พบรอยเท้าเสือใหญ่ และผจญช้างตกมัน (ครูบาเจ้าชุ่ม วัดชัยมงคล (วังมุย) )

พบรอยเท้าเสือใหญ่ และผจญช้างตกมัน

ตะวันสีหมากสุกได้ลับหายไปจากแนวไม้แล้ว อากาศในแนวป่ากลางดงลึก เย็นลงอีก สรรพสำเนียงไพรยามค่ำเริ่มต้นแล้ว เสียงเสือคำราม สลับกับเสียงเก้งร้องเรียกหากันให้ระวังภัย ดังแว่วมาแต่ไกล นี่เพียงโพล้เพล้แต่เสียงเสือใหญ่ก็คำรามข่มขวัญสัตว์ป่าในพงไพรเสียแล้ว

ขณะที่ธุดงค์ผ่านป่าทึบในอำเภอเวียงป่าเป้า ตะวันเริ่มจะลับทิวไม้แล้ว ขณะที่ผ่านดอยนางแก้ว ได้พบรอยเท้าเสือขนาดใหญ่เท่าฝ่ามือกางออก เป็นรอยเท้าที่เพิ่งเหยียบย่ำผ่านไปใหม่ๆ น้ำที่ขังในรอยเท้ายังขุ่นอยู่ ครูบาเจ้าชุ่มเจ้าชุ่มหาได้เกรงกลัวไม่ ได้เจริญพรหมวิหารสี่ แล้วแผ่เมตตาให้ โดยอธิษฐานว่า

“หากมีกรรมเก่าติดค้างกันมา ก็ขอยอมสละชีวิตเพื่อเป็นพุทธบูชาหากไม่มีกรรมเก่าต่อกันแล้วไซ้ ขออย่าได้ทำร้ายกันเลย จะเกิดกรรมติดตัวไปไม่รู้จบไม่รู้สิ้น”

แล้วท่านและผู้ติดตามจึงเดินทางเข้าป่าใหญ่ ในทิศทางเดียวกับที่เสือใหญ่เดินผ่าน ไม่กี่อึดใจก็ทะลุออกป่าโปร่ง แต่ก็ไม่พบเสือใหญ่ตัวนั้นเลย

เข้านิโรธสมาบัติใน “ถ้ำปุ่ม* ถ้ำปลา”
*ภาษาเหนือแปลว่า ปู

ในการเดินธุดงค์รอนแรมไปตามที่ต่างๆ นั้น ครูบาเจ้าชุ่มเจ้าชุ่มได้สั่งสอนให้พระภิกษุ-สามเณรที่ติดตามท่าน ปฏิบัติตามหลักธุดงควัตร 13 ข้อ อย่างเคร่งครัด ต้องสวดมนต์ทำวัตรเช้า-เย็น และเจริญพระกรรมฐานอย่างสม่ำเสมอ เจริญมรณานุสติ ไม่ยึดติดในร่างกาย ธาตุ 4 ขันธ์ 5 นี้อีกไม่นานก็แตกดับสลายไปเป็นอนัตตา มีความมักน้อยสันโดษ เช่น ถือการอยู่โคนไม้เป็นวัตร, ถือผ้า 3 ผืนเป็นวัตร, ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ฯลฯ

บางครั้งครูบาและสามเณรได้รับความลำบากในเรื่องอาหารขบฉันบ้าง การจาริกไปในป่าเขา นานๆ จึงจะพบปะบ้านคนสักครั้งหนึ่ง บางครั้งออกเดินทางไปบิณฑบาตยังหมู่บ้านเล็กๆ ซึ่งมีเพียง 2-3 หลัง ได้ข้าวนึ่งมา 2-3 ก้อน จากนั้นไม่พบผู้ใส่บาตรอีกเลย เมื่อกลับมายังกลด เปิดฝาบาตรขึ้นเพื่อพิจารณาอาหารตามปัจจเวกขณะวิธี ได้พิจารณาถึงเมื่อครั้งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในคราวเสด็จออกทรงผนวช แล้วเสด็จออกโปรดสัตว์ คือบิณฑบาตในวันแรก

“โอ้หนอ นี่นับว่าเป็นความโชคดีของเรา ที่ได้ดำเนินตามรอยพระยุคลบาทของพระพุทธองค์” ครูบาเจ้าชุ่มเจ้าชุ่มพลันรู้สึกปีติท่วมท้น ลงมือฉันข้าวเปล่าๆ เพื่อประทังชีวิตให้อยู่รอดเท่านั้น

เมื่อเข้าสู่เขตจังหวัดเชียงราย คณะของครูบาเจ้าชุ่มได้หยุดพักที่ป่าช้าโดยมุ่งหมายว่าจะธุดงค์ไปยัง “ถ้ำปุ่ม ถ้ำปลา” ต่อไป ขณะที่พักอยู่นั้น มีชาวบ้านนำอาหารมาถวาย และสอบถามครูบาเจ้าชุ่มว่า จะไปที่ใดต่อ ครูบาเจ้าชุ่มเจ้าชุ่มได้บอกตามเจตนาว่า จะไปกราบนมัสการพระพุทธรูปบน “ถ้ำปุ่ม ถ้ำปลา”

ได้ยินดังนั้น ชาวบ้านจึงพากันขอร้องมิให้ครูบาเจ้าชุ่มไป เพราะระหว่างทางที่จะขึ้นสู่ถ้ำ ขณะนี้มีช้างตกมันตัวใหญ่อาละวาดอยู่ ช้างตัวนี้มันทำร้ายคนบาดเจ็บและตายมาหลายคนแล้ว มันดุร้ายจนไม่มีใครกล้าย่างกรายผ่านบริเวณนี้เลย ขอครูบาเจ้าโปรดยับยั้งอยู่ที่นี้ก่อน

ครูบาเจ้าชุ่มนิ่งอยู่สักครู่ จึงได้กล่าวว่า “อาตมาตกลงใจแล้วว่าจะต้องขึ้นไปบนถ้ำ เพื่อกราบนมัสการพระพุทธรูปให้จงได้ ตามวันเวลาที่กำหนด ไม่สามารถหยุดยั้งอยู่ได้ และอาตมาขอบใจมากที่ได้แจ้งข่าวให้ทราบ”

จากนั้นคณะของครูบาเจ้าชุ่ม ก็ได้ออกเดินทางเข้าป่า มุ่งหน้าสู่ถ้ำในทันที ขณะที่เดินเข้าป่า ท่านได้กำหนดจิต แผ่เมตตาให้แก่ช้างตกมันเชือกนั้น และทุกคนก็ได้พบช้างตัวนั้นกำลังอาละวาด พุ่งชนต้นไม้ใหญ่อยู่ข้างหน้าอย่างดุร้าย ครูบาเจ้าชุ่มยังคงเดินมุ่งหน้าไปเรื่อยๆ อย่างสงบ

ในขณะที่คณะของท่านเดินเข้าไปใกล้ช้างตกมันเชือกนั้น มันได้หยุดมองดูครูบาเจ้าชุ่ม และคณะก่อนที่จะหันหน้าหลบเข้าสู่กอไผ่ พร้อมกับยืนสงบนิ่ง ปัดใบหูไปมาราวกับเป็นสัตว์เชื่องตัวหนึ่ง ไม่เหลือความดุร้ายอยู่เลย ครูบาเจ้าชุ่มและคณะได้เดินผ่านไปอย่างปกติโดยไม่มีเหตุการณ์ร้ายใดๆ เกิดขึ้น ท่านเร่งเดินทางอย่างเร็ว ไม่ได้แวะพักระหว่างทาง เพราะจวนจะค่ำมืดเต็มทีแล้ว ทุกคนต่างมุ่งหน้าไปสู่ถ้ำที่อยู่เบื้องหน้าด้วยจิตใจเข้มแข็งเด็ดเดี่ยวยิ่งนัก

พบฤๅษี ๔ ตนหน้าถ้ำ

เมื่อขึ้นถึงบริเวณหน้าถ้ำ ได้พบฤๅษี ๔ ตน เมื่อพวกฤๅษีเห็นคณะของครูบาเจ้าชุ่มผ่านป่าขึ้นมาได้ จึงไต่ถามระคนแปลกใจว่า

“ท่านพระภิกษุผู้เจริญ ขณะเดินผ่านป่ามาพบช้างตกมันอยู่หรือไม่”

ครูบาเจ้าชุ่มตอบคำถามของท่านฤๅษีไปตามตรงว่า

“พบ…แต่ไม่เห็นเขาทำอะไรอาตมาและคณะเลย”

เหล่าฤๅษีต่างยกมืออนุโมทนาท่วมหัว พร้อมกับอุทานออกมาว่า

“ช้างหนุ่มตัวนี้ตกมัน ดุร้ายมาก เมื่อเช้านี้มันยังไล่พวกกลุ่มของผมที่ออกไปหาผลหมากรากไม้อยู่เลย เป็นเรื่องที่น่าแปลกมากที่มันไม่ทำร้ายท่าน พวกผมที่อยู่บนถ้ำนี้ ไม่สามารถออกไปสู่ภายนอก เพื่อขอข้าวสารจากชาวบ้านได้ เป็นเวลาเกือบอาทิตย์มาแล้ว นับว่าเป็นบุญบารมีของท่านโดยแท้ ที่ช้างตกมันตัวนี้ไม่ทำอันตรายท่านเลย”

ครูบาเจ้าชุ่มได้แต่รับฟังด้วยอาการวางเฉย

ในบริเวณใกล้ถ้ำ มีสำนักสงฆ์เล็กๆ และมีพระภิกษุชราพำนักอยู่ ครูบาเจ้าชุ่มได้พาสามเณรทั้ง 2 รูปพร้อมศรัทธาผู้ติดตาม ไปพบพระภิกษุชรานั้น พร้อมเอ่ยปากฝากศิษย์ไว้สักอาทิตย์ จากนั้นครูบาเจ้าชุ่มได้บอกแก่ลูกศิษย์ว่า

“หลวงพ่อจะเข้าไปปฏิบัติธรรมในถ้ำสัก ๗ วัน หากหลวงพ่อไม่กลับออกมา ให้พวกเธอกลับวัดกันได้เลย ในย่ามของหลวงพ่อพอมีปัจจัยอยู่บ้าง ให้ใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางกลับ แล้วหากกลับไปก็ไม่ต้องบอกกล่าวสิ่งใดกับญาติโยมทั้งสิ้น”

ท่านบอกศิษย์เพียงเท่านั้น แล้วจัดแจงครองผ้าให้เป็นปริมณฑล พร้อมเตรียมดอกไม้ ธูปเทียน ไม้ขีดไฟ และตักน้ำใส่ในบาตรเดินทางเข้าสู่ถ้ำ

บรรยากาศภายในถ้ำค่อนข้างอับชื้น กลิ่นมูลค้างคาวโชยมาเป็นระยะ ท่านเดินลึกเข้าไปเรื่อยๆ แสงสว่างภายในถ้ำมีไม่มากนัก สลัวๆ เท่านั้นเอง เมื่อไปถึงบริเวณก้นถ้ำ ท่านจึงพิจารณาสถานที่ที่เหมาะสมในการเจริญสมาธิเข้านิโรธสมาบัติ

เมื่อได้สถานที่เหมาะสมแล้ว ท่านจึงปัดกวาดบริเวณพื้นถ้ำให้สะอาด จุดธูปเทียน พร้อมดอกไม้ นบนอบไหว้ ตั้งจิตอธิษฐาน รำลึกถึงพระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า และพระอริยสงฆ์เจ้า คุณบิดรมารดา ครูอาจารย์ เทพเทวดาอารักษ์ที่สถิตอยู่ในถ้ำแห่งนี้ อาตมาเข้ามาปฏิบัติธรรม ขอให้ช่วยดูแลให้ได้รับความสะดวกในการปฏิบัติธรรมพอสมควรด้วย

จากนั้นจึงเริ่มต้นนั่งสมาธิเข้านิโรธสมาบัติ เป็นเวลา ๗ วัน ๗ คืนติดต่อกัน โดยมิได้ฉันอาหารใดๆ เลย นอกจากน้ำในบาตรที่นำเข้าไปเท่านั้น เมื่อครบกำหนด ๗ วัน ครูบาเจ้าชุ่มได้กำหนดจิตถอนสมาธิออกจากนิโรธสมาบัติ ท่านพบว่าจีวรและสังฆาฏิที่ครองอยู่เปียกชื้นไปหมด จากนั้นท่านจึงได้ลุกเดินออกมาสู่บริเวณใกล้ๆ ปากถ้ำ และได้พักนิ่งอยู่ เพื่อเตรียมจะเข้านิโรธสมาบัติต่อไปอีกเป็นวันที่ ๘

หนูท้องขาวกระทำทักษิณาวัตร

ขณะนั้นเอง ท่านแลเห็นหนูท้องขาวตัวหนึ่ง วิ่งมาวนกระทำทักษิณาวัตรรอบองค์ของท่าน แล้วหยุดยืนยกสองขาหน้าขึ้น ต่อหน้าครูบาเจ้าชุ่มถึงสามครั้ง ในลักษณะนบไหว้ จากนั้นมันจึงวิ่งหนีหายเข้าไปภายในถ้ำ แล้วครูบาเจ้าชุ่มก็เข้านิโรธสมาบัติต่อไปเป็นวันที่ 8 ตามความตั้งใจ จนรุ่งสาง ท่านจึงถอนจิตออกจากนิโรธสมาบัติ ตรวจตราความเรียบร้อยแล้วจึงสะพายบาตรเดินออกสู่ปากถ้ำ เพื่อจะไปพบลูกศิษย์ของท่านที่รออยู่ ณ สำนักสงฆ์เบื้องล่าง

เมื่อถึงปากถ้ำ ปรากฏว่าพระภิกษุผู้ชรา พร้อมลูกศิษย์ของท่านได้พากันมายืนคอยท่านอยู่แล้ว ทุกคนต่างตรงเข้าประคองครูบาเจ้าชุ่มเจ้าชุ่มลงไปที่สำนักสงฆ์เบื้องล่างและต้มข้าวถวายครูบาเจ้าชุ่ม พร้อมกับเอ่ยคำว่า “ท่านครูบาจะเข้านิโรธสมาบัติก็ไม่บอกผมด้วย จะได้บอกชาวบ้านเขามาเอาส่วนบุญ”

ครูบาเจ้าชุ่มก็ได้แต่ยิ้ม มิได้กล่าวประการใด จากนั้นท่านจึงนำคณะผู้ติดตามออกธุดงค์ต่อไป เพื่อจะไปนมัสการพระธาตุดอยตุง ขณะที่เดินลึกเข้าไปในป่าเขาเรื่อยๆ ยิ่งไม่พบพานบ้านคนเลย ขณะนี้เป็นเวลาใกล้จะเพลแล้ว ท่านเกรงว่าลูกศิษย์จะทนความหิวไม่ได้ ท่านจึงตั้งจิตอธิษฐานว่า

“ด้วยกุศลผลบุญที่ได้เพียรปฏิบัติมาในการออกธุดงค์ครั้งนี้ ขอให้ได้พบบ้านผู้คนเพื่อบิณฑบาตด้วย”

พบชายชราผู้วิเศษ

ครูบาเจ้าชุ่ม นำคณะเดินต่อมาอีกไม่นาน ก็ได้พบกับบ้านหลังหนึ่ง มีชายชราสูงอายุคนหนึ่งกำลังนั่งเหลาไม้อยู่ที่ชานเรือน เมื่อได้เห็นครูบาเจ้าชุ่มและลูกศิษย์ ก็รีบเข้ามานิมนต์ให้แวะมาฉันน้ำเสียก่อน จากนั้นก็รีบขึ้นบนเรือนไปจัดภัตตาหาร แล้วนิมนต์ครูบาเจ้าชุ่ม และสามเณร ให้ขึ้นไปฉันเพลบนเรือนทันที เมื่อครูบาเจ้าชุ่มรับนิมนต์และฉันเพลเรียบร้อยแล้ว ท่านก็ให้ศีลให้พรแก่ชายชราผู้นั้นตามลำดับ จู่ๆ ชายชราก็สอบถามครูบาเจ้าชุ่ม ถึงรายละเอียดในการปฏิบัติธรรมขึ้นมา แล้วยังพูดว่า

“การเข้านิโรธสมาบัติได้ถึง ๗ – ๘ วัน โดยไม่อ่อนเพลียเช่นนี้ นับว่าท่านเข้าถึงธรรมชั้นสูง มีบุญบารมีมาก ขอให้รักษาไว้ให้ดี เพื่อจักได้เมตตาโปรดสัตว์โลกและมวลมนุษย์ต่อไป”

จากการตั้งปัญหาถามเองและตอบเองนี้ ยังความแปลกใจให้กับครูบาเจ้าชุ่มมาก เพราะไม่เคยรู้จักกันมาก่อน อีกทั้งท่านก็ยังไม่ได้เอ่ยอ้างหรือสนทนาธรรมใดๆ กับชายผู้นี้เลย นอกจากนั้น ชายชราผู้นี้ยังได้อาสาเป็นผู้นำทางพาครูบาเจ้าชุ่มออกสู่ถนนหลวง และเมื่อถึงชายป่าและชี้ทางสู่ถนนหลวงแล้วจึงได้รีบอำลากลับทันที โดยครูบาเจ้าชุ่มมิได้หันกลับไปมองชายชราผู้นั้นอีกเช่นกัน

ครูบาเจ้าชุ่มเคยกล่าวถึงการอดอาหารนานๆ ว่า “ไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อยหรืออ่อนเพลียหิวโหยเท่าใดนักเป็นการปฏิบัติธรรมด้วยความสมัครใจ เป็นการฝึกความอดทน ความเพียรพยายาม ให้บรรลุซึ่งมรรคผลทางธรรมต่อไป”

http://www.dharma-gateway.com/monk/monk_biography/kb-choom-photigo/kb-choom-hist-01-01.htm

. . . . . . .