ปาฏิหาริย์ หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค จ.อยุธยา ( อานุภาพ แห่ง ยันต์เกราะเพชร )
พระเครื่องของหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค
พระเครื่องเนื้อดินเผา สร้างโดยหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค จังหวัดอยุธยา เป็นพระเครื่องที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนพระเครื่องอื่นใด คือเป็นพระเนื้อดิน บรรจุผงพระพุทธคุณ ถือว่าเป็น “พระหมอ” โดยอาจอาราธนาเพื่อการรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้ มีอายุการสร้างกว่า 80 ปี จึงเป็นพระที่น่ามีไว้บูชาเป็นอย่างยิ่ง
ประวัติหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค
พระครูวิหารกิจจานุการ หรือ หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เดิมชื่อ ปาน นามสกุล สุทธาวงษ์ เกิดเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ.2418 ตรงกับวันศุกร์ ขึ้น 14 ค่ำ เดือน 8 เมื่ออายุครบ 21 ปี เข้าอุปสมบท ณ พัทสีมาวัดบางนมโค เมื่อ พ.ศ.2439 มีหลวงพ่อสุ่น วัดบางปลาหมอ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์จ้อย วัดบ้านแพน เป็นกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์อุ่ม วัดสุธาโภชน์ เป็นอนุสาวนาจารย์ ได้ฉายาว่า “โสนนโท” อุปสมบทแล้วได้ศึกษาและได้ปฏิบัติในสำนักอาจารย์พอสมควร แล้วได้ไปศึกษาคันธาธุระ และวิปัสสนาธุระ ณ วัดสระเกศราชวรวิหาร กับวัดสังเวชวิศยาราม ในกรุงเทพมหานคร (จังหวัดพระนครในสมัยนั้น) และวัดเจ้าเจ็ดในอำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นอกจากนี้ยังมีประวัติ(เป็นคำบอกเล่าจากพระราชพรหมยานหรือหลวงพ่อฤาษีลิงดำ อดีตเจ้าอาวาสวัดท่าซุง จังหวัดอุทัยธานี) ว่าท่านได้เรียนวิชามาจากหลวงพ่อเนียม วัดน้อย และหลวงพ่อโหน่ง วัดคลองมะดัน จังหวัดสุพรรณบุรีอีกด้วย
หลวงพ่อปานได้เล่าเรียนศึกษาวิชากัมมัฏฐานจนท่านมีความรู้สามารถเป็นอย่างยิ่ง และเป็นแพทย์แผนโบราณที่มีคนไข้รักษาเดินทางมาให้ท่านรักษากับท่านไม่เว้นแต่ละวัน ท่านเป็นที่เคารพนับถือของชาวอยุธยา ข้าราชการ คหบดี และพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ เช่น หม่อมเจ้าโฆษิต กรมพระนครสวรรค์ฯ พ.อ.หลวงพิชัยรณสิทธิ์ พระยาชนภาณพิสิทธิ์ พระองค์เจ้าธานีนิวัติ นายประยงค์ ตั้งตรงจิตร เป็นต้น
หลวงพ่อปานได้รับพระราชทานเป็น “พระครูวิหารกิจจานุการ” เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ.2474
หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค มีอุปนิสัยหรือปฏิปทาเหมือนกับ หลวงพ่อปาน วัดบาง คลองด่าน จังหวัดสมุทรปราการ อยู่อย่างหนึ่ง คือ ไม่ปรารถนาที่จะเป็นเจ้าอาวาสปกครองวัด ท่านมีนิสัยชอบอยู่อย่างสงบ ๆ มากกว่าที่จะมีภารกิจยุ่งในการบริหารวัด หลวงพ่อปาน วัดบาง ท่านไม่ยอมเป็นเจ้าอาวาสวัดบาง ให้หลวงพ่อถัน ผู้มีอาวุโสน้อยกว่าเป็นเจ้าอาวาส หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค ก็เช่นกัน ท่านให้ “สมภารเย็น สุนทราวงษ์” ซึ่งอาวุโสน้อยกว่าท่านเป็นเจ้าอาวาส จนกระทั่งสมภารเย็นถึงมรณภาพใน พ.ศ.2470 (หนังสือบางเล่มเขียนว่า พ.ศ.2479) จากนั้นหลวงพ่อปานจึงเป็นเจ้าอาวาสองค์ต่อมา
หลวงพ่อปานท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดบางนมโคจนถึงแก่มรณภาพเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ.2481 (แรม 14 ค่ำ เดือน 8) อายุ 63 พรรษา 42 แม้ท่านจะมรณภาพไปนานกว่า 70 ปีแล้ว ผู้คนยังเดินทางไปเคารพรูปหล่อที่ประดิษฐานที่วัดบางนมโคอยู่เสมอ ทุก ๆ ปีในวันมรณภาพวันที่ 26 กรกฎาคม ทางวัดได้จัดงานถวายสักการบูชาเพื่อเป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวทีและความเคารพแด่ปรมาจารย์โดยพร้อมเพรียงกัน มรดกที่ท่านได้ทิ้งไว้ให้กับพุทธศาสนิกชนก็คือ พระคาถาปัจเจกะโพธิ์ (เพื่อโชคลาภและการทำมาค้าขาย) ซึ่งท่านเรียนมาจากฆราวาสผู้เฒ่าชื่อ “ครูผึ้ง” (หรือชื่อเดิมว่า “ครูพึ่งบุญ”) คำสอนในการเรียนสมถกัมมัฏฐานภาวนา ผ้ายันต์เกราะเพชร และ พระเนื้อดินหกพิมพ์ทรงที่จะได้เสนอรายละเอียดต่อไป
(ข้อความส่วนใหญ่นำมาจากหนังสือ “ปัจโจปการบรรณ” มูลนิธิร้อยปีหลวงพ่อปาน วันอาทิตย์ที่ 10 ต.ต. 19)เข้าใจ”
พระเครื่องของหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค
เมื่อหลวงพ่อปานท่านสร้างพระเนื้อดิน ท่านได้พิมพ์ “ใบฝอย” (คำชี้แจง) วิธีใช้พระของท่านด้วย ในหนังสือสำคัญนี้ลงท้ายว่า : “ได้แจกตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม พระพุทธศักราช 2460” แสดงว่าพระของท่านได้เริ่มสร้างแจกตั้งแต่ประมาณ พ.ศ.2460 หรืออาจเป็น พ.ศ.2461 หากนับศักราชแบบในปัจจุบัน แต่ก่อนหน้านั้น ท่านอาจจะสร้างพระเนื้อดินบ้างแล้ว ซึ่งคนเรียกกันว่า “พิมพ์โบราณ” ฝีมือช่างไม่สวยงามเท่าพิมพ์มาตรฐาน
พระเนื้อดินของท่านแบ่งออกได้เป็น 6 พิมพ์ทรง คือ
1. พิมพ์ขี่ไก่
2. พิมพ์ขี่ครุฑ
3. พิมพ์ขี่เม่น
4. พิมพ์ขี่นก
5. พิมพ์ขี่ปลา
6. พิมพ์ขี่หนุมาน
แต่ละแม่พิมพ์ยังแบ่งเป็นพิมพ์ย่อยอีกหลายพิมพ์
ขั้นตอนการสร้างพระของหลวงพ่อปาน
1. ทำผงพระพุทธคุณ ท่านทำผงและลบผงด้วยตนเอง ทำเฉพาะในระหว่างวันเข้าพรรษาเท่านั้น ผงที่ทำได้แก่ ผงปถมัง ผงอิทธิเจ ผงตรีนิสิงเห และผงมหาราช ทำโดยปั้นดินสอพองเป็นแท่ง เขียนอักขระลงบนกระดานแล้วลบผงรวบรวมไว้
2. ทำแม่พิมพ์ กำหนดแบบจากนิมิตที่ท่านได้เห็นในสมาธิ ทำเป็นทรงสี่เหลี่ยม องค์พระปฏิมาประทับนั่งปางสมาธิและปางมารวิชัย มีรูปเป็นพาหนะ ได้แก่ ไก่ หนุมาน ครุฑ เม่น นก และปลาอยู่ข้างล่าง และมีอักขระขอม มะ อะ อุ อยู่ด้านข้างขององค์พระ ผู้แกะแม่พิมพ์เป็นศิษย์และชาวบ้านผู้มีฝีมือในทางการช่าง ด้วยเหตุนี้ พระของท่านจึงมีหลายพิมพ์และหลายฝีมือ
3. ดินใช้สร้างพระ ใช้ดินก้นคลองในแม่น้ำหน้าวัดนำมากรองเอาส่วนที่หยาบออก เหลือดินละเอียดมาโขลกตำเข้าด้วยกัน แล้วกดแม่พิมพ์ และใช้ไม้ไผ่ปลายแหลมเสียบทางด้านบน เพื่องัดออกจากแม่พิมพ์
4. นำพระที่ได้ไปผึ่งแห้ง แล้วนำเข้าสุมไฟแกลบรวม 7 วัน 7 คืน แล้วจึงนำพระออกจากบาตร
5. บรรจุผงพุทธคุณ พระในวัดจะช่วยกันบรรจุผงพระพุทธคุณที่หลวงพ่อปานทำไว้ในรูที่ถูกไม่ไผ่เจาะทุกองค์
6. ปลุกเสก หลวงพ่อปานจะทำพิธีปลุกเสกเดี่ยวอีกครั้งหนึ่ง จึงเป็นอันเสร็จพิธี
(รายละเอียดนำมาจากหนังสือพระเครื่องปริทัศน์ ภาพชนะการประกวด งานมหกรรมฯ จ.นครปฐม 2 ต.ค. 2520)
การแจกพระ
หลวงพ่อปานท่านสร้างพระและแจกเรื่อยมา คาดว่าในครั้งแรกท่านแจกพระในวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ.2460 โดยแจกเป็นทาน พร้อมแจกใบฝอยบอกรายละเอียดวิธีการอาราธนาใช้พระควบคู่ไปด้วย เพื่อผู้ใช้จะได้ปฏิบัติได้ถูกต้อง นายณรงค์ วรวีระ (ญาติของอาจารย์ภุชชงค์ จันทวิช นักเขียนเรื่องพระและโบราณวัตถุ โดยเฉพาะเรื่องเครื่องถ้วย) ได้เคยนำหนังกลางแปลงไปฉายที่วัดและเล่าถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้นว่า “ราว พ.ศ.2470 เคยไปช่วยงานหลวงพ่อปานที่วัดบางนมโค และได้รับพระพิมพ์หลวงพ่อปานมาองค์หนึ่ง
เวลาแจกท่านให้คนละองค์เท่านั้น ท่านบอกว่าถ้าเอาไปเกินจะไม่ศักดิ์สิทธิ์ นอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่ของทางวัดคอยเอาปูนป้ายที่มีผู้เข้ารับเพื่อเป็นที่สังเกตว่าได้รับพระไปแล้ว จะได้ไม่วนเวียนกลับไปรับอีก” นอกจากนั้นผู้ที่รับพระของท่านไปจะต้องเป็นผู้อยู่ในศีลธรรมและกฎหมาย หรือถือศีลห้า มิฉะนั้นพระของท่านจะใช้ไม่ได้ผล ซึ่งอาจเป็นนโยบายหรืออุบายอย่างหนึ่ง ที่จะอบรมศีลธรรมแก่ประชาชนให้ยึดมั่นในคุณธรรม สร้างแต่กรรมดี ซึ่งผู้คนในปัจจุบันไม่ค่อยคำนึงถึงข้อนี้กันนัก
พระพุทธคุณและความนิยม
พระเนื้อดินของหลวงพ่อปาน ท่านขึ้นชื่อว่ามีพุทธคุณในทางรักษาโรคภัยไข้เจ็บ กันคุณไสย และอาจอธิษฐานเสี่ยงทายในบางอย่าง เช่น ถ้าเดินทางจะไปดีมาดี มีลาภและมีสุข ขอให้พระเย็นในฝ่ามือ หากไม่ดีมีภัยอันตราย ก็จะร้อนในฝ่ามือ (สรรพคุณนี้หลวงพ่อปานท่านระบุไว้ในใบฝอยวิธีบูชาพระของท่านเอง) คุณปรีชา เอี่ยมธรรม (จ่าเปี๊ยก) นักเล่นพระรุ่นเก่าและนักเขียนเรื่องพระเครื่องที่มีชื่อได้เล่าว่า พระหลวงพ่อปานนั้นขึ้นชื่อในทางรักษาโรคและเป็นที่หวงแหนของคนรุ่นก่อนมาก เมื่อตอนเด็ก ๆ คุณปรีชาชอบขอพระจากคนทั่วไปซึ่งส่วนใหญ่จะให้
ไม่หวงกันนัก แต่มีอยู่รายหนึ่งไม่ยอมให้ คุณปรีชา เอี่ยมธรรม ได้เล่าว่า “….ผมจะขอพระที่เขาห้อยมากันคนละองค์ ส่วนใหญ่เป็นพระท้องถิ่น…ในชีวิตที่ขอพระตอนนั้นมีไม่ให้อยู่คนเดียว จำได้แม่น แกให้เหตุผลว่าถ้าผมเอาไป เท่ากับเอาหมอไปจากหมู่บ้านเขาเลย พระองค์นั้นคือพระหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค พิมพ์อะไรจำไม่ได้ นั่นเป็นเพราะสมัยนั้นการแพทย์ยังไปไม่ถึง ใครจะเป็นอะไรก็จะเอาพระมาแช่น้ำดื่มแก้โรคนั้นโรคนี้กัน …”
(จากหนังสือ Spirit Vol. 2 No.9 April – May 2004)
พระพุทธคุณของพระหลวงพ่อปานท่านขึ้นชื่อมาเป็นเวลานานกว่า 1 ชั่วคนแล้ว พระของท่านจึงน่าหาไว้บูชาเป็นอย่างยิ่ง ปัจจุบันมีของเทียมเลียนแบบฝีมือดีมาก ท่านผู้ต้องการหาไว้บูชาควรหาองค์ที่ดูง่าย ซึ่งก็ยังคงพอหาได้อยู่เพราะท่านสร้างพระไว้เป็นจำนวนมาก ส่วนราคาแล้วแต่สภาพความสวยงามและพิมพ์ทรง แต่พระพุทธคุณก็เหมือนกัน ดังท่านได้ระบุเรื่องนี้ไว้ในใบฝอยวิธีใช้พระของท่านอีกว่า:
“พระกับลูกอม (หลวงพ่อปานท่านสร้างลูกอมเนื้อผงด้วย) มีสรรพคุณเหมือนกันอย่างเดียวกัน …วิธีอาราธนาอย่างเดียวกัน ใช้ดอกไม้ธูปเทียนเหมือนกันตามแต่จะหาได้… บูชาพระพุทธ พระสงฆ์ เช่นที่เคยบูชากันมาก็เหมือนกัน”ความข้างต้นเป็นสิ่งยืนยันว่า พระทุกพิมพ์ของท่านใช้ได้ดีเหมือนกัน ไม่จำเป็นต้องเลือกพิมพ์ที่แพง ๆ ขอให้มีความเชื่อมั่นและเป็นคนดีมีศีลธรรมเป็นใช้ได้
http://www.timpirus.com/forums