ชีวประวัดิ พระคุณเจ้า หลวงปู่หลุย จันทสาโร ๐๒

ชีวประวัดิ พระคุณเจ้า หลวงปู่หลุย จันทสาโร ๐๒

จากหนังสือ จันทสาโรบูชา

โดยคุณหญิงสุรีย์พันธุ์ มณีวัต

พรรษาที่ ๑-๖ พ.ศ. ๒๔๖๘-๒๔๗๓

จำพรรษาอยู่กับท่านพระอาจารย์บุญ ปัญญาวุโธ

พ.ศ. ๒๔๖๘ จำพรรษา ณ วัดพระบาทบัวบก อ. บ้านผือ จ. อุดรธานี

พ.ศ. ๒๔๖๙ – ๒๔๗๓ จำพรรษา ณ วัดป่าหนองวัวซอ อ.หนองวัวซอ จ. อุดรธานี

เสร็จจากการทำพิธีญัตติจตุตถกรรมใหม่แล้ว ท่านก็กลับมาจำพรรษาร่วมกับท่านพระอาจารย์บุญ ที่วัดพระบาทบัวบก อ.บ้านผือ จ. อุดรธานี ในพรรษาแรกปี พ.ศ. ๒๔๖๘ และต่อมาพรรษาหลัง ๆ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๙ ก็ได้มาอยู่ที่วัดป่าหนองวัวซอตลอดเวลา ๕ พรรษา

พระอุโบสถวัดป่าหนองวัวซอ

สำหรับวัดป่าหนองวัวซอนั้น หลวงปู่เล่าว่า เป็นวัดที่ท่านพระอาจารย์บุญได้พาชาวบ้านมาจากจังหวัดอุบลราชธานี อพยพโยกย้ายมาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนที่อำเภอหนองวัวซอ แล้วก็จัดตั้งวัดขึ้นที่บ้านนาเหล่า ปัจจุบันมีชื่อว่า “วัดบุญญานุสรณ์” เป็นชื่อที่ตั้งเป็นอนุสรณ์สำหรับท่านพระอาจารย์บุญ ในสมัยนั้น บริเวณวัดป่าหนองวัวซอ อุดมด้วยสัตว์ป่านานาชนิด ทั้งสัตว์เล็กอย่างกระต่าย ไก่ป่า นก ลิง ค่าง บ่าง ชะนีและทั้งสัตว์ใหญ่อย่างเสือ กระทิง เม่น หมี และหมูป่า โดยเฉพาะจ้าวป่าใหญ่อย่างช้างป่า จะผ่านมาในเขตวัดเป็นประจำ สำหรับเสือนั้นมีมากมาย ได้ยินเสียงมันร้อง”อ่าว…อือ อ่า…ววว อือ” แต่ไกลแทบทุกคืน สงัดวิเวกมาก บริเวณวัดก็มีสภาพเป็นป่าจริง ๆ บริบูรณ์ด้วยต้นไม้ใหญ่สูงเสียดฟ้ามืดครึ้ม มีเถาวัลย์รกเลี้ยวคลุมหนาแน่น หนามไผ่หนามหวายปกคลุมแน่นไปหมด เป็นที่เหมาะแก่การเจริญสมณธรรมบำเพ็ญเพียรภาวนาอย่างยิ่ง

ท่านเล่าว่า หนองวัวซอสมัยนั้นบริบูรณ์ด้วยช้างป่ามากมายเหลือเกิน ใกล้วัดมีต้นมะขามป้อมป่ามาก พระเณรได้ฉันเป็นยาปนมัตถ์ แต่ขณะเดียวกัน พวกสัตว์ป่าก็เยี่ยมกรายเข้ามาเพื่อจะอาศัยลูกมะขามป้อมเป็นอาหารมากเหมือนกัน จึงมีหลายครั้งที่ขณะซึ่งบรรดาเณรกำลังเก็บมะขามป้อมร่วงตามโคนต้น มักจะมีพวกเก้ง กวาง โผล่หน้าเยี่ยมเข้ามาหาอาหารบ้าง ต่างฝ่ายต่างก็จะผงะถอยหลัง ฝ่ายเณรก็ตกใจ ฝ่ายกวางก็ตกใจ กระโดดหนีไป มีแม้กระทั่ง กระทิง หมูป่า เม่น ทั้งมนุษย์และสัตว์ต่างก็อาศัยผืนแผ่นดินในโลกเป็นที่อยู่อาศัยเช่นเดียวกัน ไม่มีการปักป้ายกั้นเขตแดนไปเลยว่า นั่นเป็นเขตของมนุษย์ นี่คือเขตของสัตว์ บริเวณแถบนั้นยังเป็นป่า ไม่มีที่จะสำแดงว่าเป็นเมือง มีแต่พระธุดงคกัมมัฏฐานที่ไปพำนักอยู่ตามแคร่ตามกุฏิเล็ก ๆหรือใต้รุกขมูลร่มไม้เท่านั้น กลางคืนจะได้ยินเสียงนกหรือลิงร้องกรีดในเวลากลางคืน พระ ป่า ก็อยู่ในป่า สัตว์ป่าก็เป็นของ ป่า กลมกลืนกันไป

ท่านพระอาจารย์บุญอาจารย์ของท่านนั้น เป็นสัทธิวิหาริกของ ท่านเทวธัมมี (ม้าว) ท่านอธิบายว่า ท่านเทวธัมมี (ม้าว) พระอุปัชฌาย์ของท่านพระอาจารย์บุญนั้นเป็นสัทธิวิหาริกของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะยังทรงผนวชอยู่ ท่านเทวธัมมี (ม้าว) เป็นพระเถราจารย์องค์หนึ่งที่เป็นผู้นำข้อวัตรปฏิบัติระเบียบวินัยและจารีตประเพณีดีงามของสงฆ์ฝ่ายธรรมยุตให้เจริญรุ่งเรืองอยู่ในภาคอีสาน ท่านพระอาจารย์บุญเป็นพระเถราจารย์ฝ่ายวิปัสสนาธุระที่มีชื่อมากองค์หนึ่ง ท่านเล่าว่าสมัยนั้นครูบาอาจารย์ฝ่ายกัมมัฏฐานซึ่งเป็นที่เคารพยกย่องมีอยู่ไม่กี่องค์ อาทิเช่นท่านพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ท่านพระอาจารย์สุวรรณ สุจิณโณ ท่านพระอาจารย์พา และ ท่านพระอาจารย์บุญ พระอาจารย์องค์แรกของท่าน

ความจริงระหว่างที่หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ได้เรียบเรียงประวัติ วัดพระบาทคอแก้งที่อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย หลวงปู่เทสก์ท่านได้เล่าในตอนหนึ่งว่า สมัยที่ท่านอายุ ๑๒ ปี ยังเป็นเด็ก พระอาจารย์ของท่านเคยพาท่านไปเที่ยวที่พระบาทคอแก้งก็ได้พบท่านพระอาจารย์บุญพาลูกศิษย์คณะใหญ่ ๘ – ๙ องค์ มาบำเพ็ญเพียรที่พระบาทคอแก้ง แสดงว่า ท่านพระอาจารย์บุญเป็นคณาจารย์ที่มีชื่อทางด้านวิปัสสนาธุระมีลูกศิษย์ลูกหามากมายมาแต่ครั้งหลวงปู่เทสก์ยังเป็นเด็กอายุ ๑๒ ปีแล้ว

หลวงปู่เป็นผู้ที่ละเอียดลออมาก ท่านพบใคร ท่านก็จะจดบันทึกถึงประวัติ และโวหารธรรมที่ได้ฟังมาอย่างมาก สำหรับท่านพระอาจารย์บุญนี้ หลวงปู่ได้บันทึกประวัติไว้ว่า

“ท่านอาจารย์บุญเกิดเมื่อปี ๒๔๒๙ ที่บ้านกอก ตำบลหนองไข่นก อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี มารดาของท่านซื่อแม่อุ่น ท่านบวชปีพ.ศ. ๒๔๔๙ โดยมีท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ สิริจันโท (จันทร์) เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้ศึกษาธรรมและปฏิบัติธรรมอยู่กับท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ เป็นเวลา ๕ พรรษา จึงได้ออกปฏิบัติธรรมตามอัธยาศัย ท่านชอบศึกษาเล่าเรียนและชอบปฏิบัติ แต่ไม่ค่อยชอบสอนเท่าไรนัก”

หลวงปู่ได้บันทึกไว้อีกว่า

“เมื่อสมัยท่านพระอาจารย์บุญอยู่ถ้ำบัวบก ท่านนั่งอยู่ภายในถ้ำมืด ๆ ก็มีแสงสว่างเกิดขึ้น แลเห็นสว่างไปทั้งถ้ำ ความมืดนั่นหายไปหมดท่านเคยมีประสบการณ์งูอยู่ในถ้ำข้างบน ก็ต่างออกเข้าหากินตามภาษาของมัน มิได้สนใจพระ บางครั้งท่านกางกลดอยู่ก็มีตัวเหม็นเข้าไปอยู่ในมุ้งคอยหยอกท่านเรื่อย ๆ”

หลวงปู่ได้บันทึกต่อไปอีกว่า

“ท่านกล้าหาญ พูดเรื่องเสือที่ไปภาวนาอยู่บนเขากับท่านอาจารย์สีทา ท่านอาจารย์มั่นได้พิจารณาแล้วว่านิสัยพระอนุรุทธ ท่านอาจารย์บุญก็ว่าท่านอาจารย์มั่นเป็นนิสัยพระกัสสปะ นิสัยท่านอาจารย์บุญชอบสงบเสงี่ยมไม่โลดโผน พูดช้า ๆ ลึก ๆ เสียงน้อย รักษาสันโดษยิ่ง รักษากิริยามารยาทรูปสวยมาก มหาชนติดท่าน เป็นผู้แตกฉานในทางปริยัติพอสมควร เป็นนายช่างแก้นาฬิกาเครื่องกลทกอย่าง เคยเป็นนักเรียนโรงเรียนมหาดเล็กหลวง จบเพียงแค่ชั้นปีที่ ๒ ก็ออกไป แล้วไปบวช ท่านสั่งสอนศิษย์ตามวาสนา ท่านอาจารย์มั่นว่า ท่านบุญเอาตัวรอดไปได้แต่ลูกศิษย์ไม่ได้นิสัย ท่านหลุยอย่าเอาอย่าง ท่านบุญเป็นวัณโรคต้องเดินจงกรมให้เก่ง ไม่งั้นชีวิตจะสั้น เราชอบมารยาทท่าน แต่จิตนั้นเราชอบท่านอาจารย์มั่น ท่านอาจารย์บุญบอกว่า ที่ถ้ำบัวบกนั้นรุกขเทพมาก ใครทำผิดแล้วมักเกิดวิบัติ”

หลวงปู่เล่าเพิ่มเติมอีกว่า

“ท่านพระอาจารย์บุญนั้นหมดสิ้นอาสวกิเลส ณ ถ้ำแห่งหนึ่งในจังหวัดอุดรธานี ท่านรูปร่างงาม ขาว สูงใหญ่ และกิริยานิ่มนวล “เดินตามฟากไม่ดังเลย” เหมือนกิริยาของแมว ได้พาหลวงปู่เที่ยววิเวกไปตามภูเขาต่าง ๆ ในเขตภูพาน ซึ่งอุดมด้วยถ้ำ เงื้อมหินมากมาย รวมทั้งที่พระบาทคอแก้ง อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคายด้วย ระหว่างที่อยู่ที่วัดป่าหนองวัวซอ ก็พากลับไปวิเวกที่วัดพระบาทบัวบก อำเภอบ้านผือซึ่งท่านได้พบท่านพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล เป็นคำรบแรก ณ ที่นั้นการอยู่กับท่านพระอาจารย์บุญนี้ ทำให้หลวงปู่สามารถเรียนรู้วิธีการปฎิบัติอุปัฎฐากครูบาอาจารย์ผู้ใหญ่อย่างคล่องแคล่วว่องไว

กิจวัตรต่อครูบาอาจารย์

สิ่งทีท่านจำได้ไม่ลืม คือ หลักการที่พระอาจารย์บุญได้สอนไว้ว่าเป็นพระเล็กเณรน้อย ได้โอกาสมาอยู่ด้วยเพื่อจะเรียนรู้จากพระผู้ใหญ่ ก็ต้องหัดจำข้อวัตรปฏิบัติให้ได้ หลักง่าย ๆ ๔ อย่าง ควรจำให้ขึ้นใจ คือ

๑. ต้องฉันหลังอาจารย์

๒. ต้องฉันให้เสร็จก่อนอาจารย์

๓. ต้องนอนหลังอาจารย์

๔. ต้องตื่นก่อนอาจารย์

หลัก ๔ อย่างนั้นฟังดูสั้นและง่าย แต่การปฏิบัติจริง ๆ จะต้องมีข้อวัตรที่จะต้องปฏิบัติมากมาย ผู้ที่จะเรียกได้ว่าเป็น พระปฎิบัติอุปัฎฐาก ครูบาอาจารย์นั้นจะต้องเป็นผู้ที่คล่องแคล่ว ว่องไว กล่าวคือ…พอสว่างได้อรุณแล้ว ต้องรีบนำบาตรและบริการของตนไปโรงฉัน จัดแจงโรงฉันให้เรียบร้อย ต้องหัด นอนดึก ลุกเช้า เมื่อจัดโรงฉันเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ต้องรีบไปเพื่อทำกิจวัตรต่อท่านอาจารย์ใหญ่ในที่พักของท่าน รอเวลาท่านจะออกห้อง โดยคอยอยู่ตามบริเวณใกล้เคียงนั้น ระหว่างที่รอคอยต้องทำความเพียร รอเวลาท่านออกมา ไม่ควรจะนั่งจับกลุ่มคุยกันกับหมู่พวก

พอได้ยินเสียงท่านกระแอมหรือไอ หรือเกิดเสียงกระเทือนจากการไหวตัวของท่าน เนื่องจากท่านมักจะพักอยู่ตามแคร่ซึ่งทำด้วยฟากไม้ไผ่ เพียงท่านขยับตัวนิดเดียว เสียงสะเทือนก็จะดัง ต้องรีบเอาบริขารท่านลงไปโรงฉัน โดยก่อนหน้านั้นจะต้องจัดกระโถนและหม้อมูตรไปชำระเสียก่อน เมื่อนำบริขารของท่านไปถึงโรงฉันแล้ว ก็รอเวลาไปบิณฑบาต หากท่านยังลงมาไม่ทัน โอกาสมี ก็ไปเดินจงกรมเสียก่อน หรือนั่งกำหนดจิตไปพลาง ๆ พอได้เวลาไปบิณฑบาต ท่านก็ให้เดินไปที่โรงฉัน หรือแห่งใดแห่งหนึ่ง แล้วแต่ความสะดวกของท่าน คอยรับเก็บรองเท้าท่าน (ถ้ามี) หรือผลัดเปลี่ยนผ้า ห่มผ้าติดลูกดุมถวายท่านก่อน ครองผ้าถวายท่านเสร็จแล้ว ต้องครองผ้าของตนให้เสร็จก่อนท่านอีก แล้วเอาบาตรของตนและของท่านเดินล่วงหน้าไปก่อน รอคอยท่านอยู่ที่ใกล้ทางเข้าหมู่บ้านที่จะบิณฑบาต เมื่อท่านไปถึงให้เอาบาตรถวายท่าน แล้วเข้าแถวเดินไปตามลำดับพรรษา เดินไปตามหลังท่าน เสร็จการรับบิณฑบาตแล้ว ต้องรีบเดินออกล่วงหน้าท่านกลับก่อน เพื่อจะได้รีบไปจัดทำกิจทุกอย่างให้เสร็จก่อน จะได้เพียงแต่คอยนั่งฉันอยู่เท่านั้นก็หาไม่

ก่อนท่านฉันอาหารจะต้องคอยดูแลปฏิบัติถวายท่าน เช่น รับประเคนบาตรและอาหาร จัดอาหารในบาตรถวายอาจารย์ให้เรียบร้อย แล้วจึงกลับมานั่ง ณ ที่อาสนะของตน

ความจริงระหว่างการจัดอาหารถวายท่านนั้น ต้องคอยดูด้วยความฉลาดว่าควรจะเป็นอาหารที่เหมาะกับธาตุขันธ์ของท่าน เป็นที่สบายต่อสุขภาพของท่านหากเป็นอาหารที่ไม่สมควร ท่านอาจจะไม่รับเลยก็ได้

ในด้านการฉัน ผู้ปฏิบัติต้องรีบฉันให้อิ่มก่อนท่านเสมอ สังเกตว่าท่านฉันอาหารคาวเสร็จแล้ว ลงมือฉันอาหารหวาน ต้องให้อิ่มทันตอนนั้นพอดี ถ้าเลยไปกว่านี้แล้วจะไม่ทันต่อการทำกิจวัตรอย่างอื่น คือการเตรียมถวายน้ำล้างมือ ถวายไม้สีฟันซึ่งมี ๓ ขนาด คือทั้งเล็ก กลาง ใหญ่ น้ำสำหรับบ้วนปาก เสร็จก็นำบาตรอาจารย์ไปล้าง เช็ดให้แห้ง นำไปเก็บไว้ให้เรียบร้อย กลับมาดูแลเก็บบริขาร นำบริขารไปส่งยังที่พักของอาจารย์ ต่อนั้นจึงจะกลับไปปฏิบัติภาวนาได้ จนได้เวลาที่ต้องทำกิจวัตรร่วมกับหมู่คณะ ต้องมาร่วมทำกิจวัตรนั้นจนเสร็จเรียบร้อย แล้วจึงถวายน้ำปานะตลอดจนการเตรียมน้ำร้อนสำหรับให้อาจารย์สรงให้เรียบร้อย แล้วจึงกลับไปทำธุรกิจส่วนตน การปฏิบัติภาวนาก็จะต้องทำไปด้วยควบคู่กัน จนได้เวลาก่อนทำวัตรเย็น และต้องรีบกลับมาตระเตรียมดูแลสถานที่สำหรับอาจารย์ให้เรียบร้อยก่อนที่ท่านจะลงมาทำวัตรเย็นในเวลาประมาณทุ่มครึ่ง

ในการทำวัตรเย็น ท่านพระอาจารย์บุญจะกล่าวนำบูชาพระรัตนตรัย แล้วพาสวดตามตำรับ “ยมหํ ” ที่หลวงปู่ได้ยึดถือนำมาปฏิบัติจนตลอดชีวิตของท่าน ต่อจากนั้นก็รับฟังเทศน์ ถามตอบปัญหาในภาคปฏิบัติ แล้วนั่งสมาธิภาวนาจนท่านอาจารย์เห็นสมควรแก่เวลาจึงได้สั่งเลิกไป เมื่อการประชุมเสร็จสิ้นลง ก็ต้องดูแลเก็บบริขารและไปส่งท่านอาจารย์ถึงที่พัก ตลอดทั้งต้องถวายการนวดเฟ้นซึ่งหลวงปู่ใช้คำว่า “คั้นเอ็น” แก่ครูบาอาจารย์ จนกระทั่งสั่งหยุด แล้วกลับมาดูแลความเรียบร้อยที่ศาลาต่อ จึงจะกลับไปที่พัก ปฏิบัติภาวนาพิจารณาคำสั่งสอนที่ได้รับมาจากท่านอาจารย์ได้ นำเอาอุบายและวิธีต่าง ๆ มาเป็นแนวชี้แนะในทางปฏิบัติอันเป็นงานสำคัญยิ่งสำหรับพระ

การปฏิบัติภาวนานี้จะใช้เวลามากน้อย ขึ้นอยู่กับความสงบของจิต ที่จะตามเข้าไปรู้เห็นธรรมนั้นตามสภาพความเป็นจริง จนเป็นที่เข้าใจอย่างหมดสงสัย แล้วจึงพักผ่อนได้ แต่ถ้ายังไม่เป็นที่เข้าใจ ยังมีความสงสัยอยู่ บางครั้งอาจจะไม่ได้พักผ่อนกันเลย ซึ่งข้อนี้อยู่ในเรื่องที่ว่า ต้องนอนหลังอาจารย์ ก่อนที่จะเข้าที่พักผ่อนก็ต้องกำหนดจิตก่อน คือตั้งเจตนาให้จิตรู้สึกและตื่นก่อนท่านอาจารย์ เพื่อจะได้ไปเตรียมน้ำล้างหน้า น้ำสีฟัน น้ำบ้วนปากถวายท่าน ถ้าอยู่กันหลายองค์ก็จะได้แข่งกันขึ้นปฏิบัติอาจารย์ เพื่อเป็นการฝึกหัดและตั้งสติรอบรู้ของตนให้พร้อมอยู่เสมอ

เจดีย์ที่บรรจุอัฐิธาตุของท่านพระอาจารย์บุญ ที่วัดพระบาทบัวบก อ.บ้านผือ อุดรธานี

เมื่อถวายการปฏิบัติต่ออาจารย์เรียบร้อยแล้ว ก็กลับมาทำภัตวัตร ปัดกวาดปูลาดเสนาสนะ จัดเตรียมที่ฉัน แล้วดูแลอุปกรณ์ของใช้ในการฉันให้เรียบร้อย จึงลงไปเดินจงกรมภาวนา จนถึงเวลาออกบิณฑบาต วนเวียนกันไปเช่นนั้น

หลวงปู่มีความเลื่อมใสศรัทธาในปฏิปทาของท่านพระอาจารย์บุญมาก ท่านอุปัฏฐากรับใช้จนท่านพระอาจารย์บุญมรณภาพ ในกลางปี ๒๔๗๓ ระหว่างพรรษานั้น ซึ่งท่านพระอาจารย์บุญจำพรรษาอยู่ที่วัดป่ามหาชัย เสร็จงานถวายเพลิงแล้ว ท่านได้นำอัฐิธาตุพระอาจารย์ของท่านไปไว้ที่วัดพระบาทบัวบก อันเป็นสถานที่ที่ท่านพระอาจารย์บุญอยู่จำพรรษานานที่สุด พระเณรและญาติโยม โดยมีท่านพระอาจารย์ขัน อาภัสสโร เป็นประธาน ได้ช่วยกันสร้างเจดีย์บรรจุอัฐิธาตุของท่านให้ เมื่อหมดสิ้นภาระหน้าที่อันควรถวายครูบาอาจารย์แล้ว หลวงปู่ก็ออกวิเวกต่อไป โดยไปทางหล่มสัก เพชรบูรณ์บ้าง จังหวัดเลยบ้าง.

ได้พบและจำพรรษากับกัลยาณมิตร

ณ ที่วัดป่าหนองวัวซอนี้ หลวงปู่เล่าว่า เป็นที่ซึ่งท่านได้พบและจำพรรษากับกัลยาณมิตร ๒ องค์ กล่าวคือ หลวงปู่ขาว อนาลโย และ หลวงปู่ชอบ ฐานสโมสำหรับหลวงปู่ขาว นับแต่ที่ได้บวชเป็นคู่นาคกันแล้ว เป็นการพบกันครั้งแรก แต่สำหรับหลวงปู่ชอบนั้น ท่านเล่าว่า เคยพบกันมาก่อนแล้วระหว่างธุดงค์อยู่ตามป่าเขาแถบจังหวัดเลย อันเป็นภูมิลำเนาบ้านเกิดของท่านทั้งสอง แต่ครั้งยังเป็นพระน้อยเพิ่งเริ่มบวช

การมาอยู่จำพรรษาด้วยกัน ทั้ง ๓ องค์ ในพรรษาที่ ๖ พ.ศ. ๒๔๗๓ ทำให้ชอบอัธยาศัยและใกล้ชิดถูกนิสัย แลกเปลี่ยนธรรมสากัจฉาเป็นกัลยาณมิตรเอื้อเฟื้อต่อกันตลอดมา จนหลวงปู่ขาวมรณภาพจากไปก่อนในปี พ.ศ. ๒๕๒๖ และองค์หลวงปู่เอง ในเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๒ ซึ่งยังคงเหลือหลวงปู่ชอบ ฐานสโมเท่านั้น สำหรับเป็นหลักชัย เป็นเพชรบนยอดมงกุฎแห่งจังหวัดเลยเพียงองค์เดียว

ณ ที่วัดป่าหนองวัวซอนั้นเป็นที่หลวงปู่เล่าเสมอ ว่าท่านได้ประจักษ์ในบุญญาบารมีในกัลยาณมิตรของท่าน กล่าวคือ ระหว่างจำพรรษาด้วยกัน คืนหนึ่งเกิดฝนตกหนัก ลมพายุพัดรุนแรง ฝนตกหนักตลอดทั้งวันทั้งคืน ครั้นถึงเวลากลางวันขณะที่หลวงปู่ชอบกำลังจำวัด ก็ต้องสะดุ้งตื่น ด้วยได้ยินเสียงโยมมารดามาร้องเรียกให้ออกไปรับเสด็จพระนางมัทรี พอท่านออกมานอกกุฏิตามเสียงเรียกของโยมมารดา ต้นไม้ใหญ่ก็หักโค่นลงทับกุฏิของหลวงปู่ชอบพังเป็นจุณไป ทำให้หลวงปู่ชอบพ้นอันตรายไปอย่างน่าอัศจรรย์

ความจริงเรื่องที่ว่า โยมมารดาเห็นพระนางมัทรีนั้น เมื่อหลังจากที่เกิดเหตุแล้ว ก็พาหลวงปู่ไปที่ศาลาที่ว่านางมัทรีมารออยู่ โยมมารดาเล่าว่า ได้เห็นพระนางมัทรีลงมาหา เป็นหญิงที่สวยงามที่สุด ครั้งแรกไม่รู้จักชื่อ พอถาม นางก็บอกว่า นางเองคือพระนางมัทรี โยมมารดาเห็นผู้หญิงนั้นงามเหลือที่จะประมาณ งามยิ่งกว่านางฟ้าที่เคยเห็นในรูป รู้สึกตื่นเต้นจึงวิ่งไปตามพระลูกชายดังกล่าว แต่เมื่อมาถึงศาลา ไม่มีใครเห็นผู้หญิงที่โยมมารดากล่าวอ้างเลย คงเห็นแต่รูปพระนางมัทรีติดอยู่บนศาลาเท่านั้น น่าคิดว่านางฟ้าหรือเทพยดาอารักษ์ เทพธิดาองค์ใดไปช่วยปรากฏกายให้โยมมารดาไปเรียกหลวงปู่ชอบออกมาได้ เพราะถ้าท่านยังคงจำกัดอยู่ ท่านต้องมรณภาพแน่

สำหรับกรณีหลวงปู่ขาวนั้น ท่านเล่าว่า ต้นไม้หักโค่นลงมาเหมือนกัน แต่ต้นที่ล้มลงระเนระนาดนั้นมีจำนวนมาก แต่ละต้นต่างล้อมกุฏิหลวงปู่ขาวไว้โดยรอบเป็นวงกลม ไม่มีแม้แต่ต้นเดียว กิ่งเดียว ที่จะหักมาทับหรือก่ายกุฏิหลวงปู่ขาวเลย เป็นประหนึ่งเทวดาช่วยจับเวียนต้นไม้ล้อมรอบกุฏิหลวงปู่ขาวเอาไว้ฉะนั้น

เป็นเรื่องที่หลวงปู่หลุยจะเล่าให้ศิษย์ใกล้ชิดฟังเสมอว่า บุญบารมีที่แต่ละคนสร้างสมอบรมมานั้น โดยเฉพาะท่านผู้จะเดินไปสู่มรรคผลนิพพานนั้น จะต้องมีเทพยดาอนุรักษ์มาบำรุงรักษาปกป้องคุ้มครองให้พ้นจากภัยอันตรายเสมอ

พระบาทบัวบก

เงื้อมหิน ภายในบริเวณพระบาทบัวบก

พระบาทบัวบก ตั้งอยู่ในเขตตำบลเมืองพาน อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานีเป็นสถานที่ที่สวยสดงดงาม สงบเยือกเย็น อยู่ในระหว่างไหล่เขาภูพาน เป็นเนื้อที่อันกว้างใหญ่ สถานที่เป็นพระพุทธบาทนั้น ตั้งอยู่บนเขา ประกอบด้วยศิลปวัฒนธรรมวรรณคดีต่าง ๆ ตลอดทั้งภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ติดอยู่ที่เพิงหินเป็นจำนวนมาก นับว่าเป็นปูชนียวัตถุที่สำคัญยิ่งแห่งหนึ่งของชาวจังหวัดอุดรธานี เชื่อกันว่าเป็นที่ประดิษฐานรอยพระบาทของพระพุทธเจ้า เมื่อพระองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ ได้เสด็จมาด้วยบุญฤทธิ์ มาประสานรอยพระบาทไว้ ณ ที่นี้ เพื่อให้สาธุชนผู้มีความเลื่อมใสในพระองค์ได้กราบไหว้บูชา บริเวณวัดเป็นที่ที่งดงามมาก มีพลาญหินกว้างใหญ่และมีถ้ำมากมายหลายถ้ำ ชะง่อนหินหลายแห่งเป็นเงื้อมหินยื่นแผ่ออกมา ประดุจพญานาคแผ่เศียรพังพานให้ร่มเงา เหมาะแก่การเป็นที่พักบำเพ็ญเพียรทั้งนั้น ท่านพระอาจารย์บุญชอบใจที่นี่มาก ท่านได้มาจำพรรษาอยู่ ณ ที่นี้หลายครั้งหลายหนแล้วเพราะฉะนั้น เมื่อมีศิษย์หน้าใหม่มารับการอบรม ท่านก็จะพามาให้พักจำพรรษาบ้างหรือกลับมาแสวงหาความวิเวกบ้าง

ระยะนั้นบ้านเมืองยังอุดมสมบูรณ์ด้วยป่าไม้ น้ำประปาธรรมชาติก็มีสะดวกทั้งปี มีน้ำไหลมาตามร่องของหินของภูเขา แล้วก็กระโจนลงมาเหมือนน้ำตกผู้ที่มาพักก็สามารถดัดแปลงน้ำตกนั้นให้กลายเป็นน้ำประปาได้ โดยหาไม้ไผ่มาผ่าครึ่งตลอดลำ แล้วเซาะเอาปล้องกลางออก เพื่อให้น้ำไหลไปตามรางได้โดยสะดวกแล้วเอาลำไม้ไผ่ที่แต่งดีแล้วนั้น ไปรองรับน้ำที่พุ่งออกมาตามร่องหินนั้น ให้มันไหลไปเป็นประปาธรรมชาติตามรางไม้ไผ่ แล้วแต่จะต้องการจะให้หันเหไปทางใด น้ำใสมากเย็นเฉียบ มีน้ำไหลได้ตลอดปี ซึ่งเดี๋ยวนี้น่าเสียดายที่ไม่มีน้ำไหลอีกแล้ว เพราะแม้แต่บนเขาภูพานเองก็หาต้นไม้ใหญ่แทบไม่พบ แทบจะไม่มีป่าอยู่บนภูเขา กลายเป็นภูเขาหัวโล้นไปเกือบหมด ทำให้น้ำแห้งไปตลอดด้วย

รอยพระบาท ภายในเจดีย์พระบาทบัวบก

รอยพระบาทนั้นอยู่ท่ามกลางพลาญหินยาวประมาณ ๒ เมตร กว้าง ๗๐ เซนติเมตร ลึกประมาณ ๖๐ เซนติเมตร ได้เป็นที่ที่พวกพรานป่าได้มาพบ เนื่องจากเขาเหล่านั้นได้พยายามจะยิงสัตว์ แต่เมื่อสัตว์วิ่งมาที่ตรงกลางพุ่มไม้นี้ พรานตามมายิงเท่าไรก็ไม่สามารถทำอันตรายแก่พวกกวางเก้งนั้นได้ เมื่อตามกวางเก้งที่ถูกยิงมาถึงที่นี้ ก็เห็นว่า เมื่อมันมากินน้ำนี้แล้ว แผลทั้งหมดก็หายไปด้วย

พวกพรานป่าเห็นเป็นอัศจรรย์จึงแหวกพงหญ้าเข้ามาจนพบรอยพระบาทนี้ได้มีการสร้างเจดีย์ครอบพระพุทธบาทหลายครั้ง ครั้งสุดท้ายท่านอาจารย์สีทัด ชาวนครพนมได้เดินธุดงค์มาเห็น ท่านได้เคยบูรณะสร้างเจดีย์ที่นครพนมมาแล้ว มาเห็นพระบาทบัวบกรู้สึกเลื่อมใสมาก ท่านเลยพาญาติโยมมาสร้างเจดีย์ครอบพระบาทบัวบก ลักษณะรูปทรงเหมือนเจดีย์พระธาตุพนม สูงประมาณ ๑ เส้น ยอดเจดีย์เป็นฉัตรทองเหลือง จึงแลดูงดงามยิ่งนัก เจดีย์ธาตุท่านพระอาจารย์บุญก็ได้สร้างห่างออกมาจากเจดีย์พระบาทบัวบกเพียงเล็กน้อย อยู่ในลักษณะรูปพรรณสัณฐานคล้ายกัน

บริเวณพระบาทบัวบกยังมีรูปหินธรรมชาติอันงดงาม มีเรื่องราวเล่ากันถึงเรื่องนางอุษา เป็นตำนานที่เล่าสู่กันมา

แต่ทางพระธุดงคกัมมัฏฐานได้พอใจพากันมาแสวงหาความวิเวก ณ ที่นี้ตลอดมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้ ถึงจะมีความแห้งแล้งอย่างไร แต่พลาญหิน เงื้อมถ้ำยังคงอยู่ พอจะแสวงหาความสงัดวิเวกได้

สำหรับคำว่า บัวบก นั้นเป็นคำบอกชื่อพันธุ์ไม้ดอกชนิดหนึ่ง ซึ่งแต่ก่อนนั้นเคยเกิดอยู่ตามพื้นดิน แต่ไม่ชอบน้ำ กล่าวกันว่ามีดอกสีขาวและลักษณะของกลีบคล้ายกลีบบัว แต่พันธุ์ไม้ชนิดนี้ถูกคนทำลายได้สูญพันธุ์ไปเกือบหมดแล้ว ปัจจุบันนี้จึงหาดูได้ยาก เป็นพันธุ์ไม้ที่คนอีสานเรียกว่า ต้นบัวบกหรือหัวบัวบกนั่นเอง

สมัยก่อนที่หลวงปู่ได้ธุดงค์ไป ยังพบพันธุ์ไม้บัวบกนี้มากอยู่ โดยเฉพาะรอบองค์เจดีย์ องค์ซึ่งหักโค่นลงแล้วเหลือให้เห็นซากอิฐเป็นกอง ประมาณได้เมื่อตอนนั้นสูงประมาณ ๘ เมตร มียอดทิ้งไว้มีสามยอดติดกัน ต้นบัวบกเต็มไปหมด ขึ้นอยู่ตามซากเจดีย์ พอถึงฤดูแล้งใบและดอกก็จะตาย พอถึงฤดูฝนต้นบัวบกก็จะผลิดอกขาวเต็มไปหมด ตามลักษณะของดอกไม้ป่า ที่มักจะมีอุดมสมบูรณ์อยู่ตามพลาญหิน ในเขตหุบเขาและป่าทางอีสาน สำหรับบัวบกนี้ เมื่อมีคนไปบูรณะเจดีย์ ส่วนมากก็จะถางทิ้งเพื่อความสะดวกในการก่อสร้างบ้าง ในการไปมาบ้าง ภายหลังจึงแทบจะสูญพันธุ์ไป

ณ ที่ฐานเจดีย์ท่านพระอาจารย์บุญ ได้มีคำจารึกโดยละเอียด เห็นควรเชิญมาลงพิมพ์ด้วย… ที่น่าสนใจอย่างยิ่ง คือ ราคาค่าก่อสร้างเจดีย์สูง ๖ วา ๓ ศอก ใน พ.ศ. ๒๔๗๓ นั้น เป็นเงินเพียง ๓๒๕ บาท ๒๑ สตางค์ น่าคิดว่า ค่าของเงินปัจจุบันนี้ แตกต่างกว่าสมัยก่อนนั้นเพียงไร

ธาตุสาวก

สร้าง พ.ศ. ๒๔๗๓

คำไหว้

มยาหํ อาจาริยํ ปุญญนามกํ อฎฺฐิธาตุ สิรสา นะมามิ ฯ

พระปัญญาวุโธ (บุญ) อายุ ๔๔ ปี พรรษา ๒๔ ถึงแก่มรณภาพ

พระอาภัสสโร (ขัน) พร้อมภิกษุ สามเณร และ อุบาสก อุบาสิกา

ทั้งหลายได้พากันสร้างธาตุบรรจุอัฐิของท่านไว้ ณ ที่นี้

ฝ่ายอุบาสก อุบาสิกา ได้ออกทรัพย์รวมเป็นเงิน ๓๒๕ บาท ๒๑ สตางค์

ขอวุฒิธรรมทั้ง ๔ ประการ คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ

จงมีแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายสิ้นกาลนานเทอญ ฯ

สูง ๖ วา ๓ ศอก

อดีตที่ฝังรอยมาจากบุพชาติ

หลังจากที่เสร็จงานพิธีบรรจุอัฐิธาตุท่านพระอาจารย์บุญในเจดีย์ที่ก่อขึ้นมา ณ บริเวณวัดพระบาทบัวบกแล้ว หลวงปู่ก็ออกธุดงค์วิเวกมาทาง จ.เลย และเพชรบูรณ์ ทางสายนั้น ขณะนั้นยังเป็นป่าเขาที่อุดมสมบูรณ์มากที่สุด มีภูเขาใหญ่น้อยเรียงรายกันเป็นดุจทะเลภูเขา เวลาเย็นเห็นแสงพระอาทิตย์ส่องผ่านไปให้สีสันต่าง ๆ กัน เหมือนคลื่นภูเขาเหล่านั้นกำลังตีฟองคะนองอยู่ในอากาศ อากาศวิเวก ชวนให้ภาวนา ท่านเล่าว่า การเดินแบบนั้นได้ประสบรสแห่งความวิเวกอย่างดีที่สุด ซึ่งในปัจจุบันนี้แทบจะหาความสงบสงัดวิเวกทำนองนั้นไม่ได้อีกแล้ว เพราะได้มีรถยนต์เป็นยานพาหนะจะไปไหนมาไหนก็รวดเร็ว การสงบจิตติดตามไปมิได้วังเวงวิเวกเช่นการเดินด้วยเท้าดังครั้งก่อน

ท่านแวะมาที่หล่มสัก ด้วยโยมมารดาของท่านมีพื้นเพภูมิลำเนาอยู่ที่นั้นจึงยังมีบ้านญาติบ้านพี่บ้านน้อง คนคุ้นเคยอยู่มาก ท่านมาถึงได้ทราบว่า บ้านญาติคนหนึ่งมีงานศพ นิมนต์พระไปสวดมนต์ ท่านก็ได้รับนิมนต์ไปในงานสวดมนต์นั้นด้วย

หลวงปู่เล่าให้ฟังว่า ท่านไม่เคยคิดเลยว่า การแวะไปเยี่ยมญาติและสวดมนต์ในครั้งนั้น จะทำให้ท่านถึงกับซวดเซลงแทบจะล้มลงทั้งยืน

ล้ม…ล้มอย่างไม่มีสติสตังเลยทีเดียว

ท่านเล่าให้เฉพาะผู้ใกล้ชิดฟังว่า วันนั้นท่านกำลังสวดมนต์เพลินอยู่ ระหว่างหยุดพักการสวด เจ้าบ้านก็นำน้ำปานะมาถวายพระแก้คอแห้ง บังเอิญตาท่านชำเลืองมองไปในหมู่แขกที่กำลังนั่งฟังสวดมนต์อยู่เพียงตาสบตา ท่านก็รู้สึกแปล๊บเข้าไปในหัวใจ

เหมือนสายฟ้าฟาด แทบจะไม่เป็นสติสมประดี

ท่านกล่าวว่า เพียงตาพบแว้บเดียว ไม่เข้าใจว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ท่านก็เซแทบจะล้ม เผอิญขณะนั้นท่านพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม ได้รับนิมนต์ไปด้วย ท่านคงสังเกตถึงอาการหรือว่าท่านอาจจะกำหนดจิตทราบเหตุการณ์ก็ได้ ท่านจึงเข้ามาประคองไว้ เพราะมิฉะนั้นหลวงปู่คงจะล้มลงจริง ๆ

ฝ่ายหญิงที่นั่งอยู่ทางด้านโน้นก็เป็นลมไปเช่นกัน คงจะเป็นอำนาจความเกี่ยวข้องแต่บุพชาติมา ที่มาบังคับให้เกิดความรู้สึกเช่นนั้น

พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม

ท่านบอกว่าในหัวอกเหมือนจะมีอะไร แต่ภายหลังได้พิจารณากลับมา และเมื่อท่านพระอาจารย์สิงห์ได้อธิบายให้ท่านทราบในภายหลังว่า การครั้งนี้เป็นนิมิต เนื่องจากบุพเพสันนิวาสท่านและสุภาพสตรีผู้นั้นเคยเป็นเนื้อคู่เกี่ยวข้องกันต่อมาช้านาน เคยบำเพ็ญบารมีคู่กันมาโดยเฉพาะเมื่อภายหลัง หลวงปู่ได้สารภาพถึงความในใจที่ตั้งปรารถนาพุทธภูมิ ท่านพระอาจารย์สิงห์ก็อธิบายว่า เธอผู้นั้นก็คงได้ปรารถนา บำเพ็ญบารมีคู่กันมาเช่นกัน

ท่านก็เลยเล่าว่า ครั้งหนึ่ง หลวงปู่อีกองค์หนึ่งก็เช่นกัน ระหว่างที่มากรุงเทพฯเดินบิณฑบาตอยู่แถววัดสระปทุม ได้พบสตรีคนหนึ่ง นั่งรถสามล้อผ่านไป (สมัยนั้นในกรุงเทพฯมีรถสามล้อเป็นยานพาหนะด้วย—–ผู้เขียน) ท่านบอก เพียงตาสบตาเท่านั้น ความรู้สึกมันปล๊าบไปทั้งตัว แทบจะวิ่งตามเขาไป คราวนั้นพระเถระผู้ใหญ่ต้องให้สติและขังท่านไว้ในโบสถ์ พิจารณาดับความรู้สึกกันอยู่นาน ด้วยการเจริญอสุภะจึงสำเร็จ คราวนั้นหลวงปู่องค์นั้นท่านก็เล่าว่า ไม่รู้จักผู้หญิงคนนั้นมาก่อน แล้วก็ไม่รู้ว่าเขาอยู่ที่ไหนด้วยซ้ำ เขาจะไปที่ไหน อย่างไร ก็ไม่ทราบ แต่ใจมันวิ่งเตลิดตามเขาไป พิจารณาแล้วก็ได้ความเช่นกัน ว่าเป็นคู่ที่เคยมีบุพเพสันนิวาสกันมาแต่ชาติก่อน อำนาจกรรมนั้นจึงมาประจักษ์ แต่หากว่าบุญบารมียังมีในเพศพรหมจรรย์ ท่านจึงปลอดภัยไปจากกรรมนี้ได้

สำหรับกรณีของหลวงปู่ก็เช่นกัน แต่ของท่านนั้น เนื่องจากเป็นการปรารถนาพุทธภูมิเคียงคู่กันมา จึงมีอำนาจรุนแรงมาก และเนื่องจากว่า ฝ่ายหญิงมิได้พบกันแล้วก็ห่างกันไปแบบในกรณีของหลวงปู่องค์นั้น ต้องพบประจันหน้ากันอีกหลายครั้ง เนื่องด้วยผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายเป็นผู้คุ้นเคยกันประหนึ่งญาติ และมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันมาหลายชั้น ตั้งแต่ครั้งบิดามารดา ต้องพบเห็นกัน ไม่ใช่ว่าเป็นการพบกันแล้วก็ผ่านจากไป เช่นนั้นอาจจะเป็นกรณีที่ง่ายหน่อย แต่การนี้หลังจากพบครั้งแรกแล้วนั้น ก็ยังต้องเห็นกันอีก กรณีจึงแตกต่างจากพระเถระครูบาอาจารย์ฝ่ายกัมมัฏฐานองค์อื่น ในชาตินี้ นอกจากที่ว่า ชั้นบิดามารดารู้จักคุ้นเคยกันประหนึ่งญาติพี่น้อง อาจจะเคยเห็นกันในสมัยวัยเด็ก แต่อย่างไรก็ตาม ฝ่ายหญิงได้ถูกส่งตัวเข้ามารับการศึกษาในพระนครเสียตั้งแต่ยังเด็ก ได้รับการศึกษาชั้นสูง จึงแทบมิได้พบหน้ากันอีก เมื่อมาพบฝ่ายหญิงนั้น ท่านอยู่ในเพศบรรพชิตแล้ว อีกฝ่ายหนึ่งเป็นกุลสตรีแสนสวย เป็นรอยแห่งอดีตที่มาพบพานกัน

ความจริงท่านไม่เคยเล่าถึงรูปลักษณ์ของ “รอยอดีต” ของท่าน แต่บังเอิญผู้เขียนเกิดทราบขึ้นมาเอง

วันนั้นเป็นเวลาที่มีการสนทนาธรรมกัน และหลวงปู่กำลังเทศนาอธิบายถึงแรงกรรม โดยเฉพาะกรรมเกี่ยวกับบุพเพสันนิวาส ที่พระเณรจะต้องประสบและจะต้องมีกำลังใจอย่างมากที่จะเอาชนะให้ได้ในที่สุด สุดท้ายวันนั้นท่านได้ยกกรณีของท่านขึ้นมาว่า องค์ท่านเองยังแทบเป็นลม ฝ่ายท่านนั้นพระเถระต้องเข้าประคองฝ่ายหญิงเป็นลม ญาติผู้ใหญ่และมารดาต้องเข้าประคอง ขณะฟังไม่ทราบว่าเพราะอะไร ผู้เขียนรู้สึกสว่างวาบขึ้นในใจ เข้าใจนึกถึงชื่อเธอขึ้นมา กราบเรียนท่านโดยเอ่ยชื่อเธอ…ว่าใช่ไหมสุภาพสตรีท่านนั้น

หลวงปู่ค่อนข้างจะตกใจที่ทำไมศิษย์เกิดรู้จักขึ้นมาได้ แต่ท่านก็อึ้งและยอมรับว่าเข้าใจถูกแล้ว ฉะนั้นการพรรณนารูปร่างลักษณะของเธอ ซึ่งผู้เขียนเผอิญรู้จัก และมีความเคารพนับถือ…นับถือในอัจฉริยะของเธอ จึงเป็นการบรรยายจากผู้เขียนฝ่ายเดียว หลวงปู่ท่านมิได้เล่ารายละเอียดเหล่านั้น ผู้เขียนเพียงแต่ช่วยวาดภาพให้ท่านผู้อ่านได้นึกถึงเรื่องและเข้าใจตามไปด้วยเท่านั้น ว่าเป็นการยากลำบากและต้องการพลังใจอันเด็ดเดี่ยวเพียงใด ที่หลวงปู่ท่านจะสามารถตัดกระแสความผูกพันจากรอยอดีต โดยเฉพาะผู้ที่เป็นคู่บารมีมาสำหรับการปรารถนาพุทธภูมิ

“รอยอดีต” ของท่านเป็นกุลสตรีที่ได้รับการศึกษามาอย่างดี จบการศึกษาชั้นมัธยมบริบูรณ์จากโรงเรียนสตรีที่มีชื่อทางภาษาต่างประเทศ นาน ๆ เมื่อกลับไปเยี่ยมบ้าน ก็กลับไปแบบหญิงสาวสมัยใหม่ รูปสวย นัยน์ตาโตงาม มีคนหลายคนที่เล่าว่า เวลาที่เห็นเธอกลับไปเยี่ยมบ้านนั้น เสมือนหนึ่งเห็นเทพธิดาล่องลอยอยู่ในฟ้า ขี่ม้าเก่ง แต่งตัวสวย แบบสาวชาวกรุงแท้ ผมสวย หน้าสวย

ความจริงแล้ว เจ้าแม่นางกวยมารดาของท่านนั้น ก็เป็นผู้ที่มีชื่ออยู่มากในเรื่องแต่งตัวงาม ผมของท่านจะจับหย่ง ใช้ขี้ผึ้งจับจอนให้งดงาม เป็นที่เลื่องลือกันทั้งหมู่บ้าน และมีชาวบ้าน มีเพื่อนบ้านใกล้เคียง ผู้ที่เป็นหญิงสาวมักจะมาขอเรียนการทำผมที่ทำไมจึงจะสวยได้อย่างเจ้าแม่นางกวย กลายเป็นที่พูดกันว่า ท่านเป็นประหนึ่งผู้ทำผมให้กับหญิงสาวทั้งหมู่บ้าน แต่นั้นก็เป็นแบบผมในสมัยของท่าน

กุลสตรีท่านนี้ เป็นแบบสาวสมัยใหม่ ผมงามแบบผมท่าน ขี่ม้าเก่ง และไม่ได้แต่งตัวแบบหญิงสาวชนบท สวมกางเกงขี่ม้าใส่รองเท้าท็อปบู๊ต ต่อมาภายหลัง หลังจากที่ต้องจากกันแล้ว เมื่อเธอกลับมาใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพมหานคร เธอก็ได้มามีชื่อเสียงอย่างมาก และเป็นที่รู้จักกันดีสำหรับผู้ที่รักหนังสือทั้งหลาย เข้าใจว่า ผู้ที่มีอายุประมาณ ๕๐ ปีขึ้นไปนั้นจะต้องเคยได้ยินชื่อของเธอมามาก

หลวงปู่จึงเล่าภายหลังว่า ท่านรู้สึกเหมือนกับว่า หัวอกแทบจะระเบิด อกกลัดเป็นหนอง แต่ใจหนึ่งก็คิดมุ่งมั่นว่า จะต้องบำเพ็ญเพศพรหมจรรย์ต่อไป

ท่านพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม เข้าใจในความรู้สึกของหลวงปู่ผู้เป็นศิษย์ใหม่ได้ดี ท่านจึงจัดการพาตัวหลวงปู่รีบจากหล่มสักมาโดยเร็วที่สุดหลวงปู่กล่าวว่า ไม่ใช่เป็น การพาตัว มาอย่างธรรมดา แต่เป็น การควบคุมนักโทษ ผู้นี้ให้หนีออกมาจากมารที่รบกวนหัวใจแต่โดยเร็ว

http://www.dharma-gateway.com/monk/monk_biography/lp-louis/lp-louis-hist-04-02.htm

. . . . . . .