ประวัติ การงาน หลักธรรม หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต (๘)

ประวัติ การงาน หลักธรรม หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต (๘)

อย่าดังเกินไป
พ.ศ.๒๔๘๗ ท่านอาจารย์มั่นไปจำพรรษาที่เสนาสนะป่าบ้านโคก อันเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของท่านอีกครั้งหนึ่ง ตามความปรารถนาของท่านอาจารย์กงมา จิรปุญโญ
หมู่บ้านนี้เป็นเหมือนบ้านป่า การคมนาคมยังไม่ดี ที่ว่างเปล่าซึ่งไม่มีผู้ใดจับจองจึงมีมาก มีป่าไม้มาก ส่วนใหญ่เป็นพวกไม้เต็ง ไม้รัง ไม้ประดู่ ไม้แดง ไม้ยาง ไม้ตะบาก ไม้ตะแบก ที่มีร่มเงาเหมาะแก่การสร้างวัดปฏิบัติกัมมัฏฐาน ทั้งอยู่ไม่ไกลเกินไปพออาศัยบิณฑบาตเลี้ยงชีพได้

การอยู่จำพรรษาที่บ้านโคกในครั้งที่ ๒ ปรากฏว่าได้มีพระเถระผู้เป็นศิษย์ของท่านมารวมตัวกันที่บ้านโคกนี้มาก ซึ่งก็พอดีกับที่ท่านอาจารย์มั่นอยากจะพบศิษย์อยู่ด้วยเหมือนกัน เพื่อจะได้แนะนำการปฏิบัติในขั้นสูงยิ่ง ๆ ขึ้นไป

อีกอย่างหนึ่ง การปกครองก็เริ่มมีปัญหา เพราะหมู่คณะมีมากปัญหาก็เกิดขึ้นมากเป็นเงาตามตัว แต่เพราะความอัจฉริยะของท่านอาจารย์มั่น คณะปฏิบัติของอาจารย์มั่นจึงเป็นที่ยอมรับและนับถือกันตลอดมา ท่านเคยพูดว่า “อย่าทำให้โลดโผน หรือดังเกินไป อย่างทำให้คนขาดเลื่อมใส เพราะไม่มีเสียง สิ่งที่จะมั่นคงถือเป็นไปพอดี ๆ หนักแน่น”

ท่านอาจารย์วิริยังค์ ผู้เขียนประวัติท่านอาจารย์มั่น ได้เขียนไว้ว่า
จะอย่างไรก็ตามขณะที่ผู้เขียนกำลังนั่งตำหมากและรินน้ำชาถวายท่านพร้อมกับได้ฟังเรื่องของเชียงใหม่จนจุใจ ก็นับว่าเป็นกุศลจิตที่ได้มาพบท่านผู้ทรงคุณวุฒิ เนื่องจากการเล่าความเป็นมาหรือประวัติของท่านเองนั้น โดยมากท่านก็ไม่ใคร่จะเล่าให้ใครฟังเท่าไรนัก ท่านแสดงธรรมอันลึกซึ้งนั้นมากกว่าแต่การที่ท่านจะเล่าถึงความเป็นไปต่าง ๆ ของท่านนั้นก็ต่อเมื่อถูกรบเร้าจากลูกศิษย์ ผู้ต้องการจะทราบความเป็นมาของท่านบ้างเท่านั้น

ในขณะที่ท่านอยู่เสนาสนะป่าบ้านโคก-นามน เป็นเวลา ๓ ปีแล้ว ท่านได้ปรารถนาที่จะย้ายไปอยู่ที่บ้านหนองผือ ต.นาใน อ.พรรณานิคม ซึ่งเป็นการเตรียมงานใหญ่อีกครั้งหนึ่ง ที่ท่านจะไปคราวนี้เพราะขณะนั้นมีพระอาจารย์ใหญ่ ๆ ที่เป็นศิษย์ของท่านได้มารวมกันอยู่เป็นจำนวนมาก เมื่อข่าวการเคลื่อนย้ายแพร่ออกไป ทุกท่านก็รีบเข้าประชุมเพื่อจะได้ติดตามท่านไป

การเดินทางครั้งนี้ เป็นการเดินทางโดยเท้าอีกครั้งหนึ่งของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ ซึ่งเป็นการธุดงค์ครั้งสุดท้าย แต่เป็นความกรุณาอย่างยิ่งของท่านแก่ผู้เขียนในการณ์ครั้งนี้อีกครั้งหนึ่ง คือท่านได้ไปแวะพักที่บ้านห้วยแคน อยู่ระยะหนึ่งเดือนกว่า ๆ บ้านนี้เป็นบ้านของพวกซ่ง อยู่ตามชายเขาภูพาน ผู้เขียนได้ไปอยู่กับพวกเข้าหลายตอนโดยแนะนำธรรมต่าง ๆ จนเขาเกิดความเลื่อมใสมาก

ขณะที่ท่านพักอยู่ที่ป่าใกล้บ้านแห่งนี้ ผู้เขียนได้พักอยู่กับท่านและพระอื่น ๆ อีกหลายรูป ทำให้ชาวบ้านแถวนั้นยินดีปรีดาเป็นอย่างยิ่ง เพราะเหตุที่ชาวบ้านเหล่านั้นได้รับรสพระธรรมจากผู้เขียนที่ได้ไปวางรากฐานการปฏิบัติไว้ก่อนแล้ว

เมื่อได้กำหนดที่เดินทางต่อไปยังบ้านหนองผือ พระเถระได้ทราบข่าวการเดินทางก็ได้เตรียมตัวที่จะติดตามไปในระยะใกล้บ้างห่างบ้าง หนทางลัดที่จะไปบ้านหนองผือนั้น จะต้องเดินตัดดงไปทางบ้านห้วยกับแก้ผ่านไปทางบ้านกุดไห บ้านกุดปาก บ้านผักอีเลิด

การเดินทางครั้งนี้เดินวันเดียวไม่ถึง จึงต้องค้างคืนกลางทางทั้งการเดินทางก็ไม่ได้เร่งร้อนอะไร ถือว่าค่ำไหนนอนนั่นตามสบาย ส่วนพระเถระผู้ติดตามนั้นก็หาที่พักที่มีหมู่บ้านอยู่ห่าง ๆ ออกไป เพราะถ้ารวมกันอยู่เป็นหมู่ก็จะลำบากด้วยอาหารบิณฑบาต ส่วนผู้เขียนก็ได้ติดตามท่านอาจารย์มั่นไปตลอดทาง

เมื่อถึงบ้านผักอีเลิด เป็นเวลาเย็นมากแล้ว ท่านจึงสั่งให้พักอยู่ใกล้หมู่บ้านแห่งนี้ หมู่บ้านแถว ๆ นี้เป็นชาวบ้านป่าทำมาหากินด้วยการทำไร่ถางป่า ที่อยู่อาศัยไม่ค่อยเป็นหลักฐานเท่าไร สถานที่เป็นภูเขาแต่ก็ไม่สูงนัก ส่วนต้นไม้เท่าที่สังเกตดูเป็นไม้เต็ง ไม้รัง ไม้แดง ไม้มะค่าโมงเป็นส่วนมาก บางแห่งเป็นต้นไม้เตี้ย ๆ แต่บางแห่งก็เป็นดงต้นไม้สูง ๆ เป็นดงทึบมองแทบไม่เห็นดวงอาทิตย์ การเดินครั้งนี้เป็นการขึ้นลงภูเขาไปด้วย จึงทำให้ล่าช้าในการเดินทาง

ผู้เขียนจำได้ว่า การเดินทางของท่านอาจารย์มั่นในครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายในชีวิตของท่าน ในการเดินทางไกลข้ามภูเขา แต่ตามที่สังเกตการเดินทางของท่านแล้ว ซึ่งขณะนั้นท่านมีอายุ ๗๕ ปีแล้ว ก็ยังเดินอย่างกระฉับกระเฉงว่องไว เดินไปได้อย่างสบาย ผู้เขียนก็ได้เดินตามท่านไปอย่างใกล้ชิดตลอดทาง

ภูเขาที่เดินผ่านไปนั้นเรียกว่า ภูพาน โดยส่วนมากจะเป็นภูเขาหินทราย มิใช่หินปูนเหมือนแถบลพบุรี จึงทำให้คนอยู่ได้อย่างสบายไม่มีการแพ้ ถ้าเป็นภูเขาหินปูน คนอยู่แล้วจะเกิดอาการแพ้เกิดโรคภัยต่าง ๆ มีผู้คนอาศัยทำมาหากินอยู่เป็นอันมาก แต่ก็เป็นชาวเขาแทบทั้งนั้นเขาเรียกผู้คนในแถวนี้ว่า “ลาวโซ่ง” หรือ “โซ่-ข่า” และลาวภูไท

ชาวเขาเหล่านี้เลื่อมใสพระพุทธศาสนากันทั้งนั้น มีการทำบุญตักบาตรสร้างวัดวาอารามเช่นเดียวกับคนไทยทั่ว ๆ ไป แต่ยังขาดการศึกษาเท่านั้น เพราะไม่มีโรงเรียนจึงทำให้มีอะไรหลาย ๆ อย่างที่ควรจะดีกว่านี้ แต่ก็ไม่สามารถจะทำได้ การศึกษาจึงมีความสำคัญแก่มวลมนุษยชาติตั้งแต่ดึกดำบรรพ์จนกระทั่งบัดนี้

เมื่อได้พักค้างคืนที่ข้าง ๆ หมู่บ้านผักอีเลิด แล้วการเดินทางไปบ้านหนองผือก็ไม่ไกลเท่าไร วันนั้นหลังจากฉันภัตตาหารเช้าแล้ว ท่านก็พักผ่อนพอสมควร บ่ายแล้วจึงออกเดินทาง ถึงบ้านหนองผือประมาณ ๕ โมงเย็น ชาวบ้านทางนี้ทราบข่าวการมาของท่านอาจารย์มั่นก่อนแล้ว จึงพร้อมด้วยพระเถระบางรูปผู้สันทัดในการจัดเสนาสนะ ได้คอยให้ความสะดวกแก่ท่านและพระติดตาม

ในบริเวณวัดหนองผือนี้ เป็นดงมีต้นไม้ใหญ่ปกคลุมครึ้ม ทำให้อากาศถ่ายเทลำบาก จึงเป็นแหล่งที่มีความสำคัญอย่างหนึ่ง คือต้องทำความเพียรให้มากนอนมากไม่ได้ อาจจะถึงล้มป่วยและตายได้ ซึ่งผู้ที่มาหาท่านอาจารย์ได้ป่วยและมรณภาพไปหลายรู)

ครั้นเมื่อท่านไปถึง และบอกแก่สานุศิษย์ญาติโยมว่าจะอยู่จำพรรษาที่นี่ ทั้งญาติโยมและพระก็ช่วยกันจัดการซ่อมแซมเสนาสนะ เพราะพระภิกษุสามเณรมีความประสงค์จะเข้ามาอยู่กับท่านทั่วสารทิศ เมื่อกาลออกพรรษาก็จะเดินทางมาศึกษาธรรมกับท่านตลอดเวลา ชุดนั้นออก ชุดนี้เข้า เป็นประจำอยู่อย่างนี้

ผู้เขียนเองขณะนั้นก็ได้จากท่านไปอยู่จังหวัดลพบุรี ซึ่งก็ได้มาอยู่กับท่านตอนออกพรรษาเป็นเวลาหลาย ๆ เดือน ทุก ๆ ปี จนถึงปีสุดท้าย

ความจริงภูมิประเทศของบ้านหนองผือนี้ เป็นที่เหมาะแก่การทำความเพียรมาก เพราะเป็นที่ไกลต่อการคมนาคม ผู้ที่จะเข้าไปในหมู่บ้านนี้ต้องเดินทางจากถนนใหญ่ ๓ ถึง ๔ ชั่วโมงจะถึง ถ้าจะไปอีกทางหนึ่งก็คือทางเกวียนเป็นทางอ้อมมากต้องใช้เวลาถึง ๘ ชั่วโมงกว่าจะถึง แสดงว่าท่านอาจารย์มั่นเลือกภูมิประเทศที่ไม่ให้ผู้คนมารบกวนท่าน ซึ่งไม่เหมือนกับปัจจุบัน ผู้เป็นอาจารย์ทั้งหลายแม้เมื่อไปอยู่ในถ้ำภูเขายังอุตส่าห์ตัดถนนให้รถยนต์เข้าไปถึง เพื่อให้ผู้คนสัญจรสะดวก

เมื่อคนไปหามากก็บ่นว่ายุ่ง ไม่ทราบว่าจะบ่นทำไม ในเมื่อท่านเองก็ชอบจะให้เขาเข้าไปหา ถึงตัดถนนให้ความสะดวกแก่ชาวบ้าน ซึ่งไม่เหมือนพระอาจารย์มั่นผู้เป็นปรมาจารย์เลย เพราะเมื่อท่านอยู่บ้านโคกนามน ท่านบ่นว่าใกล้ทางรถยนต์คนมาสะดวกทำให้ยุ่ง เราะจะสอนพระภิกษุสามเณรก็มาวุ่นเสียเรื่อยทำให้เสียจังหวะไม่ได้ผลเท่าที่ควร ท่านจึงหาทางไปที่อื่น และได้บ้านหนองผือเป็นสัปปายะ

ตอนนี้จะขอพูดถึงบริเวณบ้านหนองผือเพื่อให้ผู้อ่านที่ยังไม่เคยไปได้ทราบถึงสถานที่แห่งนี้ว่า เพราะเหตุใดท่านอาจารย์มั่น จึงจำพรรษาอยู่ที่นี่ถึง ๕ ปี
บ้านหนองผือนี้เอานามของหนองน้ำแห่งหนึ่งซึ่งมีต้นผือหรือต้นปรือเป็นต้นไม้สำหรับทอเสื่อ เหมือนกับชาวจันทบุรีทอเสื่อกกนั่นเอง บ้านหนองผือนี้อยู่ในแอ่งของภูเขา มีภูเขาล้อมรอบอยู่ทุกด้าน

ในขณะที่เราเดินทางมาและยืนอยู่บนภูเขาแล้วแลลงมาดูบ้านหนองผือ จะเห็นเป็นแอ่งคล้ายก้นกระทะก่อนเข้าถึงหมู่บ้านก็จะพบลำธารน้ำเล็ก ๆ ไหลผ่านไม่ขาดสายอยู่แห่งหนึ่งเสียก่อน และข้างลำธารมีหินก้อนใหญ่บ้างเล็กบ้างเรียงรายกันอยู่ เข้าไปถึงกลางลำธารเป็นหินมีหลังนั่งพักสบาย

โดยเฉพาะผู้เดินทางจากบ้านหนองผือไปที่อำเภอพรรณนิคม ออกเดินทางแต่เช้าจะต้องมาหยุดพักฉันอาหารกันที่นี่ แม้ข้าพเจ้าก็เคยมาฉันอาหารเช้าที่นี่หลายหน โดยนั่งฉันบนหินมีหลัง มีน้ำใสร่มเย็นนั่งฉันสบาย แต่เมื่อเรามาถึงที่นี่แล้ว ก็จะไม่ทราบเลยว่าหมู่บ้านหนองผือมีลักษณะเป็นแอ่งเหมือนก้นกระทะเพราะพื้นที่เป็นที่ราบกว้าง เหมาะแก่การทำไร่ทำนา เมื่อเพาะปลูกอะไรลงไปแล้วเป็นงอกงามดีทั้งนั้น

ซึ่งจะสังเกตได้ในวัด ปลูกต้นกล้วย มะม่วง มะละกอ ควินนิน มะพร้าว ทุกอย่างงอกงามมีใบสดเขียวชอุ่ม การทำนาดีมาก เหลืออยู่เหลือกินมีแม่น้ำอยู่สายหนึ่งเป็นที่อาศัยทำมาหากินของชาวบ้านหนองผือนี้คือแม่น้ำอูน มีต้นไม้ไผ่ติดต่อกันไปตามลำคลอง การสร้างที่อยู่อาศัยของชาวบ้านเป็นแบบโบราณธรรมดามุงหญ้า คนรวยก็มุงกระดาน

อาหารหลักคือการรับประทานข้าวเหนียวล้วน ชาวบ้านเป็นคนภูไทมีหมู่บ้านประมาณ ๗๕ หลังคาเรือน อาชีพมีการทำไร่กันเป็นพื้น โดยเฉพาะไร่ฝ้าย พริก ยาสูบ ฝ้ายนำเอามาปั่นเองทอเองเป็นเสื้อผ้าจนเหลือใช้ อาหารก็เป็นอาหารธรรมชาติ ไม่ต้องพึ่งพาที่อื่น มีการเป็นอยู่ด้วยความสงบ สถานที่เป็นดงทึบจึงเกิดไข้มาลาเรียชุกชุม ปีหนึ่ง ๆ ทำให้คนตายเพราะมาลาเรียไม่น้อย (ประวัตินี้กล่าวตอนพระอาจารย์มั่นยังมีชีวิตอยู่)

วัดป่าตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของหมู่บ้าน ข้างทุ่งนาเดินลำบากชาวบ้านจึงได้ทำสะพานข้ามจากท้ายบ้านมาถึงวัด วัดนี้ท่านอาจารย์หลุยเป็นผู้มาเริ่มต้นก่อสร้างไว้ก่อนหน้าท่านอาจารย์มั่น มาอยู่ประมาณ ๑๐ ปี ที่ตั้งวัดเป็นเนินสูงกว่าบ้าน โดยมีทุ่งนาเป็นเขตกั้นระหว่างบ้านกับวัด ในสถานที่อันเป็นที่ตั้งของวัดและบ้าน บางครั้งก็ขุดค้นพบวัตถุโบราณ อันแสดงว่าเดิมเคยเป็นหมู่บ้านมาแต่โบราณกาล

ที่ตั้งหมู่บ้านเป็นที่ราบมีต้นไม้ใหญ่ เพราะเป็นดงดิบมีเนื้อที่ประมาณ ๑๐ ไร่ ทางด้านตะวันตกเป็นดงไม้ดิบติดต่อกันไป การสร้างกุฏิก็สร้างเป็นหลัง ๆ อยู่เฉพาะองค์ ๆ ตามธรรมเนียมของวัดป่า มีศาลาสวดมนต์ ศาลาหอฉัน สถานที่สุขา หลุมเทหยากเยื่อ บ่อน้ำใช้ และฉันสะอาดดี

เนื่องจากสถานที่นี้เป็นที่สงัด การภิกขาจารก็ไม่ไกลนัก ประชาชนมีศรัทธาดีมาก ขณะนี้พระอาจารย์มั่นก็มีวัยชราภาพมากแล้ว อายุ ๗๕ ปี จึงพักอยู่ที่วัดนี้เป็นเวลาถึง ๕ ปี
เมื่อเป็นเช่นนี้ พระภิกษุสามเณรผู้สนใจในการปฏิบัติธรรมกัมมัฏฐานก็ได้หลั่งไหลเข้ามาโดยไม่ขาดสาย เป็นเหตุให้เสนาสนะที่อยู่วัดนี้มีไม่เพียงพอ จึงพากันออกไปอยู่ในที่ซึ่งไม่ไกลนักอันเป็นที่พักพอที่จะเจริญสมณธรรมได้

และสำนักที่พอสมควรที่ตั้งอยู่ใกล้วัดป่าหนองผือก็มี ๑.วัดนาไนย ๒.วัดโคกมะนาว ๓.ห้วยบุ่น ๔.บ้านอูนโคก ๕.บ้านผักอีเลิด ๖.บ้านดงบาก ที่ซึ่งท่านแยกย้ายกันไปอยู่ในที่ต่าง ๆ เหล่านี้ จะมารวมกันทำอุโบสถ (ฟังปาฏิโมกข์) ที่วัดป่าหนองผือกันทั้งนั้น เพราะเมื่อถึงวันอุโบสถ ท่านอาจารย์มั่นก็จะได้ให้โอวาทหลังจากทำอุโบสถเสร็จแล้ว โดยการชี้แนวทางในทางธรรมข้อปฏิบัติอันเกี่ยวเนื่องกับการดำเนินจิตทุก ๆ คราวไป

ส่วนท่านที่อยู่ใกล้ พอสมควรก็จะมาฟังธรรมได้สะดวกในเวลากลางคืน ซึ่งก็ได้มาแทบทุก ๆ คืน ได้ฟังธรรมปกิณกะมีนัยต่าง ๆ แล้วก็กลับไปนับว่าเป็นความอุตสาหะวิริยะอย่างยอดเยี่ยมของท่านเหล่านี้

พระเถระภิกษุสามเณรทั้งหลาย ที่อยู่โดยรอบใกล้บ้างไกลบ้างเหล่านี้ จะคอยฟังข่าวอยู่เสมอว่า พระเถระผู้ใหญ่ที่อยู่ทางไกลและเป็นผู้มีจิตเป็นไปในธรรมอันละเอียด ซึ่งท่านเหล่านั้นจะได้รับการยกย่องจากพระอาจารย์มั่น เนื่องจากว่าพระเถระรูปใดเป็นผู้มีความสำคัญในทางปฏิบัติและเป็นผู้มีความหนักแน่น มีสมรรถนะและความสามารถสูง มีการดำเนินทางจิตที่ถูกต้อง มีความเมตตาต่อหมู่คณะ ท่านจะต้องกล่าวถึงพระเถระรูปนั้น ๆ ในท่ามกลางสงฆ์ หรือกล่าวกับผู้ปฏิบัติใกล้ชิดอยู่เสมอว่า ท่านองค์นั้นองค์นี้ดีมากหากใครต้องการจะปฏิบัติก็ให้ติดตามองค์นั้นไปเถิด จะเกิดผลอย่างนี้เป็นต้น

ดังนั้นจึงไม่แปลกอะไรที่พวกเราและพวกเถระรุ่นใหม่ จะต้องทราบถึงความดีของพระเถระรุ่นเก่า ๆ ว่าท่านเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งคุณธรรม ด้วยเหตุนี้เมื่อพวกเราได้ข่าวว่า พระเถระองค์ที่มีความสำคัญมาแต่ไกล ท่านอาจารย์มั่นก็จะแสดงธรรมอย่างวิจิตร หรือเรียกว่าธรรมกถากัณฑ์ใหญ่

เพราะเหตุที่พระเถระเหล่านั้นจะได้ไต่ถามอรรถปัญหา ท่านอาจารย์มั่นก็จะได้วิสัชชนา และแสดงธรรมไปพร้อมกัน ซึ่งกาลเช่นนี้หาฟังได้ยากนัก จึงทำให้พวกเราต้องตั้งใจคอยเพื่อให้มีให้เกิดมหาธรรมกถา เมื่อถึงกาลเช่นนี้จะมีพระภิกษุสามเณรมากันมากเป็นพิเศษจนเต็มไปหมด ไม่ทราบว่าออกมาจากป่าจากเขาจากถ้ำไหน ๆ กัน

แห่กันมาไม่ท้อถอย
ท่านอาจารย์มั่นได้จำพรรษาอยู่ที่เสนาสนะป่า บ้านหนองผือ อยู่ที่นี่ถึง ๕ พรรษา ประชาชนได้ทราบกิตติศัพท์ของท่าน ก็พากันมาสักการะบูชาท่านมิได้ขาด พระภิกษุสามเณรที่เป็นศิษย์หลั่งไหลมากันเป็นระยะ ๆ ผู้ที่มิใช่ศิษย์พอทราบข่าวก็พากันมาถวายตัวเป็นศิษย์

เพราะคำสอนของท่านไม่มีเลศนัย แต่สอนตรงไปที่จิตใจที่มีกิเลสฟูฟ่อง ที่หนองผือนี้ ได้มีประชาชนหลั่งไหลมาหลายสารทิศ ทั้งทางไกลและทางใกล้ ทั้งภาคใต้และภาคเหนือ ต่างก็ทยอยกันมาเข้านมัสการทุก ๆ วัน ทั้ง ๆ ที่ถนนหนทางก็ไม่สะดวกแสนที่จะกันดาร และอากาศก็ไม่ใช่เล่น ใคร ๆ ที่เข้ามาต้องระวังตัวมาก ถ้าพลาดพลั้งก็รักษาตัวกันไม่ไหว

เพราะเคยปรากฏว่า ผู้ที่เข้านมัสการพักอยู่กับท่านเกิดอาการแพ้อากาศเจ็บป่วยล้มตายไปทั้งพระทั้งเณร และญาติโยมก็หลายคน ถึงแม้การณ์จะเป็นเช่นนั้นทุก ๆ คนก็หามีความท้อถอยไม่ เพราะต้องการฟังธรรมอันวิจิตรของท่าน จึงยอมสละชีวิตเข้ามาหาท่านอย่างน่าอัศจรรย์

แม้ข้าพเจ้าเองจากท่านไปอยู่จันทบุรี ก็ได้เดินทางมาอยู่กับท่าน (เพียงแต่ในพรรษาเท่านั้น) ออกพรรษาก็รีบมา พอใกล้เข้าพรรษาก็กลับจันทบุรี เช่นนี้ทุก ๆ ปีจนกระทั่งถึงวาระสุดท้าย
การจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าบ้านหนองผือนี้ ตลอดระยะเวลา ๕ พรรษา ท่านก็ได้พยายามชี้แจงธรรมต่าง ๆ แก่บรรดาศิษย์ทั้งหลายตลอดเวลา

ท่านอาจารย์มั่นเป็นผู้มีกำลังวัดชาดี เดินไปไหนมาไหนได้คล่องแคล่ว อนึ่งขณะที่ท่านอยู่ที่วัดป่านี้ ท่านได้แสดงธรรมอันเป็นส่วนข้อปฏิบัติมากที่สุด มิได้เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อยเลย เมื่อผู้ใดเข้ามาหาท่านก็แสดงธรรมให้ฟัง ไม่ว่าจะเป็นพระเล็กเณรน้อยตลอดถึงพระเถระผู้ใหญ่

บางครั้งวันวิสาขบูชา มาฆบูชา ท่านได้แสดงผู้เดียวจนถึงเที่ยงคืน การแสดงธรรมก็เป็นไปวิจิตรพิสดาร มีอรรถรสแห่งข้อปฏิบัติสำนวนไพเราะมาก ซึ่งบางแห่งบางข้อข้าพเจ้าเคยได้บันทึกไว้ในหนังสือ “มุตโตทัย” เป็นที่เข้าอกเข้าใจแก่บรรดาสานุศิษย์บางองค์ถึงกับบ่นว่าเราไปภาวนาตั้งเดือน สู้ฟังเทศน์ท่านอาจารย์ครั้งเดียวก็ไม่ได้เช่นนี้ก็มีมาก

อนึ่งท่านได้พยายามสั่งสอนสานุศิษย์ทั้งหลาย โดยทุกวิถีทางทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อหวังให้ศิษย์ทั้งหลายได้เข้าใจในปฏิปทาข้อปฏิบัติ และท่านก็ได้เลือกเฟ้นเอาธรรมทั้งหลายตลอดทั้งแนะแนวทางให้แก่บรรดาศิษย์มากมายด้วยอุบายต่าง ๆ โดยมุ่งหมายที่จะพาให้ดำเนินสู่ทางอันบริสุทธิ์ ตรงต่อพุทธพจน์จริง ๆ

ในการที่ท่านอยู่ที่วัดบ้านหนองผือนี้ มีความประสงค์เพื่อให้บรรดาศิษย์เก่าและศิษย์ใหม่เข้ามาศึกษาเป็นการเปิดโอกาสแก่บรรดาพระภิกษุสามเณร และเพื่อให้เข้าใจในธรรมยิ่ง ๆ ขึ้น กับทั้งการแสดงธรรมนั้นยังความชื่นชมและแก้ความสงสัยให้อย่างไม่มีข้อแย้ง

ซึ่งคล้ายกับว่า ท่านจะรู้จักกาลแห่งสังขารธรรมจักอยู่ไปไม่ได้นาน ใคร่จะสอนให้แก่บรรดาศิษย์เป็นผู้เข้าใจในธรรมอันควรที่จะพึงรู้พึงเข้าใจ สืบแทนท่านให้เป็นหลักฐานแก่คณะกัมมัฏฐานต่อไป

การปฏิบัติประจำวันของพระกรรมฐาน
วัตรปฏิบัติที่ตั้งขึ้นมา ก็เพื่อช่วยในการบรรลุธรรม มิใช่มีไว้เพื่อยึดถือหรือเพื่อโอ้อวด ท่านอาจารย์มั่นนับเป็นพระมหาเถระที่คงเส้นคงวาต่อการปฏิบัติมาตลอดเคารพพระวินัย ไม่ละเมิดศีลวัตร แม้เมื่อท่านแก่ชราลง ยังไม่ละเว้นปฏิบัติ แต่อาจจะเพลาไปบ้างเพราะกำลังวังชามันถดถอย

ท่านอาจารย์วิริยังค์ ได้บันทึกไว้เป็นคติแก่อนุศิษย์ว่า
ก่อนออกบิณฑบาตตอนเช้า ต้องขึ้นสู่ที่จงกรมก่อน และก่อนที่จะบิณฑบาต ขณะที่ท่านจงกรมอยู่ศิษย์ทั้งหลายต่างพากันทำวัตรปฏิบัติต่าง ๆ มีการเก็บกวาดสถานที่ เทกระโถน เอาอาสนะไปปูยังโรงฉัน และเตรียมคลี่สังฆาฏิไว้รอท่าน เพราะตามธรรมดาแล้วการซ้อนผ้าสังฆาฏิเข้าสู่โคจรคามนั้นไม่เคยขาดเลย เว้นแต่จะมีฝนตกใหญ่เท่านั้น

เมื่อท่านเดินจงกรมจนถึงเวลาที่ออกเที่ยวบิณฑบาตแล้ว ก็ลงจากที่จงกรมไปสู่โรงฉัน ศิษย์ทั้งหลายก็ถวายผ้าสังฆาฏิช่วยครองกลัดลูกดุมรังดุมทั้งข้างล่างและข้างบนแล้วเข้าไปสู่บ้าน ผู้ถือบาตไปก่อนโดยไปรออยู่ที่นอกอุปจาระบ้าน เมื่อท่านไปถึงก็รับเอาบาตร ศิษย์ก็ตามเข้าไปเป็นแถวตามลำดับอาวุโส มี ๑๐-๒๐-๓๐ ถึง ๕๐-๖๐ องค์ และเป็นแถวยาวเหยียด

ตอนขากลับศิษย์ก็รับเอาบาตรล่วงหน้ามาจัดการแก้ถลกบาตร เตรียมรอไว้โดยเรียบร้อย (การบิณฑบาตใช้สะพายอุ้มบาตรไว้ข้างหน้า ซึ่งไม่ผิดอะไรกับการอุ้มบาตรซึ่งอาจารย์ใหญ่ ได้นำมาปฏิบัติในคณะกัมมัฏฐานและคณะกัมมัฏฐานทั้งหมดจึงได้กระทำเหมือนท่านด้วยกันทั้งนั้น)

ครั้นเมื่อท่านมาถึงวัดแล้วพวกศิษย์ ก็เตรียมรับผ้าสังฆาฏิเอาออกผึ่งแดดพอสมควรแล้วก็เก็บไว้เป็นที่
การฉันก็รวมลงในบาตรกันทั้งนั้น ข้าพเจ้ายังไม่เคยเห็นท่านเอาอาหารไว้ภายนอกบาตรเลย เว้นแต่เมื่อคราวล้มป่วยครั้งสุดท้ายเท่านั้น

แม้การบิณฑบาต ท่านก็ไม่ยอมขาดได้ง่าย ๆ เว้นเสียแต่ว่าไปไม่ได้จริง ๆ ซึ่งตามธรรมดาเมื่อสุขภาพและกำลังของท่านยังดีอยู่ แต่หากท่านป่วยอาพาธแล้ว ท่านมักระงับด้วยการไม่ฉันจังหันและไม่ออกบิณฑบาตประกอบความเพียร บางครั้งถึง ๓ วันก็มี พอโรคระงับแล้วจึงค่อยฉันต่อไป

ท่านเคยพูดว่า การเที่ยวบิณฑบาตโปรดสัตว์นั้น แม้แต่องค์พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ยังเสด็จไป และพระอริยเจ้าผู้สาวกก็ไปบิณฑบาต เราผู้สาวกภายหลังจะไม่ไปบิณฑบาตก็เท่ากับว่าดีกว่าพระพุทธเจ้าผู้บรมศาสดา ซึ่งเท่ากับว่าดีเกินครูไปเท่านั้น หมายความว่า นอกครู

เมื่อคราวท่านอาพาธครั้งสุดท้ายนั้น เมื่อเข้าบิณฑบาตตลอดบ้านไม่ได้ก็ไปเยี่ยมครึ่งบ้าน เมื่อเข้าไปบ้านไม่ไหวก็ไปสุดเขตวัด และเมื่อไปสุดเขตวัดไม่ไหวก็ไปแค่ศาลาโรงฉัน เมื่อไปบิณฑบาตถึงศาลาไม่ไหวจริง ๆ จึงงดบิณฑบาต จนถึงวาระสุดท้าย อันเป็นการแสดงถึงความเอาใจใส่อย่างยิ่งในข้อวัตรปฏิบัติของท่านในการออกบิณฑบาตเป็นวัตร

อนึ่ง การฉันนั้นรวมฉันแห่งเดียวกันหมด เมื่อจัดอาหารใส่บาตรกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว (การจัดอาหารนั้น มีพระผู้แจกคือตักแจกไปตามลำดับจนกว่าจะหมดและเพียงพอ พระที่แจกมี ๒-๓ องค์ เป็นภัตตุเทศก์ที่สงฆ์ตั้งไว้) ท่านก็นำพิจารณาเป็นปัจจเวกขณะ บางครั้งก็เตือนเมื่อมีเสียง บางครั้งก็พิจารณาด้วย
****************************************************

ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.larndham.net/cgi-bin/kratoo.pl/007464.htm

. . . . . . .