อิทธิปาฏิหาริย์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

อิทธิปาฏิหาริย์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

องค์พระประมุขแห่งพุทธจักรปัจจุสมัยที่ทรงพระชนม์ยืนยาวสูงสุด เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงมีพระชาติภูมิ ณ กาญจนบุรี เมื่อพุทธศักราช ๒๔๕๖ ในปีนี้จึงนับเป็นมหามงคลอันพิเศษยิ่งที่ทรงเจริญพระชันษาครบ ๑๐๐ ปี (๓ ตุลาคม ๒๕๕๖) ทั้งปีนี้ยังครบ ๒ รอบ หรือ ๒๔ ปีแห่งการได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ นับแต่วันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๓๒

เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวรฯ ทรงมีพระวิริยะในการศึกษา ทรงเรียนและสอบด้านปริยัติธรรมได้ในชั้นสูงสุด กล่าวคือ นักธรรมเอก (พ.ศ. ๒๔๗๕) และเปรียญ ๙ ประโยค (พ.ศ. ๒๔๘๔) ทรงใฝ่พระทัยศึกษาภาษาต่าง ๆ เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน จีน และบาลี-สันสกฤต จนสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างกว้างขวาง จึงทรงหาความรู้สมัยใหม่ด้วยการอ่านหนังสือภาษาต่างประเทศ ทั้งในคดีโลกและคดีธรรม เป็นเหตุให้พระทัศนะกว้างขวาง ทันต่อเหตุการณ์โลก อันเป็นประโยชน์ยิ่งต่อการสอนสั่งและเผยแผ่พระพุทธศาสนา พระนิพนธ์หนังสือทางพระพุทธศาสนาอีกจำนวนมากเป็นคู่มือการศึกษาและหลักปฏิบัติของชาวพุทธ ล้วนสมสมัย เหมาะแก่บุคคล และสถานการณ์ปัจจุบัน ทั้งทรงสอนพระพุทธธรรมแก่พหูชนไม่เว้นแม้ชาวต่างประเทศ พระนิพนธ์หลายเล่มได้รับการแปลไปในภาษาอื่น เช่น จีน อังกฤษ เยอรมนี และฝรั่งเศส เป็นต้น นอกจากด้านปริยัติข้างต้นซึ่งเป็นฐานแล้ว ในด้านปฏิบัติก็ทรงฝึกหัดและเริ่มทำกรรมฐาน โดยคำแนะนำในเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ พระอุปัชฌาย์ของพระองค์ และทรงทำตลอดมาอย่างต่อเนื่อง จึงทรงตอบพระราชปุจฉาธรรมในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เช่น เกี่ยวกับวิปัสสนากรรมฐาน ได้กระจ่าง เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย โปรดให้ทรงนิพนธ์พระวิสัชชนาคำสอนนั้นไว้เป็นประจักษ์ตราบปัจจุบัน นับว่าทรงเป็นพระมหาเถระที่ทรงภูมิธรรมทั้งด้านปริยัติศาสนาและด้านปฏิบัติศาสนา อนึ่ง ระหว่างวันที่ ๒๒ ตุลาคม – ๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๙ ซึ่งรัชกาลที่ ๙ เสด็จออกทรงผนวชนั้น สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงเลือกให้สมเด็จพระญาณสังวรฯ (ซึ่งขณะนั้นมีสมณศักดิ์ที่พระโศภณคณาภรณ์) เป็นพระอภิบาล (พระพี่เลี้ยง) ของพระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวรฯ ทรงมีพระปรีชาบริหารการศึกษาและพระศาสนา เช่น ทรงร่วมในการพัฒนามหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งแรกของไทย คือ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย มาแต่ระยะตั้งตัว ทรงริเริ่มให้มีสำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ โดยทรงเป็น ‘ประธานคณะกรรมการอำนวยการฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ’ เป็นรูปแรก

ทรงเป็นพระมหาเถระไทยที่ดำเนินงานเผยแผ่พระธรรมไปในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง อาทิ ไปร่วมปฏิบัติงานฉัฏฐสังคายนาพระไตรปิฎก ทุติยสันนิบาต ณ ปาสาณคูหา ประเทศพม่า (พ.ศ. ๒๔๙๗) เป็นประธานสงฆ์ในพิธีเปิดวัดไทยแห่งแรกในทวีปยุโรป คือ วัดพุทธปทีป ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร (พ.ศ. ๒๕๐๙) ทรงส่งพระธรรมทูตไทยไปช่วยฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในประเทศอินโดนีเซีย (พ.ศ. ๒๕๑๒) ทรงนำพระพุทธศาสนาเถรวาทไปสู่ทวีปออสเตรเลียเป็นครั้งแรก (พ.ศ. ๒๕๑๕) กระทั่งตั้งวัดพุทธรังษีขึ้น ณ นครซิดนีย์ (พ.ศ. ๒๕๑๘) ทรงเจริญศาสนไมตรีกับองค์ทะไล ลามะ (พ.ศ. ๒๕๒๖) ที่มาเฝ้าฯ มีธรรมสากัจฉากันผ่านภาษาอังกฤษ พระดำรัสต้อนรับครั้งนั้นอบอุ่นและวิจิตรยิ่งด้วยมนต์คาถาศักดิ์สิทธิ์แห่งธิเบต ‘ โอม มณี ปัทเม หุม ‘ ทว่าได้ทรงขยายมนต์คาถาดังกล่าวตามอรรถแห่งเถรวาท องค์ทะไลลามะ ยกย่องสมเด็จพระญาณสังวรฯ ว่าเป็น ‘พี่ชายคนโตของฉัน’ และทรงเป็นพระประมุขแห่งศาสนจักรพระองค์แรกที่ได้รับทูลเชิญให้เสด็จเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการในประวัติศาสตร์จีนใหม่ (พ.ศ. ๒๕๓๖)

นอกจากพระคุณอันประเสริฐในด้านอนุสาสนีปาฏิหาริย์ คือ ปาฏิหาริย์ในการเทศนาอบรมสั่งสอนเวไนยสัตว์ให้รู้ ให้เข้าใจและสามารถน้อมนำพระธรรมคำสอนไปปฏิบัติ เพื่อประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน ได้ผลสมจริงเป็นอัศจรรย์ ดังพรรณนามาโดยย่อข้างต้นแล้ว สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ ยังทรงอิทธิปาฏิหาริย์ คือ การกระทำความมหัศจรรย์ เหนือกว่าความสามารถของมนุษย์ ใช้ฤทธิ์ได้เป็นอัศจรรย์ซึ่งในประการนี้คนจำนวนมากอาจไม่รู้หรือไม่ทราบ กระทั่งเข้าใจว่าทรงปฏิบัติธรรมวินัยอย่างพระสงฆ์ธรรมดา สมเด็จพระสังฆราชพระองค์นี้ ทรงอิทธิปาฏิหาริย์ตามภูมิธรรมอันประเสริฐที่ทรงบรรลุ

ดังมีผู้เห็นเป็นประจักษ์หลายครา พอยกมาโดยสังเขปต่อไปนี้ สมัยเมื่อยังมีสงครามระหว่างรัฐบาลกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย การเดินทางติดต่อสื่อสารระหว่างชนบทยังทุรกันดารและอันตราย เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รับสั่งให้นิมนต์พระมหาเถระฝ่ายอรัญวาสี (พระป่า) ทางภาคอีสาน เพื่อบำเพ็ญพระราชกุศลส่วนพระองค์ที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พลตรีนายทหารราชองครักษ์ต้องติดต่อไปทางจังหวัด ประสานงานไปทางอำเภอ ต่อตำบล และใช้คนขี่จักรยานยนต์ไปแจ้งที่วัด ปรากฏว่าพระมหาเถระนั้น ท่านออกธุดงค์ไปแล้วไม่สามารถติดต่อได้ จึงนำความกลับมากราบบังคมทูลฯ รับสั่งว่าให้ไปทูลสมเด็จพระญาณสังวรฯ (ซึ่งขณะนั้นมีสมณศักดิ์ที่พระสาสนโสภณ) ขอให้ช่วยนิมนต์แทน หลังจากรออยู่ระยะหนึ่งก็ได้รับคำตอบว่าได้นิมนต์ตามพระราชประสงค์แล้ว ให้ทางสำนักพระราชวังจัดรถไปรับ ณ จุดที่นัด ตามหมายที่กำหนด ปรากฏว่าการติดต่อนิมนต์ครั้งนั้นไม่ได้ใช้เครื่องมือสื่อสารใดๆ เลย แต่เป็นการติดต่อนิมนต์ด้วยโทรจิต ซึ่งเป็นการกระทำอิทธิปาฏิหาริย์อย่างหนึ่งในพระศาสนา

บันทึกของ ‘กันตสีโลภิกขุ’ (Karyl Bilbrey) ในนิตยสารน่านฟ้า และข่าวใหญ่หน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เมื่อประมาณปลายปี ๒๕๓๔ เกิดเหตุเพลิงไหม้บริเวณตรอกบวรรังษี หลังวัดบวรฯ เวลาประมาณตี ๑ ต้นเพลิงอยู่ที่บ้านแขกขายถั่ว ติดกับตึกสว.ธรรมนิเวศ รถดับเพลิงไม่อาจเข้าไปได้ เนื่องจากเป็นชุมชนที่แออัดในซอยขนาดเล็ก เพลิงจึงไหม้รุนแรง ศิษย์ของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ รีบไปทูลท่าน ซึ่งประทับนั่งสมาธิอยู่ในพระตำหนัก เสด็จออกมาแล้ว พระสัทธิวิหาริกจะนำเสด็จไปที่ศาลา ๑๕๐ ปี อันตั้งอยู่กลางวัด ซึ่งน่าจะเป็นที่น่าจะปลอดภัยกว่า ทว่าสมเด็จพระญาณสังวรฯ โปรดที่จะเสด็จเข้าไปใกล้ที่เกิดเหตุ โดยเสด็จขึ้นไปยังชั้น ๕ ของตึก สว.ธรรมนิเวศซึ่งอยู่ใกล้กับเขตเพลิงไหม้อย่างน่ากลัวที่สุด มิทรงหวั่นพระทัย เจ้าพระคุณทรงมองลงไป แล้วทรงมองขึ้นฟ้า ก่อนจะยกพระหัตถ์โบก ๓ ครั้ง ชั่วครู่เดียวลมที่โหมกรรโชกเพลิงอยู่ก็หยุดลง และฝนก็ตกลงอย่างหนัก (เหตุการณ์นี้เกิดในเดือนธันวาคมซึ่งฝนทิ้งช่วงแล้ว) ฝนที่หนักอย่างไม่มีทีท่าว่าจะหยุดได้ง่ายๆ ทำให้เพลิงไหม้มหาวินาศนั้นค่อยๆ บรรเทาลงจนมอดดับไปต่อหน้าต่อตาอย่างตะลึงเป็นที่สุด สักพักเสด็จเข้ามากราบพระพุทธรูปที่อยู่ในอาคารนั้น จากนั้นเสด็จออกจากอาคาร โดยทันทีที่ย่างพระบาทแรก ฝนที่กำลังตกหนักอยู่นั้นพลันหยุด ฟ้าที่กำลังฉ่ำด้วยเม็ดฝนก็เปิดโล่งขึ้นมาในทันใด ชาวบ้านที่อยู่ในเหตุการณ์ ต่างเข้ามาคุกเข่ารับเสด็จพร้อมเปล่งเสียงสาธุการทั้งน้ำตา ด้วยสำนึกในพระกรุณาคุณ และกล่าวกันว่า ‘สังฆราชเรียกฝนดับไฟ

เมื่อวันที่ ๒๖ ก.ย. ๔๖ คราวมีมหาพิธีพุทธาภิเษกพระกริ่งคชวัตรและพระรูปเหมือนสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เนื่องในวโรกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ ๙๐ พรรษา ณ พระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร หลวงปู่บุญมี โชติปาโล วัดสระประสานสุข อุบลราชธานีได้รับอาราธนานิมนต์ มาร่วมนั่งปรกพุทธาภิเษกด้วย เมื่อพิธีเสร็จสิ้น หลวงปู่บุญมี โชติปาโล ได้ลุกจากอาสนะที่นั่งอยู่เดินตรงมายืนต่อเบื้องพระพักตร์ แม้จะมีพรรษายุกาลมากกว่าสมเด็จพระญาณสังวรฯ ทว่าหลวงปู่บุญมี พระอริยแห่งอิสาน ได้ก้มลงกราบพร้อมกับนำผ้าขนหนูผืนน้อยที่ติดกายท่านลูบไล้เช็ดตั้งแต่พระเศียร พระพักตร์ วนไปวนมาอยู่หลายรอบแล้ว ลงมาที่พระพาหา (ไหล่) พระกร และพระอุระ (อก) จากนั้น หลวงปู่บุญมี ก้มลงกราบสมเด็จพระญาณสังวรฯ โดยมิได้กล่าวอะไรแม้แต่น้อย ขณะที่สมเด็จพระญาณสังวรฯ เองก็มิได้ออกพระวาจา หรือแสดงอาการหลบเลี่ยงไม่สบพระทัยแต่อย่างใด ศิษย์ติดตามหลวงปู่บุญมีระบุ ‘หลวงปู่กำลังทำพิธีต่ออายุถวายฝ่าพระบาทอยู่’ ก่อนที่หลวงปู่บุญมีจะละสังขาร เมื่อวันที่ ๔ มิ.ย. ๒๕๔๗ ภายหลังเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ดังกล่าวราว ๘ เดือนเท่านั้น

ผู้นำชาวพุทธต่างเล็งเห็นว่า สมเด็จพระญาณสังวรฯ ทรงเป็นที่ยอมรับของพระสังฆะทุกนิกายไม่ว่าจะเป็นมหายาน เถรวาท และวชิรยาน พร้อมทั้งเป็นที่เทิดทูนของพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป ดังนั้น เมื่อการประชุมสุดยอดพุทธศาสนิกชนแห่งโลกปี ๒๕๕๕ ซึ่งมีสุดยอดผู้นำชาวพุทธ ๓๒ ประเทศมาประชุมร่วมกันที่ประเทศญี่ปุ่น จึงมีมติทูลถวายตำแหน่งพระเกียรติยศ พระสมัญญานามว่า ‘Supreme Holiness of World Buddhism’ หรือ ‘เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ผู้นำสูงสุดแห่งโลกพระพุทธศาสนา’ โดยนับเป็นครั้งแรกของโลก

(คำแปลไทยบนใบประกาศพระเกียรติยศฉบับจำลอง โดย Anil Sakya)

(ดูใบประกาศพระเกียรติยศฉบับจริงใน FB Anil Sakya)

โอกาสอันอุดมมงคลนี้ จึงขอเชิญชวนชาวไทย พร้อมศรัทธาพุทธศาสนิกชนทั่วโลก น้อมจิตน้อมเกล้าฯ ร่วมสร้างกุศลถวายพระพร ขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัยและพระกุศลบารมีที่ได้ทรงบำเพ็ญมาดีแล้วจงอำนวยให้ทรงมีพระสุขพลานามัยสมบูรณ์ ทรงเจริญพระชนมายุยิ่งยืนนาน สถิตเป็นสิริมิ่งมงคลแก่ประเทศชาติ และมนุษยชน ตลอดกาลนานเทอญฯ

ฐาตุ จิรัง สะตัง ธัมโม ขอธรรมของสัตบุรุษทั้งหลาย จงดำรงอยู่นาน
ธัมมัทธะรา จะ ปุคคะลา มา วินัสสันตุ และบุคคลทั้งหลายที่ทรงธรรม จงอย่าเสื่อมสูญ

เกษม คุ้มพรสิน รวบรวมและเรียบเรียง
มหาสงกรานต์ ๒๕๕๖

http://xn--12cm1bdm3dom1f0bd4e.com/archiver/tid-963.html

. . . . . . .