รูปแบบเจดีย์พิพิธภัณฑ์พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร

รูปแบบเจดีย์พิพิธภัณฑ์พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร

ลักษณะของเจดีย์พิพิธภัณฑ์ มีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมเป็นรูปดอกบัว ผสมกันระหว่างดอกบัวตูมทรงเหลี่ยมและดอกบัวบาน รูปแบบเจดีย์พิพิธภัณฑ์พระอาจารย์ฝั้น แบ่งออกเป็น ๓ ส่วน ส่วนที่ ๑ ฐาน ส่วนที่ ๒ เรือนเจดีย์ ส่วนที่ ๓ เรือนยอด

ส่วนฐานยกสูงจากพื้น มีซุ้มตั้งอยู่บนฐานล้อมรอบตัวเรือนเจดีย์ ทั้งหมด ๕๖ ซุ้ม แต่ละซุ้มจะเป็นเรื่องราวประวัติของพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ตั้งแต่เกิดจนมรณภาพ ภาพเล่าเรื่องเหล่านี้ในแต่ละซุ้ม จะเป็นงานประติมากรรมดินเผาแบบนูนต่ำ ด้านหน้าก่อนขึ้นไปตัวเรือนเจดีย์เริ่มตั้งแต่ซุ้มที่ ๑

ซุ้มที่ ๑

เกิดวันอาทิตย์ ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๙ ตรงกับวันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๔๔๒ ณ บ้านม่วงไข่ อ. พรรณานิคม สกลนคร ในตระกูล “สุวรรณรงค์” เริ่มเรียนหนังสือที่วัดโพธิ์ชัย มี ท่านอาญาครูดี เป็นเจ้าอาวาส

ซุ้มที่ ๒

ระหว่างอยู่กับพี่เขย ซึ่งเป็นปลัดขวา จ.ขอนแก่น พี่เขยให้นำปิ่นโตไปส่งนักโทษ ซึ่งเป็นอดีตเจ้าเมืองทำให้ประจักษ์ถึงความไม่แน่นอนของชีวิต

ซุ้มที่ ๓
มีศรัทธามั่นในการบวช ไปลาพี่เขยและพี่สาวที่ย้ายไปอยู่ จ.เลย แล้วกลับมาบรรชาเป็นสามเณร ณ วัดโพนทอง บ้านบะทอง อ.พรรณานิคม

ซุ้มที่ ๔

พ.ศ. ๒๔๖๒ อุปสมบทเป็นภิกษุฝ่ายมหานิกาย ณ วัดสิทธิบังคม บ้านไฮ่ อ.พรรณานิคม พระครูป้อง เป็นอุปัชฌาย์

ซุ้มที่ ๕

ออกพรรษ กลับมาอยู่วัดโพนทอง ถึงฤดูแล้ง ท่านอาญาครูธรรม เจ้าอาวาส พาพระลูกวัดออกธุดงค์ฝึกภาวนาตามป่าเขา การภาวนาสมัยนั้นใช้วิธีภาวนา “พุทโธ” พร้อมนับลูกประคำ

ซุ้มที่ ๖
เดือน ๓ ข้างขึ้น พ.ศ. ๒๔๖๓ ได้พบ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เป็นครั้งแรก ณ ป่าช้า ข้างบ้านม่วงไข่ (ปัจจุบัน-วัดป่าภูไทสามัคคี) ขอปวารณาเป็นศิษย์ พร้อมท่านอาญาครูดี และพระอาจารย์กู่ ธัมมทินโน

ซุ้มที่ ๗

ได้พบ พระอาจารย์ดูลย์ อตุโล เรียนวิธีฝึกจิตภาวนาติดตาม พระอาจารย์ดูลย์ ธุดงค์ตามหา พระอาจารย์มั่น ไปทันที่บ้านตาลโกน ต.ตาลเนิ้ง อ.สว่างแดนดิน

ซุ้มที่ ๘

พร้อมด้วยพระอาจารย์ดูลย์ ท่านอาญาครูดี และพระอาจารย์กู่ ได้ศึกษาธรรมกับพระอาจารย์มั่น ณ บ้านตาลโกน เป็นเวลา ๓วัน

ซุ้มที่ ๙

ไปกราบ พระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล ที่บ้านหนองดินดำ แล้วไปศึกษาปฏิบัติธรรมกับ พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม ที่บ้านหนองหวาย

ซุ้มที่ ๑๐

ระหว่างบำเพ็ญเพียรอยู่ที่ถ้ำพระบด อ.บ้านผือ อาศัยบิณฑบาตได้ข้าววันละปั้น และพริกกับเกลือ จากตายายชาวไร่ ๒ คน ซึ่งอยู่ห่างจากถ้ำราว ๑๐๐ เส้น

ซุ้มที่ ๑๑

ภาวนาอยู่กับสามเณร พรหม สุวรรณรงค์ ผู้เป็นหลานในถ้ำพระบด ซึ่งลือกันว่าผีดุ ได้พิสูจน์เรื่องผีเจ้าถ้ำพระบด

ซุ้มที่ ๑๒

ธุดงค์ข้ามโขงไปลาว แล้วพาสามเณรพรหมกลับมานมัสการ พระอาจารย์มั่น ที่บ้านนาสีดา อ. บ้านผือ จ. อุดรธานี

ซุ้มที่ ๑๓

ธุดงค์ไปวาริชภูมิ ถึงบ้านหนองแสง อาพาธเป็นไข้หวัดใหญ่ อาการหนักมาก เกิดวุ่นวานในจิต ออกเดินธุดงค์ต่อทั้ง ๆ ที่ยังไม่ทุเลา เห็นสุนัขแทะกระดูกถึง ๓ ครั้ง จึงได้คิด ภาวนาจนบำบัดไข้ได้ด้วยธรรมโอสถ

ซุ้มที่ ๑๔

ญัตติเป็นธรรมยุติกนิกาย เมื่อ ๒๑ พฤษภาคม ๒๔๖๘ ณ วัดโพธิสมภรณ์ อ.เมือง จ. อุดรธานี มี เจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ เป็นอุปัชฌาย์

ซุ้มที่ ๑๕

จำพรรษาแรก ณ วัดอรัญญวาสี อ.ท่าบ่อ จ. หนองคาย กับ พระอาจารย์มั่น มีเพื่อนสหธรรมมิกคือ พระอาจารย์กู่ พระอาจารย์อ่อน ญาณศิริ และพระอาจารย์ กว่า สุมโน

ซุ้มที่ ๑๖

ธุดงค์เลียบแม่น้ำโขง เข้าเขตศรีเชียงใหม่ พักในศาลปู่ตา กว้างครึ่งวา ยาว ๑ วา สูง ๑ ศอก มุงกระเบื้องไม้ เปิดโล่ง ๓ ด้าน

ซุ้มที่ ๑๗

ร่วมทำญัตติกรรม พระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตตโก พระอาจารย์ลีลา อิสสโร และท่านอาญาครูดี ที่โบสถ์น้ำกลางหนองบ้านสามผงใช้เรือ ๒ ลำเป็นทุ่น มีเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ เป็นอุปัชฌาย์ พระอาจารย์มั่น นั่งหัตถบาส

ซุ้มที่ ๑๘

จำพรรษาที่ ๒ (พ.ศ. ๒๔๖๙) ที่บ้านดอนแดง คอกช้าง อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม ร่วมกับพระอาจารย์กู่และพระอาจารย์กว่า

ซุ้มที่ ๑๙

พักบ้านหัวตะพาน อ.อำนาจเจริญ จ. อุบลราชธานี พระโพธิวงศาจารย์ (ติสสเถระ อ้วน) เจ้าคณะมณฑลอีสาน (ธรรมยุต) ให้เจ้าคณะแขวงมาขับไล่ จดชื่อพระเณร ตาปะขาวที่ธุดงค์ทุกคน

ซุ้มที่ ๒๐

ช่วย พระอาจารย์ดี ฉันโน บ้านกุดแห่ ต.กุดเชียงหนี อ.เลิงนกทา แก้วิปัสสนูกิเลสแก่ญาติโยมผู้ภาวนาและเกิดจิตวิปลาส

ซุ้มที่ ๒๑

จำพรรษาที่ ๓ (พ.ศ. ๒๔๗๐) ณ บ้านบ่อชะเนง ต.หัวตะพาน จ.อุบลราชธานี ช่วย พระอาจารย์กู่ สวดปาฏิโมกข์ ต่อมาเจ้าคณะตำบลได้มาขับไล่พระสายกัมมัฎฐานอีก แต่เมื่อได้ฟังคำชี้แจงแล้วก็ยอมกลับไป

ซุ้มที่ ๒๒

พร้อมด้วยพระภิกษุ สามเณร ๓ รูป ตาปะขาว ๒ คน ลาพระอาจารย์มั่น ออกธุดงค์ไปตามภูเขาลำเนาไพรหลงทางไปจนถึงถ้ำจำปา บ้านหนองสูง อ.คำชะอี จ.นครพนม

ซุ้มที่ ๒๓

คืนวันนั้น ไม่ทราบว่ารุ่งขึ้นจะไปบิณฑบาตที่ใด นั่งสมาธิ นิมิตได้ยินเสียงวัวร้อง และเห็นทางคนเดินและหมู่บ้าน รุ่งขึ้นเช้าออกบิณฑบาตพบทางเดินและบ้านเรือนผู้คนเช่นที่ปรากฏในนิมิตทุกประการ

ซุ้มที่ ๒๔

พรรษาที่ ๔ (พ.ศ. ๒๔๗๑) จำพรรษาที่บ้านห้วยทราย อ.คำชะอี จ.นครพนม อาพาธโรคกะเพาะ อาการหนักมาก

ซุ้มที่ ๒๕

วิเวกมาทางสกลนคร ถึงพระธาตุเชิงชุมได้ขึ้นนั่งรถยนต์เป็นครั้งแรก สงสัยว่ารถยนต์แล่นได้อย่างไร กำหนดจิตดูเครื่องยนต์ เครื่องก็ดับ ถอนจิต รถก็ไปได้ เป็นดังนี้ถึง ๓ ครั้ง

ซุ้มที่ ๒๖

เดินจากบ้านบะทอง-วาริชภูมิ ตัดป่าฝ่าภูเขาไปทางหนองหาน-กุมภวาปี เดินถึงน้ำพองขึ้นรถไฟไปลงขอนแก่น

ซุ้มที่ ๒๗

พบ พระอาจารย์สิงห์ ที่วัดป่าบ้านเหล่างา ต.โนนทัน จ.ขอนแก่น พระกรรมฐานประชุมกัน ๗๐ รูป เพื่อจาริกแยกย้ายกันไปตั้งสำนักสงฆ์ฝ่ายอรัญญวาสีตามที่ต่าง ๆ

ซุ้มที่ ๒๘

พรรษาที่ ๕-๖ (พ.ศ. ๒๔๗๒–๒๔๗๓) จำพรรษาที่ป่าช้าบ้านผือ ต.โนนทัน จ.ขอนแก่น พักที่ศาลปู่ตา ชาวบ้านที่เลื่อมใสมาตักน้ำถวาย แต่ผู้ใหญ่บ้านและลูกบ้านบางคนไม่พอใจ

ซุ้มที่ ๒๙

ออกพรรษาแล้ว พระอาจารย์อ่อน มาชวนไปเที่ยววิเวกไปถึงบ้านจีด อ.หนองหาน จ.อุดรธานี โต้ “ธรรมต่อไก่” กับตาปะขาวไท้สุข จนยอมละมิจฉาทิฎฐิ

ซุ้มที่ ๓๐

ที่บ้านจีด โยมผู้หญิงคนหนึ่งไอทั้งวัน ท่านให้ภาวนาตั้งจิตบริกรรม ๗ วันก็หายสนิท โยมจึงนำจักรมาถวาย ท่านจะปฏิเสธก็เกรงจะเสียใจ จึงรับไว้เพียงเย็บจีวร แล้วคืนให้

ซุ้มที่ ๓๑

พรรษาที่ ๗ (พ.ศ. ๒๔๗๔) จำพรรษาที่ภูระงำ อ.ชนบท จ.ขอนแก่น กับพระอาจารย์กงมา จิรปุญโญ อาพาธเดิมกำเริบหนัก ภาวนาสละตายจนจิตรวมสงบ เวทนาดับเหลือแต่เอกา จิตตังตลอดคืนยันรุ่ง

ซุ้มที่ ๓๒

ณ ภูระงำ ได้นิมิตคาถา “โสตถิ คัพภัสสะ” ของ องคุลิมาล สำหรับช่วยหญิงคลอดบุตร วันต่อมาหญิงชราพาบุตรสาวเจ็บท้องนานถึง ๓ วัน มาขอความช่วยเหลือ ท่านจึงให้คาถาไปภาวนาคลอดได้โดยง่าย

ซุ้มที่ ๓๓

ร่วมในพิธีถวายที่ดินผืนใหญ่ สร้างวัดป่าสาลวัน หลังสถานีรถไปนครราชสีมา โดยหลวงชาญนิคม ผู้บังคับกองตำรวจนครราชสีมาเป็นผู้ถวาย

ซุ้มที่ ๓๔

เดินทางเข้ากรุงเทพฯ พร้อมพระอาจารย์สิงห์ และพระอาจารย์มหาปิ่น ปัญญาพโล เยี่ยมอาการป่วย เจ้าคุณอุบาลี คุณาปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) ที่วัดบรมนิวาส

ซุ้มที่ ๓๕

พระอาจารย์สิงห์ พาไปนมัสการ พระปัญญาพิสาลเถระ (หนู จิตปัญโญ) วัดปทุมวนาราม พบหญิงสาวคนหนึ่งเดินสวนทางมา เกิดอารมณ์ วางไม่ลง เจริญอสุภแก้ไขอยู่ ๗ วัน จิตจึงสงบ และได้รู้ว่าหญิงนั้นเคยมีบุพเพสันนิวาสร่วมกันมาในอดีตชาติ

ซุ้มที่ ๓๖

พรรษาที่ ๘ (พ.ศ. ๒๔๗๕) วัดป่าศรัทธาราม ต.หัวทะเล จ.นครราชสีมา ออกพรรษาไปวิเวกที่บ้านคลองไผ่ ต.ลาดบัวขาว อาพาธหนัก ภาวนายอมตาย นิมิตเห็นกวางวิ่งออกจากร่าง ลงลำห้วยกลายเป็นช้างบุกเข้าป่าหายไป แต่นั้นก็หายจากไข้มาลาเรียโดยเด็ดขาด

ซุ้มที่ ๓๗

นายอำเภอ ขุนเหมสมาหาร อาราธนาท่านพร้อมด้วยพระอาจารย์อ่อนให้สร้างวัดใกล้สถานีรถไฟบ้านใหม่สำโรง ต.ลาดบัวขาว อ.สีคิ้ว

ซุ้มที่ ๓๘

พรรษาที่ ๙–๑๐ (พ.ศ. ๒๔๗๖–๒๔๗๗) บ้านมะรุม อ.โนนสูง จัดสร้างเสนาสนะป่าเป็นสำนักสงฆ์บนโคกป่าช้า ระหว่างบ้านแฝกกับหมู่บ้านหนองนา ต.พลสงคราม

ซุ้มที่ ๓๙

หลังออกพรรษาปี พ.ศ. ๒๔๗๖ กลับไปนครราชสีมา นมัสการ พระอาจารย์สิงห์ ณ วัดป่าสาลวัน

ซุ้มที่ ๔๐

ชวน พระอาจารย์อ่อน ไปวิเวกบนถ้ำเขาตะกรัง อ.ปักธงไชย มีเสือมาเลียบเคียง ร้องคำรามรบกวนทั้งคืนท่านโยกก้อนหินเข้าใส่ มันก็โจนเข้าป่าหายไป

ซุ้มที่ ๔๑

ธุดงค์เข้าดงพญาเย็น รวมภิกษุ ๓ รูป และสามเณร ๑ รูป ท่านเดินนำหน้า พบเสือนอนหันหลัง เดินเข้าไปใกล้แล้วร้องว่า “เสือหรือนี่?” เสือผงกหัว หันมาเห็นท่าน ก็เผ่นเข้าป่าไป

ซุ้มที่ ๔๒

ระหว่างธุดงค์ในกลางดงพญาเย็น เด็กที่ติดตามไปผิดศีล เกรงผีกองกอยจะรบกวน ท่านให้จุดเทียนในโคมผ้า ตั้งไว้รอบทิศ ทุกองค์นั่งสมาธิล้อมเด็กไว้ท่านกำหนดจิตดูผีกองกอย เห็น “หน้าเท่าเล็บมือ ผมยาวคล้ายชะนี” หล่นจากต้นไม้แล้วหายไป

ซุ้มที่ ๔๓

พรรษาที่ ๑๑–๑๙ (พ.ศ. ๒๔๗๘–๒๔๘๖) จำพรรษาที่วัดป่าศรัทธารวม ต.หัวทะเล จ.นครราชสีมา ซึ่งเดิมเป็นป่าช้าสำหรับเผาศพผู้ที่ตายด้วยโรคติดต่อ

ซุ้มที่ ๔๔

ปี พ.ศ. ๒๔๗๙ เดินทางโดยรถไฟไปเชียงใหม่ พร้อมพระอาจารย์อ่อน เพื่อตามหา พระอาจารย์มั่น เมื่อถึงวัดเจดีย์หลวง พระอาจารย์มั่น คอยรอพบอยู่ก่อนแล้ว

ซุ้มที่ ๔๕

ระหว่างออกพรรษาปี พ.ศ. ๒๔๘๖ ธุดงค์ไปถึงเขาพนมรุ้ง อ.ประโคนชัย บุรีรัมย์ พักอยู่ในป่าไม้กระเบา ริมห้อยเสนง จ.สุรินทร์

ซุ้มที่ ๔๖

พรรษาที่ ๒๐ (พ.ศ. ๒๔๘๗) จำพรรษาอยู่ที่วัดบูรพา อุบลราชธานี หมั่นไปอธิบายปฏิบัติถวาย สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ที่วัดสุปัฏน์ เกือบทุกวัน

ซุ้มที่ ๔๗

ออกพรรษา เดินทางกลับบ้านเกิด พระ๑ สามเณร ๑ และศิษย์อีก ๑ แวะนมัสการพระธาตุพนม แล้วพักที่วัดป่าเกาะแก้ว อ.ธาตุพนม

ซุ้มที่ ๔๘

บำเพ็ญบุญอุทิศส่วนกุศลแด่บุพการี ที่ป่าช้าข้างหนองแวง (ปัจจุบัน วัดป่าอุดมสมพร) ผลัดกันกับ ท่านอาญาครูดี และพระอาจารย์อ่อน เทศน์จนสว่าง

ซุ้มที่ ๔๙

พรรษาที่ ๒๑–๒๙ และพรรษาที่ ๓๒ และ ๓๙ (พ.ศ. ๒๔๘๘–๒๔๙๙ และพ.ศ. ๒๕๐๖) จำพรรษาที่วัดป่าธาตุนาเวง (วัดป่าภูธรพิทักษ์) สกลนคร นำญาติโยมบูรณะวัด ซ่อมแซมกุฎีที่ผุพังให้ดีขึ้น

ซุ้มที่ ๕๐

พ.ศ. ๒๔๘๙ ฝนฟ้าไม่ตกตามฤดูกาล ทำพิธีสวดมนต์กลางแดดจ้า จนกระทั่งเกิดเมฆฝน ฝนตกหนักเกือบ ๓ ชั่วโมง เป็นที่น่าอัศจรรย์

ซุ้มที่ ๕๑

พ.ศ. ๒๔๙๑ ไปวิเวกที่ภูวัว อ.บึงกาฬ หนองคาย ได้ร่วมกับ พระอาจารย์อ่อน พระครูอุดมธรรมคุณ (ทองสุข สุจิตโต) สร้างพระพุทธรูปบนหน้าผา (ปัจจุบัน-สำนักสงฆ์ถ้ำพระ)

ซุ้มที่ ๕๒

ประสบอุบัติเหตุร้ายแรงที่สุดในชีวิต ระหว่างปีนเขาบนภูวัว ลื่นไถลไปตามกระแสน้ำศีรษะฟาดลานหินเสียงดังสนั่น มีสติรู้อยู่จึงสามารถกำหนดจิตให้กายเบา เหมือนสำลีตกลงบนหิน

ซุ้มที่ ๕๓

พ.ศ. ๒๔๙๖ ออกเดินทางค้นหาถ้ำขามตามนิมิต สุดท้ายพบถ้ำซึ่งมีลักษณะเหมือนในนิมิตทุกประการ (ปัจจุบัน-วัดถ้ำขาม)

ซุ้มที่ ๕๔

พรรษาที่ ๓๐–๓๑ และพรรษาที่ ๓๓–๓๘ (พ.ศ. ๒๔๘๗-๒๔๙๘ และพ.ศ. ๒๕๐๐–๒๕๐๕) จำพรรษาที่ถ้ำขาม สกลนคร วันวิสาขะ พ.ศ. ๒๔๙๗ พาญาติโยมเวียนเทียน จุดธูปเทียนสว่างไสวทั้งภูเขา เทศน์ใต้ต้นลั่นทม บนถ้ำขามจนสว่าง

ซุ้มที่ ๕๕

สร้างสระน้ำใหญ่ กุฎี ศาลาบนถ้ำขาม น่าอัศจรรย์ที่พื้นหินสูงต่ำแตกต่างกันมาก แต่ท่านสั่งให้ตัดเสาขนาดต่างกัน เมื่อถึงกำหนดยกเสาแต่ละต้นขึ้นวางปรากฏว่า ทุกต้นวางได้ระดับเสมอกันพอดี

ซุ้มที่ ๕๖

พรรษที่ ๔๐–๕๒ (พ.ศ. ๒๕๐๗–๒๕๑๙) จำพรรษา ณ วัดป่าอุดมสมพร อ.พรรณานิคม สกลนคร ตราบจนมรณภาพ เมื่อวันอังคาร ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนยี่ ปีมะเส็ง ตรงกับวันที่ ๔ มกราคม ๒๕๒๐ เวลา ๑๙.๕๐ น.

มีทางขึ้นทางด้านทิศตะวันออกจากฐานไปสู่ตัวเรือนเจดีย์จะมีลานเชื่อมกับซุ้มทั้ง ๕๖ ซุ้ม ล้อมรอบตัวเรือนเจดีย์ ด้วยซุ้มทั้ง ๕๖ ซุ้ม ด้านหลัง ๕๖ ซุ้มได้จารึกคำสอนธรรมะของพระอาจารย์ฝั้นไว้

ตัวเรือนเจดีย์พิพิธภัณฑ์ทำเป็นรูปดอกบัวบานซ้อนกัน ๓ ชั้นลดหลั่นกัน ดอกบัวบานดอกแรกตั้งอยู่บนฐานเจดีย์พิพิธภัณฑ์ มีความหมาย หมายถึงศีล ดอกบัวบานดอกที่สองตั้งอยู่บนดอกบัวบานดอกแรก มีความหมาย หมายถึงสมาธิ ดอกบัวบานดอกที่สามตั้งอยู่บนดอกบัวบานดอกที่สอง มีความหมาย หมายถึงปัญญา

ตัวเรือนเจดีย์พิพิธภัณฑ์ดอกบัวบานชั้นแรก ชั้นที่สอง และชั้นที่สามจะทำเป็นภาพเล่าเรื่องเกี่ยวกับพระอาจารย์ฝั้น ภายในตัวเรือนเจดีย์พิพิธภัณฑ์ตรงกลางได้ประดิษฐานรูปเหมือนหล่อโลหะรมดำรูปท่านั่งบนโขดหินมือซ้ายถือไม้เท้า (ท่านั่งนี้น่าจะเป็นภาพที่ถ่ายทอดมาจากถ้ำขาม ซึ่งในปัจจุบันเป็นวัดถ้ำขามที่พระอาจารย์ฝั้นเป็นผู้สร้าง) ถัดจากโขดหินเป็นฐานตรงด้านหน้ารูปหล่อพระอาจารย์ฝั้นได้จัดแสดงอัฐิธาตุ บางส่วนได้แปรสภาพเป็นพระธาตุเพื่อให้คนทั่วไปได้กราบสักการะบูชาด้วยความเคารพท่าน รอบ ๆ รูปหล่อเหมือนพระอาจารย์ฝั้นได้จัดแสดงสิ่งที่เกี่ยวข้องกับท่าน เช่น เครื่องธุดงค์ ประกอบด้วย กลด ฯลฯ เครื่องใช้ประเภทผ้า เครื่องใช้ประจำวัน มีกาต้มน้ำ ฯลฯ เครื่องอื่น ๆ ประกอบด้วยหมอนไม้ กระติกน้ำ ฯลฯ และเครื่องใช้ขณะที่อาพาธ เช่น ยารักษาโรค

เรือนยอดตั้งอยู่บนฐานที่ตั้งอยู่บนเรือนเจดีย์ทำเป็นรูปทรงดอกบัวเหลี่ยม ซึ่งดอกบัวเป็นตัวแทนของศาสนาและเป็นศูนย์กลางของจักรวาล รูปดอกบัวเหลี่ยมเป็นส่วนเรือนยอดมักแสดงให้ถึงความเป็นศิลปลุ่มน้ำโขง

รอบ ๆ บริเวณเจดีย์พิพิธภัณฑ์ พระอาจารย์ฝั้น ได้มีการจัดสวนป่าได้อย่างสวยงาม ถัดมาเป็นคูน้ำล้อมรอบตัวเจดีย์พิพิธภัณฑ์ในคูน้ำมีปลาแหวกว่ายเป็นจำนวนมาก สร้างบรรยากาศให้ร่มรื่นสะพานคอนกรีตทอดยาวจากถนนเข้าไปสู่บริเวณเจดีย์พิพิธภัณฑ์ทำให้สถานที่แห่งนี้เป็นที่พระราชทานเพลิงของพระอาจารย์ฝั้นเกิดร่มรื่นเหมือนได้เข้าไปสู่แดนธรรมะของท่น ที่ได้สอนไว้ว่า “ต้องเข้าวัดดูจิตใจของเรา เพ่งดู พุทโธ พุทโธ วัดดูทุก ๆวัน ถ้าไม่ได้วัด ขาดวัด สองวันก็ไม่ได้ต้องวัดอยู่เสมอ นั่งก็วัด นอนก็ให้วัด ยืนก็ให้วัด เดินก็ให้วัด วัดเพื่อเหตุใด ให้มันรู้ไว้ วัดแล้วเราเห็นจิตใจเราดีนั่งก็ดียืนก็ดี เดินก็ดี ไปไหน ๆ ก็ดีไม่มีภัย ไม่มีเวร ไม่มีความชั่ว ไม่มีอันตราย มันก็ดี” จากเทศน์เรื่องวัตรของอุบาสก คำสอนของพระอาจารย์ฝั้น มุ่งเน้นเรื่องจิตเป็นเรื่องสำคัญ ถึงแม้ท่านได้ละสังขารไปแล้วแต่อนุสรณ์สถานเจดีย์พิพิธภัณฑ์ของท่านยังสอนผู้คนที่ไปกราบไหว้อยู่ตลอดเวลา

http://www.pongrang.com/web/data/a4/04/revival.snru.ac.th/temple/22.htm

. . . . . . .