สถูปหลวงพ่อทวดฯ
(สถูปหลวงพ่อทวดฯ หน้าวัดช้างให้ : อาจารย์ทิม ธัมมธโร นายอนันต์ คณานุรักษ์ และนายสุนนท์ คณานุรักษ์)
สถูปศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งบรรจุอัฐิหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด สมภารองค์แรกของวัดช้างให้ สถูปนี้ตั้งอยู่ใกล้ชิดกับทางรถไฟสายใต้ระหว่างหาดใหญ่ – สุไหงโก-ล๊ก ใกล้ชิดที่สุดระหว่างสถานีนาประดู่ กับสถานีป่าไร่ สถูปนี้มีอายุยืนนานมาประมาณ ๓๐๐ ปีเศษ แต่เดิมมีแต่เสาไม้แก่นปักหมายไว้ ประชาชนจึงเรียกกันว่า เขื่อนท่านช้างให้
ครั้นต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๔ ท่านอาจารย์ทิม ธมฺมธโร (พระครูวิสัยโสภณ เวลานี้) เข้ามาเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ ๕ ซึ่งเป็นองค์หลังสุดเวลานี้ ท่านได้จัดการบูรณะก่ออิฐถือปูนห่อหุ้มเสาไม้แก่นของเดิมไว้ภายใน ชาวบ้านจึงเรียกกันว่าบัว (สถูป) หลวงพ่อทวดมาจนบัดนี้
ความศักดิ์สิทธิ์ในคุณอภินิหารของสถูปหลวงพ่อทวดฯ นี้มีมาแต่ดั้งเดิมแล้ว แต่เนื่องจากครั้งนั้นยังไม่มีทางรถไฟ จึงตกอยู่กลางป่าเปลี่ยว และวัดก็รกร้างอยู่ การสักการะบูชาก็มีแต่ชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียงเท่านั้น
ครั้นต่อมาการคมนาคมเจริญขึ้น มีการทำทางรถไฟสายใต้ผ่านหน้าวัดและผ่านไปข้างสถูปนี้ และมีถนนซอยแยกจากถนนหลวงเข้าไปถึงวัด ประชาชนได้รับความสะดวกในการไปมา ก็ได้พากันไปสักการะบูชาจากถิ่นไกลๆ มีหลายชาติหลายภาษายิ่งทวีมากขึ้น ดังเป็นที่ประจักษ์อยู่ ณ เวลานี้
อภินิหารของหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด ได้แสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์แก่ชาวบ้านในครั้งนั้น ก็เป็นข่าวเล่าลือกันในความศักดิ์สิทธิ์ แพร่หลายไปในหมู่บ้านใกล้เคียงโดยทั่วๆ กัน ใครมีเรื่องป่วยไข้ได้ทุกข์ใดๆ ก็พากันมาสักการะบูชา ขอให้ท่านช่วยดลบันดาลขจัดปัดเป่าสิ่งร้ายนั้น ก็สำเร็จสมความประสงค์ ชาวบ้านข้างเคียงจึงเคารพนับถือตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
บัดนี้วัดช้างให้ ได้เจริญรุ่งเรืองในด้านการบูรณะก่อสร้าง ซึ่งมีโบสถ์หลังงาม ค่าก่อสร้างเหยียบ ๘ แสนบาท วิหารอันงดงามค่าก่อสร้างประมาณแสนห้าหมื่นบาท สำหรับประดิษฐานรูปหล่อจำลององค์หลวงพ่อทวดฯ ไว้สักการะบูชา และยังก่อสร้างกุฏิสำหรับเป็นที่พักอาศัยของสมภารเจ้าวาส ซึ่งประมาณค่าก่อสร้างถึง ๑ แสน ๕ หมื่นบาท ธรรมศาลา ๑ หลัง ราคา ๔ แสนบาท กุฏิ ๕ หลัง ๒ แสนบาท โรงเรียน ๑ เป็นตึก ๒ ชั้น กว้าง ๙ เมตร ยาว ๕๔ เมตร ราคา ๑ ล้านบาทเศษ
ส่วนทางด้านปฏิบัติศาสนกิจ ก็นับว่าท่านพระครูเจ้าอาวาสได้ปฏิบัติมั่นอญุ่ในศีลธรรม จนประชาชนหลายชาติหลายภาษาพากันนิยมเลื่อมใสทั่วๆ ไป ดังปรากฏเป็นที่ประจักษ์อยู่แล้วทุกขณะ จึงเห็นได้ว่าวัดช้างให้มีความเจริญแล้วด้วยประการทั้งปวง สมเกียรติพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง
หลังจากท่านอาจารย์ทิม ธมฺมธโร พระครูวิสัยโสภณ ฝันว่าได้พบกับ หลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด ซึ่งเป็นที่เคารพบูชาของประชาชนผู้เลื่อมใสอยู่ในเวลานี้ วันหนึ่งท่านอาจารย์ทิมนึกสนุก จึงเก็บเอาก้นเทียนที่ตกอยู่ริมเขื่อน (สถูป) มาคลึงเป็นลูกอม แล้วแจกจ่ายให้แก่เด็กวัดไปโดยไม่มีความหมายอะไร แต่ปรากฏเป็นที่อัศจรรย์แก่ท่านว่า เมื่อเด็กได้ลูกอมก้นเทียนไปจากท่านแล้ว ก็ได้ใช้ลูกอมขี้ผึ้งนี้อมไว้ในปาก แล้วลองฟันแทงกันด้วยมีดและพร้ามีคม แต่ฟันแทงกันไม่เข้า เลยถือเป็นการสนุกตามประสาเด็ก จนความทราบถึงท่านอาจารย์ฯ ก็ตกใจ เกรงเด็กจะเป็นอันตราย จึงเรียกเด็กมาประชุมสั่งสอนและห้ามการทดลองกันต่อไป
หลังจากนั้นมา ท่านเริ่มสนใจในคำปวารณาของหลวงพ่อทวดว่าจะเอาอะไรให้ขอ ก็พอดีพวกชายหนุ่มๆ ผู้ชอบทางคงกะพันได้พากันมาขอให้อาจารย์สักลงกระหม่อมให้ เพื่อมีไว้คุ้มครองตัว ท่านระลึกถึงหลวงพ่อทวดฯ แล้วก็สักให้สุดแล้วแต่มือจะลากพาตัวอักขระไป เพราะท่านเองยังไม่ได้ศึกษาในเรื่องนี้ และก็ได้สั่งสอนให้พวกศิษย์ที่มาสักประพฤติแต่ความดี ปรากฏว่าศิษย์ท่านอาจารย์วัดช้างให้ในสมัยนั้น เกิดลองดีกันทางคงกะพัน แล้วไม่มีศิษย์อาจารย์อื่นสู้ได้เลย (ขณะนั้นเป็นช่วงก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เพียงเล็กน้อย) หลังจากนั้นมาทางคณะสงฆ์ผู้ใหญ่สั่งห้ามพระภิกษุทำการลงกระหม่อม ท่านอาจารย์ฯ จึงได้ระงับงดการสักตั้งแต่บัดนั้นมาจนบัดนี้ แต่คุณอภินิหารยังปรากฏอยู่
หลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด โกรธทหารญี่ปุ่นสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ครั้งนั้นทางการทหารญี่ปุ่นได้เอารถไฟสายใต้ของไทยทั้งขบวน ไปใช้ทำการขนส่งสัมภาระเข้ากลันตันโจมตีสิงคโปร์ รถไฟขบวนนี้ต้องแล่นผ่านหน้าวัดช้างให้ไปตามราง ซึ่งอยู่ใกล้ชิดกับเขื่อน (สถูป) อยู่ทุกๆ วัน
ต่อมาวันหนึ่งในเดือนมกราคม ๒๔๘๕ เวลาประมาณ ๑๕.๐๐ น. รถไฟขบวนนี้แล่นกลับมาจากสุไหงโก-ล๊ก ถึงหน้าวัดหัวรถจักรเคียงขนานตรงกับสถูปพอดี ทันทีนั้น เหตุการณ์อัศจรรย์ที่ยังไม่มีใครพบเห็นก็ปรากฏขึ้น คือรถไฟขบวนนั้นติดตรึงอยู่กับที่ จะเคลื่อนที่ต่อไปอีกไม่ได้ เครื่องรถจักรยังคงเดินตามปรกติ ล้อเหล็กกำลังหมุนอยู่บนรางเหล็กในที่เดิม จึงเกิดความร้อนมาก มีประกายไฟแดงพราวไปทั้งสองข้างขบวนรถนั้น อยู่สักครู่ พนักงานหัวรถจักรและทหารญี่ปุ่นก็จนปัญญา ไม่สามารถจะแก้ไขนำขบวนรถเคลื่อนที่แล่นไปได้ จึงให้รถจักรถอยหลังไปประมาณ ๑ ก.ม. แล้วเร่งฝีจักรเต็มที่แล่นมาใหม่อีก แต่พอหัวรถจักรเคียงขนานกับสถูปในที่เดิมก็เคลื่อนที่ต่อไปไม่ได้อีก รถไฟขบวนนี้จึงทดลองแล่นมาและถอยหลังกลับอยู่ตั้งแต่ ๑๕.๐๐ น. จนกระทั่งใกล้จะค่ำก็ผ่านไปไม่ได้ ประชาชนชาวบ้านใกล้เคียงชวนกันมายืนดูความอัศจรรย์ครั้งนี้อย่างล้นหลาม
ฝ่ายท่านอาจารย์เจ้าอาวาส ก็ได้ยินเสียงเครื่องจักรรถไฟดังสั่นสะเทือนไปมาอยู่หน้าวัด แต่ธุระไม่ใช่ท่านจึงไม่ได้สนใจออกจากกุฎิมาดูอย่างผู้อื่น แต่เมื่อเวลาใกล้จะค่ำอยู่แล้ว รถไฟขบวนนี้ก็ยังคงวิ่งไปมาอยู่ที่เดิม ท่านนึกสงสัย จึงคิดว่าทหารญี่ปุ่นมาทำอะไรอยู่หน้าวัด ท่านจึงลงจากกุฎิไปดูกับเขาบ้าง เมื่อปรากฎแก่สายตาของท่านว่าหัวรถจักรติดอยู่เพียงสถูปทุกๆ ครั้ง ที่ขณะกลับไปมา ท่านจึงนึกว่าน่าจะเป็นอภินิหารของท่านหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด เล่นงานขบวนรถไฟนี้เสียแล้ว ท่านอาจารย์จึงเดินเข้าไปใกล้สถูปแล้วนึกในใจว่า ถ้าหากหลวงพ่อทวดลงโทษ ยึดขบวนรถไฟนี้แล้วก็ขอให้ยกโทษ ปล่อยให้เขาไปทำงานตามหน้าที่ของเขาเถิด เขาเป็นพวกนอกศาสนาไม่รู้จักอะไร อย่าถือโทษเขาเลยและทันทีนั้นรถไฟก็ค่อยๆ เคลื่อนจากที่เดิม วิ่งไปได้เป็นปกติ
และในคืนวันนั้น ท่านอาจารย์นอนพอเคลิ้มใกล้จะหลับ ก็ได้ยินเสียงพูดที่ข้างหูเป็นเสียงคนแก่พูดอย่างเกรี้ยวกราดว่า อ้ายญี่ปุ่นมาดูถูกพวกเรา (ชาติไทย) มันข่มเหงเอารถไฟเราไปใช้ ดีแต่มีลูกๆ อยู่บนรถสองตัว มิฉะนั้นก็จะผลักให้ตกจากราง กูไม่ยอมให้มันเอาไปใช้เป็นอันขาด ท่านอาจารย์ทิมไม่ทราบว่าอะไร ที่ท่านหลวงพ่อเรียกว่าลูก ๒ ตัว อยู่บนรถ ต่อมาประมาณ ๗-๘ วัน ได้มีชายสองคนมาหาท่านที่วัด และขอถวายตัวเป็นศิษย์ และเล่าให้ท่านอาจารย์ฯ ฟังว่า เขาสองคนเป็นพนักงานหัวรถจักร และวันที่ขบวนรถไฟติดอยู่หน้าวัดนั้น เขาสองคนเป็นคนไทยอยู่บนรถขบวนนั้น นอกจากนั้นเป็นทหารญี่ปุ่นทั้งหมด จึงได้ทราบกันว่า ลูกสองตัวก็คือคนไทยสองคนนี่เอง
ครั้งที่ ๒ ต่อจากขบวนรถไฟญี่ปุ่นถูกหลวงพ่อทวดฯ ยึด ครั้งที่ ๑ ประมาณเดือนเศษ วันหนึ่งเวลาเช้า มีพวกเด็กๆ เล่นอยู่หน้าวัดและใกล้ๆ กับสถูปนั้น ได้พูดเล่ากันถึงหลวงพ่อทวดฯ ยึดขบวนรถไฟคราวแรก มีเด็กคนหนึ่งพูดท้ากันว่า วันนี้หลวงพ่อทวดฯ ยึดรถไฟหรือไม่ยึด อีกฝ่ายหนึ่งว่าไม่ยึด ฝ่ายที่ว่ายึดก็ได้เก็บเอาก้นเทียน และธูปที่เหลืออยู่หน้าสถูปจุดไฟขึ้นบูชา และอาราธนาขอให้หลวงพ่อทวดฯ ยึดขบวนรถไฟซึ่งกำลังวิ่งมา วันนั้นเวลาเช้า มีขบวนรถไฟเช้าระหว่างยะลาหาดใหญ่ พอหัวรถจักรเคียงขนานกับสถูปศักดิ์สิทธิ์ ก็หยุดนิ่งอยู่จะเคลื่อนที่ต่อไปก็ไม่ได้อย่างครั้งแรก รถทั้งขบวนติดอยู่ ประมาณ ๓๐ นาที จึงเคลื่อนที่ไปได้ตามปกติ
ครั้งที่ ๓ มีพระอธิการยิ้ม หลวงพ่อแดง พระภิกษุกาว สำนักวัดแป้น อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี ได้พากันไปวัดช้างให้ เมื่อวันที่ ๒ ตุลาคม ๒๔๙๕ และพักอยู่ที่วัดหนึ่งคืน รุ่งขึ้นวันที่ ๓ เวลาประมาณ ๑๙.๐๐ น. พระภิกษุทั้ง ๓ รูป ได้มาขอพบข้าพเจ้าที่บ้าน แล้วเล่าให้ฟังว่าหลวงพ่อแดงนั้นเคยทราบจากข้าพเจ้าว่า หลวงพ่อทวดวัดช้างให้ ได้กระทำการยึดรถไฟมาแล้วถึง ๒ ครั้ง เหตุนี้พอตอนเช้าหลวงพ่อแดง จึงเดินออกไปยืนอยู่ข้างสถูปรถไฟเช้า ยะลา-หาดใหญ่ แล้วกล่าวคำปรารภขึ้นว่าเขาลือกันมานักว่า หลวงพ่อทวดฯ มีอภินิหารศักดิ์สิทธิ์มากเคยยึดขบวนรถไฟมาแล้วถึง ๒ ครั้ง ลูกหลานมาจากที่ไกลใคร่จะขอชมสักครั้ง ชั่วครู่ขบวนรถไฟเมื่อมาถึงหน้าวัดแล้วก็ต้องหยุดนิ่งอยู่กับที่เฉยๆ จะทำอย่างไรก็ไม่สามารถเคลื่อนที่ไปได้ แต่ล้อรถจักรก็คงหมุนรอบๆ อยู่บนรางอย่างคราวก่อนๆ แสดงให้เห็นว่าน่าจะมีอะไรยึดอยู่ข้างหลังขบวนรถ หลวงพ่อแดงว่า ท่านเห็นเป็นที่ประจักษ์และตื่นเต้นจนขนลุก จึงกล่าวขึ้นว่า ลูกหลานได้ชมแล้ว ขอให้ปล่อยไปเถิด ขบวนรถไฟจึงได้เคลื่อนเป็นปกติ ครั้งนี้รถไฟติดอยู่กับที่ประมาณ ๘-๙ นาที
By: นายอนันต์ คณานุรักษ์ – หนังสือประวัติหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด และคุณอภินิหารพระเครื่องหลวงพ่อทวดฯ วัดช้างให้ (พ.ศ. ๒๕๐๔)
http://www.kananurak.com/mcontents/marticle.php?headtitle=mcontents&id=73885