พระธรรมเทศนา หลวงปู่แหวน สุจิณโณ

พระธรรมเทศนา
หลวงปู่แหวน สุจิณโณ

เอามรรคที่เกิดขึ้นจากกาย จากใจ น้อมเข้าหาตน น้อมเข้ามาในกาย น้อมเข้ามาในใจ ให้รู้แจ้งเห็นจริงในใจนี่แหละ อย่าไปยึดไปถือที่อื่น ให้แจ้งอยู่ในกายนี้ ให้แจ้งอยู่ในใจนี้ จะหลงจะเขวไปอย่างไรก็ตามพยายามดึงเข้ามาจุดนี้น้อมเข้ามาหากายนี้ น้อมเข้ามาหาใจนี้ เอาใจนี่แหละนำออก หลักมีเท่านี้แหละ…

ถ้าออกจากกายใจแล้ว เขวไปแล้ว หลงไปแล้ว น้อมเข้ามาสู่กายสู่ใจแล้วก็ได้หลักใจดี ธรรมะก็คือการรักษากาย รักษาใจ น้อมเข้ามาหากาย น้อมเข้ามาหาใจนี่แหละ…

ศีล ตั้งอยู่ในกายนี้แหละ ตั้งอยู่ในวาจานี้แหละ และตั้งอยู่ในใจนี่แหละ ให้น้อมเข้ามา จึงรู้และตั้งหลักได้ ถ้าออกไปจากนี้มักหลงไป…

เอาอยู่ในกายในใจนี้ น้อมเข้ามาสู่อันนี้ นำหลงนำลืมออกไปเสีย เอาให้เป็นปัจจุบัน เอาจิตเอาใจนี้ละ วางถอดถอนออก ทางกายก็น้อมเข้ามาให้รู้แจ้งทางกาย น้อมเข้ามาหาใจของตนนี้ให้แจ่มแจ้ง ถ้าไปยึดถือเอาอย่างอื่น ก็เป็นเพียงสัญญา ความจำ น้อมเข้ามารู้แจ้งในใจของตนนี้ รู้แจ้งในกายของตนนี้ นอกจากนี้เป็นแต่เพียงอาการของธรรม…

ยกขึ้นสู่จิต น้อมเข้ามาหาจิตหาใจนี้ ความโลภ ความหลง ความโกรธ กิเลส ตัณหา ก็เกิดขึ้นที่นี่แหละ ต้องน้อมเข้ามาสู่จุดนี้ ถ้าน้อมเข้าหาจุดอื่นเป็นแผนที่ปริยัติธรรม รู้กายรู้ใจแจ่มแจ้งแล้ว นอกนั้นเป็นแต่อาการ บางทีไปจับไปยึดสิ่งนั้นสิ่งนี้ก็ทำให้ลืมไป…

ทำให้แจ้งอยู่ในกาย แจ้งอยู่ในใจ มีสติสัมปชัญญะ สติสัมโพชฌงค์ สัมมาสติ ก็อันเดียวกันนี่แหละให้พิจารณาอยู่อย่างนี้ อาศัยความเพียร ความมั่น…

คำว่า สติ รู้ในปัจจุบัน สัมปชัญญะ ก็รู้ในปัจจุบัน รู้ในตน รู้ในใจเรานี้แหละ รู้ในปัจจุบัน รู้ละความโภล ความโกรธ ความหลง ราคะ กิเลส ตัณหา เหล่านี้ละออกให้หมด ละออกจากใจ ละอยู่ตรงนี้แหละ สติ ถ้าได้กำลังใจแล้วก็สว่าง…

ตั้งจิตตั้งใจกำหนดเบื้องต้น คือ การกำหนดจิตหรือกำหนดศีล ทำให้กายก็บริสุทธิ์ วาจาก็บริสุทธิ์ กำหนดนำความผิดออกจากกายจากใจของตน…
เมื่อกายวาจาใจบริสุทธิ์ สมาธิก็บังเกิดขึ้น รู้แจ่มแจ้งไปหาจิตหาใจ กายนี้ก็รู้แจ้ง รู้แจ้งในกายในใจของตนนี้…

สติปัฎฐานสี่ สติมีเพียงตัวเดียว นอกนั้นท่านจัดไปตามอาการ แต่ทั้งสี่มารวมอยู่จุดเดียว คือ เมื่อสติกำหนดรู้กายแล้ว นอกนั้น คือ เวทนา จิต ธรรม ก็รู้ไปด้วยกันเพราะมีอาการเป็นอย่างเดียวกัน…

อาการทั้ง ๕ คือ อนิจจัง ทั้ง ๕ ทุกขัง ทั้ง ๕ อนัตตา ทั้ง ๕ เป็นสิ่งไม่ยั่งยืน เราเกิดมาอาศัยเขาชั่วอายุหนึ่ง อนิจจังทั้ง ๕ ทุกขังทั้ง ๕ อนัตตาทั้ง ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มันก็สิ้นไปเสื่อมไป เราอาศัยเขาอยู่เพียงอายุหนึ่งเท่านั้น เมื่อรูปขันธ์แตกสลายมันก็หมดเรื่องกัน…

การประพฤติปฏิบัติในปัจจุบันสมมติกันให้ได้ชั้นนั้นบ้างชั้นนี้บ้าง อันนั้นมันเป็นสมมติ แต่ธรรม เช่น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นสิ่งไม่เที่ยง ก็เป็นอยู่อย่างนั้น อนิจจังทั้ง ๕ ก็เป็นอยู่อย่างนั้น รูปัง อนิจจัง, เวทนา อนิจจา, สัญญา อนิจจา, สังขารา อนิจจา, วิญญาณัง อนิจจัง ก็เป็นอยู่อย่างนั้น เรามาอาศัยเขา สัญญาเราก็ไหลไปตามเวลา ดิน น้ำ ลม ไฟ สลายจากกันแล้วก็ยุติลง…

ส่วนจิตเป็นผู้รู้ เมื่อละสมมติวางสมมติได้แล้ว ก็เย็นต่อไป กลายเป็นวิมุติความหลุดพ้นไป เพราะสมมติทั้งหลายวางได้แล้วก็เป็นวิมุตติ แต่ถ้าเอาเข้าจริง ๆ แล้วมักจะหลง ถ้าเราตั้งใจเอาจริง ๆ พวกกิเลสก็เอาจริง ๆ กับเราเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ต้องอาศัยความหมั่น ความเพียร ไม่ท้อถอย ถ้าละพวกกิเลสตัณหาได้แล้วก็เย็นสงบสบาย…

ถ้าจิตปรุงแต่งเป็นอดีต-อนาคตไป เราก็ต้องเพ่งพิจารณา เพราะอดีตก็เป็นธรรมเมา อนาคตก็เป็นธรรมเมา จิตที่รู้ปัจจุบัน เป็นธรรมโม…

อาการทั้ง ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นอนิจจังให้ยืนอยู่ในปัจจุบันธรรม อดีต-อนาคตเป็นธรรมเมา ธรรมโม คือ เห็นอยู่ รู้อยู่ในปัจจุบัน ตั้งอยู่ในปัจจุบัน ไม่ได้เป็นอดีต-อนาคต ดับทั้งอดีต-อนาคต แล้วเป็นปัจจุบัน คือ ธรรมโม…

ให้จิตรู้อยู่ส่วนกลาง คือ สิ่งที่ล่วงไปแล้วเป็นอดีต ยังมาไม่ถึงเป็นอนาคต ไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง ส่วนทั้งสองอย่างนั้นให้เพ่งพินิจ คือเราอยู่ปัจจุบันธรรมจึงจะถูก เพราะปัจจุบันเป็นธรรมโม นอกจากนั้น อดีต-อนาคตเป็นธรรมเมา

รู้ปัจจุบันละปัจจุบันเป็นธรรมโม ถ้าไปยึดถืออดีต-อนาคตเท่ากับไปเก็บไปถือของปลอม ธรรมเหล่านี้เป็นปัจจัตตัง รู้เฉพาะตนละเฉพาะตน วางเฉพาะตน หมุนเข้าหากายหาใจนี่แหละ ถ้ามัวเอาอดีต-อนาคตจะกลายเป็นแผนที่ไป…

แผนที่ปริยัติธรรมจำมาได้มากจึงไปยึดไปถืออย่างนั้นบ้าง สิ่งนี้บ้างทั้งอดีต-อนาคต ทำให้ยิ่งห่างจากการรู้กายรู้ใจของเรา ความโลภ ความโกรธ ความหลง ก็กลายเป็นเชื้อของกิเลสที่อยู่ในแผนที่ใบลานแต่ไม่เดือดร้อน ถ้าหากมาอยู่ในใจจะทำให้เดือดร้อน เพราะฉนั้นถ้าเกิดขึ้นในใจ ให้เอาใจละ เอาใจวาง เอาใจออก เอาใจถอน ปัจจุบันเป็นอย่างนี้ ไม่ใช่จำปริยัติได้มาก พูดได้คล่อง เวลาเอาจริง ๆ ก็ไม่รู้จะจับอันไหนเป็นหลัก ปัจจุบันธรรมต้องรู้แจ้งเห็นแจ้งในกายใจของตน ต้องละวางถอดถอนในปัจจุบัน จึงจะใช้ได้…

ความโลภ ความโกรธ เกิดขึ้นในใจ น้อมเข้ามาแล้วละให้หมด ราคะ, กิเลส, ตัณหา, หากเกิดขึ้นมาต้องละเสีย เรื่องของสังขารก็ปรุงแต่งแล้วเกิดขึ้นดับลง เกิดขึ้นดับลง เอารู้เฉพาะปัจจุบัน อดีต-อนาคตวางไปเสีย อดีต-อนาคตเป็นธรรมเมา ปัจจุบันเป็นธรรมโม อันนี้ถือให้มั่น ๆ…

ความปฏิบัติเพ่งความเพียร เร่งเข้า ๆ ก็ทำให้ค่อยแจ่มแจ้งไปเอง ถ้าจิตเป็นอดีต-อนาคต ต้องวางเสีย เอาเฉพาะปัจจุบัน…

ความโลภ ความโกรธ ความหลง มักจะเกิดขึ้นบ่อยครั้ง เราต้องพิจารณาค้นเข้าหาใจว่าเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ทั้งนี้ก็เพราะจิตมักจะเก็บอดีต-อนาคตมาไว้ ทำให้แส่ส่ายไปตามอาการ ให้เอาเฉพาะปัจจุบันเป็นธรรมโม แล้วน้อมเข้ามาให้ได้ กำลังทางด้านจิตใจ ละวางอดีต-อนาคต อันเป็นส่วนธรรมเมา แล้วเพ่งพินิจเฉพาะธรรมโม…

รักษากายให้บริสุทธิ์ รักษาวาจาให้บริสุทธิ์ รักษาใจให้บริสุทธิ์ น้อมเข้าหาใจ ให้รู้แจ้งใจนี้ กายก็ให้รู้แจ้ง ให้รู้แจ้งกายใจ จนละได้ วางได้ เพ่งจนเป็นร่างกระดูก ทำได้อย่างนี้ก็พอสมควร เอาให้มันรู้แจ้งเฉพาะกายใจนี้ ไม่ต้องเอามาก ถ้าเอามากก็มักไปยึดเป็นอดีต-อนาคตไปเสีย ข้อนี้สำคัญเกิดขึ้นแล้วก็ดับ เกิดขึ้นแล้วก็ดับตัวสัญญา…

ตั้งหลักไว้ อดีต-อนาคตเป็นธรรมเมา ปัจจุบันเป็นธรรมโม ระลึกไว้เสมอว่า ดับ ละ วาง ในปัจจุบัน จึงเป็นธรรมโม เมื่อจิตอยู่ในปัจจุบันธรรม แต่ถ้าหากอดีต-อนาคตเกิดขึ้นแล้วก็ต้องดับลงไป…

ต้องหมั่นต้องพยายามเข้าหาจุดของจริง อดีต-อนาคต-ปัจจุบัน สามอย่างนี้แหละเป็นทางเดินของจิต ความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะ กิเลส ตัณหา ก็เกิดขึ้นในใจนี้แหละ แสดงออกจากใจนี้ ให้น้อมเข้ามา ๆ ถึงอย่างนั้นกิเลสทั้งหลายก็ยังทำลายคุณความดีได้เหมือนกัน แต่ถ้ามีสติความชั่วเหล่านั้นก็ดับไป…

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=24628

. . . . . . .