จริต ๔
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม สติปัฏฐาน ๔ ก็คือตั้งสติกำหนดพิจารณากายเวทนาจิตและธรรม ที่มี ๔ ข้อ พระอาจารย์ได้แสดงอธิบายว่า เพราะจริตอันหมายถึงความประพฤติที่เป็นพื้นของจิตใจ ดังที่เรียกชื่ออื่นว่า อัธยาศัย นิสสัย
ย่อมมี ๔ อย่าง คือ ๑ บุคคลที่เป็นตัณหาจริตอย่างหยาบ ๒ บุคคลที่เป็นตัณหาจริตอย่างละเอียด หรืออย่างแรง ๓ บุคคลที่เป็นทิฏฐิจริตอย่างหยาบ ๔ บุคคลที่เป็นทิฏฐิจริตอย่างละเอียด หรืออย่างแรง เพราะฉะนั้น สติปัฏฐานจึงมี ๔ ข้อ เพื่อผู้มีจริตทั้ง ๔ นั้น จักได้ยกขึ้นปฏิบัติ กำหนดพิจารณาให้เหมาะแก่จริตของตน
ตัณหาจริต ๒
บุคคลจำพวกที่เรียกว่าตัณหาจริตอย่างหยาบนั้น ก็คือมีตัณหาความดิ้นรนทะยานอยากของจิตใจ เพื่อที่จะได้สิ่งที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ เพื่อที่จะเป็นนั่นเป็นนี่ เพื่อที่จะให้สิ่งและภาวะที่ไม่ชอบใจไม่พอใจหมดสิ้นไป ดั่งที่เรียกว่าที่จะไม่เป็นนั่นไม่เป็นนี่ คือไม่เป็นในภาวะที่ไม่พอใจไม่ชอบใจ
บุคคลที่เป็นตัณหาจริตดั่งที่กล่าวมานี้อย่างหยาบ ดังที่ติดอยู่ในกาย ดิ้นรนทะยานอยากอยู่ในกาย ก็ตรัสสอนให้ปฏิบัติในสติปัฏฐานข้อพิจารณากาย ส่วนบุคคลที่เป็นตัณหาจริตคือมีความดิ้นรนทะยานอยากดังกล่าวนั้นอย่างละเอียด ก็ติดในเวทนา เช่นต้องการสุขเวทนาเป็นสำคัญ ก็ตรัสสอนให้ปฏิบัติในสติปัฏฐานข้อพิจารณาเวทนา
ทิฏฐิจริต ๒
ส่วนบุคคลที่เป็นทิฏฐิจริตนั้น ทิฏฐิก็คือความเห็น อันหมายถึงความเห็นยึดถือที่ไม่ถูกต้อง ดั่งที่ยึดถือว่าตัวเราของเรา อย่างหยาบ ก็ตรัสสอนให้พิจารณาจิต ส่วนที่มีทิฏฐิคือความเห็นอย่างละเอียด ยึดถืออย่างละเอียด แต่ว่าเป็นความยึดถือมั่นในธรรมะที่ผิด เช่นยึดถือในขันธ์ ๕ หรือนามรูป ว่าตัวเราของเราเป็นต้น ก็ตรัสสอนให้พิจารณาในสติปัฏฐานหมวดธรรมะ
พระอาจารย์ได้แสดงว่า เพราะบุคคลในโลกมีจริตต่างๆ กันเป็น ๔ อย่างดังกล่าวมานี้ พระพุทธองค์จึงได้ทรงแสดงสติปัฏฐานไว้ ๔ ข้อ สำหรับให้เหมาะแก่ผู้ที่มีจริตทั้ง ๔ นี้ ได้เลือกปฏิบัติให้เหมาะแก่จริตของตน อีกอย่างหนึ่งก็อาจกล่าวได้โดยทั่วๆ ไปว่า ทุกๆ คนย่อมมีจริตทั้ง ๔ นี้อยู่ด้วยกัน เพราะต่างก็มีตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก ต่างก็มีความเห็นเป็นเหตุยึดถือต่างๆ จึงอาจที่จะจับปฏิบัติได้ทั้ง ๔ ข้อ เริ่มตั้งแต่ข้อแรกคือข้อกาย ต่อมาข้อเวทนา ต่อมาข้อจิต ต่อมาข้อธรรม
อีกอย่างหนึ่งได้มีพระพุทธภาษิตแสดงถึงการปฏิบัติในสติปัฏฐานทั้ง ๔ ข้อนี้เนื่องกัน เช่น ตั้งสติกำหนดลมหายใจเข้าออก การปฏิบัติกำหนดลมหายใจเข้าออกเมื่อกำหนดได้ ภูมิปฏิบัติก็จะเลื่อนกันขึ้นไปเองสู่ขั้นเวทนา ก็จับกำหนดเวทนา ต่อไปก็เลื่อนขึ้นไปสู่ขั้นจิต ก็จับกำหนดจิต ต่อไปก็เลื่อนเข้าไปสู่ขั้นธรรม ก็จับพิจารณาธรรม คือละเอียดขึ้นไปโดยลำดับ แม้จะตั้งต้นด้วยข้อใดข้อหนึ่ง เช่นกำหนดลมหายใจเข้าออกดังกล่าว ภูมิปฏิบัติก็จะเลื่อนกันขึ้นไปเองตามลำดับ
ทางไปอันเอก
เพราะฉะนั้น ทุกคนจึงอาจที่จะปฏิบัติ จับปฏิบัติตั้งแต่ขั้นต้นตามที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ และสติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้ ได้มีแสดงไว้ในต้นพระสูตรว่าเป็นทางไปอันเอก หรือทางไปอันเดียว ที่แม้จะกำหนดข้อใดข้อหนึ่ง ก็ย่อมเป็นทางอันเอก หรือทางไปอันเดียว เพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลาย เพื่อก้าวล่วงความโศกความปริเทวะร่ำไรรำพันหรือระทมใจ เพื่อดับทุกข์โทมนัส เพื่อบรรลุญายธรรม หรือธรรมะที่พึงบรรลุ เพื่อทำให้แจ้งพระนิพพาน ดั่งนี้ นี้เป็นอานิสงส์ของการปฏิบัติในสติปัฏฐานทั้ง ๔
ต่อจากนั้นก็ได้ทรงจำแนกสติปัฏฐานว่ามี ๔ ข้อ คือตั้งจิตพิจารณากาย มีความเพียร มีสัมปชัญญะความรู้ตัว มีสติความระลึกได้ กำจัดอภิชฌาคือความโลภอยากได้ หรือความดีใจติดใจ โทมนัสความเสียใจในโลกได้ แล้วก็ตรัสข้อที่ ๒ คือตั้งจิตกำหนดพิจารณาเวทนา ข้อที่ ๓ ตั้งจิตกำหนดพิจารณาจิต ข้อที่ ๔ ตั้งจิตกำหนดพิจารณาธรรม โดยตรัสธรรมะอันเป็นอุปการะในการปฏิบัติไว้เช่นเดียวกัน คือมีความเพียร มีสัมปชัญญะความรู้ตัว มีสติความระลึกได้ กำจัดอภิชฌาความอยากได้ความยินดี โทมนัสความเสียใจในโลกได้ ดั่งนี้
ข้อปฏิบัติที่ทรงสั่งสอนไว้เป็นข้อแรก
และต่อจากนั้นก็ได้ตรัสข้อแรก โดยยกภิกษุขึ้นเป็นที่ตั้ง ว่าภิกษุในธรรมวินัยนี้ และพระอาจารย์ได้อธิบายคำว่าภิกษุไว้ว่า ภิกษุในที่นี้หมายถึงผู้ที่ฟังคำสั่งสอน ของพระพุทธเจ้า เช่นฟังคำสั่งสอนในสติปัฏฐานสูตร และรับมาปฏิบัติ ชื่อว่าภิกษุ ทั้งบรรพชิต ทั้งคฤหัสถ์ ทั้งชายทั้งหญิง ก็คือหมายถึงผู้ที่รับคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เช่นคำสั่งสอนในสติปัฏฐานสูตรนี้มาปฏิบัตินั้นเอง
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ หรือผู้ปฏิบัติในธรรมวินัยนี้ ไปสู่ป่า ไปสู่เรือนว่าง ไปสู่โคนไม้ ไปสู่เรือนว่าง นั่งขัดบัลลังก์ดังที่เรียกกันในภาษาไทยว่านั่งขัดสะหมาด หรือแม้นั่งตามผาสุกของตน ตั้งกายตรง ดำรงสติจำเพาะหน้า หายใจเข้าก็ให้มีสติรู้ หายใจออกก็ให้มีสติรู้ หายใจเข้ายาวก็ให้รู้ว่าเราหายใจเข้ายาว หายใจออกยาวก็รู้ว่าเราหายใจออกยาว หายใจเข้าสั้นก็รู้ว่าเราหายใจเข้าสั้น หายใจออกสั้นก็ให้รู้ว่าเราหายใจออกสั้น ศึกษาคือสำเหนียกกำหนดไว้ว่าเราจักรู้กายทั้งหมดหายใจเข้า ศึกษาคือสำเหนียกกำหนดว่าเราจักรู้กายทั้งหมดหายใจออก ศึกษาคือสำเหนียกกำหนดว่าเราจักสงบรำงับกายสังขารเครื่องปรุงกาย อันหมายถึงลมหายใจเข้าออก หายใจเข้า ศึกษาคือสำเหนียกกำหนดว่าเราจักรำงับ สงบรำงับกายสังขาร คือลมหายใจเข้าออก หายใจออก ดั่งนี้
นี้เป็นข้อปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนไว้เป็นข้อแรก ในกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือตั้งสติกำหนดพิจารณากาย เพราะฉะนั้นจึงสมควรที่จะหัดปฏิบัติตามที่ตรัสสอนไว้ด้วยพระองค์เอง อันนับว่าเป็นหลักปฏิบัติตามพระบาลีที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนไว้เองโดยตรง
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต
อณิศร โพธิทองคำ บรรณาธิการ
http://www.dharma-gateway.com/monk/preach/somdej/sd-324.htm
http://www.watpanonvivek.com/index.php/section-table/2012-07-14-12-23-28/2853-2010-11-18-09-52-04