๕ ปฏิปทาท่านพระอาจารย์มั่น

๕ ปฏิปทาท่านพระอาจารย์มั่น
ธุดงควัตรที่ท่านถือปฏิบัติเป็นอาจิณ ๔ ประการ

๑. บังสุกุลิกังคธุดงค์ ถือนุ่งห่มผ้าบังสุกุล นับตั้งแต่วันอุปสมบทมาตราบจนกระทั่งถึงวัยชรา
จึงได้พักผ่อนให้คหบดีจีวรบ้างเพื่ออนุเคราะห์แก่ผู้ศรัทธานำมาถวาย
๒. บิณฑบาตกังคธุดงค์ ถือภิกขาจารวัตรเที่ยวบิณฑบาตมาฉันเป็นนิตย์ แม้อาพาธไปในละแวก
บ้านไม่ได้ก็บิณฑบาตในเขตวัด บนโรงฉันจนกระทั่งอาพาธ ลุกไม่ได้ในปัจฉิมสมัยจึงงดบิณฑบาต
๓. เอกปัตติกังคธุดงค์ ถือฉันในบาตรใช้ภาชนะใบเดียวเป็นนิตย์ จนกระทั่งถึงสมัยอาพาธหนักจึงงด
๔. เอกาสนิกังคธุดงค์ ถือฉันหนเดียวเป็นนิตย์ตลอดมา แม้ถึงอาพาธหนักในปัจฉิมสมัยก็มิได้เลิกละ
ส่วนธุดงควัตรนอกนี้ได้ถือปฏิบัติเป็นครั้งคราวที่นับว่าปฏิบัติได้มาก ก็คือ อรัญญิกกังคธุดงค์ ถืออยู่ เสนาสนะป่าห่างบ้านประมาณ ๒๕ เส้น หลีกเร้นอยู่ในที่สงัดตามสมณวิสัยเมื่อถึงวัยชราจึงอยู่ใน เสนาสนะ ป่าห่างจากบ้านพอสมควร ซึ่งพอเหมาะกับกำลังที่จะภิกขาจารบิณฑบาตเป็นที่ที่ปราศจากเสียงอื้ออึง ประชาชนยำเกรงไม่รบกวน นัยว่าในสมัยที่ท่านยังแข็งแรง ได้ออกจาริกโดดเดี่ยวแสวงวิเวกไปในดงพงลึกจน สุดวิสัยที่ศิษยานุศิษย์ จะติดตามไปถึงได้ก็มี เช่นในคราวไปอยู่ทางภาคเหนือเป็นต้น ท่านไปวิเวกบนเขาสูง อันเป็นที่อยู่ของพวกมูเซอร์ ยังชาวมูเซอร์ซึ่งพูดไม่รู้เรื่องกันให้บังเกิดศรัทธาในพระศาสนาได้

พระอริยคุณคุณาธาร วัดเขาสวนกวาง จ.ขอนแก่น เรียบเรียง

——————————————————————————–
“…พ่อแม่ครูอาจารย์มั่น ท่านพาดำเนินอย่างถูกต้องแม่นยำ ถือเอาธุดงควัตร ๑๓ (“…ธุดงค์ ๑๓ แต่ละข้อมีความหมายในการปราบปรามกิเลสทุกประเภทได้อย่างอัศจรรย์ยากที่คาดให้ทั่งถึงได้ดังนี้ ๑.บิณฑบาตเป็นวัตร ๒.บิณฑบาตตามลำดับบ้าน ๓.ไม่รับอาหารที่ตามส่งทีหลัง ๔.ฉันในบาตร ๕.ฉันหนเดียวในวันหนึ่งๆ ๖.ถือผ้าสามผืน ๗.ถือผ้าบังสกุล ๘.อยู่รุกขมูลร่มไม้ ๙.อยู่ป่า ๑๐.อยู่ป่าช้า ๑๑.อยู่กลางแจ้ง ๑๒.อยู่ในที่เขาจัดให้ ๑๓.ถือไม่อยู่อิริยาบถนอน…”)นี้เป็นพื้นเพในการดำเนิน และการประพฤติปฏิบัติจิตใจของท่านก็เป็นไปโดยสม่ำเสมอ ไม่นอกลู่นอกทางทำให้ผู้อื่นเสียหาย และริจะทำเพื่อความเด่นความดังอะไรออกนอกลู่นอกทางนั้นไม่มี เป็นแนวทางที่ราบรื่นดีงามมาก

นี่ละเป็นที่นอนใจ เป็นที่ตายใจยึดถือไว้ได้โดยไม่ต้องสงสัยก็คือปฏิปทาเครื่องดำเนินของท่าน
นี่ครูบาอาจารย์ที่เป็นลูกศิษย์ลูกหาของท่านก็มีจำนวนมาก พากันดำเนินมายึดถือหลักนั้นแหละมาปฏิบัตได้แพร่หลาย หรือกระจายออกไปแก่บรรดาลูกศิษย์ทั้งหลายเป็นแขนงๆ หรือแผลงๆ อะไรออกไปให้เป็นที่สะดุดตา ไม่แน่ใจอย่างนี้ไม่มี ท่านดำเนินอะไรเป็นที่เหมาะสมทั้งนั้น คือมีแบบมีฉบับเป็นเครื่องยืนยันไม่ผิดเพี้ยนไปเลย
นี่เพราะเหตุไร เพราะเบื่องต้นท่านก็ตะเกียกตะกายก็จริง แต่ตะเกียกตะกายตามหลักธรรมหลักวินัย ไม่ได้นอกเหนือไปจากหลักธรรมหลักวินัย หลักวินัยคือกฏของพระระเบียบของพระ ท่านตรงเป๋งเลย และหลักธรรมก็ยึดธุดงค์๑๓ ข้อนี้เป็นทางดำเนิน ไม่ได้ออกนอกลู่นอกทางนี้ไปอย่างทางอื่นบ้างเลย นี่จึงเป็นที่น่าอนุโมทนาเป็นอย่างยิ่งมาตั้งแต่ขั้นเริ่มแรกของท่าน
ต่อจากนั้นท่านก็ปรากฏเห็นผลขึ้นมาโดยอันดับลำดา

ดังเคยเขียนไว้แล้วในประวัติของท่านจนกระทั้งเป็นผู้ทรงมรรคทรงผลโดยสมบูรณ์ในหัวใจท่าน แล้วก็ประกาศสั่งสอนธรรมแก่บรรดาศิษยทั้งหลายพร้อมทั้งปฏิปทาเครื่องดำเนินด้วยความองอาจกล้าหาญ ไม่มีคำว่าสะทกสะท้านแม้นิดหนึ่งเลย นี่เพราะความแน่ใจในใจของท่านเอง ทั้งฝ่ายเหตุทั้งฝ่ายผล ท่านเป็นที่แน่ใจทั้งสองแล้ว
พวกบรรดาลูกศิษย์ลูกหาทั้งหลายที่เข้าไปศึกษาอบรมกับท่าน จึงได้หลักได้เกณฑ์จากความถูกต้องแม่นยำที่ท่านพาดำเนินมา มาเป็นเครื่องดำเนอนของตน แล้วถ่ายทอดไปโดยลำดับลำดา ไม่มีประมาณเฉพาะอย่างยิ่งภิกษุบริษัท มีกว้างขวางอยู่มากสำหรับลูกศิษย์ของพ่อแม่ครูอาจารย์มั่น แตกกระจายออกไปการที่ได้ปฏิปทาเครื่องดำเนินจากท่านผู้รู้ผู้ฉลาด พาดำเนินมาแล้วเช่นนี้ เป็นสิ่งที่หาได้ยากมาก

นี่ละเป็นที่ ให้ตายใจนอนใจ อุ่นใจได้ ผิดกับเราเรียนมาโดยลำพัง และปฏิบัติโดยลำพังเป็นไหนๆ
ยกตัวอย่างไม่ต้องเอาที่อื่นไกลที่ไหนเลย ผมเองนี่แหละเรียน จะว่าอวดหรือไม่อวดก็ตามก็เรียนถึงมหา แต่เวลาจะหาหลักหาเกณฑ์มายึดเป็นเครื่องดำเนิน ด้วยความอุ่นแน่ใจตายใจสำหรับตัวเอง ไม่มีจะว่ายังไงนั่น มันเป็นอย่างนั้น จิตเสาะแสวงหาแต่ครูอาจารย์อยู่ตลอดเวลาเฉพาะอย่างยิ่งพ่อแม่ครูอาจารย์มั่น…”

พระธรรมวิสุทธิมงคล(หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน) วัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี
( จากหนังสือ”หยดน้ำบนใบบัว”)

——————————————————————————–
“…ที่ผมได้ความรู้ความฉลาด จนได้มาแบ่งปันพวกท่านทั้งหลายนั้น ก็เพราะผมได้ ไปกราบครูบาอาจารย์มั่น…ไปพบท่าน แล้วก็เห็นสภาพวัดวาอารามของท่าน ถึงจะไม่สวยงาม แต่ก็ สะอาดมาก พระเณรตั้งห้าสิบหกสิบ เงียบ! ขนาดจะถากแก่นขนุน (แก่นขนุนใช้ต้มเคี่ยว สำหรับย้อมและซักจีวร) ก็ยังแบกเอาไปฟันอยู่โน้น.. ไกล ๆ โน้น เพราะกลัวว่าจะ ก่อกวนความสงบของหมู่เพื่อน… พอตักน้ำทำกิจอะไรเสร็จ ก็เข้าทางจงกรม ของใครของมัน ไม่ได้ยินเสียง อะไร นอกจากเสียงเท้าที่เดินเท่านั้นแหละ
บางวันประมาณหนึ่งทุ่ม เราก็เข้าไปกราบท่านเพื่อฟังธรรม ได้เวลาพอ สมควรประมาณสี่ทุ่มหรือห้าทุ่มก้กลับกุฏิ เอาธรรมะ ที่ได้ฟังไปวิจัย… ไปพิจารณา
เมื่อได้ฟังเทศน์ท่าน มันอิ่ม เดินจงกรมทำสมาธินี่… มันไม่เหน็ดไม่เหนื่อย มันมีกำลังมาก ออกจากที่ประชุมกันแล้วก็เงียบ! บางครั้งอยู่ใกล้ ๆ กัน เพื่อนเขาเดิน จงกรมอยู่ตลอดคืนตลอดวัน จนได้ย่องไปดูว่าใครท่านผู้นั้นเป็นใคร ทำไมถึงเดิน ไม่หยุดไม่พัก นั่น… เพราะจิตใจมันมีกำลัง…”
พระโพธิญาณเถร ( หลวงปู่ชา สุภัทโธ ) วัดหนองป่าพง อุบลราชธานี
จากอัตตโนประวัติหลวงปู่ชา “ใต้ร่มโพธิญาณ”

< หน้าก่อน หน้าหลัก

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : http://luangpumun.org

. . . . . . .