ประวัติปฏิปทาหลวงปู่ฝั้น อาจาโร
ประวัติปฏิปทาหลวงปู่ฝั้น อาจาโร
หลวงปู่ฝั้น อาจาโร นามเดิมของท่านชื่อ ฝั้น สุวรรณรงค์ ท่านเกิดเมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๔๒ ตรงกับวันอาทิตย์ ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๙ ปีกุน ที่บ้านม่วงไข่ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร โยมบิดาของท่านชื่อ เจ้าไชยกุมาร (เม้า) มารดาของท่านชื่อนางนุ้ย หลวงปู่เป็นบุตรคนที่ ๕ ในจำนวนพี่น้องทั้งหมด ๘ คน
อุปสมบท
ปี พ.ศ. ๒๔๖๒ ท่านได้เข้าอุปสมบทที่วัดสิทธิบังคม อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร โดยมีพระครูป้องเป็นพระอุปัชฌาย์ สังกัดอยู่ในคณะมหานิกาย หลังอุปสมบทแล้ว พระภิกษุฝั้น อาจาโร ได้พักจำพรรษาอยู่กับพระอุปัชฌาย์ ที่วัดสิทธิบังคม พอออกพรรษาท่านได้ไปฝึกอบรมกรรมฐานกับท่านพระครูสกลสมณกิจ เจ้าอาวาสวัดโพนทอง ซึ่งพระครูสกลสมณกิจจะพาพระลูกวัดออกธุดงค์ไปตามสถานที่ต่างๆ หลายๆตำบลในถิ่นนั้น
หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
ครั้นถึงเดือน ๓ ข้างขึ้น ปี พ.ศ. ๒๔๖๓ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต พร้อมด้วยภิกษุสามเณรหลายรูป ออกเที่ยววิเวกเดินธุดงค์รุกขมูลผ่านมาถึงบ้านม่วงไข่ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ได้เข้าไปพักปักกลดในป่า อันเป็นบริเวณป่าช้าข้างบ้านม่วงไข่ ฝ่ายญาติโยมทางบ้านม่วงไข่ เมื่อทราบข่าวว่ามีพระธุดงค์มาพักปักกลดก็พากันดีใจ จึงได้กระจายข่าวให้รู้ถึงกันอย่างรวดเร็ว แล้วพากันออกไปต้อนรับจัดหาน้ำดื่มน้ำใช้ถวาย และคอยรับฟังธรรมะจากท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ ต่อไป ในคราวนั้น ได้มีพระภิกษุไปร่วมฟังธรรมจากท่านพระอาจารย์มั่นด้วย คือ พระอาญาครูดี , พระภิกษุฝั้น อาจาโร , พระภิกษุกู่ ธัมมทินโน ท่านพระอาจารย์มั่นได้แสดงพระธรรมเทศนา เริ่มตั้งแต่การให้ทาน การรักษาศีล และการเจริญภาวนา เมื่อแสดงจบลง พระอาญาครูดี , พระอาจารย์กู่ และ พระอาจารย์ฝั้น ต่างมีความเลื่อมใสศรัทธาเป็นอย่างยิ่ง ได้พากันปวารณาตัวขอเป็นศิษย์หลวงปู่มั่น รับเอาข้อวัตรปฏิบัติ ถือธุดงควัตรโดยเคร่งครัด และได้ขอติดสอยห้อยตามพระอาจารย์มั่นไปด้วย แต่พระอาจารย์มั่นได้ออกธุดงค์ล่วงหน้าไปก่อน ทำให้ท่านทั้งสามพลาดโอกาสในการออกเที่ยวธุดงค์และศึกษาธรรมกับหลวงปู่มั่น
พบหลวงปู่ดูลย์ อตุโล
ในปี พ.ศ. ๒๔๖๖ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล วัดบูรพาราม อ.เมือง จ.สุรินทร์ ซึ่งเป็นศิษย์รุ่นใหญ่ของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ได้เดินธุดงค์ตามหาหลวงปู่มั่นผ่านมาทาง อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ชาวบ้านจึงได้ไปอาราธนานิมนต์ให้ท่านมาพักจำพรรษาอยู่ที่วัดบ้านม่วงไข่ ซึ่งมีพระอาญาครูดีเป็นเจ้าอาวาส ทั้งเจ้าอาวาสและภิกษุสามเณรในวัดนั้นเห็นข้อวัตรปฏิปทาของหลวงปู่ดูลย์ ต่างพากันเคารพเลื่อมใสเป็นอันมาก ไม่เว้นแม้กระทั่งภิกษุฝั้น อาจาโร ซึ่งพำนักอยู่ที่วัดใกล้เคียงกับวัดม่วงไข่แห่งนี้ ในเวลาต่อมาเมื่อหลวงปู่ดูลย์ อตุโล ออกธุดงค์จากวัดม่วงไข่ไปปรากฏว่าพระเณรทั้งวัดรวมทั้งภิกษุฝั้น อาจาโร ก็ได้ออกธุดงค์ติดตามไปกับคณะด้วย พระเณรทุกรูปยอมสละทิ้งวัดให้เป็นวัดร้าง โดยมิได้สนใจต่อคำอ้อนวอนทัดทานของชาวบ้านเลย ปรากฏการณ์ครั้งนั้นถือเป็นการพลิกแผ่นดินของวัดม่วงไข่เลยทีเดียว
อยู่ปฏิบัติกับหลวงปู่มั่น
เมื่อออกพรรษาแล้วคณะพระภิกษุสามเณรที่มีหลวงปู่ดูลย์ อตุโล เป็นหัวหน้า ก็ได้พากันออกธุดงค์ติดตามไปจนพบพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ที่บ้านตาลโกน ต.ตาลเนิ้ง อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร ณ ที่แห่งนี้ ทำให้ภิกษุฝั้น อาจาโร ได้ศึกษาธรรมจากท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่น อย่างถึงใจ แล้วท่านได้ลาพระอาจารย์มั่น ไปกราบนมัสการพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล ที่บ้านหนองดินดำ หลังจากนั้นท่านก็เดินทางไปกราบพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม ที่บ้านหนองหวาย แล้วย้อนกลับมาอยู่กับท่านพระอาจารย์มั่นอีก
ผีที่ถ้ำพระบด
ท่านพระอาจารย์มั่น ได้แนะนำให้พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ออกธุดงค์ไปแต่ลำพังองค์เดียว ให้ไปอยู่ตามภูเขา ป่าช้า ป่ารกชัฏ ในถ้ำ ในเงื้อมผา อันเป็นที่สงบปราศจากผู้คนรบกวน พระอาจารย์ฝั้น จึงได้กราบลาพระอาจารย์มั่นผู้เป็นอาจารย์ ออกธุดงค์มุ่งสู่ภูเขาในเขต อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี ไปพักทำความเพียรภาวนาที่ถ้ำพระบด ที่ถ้ำพระบดแห่งนี้ชาวบ้านร่ำลือกันว่าผีเจ้าถ้ำดุมาก ใครไปพักเป็นต้องโดนหลอกทุกราย การไปบำเพ็ญภาวนาของท่านในคืนแรกไม่มีอะไรเกิดขึ้น พอตกคืนที่สอง ปรากฏว่ามีอะไรบางอย่างขึ้นไปเขย่าอยู่บนต้นไม้เสียงดังเกรียวกราว เป็นระยะๆ ท่านจึงนึกในใจว่า “นี่หรือ ที่ชาวบ้านเขาร่ำลือกันนักหนาว่าที่ถ้ำพระบดนี้ผีดุมาก” จากนั้นท่านก็ออกจากมุ้งกลดเดินไปตามทิศทางของเสียง เมื่อมองขึ้นไปบนต้นตะเคียนใหญ่ปรากฏเห็นบ่าง ๓ ตัว ขนาดใหญ่เท่ากับแมว กำลังหยอกล้อกันแล้วบินมาจับเถาวัลย์บนต้นตะเคียนแล้วช่วยกันเขย่าจนเกิดเสียงดังเกรียวกราว ท่านจึงนึกขำในใจว่าเจ้าผีตัวนี้นี่เองที่ทำให้ผู้คนสะดุ้งตกใจกลัว ไม่เว้นแม้แต่พระสงฆ์องค์เจ้า ที่ไม่รู้ข้อเท็จจริง นับแต่นั้นมากิตติศัพท์เรื่องผีเจ้าถ้ำพระบดก็เป็นอันหมดความน่ากลัวไปอย่างสิ้นเชิง
หลวงปู่มั่นหยั่งรู้ใจศิษย์
ท่านพระอาจารย์ฝั้น ได้ออกธุดงค์ไปที่ประเทศลาวกับสามเณรรูปหนึ่ง มุ่งหน้าไปยังภูเขาควาย ซึ่งเป็นภูเขาที่สูงที่สุดในประเทศลาว เป็นที่เลื่องลือว่าเป็นแดนอาถรรพ์ แต่ท่านไม่มีหนังสือสุทธิจึงเดินทางย้อนกลับมาฝั่งไทยกับสามเณร ตลอดทางเดินปรากฏรอยตะกุยของเสืออยู่บ่อยๆ ยิ่งตอนตะวันลับไม้ จะได้ยินเสียงเสือร้องคำรามเสียงก้องไปทั่วทั้งผืนป่า ชวนให้หวาดกลัวยิ่งนัก ท่านจึงได้อุทานสุภาษิตอีสานขึ้นมาข่มความกลัว ทำให้สามารถข่มความรู้สึกกลัวเสือลงได้ เมื่อหายจากอาการกลัวเสือแล้วท่านก็เดินทางไปได้ด้วยความปลอดโปร่ง เบากายเบาใจ เมื่อกลับมาถึงฝั่งไทยแล้วท่านได้ทราบข่าวว่า หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต พำนักอยู่ที่บ้านนาสีดา อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี ท่านและสามเณรจึงรีบรุดไปนมัสการหลวงปู่มั่นโดยไม่รอช้า เพียงแต่พบหน้า ท่านพระอาจารย์มั่น ก็ได้เอ่ยขึ้นทันทีว่า “ท่านฝั้น กับสามเณรได้ผีกับเสือมาเป็นอาจารย์สอนน่ะดีแล้ว เขาสอนให้เรารู้เท่าทันจิตที่มันหลงผลิตความกลัวขึ้นมาหลอกตัวเอง อีกอย่างหนึ่งที่ท่านฝั้น ใช้ภาษิตมาพิจารณาเป็นอุบายอันแยบคายอย่างหนึ่ง ช่วยเตือนจิตเราให้รู้ตัวอยู่เสมอในขณะที่เราได้ยินเสียงเสือและนึกกลัวเสือนั้น ก็เป็นอุบายที่ชอบแล้ว” เมื่อหลวงปู่มั่นกล่าวจบลง พระอาจารย์ฝั้น และสามเณร ก็เกิดความอัศจรรย์ใจว่า “หลวงปู่มั่นท่านทราบได้อย่างไร ทั้งที่เพิ่งกลับมาถึง และยังไม่ได้กราบเรียนอะไรให้ท่านทราบเลย ช่างน่าอัศจรรย์ใจจริงหนอ”
ญัตติเป็นพระธรรมยุติ
หลังจากที่ท่านพระอาจารย์ฝั้น ได้กลับมาอยู่กับพระอาจารย์ใหญ่นานพอสมควรแล้ว ท่านก็ได้ออกธุดงค์ไปทาง อ.วาริชภูมิ จ.สกลนคร แต่ลำพังผู้เดียว ขณะที่ท่านกำลังเดินอยู่ ก็เหลือบไปเห็นหมากำลังแทะกระดูกควายที่ตายอยู่ในป่านอกหมู่บ้าน พอท่านเดินเข้าไปใกล้หมาก็ตกใจวิ่งหนี พอท่านเดินออกไปไกลหน่อยมันก็วิ่งกลับมาแทะกระดูกอีก เป็นอยู่เช่นนี้ถึง ๓ ครั้ง ท่านเห็นภาพเช่นนั้นก็เกิดความสลดใจ จึงยกเอาเรื่องหมาหวงกระดูกขึ้นมาพิจารณากับตัวท่านเองว่า “ เรานี้ก็มาหลงยึดถือหวงแหนท่อนกระดูกในตัวเอง ยิ่งกว่าหมาที่หวงแหนกระดูกควายนี้เป็นไหนๆ หมาที่มันแทะกระดูก มันยังได้กลืนน้ำลายของมันที่ได้ประสมกับรส กลิ่น ของกระดูกอยู่บ้าง แต่เราได้อะไรจากโครงกระดูกที่เราหวงแหนแบกหามอยู่ตลอดเวลา เราจำต้องรีบประกอบความเพียรอย่างหนัก ต่อสู้หัวเด็ดตีนขาดไม่ถอยหนี ” หลังจากนั้นท่านได้มุ่งหน้าไปหาหลวงปู่มั่น ซึ่งขณะนั้นหลวงปู่มั่นพักอยู่ที่วัดมหาชัย จ.หนองบัวลำภู เมื่อไปถึง พอกราบหลวงปู่มั่นเสร็จ ท่านก็ต้องบังเกิดความอัศจรรย์ใจอีกครั้งหนึ่ง เมื่อหลวงปู่มั่นทักขึ้นว่า “ท่านฝั้น คราวก่อนได้ยินเสียงเสือร้องจิตใจถึงสงบ มาครั้งนี้ได้หมาแทะกระดูกเป็นอาจารย์อีกแล้วจึงมีสติรอบรู้ในอรรถในธรรม” พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ได้ตัดสินใจเข้ารับการญัตติเป็นพระภิกษุฝ่ายธรรมยุติกนิกาย เมื่อวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๔๖๘ ณ วัดโพธิสมภรณ์ จ.อุดรธานี โดยมีท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ ( จูม พันธุโล ) เป็นพระอุปัชฌาย์
ขึ้นรถยนต์ครั้งแรก
คราวหนึ่งพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร เดินธุดงค์จากจังหวัดอำนาจเจริญมาจนถึงตัวจังหวัดสกลนคร ก็เห็นรถยนต์โดยสารเข้า ท่านเกิดสนใจมากเพราะตั้งแต่เกิดมายังไม่เคยเห็นรถยนต์ จึงคิดลองขึ้นนั่งรถโดยสารดูบ้าง เมื่อรถยนต์แล่นไปได้สักครู่หนึ่ง ท่านเกิดความสงสัยขึ้นมาว่า รถยนต์นี้มันวิ่งไปได้อย่างไรหนอ ? ท่านจึงได้กำหนดจิตพิจารณาดูจนกระทั่งเข้าไปถึงตัวเครื่องยนต์ พลัน เครื่องยนต์รถก็ดับสนิท รถหยุดในทันที ! คนขับจึงลงไปตรวจดู แต่ก็ไม่พบเหตุขัดข้อง จึงขึ้นมาติดเครื่องดู เครื่องก็ติดเป็นปกติ แล้วออกเดินทางต่อไป พอรถวิ่งผ่านแถวหน้ากรมทหาร หลวงปู่ก็ได้กำหนดจิตไปพิจารณาที่เครื่องยนต์อีก ปรากฏว่าเครื่องยนต์ดับเป็นครั้งที่สอง คนขับก็ลงไปตรวจดูอีกก็ไม่พบข้อบกพร่อง กลับมาสตาร์ทใหม่ เครื่องก็ติดวิ่งได้ตามปกติ เมื่อวิ่งไปได้สักครู่หนึ่ง หลวงปู่ยังไม่หายสงสัย จึงได้กำหนดจิตไปพิจารณาที่เครื่องยนต์อีก ปรากฏว่าเครื่องยนต์ดับเป็นครั้งที่สาม ครั้งนี้ท่านจึงได้แน่ใจถึงสาเหตุที่ทำให้เครื่องยนต์รถดับ ท่านคิดว่าเพราะความอยากรู้อยากเห็นของท่านทำให้คนอื่นบนรถต้องเดือดร้อนเสียเวลา ท่านจึงได้เลิกพิจารณา รถก็สามารถวิ่งไปถึงที่หมายได้อย่างสะดวกโดยที่เครื่องยนต์รถไม่ดับอีกเลย
กองทัพธรรมพระกรรมฐาน
ในปี พ.ศ. ๒๔๗๐ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต พระบุพพาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนากรรมฐานได้ไปจาริกธุดงค์ทางภาคเหนือ ก่อนไปหลวงปู่มั่นได้มอบภาระการปกครองพระเณรให้แก่พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม ผู้เป็นศิษย์เอกของท่าน ท่านพระอาจารย์สิงห์ได้เป็นตัวแทนของพระอาจารย์ใหญ่นำกองทัพธรรมออกเผยแพร่และอบรมธรรมะแก่สาธุชนไปทั่วสารทิศ ในบรรดาพระคณาจารย์กรรมฐานท่านต่างๆได้มีหลวงปู่ฝั้น อาจาโร ร่วมติดตามไปกับหมู่คณะด้วย ท่านถือเป็นอีกองค์หนึ่งที่เป็นผู้นำหมู่นำคณะในสมัยนั้น
นอกจากนี้ ยังมีครูบาอาจารย์อีกหลายท่านที่เข้าร่วมอยู่ในกองทัพธรรมด้วย เช่น พระอาจารย์หลุย จันทสาโร วัดถ้ำผาบิ้ง อ.วังสะพุง จ.เลย , พระอาจารย์สิม พุทธาจาโร วัดถ้ำผาปล่อง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ , พระอาจารย์กงมา จิรปุญโญ วัดดอยธรรมเจดีย์ อ.โคกสีสุพรรณ จ.สกลนคร , พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ วัดป่านิโครธาราม อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี , พระอาจารย์สีลา อิสสโร วัดป่าอิสระธรรม อ.อากาศอำนวย จ.สกลนคร , พระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตตโก วัดโพธิ์ชัย อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม , พระอาจารย์ซามา อจุตโต วัดป่าอัมพวัน อ.เมือง จ.เลย , พระอาจารย์ดี ฉันโน วัดป่าสุนทราราม อ.เลิงนกทา จ.ยโสธร , พระอาจารย์นิล มหันตปัญโญ วัดป่าสุมนามัย อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น เป็นต้น
พุทโธขับไล่ผีได้
เมื่อครั้งที่ท่านหลวงปู่ฝั้นออกธุดงค์เผยแพร่ธรรมอยู่ที่ จ.ขอนแก่น ท่านได้สอนให้ประชาชนในแถบนั้นละเลิกการนับถือผี ให้หันมานับถือคุณพระรัตนตรัยแทน ปรากฏว่ามีชาวบ้านหันมานับถือและเข้ามาศึกษาธรรมกับท่านเป็นอันมาก แต่ยังมีชาวบ้านอีกกลุ่มหนึ่งที่ยังไม่คลายทิฐิ ชาวบ้านกลุ่มนี้ถูกผีเจ้าภูตามาเข้าสิงอาละวาดก่อกวนคนอยู่บ่อยๆ ทำให้ผู้คนล้มตายไปก็มีซึ่งตรงกันข้ามกับชาวบ้านกลุ่มที่มีความเลื่อมใสในพระรัตนตรัย ท่านพระอาจารย์ฝั้นจึงสอนให้พากันน้อมระลึกถึง คุณของพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เอามาเป็นที่พึ่ง แล้วให้นึกบริกรรมภาวนาว่า พุทโธ ธัมโม สังโฆ ๓ จบ แล้วระลึก พุทโธๆๆๆๆ คำเดียว ในทุกอิริยาบถ ท่านบอกว่าถ้าทำดังนี้แล้วผีจะมาทำอะไรเราไม่ได้ เพราะเราได้คุณพระมาเป็นที่พึ่งแล้ว พวกโยมทั้งหลายจึงพากันทำตามที่ท่านสอน ปรากฏว่าพวกผีที่ก่อกวนเบียดเบียน ไม่กล้าเข้ามากล้ำกรายทำอันตรายแก่พวกชาวบ้านที่ปฏิบัติตามที่ท่านสอนได้เลย
หยั่งรู้เหตุการณ์ล่วงหน้า
ในช่วงที่พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร พักอยู่ที่ จ.อุบลราชธานี ซึ่งอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ในราว พ.ศ. ๒๔๘๗ จังหวัดอุบลราชธานีกลาดเกลื่อนไปด้วยทหารญี่ปุ่น จึงจำเป็นที่ทหารฝ่ายสัมพันธมิตรจ้องจะทำลายล้าง โดยส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดอยู่เสมอ ชาวบ้านจึงพากันอพยพหลบภัยไปอยู่ตามรอบนอกทำให้ตัวเมืองอุบลเงียบเหงา ตกกลางคืนผู้คนนอนไม่หลับ เพราะต้องคอยหลบภัยทางอากาศกันอยู่เสมอ ถ้าวันไหนเครื่องบินจะล่วงล้ำมาทิ้งระเบิด พระอาจารย์ฝั้น จะบอกล่วงหน้าให้บรรดาศิษย์รู้ก่อนอย่างน้อย ๒ ชั่วโมง ภิกษุสามเณรทั้งหลายก็รีบหาที่หลบภัย หลังจากนั้นปรากฏว่าเครื่องบินบินมาทิ้งระเบิดจริงๆ ชาวบ้านทั้งหลายก็พากันหอบลูกจูงหลาน เข้าไปหลบภัยอยู่ในวัดเต็มไปหมด พระอาจารย์ฝั้น ก็ลงจากกุฏิไปเตือนให้พากันอยู่ในความสงบ และให้ภาวนา พุทโธ พุทโธ ไว้โดยทั่วกันทั้งเด็กและผู้ใหญ่
ขอฝน
ใน พ.ศ. ๒๔๘๙ หลังเข้าพรรษามาจนถึงเดือนเก้า ฝนฟ้าก็ยังไม่ตกต้องตามฤดูกาล ชาวบ้านไม่สามารถทำนาได้จึงพากันไปปรารภกับพระอาจารย์ฝั้น ท่านจึงแนะนำให้ชาวบ้านรักษาศีลให้เคร่งครัด ท่านกล่าวว่าถ้ายึดมั่นในพระรัตนตรัยแล้วจะไม่อดตายแน่นอน ต่อมาวันหนึ่งท่านให้ลูกศิษย์เอาเสื่อไปปูที่กลางแดดบนลานวัด แล้วท่านกับพระเณรก็ลงไปนั่งสวดคาถาท่ามกลางแดดจ้า พอสวดไปได้ประมาณครึ่งชั่วโมง ก็เกิดเหตุมหัศจรรย์ ท้องฟ้าที่กำลังมีแดดจ้า พลันมีเสียงฟ้าคำราม บังเกิดก้อนเมฆกับมีฝนเทลงมาอย่างหนัก ฝนตกนานถึง ๓ ชั่วโมง ท้องฟ้าก็แจ่มใสดังเดิม ตั้งแต่นั้นมาฝนก็ตกต้องตามฤดูกาล ชาวบ้านสามารถทำนากันได้ตามปกติ
ปัดเป่าความเดือดร้อน
ช่วงหนึ่งพระอาจารย์ฝั้น เดินทางไปที่ จ.จันทบุรี ชาวไร่แถบนั้นกำลังเดือดร้อนกับปัญหาด้วงมะพร้าวกันมาก บางไร่ถูกด้วงกัดกินยอดมะพร้าวตายแทบเกลี้ยง บางแห่งถึงกับต้องเผาทิ้งหมดทั้งไร่ก็มี มีโยมสวนมะพร้าวมาขอให้หลวงปู่ทำน้ำมนต์ให้ เพื่อขจัดปัดเป่าความเดือดร้อนจากด้วงที่กินยอดมะพร้าว ท่านก็ทำน้ำมนต์ให้ แล้วหยิบไม้สีฟันของท่านให้ไปด้วย ๔-๕ อัน กำชับให้ตั้งใจภาวนาพุทโธให้ดี แล้วให้เอาไม้สีฟันไปเหน็บไว้ทั้ง ๔ มุมของไร่ และให้เอาน้ำมนต์ประพรมรอบไร่ด้วย อีก ๒ วันต่อมา โยมเจ้าของสวนมะพร้าวกับภรรยาได้กลับมาหาหลวงปู่อีก พวกเขาพากันยกมือไหว้ท่วมหัวพร้อมกับกราบเรียนท่านว่า ความเดือดร้อนทั้งปวงหายไปอย่างน่าอัศจรรย์ บัดนี้ ตัวด้วงทั้งหลายได้หนีหายไปจากไร่ของเขาจนหมดสิ้น ไม่ต้องเผาไร่ทิ้งเหมือนคนอื่นๆ
วาจาสิทธิ์
เป็นที่ทราบกันในหมู่ลูกศิษย์ ถึงความพิเศษของท่านพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร เมื่อท่านกล่าวสิ่งใด หรือ พูดสิ่งใดออกไป สิ่งนั้นจะต้องปรากฏให้เห็นเป็นจริงเสมอจนน่าอัศจรรย์ เรื่องเล่าขานถึงความมีวาจาสิทธิ์ของท่านมีอยู่มากมาย บางครั้งหลวงปู่และศิษย์เตรียมตัวจะออกจากวัด ก็ได้ยินเสียงรถยนต์วิ่งอยู่บนถนนใหญ่ พระลูกศิษย์ก็จะขอวิ่งออกไปก่อนเพื่อไปบอกให้รถจอดรอ แต่หลวงปู่บอกไม่ต้อง รถคันนั้นต้องจอดรอเราแน่ๆ แล้วหลวงปู่ก็พาเดินไปตามปกติ พอไปถึงหน้าวัดก็เห็นรถโดยสารจอดอยู่จริงๆ เขาบอกว่าไม่รู้รถเป็นอะไรวิ่งมาดีๆพอมาถึงตรงนี้เครื่องยนต์ก็ดับ หลวงปู่พูดว่า เอาละ เครื่องดีแล้ว รีบไปกันเถอะ ปรากฏว่าเครื่องยนต์ก็ติดเสียงดังกระหึ่ม ด้วยความที่ท่านเป็นผู้มีวาจาสิทธิ์นี้เอง ทำให้เหล่าบรรดาคนเล่นหวยทั้งหลายต่างมุ่งไปหาท่าน เพื่อหวังขอเลขเด็ด แต่ท่านก็ไม่เคยให้ใครเลย บางรายจ้องจับเอาคำพูดของท่าน บางทีท่านพูดว่าจะไปกรุงเทพฯ มีคนถามว่าจะไปกี่วัน ท่านตอบว่า ๔-๕ วัน เขาก็พากันนำไปแทง จะเพราะความบังเอิญหรือไม่อย่างไรไม่ทราบ หรืออาจจะเป็นเพราะท่านมีวาจาสิทธิ์ เพียงแต่พูดออกมาเป็นตัวเลขเท่านั้นก็ให้บังเอิญไปตรงกับหวยที่ออก ทำให้หลายคนมองท่านว่าเป็นอาจารย์ให้หวยไปแล้ว
พลังจิตหลวงปู่ฝั้น
หลวงปู่ฝั้น อาจาโร ท่านเป็นพระที่มีพลังจิตแก่กล้ามาก ครั้งหนึ่งท่านส่งจิตไปพิจารณานกที่กำลังบินอยู่ ปรากฏว่านกนั้นตกลงมาต่อหน้าท่านทันที แม้แต่ท่านรำพึงกิ่งไม้ตายที่อยู่บนต้นไม้ เพียงครู่เดียวกิ่งไม้นั้นก็หล่นโครมลงมาต่อหน้าต่อตา และอีกครั้งหนึ่งท่านออกจากสมาธิ เห็นมดกำลังเดินทางเป็นสายอย่างขยันขันแข็ง ท่านจึงรำพึงในใจว่า “ เดินกันทั้งวันทั้งคืน ไม่หยุดพักบ้างหรือ ” ทันใดนั้นเองบรรดามดทั้งสายก็หยุดนิ่งทันที ท่านรู้สึกผิดที่ขัดขวางการทำมาหากินของมัน แล้วท่านก็บอกให้มดทำหน้าที่ของมันต่อไป ปรากฏว่ามดทั้งสายก็พากันเริ่มทำงานตามปกติ
เมตตาธรรมของหลวงปู่
นับแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๖ เป็นต้นมา หลวงปู่ฝั้น อาจาโร ท่านได้เดินทางไปๆมาๆระหว่างวัดป่าอุดมสมพร วัดป่าภูธรพิทักษ์ และวัดถ้ำขาม ไม่ว่าท่านจะไปพำนักอยู่ ณ สถานที่ใด บรรดาศรัทธาสาธุชนจะพากันไปกราบไหว้นมัสการท่านอย่างเนืองแน่น ทุกคนได้รับการต้อนรับจากท่านอย่างเสมอหน้า หลวงปู่ท่านเป็นนักสร้างคน สอนให้คนทำตัวเป็นคนดี สอนให้เลิกอบายมุข สอนให้เลิกประพฤติมิชอบทุกอย่าง ยิ่งนับวัน เมตตาบารมีธรรมของท่านยิ่งแผ่ขยายกว้างขวางออกไปทุกที ผู้คนจากทั่วสารทิศต่างหลั่งไหลมานมัสการท่านจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
หลวงปู่มรณภาพ
เมื่อวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๑๙ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร ได้เดินทางเข้ามารับการรักษาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กรุงเทพฯ แต่อาการไม่ดีขึ้นท่านจึงขอเดินทางกลับวัดป่าอุดมสมพร จวบจนกระทั่งถึงแก่มรณภาพ เมื่อวันที่ ๔ มกราคม พ.ศ.๒๕๒๐ ท่านพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร พระสุปฏิปันโน ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตรง ผู้องอาจในธรรมะของพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ละสังขารพ้นโลกนี้ไปแล้ว แต่คุณูปการคุณงามความดีของท่านยังสถิตอยู่ในดวงจิตดวงใจของผู้ศรัทธาสาธุชนอย่างไม่มีวันเสื่อมคลาย
เรียบเรียงโดย นายอภิภัสร์ ปาสานะเก
http://www.kammatanclub.com/