บูชาพระอาจารย์ใหญ่ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต โดย พระอาจารย์ชลินทร์
คำสอนของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต อันเป็นหลักคติธรรมให้ศิษยานุศิษย์จดจำเอาไว้อย่างน้อยสองประการ ประการที่หนึ่ง ดีใดไม่มีโทษดีนั้นนับว่าเลิศ ประการที่สอง ได้สมบัติทั้งปวง ไม่ประเสริฐเท่าได้ตน เพราะตัวตนเป็นที่เกิดแห่งสมบัติทั้งปวง
หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต เป็นชาวหมู่บ้านคำบง ตำบลโขงเจียม อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ถือกำเนิดเมื่อวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2413 ในครอบครัวของชาวนา เมื่อมีอายุได้ 15 ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดบ้านคำบง แต่บรรพชาได้เพียง 2 ปี ต้องลาสิกขา เพราะสงสารโยมพ่อโยมแม่ที่ต้องทำงานหนักแต่เพียงลำพัง แต่ท่านก็คิดอยู่เสมอว่าจะต้องกลับมาอุปสมบทเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนาให้ได้ตามที่โยมยายเคยขอร้องไว้
“ …… เจ้าต้องบวชให้ยาย เพราะยายเลี้ยงเจ้ามายากนัก”
ครั้นพออายุได้ 22 ปี ท่านจึงได้กลับมาอุปสมบท ณ วัดศรีทอง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี โดยพระอริยกวี เป็นพระอุปัชฌายะ พระครูสีทา ชยเสโน เป็นพระกรรมวาจาย์ พระครูประจักษ์อุบลคุณ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ อุปสมบทเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2436 จากนั้นเข้าศึกษาวิปัสสนาธุระกับพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล ที่วัดเลียบ อุบลราชธานี ศึกษาข้อปฏิบัติของการอบรมจิต การเดินจงกลม การนั่งสมาธิ การสมาทานธุดงควัตร ต่างๆ จากนั้นจึงกราบลาพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล เพื่อแสวงหาความวิเวก เพื่อบำเพ็ญสมณธรรมในป่าเขา ลำเนาไพร ริมห้วย ริมเหว ชะโงกเขา เรือนถ้ำ และ ภูผา
ตลอดชีวิตของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ท่านใช้ชีวิตอยู่ตามป่าเขาเป็นส่วนใหญ่ ตามราวป่าฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงและราวป่าฝั่งขวาแม่น้ำโขง ธุดงค์ไปทั่วถิ่นอีสาน รวมไปถึงภาคกลาง ภาคเหนือ เช่น เขาพระงาม ถ้ำสิงโต จังหวัดลพบุรี เขาใหญ่ ถ้ำสาลิกา ถ้ำไผ่ขวาง จังหวัดนครนายก ซึ่งเคยมีพระธุดงค์มรณภาพอยู่ภายในถ้ำถึง 6 รูปเมื่อก่อนหน้านั้น ท่านก็ยังดั้นด้นที่จะเข้าไปให้ได้แม้ชาวบ้านจะทัดทานแค่ไหนก็ตาม
“…… ให้อาตมาเป็นศพที่ 7 เถอะโยม”
ที่ถ้ำสาลิกานี้เองหลวงปู่มั่นเล่าว่าได้เกิดนิมิตเห็นอดีตชาติของท่านที่เคยกำเนิดเป็นลูกสุนัขกำลังดื่มนมแม่ ทำให้ท่านสลดหดหู่ใจ จนเกิดทุกขเวทนา แต่ก็ทำให้ท่านได้รับความรู้แจ่มแจ้งในพระธรรมวินัย สิ้นความสงสัย ทั้งปวง กระทั่งบนยอดภูสูงในถิ่นมูเซอร์ที่พูดภาษาไทยไม่ได้หลวงปู่มั่นก็เคยธุดงค์ไปถึงอันเป็นสถานที่สุขสงัดตามสมณวิสัยยังความศรัทธาให้เกิดแก่ชาวเขาเผ่ามูเซอร์เป็นอย่างยิ่งจนต่างหันหน้ามานับถือพระพุทธศาสนา ท่านมักจาริกอย่างโดดเดี่ยว เพื่อแสวงหาความวิเวกในพงไพร กระทั่งถึงวัยชราท่านจึงกลับคืนสู่ถิ่นอีสาน
อย่างไรก็ตามหลวงปู่มั่นยังเคยเดินทางมาจำพรรษาอยู่ที่วัดปทุมวนาราม ในกรุงเทพฯ 3 พรรษา เพื่อศึกษาวิชาความรู้เพิ่มเติม และ สดับธรรมเทศนาจากเจ้าพระคุณพระอุบาลี ( สิริจันทเถระ) เดินทางกลับอุบลราชธานี จังหวัดบ้านเกิดไปจำพรรษาที่วัดโนนนิเวศน์ 2 พรรษาเพื่ออนุเคราะห์ศิษยานุศิษย์
พ.ศ. 2484 หลวงปู่มั่นเดินทางไปอยู่ที่จังหวัดสกลนคร ทั้งที่วัดป่าบ้านนามน วัดป่าบ้านหนองผือ วัดป่าบ้านภู่ และ วัดป่าสุทธาวาส อบรม อนุเคราะห์ ศิษยานุศิษย์ทางสมถวิปัสสนา
พ.ศ. 2492 ซึ่งหลวงปู่มั่นมีวัยย่างเข้า 80 ปี ขณะที่ท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าบ้านหนองผือ ตำบลนาใน อำเภอพรรณนานิคม สกลนคร ก็เริ่มอาพาธ ท่านเรียกลูกศิษย์ทุกคนมาบอกลาว่าการอาพาธของท่านในครั้งนี้จะไม่สามารถรักษาให้หายได้ แต่ท่านไม่ต้องการจะละสังขารที่บ้านหนองผือเพราะเมื่อท่านละสังขารไปแล้วผู้คนจำนวนมากจะเดินทางมาเคารพศพของท่านก็จะทำให้สัตว์น้อยใหญ่ถูกฆ่าเพื่อนำมาเป็นอาหาร
ลูกศิษย์ทุกคนพยายามหาแพทย์มาทำการรักษา อาการก็อยู่ที่ทรงกับทรุด จึงตัดสินใจนำหลวงปู่มั่นมาพักรักษาตัวที่วัดป่าบ้านภู่ อำเภอพรรณนานิคม ก่อนที่จะเดินทางต่อไปยังวัดป่าสุทธาวาส ซึ่งหลวงปู่มั่นได้ละสังขารไปอย่างสงบเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2492 สิริรวมอายุได้ 79 ปี 9 เดือน 21 วัน รวม 56 พรรษา ท่านได้รับการยกย่องให้เป็นพระเถระที่มีเกียรติคุณโดดเด่นในด้านวิปัสสนาธุระรูปหนึ่งของแผ่นดินไทยจนได้รับการเรียกขานกันว่า “พระอาจารย์ใหญ่” ในสายวิปัสสนา หลวงปู่มั่นมีลูกศิษย์ซึ่งต่อมาเป็นพระเถระที่ผู้คนเคารพกราบไหว้กันทั้งประเทศ เช่น หลวงปู่ดุลย์ อตุโล หลวงปู่แหวน สุจิณโณ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร หลวงปู่ขาว อนาลโย เป็นต้น
สารคดีธรรมะ “พระชลินทร์เล่าเรื่อง” ทางเวปไซต์ของวัดบ้านป่านาบุญ www.watbaanpa.com คงจะเปิดฟังได้เร็วๆนี้ เจ้าหน้าที่เขากำลังเร่งดำเนินการอย่างเร่งด่วน ตั้งใจจะเล่าเรื่องราวต่างๆที่ได้พบเห็นจากการเดินทางไปแสดงธรรมตามเมืองต่างๆ รัฐต่างๆ ประเทศต่างๆ นำมาเปรียบเทียบกับเรื่องราวในพระไตรปิฏก มาสู่การรับฟังของญาติโยม โดยมุ่งเน้นไปที่ผู้สูงอายุที่นั่งอยู่กับบ้าน ลูกหลานออกไปทำงานกันหมด
หากไม่สามารถเปิดฟังได้ด้วยเหตุผลใดก็ตาม ข้าพเจ้าก็ยินดีจะส่งแผ่นซีดีไปให้ รวมทั้งหนังสือบทสวดมนต์มหัศจรรย์ที่จัดพิมพ์มาหลายครั้งแล้วเพื่อมอบเป็นบรรณาการให้กับอุบาสก อุบาสิกา ผู้มีคุณูปการต่อวัด แต่หนังสือบทสวดมนต์มหัศจรรย์ที่กำลังจัดพิมพ์อยู่ในขณะนี้เป็นฉบับที่จัดทำในนามของวัดเล่าถึงประวัติของบทสวดมนต์ต่างๆ และ คุณวิเศษของบทสวดมนต์ต่างๆ ที่ใช้เฉพาะในเหตุการณ์แต่ละเหตุการณ์
วันพุธที่ 24 ก.ค.นี้ วัดบ้านป่านาบุญจัดงานอาสาฬหบูชา ถวายเทียนจำนำพรรษา และ สมโภชรูปหล่อเหมือนหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ซึ่งคุณโยมจำเนียร ดิษยบุตร ผู้มีวัย 96 ปี จะนั่งรถ 2 ชั่วโมงจากนอร์ธ ฮอลลีวูด ไปเป็นประธานในการถวายเทียนพรรษา คุณโยมนริศรา ตีรบุลกุล Chau และ ครอบครัว จะนั่งรถ 7-9 ชั่วโมงจาก ซาน ฟรานซิสโก เพื่อไปเป็นประธานฝ่ายฆราวาสในพิธีสมโภชรูปหล่อเหมือนหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ปัจจัยที่ได้จากการจัดงานบุญครั้งนี้จะสะสมเพื่อนำไปสร้างศาลา 1 หลัง อาศรม 20 หลัง และ ห้องน้ำ 7 ห้อง สะสมไปเรื่อยๆ สร้างไปเรื่อยๆ ไม่รีบร้อน งานที่ต้องรีบร้อนกว่าก็คือการปลูกต้นไม้ให้ครบ 1,000 ต้น รอไม่ได้ เพราะต้นไม้ใช้เวลานานกว่าจะโต
ระยะนี้มีแต่ข่าวพระที่ทำให้ชาวพุทธเศร้าหมอง ขอเชิญชวนทุกๆท่านมาร่วมฉลองรูปหล่อเหมือนหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต พระดีแห่งแผ่นดินกันดีกว่า.
ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.sereechai.com