เรื่องเล่าจากหลวงพ่อจรัญ เรื่องกรรมของคนจีนที่ฆ่าตัวตาย

เรื่องเล่าจากหลวงพ่อจรัญ เรื่องกรรมของคนจีนที่ฆ่าตัวตาย

เหตุการณ์นี้หลวงพ่อจรัญ ฐิตธัมโมได้เล่าเอาไว้เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม ปี พ.ศ.2530 ครั้งเมื่อที่ท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดพรหมบุรี อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี โดยวันนั้นเป็นวันโกนสาร์ท คือในช่วงเทศกาลทำบุญเดือนสิบ มียายแก่คนหนึ่งชื่อ ยายเภา อาศัยอยู่ที่บางสำโรง เขตสวี อำเภอ ท่าวุ้ง จ.ลพบุรี ได้พายเรือมาที่ตลาดปากบางเพื่อที่จะมาซื้อของไปเตรียมทำขนมกระยาสารท

เหตุการณ์นี้หลวงพ่อจรัญ ฐิตธัมโมได้เล่าเอาไว้เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม ปี พ.ศ.2530 ครั้งเมื่อที่ท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดพรหมบุรี อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี โดยวันนั้นเป็นวันโกนสาร์ท คือในช่วงเทศกาลทำบุญเดือนสิบ มียายแก่คนหนึ่งชื่อ ยายเภา อาศัยอยู่ที่บางสำโรง เขตสวี อำเภอ ท่าวุ้ง จ.ลพบุรี ได้พายเรือมาที่ตลาดปากบางเพื่อที่จะมาซื้อของไปเตรียมทำขนมกระยาสารท

ยายเภาได้เทียบเรือเข้าไปจอดริมตลิ่งที่มีต้นไม้ครึ้มทอดลงมาต้นหนึ่ง ซึ่งคุณยายเภาไม่ทราบเลยว่าต้นไม้ต้นนั้นเคยมี ชายแก่ชาวจีนคนหนึ่งมาผูกคอตายไว้ พอคุณยายทอดเรือที่ต้นไม้นั้นก็เกิดเรื่องทันที มีอาการผิดปกติดิ้นรนทุรนทุราย ปากก็พร่ำออกมาเป็นภาษาจีนทั้งที่เธอเป็นคนไทยไม่เคยรู้ภาษาจีนเลยแม้แต่คำเดียว

ชาวบ้านในตลาดพากันมามุงดูก็ทราบว่ายายเภาถูกผีเข้าก็ไม่ทราบจะทำอย่างไรจึงได้ให้คนไปนิมนต์พระเดชพระคุณหลวงพ่อจรัญมาช่วย ซึ่งพอทราบเรื่องท่านก็รีบมา แต่ก็ไม่สามารถสื่อสารกันได้รู้ความเพราะ ยายเภานั้นพูดแต่ภาษาจีนอยู่ตลอดเวลา หลวงพ่อจึงได้ไปตามลุงเขยของท่านที่ชื่อ เลี่ยงเกี๊ยก มาช่วยเจรจา

เมื่อคุณเลี่ยงเกี๊ยกมาช่วยเจรจาก็ทราบความว่า วิญญาณที่เข้าสิงยายเภาชื่อ “นายเล่งฮ่วย” เคยอาศัยอยู่ ณ บริเวณแถวนี้โดยอยู่กับหลานสาว ซึ่งมีอาชีพทำขนมขายโดยตัวแกนั้นมีวิสัยติดยาฝิ่นแบบงอมแงม ต้องกินยาฝิ่นทุกวัน โดยแลกกับการตักน้ำหาบน้ำมาให้หลานสาวทำขนม ถ้าวันไหนไม่ทำงานก็จะไม่มีเงินจากหลานสาวไปซื้อฝิ่นเสพ ทำให้อยากฝิ่นทรมานมาก

ด้วยวิสัยเช่นนี้จึงไม่มีใครเห็นใจ และยังเป็นที่ตำหนิถูกต่อว่าเป็นขี้ยาติดยาเสพติด ทำให้รู้สึกน้อยใจเป็นอย่างมาก เมื่อความคิดเช่นนี้สะสมเข้าอยู่ในจิตใจทุกวันจึงตัดสินใจหนีความทุกข์โดยการไปผูกคอตายที่ต้นไม้ต้นนั้นเอง เพราะหวังว่าจะได้ไปสบายเสียที

แต่ทว่าสิ่งที่ตนเองได้กระทำลงไปถือเป็นความผิดพลาดอย่างใหญ่หลวงยิ่งนัก เพราะแทนที่จะได้สบายกลับต้องทนทุกข์ทรมานกว่าตอนที่มีชีวิตอยู่หลายเท่า และวันที่ต้องมาเข้าร่างของยายเภาเนื่องจากหนีมาอยู่กับคนที่ชื่อ “ฮ่วยเซียเถ้า” ที่วัดพรหมบุรี ซึ่งนายเล่งฮวยหมายความถึง “หลวงตามด” ซึ่งเป็นอดีตเจ้าอาวาสวัดกลางพรหมนคร เหนือตลาดปากบาง

เมื่อหลวงพ่อจรัญลองสืบประวัติเรื่องหลวงตามด ก็พบว่ามีอยู่จริงที่วัดกลางพรหมนคร เคยเป็นเจ้าอาวาส ขณะที่ยังมีชีวิตก็ต้องฆ่าตัวตายทั้งที่อยู่เพศสมณะเพราะเสียใจที่เงินที่สะสมเอาไว้สร้างถาวรวัตถุของวัดถูกมัคนายกที่วัดขโมยไปเสียหมด จนขาดสติทำให้ผูกคอตายอย่างน่าอนาถ ซึ่งเรื่องนี้เกิดขึ้นมาเมื่อ 60 ปีมาแล้ว

นายเล่งฮวยและหลวงตามดที่ฆ่าตัวตายในสภาพวิญญาณต้องไปกินอาหารตามกองขยะที่เขาเอามาทิ้ง เพราะไม่มีใครอุทิศให้ต้องกินของที่เขาทิ้งแล้วจึงจะกินได้ โดยนายเล่งฮวยขอร้องให้หลวงพ่อไปบอกกับหลานสาวว่า ตนเองไม่สามารถรับบุญจากการทำทานใดๆ ได้จะสามารถรับบุญได้จากการเจริญวิปัสสนากรรมฐานเพียงอย่างเดียว

หลวงพ่อจรัญ ยังเกิดความแคลงใจในตัวของสมภารมดหรือหลวงตามด ที่เป็นพระภิกษุแต่กลับฆ่าตัวตายได้อย่างไร ซึ่งก็ทราบความภายหลังว่า หลวงตามดนั้นเมื่อบวชแล้วก็ไม่ค่อยได้เจริญกรรมฐาน ไม่ค่อยได้ปฏิบัติธรรมเลยจึงทำให้ขาดสติคิดสั้นไป และตนเองและสมภารมดก็มีความเป็นอยู่ในสถานะวิญญาณเหมือนกันคือ ต้องทำงานขุดดินทั้งวันทั้งคืน เมื่อถึงวันโกนวันพระจึงจะได้หยุด วันนี้จึงได้หนีมาบอกความประสงค์ให้รับรู้

เมื่อหลวงพ่อจรัญทราบความประสงค์แล้ว วิญญาณของนายเล่งฮวยก็ออกจากร่างยายเภาไป หลวงพ่อจรัญ จึงทำการทดสอบยายเภาดูว่าจะทราบภาษาจีนบ้างหรือไม่ โดยสอบถามเป็นภาษาจีนง่ายๆ ว่า “เจี๊ยะปึง ฮ้อ ? ” (กินข้าวดีหรือยัง) ซึ่ง ยายเภาก็ไม่เข้าใจแม้สักคำเดียวจึงเป็นอันแน่ใจว่า วิญญาณนายเล่งฮวยมาเข้าสิงจริงๆ

หลวงพ่อจรัญได้ยอมไปพบกับหลานสาวของเล่งฮวย เพื่อบอกกล่าวความเป็นอยู่ของญาติตนเองให้ทราบ แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ นางเจียผู้เป็นหลานสาวกลับไม่เชื่อหาว่าเป็นเรื่องบ้าบอคอแตกไปไม่คิดจะเจริญกรรมฐานใดๆ ให้ทั้งสิ้น ซึ่งท่านก็ต้องปล่อยวางเรื่องนี้ไปตามยถากรรมของสัตว์

นรกของคนที่ฆ่าตัวตาย
ในพระไตรปิฎกนั้นระบุกรรมของผู้ที่ฆ่าตัวตายถือเป็นกรรมที่หนักอย่างยิ่ง ต้องลงไปสู่นรกที่เรียกว่า “โลกันตนรก” ซึ่งมีลักษณะของนรกที่เลวร้ายมากดังนี้ว่า

โลกันตนรกเป็นนรกขุมพิเศษที่อยู่นอกจักรวาล อยู่ระหว่างโลกจักรวาล 3 โลกคือสวรรค์ นรก และโลกมนุษย์ เปรียบเหมือนมีดอกบัว 3 ดอกมาเรียงชิดติดกันจะเกิดช่องว่างในตรงกลางโดยบริเวณช่องว่างในตรงกลางนั้นเรียกว่า “โลกันตนรก”

สัตว์ที่มาเกิดในโลกันตนรกนี้มีร่างกายใหญ่โต มีเล็บมือเล็บเท้ายาว ต้องใช้เล็บมือเล็บเท้าเกาะอยู่ตามเชิงจักรวาล ห้อยโหนโยนตัวอยู่ชั่วนิจนิรันดรเหมือนค้างคาวห้อยหัวอยู่บนกิ่งไม้ และก็จะรำพึงในใจว่า “ทำไม ตัวเราจึงมาอยู่ที่นี่ สงสัยจะมีเพียงเราผู้เดียวกระมัง”

เหตุที่รำพึงเช่นนี้เพราะว่าโลกันตนรก นั้นมืดมิด ไม่มีแสงสว่างแม้เพียงนิดเดียว ต่างห้อยโหนโยนตัวเปะปะด้วยความหิวโหย พอตะครุบไปถูกตัวสัตว์นรกซึ่งกันและกันจึงคิดว่าเป็นอาหาร ต่างปล้ำฟัดกันอยู่อย่างนี้ ไม่ช้าต่างก็พลัดตกลงไปในทะเลน้ำกรดอันเยือกเย็น เนื้อตัวร่างกายก็เปื่อยแหลกเหลว ตายไปในทันที แล้วก็กลับฟื้นขึ้นมาอีก ต้องได้รับความทุกข์ทรมานเช่นนี้ไม่มีวันสิ้นสุดชั่วพุทธันดร กัปหนึ่งจึงจะพ้นโทษจากโลกันตนรก

กรรมที่เกิดจากการฆ่าตัวตายนั้น ย่อมน้อมนำมาให้สู่นรกขุมนี้ นอกจากนั้นยังเคยทำร้ายทรมานบิดามารดา ไม่เชื่อนรก ไม่เชื่อสวรรค์ ทำบาปกรรมชั่วช้าเป็นประจำก็จะน้อมนำให้มาบังเกิดในนรกขุมนี้ได้

การฆ่าตัวตายนั้นไม่ใช่การทำให้ตนเองพ้นทุกข์แต่จะกลับเป็นการเริ่มต้นวิวัฒนาการทางจิตวิญญาณใหม่ให้ทุกข์หนักกว่าเดิม พระพุทธเจ้าทรงเปรียบเปรยว่า การที่เราจะได้เกิดมาเป็นมนุษย์นั้นยากแสนยากเหมือนกับมหาสมุทรที่แสนกว้างใหญ่ โดยเหนือผิวน้ำจะมีห่วงเล็กๆ ลอยฟ่องอยู่

โดยในแต่ละวินาทีที่ห่วงนี้ถูกคลื่นลมตีให้ลอยไปมาไม่มีโอกาสอยู่นิ่ง ภายใต้ท้องมหาสมุทรจะมีเต่าตาบอดตัวหนึ่งโดย เต่าตัวนี้ทุกร้อยปีจะโผล่ศีรษะมาเหนือผิวน้ำสักหนึ่งครั้ง

พระพุทธเจ้าทรงเปรียบเทียบไว้ว่า โอกาสที่เต่าตาบอดจะโผล่ขึ้นมาเหนือผิวน้ำและเอาหัวมาสวมเข้ากับห่วงที่ว่านั้นอย่างพอเหมาะพอดีเป็นไปได้ยากแสนยาก แต่การเกิดมาเป็นมนุษย์นั้นยากกว่านั้นนับล้านเท่า เมื่อใดที่ฆ่าตัวตายก็คือการปฏิเสธความเป็นมนุษย์ จิตจะต้องตกต่ำดำมืดและกลับไปเริ่มต้นวิวัฒนาการกรรมกันใหม่ กว่าจะพัฒนาจนเกิดมาเป็นมนุษย์แล้วต้องเวียนว่ายตายเกิดอีกนับภพชาติไม่ถ้วน

การฆ่าตัวตายจึงไม่ใช่หนทางที่พ้นทุกข์เลย แต่เป็นการสร้างความทุกข์อันยาวนานขึ้นมาใหม่ พระพุทธเจ้าจึงทรงตำหนิผู้ที่ฆ่าตัวตายเอาไว้มาก

ทำอย่างไรจะหนีนรกจากการฆ่าตัวตายได้พ้น
นรกของคนที่จะฆ่าตัวตายนั้นเกิดขึ้นแล้วตั้งแต่ในจิตใจคือ ความน้อยเนื้อต่ำใจ ไม่ได้ดั่งใจ ความพลัดพรากจากของที่รัก ดังเช่นกรณีของนายเล่งฮวยที่ต้องฆ่าตัวตายเพราะทนซึ่งคำดูถูกเหยียดหยามจากคนอื่นไม่ได้จึงตัดสินใจคิดสั้น

การจะหนีกรรมหนีนรกฆ่าตัวตายให้พ้น ในทางพระพุทธศาสนาก็มีหลักธรรมสอนเอาไว้ที่ชื่อ “ไตรลักษณ์” อันหมายถึงความเป็น สามัญในทุกสรรพสิ่งที่ว่า ไม่แน่ ไม่ได้ดั่งใจ ไม่มีอะไรสมบูรณ์คำว่าไม่แน่ก็คือความเปลี่ยนแปลงทั้งหลาย (อนิจจัง) ทุกๆ ชีวิตต้องพบพานกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นรอบตัวอยู่เสมอ

ประการต่อมาก็คือ ต้องเจอ “ความทุกข์” (ทุกขัง)ไม่ว่าใครในโลกนี้ก็ต้องเจอทุกข์เหมือนกันทั้งหมดทั้งสิ้น และสุดท้ายก็ต้องพบกับ ความไม่สมบูรณ์ (อนัตตา) เกิดขึ้นแล้วก็ย่อมเสื่อมสลายไปไม่มีอะไรเป็นของเราเลยแม้แต่น้อย

ภาวะที่เป็นไตรลักษณ์นั้นไม่ได้เกิดขึ้นกับใครคนใดคนหนึ่งแต่เกิดกับทุกคนอย่างเสมอภาคเท่าเทียม เพราะฉะนั้นการจะหนีนรกให้พ้นจากการฆ่าตัวตายได้ก็ต้องหัดทำใจให้มองเห็นเรื่องทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตเป็นเรื่อง “ธรรมดา” คนที่เข้าใจความเป็นธรรมดาของโลกว่า ทุกข์ทั้งหลาย การติฉินนินทา การเสื่อมลาภ เสื่อมยศ เป็นเรื่องปกติก็จะเข้าใจโลกได้มากขึ้นและมีความเห็นที่ตรง

เมื่อบุคคลใดก็ตามที่มีความเห็นที่ถูกต้องตรงกับความเป็นจริงแล้วเขาผู้นั้นก็จะไม่กระทำกรรมหนักที่เป็นบาปเช่นนี้โดยเด็ดขาด หากจะมีก็มีแต่ในผู้บรรลุธรรมแล้วเท่านั้น

การฆ่าตัวตายที่ไม่ตกนรกมีอยู่หรือไม่ ?
ในพระพุทธศาสนานั้นพระพุทธเจ้ากล่าวถึงการฆ่าตัวตายชนิดหนึ่งที่ “ไม่ถือเป็นบาป” กรณี พระฉันนะ (ซึ่งเป็นคนละรูปกับพระฉันนะ อดีตคนสนิทของพระพุทธองค์) ว่า

พระฉันนะนั้นก่อนที่ท่านจะฆ่าตัวตาย ท่านมีอาการอาพาธหนัก จึงได้ปลงสังขารและคิดจะฆ่าตัวตายด้วยศาสตราวุธเพื่อให้พ้นทุกข์ พระสารีบุตรได้เทศนาสั่งสอนและห้ามปรามไว้ แต่ในที่สุดพระฉันนะก็ฆ่าตัวตายจนได้ ทำให้ได้รับคำตำหนิติเตียนจากญาติมิตรและผู้คนเป็นอันมาก

พระสารีบุตรจึงทูลถามพระพุทธเจ้าถึงเรื่องนี้ว่า พระพุทธองค์ทรงมีทรรศนะเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายของเหล่าภิกษุนี้ว่าอย่างไร พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า

“ ดูก่อน สารีบุตร พระฉันนะยังมีสกุลมิตร สกุลสหายและสกุลที่คอยตำหนิอยู่ก็จริง แต่เราหาเรียกบุคคลว่า ควรถูกตำหนิด้วยเหตุเพียงเท่านี้ไม่ บุคคลใดแลทิ้งกายนี้และยึดมั่นกายอื่น บุคคลนั้นเราเรียกว่า ควรถูกตำหนิ ฉันนะภิกษุหามีลักษณะนี้ไม่ ฉันนะภิกษุหาศาสตรามาฆ่าตัว อย่างไม่ควรถูกตำหนิ..”

พระพุทธองค์หมายความว่า พระฉันนะนั้นขณะที่จิตสุดท้ายก่อนจะฆ่าตัวตาย จิตของเธอได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว ไม่ถือยึดเอาร่างใดเพื่อการเกิดใหม่อีกเมื่อตายแล้วจึงเข้าสู่นิพพานเลย เมื่อจิตสุดท้ายบริสุทธิ์ก็กลายเป็นผู้ที่หมดบุญหมดบาปแล้วท่านจึงไม่ต้องเกิดอีกต่อไป เป็นการฆ่าตัวตายที่พระพุทธองค์ไม่ได้ทรงตำหนิ

การฆ่าตัวตายของพระอรหันต์นั้นเรียกอีกประการหนึ่งว่าเป็นการ “ปลดเปลื้องขันธ์” หมายความว่าต้องอยู่ในความเหมาะสมกับกาลเวลาที่จะสละขันธ์ของร่างกาย ความเหมาะสมนี้ไม่สามารถจะบอกกล่าวได้ว่า จะต้องสละขันธ์เมื่อใด และก็จะสละขันธ์กันอย่างไร

ในกรณีการใช้อาวุธฆ่าตัวตายของพระฉันนะเป็นวิธีหนึ่งที่ปรากฏใช้ในพุทธกาล หากมองว่าเป็นการทำร้ายร่างกายตนเองเพื่อฆ่าตัวตายได้ถ้ามองในมุมของปุถุชน แต่การสละขันธ์ด้วยวิธีนี้เป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้ท่านถึงนิพพานเป็นเพียงกระบวนการ “ทำให้สิ้นไปซึ่งขันธ์ 5”

การปลดเปลื้องขันธ์เพื่อเข้าถึงนิพพานนี้ก็ยังใช้วิธีอื่นด้วย เช่น กรณีของพระอานนท์ ก่อนที่ท่านจะเข้าถึงนิพพานก็มีข้อถกเถียงกันในเรื่องของอัฐิธาตุของท่านนั้นเองว่าจะถูกแบ่งไปให้พระญาติทั้งสองฝั่งแม่น้ำโหริณีอย่างไรดี เพราะพระญาติทั้งสองฝั่งต่างก็ไม่ยอมให้กัน

พระอานนท์เห็นว่าหากปล่อยไปเช่นนี้จะเกิดการทะเลาะกันขึ้น จึงได้ตัดสินใจเข้าเตโชธาตุ (ไฟ) ท่านจัดการแยกร่างกลางอากาศแล้วเผาร่างกายแตกออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งให้ตกอยู่ที่ฝั่งกบิลพัสดุ์ อีกส่วนให้ตกที่ฝั่งเทวทหะ เพื่อให้พระญาติทั้งสองฝั่งแบ่งอัฐิธาตุนำไปสักการบูชา

ดังนั้นการปลดเปลื้องขันธ์แบบพระอรหันต์ไม่ได้หมายความว่า เป็นการกระทำที่เป็นการฆ่าตัวตายโดยมีพื้นฐานของ “วิภวตัณหา” คือความไม่อยากที่จะมีชีวิตอยู่ หรือแม้แต่ไม่อยากที่ได้รับการเป็นอยู่ในสภาพนั้นๆ

เหล่าปุถุชนไม่อาจหยั่งทราบภาวะของพระอรหันต์ได้ว่า เหตุใดท่านจึงทำเช่นนั้น และไม่ทำเช่นนั้น เพราะบางครั้งทำในเรื่องเดียวกันลักษณะเดียวกัน แต่การทำของปุถุชนนำไปสู่ทุคติ แต่การทำของพระอรหันต์นั้นจะไม่มีผลใดให้เกิดผลต่ออีก เพราะการกระทำของพระอรหันต์เป็นเพียงกิริยาอาการเท่านั้น

ส่วนการฆ่าตัวตายโดยทั่วไปของสัตว์โลกและเป็นการฆ่าตัวตายที่พระพุทธองค์ทรงตำหนิมาก ก็เพราะ จิตของเขาต้องอยู่ในสภาพที่เศร้าหมองอย่างยิ่งและเต็มไปด้วย “วิภวตัณหา” คือไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อเพราะไม่สามารถรับมือกับความทุกข์ได้ เขาจึงจะฆ่าตัวตาย ดังนั้นทันทีที่เขาตาย จิตเศร้าหมองทุคติ จะนำไปเกิดในที่อื่นไม่ได้เลย นอกจากนรกหรืออบายภูมิเพียงอย่างเดียว

การฆ่าตัวตายที่พระพุทธองค์ตำหนิในตามประวัติสมัยพุทธกาล โดยสมัยหนึ่ง พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงวิธีการเจริญกรรมฐานแก่เหล่าภิกษุทั้งหลาย โดยแสดงการเจริญ “อสุภกรรมฐาน” คือให้พิจารณาร่างกายเป็นของไม่สวยไม่งามเสียเพื่อที่จะได้ปลงสังเวชแก่ร่างกายไม่ยึดติดเอาความสวยงามน่าหลงใหลต่างๆ มาเป็นอารมณ์

จากนั้นพระพุทธองค์ก็ทรงหลีกเร้นไปอยู่ในป่ามหาวันเพียงรูปเดียวตลอดครึ่งเดือนเพื่อทำการพักผ่อนจิตโดยใช้หลักอานาปานสติ โดยทรงอนุญาตให้ภิกษุเฉพาะรูปที่ส่งอาหารบิณฑบาตเท่านั้นเข้าเฝ้าได้ รูปอื่นห้ามเข้าเฝ้า

ส่วนบรรดาภิกษุทั้งหลายได้พากันเจริญอสุภกรรมฐาน จนบางรูปเกิดความเบื่อหน่ายในชีวิต เพราะเห็นว่าร่างกายเต็มไปด้วยมูตรคูถต่างๆ จึงได้ฆ่าตัวเองตายไปบ้าง บางรูปก็วานให้ภิกษุอื่นช่วยฆ่าตนเองบ้าง ส่วนภิกษุอีกเหล่าหนึ่งได้จ้างวานให้คฤหัสถ์ให้ช่วยฆ่าตัวเองให้ตาย โดยให้บาตรและจีวรเป็นรางวัล ซึ่งก็ได้มีการฆ่าพระตายไปเป็นจำนวนมาก

เมื่อพระพุทธเจ้าทรงออกจากกรรมฐานพบเห็นว่ามีภิกษุเหลือน้อยลงไปเป็นอันมากจึงสอบถามก็ทราบความว่าภิกษุที่ตายไปเพราะเกิดความเบื่อหน่ายในร่างกายตนเองจึงได้พากันฆ่าตัวตายบ้าง หรือให้ผู้อื่นช่วยฆ่าตนเองบ้าง พระพุทธเจ้าทรงตำหนิการกระทำเช่นนี้เป็นอย่างยิ่งจึงบัญญัติวินัยการฆ่าผู้อื่นเป็นอาบัติปาราชิก ส่วนการฆ่าตัวเองตายเองเป็นอาบัติทุกกฎ

กรรมที่ฆ่าตัวตายด้วยจิตที่ยังเจือด้วยกิเลสถือเป็นกรรมหนักมาก และต้องมีนรก อบายภูมิเป็นที่ไปแน่นอน

ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.torthammarak.com/modules/smartsection/item.php?itemid=262

. . . . . . .