“ธรรมใดก็ไร้ค่า ถ้าไม่ปฏิบัติ” : หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

“ธรรมใดก็ไร้ค่า ถ้าไม่ปฏิบัติ” : หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

ขบถฟันน้ำนม:
ในโอกาสสัปดาห์แห่งพุทธศาสนา เราขอตามรอย หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต พระนักปฏิบัติผู้เป็นปรมาจารย์ใหญ่สายวิปัสสนากรรมฐานวัดป่า ศิษย์ของท่านล้วนเป็นพระเถราจารย์ที่มีชื่อเสียง อาทิ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล, หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี, หลวงปู่ขาว อนาลโย, หลวงปู่ฝั้น อาจารโร, หลวงปู่บุญเพ็ง เขมาภิรโต, หลวงปู่กงมา จิรปุญโญ, หลวงปู่หลุย จันทสาโร, หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน, หลวงพ่อชา สุภัทโท ฯลฯ

อุบลราชธานี กำเนิดมหาบูรพาจารย์

บนขวาคือ หอห้าบูรพาจารย์ ในวัดบูรพาราม ล่างซ้าย วัดศรีอุบลรัตนารามที่หลวงปู่มั่นบรรพชาเป็นพระภิกษุ ซึ่งภายในมีพิพิธภัณฑ์ศรีอุบลรัตนารามที่เก็บโบราณวัตถุน่าสนใจไว้มากมาย ดั่งรูปล่างขวา เมื่อนายมั่น แก่นแก้ว (นามเดิมสมัยเป็นฆราวาสของหลวงปู่มั่น) อายุได้ 15 ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณรที่ วัดศรีบุญเรือง (วัดบ้านคำบง) อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี ความที่ท่านมีสติปัญญาดีมาแต่กำเนิดทำให้สามารถจดจำบทสวดมนต์และสูตรต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว เอาใจใส่การเรียนดียิ่ง ผ่านไป 2 ปี บิดาขอร้องให้ลาสิกขามาช่วยงานทางบ้าน ทว่าด้วยจิตใจที่ฝักใฝ่พุทธศาสนา และช่วยสร้างหลักปักฐานให้ครอบครัวมั่นคงแล้ว พออายุ 22 ปี ท่านจึงขออนุญาตบิดามารดาลาบวชอีกครั้ง

ท่านเข้าสู่ร่มกาสาวพักตร์เป็นครั้งที่ 2 เมื่ออายุ 22 ปี ณ วัดศรีอุบลรัตนาราม (วัดศรีทอง) อ.เมือง จ.อุบลราชธานี พระอุปัชฌายะขนานนามมคธให้ว่า “ภูริทัตโต” แปลว่า “ผู้ให้ปัญญา ผู้แจกจ่ายความฉลาด”

“ท่านเป็นผู้นำแก่นธรรมแท้ๆของพระพุทธเจ้ามาเผยแพร่ในยุครัตนโกสินตร์ตอนกลางเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน”

ร.ต.ดร.จุลสัน ทันอินทร์อาจ นักวิชาการศาสนา สนง.พระพุทธศาสนา จ.มุกดาหาร เล่าพื้นฐานที่มาให้ฟังว่าสมัยรัชกาลที่ 4 พุทธศาสนาของเราผิดเพี้ยนไป ผู้คนไปหลงใหลกับเรื่องโชคลางของขลัง ร.4 ท่านก็ตั้งธรรมยุติกนิกายขึ้นมา ให้พระเคร่งครัดในพระธรรมวินัย

“แล้วผู้ที่สืบทอดเจตนารมณ์ ก็มีหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่สีทา หลวงปู่มั่น โดยนำหลักการปฏิบัติที่ถูกต้องไปเผยแพร่”

อุปสมบทแล้ว หลวงปู่มั่นไปพำนักอยู่ที่ วัดเลียบ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี อันเป็นสำนักของหลวงปู่เสาร์ กันตสีโล เพื่อศึกษาปฏิบัติธรรม

“ในตัวเมืองอุบลราชานี ยังมี วัดบูรพาราม ซึ่งมีความสำคัญว่าเป็นวัดที่หลวงปู่มั่นมาศึกษาวิปัสสนากับพระอาจารย์เสาร์ ปัจจุบันในวัดนี้มีรูปหล่อของ 5 บูรพาจารย์ ได้แก่ พระอาจารย์เสาร์, พระอาจารย์มั่น, พระอาจารย์สีทา ชัยเสโน, พระญาณวิศิษย์สิงห์ ขันตญาคโม, และพระสิทธิธรรมรังสีคัมภีร์เมธาจารย์ ให้กราบสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคลด้วย”

ตามอุปนิสัยหลวงปู่มั่นท่านไม่ชอบอยู่นิ่ง หากฝักใฝ่ความก้าวหน้าในทางธรรมอยู่เสมอ ท่านจึงออกแสวงหาวิเวกบำเพ็ญสมณธรรมในที่ต่างๆ ตามป่าลึก ป่าช้า ที่แจ้ง หุบเขา ซอกเขา ห้วยธารเขา เงื้อมเขา ท้องถ้ำ เรือนว่างทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงบ้าง ทางฝั่งขวาแม่น้ำโขงบ้าง

“ออกนอกเมืองอุบลฯไปที่อ.ศรีเมือง หลวงปู่มั่นกับหลวงปู่เสาร์ได้ไปที่ วัดภูหล่น ซึ่งเป็นที่สัปปายะ (เงียบสงบ) เหมาะแก่การเจริญภาวนาวิปัสสนากรรมฐานมาก”

ภูหล่น เป็นภูเขาขนาดย่อม มีต้นไม้ปกคลุมสลับโขดหินน้อยใหญ่ บรรยากาศแสนสงบร่มรื่น เมื่อเราขึ้นไปด้านบน จะเห็น 2 ถ้ำติดกัน ถ้ำหนึ่งเป็นของหลวงปู่เสาร์ที่มีรอยเท้าเสือปรากฏอยู่ อีกถ้ำหนึ่งเป็นของหลวงปู่มั่น ด้านในต่างมีภาพถ่ายของพระอาจารย์ทั้งสองไว้กราบไหว้ ให้ระลึกถึงความอดทน มานะบากบั่น กล้าหาญและความจริงจังของท่าน

ซ้ายสุดเป็นรูปหล่อเหมือนองค์จริงของหลวงปู่มั่นที่อนุสรณ์สถานบ้านเกิดของท่านที่บ้านคำบง ส่วนรูปกลางและขวาเป็นบรรยากาศวัดภูหล่นที่ท่านขึ้นไปปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่เสาร์

ธุดงค์บำเพ็ญเพียร สำเร็จอรหันต์

ซ้ายมือเป็นบรรยากาศวัดดอยธรรมเจดีย์ที่หลวงปู่มั่นเคยไปจำพรรษา กลางบนคือ หลวงปู่จาม มหาปุญโญ แห่งวัดป่าวิเวกวัฒนาราม ท่านเคยปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่มั่น กลางล่างเป็นลานวิมุตติธรรม วัดถ้ำจำปากัณตสีลาวาส หลวงปู่เสาร์สำเร็จอรหันต์ที่นี่ ส่วนขวามือ พระธาตุพนม ที่คณะเราได้มีโอกาสไปกราบด้วย พ.ศ.2449 หลวงปู่มั่นท่านไปแสดงธรรมเทศนาให้นางจันทร์มารดาที่บ้านคำบง ก่อนปลีกวิเวก ไปลาว หลวงพระบาง อีก 3 ปี ตลอดจนออกธุดงค์ไปถึงประเทศพม่า และกลับไทยไปศึกษากับนักปราชญ์ที่กรุงเทพฯ จำพรรษาอยู่ที่วัดปทุมวนาราม แล้วออกแสวงหาวิเวกในถิ่นภาคกลาง คือ ถ้ำสาลิกา เขาใหญ่ จ.นครนายก, ถ้ำไผ่ขวาง เขาพระงาม และถ้ำสิงโต จ.ลพบุรี จนได้รับความรู้แจ่มแจ้งในพระธรรมวินัย จึงกลับมาภาคอีสานทำการอบรมสั่งสอนวิปัสสนากรรมฐาน ทั้งแก่พระภิกษุสงฆ์และอุบาสกอุบาสิกา เกิดมีผู้เลื่อมใสปฏิบัติตามกันมากขึ้น มีศิษยานุศิษย์กระจายทั่วภาคอีสาน

ต่อมา ท่านได้ลงไปพักจำพรรษาที่วัดปทุมฯ อีก 1 พรรษา ขึ้นไปเชียงใหม่ กับเจ้าพระคุณอุบาลีคุณูปจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) จำพรรษาวัดเจดีย์หลวง 1 พรรษา และออกธุดงค์ไปไปตามที่วิเวกต่างๆ ในเขตภาคเหนือ เพื่อสงเคราะห์สาธุชนนานถึง 11 ปี

“ลูกศิษย์ท่านระดับเกจิอาจารย์ทั้งนั้น อย่างรุ่นลูก หลวงปู่เทสก์ หลวงปู่แหวน หลวงปู่จันทร์โส หลวงปู่จาม หลวงปู่กงมา รุ่นหลานก็มีพระอาจารย์วิริยังค์ หลวงตามหาบัว” อ.จุลสัน วิเคราะห์ถึงคุณงามความดีต่อประเทศชาติของพระอาจารย์มั่นว่า

“สมัยรัชกาลที่ 9 ซึ่งตรงกับยุคลูกศิษย์ของหลวงปู่มั่น ไม่ว่าจะเป็นหลวงปู่ขาว หรือหลวงปู่แหวน ในหลวงท่านเสด็จไปศึกษาธรรมะ ให้พระโอรสพระธิดาเข้าไปปฏิบัติธรรม ซึ่งล้วนเป็นคำสอนของหลวงปู่มั่นที่ถ่ายทอดผ่านศิษยานุศิษย์ของท่าน ยามใดที่ประเทศชาติถึงภัยล่อแหลม อย่าง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในหลวงราชินีก็ทรงนิมนต์พระซึ่งเป็นสายพระอาจารย์มั่นให้ลงไปภาคใต้เพื่อไปดับทุกข์ไปแผ่เมตตา ไม่ว่าจะเป็นหลวงปู่แตงอ่อน หรือหลวงปู่บุญหนา

เห็นชัดๆ หลวงตามหาบัว ในช่วงที่ประเทศชาติของเราเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ท่านก็มีผ้าป่าช่วยชาติ บารมีของหลวงปู่มั่นที่ถ่ายทอดโดยหลวงตามหาบัว ทำให้คนไทยเราที่เป็นพุทธศาสนิกชนช่วยกันบริจาค จนประเทศชาติไทยของเรารอดพ้นจากภัยด้านเศรษฐกิจไปได้”

นี่คือ คุณประโยชน์และบุญมหาศาล อันเกิดจากหลวงปู่มั่นที่ท่านได้สะสมบุญบารมี ถ่ายทอดผ่านศิษยานุศิษย์ให้แก่ประเทศชาติเรา

“ท่านสำเร็จอรหันต์ขณะที่อยู่ภาคเหนือ” อ.จุลสัน วกกลับมาเล่าเส้นทางบำเพ็ญเพียรของหลวงปู่มั่น

“เพราะท่านรู้วันตายของตัวเอง ท่านบอกกับหลวงปู่เทสก์ฯว่า ท่านจะมรณภาพวันไหน คนที่ล่วงรู้อดีตและอนาคต เป็นตัวชี้บ่งตัวหนึ่งว่าสำเร็จอรหันต์ หลวงปู่เทสก์จึงประสานงาน โดยมีหลวงปู่จูม พนธโล (หรือพระธรรมเจดีย์ ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการก่อตั้งวัดโพธิสมภรณ์ วัดธรรมยุตแห่งแรกในจ.อุดรธานี) ขึ้นไปกราบอาราธนาขอให้ท่านกลับมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่ภาคอีสาน”

หลวงปู่มั่นได้มาจำพรรษา ณ วัดป่าโนนนิเวศน์ จ.อุดรธานี เพื่ออนุเคราะห์สาธุชนที่นั้น 2 พรรษา ยังผลทำให้วัดมีชื่อเสียง ประชาชนมาปฏิบิติธรรมกันมาก

เมตตาบารมีจวบวาระสุดท้ายที่สกลนคร

กุฎิหลวงปู่มั่นที่วัดป่านาคนิมิตต์อยู่ในรูปซ้ายมือล่าง ขณะที่ซ้ายมือบนที่วัดป่าวิสุทธิธรรม ส่วนขวามือบนเป็นกุฎิหลวงตาบัว ล่างเป็นภูริทัตตจงกรม ทั้งสองอยู่ในวัดป่าภูริทัตตถิราวาส ในวัยชรานับแต่ พ.ศ.2484 เป็นต้นมา หลวงปู่มั่นมาอยู่ที่สกลนคร เปลี่ยนอิริยาบถไปตามสถานที่วิเวกผาสุกวิหารหลายแห่ง ทำให้วงศ์พระกรรมฐานกลับมามีความอบอุ่น และพร้อมเพรียงขึ้นอีกวาระหนึ่ง

“ช่วงนั้นเป็นบั้นปลายของชีวิตที่ท่านชราภาพแล้ว เดินทางไกลไม่ได้ ดังนั้นวัดก็จะไปกระจุกอยู่ตรงอำเภอโคกศรีสุพรรณ”

ไม่ว่าจะเป็น วัดป่านาคนิมิตต์ , วัดป่าวิสุทธิธรรม, และวัดป่าสุทธาวาส ฯลฯ

“หลวงปู่มั่นอยู่ในป่าในเขา เอาธรรมทุกขณะ เขาว่ายังไง ก็รู้เท่าทันเขา ท่านว่าอยู่ในป่าในเขา ได้ธรรมะคำสอนมาตลอด หลวงปู่มั่นท่านไม่ได้แบกตำราเข้าไปในป่า ท่านค้นหาภายในจิต มีสติทุกอิริยาบถ” หลวงปู่อว่าน เขมโก เจ้าอาวาส วัดป่านาคนิมิตต์ เมตตาเล่าเรื่องหลวงปู่มั่นให้คณะเราฟัง ขณะเข้าไปเยี่ยมชมวัดป่านาคฯ

“ธรรมะใดก็ไร้ค่า ถ้าไม่มีการปฏิบัติ”

หลวงปู่อว่านท่านเตือนสติปิดท้าย ก่อนปล่อยให้พวกเราไปกราบรูปหล่อเหมือนหลวงปู่มั่นเท่าองค์จริงที่กุฎิท่าน

“เดิมวัดนี้ชื่อ วัดป่าบ้านนามน พอหลวงปู่มั่นจะมาจำพรรษาที่นี่ ชาวบ้านอยากสร้างกฎิถวายแต่ไม่รู้ว่าจะสร้างที่ใด ได้มีพญานาคมานิมิตเป็นเครื่องหมายรอยหลุมเสา หลวงปู่มั่นก็ชี้บอกให้ขุดหลุมเสาตามรอยที่พญานาคทำไว้โดยไม่ต้องวัดหลุมเสาเลย”

อ.จุลสัน บอกว่าหลวงปู่มั่นท่านจึงตั้งชื่อวัดนี้ว่า วัดป่านาคนิมิตต์

สำหรับ วัดป่าวิสุทธิธรรม หรือที่ชาวบ้านเรียกวัดป่าบ้านโคก หลวงปู่กงมา จิรปุญโญ สร้างขึ้นเพื่อถวายให้หลวงปู่มั่นพำนักจำพรรษา ซึ่งหลวงปู่มั่นได้แสดงธรรมเทศนาและประชุมสงฆ์เพื่อวางระเบียบแบบแผนของคณะกัมมัฏฐานให้ถูกต้อง ปัจจุบันมีหุ่นขี้ผึ้งเหมือนองค์จริง และอัฐบริขารที่ท่านเคยใช้แสดงอยู่

ครั้นพ.ศ.2488 หลวงปู่มั่นขึ้นไปบนเทือกเขาภูพาน จำพรรษาที่ วัดป่าภูริทัตตถิราวาส หรือวัดป่าบ้านหนองผือ ที่หลวงปู่หลุยส์ จันทสาโร สร้างถวาย เมื่อก่อนวัดนี้ชื่อวัดสันติวนาราม ต่อมาเปลี่ยนเป็น ‘วัดป่าภูริทัตตถิราวาส’ ตามฉายาของพระอาจารย์ท่าน

หลวงปู่มั่นพำนักจำพรรษาอยู่ที่นี่ถึง 5 ปีติดต่อกัน กระทั่งอายุ 80 ปี

“ช่วงที่ท่านจำวัดนี้ มีพระอาจารย์บุญเพ็งรวมทั้งเกจิอาจารย์หลายท่านเดินทางไปขอเป็นลูกศิษย์ลูกหา หนึ่งในนั้นก็มีหลวงปู่ชาที่เดินทางมาจากอุบลราชธานี คิดดูนะครับ ท่านเดินธุดงค์มาเรื่อยๆ มายังเทือกเขาภูพาน ซึ่งเดินทางไกลมาก และมีสัตว์ป่าเยอะแยะ ไหนจะมีไข้มาลาเรีย พระสมัยก่อนต้องอุทิศชีวิตจริงๆ นะครับ”

อ.จุลสัน เล่าต่อว่าช่วงหลังที่หลวงปู่มั่นป่วยหนักด้วยโรคชรา ท่านบอกให้ลูกศิษย์หามร่างที่ใกล้จะหมดลมหายใจของท่านลงเขา ไปที่วัดป่าสุทธาวาส เพราะหากตัวท่านมรณภาพที่วัดป่าบ้านหนองฯแห่งนี้ ก็จะต้องมีงานศพที่นี่ คนต้องมากันเยอะ และก็จะมีการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตว์ป่าละแวกวัดกันเยอะ

“ท่านไม่อยากให้สัตว์ล้มตายเป็นจำนวนมาก ท่านก็เลยบอกเอาอย่างนี้ล่ะกัน หามท่านลงมาจากเขา จากบ้านป่าหนองผือนาใน เดินเท้าลงมา คิดดูสิ คนธรรมดายังหอบเลย นี่ท่านกำลังจะใกล้ตาย ถูกหามมาอย่างนี้ ทรมานขนาดไหน นี่แสดงให้เห็นว่าท่านมีเมตตาอย่างมาก”

ช่วงอาพาธระยะสุดท้าย ท่านได้พำนักที่ วัดป่ากลางโนนภู่ อาคารไม้ที่เคยเป็นกุฏิของท่านได้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์เล็กๆ นอกจากแสดงเครื่องอัฐบริขารที่ท่านใช้ ยังมีแคร่ รวมทั้งภาพถ่ายขบวนแห่ที่หามท่านลงมายังวัดป่าสุทธาวาสแสดงอยู่ด้วย

ขบวนแห่เดินทางมาถึงไป วัดป่าสุทธาวาส ในเวลา 12.00 น.ของวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2492 หลังจากนั้นเวลา 2.23 น. ซึ่งถือว่าเป็นวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2492 ท่านก็ปลงสังขาร

“ตอนนั้นพระอาจารย์เทสก์ พระอาจารย์หลวงตาบัว พระธรรมเจดีย์ ฯลฯ ล้วนมารอที่วัดป่าสุทธาวาสกันแล้ว และญาติโยมก็มากันเยอะ มีงานพระราชทานเพลิงศพวันที่ 30 มกราคม พ.ศ.2493”

ต่อมาได้สร้างพระอุโบสถครอบตรงที่ถวายเพลิงท่าน ไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์ ทุกวันจะมีนักท่องเที่ยวมาสักการะ นอกจากนั้น ในวัดนี้ยังมี พิพิธภัณฑ์หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต มีประวัติของท่านตั้งแต่เกิดจนมรณภาพ มีอัฐิธาตุ อัฐบริขาร และของใช้ของท่านซึ่งน้อยมาก แสดงให้เห็นว่าท่านยึดหลักชีวิตสมณเพศอย่างเคร่งครัด ของใช้ประจำของท่านมีเฉพาะสิ่งจำเป็นในการดำรงชีพเท่านั้น

บนซ้ายขวา อดีตเป็นที่พำนักของหลวงปู่ระยะสุดท้ายในวัดป่ากลางโนนภู่ ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์เล็กๆ มีเตียงแคร่ และภาพถ่ายขบวนแห่ที่หามท่านลงไปวัดป่าสุทธาวาสแสดงอยู่ด้วย ล่างซ้ายขวา จีวรที่ท่านใช้แสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ที่วัดป่าสุทธาวาส

ตามรอยหลวงปู่มั่น ไม่ใช่เพื่อเที่ยว

“วัดไม่ใช่ที่เที่ยว วัดเป็นสถานที่เพื่อคนมาหาความสงบ เพราะฉะนั้นถ้าใครมาแล้ว อย่าเสียงดัง ยิ่งเป็นวัดอีสาน จะรู้ทันทีว่าต้องเงียบ มาแล้วก็ไหว้พระ นั่งสมาธิ เดินจงกรม”

อรุณศรี ศรีเมฆานนท์ ศาสตรานิติ ผู้อำนวยการททท.ภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ฝากเตือนทุกคนที่ไปทัวร์วัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเส้นทาง “ตามรอยพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต บูรพาแห่งอีสาน” ที่ททท.ภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือกับสมาคมท่องเที่ยวภายในประเทศออกแบบจัดขึ้นแล้ว

“เราทำเส้นทางนี้ เพราะอีสานเป็นจุดแข็งของศาสนาพุทธ ความประพฤติของชาวอีสานที่มีต่อศาสนาจะไม่เหมือนกับคนภาคอื่นๆ วิธีการเข้าวัด ถ้าเรามาบ่อยๆ จะเห็นวิธีของคนอีสานในเรื่องของการไหว้พระ คือ เค้าพยายามทำให้การเข้าวัดเป็นเรื่องธรรมดาที่ทุกคนก็เข้าได้ ไม่ติดกับพิธีรีตรองมากนัก แต่แท้จริงแล้วก็มาด้วยความสงบจริงๆ

มีคนจำนวนไม่น้อยที่สนใจเรื่องพุทธศาสนา เพิ่งเริ่มปฏิบัติ เพิ่งรู้จักหลวงปู่มั่น และอยากศึกษาเรื่องของหลวงปู่มั่นมากขึ้น ถ้าเค้ามาอีสานเอง เค้าอาจไปแค่วัดใดวัดหนึ่งเพียงหนึ่งวัด เราก็เลยทำเส้นทางตามรอยหลวงปู่มั่น เพื่อให้คนกลุ่มนี้มีโอกาสเยี่ยมวัดที่หลวงปู่มั่นเคยจำพรรษา หรือเกี่ยวข้องกับหลวงปู่มั่น

เรารู้ว่าลูกค้าของเส้นทางแบบนี้จะไม่เยอะ แต่คนที่มาจะได้ประโยชน์จริงๆ”

จุดโดดเด่นประการหนึ่งของทริปตามรอยฯนี้คือ จะมีวิทยากรที่มีความรู้ทางศาสนาพุทธอย่างถูกต้องแท้จริงคอยบรรยายให้ภูมิปัญญาตลอดเส้นทาง

“เราหวังว่าเส้นทางเหล่านี้จะเป็นเส้นทางที่ช่วยให้ความรู้ อย่างน้อยมาวัดอีสานแล้ว รู้ว่าธรรมยุติกนิกายต่างกับมหานิกายยังไง รู้ว่าวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์ธรรมยุตต่างจากมหานิกายยังไง รู้ถึงศัพท์ต่างๆ เช่น ขอญัตติคืออะไร มาแล้วรู้ถึงความแตกต่างของผู้ที่เข้ามาในวัด อันนี้เป็นวัตถุประสงค์ใหญ่ๆ ที่เราต้องการ ให้สมกับมาเที่ยวอีสาน อีสานเป็นแหล่งเรียนรู้ เป็นอู่อารยธรรม มาแล้วได้ความรู้นั้นๆ กลับไปจริง”

ด้านอ.จุลสัน วิทยากรผู้ไม่เหน็ดเหนื่อยกับการเล่าเรื่องราวของหลวงปู่มั่น แถมยังสอดแทรกเกร็ดความรู้ต่างๆ ในพุทธศาสนาตลอดเวลา กล่าวด้วยความหวังว่า

“จุดเด่นของหลวงปู่มั่นคือ เน้นปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน เชื่อว่าหลายท่านอย่างน้อยในห้วงชีวิตหนึ่งย่อมมีปัญหา แก้ไม่ตก ก็ให้นึกถึงเส้นทางที่ท่านเดินตามรอยหลวงปู่มั่น ท่านก็สามารถมาปฏิบัติธรรมได้ เพื่อให้ปัญหาของท่านได้ผ่อนคลาย แก้ไข ขจัดปัดเป่าออกไป หรือใครมีญาติพี่น้องที่มีความอับจนในชีวิต แก้ไขปัญหาชีวิตอะไรไม่ได้ อยากแนะนำให้มาปฏิบัติอยู่ที่วัดป่าอีสานนี้แหละ มีเกจิอาจารย์เยอะ

ธรรมะอยู่ที่ตัวเรา เพียงแต่ว่าเราไม่มีปัญญา เราไปขอให้ครูบาอาจารย์ท่านช่วย

พุทธศาสนาสอนให้เราพึ่งตนเอง ถ้ามีอุปนิสัยชอบสันโดษ ก็เข้าปฏิบัติธรรมได้ เพราะการปฏิบัติธรรมต้องทวนกระแสโลก อย่างเช่น โลกบอกว่ามนุษย์เป็นสัตว์สังคม แต่สายธรรมมะบอกว่าถึงที่สุดแล้วมนุษย์ต้องอยู่โดดเดี่ยว หรือโลกเราบอกมนุษย์กิน 3 มื้อ แต่ผู้มาปฏิบัติธรรมกินมื้อเดียว โดยสังคมมนุษย์เราใส่เสื้อผ้าหลากหลาย แต่สายธรรมมะมีแค่สไตล์เดียว”

อ.จุลสัน จึงเล่าเรื่องของผู้หญิงคนหนึ่งที่เปลี่ยนใจไม่ฆ่าสามี หลังจากมาปฎิบัติธรรม

“ผู้หญิงคนนั้นมีสามีเป็นนายตำรวจอยู่ที่อ.ธาตุพนม สามีเป็นคนเจ้าชู้ มีเมียน้อยมีกิ๊กเยอะมาก เธออยู่กท.ก็ทุกข์ใจมาก เพราะสามีไม่ดูแลไม่ใส่ใจครอบครัว เงินเดือนก็เอาไปให้หญิงอื่น เธอแค้นมาก คุยกับเพื่อนทำไงถึงจะล้างแค้นสามีคนนี้ได้ เพื่อนก็พยายามบอกว่าอย่าไปอาฆาตแค้นคิดทำร้ายเขา เธอก็ไม่สนใจ ไปวังบูรพาซื้อปืน แล้วบอกเพื่อนว่าจะไปยิงสามีที่ธาตุพนม เพื่อนจึงพยายามโน้มน้าวให้เธอแวะไปปฏิบัติธรรมที่วัดโสมพนัส จ.สกลนครก่อน

ผู้หญิงคนนั้นเอาปืนมาด้วย เก็บไว้อย่างดีกะว่าปฏิบัติธรรมเสร็จแล้ว จะไปยิงสามีที่ธาตุพนมเลย วันแรกของการปฏิบัติธรรม เธอร้อนรุ่มมาก วันที่สองก็เหน็ดเหนื่อยเบื่อหน่าย แต่ผ่านไปวันที่สามเริ่มอยู่ตัว พอวันที่สี่ขณะเดินจงกรม ปรากฎร่างสามีผุดขึ้นมา เธอเห็นร่างสามีแยกออกไปเป็นธาตุทั้งสี่ ดิน น้ำ ลม ไฟ เธอก็อ้าว ทำไมชั้นถึงมายึดไอ้สิ่งที่มันไร้สาระ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ชั้นโง่จังเลย แล้วจิตของเธอก็สว่างไสวขึ้นมา ปฏิบัติไปวันที่ห้าวันที่หก เธอยิ่งเห็นสัจธรรมตรงนี้ วันที่เจ็ดพอปฏิบัติธรรมเสร็จแล้ว เธอก็เอาปืนไปให้เจ้าอาวาสวัด แล้วเดินทางกลับกท. นี่เป็นเรื่องจริงของคนที่จะฆ่าคนแต่พอปฏิบัติธรรมแล้ว ก็ไม่”

อ.จุลสัน สรุปปิดทริปว่า ‘คนเราถ้าไม่เห็นทุกข์ ย่อมไม่เห็นธรรม’ ทว่า ‘ธรรมใดก็ไร้ค่า ถ้าไม่ปฏิบัติ’ ดั่งที่หลวงปู่อว่าน ศิษย์รุ่นหลานของหลวงปู่มั่น เตือนพวกเราขณะตามรอยหลวงปู่มั่น

สาวใดสนใจร่วมเส้นทางตามรอยหลวงปู่มั่นฯ สามารถติดต่อสมาคมส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวไทย (สธทท.) โทร.02 253-9494, สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) 02 270-1505-8, สมาคมผู้ประกอบการนำเที่ยวไทย (สนท.) 02 998-0744, สมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (สทอ.) 02 246-5659

http://www.manager.co.th/lady/viewnews.aspx?NewsID=9520000076424

ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.prachathon.org/forum/index.php?topic=1021.0;wap2

. . . . . . .