หน้าที่ของพุทธบริษัท โดย พุทธทาสภิกขุ

หน้าที่ของพุทธบริษัท โดย พุทธทาสภิกขุ

หน้าที่ 1 – จงกระทำในใจให้สำเร็จประโยชน์
ต่อไปนี้อาตมาขออนุโมทนาที่จะปรารภธรรมะตามประสงค์ของท่านเจ้าภาพ ขอท่านสาธุชนทั้งหลายโดยมีท่านเจ้าภาพเป็นประธาน ให้ จงกระทำในใจให้สำเร็จประโยชน์ในการบำเพ็ญกุศล และในวันนี้ ในลักษณะอย่างนี้ ก็ดูแปลกประหลาดอยู่บ้างที่ให้ไปนั่งกลางดิน ให้คิดเสียว่า เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพราะแผ่นดิน เป็นที่ประสูติ นั่งตรัสรู้ แสดงธรรม ที่อยู่ ที่กิน ของพระพุทธเจ้า ในที่สุดท่านก็ไปนิพพานกลางดิน จึงกล่าวได้ว่า ดินเป็นสิ่งที่ศักดิ์สิทธิ์ ในเมื่อนั่งบนดินอย่างนี้ ขอให้ทำใจระลึกถึงพระพุทธเจ้า ถือว่าเราเป็นการกระทำพุทธบูชาอย่างยิ่ง ต่อไปก็เป็นเรื่องของการบำเพ็ญกุศล มีความหมายที่ว่า เป็นการช่วยสืบทอดอายุพระศาสนาให้ยังอยู่ในโลก และขอให้ไทยทานทั้งหลาย มากน้อยเพียงไรมิใช่ปัญหา แต่ว่าไทยทานจะใช้ไปเพื่อการดำรงอยู่แห่งพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นที่พึ่งแก่โลก หากศาสนายังอยู่ อาจเพราะมีผู้บวชผู้เรียนอยู่ได้ รู้ธรรมะอยู่ได้ และสอนสืบต่อๆกันไป หากกระทำได้อย่างนี้ พระศาสนายังอยู่ในโลกและเป็นหน้าที่ของพระศาสนาที่ทำให้โลกสันติสุข สันติภาพ ทั้งของบุคคลและสังคม และมีหน้าที่ให้พระพุทธศาสนาดำรงอยู่ โดยมี ผู้บวช ผู้เรียน ผู้ปฏิบัติ และผู้เผยแพร่ ก็ขอให้มีธรรมในใจอย่างนี้ว่า มันมีส่วนกุศลกันทั้งโลก ดีกว่าที่ว่าไปสวรรค์วิมานเพียงไม่กี่คน เผยแพร่ไปทั่งโลก เป็นอานุภาพของธรรมะ ถ้าธรรมะยังมีอยู่ในโลก โลกก็รอด ไม่ต้องมีปัญหา คนไม่ค่อยชอบที่จะยอมรับธรรมะ ถ้ามนุษย์ยอมรับธรรมะ เพื่อขจัดสิ่งเลวร้ายในโลก นั่นคือความเห็นแก่ตัว ขอให้ใคร่ดูอย่างละเอียด การเบียดเบียนทั้งตนเอง และผู้อื่น เป็นความเห็นแก่ตัวทั้งนั้น ถ้าเห็นแก่ตัวแล้ว ก็หาความซื่อตรงไม่ได้ คดโกง พูดกันไม่รู้เรื่อง
รัฐบาลพูดกับรัฐบาลไม่รู้เรื่อง ประชาชนพูดกับประชาชนไม่รู้เรื่อง แต่ถ้าไม่เห็นแก่ตัว ก็พูดกันรู้เรื่อง โลกนี่จะวินาศเพราะความเห็นแก่ตัว ต่างฝ่ายต่างแย่งกันครองโลก จัดเตรียมอาวุธพอที่จะมาทำร้ายโลกนี้ ถ้าความเห็นแก่ตัวมากเกิน ก็จะทำลายโลกได้ ทำให้เกิดกิเลส ทั้งโลภะ โทสะ โมหะ ทุกอย่าง ทั้งคนเดียว และ ทั้งสังคม ก็มีความทุกข์แม้แต่องค์การสหประชาชาติก็พูดกันไม่รู้เรื่อง เพราะเห็นแก่ตัว ที่ไหนที่มีความเห็นแก่ตัวแล้ว มันจะเป็นอุปสรรค ถ้ารวมกันทุกศาสนา ช่วยกำจัดความเห็นแก่ตัว โดยที่คนในแต่ละศาสนานั้นๆ ในถิ่นนั้นๆ ช่วยกัน มันก็จะเป็นผลดี พวกเราศาสนาพุทธมันง่ายที่จะกำจัดความเห็นแก่ตัวเพราะว่ามีหลักธรรมคำสอนที่ว่า การยึดถือของตัวของตน มันยึดติด ฉะนั้นถ้าเข้าใจว่า ไม่ใช่ตัวตน มันก็จะไม่เกิดความเห็นแก่ตัว ดังนั้นพระพุทธศาสนาเรา นั้นได้เปรียบที่มีหลักคำสอนไว้แล้ว พุทธบริษัทก็ง่ายที่จะไม่เห็นแก่ตัว แต่ถ้าศาสนาอื่น ที่สอนว่า มีตัวมีตน คงจะลำบาก สอนมีตัว ก็ต้องเอาตัวไปมอบให้พระเจ้า แต่ถ้าอย่าเห็นแก่ตัว มันก็ได้เหมือนกัน เพราะว่าทุกศาสนาสอนให้ทำลายความเห็นแก่ตัว ทั้งนั้น พุทธศาสนาของเราที่สอนในเรื่องของ ธาตุ ขันธ์ อายตนะ ที่จับกลุ่มกันเข้า เป็นร่างกายบ้าง เป็นจิตใจบ้าง เป็นไปตามกฎของธรรมชาติ เรียกว่า อิคะปัจญตา คือมันเป็นไปตามกฎของมันเอง คือ ไม่ต้องมีตัว มันจะมากิน มาใช้ ทุกอย่างเหมือนกัน ฉะนั้นให้เห็นความที่ว่า พุทธศาสนา มีความประเสริฐที่สอนความไม่มีตัว จะกิน จะหา จะได้มา ไม่ต้องหนักอกหนักใจตลอด จะไม่ยึดมั่นถือมั่นด้วยความมีตัว พอมีตัว ก็เป็นของหนัก ร้อน ทุกข์ ต้องดับทุกข์ด้วย ความไม่เห็นแก่ตัว จะเป็นความเย็น คือนิพพาน คือความเย็นที่ดับความร้อน ดับกิเลสได้ทันที ไม่ต้องรอเมื่อตาย กิเลสดับไปเท่าไร ความเย็นก็มากขึ้นเท่านั้น สอนวิธีการดับไปแห่งความทุกข์ร้อนนั่นคือ นิพพาน ถ้ามีกิเลสทั้ง 24 ชั่วโมง ก็บ้าตายกันพอดี ตอนนี้กิเลสมันมีช่วงระยะดับพอสมควร ที่จะไม่ให้เป็นบ้า เป็นประสาท นอนไม่หลับ ก็ขอให้รู้จักนิพพานชนิดนี้ นิพพานน้อยๆ ระยะสั้น คือช่วงที่ไม่มีกิเลสเผาโลน การปฏิบัติคือ พยายามขยายให้มันยาวนานออกไป จนกว่าจะเป็นนิพพานโดยสมบูรณ์ และขอขอบคุณนิพพาน ชนิดนี้ที่ช่วยเราไว้ หล่อเลี้ยงชีวิตเราไว้ไม่ให้บ้า เป็นโรคประสาท ถ้าได้หล่อเลี้ยงทุกวัน ทุกคืน และให้มุ่งหมายว่านิพพานคือ การสร้างกุศล ประพฤติ ปฏิบัติธรรม ทำบุญ ทำกุศล รู้จักแล้วก็พยายามให้นานออกไปจึงจะเป็นนิพพานที่สมบูรณ์ ขอให้สนใจ มีสติสัมปชัญญะ สนใจที่ทำทางดับกิเลสนั้นให้นานออกไป ก็จะได้รับพระนิพพานเป็นอานิสงค์ จะตั้งใจ หรือบังเอิญที่มีความเย็นก็ตาม ก็ให้ทำความรู้จักพระพุทธศาสนายิ่งๆขึ้นไป นิพพานอย่างนี้มักเรียกว่า นิพพุตติ แปลว่า เย็น ถ้าเย็นสมบูรณ์ ก็แปลว่า พระอรหันต์ พระท่านบอกว่า กิเลสนะ นิพพุตติงยันติ ทุกๆวัน ก็ไม่สนใจ ก็ให้สนใจ ก็คือ ความเย็น นั่นเอง ขอให้ได้ความเย็นนานๆขึ้นจะได้เป็นพระนิพพานสักวันหนึ่ง นี่คือคำสอนของพระพุทธเจ้าว่า เมื่อได้รับความเย็นชนิดนี้แล้ว มันจะไม่เห็นแก่ตัว ความไม่มีตัวมากๆขึ้น ก็ยิ่งประเสริฐ ไม่เกิดกิเลส ความร้อน และต้องมีสติทุกเรื่องราวที่เกิดขึ้น มีปัญญามาควบคุมเหตุการณ์นั้นๆไว้ ถ้ามีแรงน้อยไป ก็ให้เพิ่มด้วยสมาธิ และก็มีธรรมะสำคัญ คือ สติที่จะไปเอาปัญญามา ความรู้มา และกลายตัวเป็นสัมปชัญญะ ควบคุมสถานการณ์ให้ถูกต้องไม่เกิดกิเลส ความทุกข์ ถ้ากำลังใจอ่อน ต้องมีสมาธิเพิ่มขึ้นๆ มันก็จะสำเร็จประโยชน์ สิ่งเหล่านี้เป็นตัวธรรมะที่ต้องศึกษา รู้ให้เข้าใจ และเป็นหน้าที่ที่จะต้องทำ ธรรมะ หมายถึง หน้าที่ เราจะรู้เพียงว่า ธรรมะ คือ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ธรรมะมีอยู่ก่อนที่พระพุทธเจ้าประสูติ ซึ่งก็หมายถึง หน้าที่ที่ช่วยให้รอดชีวิต ที่จะดับทุกข์ได้ ก็พูดกันไปในสมัยนั้น พอพระพุทธเจ้าประสูติ ท่านก็สอนหน้าที่ เคารพหน้าที่ ก็คือ ธรรมะ ในความหมายอย่างนี้ หน้าที่เป็นสิ่งสำคัญที่สุดของชีวิต ใครไม่ทำหน้าที่ มันก็ตาย ถึงจะรอด ก็รอดอย่างมีทุกข์ ดังนั้นสอนเด็กๆให้รู้ว่า ธรรมะ คือหน้าที่ ที่เป็นสิ่งสูงสุดที่ท่านพระพุทธเจ้าเคารพ แต่มันหน้าเศร้าที่พุทธบริษัทไม่เคารพในสิ่งที่ท่านพระพุทธเจ้าเคารพ ให้ไปใคร่ครวญเองว่าจริงหรือไม่ บิดพริ้วหน้าที่ คดโกงหน้าที่คอรัปชั่นหน้าที่ไปเสียหมด แล้วก็คอยอ้อนวอนให้ ผีสางเทวดามาช่วย มันก็ช่วยไม่ได้ ถ้าคนทำหน้าที่ หน้าที่นั้นจะกลายเป็นพระเจ้ามาช่วยทันที ดังคำกล่าวที่กล่าวกันทั่วไปว่า พระเจ้าไม่ช่วยคนที่ไม่ทำหน้าที่ ดังนั้นเราซึ่งเป็นพุทธบริษัท ก็ควรเคารพหน้าที่ ดังเช่น ก่อนรุ่งสาง พระพุทธเจ้าก็เคารพหน้าที่ว่า วันนี้จะไปโปรดที่ไหน ทิศไหน เพื่อพบใคร เพื่อจะโปรดเค้าได้อย่างไร แล้วเมื่อตกลงพระทัย ก็ไปที่แห่งนั้นไปโปรด มีโอกาสไปบิณฑบาต สนทนา สั่งสอน แสดงธรรม จึงเรียกว่า ไปโปรดสัตว์ จนสายจนเที่ยง แล้วก็กลับมาเทศน์สอนประชาชนที่มาหาถึงวัดใน จนถึงตอนเย็น พอค่ำลง ก็สอนพระสอนเณรที่อยู่ประจำวัด ดึกก็สอนเทวดา หรือเรียกว่าแก้ปัญหาเทวดา ที่มาจากสวรรค์ก็ดี หรือราชามหากษัตริย์ก็ดี ท่านทำอย่างนี้ตลอดทุกวันตลอดพระชนม์ชีพ เวลาไปไหน ท่านก็เดิน ไม่ได้นั่งรถม้าหรือเกวียน จนกระทั่งวันสุดท้ายก่อนปรินิพพาน ก็ยังมีคนมาขอให้โปรด มีปริพาชกคนหนึ่ง มาขอให้โปรด ท่านก็มีเมตตา ได้โปรดจนคนนั้นได้บรรลุเป็นพระอรหันต์เหมือนกัน ท่านทำหน้าที่จนนาทีสุดท้าย หรือภาษาชาวบ้านเรียกว่า ทำงานจนตาย เพราะท่านเคารพหน้าที่ ได้อธิษฐานจิตเอาไว้ตั้งแต่วันแรกที่ได้ตรัสรู้ เมื่อใดมีการทำหน้าที่ เมื่อนั้นมีการปฏิบัติธรรมะ ขอให้ทุกคนเข้าใจความจริงข้อนี้ หน้าที่ในการทำมาหากินต่างๆ ทุกชนิด ก็เรียกว่า ธรรมะ ทั้ง หน้าที่บริหารร่างกาย อาบน้ำ กินข้าว ขับถ่าย ก็คือธรรมะ หน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่งเล็กๆน้อยๆ ก็เป็นธรรมะ ก็ขอให้สนใจอย่างนี้ และจงพอใจในการทำหน้าที่ แม้แต่ขุดดินก็มีธรรมะ เหงื่อก็คือน้ำมนต์ มันเย็น ก็ขอให้เข้าใจอย่างนี้เถิด จะได้พัฒนาแผ่นดินธรรมแผ่นดินทอง ชีวิตก็เป็นสุข ไม่ต้องไปกังวลสนใจผลของหน้าที่ ในเมื่อลงมือทำที่ถูกต้อง ก็พอใจ ทั้งชาวสวน ชาวนา ข้าราชการ และก็มีความสุข แม้แต่หน้าที่บริหารร่างกายก็สำคัญมาก เพราะต้องทำทุกวัน แม้ตื่นนอน ล้างหน้า ก็ต้องมีสติสัมปชัญญะอยู่ที่แปรงสีฟันนั่น ด้วยปัญญา ด้วยสมาธิ มันก็มีธรรมะ คิดว่าปฏิบัติธรรมกรรมฐานตอนล้างหน้าแปรงฟันนั่นแหละ มีความสุข ความพอใจ ตลอดเวลา คนไม่รู้ คนโง่ มันบอกว่ามันทำไม่ได้ เพราะ จิตใจมันเลื่อนลอยไปอยู่ที่อื่น และมันก็ไม่คิดว่าสามารถจะทำให้เป็นธรรมะได้ จงทำอะไร ที่ไหน ให้มันเป็นอารมณ์แห่งสมาธิทั้งหมด มีสติสัมปชัญญะ ทำอย่างถูกต้องแท้จริง พอใจ ตลอดเวลา ถึงแม้ตอนอาบน้ำ ตอนขับถ่าย ตอนรับประทานอาหาร เคี้ยว กลืน ก็ขอให้มีสติ ถูกต้องแล้วพอใจตลอดเวลา อร่อยก็แค่นั้นเอง ไม่อร่อยก็แค่นั้นเอง เช่นนี้เอง อย่างนี้จะเป็นการทำ สมถะกรรมฐาน สูงสุดตลอดเวลาการทานอาหาร ถ้ากระเพื่อมขึ้น กระเพื่อมลง เพราะความอร่อยและไม่อร่อย ก็จะไม่รู้ความสงบ แม้แต่ล้างถ้วยล้างชาม ของสกปรก กวาดบ้านถูบ้าน ก็ขอให้อยู่ในอารมณ์ของสมาธิ มีสติสัมปชัญญะ มีพอใจ ก็มีความสุข ทุกอย่างให้กำหนดเป็นธรรมะหมด

หน้าที่ 2 – สนใจในสิ่งที่พระพุทธเจ้าเคารพ
คราวนี้การคบหาสมาคมกันทุกทิศทาง ข้างหน้าบิดามารดา ข้างหลังบุตรภรรยา ข้างซ้ายมิตร ข้างขวา ครูบาอาจารย์ ข้างบนผู้บังคับบัญชา ข้างใต้ผู้ใต้บังคับบัญชา คือ ทิศทั้ง 6 ประพฤติต่อสิ่งเหล่านี้ให้ถูกต้องและพอใจ จะไม่มีทุกข์ร้อนอะไร ส่วนอุปสรรคต่างๆที่เข้ามา ก็ไม่ต้องทุกข์ คิดเสียว่ามันเข้ามาสอนให้ฉลาดก็ไม่เป็นทุกข์ มีสติสัมปชัญญะทุกกระเบียดนิ้ว ทุกเวลาวินาที ถ้าพลาดก็ คิดเสียว่ามันเข้ามาสอนให้ฉลาดก็ไม่เป็นทุกข์ ทั้งวันทั้งคืน นึกทีไรมีแต่ความถูกต้องพอใจ ยกมือไหว้ตัวเองได้ เป็นสวรรค์แท้จริงเมื่อนั้น เกลียดตัวเองเมื่อไหร่ก็นรกในนั้น คนโบราณเปรียบเสมอว่า สวรรค์ในอก นรกในใจ สวรรค์บนฟ้า นรกใต้ดิน ในอินเดียเข้าสอนกันอยู่ก่อนพระพุทธเจ้าประสูติ พอพระพุทธเจ้าท่านเกิดก็ไม่คัดค้าน ท่านสอนว่าจะไปสวรรค์ก็ทำดีอย่างนี้ ไม่ไปนรกก็อย่าทำชั่วอย่างนี้ แต่มีนรก สวรรค์ใน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ฉันเห็นแล้ว ฉันเห็นแล้ว ถ้าทำผิด ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็เป็นนรกเมื่อนั้น ถ้าทำถูก ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็เป็นสวรรค์เมื่อนั้น ท่านพระพุทธเจ้าก็ไม่ได้ยกเลิกสวรรค์บนฟ้า นรกในดิน แต่เพียงสอนว่า นรกสวรรค์มีจริงอยู่ในนี้ ขอให้พุทธบริษัทสนใจเรื่องที่พระพุทธเจ้าสอนไว้จริงๆอย่างนี้เถิดว่า นรก สวรรค์มันอยู่แค่กำมือของเรา อยู่แค่เอื้อม มือของเราจะจับให้ได้เป็นนรกหรือสวรรค์ก็ได้ตามความพอใจ ก็เป็นไปอย่างนี้ ก็ขอให้เข้าใจถูกต้องแล้วก็พอใจ ค่ำลงตรวจดูตัวเอง ถ้าไหวตัวเองได้ ถูกต้องของใจนั่นแหละสวรรค์ ธรรมคือหน้า หน้าที่คือธรรมที่อยู่รอด ถ้าไม่มีหน้าที่ที่อยู่รอดมันก็คือตาย เช่นไม่ทำหน้าที่กินอาหารก็ตาย ดังนั้นถือว่าหน้าที่เป็นสิ่งสูงสุดที่ท่านพระพุทธเจ้าท่านเคารพ แต่พวกที่เคารพพระพุทธเจ้า ไม่เคารพ ไม่ทำหน้าที่ แล้วจะเรียกว่าเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าได้อย่างไรกัน ดังที่กล่าวมา หน้าที่เป็นสิบอย่าง เป็นร้อยอย่าง ต้องทำด้วยสติสัมปชัญญะ สมาธิ แล้วก็พอใจ พอใจอยู่ในความถูกต้อง เป็นนิพพานน้อยตลอดเวลา สวรรค์อยู่ตลอดเวลา ถ้าทำได้อย่างนี้ โลกก็ไม่วิกฤติการณ์ที่เป็นอยู่ ปล่อยให้กิเลสครอบงำ มีแต่ความเห็นแก่ตัว ก็ทรมานกับความเห็นแก่ตัวอยู่คนเดียวบ้าง เดือดร้อนไปทั้งโลกบ้าง ฉะนั้นจึงไม่สันติภาพ เพราะมันมีแต่ความเห็นแก่ตัว ฉะนั้นเราควรดึงธรรมะมา เช่นศีลธรรมที่เคยมีก็ดึงกลับมา กำจัดความเห็นแก่ตัวได้เท่าไร สันติภาพก็มีมากขึ้นเท่านั้น

ความเห็นแก่ตัวเป็นเรื่องยากที่จะกำจัด เพราะมันเป็นเรื่องของสัญชาตญาณ มันมีมาในสิ่งมีชีวิต สิ่งมีชีวิตมันจะรู้ว่า มันมีตัวตนก่อน แล้วค่อยเห็นแก่ตัว เช่น ลูกทารกออกมาก็มีตัว พอออกมาก็ได้รับการส่งเสริมให้เห็นแก่ตัว โดยไม่รู้สึกตัวทั้ง 2 ฝ่าย คนเลี้ยงก็ขับกล่อมให้สบายที่สุด จนเด็กก็คิดว่าอยากได้อะไรแล้วต้องได้ ต้องบำรุงบำเรอ ไม่มีพ่อแม่คนไหนพาลูกไปร้านขายของเล่น แล้วบอกลูกว่า ลูกเอ๋ยทุกสิ่งทุกอย่างนี้ มีไว้ให้เราโง่นะลูกเอ๋ย มีแต่ถามว่า ลูกจะเอาอะไร เดี๋ยวซื้อให้ มันมีแต่อย่างนี้ มีตั้งแต่เริ่ม เด็กๆ วัยรุ่น หนุ่มสาว ผู้ใหญ่ ความเห็นแก่ตัวก็เติมขึ้น เต็มขึ้น หนาด้วยโลภะ โทสะ โมหะ มันจึงยากลำบากในการกำจัด แต่ถ้ามีวัฒนธรรมประเสริฐในการได้รับการอบรมอย่างถูกต้อง มันจะไม่เกิดความเห็นแก่ตัว จงรู้ถูกต้องว่าควรทำอย่างไร แต่ไม่ค่อยมีใครมีความคิดอย่างนี้ มีความเห็นแก่ตัวจนชินกับความทุกข์ แล้วค่อยหาทางดับทุกข์กันทีหลัง นี่คือความจริงของมนุษย์ ดังนั้นควรสอนเเต่เนิ่นๆ เพื่อลูกหลาน ให้รู้ว่าความเห็นแก่ตัว มันทุกข์ เห็นแก่ตัวคนเดียว ก็ทุกข์คนเดียว เกี่ยวข้องกับผู้อื่น ก็ทุกข์ถึงผู้อื่น เด็กมันโดนอะไรกระทบก็โกรธ แล้วทุบตี พี่เลี้ยงก็ช่วยทุบตีด้วย อย่างนี้เรียกว่า ส่งเสริมความเห็นแก่ตัว ศาสนาทุกศาสนา สอนให้กำจัดความเห็นแก่ตัว มีบทบัญญัติให้ละความเห็นแก่ตัว ด้วยการรักผู้อื่น แล้วแต่แบบ แต่ละศาสนา ให้ควบคุมความเห็นแก่ตัว มันจะได้ลำบากน้อย ทุกข์น้อย หรือเป็นพระอรหันต์ได้เร็วขึ้น เพื่อให้เข้าใจถูกต้อง แม้แต่ให้ความรักผู้อื่น ทั้งเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตาย จะทำให้ไม่เห็นแก่ตัว แต่ถ้าเห็นแก่ตัว มันก็จะรักตัวกู ไม่รักความถูกต้อง ไม่รักผู้อื่น ไม่รักความเป็นธรรม ความเป็นตัวกูเป็นเพียงความรู้สึก ไม่ใช่ตัวตน เราควรเข้าใจในฐานะพุทธบริษัท อะไรที่ยึดถือว่าตัวตนนั้นไม่ได้ดีอย่างนั้น เป็นเช่นนั้นเอง จะได้ไม่ยึดติด ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ แต่ถ้าไม่เช่นนั้น มันจะรักข้างหนึ่ง มันจะเกลียดข้างหนึ่ง ดีกว่าชั่ว บวกดีกว่าลบ หรือที่วิทยาศาสตร์เขาว่า Positive และ Negative ทุกคนบูชา Positive และเกลียด Negative แล้วมันจะสงบได้อย่างไร อยากได้แต่ Positive ทุกสิ่งทุกอย่าง เหมือนกับเอาเชือกมันคอไว้ แล้วดึงไปข้างบน และมัดเชือกที่เท้าแล้วดึงไปข้างล่าง ตรงกลางถูกรนด้วยไฟ ดังนั้นถ้าต้องการชีวิตใหม่ก็ต้องทำลายที่ต้นเหตุคือ ความเห็นแก่ตัว หลงในบวก และเกลียดในลบ ในทางพุทธศาสนาสอนให้ไม่ยินดียินร้าย ดูอย่างนี้ก็ได้ ดีใจสุดเหวี่ยงก็กินข้าวไม่ลง เสียใจสุดเหวี่ยงก็กินข้าวไม่ลง แต่ถ้ากลางๆก็กินข้าวอร่อย อาตมาอยากจะพูดว่า พวกที่ฆ่าตัวตายมันหลงดีหลงชั่วทั้งนั้น ชั่วมันเข้ามาให้เป็นทุกข์ ก็เกลียดกลัวไม่เป็นสุข จนต้องฆ่าตัวตาย เป็นหน้าที่ที่จะต้องศึกษา ปฏิบัติ ขอให้สนใจดีๆ ถ้าเป็นพุทธบริษัทต้องพึ่งตัวเองอย่างนี้ พึ่งการกระทำที่ถูกต้องอย่างนี้ พึ่งธรรมะ ธรรมะคือหน้าที่การกระทำเพื่อชีวิตรอดของมนุษย์ ถ้าไม่ปฏิบัติตามนั้น ผีสางเทวดาก็ไม่มาช่วย เอาพระเครื่องมาแขวนให้คอหักก็ช่วยไม่ได้ ต้องเคารพหน้าที่เหมือนที่พระพุทธเจ้าท่านเคารพ ดูจากสมัยนี้ในโบสถ์มีแต่การเสี่ยงเซียมซีตลอดทั้งวัน ไม่มีหน้าที่ ไม่มีธรรมะ แต่กลับกัน ชาวนาที่ทำนาอยู่ กลับมีหน้าที่ มนุษย์สมัยนี้ไม่เคารพหน้าที่ กลับไปบูชาเงิน อำนาจ วาสนา บารมี และหลงบวก เอาเป็นว่าท่านทั้งหลายควรสนใจในสิ่งที่พระพุทธเจ้าเคารพ ขอยืนยันว่า สวนโมกข์ได้ตั้งขึ้นมาเพื่อให้ปรารถนาให้ประชาชน ชาวโลก เข้าใจพระพุทธศาสนาได้ถูกต้อง อาตมาถือว่า งานชิ้นนี้เป็นงานชิ้นสุดท้าย คืองานที่ทำให้ชาวโลก และพุทธบริษัทเข้าใจพระพุทธศาสนาได้ถูกต้อง ยกตัวอย่างได้ หากชาวโลกอ่านหนังสือที่ฝรั่งเขียนเช่น ชาวอินเดียเขียน ที่เขียนลำเอียงว่า พระพุทธศาสนาเป็นแขนงหนึ่งของศาสนาฮินดู ฝรั่งก็เขียนตามนั้น อย่างนั้นโดยไม่รู้สึกตัว นี้คือความเลวร้าย ความผิด ยักยอกพุทธศาสนาอย่างยิ่งอาตมาพยายามช่วยให้เข้าใจเรื่องนี้ อีกทั้ง นรกใต้ดิน สวรรค์บนฟ้า กรรมดีกรรมชั่ว เขาสอนกันอยู่ก่อน แต่ท่านพระพุทธเจ้าก็สอนกรรมอีกอย่างหนึ่งคือ วิธีการเลิกกรรมเหล่านั้น วิธีการให้สิ้นกรรมเหล่านั้น เป็นวิธีในพุทธศาสนาซึ่งในหนังสือฝรั่งนั้นไม่มี แล้วเรื่อง อัตตา อนัตตา มันก็ไปกันใหญ่ ฮินดูมี อัตตาถาวร คือ ปรมาตมัน แต่พุทธศาสนา ไม่มีอัตตาชนิดนั้น พระนิพพานเป็นทางดับเย็นของสิ่งที่ร้อน คือ Quenching of the thirst หมายถึง การหยุด ของการกระหายของตัณหา นิพพานเป็นนิรันดรก็จริง คือกฎเกณฑ์อันนี้อยู่นิรันดร สภาวะนิรันดรถ้าหยุดกิเลสได้ และยังมีอีกหลายข้อ หน้าที่สุดท้ายของท่านๆทั้งหลายช่วยพระพุทธศาสนา โดยช่วยกันแก้ไขที่เชื่อ ที่เข้าใจ ที่สอนกันไปผิดๆ ต้องแก้ไขกันใหม่ และต้องสู้เพื่อความถูกต้องแก่พระพุทธศาสนา อาตมาได้จัดเตรียมสถานที่ฝั่งโน้น ไว้เป็นสวนโมกข์นานาชาติ เป็นที่สะดวกสำหรับพบปะศาสนานานาชาติเพื่อทำความเข้าใจให้ถูกต้องในพระพุทธศาสนา อยากฝากไว้ว่าเป็นหน้าที่สุดท้าย ช่วยกันปกป้องพระพุทธศาสนา ที่ถูกยักยอก ถูกกลืนไป ถือว่าเราได้ชำระตัวเองด้วย เพราะแต่ก่อนนั้น ศาสนาพราหมณ์มันมาก่อน มาสอนก่อน ฝังในจิตใจของบรรพบุรุษ นรก สวรรค์ นิพพาน นิรันดร เช่นนั้น แต่ศาสนาพุทธที่มาทีหลังก็ต้องมาแก้ มาล้างกันใหม่ พูทธศาสนาจึงจะถูกต้อง หน้าที่ของเราเพื่อสนองคุณพระศาสนา และศาสนาจะคงอยู่หรือดับไป ก็เพราะพวกเราซึ่งเป็น พุทธบริษัททั้ง 4 ที่ควรทำความเข้าใจในตัวเองก่อน แล้วจึงสั่งสอนต่อไปทั่วโลกได้ ทั้งหน้าที่ของเราในด้านต่างๆ หน้าที่สืบทอดอายุพระศาสนา และก็ขอให้ประสบความสำเร็จ ถ้วนทั่วทุกข้อเทอญ ธรรมกถาที่กล่าวในรูปของการอนุโมทนาการทอดผ้าป่าและเป็นกุศลทาน ก็สมควรแก่เวลาแล้ว จึงขอจบแต่เพียงเท่านี้

http://www.vcharkarn.com/varticle/16301

. . . . . . .