ส่วนประกอบและโครงสร้างของชีวิต(2) โดย พุทธทาสภิกขุ

ส่วนประกอบและโครงสร้างของชีวิต(2) โดย พุทธทาสภิกขุ

หน้าที่ 1 – ธาตุทั้งหก
ท่านสาธุชนที่มีความสนใจในการพัฒนาชีวิตทั้งหลาย การบรรยายในครั้งนี้จะกล่าวถึงส่วนประกอบและโครงสร้างของชีวิต สิ่งที่เรียกว่าสิ่งมีชีวิตนี้ มีส่วนประกอบและรูปโครงว่าจะสร้างขึ้นมาได้อย่างไร ก็เหมือนชีวิตอื่นๆด้วยเหมือนกัน ถ้าเรารู้เรื่องนี้ดี ก็จะรู้จักสิ่งมีชีวิตดี มีความจำเป็นที่ต้องศึกษาส่วนประกอบและโครงสร้างของชีวิต เพราะชีวิตนี้ประกอบด้วยสิ่งใดสิ่งหนึ่ง สิ่งเดียวล้วนๆ ที่สร้างขึ้นง่ายๆ เหมือนตุ๊กตาที่สร้างด้วยดินเหนียวกับน้ำ เราจึงควรสนใจเรื่องนี้ ให้รู้ทั้งฝ่ายรูปธรรม และนามธรรม จงพิจารณาถึงส่วนประกอบและส่วนผสมที่จะมาประกอบกันเป็นชีวิต หลักในพุทธศาสนาหรืออีกหลายศาสนาในอินเดีย กล่าวตรงกันอย่างหนึ่งว่า สิ่งต่างๆทั้งมีและไม่มีชีวิต ล้วนประกอบขึ้นด้วยโดยสิ่งที่เรียกว่า ธาตุ

ธรรมชาติได้แยกออกไปสู่สิ่งที่เรียกว่าธาตุ มีการศึกษาเกี่ยวกับจำนวนของธาตุ ลักษณะของธาตุ ซึ่งถือว่ามีธาตุอยู่ หกธาตุ คือธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ และธาตุวิญญาณ รวมกันเป็นหกธาตุ และธาตุเหล่านี้ประกอบกันเป็นสิ่งมีชีวิต ทุกคนคงจะพอเข้าใจความหมายเหล่านี้พอสมควร คือธาตุนี้หมายถึงคุณสมบัติของสิ่งนั้นๆ ในการทำหน้าที่ประกอบกันเป็นสิ่งใหม่ ไม่ได้หมายถึงปรากฏการณ์ภายนอกที่เห็นๆกันอยู่ และเรียกกันอยู่อย่างนั้น ไม่ใช่ธาตุดินหมายถึงดิน ธาตุน้ำหมายถึงน้ำ ธาตุไฟหมายถึงไฟ ธาตุลมหมายถึงลม ธาตุอากาศหมายถึงอากาศ เราควรจะรู้ก่อน สี่ธาตุที่ประกอบกันขึ้นเป็นร่างกาย คือ ธาตุดิน น้ำ ลม และไฟ ธาตุดิน หมายถึงสิ่งที่กินเนื้อที่ เป็นของแข็ง สำหรับยึดกันเป็นโครงสร้างขึ้นมาได้ ธาตุน้ำ หมายถึงคุณสมบัติที่ยึดเกาะให้ติดกัน ดังที่น้ำจะรวมกัน เกาะกันเป็นก้อนเสมอ แล้วมันก็มีลักษณะเป็นของเหลว ไหลได้ แล้วธาตุไฟ แสดงถึงความร้อนและการเผาไหม้ ธาตุลมหมายถึงอาการเคลื่อนไหว ลอยไปมาเป็นปกติ เราลองตัดเนื้อมาก้อนหนึ่งจะเห็นส่วนที่เป็นของแข็งเป็นเนื้อ และของเหลวที่เป็นเลือด เป็นต้น นี่ก็มีความอบอุ่นหรืออุณหภูมิก็มี และสิ่งที่เป็นแก๊ส ระเหยออกเป็นปกติ นี่ก็มี มันก็รวมกันเป็นเนื้อก้อนหนึ่ง สี่ธาตุนี้เป็นฝ่ายวัตถุ หรือฝ่ายรูปธรรม คือร่างกาย ส่วน ธาตุที่ห้า คือ อากาศธาตุ เป็นที่ว่างๆให้สำหรับอาศัยอยู่ จึงมีลักษณะเป็นที่ว่าง ซึ่งต้องมี ถ้าไม่มีสิ่งต่างๆก็มีไม่ได้ เพราะไม่มีที่อยู่อาศัย เป็นที่รองรับของสิ่งทั้งหลายทั้งปวง ให้อาศัยอยู่ได้ เป็นที่รองรับ ที่อยู่ของธาตุฝ่ายรูปธรรมทั้งสี่ธาตุ และ ธาตุสุดท้าย คือธาตุวิญญาณ หรือธาตุจิตใจ นี่เป็นการกล่าวตามหลักอินเดียในสมัยโบราณ คือเป็นที่คิด รู้สึกได้นั่นเอง ไม่ใช่ตัววัตถุ แต่มีคุณสมบัติที่โน้มไปได้ โน้มไปได้ตามอารมณ์ที่มากระทบ นี่เป็นธาตุสำคัญ ที่ให้สิ่งมีชีวิตมีความรู้สึก และเมื่อทั้งหกธาตุอาศัยกันอยู่สมบูรณ์แล้ว ทีนี้ก็มีสิ่งมีชีวิต ซึ่งประกอบด้วยธาตุหกธาตุเป็นพื้นฐาน จึงควรทำความเข้าใจให้ชัดเจนในข้อนี้ ว่าธาตุที่เป็นรูปมีทั้งหมดสี่ธาตุ และธาตุที่เป็นนามมีอยู่หนึ่งธาตุ และมีธาตุที่เป็นที่ว่างอยู่หนึ่งธาตุ นี่เมื่อคนเราเกิดมา เป็นสิ่งมีชีวิตแล้ว ย่อมดำรงอยู่ด้วยธาตุทั้งหก ทีนี้ธาตุที่เป็นรูปทั้งสี่ธาตุคือธาตุ ดิน น้ำ ลม และไฟ ทำให้เกิดอายตนะที่เป็นวัตถุ ที่ทำให้เกิดอายตนะภายนอกคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ที่เป็นระบบ ได้แก่รูปที่มากระทบตา เสียงที่มากระทบหู กลิ่นที่มากระทบจมูก รสที่มากระทบลิ้น อุถภะ ที่มากระทบผิวหนัง ครบทั้งห้าคู่ ทีนี้ส่วนที่เป็นวิญญาณธาตุนั้น ได้เกิดอายตนะภายใน คือจิต หรือ มโน ขึ้นมา แล้วก็มีของคู่กันคืออายตนะภายนอกคือธรรมารมณ์ต่างๆ ที่จะเข้าไปกระทบจิต ให้จิตรู้สึกได้ นั่นจึงเป็นคู่เดียวฝ่ายจิต คำว่าอายตนะ นี้หมายถึงการที่สัมผัสได้ รู้สึกได้ เช่น ระบบตา หู จมูก ลิ้น กาย ถ้าคนเราไม่มีอายตนะเหล่านี้ มันก็จะไม่รู้สึกอะไรที่เป็นวัตถุ โลกก็จะไม่มี ที่เรารู้ว่ามีโลกปรากฏ นั่นแปลว่ามันมีอายตนะ ทีนี้อายตนะภายในที่มีจิต จะมีอารมณ์มากระทบ อารมณ์ต่างๆที่เคยรู้สึกทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย มาแต่ก่อน เหลืออยู่เป็นสัญญา ทำให้มีความรู้สึกเป็นความคิดอะไรขึ้นมา เรามีระบบร่างกาย และระบบจิต ทั้งหมดล้วนอาศัยระบบที่ว่างคืออากาศ ให้ตั้งอยู่ได้

ทีนี้ลองพิจารณากันให้ลึกอีกสักนิด ระบบตา หู เป็นต้น มันประกอบไปด้วยเนื้อ หรือธาตุดิน เช่น เป็นลูกตา ประสาทตา ประสาทตารวมกับลูกตาเป็นหนึ่งระบบ เรียกว่า ระบบตา หู ก็มีประสาทหู รวมกับใบหู ก็เป็นระบบหู เป็นต้น นี่เป็นเรื่องฝ่ายวัตถุ ไม่ใช่เรื่องฝ่ายจิตใจ ทำให้พร้อม ให้ฝ่ายจิตมีความรู้สึก ดังนั้น ทั้งกายหรือรูป เหมือนเป็นที่ตั้ง ที่อาศัย ที่ทำงาน ของจิต หรือพวกระบบจิต และรวมกันเป็นคนๆหนึ่ง ที่มีสิ่งเหล่านี้อย่างครบถ้วน เป็นสิ่งธรรมดาสามัญในสิ่งมีชีวิต มีหกระบบ ก็ทำงานประสานกันอย่างดีที่สุด มีทั้งกลุ่มรูป และกลุ่มนาม คำว่ารูปนี้ มีความหมายที่อาจจะกำกวมได้ รูป ในความหมายหนึ่งคือ สิ่งที่เห็นได้ด้วยตา และอีกส่วนหนึ่งคือ วัตถุ ไม่เกี่ยวว่าจะเห็นได้หรือไม่ นี่ก็เรียกว่ารูป คือเป็นฝ่ายรูปธรรม ไม่ใช่แค่ตาอย่างเดียว แต่รวมถึงห้าอย่าง คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย เอาไว้ด้วย และถ้าเป็นนาม คือ จิต ที่รู้สึกได้ หรือสิ่งที่เกิดขึ้นกับจิตก็ได้ ให้มีความหมายกว้างออกไป

หน้าที่ 2 – เมื่อเข้าใจก็ไม่เป็นทุกข์
เราจึงเห็นได้ว่า คนเราคนหนึ่ง ประกอบด้วยรูปและนาม สองสิ่งนี้ต้องอยู่ด้วยกัน ถ้าไม่มีรูป นามก็ทำอะไรไม่ได้ ฉะนั้นต้องประกอบด้วยรูปและนาม คือทั้งส่วนร่ากาย และจิตใจ ถ้าแยกกันก็ตาย ถ้าอาศัยกันอยู่มันก็ไม่ตาย นี่คือสิ่งที่ในบาลีเรียกว่า นามรูป หรือโดยสมมติว่า เป็นมนุษย์คนหนึ่ง ทีนี้จะต้องรู้ไปตามลำดับ เรื่องที่มันมีหน้าที่การงานอะไรได้ จะมาดูในส่วนที่เป็นรูป หรือ ฝ่ายร่างกายก่อน เรามีธาตุมาผสมรวมกัน มีอายตนะทั้งภายในคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และภายนอก คือ รูป รส กลิ่น เสียง อุทภะ เป็นห้าคู่ ซึ่งมีธรรมชาติของมันว่า ถ้าถึงซึ่งกันเมื่อใด ก็จะเกิดวิญญาณธาตุมาทำหน้าที่ คือเมื่อตามากระทบกับรูป ก็เกิดวิญญาณทางตา เมื่อหูกระทบกับเสียงก็เกิดวิญญาณทางหู เป็นต้น จึงจับใจความได้ว่า อายตนะภายใน มากระทบกับอายตนะภายนอกเมื่อใด ก็จะเกิดสิ่งที่เรียกว่า วิญญาณขึ้นที่อายตนะนั้นๆ คือที่ตา ที่หู ที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย นั้น จึงเป็นวิญญาณห้า ที่เกี่ยวเนื่องกันอยู่กับวัตถุหรือร่างกาย ทีนี้มาดูฝ่ายจิตใจบ้าง เมื่อใจมากระทบกับธรรมมารมณ์ หรือสิ่งที่เกิดความรู้สึกทางใจ และจะเกิดวิญญาณ คือ มโนวิญญาณ ถ้าเอามารวมกับวิญญาณฝ่ายกาย ก็มีวิญญาณทั้งหมดเป็นหก อายตนะก็เป็นหก และเมื่อใดที่ อายตนะภายใน มากระทบกับอายตนะภายนอก ก็จะเกิดสิ่งที่เรียกว่า วิญญาณขึ้นที่อายตนะนั้นๆ จำไว้ให้ดีว่ามีสามสิ่ง ที่ไม่เหมือนกัน เช่น ตาถูกกระทบด้วยรูป ก็จะเกิดวิญญาณทางตา สามสิ่งนี้ต้องทำงานด้วยกันอยู่ หรือวิญญาณทางตารู้สึกต่อสิ่งที่เรียกว่ารูป โดยอาศัยตา เรียกว่า ผัสสะ คำนี้สำคัญมาก เป็นต้นตอของเรื่องทั้งหลายทั้งปวง หรือจะเรียกว่า สัมผัส ก็เหมือนกัน มันก็คือการกระทบกันของสิ่งทั้งสาม ให้เข้าใจสิ่งเหล่านี้ให้ดี เมื่อเกิดผัสสะแล้ว ทำให้รู้สึกมี เวทนา ทั้งเวทนาที่สุข ที่ทุกข์ หรือทั้งไม่สุข ไม่ทุกข์ เมื่อเวทนาได้เกิดขึ้นอย่างนี้แล้ว มันก็เป็นเหตุให้เกิด สัญญา คือความมั่นหมายในเวทนานั้น ว่าเวทนานั้นเป็นอย่างไร เป็นเวทนาดี ชั่ว สุข ทุกข์ อะไรก็แล้วแต่ และเมื่อสัญญา การมั่นหมายเกิดขึ้นอย่างนี้แล้ว ก็จะเกิดสิ่งที่เรียกว่า สังขาร คือความคิดนาๆชนิดเกี่ยวกับสัญญานั้น สัญญานั้นเป็นอย่างไร ก็เกิดความคิดอนุโลมกับสัญญานั้นเสมอ เราก็ได้ครบ ได้รูป ได้วิญญาณ ได้เวทนา ได้สัญญา และได้สังขาร รวมกันเป็นขันธ์ทั้งห้า ที่มีชีวิตกันแต่ละวัน มีการเกิดของขันธ์ห้ารอบแล้ว รอบเล่า จนนับไม่ไหว นี่คือปกติภาวะของชีวิต ทีนี้มีเรื่องที่สำคัญกว่านั้น ถ้า ขันธ์ใดขันธ์หนึ่งขึ้นมาแล้ว มีจิตตั้งมั่นเป็นอวิชชา ว่าขันธ์นั้นเป็นตัวกู เป็นของกูขึ้นมา มันจะเป็นอุปาทานขันธ์กับเจ้าของ กับจิตที่ไปยึดถือว่าเป็นของตน ถ้าขันธ์เฉยๆ ไม่ยึดมั่น ก็ไม่เป็นทุกข์ จะไม่ทำอะไรใคร ไม่หนัก ไม่เบา ไม่ร้อน แต่ถ้าขันธ์นั้นมีการยึดมั่นอุปาทาน โง่ด้วยอวิชชา เป็นอุปาทานขันธ์แล้ว จะเกิดอาการ การทุกข์ร้อน เผาลน หนัก ผูกมัด ครอบงำ เรื่องมันจึงจบด้วยความทุกข์อย่างนี้ เริ่มจาก อายตนะภายนอก ภายใน เป็นรูป วิญญาณ เวทนา สัญญา สังขาร รวมกันเป็นขันธ์ แล้วไปยึดมั่นว่าขันธ์เป็นตัวกู ก็จบที่ทุกข์อย่างนี้ เป็นคนธรรมดาสามัญอย่างนี้ และทีนี้มาเรื่องสำคัญที่เราต้องรู้ ตอนที่เกิดผัสสะ ของคู่ไหนก็ตาม ตอนเกิด มันจะมีทางแยกคือ ผัสสะที่มีสติ และผัสสะที่ไม่มีสติ ถ้าผัสสะตามธรรมชาติ จะไม่มีสติ ไม่มีคุณธรรมเข้ามาเกี่ยวข้องเป็นธรรมดา มันก็เกิดเวทนาเป็นธรรมดา เกิดภพ เกิดชาติ เป็นธรรมดา และสุดท้ายก็ทุกข์ เพราะผัสสะนั้นมันโง่ ไม่มีวิชชา ไม่มีสติสัมปชัญญะ เกิดขึ้นในขณะนั้น ก็เกิดไปตามลำดับจนเป็นทุกข์ถึงที่สุด และในกรณีที่ได้เกิดกับบุคคลที่ศึกษาธรรมะแล้ว ฝึกฝนจิตใจ คล่องแคล่ว อยู่ในความควบคุมจิตแล้ว มันกลายเป็นผัสสะที่มีสติ เมื่อเกิดผัสสะแล้ว ก็มีสติเกิดขึ้นด้วย สติเป็นที่ระลึกได้ว่า อะไรคืออะไร เป็นอะไร สตินี้ทำให้ผัสสะนั้นฉลาด ไม่โง่ จะไม่เกิดผลอย่างเดียวกับผัสสะโง่ จะเกิดเป็นขันธ์ล้วนๆ ไม่เกิดอุปาทานขันธ์ มันก็ไม่ทุกข์ จะมีสติเต็มที่ จะรู้ว่าต้องทำอย่างไรเกี่ยวกับผัสสะอันนี้ แล้วจะทำไปตามสมควร อย่างถูกต้อง แล้วสำเร็จ จิตก็จะไม่เดินไปในที่เป็นทุกข์ นี่คือ เค้าโครงของชีวิต มันมีอยู่อย่างนี้ มีส่วนประกอบต่างๆ ตามที่ว่ามาแล้ว ที่เป็นธาตุ แล้วมันปรุงกันเป็น อายตนะ ภายใน ภายนอก ก็ทำให้เกิด วิญญาณ ผัสสะ ตัณหา อุปาทาน แล้วแต่กรณี เราจึงรู้ให้ดี ตอนขณะที่เกิดผัสสะ ต้องมีสติ มีความรู้ที่ถูกต้อง ตามธรรมดาเราไม่มีความรู้มาตั้งแต่ในท้อง เราก็เลยไม่รู้ มันก็เดินมาตามธรรมชาติ ที่ไม่รู้ มันก็เลยมีอุปาทาน แล้วก็เป็นทุกข์ พอเราเติบโตพอที่จะมีความรู้ ก็จงมีสติขณะที่เกิดผัสสะ แต่มันก็ไม่มี มันมีได้ยาก ดังนั้นเราจึงต้องฝึกสมาธิ กรรมฐาน วิปัสสนา อะไรก็ตามแล้วแต่จะเรียก เพื่อให้มีสติมากเพียงพอ ต้องทำให้มี ให้พอขึ้นมา และเร็วทัน ในขณะผัสสะนั้นเกิด สติและสัมปชัญญะนั้นก็จะควบคุมผัสสะนั้น ให้ถูกต้องว่าจะทำอย่างไร ทำถูกต้องก็ไม่เป็นทุกข์ นี่คืออานิสงค์ที่ฝึกสติกันส่วนใหญ่อยู่ที่ตรงนี้ เราต้องอบรมเรื่อง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา และสติ ให้เพียงพอ แล้วนำมาใช้พิจารณา เวทนา สัญญา สังขาร อะไรก็ตาม ให้เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วจะไม่เกิดอุปาทาน แล้วก็จะไม่เป็นทุกข์ ถ้ามีการฝึกจิตอย่างนี้แล้ว วันหนึ่งๆจะมีสิ่งเข้ามากระทบจิต กี่ร้อย กี่พันครั้ง มันก็ไม่เป็นทุกข์ ทำอะไรที่ควรจะเป็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ ก็ทำ ถ้าไม่เกี่ยวก็ปล่อยเลิกไป เรียกว่า ทำแต่สิ่งที่ควรทำให้สำเร็จประโยชน์ นี่จะเรียกว่า ความลับที่สุดของธรรมชาติ ของมนุษย์ก็ได้ จะทุกข์หรือไม่ทุกข์ มันมีอยู่อย่างนี้ และในวันนี้อาตมาก็ได้พูดถึงส่วนประกอบและโครงสร้างของชีวิต หวังว่าคงจะสนใจและเข้าใจอย่างชัดเจน ในสิ่งเหล่านี้ทุกๆประการ การบรรยายนี้สมควรแก่เวลา ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้

http://www.vcharkarn.com/varticle/17855

. . . . . . .