กำเนิดแห่งภพ หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
กำเนิดแห่งภพ
หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๘ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๒๔
คำว่าความเกิดแก่เจ็บตาย ซึ่งมีอยู่ทุกตัวสัตว์และบุคคล รู้ ๆ เห็น ๆ กันอยู่อย่างเปิดเผยนี้ มีสาเหตุเป็นมาจากใจเป็นตัวแกนสำคัญ ซึ่งเป็นที่ฝังจมอยู่แห่งเชื้อที่จะพาให้เกิดแก่เจ็บตาย มีใจดวงเดียวเท่านั้นเป็นผู้รับเชื้อเหล่านี้ไว้ เมื่อเชื้ออันเป็นสาเหตุที่จะพาให้เกิดมี สัตว์โลกทุกตัวทุกรายจะไม่เกิดไม่ได้ ต้องเกิดเพราะเชื้อบังคับให้เกิด การที่จะเกิดเป็นดีและชั่วต่าง ๆ นั้นเป็นวิบาก คือผลที่เกิดขึ้นจากการทำดีทำชั่วของตน พาให้เป็นไปต่าง ๆ กัน แต่หลักใหญ่ก็คือจิตเป็นแกนอันสำคัญ ที่จะให้เชื้อฝังจมอยู่ได้หรือแทรกอยู่ได้ มีใจเท่านั้น
สิ่งที่กล่าวว่าความเกิดแก่เจ็บตายนี้ ไม่ได้เป็นของลี้ลับ เห็นกันอยู่ทุกตัวสัตว์ตัวบุคคล แม้แต่สัตว์เดรัจฉานเขายังกลัวเรื่องความตาย เพราะเขารู้ แต่รู้เพียงผลของมันเท่านั้น แต่โลกไม่สามารถที่จะรู้สาเหตุและละสาเหตุถอดถอนสาเหตุแห่งความเกิดแก่เจ็บตายอันเป็นที่หนุนมาแห่งความทุกข์ทั้งหลายได้ สัตว์โลกทั้งหลายไม่รู้ จึงต้องพากันเวียนว่ายตายเกิด ไม่ว่าสถานที่เกิดกำเนิดที่อยู่จะเป็นเช่นไร เจ้าของบงการหรือบังคับบัญชาเอาตามต้องการไม่ได้ ย่อมเป็นไปตามหลักแห่งวิบาก อันมีเชื้อพาให้เกิดเป็นเครื่องผลักไสออกมา แล้วก็ให้ไปเกิดในที่สูง ๆ ต่ำ ๆ ลุ่ม ๆ ดอน ๆ
ด้วยเหตุนี้ภพแห่งสัตว์ในสามแดนโลกธาตุนี้จึงไม่มีที่ว่างว่าสัตว์ทั้งหลายเกิดไม่ได้ ตายไม่ได้ เกิดได้ต้องตายได้ด้วยกัน มีอยู่ทุกแห่งหนเป็นแต่เพียงว่าหยาบละเอียดต่างกันเท่านั้น ในภพชาติของสัตว์แต่ละชั้นละภูมิไม่เหมือนกัน เมื่อรวมแล้วก็คือความเกิด จากนั้นก็คือความตายไปด้วยกัน
ความที่มีภพชาติอันหยาบละเอียดก็เพราะอำนาจแห่งวิบากของจิตแต่ละดวง ๆ ไม่เหมือนกัน จึงต้องให้เป็นเช่นนั้น อย่างภพหยาบ ๆ อย่างที่เราเห็นนี้ เช่นสัตว์เช่นบุคคลที่มองเห็นกันด้วยตาเนื้อนี้ เป็นภพที่หยาบ ภพที่ละเอียดยิ่งกว่าตาเนื้อนี้แต่ยังเป็นวิสัยของกล้องที่จะส่อง เช่น กล้องจุลทรรศน์ มองเห็นได้เช่นเชื้อโรคอย่างนี้เป็นต้น ก็ยังเป็นวิสัยของตาที่จะพอดูได้ แต่ที่ละเอียดยิ่งกว่านั้นซึ่งไม่ปรากฏร่างเลยนี้ ไม่สามารถจะรู้ได้เห็นได้ ทั้ง ๆ ที่ภพนั้น ๆ ประเภทนั้น ๆ มีอยู่เต็มโลกสงสารเช่นเดียวกับความเกิดความเป็นอยู่ของสัตว์ที่มีร่างกายอันหยาบนี้
สิ่งที่พาให้สัตว์โลกเป็นดังที่กล่าวมานี้ ทั้งส่วนหยาบส่วนกลางส่วนละเอียด เป็นไปจากเชื้อที่ฝังอยู่ภายในจิตใจ ใจจึงเป็นเหมือนกับเครื่องมือของสิ่งนั้น ผลักไสให้เป็นอย่างไรก็เป็นไปตาม ทั้ง ๆ ที่ใจนั้นไม่เคยตาย แต่คำว่าเกิดว่าตายนั้นอาศัยร่างที่เข้าไปเกี่ยวข้องเท่านั้นหากได้หมุนไปหมุนมาอยู่เช่นนั้น เพราะอำนาจแห่งวิบากผลักไสพาให้เป็นไป โดยอาศัยเชื้อพาให้เกิดเป็นสำคัญอันดับแรก
การท่องเที่ยวด้วยความเกิด ความแก่ ก็เท่ากับการแบกหามความทุกข์ความลำบากไปด้วยกันในภพนั้น ๆ โดยแยกกันไม่ออก ภพหยาบก็ทุกข์มาก ภพละเอียดก็ทุกข์น้อยลงไปถ้าเป็นภพที่มีบุญ แต่ภพละเอียดที่เป็นบาปก็ทุกข์มากยิ่งกว่าร่างกายที่เป็นบาปนั้นอีก เช่นสัตว์นรกเป็นต้น เรามองไม่เห็น แต่สัตว์นรกเป็นสัตว์นรก สัตว์นรกรับทุกข์สัตว์นรกยอมรับว่าเป็นทุกข์ หากมองไม่เห็นสำหรับผู้ไม่เป็น จึงเรียกว่าละเอียด บาปก็ละเอียดบุญก็ละเอียดไปตามส่วนของบาปบุญ
มีใจเท่านั้นเป็นผู้จะรับสัมผัสสิ่งเหล่านี้ได้ ตา หู จมูก ดูได้ฟังได้ตามวิสัยของตน แต่ไม่สามารถจะทราบสิ่งที่สุดวิสัยของตา หู จมูก ลิ้น กายไปได้ นอกจากใจเพียงดวงเดียว ใจจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก ที่กล่าวเบื้องต้นยกความเกิดแก่เจ็บตายขึ้นมา ที่เป็นอยู่ในสัตว์โลกทั่ว ๆ ไปเห็นได้อย่างชัดเจน แต่สัตว์โลกมองเห็นแต่ผลที่เป็นตัววิบากขึ้นมาแล้ว ไม่สามารถจะทราบเหตุแห่งวิบากและเชื้อแห่งวิบากนั้นคืออะไรได้ จึงต้องอาศัยหลักธรรมของพระพุทธเจ้าเป็นเครื่องพิสูจน์ยืนยันกัน หากไม่ใช่ธรรมแล้วไม่มีสิ่งใดที่จะพิสูจน์สิ่งที่ลึกลับสำหรับวิสัยของคนสามัญทั่วไปให้รู้ได้เห็นได้ จึงต้องอาศัยหลักธรรมเป็นเครื่องพิสูจน์
พระพุทธเจ้าก็ทรงแสดงให้ทราบไว้อย่างชัดเจนแล้วดังมีในตำรับตำรา พวกเราเรียนกันเสียมากมายก่ายกอง เรียนเอาแต่ชื่อแต่นามของสิ่งเหล่านี้ หากไม่สามารถที่จะรู้สิ่งเหล่านี้ หรือไม่สนใจจะแก้จะถอดถอนสิ่งเหล่านี้ตามอุบายแห่งธรรมที่พระองค์ทรงสอนไว้นั้นก็มีเป็นจำนวนมาก นี่เรามุ่งหน้ามาประพฤติปฏิบัติเพื่อจะกำจัดสิ่งที่เป็นภัย อันเป็นต้นเหตุให้ได้รับความทุกข์ความลำบาก พาให้หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงเกิดแก่เจ็บตายนี้ออกจากจิตใจได้ จึงต้องอาศัยการปฏิบัติ ซึ่งเป็นหลักอันถูกต้องดีงามในการพิสูจน์ความจริงโดยแท้
ไม่มีวิธีการใดที่จะยิ่งไปกว่าภาคปฏิบัติธรรมเช่นจิตตภาวนาเป็นสำคัญ เพราะการพิจารณาทางด้านจิตตภาวนานี้ เป็นการพิจารณาเข้าถึงความจริงเข้าหาความจริง สาวมาตั้งแต่ยอดมันจนกระทั่งลงถึงต้นและลงถึงรากแก้วรากฝอยไปหมด ก็ได้แก่จิตตภาวนา ทีแรกก็กว้างขวาง พิจารณาตามโลกตามสงสารเรื่อง อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ประมวลเข้ามาก็เป็นเช่นเดียวกับร่างกายของเราซึ่งเป็นอยู่เวลานี้ ไม่ว่าขันธ์ใดมันเป็น อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตาเสมอกันหมด ขันธ์นอกก็เหมือนกัน ขันธ์ในก็เหมือนกัน ทั่วแดนโลกธาตุนี้มีสภาพเป็นอย่างเดียวกัน เมื่อพิจารณาประมวลเข้ามาก็มาได้แบบฉบับอันเดียวกันกับธาตุขันธ์และจิตใจของเรานี้ การพิจารณาจิตเพื่อรู้แจ้งเห็นจริงในสิ่งที่ควรรู้ควรเห็นตามหลักความจริงทั้งหลาย จึงต้องอาศัยจิตตภาวนาเป็นสำคัญ
จิตโดยหลักธรรมชาติไม่มีรักมีชังมีเกลียดมีโกรธ มีแต่รู้ล้วน ๆ ที่รักที่ชังนั้นเป็นสิ่งที่แฝงขึ้นกับจิต ความแฝงนั้นท่านให้ชื่อว่าสิ่งที่ปลอม ไม่ใช่ของจริงคือจิตแท้ ตามปกติของจิตก็ไม่อยากรักไม่อยากชังไม่อยากเกลียดไม่อยากโกรธ หากได้รักได้ชังได้เกลียดได้โกรธ เพราะสิ่งที่พาให้รักให้ชังให้เกลียดให้โกรธมีอยู่ภายในใจ สิ่งเหล่านี้เมื่อปรากฏขึ้นมาจะทำจิตให้ผิดปกติจากสภาพเดิมของตน ความรักก็เป็นความกระเพื่อมจิตกวนจิต ความชังความเกลียด ความโกรธ ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ก่อกวนจิตให้ผิดจากปกติเดิมของตน
ด้วยเหตุนี้ท่านจึงต้องชำระและสอนให้ชำระ เพราะสิ่งเหล่านี้ทำจิตให้ไหวอยู่เสมอ ไม่เป็นปกติ ถ้าเป็นน้ำก็ถูกกวน หาความสงบหาความนิ่งหาความใสไม่ได้ เพราะถูกรบกวนเสมอ จิตใจที่หาความสงบเย็นเป็นของตัวไม่ได้ ก็เพราะถูกกวนจากความรักความชังความเกลียดความโกรธ และการเสาะแสวงหาสิ่งเหล่านี้จากความผลักดันภายในจิต ให้เป็นไปอยู่โดยสม่ำเสมอไม่ขาดวรรคขาดตอน จิตจึงเป็นเจ้าเรื่อง ทั้ง ๆ จิตนั้นไม่ต้องการเป็นเจ้าเรื่อง แต่สิ่งที่มาเคลือบแฝงจิตอันเป็นยาพิษให้ผิดปกตินั้นเป็นเจ้าเรื่อง จึงต้องก่อแต่เรื่องแต่ราวภายในจิตใจของสัตว์ของเราของท่านอยู่เสมอ
แม้ผู้ปฏิบัติธรรมที่ตั้งใจจะกำจัดสิ่งเหล่านี้ออกไปจากใจอยู่แล้ว ก็ยังไม่พ้นจากการรบกวนจากสิ่งเหล่านี้เสมอมาเมื่อมีสาเหตุให้รักให้ชังให้เกลียดให้โกรธ จึงต้องมีอุบายวิธีการแก้ไขถอดถอนสิ่งเหล่านี้ด้วยการพิจารณา เช่นรักในสิ่งนั้น เกลียดในสิ่งนี้ เพราะเหตุไรจึงต้องรักจึงต้องเกลียดจึงต้องโกรธ พิจารณาคลี่คลายสิ่งที่ว่ารักว่าเกลียดว่าโกรธนั้นดูแล้ว ก็ย้อนเข้ามาดูผู้ที่ไปเพ่งเล็ง ผู้ที่ไปรักไปเกลียดไปโกรธกับสิ่งนั้น ๆ หรือบุคคลนั้น ๆ ให้เห็นชัดเจนทั้งข้างหน้าข้างหลัง
คือสิ่งที่ถูกรัก สิ่งที่ถูกเกลียดถูกโกรธ และผู้ไปรักไปเกลียดไปโกรธสิ่งนั้น มีความจำเป็นต่อกันอย่างไรถึงต้องไปเป็นเช่นนั้นขึ้นมา จึงต้องไปเกี่ยวข้องอยู่ตลอดเวลา นี่คืออุบายของปัญญาพิจารณา เช่น รักที่จะให้เกิดราคะตัณหาขึ้นภายในจิต ก็ต้องหมายถึงรูปที่ตรงกันข้ามที่เรียกว่าวิสภาคกันเป็นสำคัญ การพิจารณาจะให้ถอดถอนความรักนี้ จึงต้องแยกดูให้เห็นชัดเจนว่ามันน่ารักที่ตรงไหน น่าชอบใจที่ตรงไหน นี่คืออุบายของปัญญาคลี่คลายเข้าไปดูสิ่งนั้นๆ ให้เห็นชัดเจน หลายครั้งหลายหนจิตย่อมเกิดความซึ้งความเข้าใจด้วยอุบายของปัญญา แล้วถอดถอนตนเข้ามาได้โดยลำดับ ความรักก็เพลาลงไปผ่อนลงไป
ความรักความชังเมื่อสิ่งหนึ่งผ่อนมันย่อมผ่อนไปตาม ๆ กัน ความเกลียดความโกรธก็ผ่อนไปตาม ๆ กัน จนผลสุดท้ายสิ่งที่ไปรักไปเกลียดไปโกรธนั้น ก็เป็นสภาพแห่งความจริงอันหนึ่งๆ เท่านั้น ไม่เห็นมีอะไรนอกจากผู้นี้ไปเป็นเสียเอง ไปรักไปชอบไปเกลียดไปโกรธด้วยความโง่เง่าเขลาปัญญาของตนเท่านั้น จิตก็ทราบทั้งภายนอก ทราบทั้งตัวเป็นผู้ไปก่อเหตุและทราบทั้งวิธีแก้ไขถอดถอนสิ่งเหล่านี้ จิตก็เริ่มก้าวเข้าสู่ความเป็นปกติโดยลำดับ สิ่งกวนใจทั้งหลายเหล่านี้ก็มีน้อยลงเพราะการกลั่นกรองอยู่เสมอ จนผลสุดท้ายสิ่งภายนอกถูกพินิจพิจารณาจนเข้าถึงขั้นความจริงแล้วปล่อยวางเข้ามาได้โดยลำดับ จนกระทั่งปล่อยวางได้โดยสิ้นเชิงเพราะอุบายของสติปัญญาผู้พิจารณาแก้ไขถอดถอน จิตย่อมเข้าสู่ความเป็นตัวของตัวได้โดยลำดับ
คำว่าความสงบก็คือสงบจากสิ่งที่กล่าวนี้ ไม่ถืออารมณ์ใดเข้ามายุ่งกวนใจ ไม่ถือรูปใด เสียงใด กลิ่นใดรสใด ซึ่งอยู่ภายนอกเข้ามาเป็นอารมณ์เครื่องกวนใจเพราะใจพิจารณารู้แจ้งเห็นจริงสิ่งเหล่านั้นแล้ว ต่างอันต่างอยู่ ใจก็ไม่เอื้อมออกไปยึดไปถือไปสำคัญมั่นหมายไปตำหนิติชมสิ่งต่าง ๆ ด้วยความคะนองของตน เพราะสติปัญญารู้รอบขอบชิดความคะนองอันนี้แล้ว แล้วก็รู้ชอบในสิ่งทั้งหลายภายนอกนั้นด้วยแล้ว จิตที่เคยคึกคะนองก็กลายเป็นจิตที่สงบขึ้นมา เปลี่ยนอาการของตนเข้าไปเรื่อยๆ จากความคึกคะนองเข้าเป็นความสงบ คึกคะนองในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส เครื่องสัมผัสต่าง ๆ ผ่านกันเข้ามา ๆ หรือถอนตัวเข้ามาโดยลำดับ กลายเป็นจิตที่สงบตัวไม่คึกคะนอง เพียงเท่านี้จิตก็มีความสุขสงบเย็น นี่อุบายที่จะพิสูจน์หรืออุบายพิสูจน์เพื่อรู้ความจริงให้เห็นกันตามความจริงในหลักธรรมชาติพิจารณาอย่างนี้
จิตเมื่อมีความสงบ ความเย็นความสบายความสุขไม่ต้องถาม เพราะสิ่งเหล่านี้อยู่กับความสงบ เนื่องจากไม่ก่อกวนตัวเองและไม่ยุ่งกับสิ่งใด ๆ เพราะพิจารณารอบแล้ว นี่จิตเริ่มเข้ามาเป็นตัวของตัว ถ้าพูดถึงสมาธิก็เริ่มมีฐานแห่งสมาธิ เริ่มมีฐานแห่งความสงบ เมื่อมีความสงบความร่มเย็นก็มี จิตใจที่เคยส่ายแส่กับสิ่งภายนอกถือมาเป็นอารมณ์ ถือมาเป็นเครื่องยึดเครื่องถือเครื่องเผาผลาญตนเอง ทั้ง ๆ ที่สำคัญว่าสิ่งนั้นดี แต่ผลของมันมาเผาผลาญตนเอง มันก็ปล่อยลงไปได้โดยลำดับ
อย่างท่านสอนให้พิจารณาร่างกายอันเป็นสำคัญในขั้นหนึ่ง ขั้นราคะตัณหา ท่านให้แยกแยะดูตั้งแต่ข้างนอกผิวหนังเข้าไปจนกระทั่งถึงเนื้อ ถึงเอ็น ถึงกระดูก ภายในทุกสัดทุกส่วน แยกดูแล้วมันมีแต่สิ่งนั้น ๆ หาความที่น่ารักน่าชอบใจน่ากำหนัดยินดีตรงไหนไม่มีเลย มันคิดไปแบบลมๆ แล้งๆ สำคัญมั่นหมายไปแบบลมๆ แล้งๆหาความจริงไม่ได้ มันก็รู้ด้วยปัญญาของตน ปัญญาซึ่งเป็นของจริงสามารถที่จะกำจัดสิ่งที่ปลอมทั้งหลาย โดยความสำคัญต่าง ๆ นั้นออกได้โดยลำดับ จนกลายเป็นความจริงขึ้นมาด้วยกัน
เมื่อจิตได้ปล่อยได้คลายจากสิ่งทั้งหลายเหล่านี้แล้วก็เบา เบาในตัวเองเพราะไม่ยึด อุปาทานแปลว่าความยึด แปลว่าความแบกความหามภาระ สิ่งเหล่านั้นเป็นภาระของจิต เมื่อจิตเข้าไปแบกหามต้องเป็นทุกข์ต้องหนัก เมื่อถอนตัวออกมาแล้วย่อมเบา ถอนออกไปเป็นขั้นๆ ตอนๆ ตามกำลังของสติปัญญาหรือขั้นของสติปัญญา นี่จะเรียกว่าเป็นการพิสูจน์วัฏจักรคือความหมุนเวียนแห่งความเกิดแก่เจ็บตายของจิตของตัวนี้ก็ไม่ผิด เพราะเป็นสัจธรรมอันเดียวกัน นี่เป็นอาการแห่งความหมุนเวียนดังที่กล่าวมานี้ ให้รักให้ชังให้เกลียดให้โกรธ มันเป็นสหายกันกับความท่องเที่ยวเพราะความหลง
ความหลงรักหลงชังก็คือความหลง เมื่อรู้สิ่งเหล่านี้ตามความเป็นจริงแล้วก็ปล่อยเข้ามา สลัดปัดทิ้งไปโดยลำดับ เมื่อสลัดเข้ามาโดยลำดับ สิ่งใดที่มีความสัมผัสสัมพันธ์ความดูดดื่มที่ยังไม่เข้าใจยังไม่รู้ไม่เห็น จิตใจย่อมมีความจดจ่อกับสิ่งนั้น อยากรู้อยากเห็นสิ่งนั้นด้วยการพินิจพิจารณาอีกเช่นเดียวกัน ย่อมจะพ้นความสนใจนี้ไปไม่ได้ จึงต้องพิจารณา
เช่น ทุกขเวทนา กายของเราทุกส่วนนี้เป็นเพียงรูปเพียงร่างเป็นหนังเป็นเนื้อเป็นเอ็นเป็นกระดูกเท่านั้นไม่ใช่เป็นตัวทุกข์ ไม่ใช่เป็นตัวสุข อันตัวทุกข์กับตัวสุขนั้นมันเป็นเวทนา สุขเวทนา ทุกขเวทนา ซึ่งอาศัยสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นแต่ไม่ใช่สิ่งเหล่านี้ สติปัญญาหยั่งลงไปให้เห็นทั้งรูปคือร่างกายอันนี้ ให้เห็นทั้งทุกขเวทนาที่ปรากฏขึ้นจากร่างอันนี้ ว่าเป็นส่วนหนึ่งๆ เป็นสิ่งหนึ่งๆ ของแต่ละอย่างๆ คือรูปขันธ์ เวทนาขันธ์ แยกแยะดูตามความจริงของมัน เอ้า อันไหนจะเป็นทุกข์มีไหม ดูอะไรก็ไม่เห็นมีทุกข์ เมื่อแยกให้เห็นตามความจริงแล้ว กายไม่ใช่ตัวทุกข์ ทุกข์ก็ไม่ใช่กาย เวทนามีทุกขเวทนาเป็นต้นก็ไม่ใช่กาย กายก็ไม่ใช่เวทนา มันต่างอันต่างจริงแต่ละอย่าง ๆ ซึ่งอาศัยกันเกิดขึ้นเท่านั้น นี่คืออุบายวิธีการตัดกระแสของวัฏฏะที่จะพาให้หมุนเวียนไปเกิดแก่เจ็บตายในภพน้อยภพใหญ่ตัดอย่างนี้ ตัดเข้ามา
การพิจารณาเช่นอย่างพิจารณารูป พิจารณาเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนี้ ขออย่าได้คาดคะเนสำหรับนักปฏิบัติทั้งหลาย เพราะสิ่งเหล่านี้อยู่ด้วยกัน ขณะใดถนัดกับอาการใด พิจารณาอาการนั้นได้เต็มตามความต้องการ ไม่ต้องไปเรียงลำดับลำดาแห่งการพิจารณา ว่าพิจารณารูปแล้วจะต้องพิจารณาเวทนา แล้วพิจารณาสัญญา สังขาร วิญญาณ นั้นท่านเรียงไว้เฉยๆ การพิจารณาจะพิจารณาจุดใดอาการใดของขันธ์ เป็นสัจธรรมด้วยกัน เป็นความถูกต้องด้วยกัน เพราะเราพิจารณาด้วยปัญญาด้วยกัน พิจารณาให้เห็นชัด
คำว่าสัญญาก็คือความวาดภาพ ความสำคัญมั่นหมาย เป็นอาการอันหนึ่งที่ค่อยกระจายตัวออกไปจากจิตไปเป็นเรื่องเป็นราว ไปยึดนั้นสำคัญนี้ สิ่งเหล่านี้ก็คือความเกิดความดับอันเดียวกันกับสิ่งที่กล่าวมาคือกายเวทนา
ความคิดความปรุงทั้งหลายก็เป็นอาการอันหนึ่งเท่านั้นๆ ที่เรียกว่าสังขาร คือความคิดปรุงภายในใจเหมือนกับแสงหิ่งห้อย พอแย็บแล้วดับไป ๆ คิดเท่าไรดับเท่ากัน ไม่มีมากน้อยกว่ากัน ความเกิดความดับเกิดขึ้นพร้อมกันดับพร้อมกัน พอเกิดพับดับไปพร้อมๆ ถือเป็นสัตว์เป็นบุคคลเป็นเราเป็นเขา เป็นสาระแก่นสารได้ที่ตรงไหน สิ่งเหล่านี้เป็นอาการอันหนึ่งเท่านั้น ถ้าหลงก็เป็นพิษเป็นภัยได้ ถ้าไม่หลงก็สักแต่ว่าอาการ ไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อผู้ใด
วิญญาณ คือความรับทราบในขณะที่รูปกระทบตาทราบว่ารูป เสียงกระทบหูทราบว่าเสียง กลิ่นกระทบจมูกทราบว่ากลิ่นดังนี้เป็นต้น แต่ละอาการๆ ที่ทราบนั้นก็ดับไปพร้อมๆ กันกับสิ่งที่มาสัมผัสนั้นดับไป แล้วสาระที่จะถือจากสิ่งที่มาสัมผัสและความรู้ที่เรียกว่าวิญญาณนั้นอันมีแต่ความเกิดความดับนั้น จะเป็นสาระได้อย่างไรเป็นเราเป็นของเราได้อย่างไร ไม่ใช่เราไม่ใช่ของเราทั้งนั้น มันเป็นอาการอันหนึ่งๆ ที่เกิดขึ้นดับไปๆ ตามหลักธรรมชาติของเขา ในขณะที่มีสิ่งมาสัมผัสมันก็ปรากฏขึ้นมา เมื่อสิ่งสัมผัสนั้นผ่านไปมันก็ดับไปพร้อมๆ กัน เราจะเอาสิ่งที่เกิดดับๆ มาเป็นตัวของเรา เราก็คือตัวเกิดดับตัว อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา อันเดียวกัน เราหาที่อยู่ที่วางตัวได้ที่ไหน ที่ปลงใจได้ที่ไหน มันเต็มไปด้วยกอง อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ซึ่งเป็นเหมือนกงจักรหมุนไปเปลี่ยนมาอยู่เช่นนั้น นี่คือปัญญาพิจารณา
การพิจารณามีวงแคบเข้ามา จากวงกว้างดังที่กล่าวมาแล้วนั้น นี่คืออุบายวิธีที่จะตัดกระแสของวัฏฏะ ได้แก่ความหมุนของใจ มีอะไรพาให้หมุน เมื่อรูปหรือว่ารูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัสก็ตัดมาได้แล้วด้วยการพิจารณาของปัญญาภาคนั้นขั้นนั้น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็ตัดขาดไปแล้วด้วยสติปัญญาขั้นนี้ๆ ความยึดมั่นถือมั่นในรูปกายของตัวเอง ในเวทนาคือความสุขทุกข์เฉยๆ ทั้งทางร่างกายของตัวเองก็รู้เท่า แต่ทางจิตใจก็กำลังจะซึมซาบเข้าไปเพื่อความรู้เท่าเช่นเดียวกัน สัญญา สังขาร วิญญาณก็เป็นแต่ละอาการๆ เป็นเราเป็นของเราได้อย่างไร เป็นเพียงเงาเท่านั้น เงาของจิต เหมือนกับเงาที่มีอยู่กับตัวของเรา เวลามีแสงสว่างก็ปรากฏเงาขึ้นมา
เมื่อใจสว่างก็เห็นเงาของตัวเอง ไม่ใช่เห็นว่าเป็นตนเป็นตัว แต่ก่อนเราเข้าใจว่าเป็นตนเป็นตัว เป็นเราเป็นของเรา เช่นรูปก็ว่าเป็นเราเป็นของเรา เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ความสุข ความทุกข์ เฉยๆ จำได้หมายรู้ ความคิดความปรุงแต่งต่างๆ การรับทราบทางอายตนะทั้งหกภายนอกภายในกระทบกัน เราก็เหมาเอาว่าเป็นเราเป็นของเราเสียทั้งนั้น เพราะตอนนั้นมันกำลังมืดมันไม่มองเห็นเงา เลยถือว่าเป็นเราไปเสียหมด ทีนี้พอปัญญาได้สว่างกระจ่างแจ้งขึ้นมา สิ่งเหล่านี้เห็นได้ชัดว่าเป็นเพียงเงาเท่านั้นไม่ใช่ตัวจริงแล้วก็ปล่อยเข้ามา
คำว่าปล่อยเข้ามานี้ปล่อยเข้ามาด้วยความรู้แจ้งเห็นจริงจริง ๆ ไม่ใช่กำหนดปล่อย กำหนดวางเอาเฉย ๆเหมือนเราวางสิ่งนั้นวางสิ่งนี้ เพราะกิเลสไม่ใช่ท่อนไม้ท่อนฟืนพอจะเราปล่อยวางได้อย่างง่าย ๆ แต่จะต้องพิจารณากันให้เห็นตามความจริงของมัน แล้วมันก็ปล่อยวางและหมดกังวลกันไปเอง ที่หลบซ่อนที่ท่องเที่ยวของกิเลส จะออกไปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายสู่รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส ก็รู้เท่าแล้วทั้งรูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส และรู้เท่าแล้วทั้งตา หู จมูก ลิ้น กาย ว่าเป็นแต่อาการหรือเป็นแต่เงาอันหนึ่งๆ เท่านั้นไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวจิต และมันตัดเข้ามาโดยลำดับ จนกระทั่งถึงเข้ามาหากองรูป เวทนา สัญญาสังขาร วิญญาณ มันก็เป็นแต่ละอาการๆ เท่านั้นหาเราของเราที่ไหนมี แล้วรู้ชัดด้วยปัญญาและปล่อยวางลงไป
ความปล่อยวางจากสิ่งใดสิ่งนั้นย่อมหมดกังวล เช่นปล่อยวางรูปเพราะรู้เท่ารูปแล้วด้วยปัญญา ปล่อยวางเวทนา สุข ทุกข์ เฉย ๆ ภายในร่างกาย ก็เพราะทราบแล้วว่าเวทนาเป็นสักแต่ว่าเวทนา กายสักแต่ว่ากายประจักษ์ใจแล้ว หรือประจักษ์ปัญญาแล้ว สัญญา สังขารวิญญาณ แต่ละอาการ ๆ ก็ทราบว่าเป็นเงาของจิตอยู่แล้วไม่ใช่จิต จึงต้องปล่อย เงาไม่ใช่ตัวจริง ปล่อย ปล่อยโดยหลักธรรมชาติที่เข้าใจแล้ว เมื่อปล่อยเข้าไปการค้นคว้าดูวัฏจักรวัฏจิตที่หมุนเวียนไปพาให้เกิดแก่เจ็บตาย มันก็เป็นวงแคบเข้าไป ๆ นี่คือการพิสูจน์ วิธีการที่จะรื้อถอนภพรื้อถอนชาติความเกิดแก่เจ็บตายที่มีประจำจิต รื้อถอนด้วยอุบายของสติปัญญาอย่างที่กล่าวมานี้แล้ววกวนเข้าไป ๆ วงแคบเข้าไปจนกระทั่งถึงตัวจิต
เมื่อจิตปล่อยวางอาการทั้งหลายแล้ว มีแต่ตัวของตัวย่อมจะมีแต่ความสว่างไสว มีแต่ความเบา มีแต่ความองอาจกล้าหาญ มีแต่ความสุขความสบายชนิดที่ละเอียดมากที่สุด ไม่มีความสุขความสบายใดในร่างกายเหล่านี้จะเหมือน แล้วไม่ติดไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งใด แม้ที่สุดร่างกายที่อยู่ด้วยกันก็ทราบว่าร่างกายนี้เป็นสักแต่ว่าเรือนร่างอันหนึ่ง ที่อาศัยของความรู้นี้เท่านั้น แต่ไม่ใช่ผู้รู้นี้ เป็นสักแต่ว่าร่าง เรือนร่างของจิตแต่ไม่ใช่จิต เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทั้งทางร่างกายและจิตใจก็เป็นแต่เพียงว่าอาการอันหนึ่งที่เกิดขึ้นจากจิตแต่ไม่ใช่จิต สัญญา สังขาร วิญญาณ เหล่านี้ก็เป็นแต่เพียงอาการอันหนึ่งของจิตเท่านั้นไม่ใช่จิต จิตรู้ชัดเจน ก็เหลือแต่ความรู้
นี่เรียกว่าวัฏจิตนั้นถูกตัดขาดเข้ามาตั้งแต่รากฝอยรอบตัว ตัดเป็นวงรอบเข้ามาๆ รากฝอยได้แก่ความแตกแขนงของจิต ที่คิดไปในทางรูป ทางเสียง ทางกลิ่น ทางรส เครื่องสัมผัส และรักชังโกรธเกลียดสิ่งเหล่านั้นตัดขาดออกมาเป็นลำดับ ในรูป เวทนา สัญญา สังขารวิญญาณ นี้ก็เป็นรากฝอย แคบเข้าไปตัดขาดเข้าไป ๆ จนกระทั่งถึงรากแก้วได้แก่จิต นั้นแหละที่นี่ คำว่าเชื้อของจิต เชื้อที่จะพาให้จิตไปเกิดไปตายในภพชาติน้อยใหญ่นั้นคืออะไรอยู่ที่ไหน ก็คือตัวรู้ ๆ ที่อยู่กับจิต กลมกลืนเป็นอันเดียวกันอยู่นั้นแล
ในขณะที่ปัญญายังไม่แทงทะลุให้ขาดสะบั้นลงไปได้ ย่อมจะถือว่าสิ่งนี้เป็นเราเป็นของเราเป็นธรรมดาของจิต แต่ถือก็ถือเฉพาะผู้รู้ ไม่ได้ถือในรูป เสียง กลิ่น รสเครื่องสัมผัส ไม่ได้ถือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณว่าเป็นตนเพราะขาดมาแล้ว สิ่งเหล่านี้ขาดตอนไปหมดแล้ว ยังเหลือแต่จิตกับธรรมชาติที่แทรกกันอยู่ ประหนึ่งว่ากลมกลืนเป็นอันเดียวกัน จิตกับกิเลสประเภทนี้เป็นอันเดียวกัน กิเลสประเภทนี้กับจิตเป็นอันเดียวกันมีเท่านั้น ก็ทนปัญญาไปไม่ได้
เมื่อขาดจากความสืบต่อกับสิ่งภายนอก จนกระทั่งในขันธ์เรียบร้อยแล้วยังเหลือแต่จิต นั่นคือยังเหลือแต่อวิชชา อวิชชานี้ท่านเรียกว่าเชื้อ เชื้อแห่งวัฏจักร มีอยู่ที่จิตนี้ ปัญญาพิจารณาลงไปที่จุดนั้น ความสว่างคืออะไรดูให้ดี ว่าความสุข-สุขอะไร เป็นสุขอวิชชาหรือเป็นสุขวิชชา สุขสมมุติหรือสุขวิมุตติ ปัญญาย่อมจะหมุนตัวอยู่ตลอด แยกแยะสัมผัสสัมพันธ์กันในขณะที่กระเพื่อมตัวออกคิด และสงบตัวจากความคิดลงไปสู่ความรู้ อันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับกิเลส กิเลสเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับจิต
ยอกย้อนกันไปมาพินิจพิจารณา เช่นเดียวกับสิ่งภายนอกคือมี อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา เป็นหลักแห่งการพิจารณา เป็นแต่เพียงว่าเป็นไตรลักษณ์อันละเอียดตามส่วนของสมมุติอันละเอียดหรือกิเลสอันละเอียดเท่านั้นปัญญาก็เป็นขั้นอันละเอียดไปตาม ๆ กัน ฟาดฟันหั่นแหลกกันลงไปในจุดนั้น จนกระทั่งกิเลสซึ่งหุ้มห่อกับจิตประหนึ่งว่าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนั้นแตกกระจายออกไป คือเชื้อ เชื้อเดิมที่พาให้สัตว์เกิดแก่เจ็บตายอยู่ไม่หยุดไม่ถอยไม่เลิกไม่แล้วสักทีคือนั้นเอง
เมื่อปัญญาได้ฟาดฟันหั่นแหลกกันลงไปที่นั้นแล้วธรรมชาตินั้นแตกกระจายออกจากจิต เป็นประหนึ่งเหมือนกับว่าถอนรากแก้วขึ้นมาพรวดเดียวเท่านั้น แล้วต้นไม้ต้นนั้นกิ่งก้านสาขาดอกใบมันจะตายไปพร้อมๆ กันหมด เมื่ออวิชชาอันเป็นเชื้อเดิมของวัฏจิตวัฏจักร ได้สลายลงจากจิตเพียงขณะเดียวเท่านั้น นั้นแหละที่ท่านว่าวิวัฏจิต ความไม่หมุนเวียนเกิดแก่เจ็บตายต่อไปอีกแล้วคือจิตที่บริสุทธิ์ บริสุทธิ์จากกิเลสทั้งหลายทั้งปวงมีอวิชชาเป็นต้น นี่ละการพิสูจน์จิต พิสูจน์ให้เห็นอย่างนี้ซิ
เมื่อถึงขั้นมันหมดเชื้อเสียจริง ๆ แล้ว ทำไมจะไม่ทราบว่าจิตนี้หยุดแล้วจากการหมุน จิตนี้หยุดแล้วจากการสืบต่อกับสิ่งทั้งหลาย แม้จะมีอยู่ด้วยกัน เคยอาศัยกันมาตั้งแต่วันเกิดจนกระทั่งบัดนี้ หรือตั้งแต่ดึกดำบรรพ์มาจนกระทั่งบัดนี้ มันก็ทราบชัดว่าบัดนี้ได้ตัดสะพานขาดจากกันหมดแล้วระหว่างสมมุติกับวิมุตติ ไม่ได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเลย ขาดสะบั้นออกจากใจหมดแล้ว
นั้นแหละการตัดสินใจด้วยความแน่ใจของตนเองว่า ตั้งแต่บัดนี้ความเกิดอีกของเราจะไม่มีอีกแล้ว เพราะเชื้อที่พาให้เกิดแก่เจ็บตายอยู่ไม่หยุดไม่ถอย ได้ถูกถอนพรวดขึ้นมาแล้วจากจิตเหลือแต่วิมุตติจิตเท่านั้นที่นี่ เป็นจิตที่บริสุทธิ์ล้วน ๆ นี่ละความเกิดแก่เจ็บตายนั้นมันเป็นผลอันหนึ่งเท่านั้น อันนี้เป็นเชื้อเป็นเหตุอันสำคัญพาให้สัตว์โลกเกิดแก่เจ็บตาย คือ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สงฺขารปจฺจยา วิญฺญาณํ จนกระทั่ง สมุทโย โหติ แล้วก็ย้อนกลับมาเป็น นิโรโธ โหติ ดับตลอดสายเข้ามา เมื่อดับอวิชชาแล้วมันดับไปหมด เหมือนกับถอนรากแก้วแล้วกิ่งก้านสาขาดอกใบของต้นไม้มันตายไปหมดด้วยกัน อุปมาเหมือนอย่างนั้น นี่การพิสูจน์จิตพิสูจน์ตรงนี้พิสูจน์วิธีนี้
ทีนี้คำว่าบริสุทธิ์ บริสุทธิ์ที่ตรงไหน ก็บริสุทธิ์ที่จิตนี้เท่านั้น เพราะจิตเป็นผู้ให้บริสุทธิ์ เป็นผู้ถูกบังคับบัญชามาด้วยกิเลสประเภทนี้ที่มีอำนาจเหนือจิต บังคับจิต จึงเป็นเหมือนกับฟุตบอลถูกเตะกลิ้งโน้นกลิ้งนี้อยู่ไม่หยุดไม่ถอย กลิ้งไปภพนั้นกลิ้งไปภพนี้ ภพน้อยภพใหญ่ภพไหนภพจิตไปไม่ได้ไม่มี ขอให้วิบากดีชั่วพาให้เป็นไปเถอะเป็นไปได้ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับวิบาก คือผลแห่งความดีความชั่วที่มีอยู่ในจิตนั้น และมีอวิชชาอันเป็นตัวการผลักดันอันสำคัญที่จะให้ทำดีทำชั่ว
ท่านจึงเรียกว่าวัฏฏะ กิเลสวัฏฏ์ ๓ กิเลสเป็นเหตุให้ทำกรรม กิเลสคืออะไรเป็นเหตุให้ทำกรรม ก็อวิชชานั่นเองเป็นเหตุให้ทำกรรมดีชั่ว เมื่อทำกรรมแล้วผลแห่งกรรมย่อมเกิดขึ้น เกิดขึ้นย่อมทำให้สัตว์ไปเกิดในที่สูงๆ ต่ำๆ ลุ่มๆ ดอนๆ มีสุขมีทุกข์เจือปนกันไปตลอด วกเวียนกันไปกันมาเหมือนกับมดแดงไต่ขอบด้งท่านว่า ไต่มาทีไรก็มาเห็นขอบด้งอันเก่า แต่ไม่ทราบว่าเป็นขอบด้งของเก่า แล้ววกไปเวียนมาเกิดแล้วเกิดเล่า ตายแล้วตายเล่าซ้ำ ๆ ซาก ๆ ด้วยการเกิดตายและภพชาติของตน ก็ไม่ทราบว่าตนได้เคยเกิดมากี่ภพกี่ชาติ มันก็เหมือนกับมดแดงไต่ขอบด้งนั้นเอง
ทีนี้พอได้ตัดเชื้อของมันให้ขาดสะบั้นลงไปหมดแล้วจิตหมดแล้วจากการหมุน เพราะไม่มีอะไรเข้ามามีอำนาจอีกแล้ว สิ่งที่เคยมีอำนาจเหนือจิตก็ได้แก่กิเลสประเภทที่ว่าอวิชชา ได้ขาดสะบั้นลงไปแล้ว จิตจึงเป็นอิสระ เป็นความบริสุทธิ์เต็มตัว นั่นละการเกิดยุติกันตั้งแต่บัดนั้นขาดสะบั้นกันลงไป เหลือแต่ความบริสุทธิ์ล้วน ๆ นี่การพิสูจน์ความเกิดความตายซึ่งมีอยู่ในเราทุกคนให้พิสูจน์อย่างนี้ พิสูจน์อย่างอื่นไม่ได้ ไม่รู้ไม่เห็น ถ้าพิสูจน์อย่างนี้แล้วแน่เป็นลำดับลำดาไป จนกระทั่งถึงแน่ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าจะไม่ผิดจากนี้ จะเป็นความจริงเต็มส่วนของจิต
นั่นละที่นี่ความทุกข์ที่เคยแบกหามมามากน้อยด้วยความยึดมั่นถือมั่น ความรักความชังความเกลียดความโกรธ ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ทั้งนั้นก็ปลดเปลื้องกันลงไปหมดโดยสิ้นเชิงไม่มีเหลือ ร่างกายก็เป็นแต่เพียงว่ากากของวิบากเท่านั้น เมื่อถึงกาลแล้วมันก็สลายลงไปได้เช่นเดียวกับสภาพทั่ว ๆ ไป เพราะมันอยู่ในกฎของ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา มันต้องเดินไปตามกฎ จิตที่นอกเหนือไปจากกฎ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตาแล้ว ก็อยู่ตามความจริงของตน ไม่เข้าเกี่ยวข้อง ไม่ไปเกี่ยวข้องกับกฎของสมมุติเพราะเป็นวิมุตติแล้ว นั่นคือผู้พ้นภัย พ้นโลกพ้นตรงนี้
โลกคืออะไร มันอยู่ที่ไหนคำว่าโลกนั้น ก็คือกิเลสนั้นแลเป็นโลก เมื่อได้ทำลายสิ่งเหล่านี้หมดแล้วจะเอาอะไรมาเป็นโลกได้อีก จิตเป็นธรรมทั้งดวง ธรรมกับจิตเป็นอันเดียวกันแล้ว ท่านจึงว่า ธมฺโม ปทีโป ความสว่างกระจ่างแจ้งในจิตที่ปราศจากแล้วจากกิเลส เป็นความสว่างกระจ่างแจ้งไม่มีสิ่งใดเสมอเหมือนในโลกทั้งสามนี้แน่ะ ท่านก็บอกไว้แล้วอย่างนั้น พวกเราจะหาความสว่างจากไหน ความสว่างจากพระอาทิตย์ก็เป็นพระอาทิตย์เวลาพระอาทิตย์อัสดงลงไปแล้วมันสว่างได้ยังไง สว่างด้วยไฟเมื่อไฟดับลงไปเอาความสว่างมาจากไหน ถ้าไม่เอาความสว่างจากปัญญา
ความสว่างจากปัญญานี้แทงทะลุไปหมดพระอาทิตย์จะขึ้นพระอาทิตย์จะตกไม่สำคัญ แสงฟืนแสงไฟจะมีมากมีน้อยหรือไม่มีไม่สำคัญ ขอให้แสงสว่างภายในปัญญานี้ได้กระจายตัวออกไปเถอะ กิเลสมันจะอยู่ที่ตรงไหน มันสามารถทราบสามารถเห็นสามารถรู้สามารถทำลายได้หมด แตกกระจายไม่มีสิ่งใดเหลือเลย นตฺถิ ปญฺญา สมา อาภา แสงสว่างใด ๆ ก็ตามจะเสมอเหมือนแสงสว่างคือปัญญานี้ไม่มี ท่านบอกไว้อย่างนั้นแล้ว เป็นความจริงร้อยเปอร์เซ็นต์
ปัญญาจะเกิดขึ้นจากผู้ใด จะเกิดขึ้นจากสถานที่ใดถ้าไม่เกิดขึ้นจากเราผู้พินิจพิจารณา ถ้าไม่เกิดขึ้นจากใจนี้ไม่มีสถานที่เกิดของปัญญา มรรคผลนิพพานก็มีสถานที่เกิด ดินเป็นดิน น้ำเป็นน้ำ ลมเป็นลม ไฟเป็นไฟ ไม่ใช่มรรคผลนิพพาน ไม่ใช่ตัวบุญตัวบาป ไม่ใช่นรกอเวจี อันนั้นเป็นนั้น ๆ มีใจเท่านั้นเป็นสำคัญที่จะรับทราบสิ่งทั้งหลายตามหลักพระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ ใจเป็นภาชนะอันเอกสำหรับธรรมทั้งหลาย ไม่มีสิ่งใดที่จะทำหน้าที่แทนใจได้เลย การที่จะรู้การที่จะสัมผัสสัมพันธ์ธรรมมากน้อยเช่น บาปมีจริง ใจเป็นผู้จะสัมผัสรับทราบ ยอมรับกันว่าบาปมีจริง บุญมีจริง ใจเท่านั้นเป็นผู้จะสัมผัสรับทราบบุญนั้นว่ามีจริง นรกสวรรค์มีใจเท่านั้นที่จะรับทราบ เป็นผู้สามารถที่จะรู้แทงทะลุไปหมด ตา หู จมูก ลิ้น กายไม่สามารถ เพราะไม่ใช่วิสัยของเขา มีใจเท่านั้นเป็นผู้สามารถถ้าทำให้สามารถ ถ้าทำให้อาภัพ-อาภัพตลอดไป
เราไม่ต้องการความอาภัพ ไม่ต้องการความเป็นผู้อาภัพ เราต้องการเป็นผู้มีความสง่าผ่าเผย ต้องการเป็นผู้มีความเฉลียวฉลาดให้รู้ทันกลมายาของกิเลส ตัวพาให้เวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสาร จึงต้องผลิตสติปัญญาศรัทธาความเพียรขึ้นมาให้เต็มภูมิ เราอย่าเข้าใจว่ามรรคผลนิพพานอยู่ไกลฟากทวีปโน้นฟากทวีปนี้ กิเลสอยู่กับหัวใจฉันใด มรรคผลนิพพานคือความเตียนโล่งจากกิเลสทั้งหลาย ก็จะปรากฏขึ้นที่หัวใจของผู้มีความเพียรและมีสติปัญญารอบตัวเช่นเดียวกัน นี่เป็นหลักสำคัญ
สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม พระพุทธเจ้าตรัสไว้ชอบแล้ว ไม่ได้บอกว่ามรรคผลนิพพานอยู่ที่ฟ้าที่ดิน ที่ดินน้ำลมไฟอากาศกลางหาว ผู้ที่จะรับทราบมรรคผลนิพพานรับทราบบาปรับทราบบุญ รับทราบเรื่องของกิเลสคือใจดวงเดียวนี้เท่านั้น
เอาให้จริงที่ตรงนี้นักปฏิบัติ เราไม่จริงใครจะจริงในโลกนี้ แล้วใครเป็นผู้ถูกกดขี่บังคับอยู่ด้วยอำนาจของฝ่ายต่ำถ้าไม่ใช่ใจของเรา ใจเมื่อโง่แล้วก็ต้องถูกกิเลสครอบหัวใจ ถ้าฉลาดมากน้อยเพียงไรกิเลสต้องหลุดลอยไปๆ ฉลาดเต็มที่กิเลสถอนตัวหมด ถูกทำลายหมดไม่มีเหลือ ความวิเศษวิโสไม่ต้องไปหาที่ไหน ขอให้เห็นจิตดวงนี้ให้เต็มดวงเถอะ ธรรมเต็มดวงก็จะทราบกันในขณะนั่นไม่ต้องถามที่ไหน จึงเรียกว่าพอตัว ถ้ายังถามที่นั่น ยังเสาะนั้นยังเสาะนี้เรียกว่าไม่พอ เอาให้ถึงความพอซิ ตั้งแต่เรารับประทาน ทีแรกมันก็หิวมาก รับประทานๆ ไปมันก็อิ่มขึ้นโดยลำดับๆ จนกระทั่งถึงอิ่มเต็มที่แล้วจะไปอยากไปหิวอะไรที่นี่ เมื่อมันอิ่มเต็มที่แล้ว
จิตก็เหมือนกัน ความหิวเป็นเรื่องของกิเลส จึงต้องได้แก้ความหิวโหยนี้ออกด้วยอรรถด้วยธรรม นำธรรมเข้าไปเป็นอาหารของใจ หล่อเลี้ยงจิตใจให้มีความแช่มชื่นเบิกบานยิ้มแย้มแจ่มใส กลายเป็นความสง่าผ่าเผยขึ้นภายในจิตใจ จนถึงขั้นพอตัวเต็มที่ภายในจิตใจแล้วอยู่ไหนอยู่เถอะ ไม่ถาม สวรรค์อยู่ไหนก็ไม่ถาม ถามไปทำไม นอกจากคนตาบอดเท่านั้นจะไปถามสวรรค์อยู่ที่ไหน นรกอยู่ที่ไหน บาปอยู่ที่ไหน คนตาบอดมันจะมืดไปหมด สิ่งนั้นมีสิ่งนี้มีมันก็ไม่เห็น เพราะความมืดปิดไว้เมื่อความสว่างได้ปรากฏขึ้นมาแล้วสิ่งใดที่มีอยู่มากน้อยมันเห็นหมดนั่นแหละปิดไม่อยู่ ท่านเรียกว่า โลกวิทู รู้แจ้งโลก รู้แจ้งอะไร โลกธาตุโลกขันธ์โลกความเกิดแก่เจ็บตาย โลกกิเลสตัณหา รู้รอบหมด ถ้าลงได้ว่าเป็นโลกวิทูแล้วรู้รอบตลอดทั่วถึง จึงขอให้พากันตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติ
ความมีคุณค่าของนักปฏิบัติอยู่กับความเพียร ทุกเวลาให้มีคุณค่าภายในตัวเอง อย่าให้เป็นโมฆภิกษุไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย นอกจากเป็นการเหยียบย่ำทำลายตัวเองลงในขณะเดียวกัน เพราะกิเลสไม่เคยเปิดช่องเปิดโอกาสให้ใคร นอกจากเราจะบุกมันเท่านั้น จะคอยให้กิเลสนอนหลับเสียก่อนแล้วข้ามหัวกิเลสไปสวรรค์นิพพาน อย่าหวัง เราอย่าไปคิดอย่าไปคาดให้เสียเวล่ำเวลา นั่นคือกลหลอกลวงของกิเลส มันไม่เคยปล่อยใครแหละ เหยียบหัวมันไปเลย สู้มันไปเลย นั่นถึงเรียกว่านักรบ
จะคอยให้กิเลสมันนอนหลับเสียก่อนแล้วเราถึงจะข้ามหัวมันไป แล้วคอยให้กิเลสตายเสียก่อนแล้วไป กุสลา กิเลส ไม่มีทางละที่จะกุสลากิเลส นอกจากกิเลสมันอกุสลา ธมฺมา พระองค์นี้นาทำไมโง่นักเท่านั้น เอาให้มันถึงซิ กุสลา ธมฺมา เเปลว่าความฉลาด พระพุทธเจ้าสอนใคร ท่านไม่ได้สอนคนตายท่านสอนคนเป็น
เราต้องการความฉลาดอยู่แล้วเวลานี้ ฝึกหัดคิด สติปัญญามีหุงต้มแกงกินไม่ได้ สติปัญญาเป็นหน้าที่จะต้องนำมาคิดมาแก้มาไขสิ่งที่มันขัดข้องภายในจิตใจให้ทะลุปรุโปร่งไปเท่านั้น เป็นเรื่องของสติปัญญา เอาให้พอตัวซิ เมื่อพอตัวแล้วไม่ต้องถามละอะไรก็หมด เรียกว่าพอถามอะไร เสาะอะไรแสวงหาอะไร หิวอะไรอยากอะไรเมื่อพอแล้ว นั่นความพอดี ท่านเรียกว่ามัชฌิมาในหลักธรรมชาติ
มัชฌิมาคือข้อปฏิบัติ เป็นทางเดินเพื่อความพ้นทุกข์ก็เป็นมัชฌิมา ปฏิบัติให้พอดีพอเหมาะกับกิเลสประเภทนั้นๆ เมื่อปราบกันลงได้ด้วยหลักของมัชฌิมาแล้วผลคือมัชฌิมาเป็นหลักธรรมชาติเสมอตัว อยู่ด้วยความสม่ำเสมอหรือความเที่ยงแท้ เป็นกลางตลอดเวลา นั้นคือมัชฌิมาในหลักธรรมชาติแท้ ก็ได้แก่จิตที่บริสุทธิ์แล้วนั้นแล
การแสดงธรรมก็เห็นว่าสมควร รู้สึกเหนื่อย
https://sites.google.com/site/smartdhamma/kaneid-haeng-phph-hlwng-tam-ha-baw-yan-sam-pan-no