จิตคือพุทธะ โดย หลวงปู่ดูย์ อตุโล วัดบูรพาราม
พระพุทธเจ้า และสัตว์โลกทั้งสิ้นไม่ได้เป็นอะไรเลย นอกจากเป็นเพียง จิตหนึ่ง นอกจากจิตหนึ่งแล้ว มิได้มีอะไรตั้งอยู่เลย จิตหนึ่ง ซึ่งปราศจากการตั้งต้นนี้ เป็นสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้น และไม่อาจถูกทำลายได้เลย มันไม่ใช่เป็นของมีสีเขียว หรือสีเหลือง และ ไม่มีทั้งรูป ไม่มีทั้งการปรากฏ ไม่ถูกนับรวมอยู่ในบรรดาสิ่งที่มีการตั้งอยู่ และไม่มีการตั้งอยู่ ไม่อาจจะลงความเห็นได้ว่า เป็นของใหม่ หรือของเก่า ไม่ใช่ของยาวหรือของสั้น ของใหญ่หรือของเล็ก
ทั้งนี้เพราะมันอยู่เหนือขอบเขต เหนือการวัด เหนือการตั้งชื่อ เหนือการทิ้งร่องรอยไว้ “จิตหนึ่งนี้” ซึ่งเราเห็นตำตาเราอยู่แท้ๆ แต่ลองไปใช้เหตุผล (ว่ามันเป็นอะไร เป็นต้น) กับมันเข้าดูซิ เราจะหล่นไปสู่ความผิดพลาดทันที สิ่งนี้ เป็นเหมือนกับความว่าง อันปราศจากขอบทุกๆ ด้าน ซึ่งไม่อาจจะหยั่งได้ หรือวัดได้ “จิตหนึ่ง”นี้เท่านั้นเป็น พุทธะ ไม่มีความแตกต่างระหว่างพุทธะกับสัตว์โลกทั้งหลาย เพียงแต่ว่าสัตว์โลกทั้งหลายไปยึดมั่นต่อรูปธรรมต่างๆเสีย และเพราะเหตุนั้น เขาจึงแสวงหาพุทธะจากภายนอก การแสวงหาของสัตว์เหล่านั้นนั่นเอง ทำให้เขาพลาดจากพุทธะภาวะ
การทำเช่นนี้ เท่ากับ “การใช้สิ่งที่เป็นพุทธะ ให้เที่ยวแสวงหาพุทธะ และการใช้จิตให้เที่ยวฉับฉวยจิต แม้เขาเหล่านั้นจะได้พยายามจนสุดความสามารถของเขา อยู่ตั้งกัปป์หนึ่งต็มๆ เขาจะไม่สามารถลุถึงภาวะพุทธภาวะได้เลย เขาไม่รู้ว่า “เพียงแต่หยุดความคิดปรุงแต่ง และหมดความกระวนกระวายเพราะการแสวงหา เสียเท่านั้น พุทธะ ก็จะปรากฏตรงหน้าเขา” เพราะว่า”จิต”นี้ คือ”พุทธะ”นั่นเอง และพุทธะ คือ สิ่งมีชีวิตทั้งหลายทั้งปวงนั่นเอง สิ่งๆนี้ เมื่อปรากฏในสามัญสัตว์ จะเป็นสิ่งเล็กน้อยก็หาไม่ และปรากฏอยู่ที่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย จะเป็นสิ่งใหญ่หลวงก็หาไม่
สำหรับการบำเพ็ญปรมิตาทั้ง๖ก็ดี การบำเพ็ญข้อวัตรปฏิบัติที่คล้ายๆกันอีกเป็นจำนวนมากก็ดี หรือการได้บุญมากมายนับไม่ถ้วน เหมือนจำนวนเม็ดทรายในแม่น้ำคงคาก็ดี เหล่านี้นั้น จงคิดดูเถิด เมื่อเราเป็นผู้สมบูรณ์โดยสัจจะพื้นฐานในทุกกรณีอยู่แล้ว คือ เป็นจิตหนึ่ง หรือเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับพุทธะทั้งหลายอยู่แล้ว เราก็ไม่ควรพยายามจะเพิ่มเติมอะไรให้แก่สิ่งที่สมบูรณ์อยู่แล้วนั้น ด้วยการบำเพ็ญวัตรปฏิบัติต่างๆซึ่งไร้ความหมายเหล่านั้นมิใช่หรือ เมื่อไหร่โอกาสอำนวยให้ทำก็ทำมันไป และเมื่อโอกาสผ่านไป อยู่เฉยๆก็แล้วกัน ถ้าเราไม่เห็นตระหนักอย่างเด็ดขาดลงไปว่า “จิต” นั้นคือ “พุทธะ” ก็ดี และถ้าเรายังยึดมั่น ถือมั่น ต่อรูปธรรมต่างๆอยู่ก็ดี ต่อข้อวัตรปฏิบัติต่างๆอยู่ก็ดี และต่อวิธีการบำเพ็ญบุญกุศลอยู่ก็ดี แนวความคิดของเราก็ก็ยังคงผิดพลาดอยู่ และไม่เข้าร่องเข้ารอยกับทางโน้นเสียเลย “จิตหนึ่ง นั่นแหล่ะคือ พุทธะ” ไม่มีพุทธะอื่นใดที่ไหนอีก ไม่มีจิตอื่นใดที่ไหนอีก มันแจ่มจ้าและไร้ตำหนิกเช่นเดียวกับความว่าง คือ มันไม่มีรูปร่างหรือปรากฏการณ์ใดๆ เลย “ถ้าเราใช้จิตของเราให้ปรุงแต่งความคิดฝันต่างๆนาๆนั้น เท่ากับเราทิ้งเนื้อหาอันเป็นสาระเสีย แล้วไปผูกพันตัวเองอยู่กับรูปธรรมซึ่งเป็นเหมือนกับเปลือก” พุทธะที่มีอยู่ตลอดกาลนั้น ไม่ใช่พุทธะของความยึดมั่นถือมั่น ก
การปฏิบัติปารมิตาทั้ง ๖ และการบำเพ็ญข้อวัตรปฏิบัติต่างๆที่คล้ายคลึงกันอีกเป็นจำนวนนับไม่ถ้วน ด้วยเจตนาที่จะเป็นพุทธะสักองค์หนึ่งนั้น เป็นการปฏิบัติชนิดที่คืบหน้าทีละขั้นๆ แต่พุทธะที่ซึ่งมีอยู่ตลอดกาลดังที่กล่าวแล้วนั้น หาใช่พุทธะที่ลุถึงได้ด้วยการปฏิบัติเป็นขั้นๆ เช่นนั้นไม่ เรื่องมันเพียงแต่ ตื่น และ ลืมตา ต่อจิตหนึ่งนั้นเท่านั้น และไม่มีอะไรที่จะต้องบรรลุถึงอะไร นี่แหล่ะคือพุทธะที่แท้จริง พุทธะและสัตว์โลกทั้งหลาย คือ จิตหนึ่งนี้เท่านั้น ไม่มีอะไรอื่นนอกไปจากนี้เลย “จิตเป็นเหมื่อนกับความว่าง ซึ่งภายในนั้นย่อมไม่มีความสับสน และความไม่ดีต่างๆ ดังจะเห็้นได้ในเมื่อพระอาทิตย์ผ่านไปในที่ว่างนั้น ย่อมส่องแสงไปได้ทั้งสี่มุมโลก เพราะว่าเมื่อดวงอาทิตย์ขึ้น ย่อมให้ความสว่างทั่วพื้นโลก ความว่างที่แท้จริงนั้น มันก็ไม่ได้สว่างขึ้น และเมื่อดวงอาทิตย์ตก ความว่างก็ไม่ได้มืดลง ปรากฏการณ์ของความสว่างและความมืด ย่อมสับเปลี่ยนซึ่งกันและกัน แต่ธรรมชาติของความว่างนั้น ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงอยู่นั้นเอง จิตพุทธะและสัตว์โลกทั้งหลาย ก็เป็นเช่นนั้น
“ถ้าเรามองดูพุทธะ ว่าเป็นผู้แสดงออกซึ่งความปรากฏของสิ่งที่บริสุทธิ์ ผ่องใสและรู้แจ้งก็ดี หรือมองสัตว์โลกทั้งหลายว่า เป็นผู้แสดงออกซึ่งความปรากฏของสิ่งที่โง่เง่า มืดมน และมีอาการสลบไสล็ดี ความรู้สึกนึกคิดเหล่านี้ อันเป็นผลเกิดมาจากความคิดยึดมั่นต่อรูปธรรมนั้น จะกันเราไว้เสียจากความรู้อันสูงสุด ถึงแม้ว่าเราจะได้ปฏิบัติมาตลอดกี่กัปป์นับไม่ถ้วน ประดุจเม็ดทรายในแม่น้ำคงคาแล้วก็ตาม มีแต่จิตหนึ่งเท่านั้น และไม่มีสิ่งใดแม้แต่อนุภาคเดียวที่จะอิงอาศัยได้ เพราะ จิตนั้นเอง คือ พุทธะ
ขอบคุณข้อมูลจาก : http://muangput.com/webboard/index.php/topic,384.0.html