ชีวประวัติท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถร ๑
เรียบเรียงโดย
พระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสฺโส)
พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ อาจารย์สอนธรรมทางวิปัสสนา มีศิษยานุศิษย์มาก มีคนเคารพนับถือมาก มีชีวประวัติควรเป็นทิฏฐานุคติแก่กุลบุตรได้ผู้หนึ่ง ดังจะเล่าต่อไปนี้
ชาติสกุล
ท่านกำเนิดในสกุล แก่นแก้ว นายคำด้วง เป็นบิดา นางจันทร์ เป็นมารดา เพีย๑แก่นท้าวเป็นปู่ ชาติไทย นับถือพุทธศาสนา เกิดวันพฤหัสบดี เดือนยี่ ปีมะแม ตรงกับวันที่ ๒๐ เดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๑๓ ณ บ้านคำบง ตำบลโขงเจียม อำเภอโขงเจียม๒ จังหวัดอุบลราชธานีมีพี่น้องร่วมท้องเดียวกัน ๙ คน ท่านเป็นบุตรคนหัวปี บุตร ๖ คนตายเสียแต่เล็ก ยังเหลือน้องสาว ๒ คน คนสุดท้องชื่อ หวัน จำปาศิลป
อุโบสถวัดศรีบุญเรือง บ้านคำบง ต.สงยาง
อ.ศรีเชียงใหม่ (เดิมคือ อ.โขงเจียม)
เป็นวัดที่ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถระ
บรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุ ๑๕ ปี
โดยมี ญาท่านโคตร บ้านตุงลุงกลาง
เป็นบรรพชาจารย์ พ.ศ. ๒๔๒๘
รูปร่างลักษณะและนิสัย
ท่านเป็นคนร่างเล็ก ผิวขาวแดง แข็งแรง ว่องไว สติปัญญาดีมาแต่กำเนิด ฉลาด เป็นผู้ว่าง่ายสอนง่ายในทางที่ถูก ไม่ยอมทำตามในทางที่ผิด
การศึกษาสามัญ
ท่านได้เรียนอักขรสมัยในสำนักของอา คือ เรียนอักษรไทยน้อย อักษรไทย อักษรธรรมและอักษรขอม อ่านออกเขียนได้ นัยว่าท่านเรียนได้รวดเร็ว เพราะมีความทรงจำดีและมีความขยันหมั่นเพียร ชอบการเล่าเรียนศึกษา
การบรรพชา
เมื่อท่านอายุได้ ๑๕ ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณรในสำนักวัดบ้านคำบง ใครเป็นบรรพชาจารย์ไม่ปรากฏ ครั้นบวชแล้วได้ศึกษาความรู้ทางพระศาสนา มีสวดมนต์และสูตรต่าง ๆ ในสำนักบรรพชาจารย์ จดจำได้รวดเร็ว อาจารย์เมตตาปรานีมาก เพราะเอาใจใส่ในการเล่าเรียนดี ประพฤติปฏิบัติเรียบร้อย เป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจได้ เมื่ออายุท่านได้ ๑๗ ปี บิดาขอร้องให้ลาสิกขาเพื่อช่วยการงานทางบ้าน ท่านก็ได้ลาสิกขาออกไปช่วยการงานของบิดามารดาเต็มความสามารถ
ท่านเล่าว่า เมื่อลาสิกขาไปแล้วยังคิดที่จะบวชอีกอยู่เสมอไม่ลืมเลย คงเป็นเพราะมีอุปนิสัยในทางบวชมาแต่ก่อนอย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่ง เพราะติดใจในคำสั่งของยายว่า “เจ้าต้องบวชให้ยาย เพราะยายก็ได้เลี้ยงเจ้ายาก” คำสั่งของยายนี้คอยสะกิดใจอยู่เสมอ
พระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์ ที่ท่านพระอาจารย์เสาร์ และท่านพระอาจารย์มั่น ได้ร่วมกันหล่อขึ้น โดยองค์ใหญ่เป็นฝีมือหล่อของท่านพระอาจารย์เสาร์ และองค์เล็กเป็นฝีมือหล่อของท่านพระอาจารย์มั่น
ท่านพระอาจารย์มั่นขณะเป็นฆราวาสอยู่นั้น ได้กราบนมัสการท่านพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีลเถร ครั้งแรก พร้อมทั้งมอบตัวเป็นศิษย์กับท่าน ที่กุดเม็ก โดยอยู่ห่างจากบ้านคำบง ซึ่งเป็นบ้านเกิดท่านพระอาจารย์มั่น ๒ กิโลเมตร
ท่านพระอาจารย์เสาร์ได้ขอท่านพระอาจารย์มั่นจากโยมพ่อโยมแม่ของท่านไปบวชด้วย ซึ่งผู้เล่าประวัติเล่าว่า
“ท่านพระอาจารย์มั่น เทียวเข้าเทียวออกเป็นประจำที่กุดเม็ก บางคืนก็ไม่กลับเข้าไปนอนที่บ้าน อยู่ฝึกสมาธิและเพื่ออุปัฏฐากท่านพระอาจารย์เสาร์ คือล้างบาตร เช็ดบาตร ต้มน้ำร้อนน้ำอุ่น รับประเคนสิ่งของถวายท่านพระอาจารย์เป็นประจำ” ท่านพระอาจารย์มั่นอยู่ฝึกหัดกัมมัฏฐานกับท่านพระอาจารย์เสาร์ และได้ชวนท่านพระอาจารย์มั่นไปบวชด้วย โดยกล่าวว่า “โตไปบวชกับเฮาเน้อ”
สถานที่หล่อพระพุทธรูปที่กุดเม็ก
ปัจจุบันได้สร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่ไว้สักการะ
หลังจากที่ท่านพระอาจารย์มั่นอุปสมบทที่เมืองอุบลแล้ว ท่านได้ติดตามท่านพระอาจารย์เสาร์ไปธุดงค์ที่ฝั่งลาว ต่อมาท่านทั้งสองได้กลับมาเยี่ยมบ้านคำบงอีกครั้งหนึ่ง พร้อมทั้งปรารภสร้างพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์ ๒ องค์ ที่กุดเม็ก โดยทำเตาหลอมและเททองหล่อพระด้วยองค์ท่านเอง และสถานที่หล่อพระนั้น ต่อมาชาวบ้านได้ร่วมกันสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่ไว้ที่ศาลาสำนักสงฆ์กุดเม็ก เพื่อน้อมรำลึกถึงพระบูรพาจารย์ทั้งสองท่าน
บ่อน้ำที่พระอาจารย์มั่นขุดไว้ขณะพักอยู่ที่กุดเม็ก ซึ่งตลอดทั้งปีน้ำจะเต็มขอบสระอยู่เสมอ
จากข้อมูลหนังสือ หลวงปู่เสาร์ โดยท่านมหาบุญเลิศ ฐานทินโน และคณะ
http://www.dharma-gateway.com/monk/monk_biography/lp-mun/lp-mun-hist-01-03.htm