สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

พระประวัติเบื้องต้น

เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (สุวฑฺฒนมหาเถร) เป็นชาวจังหวัดกาญจนบุรี มีพระนามเดิมว่า เจริญ คชวัตร ประสูติเมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๖ เวลาประมาณ ๐๔.๐๐ น. เศษ (นับอย่างปัจจุบันเป็นวันที่ ๔ ตุลาคม) ตรงกับวันศุกร์ ขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีฉลู ณ ตำบลบ้านเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี พระชนกชื่อ นายน้อย คชวัตร พระชนนีชื่อ นางกิมน้อย คชวัตร

บรรพชนของเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ มีประวัติความเป็นมาน่าสนใจ เพราะมาจาก ๔ ทิศทาง กล่าวคือ พระชนกมีเชื้อสายมาจากกรุงเก่าทางหนึ่ง จากปักษ์ใต้ทางหนึ่ง ส่วนพระชนนีมี เชื้อสายมาจากญวนทางหนึ่ง จากจีนทางหนึ่ง

นายน้อย คชวัตร เป็นบุตรนายเล็กและนางแดงอิ่ม เป็นหลานปู่หลานย่าของหลวงพิพิธภักดีและนางจีน หลวงพิพิธภักดีนั้นเป็นชาวกรุงเก่าเข้ามารับราชการในกรุงเทพ ฯ ได้ออกไปเป็นผู้ช่วยราชการอยู่ที่เมืองไชยาคราวหนึ่ง และเป็นผู้หนึ่ง ที่พระบาทสมเด็จ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ไปคุมเชลยศึก ที่เมืองพระตะบอง คราวหนึ่ง หลวงพิพิธภักดีได้ภรรยาเป็นชาวไชยา ๒ คนชื่อทับคนหนึ่ง ชื่อนุ่นคนหนึ่ง และได้ภรรยาเป็นชาวพุมเรียงอีกคนหนึ่งชื่อแต้ม ต่อมา เมื่อครั้งพวกแขกยกเข้าตีเมืองตรัง เมืองสงขลาของไทย เมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๑ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระยาศรีพิพัฒน์ (ทัด ซึ่งต่อมาได้เป็นที่ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ ในรัชกาลที่ ๔) เป็นแม่ทัพยกออกไปปราบปราม หลวงพิพิธภักดีได้ไปในราชการทัพครั้งนั้นด้วย และไปได้ภรรยาอีกหนึ่งชื่อจีน ซึ่งเป็นธิดาของพระปลัดเมืองตะกั่วทุ่ง (สน) เป็นหลานสาว ของพระตะกั่วทุ่ง หรือพระยาโลหภูมิพิสัย (ขุนดำ ชาวเมืองนครศรีธรรมราช) ต่อมา หลวงพิพิธภักดี ได้พาภรรยาชื่อจีนมาตั้งครอบครัวอยู่ในกรุงเทพ ฯ และได้รับภรรยาเดิมชื่อแต้ม จากพุมเรียงมาอยู่ด้วย (ส่วนภรรยาอีก ๒ คนได้ถึงแก่กรรมไปก่อน)

เวลานั้น พี่ชายของหลวงพิพิธภักดี คือพระยาพิชัยสงคราม เป็นเจ้าเมืองศรีสวัสดิ์กาญจนบุรี และมีอาชื่อ พระยาประสิทธิสงคราม (ขำ) เป็นเจ้าเมืองกาญจนบุรี ต่อมาหลวงพิพิธภักดีลาออก จากราชการและได้พาภรรยาทั้ง ๒ คนมาตั้งครอบครัวอยู่ที่เมืองกาญจนบุรี

กล่าวกันว่า หลวงพิพิธภักดีนั้นเป็นคนดุ เมื่อเป็นผู้ช่วยราชการอยู่ที่เมืองไชยา เคยเฆี่ยนนักโทษตายทั้งคา เป็นเหตุให้หลวงพิพิธภักดีเกิดสลดใจลาออกจากราชการ แต่บางคนเล่าว่า เหตุที่ทำให้หลวงพิพิธภักดีต้องลาออกจากราชการนั้น ก็เพราะเกิดความเรื่องที่ได้ธิดา พระปลัดเมืองตะกั่วทุ่ง ชื่อจีนมาเป็นภรรยานั่นเอง

เมื่อพี่ชายคือพระพิชัยสงคราม ทราบว่าหลวงพิพิธภักดีอพยพครอบครัวมาอยู่ที่เมือง กาญจนบุรี ก็ได้ชักชวนให้ เข้ารับราชการอีก แต่หลวงพิพิธภักดีไม่สมัครใจ และ ได้ทำนาเลี้ยงชีพต่อมา

นายน้อย คชวัตร ได้เรียนหนังสือตลอดจนได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ๒ พรรษาอยู่ในสำนักของ พระครูสิงคบุรคณาจารย์ (สุด) เจ้าอาวาสวัดเทวสังฆาราม (วัดเหนือ) ซึ่งเป็นวัดใกล้บ้านพระครูสิงคบุรคณาจารย์ นั้น เป็นบุตรคนเล็กของหลวงพิพิธภักดีกับนางจีน เป็นอาคนเล็กของนายน้อย เมื่อลาสิกขาแล้ว นายน้อยได้เข้ารับราชการ เป็นเสมียนสังกัดกระทรวงมหาดไทย ที่เมืองกาญจนบุรี และได้แต่งงานกับนางกิมน้อยในเวลาต่อมา

นางกิมน้อย มาจากบรรพชนสายญวนและจีน บรรพชนสายญวนนั้นได้อพยพเข้ามา เมืองไทยในสมัยรัชกาลที่ ๓ เมื่อครั้งเจ้าพระยาบดินเดชา (สิงห์ ต้นตระกูลสิงหเสนี) ยกทัพ ไปปราบจราจลเมืองญวน ได้ครอบครัวญวนส่งเข้ามาถวาย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พวกญวนที่นับถือพระพุทธศาสนาไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ กาญจนบุรี เมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๓๗๒ เพื่อทำหน้าที่รักษาป้อมเมือง ส่วนพวกญวนที่นับถือศาสนาคริสต์ให้ไป ตั้งบ้านเรือน อยู่กับพวกญวนเข้ารีดที่เมืองสามเสนในกรุงเทพ ฯ บรรพชนสายญวนของนางกิมน้อย เป็นพวกญวนที่เรียกว่า “ญวนครัว”

ส่วนบรรพชนสายจีนนั้น ได้โดยสารสำเภามาจากเมืองจีน และได้ไปตั้งถิ่นฐานทำการค้า อยู่ที่กาญจนบุรี

นางกิมน้อยเป็นบุตรีนายทองคำ (สายญวน) กับนางเฮงเล็ก แซ่ตัน (สายจีน) เกิดที่ ตำบลบ้านเหนือ อำเภอเมือง กาญจนบุรี เมื่อแต่งงานกับนายน้อยแล้ว ได้ใช้ชื่อว่าแดงแก้ว แต่ต่อมาก็กลับไปใช้ชื่อเดิม คือกิมน้อย หรือน้อยตลอดมา

นายน้อย คชวัตร เริ่มรับราชการในตำแหน่งเสมียน แล้วเลื่อนขึ้นเป็นผู้รั้งปลัดขวาแต่ต้องออก จากราชการเสียคราวหนึ่ง เพราะป่วยหนัก หลังจากหายป่วยแล้วจึงกลับเข้ารับราชการใหม่ เป็นปลัดขวาอำเภอวังขนาย กาญจนบุรี ต่อมาได้ย้ายไปเป็นปลัดอำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม เกิดป่วยเป็นโรคเนื้อร้ายงอก จึงกลับมารักษาตัวที่ บ้านกาญจนบุรีและได้ถึงแก่กรรมเมื่อมีอายุเพียง ๓๘ ปี ได้ทิ้งบุตรน้อย ๆ ให้ภรรยาเลี้ยงดู ๓ คน คือ

๑. เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ คชวัตร)

๒. นายจำเนียร คชวัตร

๓. นายสมุทร คชวัตร (ถึงแก่กรรมแล้ว)

สำหรับเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ นั้น ป้าเฮง ผู้เป็นที่สาวของนางกิมน้อย ได้ขอมาเลี้ยงตั้งแต่ ยังทรงพระเยาว์ และทรงอยู่ในความเลี้ยงดูของป้าเฮงมาตลอดจนกระทั่ง ทรงบรรพชาเป็นสามเณร ป้าเฮ้งได้เลี้ยงดูเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ด้วยความถนุถนอมเอาใจเป็นอย่างยิ่งจนพากันเป็นห่วงว่า จะทำให้เสียเด็ก เพราะเลี้ยงแบบตามใจเกินไป

ชีวิตในปฐมวัยของเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ นับว่าเป็นสุขและอบอุ่น เพราะมีป้าคอยดูแล เอาใจใส่อย่างถนุถนอม ส่วนที่นับว่าเป็นทุกข์ของชีวิตในวัยนี้ก็คือ ความเจ็บป่วยออดแอดของร่างกาย ในเยาว์วัยเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ทรงเจ็บป่วยออดแอดอยู่เสมอ จนคราวหนึ่งทรงป่วยหนักถึงกับ ญาติ ๆ พากันคิดว่าคงจะไม่รอดและบนว่าถ้า หายป่วยจะให้บวชแก้บน เรื่องนี้นับเป็นเหตุหนึ่ง ที่ทำให้เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ทรงบรรพชาเป็นสามเณรในเวลาต่อมา

พระนิสัยของเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ เมื่อเยาว์วัยนั้น อาจกล่าวได้ว่าเป็นบุพพนิมิตหรือเป็นสิ่ง แสดงถึงวิถีชีวิต ในอนาคตของพระองค์ได้อย่างหนึ่ง กล่าวคือ เมื่อทรงพระเยาว์พระนิสัยที่ทรงแสดง ออกอยู่เสมอได้แก่การชอบเล่นเป็นพระ หรือเล่นเกี่ยวกับ การประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เช่น เล่นสร้างถ้ำก่อเจดีย์ เล่นทอดผ้าป่าทอดกฐิน เล่นทิ้งกระจาด แม้ของเล่นก็ชอบทำของเล่นที่เกี่ยวกับพระ เช่น ทำคัมภีร์เทศน์เล็ก ๆ ตาลปัตรเล็ก ๆ (คือพัดยศเล็ก ๆ)

พระนิสัยที่แปลกอีกอย่างหนึ่งของเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ เมื่อเยาว์วัยคือ ทรงชอบเล่นเทียน เนื่องจาก ป้าต้องออกไปทำงานตั้งแต่ยังไม่สว่าง เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ จึงต้องพลอยตื่นแต่ดึกตาม ป้าด้วยแล้วไม่ยอมนอนต่อ ป้าจึงต้องหาของให้เล่น คือหาเทียนไว้ให้จุดเล่น เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ก็จะจุดเทียนเล่นและนั่งดูเทียนเล่นอยู่คนเดียวจนสว่าง

พระนิสัยในทางไม่ดีก็ทรงมีบ้างเช่นเดียวกับเด็กทั่วไป ดังที่ทรงเคยเล่าว่า เมื่อเยาว์วัยก็ทรงชอบเลี้ยงปลากัด ชนไก่ และบางครั้งก็ทรงหัดดื่มสุรา ดื่มกระแช่ไปตามเพื่อน แต่พระนิสัยในทางนี้มีไม่มากถึงกับจะทำให้กลายเป็นเด็กเกเร

เมื่อพระชนมายุได้ ๘ ขวบ เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ จึงเริ่มเข้าโรงเรียน คือโรงเรียนประชาบาล วัดเทวสังฆาราม ซึ่งใช้ศาลาวัดเป็นโรงเรียน จนจบชั้นประถม ๓ เท่ากับจบชั้นประถม ศึกษาในครั้งนั้น หากจะเรียนต่อชั้นมัธยมจะต้องย้ายไปเรียนที่โรงเรียน มัธยมวัดชัยชุมพลชนะสงคราม (วัดใต้) ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำจังหวัด สุดท้ายทรงตัดสินพระทัย เรียนต่อชั้นประถม ๔ ซึ่งจะเปิดสอนต่อไปที่โรงเรียนวัดเทวสังฆารามนั้น แล้วก็จะเปิดชั้นประถม ๕ ต่อไปด้วย (เทียบเท่า ม.๑ และ ม.๒ แต่ไม่มีเรียนภาษาอังกฤษ) ในระหว่างเป็นนักเรียน ทรงสมัครเป็นอนุกาชาดและลูกเสือ ทรงสอบได้เป็นลูกเสือเอก ทรงจบการศึกษาชั้นประถม ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๘ พระชนมายุ ๑๒ พรรษา

หลังจากจบชั้นประถม ๕ แล้ว ทรงรู้สึกว่ามาถึงทางตัน ไม่รู้ว่าจะเรียนอะไรต่อและไม่รู้ว่า จะไปเรียนที่ไหน เพราะขาดผู้นำครอบครัวที่จะเป็นผู้ช่วยคิดช่วยแนะนำตัดสินใจทรงเล่าว่า เมื่อเยาว์วัยทรงมีพระอัธยาศัยค่อนข้างขลาด กลัวต่อคนแปลกหน้า และค่อนข้างจะเป็นคนติดป้าที่อยู่ ใกล้ชิดกันมาแต่ทรงพระเยาว์โดยไม่เคยแยกจากกันเลย จึงทำให้พระองค์ไม่กล้าตัดสิน พระทัยไปเรียนต่อที่อื่น

http://www.watbowon.com/index_main.htm

. . . . . . .