ชีวประวัดิ พระคุณเจ้า หลวงปู่หลุย จันทสาโร ๐๔
จากหนังสือ จันทสาโรบูชา
โดยคุณหญิงสุรีย์พันธุ์ มณีวัต
พรรษา ๑๒ พ.ศ. ๒๔๗๙ อยู่ด้วยท่านพระอาจารย์เสาร์
จำพรรษา ณ วัดป่าสุทธาวาส อ.เมือง จ.สกลนคร
เสร็จธุระจากการอบรมชาวบ้านทางบ้านหนองผือแล้ว หลวงปู่ก็ลาจากญาติโยมที่นั่นมา ท่านรับว่า การลาจากพวกชาวบ้านบ้านหนองผือ ทำให้ท่านบังเกิดความอาลัยอาวรณ์ คล้ายกับจะต้องจากญาติมิตรสนิทไปแสนไกลเช่นนั้น เป็นความรู้สึกที่ท่านไม่เคยเกิดกับศรัทธาในหมู่ใด ถิ่นใดมาก่อน ทั้ง ๆ ที่ครูบาอาจารย์เคยสั่งสอนอบรมมาว่า พระธุดงคกัมมัฏฐานไม่ควรจะติดตระกูล ติดที่อยู่ ควรทำตนให้เหมือนนกที่เมื่อเกาะกิ่งไม้ใด ถึงคราจะต้องบินจากไป ก็จะโผไปจากกิ่งไม้นั้นได้โดยพลันไม่มีห่วงหาอาลัย หรือร่องรอยที่จะแสดงให้เห็นได้ว่า เท้าของเจ้านกน้อยนั้นเคยเกาะพำนักอยู่กับไม้ต้นนั้น กิ่งนั้น
แต่สำหรับชาวบ้านหนองผือนั้น ท่านมีความสนิทใจด้วยอย่างมาก ด้วยเป็นคนว่านอนสอนง่าย อบรมเช่นไรก็เชื่อฟัง พยายามปฏิบัติตาม ส่วนฝ่ายชาวบ้านก็เคารพท่าน รักบูชาท่านอย่างเทิดทูน เห็นท่านดุจเทวดามาโปรด ตั้งแต่การที่ได้ยา “วิเศษ” ของท่านมารักษาโรคกันทั้งหมู่บ้าน ดังกล่าวมาแล้ว และยังช่วยเมตตาสั่งสอนให้รู้จักทางสวรรค์ทางนิพพานอีก ดังนั้น พอทราบข่าวว่า ท่านจะลาจากไปจึงพากันร้องไห้อาลัย อันทำให้ท่านสารภาพในภายหลังว่า ทำให้ท่านใจคอไม่ค่อยปกติไปเหมือนกัน ท่านกล่าวว่า คงจะเป็นกุศลวาสนาที่เคยเกี่ยวข้อง อบรมทรมานกันมาในชาติก่อน ๆ ก็เป็นได้ ที่ทำให้เกิดความคุ้นเคยกันเช่นนี้
ต่อมา ในอนาคตอีกเกือบ ๑๐ ปีต่อมา ท่านก็ได้กลับมา ณ ที่ละแวกบ้านหนองผือนี้อีก ได้มาจำพรรษาอีกครั้งหนึ่ง ในปี พ.ศ. ๒๔๘๗ และแนะนำสั่งสอนให้อุบายชาวบ้านคณะนี้ให้ได้มีโอกาสอันยิ่งใหญ่ สามารถอาราธนานิมนต์ท่านพระอาจารย์มั่น พระบิดาของพระธุดงคกัมมัฏฐานภาคอีสานได้มาอยู่จำพรรษาเป็นประทีปส่องทางธรรมอยู่ติดต่อกันถึง ๕ พรรษา นับเป็นสถานที่ซึ่งท่านพระอาจารย์มั่นจำพรรษาอยู่นานที่สุด และเป็นเวลาช่วงสุดท้ายแห่งปัจฉิมสมัยของท่านด้วย ทำให้ “บ้านหนองผือ” เป็นนามที่โลกทางธรรมต้องรู้จักและจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ตลอดไป
ครั้งแรก ท่านคิดจะเดินทางกลับไปทางจังหวัดบ้านเกิด เพราะมีนิมิตถึงโยมมารดา และตัวท่านก็ธุดงค์จากบ้านเกิดมาช้านาน อย่างไรก็ดี พอดีได้ทราบว่าท่านพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล อยู่ที่วัดป่าสุทธาวาส ท่านจึงรีบไปกราบด้วยความเคารพ ทั้งนี้เพื่อจะรายงานเรื่องการที่ท่านสั่งให้ไปอยู่ถ้ำโพนงาม แต่เมื่อปีก่อนโน้นให้ทราบด้วย
การได้มาอยู่ปรนนิบัติรับใช้ครูบาอาจารย์ผู้ใหญ่อีกวาระหนึ่ง ทำให้ท่านคิดว่าเป็นโอกาสอันประเสริฐ เหมือนจู่ ๆ ได้เห็นแก้ววิเศษลอยมาใกล้ตัว จะไม่เชิญแก้วดวงวิเศษไว้บูชาหรือ จะปล่อยให้ลอยผ่านพ้นไปได้อย่างไร…โอกาสเช่นนี้มีไม่ได้ง่าย ๆ สำหรับการกลับไปเยี่ยมบ้านนั้นน่าจะรอต่อไปได้ บ้านโยมมารดาก็คงอยู่ ณ ที่เก่า ไม่ได้ถอนเสาเรือนหายไปไหน อีกทั้งเราได้แผ่เมตตาให้มารดา ทำร่มมุ้งกลดแจกจ่ายพระเณร แม่ชี อุทิศกุศลให้มารดาตลอดมาอยู่แล้ว
ปี ๒๔๗๙ ท่านจึงได้อธิษฐานพรรษาอยู่ด้วยท่านพระอาจารย์เสาร์ ณ วัดป่าสุทธาวาส เนื่องจากท่านไม่มีนิสัยชอบเทศนาอบรมเอง หลวงปู่หลุยจึงรับหน้าที่เป็นผู้คอยดูแลอบรมพระเณรที่มาอยู่กับท่านพระอาจารย์เสาร์ ให้อยู่ในธรรมวินัยและอาจาริยวัตรข้อปฏิบัติอันดีงาม
อาจาริยวัตรที่ท่านฝึกปรือมาแต่สมัยอยู่กับท่านพระอาจารย์บุญ ปฏิบัติรับใช้อาจารย์องค์แรกของท่านมาด้วยความเลื่อมใสศรัทธาเป็นเวลา ๖-๗ ปี มาครั้งนี้ท่านก็ใช้อย่างเต็มที่ แม้ท่านจะมีพรรษากว่าสิบแล้ว แต่ท่านก็คงนอบน้อมถ่อมองค์ให้พระเณรรุ่นหลังได้เห็นเป็นตัวอย่าง ให้ตระหนักในวัตรเหล่านั้น
– ต้องฉันทีหลังอาจารย์
– ฉันให้เสร็จก่อนอาจารย์
– นอนหลังอาจารย์ และ
– ตื่นก่อนอาจารย์ เป็นอาทิ
การอุปัฏฐากพิเศษที่พระเณรพยายามปฏิบัติเป็นกิจวัตร แต่ทำไม่ค่อยคล่องก็คือ การกดเอ็นท้องให้ท่านในเวลานวดเส้นตอนกลางคืน ท่านเป็นคนรูปร่างใหญ่ หนังท้องค่อนข้างหนา ด้วยท่านมีอายุมากแล้ว อีกประการหนึ่ง ท่านก็เคยชินต่อการนวดแรง ๆ มาแล้ว การกดคั้นเอ็นท้องของท่านจึงต้องใช้และกำลังแข็งแกร่งมากเป็นพิเศษ พระเณรผู้ปฏิบัติไม่ค่อยมีกำลังนิ้วมือแข็งแรงพอ จึงมาปรารภกัน หลวงปู่ได้เข้าไปขออนุญาตนวดเอ็นท่าน และสุดท้ายก็ได้อธิบายมาสอนกัน ค่อยให้พยายามกำหนดภาวนาไปด้วย เมื่อจิตเป็นสมาธิ กำลังมือก็จะหนักหน่วง แข็งแรง…ใจสู่ใจ ผู้รับนวดก็จะสบายกาย ผู้นวดก็จะไม่เปลืองแรง…ดีด้วยกันทั้งสองฝ่าย
หลวงปู่บันทึกเรื่องเกี่ยวกับหลวงปู่เสาร์ไว้หลายแห่ง หลายวาระ คงจะเป็นความประทับใจของท่านอย่างมาก ที่ได้เคยเดินธุดงค์และจำพรรษากับหลวงปู่เสาร์
“ท่านเกิดที่บ้านข่าโคม อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ ๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๐๒ ท่านเป็นคณาจารย์ใหญ่ของพระกัมมัฎฐานทั้งหมด
ได้มรณภาพในท่านั่งสมาธิ ในอุโบสถวัดอำมาตย์ จำปาศักดิ์ ลาว เมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ ตรงกับ ๒ ฯ๊ ๓ (วันจันทร์ ขึ้นเจ็ดค่ำ เดือน ๓ —–ผู้เขียน) ปีมะโรง เชิญศพมาจุดศพ ณ วัดบูรพาราม อำเภอเมืองอุบล จังหวัดอุบลราชธานี ในเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๘๖”
สำหรับเรื่องนิสัย หลวงปู่หลุยบันทึกไว้ว่า
“นิสัยท่านอาจารย์เสาร์ นิสัยชอบก่อสร้าง ชอบปลูกพริกหมากไม้ ลักษณะจิตเยือกเย็น มีพรหมวิหาร ทำจิตดุจแผ่นดิน มีเมตตาเป็นสาธารณะ เป็นคนพูดน้อย ยกจิตขึ้นสู่องค์เมตตาสุกใสรุ่งเรือง เป็นคนเอื้อเฟื้อในพระวินัย ทำความเพียรเป็นกลางไม่ยิ่งไม่หย่อน พิจารณาถึงขั้นภูมิธรรมละเอียดมาก ท่านบอกให้เราภาวนาเปลี่ยนอารมณ์แก้อาพาธได้ ฯ
อยู่ข้างนอกวุ่นวาย เข้าไปหาท่านจิตสงบดี ฯ เป็นอัศจรรย์ปาฏิหาริย์หลายอย่าง จิตของท่านชอบสันโดษ ไม่มักใหญ่ใฝ่สูง หมากไม่กินบุหรี่ไม่สูบ ท่านแดดังเป็นอุปัชฌายะ ฯ เดินจงกรมภาวนาเสมอไม่ละกาล น้ำใจดี ไม่เคยโกรธเคยขึ้งให้พระเณรอุบาสกอุบาสิกา มักจะวางสังฆทานอุทิศในสงฆ์สันนิบาต แก้วิปัสนูแก่สานุศิษย์ได้ อำนาจวางจริตเฉย ๆ เรื่อย ๆ ชอบดูตำราเรื่องพุทธเจ้า รูปร่างใหญ่ สันทัด เป็นมหานิกาย ๑๐ พรรษา จึงมาญัตติเป็นธรรมยุต ฯ ชอบรักเด็ก เป็นคนภูมิใหญ่กว้างขวาง ยินดีทั้งปริยัติ ปฏิบัติ ลักษณะเป็นคนโบราณพร้อม ทั้งกาย วาจา ใจ เป็นโบราณทั้งสิ้น ไม่เห่อตามลาภยศสรรเสริญ อาหารชอบเห็ด ผลไม้ต่าง ๆ ชอบน้ำผึ้ง”
เป็นที่น่าสังเกตว่า ท่านบันทึกไว้แม้แต่ว่า อาหารนั้น อาจารย์ของท่านจะชอบอะไร ทั้งนี้แสดงว่า สัทธิวิหาริก หรืออันเตวาสิก ต้องพยายามอุปัฏฐากปฏิบัติครูบาอาจารย์ โดยหาอาหารที่ถูกรสถวายให้ฉันได้ เพราะครูบาอาจารย์ผู้มีอายุนั้นธาตุขันธ์กำลังทรุดโทรม ควรจะต้องพยายามถวายอาหารที่จะช่วยบำรุงธาตุขันธ์ให้ยืนยาว
ต่อมาอีก ๑๙ ปี ระหว่างจำพรรษาที่สวนพ่อหนูจันทร์ ท่านบันทึกว่า
“พ.ศ. ๒๔๙๘ จำพรรษาสวนพ่อหนูจันทร์ ฝันได้นวดขาท่านอาจารย์เสาร์ คล้ายอยู่กุฎี ขอโอกาสท่านนวดขาเข้า จะได้ขึ้นรถและเกวียนไปที่อื่น”
และแม้ไนปี ๒๕๒๙ ท่านยังได้บันทึกไว้อีกว่า
“ลัทธิท่านอาจารย์เสาร์ พระครูวิเวกพุทธกิจ มีเมตตาแก่สัตว์เป็นมหากรุณาอย่างยิ่ง วางเป็นกลาง เยือกเย็นที่สุด เมตตาของท่านสดใสเห็นปาฏิหาริย์ของท่าน สมัยขุนบำรุงบริจาคที่ดินและไม้ทำสำนักแม่ขาวสาริกา วัดสุทธาวาส จ. สกลนคร แก้สัญญาวิปลาส ท่านอาจารย์มั่นกับท่านเจ้าคุณหนูวัดสระปทุมในสมัยนั้น จนสำเร็จเป็นอัศจรรย์ เรียกว่าเป็นพ่อพระกรรมฐานภาคอีสาน นี้ท่านอาจารย์เสาร์เล่าให้ฟัง สมัยที่เราอยู่กับท่าน เดินธุดงค์ไปด้วยท่าน ปรารถนาเป็นพระปัจเจก กับปรารถนาเป็นสาวกสำเร็จอรหันต์ในศาสนาสมณโคคมพุทธเจ้าของเรา แก้บ้าท่านอาจารย์ หนู ไม่สำเร็จเพราะเธอเชื้อบ้าติดแต่กำเนิด ท่านอาจารย์มั่นเคารพท่านอาจารย์เสาร์มากที่สุด เพราะเป็นเณรของท่านมา แต่ก่อนท่านเรียกท่านอาจารย์ว่า เจ้า ๆ ข้อย ๆ ”
(เจ้า ๆ แทนตัวหลวงปู่มั่น ข้อย ๆ แทนตัวหลวงปู่เสาร์ ผู้เขียน)
ในเรื่องการปรารถนาเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าของหลวงปู่เสาร์นั้นในภายหลังเมื่อหลวงปู่หลุยเล่าเรื่องนี้ให้ศิษย์ฟัง ท่านก็ได้สารภาพให้ศิษย์ใกล้ชิดฟังเหมือนกันว่า
ตัวหลวงปู่หลุยเองก็เคยปรารถนาเป็น พระปัจเจกพุทธเจ้า เช่นเดียวกันกับหลวงปู่เสาร์เหมือนกัน ท่านเองก็มีนิสัยไม่อยากอยู่นำหมู่นำพวก ชอบอยู่คนเดียวไปคนเดียวเหมือนกัน พระปัจเจกพุทธเจ้าที่อยู่เขาคันธมาทน์นั้น แม้จะอยู่กันถึงห้าร้อยองค์ แต่ก็ไปบิณฑบาตองค์เดียวมาเลี้ยงกัน ท่านเห็นความสบาย และก็ไม่ค่อยห่วงพวกห่วงหมู่ด้วย จึงปรารถนาเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ต่อเมื่อพบพ่อแม่ครูบาอาจารย์เทศนาสั่งสอนอบรม เห็นโทษของการเวียนเกิดเวียนตาย หลวงปู่มั่นประเสริฐเลิศลอยกว่าท่านเป็นหมื่นเท่าแสนเท่า ท่านยังต้องไปเวียนวนเกิดเป็นสุนัขถึงอสงไขยชาติ หลวงปู่เสาร์ก็ยังยอมเลิกปรารถนาพุทธภูมิ ท่านอาจารย์บุญอาจารย์องค์แรกของท่านก็นิพพานไปแล้ว ท่านเองเป็นศิษย์ จะอวดเก่งกล้ากว่าพ่อแม่ครูจารย์ได้อย่างไร
ท่านชี้ให้ฟังว่า ผู้เคยปรารถนาพุทธภูมินั้น แม้จะละเลิกความปรารถนาแล้วก็ตาม แต่สายใยแห่งความปรารถนาเดิมจะยังคงแน่นเหนียวอยู่มาก การพิจารณาตัดขาด จึงทำไม่ค่อยได้ง่าย ๆ ปากว่า ล้มเลิกความปรารถนาแล้ว แต่ในก้นบึ้งของจิตมันยังซุกซ่อนตัวเกาะรากฝังแน่นอยู่ ต้องตัดให้ขาด การทำความเพียรเพื่อให้แจ้งซึ่งพระนิพพานจึงจะรุดหน้า ตัวท่านเองกว่าจะฟันฝ่ามาได้ก็ลำบากพอดู
อนึ่ง โดยที่หลวงปู่ท่านมักจะบันทึกเหตุการณ์ไว้มีข้อความสั้น ๆ ส่วนใหญ่คงเป็นเพียงบันทึกย่อเพื่อช่วยความจำ ในเรื่องราวเกี่ยวกับหลวงปู่เสาร์ก็เช่นเดียวกัน
ดังเช่นบางตอนท่านบันทึกว่า
“ท่านอาจารย์เสาร์หนักอยู่ในสมาธิและพรหมวิหาร…ท่านชอบอนุโลมตามนิสัยของสัตว์…..”
และ
“ท่านอาจารย์เสาร์ทำจิตยกก้นพ้นฟากแล้ว ๑ ศอก พลิกจิตอย่างไรไม่รู้ ตกต่าง ไม่อย่างนั้นเหาะไปที่ไหนไม่รู้…..”
ดังนั้น เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้อรรถรสในเรื่องนี้อย่างเต็มเปี่ยม จึงขอกราบเท้านมัสการ พระคุณเจ้าท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน ขออนุญาตนำข้อความตอนที่ท่านได้เขียนไว้เกี่ยวกับ พระคุณเจ้าหลวงปู่เสาร์ กันตสีโล ในหนังสือ “ประวัติท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ” มาลงพิมพ์ด้วยความเคารพรัก และเทิดทูนอย่างสูงสุด ดังนี้
ความต่อไปนี้ ขอเชิญมาจากหนังสือ “ประวัติท่านพระอาจารย์มั่นภูริทัตตเถระ” โดยพระคุณเจ้าท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน…เป็นตอนที่ท่านพระอาจารย์มั่นเล่าถึงท่านพระอาจารย์เสาร์
“ท่าน* เล่าว่า นิสัยของท่านพระอาจารย์เสาร์เป็นไปอย่างเรียบ ๆ และเยือกเย็นน่าเลื่อมใสมาก ที่มีแปลกอยู่บ้างก็เวลาท่านเข้าที่นั่งสมาธิตัวของท่านชอบลอยขึ้นเสมอ บางครั้งตัวท่านลอยขึ้นไปจนผิดสังเกตเวลาท่านนั่งสมาธิอยู่
ท่านเองเกิดความแปลกใจในขณะนั้นว่า ‘ตัวเราถ้าจะลอยขึ้นจากพื้นแน่ ๆ’ เลยลืมตาขึ้นดูตัวเอง ขณะนั้นจิตท่านถอนออกจากสมาธิพอดี เพราะพะวักพะวงกับเรื่องตัวลอย ท่านเลยตกลงมาก้นกระแทกกับพื้นอย่างแรง ต้องเจ็บเอวอยู่หลายวัน
ความจริงตัวท่านลอยขึ้นจากพื้นจริง ๆ สูงประมาณ ๑ เมตร ขณะที่ท่านลืมตาดูตัวเองนั้นจิตได้ถอนออกจากสมาธิ จึงไม่มีสติพอยับยั้งไว้บ้าง จึงทำให้ท่านตกลงสู่พื้นอย่างแรง เช่นเดียวกับสิ่งต่าง ๆ ตกลงจากที่สูง ในคราวต่อไปเวลาท่านนั่งสมาธิ พอรู้สึกว่าตัวท่านลอยขึ้นจากพื้น ท่านพยายามทำสติให้อยู่ในองค์ของสมาธิแล้วค่อย ๆ ลืมตาขึ้นดูตัวเอง ก็ประจักษ์ว่า ตัวท่านลอยขึ้นจริง ๆ แต่มิได้ตกลงสู่พื้นเหมือนคราวแรก เพราะท่านมิได้ปราศจากสติและคอยประคองใจให้อยู่ในองค์สมาธิ ท่านจึงรู้เรื่องของท่านได้ดี ท่านเป็นคนละเอียดถี่ถ้วนอยู่มาก แม้จะเห็นด้วยตาแล้ว ท่านยังไม่แน่ใจ ต้องเอาวัตถุชิ้นเล็ก ๆ ขึ้นไปเหน็บไว้บนหญ้าหลังกุฏิ แล้วกลับมาทำสมาธิอีก
พอจิตสงบและตัวเริ่มลอยขึ้นไปอีก ท่านพยายามประคองจิตให้มั่นอยู่ในสมาธิ เพื่อตัวจะได้ลอยขึ้นไปจนถึงวัตถุเครื่องหมายที่ท่านนำขึ้นไปเหน็บไว้แล้วค่อย ๆ เอื้อมมือจับด้วยความมีสติ แล้วนำวัตถุนั้นลงมาโดยทางสมาธิภาวนา คือพอหยิบได้วัตถุนั้นแล้วก็ค่อย ๆ ถอนจิตออกจากสมาธิ เพื่อกายจะได้ค่อย ๆ ลงมาจนถึงพื้นอย่างปลอดภัย แต่ไม่ถึงกับให้จิตถอนออกจากสมาธิจริงๆ
เมื่อได้ทดลองจนเป็นที่แน่ใจแล้ว ท่านจึงเชื่อตัวเองว่าตัวท่านลอยขึ้นได้จริงในเวลาเข้าสมาธิ ในบางครั้ง แต่มิได้ลอยขึ้นเสมอไป นี้เป็นจริง นิสัยแห่งจิตของท่านพระอาจารย์เสาร์ รู้สึกผิดกับนิสัยของท่านพระอาจารย์มั่นอยู่มากในปฏิปทาทางใจ”
“จิตของท่านพระอาจารย์เสาร์เป็นไปอย่างเรียบ ๆ สงบเย็นโดยสม่ำเสมอ นับแต่ขั้นเริ่มแรกจนถึงสุดท้ายปลายแดนแห่งปฏิปทาของท่านไม่ค่อยล่อแหลมต่ออันตราย และไม่ค่อยมีอุบายต่าง ๆ และความรู้แปลก ๆ เหมือนจิตท่านพระอาจารย์มั่น”
“ท่านเล่าว่า ท่านพระอาจารย์เสาร์ เดิมท่านปรารถนาเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า เวลาออกบำเพ็ญพอเริ่มความเพียรเข้ามาก ๆ ใจรู้สึกประหวัด ๆ ถึงความปรารถนาเดิม เพื่อความเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า แสดงออกเป็นเชิงอาลัยเสียดายยังไม่อยากไปนิพพาน”
ท่านเห็นว่าเป็นอุปสรรคต่อความเพียรเพื่อความรู้แจ้งซึ่งพระนิพพานในชาติปัจจุบันนี้ ท่านเลยอธิษฐานของดจากความปรารถนานั้น และขอประมวลมาเพื่อความรู้แจ้งซึ่งพระนิพพานในชาตินี้ ไม่ขอเกิดมารับความทุกข์ทรมานในภพชาติต่างๆ อีกต่อไป
พอท่านปล่อยวางความปรารถนาเดิมแล้ว การบำเพ็ญเพียรรู้สึกสะดวก แลเห็นผลไปโดยลำดับ ไม่มีอารมณ์เครื่องเกาะเกี่ยวเหมือนแต่ก่อน สุดท้ายท่านก็บรรลุถึงแดนแห่งความเกษมดังใจหมาย แต่การแนะนำสั่งสอนผู้อื่น ท่านไม่ค่อยมีความรู้แตกฉานกว้างขวางนัก ทั้งนี้อาจจะเป็นไปตามภูมินิสัยเดิมของท่านที่มุ่งเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ซึ่งตรัสรู้เองชอบ แต่ไม่สนใจสั่งสอนใครก็ได้ อีกประการหนึ่ง ที่ท่านกลับความปรารถนาได้สำเร็จตามใจนั้น คงอยู่ในขั้นพอแก้ไขได้ ซึ่งยังไม่สมบูรณ์เต็มภูมิแท้”
“แม้ท่านพระอาจารย์มั่นเอง ตามท่านเล่า ว่าท่านก็เคยปรารถนาพุทธภูมิมาแล้วเช่นเดียวกัน ท่านเพิ่งมากลับความปรารถนาเมื่อออกบำเพ็ญธุดงคกรรมฐานนี่เอง โดยเห็นว่าเนิ่นนานเกินไปกว่าจะได้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมาตามความปรารถนา จำต้องท่องเที่ยว เกิด แก่ เจ็บ ตายอยู่ในวัฏสงสารหลายกัปหลายกัลป์ไม่ชนะ จะแบกขนทนความทุกข์ทรมานไม่มีวันจบสิ้นนี้ได้
“เวลาเริ่มความเพียรมาก ๆ จิตท่านมีประหวัด ประหวัดในความหลัง แสดงเป็นความอาลัยเสียดายความเป็นพระพุทธเจ้า ยังไม่อยากนิพพานในชาตินี้เหมือนท่านพระอาจารย์เสาร์ พออธิษฐานของดจากความปรารถนาเดิมเท่านั้น รู้สึกเบาใจหายห่วง และบำเพ็ญธรรมได้รับความสะดวกไปโดยลำดับ ไม่ขัดข้องเหมือนแต่ก่อน และปรากฏว่าท่านผ่านความปรารถนาเดิมไปได้อย่างราบรื่นชื่นใจ เข้าใจว่าภูมิแห่งความปรารถนาเดิมคงยังไม่แก่กล้าพอ จึงมีทางแยกตัวผ่านไปได้”
“เวลาท่านออกเที่ยวธุดงคกรรมฐานทางภาคอีสาน ตามจังหวัดต่าง ๆ ในระยะต้นวัย ท่านมักจะไปกับท่านพระอาจารย์เสาร์เสมอ แม้ความรู้ทางภายในจะมีแตกต่างกันบ้างตามนิสัย แต่ก็ชอบไปด้วยกัน
“สำหรับท่านพระอาจารย์เสาร์ท่านเป็นคนไม่ชอบพูด ไม่ชอบเทศน์ ไม่ชอบมีความรู้แปลก ๆ ต่างๆ กวนใจเหมือนท่านพระอาจารย์มั่น เวลาจำเป็นต้องเทศน์ท่านก็เทศน์เพียงประโยคหนึ่งหรือสองเท่านั้น แล้วก็ลงธรรมาสน์ไปเสีย
“ประโยคธรรมที่ท่านเทศน์ซึ่งพอจับใจความได้ว่า ‘ให้พากันละบาปและบำเพ็ญบุญ อย่าให้เสียชีวิตลมหายใจไปเปล่าที่ได้มีวาสนามาเกิดเป็นมนุษย์’ และ ‘เราเกิดเป็นมนุษย์ มีความสูงศักดิ์มาก แต่อย่านำเรื่องของสัตว์มาประพฤติ มนุษย์ของเราจะต่ำลงกว่าสัตว์ และจะเลวกว่าสัตว์อีกมาก เวลาตกนรกจะตกหลุมที่ร้อนกว่าสัตว์มากมาย อย่าพากันทำ’ แล้วก็ลงธรรมาสน์ไปกุฏิโดยไม่สนใจกับใครต่อไปอีก”
“ปกตินิสัยของท่านเป็นคนไม่ชอบพูด พูดน้อยที่สุด ทั้งวันไม่พูดอะไรกับใครเกิน ๒-๓ ประโยค เวลานั่งก็ทนทานนั่งอยู่ได้เป็นเวลาหลาย ๆ ชั่วโมง เดินก็ทำนองเดียวกัน แต่ลักษณะท่าทางของท่านมีความสง่าผ่าเผย น่าเคารพเลื่อมใสมาก มองเห็นท่านแล้วเย็นตาเห็นใจไปหลายวัน ประชาชนและพระเณรเคารพเลื่อมใสท่านมาก ท่านมีลูกศิษย์มากมายเหมือนท่านอาจารย์มั่น….”
“ทราบว่า ท่านพระอาจารย์ทั้งสององค์นี้รักและเคารพกันมาก ในระยะวัยต้น ไปที่ไหนท่านชอบไปด้วยกัน อยู่ด้วยกัน ทั้งในและนอกพรรษา พอมาถึงวัยกลางผ่านไป เวลาพักจำพรรษามักแยกกันอยู่แต่ไม่ห่างไกลกันนัก พอไปมาหาสู่กันได้สะดวก มีน้อยครั้งที่จำพรรษาร่วมกัน ทั้งนี้อาจเกี่ยวกับบรรดาศิษย์ซึ่งต่างฝ่ายต่างก็มีมากด้วยกันและต่างก็เพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกที ถ้าจำพรรษาร่วมกันจะเป็นความลำบากในการจัดที่พักอาศัย จำต้องแยกกันอยู่เพื่อเบาภาระในการจัดที่พักอาศัยไปบ้าง”
“ทั้งสองพระอาจารย์ขณะที่แยกกันอยู่จำพรรษาหรือนอกพรรษารู้สึกคิดถึงกันมากและเป็นห่วงกันมาก เวลามีพระที่เป็นลูกศิษย์ของแต่ละฝ่ายมากราบนมัสการ จะมากราบนมัสการท่านพระอาจารย์เสาร์หรือมากราบนมัสการท่านพระอาจารย์มั่น ต่างจะต้องถามถึงความสุขทุกข์ของกันและกันก่อนเรื่องอื่น ๆ จากนั้นก็บอกกับพระที่มากราบว่า “คิดถึงท่านพระอาจารย์….” และฝากความเคารพคิดถึงไปกับพระลูกศิษย์ที่มากราบเยี่ยมตามสมควรแก่ “อาวุโส ภันเต” ทุก ๆ ครั้งที่พระมากราบพระอาจารย์ทั้งสองแต่ละองค์”
*ท่าน หมายถึง พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตมหาเถระ
พรรษาที่ ๑๓ – ๑๔ พ.ศ. ๒๔๘๐ – ๒๔๘๑
กลับมาสู่แผ่นดินถิ่นกำเนิด
จำพรรษา ณ ป่าช้าหนองหมากผาง ต.นาอ้อ อ.เมือง จ.เลย
เมื่อออกพรรษาปี ๒๔๗๙ แล้ว ท่านก็คงปรนนิบัติรับใช้หลวงปู่เสาร์อยู่ ณ วัดป่าสุทธาวาสต่อไปอีกระยะหนึ่ง อากาศแห้ง หมดฝน หลวงปู่เสาร์ก็เตรียมตัวจะออกวิเวกต่อไป ตามวิสัยพระธุดงคกัมมัฏฐาน ท่านได้ออกธุดงค์ติดตามหลวงปู่เสาร์ไปทางท่าอุเทน มุกดาหาร และนครพนมด้วย ต่อมาได้มีพระเณรมาพึ่งบารมีหลวงปู่เสาร์มากขึ้น กลายเป็นกลุ่มคณะใหญ่ ท่านซึ่งปกติไม่ค่อยชอบหมู่พวก ชอบอยู่คนเดียวไปคนเดียวอย่างสะดวกใจ คิดจะอยู่ก็อยู่ คิดจะไปก็ไป….จึงคิดหนี เพราะการอยู่จำพรรษาด้วยหลวงปู่เสาร์นั้นเป็นด้วยความเคารพเทิดทูนอย่างสูงสุดต่อครูบาอาจารย์ คิดช่วยผ่อนคลายรับภาระอบรมพระเณรแทนท่านเท่านั้น
บัดนี้ระหว่างเวลาธุดงค์ แต่ละองค์ต่างก็ทำจิตของท่านไป ภาระในการอบรมก็แทบไม่ต้องมี ท่านจึงกราบลาหลวงปู่เสาร์แยกจากหมู่พวกมา ระยะนั้นมีนิมิตถึงโยมมารดาและทางบ้านมารบกวนในสมาธิบ่อยครั้ง ท่านจึงคิดจะมุ่งหน้ากลับไปแผ่นดินถิ่นกำเนิด ด้วยได้จากมาช้านานแล้ว แทบจะกล่าวได้ว่า พอบวชแล้ว ท่านก็ไม่ได้กลับไปให้มารดาและญาติพี่น้องได้เห็นหน้าเลย
ท่านได้ออกธุดงค์เที่ยวไปโดยตลอด….อุดร ขอนแก่น นครราชสีมา สกลนคร นครพนม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม…..สำหรับแถบบ้านเกิดเมืองนอนนั้นแทบจะไม่ยอมมาใกล้บ้าน
ดูเหมือนจะมีเพียงครั้งเดียว ที่ท่านกรายไปใกล้ญาติพี่น้อง คือการไปร่วมงานศพญาติทางโยมมารดาที่หล่มสัก ใน พ.ศ. ๒๔๗๔ แต่ก็ได้รับแผลชีวิตกระหน่ำเอาอย่างหนัก แทบจะต้องสึกหาลาเพศเตลิดเปิดเปิงไปทีเดียว เคราะห์ยังดีที่ได้อุบายวิเศษจากพระเถระผู้ใหญ่ช่วยสงเคราะห์ จึงสามารถครองเพศพรหมจรรย์ต่อไปได้อย่างเต็มภาคภูมิ
เหตุผลสำคัญที่ทำให้ท่านไม่ต้องการจะกลับมาจำพรรษาประพฤติปฏิบัติธรรมอยู่ ณ ที่ใกล้บ้านเกิด เพราะตระกูลของท่านเป็นตระกูลใหญ่ มีคนรู้จักมากหน้าหลายตาการบวชนั้น ถ้าเป็นการบวชตามประเพณีนิยม เพียงชั่วระยะ ๑ เดือน ๓ เดือน ทุกคนก็พอจะเข้าใจ ด้วยเชื่อถือกันว่า จะเป็นบุญเป็นกุศลแก่บิดามารดาปู่ย่าตายาย แต่นี้เป็นการบวชที่ว่า จะบวชตลอดชีวิต มิหนำซ้ำยังแบกกลด แบกบาตร เตรียมออกป่าออกดงตลอดไป จะอยู่อย่างไร…? จะกินอย่างไร…? เจ็บไข้จะได้ใครพยาบาลให้หยูกให้ยา…?
ญาติพี่น้องก็จะพร่ำรำพันขอให้สึกเถิด ทรัพย์สมบัติก็มีมากมาย โยมมารดา…ก็เป็นเจ้าแม่นาง…คนรู้จักนับหน้าถือตาทั้งตำบล “พระ” ท่านเป็นลูกชายคนเดียวจะไม่อยู่สืบต่อหน่อแนวแถวตระกูลเลยหรือ…?
ตระกูลนี้จะจบสิ้นลงแล้วหรือ
ล้วนแต่มีผู้ห่วงหาอาทร อ้อนวอนให้สึกทั้งนั้น บ้างก็ยิ่งสงสาร ด้วยเห็น “พระ” ครองจีวรอันเก่าคร่ำคร่า ผอม…จนเหลือแต่กระดูก…ตามสำนวนของญาติ…อดอยากปากแห้ง
ไม่เข้าใจเรื่องการถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ไม่เข้าใจเรื่องการทรมานกายเผาผลาญกิเลส ไม่เข้าใจเรื่องการฉันมื้อเดียว อันเป็นศัตรูของพระธุดงค์…..
รุมล้อมกัน ชักจูงให้ท่านสึก… ท่านจึงคิดว่าควรจะไปอยู่ห่างไกลพวกญาติพี่น้อง ให้ไกลที่สุดเท่าใด จะยิ่งดีที่สุดได้เท่านั้น
แต่ทว่า บัดนี้ท่านคิดว่า ได้ครองเพศบรรพชิตมาได้นาน “พอตัว” แล้วทางฝ่ายญาติโยมทางบ้านคงจะทำใจได้แล้ว และคงเข้าใจได้แล้วว่า ท่านจะต้องมีความสุขสันโดษในชีวิตสมณเพศของท่านอย่างมากพอ ท่านจึงอยู่มาได้ถึงป่านนี้ คงจะไม่มีใครมารบเร้าอ้อนวอนให้ท่านสึกให้รำคาญอีก หลวงปู่จึงคิดว่า ถึงเวลาแล้วที่ท่านควรจะไปหาที่จำพรรษาอยู่ในเขตจังหวัดเลย เพื่อโปรดสงเคราะห์โยมมารดาโดยเฉพาะ
ท่านเกิดในสกุล “วรบุตร” อันแปลว่า สกุลแห่ง บุตรอันประเสริฐ ท่านก็คิดว่า ท่านได้ทำหน้าที่บุตรอันประเสริฐให้แก่บิดามารดาแล้ว คือ บวชในเพศอันอุตตมะเป็น “พระ” ซึ่งคำว่า “พระ” ก็มาจากคำ “วร” คำเดียวกัน อันแปลว่า ประเสริฐ เหมือนกัน บวชเรียนอุทิศส่วนกุศลให้บุพการี อบรมสั่งสอนให้ใหม่ได้มีความรู้ความเข้าใจในการทาน การศีล การภาวนา ให้มีอริยทรัพย์ติดตัวต่อไปทุกภพทุกชาติ
สถานที่ซึ่งหลวงปู่ได้ไปอยู่จำพรรษา โปรดสงเคราะห์โยมมารดาและญาตินั้นคือที่ ป่าช้าวัดหนองหมากผาง และที่ถ้ำผาปู่ ต. นาอ้อ อำเภอเมือง จังหวัดเลย ท่านจำพรรษาอยู่ในระหว่างสถานที่ ๒ แห่งนี้ รวม ๓ พรรษา คือพรรษาในปีพ.ศ. ๒๔๘๐ ถึง ๒๔๘๒
เล่ากันว่า ครั้งแรกเมื่อท่านโผล่เข้าไปในบ้าน แทบจะไม่มีใครจำท่านได้เพราะท่านทั้งผอม ทั้งดำ ภาพชายหนุ่มร่างโปร่ง ผิวขาว หน้าตาสะสวย ยิ้มง่าย ที่เจ้าแม่นางกวยจำได้ ไม่มีเค้าเหลืออยู่เลย แถมจีวรที่ครองก็ดูขะมุกขะมอมเก่าคลาคล่ำ มีรอยปะชุน โยมมารดาซึ่งมีชื่อในทางแต่งกายงาม สะอาดเอี่ยมอยู่เสมอ จึงตกใจเมื่อเห็นพระลูกชายอยู่ในสภาพนั้น
และสำคัญที่สุด ทุกคนเข้าใจว่า ท่านตายไปแล้วด้วย เห็นท่านหายสาบสูญไปนานแล้ว ไม่เห็นท่านเยี่ยมกรายกลับมาบ้าน แถมสภาพบ้านเมืองในสมัยนั้นก็ยังเป็นป่าดงพงทึบ ทางจากเมืองหนึ่งไปอีกเมืองหนึ่งมีแต่ต้องใช้ช้าง ใช้เกวียน เป็นพาหนะเดินทางตัดผ่านเข้าไปในดงเปลี่ยว นี่ “พระ” เดินเท้าเปล่า แบกกลด บาตร จะผ่านดงได้หรือ แถมในป่ายังมีทั้งสิงห์สาราสัตว์ ทั้งไข้ป่า…. “พระ” จะผ่านไปได้อย่างไร
เห็นหน้าท่าน ทุกคนในบ้านก็ร้องไห้ด้วยความปีติ ไม่แต่เจ้าแม่นางกวยหรือเจ้าแม่นางบวย ผู้เป็นโยมมารดาและโยมพี่สาว แม้แต่คนใช้บริวารในบ้านที่เป็นคนเก่าคนแก่ต่างก็พลอยเสียน้ำตากันไปด้วย
ในการบันทึกทำประวัติครั้งนี้ได้พบลูกของคนใช้เก่าของท่าน เกิดทันและอยู่ในเวลาที่หลวงปู่กลับเข้าบ้านเป็นวาระแรกด้วย ได้เล่าสภาพการร้องห่มร้องไห้ให้ฟัง และเสริมว่า
“เขาคิดกันว่า ท่านตายแล้ว… เจ้าแม่นางร้องไห้ใหญ่ ก็นี่แหละ… ไปเรียกชื่อท่านว่า หลุย ท่านก็เลยหลุยไปหลุยมา….”
ได้ความว่าชื่อของท่าน ซึ่งคุณพระเชียงคาน ให้ชื่อว่า หลุย อันมีที่มาจากการที่ท่านไปถือศาสนาคริสต์ ก็เลยให้ชื่อตาม นักบุญหลุย นั้น ในภาษาอีสานก็มีคำว่า “หลุย” เหมือนกัน แปลว่า หลุดไปหลุดมา นึกจะมาก็มา นึกจะไปก็ไป
ซึ่งกลายเป็นการตรงต่อบุคลิกลักษณะของท่านในภายหลังอย่างถูกต้องที่สุด….!
ในปี ๒๔๘๐ นี้ ท่านก็ได้ถามเจ้าแม่นางกวยถึงกำเนิดของท่าน การอยู่ในท้อง อยู่ไฟ ฯลฯ ดังที่ท่านบันทึกไว้ และได้นำมากล่าวไว้แต่ต้นแล้วครั้งหนึ่ง
“พ.ศ. ๒๔๘๐ ได้ถามแม่กวย—–กำเนิดในท้อง ๑๐ เดือน อยู่กรรมสบายไม่ป่วย เราอยู่ในท้องแม่ แม่สมาทานอุโบสถหลวง แรกเกิดคนชอบมาก บิดาฝันได้แก้ว เกิดทีแรกรกพันคอ คนอื่นทายว่าจะได้บวช เจ็บท้อง ๑ คืน รุ่งจวนสว่างคลอด อยู่กรรม ๒๑ วัน แม่โซ้นเลี้ยงนอนไว้ที่ไหนก็นอนง่าย ร้องไห้แต่อยู่กรรม นอกนั้นไม่ร้องไห้ ตกต้นไม้ไม่ใช่ตายคืน ครู่เดียวก็รู้สึกตัว อยู่กรรมหนาวจัด เกิดทีแรกรูปงาม ใคร ๆ ก็ชอบอุ้ม อยู่ในท้องนั้นใหญ่จนแม่ตำแย แม่โซ้นพันทักท้วงว่าใหญ่นักจะออกไม่ได้ แม่เลยตกใจ นี่แหละคุณของแม่เช่นนี้ เราไม่กล้าสึกเพราะฉลองคุณบิดามารดาให้เต็มเปี่ยมในชาตินี้”
การอบรมโยมมารดา ระหว่างการอยู่ ณ วัดป่าช้าหนองหมากผางนี้จะมีผลประการใด.ท่านมิได้บันทึกไว้ แต่จากที่ผู้เป็นหลานทวดของเจ้าแม่นางกวย และเป็นหลานยายคนเดียวของเจ้าแม่นางบวย (ตระกูลของท่าน ฝ่าย โยมพี่สาวเสียชีวิตหมด เหลือหลานสาวผู้นี้คนเดียว—–ผู้เขียน) เล่าให้ฟังถึงภาพคุณทวด เจ้าแม่นางกวย ที่เธอเมื่ออายุ ๖-๗ ขวบยังจำได้
“….คุณทวดขณะนั้นอายุคงราว ๘๐ ปี อ้วนขาว นุ่งผ้าซิ่นไหมมัดหมี่ซึ่งให้คนใช้ในบ้านทอให้ ใส่เสื้อขาว ซักรีดเรียบ นั่งอยู่ที่ใดก็จะมีหนังสือธรรมะติดตัวอยู่ตลอดเวลา คุณทวดจะอ่านหนังสือธรรมะออกเสียงดัง บางทีก็เรียกคนในบ้านหรือหลานมาฟังด้วย”
“…..จำได้ว่า คุณทวดจะออกนอกบ้าน ท่านจะห่มผ้า สะพายแพรแบบคนถือศีลเสมอ… สายตาของท่านดีมาก อ่านหนังสือเอง ไม่ต้องใช้ให้ใครอ่านให้ฟัง”
ดูเหมือนหลวงปู่จะถ่ายทอดนิสัยจากโยมมารดาไม่น้อยเลย เช่น เวลาท่านไปไหน หลวงปู่จะต้องมีหนังสือติดองค์ไปตลอดเวลา และสายตาของท่านดีมากอ่านหนังสือไม่เคยต้องใช้แว่นสายตาช่วยเลยจนตลอดชีวิต และการที่ผู้มีอายุ ๘๘ ปีจะสามารถอ่านหนังสืออย่างแคล่วคล่องว่องไว ไม่ใช้แว่นสายตาเลยนั้น ผู้เขียนเห็นจะต้องขอยืมสำนวนของท่านเองมากล่าวในที่นี้ว่า “น่าอัศจรรย์นัก….”
*****
ระหว่างเวลาที่มาจำพรรษาอยู่สงเคราะห์โยมมารดาและพี่สาว ที่วัดป่าหนองหมากผางนี้ เมื่อถึงเวลาออกพรรษา หมดฝน ท่านก็จะออกเดินธุดงค์ไปแสวงหาความวิเวกเรื่อยไป ที่ซึ่งท่านสะพายบาตร แบกกลดไปทำความเพียรในระยะนี้นั้นส่วนใหญ่เป็นป่าเขาในเขตจังหวัดเลย อันเป็นดินแดนของแผ่นดินถิ่นกำเนิดของท่าน บางแห่งท่านจะหยุดพักเจริญสมณธรรมเพียงไม่กี่วันก็ผ่านเลยไป เช่นที่ท่าลี่ แก่งคุดคู้ เชียงคาน บางแห่งจะพักอยู่นาน ด้วยภาวนาได้ผลดี ถูกจริตนิสัย และต่อไปในปีหลัง ๆ ท่านก็จะเวียนกลับไปบ่อย ๆ
ถ้ำผาบิ้ง อ.วังสะพุง จ.เลย
ในระยะนี้เองที่ท่านฯได้พบสถานที่เป็นมงคล มีนามว่า ถ้ำผาบิ้ง เป็นสถานที่ซึ่งต่อมาท่านได้บูรณะจัดตั้งขึ้นเป็นวัด และได้จำพรรษาอยู่ ณ ถ้ำผาบิ้ง เป็นเวลาติดต่อกันถึง ๖ ปี แต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๐ ถึง พ.ศ. ๒๕๑๕ จนปัจจุบันถ้ำผาบิ้งมีชื่อเสียงขจรขจายเป็นที่รู้จักของนักปฏิบัติธรรมทั่วประเทศเป็นอย่างดี
“อยู่ถ้ำผาบิ้ง ๑๔/๘/๘๑ (วันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๔๘๑—–ผู้เขียน) ทำจิตสงัดเงียบมาก วิถีจิตสุขุม กลัวแต่ทีแรกต่อไปไม่กลัว ปฏิภาคเกิดมาก จิตเกิดความรู้แปลก ๆ ถ้ำโพนงามที่ ๑ ถ้ำผาบิ้งที่ ๒ ถ้ำผาปู่ที่ ๓ ไม่ชอบบังคับจิต ไม่ชอบปลอบจิต ให้จิตรู้เห็นไปตามสายกลาง รู้กว้างขวางเยือกเย็น วิถีจิตชนิดนี้คนปรารถนามานาน ความกลัวมีเท่าไร ความกล้ามีเท่านั้น ถ้าจิตไปกลางเป็นจิตเสมอ”
ท่านบันทึกเพิ่มเติมว่า
บริเวณหน้าถ้ำผาบิ้ง
“๑๔/๘/๘๑ (วันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๔๘๑—–ผู้เขียน) ณ ถ้ำผาบิ้ง วังสะพุงทำจิตสงัดเงียบมาก วิถีจิตวิปัสสนาสุขุม กลัวแต่ทีแรกต่อไปไม่กลัว ปฏิภาคเกิดมาก จิตเกิดความรู้แปลก ๆ สถานที่ไม่เป็นมงคลเท่าไร สู้ถ้ำโพนงามมิได้ วิถีจิตเดินไปตามลำดับ ไม่ชอบบังคับจิต ไปตามสายกลาง รู้ตามความเป็นจริง รู้กว้างขวางเยือกเย็น จิตไม่ด่วนไม่ช้ารู้ตามสภาพธรรม จิตไปสายกลาง ไม่ดลอัตตะ ไปหรือติดกามสุข วิถีจิตชนิดนี้ปรารถนามานาน เชื่อความกล้าเท่าไร ความกลัวมีเท่านั้น เชื่อความรักเท่าไรความชังมีเท่านั้น เชื่อปัญญาเท่าไรความเขลามีเท่านั้น เพราะจิตเดินผิด ไม่เดินตามสายกลางนี้เป็นสำคัญ”
“ให้ละอุปาทานอานิสงส์ ให้จิตเบาเพราะจิตไม่หาบปัญจขันธ์ให้รู้จักความเป็นเอกของสังขาร อย่าเปลี่ยนแปลงจิต จิตจะเป็นสังขารรู้ความเป็นกันเองจึงรู้ธรรมเห็นธรรม วางตามกรรม วางไม่เดือดร้อน อย่าให้จิตเสวยปีติเพราะจิตจะคลอนแคลน ให้เสวยความรู้ความเห็นตามสภาพธรรมจิตจึงแน่นอนมีหลักฐาน ความอยากความหิวเป็นลักษณะเปรต”
“ถ้ำผาบิ้ง ต้นเดือนอ้าย พ.ศ.๘๑ (วันที่ ๒๓ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๘๑—-ผู้เขียน) จิตยังบริโภคกามมากและยินดีในอามิสสุข ยินดีในการบำเพ็ญทาน จิตละเอียดบ้างเป็นบางอารมณ์”
“๔ ค่ำ ข้างขึ้น เดือนอ้าย พ.ศ.๘๑ (ตรงกับวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๘๑—–ผู้เขียน) นิสัยถูกกับถ้ำผาบิ้ง เจริญธรรมะเป็นอัศจรรย์ ละเอียดสุขุมเป็นชั้น ๆ น้ำใจหนักแน่น น้ำใจมีอำนาจวาสนา โรคค่อย ๆ หายเป็นชั้น ๆ น้ำใจเบา แลเห็นความบริสุทธิ์ ความกลัวมีก่อน ความกล้ามีทีหลัง แลเห็นนิสัยของตนชัดเจน จิตมีกำลังขยับขึ้นเป็นชั้น ๆ ความบางละเอียดมีกำลังเท่ากัน กลางวันไม่สู้ดี กลางคืนดีมาก วางจิตเป็นกลาง สติพิจารณาสังขารธรรม แปลเล่าเรียนรู้ในนั้น พิจารณาธรรมะถึงที่แล้วไม่ต้องแสดงอาบัติก็ได้ แต่ก่อนนั้นไม่แสดงอาบัติก่อนนั้นไม่ได้”
“อยู่ถ้ำผาบิ้งจิตกล้าแข็งเป็นคนใจเดียว เวลาเช้าดี เวลาบ่ายไม่สู้ดี โรคกำเริบ กลางคืนดี ดีทุกขณะจิต ประกอบด้วยเหตุผลดี จิตยินดีในมัชฌิมะ ฯ”
“๑๓ ค่ำ เดือนอ้าย พ.ศ.๘๑ (วันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๑—–ผู้เขียน) ถ้ำผาบิ้ง เจริญสมณธรรมดี มักปล่อยจิตไปตามอารมณ์ให้ก็ตามเห็นตาม แล้วทำจิตให้เป็นกลางๆ จิตรู้เท่าส่วนทั้งสองแลเห็นธรรมะแจ่มแจ้งดีมาก”
http://www.dharma-gateway.com/monk/monk_biography/lp-louis/lp-louis-hist-04-04.htm