บางมุมของ “สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก”
ที่ชาวพุทธยังไม่รู้
3 ตุลาคม เป็นวันที่เหล่าพุทธศาสนิกชนชาวไทย ล้วนปลาบปลื้มปีติเป็นล้นพ้น เนื่องด้วยสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ทรงเจริญพระชันษา 100 ปี พระองค์ทรงได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช ในราชทินนามที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2532 นับเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ด้วยพระองค์ทรงมีพระเมตตาต่อพุทธศาสนิกชนไทยเป็นล้นพ้น ทรงประกอบศาสนกิจเป็นคุณประโยชน์อเนกอนันต์ มิเพียงแต่ชาวพุทธในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังทรงแผ่พระเมตตาบารมีไปทั่วโลก พระองค์ท่านจึงได้รับการยกย่องจากทั้งชาวพุทธในประเทศไทยและในต่างประเทศ
พระ ดร.อนิลมาน ศากยะ ผู้ช่วยเลขานุการ สมเด็จพระสังฆราช ได้เมตตาเล่าถึงพระประวัติส่วนพระองค์ ที่สะท้อนถึงพระจริยวัตรอันงดงาม มีคุณค่าแก่ชาวพุทธ ให้ได้ยึดถือเป็นแบบอย่างสืบเนื่องต่อไป พระ ดร.อนิลมาน ศากยะ เป็นชาวเนปาล สมเด็จพระสังฆราชทรงรับอุปถัมภ์ตั้งแต่เป็นสามเณรอายุ 14 ปี ทรงสั่งสอนหลักธรรม และส่งเสริมให้เรียนรู้จนจบปริญญาเอก จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ ด้วยพระ ดร.อนิลมาน รับใช้สมเด็จพระสังฆราชมาตั้งแต่ยังเป็นเด็กจนเจริญวัยในปัจจุบัน จึงเป็นท่านหนึ่งที่ทราบถึงพระประวัติส่วนพระองค์ทุกเรื่องได้เป็นอย่างดี
พระจริยวัตรประจำวัน
พระ ดร.อนิลมาน เล่าว่า สมเด็จพระสังฆราชทรงตื่นบรรทมทุกเช้าเวลา 03.30 น. จากนั้นจะทรงนั่งสวดมนต์ภาวนาไปจนถึงเวลา 05.00 น. บทสวดมนต์ที่พระองค์ท่องประจำ มีตั้งแต่สวดพระปาติโมกข์ ท่องพระสูตรและพระคาถาต่างๆ
“ถ้าวันไหนมีกิจกรรมเยอะๆ จะต้องทำ พระองค์จะรับสั่งกับอาตมาว่า…วันนี้สวดยังไม่จบคอร์สเลย…เพราะทรงพระอารมณ์ดี”
หลังจากสวดมนต์เสร็จ พระองค์จะทรงนั่งสมาธิเพื่อฝึกจิตให้นิ่งและมั่นคง ต่อไปจนถึง เวลา06.00 น. จากนั้นจึงเสด็จออกจากพระตำหนัก เพื่อรับแขกที่มาเข้าเฝ้าหรือเสด็จบิณฑบาต แม้ตอนที่พระองค์เป็นพระสังฆราชก็ยังเสด็จออกบิณฑบาตเป็นประจำ
“พระสังฆราชทรงพระเมตตามาก หลังจากบิณฑบาตกลับมาทรงเห็นเณรน้อยหลายรูป ที่ไม่ค่อยมีใครใส่บาตร ส่วนพระองค์ของเต็มบาตรเพราะมีประชาชนมาถวายกันเยอะ พระองค์จะทรงแบ่งอาหารจากบาตรให้แก่เณรด้วย หรือบางทีพระรอบกุฏิที่ไม่ออกบิณฑบาต พระองค์ทรงกลัวว่าพระเหล่านั้นจะไม่มีอาหารฉัน ก็จะทรงแบ่งอาหารในบาตรให้ พร้อมพูดติดตลกว่า แทนที่ลูกศิษย์จะเลี้ยงอุปัชฌาย์ กลายเป็นอุปัชฌาย์เลี้ยงลูกศิษย์แทน”
ในทุกๆ วัน จะมีทั้งแขก ผู้มีชื่อเสียงและเหล่าพุทธศาสนิกชน มาเข้าเฝ้าสมเด็จพระสังฆราชเป็นจำนวนมาก พระองค์ทรงอนุญาตให้เข้าเฝ้าตั้งแต่ 07.00 น. เป็นต้นไป จนถึง 09.30น. จึงจะเสวยพระกระยาหาร โดยเสวยมื้อเดียวมาตลอด
พระ ดร.อนิลมาน เล่าว่า แขกที่มาเข้าเฝ้าพระองค์ บางวันมีจำนวนมากจนบางครั้งขณะที่พระองค์ทรงเสวยก็ยังมีมาเข้าเฝ้า
“วันหนึ่งสมเด็จพระเทพฯ เสด็จมา ทอดพระเนตรเห็นมีแขกมาเข้าเฝ้า ขณะที่ สมเด็จพระสังฆราชกำลังเสวย สมเด็จพระเทพฯ ทรงเขียนป้ายบอกว่า ห้ามเข้าเฝ้าจนกว่าจะเสวยเสร็จเพราะทรงเห็นว่า พระองค์มีเวลาเสวยเพียงวันละมื้อเท่านั้น”
สมเด็จพระสังฆราชจะบรรทมอีกทีประมาณ 1 ชั่วโมงหลังเสวยเสร็จ เมื่อตื่นบรรทมแล้วถ้ามีงานนิมนต์ก็จะเสด็จไป หรือถ้าเป็นช่วงเข้าพรรษา พระองค์จะเสด็จไปสอนพระใหม่ แต่ถ้าไม่ได้เสด็จไปไหน พระองค์จะใช้เวลาตลอดช่วงบ่าย ค้นคว้าตำรา ทรงอ่านหนังสือหรือทรงพระนิพนธ์
ช่วงเวลา 16.00-18.00 น. ทรงเปิดพระตำหนักให้ญาติโยมได้เข้าเฝ้าอีกครั้ง จากนั้นถ้ามีเวลาเหลือ จะทรงค้นคว้าและทรงพระนิพนธ์งาน หรือทรงเตรียมงานสำหรับวันต่อไป
สมเด็จพระสังฆราชจะเข้าบรรทมทุกวันในเวลา 21.00 น. โดยก่อนบรรทมจะสวดมนต์เจริญภาวนาอีกครั้ง
ทรงเป็นนักสื่อสารมวลชน
หลายคนอาจจะไม่เคยทราบว่า สมเด็จพระสังฆราชเคยเป็น “นักจัดรายการวิทยุ” ด้วย โดย พระ ดร.อนิลมาน เล่าว่า ครั้งหนึ่งสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือ สมเด็จย่า ทรงเคยขอให้สมเด็จพระสังฆราชจัดรายการวิทยุ ที่สถานี อส. เกี่ยวกับเรื่องธรรมะเมื่อปี 2510 เป็นต้นมา
“พระองค์จะทรงเขียนบทวิทยุเอง เป็นบทสั้นๆ ประมาณ 10 นาที แล้วทรงอ่านอัดเทปเพื่อนำไปเปิดในรายการ ครั้งหนึ่งสมเด็จย่าทรงให้พระองค์ทรงเขียนเรื่องธรรมะสำหรับผู้ใหญ่ เพื่อนำไปออกอากาศ พระองค์จึงทำบทวิทยุเรื่อง “การบริหารจิตสำหรับผู้ใหญ่” โดยทำเป็นตอนๆ และในช่วงท้าย พระองค์ทรงนิพนธ์เรื่องจิตนครขึ้นมา”
นอกจากนี้ พระ ดร.อนิลมาน ยังเปิดเผยว่า สมเด็จพระสังฆราช ทรงเป็นคนทันสมัยมาก เพราะครั้งหนึ่งพระองค์เคยเป็นคอลัมนิสต์เขียนบทความลงใน “ศรีสัปดาห์” ซึ่งเป็นนิตยสารของผู้หญิง
ทรงเป็นกวีเอก
อีกเรื่องหนึ่งที่น้อยคนนักจะรู้ว่า สมเด็จพระสังฆราช ทรงเป็นกวีที่เก่งมาก ทรงแต่งโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอนทุกประเภท ทั้งภาษาบาลีและภาษาไทยได้อย่างสละสลวย โดยเฉพาะ วันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระสังฆราชทรงพระนิพนธ์กลอนถวายทุกปี
เมื่อสมัยที่ทรงผนวชเป็นพระใหม่ สมเด็จพระสังฆราชเดินทางมายังกรุงเทพฯ เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรมที่วัดบวรนิเวศวิหาร พระองค์ทรงสอบได้นักธรรมชั้นตรีได้เมื่อ พ.ศ. 2472 และทรงสอบได้นักธรรมชั้นโท และเปรียญธรรม 3 ประโยค ในปี พ.ศ. 2473
แต่ครั้นสอบเปรียญธรรม 4 ประโยค ผลปรากฏว่า ทรงสอบตกทั้งๆ ที่ทรงตั้งพระทัยมาก ทำให้ทรงรู้สึกท้อแท้มาก พระ ดร.อนิลมาน เล่าว่า ทรงระบายความรู้สึกผิดหวังออกมาเป็นกลอน หลังจากนั้น พระองค์ก็ทรงใช้ความผิดหวังเป็นพลังกลับไปสอบใหม่จนจบเปรียญ 9
รับสั่งได้ถึง 4 ภาษา
พุทธศาสนิกชนมักจะเห็นว่า เหล่าแขกที่มาเข้าเฝ้าสมเด็จพระสังฆราชนั้น มีทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติมากมาย คำถามคือ สมเด็จพระสังฆราชทรงรับสั่งภาษาอังกฤษได้หรือไม่ เรื่องนี้ พระ ดร.อนิลมาน ได้เล่าว่า พระองค์มีพระปรีชามาก ทรงฝึกหัดภาษาต่างประเทศด้วยพระองค์เอง จนสามารถรับสั่งอย่างคล่องแคล่ว และทรงเขียนได้ 4 ภาษาคือ ภาษาอังกฤษ, ฝรั่งเศส, เยอรมัน และ จีน นอกจากนี้ ตัวอักษรที่ทรงอ่านและเขียนได้คล่องคืออักษรขอมโบราณ อักษรพม่า อักษรสิงหล และอักษรเทวนาครี
พระนิพนธ์อันทรงคุณ
พระ ดร.อนิลมาน เล่าว่า สมเด็จพระสังฆราชทรงนิพนธ์เรื่องต่างๆ ไว้มาก ทั้งที่เป็นตำรา พระธรรมเทศนา นิยายทั่วไป โดยพระนิพนธ์ล่าสุดเรื่อง “จิตตนคร” โดย พระธีรโพธิ ภิกขุ ได้จัดพิมพ์เป็นหนังสือภาพในชื่อ “จิตรกรรมเล่าเรื่องจิตตนคร” เพื่อฉลองพระชันษา 100 ปี
“พระนิพนธ์มีมหาศาลมากที่กำลังจัดพิมพ์ขณะนี้ มีถึง 32 ซีรีย์ แต่ละเล่มหนาถึง 500หน้า ซึ่งเป็นธรรมะทุกระดับ”
ครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสดับฟังเทปของสมเด็จพระสังฆราชเรื่อง “สัมมาทิฏฐิ” ซึ่งเป็นธรรมะที่ลึกซึ้ง และทรงสนพระทัยมากจนขอประทานอนุญาตสมเด็จพระสังฆราช เพื่อพิมพ์ถวาย โดยในหลวงทรงพิสูจน์อักษรด้วยพระองค์เอง
ส่ง”พระธรรมทูต”เผยแผ่ศาสนา
สมเด็จพระสังฆราชทรงทันสมัยและมีวิสัยทัศน์ในเรื่องพระศาสนาอย่างกว้างไกล ปัจจุบันเราจะเห็นว่า มีพระไทยและวัดไทยที่ไปเผยแผ่พระพุทธทั่วโลก อันเนื่องมาจากพระดำริที่มองการณ์ไกลของพระองค์นั่นเอง
เมื่อปี พ.ศ.2509 สมเด็จพระสังฆราชเป็นพระองค์แรก ที่ทรงดำริที่จะเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปยังต่างประเทศ พระองค์จึงทรงเป็นประธานกรรมการอำนวยการ ฝึกอบรมพระธรรมทูตในต่างประเทศ
“ตอนนั้นพระองค์ท่านทรงริเริ่มฝึกพระธรรมทูต โดยเลือกจากพระเณรให้ฝึกพูดภาษาอังกฤษก่อน จากนั้นก็ฝึกให้ใช้ชีวิตที่เปลี่ยนตามสภาพแวดล้อมได้ เพื่อง่ายต่อการส่งไปเผยแพร่ศาสนายังวัดในต่างประเทศ”
จากพระธรรมทูตองค์แรกเมื่อปี 2509 จนถึงปัจจุบัน มีพระธรรมทูตที่ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา และสร้างวัดทั่วโลกถึง 200 แห่ง และในโอกาสฉลองพระชันษา 100 ปี เหล่าพระธรรมทูตก็ได้กลับมาที่วัดบวรฯ เพื่อสัมมนาตรวจสอบจิตวิญญาณแห่งพระธรรมทูตครั้งใหญ่ร่วมกัน
ข้อมูล ASTV
http://www.weloveayutthaya.com/index.aspx?ContentID=ContentID-13101013200042110