บารมีและอาสวะ สมเด็จพระญาณสังวร

บารมีและอาสวะ

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุก ๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
ธรรมะนั้นเป็นสัจจะคือความจริงของจริง ซึ่งมีอยู่เป็นไปอยู่ในบุคคลทุก ๆ คน จึงเป็นความจริงของชีวิต ของร่างกายและจิตใจ ทั้งในอดีต ในอนาคต และในปัจจุบันพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้สัจจะคือความจริงนี้ ทั้งที่เป็นส่วนทุกข์ ส่วนเหตุให้เกิดทุกข์ ส่วนความดับ และส่วนทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ จึงทรงดับทุกข์ได้ ดับกิเลสได้ทั้งหมด ทรงเป็นผู้พ้นทุกข์ เป็นผู้พ้นกิเลส
ทั้งนี้ก็ด้วยอำนาจแห่งพระโพธิญาณ ญาณคือความหยั่งรู้ ที่ตรัสรู้ถึงสัจจะธรรม ธรรมะที่เป็นสัจจะคือความจริง สืบเนื่องมาจากที่ได้ทรงปฏิบัติเพิ่มพูนบารมีคือความดียิ่งๆ ขึ้นโดยลำดับ ตั้งแต่เมื่อทรงเป็นพระโพธิสัตว์ยังมิได้ตรัสรู้

ปุพเพกตปุญญตา
บุคคลทุกคนซึ่งได้เกิดมาเป็นมนุษย์ประกอบด้วยความสุขของมนุษย์ น้อยหรือมาก และได้พบพุทธศาสนาอันแสดงสัจจะธรรม ธรรมะที่เป็นสัจจะคือความจริง จึงทำให้ได้ทราบข้อปฏิบัติต่างๆ สำหรับที่จะได้เพิ่มพูนบารมีคือความดี อันได้กระทำไว้แล้ว ซึ่งเรียกว่า ปุพเพกตปุญญตา ความเป็นผู้มีบุญอันได้กระทำไว้แล้วในกาลก่อนมาอุปถัมภ์ ตั้งต้นแต่ให้บังเกิดเป็นมนุษย์ และให้เจริญมาตามควรแก่ฐานะนั้น ๆ โดยลำดับจนถึงปัจจุบันของทุกคน
อันความดีที่เป็นบารมีนี้ก็ตรงกับความชั่วที่เป็นอาสวะ อันคำว่าอาสวะและบารมีนี้คู่กัน ดังจะพึงกล่าวเป็นคำไทยง่าย ๆ ว่า บารมีนั้นคือเก็บดี อาสวะคือเก็บชั่ว กรรมที่ทุกคนกระทำอยู่ เป็นกรรมดีก็ตาม เป็นกรรมชั่วก็ตาม ทางกาย ทางวาจา ทางใจ เมื่อกระทำแล้วคราวหนึ่ง ๆ กิริยาที่ทำนั้นก็ล่วงไป เสร็จไป แล้วไป แต่ว่ายังเก็บความดีความชั่วอันเนื่องมาจากกรรมที่กระทำนั้นไว้อยู่ ถ้าเป็นส่วนชั่วก็เป็นอาสวะ เก็บชั่วเอาไว้ ถ้าเป็นความดีก็เป็นบารมี คือเก็บดีเอาไว้ หากประกอบกรรมที่ชั่วอยู่บ่อย ๆ ก็เก็บชั่วเอาไว้มาก เพิ่มพูนขึ้น ถ้ากระทำกรรมที่ดีไว้บ่อย ๆ ไว้มาก ก็เก็บดีเอาไว้มาก ก็เป็นบารมีเพิ่มพูนขึ้น เพราะฉะนั้น อาสวะและบารมีนี้จึงเป็นส่วนที่ยังเหลืออยู่ ไม่เสร็จไป ๆ เหมือนดังกิริยาที่กระทำที่เสร็จไปแล้วไปเลิกไป เป็นคราว ๆ
และคำว่าบารมีหรืออาสวะนี้ ที่เป็นเก็บดีหรือเก็บชั่วดังกล่าว ก็เรียกอีกชื่อหนึ่งว่ากรรมได้เหมือนกัน เพราะกิริยานั้นทำคราวหนึ่ง ๆ ก็แล้วไปเสร็จไป เลิกไป แต่ว่ากรรมที่เป็นส่วนดีส่วนชั่วนั้น ยังติดอยู่ยังเหลืออยู่ เพราะฉะนั้นจึงได้มีพระพุทธภาษิตแสดงไว้ว่า สัตว์ที่จะต้องตายถือเอาบาปบุญที่กระทำไว้แล้ว ..ไป
อันบาปบุญที่กล่าวนี้ก็หมายถึงกรรมนั้นเอง กรรมที่เป็นบาปเป็นบุญที่ได้กระทำไว้แล้ว ..ไป เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่ากรรมได้อีกชื่อหนึ่งซึ่งเป็นคำที่เรียกกันทั่ว ๆ ไปและอาจจะแยกส่วนดีเป็นบารมี ส่วนชั่วเป็นอาสวะ
เหตุที่ให้ประสบโลกธรรม
เพราะฉะนั้นทุกคนจึงควรตั้งอยู่ในความไม่ประมาท โดยพิจารณาถึงตนเองว่าเป็นผู้อันกรรมดีหรือบารมีนำมาให้บังเกิดเป็นมนุษย์ และบรรลุถึงความเจริญตามฐานะของตน แม้ว่าชีวิตจะต้องประสบสุขบ้างทุกข์บ้าง ได้บ้างเสียบ้าง อันเป็นส่วนที่เรียกว่าโลกธรรม ธรรมะสำหรับโลก ก็เป็นธรรมดา เรียกว่าเป็นโลกธรรมคือเป็นธรรมะ คือเป็นธรรมดาของโลก
อีกอย่างหนึ่งจะเรียกว่าเป็นธรรมดาของกรรมที่ได้กระทำไว้แล้ว อันส่งผลเป็นสุขบ้าง ทุกข์บ้าง เป็นได้บ้างเป็นเสียบ้างอยู่ในปัจจุบันนี้ด้วย เพราะฉะนั้น เมื่อประสบโลกธรรมดังกล่าว ก็ให้พิจารณาว่าเป็นธรรมดาโลก ซึ่งจะต้องสุขบ้างทุกข์บ้าง จะต้องได้บ้าง จะต้องเสียบ้าง และก็เป็นธรรมดาของกรรมที่ตนเองได้กระทำไว้แล้วด้วย ซึ่งถ้ากรรมดีก็จะส่งให้ได้รับผลดีเป็นสุข เป็นได้ ถ้ากรรมชั่วก็จะส่งผลให้เป็นทุกข์ เป็นเสีย
กับทั้งให้พิจารณาถึงว่าเป็นธรรมดาของสังขาร คือสิ่งผสมปรุงแต่งอีกด้วย ซึ่งจะต้องมีเกิดมีดับ และเมื่อตั้งอยู่ก็จะต้องมีความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปเป็นธรรมดาดั่งชีวิตร่างกายนี้แม้ว่าจะไม่พูดถึงเรื่องกรรม หรือพูดถึงเรื่องโลกธรรม ชีวิตนี้ก็เป็นสิ่งที่เป็นสังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่ง เมื่อเกิดมาก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย จะอยู่ไปเท่าไหร่ ไม่ประสบอุบัติเหตุอะไร ก็ต้องตายเหมือนกันหมด แม้จะช้าเท่าไรก็ต้องตายในที่สุด และก็ไม่ช้ามากเกินไป
กาลเวลาของชีวิต
ดังชีวิตในปัจจุบันนี้ที่เรียกกันว่าขนาดแปดสิบเก้าสิบร้อยหนึ่ง เกินร้อยไปก็ไม่มากนัก ได้ถึงแปดสิบเก้าสิบก็นับว่ามาก และเวลาแห่งแปดสิบเก้าสิบหรือร้อยหนึ่งนี้ ถ้าทุกคนนึกดูแล้วดูเหมือนว่ามากว่านาน แต่ว่าถ้านึกดูถึงตนเองในบัดนี้ ว่าแต่ละคนก็มีอายุกันอยู่เท่านี้ๆ และอายุเท่านี้ๆ ของตนนี้ ถ้านึกย้อนหลังไปดูตั้งแต่นึกจำความได้มาจนถึงบัดนี้ ก็จะรู้สึกว่าเหมือนอย่างแว๊บเดียวเท่านั้น ตั้งแต่จำความได้มาจนถึงนั่งกันอยู่ในที่นี้ในบัดนี้ ก็เหมือนกับแว๊บเดียว ก็มาอยู่ที่นี่แล้ว อายุก็เข้าไปเท่านี้ด้วยกันแล้ว
คราวนี้มานึกดูถึงว่าต่อไปก็จะต้องถึงวาระหนึ่ง ที่ทุกๆ คนก็จะมีความรู้สึกอยู่ดั่งนี้ แต่ว่าปรากฏชัดว่าความตายมาอยู่ใกล้ที่สุดแล้ว เช่นว่าป่วยมาก อันชัดเจนว่าจะต้องตายแน่ และในขณะที่ใกล้จะตายนั้น เมื่อยังมีความรู้สึก ยังไม่หมดความรู้สึก หากจะย้อนหลังตั้งแต่จำความได้ ก็จะรู้สึกว่าตั้งแต่จำความได้มาจนถึงใกล้จะหมดลมนั้นก็แว๊บเดียวอีกเหมือนกัน แปลว่าระยะเวลาที่ชีวิตผ่านมา คือนับปีก็รู้สึกว่านาน แต่ว่าดูความรู้สึกแล้วก็จะรู้สึกว่าแว๊บเดียว ไม่นานเลย และก็จะต้องทิ้งทุกอย่าง ทิ้งร่างกายอันนี้ ชีวิตอันนี้ ทิ้งทรัพย์สมบัติต่างๆ ทิ้งญาติมิตรทั้งหลาย ทิ้งบุคคลที่เป็นที่รักทั้งหลายไป
สุคติ ทุคติ
และแม้ว่าทุกคนจะไม่มีญาณหยั่งรู้ว่าจะไปยังไง จะตายเกิดหรือจะตายสูญอย่างไร ด้วยญาณปัญญาของตนเอง แต่เมื่ออาศัยศรัทธาคือความเชื่อตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ก็ย่อมจะทราบได้ ว่าหาได้ทิ้งไว้ทุกอย่างไม่ ยังจะต้องถือเอาบุญบาปที่ได้กระทำไว้แล้วไป บุญก็ให้ไปดี บาปก็ให้ไปชั่ว ไปชั่วก็เป็นทุคติ ไปดีก็เป็นสุคติ
เพราะฉะนั้น หากพิจารณาดั่งนี้แล้ว ก็จะทำให้พากันบังเกิดความไม่ประมาท และในขณะที่ยังสามารถอยู่ก็ประกอบกรณียะคือกิจที่ควรทำอันเป็นประโยชน์ต่างๆ ตามหน้าที่ของตนก็ตาม ตามที่ควรทำก็ตาม ให้ไว้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ และในการที่มีความไม่ประมาทประกอบกรรมดีต่างๆ นี้ ทุกคนสามารถจะกระทำได้ และการกระทำดั่งนี้ก็เรียกว่าเป็นการกระทำกรรมที่ดี เพิ่มกรรมที่ดี เพิ่มบารมีอยู่เสมอ โดยอาศัยพุทธปฏิปทา คือปฏิปทาของพระพุทธเจ้าตั้งแต่เมื่อทรงเป็นพระโพธิสัตว์ ก็ทรงบำเพ็ญพระบารมีคือ ทาน ศีล เนกขัมมะ การออก ปัญญา วิริยะ ความเพียร ขันติ ความอดทน สัจจะ ความจริง อธิษฐานะ ความตั้งใจมุ่งมั่น และเมตตาความปรารถนาให้เป็นสุข อุเบกขาความเข้าไปเพ่งดู วางได้ เฉยได้ ในสิ่งที่ควรวางควรเฉยทั้งหลาย ด้วยปัญาคือความรู้
อาศัยโลกธรรมบำเพ็ญบารมี
ทุกคนก็สามารถปฏิบัติบารมี ในเหตุการณ์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นแก่ชีวิต ทั้งในด้านดี ในด้านร้าย ในด้านดีนั้น เมื่อได้ประสบโลกธรรมส่วนที่ดี คือลาภ ยศ สรรเสริญ สุขก็อาศัยโลกธรรมส่วนที่ดีนี้ประกอบคุณงามความดีทั้งหลาย ให้เป็นทานบ้างเป็นศีลบ้างเป็นต้น เพราะว่าการที่จะประกอบประโยชน์ เพื่อให้เกิดความสุข บรรเทาทุกข์แก่คนทั้งหลาย แก่สัตว์ทั้งหลาย ต้องอาศัยลาภยศสรรเสริญสุข เมื่อมีลาภยศสรรเสริญสุขมาก ก็สามารถที่จะประกอบคุณงามความดีได้มาก ทำทานคือทำการช่วยเหลือต่างๆ ให้แก่บุคคลทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายได้มาก ปฏิบัติศีลได้มาก และปฏิบัติในเนกขัมมะคือการออกได้มาก ปฏิบัติปัญญาได้มาก และข้ออื่นทุกๆ ข้อสามารถทำได้ดีได้มาก
แม้เมื่อประสบโลกธรรมส่วนที่เสีย คือความเสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ ก็ใช้ความเสื่อมเหล่านี้มาบำเพ็ญบารมีได้ โดยที่มีขันติคือความอดทน
และมีข้ออื่นเช่นเนกขัมมะคือการออก อันหมายความว่าไม่ทำใจให้ติดอยู่ในสิ่งที่เสื่อมไปนั้น จะเป็นลาภก็ตาม เป็นยศก็ตาม เป็นสรรเสริญก็ตาม เป็นสุขก็ตาม แต่นำจิตให้ออกได้ และอบรมปัญาคือความรู้ พิจารณาให้เห็นว่าเป็นโลกธรรม ธรรมดาโลก และเป็นธรรมดาของกรรม เป็นธรรมดาของสังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่ง ให้เกิดปัญญารู้ตามเป็นจริง อาศัยความเพียรพยายามที่จะระงับใจตัวเอง และอบรมใจตัวเองให้มีความรู้ให้มีความอดทนเป็นต้นดังกล่าวนั้น และไม่ให้ทิ้งความดี ขวนขวายกระทำความดีเท่าที่จะทำได้ให้ยิ่งขึ้น ดั่งนี้ก็เป็นการเพิ่มบารมี
อาศัยกิเลสบำเพ็ญบารมี
และแม้ว่าเวลาบังเกิดกิเลสขึ้น เช่นเกิดราคะความติดใจยินดี โทสะความโกรธแค้นขัดเคือง โมหะความหลง หรือเกิดความโลภอยากได้ เกิดตัณหาความดิ้นรนทะยานอยากต่าง ๆ ก็ปฏิบัติระงับใจตัวเอง มั่นคงอยู่ในศีลที่จะไม่ประพฤติละเมิดไปตามอำนาจของกิเลส เว้นจากการฆ่าการทำร้ายเขาได้ เว้นจากการลักขะโมยเขาได้ เว้นจากประพฤติผิดประเพณีในทางกามได้ เว้นจากพูดเท็จได้ เว้นจากน้ำเมาคือสุราเมรัยอันเป็นฐานของความประมาทได้เป็นต้น ( เริ่ม ๑๒/๑ ) คือแปลว่าเว้นใจตัวเองได้ เว้นกิเลสในใจของตัวเองได้ มีความอดทนเอาไว้ไม่ปล่อยกิเลสออกไป ให้เป็นกรรมที่เป็นบาปเป็นอกุศล เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นให้เดือดร้อน ประกอบด้วยใช้สติ ใช้ปัญญา ใช้ความอดทน วางใจลงไปให้เป็นอุเบกขาให้ได้ คือทำตนมัธยัสถ์เป็นกลาง ไม่ยอมให้ฝ่ายยินดีหรือยินร้ายดึงเอาไป ดั่งนี้ก็เป็นการบำเพ็ญบารมี เวลาโกรธขึ้นมาก็ปฏิบัติดับโกรธให้ได้ก็เป็นการบำเพ็ญบารมีกันอย่างหนึ่งๆ โลภอะไรขึ้นมาเมื่อเป็นสิ่งที่ไม่สมควรก็ปฏิบัติดับโลภได้ ดับได้ทีหนึ่งก็เป็นการเพิ่มบารมีขึ้นทีหนึ่ง เพราะฉะนั้น จึงสามารถที่จะบำเพ็ญบารมี หรือความดีได้ในทุกโอกาส ได้ในทุกขณะ ได้ในทุกสถานที่
พลังของบารมีที่สั่งสม
และบารมีที่บำเพ็ญนี้เอง ก็จะเป็นความดีที่สั่งสม ทำให้เกิดพลังของบารมีแรงขึ้น เมื่อพลังของบารมีแรงขึ้นพลังของอาสวะของกิเลสก็จะลดลงไป ดังคนที่เป็นคนขี้โกรธ เมื่อปฏิบัติดับโกรธอยู่เสมอ ในทีแรกจะรู้สึกว่าดับยาก ต้องใช้ขันติ ต้องใช้สติ ต้องใช้ปัญญาพิจารณาต่างๆ แล้วความโกรธก็จะดับไปได้ แต่ว่าก็ลำบาก ก็อึดอัด บางทีดับไม่ได้แต่ว่าเก็บไว้ในใจ ก็ทำให้เกิดความอึดอัดฮึดฮัด ดังกิริยาของคนโกรธ แต่ความอึดอัดฮึดฮัดนั้น ก็นับว่ายังดีกว่าที่จะไปทำร้ายใคร ยังเก็บเอาไว้ได้ในใจ แต่ว่ายังดับไม่ได้ จึงทำให้เกิดกิริยาอึดอัดฮึดฮัดดังที่กล่าวมานั้น
แต่ว่าเมื่อใช้สติใช้ปัญญาพิจารณาให้เกิดความรู้จักตัวความโกรธ โทษของความโกรธถนัดขึ้น และหากปฏิบัติหัดแผ่เมตตาประกอบช่วยอีกด้วย ก็จะทำให้ดับโกรธนั้นลงไปได้ ลดลงไปได้ และเมื่อทำบ่อย ๆ การที่จะปฏิบัติดับความโกรธนั้นก็จะง่ายเข้าไปโดยลำดับ จนถึงก่อนที่จะปฏิบัตินั้นถ้าไปกระทบเรื่องเช่นนั้นเข้าแล้วก็โกรธเป็นฟืนเป็นไฟ แต่เมื่อปฏิบัติอบรมจิตให้เข้าที่ตามสมควรแล้ว ก็จะรู้สึกเฉย ๆ ได้เมื่อเกิดความโกรธขึ้นมา ก็แปลว่ากำลังของบารมีคือความดีสูงขึ้น
ทั้งนี้ก็ต้องเกิดจากการที่ปฏิบัติบ่อย ๆ ทำบ่อย ๆ โดยที่ฉวยโอกาสจากเหตุการณ์ทั้งหลายอันบังเกิดขึ้นแก่ตนเองนี่แหละ โดยรอบในวันหนึ่งๆ มาอบรมให้เป็นบารมีขึ้นมา ให้เป็นทานขึ้นมาเป็นศีลขึ้นมา เป็นเนกขัมมะขึ้นมา เป็นปัญญาขึ้นมาเป็นต้นในเรื่องนั้นๆ สุดแต่ว่าเมื่อเรื่องใดบังเกิดขึ้น ข้อใดอันเหมาะสมที่จะนำมาใช้ ก็นำมาใช้ หรือหลายข้อด้วยกัน ดั่งนี้ ก็จะเจริญกุศลกรรม เจริญบุญเจริญบารมี
แต่ถ้าหากว่าไม่ใช้ดั่งนี้แล้ว ก็จะเจริญบาปเจริญอกุศล นั้นตรงกันข้ามเป็นการเจริญอาสวะ คนโดยมากนั้นมักจะไม่ได้คิดดั่งนี้
เพราะฉะนั้น จึงชอบที่จะปฏิบัติเป็นการเจริญอาสวะกันเสียโดยมาก โดยที่น่าคิดว่าขาดปัญญาในตัวเองที่เป็นพื้นฐาน และแม้มีปัญญาเป็นพื้นฐานมาแล้ว ก็ประมาทปัญญานั้น ไม่นำปัญญานั้นมาใช้ให้บังเกิดเป็นประโยชน์ เพราะฉะนั้น หากไม่ประมาทปัญญาที่มีเป็นพื้นฐาน นำปัญญานั้นมาใช้และเพิ่มพูนให้มากขึ้น ก็จะเป็นเหตุให้ได้บำเพ็ญบารมี คือความดีเพิ่มขึ้นทุกวัน แทนที่จะเพิ่มบาป เพิ่มอกุศล เพิ่มอาสวะทั้งหลาย ดั่งนี้คือการปฏิบัติธรรม
โมกขุปายะ
และการปฏิบัติธรรมอยู่ทุกวันๆ ดั่งนี้เองย่อมให้เกิด โมกขะ คือความหลุดพ้นไปทุกวันๆ เช่นเดียวกัน คือเป็นการหลุดพ้นจากกิเลส จากบาปจากอกุศล จากอาสวะทั้งหลาย เพราะฉะนั้นการปฏิบัติเพิ่มพูนความดีอันเรียกว่าบารมีจึงเป็นข้อที่ควรทำ ได้มีพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๔ ได้ทรงแสดง โมกขุปายะ คืออุบายวิธีที่จะให้เข้าไปถึง ความพ้นจากความชั่ว พ้นจากกิเลส พ้นจากความทุกข์ อันรวมเรียกว่า โมกขะ โดยที่ได้ทรงแสดงเป็นฉันท์คาถานมัสการวัตถุทั้งสามอันสูงสุด คือพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ จึงได้ทรงแสดงโมกขุปายะ อุบายวิธีสำหรับที่จะให้บรรลุถึงโมกขะคือความพ้นไว้แก่สัตว์บุคคลทั้งหลาย ซึ่งล้วนมีชีวิตร่างกายต้องเน่าเปื่อยผุพังสลายเหมือนกันหมด
โดยที่ตรัสยกเอา ปาริสุทธิศีลทั้ง ๔ อันได้แก่ ปาฏิโมกขสังวรศีล ศีลคือความสำรวมในพระปาฏิโมกข์ อินทรียสังวร ความสำรวมอินทรีย์ อาชีวะปาริสุทธิ ความบริสุทธิ์แห่งอาชีพ และความที่ พิจารณาปัจจัยทั้ง ๔ บริโภค อันนับว่าเป็นศีลอีกข้อหนึ่งที่อาศัยปัจจัย แม้ว่าปาริสุทธิศีลทั้ง ๔ นี้จะแสดงไว้สำหรับภิกษุโดยตรง สำหรับคฤหัสถ์ก็สามารถปฏิบัติได้ โดยที่ปาริสุทธิศีลทั้ง ๔ นี้ย่อมผ่อนลงได้แก่ผู้ปฏิบัติตามควรแก่ภาวะของตน ดังข้อ ๑ ปาฏิโมกขสังวรความสำรวมในพระปาฏิโมกข์โดยตรงสำหรับภิกษุ
ก็คือสำรวมในศีล ๒๒๗ อันเป็นศีลที่เป็นหลักสำคัญ แต่ว่าสำหรับบุคคลทั่วไปนั้น ก็จำเป็นที่จะต้องมีศีลอันเป็นหลักปฏิบัติของตนอยู่ด้วยกัน เพราะว่าศีลนั้นเป็นความประพฤติที่เหมาะที่ถูกต้อง ทางกาย ทางวาจา ด้วยจิตใจที่ประกอบด้วยความสำรวมระวัง ทุกคนจำเป็นที่จะต้องมีระเบียบปฏิบัติตน กติกาสำหรับปฏิบัติ วินัยสำหรับปฏิบัติอยู่ด้วยกันทั้งนั้น เพราะฉะนั้นเมื่อตนอยู่ในภาวะเช่นใด ควรจะต้องปฏิบัติในอาจาระ มรรยาททางกายทางวาจาอย่างไร ก็ปฏิบัติอย่างนั้นให้เหมาะสม ตลอดจนถึงปฏิบัติในศีลที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้สำหรับบุคคลทั่วไป เช่นศีล ๕ และเมื่อเป็นดั่งนี้แล้วก็ชื่อว่าได้ปฏิบัติในศีลข้อที่ ๑ นี้ได้
ข้อที่ ๒ ความสำรวมอินทรีย์นั้น ต้องปฏิบัติด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นพระไม่ว่าจะเป็นคฤหัสถ์ คือความที่มีสติคอยรักษาใจ ในขณะที่ตาได้เห็นรูปอะไร หูได้ยินเสียงอะไร จมูกได้ทราบกลิ่นอะไร ลิ้นได้ทราบรสอะไร กายได้ถูกต้องสิ่งที่ถูกต้องอะไร ใจได้คิดได้รู้เรื่องอะไร ระวังที่จะมิให้อารมณ์เหล่านั้นมาก่อกิเลสไหลเข้าสู่ใจเป็นความยินดีความยินร้าย ทั้งนี้โดยที่มีสติกำกับเหมือนอย่างกำกับตา กำกับหู จมูก ลิ้น กาย และกำกับใจอยู่ตลอดเวลา ไม่ยอมให้วิ่งไปยึดถือรูปที่ตาเห็น เสียงที่หูได้ยินเป็นต้นด้วยอำนาจของกิเลส หรือเข้ามาก่อกิเลสอยู่ในใจของตัวเอง มีสติคอยระมัดระวังใจอยู่เสมอที่จะไม่ก่อกิเลสขึ้น เพราะเรื่องที่เห็นทางตาทางหูเป็นต้นดังกล่าวมานี้ เรียกว่าเป็นความสำรวมอินทรีย์ ทุกคนต้องมีทั้งนั้น และเมื่อปฏิบัติอยู่ก็จะทำให้จิตใจนี้มีความสงบมากขึ้น ลดความวุ่นวายมากขึ้น และอาชีพที่บริสุทธิ์นั้นก็เป็นสิ่งสำคัญ กับการพิจารณาผ้านุ่งห่ม อาหาร ที่อยู่อาศัย ยาแก้ไข้เป็นต้น ที่จะบริโภคใช้สอย ให้สำเร็จประโยชน์ สำหรับบำรุงชีวิตและร่างกายเพราะเป็นสิ่งที่สำคัญทั้งนั้น เพราะฉะนั้น ศีลทั้ง ๔นี้จึงเป็นข้อที่พึงปฏิบัติทั้งบรรพชิตทั้งคฤหัสถ์
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์
อณิศร โพธิทองคำ บรรณาธิการ

http://www.watpanonvivek.com/index.php/section-table/2012-07-14-12-23-28/2987-2011-03-23-14-46-13

. . . . . . .