ครูบาศรีวิชัย (พระนักพัฒนาแห่งล้านนาไทย)

ครูบาศรีวิชัย (พระนักพัฒนาแห่งล้านนาไทย)

ครูบาศรีวิชัย เป็นตัวอย่างบุคคลสำคัญในภาคเหนือ ที่ได้อุทิศตนให้กับพระพุทธศาสนา และงานสาธารณะประโยชน์ด้านต่าง ๆ ในดินแดนภาคเหนือ จนได้รับการยกย่องว่า “พระนักพัฒนาแห่งล้านนาไทย” หรือ “นักบุญแห่งล้านนา”
ประวัติ
ครูบาศรีวิชัย เกิดเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2421 ที่บ้านปาง อ.ลี้ จ.ลำพูน เป็นบุตรคนที่ 3 ของนายควาย และนางอุสา ตอนเกิดมีเหตุการณ์ฝนฟ้าคะนอง และแผ่นดินไหว พ่อแม่จึงตั้งชื่อให้ว่า อินตาเฟือน (ฟ้าร้อง)
เมื่ออายุได้ 17 ปี ท่านได้ไปศึกษาเล่าเรียนและบวชเป็นสามเณรกับพระอาจารย์ขัติ อยู่ที่วัดบ้างปาง เมื่ออายุ 21 ปี ได้อุปสมบทที่วัดบ้านโฮ่งหลวง อ.บ้านโป่ง จ.ลำพูน ได้รับฉายาว่า “สิริวิชโยภิกขุ” แต่คนทั่วไปเรียกว่า “พระศรีวิชัย”
ครูบาศรีวิชัยได้รับการยกย่องว่าเป็นพระนักปฏิบัติธรรมที่มีวัตรปฏิบัติเคร่งครัดถือความสันโดษ และเป็นผู้บำเพ็ญประโยชน์ ทำให้เป็นที่เคารพรักและศรัทธาของชาวบ้านมาก ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้คณะสงฆ์ผู้ใหญ่ในล้านนาเกิดความหวาดระแวงและไม่พอใจในตัวท่าน จึงกล่าวหาเอาผิดท่านถึง 3 ครั้ง แต่เมื่อมีการไต่สวน ผลปรากฏว่าท่านเป็นผู้บริสุทธิ์
ครูบาศรีวิชัยมรณภาพเมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2481 ขณะอายุได้ 60 ปี

ผลงานสำคัญ
ครูบาศรีวิชัยได้ชื่อว่าเป็นพระนักพัฒนา เนื่องจากท่านเป็นผู้นำในการพัฒนาวัดบ้านปางเป็นแห่งแรก แล้วให้ชื่อว่าวัดศรีดอนไชยทรายมูลบุญเรือง จากนั้นท่านได้ปลูกสร้างปฏิสังขรณ์วัดวาอารามและถาวรวัตถุทางศาสนาอีกหลายแห่งในพื้นที่ภาคเหนือ เช่น วัดพระธาตุหริภุญชัย และวัดจามเทวี ที่จังหวัดลำพูน วัดพระสิงห์และวัดสวนดอก ที่จังหวัดเชียงใหม่
นอกจากนั้น ในปลายปี พ.ศ. 2477 ท่านยังได้สร้างถนนขึ้นวัดพระธาตุดอยสุเทพ เป็นระยะทาง 11 กิโลเมตร 530 เมตร จนสำเร็จเรียบร้อยในวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2478 รวมระยะเวลา 5 เดือนกว่า ในระหว่างการสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ ท่านได้สร้างวัดขึ้นระหว่างทางอีก 3 วัด คือ วัดศรีโสดา วัดสาริกา วัดอนาคา
การสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพของท่านนั้น นับว่าเป็นผลงานสำคัญที่ยังคงกล่าวขวัญถึงในปัจจุบัน เนื่องจากในสมัยนั้นถือเป็นงานที่ยิ่งใหญ่เกินกว่าใครจะทำได้สำเร็จ เพราะต้องใช้ทั้งแรงงานมากมาย เวลาและเงินเป็นจำนวนมาก เพื่อเป็นการระลึกถึงคุณความดีของท่าน ทางจังหวัดเชียงใหม่จึงสร้างอนุสาวรีย์ของท่านประดิษฐานไว้ที่ทางขึ้นดอยสุเทพ

ที่มาและได้รับอนุญาตจาก :
เอกรินทร์ สี่มหาศาล และคณะ . ประวัติศาสตร์ ป.5 . พิมพ์ครั้งที่ 3 . กรุงเทพ ฯ : อักษรเจริญทัศน์

http://www.trueplookpanya.com/new/cms_detail/knowledge/1820-00/

. . . . . . .