บันทึกประวัติสมเด็จโต พรหมรังสี โดยมหาอำมาตย์ตรี พระยาทิพโกษาหรือสอน โลหนันทน์
วันพุธที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555
บันทึกประวัติสมเด็จโต พรหมรังสี โดยมหาอำมาตย์ตรี พระยาทิพโกษาหรือสอน โลหนันทน์ ตอนที่1-7
ตอนที่ 1
ความนำ
คำปรารภและอนุมานสันนิษฐานว่าประวัติเรื่องความเป็นไปของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ครั้งในรัชกาลที่ ๔ กรุงเทพฯ นั้น มีความเป็นมาประการใด เพราะเจ้าพระคุณองค์นี้ เป็นที่ฤๅชาปรากฏ เกียรติศักดิ์เกียรติคุณเกียรติยศ ขจรขจายไปหลายทิศหลายแคว มหาชนพากันสรรเสริญออกเซ็งแซร่กึกก้องสาธุการ บางคนก็บ่นร่ำรำพรรณ ประสานขานประกาศกรุ่นกล่าวถึงบุญคุณสมบัติ จริยสมบัติของท่านเป็นนิตยกาลนานมา ทุกทิวาราตรีมิรู้มีความจืดจาง
อนึ่ง พระพุทธรูปของท่านที่สร้างไว้ในวัดเกตุไชโย ใหญ่ก็ใหญ่ โตก็โต วัดหน้าตักกว้างถึงแปดวาเศษนิ้ว เป็นพระก่อที่สูงลิ่ว เป็นพระนั่งที่ศักดิ์สิทธิ์ ดูรุ่งเรืองกระเดื่องฤทธิ์มหิศรเดชานุภาพ พระองค์นี้เป็นที่ทราบทั่วกันตลอดประเทศแล้วว่า เป็นพระที่มีคุณพิเศษสามารถอาจจะดลบันดาลดับระงับทุกข์ภัยไข้ป่วยช่วยป้องกันอันตรายได้ จึงดลอกดลใจให้ประชาชนคนเป็นอันมาก หากมาอภิวิวันทนาการ สักการบูชาพลีกรรม บรรณาการเส้นสรวงบวงบล บางคนมาเผดียงเสี่ยงสัตย์อธิษฐาน ก็อาจสำเร็จสมปณิธานที่มุ่งมาตร์ปรารถนา จึงเป็นเหตุให้มีสวะนะเจตนาแก่มหาชนจำนวนมากว่าร้อยคน คิดใคร่รู้ประวัติของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) วัดระฆังโฆษิตาราม บ้างก็คืบเที่ยวสืบถามความเป็นไปแต่หลังๆ แต่คราครั้งดั้งเดิมเริ่มแรก ต้นสกุลวงศ์เทือกเถาเหล่ากอ พงษ์พันธุ์ พวกพ้อง พื้นภูมิฐาน บ้านช่อง ข้องแขว แควจังหวัด เป็นบัญญัติของสมเด็จนั้นเป็นประการใด
นานมาแล้วจะถามใครๆ ไม่ได้ความ หามีใครตอบตรงคำถามให้ถ่องแท้ จึงได้พากันตรงแร่เข้ามาหา นายพร้อม สุดดีพงศ์ อ้อนวอนให้รีบลงมากรุงเทพฯ ให้ช่วยเข้าสู่เสพย์ษมาคม ถามเงื่อนเค้าเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) จึงนายพร้อม สุดดีพงศ์ ตลาดไชโย เมืองอ่างทอง จึงได้รีบล่องลงมาสู่หา ท่านพระมหาสว่าง วัดสระเกษ นมัสการแล้วยกเหตุขึ้นไต่ถาม ตามเนื้อความที่ชนหมู่มากอยากจะรู้ จะดูจะฟังเรื่องราวแต่คราวครั้งต้นเดิมวงษ์สกุล ของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) นั้นเป็นฉันใด ขอพระคุณได้สำแดงให้แจ้งด้วย
ที่นั้นมหาสว่าง ฟังนายพร้อมเผดียงถาม จึงพากันข้ามฟากไปวัดระฆัง ขึ้นยังกุฏิเจ้าคุณพระธรรมถาวร (ช้าง) อันเป็นผู้เฒ่าสูงอายุศม์ ๘๘ ปี ในบัดนี้ยังมีองค์อยู่ ทั้งเป็นผู้ใกล้ชิด ทั้งเป็นศิษย์ทันรู้เห็น ทั้งเคยเป็นพระครูถานาของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) วัดระฆัง เคยอยู่ตั้งแต่เล็กๆ เมื่อเป็นเด็กเป็นชั้นเหลน
นายพร้อมจึงประเคนสักการะ ถวายเจ้าคุณพระธรรมถาวรแล้วจึงได้ไถ่ถามตามเนื้อความที่ประสงค์
ฝ่ายเจ้าคุณพระธรรมถาวร ท่านจึงได้อนุสรณ์คำนึงนึกไปถึงเรื่องความ แต่หนหลัง ท่านได้นั่งเล่าให้ฟังหลายสิบเรื่อง ล้วนแต่เป็นเรื่องที่น่าควรคิดพิศวงมาก ลงท้ายท่านบอกว่า อันญาติวงศ์พงษ์พันธ์ ภูมิฐานบ้านเดิมนั้น เจ้าของท่านได้ให้ช่างเขียนเขียนไว้ที่ผนังโบสถ์วัดอินทรวิหาร บ้านบางขุนพรหม พระนคร ล้วนแต่เป็นเค้าเงื่อนตามที่สมเด็จเจ้าโตได้ผ่านพบทั้งนั้น ท่านเจ้าของบอกใบ้สำคัญด้วยกิริยาของรูปภาพ ขอจงไปทราบเอาที่โบสถ์วัดอินทรวิหารนั้นเถิด
ครั้น ม.ล. พระมหาสว่าง เสนีวงศ์ กับนายพร้อม สุดดีพงศ์ ฟังพระธรรมถาวรบอกเล่าและแนะนำจำจดมาทุกประการแล้วจึงนมัสการลาเจ้าคุณพระธรรมถาวรกลับข้ามฟากจากวัดระฆัง รุ่งขึ้นวันที่ ๑๖ กรกฎาคา พ.ศ. ๒๔๗๓ จึงขึ้นไปหารท่านพระครูสังฆรักษ์เจ้าอธิการ วัดอินทรวิหาร บางขุนพรหม แล้วขออนุญาตดูภาพเรื่องราวของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ตามคำแนะนำของเจ้าคุณพระธรรมถาวรวัดระฆังบอกให้ดูทุกประการ
ส่วนท่านพระครูสังฆรักษ์ เจ้าอธิการก็มีความเต็มใจ ท่านนำพาลงไปในโบสถ์พร้อมกันแล้ว เปิดหน้าต่างประตูให้ดูได้ตามปรารถนา
นายพร้อมจึงดูรูปภาพ ช่วยกันพินิจพิจารณา ตั้งแต่ฉากที่ ๑ จนถึงฉากที่ ๑๒ นายพร้อมออกจะเต็มตรอง เห็นว่ายากลำบากที่จะขบปัญหาในภาพต่างๆ ให้เห็นความกระจ่างแจ่มแจ้งได้ นายพร้อมชักจะงันงอท้อน้ำใจไม่ใคร่จะจดลงทำยืนงงเป็นงันงันไป
ม.ล.พระมหาสว่าง รู้ในอัธยาศัยของนายพร้อมว่าแปลรูปภาพไม่ออก บอกเป็นเนื้อความเล่าแก่ใครไม่ได้ นายพร้อมอึดอัดตันใจสุดคาดคะเนทำท่าจะรวนเรสละละการจดจำ ม.ล.พระมหาสว่างจึงแนะนำให้นายพร้อมอุตสาห์จดทำเอาไปทั้งหมดทุกตัวภาพ ไม่เป็นไร คงจะได้ทราบสิ้นทุกอย่าง คงไม่เหลวคว้างเหลือปัญญานัก ฉันจะช่วยดุ่มเดาดักให้เด่นเด็ดจงได้ ฉันจะคิดค้นรัชสมัยและพระบรมราชประวัติและราชพงศาวดาร เทียบนิยาย นิทานตำนานต่างๆ ตามที่ผู้เฒ่าผู้แก่บอกเล่าสืบกันมา เรื่องนี้คงสมมาตร์ปรารถนาอย่าวิตก ฉันจะเรียบเรียงและสาธกยกเหตุผลให้เป็นเบื้องต้นและเบื้องปลายให้สมความมุ่งหมายใคร่รู้ ในเรื่องประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์
แต่ข้อสำคัญเกรงว่าจะช้ากินเวลาหลายสิบวัน เปรียบเช่นกับช่างไม้ทำช่อฟ้า จำต้องนานเวลาเปลืองหน้าไม้ ช่างต้องบั่นทอนผ่อนไปจนถึงแงงอนกนก ของที่ต้องการเปรียบเทียบเท่าที่ตำนานของสมเด็จนี้ กว่าจะเรียงความถูกตามที่ร่างข้อต่อตัดถ้อยคำที่เขินขัด ก็ต้องขุดคัดตัดทอนทิ้ง หรือความขาดไม่พาดพิงพูดไม่ถูกแท้ ก็ตกแต้มแถมแก้แปลให้สอดคล้องต้องกับความจริง สืบหาสิ่งที่เป็นหลักมาพักพิงไม่ให้ผิด สืบผสมให้กรมติดเป็นเนื้อเดียว ไม่พลำพลาด ถึงจะเปลืองกระดาษเปลืองเวลา ฉันไม่ว่าไม่เสียดาย หมายจะเสาะค้นขวนขวายหาเรื่องมาประกอบให้ จะได้สมคิดติดใจมหาชน จะได้ทราบเรื่องเบื้องตนและเบื้องปลาย โดยประวัติปริยายทุกประการ
นายพร้อม สุดดีพงศ์ ได้ฟังคำบริหารอาษาของ ม.ล. พระมหาสว่างรับแข็งแรง จึงเข้มขมัดจัดแจงจดเพียรเขียนคัดบอกเป็นตัวหนังสือมาพร้อม ทุกด้านภาพในฝาผนังทั้ง ๑๒ ฉาก แล้วก็ละพากันกลับมายังวัดสระเกษ ต่อแต่วันที่ ๑๖ กรกฎาคม ศกนี้มา พระมหาสว่างก็ตั้งหน้าตรวจตราเสาะสืบหาและไต่ถาม ได้เนื้อความนำจดลงคนพงศาวดาร รัชกาลราชประวัติบั่นทอนตัดให้รัดกุม ไม่เดาสุ่มมีเหตุพอความไม่ต่อใช้วิจารณ์ เป็นพยานอ้างตัวเองไปตามเพลงของเรื่องราวที่สืบสาวเรียงเขียนลงเอาที่ตรงต่อประโยชน์ ไม่อุโฆษป่าวร้องใคร ไม่หมิ่นให้ธรเณนทร์ โดยความเห็นจึงกล้าเล่า ดังจะกล่าวให้ฟังดังนี้
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ท่านให้ช่างเขียน เขียนเรื่องของท่านไว้ในฝาผนังโบสถ์วัดอินทรวิหาร บางขุนพรหม ดังนี้ เขียนเมืองกำแพงเพชรเป็นเมืองว่างว่างไม่มีคน มีแต่ขุนนางขี่ม้าออก เขียนวัดบางลำพูบนผนังติดกับเมืองกำแพงเพชร เขียนบางขุนพรหม เขียนรูปเด็กอ่อนนอนหงายแบเบาะอยู่มุมโบสถ์วัดบางลำพู เขียนรูปนางงุดกกลูก เขียนรูปตาผลว่าพระผล เขียนรูปอาจารย์แก้ววัดบางลำพูกำลังกวาดลานวัด เขียนรูปนายทอง นางเพ็ชร นั่งยองยอง ยกมือทั้งสองไหว้พระอาจารย์แก้ว เขียนรูปพระอาจารย์แก้วกำลังพูดกับตาผลบนกุฏิ เขียนรูปเรือเหนือจอดที่ท่าบางขุนพรหม จึงต้องขอโอกาสแก่ท่านผู้อ่านผู้ฟัง ด้วยข้าพเจ้าตรวจดูภาพทราบได้ตามพิจารณาและคาดคะเนสันนิษฐาน แปลจากรูปภาพบนนั้นคงได้ใจความตามเหตุผลต้นปลายของสมเด็จพระพุฒาจารย์ )โต) วัดระฆัง ดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ
แต่ครั้งเดิมเริ่มแรก ต้นวงศ์สกุลของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) องค์นี้ ตั้ง คฤหสถานภูมิสำเนา สืบวงศ์พงศ์เผ่าพืชพันธุ์พวกพ้อง เป็นพี่เป็นน้องต่อแนวเนื่องกันมาแต่ครั้งบุราณนานมา ณ แถบแถวที่ใกล้ใต้เมืองกำแพงเพชร เป็นชนชาวกำแพงเพชรมาช้านาน ครั้นถึงปีระกา สัปตศก จุลศักราช ๑๑๒๗ ปี (พ.ศ. ๒๓๐๒) จึงพระเจ้าแผ่นดินอังวะภุกามประเทศ ยกพลพยุหประเวสน์สู่พระราชอาณาเขตร์ประเทศยามนี้กองทัพพม่ามาราวี ตีหัวเมืองเอกโทตรีจัตวา ไล่รุกเข้ามาทุกทิศทุกทาง ทั้งบกทั้งเรือทั้งปากใต้ฝ่ายเมืองเหนือและทางตะวันตก เว้นไว้แต่ทิศตะวันออก หัวเมืองชั้นนอก ชั้นกลาง ชั้นโท ต่อรบต้านทานพม่าไม่ไหว ก็ต้องล่าร้างหลบหนี้ ซ่อนเร้นเอาตัวรอด ราษฎรก็พากันทอดทิ้งภูมิสถานบ้านเรือน เหลี่ยมลี้หนีหายพลัดพรากกระจายไป คนละทิศคนละทางห่างห่างวันกัน ในปีระกาศกนั้นจำเพาะพระยาตาก (สิน) เจ้าเมืองกำแพงเพชรกี้หาได้อยู่ดูแลรักษาเมืองไม่ มีราชการเข้าไปรับสัญญาบัตร เลื่อนที่เป็นพระยาวชิรปราการ แล้วยังมิได้กลับมา พอทราบข่าวศึกพม่า เสนาบดีให้รอรับพม่าอยู่ในกรุงนั้น ครั้นทัพหน้าพม่ารุกเข้ามาถึงกรุง พระยาวชิรปราการก็ต้องกุมพลรบพุ่ง ต้านทานรบรับทัพพม่า พม่าเข้าล้อมกรุงศรีอยุธยานั้นไว้ กองทัพพม่ามาล้อมกรุงเก่าคราวนั้นเกือบสามปี
ครั้นถึงปีกุนนพศก จุลศักราช ๑๒๒๙ (พ.ศ. ๒๓๑๐) ถึง ณ วันอังคารเดือนห้า แรมเก้าค่ำ เวลาบ่าย ๓ โมงเย็น พม่าจึงนำปืนใหญ่เข้าระดมยิงพระมหานคร พระมหานครก็แตก เสียแก่พม่าในวันอังคาร เดือนห้า ขึ้นเก้าค่ำ ปีกุนศกนั้น
ฝ่ายพระยาวชิรปราการเจ้าเมืองกำแพงเพชร ได้ถือพล ๕๐๐๐ ช่วยป้องกันพระมหานคร ครั้นเห็นว่าชาตากรุงขาด ไม่สามารถจะต่อสู้พม่าได้ ก็พาพล ๕๐๐๐ นั้น ฝ่าฟันหนีออกไปทางทิศตะวันออก ข้ามไปทางพเนียดคล้องช้าง เดินทางไปเข้าเขตเมืองนครนายก แล้วข้ามฟากไปแย่งเอาเมืองจันทบุรี ตีได้แล้วก็เข้าตั้งมั่นบำรุงพลพาหนะละเลียงเสบียงอาหาร สรรพศาสตราวุธยุทธภัณฑ์ไว้พร้อมมูลบริบูรณ์เรียบร้อยแล้ว ก็ตั้งตัวเป็นเจ้า ชาวเมืองเรียกว่าพระเจ้าตาก ตั้งอยู่เมืองจันทบุรีก๊กหนึ่งในคราวนั้น
ครั้นถึงปีชวด สัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๑๓๐ ปี (พ.ศ. ๒๓๑๑) พระเจ้าตาก (สิน) ได้ยกพลโยธิแสนยากรเป็นกองทัพ เข้าบุกบั่นรบทัพพม่าตั้งแต่เมืองปาใต้ฝ่ายตะวันตกวกเข้าตีกองทัพพม่ามาถึงกรุงเก่า กองทัพพม่าสู้มิได้ก็แตกฉานล่าถอยขึ้นไปทางหัวเมืองฝ่ายเหนือ แล้วก็เข้าชิงเอากรุงเก่าคืนจากเงื้อมมือพม่าข้าศึกได้แล้ว ลอยขบวนลงมาตั้งราชธานีที่เมืองธนบุรี ตำบลที่วัดมะกอกนอก เหนือคลองบางกอกใหญ่ ใต้คลองคูวัดระฆังโฆษิตาราม ทรงขนานนามเมืองว่ากรุงธนบุรี พระนามาภิธัยว่า พระเจ้ากรุงธนบุรี แต่ปีชวดศกนั้นมา
จึงหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี ออกไปตั้งคฤหสถานบ้านเรือนครอบครองทรัพย์สมบัติอยู่ ณ บ้านอัมพวา แขวงเมืองสมุทรสงคราม ได้เข้ามาพร้อมด้วยเอกะและน้องแลบุตรทั้ง ๔ เข้ามารับราชการในพระเจ้ากรุงธนบุรีๆ ได้ตั้งให้หลวงยกกระบัตรเป็นที่พระราชวรินทร์ เจ้ากรมพระตำรวจนอกขวา ถือศักดินา ๑๖ๆๆ ไร่ จึงตั้งคฤหสถานบ้านเรือนอยู่เหนือพระราชวังหลวง ใต้วัดบางหว้าใหญ่ (คือวัดระฆังในบัดนี้) ในปีชวดศกนั้นเอง พระเจ้ากรุงธนบุรี พระราชทานเกียรติยศเป็นแม่ทัพถืออาญาสิทธิ์ ยกทัพขึ้นไปปราบเจ้าพิมายมีชัยชำนะกลับลงมา ทรงพระกรุณาเลื่อนขึ้นเป็นที่พระยาอภัยรณฤทธิ์ จางวางกรมพระตำรวจซ้าย ทรงศักดินา ๓๐๐๐ ไร่ ครั้นถึงปีขาลโทศก ๑๑๓๒ ปี (พ.ศ.๒๓๑๓) พระเจ้ากรุงธนบุรีรับสั่งให้พระยาอภัยรณฤทธิ์ ถืออาญาสิทธิ์เป็นแม่ทัพยกกองทัพไปปราบเจ้าพระฝาง เมืองสวางคบุรี ตีกองทัพเจ้าพระฝางแตก จับตัวเจ้าพระฝางได้ พร้อมทั้งช้างพังเผือกกับลูกดำ จับตัวพรรคพวกและช้างลงมาถวาย ส่วนพระยาอภัยรณฤทธิ์รั้งหลังเพื่อจัดการบ้านเมืองฝ่ายเหนือป่าวร้องให้อาณาประชาราษฎรที่แตกฉานซ่านเซ็น ให้รวมเข้ามาเป็นหมวดหมู่ตั้งอยู่ดังเก่า ตามภูมิลำเนาเดิมของตน ที่ขัดขวางยากจนก็แจกจ่ายให้ปันพอเป็นกำลังสำหรับตั้งตัวต่อไปภายหน้า เมื่อขณะนี้เองชาวเมืองเหนือจึงได้พากันนิยมสวามิภักดีต่อท่านพระยาอภัยรณฤทธิ์ รักใคร่สนิทแต่คราวนั้นเป็นต้นเป็นเดิมมา เมื่อกองทัพกลับแล้ว พวกราษฎรเมืองเหนือบางครัว จึงได้พากันมาอยู่ในกรุงเก่าบ้าง เมืองอ่างทองบ้าง เมืองปทุมบ้าง เมืองนนทบุรีบ้าง เมืองพระประแดงบ้าง ในกรุงธนบุรีบ้าง ในบางขุนพรหมบ้าง ต่างจับจองจำนองที่ดินซื้อหา ตามกำลังและวาสนาของตนๆ เป็นต้นเหตุ ที่มีผู้คนคับขันขึ้นทั้งในกรุงและหัวเมืองแน่นหนาขึ้นกว่าแต่ก่อนเป็นลำดับมา
ส่วนพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงเลื่อนที่ให้พระยาอภัยรณฤทธิ์ขึ้นเป็นพระยายมราชเสนาบดีที่จตุสดมภ์ กรมพระนครบาล ทรงศักดินา ๑๐๐๐๐ ไร่ พรรษายุกาลได้ ๓๔ ปี ในปลายปีขาลศกนั้นเอง พระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงพระกรุณาโปรดเลื่อนที่เจ้าพระยายมราชขึ้นเป็นเจ้าพระยาจักรี ที่สมุหนายก อรรคมหาเสนาบดี กระทรวงมหาดไทย ทรงศักดินา ๑๐๐๐๐ ไร่
ครั้นถึงปีเถาะตรีศก จุลศักราช ๑๑๓๓ ปี (พ.ศ. ๒๓๑๔) พระเจ้ากรุงธนบุรีมีรับสั่งโปรดเกล้าให้เจ้าพระยาจักรีเป็นแม่ทัพถืออาชญาสิทธิ์ต่างพระองค์ ยกกองทัพใหญ่ออกไปปราบปรามเมืองเขมรกัมพูชาประเทศก็มีชัยชนะเรียบร้อยกลับมา ได้รับพระราชทานรางวัลพิเศษ
ครั้นถึงปีมะเมีย ฉศก จุลศักราช ๑๑๓๖ ปี (พ.ศ. ๒๓๑๗) มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาจักรีเป็นแม่ทัพถืออาญาสิทธิ์ ยกกองทัพใหญ่ขึ้นไปล้อมเมืองเชียงใหม่ที่พม่ารักษาอยู่นั้น พม่าซึ่งรักษาเมืองเชียงใหม่ ได้ความอดอยากยากแค้นเข้า ก็พากันละทิ้งเมืองเชียงใหม่เสียแล้วหนีไปสิ้น ก็ได้เมืองเชียงใหม่โดยสะดวกง่ายดาย ในปลายปีมะเมีย ฉศกนั้นเอง อะแซหวุ่นกี้ แม่ทัพพม่าอายุ ๗๒ ปี เป็นเสนาบดีผู้ใหญ่ในพระเจ้ามังระกรุงอังวะ ครั้งนั้นพระเจ้าอังวะมีพระโองการรับสั่งให้อะแซหวุ่นกี้ถืออาญาสิทธิ์ยกทัพใหญ่ เดินกองทัพเข้ามาถึงด่านเมืองตาก แล้วให้พม่าล่ามถามนายด่านว่า พระยาเสืออยู่รักษาเมืองหรือไม่ นายด่านตอบว่าพระยาเสือไม่อยู่ยังไม่กลับ
อะแซหวุ่นกี้จึงหยุดกองทัพหน้าไว้นอกด่าน แล้วประกาศว่าให้เจ้าเมืองเขากลับมารักษาเมืองเสียก่อน จึงจะยกเข้าตีด่าน เลยเข้าตีเมืองพิษณุโลกทีเดียว (เขียนตามพงศาวดารพม่า)
สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงทราบข่าวข้าศึก จึงกรีฑาทัพหลวงขึ้นไปรักษาเมืองพระพิษณุโลกไว้ แล้วให้หากองทัพกลับจากเมืองเชียงใหม่ ครั้นเจ้าพระยาสุรสีห์ทราบว่ากองทัพมาอยู่ปลายด่านเมืองตาก และทราบว่าพระเจ้าอยู่หัวเสด็จกรีฑาทัพหลวงขึ้นมาประทับอยู่เพื่อป้องกันรักษาเมืองพิษณุโลกด้วย จึงรีบยกกองทัพกลับ ครั้นถึงเมืองพิษณุโลกแล้วเข้าเฝ้าถวายบังคม เจ้าพระยาจักรีอยู่จัดการเมืองเชียงใหม่เรียบร้อยแล้ว ได้เลยตั้งข้าหลวงไปพูดจาปลอบโยนชี้แจงแนะนำเจ้าเมืองแพร่ เจ้าเมืองน่าน เจ้าเมืองลำปาง เจ้าเมืองลำพูน เป็นต้นเหล่านี้ ยอมสวามิภักดิ์ต่อกรุงเทพฯ ขอพึ่งพระบารมีโพธิสมภารเป็นข้าขอบขัณฑสีมาสืบไปตลอดกาลนาน เจ้าพระยาจักรีจึงได้เลิกทัพพาเจ้าลาวและพระยาลาวทั้งปวง ลงมาถึงเมืองพิษณุโลก เข้าเฝ้ากราบบังคมทูลพร้อมกัน ณ เมืองพิษณุโลกนั้น
สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงพระโสมนัสนัก จึงพระราชทานฐานันดรศักดิ์จ้าวลาว พระยาลาวทั้งปวงนั้น ให้กลับขึ้นไปรักษาเมืองดังเก่า แล้วจึงพระราชทานรางวัลเป็นอันมากแก่เจ้าพระยาสุรสีห์นั้นได้ออกไปรักษาด่านหน้าเมืองตากโดยแข็งแรงกวดขันมั่นคงทุกประการ
ฝ่ายอะแซหวุ่นกี้แม่ทัพใหญ่พม่า ทราบว่าเจ้าพระยาเสือกลับมาแล้ว ออกมารักษาด่านอยู่ จึงสั่งให้มังเรยางู แม่ทัพพม่าเข้าตีด่าน ฝ่ายทหารรักษาด่านต้านทานทหารพม่าไม่ไหวก็ร่นเข้ามา กองทัพพม่าก็ตีรุกเข้าไปแล้วตั้งค่ายมั่นลงภายในด่านถึง ๓๐ ค่าย
ฝ่ายเจ้าพระยาจีกรีทราบว่า กองทัพเจ้าพระยาสุรสีห์เสียด่านร่นเข้ามา จึงกราบบังคมทูลรับอาสาช่วยเจ้าพระยาสุรสีห์ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมีพระโองการรับสั่งว่า “ข้าก็อยากเห็นความคิดสติปัญญาของเจ้าและฝีมือของเจ้าว่าจะเข้มแข็งสักเพียงใด ข้าจะขอดูด้วย จงรีบออกไปช่วยสุรสีห์เถิด”
เจ้าพระยาจักรีกราบถวายบังคมลา ออกมาจัดขบวนทัพพร้อมสรรพ์ แล้วยกออกไปถึงค่ายเจ้าพระยาสุรสีห์ แล้วจึงเจรจาว่า “เจ้าถึงแม้ว่าจะเป็นขุนนางผู้ใหญ่ก็จริงอยู่ แต่เจ้าเป็นขุนนางบ้านนอก อะแซหวุ่นกี้แม่ทัพพม่านั้น เขาเป็นเสนาบดีผู้ใหญ่อยู่ในเมืองหลวงพม่า ทั้งเขากอรปด้วยความคิด สติปัญญาเยี่ยมยิ่งอยู่ ความรู้ก็พอตัว พี่จะรบเอง” ต่อแต่นั้นมา เจ้าพระยาจักรีก็จัดทัพออกรุกรับรบพุ่งกับกองทัพอะแซหวุ่นกี้เป็นหลายครั้ง ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ ล่วงวันและเวลาช้านานมา จนถึงเดือนห้าเดือนหก ปีมะแม สัปตศก จุลศักราช ๑๑๓๗ ปี (พ.ศ. ๒๓๑๘) เป็นปีที่ ๘ ในรัชสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี
ฝ่ายอะแซหวุ่นกี้แม่ทัพพม่า ก็คิดขยาดระอิดระอา ทั้งทางเมืองพม่าก็ชักจะวุ่นวายขึ้น ทั้งเสบียงอาหารก็บกพร่องจวนเจียนไม่พอจ่าย จึงคิดเพทุบายถามว่า “ใครผู้ใดออกมาเป็นแม่ทัพใหญ่บัญชาการ” ทหารไทยบอกไปว่า เจ้าพระยาจักรีเป็นแม่ทัพ อะแซหวุ่นกี้จึงประกาศหย่าทัพ ขอดูตัวแม่ทัพไทย
เวลานั้นสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เสด็จทอดพระเนตรอยู่ในค่ายนั้นด้วย ได้ทรงทอดพระเนตรเห็นกิริยาท่าทางสุภาพองอาจ และท่วงทีรูปโฉมของเจ้าพระยาจักรีเมื่อออกยืนทัพรับอะแซหวุ่นกี้คราวนั้น สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงพระเกษมสันต์โสมนัสปราโมทย์ถึงกับออกพระโอษฐรับสั่งชมว่า “งามเป็นเจ้าพระยากษัตริย์ศึกเจียวหนอ” แต่นั้นมานามอันนี้ จึงเป็นนามที่แม่ทัพนายกองแลทหารทั้งปวง พากันนิยมเรียกว่า เจ้าพระยากษัตริย์ศึกแต่คราวนั้นมา ในกองทัพพม่าก็พลอยเรียกว่า เจ้าพระยากษัตริย์ศึก ตลอดไปจนถึงทางราชการฝ่ายพม่า ก็ได้จดหมายเหตุลงพงศาวดารไว้ว่า เจ้าพระยากษัตริย์ศึกเป็นแม่ทัพฝ่ายไทย ได้รบกับอะแซหวุ่นกี้แม่ทัพพม่าที่เมืองพระพิษณุโลก เมื่อปีมะเส็งถึงปีมะแม สัปตศก จุลศักราช ๑๑๓๗ ปี ครั้นเมื่อทอดพระเนตรแลทรงชมเชยแล้ว ก็ยาตรากระบวนออกยืนม้าหน้าพลเสนา ณ สนามกลางหน้าค่ายทั้งสองฝ่าย
ฝ่ายอะแซหวุ่นกี้ ก็จัดกระบวนแต่งตัวเต็มที่อย่างจอมโยธา ออกยืนอยู่หน้ากระบวน ณ กลางสนาม หน้าค่ายทั้งสองฝ่ายเช่นเดียวกัน (ตอนดูตัวนี้ความพิสดารมีแจ้งอยู่ในพระราชพงศาวดาร) ครั้นอะแซหวุ่นกี้ ได้เห็นเจรจาชมเชย พูดจาประเปรยตามชั้นเชิงพิชัยสงคราม แล้วก็นัดรบต่อไป แต่อะแซหวุ่นกี้คิดจะล่าทัพถอยกลับกรุงอังวะเป็นอย่างมากกว่าจะคิดแข็งใจรบเอาเมืองพิษณุโลก แต่แตกแล้วก็ร่นถอยล่าไปออกทางด่านพระเจดีย์ ๓ องค์ทำกิริยาท่าทางเหมือนจะไปชิงเอาเมืองกำแพงเพชร ทำให้ฝ่ายไทยต้องแบงออกเป็นหลายกองติดตามพม่า ก้าวสกัดหน้าตีวกหลังตามเชิงกลยุทธ ฝ่ายสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ก็เสด็จกลับเข้ากรุงธนบุรี ป้องกันพระราชธานีต่อไป
ตอนที่ 2
ฝ่ายเจ้าพระยาจักรีนั้น ครั้นส่งเสด็จแล้ว จึงจัดกองทัพออกติดตามสกัดจับพม่าตีรุกหลังพม่าแตกฉานเป็นหลายทัพ จับได้รี้พลช้างม้าเป็นอันมาก ทั้งตัวเจ้าพระยาจักรีเองก็ยกทัพหนุนไปด้วย จนถึงเมืองกำแพงเพชร แล้วจัดการพิทักษ์รักษาเมืองโดยกวดขัน ส่วนตัวท่านเจ้าพระยาเองก็ออกขี่ม้าสำรวจตรวจตรากองทัพน้อยๆทั่วไป เพราะใส่ใจต่อหน้าที่ราชการจนพม่าไม่กล้าหาญชิงเอาเมืองเหนือใต้ ต้องหนีออกไปทางด่านชั้นนอก พ้นเขตแดนสยาม กองทัพไทยไล่จับพม่าที่ล้าหลังได้ไว้เป็นกำลังราชการเป็นอันมาก ทัพอะแซหวุ่นกี้ล่าทัพออกพ้นประเทศอาณาเขตสยามในคราวนี้ตามกำหนดมีว่าเดือน ๗ ปีมะแม สัปตศก จุลศักราช ๑๑๓๗ ปี
ครั้งนั้นเจ้าพระยาจักรี ตั้งทัพอยู่ ณ เมืองกำแพงเพชร เวลาเช้าวันหนึ่งออกลาดตระเวนกองทัพทั้งปวงเพื่อบัญชาการ และชักม้าวกลัดเพื่อตัดทาง ม้าก็เลยพาท่านเข้าป่าฝ่าพงจำเพาะมายังบ้านปลายนาใต้เมืองกำแพงเพชร เป็นเวลาเย็น จึงแลเห็นโรงหนึ่งตั้งอยู่ปลายทุ่งนา เจ้าคุณแม่ทัพผู้นั้นจึงได้ชักม้าไปถึงโรงนั้นไม่เห็นมีคนผู้ใหญ่อยู่ได้ เห็นแต่หญิงสาวตนหนึ่งเดินออกมา เจ้าคุณแม่ทัพผู้นั้นจึงบอกแก่นางสาวคนนั้นว่า ข้ากระหายน้ำ เจ้าจงตักน้ำมาให้ข้ากินสักขันเถิด นางสาวคนนั้นจึงวิ่งด่วนเข้าไปในห้อง หยิบได้ขันล้างหน้าใบหนึ่งแล้วจ้วงตักน้ำในหม้อกลั่น แล้วล้วงไปหักดอกบัวหลวงในหนองน้อยข้างโรงนั่นสองสามดอก แล้วฉีกกลีบเด็ดเอาแต่เกสรบัวโรยลงไปในขันน้ำนั้นจนเต็ม แล้วนำส่งให้บนหลังม้า เจ้าคุณทัพรับเอามาเป่าเกสรเพื่อแหวกหาช่องน้ำแล้วต้องเอาริมฝีปากเบื้องบนเม้มเกสรไว้ แล้วดูดดื่มน้ำจนหมดขันด้วยอยากกระหายน้ำ ครั้นดื่มน้ำหมดแล้ว เจ้าคุณแม่ทัพจึงถามนางสาวคนนั้นว่า เราอยากกระหายน้ำสู้อุตสาห์บากหน้ามาขอน้ำเจ้ากิน เหตุไฉนจึงแกล้งเราเอาเกสรบัวโรยลงส่งให้เรากินน้ำของเจ้าลำบากนัก เจ้าแกล้งทำเล่นแก่เราหรือ
นางสาวคนนั้นตอบว่า “ดิฉันจะได้คิดแกล้งท่านนั้นก็หาไม่ ที่ดิฉันเอาเกสรบัวโรยลงในขันน้ำให้เต็มนั้น เพราะดิฉันเห็นว่า ผากแดดแผดลมเหนื่อยมา และกระหายน้ำด้วย ก็เพื่อป้องกันเสียซึ่งอันตรายแห่งท่าน เพื่อจะกันสำลักน้ำและสะอึกน้ำ และกันจุกแน่นแห่งท่านผู้ดื่มน้ำของดิฉัน ถ้าท่านไม่มีอันตรายในการดื่มน้ำแล้ว น้ำจะได้ทำประโยชน์แก้กระหายแห่งท่าน ดิฉันจะพลอยได้ประโยชน์เพราะให้น้ำแก่ท่าน ท่านสมปรารถนาแล้วก็จะเป็นบุญแก่ดิฉัน เหตุนี้ดิฉันจึงโรยเกษร” เจ้าคุณแม่ทัพฟังคำนางสาวตอบอย่างไพเราะอ่อนหวาน ถ้อยคำที่ให้การมานั้นก็พอฟัง จึงลงมาจากหลังม้าแล้วถามว่า “ตัวของเจ้าก็เป็นสาวเต็มเนื้อแล้ว มีใครๆมาหมั้นหมายผูกสมัครรักใคร่เจ้าบ้างหรือยัง” นางสาวบอกว่า “ยังไม่เห็นมีใครๆ มารักใคร่หมั้นหมายดิฉัน และดิฉันก็ยังไม่ได้ไปเที่ยวบอกใครว่าเป็นสาว มัวแต่หลบซ่อนตัวอยู่ ด้วยบ้านเมืองเกิดยุ่งนุ่งถุงมานานจนกาลบัดนี้ จึงมิได้มีใครเห็นว่าดิฉันเป็นสาว” เจ้าคุณทัพว่า “ถ้ากระนั้นเราเองเป็นผู้ที่ได้มกเห็นเจ้าเป็นสาวก่อนคน เจ้าต้องยอมตกลงเป็นคู่รักของเรา เราจะต้องเป็นคู่ร่วมรักของเจ้าสืบไป เจ้าจะพร้อมใจยินยอมเป็นคู้รักของเราโดยสุจริตหรือว่าประการใด”
นางสาวตอบว่า “การที่ท่านจะมาเป็นคู่รักของดิฉันนั้น ก็เป็นพระเดชพระคุณยิ่งอยู่แล้ว แต่ทว่าการจะมีผัวมีเมียกันตามประเพณีนั้น ดิฉันไม่ทราบเรื่อง จะว่าประการใดแก่ท่านก็ไม่มีอะไรจะว่า เรื่องการผัวการเมียนั้น ท่านต้องเจรจากับผู้ใหญ่ขึงจะทราบการ” เจ้าคุณแม่ทัพถามว่า “ผู้ใหญ่ของเจ้าไปไหน” นางสาวตอบว่า “ไปรดน้ำถั่วจวนจะกลับแล้ว” เจ้าคุณแม่ทัพขยับเดินเข้าให้ใกล้ นางสาวไพล่วิ่งปรู๋ออกแอบที่หลังโรงเลยไม่เข้าหา ท่านเจ้าคุณแม่ทัพก็ต้องนั่งเฝ้าโรงคอยท่าบิดามารดาของนางสาวต่อไป จนเกือบตะวันตกดินจวนค่ำ
ฝ่ายตาผล ยายลา กลับมาถึงโรงแล้ว เจ้าคุณแม่ทัพได้เห็นแล้ว จึงยกมือขึ้นไหว้ตายายก็น้อมตัวก้มลงไหว้ตอบ ท่านเจ้าคุณแม่ทัพก็ก้มลงไหว้ให้ต่ำลงไปอีก ตายายก็หมอบลงไปไหว้อีก ท่านเจ้าคุณแม่ทัพก็หมอบไว้อยู่อย่างนั้น ต่างคนต่างหมอยตัวกันอยู่นั่น ทั้งสองฝ่าย ฝ่ายยายแกเป็นคนปากเร็ว แกนึกขันและประหลาดใจแกจึงเปิดปากถามออกไปก่อนว่า “นี่เป็นขุนนางมาแต่บางน้ำบางกอก เหตุไฉนจึงมาหมอบกราบไหว้ข้าเจ้า เป็นชาวบ้านนอกเป็นชาวทุ่งชาวป่า เป็นคนยากจน ท่านจะมาหมอบไหว้ข้าเจ้าทำไม” เจ้าคุณแม่ทัพบอกว่า “ฉันมาสมัครเข้ามาเป็นลูกเขยท่านทั้งสอง จ้ะข้ะ”
ยายถามว่า “ท่านเห็นดีงามอย่างไร เห็นลูกสาวฉันเป็นอย่างไร ท่านจึงจะมายอมตัวเป็นลูกเขยเล่า” เจ้าคุณแม่ทัพว่า “ฉันเห็นบุตรสาวท่านดีแล้ว พอใจแล้ว จึงเข้ามาอ่อนน้อมยอมตัวเป็นลูกเขยท่าน” ท่านเจ้าคุณแม่ทัพเล่าถึงกาลแรกมาขอน้ำและนางเอาเกสรบัวโรยลงและได้ต่อว่า นางได้โต้ตอบถ้อยคำน่าฟังน่านับถือ จึงทำให้เกิดความรักปราณีขึ้น และตั้งใจจะเลี้ยงดูจริงๆ จึงต้องทนอยู่คอยท่า เพื่อจะแสดงความเคารพและขอเป็นเขย ขอให้แม่พ่อมีเมตตากรุณาเห็นแก่ไมตรีที่ได้มาอ่อนน้อมพูดจาโดยเต็มใจจริงๆ ตามวาจาที่ว่ามานี้ทุกอย่าง “ขอพ่อแม่ได้โปรดอนุญาตยกนางสาวลูกนั้นให้เป็นสิทธิ์แก่ฉันในวันนี้” ยายตาแกร้องขึ้นด้วยความตกใจว่า “โอตายจริง ข้าเจ้าเป็นคนยากจนข่นแค้นและต่ำศักดิ์ ทั้งผ้าผ่อนที่หลับที่นอนก็เหม็นตืดเหม็นสาบ ทั้งเครื่องเย่าเครื่องเรือนก็ขัดขวาง ทั้งถ้วยชามรามไหทีดีงามก็ไม่มี ฉิบหายป่นปี้แต่ครั้นบ้านเมืองเกิดยุ่งนุงนังหลายครั้งหลายครามาแลตัวนางหนูเล่าก็ยังไม่เป็นภาษา ทั้งจริตกิริยาก็ยังป่าเถื่อน ไม่เหมือนชาวใต้ จะใฝ่สูงเกินศักดิ์เกินสมควรไปละกระมังพ่อคุณ”
เจ้าคุณแม่ทัพว่า “ข้อนั้นพ่อแม่อย่ามีความวิตกหวาดกลัวอะไรเลย ข้อสำคัญก็คือ แม่พ่อยกให้เป็นกรรมสิทธิ์แก่ฉันเด็ดขาดแล้ว ต่อไปเป็นหน้าที่ของฉันฝ่ายเดียว ตามที่แม่พ่อยกขึ้นเป็นทางปรารมภ์นั้น เป็นธุระของฉันหมดทุกอย่าง ขอแต่ว่าอย่าเกี่ยงงอนขัดขวางดิฉันเลย”
ยายลา ตาผล ขอทุเลาถามเจ้าตัวว่า “มันอยากมีผัวหรืออย่างไรไม่ทราบ” แล้วก็ออกไปตามหาที่หลังโรง ตายายพูดกับลูกสาว ลูกสาวพูดกับพ่อกับแม่ได้ยินแต่กระจู๋กระจี๋กระเส่าๆ กระซิบกระซาบอยู่ครู่หนึ่งแล้วก็กลับมา แล้วนั่งลงถามว่า “ในเวลานี้ท่านก็มาแต่ตัวกับม้าตัวหนึ่ง ถ้าหากว่าดิฉันทั้งสองพร้อมใจยกอีงุดลูกสาวฉันให้เป็นเมียท่าน ท่านจะจัดการประการใดแก่ดิฉันเพื่อให้เป็นมงคล จงว่าให้ดิฉันฟังก่อนเถิดเจ้าข้ะ”
เจ้าคุณแม่ทัพถอดแหวนออกจากนิ้วแล้วบอกว่า “แหวนวงนี้มีราคาสูง ถ้าว่าท่านบิดามารดายินยอมพร้อมใจ ยกแม่งุดให้เป็นเมียเป็นสิทธิ์แก่ฉันแล้ว ฉันจะยกแหวนวงนี้ ตีราคาทำสัญญาให้ไว้เป็นสินถ่าย ๒๐ ชั่ง คิดเป็นทุนเป็นค่าของหมั้นขันหมากผ้าไหว้อยู่ใน ๒๐ ชั่ง ทั้งค่าเครื่องเย่าเครื่องเรือนเบี้ยเลี้ยงค่าเลี้ยงค่าดู ค่าเครื่องเส้นวักตั๊กแตนเสร็จในราคา ๒๐ ชั่ง ด้วยแหวนวงนี้” สองตายายได้ฟังดีใจ เต็มใจ พร้อมใจ ตกลงยกลูกสาวให้ตามปรารถนา เจ้าคุณแม่ทัพก็จัดแจงยืมพานปากกระจับทองเหลืองมาแล้วเขียนสัญญาถ่ายแหวนแล้วเอาใบตองรองก้นพานแล้ววางแหวนที่ว่านั้นลงบนใบตองรองในพาน เชิญเข้าไปคุกเข่าส่งให้ตายายๆ ก็ให้ศีลให้พร เป็นต้นว่า ขอให้พ่อมีความเจริญด้วยลาภยศ ให้เป็นเจ้าคนนายคนเถิด แล้วจัดแจงหุงข้าว ต้มแกง พล่ายำ ตำน้ำพริก ต้มผัก เผาปลา เทียบสำรับตามป่าๆ แล้วเชิญให้อาบน้ำทาดินสีพอง ยายตาก็อาบน้ำ ลูกสาวก็อาบน้ำ ตาตักน้ำให้ม้ากิน พาไปเลี้ยงให้กินหญ้า ครั้นเจ้าคุณแม่ทัพอาบน้ำทาดินสีพองแล้ว ลูกสาวทาขมิ้นแล้ว ยายก็ยกสำรับปูเสื่อลำแพน แล้วเอาผ้าขาวม้าปูบนเสื่อลำแพน ยายเชิญเจ้าคุณแม่ทัพให้รับประทานอาหาร
ยายตาก็รับประทานพร้อมกัน นางงุดนั้นให้กินภายหลัง ครั้นรับประทานอาหารแล้วต่างคนนั่งสั่งสนทนากัน ครั้นเวลา ๔ ทุ่ม จึงพาลูกสาวออกมารดนำรดท่า เสร็จแล้วก็ส่งมอบหมายฝากฝังตามธรรมเนียมของชาวเมืองกำแพงเพชรอันเคยทำพิธีมาแต่ก่อน
ส่วนเจ้าคุณแม่ทัพรับตัวแล้ว ก็หลับนอนอยู่ด้วยนางงุดในกระท่อมโรงนาจนรุ่งสางสว่างฟ้าแล้ว ตื่นขึ้นอาบน้ำ รับประทานอาหารแล้วก็ลาตายายขึ้นม้ามาบัญชาการที่กองทัพ พอเวลาค่ำสั่งการเสร็จสรรพแล้ว ห่อเงิน ๒๐ ชั่งมาสู่โรงบ้านปลายนาถ่ายแหวนคืนสัญญาแล้วก็หลับนอน เช้ากลับค่ำไป เป็นนิยมมาดังนี้ แม่ทัพนายกองทั้งปวงจะได้ล่วงรู้และร่ำลือให้อื้อฉาวก็เป็นอันว่าหามิได้ แต่บุตรชายของเจ้าคุณแม่ทัพซึ่งนอนอยู่ในค่ายมีอายุ ๘ ขวบโดยปี จะรู้ก็เข้าใจว่าไปดูแลตรวจตราบัญชาการ แต่เป็นดังนี้นานประมาณเดือนเศษ ตามสังเกตรู้ว่านางงุดตั้งครรภ์ ต่อแต่นั้นก็เพียงแต่ไปมาถามข่าว
ครั้นมีท้องตราหากองทัพกลับ เจ้าคุณแม่ทัพก็ไปล่ำลาและสั่งสอนกำชับกำชาโดยนานับประการ จนนางเข้าใจราชการตลอดรับคำทุกประมาร แล้วท่านก็คุมทัพกลับกรุงธนบุรี
ครั้นนางงุดได้แต่งงานแล้ว เมื่อเดือนแปด ปีมะแม สัปตศก แล้วก็ตั้งครรภ์ เมื่อครรภ์ยังอ่อนๆอยู่นั้น นางงุดไปปรึกษาหารือด้วย ตาผล ยายลา ผู้เป็นบิดามารดาว่าจะคิดการขึ้นล่องค้าขายกรุงธนบุรีและเมืองเหนือนั้น ครั้นคนทั้งสามปรึกษาตกลงเห็นชอบพร้อมใจกันแล้ว คนทั้งสามจึงได้รวบรวมเงินต้นทุนที่ได้ไว้ ปันส่วนออกเป็นค่าเรือ ค่าสินค้า ค่ารองสินค้า ค่าจ้างคน ค่าซ่อมแซมอุดยาเรือ มั่นคงเรียบร้อยแล้ว จึงละโรงนานั้นเสีย ส่วนนาและไร่ผักก็ให้เขาเช่าเสียแล้ว พากันลงอยู่ในเรือใหญ่ จัดการซื้อสินค้าบรรทุกเรือนั้นเต็มระวาง
ครั้นถึงกำหนดล่องกรุงธนบุรี จึงเรียกคนแจวออกเรือ ล่องลงมาถึงบ้านบางขุนพรหม ฝั่งตะวันออกแห่งกรุงธนบุรีแล้ว เข้าจอดเรืออาศัยท่าหน้าบ้านนายทอง นางเพียน บางขุนพรหม เป็นคนเคยอยู่เมืองเหนือแต่ก่อน และนายทองนางเพียนได้ลงมาอยู่บางขุนพรหม ครั้นตาผลจัดการจอดเรือเรียบร้อยแล้ว จึงผ่อนสินค้าขายส่งจนหมดลำ จึงจัดซื้อสินค้าบางกอกและสินค้าเมืองปักษ์ใต้ บรรทุกเรือตามระวางแล้ว พอถึงวันกำหนดจึงแจวกลับขึ้นไปปากน้ำโพจำหน่ายในตลาดเมืองเหนือ ตั้งแต่เมืองนครสวรรค์ขึ้นไป จนถึงเมืองกำแพงเพชร ครั้นคนทั้งสามซื้อและขายหมดเสร็จแล้วก็กลับบรรทุกสินค้าเมืองเหนือกลับล่องเรือลงมาจอดท่าหน้าบ้านนายทอง นางเพียน บางขุนพรหม ค้าขายโดยนิยมดังนี้ ล่วงวันและราตรีมาถึงเก้าเดือน ได้กำไรมากพอแก่การปลูกเรือนแล้ว จึงเหมาช่างไม้ให้ปลูกเป็นเรือนแพสองหลังแฝด มีชานสำหรับผึ่งแดดพร้อมทั้งครัวไฟ บันไดเรือนบันไดน้ำ จำนองที่ดินลงในถิ่นบางขุนพรหมเหนือบ้านนายทอง นางเพียนขึ้นไปสัก ๔ ว่าเศษ เพื่อเหตุจะได้อาศัยคลอดลูกและใช้ผูกพักผ่อนหย่อนสินค้า เห็นเป็นการสะดวกดีที่สุด
ครั้นถึง ณ วันพุธ เดือนหก ปีวอก อัฏฐศก จุลศักราช ๑๑๓๘ (พ.ศ. ๒๓๑๙) นางงุดปั่นป่วนครรภ์เป็นสำคัญรู้กันว่าจะคลอดบุตร จึงจัดแจงห้องนางงุดให้เป็นที่คลอดบุตรโดยฉับไว บนเรือนที่ปลูกใหม่บางขุนพรหมนั้น ครั้นได้ฤกษ์งามยามดี นางงุดก็คลอดบุตรเป็นชายที่ล่ำสัน หมู่ญาติมิตรก็ได้มาพร้อมกันช่วยอภิบาลบำรุงรักษาพยาบาล
ครั้นบุตรนั้นเจริญวัฒนาการประมาณได้สักเดือนเศษ ญาติมิตรพากันมาสังเกต ตรวจตราจับต้อง ประคองทารกน้อยขึ้นเชยชม บางคนคลำถูกกระดูกแขนเห็นเป็นแกนกระดูกท่อนเดียวกัน ก็พากันเฉลียวใจโจทย์กันไปโจทย์กันมา ครั้นช้อนทารกขึ้นนอนบนขาเพื่อจะอาบน้ำจึงพากันเห็นปานดำที่กลางหลังอยู่หนึ่งดวง ต่างคนต่างก็ทักท้วงกันไปทายกันมาพูดไปต่างๆ นานาเป็นวาจาต่ำบ้างสูงบ้างเป็นความเห็นของคนหมู่มาก ทักทายหลายประการ จึงทำความรำคาญให้แก่นางงุดไม่สบายใจ เกรงไปว่าวาสนาตัวน้อย จะไม่สามารถคอยเลี้ยงลูกคนนี้ยาก นางงุดถึงออกปากอ้อนวอนบิดา นายทองและนางเพียน ให้ช่วยสืบเสาะดูให้รู้ว่าพระสงฆ์องค์เจ้ารูปใดอยู่วัดไหนที่อย่างดีมีอยู่บ้างในแถวนี้ เห็นพระสงฆ์ที่ดี มีศีลธรรมวิชาภูมิรู้ปฏิบัติเคร่งครัดอยู่ในวัดใด ขอได้ช่วยพาบุตรไปถวายเป็นลูกท่านองค์นั้นในวัดนั้นด้วยเถิด
นายทอง นางเพียนจึ่งพากันนิ่งนึกตรึกตราไปทุกวัน ในแถบนั้นจึงคิดถึงหลวงพ่อแก้ว วัดบางลำพูบน จึงบอกแก่นายผลว่า หลวงพ่ออาจารย์แก้ววัดบางลำพูบนนี้ท่านดีจริง ดีทุกสิ่งตามที่กล่าวมานั้น ทั้งเป็นพระสำคัญเคร่งครัด ปริยัติ ปฏิบัติก็ดี วิชาก็ดี มีผู้คนไปมานับถือขึ้นท่านมากถ้าพวกเราไปออกปากฝากถวายเจ้าหนูแก่ท่าน เห็นท่านจะไม่ขัดข้อง เพราะท่านมีอัธยาศัยกว้างขวางดี เมื่อคนทั้ง ๔ นิ่งปฤกษาหารือตกลงเห็นพร้อมใจกันแล้ว จึงได้พากันลงเรือช่วยกันแจวล่องมาวัดบางลำพูบนเมื่อเวลาบ่าย ๔ โมงเย็น ถึงแล้วก็พากันขึ้นวัด นางงุดอุ้มเบาะลูกอ่อนพาไปนอนแบเบาะไว้มุมโบสถ์วัดบางลำพู ตอนข้างใต้หน้ากุฏิพระอาจารย์แก้ว แล้วนายทองนางเพียน จึงไปเที่ยวตามหาพระอาจารย์แก้ว เวลาเย็นนั้นท่านพระอาจารย์แก้วเคยลงกระทำกิจกวาดลานวัดทุกๆ วันเป็นนิรันดรมิได้ขาด
นายทอง นางเพียน มาหาพบหลวงพ่อ กำลังกวาดลานข้างตอนเหนืออยู่ นายทอง นางเพียนจึงทรุดตัวลงนั่งยองยอง ยกมือทั้งสองขึ้นประนมไหว้ แล้วออกวาจาปราสรัยบอกความตามที่ตนประสงค์มาทุกประการ ฝ่ายหลวงพ่ออาจารย์แก้ว ฟังคำทำนายนางเพียนแล้วตรวจนิ้วมือ ดูรู้ฤกษ์ยามตามตำรา ท่านจึงพิงกวาดไว้ที่ง่ามต้นไม้แล้วก็มาขึ้นกุฏิ ออกนั่งที่สำหรับรับแขกบ้านทันที
ตาผล นางงุด ก็ประคองบุตรน้อยขึ้นกุฏิ เข้ากราบกรานพระอาจารย์แก้ว แล้วจึงกล่าวคำว่า กระผมเป็นตาของอ้ายหนูน้อย อีแม่มันนั้นเป็นลุกสาวของกระผมๆ กับอีแม่มันมีความยินยอมพร้อมใจกันยกอ้ายหนูน้อยถวายหลวงพ่อเป็นสิทธิขาดแต่วันนี้ ขอหลวงพ่อได้โปรดปรานีโปรดอนุเคราะห์ รับอ้ายเจ้าหนูน้อยเป็นลูกของหลวงพ่อด้วยเถิดภ่ะค่ะ ครั้นกล่าวคำเช่นนั้นแล้ว จึงพร้อมกันอุ้มเบาะทารกขึ้นวางบนตักหลวงพ่อพระอาจารย์แก้ว แล้วก็ถอยมานั่งอยู่ห่างตามที่นั่งอยู่เดิมนั้น
ฝ่ายพระอาจารย์แก้ว ตั้งใจรับเด็กอ่อนไว้แล้ว ท่านก็ตรวจตราพิจารณาดู ท่านก็รู้ด้วยการพิจารณา รู้ว่าเด็กคนนี้มีปัญญาสามารถทั้งเฉลียวฉลาดในการร่ำเรียนทั้งประกอบด้วยความเพียรและความอดทน ทั้งจะเป็นบุคคลที่เปรื่องปราชญ์อาจหาญ ทั้งจะเป็นคนที่เชี่ยวชาญวิทยาคม ทั้งจะมีแต่คนนิยมฤๅชาปรากฏ ทั้งจะเป็นคนกอรปด้วยอิสริยศบริวารยศมาก ทั้งจะเป็นคนประหลาดแปลกกว่าคน ทั้งจะเจริญทฤฆชนม์มีอายุยืนนาน ครั้นพระอาจารย์แก้วตรวจวิจารณ์ชะตาราศีแล้ว จึงผูกข้อมือเสกเป่าเข้าปากนวดนาบด้วยนิ้วของท่าน เพื่อรักษาเหตุการณ์ตาลทราง หละ ละลอก ทรพิศม์ ไม่ให้มีฤทธิมารบกวนแก่กุมารน้อยต่อไป แล้วท่านก็ฝากให้นางงุดช่วยเลี้ยง กว่าจะได้สามขวบเป็นค่าจ้างค่าน้ำนมข้าวป้อนเสร็จปีละ ๑๐๐ บาท แล้วท่านก็ประกาศสั่งซ้ำว่า อย่าให้มารดากินของขมและของเผ็ดร้อน และของบูดแฉะเกรงขีระรสธาราจะเสีย แล้วท่านก็กำชับสั่งนายผลให้เอาใจใส่ระไวระวังคอยเตือน อย่าให้นางแม่มันเล่นเล่อเหม่อประมาท คอยขู่ตวาดนางแม่มันอย่าให้กินของแสลงตามที่เราห้ามจงทำตามทุกประการ
ฝ่ายตาผล นางงุด พนมมือรับปฏิญาณแล้วกราบกรานลา รับเบาะลูกน้อยมาแล้วลงกุฏิ พากันมาลงเรือปู้แหระ ช่วยกันแจวแชะแชะมาจนถึงเรือใหญ่ท่าหน้าบ้านบางขุนพรหมแล้วก็รออยู่พอหายเหนื่อย จนอายุเด็กเจริญขึ้นได้ ๓ เดือน จึงหาฤกษ์โกนผมไฟในเดือน ๙ ปีวอก ฉศกนั้น ครั้นกำหนดวันฤกษ์แล้วจึงนายผลออกไปวัดบางลำพูบน นิมนต์ท่านพระอาจารย์แก้ว แล้วขอเผดียงสงฆ์อีก ๔ รูป รวมเป็น ๕ รูป เข้ามาเจริญพระปริตรพุทธมนต์ในเวลาเย็น รุ่งขึ้นฤกษ์โกนผมไฟ แล้วนิมนต์รับอาหารบิณฑบาตร
ครั้นนายผลทราบว่า พระอาจารย์ทราบแล้วจึงนมัสการลากลับมา เที่ยวบอกงานและจัดหาเครื่องบูชา เครื่องใช้สอย โตกถาดภาชนะ ทั้งเครื่องบุดาดอาสนะพร้อมแม่ครัว เมื่อถึงวันกำหนด พระสงฆ์มาพร้อม จึงเผดียงขึ้นสู่โรงพิธีบนเรือนแพที่ปลูกใหม่นั้น แล้วพระสงฆ์ก็เริ่มการสวดมนต์ ครั้นสวดมนต์แล้ว พระสงฆ์กลับแล้วจึงจัดการเลี้ยงดูกัน
ครั้นรุ่งเช้าพระสงฆ์มาพร้อมนั่งอาสน์ จึงนำเด็กออกมาฟังพระสวดมนต์ พระสงฆ์สวดชัยมงคลคาถาแล้วโกนผมไฟกันไปเรื่อย แล้วจัดอาหารบิณบาตรอังคาสแก่พระสงฆ์แล้ว พระสงฆ์ทำภัตกิจ อนุโมทนาแล้วกลับ จึงจัดการประพรมเย่าเรือนจุณเจิมเรือและเรือนเสร็จ
ครั้นจัดการทำบุญให้ทานเสร็จแล้ว พักผ่อนพอหายเหนื่อยจึงจัดสรรพสินค้าเมืองปักษ์ใต้ได้เต็มระวางแล้วจึงออกเรือไปเมืองเหนือ จำหน่ายสินค้า ก็จัดรองสินค้าเมืองเหนือมาจำหน่ายในบางกอก กระทำพานิชกรรมสัมมาอาชีวะอย่างนี้เสมอมา ก็บันดาลผลให้เกิดหมุนภูลเถามั่งคั่งสมบูรณ์ขึ้นหลายสิบเท่า พ่อค้าแม่ค้าทั้งปวงก็รู้จักมักคุ้นมากขึ้นเป็นลำดับมา ตาผล ยายลา นางงุด จึงได้ละถิ่นถานทางเมืองกำแพงเพชรเสียลงมาจับจองจำนองหาที่ดินเหนือเมืองพิจิตรปลูกคฤหาสถานตระหง่านงามตามวิสัยมีเรือนอยู่ หอนั่ง ครัวไฟ บันไดเรือน บันไดน้ำ โรงสี โรงกระเดื่อง โรงพักสินค้า โรงเรือน รั้วล้อมบ้าน ประตูหน้าบ้าน ประตูหลังบ้าน ได้ทำบุญให้ทานที่วัดใหญ่ในเมืองพิจิตรนั้น จึงได้มีความชอบชิดสนิทกับท่านพระครูใหญ่ วัดใหญ่นั้น มีธุระปะปังอันใดก็ได้สังสรรค์ไปมา ทายกแจกฎีกาไม่ว่าการอะไร มาถึงแล้วไม่ผลัก ยินดีรักในการทำบุญการกุศล เลยเป็นบุคคลมีหน้าปรากฏในเมืองพิจิตรสืบไป
ท่านพระครูใหญ่วัดใหญ่ในเมืองพิจิตรนั้นท่านองค์นี้ดีมากในทางความรู้วิชาอาคมก็ขลังมาก วิชาฝ่ายนักเลงต่างๆ พอใช้ เป็นที่เคารพยำเกรองของหมู่นักเลงขยั้นเกรองกลัวท่านมาก ท่านพระครูใหญ่วัดใหญ่พระองค์นี้ เชี่ยวชาญชำนาญรอบรู้ในคัมภีร์มูลประกรณ์ทั้ง ๕ คัมภีร์หามีผู้เปรียบเทียบเท่าท่านในเมืองนั้นในคราวนั้นมิได้ ใช่แต่เท่านั้นท่านขลังในอาคมทางอยู่ยงคงกระพันชาตรีทางภูตทางผีทางปีศาจก็เก่งพร้อม ห้ามเสือห้ามจรเข้ ห้ามสัตว์ร้ายก็ได้ เสกเป่าให้คนและสัตว์ร้ายอ่อนเพลียเสียกำลัง ยืนงงนั่งจังงังก็ทำได้ พระสงฆ์ในเมืองพิจิตรเกรองกลัวท่านมากตลอดแขวงตลอดคุ้ม ไม่มีวัดไหนล่วงบัญญัติกัตติกสัญญาณาบัติเลย ทั้งเจ้าเมืองกรมการก็ยำเกรมขามท่านพระครูวัดใหญ่มาก ใช่แต่เท่านั้น ท่านกอรปด้วยเมตตากรุณาอนุกูล สัปปุรุส อุบาสิกา สานุศิษย์ มิตรญาติ สงเคราะห์อนุเคราะห์ อารีอารอบทั่วไป มีอัธยาศัยกว้างขวาง เผื่อแผ่เอื้อเฟื้อเกื้อกูลคนที่ ควรสงเคราะห์ ไม่จำเพาะบุคคล ข่มขี่ขัดเกลากิเลสด้วยไม่โลภโมห์โทสันต์ ขันติธรรมก็พอใช้ วินัยก็พอชม มีผู้นิยมสู่หามาไปมิได้ขาด ทั้งฉลาดในข้อปฏิสัณฐาน การวัดก็จัดจ้านเอาใจใส่ การปฏิสังขรก็เข้าใจปะติประต่อก่อปรุงถาวร วัตถุกรรมแนะนำภิกษุสามเณรและอุบาสกอุบาสิกา ให้รู้จัดกิจถือพระพุทธศาสนาให้กอรปด้วยประสาทะศรัทธามั่นคง จำนงแน่ในพระรัตนตรัยหมั่นเอาใจใส่สอนศิษย์ให้รู้ทางประโยชน์ดี
ตอนที่ 3
เมื่อตาผล ยายลา นางงุดจะล่องลงมาค้าขาย ก็ต้องออกไปล่ำลารดน้ำมนต์รับน้ำมาพรมสินค้า และพรมเรือ พรมคนแจว พรมบ้านเรือน เพื่อให้พ้นภัยอันตรายให้ซื้อง่ายขายคล่อง เวลาตาผลนางงุดกลับ ก็ต้องขึ้นสักการะท่านพระครู จึงบันดาลให้มีผู้นิยมรักแรงเข็งขอบไปทั้งเมืองเหนือเมืองใต้ มีคนเกรงใจเชื่อหน้าถือตา เมื่อจะค้าก็ไม่ต้องลงทุนได้ผ่อนทรัพย์ออกไปหมุนหาดอกเบี้ย และปัวเปียเข้าหุ้นกับพ่อค้าใหญ่ๆ ก็ได้กำรงอกงาม ตามประวัติการแห่งพาณิชยกรรม ร่ำมาด้วยประการดังนี้
(เรียบเรียงตามเค้ารูปภาพในฉากที่หนึ่ง คงได้ความเพียงนี้)
เรื่องที่ว่า ตาผล ยายลา นางงุด ค้าขายเกิดหนุนพูลเถา ได้กำไรมั่งมี ถึงกับย้ายถิ่นฐานภูมิลำเนาเดิมมาตั้งหลักฐานอยู่ในแขวงเมืองพิจิตรนั้น เรียงความตามเค้ารูปภาพในฝาผนังเป็นฉากที่ ๒ เจ้าของท่านเขียนเป็นรูปเมืองพิจิตร เขียนรูปเจ้าเมืองพิจิตรกำลังมีงาน เขียนรูปวัดใหญ่ในเมืองพิจิตร เขียนรูปท่านพระครูใหญ่ เขียนรูปสามเณรโตเรียนหนังสือ เขียนรูปสามเณรโตทดลองวิชาที่เรียนจากท่านพระครูใหญ่วัดใหญ่ เขียนบ้านเรือน ตาผล ยายลา นางงุด เขียนหนูโต ๗ ขวบ พิจารณาแล้วลงสันนิษฐาน อนุมานแปลออกจากใบ้ในรูปภาพประวัติฉากที่ ๒ ของท่าน คงได้เรื่องได้ความ ดังจะเล่าสู่กันฟังดังนี้
ครั้นถึงปีขาล จัตวาศก จุลศักราช ๑๑๔๔ แผ่นดินพระเจ้ากรุงธนบุรีสิ้นอำนาจแล้ว เป็นปีที่สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ได้ขึ้นเถลิงถวัลราชย์ปราบดาภิเษกเปลี่ยนเป็นปฐมบรมจักรีพระองค์แรก และย้ายพระมหานครมาข้างฝั่งตะวันออกแห่งกรุงธนบุรี ตรงหัวแหลมระหว่างวัดโพธิและวัดสลัก เป็นวัดเก่ามากทั้ง ๒ วัด เป็นคราวผลัดแผ่นดินใหม่ ทรงขนานนามพระนครใหม่ว่า กรุงเทพพระมหานครฯลฯ พระบรมราชนามาภิไธยว่า สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ กรุงเทพฯ ทรงตั้งเจ้าพระยาสุรสีห์น้องชาย เป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้ามหาสุรสีหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ทรงตั้งมเหสีเดิม เป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ทรงตั้งสมเด็จพระจ้าหลานเธอเจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์เทเวศร์ ขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าภคิเณยราชกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข ฝ่ายพระราชวังหลังรับพระราชบัญชา
ฝ่ายหนูโตบุตรชายของนางงุดเมืองพิจิตรนั้น มีชนมายุได้ ๗ ขวบ ครั้นการบ้านเมืองสงบเรียบร้อยเป็นปกติแล้ว นางงุดจึงได้นำหนูโต อายุ ๗ ขวบ นั้นเข้าไปถวายท่านพระครูใหญ่ เมืองพิจิตร ให้เป็นศิษย์เรียนหนังสือไทย หนังสือขอมและกิริยามารยาท และขนบธรรมเนียมการวัด การบ้านการเมือง การโยธา การเรือน การค้าขาย เลขวิธี การของผู้อยู่ การของผู้ไป การรับการส่ง การที่เจ้าจะใช้นายจะวาน การไว้ท่าวางทาง ทำท่วงทำทีสำหรับผู้ลากมากดี ในสำนักนี้ ท่านพระครูใหญ่วัดใหญ่นั้น
ครั้นถึงปีวอก สัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๑๕๐ อายุหนูโตได้ ๑๓ ขวบ เป็นคราวที่จะทำการโกนจุกแล้ว ตาผล นางงุดจึงรับเข้าพักอยู่ที่บ้าน เพื่อระวังเหตุการณ์ แล้วจึงจัดบ้านช่องค้ำจุนหนุนเตาหม้อ ก่อเตาไฟ ซ่อมบันได เตรียมเครื่องครัวพร้อมกำหนดวันฤกษ์งามยามดี หนีกาฬกิณีตามวิธีโหราจารย์บุราณประเพณีได้วันดีแล้ว ในเดือน ๖ ข้างขึ้น จึงเผดียงท่านพระครูใหญ่พระอาจารย์พระเจ้าอธิการวัด พระฐานา พระที่เป็นญาติและพระที่เป็นมิตรรวม ๑๑ รูป กำหนดวันเวลาแล้วเผดียงสวดมนต์ฉันเช้า และเชิญท่านเจ้าเมืองกรมการผู้ใหญ่ พ่อค้าแม่ค้า คฤหบดี คฤหปตานี เจ้าภาษี นายอากร อำเภอ กำนัน พันทะนายบ้าน นายกองขุนตำบล และคณะญาติผู้ใหญ่ผู้น้อยรอบคอบแล้ว จัดกระจายใบบัวบรรจุขนมของกิจและผลาผลกับปิยจรรหรรมัจฉมังสาหาร เป็นเครื่องไทยทาน ถวายแถมพกตอนเช้า ผ้าไตรจีวรถวายตอนเย็น หาเสภามาขับตลอดกลางคืน หาละครสมโภชในตอนทำขวัญ แล้วบุดาษมุงบัง ปู ปัด จัดตั้งพร้อมทุกสิ่งทุกประการ
ครั้นถึงวันกำหนด พระสงฆ์มา แขกก็มา จัดบุคคลที่สมควรรับรองเชื้อเชิญนั่งลุกตามขนบธรรมเนียมอย่างชาวเหนือในเวลานั้น เริ่มการสวดมนต์ตั้งหม้อเต้าน้ำสังข์มังมี มีดโกนด้ามสามกษัตริย์ บัตรบายศรีมีพร้อมในโรงพิธีบนหอนั่งเป็นที่เอิกเกริก สวดมนต์พระสงฆ์แล้วก็จัดแจงเลี้ยงดูกันอิ่มหนำสำราญ พอตกพลบค่ำ ก็จุดตามประทีปโคมไฟสว่างมีเสภารำต่อไป
ครั้นเวลาเช้าวันรุ่งขึ้น พระสงฆ์มาพร้อมตามเวลา แขกที่เชิญมานั่งพร้อมตามกำหนดนัด นำหนูโตออกจากเรือน มานั่งในโรงพิธีที่หอนั่ง ฟังพระสงฆ์สวดชัยมงคลคาถาแล้วได้เวลากำหนดฤกษ์ พระสวดชะยันโต ท่านเจ้าเมืองหยิบกรรไกรยกกระบัตรแหวกจุกผูกสามรอบเรียกว่าไตรสิงขร พระสวดถึง (ปัลลังเกสีเส) ท่านเจ้าเมืองลงกรรไกรคีบจุกขาดออกทั้งสามจอบแล้วโกนด้วยมีดด้ามนาค ด้ามเงิน ด้ามทอง เรียกว่ามีดสามกษัตริย์
ถามว่า เหตุไฉนจึงทำกันอย่างนี้
ตอบ เดิมเป็นทางมาตามคัมภีร์ไสยศาสตร์ก่อน
ภายหลังพราหมณ์นำมาเชื่อมกับพุทธศาสตร์ (แต่ผู้เรียบเรียงมีความเห็นว่า ท่านบุราณคณาจารย์คงจะคิดเห็นตามศัพท์ว่า สัพเพเต อันตรายา ฯลฯ ชะรอยท่านจะแปลคำว่า เต ว่า ๓ ท่านจะไม่แปลคำ เต ว่า เหล่านั้น จึงทำ ๓ แหยม เป็นปอยๆ )
ครั้นพนักงานโกนผมที่ศีรษะหนูโตหมดแล้วจึงอุ้มหนูโตออกไปนั่งเตียงเบญจา ท่านเจ้าเมืองรดน้ำมนต์ด้วยสังข์ก่อน แล้วบรรดาแขกที่เชิญมาและคณะญาติมิตรก็ช่วยรดน้ำหลั่นกันลงไป เสร็จการรดน้ำแล้วก็อุ้มหนูโตเข้าเรือนจัดแจงเปลี่ยนเสื้อผ้าต่อไป
ฝ่ายพนักงานยกสำรับก็ยกมา พวกใส่บาตรก็ใส่ไป เสร็จแล้วก็ยกประเคนพระ พระลงมือฉัน ครั้นพระเสร็จจากภัตตกิจแล้ว เจ้าของงานก็จัดแจงถวายเครื่องไทยทานตามที่จัดไว้และเพิ่มเติมค่าจตุปัจจัยตามควร พระอนุโมทนาแล้วกลับไป
ฝ่ายเจ้างานก็จัดแจงเลี้ยงดูปูเสื่อกันเสร็จ แล้วจึงตั้งระเบียบบายศรี แว่นเวียนแวดล้อมญาติมิตรคนเชิญขวัญก็มานั่ง จึงอุ้มหนูโตออกมานั่งกลางหอนั่งให้คอยฟังคนเชิญขวัญร่ำรำพรรณ พรรณาสิ้นวาระ ๓ จบแล้ว ก็ออกเทียน แว่นที่มีรูปหอยออกก่อน เวียนเป็นทักษิณาวัฏ ๓ รอบแล้ว ผู้อวยพรก็รับมาเศกวิศณุเวทย์มนตราคมน์ เป่าลมแล้วระบายควันดับเทียนนั้นเป่าควันให้กุมารได้รับสัมผัส แล้วผจงผลัดผ้าหุ้มคลุมบายศรี หยิบเครื่องพลี มีกุ้งพล่าและปลายำ สิ่งละคำคุกเข่าป้อน เปิดมะพร้าวอ่อน ช้อนตักน้ำนำให้ซด จุณจันทน์บทกระแจะเจิมเสกส่งเสริมสวัสดี ตามพิธีไสยศาสตร์ พวกพิณพาทย์บรรเลงเพลงครื้นเครงโครม เสียงส่งสำเนียงโห่สนั่น เมื่อทำขวัญกุมารโตเป็นทะโหราดิเรก เป็นเอ้เอกอึกกระธึก ที่ระลึกทั่วไปสำหรับให้เป็นตัวอย่างคนลางบางในภายหลัง จะได้ฟังเป็นการดี ครั้นทำพิธีทำขวัญแล้ว เป็นที่แผ้วผ่องภิญโญ กุมารโตจึงส่งผ้าให้มารดารับไว้ เก็บเข้าไปในเรือนพลัน พวกลงขันยื่นเงินตราให้เสื้อผ้าตามฐานะ ไม่เกณฑ์กะเป็นอัตราเคยมีมาแต่โบราณ
ครั้นการนั้นเสร็จแล้ว โดยสะดวกเรียบร้อยทุกประการ พวกละครรำก็โหมโรงเล่นไปวันหนึ่งจึงเลิกงาน แล้วเลี้ยงดูกันสำราญในเวลาเย็นอีกคราวหนึ่ง ครั้นล่วงมาอีก ๗ วัน นางงุดจึงนำกุมารโตบุตรออกไปมอบถวายท่านพระครูวัดใหญ่ในเมืองพิจิตรอีก แล้วให้ท่านสอนสามเณรสิกขา นาสะนังคะให้รู้ข้อปฏิบัติในวัตรทางสามเณรภูมิต่อไป
ครั้นถึงเดือน ๘ ปีวอกนั้นเอง นางงุดมารดาและคณาญาติใหญ่น้อย ได้จัดบริขารไตรจีวรและย้อมรัดประคดของบิดาที่ได้กำชัดมอบหมายไว้แต่เดิมนั้นเป็นองคะพันธบริขารพร้อมทั้งบาตรโอตะลุ่ม เสื่อมุ้งน้ำมันมะพร้าวตะเกียง กับเครื่องถวายพระอุปัชฌาย์และถวายพระอันดับอีก ๔ องค์ แล้วพากันออกไปที่วัด อาราธนาท่านพระครูให้ประทานบรรพชาแก่กุมารโตและขอสงฆ์นั่งปรกอีก ๔ องค์ รวมเป็น ๕ ทั้งพระอุปัชฌาย์ลงโบสถ์ พระครูก็อนุมัติตามทุกประการ
ครั้นสามเณรโตได้บรรพชาเสร็จแล้ว ก็ตั้งใจเคร่งครัด เกรงต่อพระพุทธอาญา อุตสาห์เอาใจใส่ปรนนิบัติพระอุปัชฌาย์ทุกวันวาร อุตสาห์กิจการงานในหน้าที่ อุตสาห์เล่าเรียนคัมภีร์มูละกัจจายนะปกรณ์ เป็นต้นว่าเล่าสูตรจบเล่าโจทย์จบจำได้แม่นยำดี เรียนบาลีไวยากรณ์ ตั้งแต่สนธิ นาม และษมาส ตัทธิต อุณณาท กริต การก และสนธิพาละวะการ สัททะสาร สันททะพินธุ์ สัททะสาลินี คัมภีร์มูลทั้งสิ้นจบสิ้นบริบูรณ์แม่นยำจำได้ดี ถึงเวลาค่ำราตรีก็จุดประทีปถวายพระอุปัชฌาย์นวดบาทาบีบแข้งขานวดเฟ้น หมั่นไต่ถามสอบทานในการที่เรียนเพียรหาความตามภาษาเด็ก ถามเล็กถามน้อยค่อยๆออเซาะพูดจาประจ๋อประแจ๋ กระจุ๋มกระจิ๋มยิ้มย่องเป็นที่ต้องใจในท่านพระครุอุปัชฌาย์ ท่านเกิดเมตตากรุณาแนะนำธรรมปริยาย ท่านต้องขยายเวทย์มนต์ดลคาถาสำหรับ แรด หมี เสือ สาง ช้าง ม้า มะหิงษา โคกระทิงเถื่อนที่ดุร้าย จระเข้เหราว่ายวนเวียนไม่เข้าใกล้ สุนัขป่า สุนัขไน สุนัขบ้าน อัทธพาล คนเก่งกาจฉกรรจ์เป่าไปให้งงงันยืนจังงัง ตั้งฐานภาวนาบริกรรมทำศูนย์ตรงนี้ฯ ตั้งสติไว้เบื้องหน้าแห่งวิถีจิตต์อย่างนี้ๆ ท่านบอกกะละเม็ดวิธีสอนสามเณรให้ชำนิชำนาญ รอบรู้ในวิทยาคุณคาถามหานิยม เกิดเป็นมหาเสน่ห์ทั่วไป สามเณรโตก็อุตสาห์ร่ำเรียนได้ในอาคมต่างๆ หลายอย่างหลายประการ ออกป่าเข้าบ้านทดลองวิชาความรู้ ในวันโกนวันพระที่ว่างเรียนมูละปกรณ์แล้ว ก็ต้องทดลองวิชาเบ็ดเตล็ดเป็นนิตยกาล จนคล่องแคล่วชำนิชำนาญใช้ได้ดังประสงค์ทุกอย่าง
ครั้นถึงปีจอ โทศก จุลศักราช ๑๑๕๒ อายุสามเณรโตได้ ๑๕ ปี บวชเป็นเณรได้ ๓ พรรษา เล่าเรียนคัมภีร์มูละกัจจายนะปกรณ์จบ เข้าใจไวยากรณ์ รู้สัมพันธ์บริบูรณ์ ครั้นถึงเดือน ๑๒ ปีจอ โทศกนั้น สามเณรโตเกิดกระสันใคร่เรียนคัมภีร์พระปริยัติศาสนาต่อไป
ฝ่ายท่านพระครูได้ฟังคำสามเณรโต เข้ามาร้องขอเรียนคัมภีร์พระปริยัติธรรม อีกท่านก็อั้นอกอึกอักอีก ด้วยคัมภีร์พระปริยัติได้กระจัดกระจายตกเรี่ยเสียหายป่นปี้มาก แต่ครั้งพม่าเข้ามาตีกรุง ซ้ำสังฆราชเรือง เผยอตั้งตัวขึ้นเป็นเจ้าแผ่นดิน ทำให้สมบัติของวัดวาอารามเสียหายหมดอีกเป็นคำรบ ๒ ซ้ำร้ายพวกผู้ร้ายเข้าปล้นพระพุทธศาสนาคว้าเอาพระคัมภีร์ปริยัติ สำหรับวัดนี้ไปจนหมดสิ้นเป็นคำรบ ๓ และวัดแถบนี้ก็หาตำราหยิบยืมกันยาก ถึงจะมีบ้างก็เล็กน้อยสักวัดละผูกสองผูก ก็จะไม่พอแก่สติปัญญาของออสามเณรโต จะเป็นทางกระดักกระเดิก ครั้นกูจะปิดบังเณรเพื่อหน่วงเหนี่ยวชักนำไปทางอื่นก็จะเป็นโทษมากถึงอเวจี ควรกูจะต้องชี้ช่องนำมรรคาจึงจะชอบด้วยพระพุทธศาสนาตามแบบพระอรหันตาขีณาสพแต่ก่อนๆ ท่านได้กุลบุตรที่ดีมีสติปัญญาวิสาระทะแกล้วกล้า สามารถจะทำกิจพระศาสนาได้ตลอด ท่านก็มิได้ทิ้งทอดหวงห้ามกักขังไว้ ท่านย่อมส่งกุลบุตรนั้นๆไปสู่สำนักพระมหาเถระเจ้าซึ่งเชี่ยวชาญต่อๆ ไปเป็นลำดับจนตลอดกุลบุตรนั้นๆ ลุล่วงสำเร็จกิจตามประสงค์ทุกๆพระองค์มา ก็กาลนี้สามเณรโตเธอก็มีปรีชาว่องไว มีอุปนิสัยยินดีต่อพระบวรพุทธศาสนามากอยู่ ไม่ควรตัวกูเป็นอุปัชฌาย์อาจารย์จะทานทัดขัดไว้
ครั้นท่านดำริเห็นแจ่มแจ้งน้ำใจที่ถูกต้องตามคลองพระพุทธศาสนานิกมณฑลฉะนี้แล้ว ท่านจึงมีเถระบัญชาแก่สามเณรโตดังนี้
เออแน่ะ สามเณรโต ตัวกูนี้มีคัมภีร์มูล กูชอบและกูสอนกุลบุตรได้ตลอดทุกคัมภีร์ แต่กูก็มีแต่คัมภีร์มูลครบครัน เหตุว่ากูรักกูนิยม กูรวบรวมรักษาไว้ ถึงว่าจะขาดเรี่ยเสียหายกระจัดกระจายไป ก็จัดงานซ่อมแซมขึ้นไว้จึงเป็นแบบแผนพร้อมเพรียงอยู่ เพราะกูมีนิสัยรู้แต่เรื่องมูลและไวยากรณ์เท่านั้น แต่คัมภีร์ปริยัติธรรมนั้นเป็นของสุดวิสัยกู กูไม่ได้สะสมตำรับตำราไม่มีคัมภีร์ฎีกาอะไรไว้เลย ในตู้หอไตรเล่าก็มีแต่หอและตู้อยู่เปล่าๆ ถ้าหากว่ากูจะเที่ยวยืมมาแต่อารามอื่นๆ มาบอกมาสอนเธอได้บ้าง แต่กูไม่ใคร่จะไว้ใจตัวกู ก็คงบอกได้แต่ก็คงไม่ดี เพราะกูไม่สู้ชำนาญในคัมภีร์พระปริยัตินัก จะกักเธอไว้ ก็จะพาเธอโง่งมงายไปด้วย เพราะครูโง่ลูกศิษย์ก็ต้องโง่ตาม กูเองก็เป็นเพราะเหตุนี้จึงได้ยอมโง่ แต่ครั้นมาถึงเธอเข้าจะทำให้เธอโง่ตามนั้นไม่ควรแก่กู และว่าถ้าเธอมีศรัทธาอุตสาหะใคร่แท้ในทางเรียนคัมภีร์พระปริยัติศาสนาแน่นอนแล้ว กูจะบอกหนทางให้ กูจะแนะนำไปถึงท่านพระครูวัดเมืองไชยนาท ท่านพระครูเจ้าคณะพระองค์นี้ดีมาก ทั้งท่านก็คงแก่เรียน ทั้งเป็นผู้เอาใจใส่หมั่นตรวจตราสอบสวนศัพท์แสงถ้อยคำบาบาทพระศาสนาเสมอ ทั้งบอกพระบอกเณรเสมอ จึงเรียกว่ามีความรู้กว้างขวางทางคัมภีร์พระพุทธศาสนา อรรถฎีกาก็มีมาก ทั้งท่านเอาใจใส่ตรวจตรารวบรวมหนังสือไว้มาก ถึงนักปราชญ์ในกรุง ท่านก็ไม่หวั่นหวาดสยดสยอง
ถ้าเธอมีความอุตส่าห์จริงๆ เธอก็พยายามหาหนทางไปเรียนกับท่านให้ได้เธอจะรู้ธรรมดีทีเดียว
ฝ่ายสามเณรโตได้สดับคำแนะนำของท่านพระครูผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ดั่งนั้นเธอยิ่งมีกระสันเกิดกระหายใจใคร่เรียนรู้ จึงกราบลาท่านพระครู เลยเข้าไปบ้านอ้อนวอนมารดาและคุณตาโดยอเนกประการ เพื่อจำให้นำไปถวายฝากมอบกับท่านครูจังหวัด วัดเมืองไชยนาทบุรี
ฝ่ายคุณตาผล นางงุดโยมผู้หญิง ฝังสามเณรโตมาออดแอดอ้อนวอนก็คิดสงสารไม่อาจขัดขวางห้ามปรามได้ จึงได้รับคำสามเณรว่าจะนำจะพาไปฝากให้ ขอรอให้จัดเรือจัดคนขัดเสบียงอาการก่อนสัก ๒ วัน จะพาไป สามเณรโตได้ฟังก็ดีใจกลับมาสู่อารามเดิม
ครั้นรุ่งขึ้นเวลาเย็นๆ นางงุด ตาผลจึงออกไปกราบเรียนบอกความประสงค์สามเณรโตแก่ท่านพระครูสัดใหญ่ทุกประการ แล้วขอลาพาเณรไปส่งตามใจในวันรุ่งเช้าพรุ่งนี้ ท่านพระครูก็ยินดีอนุญาตตามประสงค์ ทั้ง ๒ ผู้ใหญ่นั้นก็ลากลับมาบ้านจัดเรือจัดคนจัดเสบียงอาการไว้พร้อมเสร็จจบริบูรณ์ ครั้นได้เวลารุ่งเช้าสามทเณรโตเข้าไปฉันที่บ้าน ครั้นฉันเช้าแล้วก็ลงเรือแขวออกไปทางแม่น้ำไชยนาทบุรี
(สิ้นข้อความในรูปภาพประวัติสมเด็จโตที่ฝาผนังฉากที่ ๒)
ทีนี้จะได้แปลจากรูปภาพที่ฝาผนังโบสถ์วัดอินทรวิหาร สมเด็จโต ท่านให้ช่างเขียนประวัติของท่าน เมื่อท่านได้ผ่านมาเรียนพระปริยัติธรรมในสำนัก ท่านพระครูหัวเมืองไชยนาทบุรี เจ้าของท่านเขียนไว้ดังนี้
เขียนท่าวัดเมืองไชยนาทบุรี เขียนเรือท่านจอดอยู่ที่ท่าวัด เขียนจรเข้ชึ้นทางหัวเรือของท่าน เขียนคนหัวเรือของท่านนอนหลับ เขียนคนที่สองตกใจตื่นลุกขึ้นโยงโย่ฉุดคนหัวให้ถอยเข้ามาเพื่อให้พ้นปากจรเข้ เขียนคนแจวคนที่สามนั่งไขว่ห้างหัวเราะ เขียนคนบนบ้าน ๓ คน แม่ลูกยายเหนี่ยวรั้งกันขึ้นบ้านเรือน กระโตงกระเตงกระต่องกระแต่งเพื่อหนีจรเข้ เขียนตาผลนายเรือออกมายืนตัวแข็งอยู่ที่อุดเรือ เขียนรูปสามเณรโตเรียนคัมภีร์กับท่านพระครูจังหวัด วัดเมืองไชยนาทบุรี
ผู้เรียบเรียงจึงอนุมาน สันนิษฐานตามลักษณะพร้อมกับเหตุผลแล้วแปลเป็นเรื่อง ความดังนี้
ครั้นคนแจว แจวเรือเป็ดมาสุดระยะทาง ๒ คืนก็ถึงท่าเรือวัดเมืองไชยนาทบุรี จึงได้จอดเรือเข้าที่ท่าในเวลากลางคืน คนแจวเรือจอดเรือเรียบร้อยแล้ว จึงอาบน้ำดำเกล้าแล้วพักนอนในเรือทั้ง ๓ คน
ครั้นเวลารุ่งเช้าสว่างแล้ว เจ้าจระเข้ใหญ่ในน่านน้ำท่านั้น ก็ขึ้นเสือกตัวมาตรงหัวเรือเป็ดของตาผลนั้น คนบนเรือริมตลิ่ง ๓ คน แม่ลูกหญิงผู้ใหญ่ลงอาบน้ำหน้าบันไดแต่เช้า ครั้นเห็นจระเข้ขึ้นจะคาบคนนอนหลับที่หัวเรือใหญ่ จึงพากันตกใจกลัว แล้วร้องบอกกล่าวกันโวยวายขึ้น คนแจวที่ ๒ นอนถัดเข้ามา ได้ยินเสียงคนบนบ้านเรือนนั้นร้องเอะอะโวยวายจึงตกใจตื่นขึ้น เห็นจระเข้ขึ้นที่ตรงหัวเรือลุกขึ้นโยงโย่จับบั้นเอวคนนอนหลับหัสเรือ เพื่อจะให้พ้นจากปากจะเข้ ส่วนคนแจวเรือคนที่ ๓ ก็ตื่นขึ้นนั่งไขว่ห้างหัวเราะ คนบนบ้านที่กำลังหนีจระเข้ขึ้นบันไดผ้าผ่อนหลุดลุ่ยล่อนจ้อน ลูกเด็กหญิงเหนี่ยวขาแม่ นางแม่เหนี่ยวขายาย ยายผ้าลุ่ยหมด ก้าวขาต่อไปก็ก้าวไม่ออก ตาผลอยู่ในเรือก็โผล่ออกมายืนดูอยู่หน้าเรืออุดเฉย จะว่าอย่างไรก็ไม่ว่าดูชอบกล
ฝ่ายสามเณรโตก็ลุกขึ้นนั่งภาวนาอยู่ในประทุนเรือ จระเข้ขึ้นมาแล้วก็อ้าปากไม่ออกจมก็ไม่ลง และไม่วาดไม่ฟาดหางทั้งนั้น ดูอาการอ่อนมาก คนบนบ้านก็งง คนในเรือก็งันอยู่ท่าเดียว
ครั้นเวลาเช้า โยมของสามเณรโต ก็จัดแจงหุงต้มอาหารอยู่ตอนท้ายเรือเป็ดนั้น ครั้นได้เวลาก็จัดแจงเลี้ยงดูกัน ถวายอาหารให้เณรขบฉันเสร็จแล้วพอถึงเวลา ๓ โมงเช้า ก็พาเณรขึ้นจากเรือ เณรเดินหน้า ตาผลตามเณร นางงุดโยมผู้หญิงพากันเดินตามเป็นแถว ขึ้นกุฏิท่านพระครู ครั้นถึงท่านพระครูแล้วต่างคนต่างปูผ้าลงกราบกันเป็นแถว เณรก็ยืนวันทาแล้วลงกราบท่านพระครูแล้วนั่ง
ฝ่ายท่านพระครูเจ้าวัดเมืองไชยนาทบุรี จึงมีปฏิสัณฐานปราศรัยไต่ถามถึงเหตุการณ์ที่มา ถามถึงบ้านช่อง และถามความประสงค์
ฝ่ายตาผลจึงกราบเรียนท่านว่า เณรหลานชายของเกล้ากระผม บวชอยู่ในสำนักท่านพระครูใหญ่ เจ้าคณะวัดใหญ่ ในเมืองพิจิตร ได้ร่ำเรียนบาลีไวยากรณ์ทั้ง ๕ คัมภีร์จบแล้ว เณรใคร่จะเรียนคัมภีร์ใหญ่ต่อไป จึงขอเรียนที่ท่านพระครูวัดใหญ่ แต่ท่านไม่เต็มใจสอนเณรและท่านพระครูวัดใหญ่ได้แนะนำเณรให้ได้มาสู่สำนักพระเดชพระคุณเพื่อเล่าเรียนคัมภีร์ใหญ่กับพระเดชพระคุณแล้วจะมีความรู้ดีกว่าเรียนกับท่านๆ แนะนำมาดังนี้ เณรดีใจเต็มใจใคร่เรียนในสำนักของพระเดชพระคุณ เณรจึงมารบเร้าเกล้ากระผมและมารดาเณร ขอร้องให้เกล้ากระผมเป็นผู้นำมาสู่สำนักพระเดชพระคุณ ในวันนี้เกล้ากระผมพร้อมด้วยมารดาเณร ขอถวายเณรให้เป็นศิษย์เรียนพระคัมภีร์กับพระเดชพระคุณต่อไป
ครั้นกล่าวสุดถ้อยคำแล้วจึงบอกให้เณรถวายดอกไม้ธูปเทียนต่อท่านพระครู ฝ่ายท่านพระครูผู้รู้พระปริยัติธรรมเมืองไชยนาทบุรี จึงรับเครื่องสักการะแล้ว พิจารณาดูเณรก็รู้ด้วยการพินิจพิจารณาว่า สามเณรนี้มีวาสนาบารมีธรรมประจำอยู่ สรรพอวัยวะก็สมบูรณ์โตพร้อมไม่บกพร่องต้องตามลักษณะ ท่านก็ออกวาจาว่า รูปจะช่วยแนะนำเสี้ยมสอนให้มีความรู้ในคัมภีร์ต่างๆ ตามวัยและภูมิของสามเณรดังที่โยมทั้ง ๒ ได้อุตส่าห์มาทางไกล ไม่เป็นไร รูปจะช่วยให้สมดังปรารถนาทุกประการ
ตอนที่ 4
ตาผลและนางงุดก็ดีใจ กราบไหว้แล้วมอบหมายฝากฝังทุกสิ่งอัน แล้วถวายกับปิยะจรรหรรมัจฉะมังสาหารทั้งปวงแล้ว พระสมุห์ของท่านก็เรียกคนมายกถ่ายทันที แล้วจัดห้องหับให้พักอาศัยสำราญ ตาผลและนางงุดก็ยกบริขารของสามเณรเข้าบันจุจัดปูอาศน์ เรียบเรียงตั้งไว้ตามตำแหน่งแห่งที่ แล้วออกมากราบลาท่านพระครูลงไปพักในเรือ ค้างคืนคอยปรนนิบัติสามเณรดูลาดเลา การอยู่การขบฉันบิณบาตรยาตรา เห็นว่าสะดวกดีไม่คับแค้นเดือดร้อน พอเป็นที่ไว้วางใจได้แล้ว จึงขึ้นนมัสการลาท่านพระครูกลับมายังบ้าน ณ แขวงเมืองพิจิตร
ตั้งแต่สามเณรโตได้เข้าสู่สำนักท่านพระครูวัดเมืองไชยนาทบุรีแล้ว เป็นปรกติก็หมั่นทำกรณียกิจตามหน้าที่และอนุโลมตามข้อกติกาไม่ฝ่าฝืนชะอ้อนอ่อนน้อมต่อพระลูกวัดมิให้ขัดอัชฌาสัย เพื่อนศิษย์เพื่อนเณรเหล่านั้นก็ประนีประนอมพร้อมหน้าไม่ไว้ท่า ไม่ถือตัว ไม่หัวสูง อดเอาเบาสู้ ระงับไม่หาเหตุแข่งดีกว่าเพื่อนไม่ส่อเสียดสอพลอพร่อย เรียบร้อยหงิบเสงี่ยมเจียมตัว หมั่นเอาใจใส่รับใช้ปฏิบัติท่านพระครูระแวดระวังหน้าหลัง ท่านมีกิจธุระจะไปไหน ก็จัดการสิ่งของที่จะต้องเอาไป ไม่เกี่ยงงอนเพื่อนศิษย์ เวลาท่านจะกลับ ก็รับรองเก็บงำสม่ำเสมอตลอดมา ครั้นถึงเวลาเรียนก็เข้าเรียน ถึงคราวฟังก็ฟัง ตั้งสติสัมปชัญญะ สำเหนียกสำเนาเสมอ เรียนแล้วจดจำตกแต้มกำหนดกฎหมาย กลางคืนก็เข้ารับโอวาทปริยายของท่านพระครู สิ่งใดที่ไม่รู้ก็ถาม รู้เท่าไม่ถึงความก็ซัก ที่ตรงไหนขัดข้องไม่ต้องกันก็หารือ ตามบาฬีที่มีมาในพระคัมภีร์นั้นๆ ถ้าบทไหนบาฐไหนเป็นนิรุติ ไม่ชอบด้วยเหตุผลไม่เข้ากัน เธอก็ยังไม่ลงมติไม่ถือเอาความคิดเห็นความรู้ของตนเป็นประมาณ ตั้งใจวิจารณ์จนเห็นถ่องแท้แน่นอนตามพระบาฬี ในธรรมบททีปะนี ทศะชาติ (๑๐ชาติ) สารตถ์ สามนต์ ฎีการโยชนาคัณฐี ในคัมภีร์พระไตรปิฎกธรรมนั้น ทุกสันทุกเวลาเรียนแปลเป็นภาษาลาวบ้าง แปลเป็นภาษาเขมรบ้าง แปลเป็นภาษาพม่าบ้างตามเวลา ครั้นล่วงมาได้ ๓ ปีเรียนจนถึงแปดปั้นบาฬี สามเณรโตไม่มีอุปสรรคกีดกั้น ไม่มีอาการเจ็บป่วยไข้สะดวกดีทุกเวลาทั้งไม่เบื่อไม่หน่าย นิยมอยู่แต่ที่จะหาความจริงซึ่งยังบกพร่องภูมิปัญญาอยู่ร่ำไป
ครั้นถึงเดือน ๑๒ ปีฉลู เบญจศก จุลศักราช ๑๑๕๕ สามเณรโตมีความกระหายใคร่จะล่องลงมาร่ำเรียนในสำนักราชบัณฑิตนักปราชญ์หลวงบ้าง ใคร่จะเข้าสู่สำนักพระเถระเจ้าผู้สูงศักดิ์อรรคฐานในกรุงเทพพระมหานครโดยความเต็มใจ
ครั้งสามเณรโต อายุได้ ๑๘ ปีย่าง ปลงใจแน่วแน่แล้วในการที่จะละถิ่นฐาน ญาติโยมได้จะทนทานในการอนาถาในกรุงเทพฯ ได้แน่ใจแล้ว จึงได้กราบกรานท่านพระครูจังหวัดบรรยายแถลงยกย่องพิทยาคุณและความรู้ของท่านพระครูเมืองไชยนาทบุรี พอเป็นที่ปลื้มปราโมทย์ปราศจากความลบหลู่ดูหมิ่น ด้วยระเบียบถ้อยคำอันดีพอสมควรแล้ว ขอลาว่าเกล้ากระผมขอถวายนมัสการลาฝ่าท้าวเพื่อจะลงไปสู่สำนักราชบัณฑิตย์ ผู้สูงศักดิ์อรรคฐานให้เป็นการเชิดชูเกียรติคุณของฝ่าท้าวให้แพร่หลายในกรุงเทพฯ ขอบารมีฝ่าท้าวจงกรุณาส่งเกล้ากระผมให้ถึงญาติโยม ณ แขวงเมืองพิจิตรด้วย
ฝ่ายท่านพระครูเจ้าคณะเมืองไชยนาทบุรีได้ฟัง ซึ่งมีความพอใจอยู่แล้วในการที่จะแสวงหาศิษย์ที่ดีมีสาระทะแกล้วกล้าองค์อาจ ฉลาดเฉลียวรอบรู้คัมภีร์ คิดจะส่งศิษย์อย่างดีเข้ากรุงเทพฯ เพื่อช่วยเผยแพร่ให้ความรู้และความดีของท่านนั้นโด่งดังปรากฏแพร่หลายไปในกรุงเทพฯ อนึ่งสามเณรองค์นี้ก็เป็นคนดี มีความรู้กอร์ปด้วยคติสติปัญญา ความเพียรก็กล้าไม่งอนง้อท้อถอยเลย หัวใจก็จดจ่ออยู่แต่การเล่าเรียนหาความรู้ดูฟังตั้งใจจริง ไม่เป็นคนโว่งมซมเซา พอจะเข้าเทียบเทียมเมธีที่กรุงเทพพระมหานครได้ ท่านพระครูเห็นสมควรจะอนุญาตได้ ท่านจึงกล่าวเถระวาทสุนทรกถา เป็นทางปลูกผูกอาลัยแก่สามเณรพอสมควรแล้ว ท่านก็ออกวาจาอนุญาตว่า “ดีแล้ว นิมนต์เถอะจ้ะ” เราขอรอผลัดจัดการส่งสัก ๓ วัน เพื่อเตรียมตัวเตรียมการส่งให้เป็นที่เรียบร้อยตามระเบียบแบบธรรมเนียมการ สามเณรก็กราบถวายนมัสการลามายังกุฏิที่อยู่ แล้วก็จัดการตระเตรียมเก็บสรรพสิ่งเครื่องอุปโภคต่างๆ ส่งคืนเข้าที่ตามเดิม คัมภีร์ที่ยังเรียนค้างอยู่ก็ทำใบยืมๆ ไปเรียนต่อไป สิ่งของที่เหลือบริโภคอุปโภคแล้ว ก็แบ่งปันถวายเพื่อนสามเณรที่อยู่ที่เคยเป็นเพื่อนกันไว้ใช้สรอยพอเป็นทางผูกอาลัยทำไมตรี
ครั้นเวลารุ่งเช้าแล้ว สามเณรโตก็ออกพายเรือสามปั้นบิณฑบาตไปถึงบ้านที่สุดเหนือน้ำและใต้น้ำ สามเณรก็บอกกล่าวล่ำลาแก่ญาติโยมอุปฐากและที่ปวารณาและผู้ที่มีวิสาสะทั่วหน้ากันทั้งสองฝั่ง ที่อยู่บ้านดอนขึ้นไปก็บอกลาฝากขึ้นไปทั่วกัน
ฝ่ายเจ้าพวกเด็กๆ ลูกศิษย์วัดทั้งปวงรู้ว่าหลวงพี่เณรของเขาจะลงไปอยู่บางกอก พวกเด็กทั้งหลายก็พากันเสียดาย ใจเขาหาย เขาทำได้แต่หน้าแห้ง ทำตาแดงๆ เหตุเขามีความคุ้นเคยรักใคร่อาลัยหลวงพี่สามเณรโต เขาเคยกินอยู่สำราญด้วยอาหารเกิดทวีขึ้น เพราะอำนาจบารมีศีลธรรมของสามเณรโต จนเข้าของแปลกประหลาดเหลือเฟือเอื้อเอาใจเขามาช้านานประมาณ ๓ ปีล่วงมา
ฝ่ายแม่รุ่นสาวๆ คราวกันกับพ่อเณร ซึ่งมีใจโอนเอนไปข้างฝ่ายรัก ก็ทำอึกอักผะอืดผะอมกระอักกระอ่วนรัญจวนใจ ด้วยพ่อเณรเธอจะไปอยู่ไกลถึงบางน้ำบางกอก ต่างก็อั้นอันอ้นจนใจไม่อาจออกวาจาห้ามปรามเพราะความอาย รักก็รักเสียดายก็เสียดาย ทั้งความยึดถือมุ่งหมายก็ยังมีอยู่มั่นคงจงใจ ทั้งเกรงผู้หลักผู้ใหญ่จะล่วงรู้ดูแคลน แสนกระดากทำกระเดื่องชำเลืองโฉมพ่อเณรโต แอบโผล่หน้าต่างตามมองแลรอดสอดตามช่องรั้วหัวบ้านแลจนลับนัยน์ตา เสียวซ่านถึงโสกาเช็ดน้ำตาอยู่ก็มี
ฝ่ายพวกเด็กๆ พอกลับถึงวัด เขาก็ตะโกนบอกเพื่อนกันว่า ต่อแต่วันนี้พวกเราจะอดกันละโว้ยๆ
ครั้นพระเณรฉันเช้าแล้ว ท่านพระครูเจ้าคณะจังหวัดจึงเรียกพระปลัดพระสมุห์มาสั่งการว่า แนะพระปลัดจ๋า พรุ่งนี้เธอต้องสั่งเลขวัด ให้เขาจัดเรือเก๋ง ๔ แจว คนแจวประจำพร้อมและจัดเสบียงทางไกลให้พร้อมมูลด้วย ให้พอเลี้ยงกันทั้งเวลาไปและมาด้วย ส่วนเธอและพระสมุห์ช่วยพาสามเณรโตเข้าไปส่งให้ถึงญาติโยมเณร ณ เมืองพิจิตรในวันรุ่งพรุ่งนี้แทนตัวดิฉันด้วย พรุ่งนี้มารับจดหมายส่งของฉันก่อน
ฝ่ายพระปลัด ๑ พระสมุห์ ๑ รับเถระบัญชาแล้วออกมาเรียกร้องกะเกณฑ์เลขวัดสั่งให้จัดเรือจัดเสบียงให้พร้อมทั้งเครื่องต้มเครื่องแกง หม้อน้อยหม้อใหญ่ กระทะ ข้าวเหนียว น้ำตาล มาขามเปียก พริกสด พริกแห้ง หอมกระเทียม ขิง ข่า กระทือ พริกไท ให้พร้อมไว้ เวลาเที่ยงมาแล้วจอดไว้ที่ท่าวัดนี้ตามที่ท่านพระครูสั่ง
ครั้นรุ่งขึ้นวันที่ ๓ พระปลัดฉันเช้าแล้วเข้าหาท่านพระครู รับจดหมายแล้วกราบลาออกมา แล้วนัดหมายพระสมุห์และนัดสามเณรโตว่าเที่ยงแล้วลงเรือพร้อมกัน ครั้นถึงเวลาฉันเพลแล้ว ขอแรงศิษย์วัดและเพื่อนเณร ๒-๓ คน ช่วยขนขนบบริขารหีบ ตะกร้า กระเช้า กระบุงที่บรรจุของสามเณรโตลงท่าวัดพร้อมกัน สามเณรโตก็เข้าไปสักการวันทาลาท่านพระครูด้วยความเคารพ
ส่วนท่านพระครูก็ประสิทธิ์ประสาทพรให้วัฒนาถาวรภิญโญภาวะยิ่ง ให้สัมฤทธิ์สมความมุ่งหมาย จงทุกสิ่งทุกประการเทอญ
ครั้นเวลาเที่ยงทุกสิ่งทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว พระปลัด พระสมุห์ และสามเณรโต พร้อมคนแจวเรือก็ลงเรือ ได้เวลาบ่ายโมงก็ออกเรือทางแม่น้ำ บ่ายหัวเรือไปเมืองพอจิตรในวันนั้น
ครั้นแจวมา ๒ คืนก็ถึงท่าบ้านสามเณรโต ฝ่ายตาผล ยายลา นางงุด เห็นเรือเป็นเก๋งมาจอดท่าหน้าบ้าน ต่างก็ออกมาดู รู้ว่าท่านปลัด ท่านสมุห์และสามเณรโตมา ก็ดีใจลงไปในเรือต้อนรับและนิมนต์ขึ้นเรือน แล้วขึ้นมาปูอาศน์ ตักน้ำเย็น ต้มน้ำร้อน จัดเภสัชเพลายาสูบใส่พานแล้ว ครั้นพระปลัด พระสมุห์ สามเณรขึ้นมาอาราธนาที่หอนั่ง ประเคนหมาก น้ำ ยาสูบ แล้วก็กราบ
ครั้นพระปลัดเห็นเจ้าบ้านนั่งปรกติเรียบราบแล้วจึงปฏิสันฐาน และนำจดหมาย ของท่านพระครูเมืองไชยนาทบุรี ส่งให้ตาผลๆ รับมาอ่านได้ทราบความตลอดแล้วด้วยความพอใจ เมื่อสนทนาเสร็จจึงพาพระปลัด พระสมุห์และสามเณรออกไปยังวัดใหญ่ เมืองพิจิตรทราบ
ครั้นท่านพระครูอ่านดูรู้ข้อความตลอดแล้ว ก็เห็นดี เห็นชอบด้วย ตกลงก็เห็นดีเห็นงามด้วยกันทั้งครูอาจารย์และคณะยาติโยมพร้อมใจกันหมด ครั้นได้เวลา พระปลัด พระสมุห์ ตาผลและนางงุดก็ลาท่านพระครูใหญ่กลับมาบ้าน แล้วก็จัดแจงอาหารเลี้ยงพระเลี้ยงเณร และคนแจวเรือจนอิ่มหนำสำราญแล้วทั้ง ๓ เวลา ส่วนพระปลัดและพระสมุห์เมื่อได้ทำสิ่งที่ได้รับมอบหมายมาเสร็จและสมควรแก่เวลา ก็ลาเจ้าล้านๆ ก็จัดการส่งพระปลัดและพระสมุห์ให้กลับไปยังวัดเมืองไชยนาทบุรี
ส่วนทางบ้านเมื่อได้กำหนด นางงุดก็จัดเรือจัดคนจัดลำเลียงสเบียงอาหารจัดของแจกให้ของฝากชาวกรุงเทพฯ ทั้งของถวาย ของกำนัลท่านผู้ใหญ่ในกรุงเทพฯ ลงบรรทุกในเรือเรียบร้อยเสร็จแล้ว ก็เกณฑ์ตาผลให้เป็นผู้นำพร้อมด้วยคนแจวส่งสามเณรไปกรุงเทพฯ แต่ต้องให้แวะนมัสการบูชาพระพุทธชิณราชในวันกลางเดือน ๑๒ นี้ก่อน และพ่อต้องอ้อนวอนขอหลวงพ่อชิณราชให้ช่วยคุ้มครองกำกับรักษาส่งพ่อเณรอย่าให้มีเหตุการณ์ และอย่าให้ป่วยไข้ได้เจ็บอย่าให้มีภัยอันตราย ตั้งแต่วันนี้จนตราบเท่าจนเฒ่าจนแก่ และขอให้เณรร่ำเรียนลุสำเร็จจงทุกสิ่งทุกประการ กับขอบารมีหลวงพ่อชิณราชช่วยปกป้องกันศัตรูหมู่อันธพาล อย่าผจญและอย่าเบียดเบียนพ่อเณรได้ ขอพ่อจงแวะไหว้บูชาอ้อนวอนว่าตามคำสั่งข้านี้อย่าหลงลืมเลย
ฝ่ายตาผลรับคำลูกสาวแล้ว ก็ลงเรือออกเรือจากท่าหน้าบ้าน และให้แจวออกทางแม่น้ำพิษณุโลก ล่องมาหลายเพลาก็มาถึงวัดพระชิณราชในวันขึ้น ๑๔ เดือน ๑๒ ปีฉลู เบญจศก จุลศักราช ๑๑๕๕ ปีนั้น
ครั้น ณ วันที่ ๑๕ ค่ำเดือน ๑๒ ศกนั้น ตาผลนิมนต์สามเณรโตขึ้นไปโบสถ์พระชินราช เดินปทักษิณรอบแล้ว เข้านมัสการทำสักการะบูชา สามเณรยืนขึ้นวันทาแล้วตั้งสักการะ โดยสักกัจจะเคารพแก่พระพุทธชิณราช ตาผลจึงพร่ำพรรณาถวายเณรแก่พระชิณราชและวิงวอนขอฝาก ขอความคุ้มครองป้องกัน ขอให้พระพุทธชิณราชบันดาลดลส่งเสริมแก่สามเณรตามคำนางงุดโยมของเณรสั่งมาทุกประการ
ครั้นทำการเคารพสักการบูชาแก่พระพุทธชิณราชเสร็จแล้ว ก็กราบลาพาสามเณรโตมาลงเรือแจวล่องมา ๒ คืนก็ถึงหน้าท่าวัดบางลำภูบน กรุงเทพฯ ตอนเวลาเช้า ๒ โมง แรม ๒ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีฉลู เบญจศก จุลศักราช ๑๑๕๕ เป็นปีที่ ๑๒ ในรัชกาลที่ ๑ กรุงเทพพระมหานคร
ตาผลชาวเมืองกำแพงเพชร ซึ่งถอยลงมาตั้งถิ่นฐานภูมิลำเนาอยู่เหนือเมืองพิจิตรได้นำสามเณรโตผู้หลานอันเป็นลูกของนางงุดลูกสาว สามเณรโตนั้นมีอายุย่างเข้า ๑๘ ปี ตาผลผู้เป็นตา จึงได้นำพาสามเณรโตขึ้นไปมอบถวายพระอาจารย์แก้ววัดบางลำภูบน พระนคร ตาผลได้เล่าถึงการเรียนของสามเณรโตจนกระทั่งถึงท่านพระครูจังหวัดเมืองเหนือทั้ง ๒ อาราม มีความเห็นชอบพร้อมกันที่จะให้ลงมากรุงเทพ เกล้ากระผมจึงได้นำสามเณรโตมาสู่ยังสำนักของหลวงพ่อ เพื่อหลวงพ่อจะได้ทำนุบำรุงชี้ช่องนำทาง ให้สามเณรดำเนินหาคุณงามความดีมีความรู้ยิ่งในพระมหานครสืบไป
ฝ่ายพระอาจารย์แก้วทราบพฤติการณ์ ตามที่ตาผลเล่า ก็เกิดความเชื่อ และเลื่อมใสในสามเณรโต และมีความเห็นพ้องด้วยกับท่านพระครูทั้ง ๒ จังหวัด สมจริงดังที่พยากรณ์ไว้แต่ยังนอนแบเบาะ และได้รับเป็นลูกไว้ จึงนึกขึ้นได้ถึงเงินที่ได้ลั่นวาจาว่าจะจ้างแม่มันเลี้ยงปีละ ๑๐๐ บาท ๓ ปีหย่านมเป็นเงินค่าจ้าง ๓๐๐ บาท จึงให้ศิษย์ที่เป็นไวยาวัจจกรหยิบเงินมา ๓๐๐ บาท ส่งมอบให้ตาผลเพื่อฝากไปใช้ให้นางงุดเป็นค่าน้ำนมข้าวป้อน ๓ ปี เงิน ๓๐๐ บาท
ตาผลน้อมคำรับเอาเงิน ๓๐๐ บาท มากำไว้สักครู่ เมื่อจวนจะลากลับ จึงพร่ำพรรณนามอบฝากเณรโดยอเนกประการ แล้วถวายเงิน ๓๐๐ บาทนั้นคืนหลวงพ่อแก้ว แล้วถวายอีก ๑๐๐ บาทเป็นค่าบำรุงเณรสืบไป แล้วก็ลาท่านอาจารย์แก้วไปเยี่ยมญาติพี่น้อง ณ บางขุนพรหมต่อไป
ฝ่ายพระอาจารย์แก้ว จึงจัดห้องหับให้สามเณรอยู่บนหมู่คณะวัดบางลำพูบนวันนั้นมา เวลาเช้าก็ลุกขึ้นบิณฑบาตร และสำรับกับข้าวของฉันในคณะอาจารย์แก้วนั้นอุดมล้นเหลือไม่บกพร่อง ทั้งบารมีศีลและธรรมที่สามเณรโตประพฤติดี ก็บันดาลให้มีผู้ขึ้นถวายเช้าและเพลและที่ปวารณาก็กลายเป็นโภชนะสับบายของโยคะบุคคลทุกเวลา
ฝ่ายพระอาจารย์แก้วเมื่อเห็นเวลาฤกษ์ดีแล้ว จึงได้นำสามเณรโตไปฝากพระโหราธิบดี, พระวิเชียร กรมราชบัณฑิต ให้ช่วยแนะนำสั่งสอนสามเณรให้มีความรู้ดีในคัมภีร์ พระปริยัติธรรมทั้ง ๓ ปิฎก พระโหราธิบดี, พระวิเชียรก็รับและสอนตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา
พระโหราธิบดี พระวิเชียร อยู่บ้านหลังวัดบางบำภูบน เสมียนตราด้วงบ้านบางขุนพรหม ท่านขุนพรหมเสนา บ้านบางขุนพรหม ปลัดกรมนุท บ้านบางลำภูบน เสมียนบุญและพระกระแสร ทั้ง ๗ ท่านนี้เป็นคนมั่งคั่งหลักฐานทั้งมีศรัทธาความเชื่อมั่นในบวรพุทธศาสนา เมื่อได้เห็นจรรยาอาการของสามเณรโต และความประพฤติดี หมั่นเรียนเพียรมาก ปากคอลิ้นคางคล่องแคล่วไม่ขัดเขินเคร่งครัดดี รูปร่างกายก็ผึ่งผายองอาจ ดูอาการมิได้น้อมไปทางกามคุณ มรรยาทเณรก็ละมุนละม่อม เมื่อร่ำเรียนธรรมะในคัมภีร์ไหนก็เอาใจใส่ไต่ถามให้รู้ลักษณะ จะเดินประโยคอะไร ก็ถูกต้องตามในรูปประโยคแบบอย่าง ถูกใจอาจารย์มากกว่าผิด ท่านทั้ง ๗ คนดั่งออกนามมานี้พร้อมกันเข้าเป็นโยมอุปฐากช่วยกันอุปถัมภ์บำรุง หมั่นไปมาหาสู่ที่สัดบางลำพูเสมอ และสัปปรุษอื่นๆ ต่างก็เลื่อมใสใส่บาตร์อย่างบริบูรณ์ บางคนก็นิมนต์แสดงธรรมเทศนา ถึงฤดูหน้าเทศน์มหาชาติตามวัดแถวนั้น คนก็ชอบนิมนต์สามเณรโตเทศน์ หิมพานบ้าง เทศน์ทานกัณฑ์บ้าง เทศน์วันประเวศน์บ้าง เทศน์ชูชกบ้าง เทศน์จุลพนบ้าง เทศน์มหาพนบ้าง เทศน์กุมารบรรพบ้าง เทศน์มัทรีบ้าง เทศน์สักกะบรรพบ้าง เทศน์มหาราชบ้าง เทศน์ฉกษัตริย์บ้าง เทศน์นครกัณฑ์บ้าง ตกลงเทศน์ได้ถูกต้องทั้ง ๑๓ กัณฑ์ ทำเสียงเล็กแหลมก็ได้ ทำเสียงหวานแจ่มใสก็ได้ ทำเสียงโฮกฮากก็ได้ กลเม็ดมหาพนและแหล่สระแหล่ราชสีห์ ว่ากลเม็ดแพรวพราว ที่หยุดที่ไป ที่หายใจขึ้นลงเข้าออกสนิททุกอย่างทุกกัณฑ์ กระแสเสียงเสนาะน่าฟังทุกกัณฑ์ ทำนองเป็นหมดไม่ว่ากัณฑ์อะไรเทศน์ได้ทุกกัณฑ์ จังหวะก็ดีเสมอ แต่สามเณรโตมิได้มัวเมาหลงใหลในการรวยเรื่องเทศนามหาชาติ และมิได้มัวเมาหลงใหลด้วยอุปัฏฐากมาก เอาใจใส่แต่การเรียนการปฏิบัติทางเพลิดเพลินเจริญสมณธรรมเป็นเบื้องหน้า จึงได้เป็นที่รักที่นับถือของท่านโหราธิบดี, พระวิเชียร, เสมียนตราด้วง, ปลัดกรมนุท, ขุนพรหมเสนา, และท่านขรัวยายโหง, เสมียนบุญ, พระกระแสร, ท่านยายง้วน และใครต่อใครอีกเป็นอันมากจนจดไม่ไหว
ครั้นถึงเดือนห้า ปีขาล ฉศก จุลศักราช ๑๑๕๖ เป็นปีที่ ๑๓ ในรัชกาลที่ ๑ กรุงเทพพระมหานครฯ พระชนมายุกาลแห่งสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ย่างขึ้นได้ ๒๘ พรพรรษาโดยจันทรคตินิยม อายุสามเณรโตก็ได้ ๑๘ ปีบริบูรณ์ในเดือน ๕ ศกนั้น
จึงท่านพระโหราธิบดี, พระวิเชียร, เสมียนตราด้วง ได้พิจารณาเห็นกิริยาท่าทาง และจรรยาอาการสติปัญญาอย่างเยี่ยมแปลกกว่าที่เคยได้เห็นมาแต่ก่อน ทั้งมีรัดประคดหนามขนุนคาดด้วย จะทักถามและพยากรณ์เองก็ใช่เหตุ จึงปรึกษาเห็นตกลงพร้อมกันว่าควรจะนำเข้าถวายตัวแด่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรให้ได้ทรงทอดพระเนตร อนึ่งพระองค์ท่านก็ทรงโปรดพระและเณรที่ร่ำเรียนรู้ในธรรมทั้ง ๒ คือ คัณถธุระและวิปัสสนาธุระ บางทีพ่อเณรมีวาสนาดีก็อาจจะเป็นพระหลวง เณรหลวงก็ได้ ครั้นท่านขุนนางทั้ง ๓ ปฤกษาตกลงเห็นพร้อมใจกันแล้ว จึงแนะนำให้สามเณรโตให้รู้ตัวว่า จะนำเข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ในวันเดือน ๕ ขึ้น ๕ ค่ำ ศกนี้เป็นแน่
ฝ่ายสามเณรรู้ตัวแล้ว จึงเตรียมตัวสุผ้าย้อมผ้า และสุย้อมรัดประคดหนามขนุนของโยมผู้หญิงให้มานั้น ซึ่งโยมผู้หญิงกระซิบสั่งสอนเป็นความลับกำกับมาด้วย ฟอกย้อมรัดประคดสายนั้นจนใหม่เอี่ยมดี
ครั้นถึงวันกำหนด จึงพระโหราธิบดี, พระวิเชียร, และเสมียนตราด้วงได้ออกมาที่วัดบางลำภู เรียนกับท่านอาจารย์แก้ว ให้รู้ว่าจะพาสามเณรโต เข้าเฝ้าถวายตัวแด่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรฯ พระอาจารย์แก้วก็อนุมัติตามใจแล้วท่านจึงเรียกสามเณรโต มาซ้ำร่ำสอนทางขนบธรรมเนียมเดินนั่ง พูดจากับจ้าวใหญ่นายโตใช้ถ้อยคำอย่างนั้นๆ เมื่อจะทรงถามอะไรมาก็ให้มีสติระวังระไว พูดมากเป็นขี้เมาก็ใช้ไม่ได้ พูดน้อยจนต้องซักต่อก็ใช้ไม่ได้ ไม่พูดก็ใช้ไม่ได้ พูดเข้าตัวก็ใช้ไม่ได้ จงระวังตั้งสติสัมปชัญญะไว้ในถ้อยคำของตน เมื่อพูดอย่าจ้องหน้าตรงพระพักตร์ เมื่อพูดอย่าเมินเหม่ไปทางอื่น ตั้งอกตั้งใจเพ็ดทูลให้เหมาะถ้อยเหมาะคำ ให้ชัดถ้อยชัดคำ อย่าหัวเราะ อย่าตกใจ อย่ากลัว อย่ากล้า จงทำหน้าให้ดี อย่ามีความสะทกสะท้าน จงไปห่มผ้าครองจีวรให้เรียบร้อย ไปกับคุณพระเดี๋ยวนี้
สามเณรโตน้อมคำนับรับเถโรวาทใส่เกล้าแล้ว ไปห้องครองผ้า คาดรัดประคดเสร็จแล้ว จุดธูปเทียนอาราธนาพระบริกรรมภาวนาประมาณอึดใจหนึ่ง แล้วก็ออกเดินมาหาพระโหราธิบดี พระวิเชียร เสมียนตราด้วง ท่านทั้ง ๓ จึงนมัสการลาพระอาจารย์แก้ว แล้วพาสามเณรโตลงเรือแหวด ๔ แจว คนแจวก็ล่องลงมาจอดที่ท่าตำหนักแพหน้าพระราชวังเดิม แล้วนำพาสามเณรขึ้นไปบนท้องพระโรงในพระราชวังเดิม ณ ฝั่งธนบุรีใต้วัดระฆังนั้น
ฝ่ายพนักงานหน้าท้องพระโรง นำความขึ้นกราบทูลว่า พระโหราธิบดี พาสามเณรมาเฝ้า จึงเสด็จออกท้องพระโรง ทรงปราศรัยทักถามพระโหราธิบดี พระวิเชียร และเสมียนตราด้วงแล้ว ได้ทรงสดับคำพระโหราธิบดีกราบทูลเสนอคุณสมบัติของสามเณรขึ้นก่อน เพื่อให้ทรงทราบ
จึงทอดพระเนตรสามเณรโต ทรงเห็นสามเณรโตเปล่งปลั่งรังสีรัศมีกายออกงามมีราษี เหตุด้วยกำลังอำนาจศีละคุณ สมาธิคุณ ปัญญาคุณหากอบรมสมกับผ้ากาสาวพัตร์ และมีรัดประคดหนามขนุน อย่างของขุนนางนายตำรวจใหญ่ คาดเป็นบริขารมาด้วย
ตอนที่ 5
สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงฯ พระองค์นั้น ทรงพระเกษมสันต์โสมนัสยิ่งนัก จึงเสด็จตรงเข้าจับมือสามเณรโตแล้วจูงให้มานั่งพระเก้าอี้เคียงพระองค์ แล้วทรงถามว่าอายุเท่าไรฯ ทูลว่า ขอถวายพระพรอายุได้ ๑๘ เต็มในเดือนนี้ฯ ทรงถามว่า เกิดปีอะไรฯ ทูลว่า ขอถวายพระพรเกิดปีวอกอัฐศกฯ รับสั่งถามว่า บ้านเกิดอยู่ที่ไหนฯ ทูลว่าขอถวายพระพรฯ บ้านเดิมอยู่ใต้เมืองกำแพงเพชร แล้วย้ายลงมาตั้งบ้านอยู่เหนือเมืองพิจิตร ขอถวายพระพรฯ รับสั่งถามว่า โยมผู้ชายชื่ออะไรฯ ทูลว่า ขอถวายพระพร ไม่รู้จักฯ รับสั่งถามว่า โยมผู้หญิงชื่ออะไรฯ ทูลว่า ขอถวายพระพร ชื่อแม่งุดฯ รับสั่งถามว่า ทำไมโยมผู้หญิงไม่บอกตัวโยมผู้ชายให้เจ้ากูรู้จักบ้างหรือฯ ทูลว่า โยมผู้หญิงเป็นแต่กระซิบบอกว่าเจ้าของรัดประคดนี้เป็นเจ้าคุณแม่ทัพขอถวายพระพร
ครั้นทรงได้ฟัง ตระหนักพระหฤทัยแล้ว ทรงพระปราโมทย์เอ็นดูสามเณรยิ่งขึ้น จึงทรงรับสั่งทึกทักว่า แน่ะ คุณโหรา เณรองค์นี้ ฟ้าจะทึกเอาเป็นพระโหรานำช้างเผือกเข้ามาถวาย จงเป็นเณรของฟ้าต่อไป ฟ้าจะเป็นผู้อุปถัมภ์บำรุงเอง แต่พระโหราต้องเป็นผู้ช่วยเลี้ยงช่วยสอนแทนฟ้า ทั้งพระวิเชียรและเสมียนตราด้วง ช่วยฟ้าบำรุงเณร เณรก็อย่าสึกเลยไม่ต้องอนาทรอะไร ฟ้าขอบใจพระโหรามากทีเดียว แต่พระโหราอย่าทอดธุระทิ้งเณรช่วยเลี้ยง ช่วยสอนต่างหูต่างตาช่วยดูแลให้ดีด้วย และเห็นจะต้องย้ายเณรให้มาอยู่กับสมเด็จพระสังฆราชมี จะได้ใกล้ๆ กับฟ้า ให้อยู่วัดนิพพานารามจะดี (วัดนิพพานาราม คือวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์เดี๋ยวนี้)
ครั้นรับสั่งแล้ว จึงทรงพระอักษรเป็นลายพระราชหัตถเลขามอบสามเณรโตแก่สมเด็จพระสังฆราช (มี) แล้วส่งลายพระราชหัตถเลขานั้นมอบพระโหราธิบดีให้นำไปถวาย พระโหราธิบดีน้อมเศียรคำนับรับมาแล้วกราบถวายบังคมลา ทั้งพระวิเชียรและเสมียนตราด้วง สามเณรโตก็ถวายพระพรลา แล้วก็เสด็จขึ้น
ฝ่ายขุนนางทั้ง ๓ ก็พาสามเณรลงเรือแจวข้ามฟากมาขึ้นท่าวัดมหานิพพานารามตามคำสั่ง พาเณรเดินขึ้นบนตำหนักสมเด็จพระสังฆราช (มี) ครั้นพบแล้วต่างถวายนมัสการ พระโหราธิบดีก็ทูลถวายลายพระราชหัตถเลขาแก่สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ คลี่ลายพระหัตถออกอ่านดูรู้ความในพระกระแสรับสั่งนั้นแล้ว จึงรับสั่งให้พระครูใบฎีกาไปหาตัวพระอาจารย์แก้ว วัดบางลำภูบน ซึ่งเป็นเจ้าของสามเณรเดิมนั้นขึ้นมาเฝ้า ครั้นพระอาจารย์แก้วมาถึงแล้วจึงรับสั่งให้อ่านพระราชหัตถ์เลขา พระอาจารย์แก้วอ่านแล้วทราบว่าพระยุพราชนิยมก็มีความชื่นชอบ อนุญาตถวายเณรให้เป็นเณรอยู่วัดนิพพานารามต่อไป ได้รับนิสัยแต่สมเด็จพระสังฆราชด้วยแต่วันนั้นมา
สามเณรโตนั้นก็อุตส่าห์ทำวัตรปฏิบัติแก่สมเด็จพระสังฆราชเจ้า และเข้าเรียนคัมภีร์พระปริยัติธรรม จนทราบสันธวิธีของสมเด็จพระสังฆราชเจ้าจนชำนิชำนาญดี และเรียนกับพระอาจารย์เสมวัดนิพพานารามอีกอาจารย์หนึ่งด้วย
ครั้นถึงเดือน ๖ ปีมะเส็ง นพศก จุลศักราช ๑๑๕๙ เป็นปีที่ ๑๖ ในรัชกาลที่ ๑ กรุงเทพพระมหานครฯ จึงสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ทรงพระคำนวณปีเกิดของสามเณรโต เป็นกำหนดครบ ๒๑ ปีบริบูรณ์ ควรอุปสมบทได้แล้ว จึงรับสั่งให้พระโหราธิบดีกับเสมียนตราด้วงมาเฝ้า แล้วทรงรับสั่งโปรดว่า พระโหราฯต้องไปบวชสามเณรโตแทนฟ้า ต้องบวชที่วัดตะไกร เมืองพิษณุโลก แล้วทรงมอบกิจการทั้งปวงแก่พระโหราธิบดี พร้อมทั้งเงินที่จะใช้สอย ๔๐๐ บาท ทั้งเครื่องบริกขารพร้อม และรับสั่งให้ทำขวัญนาค เวียนเทียนแต่งตัวนาคอย่างแบบนาคหลวง การซู่ซ่าแห่แหนนั้นอนุญาตตามใจญาติโยมและตามคติชาวเมือง แล้วรับสั่งให้เสมียนตราด้วงแต่งท้องตราบัวแก้วขึ้นไปวางให้เจ้าเมืองพิษณุโลก ให้เจ้าเมืองเป็นธุระช่วยการบวชนาคสามเณรโต ให้เรียบร้อยดีงาม ตลอดทั้งการเลี้ยงพระเลี้ยงคน ให้อิ่มหนำสำราญทั่วถึงกัน กับทั้งให้ขอแรงเจ้าเมืองกำแพงเพชร เจ้าเมืองพิจิตร เจ้าเมืองพิชัยและเจ้าเมืองไชยนามบุรี ให้มาช่วยกันดูแลการงาน ให้เจ้าเมืองพิษณุโลกจัดการงานในบ้านในจวนนั้นให้เรียบร้อยและให้ได้บวชภายในข้างขึ้นเดือน ๖ ปีนี้ แล้วแต่จะสะดวกด้วยกันทั้งฝ่ายญาติโยมของเณร
รับสั่งให้สังฆการีในพระราชวังบวรวางฎีกาอาราธนาสมเด็จพระวันรัต วัดระฆังให้ขึ้นไปบวชนาคที่วัดตะไกร ให้ขึ้นไปแต่ข้างขึ้นอ่อนๆ ให้สำเร็จกิจบรรพชาอุปสมบทภายในกลางเดือน ให้ไปนัดหมายการงานต่อเจ้าเมืองพิษณุโลกพร้อมด้วยญาติโยมของเณร และตามเห็นดีของเจ้าเมืองด้วย
พระโหราธิบดี เสมียนตราด้วง รับพระกระแสรับสั่งแล้วถวายบังคมลาออกมาจัดกิจการตามรับสั่งทุกประการ
ฝ่ายข้างญาติโยมของสามเณรโต ทราบพระกระแสร์รับสั่งแล้ว จึงจัดเตรียมเข้าของไว้พร้อมสรรพ แล้วไปนิมนต์ท่านพระอาจารย์แก้ววัดบางลำพูบนให้เป็นพระกรรมวาจาจารย์ รับขึ้นไปพร้อมด้วยตน แล้วนิมนต์ท่านเจ้าอธิการวัดตะไกรเป็นอนุสาวนาจารย์ จะเป็นวัดไหนก็แล้วแต่สมเด็จพระอุปัชฌาย์จะกำหนดให้ และเผดียงพระสงฆ์อันดับ ๒๕ รูป ในวัดตะไกรบ้าง วัดที่ใกล้เคียงบ้าง ให้คอยฟังกำหนดวันที่สมเด็จพระอุปัชฌาย์จะกำหนดให้
ฝ่ายพระโหราธิบดี เสมียนตราด้วง จึงจัดเรือญวนใหญ่ ๖ แจว ๑ ลำ เรือญวนใหญ่ ๘ แจว ๑ ลำ, เรือครัว ๑ ลำ คนแจวพร้อม และจัดหาผ้าไตรคู่สวดอุปัชฌาย์ จัดเทียนอุปัชฌาย์คู่สวด จัดเครื่องทำขวัญนาคพร้อมผ้ายก ตาลอมพอก แว่น เทียน ขันถม ผ้าคลุม บายศรี เสร็จแล้ว เอาเรือ ๖ แจว ไปรับสมเด็จพระวันรัต ลาเณรจากสมเด็จพระสังฆราช แล้วนำมาลงเรือ ๖ แจว ส่วนพระโหราธิบดี เสมียนตราด้วง ไปลงเรือ ๘ แจว
เรือสมเด็จพระวันรัตและสามเณรโต เรือพระโหราธิบดี เสมียนตราด้วง ออกเรือแจวขึ้นไปทางแม่น้ำเจ้าพระยา ตามกันเป็นแถวขึ้นไปรอนแรมค้างคืนตามหนทางล่วงเวลา ๒ คืน ๒ วัน ก็ถึงเมืองพิษณุโลก ตรงจอดที่ที่หน้าจวนพระยาพิษณุโลก เสมียนตราด้วงจึงขึ้นไปเรียนท่านผู้ว่าราชการเมืองให้เตรียมตัวรับท้องตราบัวแก้ว และรับรองเจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัตวัดระฆังตามพระกระแสรับสั่ง
ครั้นท่านพระยาพิษณุโลกทราบแล้ว จึงจัดการรับท้องตราก่อน เสมียนตราด้วงจึงเชิญท้องตราบัวแก้วขึ้นไปบนจวน เชิญท้องตราตั้งไว้ตามที่เคยรับมาแต่กาลก่อน เมื่อเจ้าเมือง ยกกระบัตร กรมการมาประชุมพร้อมกันแล้ว เสมียนตราด้วงจึงแกะครั่งประจำถุงตรา เปิดซองออกอ่านท้องตรา ให้เจ้าเมือง ยกกระบัตร กรมการฟัง ทราบพระประสงค์ และพระกระแสร์รับสั่งตลอดเรื่องแล้ว เจ้าเมืองกรมการน้อมคำนับถวายบังคมพร้อมกันแล้ว เสมียนตราด้วงจึงวางไว้บนพานถมบนโต๊ะแล้วคุกเข่าถวายบังคม ภายหลังแล้วจึงคำนับท่านเจ้าเมือง ไหว้ยกกระบัตร กรมการทั่วไป ตามฐานันดรแลอายุ ท่านเจ้าเมืองจึงลงไปอาราธนาสมเด็จพระวันรัต และสามเณรโตขึ้นพักบนหอนั่งบนจวน กระทำความคำนับต้อนรับเชื้อเชิญตามขนบธรรมเนียม โดยเรียบร้อยเป็นอันดี ผู้ว่าราชการจึงสั่งหลวงจ่าเมือง หลวงศุภมาตรา ๒ นาย ให้ออกไปบอกข่าวท่านสมภารวัดตะไกรให้ทราบว่า สมเด็จพระวันรัตวัดระฆัง มาถึงตามรับสั่งแล้ว ให้ท่านสมภารจัดเสนาศ์ปูอาศนะให้พร้อมไว้ ขาดแคลนอะไร หลวงจ่าเมือง หลวงศุภมาตรา ต้องช่วยท่านสมภาร สั่งหลวงแพ่ง หลวงวิจารณ์ ให้จัดที่พักคนเรือและนำเรือเข้าโรงเรือ เอาใจใส่ดูแลรักษาเหตุการณ์ทั่วไป สั่งขุนสรเลขให้ขอแรงกำนันที่ใกล้ๆ ช่วยยกสำรับเลี้ยงพระเลี้ยงคนในตอนพรุ่งนี้ จนตลอดงาน สั่งพระยายกกระบัตรให้มีตราเรียกเจ้าเมืองทั้ง ๔ ให้มาถึงปะรืนนี้ สั่งหลวงจู๊ให้ขอกำลังเลี้ยงฝีพายบางกอก สั่งรองวิจารณ์ รองจ่าเมือง ให้นัดประชุมกำนันในวันปะรืนนี้ สั่งรองศุภมาตราให้เขียนใบเชิญพ่อค้าคฤหบดี ครั้นเวลาเย็นเห็นว่าที่วัดจัดการเรียบร้อยแล้ว จึงอาราธนาสมเด็จพระวันรัต ออกไปพักผ่อนอิริยาบถที่วัด สบายกว่าพักบ้านตามวิสัยพระ ส่วนท่านเจ้าเมืองพร้อมด้วยเสมียนติดตามส่งสมเด็จพระวันรัต ณ วัดตะไกร และนัดหมายสามเณรโตให้นัดญาติโยมพร้อมหาฤากันใน ๒ วันนี้
ครั้นท่านเจ้าเมืองมาส่งสมเด็จพระวันรัตที่วัดตะไกรถึงแล้ว ได้ตรวจตราเห็นว่าเพียงพอถูกต้องแล้ว จึงสั่งกรรมการ ๒ นายให้อยู่ที่วัดคอยระวังปฏิบัติ และให้กำนันตำบลนี้คอยดูแลระวังพวกเรือญาติโยมของสามเณรโต อย่าให้มีเหตุการณ์ได้ ครั้นสั่งเสียเสร็จแล้วจึงนมัสการลาสมเด็จพระวันรัต นัดหมายกับท่านว่า อีก ๒ หรือ ๓ วัน จึงจะออกมาให้พร้อม จะได้นัดหมายการงานให้รู้กัน แล้วนมัสการลามาจัดแจงการเลี้ยงดุที่บ้านอีก ท่านเจ้าเมืองได้สั่งให้หลวงชำนาญคดีจัดห้องนอนบนจวนให้ข้าหลวงและเสมียนตราพักให้เป็นที่สำราญ สั่งในบ้านหุงต้มเลี้ยงคนเลี้ยงแขกเลี้ยงกรรมการที่มีหน้าที่ทำงานในวันพรุ่งนี้ ต่อไปติดกันไปในการเลี้ยง
(สิ้นใจความในรูปภาพประวัติเขียนไว้ในฉากที่ ๓ เท่านั้น ในประวัติที่ฝาผนังโบสถ์เป็นฉากที่ ๔ เจ้าของท่านให้เขียนไว้ดังนี้ เขียนรูปสมเด็จพระวันรัต เขียนรูปอาจารย์แก้ว เขียนรูปวัดตะไกร เขียนบ้านเจ้าเมือง เขียนคนมาช่วยงานทั้งทางบกทางน้ำ เขียนพวกกระบวนแห่นาค เขียนรูปท่านนิวัติออกเป็นเจ้านาค เขียนพวกเต้นรำทำท่าต่างๆ เขียนคนพายเรือน้ำเป็นคลื่น จึงอนุมานสันนิษฐานใคร่ครวญกอรปเหตุกอรปผลเข้าได้ความดังนี้)
ครั้นล่วงมาอีก ๓ วัน เจ้าเมืองกำแพงเพชร์ ๑ เจ้าเมืองพิจิตร ๑ เจ้าเมือง ไชยนาทบุรี ๑ เจ้าเมืองพิชัย ๑ พ่อค้าคฤหบดี กำนันในตำบลเมืองพิษณุโลก กรมการเมืองพิษณุโลกทั้งสิ้น มาประชุมพร้อมกันที่จวนท่านเจ้าเมืองพิษณุโลก ท่านเจ้าเมืองพิษณุโลกจึงได้พาคนทั้งปวงออกไปประชุมที่ศาลาใหญ่วัดตะไกร โดยอาราธนาสมเด็จพระวันรัต ให้ลงมาประชุมร่วมด้วยพร้อมทั้งตาผลนางงุด และคณะญาติของสามเณรโต ครั้นเข้าในที่ประชุมเรียบร้อยแล้ว ท่านเจ้าเมืองพิษณุโลกจึงขอความตกลงที่แม่งุดเจ้าของนาคหลวงนั้นก่อน ว่าการบวชนาคหลวงครั้งนี้ มีพระกระแสร์รับสั่งโปรดเกล้าให้เจ้าเมือง กรมการอำเภอ เจ้าภาษี นายอากร คฤหบดี ทั้งปวงนี้เป็นผู้ช่วยสนับสนุนการจนตลอดแล้วโดยเรียบร้อย แต่รับสั่งให้อนุมัติตามเจ้าของนาคหลวง ก็ฝ่ายแม่งุดเป็นมารดาจะคิดอ่านอย่างไรขอให้แจ้งมา ฝ่ายบ้านเมืองจะเป็นผู้ช่วยอำนวยการทั้งสิ้น
ฝ่ายนางงุดจึงเรียนท่านเจ้าเมืองพิษณุโลกว่า ดิฉันกะไว้ว่าจะบวชแต่เช้า บวชแล้วเลี้ยงเช้าทั้ง ๒๙ รูป เลี้ยงเพลอีก ๒๙ รูป ดิฉันจะตั้งโรงครัวที่วัดนี้ ดิฉันใคร่จะมีพิณพาทย์ กลองแขกตีกระบี่กระบอง มีแห่นาค มีแห่พระใหม่ มีการสมโภชฉลองพระใหม่ ดิฉันใคร่จะนิมนต์ท่านพระครูวัดใหญ่ที่เมืองพิจิตร ๑ ท่านพระครูที่สัดเมืองไชยนาท ๑ มาสวดมนต์ฉันเช้าในการฉลองพระใหม่ มีการทำขวัญเวียนเทียน มีการสมโภชพระใหม่ มีการมหรสพด้วยเจ้าค่ะ ท่านเจ้าเมืองพิษณุโลก ก็รับที่จะจัดทำตามทุกประการ
ท่านเจ้าเมืองพิษณุโลก หันเข้าขอประทานมติ ต่อสมเด็จพระวันรัต ต่อไปว่าเมื่อวันไหนจะสะดวกในรูปการเช่นนี้ สมเด็จพระวันรัตตอบว่า โครงการที่ร่างรูปเช่นนี้เป็นหน้าที่ที่เจ้าคุณจะดำริห์และสั่งการจะนานวันสักหน่อยข้าเจ้าคิดเห็นเหมาะว่าวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๖ ปีมะเส็ง นพศกนี้ เป็นวันนิวัติสามเณรออกมาเป็นเจ้านาค สามโมงเย็นวันนั้นห้อมล้อมอุปสัมปทาเปกข์เข้าไปทำขวัญในจวน ให้นอนค้างในจวน เช้ามืดจัดขบวนแล้วแห่มา วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ เวลา ๑ โมงเช้า บวชเสร็จ ๒ โมงเช้า พระฉัน มีมหรสพเรื่อยไปวันยังค่ำ พอ ๕ โมงเย็นจัดกระบวนแห่พระใหม่ เข้าไปในจวนเจ้าคุณ เริ่มการสวดมนต์ธรรมจักร์ต่อ ๑๓ ตำนาน ตามแบบหลวง แล้วรุ่งเช้าฉัน ฉันแล้วเลี้ยงกัน มีเวียนเทียน แล้วมีการเล่นกันไปวันยังค่ำอีกค่ำลงเสร็จการ เจ้าเมืองรับเถรวาทว่า สาธุ เอาละ
ครั้นท่านเจ้าเมืองพิษณุโลก หารือด้วยสมเด็จพระวันรัต ลงมติกำหนดการกำหนดวันเป็นที่มั่นคงแล้ว จึงประกาศให้บรรดาที่มาประชุมกันรู้แน่ว่า วันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๖ เป็นวันทำขวัญ วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ เป็นวันบวชเช้า ตามโครงการบวชนาคหลวงคราวนี้มีรายการอย่างนั้นๆ ท่านทั้งหลายทั้งผู้ใหญ่และผู้น้อย จงได้กำหนดไว้ทุกคน และขอเชิญไปฟังคำสั่งที่แน่นอนที่จวนอีกครั้ง แล้วท่านเจ้าเมืองพิษณุโลกก็นมัสการลาสมเด็จพระวันรัตและพระสงฆ์ทั้งปวง นำเจ้าเมืองทั้ง ๔ กับบรรดาที่มาประชุมกันสู่จวน ท่านเจ้าเมืองพิษณุโลกจึงแสดงสุนทรกถาชะลอเกียรติคุณของทางพระรัฏฐะปสาสน์ ปลุกน้ำใจข้าราชการ และราษฎรทั้งปวงให้มีความเอื้อเฟื้อต่อพระกุศลอันนี้ พอเป็นที่พร้อมใจกันแล้ว จึงสั่งกิจการทั้งปวงและแบ่งหน้าที่ทุกแห่งตำแหน่งการ ทั้งทางที่วัดและจัดที่บ้าน ตลอดการปรุงปลูกมุงบังบุดาษปูปัดจัดตั้งแบกหามยกขน และขอแรงมาช่วยเพิ่มพระบารมีกุศลตามมีตามได้ตามสติกำลังความสามารถจงทุกกำนัน เป็นต้นว่าของเลี้ยงกันเข้าโรงครัวถั่วผัก มัจฉมังสากระยาการตาลโตนด ตาลทราย หมาก มะพร้าว ข้างเหนียว ข้าวสาร เจ้าภาษีนายอากรขุนตำบลช่วยกันให้แข็งแรง พวกที่ไม่มีจะให้มีแต่ตีเป่าเต้นรำทำท่าพิณพาทย์กลองแขก กระบี่กระบอง ชกมวย มวยปล้ำ ใครมีอะไรมาช่วยกันให้พร้อม ทั้งของข้าวนำมาเข้าโรงครัว แต่ ณ วันขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๖ เป็นต้นไป จนถึงขึ้น ๑๓ ค่ำ สิ้นกำหนดส่งจะลงบัญชีขาด การโยธาเล่าให้เรียบร้อยแล้วเสร็จ ในวันขึ้น ๑๓ ค่ำเหมือนกัน ฝ่ายท่านเจ้าเมืองทั้ง ๔ จงนำฎีกาสวดมนต์ฉันเช้า ไปวางฎีกาอาราธนาพระครูจังหวัดทั้ง ๔ มาสวดมนต์พระธรรมจักรและ ๑๒ ตำนาน ในการสมโภชพระบวชใหม่ที่จวนนี้ ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ รุ่งขึ้นวันแรม ๑ ค่ำเดือนนี้ ศกนี้ นิมนต์ฉัน เจ้าเมืองทั้ง ๔ ต้องนำบอกงานแก่ผู้มีชื่อในจังหวัดของเมืองนั้นๆ จงทั่วหน้า
ถ้าหากว่าผู้ที่จะมาช่วยงานในการนี้ ติดขัดมาไม่สดวก ขอเจ้าเมืองจงเป็นธุระส่งแลรับให้ไปมาจงสะดวกทุกย่านบ้านบึงบาง ขอให้เจ้าเมืองมอบเมืองแก่ยกกระบัตรกรมการ ให้กำนันเป็นธุระเฝ้าบ้านเฝ้าควายเฝ้าเกวียน แก่บรรดาผู้ที่จะมาในงานนี้ แต่ ณ วันขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือนนี้ศกนี้ ท่านเจ้าเมืองทั้ง ๔ จงมาถึงให้พร้อมกัน คำสั่งดังกล่าวนี้จงอย่าขาดเหลือได้ กิจการทั้งวัดทั้งบ้านทั้งใกล้ทั้งไกล ขอให้ยกกระบัตรเป็นพนักงานตรวจตรา แนะนำตักเตือน ต่อว่าเร่งรัดจเรทั่วไปจนตลอดงานนี้ หลวงจ่าเมือง รองจ่าเมือง เป็นหน้าที่พนักงานตรวจตราอาวุธ การทะเลาะวิวาทอย่าให้มีในการนี้ หลวงแพ่ง รองแพ่ง เป็นหน้าที่รับแขกคนเชิญนั่ง หลวงวิจารณ์ รองวิจารณ์เป็นพนักงานจัดการเลี้ยงน้ำร้อนน้ำชาทั้งพระทั้งแขกคนที่จะมาจะไป หลวงชำนาญ รองชำนาญเป็นพนักงานหมากพลูยาสูบ ทั้งพระทั้งแขกทั้งคนเตรียมเครื่องด้วย หลวงศุภมาตรา รองศุภมาตราเป็นพนักงานจัดการหน้าฉากทุกอย่าง ทั้งการพระการแขก ขุนสรเลข เป็นเสมียนจดนามผู้นำของมา จดทั้งบ้านเมืองอำเภอ หมู่บ้านให้ละเอียด ทั้งมากทั้งน้อย พระธำรงผู้คุมต้องเป็นพนักงานปลูกปรุงมุงบังบุดาษ เสมียนทนายดูเลี้ยง หลวงจ่าเมือง ต้องจัดหาตะเกียงจุดไฟทั่วไป ขัดข้องต้องบอกข้าพเจ้า ช่วยกันให้เต็มฝีมือด้วยกัน สั่งการเสร็จแล้ว สั่งแขกที่เชิญมากลับไปสั่ง ส่งเจ้าเมืองทั้ง ๔ กลับขึ้นบ้านเมือง
ส่วนผู้ว่าราชการเมืองพร้อมด้วยพระโหราธิบดี เสมียนตราด้วง คิดการจัดไทยทานถวายพระ จัดซึ้อผ้ายี่โป้ไว้สำหรับสำร่วยการมหรสพทั้งปวง ขอแรงภรรยากรมการเป็นแม่ครัว ท่านผู้หญิงเป็นผู้อำนวยการครัว พระยกกระบัตรเป็นพนักงานเลี้ยงพระเลี้ยงคนด้วย พวกผู้หญิงลูกหลานพี่น้องกรมการ ขอแรงเย็บบายศรีเจียนหมากจีบพลู มวนยาควั่นเทียน ตำโขลกขนมจีน ทำน้ำยาเลี้ยงกัน ครั้นท่านผู้ว่าราชการเมืองจัดการสั่งการเสร็จสรรพแล้วพักผ่อนพูดจากับท่านเสมียน ท่านพระโหราธิบดีตามผาสุขสำราญคอยเวลา
ตั้งแต่วันที่กำหนดส่งของเข้าครัว อาหารก็ไหลเรื่อยมาแต่ขึ้น ๘ ค่ำ จนถึง ๑๓ ค่ำ ท่านเจ้าเมืองส่งไปครัวทางวัดบ้าง เข้าครัวบ้านบ้าง คนทำกิจการงานได้บริโภคอิ่มหนำตลอดถึงกรมการและลูกเมีย กำนันและลูกบ้านที่ยังค้างอยู่ก็ได้บริโภคอิ่มหนำทั่วหน้ากัน นายอากรสุราก็ส่งสุรามาเลี้ยงกันสำราญใจ ต่างก็ชมเชยบารมีพ่อเณร และชมอำนาจเจ้าคุณผู้ว่าราชการเมือง และชมเชยพระยุพราชกุศลกัลยาณวัตรของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าพระองค์นี้ เป็นที่สนุกสนานทั่วกัน
(ถามว่า เรื่องนี้ทำไมผู้เรียบเรียงจึงเรียงความได้ละเอียด ตอบว่าเสมียนด้วง พระโหรา ได้เห็นได้รู้ นำมาเล่าสืบๆ มา)
ครั้นรุ่งขึ้น ณ วันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือนหก ปีมะเส็ง นพศก จุลศักราช ๑๑๕๙ ปี เวลาเช้า เจ้าเมืองทั้ง ๔ ก็มาถึง พระครูจังหวัดก็มาถึง ผู้มีชื่อที่มาช่วยกิจการอุปสมบทนี้ก็มาถึงทั้งใกล้ไกล ท่านเจ้าเมืองพิษณุโลกก็ยิ้มแย้มทักทายต้อนรับ พระยกกระบัตร ก็ดูแลเลี้ยงดูเชื้อเชิญให้รับประทานทั่วถึงกัน ตลอดพวกมหรสพ ฝีพาย ทั้งเรือพระ เรือเจ้าเมือง เรือคฤหบดี ก็เรียกเชิญเลี้ยงดูอิ่มหนำทุกเวลา
ครั้นเวลาเที่ยงแล้ว ท่านผู้ว่าราชการเมืองพิษณุโลก พร้อมด้วยเจ้าเมืองทั้ง ๔ และพระโหราธิบดี เสมียนตราด้วง กับทั้งพวกกระบวนแห่ก็เตรียมออกไปรับนาคที่วัด สมเด็จพระวันรัตก็ให้สามเณรโตลาสิกขาบท นิวัติออกเป็นนาค ท่านสมภารวัดตะไกรก็สั่งพระให้โกนผมเจ้านาคแล้ว พระโหราก็แต่งตัวเจ้านาค นำเครื่องผ้ายกออกมาจากหีบ เสื้อกรุยเชิงมีดอกพราวออกแล้ว นุ่งจีบโจงหางโหง ชักพก แล้วติดผ้าหน้าเรียกว่าเชิงงอน ที่ภาษาชะวาเรียกว่าซ่าโปะ แล้วคาดเข็มขัดทองประดับเพชร สอดแหวนเพชร ถือพัชนีด้ามสั้น สรวมเสริดยอดประดับพลอยทับทิมแลมรกตที่คำสามัญเรียกว่าตะลอมพอกทรงเครื่อง แต่งตัวเสร็จแล้ว ท่านผู้ว่าราชการก็นำนาค พระโหราธิบดี เสมียนตราด้วง เดินแซงข้างนาค ญาติโยมตามหลังเป็นลำดับลงไป พวกกระบวนแห่ก็เต้นรำตามกันมา ตามเจ้าคุณพระยาพิษณุโลกนำนาคเข้ามาทำขวัญที่จวนเมื่อเวลาบ่าย ๓ โมงเย็น วันขึ้น ๑๔ ค่ำเดือน ๖ ศกนั้น
ครั้นถึงจวนเจ้าเมืองก็นำนาคเข้าโรงพิธีที่จัดไว้บนหอนั่ง แล้วเรียงรายเจ้าเมือง กรมการ เจ้าบ้านคหบดี เจ้าภาษีนายอากร ราษฎรสูงอายุ และญาติโยมของเจ้านาค พระโหราธิบดีเรียกคนเชิญขวัญ ที่นำไปแต่กรุงเทพทั้งพราหมณ์พรหมบุตรชุดหนึ่งขึ้นมาจากเรือ แล้วเข้านั่งทำขวัญๆ แล้วเวียนเทียน พิณพาทย์ก็บรรเลงตามเพลงกระ, กรม กราว เชิด ไปเสร็จแล้วจัดการเลี้ยงเย็น ค่ำลงจุดไฟแล้วมีการเต้นรำร้องเพลงสนุกจริง
ครั้นเวลาย่ำรุ่ง ท่านผู้ว่าราชการเมืองพิษณุโลก พร้อมด้วยเจ้าเมืองทั้ง ๔ แลกรมการผู้ใหญ่ผู้น้อย พ่อค้าแม่ค้า เจ้าภาษีนายอากร อำเภอ กำนัน พันทนายบ้าน ขุนตำบล พระธำมะรงค์ผู้คุม ผู้ใหญ่มาพร้อมกันที่หน้าจวน จึงจัดกระบวนแห่ เป็น ๗ ตอน ตอน ๑ พวกกระบี่กระบอง ตอน ๒ พวกชกมวยมวยปล้ำ ตอน ๓ กลองยาว ตอน ๔ เทียนอุปัชฌาย์ ไตรบาตร์ ไตรอุปัชฌาย์ ตอน ๕ เจ้าเมืองทั้ง ๕ กรรมการเสมียนตราข้าหลวง ตอน ๖ ญาติมิตรคนช่วยงานถือของถวายอันดับ ตอน ๗ พวกเพลงพวกเต้นรำต่างๆ เป็นแถวยืดไป แห่แหนห้อมล้อมเป็นขบวนเดินมา จนถึงเขตกำแพงวัดตะไกรผ่อนๆ กันเดินเข้าไป ตั้งชุมนุมเป็นกองๆ แต่พวกกลองยาวพวกขบวนถือเทียน ถือไตรบาตร์บริขารของถวายพระนั้นเวียนโบสถ์ไปด้วย พวกพิณพาทย์ กลองแขกนั่งตีที่ศาลาหน้าโบสถ์ ครบสามรอบแล้ว เจ้านาควันทาสีมาเจ้าเมืองทั้ง ๔ แวดล้อม พระโหราเป็นผู้คุมและสอน แล้วขึ้นโบสถ์สาก็ทิ้งทานเปลื้องเครื่องที่แต่งแห่มา ผลัดเป็นยกพื้นขาว ผ้ากรองทองห่มสไบเฉียง เปลื้องเสื้อกรุยออกถอดตะลอมพอก ถอดแหวนแลสร้อยส่งให้เสมียนตราๆ รับบรรจุลงหีบลั่นกุญแจมอบเจ้าเมืองทั้ง ๕ เป็นผู้รักษา แล้วโยมญาติช่วยกันจูงช่วยกันรุมเข้าโบสถ์ พระโหราธิบดีนำเข้าวันทาพระประธาน แล้วมานั่งคอยพระสงฆ์ ฝ่ายพระสงฆ์ ๒๙ รูป มีสมเด็จพระวันรัตเป็นปรานที่พระอุปัชฌาย์ ลงโบสถ์พร้อมกันแล้ว นางงุดจึงยื่นผ้าไตรบวชส่งให้นาคๆ น้อมคำนับรับเอาเข้ามาในท่ามกลางสงฆ์ พวกกรมการยกเทียนอุปัชฌาย์ ไตรอุปัชฌาย์พร้อมด้วยกรวยหมาก เข้ามาส่งให้เจ้านาคถวายอุปัชฌาย์ แล้วให้เจ้านาคยืนขึ้นวันทาอ้อนวอนขอบรรพชาเป็นภาษาบาฬี (ตามวิธีบวชพระมหานิกาย) ครั้นเสร็จเรียนกัมมัษฐาน แล้วออกไปครองผ้าเข้ามาถวายเทียน ผ้าไตร แก่พระกรรมวาจา แล้วยืนขึ้นประทานวิงวอนขอพระสรณาคมน์ นั่งลงรับพระสรณาคมน์เสร็จ รับศีล ๑๐ ประการเป็นเณรแล้วเข้ามายืนขอนิสสัยพระอุปัชฌาย์ สำเร็จเป็นภิกษุในเพลา ๓๒ ชั้น คือ ๗ นาฬิกาเช้า วันพุธขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีมะเส็ง นพศก จุลศักราช ๑๑๕๙ ปี ประชุมสงฆ์ ๒๘ รูป เป็นคณะปักกะตัดตะในพัทธสีมาของวัดตะไกร เมืองพิษณุโลก สมเด็จพระวันรัต วัดระฆังโฆสิตาราม ธนบุรี เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์แก้ว วัดบางลำภูบน เป็นกัมมาวาจา พระอธิการวัดตะไกร เมืองพิษณุโลกเป็นอนุสาวะนะ ครั้นเสร็จการอุปสมบทแล้ว พระสงฆ์ทั้งปวงออกจากโบสถ์ ลงมาฉันเช้าที่ศาลาวัดตะไกรพร้อมกันทั้งภิกษุโตด้วย
ตอนที่ 6
ครั้นเจ้าภาพอังคาสถวายอาหารบิณฑบาต พระสงฆ์ทำภัตกิจเสร็จแล้ว ก็ถวายไทยทานเป็นอันมากมายหนักหนา พระภิกษุโตก็รับของถวายเป็นก่ายกองสุดจะพรรณา ครั้นเสร็จแล้วพระสงฆ์อนุโมทนา เจ้าภาพจัดการเลี้ยงกัน เสร็จเรียบร้อยแล้ว พวกกระบี่ก็รำกระบี่กระบองราวี พวกมวยก็คลุกคลีเป็นคู่คู่ พวกเพลงก็ร้องสู้กันเซ็งแซ่ พวกกลองยาวของพม่าก็บุ้มบ้ำรำถวาย คนดูก็เดินกรายชายตามองจ้องที่ต้องใจ สมโภชพระบวชใหม่ถึงห้าโมงเย็น ครั้นเย็นแล้ว ท่านเจ้าเมืองทั้ง ๕ จัดกระบวนพระ กระบวนแห่ แห่พระเข้าไปเจริญพุทธมนต์เย็นที่จวน สมโภชพระบวชใหม่
ครั้นถึงแล้ว พระสงฆ์นั่งบนอาสนะถวายน้ำร้อนน้ำตาลเภสัชหมากพลูบุหรี่เป็นที่สำราญ ผู้ว่าการเมืองจุดเทียนหลวงบูชา หลวงนาวาว่าที่กรมการอาราธนาศีล แล้วอาราธนาพระปริตต์ สวดธรรมจักรต่อกับ ๑๒ ตำนาน จบแล้วพระสงฆ์ก็กลับ ก็จัดการเลี้ยงกันจนเรียบร้อยก็จุดไฟ มีการสมโภชต่อไปเป็นที่สนุกสนานคึกครื้นรื่นเริงทั่วหน้ากัน
เวลาเช้าพระสงฆ์มาสวดมนต์ฉันเช้าแล้ว ก็ถวายเครื่องไทยทานต่างๆเป็นอันมาก พระสงฆ์รับแล้วอนุโมทนาทานเสร็จแล้วก็กลับ พราหมณ์ ๓ คนเข้าที่โอมอ่านอ่านพระศุลีเทวะราชประสิทธิ์ เบิกแว่นอุณาโลม แล้วตีพิณพาทย์ ฆ้องกลอง เป่าแตร เป่าสังข์ แกว่งบัณเฑาะว์ เคาะกรับ เละเวียนเทียน ๗ รอบ สมโภชพระภิกษุโตผู้บวชใหม่ เป็นอันเสร็จพิธี ดีงามทุกสิ่งทุกประการ
(เรียบเรียงแก้ไขพรรณนาตามเค้ารูปภาพที่เจ้าของท่านให้ช่างเขียนๆ ไว้ที่ฝาผนังโบสถ์ด้านสกัด เป็นประวัติการบวชพระของท่าน ก็จบลงเพียงเท่านี้)
(ต่อไปนี้จะได้บรรยายประวัติในรูปภาพที่ฝาผนังโบสถ์ วัดอินทรวิหาร บางขุนพรหม ฝ่ายทักษิณแห่งพระอุโบสถวัดนั้น เป็นฉากที่ ๕ ต่อไป ในฉากที่ ๕ นั้น ท่านให้ช่างเขียนรูปพระสังฆราชมี เขียนรูปท่านเข้าไปไหว้ลา เขียนรูปวัดระฆัง เขียนรูปเรียนหนังสือ เขียนรูปพระบรมมหาราชวัง และรูปพระบวรราชวัง รูปฉันในบ้านตระกูลต่างๆ รูปพระสังฆราชนาค สันนิษฐานตามเค้าเหตุผล เรียงตามลำดับดังนี้)
ครั้นรุ่งขึ้นเป็นวันแรมสองค่ำ เดือนหก ศกนั้น ท่านพระยาพิษณุโลกให้ส่งสมเด็จพระวันรัตและพระภิกษุโตกับพระอาจารย์แก้วกลับกรุงเทพฯ ได้ขอทุเลากับสมเด็จพระวันรัตว่า “เกล้าฯ ขอทุเลาให้หายเหนื่อยสัก ๒ วัน และสั่งกิจการ ต่อวันแรม ๔ ค่ำ เดือนหก จึงจะไปหาพระคุณเจ้า” สมเด็จพระวันรัตว่า “ตามใจเจ้าคุณเถิด” ครั้นตกลงกันแล้ว พระยาพิษณุโลกก็ทำรายงานเรื่องอุปสมบทตราพระกระแสร์รับสั่ง มอบให้เสมียนตราด้วงน้อมเกล้าถวายแล้วส่งเจ้าเมืองทั้ง ๔ กลับพร้อมทั้งผู้คน สั่งยกกระบัตรและกรมการใหญ่น้อยให้ทำหน้าที่ แล้วจัดเรือแจว ๖ แจว มีฝีพาย เรือครัวไปส่งพระในกรุงเทพฯ ในวันแรม ๔ ค่ำ เดือนนั้น
ครั้นแรม ๔ ค่ำ ศกนั้น พระยาพิษณุโลกได้อาราธนาสมเด็จพระวันรัต พระอาจารย์แก้ว พระภิกษุโตบวชใหม่เข้าไปฉันในจวน เลี้ยงข้าหลวงเสมียนตรา ฝีพาย พราหมณ์ เสร็จแล้วก็ลงเรือล่องลงมาเป็น ๕ ลำด้วยกัน
วันแรม ๖ ค่ำ ศกนั้น ครั้นถึงวัดนิพพานาราม สมเด็จพระวันรัต พระอาจารย์แก้วได้พาพระภิกษุโต พระยาพิษณุโลก พระโหราธิบดี เสมียนตราด้วง เฝ้าสมเด็จพระสังฆราชเจ้าพร้อมกัน กราบเรียนให้ทราบพอสมควร สมเด็จพระสังฆราชเจ้าจึงมอบให้เป็นหน้าที่ของสมเด็จพระวันรัตเป็นอาจารย์สอนและบอกคัมภีร์พระปริยัติธรรมต่อไป ด้วยพระดำรัส “การสอนการบอกจงเป็นภาระของสมเด็จฯ ด้วยข้าพเจ้าชรามากแล้ว ลมก็กล้า อาหารก็น้อย จำวัดไม่ใคร่หลับ บอกหนังสือก็ออกจะพลาดๆ ผิดๆ” รับสั่งให้พระครูฐานาจัดกุฏิให้ภิกษุโตอาศัยต่อไปในคณะตำหนัก วัดนิพพานารามแต่วันนั้นมา
บรรดาสัปปุรุษ สีกา ผู้หลักผู้ใหญ่ที่เลื่อมใสคุ้นเคยกับพระภิกษุโตแต่ครั้งเป็นสามเณร ครั้นทราบว่าอุปสมบทแล้ว ต่างก็พากันมาเยี่ยมเยียนปวารณาตัว ความอัตคัดขัดข้องไม่มีแก่ภิกษุโตเลย ฟุ่มเฟือยสง่าโอ่อ่าองอาจผึ่งผายเสมอๆ มา
ครั้นเข้าพรรษาปีนั้น จึงได้ข้ามไปเรียนคัมภีร์กับสมเด็จพระวันรัตเสมอๆ มา ก็มีความรู้แตกฉานลึกซึ้งในธรรมวินัยไตรปิฎกไม่ติดขัด ทั้งท่านก็ปฏิบัติตรงต่อพระธรรมวินัย มีความเคารพยำเกรงต้อผู้ใหญ่ ปฏิบัตินอบน้อมยอมตนให้สม่ำเสมอไป จึงเป็นเหตุให้อำมาตย์ราชเสนา คฤหบดี คฤหปตานี คุณท้าว คุณแก่ คุณแม่ คุณนาย คุณชาย คุณหญิง ผู้คุ้นเคยไปมาหาสู่อาราธนาให้แสดงธรรมตลอดไตรมาสบ้าง พิเศษบ้าง เทศน์มหาชาติบ้าง สวดมนต์เย็น ฉันเช้าในงานมงคลต่างๆ เกิดอดิเรกลาภเสมอๆ มิได้ขาด ทั้งพระโหราธิบดี เสมียนตราด้วง พระวิเชียร ขุนพรหม ปลัดนุท ขรัวยายโหง เสมียนบุญ ทั้ง ๗ ท่านนี้ ได้เป็นอุปัฏฐากประจำที่ไว้วางใจ
ครั้นเห็นว่างราชกิจควรเข้าเฝ้าถวายพระราชกุศล จึงหารือด้วยพระโหราธิบดี พระวิเชียร เสมียนตราด้วง ทั้งหมดเห็นดีด้วย จึงพร้อมกันเข้าเฝ้าถวาย ณ พระราชวังเดิม สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร เสด็จออกทรงรับพระราชกุศล ถวายเป็นองค์อุปัฏฐาก ท่านก็รุ่งเรืองในกรุงเทพฯ แต่นั้นมา
ครั้นลุปีขาล อัฐศก จุลศักราช ๑๑๖๘ ปี พระภิกษุโตมีอายุ ๓๐ ปี มีพรรษาได้ ๑๐ อันเป็นปีที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ได้รับพระราชทานพระบวรราชอิศรศักดิ์สูงขึ้น เมื่อเสร็จอุปราชาภิเศกแล้ว ท่านได้เข้าเฝ้าถวายพระพรชัยมงคล จึงได้ทรงโปรดพระราชทานเรือพระที่นั่งกราบเป็นเรือสี ถวายแก่พระภิกษุโต โปรดรับสั่งว่า “เอาไว้สำกรับไปเทศน์โปรดญาติโยม” ทั้งยังทรงตั้งให้เป็น “มหาโต” ด้วย แต่นั้นมาทุกคนจึงเรียกท่านมหาโตทั่วทั้งแผ่นดิน หากมีราชกิจกุศลในวังหน้า หรือการงานเล็กน้อยแล้ว พระมหาโตเป็นต้องถูกราชการด้วยองค์หนึ่ง
(๒ ปีล่วงมา สมเด็จพระสังฆราชมีชราภาพ ถึงมรณะล่วงไปแล้ว ยังหามีสมเด็จพระสังฆราชครองวัดนิพพานารามไม่) ปีมะเส็งเอกศก จุลศักราช ๑๑๗๑ ปี กรมพระราชวังบวรเสด็จขึ้นเถลิงราชย์เป็นพระเจ้าแผ่นดิน จึงทรงพระมหากรุณาโปรดยกพระปัญญาวิสารเถร (พระชินวร) วัดถมอรายขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า ทรงพระราชทานนามวัดนิพพานารามเสียใหม่ว่า “วัดมหาธาตุ” สมเด็จพระสังฆราชได้ลงมาประทับอยู่ที่วัดมหาธาตุด้วย พระมหาโตจึงร่วมอุโบสถสังฆกรรมกับสมเด็จพระสังฆราชถึง ๒ พระองค์ คือสมเด็จพระสังฆราชมี สมเด็จพระสังฆราชนาค (จึงได้ให้ช่างเขียนเป็นรูปพระสังฆราชไว้ ๒ พระองค์ ตามที่ท่านได้ผ่านพบมา) ในศกนี้ พระมหาโตมีพรรษา ๑๒ ในแผ่นดินพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ กรุงเทพฯ พระมหาโตทำสง่าโอ่โถงภาคภูมิมาก เทศนาวาจากล้าหาญองอาจ เพราะเชี่ยวชาญรอบรู้พระไตรปิฎกแตกฉาน ทั้งยังเป็นพระของพระเจ้าแผ่นดิน อันพระองค์ทรงเป็นอุปัฏฐากอีกด้วย อดิเรกลาภก็มีทวีคูณ ลูกศิษย์ลูกหามากมาย ชื่อเสียงโด่งดังกึกก้องตลอดกรุง
ลุปีฉลู นพศก จุลศักราช ๑๑๗๙ ปี ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าให้สร้างพระตำหนักใหม่ในวัดมหาธาตุ เพราะทูลกระหม่อมฝ้าพระองค์ใหญ่จะทรงพระผนวชเป็นสามเณร ครั้นทรงพระผนวชแล้วก็เสด็จมาประทับอยู่ พระมหาโตก็ได้เข้าเป็นพระพี่เลี้ยงและได้เป็นครูสอนอักขระขอม ตลอดจนถึงคัมภีร์มูลกัจจายน์ เมื่อสมเด็จพระสังฆราชมีกิจ พระมหาโตก็ได้อธิบายขยายความแทน เป็นเหตุให้ทรงสนิทคุ้นเคยกันแต่นั้นมา
ครั้นทูลกระหม่อมเณรทรงลาสิกขานิวัติกลับพระราชวังแล้ว ก็ทรงทำสักการะแก่พระมหาโตยิ่งขึ้น พระมหาโตเลยกว้างขวางยิ่งใหญ่ รู้จักคุณท้าวคุณนางฝ่ายใน ทั้งจ้าวนายฝ่ายนอกมากมาย บ้านขุนนางก็แยะ เมื่อมีงานต้องนิมนต์พระมหาโตมิได้ขาด
จุลศักราช ๑๑๘๖ ปีวอก ฉศก วันพุธ เดือน ๘ ขึ้น ๑๒ ค่ำทูลกระหม่อมองค์ใหญ่ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ เสด็จขึ้นไปประทับวัดถมอราย (เปลี่ยนเป็นวัดราชาธิวาส) ภายหลังเสด็จกลับมาประทับ ณ ตำหนักเดิมวัดมหาธาตุ พระมหาโตก็ได้เป็นผู้บอกธรรมวินัยและพระปริยัติธรรมอีก เป็นเหตุให้ทรงคุ้นเคยกันมากขึ้นเพราะมีอัธยาศัยตรงกัน
ในศกนี้ สมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เสด็จสวรรคต ในวันพฤหัสบดีเดือน ๘ แรม ๑๑ ค่ำ ปีวอก ฉศก จุลศักราช ๑๑๘๖ เสด็จขึ้นเถลิงราชย์ได้ ๑๔ ปี ๑๐ เดือน ศิริพระชนมายุได้ ๕๖ พระพรรษา
ปีนี้พระมหาโตอายุได้ ๔๙ พรรษา ๒๘ พระชนมายุทูลกระหม่อมได้ ๒๑ พระพรรษา
พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นเถลิงราชย์เปลี่ยนเป็นรัชกาลที่ ๓ ในปีนั้น วันนั้น
ลุจุลศักราช ๑๑๘๘ ปีจอ อัฐศก สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าให้เผดียงทูลกระหม่อมพระองค์ใหญ่ ให้ทรงแปลพระปริยัติธรรม ๓ วัน ก็ทรงแปลได้หมด แล้วให้พระมหาโตแปลแก้รำคาญหูเสียบ้าง ท่านเข้าแปลถวาย วันหนึ่งแปลไปได้สักลานกว่า ผู้กำกับการสอบถือพัดยศเข้ามา ท่านก็เลยม้วนหนังสือ ถวายกราบลามาข้างนอกพระราชวัง ใครถามว่า “ได้แล้วหรือขอรับ คุณมหา” ท่านรับคำว่า “ได้แล้วจ้ะ”
ปีฉลู เอกศก จุลศักราช ๑๑๙๑ ทูลกระหม่อมองค์ใหญ่ไม่สำราญพระหฤทัยในวัดมหาธาตุ จึงทรงกลับมาประทับ ณ พระตำหนักเดิม วัดถมอราย
ในศกนี้ พระมหาโตมีอายุ ๕๔ ปี พรรษา ๓๒ ยังรอรักอยู่วัดมหาธาตุ มีผู้บอกข่าวว่าโยมผู้หญิงอยู่ทางเหนือป่วยหนัก ท่านขี่เรือเสาขึ้นไป พร้อมนำเรือสีไปด้วย เพื่อจะพายอวดโยมของท่าน แต่โยมก็ถึงแก่อนิจกรรมเสียก่อน ท่านก็ทำฌาปนกิจเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงแบ่งทรัพย์มรดกของโยมแก่บรรดาญาติและหลานๆ ทั่วกัน แล้วที่ยังเหลือเป็นเงินทองก็นำมาถึงอำเภอป่าโมกข์ จังหวัดอ่างทอง ณ ที่วัดขุนอินทร์ประมูล ท่านก็เอาทรัพย์นั้นออกสร้างพระนอนไว้ มีลักษณะงดงามองค์หนึ่งยาวมาก สร้างอยู่หลายปีจึงสำเร็จ ต่อนั้นท่านก็เป็นพระสงบ มีจิตแน่วแน่ต่อญาณคติ มีวิถีจิตแน่วแน่ไปในโลกกุตรภูมิ ไม่ฟุ้งซ่านโอ่อ่า เจียมตัวเจียมตน เทศน์ได้ปัจจัยมาสร้างพระนอนนั้นจนหมด ท่านทำซอมซ่อเงียบๆ สงบปากเสียงมา ๒๕ ปี ตลอดรัชสมัยของแผ่นดินพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
ครั้นถึงปีกุน ยังเป็นโทศก จุลศักราช ๑๒๑๒ ปี วันพุธ ขึ้น ๑ ค่ำ เดือนห้า เวลาค่ำ ๘ ทุ่ม ๕ บาท สมเด็จพระนั่งเกล้าเสด็จสวรรคต ศิริพระชนมายุได้ ๖๓ พรรษา กับ ๑๑ วัน ดำรงอยู่ในราชสมบัติ ๒๕ ปี ๗ เดือน ๒๓ วัน พระมหาโต อายุได้ ๖๔ ปี ๔๒ พรรษา พวกข้าราชการได้ทูลอัญเชิญเสด็จทูลกระหม่อม พระราชาคณะ วัดบวรนิเวศน์วรวิหาร ให้เสด็จนิวัติออกเถลิงราชย์ พระมหาโตเลยออกธุดงค์หนีหายไปหลายเดือน ครั้นทรงระลึกได้ จึงรับสั่งให้หาตัวมหาโตก็ไม่พบ ทรงกริ้วสังฆการี รับสั่งว่า “ท่านเหาะก็ไม่ได้ ดำดินก็ไม่ได้ แหกกำแพงจักรวาลหนีก็ยังไปไม่ได้” จึงรับสั่งพระญาณโพธิออกติดตามก็ไม่พบ รับสั่งว่า “ฉันจะตามเอง” ครั้นถึงเดือนเจ็ดปีนั้น มีกระแสร์รับสั่งถึงเจ้าเมือง ฝ่ายใต้ ฝ่ายเหนือ ตะวันตก ตะวันออก ทั่วพระราชอาณาจักร จับพระมหาโตส่งมายังเมืองหลวงให้ได้ ให้เจ้าคณะเหนือ กลาง ใต้ ตก ออก ออกค้นหามหาโต เลยสนุกกันใหญ่ ทั้งฝ่ายพุทธจักร อาณาจักร แม้จะมีท้องตรารับสั่งเร่งรัดอย่างไรก็ยังเงียบอยู่ เจ้าเมือง เจ้าหมู่ฝ่ายพระร่วมใจกันจับพระอาคันตุกะทุกองค์ส่งยังศาลากลาง คราวนี้พระมหาโตลองวิชาเปลี่ยนหน้า ทำให้คนรู้จักกลับจำไม่ได้ เห็นเป็นพระองค์อื่น ปล่อยท่านไปก็มี (อาคมชนิดนี้ พระอาจารย์เจ้าเรียกว่า นารายณ์แปลงรูป) ต่อมาท่านพิจารณาเห็นว่า นายด่าน นายตำบล เจ้าเมือง กรรมการ จับพระไปอดเช้าบ้าง เพลบ้าง ตากแดดตากฝน ได้รับความลำบาก ทำทุกข์ทำยากแก่พระสงฆ์คงไม่ดีแน่ จึงแสดงตนให้กำนันบ้านไผ่รู้จัก จึงส่งตัวมายังศาลากลาง เจ้าเมืองมีใบบอกมายังกระทรวงธรรมการ๐ บอกส่งไปวัดโพธิเชตุพนฯ พระญาณโพธิขึ้นไปดูตัวก็จำได้ แล้วคุมตัวลงมาเฝ้า ณ พระที่นั่งอมรินทรท่ามกลางขุนนางข้าราชการ ครั้นเห็นพระญาณโพธินำพระมหาโตเข้าเฝ้า จึงมีพระดำรัสว่า “เป็นสมัยของฉันปกครองแผ่นดิน ท่านต้องช่วยฉันพยุงพระบวรพุทธศาสนาด้วยกัน” แล้วมีพระบรมราชโองการให้กรมสังฆการี วางฎีกา ตั้งพระราชาคณะตามธรรมเนียม พระมหาโตก็เข้าไปตามฎีกานิมนต์ จึงทรงถวายสัญญาบัตรตาลิปัตแฉกหักทองขวาง ด้ามงา เป็นพระราชาคณะ ที่พระธรรมกิตติ เจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม มีฐานานุกรม ๓ องค์ มีนิตยภัตรเดือนละ ๔ ตำลึง ๑ บาท ทั้งค่าข้าวสาร เมื่อออกจากพระบรมราชวังแล้ว ท่านแบกพัดไปเอง ถึงบางขุนพรหมและบางลำภู บอกลาพวกสัปปุรุษที่เคยนับถือ มีเสมียนตราด้วง และพระยาโหราธิบดีเก่า และผู้อื่นอีกมาก แล้วท่านก็กลับมาวัดมหาธาตุ ลาพระสงฆ์ทั้งปวง ลงเรือกราบสีที่ได้รับพระราชทานมาแต่พระพุทธเลิศหล้า ข้ามไปกับเด็กช้างผู้เป็นหลาน ท่านถือบาตร ผ้าไตรและบริขาร ไปบอกพระวัดระฆังว่า “จ้าวชีวิต ทรงตั้งฉันเป็นพระธรรมกิตติ มาเฝ้าวัดระฆังนี่จ้ะ” ท่านแบกตาละปัตพัดแฉก สพายถุงย่ามสัญญาบัตร ไปเก้ๆ กังๆ พะรุงพะรัง พวกพระนึกขบขัน จะช่วยท่านถือ เจ้าคุณธรรมกิตติก็ไม่ยอม พระเลยสนุกตามมุงดูกันแน่น แห่กันเป็นพรวนเข้าไปแน่นในโบสถ์ บางองค์ก็จัดโน่นทำนี้ ต้มน้ำบ้าง ตักน้ำถวายบ้าง ตะบันหมากบ้าง กิตติศัพท์เกรียวกราวตลอดกรุง คนนั้นมาเยี่ยม คนนั้นก็มาดู เลื่อมใสในจรรยาบ้าง เลื่อมในในยศศักดิ์บ้าง ท่านทำขบขันมาก ดูสนุกเป็นมหรสพโรงใหญ่ทีเดียว บางคนชอบหวยก็เอาไปแทงหวย ขลังเข้าทุกๆ วัน คนก็ยิ่งเอาไปแทงหวยถูกกันมากรายยิ่งขึ้น เลยไม่ขาดคนไปมาหาสู่ บางคนก็ว่าท่านบ้า บางคนก็ตอบว่า “เมื่อขรัวโตบ้า พากันนิยม ชมว่าขรัวโตเป็นคนดี ยามนี้ขรัวโตเป็นคนดี พูดกันบ่นอู้อี้ว่าขรัวโตบ้า” บางวันเขานิมนต์ไปเทศน์ เมื่อจบท่านบอกว่า “เอวํ พังกุ้ย” บ้าง บางวันก็บอกว่า “เอวํ กังสือ” บางวันก็บอกว่า “เอวํ หุนหัน” เล่ากันต่อๆ มาว่า ท่านเทศน์ไม่เว้นแต่ละวัน ครั้งหนึ่ง ที่วังเจ้าฟ้ามหามาลา กรมหมื่นบำราบปรปักษ์ มีเทศน์ ไตรมาส ๓ วันยก พระพิมลธรรม (อ้น) ถวายเทศน์ พระธรรมกิตติเป็นผู้รับสัพพี พระพิมลธรรมถวายเทศน์เรื่องปฐมสมโพธิ ปริเฉทลักขณะปริวัตร ความว่า “กาลเทวินทร์ดาบสร้องไห้ เสียใจว่า ตนจะตายไปก่อน ไม่ทันเห็นพระสิทธาตถ์ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ซ้ำจะต้องเกิดในอสัญญีภพเสียอีก เพราะผลของอรูปสมาบัติเนวะสัญญานาสัญญายะตะนะฌานในปัจจุบันชาติ” วันที่ ๓ ก็มาถวายอีก พระธรรมกิตติ (โต) ก็ไปรับสัพพีอีก เจ้าฟ้ามหามาลาฯ ทรงรับสั่งถามพระพิมลธรรมว่า “พระคุณเจ้า ฌานโลกีย์นี้ได้ยินว่าเสื่อมได้มิใช่หรือ” พระพิมลธรรมรับว่า “ถวายพระพร เสื่อมได้” ทรงรับสั่งรุกอีกว่า “เสื่อมก็ได้ ทำไมกาลเทวินทร์ไม่ทำให้เสื่อมเสียก่อน บำเพ็ญแต่กามาวจรฌาน ถึงตายก่อนสิทธาตถ์ ก็พอไปเกิดอยู่ในรูปพรหม หรือ ฉกามาพจรชั้นหนึ่งชั้นใด ก็พอจะได้ เหตุใดไม่ทำญาณของตนให้เสื่อม ต้องมานั่งร้องไห้เสียน้ำตาอยู่ทำไม” คราวนี้พระพิมลธรรมอั้นตู้ ไม่สามารถแก้ไขออกให้แจ้งได้ ส่วนพระธรรมกิตติ (โต) เป็นพระรับสัพพี เห็นพระพิมลธรรมเฉย ไม่เฉลยข้อปัญหานั้น จึงออกเสียงเรอดัง “เออ” แล้วบ่นว่า “เราหนอช่างกระไร วัดระฆังอยู่ใกล้ๆ ตรงวังข้ามฟาก เหตุใดไม่ข้ามฟาก ต้องมาฝืนร่างกายทนลำบากจนดึกดื่น ๒ วัน ๓ คืน ดังนี้” แล้วท่านก็นั่งนิ่ง สมเด็จเจ้าฟ้ามหามาลาฯ ก็ทรงจุดเทียน พระพิมลธรรมก็ขึ้นถวายเทศน์จบ ลงจากธรรมาสน์แล้ว สมเด็จเจ้าฟ้ามหามาลาฯ ก็ประเคนเครื่องไทยธรรม พระพิมลธรรมยะถา พระธรรมกิตติรับสัพพี พระพิมลธรรม ถวายพระพรลา เมื่อถึงกำหนดเทศน์อีก พระธรรมกิตติก็ได้รับฎีกาอันเป็นลายพระหัตถ์ของสมเด็จเจ้าฟ้ามหามาลาฯ นิมนต์เทศน์ต่อจากพระพิมลธรรม ท่านเต็มใจรับและบอกมหาดเล็กให้ไปกราบทูลให้ทรงทราบ
ครั้นวัน ๗ ค่ำ เวลา ๓ ทุ่ม พระธรรมกิตติก็ไปถึงท้องพระโรง สมเด็จเจ้าฟ้ามหามาลาฯ เสด็จออก ทรงเคารพปราศรัย แล้วจุดเทียน พระธรรมกิตติขึ้นธรรมาสน์ถวายศีล ถวายศักราช ถวายพระพร แล้วจึงเดินคาถาที่ผูกขึ้นว่า
ววิมลธมฺมสฺส ฯลฯ กสฺมาโส วิโสจตีติ
อธิบายความว่า “มหาบพิตรเจ้า มีพระปุจฉา แก่เจ้าคุณพระพิมลธรรมว่า เหตุไฉน กาลเทวินทร์จึงร้องไห้ ควรทำฌานของตนให้เสื่อม ดีกว่านั่งร้องไห้” ดังนี้ ข้อนี้อาตมาภาพ ผู้มีสติปัญญาทราม หากได้รับพระอภัยโทษ โปรดอนุญาตให้แสดง ต่อข้อปุจฉา อาตมาจำต้องแก้ต่างเจ้าคุณพระพิมลธรรม ดังมีข้อความตามพระบาลีที่มีมาในพระปุคคลบัญญัติ มีอรรถกถาฎีกา แก้ไว้พร้อมตามพระคัมภีร์ว่า
กุปฺธมฺโม อกุปฺปธมฺโม
ท่านแสดงตามคัมภีร์เสียพักหนึ่ง ว่าด้วยฌานโลกีย์เสื่อมได้ในคนที่ควรเสื่อม ไม่เสื่อมได้ในคนที่ไม่ควรเสื่อม ฌานก็เสื่อมไม่ได้ตามบาฬี แล้วอธิบายซ้ำว่า ธรรมดา ฌานโลกีย์เสื่อมได้เร็วก็จริงอยู่ แต่บุคคลผู้เป็นเจ้าของฌานมีความกระหายต่อเหตุการณ์ อารมณ์ที่เกิดขึ้นในใจเป็นของใหม่ ของเก่าก็ยังอาลัย สละทอดทิ้งเสียไม่ได้ เพราะเคยเสวยสุขคุ้นเคยกันมานาน ของเก่าคือฌานที่ตนอาศัยสงบอารมณ์ ก็เห็นมีคุณดีอยู่ ของใหม่ตามข่าวบอกเล่ากันต่อมา และคนที่ควรเชื่อได้ ชี้แจงอย่างถี่ถ้วนว่าของใหม่ดีอย่างนั้นๆ แต่อาลัยของเก่าก็มาก จึงทิ้งไม่ได้ ทำไปไม่ได้ จะยึดสองฝ่ายก็ไม่ได้ เพราะของใหม่ไม่คุ้นกัน ไม่เคยเห็นใจกัน ผะอืดผะอมมาก เสียดายของรักก็มี เสียดายของใหม่ คือรู้แน่ว่าพระสิทธาตถ์จะตรัสเป็นพระพุทธเจ้าก็มี แต่แกเสียใจว่าจะตายไปเสียก่อน และเห็นว่าพรหมโลกอยู่ในเงื้อมมือแน่นอน แต่คุณของการพบพระพุทธเจ้านั้นจะทำประโยชน์สุขสมบัติอะไร กาลเทวินทร์ยังไม่รู้ จึงไม่อาจทำฌานให้เสื่อม ทั้งเป็นบุคคลที่เป็นอุปธรรม ยังไม่เป็นคนที่ควรเสื่อมจากคุณธรรมที่ตนได้ ตนถึงด้วย เปรียบเสมือนคนที่ป่วยไข้อยู่ จะกระทำกระปรี้กระเปร่าแข็งแรงคึกคัก กินข้าว กินน้ำอร่อยอย่างคนธรรมดาดีดีนั้นไม่ได้ คนที่ดีดี ผิวพรรณผุดผ่อง จะมารยาทำป่วยไข้ จะนั่งห่มผ้าคลุมกรอมซอมซ่อ พูดกระร่อกระแร่เป็นคนไข้ก็ทำไม่ได้ ทำให้คนอื่นแลเห็นรู้แน่ว่า คนที่ทำเป็นไข้นั้น เป็นไข้มารยา ไข้ไม่จริง คนในเห็นคนนอกเป็นสุขสบาย ก็ออกมาเป็นคนนอกไม่ได้ เหตาลัยความคุ้นเคยข้างในอยู่มาก คนนอกเห็นคนในนวยนาฏน้ำนวลผ่องใสด้วยผ้านุ่งห่ม แต่ไม่อาจเป็นคนในกับเขา เพราะเป็นห่วงอาลัยของข้างนอก จะไปเที่ยวชั่วคราวนั้นได้ แต่จะไปอยู่ทีเดียวนั้นไม่ได้ เพราะไม่ไว้วางใจว่าเหตุการณ์ข้างใน จะดีหรือเลวยังไม่แน่ใจ แต่เป็นกระหายอยู่เท่านั้น คนที่มีความสุขสบายอยู่ด้วยเพศบวชมาช้านาน แต่แลเห็นคนที่ไม่บวชเที่ยวเตร่ กินนอน ดู ฟัง เล่นหัวสบาย ไม่มีเครื่องขีดคั่นอะไร บางคราวชาววัดบางคนเห็นดี แต่ไม่อาจออกไป เพราะถ้าออกไปไม่เหมือนเช่นเขา หรือเลวทรามกว่าเขา จะทุกข์ตรมระบมทวีมาก จะเดือดร้อนยิ่งใหญ่มาก ก็เป็นแต่นึกสนุกไม่ออกไปทำอย่างเขา เพราะอาลัยความสุขในการบวชค้ำใจอยู่ ออกไปไม่ได้ เป็นแต่ทำเอะอะฮึดฮัดไปตามเพลง คนที่ยังไม่เคยบวชนั้น เห็นว่าผู้บวชสบายไม่ต้องกังวลอะไร กินแล้วก็นอน นอนแล้วก็เที่ยวตามสบาย ไม่ต้องเหงื่อไหลไคลย้อย ไม่ต้องแสวงหาอาหาร มีคนเลี้ยงคนเชิญน่าสบาย คนที่ไม่บวชคิดเห็นดีไปเพ้อๆ เท่านั้น เลยนั่งดูกันไปดูกันมา เพราะยังไม่ถึงคราวจะบวช หรือยังไม่ถึงคราวจะสึก ก็ยังสึกและยังบวชไม่ได้นั่นเอง ข้ออุปมาทั้งหลายดังถวายวิสัชนามานี้ ก็มีอุปมัยเปรียบเทียบด้วยฌานทั้ง ๙ ประการ ที่เป็นธรรมเสื่อมได้เร็วก็จริง แต่ยังไม่ถึงคราวเสื่อม ก็ยังเสื่อมไม่ได้ กาลเทวินทร์ดาบสก็เปรียบดังชาววัด ชาวบ้าน ชาวนอก ชาวใน ต่างเห็นของกันและกัน ไม่อาจแสร้งให้ฌานเสื่อม ที่ตรงแกร้องไห้นั้น อาตมาภาพเข้าใจว่า แกร้องไห้เสียดายขันธ์ เพราะแกกล่าวโดยอันยังไม่รู้เท่าทันขันธ์ ว่ามันเป็นสภาพแปรปรวน แตกดังเป็นธรรมดาของมันเอง แต่เวลานั้น โลกยึดถือขันธ์มาช้านาน ที่กาลเทวินทร์เจริญอรูปฌานจนสำเร็จ ก็เพราะคิดรักษาขันธ์ เพื่อมิให้ขันธ์พลันแตกสลายทำลาย จึงพยายามได้สำเร็จความปรารถนาและเสียดายหน้าตา ถ้าชีวิตของแกอยู่มาอีก ๓๖ ปี แกจะได้เจ้าบรรจบประสบคุยกับหมู่พุทธบริษัท และหมู่พระประยูรญาติ และหมู่พุทธมามกะผู้นับถือ แกจะพลอยมีชื่อยกตัวเป็นครูอย่างดีกว่าที่แล้วมา แต่พระอรรถกถาจารย์ท่านไม่ว่าอย่างขรัวโต เห็นท่านว่าเพียงกาลเทวินทร์เสียใจว่าจะตายเสียก่อนเท่านั้น ไม่ทันพระสิทธาตถ์เป็นพระพุทธเจ้าเท่านี้
ตอนที่ 7
เรื่องเทศน์ถวายและเฉลยพระปัญหาถวายสมเด็จเจ้าฟ้ามหามาลา กรมหมื่นบำราบปรปักษ์ ตามที่เรียบเรียงไว้นี้ ได้ฟังมาจากสำนักพระปรีชาเฉลิม (แก้ว) เจ้าคุณพระปรีชาเฉลิม (แก้ว) ได้ฟังมาจากเจ้าคุณปรีชาเฉลิม (เกษ) พระปรีชาเฉลิม (เกษ)เป็นเปรียญ ๖ ประโยค อยู่วัดอรุณราชวราราม ได้เป็นพระรับสัพพี จึงได้ยินเทศนาถวายของเจ้าคุณธรรมกิตติ (โต) ภายหลังเลื่อนขึ้นเป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต)
ต่อแต่นั้นมา ท่านก็มีชื่อเสียงในทางเทศน์ ตัดทอนธรรมะให้ผู้ฟังเข้าใจง่าย ไม่ต้องเสียเวลาไตร่ตรองสำนวน เพราะเทศน์อย่างคำไทยตรงๆ จะเอาข้อธรรมอะไรแสดง ก็ง่ายต่อผู้ฟังดังประสงค์ อย่างที่ถวายในวังสมเด็จเจ้าฟ้ามหามาลา ผู้ฟังชมว่าดี เกิดโอชะในธรรมสวนะได้ง่าย โลกนิยมเทศน์อย่างนี้มาก พระธรรมกิตติแสดงธรรมตามภาษาชาวบ้าน ถือเอาความเข้าใจของผู้ฟังเป็นเกณฑ์ ไม่ต้องร้อยกรอง
ครั้นถึงปีชวด ฉศก จุลศักราช ๑๑๒๖ ปี ได้ถูกนิมนต์เทศน์หน้าพระที่นั่ง พอเข้าไปถึง พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จออก จึงปราศรัยสัพยอก “ว่าไงเจ้าคุณ เขาพากันชมว่าเทศน์ดีนักนี่ วันนี้ต้องลองดู” พระธรรมกิตติ (โต) ถวายพระพรว่า “ผู้ที่ไม่มีความรู้เหตุผลในธรรม ครั้นเขาฟังรู้ เขาก็ชมว่าดี ขอถวายพระพร” พระองค์ทรงพระสรวล แล้วทรงถามว่า “ได้ยินข่าวเขาว่า เจ้าคุณบอกหวยเขาถูกกัน จริงหรือ” ทูลว่า “ขอถวายพระพร อาตมภาพได้อุปสมบทมา ไม่เคยออกวาจาว่าหวยจะออก ด กวางเหมงตรงๆ เหมือนดังบอก ด กวางเหมงแด่สมเด็จพระบรมบพิตร์พระราชสมภารเจ้าอย่างวันนี้ ไม่ได้เคยบอกแก่ใครเลย” ได้ทรงฟังแล้วทรงพระสรวลอีก แล้วทรงจุดเทียน พระธรรมกิตติจับตาลปัดแฉกขึ้นธรรมาสน์ เมื่ออาราธนาแล้ว ก็ถวายศีลแล้วถวายศักราช พอถึงปีชวด ท่านก็ย้ำ “ฉศก ฉศก ฉศก ฉศก” สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กำลังทรงพระอักษรอยู่ ได้ทรงฟังปีชวด ฉศก ย้ำๆ อยู่นาน ก็เงยพระพักตรขึ้นพนมหัตถ์รับว่า “ถูกแล้ว ชอบแล้ว เจ้าคุณ” แต่ก่อนกาลที่ล่วงมาแล้ว เดิมเลข ๖ ท้ายศักราช เขียนและอ่านต่อๆ มาว่า “ฉ้อศก” นั้นไม่ถูก แล้วรับสั่งกรมราชเลขาให้ตราพระราชบัญญัติออกประกาศเป็นใบปลิวให้รู้ทั่วกัน ทั่วพระราชอาณาจักรว่า “ตั้งแต่ปีชวด ฉศก เหมือนศกนี้มีเลข ๖ เป็นเศษด้วย ไม่ให้เขียนและอ่านว่า ฉ้อศก อย่าเขียนตัว อ เคียง ไม้ให้เขียนไม้โท ลงไปเป็นอันขาด ให้เขียน ฉ เฉยๆ ก็พอ ถ้าเขียนและอ่านว่า ฉ้อศกอีก จะต้องว่าผู้นั้นผิดและฝ่าฝืน” กรมราชเลขาก็บันทึกและออกประกาศทราบทั่วกัน และนิมนต์ท่านเทศน์ต่อไป
พระธรรมกิตติก็ตั้งคัมภีร์ บอกศักราชต่อจนจบ ถวายพรแล้วเดินคาถาจุณณียบท อันมีมาในพราหมณ์สังยุตตนิกายปาฏิกวรรคนั้น แปลถวายว่า ยังมีพราหมณ์ผู้หนึ่งแกนั่งคิดว่า “สมณํ โคตมํ อุปสงฺกมิตฺวา อิมํ ปณฺหํ ปุจฉามิ อหํ” กูจะเข้าไปหาพระสมณโคดมแล้ว กูจะถามปัญหากับเจ้าสมณะโคดมดูสักหน่อย “สีสณฺหาตฺวา ปารุปนํนิวาเสตวา คามโตนิกฺขมิตฺวา เชตวน มหาวิการภิมุโข อคมาสิ” แปลว่า โสพฺราหฺมโณ พราหมณ์ผู้นั้น คิดฉะนี้แล้ว แกจึงลงอาบน้ำดำเกล้า โสพฺเภ ในห้วยแล้ว แกออกจากบ้านแก แกตั้งหน้าตรงไป พระเชตวันมหาวิหาร ถึงแล้วแกจึงตั้งข้อถามขึ้นต้น แกเรียกกระตุกให้รู้ตัวขึ้นก่อนว่า “โภ โคตม นี่แนะพระโคดม ครั้นท่านว่ามาถึงคำว่า “นี่แน่ พระโคดม” เท่านี้แล้ว ก็กล่าวว่า คำถามของพราหมณ์และคำเฉลยของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นมีอยู่เป็นประการใด สมเด็จพระบรมบพิตร์เจ้าได้ทรงตรวจตราตริตรองแล้ว ก็ได้ทรงทราบแล้วทุกประการ ดังรับประทานวิสัชชนามา ก็สมควรแก่เวลาแต่เพียงนี้ เอวํ ก็มีด้วยประการดังนี้ ขอถวายพระพร พอยถาสัพพีแล้ว ก็ทรงพระสรวลตบพระหัตถ์ว่า “เทศน์เก่ง จริง พวกพราหมณ์ที่เขาถือตัวว่าเขารู้มาก เขาแก่มาก เขาไม่ไคร่ยอมเคารพพระพุทธเจ้านัก เขามาคุยๆ ถาม พอแก้รำคาญ ต่อนานๆ เขาก็เชื่อในธรรม เขาก็สำเร็จเป็นพระโสดา ที่ความดำริห์ของพราหมณ์ผู้เจ้าทิฏฐิทั้งหลายเขาวางโตทุกคน เจ้าคุณแปล อหํ ว่า กู นั้น ชอบแท้ทางความดีจริงๆ รางวัลก็ได้รับพระราชทานรางวัล ๑๖ บาท เติมท้องกัณฑ์ ๒๐ บาท รวมเป็น ๓๖ บาท (เรื่อง ฉศก เรื่องถวายเทศน์อย่างที่เรียบเรียงมานี้ พระปรีชาเฉลิม (แก้ว) เคยเล่าให้ฟังเป็นพื้นจำมีอยู่บ้าง ซึ่งได้สืบถามพระธรรมถาวรอีกท่านก็รับว่า จริง แต่เทศน์ว่าอย่างไรนั้น ลืมไป พระธรรมถาวรว่า แต่ความคิดของพราหมณ์ใช้คำว่า กู กู นี้ ยังจำได้ เจ้าคุณธรรมถาวรเลยบอกต่อไปว่า วันที่ถวายเทศน์ ฉศก นี้ และถวาย ด กวางเหมง ไว้ก่อนขึ้นเทศน์นั้นว่า วันนั้นหวยจำเพาะออก ด กวางเหมง จริงอย่างที่ท่านแก้พระราชกระทู้ว่า ไม่เคยบอกตัวตรงๆ กับใครๆ เหมือนดังบอกสมเด็จพระบรมบพิตรวันนี้ ครั้นถึงเดือน ๑๑ ขึ้น ๑๔ ค่ำ ปีชวด ศกนี้เอง ทรงพระมหากรุณาโปรดเลื่อนสมณศักดิ์พระธรรมกิตติ (โต) ขึ้นเป็นพระเทพกวี ราชาคณะผู้ใหญ่ ในตำแหน่งสูง มีนิตยภัตร ๒๘ บาท ค่าข้าว ๑ บาท
สิ้นข้อความในประวัติที่เจ้าของท่านเขียนไว้ในฉากที่ ๕ ในฝาผนังโบสถ์วัดอินทรวิหาร ที่ได้คิดวิจารณ์ อนุมานแสวงหาเหตุผลต้นปลาย ตรวจราชประวัติและราชพงศาวดาร ประกอบกับรูปภาพในฉากนี้ ก็สิ้นข้อความในเพียงนี้
ในประวัติของสมเด็จโต ท่านให้ช่างเขียนๆ วัดระฆัง เขียนรูปบ้านพระยาโหรา รูปเสมียนตราด้วง รูปสมเด็จพระสังฆราช (นาค) รูปพระเทพกวี (โต) รูปวัดอินทรวิหาร รูปวัดกัลยาณมิตร รูปเด็กแบกคัมภีร์ ในงานฉลองวัดทั้ง ๒ และรูปป่าพระพุทธบาท รูปป่าพระฉาย รูปพระอาจารย์เสม รูปพระอาจารย์รุกขมูล รูปเมืองเขมร รูปเสือที่ทางไปเมืองเขมร รูปจ้างเขมร ตั้งแต่ฉากที่ ๑ ถึง ฉากที่ ๑๓ – ๑๔ จะได้สันนิษฐานเป็นเรื่องดังต่อไปนี้
ครั้นออกพรรษาในปีชวด ศกนั้นแล้ว พระเทพกระวี (โต) จึงลงมาจัดการกวาดล้างกุฏิใหญ่ ๕ ห้อง ข้างคลองคูวัดระฆังข้างใต้ แล้วบอกบุญแก่บรรดาผู้ที่มาสันนิบาต ให้ช่วยการทำบุญขึ้นกุฏิ ได้เผดียงสงฆ์ลงสวดมนต์ทั้งวัดที่กุฏินั้น ค่ำวันนั้นมีมหรสพฉลองผู้ที่ศรัทธานับถือ ลือไปถึงไหน ก็ได้มาช่วยงานถึงนั่น บรรดาผู้ที่มานั้นต่างก็หาเลี้ยงกันเอง งานที่ทำคราวนั้นเป็นงานใหญ่มาก เลี้ยงพระถึง ๕๐๐ องค์ ผู้คนต่างนำสำรับคาวหวาน เครื่องไทยทานมาถวายพระเทพกระวีแน่นวัดแน่นวา ครั้นการเลี้ยงพระเลี้ยงคนสำเร็จเรียบร้อย ท่านลงแจกด้ายถักผูกข้อมือคนละเส้น แล้วท่านบอกว่า “ดีนักจ้ะ ลองดูจ้ะ ตามประสงค์”
ครั้นพระเทพกระวี (โต) ขึ้นอยู่บนกุฏิ ๕ ห้องแล้ว ผู้คนก็มาละเล้าละลุมเพื่อจับหวยทุกวัน ครั้นนั้นพระยาโหราธิบดี ทำบุญฉลองสัญญาบัตร พระเทพกวีก็ได้ไปสวดมนต์ไปฉัน ครั้นพระยาโหราธิบดี และเสมียนตราด้วง ปฏิสังขรณ์วัดบางขุนพรหม (วัดอินทรวิหาร) สมเด็จพระสังฆราช (นาค) พระเทพกวีก็ได้ไปเทศน์ไปฉันการฉลองวัด เมื่อท่านพระยานิกรบดินทร์สร้างวัดกัลยาณมิตรแล้วก็มีการฉลอง สมเด็จพระสังฆราช (นาค) พระเทพกระวี (โต) ก็ได้ไปฉัน คราวพระยานิกรบดินทร์สร้างโบสถ์วัดเกตุไชโย พระเทพกระวี (โต) ก็ได้ไปเป็นแม่งานฉลองโบสถ์ มีการมหรสพใหญ่ตามภาษาชาวบ้านนอก อำเภอไชโยนั้น มีพระสงฆ์ผู้ใหญ่ในกรุงเทพฯ ได้ขึ้นไปช่วยงานฉลองโบสถ์วัดเกตุไชโยนั้นมากท่านด้วยกัน
ครั้นกาลล่วงมา สมเด็จพระวันรัต วัดมหาธาตุ ถึงมรณภาพแล้ว สมเด็จพระวันรัต เซ่ง วัดอรุณ เป็นเจ้าคณะกลาง ครั้งนั้นพระอันดับในวัดระฆังทะเลาะกัน และฝ่ายหนึ่งได้ตีฝ่ายหนึ่งศีรษะแตก ฝ่ายศีรษะแตกได้เข้าฟ้องพระเทพกระวี เจ้าอาวาสๆ ก็ชี้หน้าว่า “คุณตีเขาก่อน” พระองค์หัวแตกเถียงว่า “ผมไม่ได้ทำอะไร องค์นั้นตีกระผม” พระเทพกระวีว่า “ก็เธอตีเขาก่อน เขาก็ต้องตีเธอบ้าง” พระนั้นก็เถียงว่า “เจ้าคุณเห็นหรือ” พระเทพกระวีเถียงว่า “ถึงฉันไม่ได้เห็นก็จริง แต่ฉันรู้อยู่นานแล้วว่า คุณตีเขาก่อน คุณอย่าเถียงฉันเลย” พระองค์ศีรษะแตกเสียใจมาก จึงได้อุตส่าห์เดินลงไปวัดอรุณ เข้าอุทธรณ์ต่อสมเด็จพระวันรัต (เซ่ง) เจ้าคณะกลาง
ส่วนสมเด็จพระวันรัต (เซ่ง) จึงเรียกตัวพระเทพกระวี (โต) ไปชำระตามคำอุทธรณ์ พระเทพกระวี (โต) ก็โต้คำอุทธรณ์และตอบสมเด็จพระวันรัตว่า “ผมรู้ดีกว่าเจ้าคุณอีก เจ้าคุณได้แต่รู้ว่า เห็นเขาหัวแตกเท่านั้น ไม่รู้ถึงเหตุในกาลเดิมมูลกรณี ผมรู้ดีว่า คุณองค์นั้นได้ตีคุณองค์นั้นก่อน และเขาบ่ห่อนจะรู้สึกตัว เขามามัวแต่ถือหัว หัวเขาจึงแตก”
สมเด็จพระวันรัต (เซ่ง) ฟังๆ ก็นึกแปลก แยกวินิจฉัยก็ไม่ออก กลับจะเป็นคนถือเอาแต่คำบอก จึงย้อนถามว่า “เจ้าคุณเห็นอย่างไร จึงรู้ได้ว่า พระองค์นี้ตีพระองค์นั้นก่อน แจ้งให้ฉันฟังสักหน่อย ให้แลเห็นบ้าง จะได้ช่วยกันระงับอธิกรณ์”
พระเทพกระวีว่า “พระเดชพระคุณจะมีวิจารณ์ยกขึ้นพิจารณาแล้ว กระผมก็เต็มใจ อ้างอิงพยานถวาย” พระวันรัตว่า “เอาเถอะ ผมจะตั้งใจฟังเจ้าคุณชี้พยานอ้างอิงมา” พระเทพกระวีจึงว่า “ผมทราบตามพุทธฎีกา บอกให้ผมทราบว่า นหิเวรา นิวปสัมมันติ ว่า เวรต่อเวร ย่อมเป็นเวรกันร่ำไป ถ้าจะระงับเสียด้วยไม่ตอบเวร เวรย่อมระงับ นี่แหละ พระพุทธเจ้าบอกผมเป็นพยาน กระผมว่า เวรต่อเวร มันจึงทำกันได้ ผมเห็นตามคำพระพุทธเจ้าบอกผมเท่านี้ ผมจึงวิจารณ์พิจารณากล้ากล่าวได้ว่า คุณตีเขาก่อน”
สมเด็จพระวันรัต (เซ่ง) ชักงงใหญ่ จะเถียงก็ไม่ขึ้น เพราะท่านอ้างพุทธภาษิต จึงล้มเข้าหาพระเทพกระวี (โต) ว่า “ถ้ากระนั้น เจ้าคุณต้องระงับอธิกรณ์ เรื่องนี้ว่า ใครเป็นผู้ผิด ผู้ถูกโทษจะตกกับผู้ใด แล้วแต่เจ้าคุณจะตัดสินเถิด” พระเทพกระวีมัดคำพระวันรัตว่า “พระเดชพระคุณอนุญาตตามใจผม ผมจะชี้โทษคุณให้ยินยอมพร้อมใจกันทั้งคู่ความ ทั้งพิพากษาให้อธิกรณ์ระงับได้ ให้เวรระงับด้วย” สมเด็จพระวันรัตก็อนุญาต
พระเทพกระวี (โต) ก็ประเล้าประโลมโน้มน้าวกล่าวธัมมิกถา พรรณนาอานิสงค์ของผู้ระงับเวร พรรณนาโทษของผู้ต่อเวร ให้โจทก์จำเลยสลดจิต คิดเห็นบาปบุญคุณโทษ ปราโมทย์เข้าหากัน ท่านจึงแก้ห่อผ้าไตรออกกับเงินอีกสามตำลึง ทำขวัญองค์ที่ศีรษะแตก แยกบทชี้เป็นสามสถาน ผู้ตีตอบเอาเป็นหมดเวร จักไม่ตีใครต่อไป ถ้าขืนไปตีใครอีก จะลงโทษว่าเป็นผู้ก่อเวร ฝืนต่อพระบวรพุทธศาสนา มีโทษหนักฐานละเมิด
ผู้ที่ถูกตีก็ระงับใจไม่อาฆาต ไม่มุ่งร้ายต่อก่อเวรอีก “ถ้าขืนคดในใจทำหน้าไหว้ หลังหลอก เอาฉันเป็นผู้ปกครอง หรือขืนฟ้องร้องกันต่อไป ว่าฉันเอนเอียงไม่เที่ยงธรรมแล้ว จะต้องโทษฐานบังอาจหาโทษผู้ใหญ่ โดยหาความผิดมิได้ ทั้งจะเป็นเสี้ยนหนามต่อพระบวรพุทธศาสนา เป็นโทษใหญ่ร้อนถึงรัฐบาล จะต้องลงอาญาตามรบิลเมืองฯ”
“ฝ่ายฉันเป็นคนผิด เอาแต่ธุระอื่น ไม่สอดส่องดูแลลูกวัด ไม่คอยชี้แจงสั่งสอนอันเตวาสิก สัทธิวาหาริก ให้รู้ธรรมรู้วินัย จึงลงโทษตามพระวินัยว่าไม่ควรย่อมเป็นโทษแท้ ขอคดีเรื่องนี้จงเลิกระงับไปตามวินัยนี้” พระฐานะที่นั่งฟังทั้งมหาบาเรียนและพระอันดับพระคู่ความ ก็สาธุการเห็นดีพร้อมกันอย่างเย็นใจ พระวันรัต (เซ่ง) ก็เห็นดี สงบเรื่องลงเท่านี้ฯ
ครั้งหนึ่งพระวัดระฆัง เต้นด่าท้าทายกันขึ้นอีกคู่ พระเทพกระวี (โต) ท่านเอกเขนกนั่งอยู่นอกกุฏิท่าน ท่านแลเห็นเข้า ทั้งได้ยินพระทะเลาะกันด้วย จึงลุกเข้าไปในกุฏิ จัดดอกไม้ธูปเทียนใส่พาน รีบเดินเข้าไปในระหว่างวิวาท ทรุดองค์ลงนั่งคุกเข่าไปถวายดอกไม้ธูปเทียนพระคู่นั้น แล้วอ้อนวอนฝากตัวว่า “พ่อเจ้าประคุณ พ่อจงคุ้มครองฉันด้วย ฉันฝากตัวกับพ่อด้วย ฉันเห็นจริงแล้วว่า พ่อเก่งเหลือเกิน เก่งพอได้ เก่งแท้แท้ พ่อเจ้าประคุณ ลูกฝากตัวด้วย” เลยพระคู่นั้นเลิกทะเลาะกัน มาคุกเข่ากราบพระเทพกระวีๆ ก็คุกเข่ากราบตอบพระ กราบกันอยู่นั่น หมอบกันอยู่นั่นนานฯ
ครั้งหนึ่งสมเด็จพระยามหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง) นิมนต์เข้าไปเทศน์ที่จวน สมเด็จเจ้าพระยาจุดเทียน พระเทพกระวีขึ้นธรรมมาสน์ ครั้นรับศีลเสร็จแล้ว พวกหัวเมืองเข้ามาหาสมเด็จเจ้าพระยา หมอบกันเป็นแถว ส่วนตัวเจ้าพระยานั้นเอกเขนกรินน้ำชาไขว่ห้างกำลังพระเทศน์ พระเทพกวีเลยเทศน์ว่า “สัมมามัวรินกินน้ำชา มิจฉาหมอบก้มประนมมือ” สมเด็จเจ้าพระยาบาดหูลุกเข้าเรือน ส่วนพระเทพกระวีก็ลงจากธรรมาสน์กลับวัดระฆัง ข่าวว่าตึงกันไปนาน
ครั้นสมเด็จพระวันรัต (เซ่ง) ถึงมรณภาพแล้ว พระเทพกระวีต้องเป็นผู้ใหญ่นั่งหน้า ครั้งหนึ่งเมื่อมีกิจการฉลองสวดมนต์ในพระบรมมหาราชวัง พระเทพกระวีเป็นผู้ชักนำพระราชาคณะอ่อนๆ ลงมา ครั้นสวดเสร็จแล้วยถา พระรับสัพพีแล้วสวดคาถาโมทนาจบแล้ว พระเทพกวี (โต) จึงถวายอติเรกขึ้นองค์เดียวว่าดังนี้
อติเรกวสฺสตํ ชีวตุ อติเรกวสฺสตํ ชีวตุ อติเรกวสฺสตํ ชีวตุ ทีฆายุโก โหตุ อโรโคโหตุ สุขิโต โหตุ มหาราชา สิทฺธิกิจจํ สิทฺธิกมฺมํ สิทฺธิลาโภ ชโย นิจฺจํ มหาราชสํ ส ภวตุ สพฺพทา ขอถวายพระพร ดังนี้
สมเด็จพระจอมเกล้าทรงโปรดมาก รับสั่งถามว่า แก้ลัดตัดเติมจะได้บ้างไหม พระเทพกระวี (โต) ถวายพระพรว่า อาตมาภาพได้เปยยาลไว้ในตัวบทคาถา สำหรับสมเด็จบรมพิตรพระราชสมภารเจ้าจะได้ทรงตรอกลง ตามพระบรมราชอัธยาศัยแล้ว สมเด็จพระจอมเกล้าทรงตรอกซ้ำลงตรง ฑีฆายุ อีกบันทัดหนึ่ง ทรงตรอกลงที่หน้าศัพท์ มหาราชสฺส เป็น ปรเมนทรมหาราชวรสฺส นอกนั้นคงไว้ตามคำพระเทพกระวี (โต)ทุกคำ แล้วตราพระราชบัญญัติประกาศไปทุกๆ พระอาราม ให้เป็นขนบธรรมเนียมต้องให้พระราชาคณะผู้นั่งหน้าถวายคาถาอติเรกนี้ก่อน จึงรับ ภาวตุสัพฯ จึงถวายพระพรลา ออกจากพระที่นั่งได้ ตลอดจนการพระเมรุ การถวายพระกฐินทานตามพระอารามหลวง ต้องมีพระราชาคณะถวายอติเรกนี้ทุกคราวที่พระราชดำเนิน จึงเป็นราชประเพณีสืบมาจนทุกวันนี้แล
ครั้นถึงปีฉลู สัปตศก จุลศักราช ๑๒๒๗ ปี สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงสถาปนาพระเทพกระวี (โต) ขึ้นเป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ รับหิรัญบัตรมีฐานา ๑๐ มีนิตยภัตร ๓๒ บาท ค่าข้าวสาร ๑ บาทต่อเดือน สมเด็จฯ มีชนมายุ ๗๘ พรรษา ๕๖ ได้เป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ ในปีโสกันต์ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง โสกันต์คราวนี้มีเทศน์กัณฑ์เขาไกรลาส รวมที่ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นราชาคณะ เป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ เป็นเจ้าอาวาสวัดระฆังมาได้ ๑๕ ปี จึงได้เป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ ในปีฉลู สัปตศก จุลศักราช ๑๒๒๗ เป็นปีที่ ๑๕ ในรัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงเทพมหานครแล
ครั้งหนึ่งมีราชการโสกันต์ สังฆการีวางฎีกาว่าย่ำรุ่งถึง แล้วถวายพระพร ถวายชัยมงคลคาถา พระฤกษ์โสกันต์ วางฎีกาสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ครั้นได้เวลาย่ำรุ่งตรง ท่านก็มาถึง พระมหาปราสาทยังไม่เปิดพระทวาร สมเด็จพระพุฒาจารย์ก็มานั่งอยู่บนบันไดพระมหาปราสาทชั้นบน แล้วท่านก็สวดชัยมงคลคาถาชยันโตโพธิยาลั่นอยู่องค์เดียว สามจบแล้ว ท่านก็ไปฉันข้าวต้มที่ทิมสงฆ์ แล้วท่านก็ไปพักจำวัดในโรงม้าต้น ในพระบรมมหาราชวัง ครั้นเวลาสามโมงเช้า เสด็จออกจวนพระฤกษ์ สังฆการีประจุ พระราชาคณะประจำที่หมด ยังขาดแต่สมเด็จพระพุฒาจารย์องค์เดียว เที่ยวตามหากันลั่นไปหมด สมเด็จพระจอมเกล้าทรงกริ้วใหญ่ พวกทนายเลือกสนใจใน บอกต่อๆ กันเข้าไปว่าได้เห็นสมเด็จหายเข้าไปในโรงม้าต้น พวกสังฆการี เข้าไปค้นคว้าอาองค์ท่านมาได้ ช่วยกันรุนก้นดันส่งเข้าไปในพระทวาร ครั้นทอดรพะเนตร์เห็น ก็กริ้วแหว รับสั่งว่า “ถอดๆ ไม่ระวังรั้วงานราชการ เป็นขุนนางไม่ได้ แฉกคืนๆ เร็วๆ เอาชยันโตทีเดียว” ขรัวโตก็เดินชยันโตจนถึงอาสนสงฆ์ ลงเข้าแถวสวด พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงคีบพระเมาฬี พระบรมวงศานุวงศ์ก็คีบ และคีบ แลโกน เป็นลำดับไป ครั้นเสร็จแล้ว ทรงประเคน อังคาสพระสงฆ์ แล้วเสด็จเข้าในพระฉาก
ขรัวโตฉันแล้วก็นั่งนิ่ง เสด็จออกเร่งให้ยถา ขรัวโตก็ยถา แต่ไม่ตั้งตาลิปัด เวลานั้นพระธุระมาก มัวหันพระพักตร์ไปรับสั่งราชกิจอื่นๆ พระพุฒาจารย์ (โต) ก็เดินดุ่มๆ รีบออกไปลงเรือข้ามฟาก พอแปรพักตร์ไปรับสั่งอติเรก จะรีบฯ พระราชาคณะรองๆลงมา ก็ไม่มีใครกล้า นิ่งงันกันไปหมด รับสั่งถามว่า “อ้าว สมเด็จหายไปไหน” เขาทูลว่า “ท่านกลับไปแล้ว” “อ้าวพัดยังอยู่ ชรอยจะทำใจน้อยไม่เอาพัดไป เร็ว เอาพัดไปส่ง เอาตัวมาถวายอติเรกก่อน” สังฆการีรีบออกเรือตามร้องเรียก “เจ้าคุณขอรับ นิมนต์กลับมาก่อน มาเอาพัดแฉก” ท่านร้องตอบมาว่า “พ่อจะมาตั้งสมเด็จกลางแม่น้ำได้หรือ” สังฆการีว่า “รับสั่งให้หา” ท่านก็ข้ามกลับมา เข้าทางประตูต้นสน ดุ่มๆ ขึ้นมาบนพระปราสาท แล้วรับสั่งให้ถวายอติเรกเร็วๆ ฯ ทูลว่า ขอถวายพระพร ถวายไม่ได้ฯ” รับสั่งถามว่า “ทำไมถวายไม่ได้ฯ” ทูลว่า “ขอถวายพระพร เหตุพระราชบัญญัติตราไว้ว่า ให้พระราชาคณะถวายอติเรก บัดนี้ อาตมาภาพกลายเป็นพระอันดับแล้ว จึงไม่ควรถวายอติเรก ขอถวายพระพรฯ” รับสั่งว่า “อ้อ จริงๆ เอาสิ ตั้งกันใหม่” กรมวังออกหมายตั้งสมเด็จ บอกวิเสศเลี้ยงพระอีก สังฆการีวางฎีกา เอาพระชุดนี้ก็ได้ วิเสศทำไม่ทัน ก็ทำแต่น้อย ก็ได้เพียง ๕ องค์ ศุภรัตน์เตรียมผ้าไตรตั้ง และพระไตร พระชยันโต แล้วเสด็จ พวกสังฆการีวางฎีกาพระชุดโสกันต์กำหนดเวลา เลยกลับไม่ได้
ครั้นเวลา ๕ โมง เสด็จออกทรงประเคน พระฉันแล้ว (ประกาศตั้งสมเด็จ) ทรงประเคนหิรัญบัตร ประเคนไตร บาตร ตาลิปัด ย่าม พระชยันโต คราวนี้สมเด็จยกไตรแพรครอง กลับเข้ามาอนุโมทนาแล้วถวายอติเรก ถวายพระพรลา เป็นอันเสร็จการไปคราวหนึ่งฯ
ครั้งหนึ่ง เข้าไปฉันในพระบรมราชวัง ได้ทรงประเคนไตรแพร ท่านก็นำไตรแพรนั้น เช็ดปาก เช็ดมือ ยุ่งไปหมด รับสั่งทักว่า “ไตรเขาดีดี เอาไปเช็ดเปรอะหมด” ท่านตอบว่า “อะไรถวายได้ ผ้าเช็ดมือถวายไม่ได้ อาตามภาพก็ต้องเอาผ้าไตรของอาตมาเอง เช็ดอาตมาเอง เป็นอันได้ บริโภคของทายกแล้ว ไม่เป็นสัทธาเทยสินิบาตฯ
ครั้งหนึ่งเข้าไปฉันในพระบรมมหาราชวังอีก ถวายเงินองค์ละ ๒๐ บาท สมเด็จทำดีใจ รวบเงินใส่ย่ามกราว ทรงทักว่า “อ้าว พระจับเงินได้หรือ” “ขอถวายพระพร เงิน พระจับไม่ได้ แต่ขรัวโตชอบ” เรื่องแผลงๆ ของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) องค์นี้ตั้งแต่เป็นพระธรรมกิตติ มาจนเป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ ต่อหน้าพระที่นั่งเสมอมา แต่ก็ทรงอภัย ซ้ำพระราชทานรางวัลอีกด้วย ถึงวันรวบเงินนี้ ก็รางวัลอีก ๓๐ บาท รวบใส่ย่ามทันที ครั้นหิ้วคอนย่ามออกมา คนนั้นล้วงบ้าง คนนี้ล้วงบ้าง จนหมดย่าม ท่านคุยพึมว่า “วันนี้รวยใหญ่ ๆ” ฯ
ครั้นคราวหนึ่ง นักองค์ด้วง เจ้าแผ่นดินเขมร กลุ้มพระหฤทัย มีใบบอกเข้ามากราบบังคมทูลพระกรุณาให้ทรงทราบ จึงมีพระบรมราชโองการ โปรดให้เผดียงสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ให้ออกไปแสดงธรรมโปรดนักองค์ด้วง ณ เมืองเขมร คราวนี้สมเด็จพระพุฒาจารย์ ถึงกับบ่นที่วัดระฆังว่า สมเด็จพระนั่งเกล้าก็ไม่ใช่โง่ แต่ว่าใช้ขรัวโตไม่ได้ สมเด็จพระจอมเกล้าฉลาดว่องไว กลับมาได้ใช้ขรัวโตฯ
ครั้นถึงวันกำหนด ท่านก็พาพระฐานา ๔ รูป ไปลงเรือสยามูปสดัมภ์ เจ้าพนักงานไปส่งถึงเมืองจันทบุรี แล้วขึ้นเกวียนไปทางเมืองตราด ไปถึงหมู่บ้านใหญ่แห่งหนึ่ง แขวงเมืองตราดนั้น เป็นตำบลที่มีเสือชุมมาก มันเผ่นเข้าขวางหน้าเกวียน เวลารอนๆ จวนค่ำ คนนำทางหน้าเกวียนสมเด็จ จดพลองเล่นตีกับเสือ เจ้าเสือแยกเขี้ยว หื้อใส่ รุกขนาบ คนถือพลองถอยหลังทุกที จนถึงหน้าเกวียนสมเด็จ คนหน้าเกวียนยกเท้ายันคนถือพลองไว้ไม่ให้ถอยฯ
เขียนโดย Bermudathai ที่ 00:20
ป้ายกำกับ: ประวัติสมเด็จโตโดยมหาอำมาตย์ตรี พระยาทิพโกษา สอน โลหนันทน์
ขอขอบคุณ : http://bermudathai.blogspot.com/2012/02/blog-post.html