พระขี่ม้าบิณฑบาต
ที่มาของการขี่ม้าบิณฑบาต
จากเดิมที่พระครูบาเหนือชัยเดินขึ้นลงเขาเพื่อรับบาตรจากญาติโยม ได้ฉันบ้าง ไม่ได้ฉันบ้าง ด้วยหนทางที่ห่างไกลกว่าท่านจะเดินถึงวัดก็เลยเวลาฉันเพล ชาวบ้านจึงสงสารนำม้ามาถวายเพื่อให้ท่านใช้เป็นพาหนะในการเดินทาง ซึ่งม้าดังกล่าวเป็นม้าที่มีลักษณะดี ร่างกายกำยำ พระครูบาจึงตั้งชื่อให้ว่า ‘ม้าอาชาทอง’ และใช้ชื่อดังกล่าวเป็นชื่อวัดด้วย จึงเป็นที่มาของ ‘วัดป่าอาชาทอง’ และพระขี่มาบิณฑบาต ซึ่งสร้างความแปลกใจจนกลายเป็นหนึ่งใน ‘Unseen Thailand’ เมื่อท่านมีม้าเป็นพาหนะจึงทำให้การบิณฑบาตและเดินทางเผยแผ่ธรรมะได้รับความสะดวกมากขึ้น แม้พระครูบาจะต้องขี่ม้าเป็นระยะทางไม่ต่ำกว่า ๕ กิโลเมตรเพื่อรับบาตรจากสาธุชนผู้มีจิตศรัทธา
“บางครั้งอาหารที่ได้มาตกหล่นไปกว่าครึ่ง เพราะเวลาม้าควบตะบึงไปตามทาง มันคดโค้ง ขรุขระ ของก็กระเด้งกระดอนหล่นหมด พระครูบาท่านทนร้อนทนหนาวข้ามเขาลูกแล้วลูกเล่า เพื่อนำอาหารที่เหลือจากฉันไปแจกจ่าย
ให้ชาวเขาเพราะพวกนี้ยากจนมาก ท่านก็เผยแผ่ธรรมะไปด้วย ท่านก็ไม่เคยบ่นไม่เคยท้อนะ ท่านอยากให้ชาวบ้าน
มีความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรม” สุทธิพงศ์ ชุติมากุลทวี ผู้ประสานงานของวัดป่าอาชาทอง หนึ่งในลูกศิษย์ที่ติด
ตามรับใช้พระครูบาเหนือชัยมาตลอด เล่าถึงภารกิจของพระครูบา
เนื่องจากชาวเขาส่วนใหญ่นับถือผีและเป็นคริสต์ศาสนิกชนตามคำแนะของฝรั่งที่เข้าไปช่วยพัฒนาความเป็นอยู่ ชาวบ้านจึงไม่เข้าใจการเผยแผ่ธรรมะของพระครูบาเหนือชัย บางครั้งท่านถูกชาวเขาหลายสิบคนรุมทำร้าย แต่ก็รอดมาได้ด้วยบุญบารมีและวิชาหมัดมวยที่ท่านร่ำเรียนมา ด้วยปณิธานของท่านที่ต้องการดึงชาวเขาที่หลงผิดไปค้ายาและรับจ้างขนยาตามแนวตะเข็บชายแดนไทย-พม่าให้หันมาประกอบสัมมาอาชีพ และเป็นแนวร่วมในการดูแลรักษาผืนแผ่นดินไทย พระครูบาจึงเมตตาให้ความช่วยเหลือทุกคนที่เดือดร้อนไปพร้อม ๆ กับการอบรมธรรมะ
“ชาวเขาส่วนใหญ่จะรับจ้างขนยา แล้วพวกนี้ก็เสพยาเองด้วย เด็กอายุแค่ ๑๐ ขวบก็ติดยาแล้ว ติดกันทั้งหมู่บ้าน ฝิ่น เฮโรอีน ยาบ้า มีหมด ครูบาท่านมองว่าปล่อยให้เป็นอย่างนี้ต่อไปไม่ได้แล้ว ท่านก็พยายามเอาชาวเขามาเรียนหนังสือ มาฝึกอาชีพ สอนมวยไทยให้เด็ก ๆ พอโตหน่อยพวกนี้ก็ไปรับจ้างแสดงในเมือง มีรายได้ขึ้นมา ใครมาวัดก็ให้ข้าวของติดมือกลับไป แล้วก็สอนธรรมะไปด้วย สอนว่ายาเสพติดมันไม่ดี หลัง ๆ ชาวบ้านก็เลิกเสพเลิกค้าไปเยอะจนขุนส่าเริ่มไม่พอใจ ก็มาดูตัว มาคุยกับพระครูบา แต่สุดท้ายราชายาเสพติดอย่างขุนส่าก็ยอมรับในตัวครูบา และขอให้ท่านไปอยู่ที่เมืองยอน ซึ่งเป็นเมืองของพวกว้าแดง เขาจะสร้างวัดให้ แต่ครูบาท่านไม่ไป ท่านบอกท่านเป็นคนไทยจะอยู่และตายบนผืนแผ่นดินไทย” สุทธิพงศ์ เล่าถึงช่วงวิกฤตที่ครูบาเหนือชัยรับมือกับขุนส่า
พระครูบาเหนือชัยพยายามดึงชาวบ้านเข้ามาร่วมในกิจกรรมของวัด โน้มน้าวให้ชาวเขาส่งลูก ๆ มาบวชเรียน มีการมีการสอนหนังสือให้แก่ชาวเขาทั้งเด็กและผู้ใหญ่ โดยท่านเป็นผู้เลี้ยงดูอาหารการกินทั้งหมด ชาวบ้านที่มาเรียนหนังสือ มาฟังธรรมะ หรือช่วยงานวัด นอกจากจะได้รับความรู้และข้อคิดคุณธรรมต่าง ๆ แล้ว ยังได้ข้าวปลาอาหาร รวมถึงข้าวของเครื่องใช้กลับไปบ้านด้วย ข้าวของที่ญาติโยมถวายมานั้นพระครูจะแจกจ่ายให้เกือบหมด เหลือไว้้ให้พระเณรที่วัดเพียงเล็กน้อยเท่านั้น หากหมู่บ้านใดอยู่ไกล ไม่สะดวกที่จะเดินทางมาที่วัดท่านและลูกวัดก็จะขี่ม้าข้ามเขานำข้าวของไปให้
ด้วยคุณธรรมของท่านทำให้ผู้มีจิตศรัทธานำข้าวของและม้ามาถวายให้ท่านเป็นจำนวนมาก ด้วยต้องการสนับสนุนการเผยแผ่ธรรมะของท่าน จากสถานปฏิบัติธรรมเล็ก ๆ ปัจจุบันวัดป่าอาชาทองจึงมีวัดสาขาถึง ๑๐ วัด มีม้าถึง ๑๐๐ กว่าตัว มีโค-กระบือ ๑๐ ตัว มีคนงานชาวเขาทั้งเด็กและผู้ใหญ่ถึง ๖๐ คน ซึ่งม้าดังกล่าวนั้นครูบาอนุญาตให้้ชาวเขา ข้าราชการครูและตำรวจ-ทหารในพื้นที่หยิบยืมไปใช้ได้
หลังจากที่ข่าวเรื่องพระขี่ม้าบิณฑบาตได้รับการกล่าวขานออกไปแบบปากต่อปากจนเป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวทั่วไป การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจึงมาขอให้พระครูบาเหนือชัยนำวัดป่าอาชาทองเข้าร่วมในโครงการ ‘Unseen Thailand’ เพื่อช่วยโปรโมทการท่องเที่ยวของเชียงราย ซึ่งครูบาเหนือชัยใช้เวลาคิดใคร่ครวญอยู่นานถึง ๓ ปี จึงตัดสินใจตกลงเข้าร่วมโครงการเมื่อปี ๒๕๔๗ เนื่องจากพระครูบารู้ดีว่า เมื่อการท่องเที่ยวย่างกรายเข้ามา วิถีชีวิตอันเงียบสงบของชาวเขาย่อมต้องเปลี่ยนแปลงไป ทุก ๆ เช้า ท่านครูบาเหนือชัยจะออกมารับบิณฑบาตตั้งแต่เวลาประมาณ ๐๗.๐๐ – ๐๗.๓๐ น. (หรือวันไหนมีคนมาใส่บาตรเยอะ ก็ถึง ๘ โมงเช้า)
http://www.paiduaykan.com/76_provinc…/prakeema.html
http://watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=652