พระอาจารย์วัง ฐิติสาโร (เทพเจ้าแห่งภูลังกา)

พระอาจารย์วัง ฐิติสาโร (เทพเจ้าแห่งภูลังกา)
วัดถ้ำชัยมงคล ต.โพธิ์หมากแข้ง อ.บึงโขงหลง จ.หนองคาย

ประวัติพระอาจารย์วัง ฐิติสาโร

พระอาจารย์วัง ฐิติสาโร เกิดที่บ้านหนองคู ตำบลกระจาย อำเภอลุมพุก จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งบัดนี้ได้ขึ้นกับอำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธรแล้วท่านเกิดเมื่อวันที่ ๒๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๕ ตรงกับวันพุธ ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๕ ปีชวด บิดาชื่อว่า นายหลวงลา มารดาชื่อว่า นางคำ นามสกุล ขันเงิน ภายหลังเพราะเหตุไรไม่อาจทราบได้เปลี่ยนนามสกุลนี้มาเป็น สลับสี ท่านมีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๗ คน ดังนี้
๑. นายอาน สลับสี
๒. พระอาจารย์วัง ฐิติสาโร (สลับสี)
๓. นายลี สลับสี
๔. นายสุภีย์ สลับสี
๕. นางไพ
๖. นางเงา
๗. นายส่าน ( เวียง ) สลับสี

ปฐมวัย
ท่านได้เล่าว่าเรียนจบชั้น ป.๔ ที่โรงเรียนบ้านหนองคูนั้นเอง ท่านเป็นคนสมองทึบ แม้จะเรียนจบ ป.๔ ก็เขียนไม่ได้ อ่านไม่ออก แต่ต่อมาเมื่อท่านบรรพชาอุปสมบทได้เล่าเรียนจากครูบาอาจารย์แล้ว ท่านอ่านออกเขียนได้ ทั้งหนังสือไทย หนังสือธรรม กลับเป็นคนละคน คือสมองท่านกลับเป็นผู้จำง่ายขึ้น คงเป็นเพราะอำนาจของสมาธิภาวนานั่นเอง อุปนิสัยของท่านชอบเป็นนายหมู่ ในหมู่เด็กรุ่นราวคราวเดียวกัน มีเด็กเป็นฝูงห้อมล้อมท่าน บางทีก็สมมติท่านเป็นพระ แล้วหมู่เด็กทั้งหลายก็กราบท่าน อย่างนี้เป็นต้น

ออกบรรพชา
ท่านได้เล่าถึงการออกบวชของท่านเมื่ออายุ ๑๓ ปี พ.ศ. ๒๔๖๘ ว่า เป็นเหตุการณ์พิเศษกว่าการออกบวชของท่านผู้อื่น จึงขอเล่าตามที่ท่านเล่าให้ฟังดังนี้
มารดาของท่านเป็นคนใจบุญ เข้าวัดจำศีลฟังธรรมและถวายอาหารแก่พระภิกษุสามเณรที่วัดบ้านหนองคูทุกวัน วันหนึ่งพระอาจารย์ทองสา ที่อยู่ที่วัดนั้นถามถึงเด็กชายวังว่า เขาทำอะไรบอกให้เขามาบวชด้วย หลังจากมารดาของท่านบอกให้ทราบว่า ท่านอาจารย์ที่วัดถามหาขอให้ไปบวชด้วย เท่านั้นเองท่านก็บอกทันทีว่าไม่บวช แม้มารดาบิดาจะขอร้องบอกกล่าวอย่างไร ท่านก็ยืนยันคำเดียวว่าไม่บวชอยู่นั้นเอง หลายวันต่อมา ท่านได้ออกไปเลี้ยงวัวควายกับบรรดาเด็กทั้งหลายเหมือนทุกวันท่านคิดว่า ถึงอย่างไรบิดามารดาคงจะนำเราไปบวชแน่นอน ดังนั้นจะไม่กลับเข้าบ้านอีก ได้ฝากวัวควายที่ไปเลี้ยงไล่กลับบ้านกับเพื่อนฝูง ตัวท่านเองอาศัยนอนที่บนเถียงนา ซึ่งมีฟางข้าวใส่ไว้เกือบเต็ม ท่านก็นอนในระหว่างกองฟางเหล่านั้น เถียงนานี้ห่างจากบ้านประมาณ ๑ กิโลเมตรครึ่ง เมื่อเพื่อนเด็กเลี้ยงควายทั้งหลายออกไปในวันใหม่ ท่านก็ได้อาศัยกินข้าวน้ำจากเด็กเหล่านั้น ท่านอยู่ในสภาพนั้น ๔-๕ คืน
ส่วนทางวัด ท่านอาจารย์ทองสาได้ถามถึงว่า เถียงนานั้นเป็นของใคร อยู่ในที่นาใคร เมื่อท่านทราบแล้ว ภายหลังจากฉันข้าวเสร็จวันหนึ่งได้พาเณรตัวโตๆ ๓ รูปออกไปด้วย เมื่อออกไปถึงเถียงนานั้นแล้ว ท่านจึงบอกให้เณร ๓ รูปยืนเป็นแถวกั้นอยู่ทางบันได แล้วท่านเรียกออกไปว่า “ นายวัง ” ๓-๔ ครั้ง ขณะนั้นท่านนอนอยู่ในนั้น พอได้ยินเสียงเรียกก็เข้าใจทันทีว่าคราวนี้คงมาตามเราไปบวชแน่ จึงคิดจะหนีไปให้พ้น เมื่อรู้ว่ามีเณรยืนอยู่ทางบันได ท่านจึงผลักเถียงนาทางด้านหลัง แล้วกระโจนลงจากเถียงนา วิ่งหนีสุดกำลัง สามเณรทั้ง ๓ รูปจึงวิ่งตามไปจับตัวไว้ กว่าจะทันก็วิ่งผ่านไปหลายไร่นา เมื่อจับได้แล้วจึงเอาผ้าอาบน้ำมัดที่ข้อมือแล้วท่านก็ตามกลับมาโดยดี เมื่อกลับถึงวัดแล้วพระอาจารย์ก็ให้โกนผมทันที แล้วนำไปบวชกับท่านพระครูวิจิตร วิโสธนาจารย์ ที่วัดบ้านหนองคูนั้นเองหลังบวชแล้วท่านก็อยู่จำพรรษาที่นั้น ๑ พรรษา

อุปสมบท
เมื่อท่านมีอายุครบ ๒๐ ปี คือ พ.ศ. ๒๔๗๕ ท่านได้ไปอุปสมบทที่พัทธสีมาวัดศรีเทพประดิษฐาราม อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม โดยมีพระครูสารภาณพนมเขต (จันทร์ เขมิโย, ซึ่งภายหลังมีสมณศักดิ์เป็นพระเทพสิทธาจารย์) เป็นพระอุปัชฌาย์ มีพระมหาพรหมา โชติโก ป.ธ.๕ (ซึ่งภายหลังมีสมณศักดิ์เป็นพระราชสุทธาจารย์) เป็นพระกรรมวาจาจารย์

เริ่มอาพาธ
ปี พ.ศ.๒๔๙๐ ใกล้จะเข้าพรรษา พระอาจารย์วังก็เริ่มอาพาธที่ถ้ำชัยมงคล ท่านได้ป่วยเป็นโรคเบาหวาน ต่อมาท่านเกิดมีโรคแทรกซ้อนขึ้นอีกคือเป็นโรคท้องมาน มีน้ำขังอยู่ในช่องท้องจำนวนมาก ทำให้ท้องโต มีความอึออัด เดินไปมาลำบาก แต่สมัยนั้นการคมนาคมติดต่อกันยากลำบาก จึงไม่ได้ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล เพราะอยู่ห่างไกลตัวจังหวัดมาก ท่านจึงรักษาตัวกับหมอชาวบ้าน ซึ่งทางการเรียกว่าหมอเถื่อนนั่นเอง แต่อาการก็ไม่ดีขึ้น มีแต่ทรงตัว วันหนึ่งพระอาจารย์วังทรุดหนักถึงกับสิ้นสติไม่ไหวติง จนสามเณรคำพันธ์ ซึ่งนั่งเฝ้าไข้ท่านอยู่ข้างๆ คิดว่าท่านคงไม่รอดแน่แล้ว จึงได้จุดธูปเทียนไว้ที่หัวนอนท่าน พระอาจารย์วังสิ้นสติไปเกือบ ๒ วัน จึงฟื้น เมื่อท่านลืมตาขึ้นมา ก็บอกให้สามเณรคำพันธ์รีบหากระดาษ ดินสอ มาเร็วๆ เดี๋ยวจะลืม เมื่อสามเณรคำพันธ์ได้กระดาษกับดินสอมาแล้ว ท่านก็สั่งให้จดตามที่ท่านบอกว่า “อุ อะ ยุ ยะ นะมะสัจเจ นะเมสัจจะ วะภะนะโม โหตุ” ภายหลังท่านได้เล่าให้สามเณรที่อยู่กับท่านฟังว่าตอนที่ท่านสิ้นสติไปนั้น ได้มีผู้ชาย ๒ คน มารับท่านขึ้นไปบนสวรรค์ ได้ผ่านวิมารปราสาทสูงขึ้นไปเป็นชั้นๆ กลิ่นธูปเทียนหอมตลบอบอวนเต็มไปหมด ผู้ชายทั้ง ๒ คน พาท่านไปที่ปราสาทหลังหนึ่ง เมื่อไปถึงก็พาเข้าไปในห้องโถงอันโอ่อ่า ได้พบกับเทวดาองค์หนึ่ง นั่งอยู่บนแท่นสูง และเชิญให้ พระอาจารย์วังนั่งบนอาสนะที่จัดเตรียมไว้ พร้อมกับแนะนำตัวว่า “เราคือพระศรีอาริยเมตไตรย เราให้บริวารไปรับท่านมาเพื่อจะบอกคาถาให้บทหนึ่ง หวังให้ท่านนำไปช่วยมนุษย์ เพราะในกาลข้างหน้า มนุษย์จะได้รับความเดือดร้อยจากภัยต่างๆ ท่านมีคาถาอะไรใช้บ้าง” พระอาจารย์วังก็ได้ตอบท่านว่า “กระผมมีคาถาแก้วสารพัดนึกอยู่บทหนึ่งคือ นะ มะ อะ ชะ อุรัง อังคุ มุนะ” พระศรีอาริยเมตไตรยก็กล่าวกับท่านพระอาจารย์วังว่า “คาถาเดิมของท่านมันยังไม่เต็มบท ให้เอาคาถานี้เพิ่มเข้าไป ท่านจะใช้คาถาอะไรก็ตาม อย่าลืมเอาคาถานี้ต่อท้ายทุกครั้ง”

ส่งศิษย์ไปดูแลวัดศรีวิชัย
เมื่ออยู่ต่อมาถึง พ.ศ. ๒๔๙๑ สามเณรวันดี และสามเณรคำพันธ์ อายุครบ ๒๐ ปี ท่านจึงได้พาไปอุปสมบท ที่วัดศรีเทพประดิษฐาราม อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม และได้อยู่จำพรรษากับท่านพระอาจารย์วังที่ถ้ำชัยมงคลตลอดจนถึง พ.ศ. ๒๔๙๓
ในปีนั้น ทางวัดศรีวิชัยไม่มีพระเณรอยู่ ท่านจึงได้ส่งพระวันดี อิสโก(สอนโพธิ์) พระคำพันธ์ จนฺทูปโม(พระจันโทปมาจารย์) พระถ่อน กนฺตสีโล สามเณรอ่อน พลแพง สามเณรบุญศรี สอนโพธิ์ สามเณรถ่อน แสงโพธิ์ เด็กชายบุดดี นะคะจัด ลงไปอยู่วัดศรีวิชัย ครั้นต่อมาท่านได้สั่งให้พระวันดีกลับไปอยู่กับท่านที่ถ้ำชัยมงคล

อาพาธหนัก
ในปี พ.ศ.๒๔๙๔ ท่านเริ่มอาพาธหนักขึ้น โรคท้องมานของท่าน ก็โตขึ้นเรื่อยๆ จนแทบจะทนไม่ไหว ท่านจึงให้หมอคนหนึ่งเอาเข็มแทงเข้าไปในท้อง เอาน้ำออกจากท้องได้หลายลิตร จึงทำให้ท้องท่านแฟบลง จึงได้เห็นสิ่งหนึ่งภายในท้องแทงโผล่ขึ้นมาเอามือจับดูก็มีลักษณะแข็งๆ ไม่ทราบว่าเป็นโรคอะไรในท้อง เมื่อเอาน้ำออกท้องแฟบลง ก็ทำให้ท่านสบายขึ้นบ้าง เพราะไม่อึดอัดและเดินได้สบายกว่า แต่การรักษาก็ไม่มีอะไรพิเศษกว่าเดิม ต่อมาท้องท่านกลับค่อยโตขึ้นทีละน้อยๆอีก เมื่อไม่มีทางเลือกจึงตกลงกันว่าจะต้องนำท่านไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลจังหวัดนครพนม ขณะนั้นเป็น พ.ศ. ๒๔๙๖ แต่ก็มาคิดว่าการจะนำท่านเดินตามทางหลังภูเขา ขึ้นๆ ลงๆ กว่าจะพ้นหลังภูเขาประมาณ ๒ กิโลเมตร จะใช้พาหนะอย่างอื่นไม่ได้แน่นอน นอกจากเดินเท่านั้น แม้ว่าท่านยังพอที่จะเดินได้อยู่ แต่ขนาดกำลังคนปกติเดินทางบนภูเขา ๒ กิโลเมตรก็เหนื่อยพอดู ไม่ต้องกล่าวถึงคนป่วยเช่นท่านเลย ดังนั้น เมื่อพร้อมกัน ก็จัดคนเดินเคียงข้างท่านสองคน นอกนั้นเดินออกหน้าก็มี ตามหลังก็มี เป็นคณะทั้งพระเณรและญาติโยม เมื่อเห็นว่าท่านเหนื่อยก็หยุดพักตั้งหลายครั้ง ตั้งแต่เช้าจนถึงบ่ายสี่โมงจึงลงพ้นภูเขา
เมื่อลงถึงพื้นดินราบแล้วจึงได้ช่วยกันคิดว่าจะทำอย่างไรจะไม่ให้ท่านต้องเดิน แต่ก็จนใจ เพราะหนทางนี้เป็นหนทางคนเดินเท่านั้น เกวียนรถไปไม่ได้ บังเอิญนึกถึงรถแทรกเตอร์ของโรงงานไร่ยาสูบ ทางโรงงานไร่ยาสูบก็ได้ให้ความช่วยเหลือ ได้นั่งรถแทรกเตอร์ก็ยังดีกว่าท่านเดินมาเอง ถ้าคนปกติก็คงไม่ลำบากอะไรมาก แต่นี้ท่านป่วยร่างกายซูบผอม ก็กระทบกระแทกพอสมควร แล้วรถก็พาไปถึงวัดชัยมงคล บ้านแพง อำเภอบ้านแพง วัดนี้ก็ท่านพระอาจารย์วัง คุณแม่สาลีและญาติโยม บ้านแพงสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๘
เมื่อถึงวัดชัยมงคลนี้ ได้พักรอเรือกลไฟที่เดินระหว่างบ้านแพงถึงนครพนม พอดีได้เวลาแล้ว จึงได้โดยสารเรือกลไฟไปนครพนม ได้รับการรักษาอยู่โรงพยาบาลนั้นเดือนกว่า หมอก็เอาใจใส่รักษาพยาบาลเป็นอย่างดี แต่หมอก็ไม่บอกอะไรและไม่ได้ให้ความหวังว่าจะหายหรือไม่อย่างไรเลย

รักษาอาพาธที่กรุงเทพฯ
ต่อมาวันหนึ่ง นายอำเภอประสงค์ กาญจนดุล นายอำเภอนาแก จังหวัดนครพนม(ขณะนั้น) ได้มากราบเยี่ยมท่าน และได้เล่าอาการป่วยให้นายอำเภอฟังว่าในช่องท้องมีอะไรไม่ทราบแข็งเป็นช่ออยู่ข้างซ้ายเอามือคลำดูก็ได้ ไม่รู้ว่าจะต้องได้ผ่าตัด หรือจะต้องรักษาอย่างไรหมอก็ไม่บอก นายอำเภอกราบเรียนว่า ผมมีหมอคนหนึ่งเป็นเพื่อนกัน ประจำอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจ กรุงเทพฯ ชื่อประกอบ เรื่องผ่าตัดนี้เขาเก่งมาก จึงขอกราบนิมนต์ท่านไปรักษาอยู่กรุงเทพฯ
ดังนั้นเมื่อได้มารักษาอยู่โรงพยาบาลนี้เดือนกว่า อาการก็ไม่ดีขึ้นจึงตกลงออกจากโรงพยาบาลนครพนม เดินทางโดยสารรถยนต์ไปขึ้นรถไฟที่จังหวัดอุดรธานี ระยะทาง ๒๔๐ กิโลเมตร เป็นถนนลูกรังตลอดสาย ตอนเย็นวันนั้น ได้ขึ้นรถไฟด่วนไปกรุงเทพฯ ตื่นเช้าก็ถึงกรุงเทพฯ ได้เข้ารักษาอยู่โรงพยาบาลตำรวจ การไปโรงพยาบาลตำรวจนี้ นายอำเภอประสงค์ท่านได้โทรศัพท์ติดต่อเรื่องการไปนี้ก่อนแล้วจึงได้รับความสะดวกสบายทุกอย่าง จึงได้ขอขอบคุณท่านนายอำเภอในการณ์นี้ด้วย
เมื่อแรกที่ทำการรักษา ได้เจาะเอาน้ำที่ท้องท่านออกจนท้องแฟบลง หมอคลำดูที่เป็นช่อแข็งๆ นั้น จากนั้นหมอก็มีการฉีดยาและถวายยาให้ฉัน อยู่หลายวัน แต่ก็ไม่ได้บอกว่าต้องผ่าตัดหรือจะรักษาต่อไปอย่างไรไม่บอกเลย (แต่มาทราบภายหลังจากท่านได้มรณภาพแล้วว่าท่านเป็นโรคตับแข็ง จะผ่าตัดก็ไม่ได้ จะรักษาก็ไม่หาย ที่หมอรับรักษานี้ก็เพื่อให้ท่านมีกำลังพอเดินทางกลับวัดได้เท่านั้น เรื่องนี้ผู้เฝ้าปฏิบัติใกล้ชิดไม่ทราบเลย จนท่านมรณภาพแล้วจึงได้รู้ ) แต่อาการไม่ดีขึ้นเลยมีแต่อาการทรงกับทรุดลงเท่านั้น

มรณภาพ
มาวันหนึ่งท่านได้อาเจียนและถ่ายเป็นเลือดออกมาไม่มาก ตั้งแต่ตอนเช้ามาจนถึงเย็นวันนั้นดูอาการของท่านอ่อนเพลียมาก อาการทางกายก็ไม่มีอะไรอีก ท่านได้พูดเบาๆแต่เสียงปกติว่า “มันจะตายก็ให้มันตายไป” แล้วก็ไม่พูดอะไรอีก จากนั้นประมาณหนึ่งชั่วโมง ท่านก็ได้มรณภาพไปด้วยอาการอันสงบ เมื่อเวลา ๒๐.๑๘ น. ของวันที่ ๒ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๖ รวมอายุได้ ๔๑ ปี
เมื่อท่านมรณภาพแล้ว ก็มีการฉีดยาป้องกันการเน่า และไม่มีรถบริการเคลื่อนศพไปจากกรุงเทพฯ ได้ เพราะได้รับคำบอกว่า นอกเสียจากเรามีรถส่วนตัวจึงนำศพกลับต่างจังหวัดได้ จึงตกลงเอาศพฝากวัดดวงแข หัวลำโพง ไว้ก่อน

ในปีต่อมาพระอาจารย์โง่น โสรโย ได้นำอัฐิของพระอาจารย์วังออกจากวัดดวงแขไปจัดงานถวายเพลิงศพที่วัดศรีเทพประดิษฐาราม อำเภอเมืองจังหวัดนครพนม โดยได้รับความเมตตาจากพระเดชพระคุณ ท่านพระครูวิจิตร วินัยทร(ต่อมามีสมณศักดิ์ พระราชสุทธาจารย์) ซึ่งเป็นกรรมวาจาจารย์ ของพระอาจารย์วังนั้นเอง ได้กรุณาช่วยจัดการถวายเพลิงศพให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดีทุกประการ
ท่านพระอาจารย์วัง ฐิติสาโร ท่านมีลูกศิษย์เป็นพระภิกษุอยู่ ๓ รูป คือ
๑. ท่านเจ้าคุณพระอุดมสังวรวิสุทธิเถร(พระอาจารย์วัน อุตฺตโม) วัดถ้ำอภัยดำรงธรรม อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร
๒. ท่านพระอาจารย์โง่น โสรโย วัดพระพุทธบาทเขารวก อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร
๓. ท่านเจ้าคุณพระจันโทปมาจารย์(คำพันธ์ จนฺทูปโม) วัดศรีวิชัย ตำบลสามผง อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม

ข้อมูลอ้างอิงจาก : dharma-gateway.com

http://www.web-pra.com/

. . . . . . .