ธรรมบรรยาย อานิสงส์ สร้างพระพุทธรูป

ธรรมบรรยาย อานิสงส์ สร้างพระพุทธรูป

เป็นธรรมะที่บรรยายโดยพระเทพสิงหบุราจารย์ (หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม) ในโอกาสต่างๆ ที่ผ่านมาในอดีต

พระพุทธรูป หมายความว่าอย่างไร? หมายความว่าพระรูปของพระพุทธเจ้า การสร้างพระพุทธรูปจะมีอานิสงส์อย่างไรบ้าง? การสร้างพระพุทธรูปมีอานิสงส์มากมายหลายประการ เหลือที่จะนับจะประมาณได้ จะขอยกมาแสดงไว้ในที่นี้แต่พอเป็นตัวอย่าง หรือพอเป็นแนวทางเท่านั้นคือ
ผู้สร้างพระพุทธรูป ชื่อว่าได้บำเพ็ญบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ประการคือ
๑) ทานมัย บุญสำเร็จด้วยการให้ทาน หมายความว่า ผู้นั้นต้องเอาพระพุทธรูปไปถวายพระสงฆ์ไว้ในวัดใดวัดหนึ่ง เพื่อให้ภิกษุสามเณรหรืออุบาสกอุบาสิกาได้กราบไหว้สักการะบูชา และก่อนที่จะได้ถวายตัวเองก็ต้องบริจาคเงินสร้างหรือเช่ามาแล้วนี้เป็นทานมัยกุศลชั้นต้น ต่อมาก็มีการเฉลิมฉลองอีก ตัวเองก็บริจาคจตุปัจจัยไทยทานถวายพระทำบุญ นี้เป็นทานมัยกุศลชั้นที่ ๒ ถึงแม้ว่าจะสร้างไปไว้ที่บ้านเพื่อสักการะบูชา ก็ต้องปฏิบัติในทำนองเดียวกันนี้ ดังนั้นผู้สร้างพระพุทธรูปจึงชื่อวาได้บำเพ็ญทานมัยกุศลไปด้วย
๒) ศีลมัย บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล หมายความว่า ก่อนแต่จะทำการถวายทานหรือถวายพระพุทธรูป เจ้าภาพก็ต้องสมาทานศีลเสียก่อน ศีลที่สมาทานคราวนี้เกิดขึ้นเพราะการสร้าพระพุทธรูปเป็นปัจจัย ดังนั้นผู้สร้างพระพุทธรูป จึงชื่อว่าได้บำเพ็ญศีลมัยกุศลไปด้วย

๓) ภาวนามัย บุญสำเร็จด้วยการเจริญภาวนา คำว่าภาวนานั้นมีสองอย่างคือ สมถภาวนา ๑ วิปัสสนาภาวนา ๑ การได้เห็นพระพุทธรูปด้วยตาได้กราบได้ไหว้ด้วยกาย ได้เปล่งวาจาระลึกถึงพระพุทธคุณ ใจก็น้อมนึกไปตาม ว่าผู้นั้นได้เจริญพุทธานุสสติกรรมฐาน จัดเป็นสมถกรรมฐานเป็นมหากุศล ตายด้วยจิตดวงเดียว อย่างต่ำต้องมาเกิดเป็นมนุษย์ อย่างกลางสามารถไปเกิดในสวรรค์ อย่างสูงสามารถไปสู่พระนิพพานได้ ดังพระปิติมัลละเถระเป็นตัวอย่าง คือพระเถระนั้นได้กวาดลานวัดแต่เช้าตรู่ ได้เห็นพระพุทธรูปของพระพุทธเจ้า ซึ่งเทวดานฤมิตนั้นขึ้น พอท่านเห็นก็เกิดปีติแล้วยกปีติขึ้นพิจารณา เจริญวิปัสสนากรรมฐานได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ดังนั้นผู้สร้างพระพุทธรูปจึงชื่อว่าได้บำเพ็ญภาวนากุศลไปด้วย
๔) อปจายนมัย บุญสำเร็จด้วยการประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตนต่อท่านผู้เจริญโดยคุณ โดยวัย โดยชาติ การไหว้พระพุทธรูป ไหว้พระสงฆ์ หรือไหว้ผู้แก่กว่า ชื่อว่าได้ประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตนต่อท่านผู้เจริญ จัดเป็นบุญกิริยาวัตถุ ดังนั้นผู้สร้างพระพุทธรูปจึงชื่อว่าได้บำเพ็ญอปจายนมัยกุศลไปด้วย
๕) ไวยาวัจจมัย บุญสำเร็จด้วยการช่วยขวนขวายในกิจที่ชอบ หมายความว่า ในการสร้างพระพุทธรูปนั้น จะต้องอาศัยคนเป็นจำนวนมาก การวิ่งเต้นช่วยกันในงานหล่อพระในงานฉลองพระ เป็นต้น ถือว่าเป็นมหากุศลมีผลไม่น้อย เช่น พระเจ้าจันทปัชโชติ พระไวยาวัจจกเถระ เป็นตัวอย่างดังนี้คือ
ก. พระเจ้าจันทปัชโชติ ได้ช่วยนายรับบาตรพระมาใส่อาหารและนำกลับไปถวายพระ ปรารถนาเป็นพระเจ้าแผ่นดิน และปรารถนาให้มียานพาหนะดี เดินทางได้วันละหลายๆ โยชน์ และปรารถนาให้ตนมีอำนาจวาสนามาก ครั้นตายแล้วก็ได้ไปเกิดเป็นพระเจ้าแผ่นดินมีนามว่า พระเจ้าจันทปัชโชติสมความปรารถนา
ข. พระไวยาวัจจกเถระ ในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระนามว่าพระวิปัสสี ท่านเป็นผู้ช่วยเหลือในกิจการของวัดและได้ช่วยเหลือในงานทำบุญต่างๆ ตายจากชาตินั้นได้ไปเกิดในสวรรค์ จุติมาเกิดเป็นพระราชาได้ออกบวชเจริญวิปัสสนากรรมฐานสำเร็จเป็นพระอรหันต์ แตกฉานในปฏิสัมภิพาทั้ง ๔ ได้วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ ดังนั้นผู้สร้างพระพุทธรูปจึงชื่อว่าได้บำเพ็ญไวยาวัจจมัยกุศลไปด้วย
๖) ปัตติทานมัย บุญสำเร็จด้วยการให้ส่วนบุญ หมายความว่า ผู้ที่ได้สร้างพระพุทธรูปจำเป็นอยู่เองที่จะบอกญาติสนิทมิตรสหายให้ทราบ เพื่อร่วมอนุโมทนาในการฉลองพระ การถวาย เป็นต้น นอกจากนั้นยังจะต้องอุทิศส่วนกุศลส่วนบุญให้แก่บิดามารดาปู่ย่าตายาย ท่านผู้มีพระคุณ เทพบุตร เทพธิดา เป็นต้นอีก ดังนั้นผู้สร้างพระพุทธรูปจึงชื่อว่าได้บำเพ็ญปัตติทานมัยกุศลไปด้วย
๗) ปัตตานุโมทนามัย บุญสำเร็จด้วยการอนุโมทนาส่วนบุญ หมายความว่า เมื่อผู้สร้างพระพุทธรูปได้บอกบุญแจ้งข่าวแก่ญาติมิตรแล้ว ญาติมิตรเหล่านั้นก็จะต้องพากันอนุโมทนาต้อนรับเป็นอย่างดี เมื่อผู้อื่นมาอนุโมทนาท่านเจ้าภาพก็พลอยปลื้มปีติอนุโมทนาสาธุการตอบอีก การปฏิบัติอย่างนี้ จัดเป็นมหากุศลด้วยกันทั้งสองฝ่าย ดังนั้นผู้สร้างพระพุทธรูปจึงชื่อว่าได้บำเพ็ญปัตตานุโมทนามัยกุศลไปด้วย
๘) ธัมมัสวนมัย บุญสำเร็จด้วยการฟังธรรม หมายความว่า ในการสร้างพระพุทธรูปนั้น เจ้าภาพบางคนก็ได้นิมนต์พระไปสวดชะยันโต เจริญพระพุทธมนต์ แสดงธรรม และเจ้าภาพบางคนได้พิมพ์หนังสือธรรมแจกเป็นธรรมทานในงานฉลองพระ เป็นต้น การปฏิบัติเช่นนี้ ชื่อว่าได้ให้ธรรมเป็นทานด้วย ตัวเองและผู้ได้มาร่วมงานก็ได้ฟังธรรมไปด้วย ดังนั้นผู้สร้างพระพุทธรูป จึงชื่อว่าได้บำเพ็ญธัมมัสวนมัยกุศลไปด้วย
๙) ธัมมเทสนามัย บุญสำเร็จด้วยการแสดงธรรม หมายความว่า การที่พระสงฆ์ได้มาสวดมนต์สวดชะยันโต หรือแสดงธรรมนั้น ก็เพราะเจ้าภาพเป็นผู้อาราธนามา นี้ชื่อว่าเจ้าภาพได้บุญอันสำเร็จจากการแสดงธรรมแล้ว ดังนั้นผู้สร้างพระพุทธรูป จึงชื่อว่าได้บำเพ็ญธัมมเทสนามัยกุศลไปด้วย
๑๐)ทิฏฐุชุกัมม์ การทำความเห็นให้ตรง หมายความว่า กุศลนั้นมีอยู่ ๔ ชั้นคือ
๑. กุศลชั้นกามาวจร ได้แก่ มหากุศลต่างๆ มีการสร้างพระพุทธรูป ถวายทาน สร้างศาลา ฟังธรรม แสดงธรรม เป็นต้น
๒. กุศลชั้นรูปาวจร ได้แก่ การเจริญสมถกรรมฐาน เช่น พุทธานุสสติ เป็นต้น
๓. กุศลชั้นอรูปาวจร ได้แก่ การเจริญอรูปกรรมฐาน ๔ มีอากานัญจายตนะ เป็นต้น
๔. กุศลชั้นโลกุตตระ ได้แก่ การเจริญวิปัสสนากรรมฐาน

การที่ผู้สร้างพระพุทธรูปได้เกิดศรัทธา จนถึงสละเงินออกมาสร้างพระพุทธรูปได้ และออกมาทำทานในงานฉลองพระพุทธรูปได้ ชื่อว่าเป็นผู้มีความเห็นตรงเห็นถูกแท้ เพราะเป็นบุญของตนเอง ไม่ใช่บุญของใครเลย
๑. ผู้สร้างพระพุทธรูป ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ประมาท
๒. ผู้สร้างพระพุทธรูป ชื่อว่าเป็นผู้ได้เตรียมตัวก่อนตาย

ขอบคุณข้อมูล : http://palipage.com/watam/piyapan4/K00088.htm

. . . . . . .