วิธีทำสมาธิเบื้องต้น โดย พุทธทาสภิกขุ
หน้าที่ 1 – จิตที่เป็นสมาธิ
บัดนี้ที่เรามานั่งอยู่ในสถานที่แห่งนี้ ในลักษณะอย่างนี้ ขอทำในใจให้ถูกต้องว่า มานั่งอยู่ในที่อันศักดิ์สิทธิ์ คือพื้นดิน พระพุทธเจ้าประสูติกลางดิน ตรัสรู้กลางดิน สอนกลางดิน อยู่กลางดิน แล้วก็นิพพานกลางดิน นั้นถือว่าแผ่นดิน เป็นที่นั่ง ที่นอน ของพระพุทธเจ้า ท่านพระพุทธเจ้าประสูติโคนต้นไม้ต้นสาละ และตรัสรู้โคนต้นไม้ ไม้อัสถะ สอนส่วนใหญ่ใต้ต้นไม้ แล้วก็นิพพานใต้ต้นไม้ บัดนี้เรามาอยู่ในสถานที่เช่นนั้น คือ ใต้ต้นไม้ และกลางดิน เอามือลูบดินดู ในใจก็ให้คิดถึงพระพุทธเจ้า จะได้เกิดความรู้สึกผิดไปจากธรรมดา ที่จะรู้จักธรรมะได้ง่ายเข้า ขอให้เข้าใจว่าไม่มีศาสดาองค์ไหน ศาสนาไหน ตรัสรู้ในโรงเรียน หรือมหาวิทยาลัย แต่ตรัสรู้กลางดิน ขอให้เสพเสนาสนะนี้เป็นพิเศษ มีจิตใจหนักแน่น เหมือนแผ่นดิน อันเป็นที่รองรับวิชาความรู้อันพึงมีพึงได้ วันนี้จะได้พูดกันถึง เรื่องการทำสมาธิ หรือวิธีการทำสมาธิ ตามที่ได้ปรารภไว้ นี่ก็เป็นเรื่องสมควรอย่างยิ่ง มีเหตุผลอย่างยิ่ง ในการศึกษา เพราะว่าการศึกษาทางรอดในพระพุทธศาสนาก็มีอยู่ ตามขั้นตอนคือ ศีล สมาธิ และปัญญา ความถูกต้องทางกาย ทางวาจา ที่ไม่มีที่ตำหนิก็เรียกว่า ศีล ความถูกต้องทางจิตที่ไม่มีอะไรให้เศร้าหมอง ก็เรียกว่า สมาธิ ความถูกต้องทางปัญญา ก็เรียกว่า ปัญญา ซึ่งเป็นสิ่งที่จะต้องศึกษากันเรื่อยไป วันนี้จะพูด เรื่องการทำ สมาธิ อันเป็นสิกขา ส่วนที่สอง เพื่อประโยชน์แก่การทำหน้าที่ทั่วๆไปด้วย และเพื่อประโยชน์ของการประพฤติธรรมในพระพุทธศาสนาด้วย
เรื่องสมาธินี่ยังได้รับความสนใจกันน้อย สนใจกันไม่คุ้มค่าที่มันเป็นสิ่งที่มีประโยชน์มาก จะด้วยเหตุใดก็สุดแท้ จึงขอบอกกล่าวว่าเป็นสิ่งที่ควรสนใจอย่างยิ่ง เพราะว่าการทำกิจกรรมใด ด้วยจิตที่เป็นสมาธินั้น ย่อมเป็นผลดีถึงที่สุดเสมอไป ถ้าในชั้นแรกนี่ ก็ให้สนใจ เรื่องสมาธินี่ เป็นสิ่งที่ธรรมชาติมอบให้มา สิ่งมีชีวิตสามารถทำสมาธิได้ ตามสมควรแก่ฐานะของตน แต่ว่าสมาธิที่ธรรมชาติมอบให้มานั้น ยังไม่พอ ต้องทำให้ถึงที่สุด อย่างคนเราพอตั้งใจจะทำอะไร มันก็มีสมาธิขึ้นมาเอง อย่างทหารจะยิงปืน มันก็เรียกสมาธิขึ้นมาเอง ขึ้นอยู่ว่า จะเรียกได้มากหรือน้อย ถ้ามาก มันก็ทำได้ดี อย่างเด็กๆจับก้อนอิฐขึ้นมาจะขว้างอะไรสักอย่างหนึ่ง มันก็เรียกสมาธิขึ้นมาเอง มันจึงขว้างถูก แต่ถ้ามันได้ฝึกสมาธิให้มากกว่านั้น มากกว่าที่ธรรมชาติให้มา มันก็ดีกว่ามาก มากหลายเท่าทีเดียว จึงจะประสบความสำเร็จ แม้แต่เรื่องอื่นๆ ถ้าทำด้วยจิตที่เป็นสมาธิก็ย่อมได้ผลดีกว่าจิตที่เลื่อนลอย ทีนี้อยากให้ทราบว่าการทำสมาธิในหน้าที่ก็มี หรือจะทำในกิจกรรมทั่วๆไปก็มี ที่ว่าทำในหน้าที่โดยตรง คือผู้นั้นมีหน้าที่ทำสมาธิ ต้องการ และตั้งใจทำสมาธิ อยู่ในที่ที่ทำสมาธิ ทีนี้ทำในที่ทั่วไป ไม่ว่าจะทำอะไรก็ทำด้วยสมาธิ ลองสังเกตให้ดี แม้จะล้างจานข้าว ถ้าล้างด้วยสมาธิ มันจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง คือล้างสะอาดที่สุด และจิตเป็นสมาธิ เป็นคุณธรรมที่จะมีเพิ่มขึ้นๆในตน แม้จะกวาดเรือน ซักผ้า ถ้าจิตที่มีสมาธิอยู่ในงานนั้น มันก็จะเป็นสมาธิ แล้วงานนั้นก็ดีด้วย เป็นว่าคนๆนั้นมีจิตใจก้าวหน้าในทางที่จะมีสมาธิยิ่งขึ้นไปในทุกกรณี ขอให้สนใจสมาธิ ไม่ใช่สำหรับคนอยู่ป่าบางคน หรือคนที่จะไปนิพพานแต่บางคน แต่มีประโยชน์ต่อทุกคน แม้ว่าจะอยู่ในโลกนี้ อยู่ด้วยจิตที่เป็นสมาธินั้น ข้อที่หนึ่งมันสบายมาก ข้อที่สองมันป้องกันกิเลส ป้องกันการฟุ้งซ่านทางจิต โรคประสาท โรคนอนไม่หลับ เป็นต้น
ขอให้สนใจสมาธิ สมกับเราผู้เป็นพุทธบริษัท นับถือพระพุทธศาสนา สิ่งใดที่ควรได้จากพระพุทธศาสนา ก็ขอให้ควรได้ จะไม่เสียทีที่เป็นมนุษย์ ได้พบกับพระพุทธศาสนา บางคนที่หงุดหงิด หรือกลุ้มใจ ก็หาวิธีแก้ด้วยเอาบุหรี่มาสูบ ยิ่งไปกว่านั้นก็เอาเหล้ามาดื่ม อันนั้นเป็นความเขลาไม่ได้แก้ความหงุดหงิดแห่งใจ เพียงแต่มันกลบเกลื่อน ปิดทับ กดเอาไว้ พอพ้นจากการกลบเกลื่อน มันก็เป็นเหตุให้แรงมากขึ้น สูบมากขึ้น ดื่มมากขึ้น หรือทำอบายมุขเพิ่มขึ้น ขอให้ใช้วิธีของพุทธบริษัท ถ้าหงุดหงิด ขอให้ไล่ไปเสีย ด้วยการทำสมาธิ ซึ่งไม่ต้องเสียค่าบุหรี่ ไม่ต้องเสียค่าเหล้า สูบมาก ควันไฟมันไปรมปอด ปอดมันเสียเร็ว มันตายเร็ว เพียงแต่ทำสมาธิ ความหงุดหงิด ร้อนใจ ไม่สบายใจใดๆ มันก็ถูกกำจัดเกลี้ยงไป นี่มันดีกว่า ไม่ต้องเสียเงิน และไม่ทำร้ายแก่ร่างกาย และจิตใจ และได้ผลดีกว่า ฉะนั้นให้มองเห็นในข้อนี้ก่อน คนธรรมดามันต้องมีความรู้สึกที่รบกวนจิตใจ ให้ใจคอไม่โปร่ง ไม่เย็น นั่นแหละมี จึงเรียกกันในวัดว่า นิวรณ์ทั้งห้า เช่นการคิดถึงเรื่องทางเพศมารบกวน มันก็อาจจะไม่ทำอะไรให้ดีได้ เขียนจดหมายสักฉบับ ก็เขียนไม่ได้ หรือความรู้สึกขัดใจอะไรอยู่ ใจก็ไม่สบาย ทำอะไรดีไม่ได้ บางทีใจเหี่ยว แฟบ มึนงง มันก็ทำไม่ได้ หรือบางทีก็ฟุ้งซ่าน จนทำอะไรก็ไม่ได้ บางทีก็ลังเล ใจแกว่ง ไปหมด อันนี้ก็ทำไม่ได้ เหล่านี้มีอยู่เป็นธรรมดาในหมู่คน เรียกว่า เครื่องรบกวนจิต หรือกั้นจิตไม่ให้รับความสงบ เราอย่าไปสูบบุหรี่ หรือ ดื่มเหล้า กระทำอบายมุข เพื่อกำจัดสิ่งเหล่านั้นเลย หรือแม้แต่ไปดูหนัง ละคร เพื่อให้ใจสบายขึ้น มันเป็นเรื่องผิดธรรมชาติ แล้วมันจะเลวร้ายยิ่งขึ้นไป ขอให้ขจัดด้วยการทำสมาธิ ด้วยวิธีที่ดีที่สุด ที่ผู้มีปัญญาไปค้นพบ ไปสอนมา เรื่อยๆมาจนถึงเราสมัยนี้ ทีนี้อยากจะทำอะไร คิดอะไร ตัดสินใจอะไร ที่ถูกต้องกว่าธรรมดา ก็จงทำสมาธิเถิด เพราะว่าเมื่อจิตเป็นสมาธิแล้วมันผ่องใส มันปลอดโปร่ง มันเห็นสิ่งทั้งหลายตามที่เป็นจริงได้ ตามหลักบาลี ที่ว่า ผู้ที่เป็นสมาธิ ย่อมเห็นสิ่งทั้งปวง ตามสิ่งที่เป็นจริง จริงแล้วมันก็ควรเห็นอยู่ตามธรรมชาตินั่นแหละ แต่มันเห็นไม่ได้เพราะมันมีสิ่งที่มาปิดกั้น ที่ว่ามาคือนิวรณ์ทั้งห้า ถ้าขจัดนิวรณ์ไปได้ มันก็เห็น หรือจะเห็นยิ่งขึ้น ก็ทำมากขึ้น และด้วยการตรัสรู้ของพระศาสดา และพระอรหันต์ทั้งหลาย รู้เห็นได้ด้วยอำนาจของสมาธิ ทีนี้ถ้าอยากจะพักผ่อน พักผ่อนมันเป็นสิ่งที่จำเป็น ถ้าพักผ่อนไม่พอ มันก็จะเป็นโรคภัยไข้เจ็บ หรือถ้าไม่ถูกวิธี มันก็อันตราย บางคนบอกว่าอยากให้จิตใจได้พักผ่อน แต่ก็ไปทำอะไรให้จิตใจพักผ่อนไม่ลง เช่น ไปดูหนัง ฟังดนตรี แท้จริงแล้วจิตไม่ได้พักผ่อน เพราะจิตต้องไปรับรู้อารมณ์ แค่ลืมอารมณ์เก่า แต่มารับอารมณ์ใหม่ นั่นไม่ใช่การพักผ่อน ถ้าอยากจะพักผ่อน จงทำสมาธิเถิด เมื่อกายระงับ กายก็พักผ่อน เมื่อจิตระงับ จิตก็พักผ่อน จะพูดเรื่อยๆไปจนถึงความสุข สิ่งที่มีความสุข ที่หาได้ทุกวัน นั้นหาได้จากสมาธิ ไม่ต้องเสียเงินซื้อหา เพียงแค่ หยุด ยุติ ทางจิต ก็เกิดการพักผ่อนลึกซึ้งแล้วรู้สึกเป็นสุข มันเป็นการหลับด้วยจิต ที่มีผลมากกว่าการหลับด้วยกาย ดังนั้นการหลับด้วยสมาธินั้น ตื่นขึ้นย่อมมีกำลังวังชาเพิ่มขึ้น มากกว่าการพักผ่อนทางกาย ถ้าพักผ่อนทางกาย แล้วจิตไม่ได้พักผ่อนอะไร ก็ไม่ได้ผลอะไร มันก็นอนสะดุ้งอยู่นั่นแหละ แม้แต่นอนหลับ แต่ภายในไม่ หยุด ก็มีฟัน ละเมอ ต่างๆนานา ดังนั้นขอให้จงทำสมาธิเถิด แล้วจะมีความสุขที่แท้จริง ไม่ใช่สุขหลอกลวง แล้วเป็นสุขที่ไม่ต้องเสียเงิน แล้วยังได้ผลได้กำไร คือเงินมันเหลือ
หน้าที่ 2 – ถึงฌาน
ทีนี้จะดูกันเรื่องต่อไป คือการทำงาน ถ้าจะทำงานใดๆให้ดีที่สุด ขอให้จิตเป็นสมาธิอยู่กับการงานนั้นๆ การงานนั้นคือหน้าที่ ที่สิ่งมีชีวิตนั้นจะต้องทำ หน้าที่นั้นหมายถึงธรรมะ แต่ธรรมะ เราไปเข้าใจว่าหมายถึง คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า นั่นมันหลับตาพูด เพราะว่า ธรรม คำนี้ มีอยู่ก่อนพระพุทธเจ้าเกิด คือหน้าที่ ที่มนุษย์จะต้องทำ สั่งสอนกันเรื่อยมา จนพระพุทธเจ้าประสูติ ก็เติมเต็มคำว่า ธรรม จนสำเร็จมรรคผลนิพพาน คนอินเดีย สอนเด็กๆว่า ธรรมะ คือหน้าที่ คือduty แต่คนไทยสอน ธรรมะ คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า มันถูกครึ่งเดียว ธรรมะคือหน้าที่ ที่จะดำรงชีวิตไว้ ลองดูใครไม่ทำหน้าที่ มันก็ตาย ไม่กิน ไม่ขับถ่าย ไม่บริหารร่างกาย มันก็ตายทั้งนั้น คำว่าหน้าที่เป็นเหมือนพระเจ้าที่ทรงชีวิตไว้ ไม่ตาย ให้เป็นสุขไว้ และเจริญ ให้ทำงาน คือทำหน้าที่ ให้พอใจในหน้าที่ เหมือนการได้ปฏิบัติธรรม มันก็สนุกและเป็นสุข มีสมาธิกับงาน มันก็ทำได้มาก เป็นสุขที่แท้จริง ไม่หลอกลวง ไม่ต้องเสียเงิน เงินทองก็เหลือเยอะแยะ ความสุขที่ว่าเอาเงินไปสถานเริงรมย์ อันนั้นไม่ใช่ความสุข มันเป็นความกระตุ้น ความเพลิดเพลิน อันหลอกลวง ยิ่งเสพติด เงินไม่พอใช้ จนต้องคดโกง ถ้าจะทำงานให้ได้ดีและมีความสุขแล้ว จงทำด้วยสมาธิเถิด ไม่มีอะไรให้เกิดความยุ่งยากลำบาก ด้วยอำนาจของสมาธิ เมื่อมีความพอใจการทำสมาธิ ก็ฝึกกันบ้าง เท่าที่ธรรมชาติมีให้เอง มันไม่พอ เราต้องรู้จักปรับปรุงสมาธิให้มากกว่าเดิม มันจะทำได้ดีกว่า แม้แต่เด็กจะยิงหนังสติ๊ก หรือทหารจะยิงปืน ถ้าทำทุกอย่างที่มีสมาธิเข้ามาเกี่ยวข้องแล้ว ย่อมทำได้ดีกว่า นี่เรียกว่าสมาธิเพื่อการงาน เป็นสมาธิทั่วไป ให้ลองสังเกตว่า ในธรรมชาติ สติ สมาธิ ปัญญา มันให้มาพอสมควรที่จะพออยู่ได้อย่างธรรมดา ทีนี้ถ้าอยากได้มาก เราก็ไปเพิ่ม ไปอบรบ อะไรก็ตาม ให้มันมากกว่าที่ธรรมชาตินั้นให้มา ทีนี้สมาธิแปลว่า ความตั้งมั่นแห่งจิต จิตธรรมดามันจะส่ายไปตามอารมณ์ แต่เมื่อจิตไม่ส่ายไปตามอารมณ์นั่นแหละ เรียกว่าจิตที่มีสมาธิ ได้หยุด ตั้ง ทับ สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่จิตกำหนด ในศัพท์สูงขึ้นทางพระพุทธศาสนา สมาธิ คือ เอกคตาจิต ที่มีนิพพานเป็นอารมณ์ แต่ให้ใช้ประโยชน์ได้คือ มีความมุ่งหมายที่จะดับทุกข์สิ้นเชิง เป็นเป้าหมายตลอดเวลา ทั้งวัน ทั้งคืน ทั้งหลับ ทั้งตื่น เอาเป้าหมายคือการดับทุกข์เป็นอารมณ์ คราวนี้พอทำแรงเข้าๆ มันก็เป็นสมาธิ แต่ในที่สุดก็ต้องกำหนดสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นอารมณ์เหมือนกัน จิตชนิดนั้นจึงมีนิพพานเป็นอารมณ์ได้เต็มที่ คราวนี้มารวมความหมายได้ว่า จิตที่เป็นสมาธิคือการกำหนดการดับทุกข์เป็นอารมณ์ กระทำ กำหนดด้วยสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่
เดี๋ยวนี้อยากเสนอวิธีการทำสมาธิ ที่อาตมาเองทำแล้วก็พอใจ เลือกแล้ว ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า อาปาณสติ เป็นสมาธิที่เหมาะสมที่สุด ที่ไม่มีความวุ่นวาย แล้วเราก็ดูพุทธประวัติ พระองค์ก็เจริญอาปาณสติ จนตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า พระองค์ก็สรรเสริญ พอใจ แนะนำอาปาณสติ คือกำหนดลมหายใจ ที่จริงจะกำหนดอารมณ์อะไรก็ได้ ในหนังสือวิสุทธิมรรค มีตั้งสี่สิบอย่าง แต่ก็ไม่มีอย่างไหนดีเท่าอาปาณสติ เพราะมันมีอยู่แล้วภายใน ถ้าจะไปกำหนดกสิณ อสุภะ หรืออะไร มันต้องไปหา ไปทำขึ้นมา กำหนดลมหายใจ จึงเป็นวิธีที่สะดวกที่สุด ประหยัดที่สุด ได้ผลที่สุด สงบ ระงับ เงียบที่สุด ธรรมดาจิตจะรู้สึกต่อต่างๆทั้งตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เปลี่ยนใหม่ให้มากำหนดที่ลมหายใจเข้า ออก เข้า ออก อยู่ เราสมมติเอาว่า มันตั้งต้นที่จมูก และสุดที่สะดือ ไม่ต้องไปเป็นวิทยาศาสตร์ จริงแท้แค่ไหน ให้เป็นแค่ความรู้สึก มีลมหายใจวิ่งอยู่ระหว่างสองจุดนี้ วิ่งเข้า วิ่งออกอยู่ระหว่างสองจุดนี้ เราจะกำหนดจิตเหมือนกับวิ่งตาม เข้าๆ ออกๆ เรียกง่ายๆว่า วิ่งตาม อย่าตั้งใจให้มาก ให้เครียดเกินไป แล้วก็อย่าปล่อยจิตใจให้หลวมเกินไป พอดีๆมันจะกำหนดได้ ถ้ากำหนดยาก ก็หายใจให้มีเสียง ให้เสียงมันช่วยอีกแรงหนึ่ง เข้า ออก เข้า ออก จิตเกาะอยู่แต่ลมหายใจ ไม่ได้วิ่งไปทิศทางไหน อย่างนี้ก็เริ่มเป็นสมาธิในชั้นต้น บางคนทำ แล้วไม่ได้ ก็เลิก เหนือวิสัยของเขา เรียกว่า คนโง่ จะต้องพยายาม พยายาม พยายาม มันจนได้ ไม่ได้ยากเย็นอะไร ถ้าเหลว พลาด จิตไปอยู่ที่อื่น ก็ทำใหม่ ไม่เห็นจะมีอะไร ขอให้คิดว่า มันเป็นอย่างนั้นเอง ไม่ใช่ว่าเราไม่มีบุญ มันเหนือวิสัยที่จะทำได้ อย่างนั้นมันโง่ มันก็ทำได้เอง เปรียบเทียบเหมือนขี่จักรยาน ใครบ้างที่จับครั้งแรก แล้วขี่ได้เลย มันก็ต้อง จับ ขี่ แล้วล้ม แล้วก็จับ ขี่ ใหม่ ล้มอีก ล้มมากแล้ว มันก็จะล้มยาก จนขี่ได้ จะปล่อยมือก็ได้อีก เปรียบได้อย่างนี้ ถ้าพลาด ก็ทำใหม่ หายใจให้แรงขึ้นๆ พอละเอียด แล้วก็ผ่อนลงๆ จนเหมือนไม่ได้หายใจแต่ยังกำหนดได้ เพียงเท่านี้จิตใจก็สงบลง คุ้มค่าแล้ว ทีนี้ก็ทำต่อไป ยากขึ้นมาหน่อย ไม่ได้วิ่งตามแล้ว ให้เฝ้าดูอยู่ที่จุดใดจุดหนึ่ง จุดที่เหมาะสมอยู่ที่จะงอยจมูกนั่นเอง เป็นจุดผ่านเข้า จุดผ่านออก อยู่ที่จุดเดียว ไม่ต้องวิ่งตาม เพียงแค่นี้มันก็สงบ ระงับ กว่าธรรมดา แล้วต่อไปให้กำหนดจุดนั้นให้มันมีดวง จะสีขาว สีแดง ใส อย่างไรก็ได้ ถ้ารักษาภาพ หรือดวงอันนั้นไว้ได้ ก็เรียกว่า สูงขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง ละเอียด ประณีต สงบ ระงับ มากขึ้นอีกชั้นหนึ่ง ถ้าสร้างนิมิตดวงนั้นได้แล้ว อย่างนี้ ก็เลื่อนขึ้นไปถึงขั้นที่ว่า บังคับ ให้รูปนั้นเปลี่ยนสี ขนาด อิริยาบถ เช่นว่า ดวงขาวนี้ใหญ่ไป ก็ให้เล็กลง ลอยไป ก็ให้ลอยกลับมา น้อมจิตไปอย่างไร ก็เห็นภาพอย่างนั้น นี่เรียกว่า ขั้นละเอียด แล้วก็กำหนดว่าจะเอาอย่างไหน ภาพไหน เป็นอารมณ์ถาวร เพื่อเอาไว้เป็นที่ตั้งแห่งจิต และทำให้เกิดความรู้สึกว่า เคยชินว่า กำหนดอารมณ์คือวิตก พิจารณาอารมณ์คือ วิจารณ์ ปิติพอใจที่ทำสำเร็จ มีความสุขในขณะนั้น และเอกคตา คือจิตมีอารมณ์เดียวอย่างนั้น อย่างนี้เรียกว่าถึงสมาธิขั้นฌาน อรูปฌาน ทำต่อไปจนลดนิวรณ์ทั้งห้าอย่างนั้น จนถึงทุติยฌาน ตติยฌาน จตุฌาน แต่เราอย่าไปพูดถึงขั้นนั้นเลย เพราะมันยังลึกไปสำหรับคนธรรมดาทั่วไป เอาเป็นว่าสมาธิขั้นไหนที่ท่านขจัดอารมณ์อันเลวร้ายออกไปได้ก็พอ ที่จริง แค่วิ่งตาม วิ่งตามลมเข้าออกๆ อยู่ได้เป็นชั่วโมง ก็ถือว่ามากหน่อย เดี๋ยวนี้จิตมันอยู่ใต้อำนาจของเรา เราบังคับให้รู้สึกอยู่อย่างนี้อย่างเดียว มันทำได้ นี่ก็เป็นสมาธิ ที่เกินกว่าที่คนธรรมดาจะเป็นได้เอง ทำไปๆ จากขั้นต้น ถึงฌาน เรียกว่า อุตริมนุษยธรรม คือการปฏิบัติเกินกว่าวิสัยคนธรรมดาที่ทำกันอยู่ นี่คือการเป็นสมาธิ นี่ก็ขอให้ลองทำดู เดี๋ยวมันชอบเอง จนทำเป็นนิสัย อย่าคิดว่าคำนี้ ทำเพื่อให้มีฤทธิ์ มีเดช มี ปฎิหาร เหาะได้ หรือว่ามีหูทิพย์ ตาทิพย์ ล่องหน อย่าไปคิดดีกว่า เพราะว่าอันนั้นไม่มีประโยชน์อะไร มันมีประโยชน์ที่เย็น เป็นนิพพาน นิพพานน้อยๆ นิพพานล่วงหน้า นิพพานตัวอย่าง ในสมัยพุทธกาล มีปรากฏว่า มีคนหลงว่านิพพาน เป็นฌาน แล้วก็มี มันยังไม่ใช่นิพพานโดยสมบูรณ์ แต่มันได้รับรสที่คล้ายกัน เป็นนิพพานตัวอย่าง มันเย็นกว่าชีวิตธรรมดามาก เดี๋ยวนี้เราต้องการชีวิตที่เย็น ไม่ร้อน มีจิตใจชนิดที่ว่าไม่มีนิวรณ์มารบกวน อยากให้เข้าใจต้องรู้เรื่องนิวรณ์นี้ก่อน นิวรณ์ทั้งห้ามันมีประจำกับทุกคน ทุกหนทุกแห่ง คือความคิดโน้มเอียงไปทางกามารมณ์ ทางพยาบาทโกรธแค้น จิตเหี่ยวแฟบมึนงง จิตฟูฟุ้งซ่าน แล้วก็จิตลังเล ทั้งห้าอย่างนี้มีกันทุกคน แต่ไม่เคยมีใครรังเกียจ นิวรณ์เหล่านี้จะทำให้ไม่เป็นสุข ไม่ได้ดี ขับไล่ได้ด้วยสมาธิ เป็นสุขภาพทางจิตอย่างยิ่ง ดีขึ้น แล้วก็มีศีล สมาธิ แล้วก็ปัญญาดีขึ้น
เอาเป็นว่าได้บอกได้ทราบถึงเรื่องสมาธิ และเป็นเรื่องที่ควรจะพยายาม แล้วมันจะสอนให้จนทำได้ อย่าไปหวังให้คนด้วยกันสอน แต่ให้หวังด้วยการกระทำมันสอน การล้มนั่นแหละมันสอน ทำไม่ได้มันสอน แล้วมันก็จะทำได้ เช่นพายเรือ มีแต่คนบอก มันก็หันไปหันมา แต่ถ้าทำไปมันก็สอน จนกว่าจะพายเรือได้ตรง กินเวลาหลายวันเหมือนกัน การทำสมาธินี้ อย่าคิดหวังผู้ใดผู้หนึ่งมาช่วยสอน ให้พยายามเรื่อยไป ทีนี้การทำสมาธินั้น จะสะดวกในอิริยาบถนั่ง นั่งชนิดที่คู้ขาเข้ามาหาตัว เรียกว่าคู้บัลลังก์ มันก็จะรับน้ำหนักรอบด้าน ไม่ล้ม เพราะมีฐาน เหมือนปิรามิดสามเหลี่ยม ที่เรียกว่า ขาขวาทับขาซ้าย นั่นก็แล้วแต่จะนั่ง นั่งให้ตัวตรง คือกระดูกสันหลังเหยียดตรง ทำให้ร่างกายสบาย เลือดลมสะดวก แล้วก็เริ่มกำหนด หายใจผ่านเข้า ผ่านออก ตามลำดับจากวิ่งตาม จนสำเร็จ จนมีนิมิตที่เป็นดวงกลมบ้าง น้ำค้างบ้าง ที่บริเวณจะงอยจมูก จิตได้รับการฝึกฝนจนสร้างนิมิต ที่ไม่ใช่ของจริงขึ้นมาได้ บังคับจิตให้ทำได้ ก็เป็นสมาธิสูงถึงเพียงนี้ เมื่อสมาธิ เป็นสมาธิ ยังไม่ได้พูดถึง วิปัสสนา ที่จะเห็น อนิจจา ทุกขัง อนัตตา ซึ่งมันเป็นอีกขั้นตอนหนึ่ง จิตอยู่ในอำนาจที่บังคับได้อยู่อย่างนี้ ถ้านอนไม่หลับ ก็ให้ทำสมาธิ หรือจะทำอะไรก็ตาม ถ้าเป็นสมาธิจะทำได้ดี เป็นสิ่งโบราณสืบต่อกันมา เป็นวัฒนธรรม สมัยอาตมาเป็นเด็กๆ เห็นเด็กๆด้วยกัน มันทำตามกันมา เวลาจะขึ้นต้นไม้ มันหลับตา พนมมือ ทำสมาธิในใจก่อนที่มันจะขึ้นต้นไม้ หรือมันจะกระโดดลงน้ำ มันก็พนมมือ คนโบราณเขาทำกันอย่างนี้ ถึงรอดตัวมาได้ ขอให้สนใจ รับเอาไป ไปทำให้ได้ ในฐานะเป็นเรื่องของมนุษย์ที่มีความเจริญทางด้านจิตใจ หรือจะเป็นพุทธบริษัท ที่แท้จริง แล้วจะทำอะไรก็ดีทุกอย่าง แล้วมันจะเป็นคนที่มีจิตมั่นคง เข้มแข็ง มีสมาธิ จะก้าวเดิน ก็ให้มีสมาธิในแต่ละก้าว จะนั่ง จะยืน จะนอน ให้มีสมาธิในทุกอิริยาบถ ถือว่ามีสติอยู่ทุกอิริยาบถที่มันจะเปลี่ยน อาตมาได้บรรยายประโยชน์และวิธีการทำสมาธิในเบื้องต้น ให้เป็นที่เข้าใจพอสมควรที่จะไปฝึกฝนด้วยตนเองได้แล้ว ก็ขอยุติการบรรยายไว้เพียงเท่านี้ก่อน
http://www.vcharkarn.com/varticle/16394