้น 6 ตึกวชิรญาณ-สามัคคีพยาบาร ซึ่งเป็นสถานที่ประทับรักษาพระอาการประชวรของสมเด็จพระสังฆราช เมื่อเวลา 07.00 น. ได้มีประชาชนมาถวายภัตตาหารพระสงฆ์ผู้ดูแลสมเด็จพระสังฆราช พร้อมร่วมสักการะพระพุทธรูป และลงนามถวายพระพรให้พระองค์ทรงหายจากพระอาการประชวร โดยผู้ที่มาลงนามถวายพระพรจะได้รับแจกพระรูปสมเด็จพระสังฆราช พร้อมกับหนังสือพระนิพนธ์ชีวิตนี้น้อยนัก แต่ชีวิตนี้สำคัญนัก เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชันษา 100 ปี พร้อมด้วยล็อกเก็ต
ทั้งนี้ สมเด็จพระสังฆราช ประชวรด้วยพระโรคชราภาพ ตามพระอายุขัย ซึ่งแทรกซ้อนตามมาด้วยเบาหวาน ไต เป็นต้น และได้ประทับรักษาพระอาการประชวรอยู่ที่ชั้น 6 ตึกวชิรญาณ-สามัคคีพยาบาร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ตั้งแต่ปี 2543
ในระยะแรกที่เข้าประทับรักษาพระองค์ที่โรงพยาบาลเมื่อราว 10 ปีก่อน สมเด็จพระสังฆราช เสด็จกลับมาที่วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นครั้งคราว แต่ระยะหลังไม่สามารถเสด็จออกจากโรงพยาบาล เนื่องจากคณะแพทย์เห็นว่าต้องได้รับการรักษาพระองค์อย่างใกล้ชิดจากคณะแพทย์ กระทั่งเมื่อเวลา 19.30 น. วันที่ 24 ตุลาคม พระองค์สิ้นพระชนม์ลง และประดิษฐานพระศพ ณ พระตำหนักเพ็ชร วัดบวรนิเวศวิหาร ยังความโศกเศร้าแก่ประชาชนชาวไทยและพุทธศาสนิกชนเป็นยิ่งนัก
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) เป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ทรงดำรงตำแหน่งเมื่อ พ.ศ. 2532 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
“เจริญ คชวัตร” เป็นพระนามเดิมของสมเด็จพระสังฆราช ประสูติเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ.2456 เป็นบุตรคนโตของนายน้อย คชวัตร และนางกิมน้อย คชวัตร ชาวกาญจนบุรี พระองค์ได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่สมเด็จพระญาณสังวร ซึ่งเป็นราชทินนามที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดให้ตั้งขึ้นใหม่
ทั้งนี้ เมื่อพระชันษาย่าง 14 ปี พระองค์ถือบรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดเทวสังฆาราม ต่อมาทรงย้ายมาศึกษาพระปริยัติธรรม ณ วัดเสน่หา อ.เมือง จ.นครปฐม 2 พรรษา ก่อนจะทรงย้ายมาศึกษาต่อที่วัดบวรนิเวศวิหาร ในสมัยสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงเป็นเจ้าอาวาส ซึ่งพระองค์ทรงสอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยค
จากนั้น พ.ศ.2476 ทรงกลับไปอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดเทวสังฆาราม โดยมีพระครูอดุลยสมณกิจ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูนิวิฐสมาจารย์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์
พอถึงช่วงออกพรรษา ทรงกลับมาอุปสมบทอีกครั้งหนึ่ง เพื่อญัตติเป็นธรรมยุต ณ วัดบวรนิเวศวิหาร โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เมื่อครั้งเป็นสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ และพระรัตนธัชมุนี เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้ฉายาว่า สุวฑฺฒโน อันมีความหมายว่า ผู้เจริญปรีชายิ่งในอุดมปาพจน์
เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระผนวชและประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร สมเด็จพระญาณสังวรทรงรับหน้าที่เป็นพระอภิบาลโดยตลอด และต่อมาได้ทรงเป็นผู้ถวายพระธรรมเทศนา พระมงคลวิเสสกถาในงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ปี พ.ศ.2507 โดยได้รับพระราชทานสมณศักดิ์มาโดยลำดับ เมื่อพระชันษา 34 ปี ทรงได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่พระโสภณคณาภรณ์
พระชันษา 39 ปี เป็นพระราชาคณะชั้นราช ในราชทินนามเดิม พระชันษา 42 ปี เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ในราชทินนามเดิม พระชันษา 43 ปี เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ในราชทินนามที่พระธรรมคุณาภรณ์ พระชันษา 48 ปี ทรงเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเจ้าคณะรองที่พระสาสนโสภณ พระชันษา 59 ปี ได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระญาณสังวร
กระทั่ง พ.ศ.2532 ทรงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เป็นพระองค์แรกที่ใช้พระนามเดิม และทรงให้ถือเป็นแบบธรรมเนียมตราในกฎมหาเถรสมาคมสืบมา
อย่างไรก็ตามตั้งแต่ พ.ศ.2543 ปัจจุบัน สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) ประชวรด้วยโรคชราภาพ ตามพระอายุขัย ซึ่งแทรกซ้อนตามมาด้วยเบาหวาน ไต เป็นต้น และได้ประทับรักษาอาการพระประชวรอยู่ที่ชั้น 6 ตึกวชิรญาณ สามัคคีพยาบาลโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
ในระยะแรกที่เข้าประทับรักษาพระองค์ที่โรงพยาบาลเมื่อราว 10 ปีก่อน เจ้าพระคุณสมเด็จฯ เสด็จกลับมาที่วัดเป็นครั้งคราว แต่ระยะหลังนี้ไม่สามารถเสด็จออกจากโรงพยาบาล เนื่องจากคณะแพทย์เห็นว่าต้องได้รับการรักษาพระองค์อย่างใกล้ชิดจากคณะแพทย์ ปัจจุบันไม่สามารถสนทนาได้ เพราะเจาะพระศอ พุทธศาสนิกชนที่ประสงค์เข้าเฝ้าเยี่ยมพระองค์ที่โรงพยาบาลสามารถทำได้ แต่ต้องติดตามวันที่โรงพยาบาลอนุญาตให้เข้าเฝ้า โดยติดตามข่าวที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ อาคารสามัคคีพยาบาล
ทั้งนี้วันที่ 3 ตุลาคมที่ผ่านมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล วันคล้ายวันประสูติ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงเจริญพระชันษา 100 ปี ในวันที่ 3 ตุลาคม 2556 ที่พระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร
หลังจากนั้นโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้มีแถลงการณ์เรื่อง พระอาการประชวรของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ขณะประทับ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ออกมาเป็นระยะๆ จนกระทั้งมีแถลงการณ์ฉบับที่ 9 ดังกล่าว
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ทรงปฏิบัติบำเพ็ญต่อพระศาสนา ประชาชน และชาติบ้านเมืองเป็นอเนกประการ ซึ่งจะขอยกมาพอสังเขป ดังนี้
ในด้านการพระศาสนา คือ การสั่งสอนพุทธบริษัททั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต พระองค์ได้ทรงปฏิบัติเป็นกิจวัตรสม่ำเสมอ นับแต่ประทานพระโอวาทสั่งสอนพระภิกษุสามเณรผู้บวชใหม่ ในฐานะพระอุปัชฌาย์ ทั้งในพรรษกาล และนอกพรรษกาลตลอดปีโดยมิได้ว่างเว้น จนกระทั่งพระชราพาธมาขัดขวาง จึงได้ทรงยับยั้งอยู่ในสุขวิหารธรรม ทั้งได้ประทานพระธรรมเทศนาประจำวันธรรมสวนะในวันเดือนเพ็ญและวันเดือนดับ ประทานธรรมกถาในการฝึกปฏิบัติอบรมจิต หรือที่เรียกกันว่า สอนกรรมฐาน แก่สาธุชนทั่วไปเป็นประจำทุกวันพระและหลังวันพระด้วยความใส่พระทัยตลอดมา
ในฐานะองค์ประมุขแห่งสังฆมณฑล ได้เสด็จไปทรงปฏิบัติพระศาสนกิจในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งระอุด้วยชีวิตภัยในสงบเย็นด้วยธรรมานุภาพเป็นประเดิม ต่อแต่นั้นก็ได้เสด็จไปทรงปฏิบัติพระศาสนกิจและเยี่ยมเยียนพระสงฆ์และพุทธศาสนิกชนในภูมิภาคต่างๆ ทั่วพระราชอาณาจักรเป็นประจำทุกปี มิได้ว่างเว้น อันเป็นโอกาสให้ได้ทรงทราบสภาพการณ์ของคณะสงฆ์และบ้านเมืองทั้งในทางวัฒนะและหายนะ ซึ่งเป็นทางให้ทรงพระดำริในอันที่จะทรงอนุเคราะห์ สงเคราะห์แก่พุทธบริษัททั้งคฤหัสถ์และบรรพชิตตลอดถึงประชาชนทั่วไปในท้องถิ่นนั้นๆ
ในด้านการประกาศเผยแผ่พระพุทธศาสนา พระองค์ก็ทรงพระดำริริเริ่มกิจการในอันที่จะทำให้พระพุทธศาสนาแผ่ไพศาลไปยังนานาประเทศ เพื่ออำนวยสันติสุขแก่ชาวโลก เริ่มแต่ทรงเป็นประธานกรรมการอำนวยการฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ เสด็จไปดูการพระศาสนาและการศึกษาในประเทศต่างๆ ทั้งในทวีปยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย และเอเชีย อันเป็นเหตุให้ทรงดำเนินงานพระธรรมทูตต่างประเทศ และสร้างวัดพระพุทธศาสนาขึ้นในประเทศต่างๆ เป็นครั้งแรก
ในด้านการส่งเสริมการศึกษา ทรงเป็นผู้ร่วมดำริและผลักดันให้เกิดมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาขึ้นในประเทศไทยเป็นครั้งแรก นั่นคือ สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ซึ่งต่อมาเรียกว่า มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ทั้งได้เป็นอาจารย์รุ่นแรก รวมถึงทรงพระดำริส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยมหามกุฏมาหาวิทยาลัยขยายการศึกษาในระดับปริญญาโท และปริญญาเอก รวมทั้งประทานทุนการศึกษาแก่พระภิกษุให้ไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทและปริญญาเอกในต่างประเทศ
ในด้านสาธารณูปการ ได้ทรงก่อสร้างอาคารเรียนโรงเรียนวัดบวรนิเวศ 2 หลัง อาคารเรียนโรงเรียนวัดเทวสังฆาราม จังหวัดกาญจนบุรี อาคารเรียนโรงเรียนญาณสังวร จังหวัดยโสธร โรงเรียนสมเด็จพระปิยมหาราชรมณียเขต จังหวัดกาญจนบุรี ทั้งได้ประทานทุนการศึกษาแก่เด็กเรียนดีแต่ยากจนเป็นจำนวนมาก
ในด้านสาธารณสุขและสาธารณกุศล เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ทรงอำนวยการก่อสร้างตึก ภปร ตึกวชิรญาณวงศ์ และตึกวชิรญาณ สามัคคีพยาบาร ในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ทรงอำนวยการสร้างโรงพยาบาลสมเด็จพระปิยมหาราชรมณียเขต พร้อมทั้งพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระปิยมหาราช ณ อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี โปรดให้สร้างโรงพยาบาลวัดญาณสังวราราม จังหวัดชลบุรี
ส่วนพุทธสถานอื่นๆ ได้ทรงอำนวยการสร้างวัดพุทธวิมุติวนาราม (วัดพุมุด) อำเภอไทรโยค วัดรัชดาภิเษก อำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี วัดวังพุไทร จังหวัดเพชรบุรี วัดญาณสังวราราม จังหวัดชลบุรี วัดล้านนาญาณสังวราราม จังหวัดเชียงใหม่ พระบรมธาตุเจดีย์ศรีนครินทราสถิตมหาสันติคีรี ดอยแม่สลอง จังหวัดเชียงราย รวมทั้งโปรดให้แกะสลักพระพุทธรูปขนาดใหญ่ ณ เขาชีจรรย์ จังหวัดชลบุรี
อนึ่ง ด้วยพระบารมีธรรมของเจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ที่ทรงปกแผ่ไปยังศิษยานุศิษย์ทุกหมู่เหล่า ทำให้คณะศิษยานุศิษย์ทั้งฝ่ายคฤหัสถ์และบรรพชิต ต่างพากันคิดสนองพระเดชพระคุณโดยการร่วมมือร่วมใจกันสร้างสิ่งอนุสรณ์อันเป็นถาวรวัตถุ เพื่อเอื้ออำนวยประโยชน์สุขแก่สาธารณชน ถวายใน พระนาม “ญสส” ในโอกาสและในสถานต่างๆ อีกเป็นจำนวนมาก อาทิ โรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา วัดนาควัชรโสภณ จังหวัดกำแพงเพชร
โรงเรียนพระปริยัติธรรม วัดโพธิสมภรณ์ จังหวัดอุดรธานี โรงเรียนสมเด็จพระญาณสังวร จังหวัดยโสธร พิพิธภัณฑ์สถานจังหวัดกำแพงเพชรเฉลิมพระเกียรติ หอพระประวัติสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก จังหวัดกาญจนบุรี หอเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระญาณสังวร วัดถาวรวราราม จังหวัดกาญจนบุรี
สิ่งก่อสร้างเหล่านี้และสิ่งอันเป็นสาธารณประโยชน์อีกมากมายล้วนสะท้อนพระคุณธรรมอันมากหลายให้ปรากฏเป็นรูปธรรม ที่ปวงชนพึงเรียนรู้สัมผัสได้และเป็นที่ประจักษ์แก่ใจของคนทั้งหลายตลอดไป
http://www.komchadluek.net/mobile/detail/20131024/171248.html