ธรรมบรรยาย สุขา สงฺฆสฺส สามคฺคี

ธรรมบรรยาย สุขา สงฺฆสฺส สามคฺคี
ความพร้อมเพรียง ความสามัคคีแห่งหมู่ เป็นสุข

เป็นธรรมะที่บรรยายโดยพระเทพสิงหบุราจารย์ (หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม) ในโอกาสต่างๆ ที่ผ่านมาในอดีต

ภาษิตข้อนี้มีอธิบายว่า ความพร้อมเพรียงช่วยกันทำการงาน และไม่มีความบาดหมางกลมเกลียวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เรียกว่า สามัคคี เมื่อกล่าวโดยประเภทเป็น ๒ ประเภท
กายสามัคคี ความพร้อมเพรียงกันด้วยกำลังกาย ๑
จิตตสามัคคี ความพร้อมเพรียงกันด้วยน้ำใจ ๑
สามัคคีทั้งสองประเภทนี้ ต้องอาศัยซึ่งกันและกัน แต่กายสามัคคี ถ้าเป็นแต่เพียงกำลังกาย น้ำใจไม่สามัคคีด้วย เช่น คนที่อยู่ในอำนาจของนายงาน เมื่อนายบังคับก็ช่วยกันยกและลากของอันหนักให้ถึงที่ต้องการได้ เป็นแต่สามัคคีต่ำๆ เพราะช่วยกันทำชั่วคราวที่เขาบังคับเท่านั้น ส่วนจิตสามัคคี เป็นคุณธรรมลึกซึ้งอาจให้ผลแรงกว่าความพร้อมเพรียงกันแต่เพียงกำลังกาย เพราะผู้ที่มีน้ำใจประกอบด้วยไมตรีอารีแก่กันเอง จะมีผู้บังคับก็ตาม ไม่มีผู้บังคับก็ตาม ย่อมสามัคคีพรักพร้อมช่วยกันทำช่วยกันคิด ให้ประโยชน์กิจสำเร็จโดยชื่นตาชื่นใจ สามัคคีมีนัยพรรณนามานี้มีอยู่ในหมู่ใดสมาคมใด หมู่นั้นสมาคมนั้น พึงหวังแต่ความเจริญส่วนเดียว ไม่มีความเสื่อมทราม

ข้อนี้บัญญัติว่าหมู่ๆ นั้น ประสงค์คนมากด้วยกัน บางหมู่ประพฤติดี บางหมู่ประพฤติชั่ว แต่ในที่นี้ประสงค์หมู่ที่หวังผล คือความดี ความงาม ความเรียบร้อย ประพฤติแต่ที่สุจริต กิจที่ดีงามในหมู่เช่นนี้ ถ้ามีสามัคคีธรรมความพร้อมเพรียงกันอยู่แล้ว ควรหวังความสุขกาย สุขจิต สมกับภาษิตพระนะราศพรมมิสสรเจ้าตรัสไว้ ในคัมภีร์อิติวุตถกเอกนิบาตว่า เอกธมฺโม ภิกฺขเว โลเก อุปชฺชมาโน อุปปชฺชติ พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย พหุโน ชนสฺส อตฺถาย หิตาย สุขายะ เทวมนุสฺสานํ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมอันหนึ่งเมื่อเกิดขึ้นในโลก ย่อมเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์สุขแห่งชนเป็นอันมาก เพื่อความต้องการ เพื่อความเกื้อกูล เพื่อความสำราญ แห่งชนเป็นอันมาก ทั้งเทวดาและมนุษย์ ธรรมอันหนึ่งนั้นคืออะไร ความสามัคคีของหมู่นี้แหละ เป็นธรรมอันหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์และความสุขแห่งชนเป็นอันมาก
สงฺเฆโข ปน ภิกฺขเว สมคฺเค ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ด้วยว่าเมื่อหมู่พร้อมเพรียงกันแล้ว ความขัดใจและวาจา เครื่องกระทบกระทั่ง และความร้าวราญ ย่อมไม่มีแก่กัน ดังนี้
เพราะความสามัคคีเป็นคุณธรรม ทำหมู่ให้เจริญเป็นสุขสำราญดังนี้ ผู้ที่หวังผลคือความสุข ควรจะบำรุงสามัคคีธรรม ให้เกิดให้เป็นขึ้น ธรรมซึ่งเป็นทางให้เกิดสามัคคีนั้น มีมากหลายประเภท แต่จะรวบรวมยกขึ้นพรรณนาเพียง ๔ ข้อ

1. ทานัง ความเป็นผู้อัธยาศัย อารีอารอบเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เจือจานแก่กัน ตามกำลังของตน อันนี้เป็นทางให้เกิดความสามัคคีประการหนึ่ง ความเป็นคนใจจืดเหนียวแน่น เห็นแต่ประโยชน์ของตนฝ่ายเดียว เป็นเหตุทำลายความสามัคคี
2. เปยฺยวชฺชํ ความเป็นผู้มีวาจาอ่อนหวาน นุ่มนวลชวนดื่มไว้ในใจ ถึงแม้ว่าวาจาจะหยาบคาย แต่เป็นเครื่องเตือนใจให้ประพฤติดี วาจาเช่นนี้ ก็ควรดื่มไว้ในใจ อันนี้เป็นทางให้เกิดความสามัคคีประการหนึ่ง การพูดเสียดสีกระทบกระทั่ง บริภาษให้บาดใจ เป็นเหตุทำลายความสามัคคี
3. อตฺถจริยา ความประพฤติกิจ ที่เป็นประโยชน์ต่อกัน คือความเป็นผู้โอบอ้อม เห็นเขาได้ทุกข์ยากก็เอาใจช่วยและคอยถามข่าวคราวทุกข์สุขแห่งกันและกัน สิ่งใดที่ควรแก่กำลังก็ช่วยเหลือไม่ดูดาย เห็นสิ่งใดผิดก็ช่วยตักเตือน ถ้าความเสื่อมเสียจะมีมาถึงก็ช่วยแก้ไขป้องกัน โดยเต็มกำลัง อันนี้เป็นทางให้เกิดความสามัคคีประการหนึ่ง ความดูดายเพิกเฉย ต่อผู้ตกอับหรือกลับซ้ำเติมส่งเสริมโทษภัย เป็นเหตุทำลายความสามัคคี
4. สมานตฺตตา ความเป็นผู้มีตนเสมอ คือเป็นคนมีมารยาทเรียบร้อย ไม่หยาบคาย แม้จะมีโภคสมบัติ และอำนาจคุณวุฒิ วิทยาความรู้อย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ก็ไม่ดูหมิ่นผู้อื่นว่าเลวทรามกว่าตนเกินไป ประพฤติพอเหมาะแก่คุณสมบัติแห่งตน เป็นผู้คงที่ไม่เอียงเพราะอคติ ผู้ใดประพฤติดีก็ชมตามความดี ผู้ใดประพฤติทุจริตผิดจากครองธรรมก็ว่ากล่าวสั่งสอนตามความผิดของผู้นั้น อันนี้เป็นทางให้เกิดความสามัคคีประการหนึ่ง ความเป็นผู้ถือตัวดูหมิ่นผู้อื่นเกินไปและประพฤติตนเอนเอียง ไม่เที่ยงธรรม เป็นเหตุทำลายความสามัคคี
ผู้ที่บำรุงความสามัคคีให้เจริญได้ ต้องอาศัยตั้งอยู่ในคุณธรรม ๔ ประการ และละเว้นธรรมที่ตรงกันข้ามกับคุณธรรมดังพรรณนามาฉะนี้ ความสามัคคีบังเกิดขึ้นแล้วก็เป็นอันยากที่จะรักษาให้คงอยู่เสมอได้ เพราะน้ำใจมักจะวิปริตผันแปรไม่คงที่ เหตุดังนั้น การที่จะรักษาความสามัคคีให้ถาวรอยู่ได้ต้องอาศัยความระวังตั้งใจในคุณธรรม ซึ่งเป็นทางให้เกิดความสามัคคี อย่าให้หมุนไปในอธรรม ซึ่งตรงกันข้ามกับคุณธรรมนั้น
อนึ่งไม่ควรถือแต่ความเห็นของตนฝ่ายเดียว ต้องคอยผ่อนผันสั้นยาว เอาใจซึ่งกันและกันเป็นประมาณด้วย ถ้ามีเหตุอันจะทำความเห็นให้แตกต่างกันเกิดขึ้น ต้องชี้เหตุผลทำให้ตกลงกันโดยน้ำนวลไม่หักหาญ เมื่อมีเหตุซึ่งเป็นทางแห่งความเคลือบแคลงเกิดขึ้น ควรพูดและไต่ถามกันตรงๆ เพื่อมิให้เข้าใจผิด เกิดประทุฏฐจิตคิดกินแหนงแคลงใจแก่กันและกัน ย่นเข้ากล่าวก็รวมกันอยู่ในขันติความอดทน เพราะขันติเป็นรากเหง้าแห่งคุณธรรมทั้งปวง ข้อนี้ควรสาธกด้วยนิพนธ์คาถาอันโบราณบัณฑิตหากประพันธ์ไว้ว่า สพฺเพปิกุสลา ธมฺมา ขนฺตยาเยว วฑฺฒนฺติ เต. ธรรมฝ่ายกุศลนั้นๆ ล้วนเจริญด้วยเพราะขันติความอดทน ดังนี้
ขนฺตินี้ ถ้าจะตัดความตามโวหาร ได้แก่ ความหนักเอาเบาสู้ เมื่อสิ่งที่ไม่พอใจมากระทบกระทั่ง อดกลั้นไว้ มิได้ถือเล็กถือน้อย ไม่เห็นแก่ความได้เปรียบและเสียเปรียบ เป็นคนหูหนักใจหนักเมื่อมีผู้มากล่าวโทษผู้ใดก็ไม่เชื่อง่าย ต้องสืบสวนดูให้แน่นอน การถือเปรียบเกี่ยงงอน ความผลุนผลันหูเบาใจเร็ว เป็นเหตุให้เกิดทะเลาะวิวาทซึ่งเป็นการแตกสามัคคี ถ้ามีขันติความอดทนประจำอยู่แล้ว จะได้นั่นสอนเครื่องตัดทอนสามัคคีนั้นๆ ข้อนี้ควรสาธกด้วยบาลีที่โบราณบัณฑิตประพันธ์ไว้ว่า ครหกหาทีนํ มูลํ ขณติ ขนฺติโก ผู้ที่มีความอดกลั้น ย่อมบั่นทอนมูลรากที่ตั้งแห่งความครหา และความทะเลาะ เป็นต้นได้ ดังนี้
ผู้ที่ประกอบด้วยขนฺติ มีใจหนักแน่น สงเคราะห์คนที่ควรสงเคราะห์ ข่มคนที่ควรข่ม ยกเหตุผลขึ้นชี้แจงโดยน้ำนวล ไม่กดขี่หักหาญโดยอำนาจ อาจคล้องใจบริษัทไว้ โดยสามัคคีธรรมบริษัทนั้นๆ มีความรักใคร่นับถือโดยไมตรีจิต แม้โบราณบัณฑิตได้ภาษิตไว้ว่า ปิโยเทวมนุสฺสานํ มนาโป โหติ ขนฺติโก ผู้ประกอบด้วยขันติ ย่อมเป็นที่รักใคร่ชอบใจ ของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ดังนี้ เหตุดังนั้น ขันติ จึงเป็นเครื่องรักษาความสามัคคี ให้ถาวรดำรงคงที่อยู่ได้ อันสามัคคีธรรมนี้เป็นคุณธรรมสำคัญ ผู้ที่หวังผลคือความสุข ควรบำรุงให้เกิด ให้มีขึ้น ให้เจริญขึ้น เพราะในหมู่ใดสมาคมใด ถ้ามีผู้ประกอบด้วยปัญญาสามารถฉลาดในที่จะผ่อนผัน อาจชี้เหตุผลให้สมาคมตกลงกันโดยสามัคคีธรรม แม้จะเกิดวิวาทสัมประหารเป็นการใหญ่ ความวิวาทก็จะสงบไปโดยสามัคคีธรรม เรื่องนี้เคยมีมาแต่หนหลัง ครั้งเมื่อสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้วได้ ๗ วัน ครั้งนั้นพระเจ้าอชาตศัตรู เถลิงถวัลราชสมบัติเป็นเอกราชในกรุงราชคฤห์มหานคร และกษัตริย์ลิจฉวี ซึ่งดำรงอิสรภาพ ณ ไพสาลีนคร และกษัตริย์สากิย พระประยูรญาติกรุงกบิลพัสดุ์ราชธานี และถูลีกษัตริย์ผู้อธิบดีในอัลลกัปปนคร และโกลิยะกษัตริย์ในรามนคร และมหาพราหมณ์เจ้าเมืองเวฏฐทีปกนคร และมัลลกษัตริย์ ผู้ครองพระนครปาวา กษัตริย์ทั้ง ๖ พระนคร กับมหาพราหมณ์ ๑ เป็น ๗ ตำบลนี้ ครั้นทราบว่า สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน ณ สาลวโนทยาน กรุงกุสินาราราชธานี ก็ส่งทูตเชิญราชสาสน์พราหมณ์ สาสน์มายังมัลละกษัตริย์ ณ พระนครกุสินารา เพื่อจะขอแบ่งพระบรมธาตุ ไปทำมหกรรมการบูชา ส่วนราชทูตและพราหมทูตก็พากันมาสู่ที่เฝ้ามัลละกษัตริย์ แสดงสาสน์ตามลำดับ และบัญชาถวายทุกประการแล้ว ก็ตั้งอยู่แน่นหนา เป็นคณะนิกรคับคั่งพร้อมด้วยพยุหะพล ครั้งนั้นมัลละกษัตริย์ ทรงชัดขืนไม่โอนอ่อนยอมแบ่งส่วนพระบรมธาตุ แต่โต้ตอบกันไปมา จวนจะเกิดวิวาทเป็นสงครามใหญ่ ครั้งนั้นโทนพราหมณ์ ซึ่งเป็นผู้ใหญ่มีปัญญาสามารถฉลาดในที่จะผ่อนผัน ให้ตามคดีโลกคดีธรรม มีถ้อยคำเป็นสุภาษิต เป็นที่เชื่อฟังแห่งประชุมชน สามารถจะแสดงเหตุ ห้ามวิวาทโกลาหลให้สงบ โดยสามัคคีธรรม ครั้นเห็นมัลละกษัตริย์ขัดขืน มิได้ยอมแบ่งพระบรมธาตุแก่กษัตริย์และพราหมณ์ต่างพระนคร ดังนั้นจึงดำริตามเหตุว่า ซึ่งมัลละกษัตริย์มาขัดขืนไว้มิได้ยอมแบ่งส่วนพระบรมธาตุ ถวายแก่เจ้าพระนครเหล่านั้น ดูไม่งาม เพราะพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามิใช่ญาติสายโลหิตเผ่าพันธุ์แห่งเราทั้งหลาย นับถือพระองค์ก็ด้วยเป็นผู้สั่งสอนข้อปฏิบัติเป็นเหตุ แม้ถึงสามนตราชทั้งหลายที่ผ่านมา ขอส่วนพระบรมธาตุครั้งนี้เล่า ก็อาศัยความนับถือต่อข้อปฏิบัติ เหมือนกับเราฉะนั้น เมื่อมัลละกษัตริย์ไม่ยอมถวายส่วนพระบรมธาตุดังนี้เป็นอันตัดทางไมตรีไม่ควรเลย อนึ่ง สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์มิได้แสดงธรรมสั่งสอนไว้ เพื่อให้เราพยายามต่อสู้กันเป็นสงครามดังนี้เลย โอวาทานุศาสนีของพระองค์ก็เป็นไปโดยทางขันติ ความอดกลั้นและสามัคคีธรรม ไกลจากวิหิงสา ครั้นดำริฉะนี้แล้ว จึงร้องประกาศขึ้นในที่ประชุม โดยวจนะประพันธ์นิพนธ์คาถาว่า สุณนฺตุ โภณฺโต มม เอกวากฺยํ ขอคนานิกรเจ้าผู้เจริญ จงฟังวาจาเอกคือวาจาอันจำจะต้องทำตามไม่คัดค้านและเมิดได้ ของข้าพระองค์ อมฺหากํ พทฺโธ อหุ ขนฺติวาโท พระพุทธเจ้าที่เป็นที่พึ่งของเราทั้งหลาย พระองค์เป็นขนฺติวาท ตรัสความอดกลั้นต่อกัน นหิสาธุยงฺ อุตฺตม ปุคฺคลสฺส สรีรคาเค สิยสมฺปหาโร การที่จะเกิดวิวาทสัมปหารสงครามกัน เพราะส่วนพระสรีระของพระองค์ ซึ่งเป็นบุคคลอันสูงเป็นเหตุ ดูไม่ดี ไม่งามเลย สพฺเพวโภนฺโต สหิเต สมคฺคา สมฺโมทมานา กโรมัฏฐาภาเค ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญบรรดาเราทั้งปวง ทั้งเจ้าพระนครเดิมและต่างราชธานี จงพรักพร้อมสามัคคีร่วมพระราชหฤทัย แบ่งพระบรมธาตุออกเป็น ๘ ส่วน ให้เสมอกันทุกพระนครเถิด วิตฺถาริกา โหนฺตุ ทิสาสุถูปา ขอพระสถูปอันบรรจุพระบรมธาตุ จงแพร่หลายทั่วไปทุกทิศเถิด พหุชนา จกฺขุมโต ปสนฺนา เพราะชนที่เลื่อมใสต่อพระองค์ ผู้มีจักษุคือญาณมีอยู่มากด้วยกัน ลำดับนั้นกษัตริย์และพราหมณ์ทั้ง ๘ พระนคร ได้สดับมธุรภาษิตก็ทรงอนุมัติเห็นชอบด้วยในสามัคคีธรรม พร้อมกันมอบธุระให้โทนพราหมณ์เป็นอธิบดีแบ่งส่วนพระบรมธาตุ โทนพราหมณ์ก็รับราชบัญชา ตวงพระธาตุให้เป็น ๘ ส่วนเท่าๆ กัน ถวายแด่กษัตริย์และมหาพราหมณ์ทั้ง ๘ พระนคร ให้เป็นสามัคคีสโมสรเลิกสงครามกลับไปสู่พระนครของๆ ตน ถ้าโทนพราหมณ์ไม่ชักนำให้ตั้งอยู่ในสามัคคี น่าที่จะเกิดวิวาทสัมปการถึงความพินาศใหญ่ เพราะสามัคคีเป็นคุณธรรมส่งผลให้ประชุมชนพ้นจากวิหิงสา เกิดความสุขสำราญดังนี้ สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสเป็นสุภาษิตไว้ว่า สุขาสงฺฆสฺส สามัคคี ความสามัคคีแห่งหมู่เป็นสุข.

ขอบคุณข้อมูล : http://palipage.com/watam/piyapan4/K00080.htm

. . . . . . .