ชีปะขาวปรากฏในนิมิต นำมงกุฎใส่พานมาถวาย (ครูบาเจ้าชุ่ม วัดชัยมงคล (วังมุย) )

ชีปะขาวปรากฏในนิมิต นำมงกุฎใส่พานมาถวาย

ค่ำคืนหนึ่ง ในบรรยากาศอันวิเวกของป่าช้าวัดหนองบัวคำ ลมพัดเอื่อยๆ เย็นสบาย หลังจากที่ครูบาเจ้าชุ่มได้ทำกิจวัตรส่วนตัวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ท่านก็ได้เข้าสู่กลด เพื่อนั่งสวดมนต์ไหว้พระทำจิตเข้าถึงพระไตรสรณคมน์ รำลึกถึงแก้วสามดวงอันประเสริฐเป็นสรณะ และจากนั้นจึงได้เจริญสมาธิภาวนาตามแนวที่ได้ศึกษามาจากครูบาอาจารย์ ท่านรู้สึกจิตสงบดิ่งดีมาก ขณะที่ครูบาเจ้าชุ่มกำลังนั่งสมาธิ ฉับพลันนั้น ก็ได้ปรากฏนิมิตเห็นชีปะขาว 5 ตน นำมงกุฎใส่พานมาถวายท่าน ในนิมิตท่านก็ได้ให้ศีลให้พร และแผ่เมตตาให้ หลังจากนั้น ชีปะขาวทั้ง 5 ตน ก็ได้กราบลาจากไป เมื่อครูบาเจ้าชุ่ม ถอนจิตออกจากสมาธิ รู้สึกจิตชุ่มชื่นดี สังเกตว่าเป็นเวลาตี 4 พอดี

ท่านครุ่นคิดถึงนิมิตเมื่อคืน รู้สึกว่าจะเป็นนิมิตที่มีความหมายดี ในคืนต่อมา ครูบาเจ้าชุ่มก็ได้เข้าสมาธิเจริญพระกรรมฐานอีกตามปกติ ก็เห็นนิมิตเช่นเดียวกับคืนก่อน โดยมีชีปะขาวนำมงกุฎใส่พานมาถวายท่านอีก แต่คราวนี้มาเพียง 4 ตนเท่านั้น ครูบาเจ้าชุ่มท่านก็ได้ให้ศีลให้พรไปเช่นเดิม และถอนจิตออกจากสมาธิ เป็นเวลาตี 4 เช่นคืนก่อน

ในคืนที่ 3 อันเป็นคืนวันเพ็ญ พระจันทร์ส่องแสงนวล ทำให้ป่าช้าที่เคยทึบทึมมืดมิด แลดูสว่างขึ้น ครูบาเจ้าชุ่มได้เข้าสมาธิอีก ปรากฏว่าในคืนนี้ ท่านเกิดนิมิตไม่เหมือน 2 คืนแรก โดยคืนนี้ได้นิมิตเห็นต้นมะม่วงใหญ่ มีลูกดกมากและมีกลิ่นหอมหวานยิ่งนัก บนต้นมะม่วงมีฝูงลิง และชะนีมาเก็บกินกันมากมาย ต่อมา ปรากฏมีลิงแก่รูปร่างสูงใหญ่ตัวหนึ่ง ออกมาไล่ฝูงลิงและชะนีที่มาเก็บผลมะม่วงกิน หลังจากถอนออกจากสมาธิ ก็เป็นเวลาตี 4 เช่นคืนก่อน ๆ

ตอนสาย กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน พร้อมด้วยชาวบ้าน ได้พากันมาหาครูบาเจ้าชุ่มยังสถานที่ที่ท่านปักกลดอยู่ ท่านจึงได้บอกเล่าให้ชาวบ้านทราบว่า ท่านปรารถนาจะบูรณะซ่อมแซมองค์พระบรมธาตุดอยเกิ้งนี้ และถาวรวัตถุที่จำเป็นบางอย่างในอาณาบริเวณพระบรมธาตุ จึงขอให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ไปบอกกับทางอำเภอด้วย ต่อมาเมื่อได้ร่วมประชุมกัน จึงทำให้เห็นอุปสรรคใหญ่ คือการบูรณะพระบรมธาตุเห็นจะทำได้ยาก เนื่องจากขาดแคลนแหล่งน้ำ ในสระน้ำก็ไม่มีน้ำเลย การที่จะทดน้ำจากแหล่งอื่นเข้ามาเก็บไว้ในสระน้ำ ก็ลำบากยากยิ่ง โดยลำห้วยที่จะทดน้ำได้นั้นก็อยู่ไกลออกไปถึงขนาดต้องข้ามภูเขาถึง 4 ลูก แต่ครูบาเจ้าชุ่มท่านยังยืนยันที่จะบูรณะองค์พระบรมธาตุดอยเกิ้งให้กลับมาสมบูรณ์ดังเดิมให้จงได้

ครูบาเจ้าชุ่มจึงได้ให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และชาวบ้าน ร่วมกันตั้งจิตอธิษฐานขอให้การดำเนินงานนี้จงสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ขออย่าให้มีอุปสรรคใดๆ มาขัดขวางได้เลย ปรากฏว่าการทดน้ำจากลำห้วยที่ต้องผ่านภูเขาถึง 4 ลูกนั้น สามารถกระทำได้โดยไม่มีอุปสรรคใดๆ เลย สามารถทดน้ำมาเก็บไว้ในสระได้ราวปาฏิหาริย์ ครูบาเจ้าชุ่มได้นั่งหนัก (เป็นประธาน) อยู่บูรณะซ่อมแซมองค์พระบรมธาตุดอยเกิ้งจนสำเร็จเรียบร้อย ด้วยความร่วมแรงร่วมใจของชาวเขา ชาวบ้านใกล้ไกล การบูรณะพระบรมธาตุในครั้งนี้กินเวลา 45 วันจึงแล้วเสร็จ

ส่วนการสร้างถนนขึ้นสู่พระบรมธาตุนั้น ได้รับการขัดขวางจากเจ้าคณะตำบล โดยอ้างเหตุผลว่า แม้แต่ท่านครูบาศรีวิชัยก็ยังไม่สร้างถนนขึ้นพระบรมธาตุ ฉะนั้นจึงยังไม่สมควรสร้าง เมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้น ทางฝ่ายกรรมการอำเภอเห็นว่าครูบาเจ้าชุ่มเป็นผู้มีบุญบารมีมาโปรด ก็ควรให้ท่านอยู่เป็นประธานสร้างต่อไป และได้ขอร้องท่าน โดยบอกว่าเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายจะร่วมมือกับท่าน แต่ครูบาชุ่มได้พิจารณาแล้วเห็นว่า หากทำการสร้างถนนต่อไป ก็จะเกิดปัญหาขัดแย้งกับเจ้าคณะตำบลเป็นแน่ จึงได้ประกาศให้ชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมืองทราบว่า จะระงับการก่อสร้างถนนขึ้นสู่พระบรมธาตุไว้ก่อน จนกว่าจะถึงเวลาอันสมควร

http://www.dharma-gateway.com/monk/monk_biography/kb-choom-photigo/kb-choom-hist-01-01.htm

. . . . . . .