หลวงพ่อจรัญเล่าเรื่องหลวงพ่อเดิม

หลวงพ่อจรัญเล่าเรื่องหลวงพ่อเดิม

สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่เคารพ วันนี้เราได้มีโอกาสอ่าน เรื่องราวที่น่าสนใจ แฝงด้วยคติธรรม ของท่านพระอาจารย์ หลวงพ่อจรัญ วัดอัมพวัน ท่านเล่าถึงอดีตเมื่อคราวที่ได้ไปเรียนวิชากับหลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ จ.นครสวรรค์ หรือที่ชาวบ้านนับถือท่านว่าเป็น “เทพเจ้าแห่งเมืองสี่แคว” คือเป็นผู้สำเร็จ มีวิชา มีอิทธิบารมีสูงมากนั่นเอง หวังว่าเรื่องราวนี้คงจะให้แง่คิด และความรู้ในอีกแง่มุมหนึ่งแก่ท่านผู้อ่านที่เคารพ ไม่มากก็น้อยนะครับ เรียนเชิญติดตามได้เลยครับ …

หลวงพ่อจรัญ เล่าเรื่องหลวงพ่อเดิม

เมื่ออาตมาไปเล่าเรียนวิชากับ “หลวงพ่อเดิม”

อนุสรณพจน์ น้อมระลึกถึงพระเดชพระคุณ ท่านพระครูนิวาสธรรมขันธ์ “หลวงพ่อเดิม”

เนื่องด้วย วันอังคารที่ ๒๒ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๔๔ เป็นวันครบรอบวันมรณภาพครบ ๕๐ ปี ของพระเดชพระคุณ ท่านพระครูนิวาสธรรมขันธ์ (หลวงพ่อเดิม) อดีตเจ้าอาวาสวัดหนองโพ อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์

อาตมาภาพขอน้อมระลึกถึงพระคุณของพระเดชพระคุณ “หลวงพ่อเดิม” ซึ่งท่านเป็นผู้ให้กำเนิดชีวิตสมณเพศแก่อาตมภาพ ด้วย “หลวงพ่อเดิม” ท่านเป็นพระอริยสงฆ์ เป็นดวงประทีป คือเป็นตัวอย่างที่ทำให้อาตมภาพได้รู้ว่า พระคืออะไร พระมีหน้าที่อะไร พระทำอะไรได้บ้าง และพระที่ดีนั้นควรจะทำอย่างไร
อาตมาภาพในฐานะศิษย์ผู้ซาบซึ้งในพระคุณของหลวงพ่อเดิม ท่านพระครูนิวาสธรรมขันธ์ ผู้เปี่ยมล้นด้วยเมตตาอันบริสุทธิ์ จักตั้งใจปฏิบัติเพื่อบูชาพระคุณ “หลวงพ่อเดิม” ให้สุดความสามารถ ดังแบบอย่างที่หลวงพ่อได้กระทำให้ดูแล้วด้วยกายกรรม วจีกรรม และ มโนกรรม

พระเดชพระคุณท่านเป็นพ่อแม่ครูอาจารย์ที่อาตมาเคารพบูชาจากข้อวัตรปฏิบัติ ปฏิปทา และศีลาจารวัตรของ “หลวงพ่อเดิม” ทำให้อาตมภาพยังรู้สึกเสียดายว่าเราน่าจะพบกับท่านก่อนหน้านี้นานแล้ว
หนังสือ “พุทโธโลยี” เรื่อง “เมื่ออาตมาไปเล่าเรียนวิชากับ“หลวงพ่อเดิม”” เล่มนี้ จึงนับว่าเป็นบุญวาสนาช่วงหนึ่งของชีวิตที่ได้มีโอกาสปรนนิบัติรับใช้ และได้เล่าเรียนวิชาจากท่าน
กุศลธรรมทานมัยอันได้แก่บุญกุศลอันจักบังเกิดขึ้นจากการจัดพิมพ์เผยแพร่กิตติคุณหลวงพ่อเดิมในครั้งนี้ ขอน้อมอุทิศถวายพระเดชพระคุณ ท่านพระครูนิวาสธรรมขันธ์ “หลวงพ่อเดิม” ด้วยความเคารพและด้วยความกตัญญูกตเวทิตาธรรม จงเป็นพลวปัจจัยอำนวยวิบากสมบัติมนุญผลอันเป็นที่น่าพอใจแด่พระเดชพระคุณ ท่านพระครูนิวาสธรรมขันธ์ “หลวงพ่อเดิม” ที่เคารพบูชา โดยควรแก่ฐานะในสัมปรายภพทุกประการเทอญ
ขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัยและบารมีของพระเดชพระคุณ ท่านพระครูนิวาสธรรมขันธ์ “หลวงพ่อเดิม” จงคุ้มครองและบันดาลให้ทุกท่านมีความสุข และเจริญด้วย อายุ วรรณะ สุขะ พละ ปฏิภาณ ธนสารสมบัติ ได้รับความปลื้มปีติในธรรม และเจริญรุ่งเรืองในพระพุทธศาสนาจงทุกประการ

พระราชสุทธิญาณมงคล (จรัญ ฐิตธมฺโม)

เจ้าคณะจังหวัดสิงห์บุรี

และเจ้าอาวาสวัดอัมพวัน อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี

คำปรารภ

ตลอดชีวิตในสมเพศของ พระเดชพระคุณท่านพระครูนิวาสธรรมขันธ์“หลวงพ่อเดิม พุทฺธสโร” วัดหนองโพ อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ท่านเป็นพระสุปฏิปันโน ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติธรรม ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติในกรอบแห่งความดี ยึดมั่นในคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านไม่เบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่น ท่านสร้างความเจริญในถิ่นทุรกันดาร ท่านทำดีเพื่อให้พระศาสนาเจริญรุ่งเรือง สมกับสมณศักดิ์ “พระครูนิวาสธรรมขันธ์” อันหมายถึง เป็นที่ตั้งแห่งธรรมทั้งปวง
กิตติคุณในเรื่อง “วิชาขลัง” ของ “หลวงพ่อเดิม” นั้นเป็นที่เลื่องลือกันแพร่หลายมานานนักหนา ซึ่งท่านได้โปรดชี้แจงว่า “ของจริง รู้จริง เห็นจริง ย่อมทำได้จริง”
พระเดชพระคุณ ท่านเจ้าคุณพระราชสุทธิญาณมงคล (จรัญ ฐิตธมฺโม) วัดอัมพวัน อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี ท่านเป็นศิษย์ในองค์ “หลวงพ่อเดิม” พระครูนิวาสธรรมขันธ์ แห่งวัดหนองโพธิ์ ท่านเป็นศิษย์องค์แรกและเป็นองค์สุดท้ายที่ได้เล่าเรียนวิชาคชศาสตร์จาก “หลวงพ่อเดิม” เอาไว้ทั้งหมดและในจำนวนศิษย์องค์เดียวที่ยังคงเหลืออยู่ในปัจจุบัน
เมตตาบารมี “หลวงพ่อเดิม” แห่งวัดหนองโพธิ์ ซึ่งมีต่อบรรดาศิษยานุศิษย์ทั้งฆราวาสและสงฆ์แผ่ไพศาลทุกวันนี้ ศิษย์ในองค์หลวงพ่อเดิมต่างได้เป็นที่พึ่งพิงของศิษยานุศิษย์รุ่นต่อมา เป็นเนื้อนาบุญอันไพศาลตามรอยเท้า “หลวงพ่อเดิม” ทั้งหมด บารมีธรรมส่วนหนึ่งของ “หลวงพ่อเดิม” เทพเจ้าแห่งเมืองสี่แควที่หล่อหลอมอยู่ในตัวของ “หลวงพ่อจรัญ” นั่นคือ ท่านและเมตตาที่ “หลวงพ่อจรัญ” มีอยู่เต็มเปี่ยมในจิตใจ ท่านอยู่ในฐานะพระผู้พัฒนาทั้งจิตใจและชีวิตของผู้คนมากหน้าหลายตาที่ต่างก็พากันไปพึ่งบารมีธรรมของท่าน บรรพชิตก็เข้าไปสู่การอบรมสั่งสอนอันนำไปสู่ทางอันถูกต้องตามแนวแห่งวิปัสสนากรรมฐาน “วัดอัมพวัน” จึงเป็นศูนย์วิปัสสนากรรมฐาน และ แหล่งฝึกฝนในทางจิต อันเป็นที่รู้จักขจรขจายไปทั่วแคว้นแดนไทย
เรื่องราวเนื้อหาทั้งหมดในหนังสือ “พุทโธโลยี” เรื่อง “เมื่ออาตมาไปเล่าเรียนวิชากับหลวงพ่อเดิม” นี้ พระเดชพระคุณ ท่านเจ้าคุณพระราชสุทธิญาณมงคล (จรัญ ฐิตธมฺโม) ได้บรรยายเล่าให้เห็นคุณค่าของการได้พบและรู้จักครูอาจารย์ ให้เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนในแง่มุมใหม่ โดยใช้ภาษาปัจจุบันที่เข้าใจง่าย แทรกด้วยตัวอย่างประกอบชวนติดตาม มีการเปรียบเทียบกับสิ่งที่ใกล้ตัว อีกทั้งท่านยังได้เล่าเรื่องราวได้อย่างละเอียดทีละขั้นตอน อันแสดงถึงความเคารพและระลึกถึงเมตตาธรรมของ “หลวงพ่อเดิม” ที่ได้เมตตาประสิทธิ์ประสาทวิชา “คชศาสตร์” ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่า “หลวงพ่อเดิม” ท่านจะสอนวิชาให้ผู้ใดนั้น ท่านจะต้องดูด้วยญาณก่อนว่า วาสนาบารมีของท่านผู้นั้นเหมาะสมไปในทางใด เมื่อสอนให้แล้วก็จะประสบผลเป็นที่น่าพอใจทุกราย
จึงนับได้ว่า “หลวงพ่อจรัญ” นอกจากจะเป็นศิษย์สืบทอดทางพุทธาคมทางด้านคชศาสตร์แล้ว ยังสืบทอดนิสัยทางคุณธรรมจาก “หลวงพ่อเดิม” มาพร้อมกันด้วย
สำนักพิมพ์ “พระพุทธศาสนาประกาศ” จึงมีความภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสจัดพิมพ์ “พุทโธโลยี” หลวงพ่อจรัญ เล่าเรื่อง หลวงพ่อเดิม เรื่อง “เมื่ออาตมาไปเล่าเรียนวิชากับหลวงพ่อเดิม” ออกเผยแพร่ด้วยความเชื่อมั่นว่า ผู้ที่อ่านหนังสือเล่มนี้จะได้รับธรรมะและแง่คิดที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง ก่อให้เกิดประโยชน์สุขแก่ชีวิตตามควรแก่กรณี จึงนับได้ว่าเป็นบุญวาสนาของเราท่านทั้งหลายที่ได้มีโอกาสรับรู้เรื่องราวระหว่างอาจารย์กับศิษย์ ซึ่งท่านได้รับทราบชีวิตและความดีเด่นในปฏิปทาของ “หลวงพ่อเดิม” จากคำบอกเหตุการณ์ที่ผ่านมาเป็นเวลา ๕๐ ปีแล้ว จากศิษย์คือ “หลวงพ่อจรัญ”
กุศลอันพึงมีพึงได้จากการเผยแพร่ธรรมครั้งนี้ สำนักพิมพ์ “พระพุทธศาสนาประกาศ” ขอน้อมถวายเพื่อบูชาพระคุณพระบรมศาสดา อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า อีกทั้งขอน้อมถวายบูชาแด่พระเดชพระคุณ ท่านพระครูนิวาสธรรมขันธ์ (หลวงพ่อเดิม) แห่งวัดหนองโพธิ์ อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ และพระเดชพระคุณ ท่านเจ้าคุณ พระราชสุทธิญาณมงคล (หลวงพ่อจรัญ) แห่งวัดอัมพวัน อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี ด้วยเทอญ
นายนิคม จาตุรันต์

สำนักพิมพ์ “พระพุทธศาสนาประกาศ

เมื่ออาตมาไปเล่าเรียนวิชากับ “หลวงพ่อเดิม”

อาตมานับถือหลวงพ่อเดิมมาก เพราะท่านให้ชีวิตอันเป็นอมตะในสมณเพศแก่อาตมา อาตมาสวดมนต์ไหว้พระแล้วก็กราบหลวงพ่อเดิมทุกวัน ระลึกถึงพระคุณของท่านที่ได้สร้างอาตมาให้เป็นสงฆ์ที่ดี อัฐิของท่านอาตมาก็แบ่งเอามากราบไหว้เพื่อระลึกถึงพระคุณ ท่านเป็นพระที่ลึกซึ้งและเยี่ยมยอดจริง ๆ จะหาพระอาจารย์อย่างท่านได้ยาก
ย้อนระลึกเล่าสู่กันฟัง เรื่องนี้ผ่านมาเป็นเวลา ๕๐ ปีแล้ว อาตมาได้ไปเล่าเรียนวิชากับพระครูนิวาสธรรมขันธ์ (หลวงพ่อเดิม) วัดหนองโพธิ์ อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ อาตมายังรู้สึกเสียดายว่า เราน่าจะพบกับท่านก่อนหน้านี้นานแล้ว แต่กรรมของเรายังมีอยู่ พอพบท่านใกล้ชิดท่านได้เพียงหกเดือน ท่านก็มรณภาพจากไป ตอนนั้นอาตมาบวชเป็นพระภิกษุด้วยความจำใจ อาตมาขอบอกตรง ๆ ว่า อาตมาเกลียดพระมาตั้งแต่สมัยเด็ก ๆ แล้ว อาตมาไม่ชอบเพราะพระเป็นผู้ที่ไม่ทำการงาน ได้แต่บิณฑบาตข้าวชาวบ้านไปฉัน แล้วก็สวดมนต์ทำอะไรที่ไม่ค่อยจะเป็นที่สบอารมณ์ของอาตมา แต่เมื่อโยมบิดามารดาจะตัดแม่ตัดลูกหากไม่บวช อาตมาจึงต้องโกนหัวเข้าห่มผ้าเหลือง บวชแล้วก็ไม่ได้ใส่ใจสักเท่าใดนัก เขาห้ามอะไรก็ไม่ฟัง ให้มันนอกรีตนอกรอย รอจนรับกฐินเสร็จ อาตมาก็จะสึกให้มันพ้นภาระหน้าที่ไปเสียที อย่าลืมนะ อาตมาไม่ได้บวชเพราะศรัทธาก็หาไม่ อันนี้เป็นความสัตย์

อาตมาตัดสินใจในเช้าวันหลังจากรับกฐินแล้วเข้าไปกราบหลวงพ่อช่อ ท่านเป็นพระอุปัชฌาย์ ไปถึงก็กราบตรงหน้าท่าน บอกความประสงค์ไปเลยทีเดียวว่า
“หลวงพ่อครับ กระผมขอสึกจากภิกษุสภาวะขอรับ”
หลวงพ่อช่อ วัดพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี ท่านเป็นพระที่หลังโกง แต่ท่านเคร่งครัดในพระธรรมวินัยนัก ท่านมีกิจนิมนต์จะไปฉันเพล ท่านก็ถามว่า
“สึกแน่หรือพระจรัญ ไม่เปลี่ยนใจอยู่ต่อนะ”
ว่าแล้วเพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา อาตมาก็กราบลาท่านกลับมากุฏิ หลวงพ่อช่อท่านก็ทำน้ำมนต์สึกเตรียมไว้ อาตมาก็เดินมาถึงกุฏิยิ้มย่องผ่องใสว่า วันนี้ล่ะจะพ้นจากภาระที่น่าเบื่อหน่ายเสียทีหนึ่ง มองไปที่กระเป๋าใส่เสื้อผ้าที่ซื้อเตรียมไว้ใส่หลังจากสึกแล้วก็ดีใจเป็นล้นพ้นทีเดียว
แต่พอเข้าไปในกุฏิก็เกิดง่วงเหงาหาวนอนขึ้นมาเฉย ๆ มันคล้ายครึ่งหลับครึ่งตื่น มักลืม ๆ หลง ๆ ไปหมด นอนอยู่ตรงนั้น พลันหูก็ได้ยินเสียงประหลาดแว่วมาที่หูเหมือนมาพูดที่ริมหูว่า “สึกไปหาอะไรกันเล่า นะโมยังไม่ได้เลย นะโมได้แล้วสึกก็ไม่น่าเสียดาย” ใจก็ค้านว่า “นะโมสวดได้จนคล่องไม่อย่างนั้นจะรับกฐินได้อย่างไรกันล่ะ” เสียงนั้นก็ดังขึ้นอีกว่า “นะโมได้แล้วก็ยังไม่ได้พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณน่ะซี ได้แล้วค่อยสึกดีไหมล่ะ”
ทันใดก็มีเสียงคนตบประตูกุฏิตึง ๆ แล้วก็มีเสียงเรียกดัง ๆ ว่า
“หลวงพี่…หลวงพี่ ท่านสมภารให้ผมมาตาม ท่านว่าอย่าโอ้เอ้อยู่ ท่านจะไปฉันเพลที่วัดหนองมน ต้องเดินเท้าไปมันจะไม่ทันการ”
อาตมาลุกทะลึ่งพรวดพราดขึ้นมาเปิดประตู เจ้าเด็กคนนั้นไปแล้ว ก็ได้ยินเสียงสั่งสอนของยายที่สั่งไว้ว่า “ตอนสึกนี่สำคัญนะหลานนะ ถ้าสึกในระหว่างฤกษ์ไม่ดีล่ะก็บางคนก็ตาย บางคนก็ติดคุกติดตะราง บางคนก็เสียคนไปเลย ระวังให้ดีนะ ฤกษ์สึกนี้สำคัญนัก”

อาตมาเดินไปหาท่านสมภารตอนนั้น พระอันดับก็มานั่งกันพร้อมแล้ว ท่านสมภารส่งเสียงเร่ง “เข้ามาเสียทีหนึ่ง จะได้สึกให้รู้แล้วรู้รอดไป”
“พระเดชพระคุณที่เคารพ วันนี้กระผมไม่สึกแล้วขอรับ รอวันหลังก็ได้ขอรับ วันนี้นิมนต์ท่านไปฉันเพลก่อน” “แล้วกันนี่เอ้า เสียเวลาแท้ ๆ เชียว”
ท่านสมภารเทน้ำมนต์สึกจากบาตรทิ้งดังซ่า หันไปคว้าย่ามกับตาลปัตรเดินลงจากกุฏิไปกิจนิมนต์ ส่วนอาตมากลับมากุฏินั่งนึกไปนึกมาว่า เราสึกที่นี่ฤกษ์ไม่ดี ก็ไปสึกที่อื่นก็ได้ ถือโอกาสเที่ยวไปด้วย ไปเหนือดีกว่า ไปสึกเอาข้างหน้า ว่าแล้วอาตมาก็เอาไตรจีวรใส่กระเป๋าใบหนึ่ง เสื้อผ้าฆราวาสใส่กระเป๋าอีกใบหนึ่ง หิ้วมาลาหลวงพ่อช่อเพื่อเดินทางไปให้พ้นจากวัดพรหมบุรี หลวงพ่อช่อท่านก็อวยชัยให้พร เพราะท่านเองก็ไม่อยากสึกให้อาตมาเหมือนกัน
อาตมาหิ้วกระเป๋าสองใบ เดินทางมาลพบุรี ซื้อตั๋วรถไฟไปพิษณุโลก แล้วก็เตรียมออกเดินทางไปพิษณุโลก พอรถไฟมาอาตมาก็ขึ้นไปนั่งในตู้รถไฟมีคนอยู่กันเต็ม แต่เขาก็สละที่นั่งให้อาตมาที่หนึ่ง
รถไฟแล่นมาถึงบ้านหมี่ก็เกิดเครื่องเสียกะทันหัน จอดซ่อมอยู่นานก็ไม่เสร็จ เวลาก็ผ่านไป เสียงคนในตู้รถไฟนั้นเขาก็คุยกันว่า
“แหม! รถไฟเสียเวลาจังเลย จะไปนมัสการหลวงพ่อเดิมสักหน่อย ไม่น่ามีอุปสรรคเลยเชียว”
อาตมาได้ยินคำว่า “หลวงพ่อเดิม” ก็หูผึ่ง หลวงพ่อเดิมนี้ อาตมาเคยได้ยินแต่ชื่อ ไม่เคยทราบว่าท่านอยู่ที่ไหน จึงถามเขาว่า
“หลวงพ่อเดิมท่านอยู่ที่ไหนกันหรือโยม”
“ท่านอยู่วัดหนองโพ ต้องลงรถที่สถานีหนองโพ แล้วเดินเท้าเข้าไปที่วัด ถ้าท่านต้องการจะไปนมัสการก็ลงรถไฟที่นั่นพร้อมกับพวกเราก็ได้”
อาตมาก็คิดตัดสินใจเลยว่า ตั๋วรถไฟเราตีถึงพิษณุโลกก็จริงอยู่ แต่ถ้าจะลงที่หนองโพเสียก่อนก็ดี เพราะถ้าอย่างไรเสียก็สึกเสียที่วัดหนองโพเลย ไม่ต้องตะรอนไปไกล จึงตอบโยมพวกนั้นไปว่า
“อาตมาจะไปพิษณุโลก แต่โยมว่าหลวงพ่อเดิมท่านอยู่หนองโพ เป็นทางผ่าน อาตมาก็จะเดินทางไปนมัสการหลวงพ่อเดิมพร้อม ๆ กับโยมเลยทีเดียว”

มันเหมือนปาฏิหาริย์ พออาตมารับปากโยม รถไฟก็ติดเครื่องเปิดหวูดออกเดินทาง
พอถึงสถานีหนองโพ อาตมาก็ลงรถไฟพร้อม ๆ ญาติโยม สถานีรถไฟหนองโพตอนนั้นเล็กนิดเดียว ไม่น่าที่ขบวนรถไฟจะจอด หากบารมีหลวงพ่อเดิมไม่ดีจริงแล้วไซร้ คงไม่มีขบวนรถไฟมาจอดเป็นแน่ แต่ด้วยบารมีเทพเจ้าแห่งสี่แควโดยแท้ รถไฟจึงจอดเพราะมีคนเดินทางไปนมัสการหลวงพ่อเดิมกันเต็มตู้รถโดยสาร
อาตมาเดินตามญาติโยมไปตามทาง มือสองข้างก็หิ้วกระเป๋าไปด้วย ใจก็คิดว่า เอาล่ะวะได้สึกเสียทีหนึ่งจะได้พ้นจากสภาวะที่น่ารำคาญนี้เสียที ใจมันบอกว่า สึกเถอะ สึกเถอะ เป็นฆราวาสสบายกว่าเยอะ ทำอะไรตามใจชอบ ไม่มีศีล ๒๒๗ ข้อ มาคอยรั้งคอยดึง สึกนั่นแหละดีที่สุด
คิดจะสึกมาจนถึงประตูวัดหนองโพ ญาติโยมก็นิมนต์ให้เดินไปข้างหน้า ให้ไปนมัสการหลวงพ่อเดิมก่อน อาตมาก็เดินไปถึงกุฏิของท่าน ภาพที่ได้เห็นก็คือ หลวงพ่อเดิมท่านนั่งตัวตรง เป็นสง่า รูปร่างท่านดูสูงใหญ่แบบคนโบราณ ผิวดำแดงมีรัศมีผ่องใส ผิวหนังเหี่ยวย่นไปทั้งตัว ท่านอยู่ในวัยชราภาพมาก นัยน์ตาของท่านดูเปล่งปลั่งแววแจ่มใสไม่เหมือนตาคนแก่ทั่ว ๆ ไป มีพลัง มีอำนาจ มีพลังดึงดูดเมื่อมองประสานกันแล้วทำให้เกิดความรู้สึกยำเกรงเป็นที่สุด
อาตมาก้มลงกราบเบื้องหน้าท่านด้วยความเลื่อมใส นี่หรือหลวงพ่อเดิม แห่งวัดหนองโพที่ผู้คนนับถือ ชราภาพป่านนี้แล้วยังส่อความเข้มขลังและมีพลังอำนาจในตัว นี่เป็นเพราะอะไรกันหนอ หรือเป็นเพราะท่านมีศีลและภาวนา ตลอดจนบารมีอันสูงส่งของท่านคอยเป็นตบะและเดชะอยู่
หลวงพ่อเดิม เทพเจ้าแห่งเมืองสี่แคว กล่าวถามอาตมาด้วยประโยคแรก น้ำเสียงของท่านไม่แหบหรือเล็กเหมือนคนแก่อายุวัย ๙๐ ปีเศษ แต่แจ่มใสและกังวานเป็นยิ่งนัก
“คุณมาจากอารามไหนกัน”
“คุณเดินทางเพื่อจะสึกเพียงอย่างเดียวหรือ”
อาตมาสะดุ้งเพราะไม่ได้บอกใคร แต่หลวงพ่อเดิมรู้ จึงตอบไปตามตรงว่า
“ขอรับ ผมจะมาสึกหาลาเพศจากภิกษุสภาวะ”
“อ้อ! อย่างนี้เอง เอาล่ะ อยู่กับฉันไปก่อนก็แล้วกัน วันนี้ไม่เหมาะสำหรับคุยเรื่องการสึกหาลาเพศ”
ท่านเรียกมรรคทายกให้นำอาตมาไปพักที่กุฏิรับรองแล้วสั่งว่า
“ต้อนรับท่านให้ดี ท่านเป็นแขกของหลวงพ่อ อย่าให้ขาดตกบกพร่องนะ”

อาตมามีนิสัยอยู่อย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดต้องตอบแทนคุณไม่อยู่เปล่า ๆ เมื่อหลวงพ่อเดิมท่านให้พักอยู่ด้วยในฐานะแขกของท่าน การตอบแทนพระคุณก็คือการไปนวดเฟ้นให้หลวงพ่อเดิมท่านคลายเมื่อย ซึ่งหลวงพ่อเดิมท่านก็มีเมตตากับแขกแปลกหน้าด้วยการพูดคุยเล่าเรื่องต่าง ๆ ให้ฟัง ตอนกลางคืนอาตมานวดให้ท่าน พอเช้าก็ได้พบกับเรื่องประหลาด คือหลวงพ่อเดิมท่านฉันข้าวต้มตอนเช้า ท่านฉันอาหารแข็งไม่ได้แล้วตอนนั้นพอฉันเสร็จเขาก็พยุงท่านมานั่งเข้าที่ พอสาย ๆ หน่อยก็มีคนมาจากทั่วทุกสารทิศ มานมัสการหลวงพ่อเดิม ท่านก็เป่าหัวให้อย่างแรงทุกคน เป่าจนน่ากลัวว่าจะเป็นลมเพราะหมดแรง แต่หลวงพ่อเดิมท่านก็เป่าอย่างนั้นแหละว่า
“เพี้ยง ดี…เพี้ยง ดี”
คนก็ไปเช่าแหวนลงถมบ้าง มีดหมอบ้าง เหรียญบ้าง รูปหล่อบ้าง แล้วแต่จะต้องการ พอมาถึงหลวงพ่อเดิมท่านก็เป่ากำกับให้ เขาก็เอากลับไปบ้านกัน บางคนก็เอานางกวักงาช้างไปค้าขายกันวุ่นไปหมด แต่ผู้คนก็ไม่ได้ขาดสาย วันทั้งวันเห็นแต่มีคนมาหาหลวงพ่อเดิม ศิษย์ก็ได้แต่มองตาละห้อย ห่วงหลวงพ่อเดิม ซึ่งอายุวัย ๙๐ ปีเศษ เกรงจะมรณภาพเพราะตรากตรำ แต่พูดอะไรไม่ได้ เวลาจะไปไหนมาไหน ตอนนั้นไม่ถนัดแล้ว ต้องเอาเกวียนเล็ก ๆ มาให้ท่านนั่งแล้วก็ลากไปตามทาง ท่านชราภาพจริง ๆ แต่ไม่ยอมหยุดกิจนิมนต์และการรับแขก ศิษย์ก็ไม่กล้าขัดใจท่าน เพราะท่านสั่งว่า ท่านจะสงเคราะห์ญาติโยมจนวาระสุดท้ายของชีวิตของท่าน เวลาตกกลางคืน อาตมาก็อดใจไม่ได้ พอนวดให้ท่าน ก็กราบเรียนถามท่านตรง ๆ ว่า “หลวงพ่อขอรับ เพี้ยง ดี เพี้ยง ดี ของหลวงพ่อน่ะมันดีจริงหรือครับ”
ท่านยิ้มแล้วก็ตอบว่า
“ดีอย่างไรฉันบอกเธอเดี๋ยวนี้ไม่ได้ ต้องอยู่กับฉันต่อไปจึงจะรู้ดี”
พออาตมาพูดเรื่องการสึก หลวงพ่อเดิมก็กระแอมดัง ๆ คล้ายจะดุ
“แอ้ม อึ้ม อึ้ม อึ้อมม์”
อาตมาก็เลยไม่ได้สึกต้องอยู่ต่อไป อาตมาเป็นคนซอกแซก มองไปมองมาก็เห็นว่าที่กุฏิหลวงพ่อเดิมด้านนอกมีปี่พาทย์ มีดาบ มีกระบี่กระบองสำหรับต่อสู้และการร่ายรำ อาตมาเป็นคนไม่ชอบเก็บความสงสัย จึงถามท่านตรง ๆ ในคืนต่อมาว่า
“ดาบเอย กระบี่เอย มีไว้ทำไมกันครับหลวงพ่อ พระใช้ของพวกนี้ได้หรือครับหลวงพ่อ” หลวงพ่อเดิมหัวเราะหึ ๆ แล้วกล่าวว่า
“ช้าไว้ ช้าไว้ เธอเป็นผู้เยาว์ บวชแค่พรรษาเดียว ก็เร่งร้อนจะสึก ฉันจะเล่าอะไรให้ฟัง ฟังแล้วคิดตามไปนะ”
“วัดในสมัยโบราณครั้งกระโน้น เป็นแหล่งรวมสรรพวิชา เรียกกันว่า “สำนักทิศาปาโมกข์” เชียวนะจะบอกให้ บางแห่งก็เรียก “ตักศิลา” ดังนั้นผู้เข้ามาในวัดนั้นจึงไม่ได้เข้ามาทำบุญอย่างเดียว แต่เข้ามาศึกษาหาความรู้กับพระในวัดด้วย มันเป็นอย่างนี้แหละ”
นวดไปอีกสักครู่ หลวงพ่อเดิมท่านก็เล่าเรื่องวัดในสมัยโบราณต่อไปอีก ท่านเล่าว่า “วัดในสมัยกรุงศรีอยุธยานั้น สอนอะไรบ้าง ก็สอนวิชาราชบุรุษ กฎหมาย นิติศาสตร์ต่าง ๆ เศรษฐศาสตร์ ศิลปหัตถกรรม เรียนเวชศาสตร์ เรียนดนตรีดีดสีตีเป่าต่าง ๆ พระสมัยนั้นสอนได้ทั้งนั้น ทั้งยังมีตำราพิชัยสงคราม ฤกษ์ผานาทีต่าง ๆ”

อาตมาก็สงสัย จึงถามหลวงพ่อเดิมท่านไปว่า “ราชบุรุษน่ะ เรียนอะไรขอรับหลวงพ่อ ผมไม่เคยได้ยิน”
หลวงพ่อเดิมหัวเราะอย่างอารมณ์ดี แล้วอธิบายว่า
“ราชบุรุษคือ วิชารัฐศาสตร์ การปกครองตนเองและผู้อื่น เข้าวัดต้องปกครองตัวได้ ต้องอยู่ร่วมกับคนอื่นได้ มีระเบียบมีวินัย สามารถะอาไปใช้ในชีวิตฆราวาสได้ นี่เรียกว่า ราชบุรุษ”
พอถึงตอนนี้อาตมาก็เลยถามเข้าจุดว่า
“แล้วมีดพร้ากระท้าขวาน กระบี่กระบองเอาไว้ทำไมกันเล่าขอรับหลวงพ่อ”
หลวงพ่อเดิมท่านว่า
“ช่างสงสัยจริงนะ จะบอกให้ กระบี่กระบองคือหัวใจของการรบและการต่อสู้เพื่อป้องกันแผ่นดินไทย เป็นลูกผู้ชาย ต้องเป็นทหาร วัดหนองโพมีดีทางกระบี่กระบองและดาบต่าง ๆ ส่วนวัดอื่น ๆ ในสมัยนั้นก็เก่งไปแต่ละด้าน อักขระบ้าง การสร้างเครื่องรางของขลังบ้าง ดนตรีบ้าง ก็แล้วแต่ใครอยากเรียนอะไร ก็ไปเรียนกัน
ดังนั้นวัดจึงเป็นตักศิลาโดยแท้ สมัยก่อนโรงเรียนแบบปัจจุบันไม่มี พ่อแม่ก็ต้องคอยดูว่าวัดไหนเก่งทางไหนก็พาลูกไปเรียน เรียนจบแล้วถ้ายังไม่พอก็ไปเรียนต่อที่วัดอื่น นี่แหละวัดในสมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นสำนักเรียนด้วยเหตุนี้”
อาตมาจึงได้ถามคำถามซึ่งคิดว่าหลวงพ่อเดิมคงไม่ได้เล่าเอาไว้ว่า
“เหตุใดวัดหนองโพจึงเก่งทางด้านกระบี่กระบอง ขอรับหลวงพ่อ”
หลวงพ่อเดิมท่านหยุดนิดหนึ่ง แล้วเริ่มเล่าย้อนหลังขึ้นไปสมัยเมื่อกรุงศรีอยุธยาใกล้จะล่ม เหมือนท่านอยู่ในเหตุการณ์นั้นด้วยตัวท่านเอง
หลวงพ่อเดิมท่านทอดสายตาออกไปนอกกุฏิสู่ความเวิ้งว้างของโลกภายนอก น้ำเสียงของท่านดูกร้าวและแกร่งขึ้นมา คล้ายกับจะรื้อฟื้นความทรงจำอันเจ็บปวดครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยาต้องตกอยู่ท่ามกลางทะเลเพลิงที่พม่าข้าศึกเข้าปล้นสะดม เผาผลาญอย่างไร้ความปรานี แล้วเล่าให้ฟังว่า
“คุณฟังให้ดี ๆ นะ ฉันจะเล่าเรื่องแต่เบื้องหลังให้คุณฟังแล้วคิดตาม ฉันไม่ค่อยจะได้เล่าให้ใครฟัง แต่สำหรับคุณ ฉันจะเผยเรื่องราวโดยไม่ปิดบัง หลวงพ่อเฒ่าแห่งวัดหนองโพ ซึ่งเป็นสมภารองค์แรกของวัดหนองโพ คุณรู้ไหมว่าท่านเป็นใคร เอาล่ะฉันจะบอกให้
ท่านเป็นขุนศึกคู่ใจของพระยาตาก ซึ่งเดินทางจากเมืองตากเข้าสู่กรุงศรีอยุธยาพร้อมกับพระยาตาก เพื่อเข้ามารับตำแหน่งเจ้าพระยาวชิรปราการ ไปครองเมืองกำแพงเพชร แต่พม่าเข้าล้อมกรุงศรีอยุธยาไว้ทุกด้าน พระยาตากท่านจึงต้องสู้กับพม่าข้าศึกโดยตั้งค่ายที่วัดพิชัย
หลวงพ่อเดิมท่านได้เล่าให้อาตมาฟังต่อไปอย่างต่อเนื่อง เหมือนกับว่าท่านคืออดีตนักรบแห่งกรุงศรีอยุธยาผู้สละชีวิตเพื่อเป็นชาติพลีในครั้งกระนั้น
ชาวบ้านบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี ตั้งค่ายเข้าต่อตีกองทัพพม่าจนแตกกระจัดกระจายไปถึง ๗ ครั้ง ๗ หน สู้อย่างกล้าหาญ คนเพียงหยิบมือเดียวเมื่อเทียบกับกองทัพพม่า แต่สามารถทำลายกำลังพม่าข้าศึกเป็นก่ายเป็นกองแล้ว ทำไมกรุงศรีอยุธยาจึงล่ม มันไม่ได้ล่มเพราะคนไทยไม่มีฝีมือ แต่พม่าเอาสุกี้พระนายกองมอญที่เคยพึ่งบารมีข้าวแดงแกงร้อนของไทย มาเป็นคนนำทางเข้าทำลายคนไทยประการหนึ่ง
ประการที่สอง คนไทยเราแตกความสามัคคี เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน ค่ายบางระจันสู้จนล้มตายเป็นอันมาก เพราะสุกี้พระนายกองเอาปืนใหญ่มายิงใส่ค่าย ส่งคนไปขอปืนใหญ่จากกรุงศรีอยุธยา ยังถูกคนไทยด้วยกันพูดให้ต้องน้ำตาตกว่า
“น้ำหน้าอย่างชาวบ้านธรรมดานะหรือจะเอาปืนใหญ่ไปสู้พม่า ขืนเอาไปก็ถูกพม่ามันชิงเอามายิงกรุงศรีอยุธยาเท่านั้นเอง”

ท่านขุนสรรค์ พันเรือง นายทองแสงใหญ่ นายจัน หนวดเขี้ยว นายทองเหม็น นายดอกแก้ว นายแท่น มาประชุมหารือกันแล้วก็ท้อแท้ใจว่า ดูหรือเราสละเลือดเนื้อกันแทบตาย แต่ผลที่ได้รับก็คือ การดูหมิ่นฝีมือและน้ำใจ พม่ามันยิงด้วยปืนใหญ่ทุกวัน ล้มตายกันวันละหลายคน อย่ากระนั้นเลยเปิดค่ายออกไปรบกับมัน ให้รู้ดีรู้ชั่วไปให้โลกเขาร่ำลือว่า ชาวบางระจันยอมสละชีวิตเพื่อรักษาแผ่นดิน
หลวงพ่อเดิมท่านเล่าไปอีกว่า
“คุณรู้ไหมว่า ครั้งนั้นชาวค่ายบางระจันควงมีดพร้า กระท้าขวานดาหน้าเข้าหาห่าปืนใหญ่ของพม่าข้าศึก เข้ารบกับพม่าด้วยความกล้าหาญ เอาชีวิตเข้าแลก ยอมตายกันหมดทั้งค่าย ให้พม่าเดินข้ามศพเข้าสู่กรุงศรีอยุธยาดีกว่าให้พวกมันจับไปร้อยหวายผูกเป็นพวงเอาไปเป็นขี้ข้าที่หงสาวดี พม่าข้ามศพชาวบ้านบางระจันเข้ามาตั้งทัพที่วัดทุ่งพระเมรุ มันจึงไม่เผาทำลาย มันล้อมกรุงเอาไว้ คนไทยมีฝีมือจะสู้พม่า แต่เจ้าบ้านผ่านเมืองสมัยนั้นกลับไม่ยอมสู้ นอนงอมืองอเท้ากะให้น้ำหลาก พม่าจะได้ยกทัพกลับ แต่คราวนี้ผิดคาด พม่ามันเตรียมตัวมาอย่างดี เอาปืนใหญ่ยิงเข้ามาทุกวัน ถูกเรือนชานชาวบ้าน ไฟไหม้วอดวายตายกันเป็นเบือ
พระยาตากสุดจะทน ลากปืนใหญ่มายิงใส่พม่า จนล้มตายเกลื่อน กำลังจะบรรจุลูกที่สอง ก็มีคนถือดาบอาญาสิทธิ์มาบอกว่า “ให้พระยาตากเข้าไปรับการพิจารณาโทษที่ศาลาลูกขุน ในฐานะฝ่าฝืนกฎมณเฑียรบาล ที่ห้ามยิงปืนใหญ่ก่อนจะได้รับอนุญาต เพราะนางสนมกรมพระแม่จะตกใจ”
เนื่องจากพระยาตากมีความดีความชอบในแผ่นดินมาก่อน ให้รอลงพระราชอาญา หากฝ่าฝืนยิงปืนอีกจะถูกตัดหัวทันที ในที่สุดพระยาตากได้ตัดสินใจตีหักแหวกวงล้อมพม่าออกจากกรุงศรีอยุธยาเพื่อไปกู้ชาติ หลวงพ่อเฒ่า ซึ่งเป็นหนึ่งในขุนศึกคู่ใจก็ร่วมตีหักออกมาในครั้งกระนั้น ได้ช่วยพระยาตากทำศึกกับพม่าอย่างโชกโชน จนกระทั่งพระยาตากได้รับการสถาปนาเป็นพระเจ้ากรุงธนบุรีมหาราช จึงได้แต่งตั้งหลวงพ่อเฒ่าจะให้เป็นคุณหลวง แต่หลวงพ่อเฒ่าท่านถวายบังคมลาออกจากการรับราชการ เพราะเห็นว่าได้ทำศึกมามากแล้ว ฆ่าคนมาก็มาก จะขอเข้าบวชในพระพุทธศาสนา พระยาตากก็อนุญาตให้ตามที่ขอ หลวงพ่อเฒ่าท่านจึงเดินทางมาจังหวัดนครสวรรค์ แล้วอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ได้มาฟื้นฟูวัดหนองโพขึ้นหลังจากที่กรุงธนบุรีได้เป็นปึกแผ่นแล้ว พระยาตากยังได้ให้คนนำของมาถวายและไถ่ถามทุกข์สุขอยู่เสมอ แต่หลวงพ่อเฒ่าท่านไม่ได้บอกชาวบ้าน ชาวบ้านจึงรู้แต่เพียงว่าท่านบวชแล้วก็ลงเรือมากับเพื่อนภิกษุด้วยกันแล้วอพยพหลบนายภาษีมาตั้งวัดหนองโพ

วัดหนองโพจึงมีการสอนวิชากระบี่ กระบอง และวิชาดาบ ได้สืบทอดกันมา หลวงพ่อเฒ่าท่านได้เคยเล่าให้ลูกหลานฟังว่า
“สมัยกรุงศรีอยุธยานั้น คนที่จะเข้ามาเป็นนักรบชั้นแนวหน้าชั้นขุนศึกนั้น ต้องศึกษาอักขระและภาษาต่าง ๆ ไปจนถึงตำรับพิชัยสงคราม ต้องบวชเรียนวิปัสสนากรรมฐาน ฝึกรากฐานจิตใจเสียก่อนแล้วจึงจะเรียนเพลงอาวุธกันในสำนักเรียน ก็คือวัดทั้งหลายในกรุงศรีอยุธยานั่นเอง แต่ท่านไม่เคยบอกใครนะว่าท่านเป็นอดีตขุนศึกคู่พระทัยของพระเจ้าตากสินมหาราช เพราะท่านไม่ต้องการรำลึกถึงอดีต ท่านวางดาบวางมีดถวายตัวเป็นพุทธบุตรแล้ว ท่านไม่ต้องการข้องแวะอีก
แต่การถ่ายทอดวิชานั้น ท่านต้องทำ ด้วยว่าหากไปข้างหน้าเกิดศึกสงคราม วิชาการต่อสู้จะได้ไม่สูญไป ชายไทยจะได้จับดาบจับมีดขึ้นสู้กับข้าศึกได้ ไม่ต้องเป็นขี้ข้าเขา เพราะว่าพระเจ้าตากสินมหาราชกว่าจะกู้ชาติมาได้แต่ละตารางนิ้วนั้น มันยากลำบากเหลือแสน ต้องสิ้นเปลืองชีวิตทหารเป็นก่ายกอง บางครั้งก็ต้องสละพระโลหิตของพระองค์ลงรดแผ่นดินเพื่อแลกเอกราชของชาติไทย นี่แหละคือหลวงพ่อเฒ่าแห่งวัดหนองโพ จำไว้นะคุณ ท่านคือขุนศึกคู่พระทัย หนึ่งในห้าคนของพระเจ้าตากสินมหาราช”
สำนักวัดหนองโพนั้นมิได้สร้างแค่คนดี พระดี และศิลปินเท่านั้น ยังสร้างนักกระบี่กระบองที่ดีไว้อีกด้วย อาตมาได้เห็นการสอนกระบี่กระบองที่วัดหนองโพ มีพระสอนให้เด็กรู้จักการตี การป้องปัด และการร่ายรำ จึงได้เข้าใจว่า พระในวัดสมัยโบราณท่านไม่ได้ผลาญข้าวสุกชาวบ้านเปล่า ๆ ท่านตอบแทนด้วยการสั่งสอนอบรมลูกหลานของคนที่เอาข้าวปลาอาหารมาทำบุญกับท่านพร้อมกันไปด้วย

วันหนึ่งหลวงพ่อเดิมท่านได้เอ่ยเล่าเรื่องวัดสมัยโบราณ สร้างปุโรหิตาจารย์ และถ่ายทอดตำราพิชัยสงคราม ปุโรหิตาจารย์นั้น สมัยนี้ก็เทียบเท่ากับเสนาธิการในการวางแผนการรบ ถ้าเสนาธิการรอบรู้พิชัยสงคราม ย่อมกำชัยชนะมาสู่ผืนปฐพีของตนได้อย่างไม่ยากนัก เพราะตำรับพิชัยสงครามก็คือการหยั่งรู้กำลังศัตรูและการเดินทัพของศัตรู ท่านได้ตั้งปัญหาถามอาตมาว่า
“นี่แน่ะเธอ ตอนกลางคืนเธอเดินอยู่ในป่า เธอรู้ไหมว่าทิศไหนเป็นทิศไหนกันแน่”
“ไม่รู้ครับหลวงพ่อ กระผมไม่มีความรู้ด้านนี้เลย”
หลวงพ่อเดิมหัวเราะหึ ๆ อย่างอารมณ์ดีแล้วกล่าวสอนอาตมาให้ได้รู้เคล็ดลับบางประการเอาไว้ เพื่อใช้ประดับสติปัญญา และแก้ไขสถานการณ์เมื่อคับขัน ท่านว่า
“เมื่อจะหาทิศทางนั้น ถ้ามองไม่เห็นทิศ ให้ดูดาวเหนือ ถ้าดูดาวเหนือไม่เป็นก็ต้องใช้อย่างอื่นแทน นี่แน่ะเธอ ถ้าเธอเดินผ่านหน้าวัด เธอจะรู้ได้ทันทีว่าทิศไหนเป็นทิศไหน ถ้าไม่มีโบสถ์แล้วดูดาวไม่เป็นก็ต้องดูต้นไม้”
“ดูต้นไม้ ต้นไม้ก็เหมือน ๆ กันนี่ครับ และมันก็ยืนต้นของมันอยู่เฉย ๆ จะไปบอกทิศทางได้อย่างไรกันครับ”
“ฟังไว้นะเธอ เธอต้องรู้จักต้นไม้ว่า ต้นไม้แบบนี้ขึ้นอยู่ในทิศเหนือ หรือมีกิ่งก้านเอนไปทางทิศเหนือ หรือต้นไม้อย่างนี้ชอบขึ้นหรือเอนไปทางทิศใต้ เป็นต้น”
“เข้าใจแล้วครับ แล้วไม่มีต้นไม้ ผมจะทำอย่างไรดีเล่าครับ”
“ไม่ยากเลยนี่เธอ เรียนสมาธิ เรียนกสิณแล้ว ก็ง่ายแล้ว นอนคว่ำลงไปกางแขนทั้งสองข้างออก เจริญสมาธิจนแน่นิ่ง อธิษฐานจิตจะเกิดพลังความร้อนแผ่กระจายจากทรวงอกไปยังแขนข้างใดข้างหนึ่ง ข้างไหนร้อนนั่นแหละแขนชี้ไปทางทิศเหนือ”
หลังจากนั้นหลวงพ่อเดิมได้สอนวิชาเมฆฉายให้แก่อาตมา ท่านกล่าวเล่าว่า
“แม่ทัพสมัยก่อนโน้นเวลาจะออกรบทัพจับศึก นอกจากจะเตรียมอาวุธไว้ป้องกันตัวและคาถาอาคมแล้ว ยังทำเมฆฉายด้วยการยกร่างของตนเองขึ้นไปบนก้อนเมฆ ทำนิมิต จะมองเห็นเลยว่าไปคราวนี้เป็นอย่างไร ถ้าไปดีมีชัยก็จะติดต่อกันทั้งร่าง ถ้าลางร้าย ตัวนิมิตบนก้อนเมฆจะคอขาด แขนขาด ต่อกันไม่ติด ก็รู้ล่ะว่าออกไปแล้วจะตาย ก็จะสั่งเสียและฝากฝังลูกเต้าไว้กับพระเจ้าแผ่นดิน แล้วตัวเองก็ออกไปตายอย่างชายชาติทหาร นี่แหละพิชัยสงครามล่ะเธอ”
อาตมายังทันเขาโกนจุกกันข้างวัดหนองโพ หลวงพ่อเดิมท่านเห็นว่าอาตมาเป็นพระบวชใหม่จึงถามว่า
“สวดได้ไหมล่ะ จะได้ไปสวดมนต์ด้วยกัน”
อาตมาก็ตอบว่า “ได้ขอรับ กระผมสวดได้ ท่านก็ให้ไปด้วย พอพระสวดเสร็จ เขาก็ให้ปี่พาทย์ของวัดนั่นแหละบรรเลงเพลงแบบการต่อสู้ แล้วก็มีเด็กวัดหนองโพอีกนั่นแหละแต่งตัวทะมัดทะแมง มารำกระบี่กระบองตีกันอย่างคล่องแคล่วว่องไว ค่าบูชาครูหกบาทใส่พานพร้อมดอกไม้ ธูปเทียน เงินหกบาทที่ได้หลวงพ่อก็แบ่งให้เด็ก ๆ ตามแต่คนไหนบ้านมีฐานะดีก็เอาไปน้อยหน่อย คนที่พ่อแม่ยากจนหรือเป็นกำพร้าก็ได้มาก เอาไว้เรียนหนังสือให้เป็นเจ้าคนนายคนต่อไป
ลิเกวัดหนองโพก็มีการสอน อาตมากล้าพูดได้ว่า วัดหนองโพมีลิเก หลวงพ่อเดิมท่านเอามาหัดให้มีอาชีพกัน เมื่อมีวงปี่พาทย์ก็ต้องมีลิเก ที่วัดเทวราช จังหวัดอ่างทอง ก็มีเหมือนกัน ตอนที่อาตมาเล็ก ๆ ยังจำได้คนที่สอนกลอนลิเก ไม่ใช่ครูลิเก แต่เป็นสมภารวัดเทวราช ท่านเก่งเทศน์มหาชาติ เจ้าบทเจ้ากลอน ท่านก็สอนกลอนลิเกให้
ครูโรงเรียนก็จัดเด็กที่ยากจนเอามาหัดเล่นลิเก ไม่ต้องเล่นเรื่องอะไรหรอก มหาชาติตั้งแต่ทศพรไปจนจบ คนดูติดกันเกรียวกราว พอเอ่ยถึงลิเกเทวราชแล้วทุกคนร้อง อ๋อ! ต้องรีบไปรอหน้าโรงแต่หัววัน
หลวงพ่อเดิมท่านไม่แต่เพียงให้มีการสอนลิเกที่วัดหนองโพเท่านั้น เพลงฉ่อย เพลงเกี่ยวข้าว หลวงพ่อเดิมก็สอนให้หมด รักษามรดกทางวัฒนธรรมเอาไว้ไม่ให้สูญหาย หลวงพ่อเดิมท่านเป็นพระนักอนุรักษ์ของโบราณโดยสายเลือดทีเดียว พระสมัยก่อนนั้นท่านเก่งทุกด้านนะ ไม่ใช่แค่นั่งเทศนาอย่างเดียว ท่านรอบรู้ไปเสียทุกอย่าง เรียกว่า พระสมัยนั้นเป็นพระที่เก่งทั้งทางโลกและทางธรรม

อาตมาอยู่วัดหนองโพนานวันเข้า เรื่องจะสึกก็ยังคิดอยู่ พอเห็นว่าสมควรแก่เวลาก็คลานเข้าไปหาหลวงพ่อเดิม แล้วก็กราบเรียนท่านว่า
“หลวงพ่อขอรับ กระผมจะสึกละขอรับ อยากเป็นฆราวาสเต็มแก่”
หลวงพ่อเดิมท่านหันมาจ้องดูแล้วก็ทำเหมือนครั้งแรกที่เคยเจอท่านกระแอม
“แฮ้ม แฮ้ม แฮ้ม แฮ้ม แฮ้ม หยุดไว้ก่อน คุณอย่าเพิ่งจะมาสึก ตอนนี้ไม่ถึงเวลา”
อาตมาก็ไม่กล้าจะพูดเรื่องสึกต่อไป แต่ก็คิดอุบายมาได้ว่าก็ไหน ๆ จะสึกแล้ว ไม่วันใดวันหนึ่งทำไมไม่ขอคาถามหานิยม สีผึ้ง สึกไปแล้วจะได้จีบผู้หญิงได้ง่าย ๆ มีภรรยาสวย ๆ เลยกราบเรียนท่านไปว่า
“ไม่ถึงเวลาก็ไม่เป็นไรขอรับ กระผมขอคาถามหานิยมอย่างเด็ดขาดสักบท ที่สีปากด้วยสีผึ้ง แล้วผู้หญิงเดินตามต้อย ๆ กระผมอยากได้มานานแล้ว”
อาตมารบเร้าเรื่องคาถามหาเมตตาจากหลวงพ่อเดิม ท่านก็สอนเป็นปรัชญาเรื่อยไป อาตมาก็อยากจะสึกแต่ไม่กล้าจะรบเร้าท่านมาก ท่านคอยห้ามเอาไว้ในที ส่วนใหญ่จะว่าไม่ได้ฤกษ์สึก ในที่สุดอาตมาก็รบเร้าเอาจนหลวงพ่อเดิมท่านใจอ่อน หลวงพ่อเดิมท่านก็หัวเราะหึ ๆ แล้วก็ยิ้มอย่างเมตตา ก่อนจะสั่งให้หากระดาษดินสอมาให้ท่าน ท่านให้คาถาสารพัด จดกันไม่หวาดไม่ไหว จดแล้วท่านบอกให้ไปท่องให้ได้ โอ้โหคาถามากมายจนอาตมาไม่ต้องมาขอคาถาเพิ่ม มัวแต่ท่องคาถา เรื่องสึกก็เลยลืมไป เห็นไหมล่ะหลวงพ่อเดิมท่านทันคนขนาดไหน ท่านดัดหลังแก้ลำอาตมาจนเซ่อไปเลยทีเดียว
คาถาบทหนึ่งซึ่งหลวงพ่อเดิมท่านใจอ่อนให้ถาคาไว้ ซึ่งเป็นคาถาที่ศิษย์หลวงพ่อเดิมใช้กันทุกคน คือ
นะ เมตตา
โม กรุณา
พุท ปรานี
ธา ยินดี
ยะ เอ็นดู
มะ คือตัวกู
อะ คือคนทั้งหลาย
อุ เมตตาแก่กูสวาหะ
นะ โม พุทธายะ
อาตมาสุดแสนดีใจว่าได้คาถาเมตตาเอามาท่องจนขึ้นใจ คราวนี้ได้การล่ะ สึกเมื่อใดจะได้เอาไปใช้ให้สมกับที่รอ แต่จนแล้วจนรอด หลวงพ่อเดิมก็ไม่สึกให้เสียทีหนึ่ง คอยว่าเมื่อใดเหลวงพ่อจะเมตตาสึกให้ ก็ไม่มีวี่แวว
อาตมาท่องจนขึ้นใจ แต่ก็ไม่ได้รู้ว่าคาถานั้นแท้ที่จริงอยู่ในพระกรรมฐานนั่นเอง เพราะพระกรรมฐานสอนให้แผ่เมตตา ถ้าไม่มีเมตตาปรานีแล้ว ท่องคาถาไปก็เปล่า ๆ พอมานั่งเจริญพระกรรมฐานจริงจัง หลังจากหลวงพ่อเดิมมรณภาพไปแล้ว จึงกระจ่างมองเห็นภาพท่านสอนคาถาเมตตาให้ทุกอิริยาบถ นี่เป็นอย่างนี้ หลวงพ่อเดิมท่านเป็นพระทันสมัยทันการณ์ทุกอย่าง อาตมายังได้คาถาอีกบทหนึ่งซึ่งท่านสอนให้ เนื่องจากอาตมาปรารภจะได้คาถาเมตตาชนิดที่เรียกว่า ภาวนาแล้วผู้หญิงติดเป็นตังเม หลวงพ่อเดิมท่านก็เลี่ยงไปเลี่ยงมา ในที่สุดก็จดคาถาให้ว่า
นะกาโรกุกะสันโธ สิโรมัชเฌ
โมกาโรโกนาคะมะโน นลาถิเต
พุทกาโรกัสสะโปพุทโธ จะเทวเนตเต
ธากาโรศรีศากยะมุนีโคตโม จะเทวกัณเณ
ยะกาโรศรีอริยะเมตตรัยโย ชีวหาถิเต
ปัญจะพุทธานะมามิหัง
เมื่อหลวงพ่อเดิมให้คาถามา อาตมาก็ท่องไปเรื่อย ๆ และในที่สุดก็ไม่ได้ใช้ เพราะไม่ได้สึก พอมาเรียนพระกรรมฐานและสติปัฏฐานสี่ ในตอนหลังนี้ก็เข้าใจแจ่มแจ้งว่า คาถาที่หลวงพ่อให้ ไม่ใช่คาถาเมตตาที่ไหนเลย แต่เป็นคำสอนของพระบรมศาสดาทั้งนั้น ก็คือว่า ให้ระมัดระวังศีรษะ ให้รู้จักน้อมคารวะผู้มีคุณธรรม หน้าผากก็ให้ผ่าเผยด้วยใบหน้าอันยิ้มแย้ม ดวงตาให้สำรวมระวังในการมองดู เพราะนั่นเป็นทางเกิดกิเลสต่าง ๆ ให้สำรวมระวังหู ให้ฟังแต่สิ่งดี ๆ อย่าไปฟังเรื่องไม่ดี ฟังหูไว้หู ให้หูหนักเข้าไว้ อย่าหูเบา และลิ้นนั้นให้ระวังสำรวมในรสอาหาร อย่าไปติดมันเข้า เพราะมันทำให้เกิดกิเลส
ดังนั้นคาถาเมตตาของหลวงพ่อเดิม จึงรวมเอาคำสอนของพระบรมศาสดา เรื่องการสำรวมระวังอินทรีย์ทั้งนั้น แต่เมื่อคนเกิดไปภาวนาด้วยความมั่นใจแล้วก็ทำให้ขลังขึ้นได้เหมือนกัน
อาตมาได้เรียนถามหลวงพ่อเดิมต่อไปถึงเรื่องมนตรามหาเสน่ห์ ที่ได้จดจากหลวงพ่อเดิมไปหลายบทด้วยกันว่า
“หลวงพ่อครับ เอาบทที่ว่าแน่ ๆ เสกแล้วผู้หญิงรักสักบทเถอะ มากนักผมว่าไม่ค่อยจะดี”
เทพเจ้าแห่งวัดหนองโพหันมาหัวเราะหึ ๆ ก่อนจะกล่าวตอบต่อไปว่า
“ต้องการอย่างนั้นจริง ๆ นะ ไม่กลับคำนะ สัจจังเว อมตฺตา วาจา นะ”
“แน่นอนครับ ผมสึกออกไปอยากได้เมียสวย ๆ สักคน ต้องเสกคาถากันหน่อยละครับ”
“เอาฟังให้ดี ๆ นะแล้วจำเอาไว้ก็แล้วกัน พูดจริง ทำจริง ทุกสิ่งผู้หญิงดีรัก พูดไม่จริง ทำไม่จริง ทุกสิ่งผู้หญิงเลวรัก ผู้หญิงมีหลายอย่างนะ ผู้หญิง ผู้หยังแม่กระชังก้นรั่ว มาเที่ยวเลาะขอบรั้วหาดีไม่ได้ ผู้ชายก็ชายกระเบน ไม่เอาไหนก็เลยไปกันใหญ่”
เมื่อท่องหนักเข้า อาตมาก็สงสัยขึ้นมาว่า คาถานี้ใช้อย่างไรดี

วันหนึ่งเห็นหลวงพ่อเดิมกำลังเป่าหัวศิษย์ เสียงว่า “เพี้ยง…ดี” ไม่เห็นท่านท่องคาถาสักบท อาตมาก็จำเอาไว้ เอาล่ะเป็นไงเป็นกัน ให้คาถาเรามาท่องยืดยาว แต่พอถึงคราวท่านเองกลับไม่ท่อง ใช้ลมปากเป่าเพี้ยง ๆ พอตกกลางคืนไปนวดให้ท่าน อาตมาก็เลยตัดพ้อต่อว่าหลวงพ่อเดิมท่านว่า
“หลวงพ่อให้คาถากระผมไปท่องตั้งมากมาย ผมก็ท่อง กะว่าจะดีให้ได้ แต่พอเห็นหลวงพ่อเป่า เพี้ยง ดี เพี้ยง ดี ให้คนอื่น หลวงพ่อไม่เห็นท่องคาถาอะไรเลย จับหัวมาได้ก็เป่าเพี้ยง ดี เพียง ดี อย่างนี้ผมก็ท่องเสียเวลาเปล่า”
หลวงพ่อเดิมท่านก็เลยไขความลับให้อาตมาฟัง ทำให้อาตมาได้หูตาสว่างกันตอนนั้นเอง ท่านบอกอย่างนี้
“คาถาน่ะไม่ขลังหรอก เขาเอาไว้ท่องเอาไว้เป็นองค์ภาวนา เพื่อให้จิตเป็นหนึ่งต่างหาก เหมือนเราจะเดินข้ามแม่น้ำที่ไหลเชี่ยว เปรียบเหมือนกำลังจิตที่ไม่เป็นระเบียบ ไม่เป็นอำนาจอันมหาศาล ต้องอาศัยการภาวนาคาถา เพื่อให้จิตเป็นหนึ่ง ใช้คาถานั่นแหละเป็นองค์ภาวนาต่างสะพานข้ามฟากไป พอจิตข้ามฟากไปถึงจุดหมายปลายทาง คือเป็นหนึ่งเป็นพลังมหาศาลแล้วก็รื้อสะพาน คือคาถาที่ภาวนาทิ้งไป จิตเป็นหนึ่งเป็นพลังมหาศาล แล้วเขาเรียกว่าจิตตานุภาพ ฉันจึงไม่ต้องท่องคาถา แต่ใช้เจริญจิตให้เป็นหนึ่งแล้วเป่าลมปราณ อธิษฐานให้เขาสมหวังว่า เพี้ยง ดี เพี้ยง ดี เข้าใจหรือยังล่ะ ไปท่องต่อไป ท่องให้จิตมันข้ามฟากให้ได้”
อาตมาก็ถามว่า ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น หลวงพ่อเดิมท่านก็อธิบายให้อาตมาฟังต่อไปว่า
“ตอนแรกก็ยกระดับจิตขั้นประถมก่อน แล้วภาวนาขึ้นไปถึงชั้นมัธยม แล้วก็เจริญให้เป็นเอกัคคตา มันเป็นการเจริญภาวนา เจริญจิตให้เป็นเอกัคคตา เมื่อจิตบริสุทธิ์ ปราศจากกิเลสทั้งหยาบและละเอียดแล้ว จะต้องการอะไรก็ได้ทุกประการ คิดเงินก็ได้เงิน คิดทองก็ได้ทอง แต่หลวงพ่อคิดแต่เมตตาให้เขาได้พ้นเคราะห์ ให้เขารวย ให้เขาดี เป่าไปเขาจึงได้ตามที่หลวงพ่อให้ไป” และท่านบอกว่า “คุณท่องต่อไปเถอะ ทำให้จิตเป็นเอกัคคตาให้ได้ แล้วก็จะรู้เองว่า เพี้ยง ดี ของหลวงพ่อเป็นอย่างไร”
อาตมานวดหลวงพ่อเดิมทุกคืน ตลอดเวลาหกเดือนที่อยู่กับท่าน มันเป็นเรื่องน่าแปลก ไม่มีพระสักองค์ที่มานวดท่าน มาขอของดีจากท่านเหมือนอาตมา ใกล้เกลือกินด่างกันหมด อาตมาจึงว่า แม้อาตมาจะอยู่กับหลวงพ่อเดิมไม่นาน แต่อาตมาได้ของดีจากหลวงพ่อเดิมมามากพอสมควร คิดถึงเดี๋ยวนี้แล้วก็เสียดายว่า เราหนอเรา ทำไมไม่รู้จักหลวงพ่อเดิมก่อนหน้านี้นาน ๆ เสียดายเหลือเกิน
อาตมาขอเล่าเรื่องแปลก ๆ ให้ฟังเรื่องหนึ่ง คนที่มาหาหลวงพ่อเดิมไม่ได้มารับแหวน รับมีด รับเหรียญ รับรูปหล่ออย่างเดียว แต่มาขอรอยเท้าหลวงพ่อ อาตมานี่แหละเป็นคนเอาครามมาทาเท้าหลวงพ่อ แล้วก็เอาหมอนรอง เอาผ้าขาวปูแล้วหลวงพ่อเดิมท่านก็เหยียบรอยเท้าลงไปแล้วก็เป่า “เพี้ยง ดี” เอาให้คนที่ต้องการเอาไป ดูเอาซีความดีของหลวงพ่อเดิมน่ะ แม้แต่รอยเท้าเขาก็เอาไปบูชากัน นี่แหละ อำนาจแห่ง ศีล ทาน และภาวนาของท่าน อาตมายังจำภาพเก่า ๆ ได้ดี ไม่มีวันลืม ก็เลยไม่สึกออกไปมีลูกมีเมีย ท่านช่างล่วงรู้เข้าไปถึงใจอาตมา
หลายวันเข้า อาตมาก็อดที่จะถามไม่ได้ เพราะว่ามันมีความอยากรู้อยากเห็นว่าทำไมหนอ คนจึงต้องการรอยเท้าหลวงพ่อเดิมไปบูชา รอยเท้าของท่านดีอย่างไรกันแน่ คืนหนึ่งได้โอกาสนวดท่าน แล้วก็เลยถามท่านตรง ๆ ว่า
“หลวงพ่อครับ รอยเท้าหลวงพ่อที่เขามาเอาไปบูชาน่ะดีตรงไหน เห็นเขามาเอาไปทุกวัน ๆ ช่วยบอกให้กระผมได้ตาสว่างสักหน่อยเถอะขอรับหลวงพ่อ”
เทพเจ้าแห่งวัดหนองโพ หันหน้ากลับมามองอาตมา นิ่งอยู่ครู่หนึ่ง ไม่พูดว่าอะไร อาตมาก็นิ่งคอยฟังว่า หลวงพ่อเดิมท่านจะพูดถึงรอยเท้าของท่านว่าอย่างไร ท่านดูเหมือนจะทิ้งช่วงเพื่อเหตุผลอะไรสักอย่าง แล้วท่านจึงได้กล่าวกับอาตมาให้ได้เข้าใจเป็นปรัชญาที่อาตมากล้าท้าได้ว่า ผู้มีรอยเท้าหลวงพ่อเดิมติดตัวจะไม่เคยรู้ความหมายของรอยเท้าหลวงพ่อเดิมมีอย่างไร

หลวงพ่อเดิมท่านตอบอาตมาว่า
“ในปีพุทธศักราช ๒๔๘๕ ประเทศไทยต้องถูกญี่ปุ่นเข้ายึดไว้เป็นทางผ่าน จอมพล ป. พิบูลสงคราม ต้องเซ็นสัญญาเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น ทำให้สัมพันธมิตรประกาศสงครามกับไทยไปด้วยอย่างช่วยไม่ได้ ลำพังประกาศสงครามธรรมดาคงไม่เป็นไร แต่นี่เล่นแห่กันเอาระเบิดมาทำลาย มาถล่มใส่ที่มั่นของฝ่ายญี่ปุ่นในประเทศไทยอย่างหนัก ผลของการทิ้งระเบิดทำให้ชีวิตและทรัพย์สินของคนไทยพินาศไปไม่น้อย ผู้คนต่างก็หวาดกลัวภัยสงครามกันแทบเป็นบ้า ข้าวยากหมากแพงอดอยากกันทั่วหน้า
ประชาชนชาวนครสวรรค์และใกล้เคียงต่างก็พากันเสาะหาของขลังติดบ้าน ติดตัว กลัวภัยระเบิด ที่มีสตางค์ก็ไปบูชาวัตถุมงคลมาไว้เป็นกำลังใจ โดยเฉพาะวัดหนองโพนั้น วันหนึ่ง ๆ คราคร่ำไปด้วยผู้คนที่มาเช่าแหวน รูปหล่อ เหรียญ มีด พระงาแกะ สิงห์งาแกะกันเป็นจ้าละหวั่น คนที่ไม่มีเงินก็ได้แต่หน้าเศร้าเพราะกรรมการวัดเขาสร้างวัตถุมงคลต้องลงทุนด้วยเงิน เขาก็ให้เช่าบูชา ส่วนที่เกินทุนออกมา หลวงพ่อเดิมท่านก็เอาไปสร้างโบสถ์วิหาร ศาลาการเปรียญตามวัดต่าง ๆ ให้เจริญยิ่งขึ้น
จะเป็นใครเป็นผู้ริเริ่มนั้นยืนยันไม่ได้ แต่ปรากฏว่ามีผู้นำเอาผ้าขาวมาให้หลวงพ่อเดิมเหยียบรอยเท้า สีที่ใช้ก็คือ ครามลงผสมน้ำนี่เอง เอามาทาฝ่าเท้าหลวงพ่อเดิมแล้วให้ท่านเหยียบ
การเหยียบตอนแรกเหยียบกับกระดาษเปล่า ติดชัดบ้าง ไม่ชัดบ้าง ก็ว่ากันไปตามสะดวก ต่อมามีผู้ไปเกิดประสบการณ์ต่าง ๆ เช่น ยิงไม่ออก ฟันไม่เข้า ตีไม่แตก บางทีก็เอาไปโบกไล่เครื่องบินให้วนไปที่อื่น หรือโบกปัดระเบิด บางบ้านรอบ ๆ บ้านพินาศยับเยินด้วยแรงระเบิดทำลาย แต่บ้านที่มีรอยเท้าหลวงพ่อเดิมกลับปลอดภัย ไม่มีกระเบื้องแตกสักแผ่น เล่าลือกันหนักเข้า หลวงพ่อเดิมก็ต้องนั่งประทับรอยเท้าจนขาเมื่อย
ทางวัดได้จัดบริการแบบใหม่คือ หาหมอนมารองเป็นที่ประทับรอยเท้าหลวงพ่อเดิม เมื่อเอาครามทาฝ่าเท้าหลวงพ่อเดิมแล้ว ก็วางผ้าขาวลงไปบนหมอน แล้วหลวงพ่อเดิมท่านก็ประทับรอยเท้าลงไป ปรากฏว่าไม่ต้องออกแรงมาก ลายเท้าติดชัดเจนเรียบร้อย
วันหนึ่ง หลวงพ่อห้อยเท้าเหยียบรอยเท้าเป็นชั่วโมง ๆ จนศิษย์สงสาร พากันอุ้มหลวงพ่อเดิมหนีเข้ากุฏิไป หลวงพ่อเดิมท่านก็ร้องว่า อย่าเลย ๆ เขาต้องการพบฉัน อย่าให้เขาเสียศรัทธา พอศิษย์วางลงผู้คนก็ฮือกันเข้าไปใหม่ เล่นกันเหงื่อไหลไคลย้อย
หลวงพ่อน้อย (ท่านพระครูนิพันธ์ธรรมคุต) อดีตเจ้าอาวาสหนองโพ เคยขอเรียนวิชากับหลวงพ่อเดิม ท่านไม่ขัดข้อง แต่ท่านได้ให้คติไว้ข้อหนึ่งว่า
“อยากได้วิชา ฉันไม่หวง แต่เมื่อเป็นแล้วละก็ จะมานึกถึงตัวภายหลังจะได้ไม่มาว่ากัน ว่าไม่บอกเสียก่อน”
เมื่อหมดผู้คนที่มา หลวงพ่อเดิม เทพเจ้าแห่งวัดหนองโพ จึงปรารภเป็นทำนองขบขันกับศิษย์ว่า
“มันทำเหมือนฉันเป็นหนูถีบจักร เหนื่อยเหลือเกิน”
ปู่โคน อินยิ้ม อดีตมรรคทายกวัดหนองโพได้กล่าวถึงการเหยียบรอยเท้าหลวงพ่อเดิม ท่านเหยียบรอยเท้าต้องยกเท้าขึ้นลงอย่างนั้นว่า
“หลวงพ่อท่านบอกเป็นปริศนาว่าฉันใช้กรรมเขาให้หมด กรรมที่ฉันตกปลอกช้างที่จับเอามาช่วยงานไงละ มันไปไหนไม่ได้ ก็ยกขาขึ้น ๆ ลง ๆ เพื่อให้หายเหนื่อย ฉันก็เลยผ่อนใช้กรรมเขาไป”
เมื่อหลวงพ่อเดิมท่านประทับรอยเท้าครั้งหนึ่งก็จะเอามือสองข้างกดที่หัวเข่าแล้วเป่าเพี้ยงลงไปพ้วงหนึ่ง ทุกครั้งเป็นการกำกับ และเมื่อท่านไปเหยียบรอยเท้าครั้งใหญ่ที่ค่ายจิรประวัติ มณฑลทหารบกจังหวัดนครสวรรค์ ท่านเคยใช้นะปัดตลอดเหยียบรอยเท้าทะลุ ครั้งละ ๑๐ ผืน เพื่อให้ทันกับเวลาและจำนวนทหาร ซึ่งเป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้าย เพราะหลวงพ่อเดิมท่านไม่อาจเลี่ยงได้ เพราะท่านไม่คาดว่าเขาจะให้ท่านเหยียบมากมายขนาดนั้น
ครามที่ใช้ผสมน้ำนั้นมีหลายสี สีน้ำเงินแก่ก็มี น้ำเงินอมฟ้าก็มี น้ำเงินอมดำก็มี และที่ออกม่วงก็เคยพบ แต่ที่เหมือนกันก็คือ ถ้าถูกน้ำแล้วจะละลาย เพราะครามกลัวน้ำเป็นอย่างยิ่ง สีจะซีดจางหรือไม่ อยู่ที่การรักษาสภาพไม่ให้ถูกความชื้น ถูกแดดหรือถูกเหงื่อจนชุ่ม นั่นคือผ้ารอยเท้าของเทพเจ้าแห่งวัดหนองโพ

อาตมาเรียนถามหลวงพ่อเดิมเรื่องรอยเท้าของท่านว่า
“ที่หลวงพ่อเหยียบรอยเท้าให้เขาไปนั้น มันดีอย่างไรครับ บอกให้กระผมได้ตาสว่างสักครั้งหนึ่งเถิดขอรับ”
เทพเจ้าแห่งวัดหนองโพมองดูหน้าอาตมาก่อนจะกล่าวตอบด้วยน้ำเสียงอันดังกังวานว่า
“เอ้อ ตาดีก็ได้ ตาร้ายก็เสีย หูดีก็ได้ หูร้ายก็เสีย”
อาตมาถึงกับงงเป็นไก่ตาแตก เพราะหลวงพ่อเดิมท่านตอบไม่ตรงคำถาม จึงรุกเข้าไปถามใหม่
“ไม่ใช่อย่างนั้นหลวงพ่อครับ กระผมต้องการรู้ว่าที่เขาเอาไปใช้กันน่ะดีทางไหนกันแน่ ถึงได้มาขอกันจนเหยียบไม่ได้หยุด”
“เอ้องั้นเรอะ ฟังนะ เขาว่าดีเอาไปโพกหัวแล้วยิงไม่ออก โพกหัวแล้วตีไม่แตก นั่นว่ากันอย่างนั้น ฉันไม่ได้ว่านะ เขาว่ากันไปเองแหละ”
“อ้าวแล้วอย่างนั้นหลวงพ่อให้เขาเอาไปทำไมกันล่ะครับ ถ้าหลวงพ่อไม่ได้ว่าดี เขาว่ากันเองล่ะก็”
“เรื่องนั้นไม่เกี่ยวกับฉันนี่คุณ ธรรมะของฉันที่ฉันฝากไว้ในรอยเท้ามันไม่ใช่อย่างที่เขาเล่าลือกัน”
“ธรรมะอะไรกันครับหลวงพ่อ ช่วยอธิบายให้ผมเข้าใจหน่อย ผมงงไปหมดแล้ว”
เทพเจ้าแห่งวัดหนองโพนิ่งสักครู่ เหมือนจะรวบรวมจิตแสดงธรรมให้อาตมา ซึ่งเป็นภิกษุหนุ่มฟัง อาตมาก็นิ่งคอยฟัง หลวงพ่อเดิมได้เผยธรรมะในรอยเท้าของท่านอย่างแจ่มแจ้ง ซึ่งอาตมาเชื่อแน่ว่าผู้ที่มีรอยเท้าของท่านคงไม่มีโอกาสรู้ เพราะมัวแต่ไปคิดว่ามหาอุด คงกระพัน กันลูกปืนเสียเป็นส่วนใหญ่ หลวงพ่อเดิมท่านว่าอย่างนี้
“รอยเท้าของฉันเหยียบไว้เป็นที่ระลึกว่า ฉันคือหลวงพ่อเดิม ที่ในหลวงท่านพระราชทานสมณศักดิ์ให้เป็นพระครูนิวาสธรรมขันธ์ หมายถึงว่า เป็นที่ตั้งแห่งธรรมทั้งปวง ฉันปฏิบัติในกรอบแห่งความดี ฉันไม่เบียดเบียน ฉันสร้างความเจริญในถิ่นกันดาร ฉันทำดีเพื่อให้พระศาสนารุ่งเรือง เมื่อได้รอยเท้าของฉันไปแล้วก็จงระลึกว่า หลวงพ่อเดิมท่านทำดี เราควรทำความดีเจริญรอยตามรอยเท้าของท่านไปเป็นคนดี คิดดี ทำดี อยู่แต่ในศีลธรรมอันดีงาม นั่นแหละรอยเท้าของฉันจึงจะขลัง ไม่ใช่เอาไปโพกหัวแล้วยิงไม่ออก แต่ไม่เคยมีใครถามฉันสักราย เห็นแต่เอารอยเท้าไปติดตัวแล้วหายเงียบไป”
อาตมาได้ฟังจบลงแล้วน้ำตาคลอ มันซาบซึ้งใจจริง ๆ ตั้งแต่บวชมาจนคิดจะสึกก็เพิ่งพบหลวงพ่อเดิมนี่แหละที่ท่านมีปรัชญาอันซาบซึ้งใจของอาตมา อาตมากล้าพูดได้ว่า หกเดือนที่อยู่วัดหนองโพ ทำให้อาตมาเป็นพระเต็มตัว ความคิดสึกหมดไป เพราะเห็นแล้วว่าพระที่ดีอย่างหลวงพ่อยังมี พระที่ไม่ดีที่เราเคยเห็นมานั้นเทียบกับท่านไม่ได้ เหมือนเพชรกับแก้วที่ไม่อาจมาเคียงคู่กันได้เลย (โปรดติดตามในตอนต่อไปครับ)

กระผมขอกราบอาราธนาพระบารมี แห่งคุณพระศรีรัตนตรัย และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ตลอดจนพระบารมีของครูบาอาจารย์ที่เคารพทุกๆท่าน โปรดอภิบาลรักษา ให้ท่านทั้งหลายโชคดีมีความสุข และ ปราศจากอันตรายจากภัยพิบัติทั้งปวง ขอให้มีความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรม สามารถน้อมนำจิตเข้าสู่ พระวิปัสสนาญาณทั้ง ๙ จนได้เข้าถึงที่สุดแห่งทุกข์ คือพระนิพพาน สมความปรารถนาของทุกๆท่านด้วยเทอญ …

ขอบคุณข้อมูล : http://www.bds53.com/index.php?name=history&file=readknowledge&id=185

. . . . . . .