ชีวประวัดิ พระคุณเจ้า หลวงปู่หลุย จันทสาโร ๑๐

ชีวประวัดิ พระคุณเจ้า หลวงปู่หลุย จันทสาโร ๑๐

จากหนังสือ จันทสาโรบูชา

โดยคุณหญิงสุรีย์พันธุ์ มณีวัต

พรรษาที่ ๓๙ พ.ศ. ๒๕๐๖ ได้อุบายธรรมจากกัลยาณมิตร

จำพรรษา ณ ถ้ำกลองเพล อ.หนองบัวลำภู จ.อุดรธานี

ออกพรรษา ปี ๒๕๐๕ ในเดือนตุลาคม ท่านก็ออกจากเขาสวนกวางขอนแก่น กลับไปบำเพ็ญเพียรที่ถ้ำมโหฬารอีกครั้งหนึ่ง ด้วยรสชาติอันดูดดื่มแห่งการภาวนา ณ ที่นั้นยังเป็นที่ระลึกถึงอยู่

ท่านเดินทางแบกบาตร แบกกลดไปแต่เพียงองค์เดียว ท่านบันทึกไว้ในปลายปี ๒๕๐๕ ว่า

“มาอยู่ถ้ำมโหฬาร มาตั้งแต่เดือน ๑๑ ตุลาคม จนถึงเดือนอ้าย ๐๕ (ธันวา ๒๕๐๕…ผู้เขียน) อยู่ที่นี่สงัดดี วิเวกดีเหลือที่สุด เป็นสัปปายะทุกอย่าง อากาศดี เสนาสนะดี อาหารค่ำแต่บุคคลไม่ค่อยดี ภาวนาได้ทั้งกลางวันและกลางคืน”

ท่านหลบอยู่ในถ้ำ หลีกเร้นตัว เร่งทำความเพียรอย่างหนัก ไม่ติดต่อกับญาติโยม หรือสำนวนของท่านที่ว่า “อาตมาไม่ รับต้อน แขกรับต้อน คือ “ต้อนรับ” นั่นเอง

ทำให้ท่านได้รับความสงบกว่าทุกแห่ง ที่พอมีข่าวรั่วไปว่ามีพระธุดงค์หรือโดยเฉพาะ “หลวงปู่” ไปอยู่ใกล้ ๆ ก็จะมีผู้มารบกวน ขอโน่นขอนี่ ซึ่งคราวนี้ท่านบันทึกไว้ว่า

“ดี…บัตรเบอร์ไม่มีคนมารบกวน เพ่งไตรลักษณ์ดีนัก”

พักจากการนั่งภาวนาหรือเดินจงกรม หลวงปู่ก็ใช้การเปลี่ยนอิริยาบถด้วยการพิจารณาธรรมชาติบ้าง การอ่านพระไตรปิฎกบ้าง

ดังที่เคยกล่าวไว้ก่อนหน้านี้แล้ว ว่าในการออกเดินธุดงค์ของท่านทุกครั้ง นอกจากบริขารจำเป็นสำหรับสมณะแล้ว ที่จะขาดไม่ได้สำหรับท่านก็คือ หนังสือ ๒ หรือ ๓ เล่ม ซึ่งท่านจะต้องนำติดองค์ไป ขนาดพอใส่ย่าม…จำนวนไม่มากเพื่อประหยัดน้ำหนักในการต้องสะพายขึ้นเขาลงห้วยไปด้วยกัน โดยมากจะเป็นหนังสือพระไตรปิฎกเล่มหนึ่ง อีกเล่มหนึ่งก็เป็นพวกบุพพสิกขาวรรณนา หรืออะไรทำนองนั้นและที่สำคัญที่สุด…เป็นสมุดเล่มเล็กที่ท่านจะบันทึกข้อธรรมะต่าง ๆ อันอาจจะเป็นหัวข้อธรรมที่ท่านเห็นว่าสำคัญหลังจากอ่านหนังสือใด ๆ มาแล้ว หรืออาจจะเป็นเรื่องที่ประหวัดคิดถึงเหตุการณ์ หรือธรรมะที่ท่านได้รับการอบรมมาจากบูรพาจารย์องค์ใดองค์หนึ่งของท่านแต่ก่อนเก่า… หรือเป็นธรรมะที่ผุดพรายขึ้นมาหลังการภาวนา…สิ่งเหล่านี้ท่านจะบันทึกลงไปโดยสิ้นเชิง

อยู่ถ้ำมโหฬาร ท่านได้อ่านพระไตรปิฎกซ้ำแล้วซ้ำอีก ได้บันทึกความที่เห็นว่าสำคัญลงไปมากมายหลายประการ ถ้ำมโหฬารนี้ ท่านเคยมาวิเวกหลายครั้งและครั้งสุดท้ายได้มาจำพรรษาอยู่เมื่อปี ๒๕๐๓ เห็นว่าเป็นที่สัปปายะแก่การบำเพ็ญเพียร ท่านจึงหวนกลับมาอยู่ และการบำเพ็ญเพียรคงได้ผลดีมาก ท่านจึงอยู่ถึง ๓ เดือน

เมื่อล่วงขึ้นปีใหม่ ปี ๒๕๐๖ อันเป็นฤดูกาลที่หมดฝนแล้ว ตามวัดต่าง ๆก็เริ่มมีงานบุญกัน การมาอยู่ในละแวกถิ่นบ้านเกิด หลวงปู่ในฐานะที่เป็น “ลูก” ของจังหวัดเลย และหมู่เพื่อนยกย่องว่ามีวาทะโวหารดี สามารถพูดจาโน้มน้าวจิตใจญาติโยมพุทธบริษัทให้เลื่อมใสศรัทธาในการบุญทานการกุศลได้ดีกว่าหมู่พวก จึงได้รับนิมนต์ให้เป็นผู้เทศนาในการเริ่มงานบุญบ้าง เขียนใบเชิญชวนบอกกำหนดการบุญในนามของเจ้าอาวาสบ้าง เผอิญท่านเป็นคนละเอียดลออ เทศน์ไปให้แล้ว เขียนใบเชิญชวนให้ไปแล้ว…ท่านก็บันทึกข้อความไว้ในสมุดส่วนตัวของท่าน พร้อมทั้งมีวันที่กำกับ ทำให้ติดตามประวัติท่านได้ ว่า ขณะนั้นท่านอยู่ ณ จุดใด ที่ใดในประเทศไทย

เช่น วันที่ ๒๓-๒๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๖ ตรงกับวันแรม ๑๔-๑๕ ค่ำ เดือนยี่ ท่านกำลังอยู่ที่ถ้ำแก้งยาว บันทึกย่อข้อความสำหรับเทศนา ที่จะแสดงในการบุญของถ้ำผาปู่ ซึ่งได้มีศรัทธาญาติโยม นายอำเภอ บริจาคทรัพย์จัดสร้างทาง ๔ สายเข้าวัดถ้ำผาปู่ พร้อมทั้งศาลาหอฉัน.. อีกไม่นานต่อมาก็จะเป็นบันทึกข้อความโดยละเอียดของเทศนาที่ท่านแสดงโดยพิสดาร ณ ถ้ำผาปู ถึงการบุญและอานิสงส์ต่าง ๆ รวมทั้งข้อความพรรณนาสรรเสริญความสงัดวิเวกของถ้ำผาปู่ด้วย…..

ส่วนใหญ่จะเป็นวัดในเขตละแวกใกล้เดียง แต่บางครั้งก็จะเป็นวัดที่อยู่ในอำเภอห่างไกลออกไป คงจะไม่ผิดนักที่จะกล่าวว่า ในเขตอำเภอเมือง วังสะพุงภูกระดึง เชียงคาน หากวัดกัมมัฏฐานวัดใดจะมีงาน วัดนั้นก็จะมานิมนต์หลวงปู่ไปร่วมงานโดยให้เป็นองค์สาธกอานิสงส์แห่งการบุญเสมอ

ท่านได้ทำความเพียรเพื่อตน เป็น อัตตัตถประโยชน์ ช่วยงานหมู่พวกและญาติโยม เป็น ญาตัตถประโยชน์ ส่วน ปรมัตถประโยชน์ อันเป็นประโยชน์สุดยอด สูงสุด เพื่อความเกษม หลุดสิ้นแห่งอาสวกิเลสทั้งปวงนั้น ท่านก็กำลังทำความพากความเพียรอยู่ แต่ครูบาอาจารย์ที่เมตตาสั่งสอนผ่านมา ดั่งเช่น ท่านพระอาจารย์บุญท่านพระอาจารย์เสาร์ และ ท่านพระอาจารย์มั่น แต่ละองค์ล้วนมีพระคุณล้นฟ้าล้นดิน ซึ่งหลวงปู่ท่านได้เทิดทูนไว้เหนือเศียรเกล้าด้วยความเคารพรักนั้น แต่ละองค์ท่านก็ได้นิพพานไปแล้ว คงมีแต่ “ตน” ซึ่งจะต้องเป็นที่พึ่งแห่งตนอยู่ในขณะนี้อย่างเดียวดา
ท่านเล่าว่า นึกถึงตนขณะนั้น บางครั้งให้เกิดความรู้สึกว้าเหว่นัก

บริเวณถ้ำกลองเพล

ปี ๒๕๐๖ นี้ ท่านได้ตกลงใจไปจำพรรษา ณ ถ้ำกลองเพลอีกครั้งหนึ่งด้วยรำลึกนึกถึงหลวงปู่ขาว ซึ่งเป็นกัลยาณมิตร สนิทสนมกัน ว่าอะไรก็เห็นด้วยกันไม่ขัดแย้งกัน ท่านบันทึกถึงการจำพรรษาอยู่ ณ ถ้ำกลองเพลงไว้สั้น ๆ ว่า

“พ.ศ.๒๕๐๖ จำพรรษาอยู่ ณ ถ้ำกลองเพล ภาวนาดีนัก เสนาสนะดี ปรุโปร่งแจบจมดี ได้กัลยาณมิตรดี ท่านอาจารย์ขาว ดีกว่าจำพรรษา ณ ที่อื่น”

ต่างองค์ต่างอยู่ในที่ภาวนากันเหมือนดังที่ท่านเคยได้มาจำพรรษาอยู่แล้วในปี ๒๕๐๑- ๒๕๐๒ บริเวณวัดถ้ำกลองเพลนั้นกว้างขวางมาก เป็นป่า เป็นเขามีโขดหิน มีธารน้ำ เต็มไปทั้งบริเวณวัด จะอยู่ที่ใดก็เป็นที่เงียบสงบ สัตว์ป่าก็ยังมีอยู่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกช้างป่า ซึ่งดูจะเป็นมิตรสนิทสนมกับหลวงปู่ขาวอย่างยิ่งท่านเล่าว่า หลวงปู่ขาวนั้นมีบุญบารมีเกี่ยวกับช้างมากมาย เห็นทีว่าท่านคงจะเคยมีชาติกำเนิดเก่ามาแต่ปางก่อน เป็นพญาช้าง บรรดาช้างซึ่งเกิดในชาติปัจจุบันจึงเคารพยำเกรงท่านมาก สมัยเมื่อท่านขึ้นไปจังหวัดภาคเหนือ เพื่อติดตามหาท่านพระอาจารย์มั่นเมื่อได้พบท่านระยะหนึ่งก็ธุดงค์ไปด้วยกัน ได้มีช้างออกหากินอยู่ข้างทางซึ่งเป็นไหล่เขาทางนั้นเป็นทางซึ่งหมิ่นเหม่ที่จะตกลงเหวอีกข้างหนึ่ง ด้านหนึ่งเป็นเขาอันสูงชันเป็นที่อันจำกัด แล้วช้างนั้นก็ยังขวางทางอยู่ ท่านพระอาจารย์มั่นก็บอกให้หลวงปู่ขาวให้จัดการ “เจรจา” กับช้างเหล่านั้น เข้าใจว่า โดยที่ท่านพระอาจารย์มั่นหยั่งรู้ถึงอดีตชาติของหลวงปู่ขาว ท่านจึงบอกเช่นนั้น

หลวงปู่ขาวก็ออกหน้าหมู่เพื่อน เข้าไปเจรจากับช้างบอกว่า

“พี่ชาย ท่านก็เป็นสัตว์ซึ่งใหญ่น่ากลัว พวกเราเป็นมนุษย์ จะต้องเดินทางต่อไปทางนั้นซึ่งมีทางเดียว ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงไปที่นั่นได้ ขอให้พี่ชายจงเห็นใจเรา เพราะร่างของท่านนั้นก็แสนจะน่ากลัว ถ้าเผื่อเห็นใจกันได้ ขอให้ท่านเอาหน้าซุกเขาหลบทางให้พวกเราวางใจว่าท่านจะไม่ทำอันตราย เราจะได้เดินทางผ่านไป พวกเราเป็นเพศนักบวชจะพากันไปเจริญศีล ภาวนา ได้กุศลก็จะได้แผ่เมตตาให้แก่ท่าน ขอให้ผ่านทางให้แก่เราด้วยเถอะ”

หลวงปู่ขาวบอกว่า ช้างนั้นก็ดูแสนรู้คำพูดนั้น ฟังแล้วก็นั่งหันหลังให้ เอาหน้าซุกเข้าก้อนหิน ดูท่าทางจะรู้ภาษากันดี ดังนั้นคณะธุดงค์ชุดนั้นก็เดินผ่านเข้าไปได้ ข้อนี้ซึ่งหลวงปู่บอกว่า เป็นอัศจรรย์ข้อหนึ่ง

จำพรรษาในปีนี้ ท่านได้แยกอยู่ห่างจากหมู่เพื่อน มาอยู่คนเดียวอีกด้านหนึ่งของบริเวณถ้ำกลองเพล มานั่งคิดนึกถึงตนแล้ว ก็ให้นึกสะท้อนใจ ท่านรู้องค์ว่าท่านได้พยายามปฏิบัติบำเพ็ญเพียรภาวนามาอย่างเด็ดเดี่ยว สิ่งใดที่ครูบาอาจารย์พูดว่าให้กล้า ให้ทำความเพียร ก็ได้พยายามทำตามคำที่ท่านแนะนำ หรือได้ยินได้ฟังท่านพูดท่านอบรมให้ฟัง อย่างเช่น การอดนอน ผ่อนอาหาร ผ่อนข้าว ผ่อนน้ำ อาหารเคยฉันเต็มอิ่ม ก็ลดละให้เหลือเพียงวันละ ๒๐ คำ ผ่อนเหลือ ๑๐ คำ ๕ คำ หรือไม่ฉันเลยก็มี ไม่ฉันเป็นวัน ๆ หรือเป็นอาทิตย์ก็มี อดข้าวเพื่อจะดูกำลังความเพียรของตนว่าจะสามารถอดทนได้เพียงใด ส่วนน้ำนั้นก็แสนจะประหยัด มัธยัสถ์ ใช้วันละกา ครึ่งกาเป็นที่กล่าวขวัญกันมานานแล้ว เคยพูดกันว่า อดข้าวนั้นอดได้ แต่อดน้ำนั้นลำบากแต่ท่านเองก็พยายามแม้แต่การอดน้ำ

ท่านเคยได้รับคำทักจากครูบาอาจารย์ว่า ท่านนั้นเป็นคนราคจริต คือเป็นคนรักสวยรักงาม ชอบความเป็นระเบียบเรียบร้อย เห็นสิ่งไม่งดงามจะทนไม่ได้ ท่านก็พยายามทรมานตนเอง ให้เห็นเป็นอสุภะ ความไม่สวยไม่งามของกาย แม้แต่เครื่องนุ่งห่ม จีวรก็ต้องเย็บปะชุนจนแทบจะหาเนื้อเดิมไม่ได้ เอาผ้าบังสุกุลหรือที่เขาเรียกว่า ผ้าเกลือกฝุ่น ที่ทิ้งไว้ตามทุ่งนา เอามาปะเย็บเป็นของตน หากมีใครถวายจีวรใหม่สบงใหม่ ก็จะถวายให้พระองค์อื่นไป แต่ตัวเองนั้นจะต้องใช้ของเก่า ซอมซ่อ ดูสกปรก เพราะปะซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ความจริงก็ต้องซักให้สะอาดเรียบร้อยอยู่เสมอ

ท่านทรมานตนเพื่อที่จะไม่ให้เป็นคนราคจริต รักสวยรักงาม อดทนทุกอย่าง เพราะว่าจิตเดิมเคยรักความงาม เคยเกิดมาในบ้านในตระกูลที่ร่ำรวยมีอันจะกิน เคยกับของงามของสูง ก็ดัดสันดานจิตของตนให้ไปเคยชินชากับความไม่สวย คิดขึ้นมาได้ว่า แม้แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เกิดในปราสาทราชวัง เกิดเป็นกษัตริย์สุขุมาลชาติ มีนางสนมกำนัลห้อมล้อม มีความสุขความสบาย แต่กระนั้นท่านก็ยังกล้าสละความสำราญความสบายเหล่านั้น ออกมาแสวงหาโมกขธรรม ตัวเรานั้นเทียบไม่ได้เลยกับองค์พระบรมศาสดา ไฉน ทำไมเราจะทำเป็นคนทุกข์คนยาก ลำบากเช่นนั้นไม่ได้

หลวงปู่นวดขาให้หลวงปู่ขาว

ส่วนการพักการนอนนั้น ท่านก็ทำเนสัชชิก อธิษฐานไม่นอน ไม่ยอมให้หลังแตะพื้นเป็นเดือน ๆ อยู่เพียงในอิริยาบถ ๓ คือ เดิน ยืน และนั่ง เท่านั้น ส่วนอาหารการกิน ก็อย่างที่กล่าวมาแล้วว่า ให้อยู่ด้วยความอดอยากยากแค้นเหลือเกิน การเดินจงกรมก็เดินครั้งละเป็นครึ่งค่อนวัน เดินจนเท้าแทบจะแตก ทะลุ แต่ส่วนใหญ่ก็ได้เพียงความสงบ จะพิจารณาให้เห็นเป็นไตรลักษณ์ ก็ดูเลือนลางอยู่ อย่างเช่น การม้างกาย เห็นเป็นปฏิภาคนิมิตคล่องแคล่วว่องไว กำหนดไปครั้งใดจิตจะรวมลงกายแตกแยกเป็นส่วน ๆ กำหนดไปให้กายราบ กองร่างกายที่แยกออกเป็นส่วนนั้นให้ราบลงเป็นหน้ากลอง กำหนดให้กลับคืนขึ้นมาเป็นกาย ขยายไปให้ใหญ่โตจนกายนั้นจะใหญ่คับห้องคับถ้ำ หรือจะย่นย่อลงเล็กในขนาดเท่าตุ๊กตุ่นตุ๊กตาตัวน้อยทำได้หมด จนกระทั่งม้างกายตนเองก็กระทำได้ว่องไว ม้างกายไปสนุก จนกระทั่งเก่งกล้าไปม้างกายครูบาอาจารย์ จนกระทั่งถูกดุ ถูกกำราบ

สมัยที่อยู่วัดป่าบ้านหนองผือนั้น ท่านนึกขึ้นมาแล้วก็แสนจะให้นึกอายใจ ที่กล้าดี ม้างท่านพระอาจารย์มั่น ไปดูจิตของท่านจนเห็นแสงจิตท่านเป็นสีทองสว่างไสว ท่านพระอาจารย์มั่นท่านรู้ ท่านจึงกำราบเสียยกใหญ่ ดูเป็นการที่สนุกสนานที่จะได้ม้างกาย ได้รู้จิตคนอื่น แต่นั่นก็เป็นเพียงด้านสมถะ ครูบาอาจารย์สอนให้เอาไตรลักษณ์เข้าฟอกก็รู้อยู่ มันก็เป็นหลักกฎเกณฑ์อยู่ แต่จะบอกว่าเป็น อนิจฺจํ เป็น ทุกฺขํ เป็น อนตฺตา ปากมันว่าเป็น อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา แต่ใจมันยังไม่ยอมรับ เหมือนกับมีอะไรที่มาปกคลุม กั้นกางอยู่

หลวงปู่เล่าว่า เมื่อท่านมองดูหมู่เพื่อน ใคร ๆ ที่รุ่นราวคราวเดียวกันอย่างเช่น หลวงปู่ขาว ซึ่งเป็นสหธรรมิก ได้บวชในเวลาเดียวกัน เป็นคู่นาคซ้ายขวาด้วยกัน ก็ดูท่านจะผ่านไปสู่ความสงบถึงที่สุดจิตนานแล้ว ก่อนหน้าเราหลายปี ตัวเรานั้นเป็นอย่างไรถึงทำไม่ได้ เพื่อนเราซึ่งบวชพร้อมกันกับเรา ทำไมท่านทำได้ เราเป็นอย่างไร ไม่ได้กินข้าวเหมือนกับเขาหรือ เลือดของเราไม่มีสีแดงเหมือนกันหรือ ท่านไม่มีหิว ไม่มีกระหาย ไม่หนาว ไม่ร้อน ไม่เจ็บ ไม่ไข้ ดีกว่าเรากระนั้นหรือ ก็ต่างคนก็ต่างเหมือนกัน ทำไมท่านจึงทำได้ ทำไมเราจึงทำไม่ได้ เถอะน่า

หลวงปู่ได้พยายามคิดถึงเรื่องนี้ ระหว่างทำความเพียร ท่านบอกว่า บางครั้งท่านรู้สึกว้าเหว่และอาจจะน้อยเนื้อต่ำใจ ซึ่งก็รู้ว่าเป็นความคิดที่ไม่ถูก แต่มันก็พยายามสร้างขึ้น เพื่อให้เกิดความอุตสาหะวิริยะที่จะทำความเพียร แต่ท่านก็ทราบดีว่า การทำความเพียรนั้น ท่านก็ไม่ได้ย่อหย่อนน้อยหน้ากว่าใคร แต่มันอาจจะเป็นได้ไหมว่า ปัญญายังไม่ได้เกิดขึ้น ปัญญาซึ่งเป็นประดุจเส้นผมบังภูเขา ซึ่งเราเองนึกไม่ออก แต่คนอื่นจะนึกออก

หวนนึกถึงคำที่ท่านอาจารย์มั่นท่านได้เคยพูดว่า ท่อนซุงนั้นมันไม่เข้าตาใครหรอกเส้นผมเล็ก ๆ นั้นต่างหากเล่าที่จะเข้าไปในดวงตา กำบังตาไม่ให้เห็นประการใด

คืนวันนั้น หลังจากที่จงกรมแล้วระยะหนึ่ง ก็ได้มาพูดคุยกันกับหลวงปู่ขาว แสดงธรรมสากัจฉาซึ่งกันและกัน หลวงปู่เล่าว่า หลวงปู่ขาวก็คงจะเข้าใจความคิดของท่าน แต่คำน้อยมิได้พูดให้เป็นที่กระเทือนใจ ท่านคงเข้าใจดีว่า ระยะนั้นเพื่อนสหธรรมิกของท่านกำลังกระสับกระส่าย ที่จิตไม่เป็นไปตามที่ต้องการ แต่ท่านจะพูดอะไรตรง ๆ ก็ลำบาก ท่านก็ได้แต่เปรยขึ้น

หลวงปู่ขาวท่านทำทีเป็นเล่าถึงเรื่องสมัยที่ท่านยังอยู่เชียงใหม่กับท่านพระอาจารย์มั่น ขณะที่นั่งภาวนาอยู่ข้างล่าง ท่านก็ไม่สบายใจ นึกบ่นว่า ทำอย่างไร ๆ ทำไมจิตมันจึงแข็งอยู่อย่างนั้น ทำสมาธิก็ไม่ลง ทำอย่างไร ๆ ก็ไม่ลง ทำอย่างไร ๆ มันก็ไม่สงบ ท่านรำคาญเต็มที จึงโกรธว่าตัวเองขึ้นมาว่า

“ที่นั่นมันผีนรกวิ่งขึ้นมาจากอเวจีนี่นา จิตมันถึงได้แข็งกระด้างอย่างนี้ ไฟเผามันอย่างนี้ น่าจะกลับให้มันลงไปอเวจีอีก อย่าให้มันขึ้นมา ให้อเวจีมันเผา”

ท่านด่ามัน เสร็จแล้วก็ลงนอน พอตื่นเช้า หลวงปู่ขาวก็ขึ้นไปจัดการถ่ายกระโถนของท่านอาจารย์มั่น ปฏิบัติท่านอาจารย์ของท่าน ท่านอาจารย์ก็ลุกขึ้นมาว่า

“เอ๊ะ ! ท่านขาว ท่านทำไมทำอย่างนี้ ท่านก็เป็นผู้ประเสริฐเป็นมนุษย์ประเสริฐอยู่แล้ว มาด่าตัวเองเฮ็ดหยัง (ทำไม) ให้ลงนรกอเวจีอย่างไร ไม่ถูกนี่ ท่านมาประจานตน ว่าตนอย่างนี้ไม่ได้ ท่านก็ทำความเพียรอย่างดีแล้ว จะไปว่ามันทำไม ถ้าว่าหนัก ๆ เข้า ท่านอาจฆ่าตัวตายได้นะ และถ้าเผลอไปฆ่าตัวตายเข้าแล้วชาตินี้ ต่อไปนับชาติไม่ได้นะ ที่จะต้องวกวนกลับไปฆ่าตัวตายอีก ฆ่าตัวตายนี่ ถ้าท่านเริ่มขึ้นชาติหนึ่งแล้ว ก็จะต้องต่ออีก ๕๐๐ ชาติ แล้วก็ไปเที่ยวเอาภพเอาชาติผูกเวรผูกกรรมกัน ฆ่าตัวตายอยู่อย่างนั้น อย่าไปทำอีกนะท่าน ไม่ถูก ตัวเองบริสุทธิ์อยู่ ทำไมถึงไปทำตน ไปด่าตนอย่างนี้”

หลวงปู่ขาวบอกว่า ใครไปนึกอย่างไร ทำอย่างไร อยู่ที่ไหน ท่านพระอาจารย์มั่นท่านรู้หมด ท่านก็อยู่กุฏิของท่าน อยู่ทั้งนั้นแหละ แต่ทำไมท่านรู้จิตคนอื่นก็ไม่ทราบ ถึงถูกท่านพระอาจารย์มั่นดุแล้ว แต่หลวงปู่ขาวทั้ง ๆ กลัว มันก็ยังนึกโกรธตัวเองอยู่นั่นแหละ

ขึ้นไปอยู่ดอยมูเซอกับพวกมูเซอ เสือก็มีตัวใหญ่ ๆ ลายพาดกลอน เดินอยู่กลางคืนก็นึกบอก “เจ้านี่มันเลวจริงๆ มันเป็นหยัง มันหยาบแท้ มันแข็งแท้ ให้เสือมาคาบมึงไปกินซะ”

หลวงปู่ขาวท่านเล่า สมัยนั้นท่านเป็นคนโทสจริต ท่านโกรธง่าย โกรธนี่ สมัยที่ท่านมีลูกเล็ก ลูกร้องไห้ท่านจับขาแขวนห้อยลงมาแล้วตีก้น ทั้งตีทั้งด่า มีอะไรนิดหน่อยก็โกรธ ไม่น่าเชื่อเลยเมื่อได้ยินอย่างนี้ เพราะว่าภาพหลวงปู่ขาวที่พวกเราเห็นระยะหลัง ท่านงามพร้อม ยิ้มของท่านเป็นยิ้มที่เปิดโลก สว่างเข้าไปในหัวใจ ยิ้มที่ทำให้ทุกคนได้เห็นแล้วก็ชื่นใจ เต็มไปด้วยความเมตตากรุณาอย่างที่สุด แต่ท่านบอกว่าเดิมนั้นท่านเป็นคนโทสจริต

นี่แหละ สิ่งที่หลวงปู่หลุยเล่าให้ฟังถึงเรื่องเก่า ๆ หลวงปู่ขาวก็เล่าให้ท่านฟังว่า ด่าตัวเอง นึกว่าตัวเอง โกรธที่จิตไม่ลง ให้เสือมาเอาไปกินซะนึกว่าฆ่ามันได้แล้ว จิตมันจะได้กล้า มันจะได้เกรง อ่อนน้อมยอมต่อเรา ท่านด่าไปจบแล้ว ก็ไปเดินจงกรม นั่งสมาธิ นั่งอย่างไร ๆ จิตมันก็ไม่ลง ท่านก็เลยนอน

คืนนั้น ท่านบอกว่า พอหลับไปปรากฏมีนิมิตเห็นมารดามานั่งอยู่ข้าง ๆ เห็นพวกมูเซอมาจากไร่ หอบผักใส่ตะกร้าแบกขึ้นหลังมา โยมมารดาท่านบ่นขึ้นว่า “ขาว..ขาว นี่ ทำอย่างไรถึงเป็นหนอ”

พวกมูเซอก็พูดว่า “ไม่ยาก ๆ เอาของอ่อนให้กินเด้อ อย่าไปกินของแข็ง ถ้ากินของแข็งไม่เป็น กินของอ่อนล่ะเป็น”

แม่ท่านก็เลยบอกว่า “ไม่เข้าใจ เป็นอย่างไร ของอ่อน ของแข็ง” แม่ท่านก็เอิ้น (เรียก) ถามขึ้นว่า “ของอ่อนมีอะไรไหม”

“ของอ่อนก็อย่างสาหร่ายไงล่ะ”

แม่ท่านก็บอกว่า “ขาว..ขาว กินของอ่อนเด้อ”

ท่านตื่นขึ้นจากนิมิตความฝัน ไปนั่งสมาธิ เริ่มต้นพิจารณา พิจารณาของแข็ง ก่อน

อะไรหนอที่มูเซอร์ว่าเป็นของแข็ง เรามีอะไรที่เขาว่าเรากินของแข็ง

พิจารณาไป ๆ มา ๆ ผู้รู้ก็ตอบขึ้นว่า “ที่ว่าของแข็งคือความโกรธ ความมักโกรธ นั่นแหละ ของแข็งล่ะ”

แล้วอ่อนล่ะ ที่บอกว่าให้เอาของอ่อนมากิน อะไรคือของอ่อน ?

พิจารณาไป ๆ มา ๆ ก็รู้ขึ้นว่า ของอ่อนก็ต้องเอาเมตตา

ท่านได้ข้อคิดอันนั้น ต่อนั้นมา ท่านก็แผ่เมตตาทั่วสารทิศ แผ่แม้แต่สัตว์ทั้งหลาย แผ่เมตตาไปไม่แต่ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูงมิตรสหาย แม้แต่ศัตรูก็แผ่ไป แผ่ไปโดยไม่มีประมาณ ความโกรธที่เคยสิงอยู่ในดวงจิตนั้นก็ค่อย ๆ อ่อนลง…อ่อนลงแทบจะไม่นึกโกรธอะไรเลย มีแต่ความเมตตาสงสารสรรพสัตว์ทั้งหลายทั่วโลก ให้นึกเห็นใจเขา เขาจะทำอะไรที่ผิดไปบ้าง เขาก็ไม่ตั้งใจ หากเขาตั้งใจ ก็เห็นใจว่าเขาเป็นอย่างนั้น เขาถึงได้ทำอย่างนั้น เป็นความลำบากของเขาเอง ที่เขาไม่ดี ไม่ได้เกี่ยวอะไร ให้นึกสงสารเขา

เมื่อแผ่เมตตาไป ๆ ความโกรธนั้นก็ค่อย ๆ อ่อนลง จิตก็ไม่ค่อยแข็ง จิตอ่อนแล้ว จิตอ่อนควรแก่การงานแล้ว นึกจะทำอะไรก็ได้ เป็นจิตที่ดี เป็นจิตที่ควรชม ควรแก่การงาน จะพิจารณาอะไรก็ได้ จิตอ่อนหมายถึงว่าจิตเบา จิตว่าง

ท่านเล่าให้หลวงปู่หลุยฟัง แล้วท่านก็หัวเราะ ว่าตอนนั้นในนิมิตที่เกี่ยวกับโยมแม่มาพูด “ขาวต้องกินของอ่อนเด้อ” มันชัดอยู่ในใจ ไม่มีนิมิตอันนั้น ท่านจะคิดไม่ออก มันเป็นเส้นผมบังภูเขาจริง ๆ

หลวงปู่หลุยได้ยิน ท่านก็ได้คิดว่า อธิบายธรรมทั้งหลายนั้น มันไม่ได้ตรง เป็นการชี้แจงอธิบายอะไรตรงไปตรงมา คำพูดบางคำ พูดนิดหน่อยก็จะสามารถสะกิดใจผู้เป็นปราชญ์ให้คิดขึ้นได้เอง

ท่านก็กลับมาหวนพิจารณาตัวท่านเอง ความโกรธท่านไม่ได้มีอย่างท่านอาจารย์ขาว แต่ท่านมีอะไรที่ท่านรู้อยู่ว่ามันค้างคาอยู่ อุบายธรรมเกี่ยวกับเรื่องของอ่อน ของแข็ง ของหลวงปู่ขาว ก็กลับมาทำให้ท่านคิดได้ สิ่งนั้นคือสิ่งที่ได้ค้างอยู่ในใจมานาน ท่านก็ไม่ค่อยยอมบอกให้แก่ใคร เกรงเพื่อนจะว่า คิดการใหญ่โต คิดเกินตัว นั่นก็คือการที่ท่านปรารถนาพุทธภูมิ ต้องการเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ธรรมโดยตนเอง ไม่ต้องอาศัยคำสั่งสอนของใคร อาจารย์ของท่านที่ได้ทราบแต่องค์แรก ก็คือท่านพระอาจารย์สิงห์ ที่หลุดปากสารภาพไปก็เพราะว่า ได้เกิดเรื่องรอยอดีตที่ฝังมาแต่ชาติก่อน ซึ่งท่านได้พยุงพาไป หนีจากอันตรายจากพรหมจรรย์ไปวัดป่าบ้านเหล่างาในครั้งกระนั้น ส่วนท่านพระอาจารย์มั่น ในภายหลังก็คงทราบเช่นกัน เพราะตอนหลังท่านก็มีเมตตา และเห็นใจว่า หลวงปู่ยังเลิกละความปรารถนาที่จะเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าไม่ค่อยเด็ดขาด การดุว่าตอนหลังท่านจึงเพลาไปมาก

หลวงปู่ท่านบ่นว่า ความจริงท่านเลิกละแล้ว การปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้านั้นท่านมาคิดดูว่า ครูบาอาจารย์ที่มีอยู่ ต่างองค์ดีกว่า วิเศษกว่าท่านมากมาย ไม่ว่าจะเป็นท่านพระอาจารย์บุญ ท่านพระอาจารย์เสาร์ หรือ ท่านพระอาจารย์มั่น แต่ละองค์ก็ยังต้องกลับมาปรารถนาเพียงพระอรหันตสาวก เราดีวิเศษเช่นไร ถึงจะปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า ควรจะต้องละความคิดอันนั้นเสีย

แต่ท่านว่า ท่านละแล้ว มันก็ยังไม่แน่ใจแท้ เพราะทำอะไรดูมันขัดเขินอยู่ตลอด อย่างน้อยเมื่อปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า ก็ย่อมต้องมีผู้ปรารถนามาเกิดด้วยเป็นคู่บารมีกัน คงจะได้สร้างบารมีปรารถนาเช่นนั้นมาด้วยกันหลายภพหลายชาติหรือช้านานแล้ว เช่นที่เป็นบิดา มารดา บุตร ภริยา ทั้งบริวาร ก็คงจะได้ไปเกิดพร้อมกันเป็นบิดา มารดา บุตร ภริยา หรือบริวารของพระพุทธเจ้า เมื่อท่านจะเลิกละไป ท่านเหล่านั้นก็ย่อมมาทวงความปรารถนาอยู่ คงยังไม่ยอมเลิกรากันไปได้

ครั้งแรกก็ว่าปรารถนาให้มาพบกันก็เป็นของยาก ก็พยายามให้พบกัน เพื่อว่าเมื่อพบกันแล้วจะได้ช่วยกันสร้างบารมีกว่าจะตรัสรู้ นั้นประการหนึ่ง เกิดมาซ้ำซากหลายชาติเป็นอนันตนัย พระพุทธเจ้าถึงตรัสว่า “เอาเข็มจี้ลงแผ่นหินไม่ถูกกองฟอน ตถาคตไม่มี” สร้างบารมีกันนานหนักหนาจนกว่าจะสำเร็จพระพุทธเจ้าได้ บุตรบริวารว่านเครือโดยเฉพาะคู่บารมีนั้นก็ย่อมจะต้องมาเกิดใกล้ชิดกัน เมื่อท่านผู้เป็นหัวหน้าจะเลิกละ ผู้อื่นก็ย่อมจะต้องไม่ยอมง่าย ๆ จะต้องเจรจากัน

ท่านไม่ทราบว่าตัวท่านนั้นจะได้เกิดมานานเท่าไรที่ตั้งปรารถนาอันนี้ แต่ท่านก็ทราบดีว่าผู้ปรารถนาพุทธภูมินั้น เกิดมาชาติใดย่อมไม่ทิ้ง ทาน ศีล ภาวนา ไม่ทิ้งการสงเคราะห์ฝูงชนเป็นอย่างยิ่ง ไม่ทิ้งการเมตตาแก่สัตว์ทั้งหลายเสมอภาคกัน เกิดภพใดชาติใด ภพน้อยภพใหญ่ ย่อมไม่ทิ้งการสร้างพระบารมี เป็นบารมีที่เป็นไปเพื่อการตรัสรู้ ไม่ใช่บารมีที่จะตัดภพตัดชาติ ในชาตินี้ท่านได้พบผู้ที่เคยข้องแวะเกี่ยวข้องกันในชาติต่าง ๆ จึงทำให้ดูหวั่นไหวไปบ้าง แต่ด้วยความรักในเพศพรหมจรรย์จึงได้ผ่านมา แต่การดำเนินไปสู่ความหลุดพ้นที่สุดของจิตนั้น ก็ยังอยู่ ขัดขวางอยู่มาก ท่านแน่ใจว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ท่านจะต้องดำเนินผ่านไปให้ได้

ท่านเล่าว่า พรรษานี้ท่านรู้สึกปลอดโปร่งใจที่ว่า สามารถหาเส้นผมที่มาบังภูเขาได้ จากข้อคิดที่ได้จากเพื่อนกัลยาณมิตร นี่แหละ ท่านจึงได้พูดว่า “การภาวนาถ้าจะเป็นไปได้ดีนั้น นอกจากจะต้องมีครูบาอาจารย์ที่ดีแล้ว ก็ควรจะต้องมีกัลยาณมิตร มีมิตรดี มีสหายที่ดีด้วย”

จริงอยู่ท่านไม่ไม่ได้คิดว่า ข้อขัดข้องของท่านจะเป็นเรื่องโทสจริต ท่านไม่ค่อยได้มีด้านโทสจริต เพราะท่านไม่ได้โกรธใครง่าย ๆ ของท่านนั้นเป็นราคจริต ซึ่งท่านได้พยายามแก้อยู่แล้ว แต่สิ่งขัดข้องของท่านนั้น มันเป็นเรื่องที่ฝังลึก ฝังรากไว้ช้านานแล้วต่างหาก ท่านจึงกล่าวว่า “ในบรรดาผู้ที่จะเจริญภาวนานั้น ย่อมใช้อารมณ์ธรรมต่าง ๆ กัน” คนหนึ่งอาจจะขัดเกลาด้านโทสจริต อีกคนหนึ่งด้านราคจริต ฯลฯ แต่ทุกคนต่างมุ่งเพื่อละกิเลสอย่างเดียวกัน ปราชญ์ท่านว่าไว้ว่า “ดุจผู้เป็นเสนาม้า เสนารถ เสนาเดินด้วยเท้า แต่ทุกด้านก็ต่างเพื่อทำสงครามเอาชนะอย่างเดียวกัน” ฉะนั้น

พรรษาที่ ๔๐ พ.ศ. ๒๕๐๗ สุดสะพานรุ้งสู่อวกาศ

จำพรรษาบ้านกกกอก ต.หนองงิ้ว อ.วังสะพุง จ.เลย

หลังจากที่ได้ข้อคิดจากหลวงปู่ขาวแล้ว ท่านก็ได้แยกมาบำเพ็ญประพฤติปฏิบัติธรรมอย่างเต็มที่ ระยะแรกท่านยังวิเวกอยู่ต่อไปบริเวณวัดถ้ำกลองเพล เนื่องจากเห็นว่าเป็นที่สงัดวิเวกอย่างมาก อย่างไรก็ดี ต่อมาท่านก็ต้องเปลี่ยนความคิด ด้วยที่วัดถ้ำกลองเพลนั้น ใครก็รู้ว่า พระคุณเจ้าหลวงปู่ขาว อนาลโย มาพำนักอยู่ที่นั่นหมู่สานุศิษย์จึงมากราบมาไหว้กันอยู่เสมอ สำหรับเวลาระหว่างเข้าพรรษานั้น ต่างองค์ต่างต้องจำบำเพ็ญภาวนาอยู่ในอาวาสของตน จึงจะมาได้แต่เพียงทำวัตรพระเถระผู้ใหญ่แล้วก็กลับไปเท่านั้น ครั้นเมื่อออกพรรษาปวารณาแล้ว แต่ละท่านแต่ละองค์ก็จะสามารถเดินทางธุดงค์หรือวิเวกไปตามที่ต่าง ๆ ได้ ถ้ำกลองเพลเป็นสถานที่ซึ่งขึ้นชื่อในเรื่องความสงบ สงัด วิเวก อุดมด้วยป่าเขาและภูเขา ซอกหินผามากมาย จึงมักมีหมู่พวกสัญจรมาเยือนมิได้ขาด

สุดท้าย หลวงปู่เห็นว่าที่นี่จะไม่ได้รับความวิเวกเต็มที่ ท่านก็เก็บบาตรแบกกลด เดินทางต่อไป ท่านได้มุ่งหน้ากลับไปอยู่ที่จังหวัดเลย ด้วยเห็นว่าที่นั่นอยู่ห่างไกลออกไป และยังมีที่น่าภาวนาอยู่อีกมาก เถื่อนถ้ำต่าง ๆ ในจังหวัดเลยนั้นก็ยังเป็นที่ดึงดูดจิตใจให้สงบ สงัด น่าบำเพ็ญภาวนามาก จะเป็นถ้ำผาปู่ก็ดี ถ้ำมโหฬารก็ดี ถ้ำผาบิ้งก็ดี ถ้ำแก้งยาวก็ดี หรือแม้แต่ที่วิเวก อย่างเช่น บ้านไร่ม่วง หนองบง ก็ล้วนแต่เป็นที่ซึ่งสงบสงัด น่าภาวนาทั้งสิ้น ระยะต้นท่านได้ธุดงค์เลยไปถึงบริเวณแถวแก่งคุดคู้ จังหวัดเลย

ที่แก่งคุดคู้ ท่านเห็นพญานาคทำทางให้แม่ของเขา โดยพังหินลงมาแล้วเกลี่ยทางเป็นสีแดงเถือกพาดขึ้นไปบนไหล่เขา ระยะนั้นหลวงปู่ก็ได้พบเห็นพญานาคอีกหลายครั้ง ท่านจึงค่อนข้างจะคุ้นเคยกันอยู่บ้าง เฉพาะที่แก่งคุดคู้นี้ท่านเล่าว่า

ที่เห็นน่าอัศจรรย์นั้นคือ ได้เห็นกระต่ายมาเต้นชมจันทร์ เวลากลางคืนฟ้าสว่างมาก ก้อนหินน้อยใหญ่ที่อยู่ในลำแม่น้ำโขง ก็แพรวพราวรับแสงจันทร์ ท่านภาวนาจิตถอนออกมา ก็เปลี่ยนอิริยาบถออกมาเดินเล่น จึงเห็นบรรดาหมู่กระต่ายมาเต้นชมจันทร์อยู่ และเมื่อท่านเดินจงกรม พวกกระต่ายก็มาเดินอยู่ใกล้ทางอยู่เช่นกัน มากันเป็นหมู่ ตัวหัวหน้านั้นมากราบนมัสการ แต่พวกลูกเล็กหางแถวก็ยังเล่นอยู่เหมือนกับว่า บิดามารดาพาลูกเล็ก ๆ ตามมา บิดามารดายังเข้ามากราบนมัสการพระเจ้าพระสงฆ์อยู่แต่เด็ก ๆ มิได้เดียงสาอะไร พ่อแม่ให้กราบก็กราบ แต่ก็ยังมีเล่นซนกันอยู่ มองดูแล้วน่ารักน่าสงสารเหลือ คือพวกสัตว์เหล่านี้เขาก็ต่างมีชีวิตเช่นเดียวกับคน มีความรู้สึกนึกคิดเช่นเดียวกัน หากแต่กรรมนั้นปรากฏอยู่ เขาจึงเสวยชาติเป็นสัตว์ แต่บางครั้งนิสัยเช่นคนก็ยังมีอยู่ อย่างเช่น พระเถรเจ้าหลายองค์ก็เคยพบ เมื่อเวลาที่ท่านกำลังนั่งภาวนา จะมีกระต่ายมานั่งอยู่ที่ใต้แคร่ นั่งหลับตาพริ้มภาวนา ยกมือขึ้นกอดอกก็มี บางองค์ก็พบว่า ระหว่างที่ท่านกำลังเดินจงกรม มีเจ้ากระต่ายน้อยมายืนอยู่ที่ปลายทางจงกรม ใช้ขาสองข้างกอดอกหลับตาพริ้มอยู่ เดินมาถึงหัวทางจงกรมก็ยังอยู่กลับไปจนสุดรอบ ย้อนมาก็ยังอยู่ที่นั่น จนกว่าท่านจะเลิกจงกรม มันจึงจะละวาง กระโดดเข้าป่าไป

ความอัศจรรย์ที่หลวงปู่ท่านชอบเล่ามากที่สุดก็คือเรื่องที่ท่านพระอาจารย์สิงห์ อาจารย์องค์ลำดับแรก ๆ ของท่าน ซึ่งท่านไปจำพรรษาอยู่ด้วยที่วัดป่าบ้านเหล่างา หรือวัดป่าวิเวกธรรม ที่จังหวัดขอนแก่นนั้น ท่านได้เล่าถึงว่า เมื่อเวลาท่านพระอาจารย์สิงห์เดินจงกรมในป่า ด้วยจิตท่านนั้นอ่อน แผ่เมตตาไปโดยไม่มีประมาณ ถึงกับว่า เมื่อมีเสือมานั่งอยู่ใกล้ทางจงกรม ท่านแผ่เมตตาให้จนจิตของเสือนั้นอ่อนรวมลงเป็นมิตรสนิทต่อท่าน ท่านหัดให้เสือเดินจงกรมตามท่านไปได้ ความนี้แม้แต่ภายหลัง ท่านพระอาจารย์มั่นก็กล่าวยกย่องท่านพระอาจารย์สิงห์ กรณีนี้อยู่เสมอ ท่านถึงกล่าวว่า สัตว์นั้น สุดท้ายย่อมทำให้อ่อนได้ด้วยแรงเมตตา ไม่ใช่การใช้กำลังอำนาจที่จะเอาชนะกัน มนุษย์สมัยนี้เอาชนะกันด้วยกำลัง จึงมีการฆ่าฟันกันตาย โกรธขึ้งหึงสาพยาบาทซึ่งกันและกัน พยาบาทแล้วก็เคียดแค้นกัน ก่อเวรก่อกรรมไม่มีที่สิ้นสุด

หากทุกท่านจะใช้พรหมวิหาร ประกอบด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เป็นอัปปมัญญาพรหมวิหารแผ่ไปให้มาก แผ่ไปโดยไม่มีประมาณ สัตว์โลกทั้งหลายก็จะเป็นมิตรสนิทกัน ไม่มีการก่อเวรก่อกรรมแต่อย่างใด

ในปี ๒๕๐๗ ที่ท่านคิดว่าทางด้านสมถะของท่านก็ได้เป็นไปพอตัวแล้วจิตมีแต่จะเสวยสุขต่อไป ถ้าหากไม่ฝึกปรือให้มันอ่อนลงควรแก่การงาน ให้พิจารณาให้ถ่องแท้ ใช้ไตรลักษณ์เข้าไปกำกับหรือ “ฟอกเช็ดจิต” อย่างที่ท่านเคยกล่าวอยู่เสมอแล้ว ก็อาจจะเปล่าประโยชน์ ท่านคงจะกลายเป็นพรหมลูกฟัก หรือไปเกิดเป็นพรหมต่อไปอย่างน่าเสียดายที่ชาตินี้ได้เกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนาแล้ว ความปรารถนาลี้ลับที่คิดว่าจะรู้ธรรมด้วยตัวเอง ไม่ต้องการจะรู้ธรรมจากผู้ที่มาสอนให้ ไม่ต้องการเป็นสาวกใคร นั้นก็ได้อ่อนละลายลง เพราะยิ่งได้เห็นได้ฟังจากท่านพระอาจารย์มั่นนั้น ท่านยังต้องเกิดเป็นสุนัขนับเป็นอสงไขยชาติ ด้วยระหว่างที่เกิดชาติหนึ่ง ๆ นั้น เกิดไปพบนางสุนัขตัวใหม่เกิดผูกพันรักใคร่ขึ้น ก็ตั้งจิตปรารถนาที่จะพบกันในชาตินั้นต่อ ๆ กันไป จึงต้องเวียนกลับมาเกิดเป็นสุนัข ไม่มีที่สิ้นสุด นึกขึ้นได้แล้วก็ควรจะตัดภพตัดชาติ หาทางตัดภพตัดชาติ มุ่งไปสู่ที่สุดจิตเสียโดยดี

ท่านเล่าว่า การตัดความปรารถนานั้น ต้องตัดในเวลาที่จิตเข้าสู่อัปปนาสมาธิที่ลึกที่สุด แล้วถอนขึ้นมา กำหนดจิตตัดว่า ที่เราได้เคยปรารถนาพระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณนั้น เราขอลาแล้ว เราขอตัดเด็ดขาดแล้ว เราไม่ต้องการ เราต้องการมุ่งลัดตัดตรงไปสู่ที่สุดของจิตนี้โดยเร็ว ตั้งความปรารถนาย้ำหนักแน่นตลอดกาล ประกอบกับในระยะนั้นคู่บารมีของท่าน ที่มาเป็นประดุจอนุสัยก่อกวนกิเลสอยู่ตลอดให้รำลึกถึง ก็ได้สิ้นชีวิตไปแล้วหลายปี ความรู้สึกที่คล้าย ๆ กับว่าหนามปักจิตอยู่ยอกจิตอยู่ มันเหมือนมาสะกิดอยู่ ก็ถูกบ่งหายไปแล้ว ระลึกได้แต่ความเมตตาความสงสารที่ว่าเธอนั้นยังไม่ได้พบทางอันเกษม ไม่มุ่งไปหาทางอันดี มีแต่ความอาลัยอาวรณ์ถ่ายเดียว ความจริงคู่บารมีของท่านนั้น แม้แต่ท่านไปจำพรรษาที่ถ้ำเจ้าผู้ข้าพ.ศ. ๒๕๒๕ เธอผู้นั้นก็ยังแวะเวียนมากราบนมัสการด้วยความเคารพอยู่ ซึ่งท่านก็ได้เมตตาสั่งสอน ให้รีบลัดตัดเข้าสู่ทางเกษมโดยเร็ว

กุฏิที่หลวงปู่จำพรรษาที่บ้านกกกอก
เมื่อปี ๒๕๐๗

ปีนี้ท่านได้มุ่งไปที่บ้านกกกอก ที่ท่านเคยมาจำพรรษาแต่เมื่อปี ๒๔๙๙ ได้พบความอัศจรรย์อยู่ที่นั่นแล้ว บ้านกกกอกเป็นหมู่บ้านที่อยู่ในระหว่างหุบเขาด้านทิศใต้ ติดกับภูหลวง ทางทิศเหนือก็มีภูเขากั้นระหว่างบ้านกกกอกกับบ้านไร่ม่วง ด้านทิศตะวันตกก็มีภูเขาขวางกั้นอยู่อีก มีทางเข้าหมู่บ้านด้านทิศตะวันออกเพียงด้านเดียว มีลำธารน้ำไหลผ่านวัด มีน้ำตก และสัตว์ป่ามากมาย หมู่บ้านนี้มีอยู่ประมาณ ๑๐ กว่าหลังคาเรือน อยู่ในดงป่าทึบ ชาวบ้านมีอาชีพทำไร่เล็ก ๆ น้อย ๆ และเก็บของป่าขาย ซึ่งพออาศัยโคจรบิณฑบาตได้ เป็นสถานที่วิเวก วังเวง สงบ สงัด เหมาะแก่การปฏิบัติธรรมเป็นอย่างยิ่ง เพราะสามารถทำความเพียรได้ทั้งกลางวันและกลางคืน สถานที่นี้เป็นสถานที่สมกับคำสอนของหลวงปู่ ซึ่งมักจะเน้นถึง “สถานที่วิเวก ๑ กายวิเวก ๑ จิตวิเวก ๑ จึงจะเกิดธรรมะอันน่าอัศจรรย์ของจิตอันวิเศษสุด”

บ้านกกกอกนี้ สถานที่เป็นมงคล เป็นที่ที่เคยมีพระอริยเจ้าได้เคยมานิพพานอยู่ที่นั่น ดังที่เคยกล่าวมาแล้วในเรื่องหลวงปู่เอีย ที่บ้านกกกอกนั้น เป็นบริเวณป่าเขาอันสงบวิเวก

เมื่อท่านกลับไปครั้งนี้ ต้นไม้ใหญ่ก็ยังมีอยู่อีกมากมาย สมัยปี ๒๕๐๗ ยังไม่มีการตัดไม้ทำลายป่าเท่าไรนัก ความสงัดวิเวกดังที่เคยพบในปี ๒๔๙๙ ยังเหลืออยู่ส่วนมาก น้ำซำที่อยู่ใกล้บริเวณเคยทำความเพียร ยังมีน้ำไหลออกมาเกือบตลอดปี

ท่านยังจำได้ว่า เสมอไปอยู่ครั้งก่อนนั้น นั่งได้ทุกที่ เดินจงกรมได้ทุกแห่ง เป็นภาวนาไปหมด ภาวนาได้จนมองเห็นทะลุไปทั้งตัว ภาวนาลมหายใจทุกเส้นขน เป็นที่ที่สัปปายะ พร้อมทั้งสถานที่ อากาศ บุคคล ถึงด้านอาหารการกินจะไม่สะดวกเท่าไร แต่ “การอด” นั้นเป็นสิ่งที่หลวงปู่ได้ประสบพบเห็นเสมอ ท่านไม่ได้ถือเรื่องอาหารขบฉันเป็นเรื่องสำคัญแต่ประการใด ท่านกล่าวว่า การอยู่สถานที่เป็นมงคลนั้นดีมาก เพราะทำให้เราต้องคอยตรวจวินัยให้บริสุทธิ์ ตรวจข้อวัตรให้เคร่งครัด เพราะว่า เจ้าภูมิ เจ้าสถานที่ซึ่งมีอยู่มากมาย ย่อมดูเราอยู่ จึงควรต้องแผ่เมตตาจิตถึงเทพและอมนุษย์ให้เสมอหน้ากันด้วย มิให้รังเกียจรังงอน ว่านี่เป็นอมนุษย์ นี่เป็นเทพเราต้องเอาใจมากกว่า การแผ่เมตตาไปโดยไม่มีประมาณ ให้มากเสมอกันนั้นเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เป็นการทำความคุ้นเคยกับเจ้าถิ่น เวลาน้อมจิตเข้าไปถึงหลัก จิตจึงสว่างไสวเป็นที่เบาจิต เราสามารถตรวจปฏิภาค อุคคหนิมิตได้แจ่มแจ้งดี จิตจะเข้าสู่วิปัสสนาเพื่อความรู้เท่าสังขาร นำมาซึ่งความสงบเย็นใจและสงบเป็นอย่างดี

ระหว่างที่อยู่ที่นี่ ท่านก็คิดทบทวนถึงที่ครูบาอาจารย์เคยสอนเคยสั่งมาตลอดเวลา เคยยังจำได้ซึ่งเป็นรากฐานที่จะต้องจดจำเสมอว่า ต้องพิจารณาอสุภะเพื่อแก้ราคะ ทำเมตตาเพื่อแก้โกรธ อานาปานะ เพื่อแก้วิตกวิจารณ์ อนิจจสัญญา แก้ถอนทิฐิมานะ อนัตตาให้ตั้งใจไว้โดยดี เพื่อจะได้ถอนอัสมิมานะขึ้นไปได้นิพพาน มีปัญญาเลิศกว่าทั้งปวง

ในระยะนี้ท่านพากเพียรการพิจารณาอสุภะมาก เพื่อจะตัดขาดจากอนุสัยซึ่งติดค้างมา ท่านเล่าว่าการทำความเพียรนั้น ได้จัดอยู่อย่างแบบนี้ตลอดมา คือว่า ตั้งแต่อรุณขึ้นมาถึงพลบค่ำเวลาหนึ่ง ตั้งแต่พลบค่ำไปถึงยามหนึ่งเวลาหนึ่ง ยามกลางคืนตั้งแต่ ๔ ทุ่มไปจนถึง ๘ ทุ่มนั้นนอน นอกนั้นลุกขึ้นมาภาวนาตลอดสว่าง ท่านกล่าวนำไว้ว่า แบ่ง ๓ เวลาดังนี้ ใช้ชีวิตเป็นไปด้วยวิธีนี้ตลอด หมายความว่าตั้งแต่อรุณขึ้นมาถึงพลบค่ำนั้น ท่านทำภาวนาตลอดเลย แทบจะไม่ได้เอ่ยถึงเวลาฉันจึงหันเลยจนนิดเดียว นี้แปลว่า ระยะนั้นท่านมักจะผ่อนอาหารมาก ตั้งแต่พลบค่ำไปถึงยามหนึ่งติดต่อกันไป เป็นในช่วงเวลาที่เดินจงกรมมาก ยามกลางคืนตั้งแต่ ๔ ทุ่มถึง ๘ ทุ่มนั้นนอน ๔ ชั่วโมง นอกนั้นลุกขึ้นภาวนาตลอดเกือบสว่าง สว่างเสร็จแล้วก็ตั้งต้นกันใหม่ เป็นการทำความเพียรอย่างเอกอุ การภาวนาระหว่างอยู่ที่บ้านกกกอกนี้ ท่านกล่าวว่าได้เร่งภาวนามาก แต่ขณะเดียวกันก็มีอาการไข้อาพาธขึ้น

ไข้ก็เกิด ความเพียรก็ต้องทำ ไม่มีฝ่ายใดสามารถที่จะย่อหย่อนอ่อนข้อกัน ความจริงการเป็นไข้ทำให้เป็นลมอ่อนเพลีย แต่ในขณะเดียวกันก็กลับให้ประโยชน์ เพราะว่าสามารถได้พิจารณาทุกขเวทนาทางกาย ซึ่งเป็นเรือนรังแห่งความทุกข์ได้ ไข้ยิ่งเกิดก็ยิ่งเท่ากับเวทนามากขึ้น ทุกข์เพิ่มขึ้น ยิ่งเห็นทุกข์ ก็ยิ่งพิจารณาตัดไป

ท่านบันทึกไว้หลายแง่หลายมุม ในระยะต้นท่านยังกล่าวอยู่มาก ตอนต้นเดือน กรกฎาคม

“ก่อนเข้าพรรษา มีนิมิตเห็นท่านอาจารย์สิงห์เดินมาหาแล้วเดินผ่านไป นับว่าเป็นพระคุณมาก ท่านเดินมาคนเดียว แสดงความบริสุทธิ์ในทางพรหมจรรย์”

ต่อไปนี้ จะได้ขอนำบันทึกของท่านบางตอนมาลงโดยเรียงตามลำดับที่ท่านว่าเป็นการพิจารณาด้านความตาย

“เข้าใจว่าตนจะตายอยู่เสมอ ร่างกายแปลกมาก เป็นลม ๑ อ่อนเพลีย ๑ จิตวิตก ๑ วิจารณ์ในตาย ๑ จิตไม่ฝักใฝ่สูง ๑ ไม่ทะเยอทะยาน ๑ จิตมัธยัสถ์ในการภาวนาเตรียมตัว ๑ ไม่อยากรับแขกให้เวลาล่วงไป ๑ ชอบสันโดษมักน้อยในปัจจัย ๑ (รู้สึกการเป็นลมเกือบล้มตาย ณ ที่ภูเวียง นอกนั้นก็เป็นบ่อย ๆ แต่เป็นเล็ก ๆ น้อย ๆ)”

“๑ สิงหา ๐๗ กกกอก ให้พิจารณาสังขารมันเป็นเรื่องของเขา ให้รู้ตามความเป็นจริง เพราะแสดงอยู่เป็นนิตย์ทุกอิริยาบถ นั่ง นอน เดิน ยืน สังขารแปรปรวนอยู่เสมอไม่ขาดสาย ให้ผู้ที่รู้นั้นไม่ร้อนไม่หนาวไปตาม เมื่อรู้ตามเป็นจริงแล้ววางตามสภาพได้ เรื่องของสังขารบังคับบัญชาเขาไม่ได้ เขาไม่อยู่ใต้อำนาจของใคร ร่างกายไม่มีการเกิด มีแต่แปรไปเรื่อย ๆ ส่วนเดียวไปหาความตาย จิตอาศัยกายยังมีแตกดับ”

“๒ สิงหา บ้านกกกอก พ.ศ.๐๗ ได้วางเจตนาสู่การตายไปจริง ๆ เพื่อชำระกิเลส ไม่ห่วงอัตภาพร่างกายว่าเป็นของเรา เพราะการเจ็บป่วยอยู่เฉพาะตนคนเดียว ไม่ได้อยู่กับหมู่เพื่อน หากอยู่กับหมู่เพื่อนก็มีความขัดข้องด้วยประการต่าง ๆ หมายความว่าชีวิตเป็นของน้อย รีบทำความเพียร เพราะชีวิตไม่พอกับการทำความเพียรให้สิ้นกิเลสเท่านั้น เพราะจิตยังยินดีอยู่ในโรคเป็นบางครั้งบางคราว อยู่ดีก็มีประโยชน์ ถ้าอยู่ไม่ดีก็ไม่มีประโยชน์อะไร บุคคลที่ไม่มีความประมาทมีราตรีเดียว ดีกว่าผู้มีชีวิตตั้งร้อยปีอยู่ด้วยความประมาท ชราแล้วเร่งความเพียรอยู่เรื่อยๆ ไม่ให้ขาดวรรคขาดตอน เพราะชีวิตเป็นของแพง”

ท่านเล่าว่า การทำความเพียรนั้นกล้ามาก จิตใจมุ่งต่อความเพียร สติปัญญาดูงอกงามขึ้น ไม่มีอับเฉา ง่วงเหงาเหมือนอย่างแต่ก่อน ๆ รู้สึกว่าอุบายวิธีที่ได้จากท่านอาจารย์ขาว ที่ให้ตรวจว่าเราขัดข้องเรื่องอะไร เมื่อท่านละสิ่งที่คาข้องใจแล้วทุกอย่างก็ดูเหมือนจะเปิดโล่งให้ดำเนินต่อไป การกินก็ไม่อยากกิน การนอนก็แทบไม่อยากนอน แม้แต่สวดมนต์บทต่าง ๆ ที่เคยสวดมาแต่เก่าก่อนต้องพัก เพื่อไปเร่งทางด้านสติปัญญาอย่างเดียว ท่านว่า เมื่อความตายมาเคาะประตูเรา เกรงว่าจะเอาไม่ทันไม่เร่งความเพียรอาจจะไม่ทันกาลเวลา กลัวจะล่วงลับดับไปเสียก่อนยังไม่ทันถึงจุดหมายที่มุ่งมาดปรารถนามาแต่ก่อนให้ทันกาล

อาการไข้ที่เกิดขึ้น ทุกข์ทรมานปล้ำลุกปล้ำนั่งอยู่คนเดียว ยิ่งทำให้เห็นตัวทุกข์มากขึ้น นี่คือทุกข์ ร่างกายก็อาจจะแปรปรวนไป…ไม่เที่ยง ไม่นานก็อาจจะต้องคืนเขาไป ท่านอาจารย์มั่นเคยบอกว่า เราได้ยืมธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟจากเขามาสร้างบารมี เมื่อสร้างเสร็จก็จะต้องคืนเขาไป คงน่าอนาถนัก ถ้าจะต้องคืนธาตุ ๔ ไปให้แก่โลกเขาไป ตั้งแต่เรายังสร้างบารมีไม่เสร็จ ไม่ไปถึงจุดมุ่งมาดปรารถนาปลายทาง

ดังนั้น ทุกข์มากเท่าไร เวทนาเกิดขึ้นเท่าไร ก็ราวกับว่าเป็นเชื้อเพลิงที่โหมใส่สติปัญญาให้หมุนเป็นเกลียวขึ้นมาอย่างเป็นใจ ถือเอาทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นจากไข้ นึกถึงความตายที่ขวางอยู่ข้างหน้าที่จะต้องพุ่งเหมือนพญาเสือที่จะพุ่งเข้าใส่ศัตรู เอาชนะห้ำหั่นมัน กิเลสที่เกิดขึ้นจะต้องประหารกันให้เขาเสียบ้าง สติปัญญาเกิด สติแก่กล้า ปัญญาเกิด ทุกขเวทนามันขึ้น จะหลีกเลี่ยงไปไหนก็ไม่ได้ ต้องสู้กัน เมื่อมันจนตรอกอยู่ ไม่เห็นทางที่จะหนีหายไปไหนได้ จึงมีแต่ว่าจะต้องหันหน้าสู้กันอย่างเดียว จึงจะเอาชนะกันได้

ท่านเร่งภาวนามาก ใจดำริมาเป็นเวลาหลายอาทิตย์ว่า พระอริยเจ้าทำสำเร็จ เราทำไมไม่สำเร็จ ธรรมก็มีอยู่ในตัวเราแท้ พระอริยเจ้าทำสำเร็จ เราทำไมไม่สำเร็จ ให้อาหารแก่จิต ให้กำลังใจแก่จิต

การ “ม้างกาย” ที่ดำเนินมานาน หนักไปทางสมถะ ในระยะนี้ท่านก็ได้เดินวิปัสสนาควบคู่ไป เป็นการม้างกาย ที่ท่านเรียกว่า “ม้างกายที่ฉลาด ม้างกายด้วยไตรลักษณ์” พยายามประหารกิเลสให้สิ้นไป จบไป ดังที่ท่านได้เขียนบันทึกไว้ในปีหลัง ๆ อธิบายความโดยสรุปว่า

“ม้างกายให้ฉลาด ม้างกายด้วยไตรลักษณ์ ม้างอนุสัยให้ฉลาดทางจิตและเจตสิก รวมทั้ง ๒ ประเภท แก้เกิดในไตรภพว่าเป็น ทุกฺขํ อนิจฺจํ อนตฺตา โดยธรรม ๒ ประเภท ชำระกิเลสออกจากดวงจิตจนเห็นไม่ถือไปเกิดอีกในภพหน้า ม้วนกลมในปัจจุบัน พระอรหันต์ไม่ก่อกิเลสในปัจจุบัน ละกิเลสทั้งอดีต อนาคต ไม่ทำกิเลสเกิดขึ้นในปัจจุบัน เสียความสุขในปัจจุบัน กว่าจะนิพพานในครั้งสุดท้าย รอรถรอเรือ จะไปนิพพาน สิ้นภพ สิ้นชาติ ทำความรู้แจ้งแทงตลอดเญยยธรรมในปัจจุบันนี้ทีเดียว”

ปัญญาพาค้นคว้า ดำเนินไป…จิตก็ตามไป หมุนเป็นเกลียวอย่างไม่หยุดยั้ง ลืมมืด ลืมแจ้ง ลืมวัน ลืมคืน บางเวลาจิตก็ม้วนกลมลงสู่จิตเดิม จิตหด แต่บางเวลาปัญญาหมุนติ้ว จิตเหินตามไป… ที่สุดของจิตซึ่งท่านเคยคิดว่า อยู่แสนไกล ประดุจอยู่ปลายสุดสะพานรุ้ง ก็กลับเป็นดูใกล้…แทบจะเอื้อมมือถึงได้ บางเวลา เกิดปีติปลื้มคิดว่า นี่แหละ…นี่แหละ ถูกแล้ว…ใช่แล้ว

จิตกลับตกลงมาใหม่ เกิดสะดุดหยุดยั้งคิด เพียรซ้ำ เพียรซ้อน ล้มแล้วลุก…ลุกแล้วล้ม ล้มลุกคลุกคลานอยู่คนเดียว

จิตที่ถูกทรมาน ลงแซ่กำราบมาอย่างหนัก สุดท้ายก็เหนื่อยอ่อน จิตวางจิตสงบ จิตไม่กำเริบ จิตคงที่ ไม่แปรไปตามสังขารจิต ไม่ขึ้นไม่ลง…จิตเกษม

ราวกับว่า สุดสะพานรุ้งนั้น จะพุ่งไปสู่อวกาศอันเวิ้งว้าง

แล้วท่านก็ได้ลาจากบ้านกกกอกมาด้วยความระลึกถึงบุญคุณของสถานที่แห่งนี้เป็นที่สุด

จิตเคยว้าเหว่ บัดนี้จิตมีที่พึ่งแล้ว

http://www.dharma-gateway.com/monk/monk_biography/lp-louis/lp-louis-hist-04-10.htm

. . . . . . .