ย้อนรอยบ้านเกิด “พุทธทาสภิกขุ” ในแดนใต้

ย้อนรอยบ้านเกิด “พุทธทาสภิกขุ” ในแดนใต้

หากยังมีชีวิตอยู่ท่านพุทธทาสภิกขุจะมีอายุครบ 107 ปีในปีนี้ โดยที่หลักคำสอนของท่านถือเป็นมรดกธรรมที่สืบสานต่อมา ครั้งนี้ศิษย์หลายรุ่นจึงร่วมเดินทางตามรอย ย้อนไปศึกษาชีวิตของท่านพุทธทาสถึงบ้านเกิดในแดนใต้

ใบไม้กิ่งไม้คือหลังคาโบสถ์ ผนังโบสถ์คือต้นไม้ เป็นรูปแบบของโบสถ์บนยอดเขาพุทธทอง ศูนย์กลางสวนโมขพลาราม ภายในวัดธารน้ำไหล อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เกิดจากแนวคิดของพระธรรมโกศาจารย์ พุทธทาส อินทปัญโญ นำหลักการสังคมสงฆ์สมัยพุทธกาล มาจัดเป็นอารามสวนป่าใกล้ชิดธรรมชาติ ยังเป็นที่หมายในวันสำคัญให้พุทธศาสนิกชนมาร่วมรำลึกถึงธรรมที่พระพุทธองค์แสดงไว้เมื่อ 2600 ปีล่วงมาแล้ว

การได้ตามรอยเมธีคนสำคัญ ในโอกาส 20 ปีมรณกาลพุทธทาสภิกขุ ถึงบ้านเกิด สถานที่บวชเรียน ปฏิบัติธรรม และสถานที่ประชุมเพลิงในปี 2536 ที่คราวนั้นจัดตามคติโบราณ ถือหลักเรียบง่าย มีประโยชน์และประหยัด ทำให้ศิษย์ท่านพุทธทาสเกือบ 60 คนที่ร่วมกิจกรรมได้เจริญสติร่วมกัน พร้อมศึกษาธรรมและหลักดำเนินชีวิตอย่างถูกวิธี “พุทธทาสยังอยู่ไปไม่ตาย อยู่รับใช้เพื่อนมนุษย์ไม่หยุดเฉย ด้วยธรรมโฆษฐ์ที่วางไว้อย่างเคย โอ้เพื่อนเอ๋ยมองเห็นไหมอะไรตาย” ก็เป็นความในกลอนสอนธรรมของท่านพุทธทาสภิกขุ ที่ยังอยู่ที่สอนใจชาวพุทธ แม้ว่าท่านจะมรณกรรมไปแล้วถึง 20 ปี เช่นเดียวกับโรงมหรสพทางวิญญาณ สถานที่ศึกษาธรรมด้วยรูปภาพ ซึ่งท่านฝากไว้เป็นมรดกธรรมอีกอย่างหนึ่ง

ใจความภาพ “พ้นแล้วโว้ย” ตั้งใจล้อผู้ยังยึดติดอยู่ในโลก ติดศาสนา แต่ไม่สามารถยกจิตใจให้สูงลอยพ้นเหนือหลังคาศาสนสถาน เปรียบเหมือนตุ๊กแกที่คลานอยู่ตามพื้นผนังโบสถ์ ของศิลปินเอ็มมานูเอล เชอร์แมน คือหนึ่งในภาพปริศนาธรรม ขยายความผ่านกวีให้แง่คิด ภายในโรงมหรสพทางวิญญาณ ที่แสดงธรรมในรูปสื่อบันเทิง สอนผู้คนมาแล้ว 50 ปี // รอบผนัง เสา ใต้บันได มีทั้งภาพใหม่และภาพเก่าที่รวบรวมแง่คิดจากเซน ทิเบต จีน ตะวันตก และไทย สะท้อนความหมายในหลักทางศาสนาที่ล้วนมุ่งสู่การดับทุกข์ ธรรมที่ได้ศึกษาอย่างจริงจัง และการเดินทางตามรอยพุทธทาสที่ไชยาเมื่อ 7 ปีก่อน ยังเป็นที่มาให้พิสุทธิ์ เกรียงบูรพา แต่งเพลงธรรมะต่อเนื่อง ไม่เพียงเป็นสื่อธรรมเข้าถึงง่ายสำหรับเยาวชน ยังสืบสานมรดกธรรมของผู้ได้รับยกย่องเป็นบุคคลสำคัญของโลก ที่เริ่มต้นชีวิตวัยเยาว์ในบ้านสกุลพานิชของพ่อค้าเชื้อสายจีน ความผิดหวังหลังเดินทางไปศึกษาพระธรรมวินัยในกรุงเทพมหานคร แล้วไม่พบหนทางเข้าถึงหัวใจพระศาสนาที่แท้จริง ทำให้ท่านพุทธทาสภิกขุหันหลังกลับบ้านเกิดในตลาดพุมเรียง อำเภอไชยา เพื่อปฏิบัติธรรมและปวารณาตนเป็นทาสของพระพุทธเจ้า รับใช้พระศาสนา หากไม่ยึดติดกับรูปเคารพ สิ่งศักดิ์สิทธิ์และพิธีกรรม แต่มุ่งศึกษาเพียงแก่นของศาสนา จึงเปิดกว้างรับความคิดของลัทธิ นิกายและศาสนาต่างกันด้วย โดยหลักคำสอนยังถูกขยายต่อไป เผยแพร่ในวัดอุโมงค์ จ.เชียงใหม่ และหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญหรือสวนโมกข์กรุงเทพ กิจกรรมตามรอยเมธี 20 มรณกาล เน้นที่การเรียนรู้วันวัยในชีวิตของท่านพุทธทาสภิกขุคราวนี้ จึงไม่ต่างกับการเรียนแบบแผนปฏิบัติ ที่ศิษย์สามารถรับไปใช้ตามรอยธรรมทางศาสนา 

http://news.thaipbs.or.th/

. . . . . . .