หนังสือแนวคำสอนสมเด็จโต สมาธิ ทางสงบ ถอดจิต

หนังสือแนวคำสอนสมเด็จโต สมาธิ ทางสงบ ถอดจิต

ทรงพระเจริญ

พระราชดำรัสคุณธรรมสี่ประการ
” การรักษาอิสรภาพและความเป็นไทยให้ดำรงมั่นคงยืนยาวไป ถือว่าเป็นกรณียกิจอันสำคัญสูงสุด นอกจากต้องอาศัยการบริหารประเทศที่ฉลาดสามารถ และสุจริตเป็นธรรมแล้ว ยังต้องอาศัยความร่วมมือสนับสนุนจากประชาชนทั้งประเทศด้วย คือประชาชนแต่ละคนจะต้องขวนขวายสร้างสรรค์ประโยชน์ และดำรงอยู่ในคุณธรรมอันสมควรแก่ฐานะของตน คุณธรรมที่ทุกคนควรจะศึกษาและน้อมนำมาปฏิบัติมีอยู่สี่ประการ

ประการแรก คือการรักษาความสัจ ความจริงใจต่อตัวเอง ที่จะประพฤติปฏิบัติ แต่สิ่งที่เป็นประโยชน์และเป็นธรรม
ประการที่สอง คือการรู้จักข่มใจตนเอง ฝึกใจตนเองให้ประพฤติปฏิบัติอยู่ในความสัจ ความดีนั้น
ประการที่สาม คือการอดทน อดกลั้น และอดออมที่จะไม่ประพฤติล่วงความสัจสุจริต ไม่ว่าจะด้วยเหตุประการใด
ประการที่สี่ คือการรู้จักละวางความชั่ว ความทุจริตและรู้จักสละประโยชน์ส่วนน้อยของตน เพื่อประโยชน์ส่วนใหญ่ของบ้านเมือง

คุณธรรมสี่ประการนี้ ถ้าแต่ละคนพยายามปลูกฝังและบำรุงให้เจริญงอกงามขึ้นโดยทั่วกันแล้ว จะช่วยให้ประเทศชาติบังเกิดความสุข ความร่มเย็น และมีโอกาสที่จะปรับปรุงพัฒนาให้มั่นคงก้าวหน้าต่อไปดังประสงค์ ”

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในพระราชพิธีบวงสรวงสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า งานเฉลิมสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบรอบ 200 ปี ณ พลับพลาพิธีท้องสนามหลวง วันจันทร์ที่ 5 เมษายน พุทธศักราช 2525

ถวายกุศล

หนังสือเล่มนี้ ผู้เขียน เขียนขึ้นมาจากประสบการณ์ของการอ่าน เรียน ฟังรู้และปฏิบัติและเก็บประสบการณ์จากการอบรมสั่งสอนตามแนวคำสอนของครูอุปัชฌาย์อาจารย์ทุกๆพระองค์ ทุกๆท่าน ท่านที่ได้กรุณาถ่ายทอดแก่ผู้เขียน

ส่วนใดที่เป็นความดีที่เป็นกุศล ผู้เขียนขอถวายแด่ครู อุปัชฌาย์ อาจารย์ทุกๆพระองค์ ทุกๆท่าน

ส่วนใดที่มีผิดตกบกพร่องล้วนอาจเกิดขึ้น เพราะผู้เขียนเรียนแล้วไม่จำ หรือยังรู้ไม่ถ่องแท้จากบทเรียนผู้เขียนขอน้อมรับความผิดแต่ผู้เดียว และขอขอบคุณคณะผู้ร่วมจัดพิมพ์ ฝ่ายโรงพิมพ์ ฝ่ายเผยแพร่ และคณะฝ่ายวิชาการทุกท่าน ณ โอกาสนี้ด้วย

กุศลจากการเผยแพร่ หนังสือนี้ ขออุทิศ แด่ผู้ให้กำเนิด ผู้เลี้ยงดูมา ผู้อุปถัมภ์ตลอดจนเจ้ากรรมนายเวรทุกท่านด้วยเทอญ ฯ

แสง อรุณกุศล

บทนำ

ทุกวันนี้ มนุษย์เราเกือบจะเรียกได้ว่า อยู่ในยุคแห่งกลียุคอย่างแท้จริง จะเห็นได้จากภาวะสังคมที่วุ่นวายยิ่งขึ้นทุกๆวัน บรรยากาศในสังคมโลกมนุษย์จึงทวีความตึงเครียดยิ่งขึ้น โดยเฉพาะคนที่อยู่ในป่าคอนกรีตกำลังถูกบรรยากาศดังกล่าวบีบรัดให้เสียสุขภาพทางจิตอย่างใหญ่หลวง

คณะผู้จัดทำได้เล็งเห็นความสำคัญในอันที่จะต้องช่วยกันแก้ไขภาวะอันเลวร้ายนี้ให้ดีขึ้นด้วยการหาวิธีการอย่างง่ายๆ เพื่อแนะนำทางปฏิบัติให้จิตสงบ รักษาผ่อนคลายความตึงเครียดของจิตและเป็นจุดแห่งการฝึกจิตให้เกิดสมาธิ ก่อเกิดปัญญา ก่อเกิดพลังภายในกายช่วยเสริมสร้างซ่อมแซมให้ผู้ปฏิบัติมีร่างกายแข็งแรง มีพลานามัยสุขสมบูรณ์สืบต่อไป

ในขณะเดียวกัน ผู้หวังการฝึกสมาธิสูงขึ้นก็จะได้ศึกษาเรื่องการถอดจิตอีกเรื่องหนึ่งเพื่อจะได้เข้าใจเรื่องการพิจารณา กายในกาย จิตในจิต วิญญาณในวิญญาณ ให้รู้ซึ้งเข้าใจมากขึ้น อันจะมีผลต่อเนื่อง เข้าใจเรื่องกฎแห่งกรรม วัฏฏะสงสาร วิญญาณมีจริงหรือไม่

สุดท้าย ศึกษาเรื่องผลพลอยได้จากการฝึกสมาธิด้วย อันจะเป็นการเพิ่มพูนความรู้อีกแนวหนึ่ง ซึ่งท่านสามารถพิสูจน์ได้ด้วยการทดลองปฏิบัติ

หนังสือนี้ไม่ใช้เป็นเพียงทฤษฎี แต่เป็นหนังสือภาคปฏิบัติที่ทุกคนสามารถปฏิบัติได้ดีด้วยตนเอง โดยปราศจากอันตราย เพราะเขียนด้วยภาษาง่ายๆเป็นไปตามขั้นตอนของการปฏิบัติตลอดเล่ม จึงหวังว่า หนังสือนี้จะช่วยให้ท่านฝึกจิตให้สงบได้อย่างแท้จริง

หลักการอ่านหนังสือเล่มนี้

ขอให้อ่านตลอดตามลำดับให้จบเล่มเที่ยวหนึ่งก่อนแล้วจึงอ่านอีกเที่ยวจนเข้าใจความหมายของแต่ละขั้นตอนเพื่อเป็นแผนที่ประกอบการเดินทาง ให้รู้ว่าที่ใดมีหลุมมีบ่ออันอาจจะทำให้เกิดอันตรายได้ แล้วปฏิบัติตามลำดับ ไม่กระโดดข้ามขั้นตอน ก็จะได้ปฏิบัติดำเนินไปด้วยดี

ตักเตือนตน

ตนเตือนตน ของตนให้พ้นผิด

ตนเตือนจิตตนได้ ใครจะเหมือน

ตนเตือนตนไม่ได้ ใครจะเตือน

ตนแชเชือน เตือนตนให้พ้นภัย

สลัดความชั่วได้ เป็นผล

ประกอบชอบแก่ตน แน่วไว้

ใจบริสุทธิ์ปราศมูล ทินโทษ

ดังฟอกผ้าขาวให้ เพื่อย้อม สีสวย

(ของเก่า)

จากสุภาษิตและคำพังเพยของไทย

หน้า1

หยุดพิจารณา

ด่วนตัดสินใจ โง่เขลาเบาปัญญา

ไม่เอาอะไรเสียเลย เกิดมาไร้ค่า

…………………………………………

เชื่อมั่นตัวเองมากเกินไปเกิดอัตรายึดมั่นถือตน

จะมองไม่เห็นความคิดเห็นคนอื่น

ทำให้เกิดช่องว่างได้ง่าย

…………………………………………..

ศรัทธาแก่กล้าจัดเกินไปโดยไม่ใช้สติปัญญาพิจารณา

จะลุ่มหลงเชื่ออย่างงมงายไร้เหตุผล ทำให้เสียการได้

………………………………………….

ขอเชิญท่านหยุดพิจารณากับเรา แล้วเดินไปสู่

“ทางสงบ ”

หน้า2

ท่านเครียดมาทั้งวัน มาพักผ่อนกับทางสงบสักวันละ 10 นาที

พิจารณาก่อนนอน

ก่อนหลับ ก่อนนอน ให้กราบบนหมอน 5ครั้ง

ด้วยกราบระลึกถึง พระพุทธ 1 พระธรรม 1

พระสงฆ์ 1 บิดามารดา 1 ครูอุปัชฌาย์อาจารย์และผู้มี

พระคุณทุกๆท่าน 1

แล้วรวมจิตนั่งสงบครู่หนึ่ง นึกพิจารณาทบทวน

ย้อนหลังตั้งแต่เช้าถึงก่อนนอนว่า ท่านทำผิดศีลข้อไหน

บ้าง และบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมหรือยัง

ขอให้ท่านพิจารณาทบทวนแล้วปรับปรุงตนเอง

สู่ทางดีสมกับที่เขาเรียกมนุษย์ว่า “ สัตว์ประเสริฐ ”

หน้า3

ภาคโลกียวิสัย

เพื่อฆราวาส สามัญชน ที่ยังอยู่ในโลกียะ

และเป็นพื้นฐานของการฝึกจิตให้สูงขึ้น

วิธีฝึกสมาธินี้เป็นวิธีง่ายๆ ที่ไม่เร้นลับซับซ้อน

เป็นวิธีที่เหมาะกับทุกเพศ ทุกวัย

ช่วยรักษาให้ร่างกาย และจิตใจมีสุขภาพพลานามัยดี

เพียงแต่ท่าน

“ ศรัทธาเชื่อมั่น จริงใจ หมั่นฝึกฝนตน ”

การฝึกสมาธินี้ได้ประโยชน์ทั้งการพัฒนาร่างกาย

และพัฒนาจิตใจดังต่อไปนี้

หน้า4

ประโยชน์จากสมาธิเพื่อพัฒนาร่างกาย

โครงสร้างอวัยวะส่วนต่างๆของร่างกายคนเรานั้น พอจะแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ๆ คือเส้นประสาท กล้ามเนื้อ และกระดูก

อวัยวะเหล่านี้แบ่งวงจรการทำงานหลักๆ ดังนี้

1. การหายใจและการย่อยอาหาร เพื่อดูดซึมไป หล่อเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกาย

2.การโคจรหมุนเวียนของมวลสาร ที่ถูกดูดซึม เข้าไปในร่างกาย

3.การขับถ่ายของเสียที่ร่างกายไม่ต้องการออกไป

การทำงานของร่างกายเรานั้น ไม่ว่าจะคิดคำนึงหรือเคลื่อนไหวก็ต้องสิ้นเปลืองอาหารที่กินเข้าไปและเผาผลาญอากาศดี คือออกซิเจนให้เกิดพลังงาน

การที่เราต้องกินอาหารเพื่อย่อย และดูดซึมไปหล่อเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกายนั้น แม้เราไม่กินอาหารหลายวันหรืออดน้ำเป็นวัน เรายังมีชีวิตอยู่ได้

หน้า5

แต่ถ้าเราอดกลั้นไม่หายใจ ไม่ถึง10 นาที เราก็ต้องตาย

คนเรานั้น ตั้งแต่เกิดมาร้องอุแว้ๆ ก็ต้องการลมหายใจ จะเห็นได้ว่าคนเราเมื่อเริ่มมีชีวิตตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาจนคลอดออกมา ก็ต้องการอากาศหล่อเลี้ยง ร่างกาย แสดงว่ามนุษย์ สัตว์หรือสิ่งมีชีวิตตราบเท่าที่ยังมีชีวิตอยู่ก็จำเป็นต้องการลมหายใจ ถ้าขาดลมหายใจก็ไม่มีชีวิตอยู่ แม้ลมหายใจเข้าไปหล่อเลี้ยงร่างกายไม่เพียงพอ ร่างกายของคน สัตว์และพืช ก็จะเกิดอาการเจ็บป่วยหรือไม่เจริญเติบโตตามปรกติ

ดังนั้น ลมหายใจจึงมีความสำคัญ มีค่ามหาศาลเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสิ่งมีชีวิตอย่างยิ่ง ถ้าเราฝึกให้ร่างกายเรามีการหายใจดูด อากาศดีเข้าไปหล่อเลี้ยง ร่างกายอย่างเต็มที่สมบูรณ์ และฝึกหัดให้อวัยวะภายในมีการบีบรัดผลักดันให้เลือดที่ตกค้างอยู่ในส่วนต่างๆให้มีการหมุนเวียนดีขึ้น ก็จะผลักดันถ่ายเทอากาศเสียออกมามากด้วย การหายใจนี้ก็จะได้ใช้เป็นประโยชน์ในการฝึกสมาธิต่อไป

หน้า6

ประโยชน์จากสมาธิเพื่อพัฒนาร่างกายมีมากมาย เช่น

1. คลายความตึงเครียดของประสาท

การฝึกสมาธิเป็นการฝึกให้จิตใจสงบระงับจากความวิตก กังวล ทำจิตใจให้เป็นหนึ่ง ตั้งมั่นมีสติไม่คิดฟุ้งซาน จิตใจละจากความพยาบาทอาฆาตมาดร้าย เมื่อนั้น ร่างกายเราก็จะแข็งแรงไม่เจ็บป่วย

สมองและประสาทส่วนต่างๆก็ได้รับการพักผ่อน จากความสงบนั้น คลายความตึงเครียดจากการที่ต้องทำ งานหนักอยู่ตลอดเวลา หัวใจก็ไม่ต้องสูบฉีดโลหิตมาก เป็นการให้โอกาสแก่อวัยวะที่สำคัญเหล่า นี้ได้พักฟื้นบ้างและยืดอายุการทำงานต่อไปได้นาน ไม่เสื่อมสลายก่อนอายุขัยของการเป็นคนที่เกิดมาใช้กรรม ทำให้ไม่เป็นโรคปวดหัวข้างเดียว มึนศีรษะ โรคประสาท โรคนอน

ไม่หลับ โรคหืดหอบ โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูงโรคกระเพาะอาหาร โรคปวดท้องเพราะประสาทเครียดโรคท้องผูก เป็นต้น

หน้า7

2. มีสติสัมปชัญญะ คือเมื่อฝึกสมาธิแล้ว จะทำให้มีอารมณ์ เยือกเย็นสุขุม มีสติกำกับให้รู้สึกตัวอยู่ตลอดเวลา การปฏิบัติงาน มีความรับผิดชอบต่อการงานสูง สามารถแก้ปัญหาการงานและปัญหาชีวิตได้อย่างถูกวิธี เป็นการป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาดเสียหายต่องาน จึงทำให้เป็นคนที่มีประสิทธิภาพในการทำงาน

ขณะเดียวกัน ไม่เป็นคนเผอเรอ เหม่อลอย สติเลื่อนไหลไม่อยู่กับตัว เป็นการพัฒนาบุคลิกภาพของคนให้มีจิตใจสบาย สงบ เป็นปรกติสุข หน้าตาผ่องใส มีความสง่างาม น่าคบหาสมาคม

3.มีจิตใจที่เข้มแข็งหนักแน่นไม่ลังเลสงสัย

คือ สามารถสงบจากความคิดที่ฟุ้งซ่านด้วยความคิดที่เป็นหนึ่งที่จะวิเคราะห์พิจารณาความเหมาะสมของงาน ทำให้มีเป้าหมายที่แน่นอนจึงเกิดความมุ่งมั่นเพียรพยายามที่จะทำงานให้สำเร็จอย่างแน่วแน่ ด้วยความว่องไว กระฉับกระเฉง และเมื่อพบปะปัญหาเฉพาะหน้า ก็สามารถมีสติยั้งคิดด้วยอาการที่ไม่ตื่นตระหนกตกใจ จึงทำให้สามารถแก้ไขเหตุการณ์คับขันจากร้ายให้เป็นดีได้

หน้า8

ประโยชน์ของสมาธิเพื่อพัฒนาจิตใจ

การเกิดเป็นคนนั้นเป็น “ ทุกข์ ” ความทุกข์เกิดขึ้น โดยไม่เว้นกับคนรวยหรือคนจน คนมียศฐาบรรดาศักดิ์ หรือชนชั้นกรรมาชีพ ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องหา “ ทางสงบ ” มาเป็นโอสถระงับและรักษาตนให้พ้น “ ทุกข์ ”

“ ความทุกข์ ” เกิดขึ้นเพราะคนเราไม่มีคำว่า “ พอ ” อันการพอนั้นจะเกิดขึ้นต่อเมื่อคนๆ นั้นรู้จักวางตัวไว้ในทาง “ สายกลาง ” แต่จิตใจคนเรานั้นส่วนมากจะเต็มไปด้วยความยึดถืออย่างตาบอด ในความทะยาน อยากได้อย่างเห็นแก่ตัว จึงยากที่จะเกิดคำว่า “ พอ ”

คำว่า “ พอ ”จะเกิดขึ้นต่อเมื่อคนเรารู้จัก “ หยุด ” ท่านจะค้นพบสัจจะแห่งความจริง รู้จักควบคุมอารมณ์ ขัดเกลาความคิดให้ใสสะอาด ไม่ให้อิจฉาริษยา พยาบาท และอยากได้ของคนอื่น ความโลภ ความโกรธ ความหลง ย่อมลดละค่อยๆ เบาบาง ท่านย่อมมีความสุขบนรากฐานของการที่รู้จัก “ พอกิน พอใช้ พออยู่ ”

หน้า9

แต่การหยุดของคนเรานั้นยากมาก นอกเสียจากท่านได้ควบคุมจิตให้สงบระงับไม่กระวนกระวาย จิตเป็นสมาธิ ท่านจึงจะมีการ “ หยุด ” แล้วท่านก็จะพบ “ ทางสงบ ” ส่งผลให้ท่านเกิดปัญญาสังวรเห็น เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เป็นการลดละกิเลส และค้ำจุนเพื่อนมนุษยชาติด้วยกัน

โลกทุกวันนี้ถ้าทุกคนมีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขาแล้ว ย่อมสามารถควบคุมอารมณ์แห่งโลภ โกรธ หลง ได้อย่างแน่นอน

สังคมปัจจุบันเราสามารถแบ่งได้เป็นสองสาย

สายหนึ่ง โลกียะ มีตัวโกรธเป็นกิเลสที่ร้ายที่สุด ถ้าท่านเผลอสติเมื่อใด โกรธง่าย โมโหร้ายมาก เท่าใดแล้ว ท่านยิ่งจะมีโอกาสเป็นพวกของปิศาจ ซึ่งเป็นฝ่ายอธรรมมากขึ้น และยิ่งเดินเข้าใกล้ปากเหวที่จะตกสู่ห้วงนรกอันมืดมนไร้สติที่มองเห็นธรรมแห่งการทำความดีหรือยับยั้งใจในการกระทำความชั่ว ตัวโกรธก็จะบันดาลให้ก่อกรรมชั่วได้นานาประการ สายนี้จึง

หน้า10

จำเป็นต้องการการฝึกสมาธิให้มีสติรู้สึกตัวอยู่เสมอ ที่จะควบคุมอารมณ์โกรธไม่ให้เกิดขึ้น

สายสอง โลกุตระ มีตัวหลงเป็นกิเลสที่สำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลงยึดในภพ ในชาติสกุล ลาภ ยศ ติฉินนินทา สรรเสริญ พยาบาท กามฉันทะ และในการตัดกิเลสนี้ก็ต้องมีสมาธิเป็นพื้นฐานเช่นกัน คือเมื่อจิตพบทางสงบแล้ว จึงใช้ช่วงเวลาสงบ ซึ่งเปรียบเสมือนกิเลสที่เป็นคลื่นลมในทะเลแห่ง ความคิดของเรานั้นนิ่งสงบไปชั่วขณะหนึ่งจะเกิดภาวะผิวน้ำทะเลนิ่งเรียบเงียบสงบคล้ายแผ่นกระจกเงาพร้อมที่จะสะท้อนความจริงแห่งสัจจะ ได้ ก็จะใช้บทปลงอสุภะปลงสังขารจนรู้แจ้งเห็นจริงตามกฎแห่งอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา และทุกข์ของการเกิด แก่ เจ็บ ตาย เห็นภัยแห่งวัฎฏะสงสาร เมื่อนั้น ท่านก็จะเดินทางสู่มรรคผล นิพพาน

ทั้งโลกียะ และโลกุตระนั้น มาดแม้นผู้ใดเคยลิ้มรสทางสงบแล้ว ท่านจะพบว่าแม้เงินล้านก็จะหาซื้อทางสงบไม่ได้ เพราะทางสงบคือความสุขสุดยอดที่ต้องปฏิบัติด้วยการควบคุมจิต ให้เป็นสมาธิจึงจะได้ประสบ

หน้า11

ด้วยตนเอง และทางสงบเท่านั้น ที่จะช่วยยกระดับจิตของท่านให้สูงขึ้นพ้นจากการเกาะกินของตัว โลภ โกรธ หลง และเป็นการซ่อมสร้างให้ร่างกายมีสุขภาพแข็งแรงด้วย

ดังนั้น จึงขอเชิญท่านที่มุ่งหาความสุขอันแท้จริง เดินทางไปกับเราไปสู่ทางสงบ ณ บัดนี้

วิธีที่จะปฏิบัติต่อไปนี้ เป็นวิธีที่ง่ายที่สุดซึ่งท่านเพียงแต่อ่านหนังสือออก และปฏิบัติตามก็จะได้ผลแน่นอน

ซึ่งไม่มีอันตรายหรือผลร้ายกับผู้ปฏิบัติแต่อย่างไร

หน้า12

คำบูชาพระรัตนตรัย

ก่อนการปฏิบัติกรรมฐาน

พุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา ปฏิปัตติบูชายะ

อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ ภะคะวา

พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นพระอรหันต์ บริสุทธิ์หมดจดจากกิเลสเครื่องเศร้าหมองทั้งหลาย ได้ตรัสรู้ถูกถ้วนดีแล้ว

อิเมหิ สักกาเรหิ ตัง ภะคะวันตัง อะภิปูชะยามิ ข้าพเจ้าขอบูชา ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ด้วยเครื่องสักการะเหล่านี้

(กราบหนึ่งครั้ง)

สวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม

พระธรรมคือศาสนา อันพระผู้มีพระภาคเจ้าแสดงไว้ดีแล้ว

อิเมหิ สักกาเรหิ ตัง ธัมมังอะภิปูชะยามิ

หน้า13

ข้าพเจ้าขอบูชา ซึ่งพระธรรมเจ้านั้นด้วยเครื่องสักการะเหล่านี้

(กราบหนึ่งครั้ง)

สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ

หมู่พระสงฆ์ผู้เชื่อฟังคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าปฏิบัติดีแล้ว

อิเมหิ สักกาเรหิ ตัง สังฆัง อะภิปูชะยามิ ข้าพเจ้าขอบูชา ซึ่งหมู่
พระสงฆ์เจ้านั้นด้วยเครื่องสักการะเหล่านี้

(กราบหนึ่งครั้ง)

นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ

นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ

นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ

หน้า14

ศีลเบื้องต้นที่ต้องจดจำ

กายกรรม 3 คือ

1. ห้ามฆ่าคนหรือสัตว์ด้วยมือของตนเอง หรือสั่งคนอื่นฆ่า

2. ห้ามทำการลักทรัพย์ด้วยมือของตนเอง หรือ สั่งคนอื่นลักทรัพย์แทนตน

3. ห้ามทำชู้ด้วยคู่เมียคู่ผัวเขา

วจีกรรม 4 คือ

1. ห้ามกล่าวคำเท็จ

2.ห้ามกล่าวคำเพ้อเจ้อ

3.ห้ามกล่าวคำนินทา

4.ห้ามกล่าวคำหยาบช้า

มโนกรรม 3 คือ

1.ห้ามมีจิตอิจฉาริษยาเมื่อเห็นผู้อื่นได้ดีกว่าตน

2.ห้ามมีใจพยาบาท อาฆาต เบียดเบียน ผู้อื่น

3.ห้ามเห็นคนอื่นเป็นคนไม่ดีทั้งหมด

หน้า15

( กรรมทั้ง10 อย่างนี้ คือศีลเบื้องต้นอันเป็นข้อเตือนสติไม่ให้กระทำในสิ่งที่ไม่ดีทั้งหลายทั้งกาย วาจา และใจควรแก่การสังวรของมนุษย์ชาติทุกขณะจิตผู้มีศีลหรือรับศีลแล้ว ต้องไม่พยายามละเมิดและเมื่อทำผิดศีลแล้วจะต้องรู้จักสำนึกผิด เกิดความละอายเกรงกลัวต่อบาป มีความอดทนเพียรพยายามที่จะใช้สติพิจารณารู้เท่าทันกิเลส ไม่ให้กระทำกรรมชั่วร้ายเหล่านี้ และไม่คอยจับผิดผู้อื่น เพื่อเป็นการชำระล้างให้มนุษย์ผู้นั้นสะอาดและบริสุทธิ์ทั้งกาย วาจา และใจ ปราศจากมลทินอันเป็นอุปสรรคกีดขวางกั้นจิต ในการเจริญสมาธิเพื่อยกระดับจิตให้สูงขึ้น

เนื่องจาก การสำรวมในศีล คือการสำรวมกาย วาจา ใจ ให้งดเว้นจากการคึกคะนอง คิดฟุ้งซ่าน และจิตใจว้าวุ่น จึงเกิดความสงบเป็นพื้นฐานเบื้องต้นดังที่ว่า

“ ศีลที่บุคคลรักษาดีแล้ว ย่อมเป็นรากฐานที่ดีของการปฏิบัติสมาธิ ” )

หมายเหตุ ในวงเล็บไม่ต้องสวด

หน้า16

คำขอขมาโทษต่อพระรัตนตรัย

กายกรรม 3 วจีกรรม 4 มโนกรรม 3 กรรมทั้ง 10 อย่างนี้

กรรมอันหนึ่งอันใดที่ข้าพเจ้าอาจจะได้มีความสบประมาทพลาดพลั้ง ต่อหน้าก็ดี ลับหลังก็ดี ต่อพระรัตนตรัย ทั้ง กาย วาจา และใจ

ขอพระรัตนตรัยจงอโหสิกรรมนั้นให้แก่ข้าพเจ้าด้วยเทอญฯ

พุทธัง วันทามิ ภันเต (กราบ)

ธัมมัง วันทามิ ภันเต (กราบ)

สังฆัง วันทามิ ภันเต (กราบ)

พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ

ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ

สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ

ทุติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ

ทุติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ

ทุติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ

หน้า17

ตะติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ

ตะติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ

ตะติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ

อุกาสะ อุกาสะ ข้าพเจ้าจะขอถือสัตย์รับศีลต่อองค์พระโพธิญาณ จะขอรับเอาพระสมาธิมาเป็นธงชัย จะระลึกถึงพระพายมาเป็นอารมณ์ กายอย่างหนึ่ง วาจาอย่างหนึ่ง มโนอย่างหนึ่ง จะไม่ให้เป็นกรรมแก่สัตว์และมนุษย์ทั้งหลาย ด้วยข้าพเจ้าจะไม่นิยมไปด้วยมูตรและคูถ สัมผัสถูกต้องรูปเสียงกลิ่นรสโภชนาหาร น้ำฉันและน้ำใช้ พระให้พิจารณาเป็นของปฏิกูล
เปื่อยเน่าไปทั้งสิ้น เครื่องไม่จีรังนี้ เป็นของพระยามัจจุราชที่ได้หล่อหลอมรูปนี้มาตั้งแต่อเนกชาติ รูปนี้แตกดับไป จะขอวางซากอสุภะนี้ไว้เหนือพื้นพระปฐพี ส่วนนามธรรมของพระนี้ ขอให้แม่พระธรณีจงมาช่วยแบกหามอุดหนุนค้ำจุนข้ามส่งองค์พระพาย จะเสด็จเข้าไปในโลกใหญ่ ขอให้เป็นสุขอยู่ในห้องพระนิพพาน นิพพานะปัจจะโยโหตุ

หน้า18

บทแผ่เมตตา

หมู่สัตว์ทั่วทั้ง พรหมโลก เทวโลก มนุษย์โลก นรกโลก และทั่วทุกอบายภูมิทุกรูปทุกนามจงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้มีเวรซึ่งกันและกันเลย

ขอให้ทุกรูปทุกนามจงมีแต่ความ สุขกาย สุขใจ อย่าได้มีความทุกข์กายทุกข์ใจเลย

ขอให้ทุกรูปทุกนามจงมีแต่ความสบายกาย สบายใจ รักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยพิบัติทั้งหลายนั้นเทอญฯ

(ขอให้ภาวนาสม่ำเสมอ ทุกโอกาสที่อำนวย จนฝั่งแน่นติดใจประทับอยู่ในความทรงจำเกิดความเคยชินจนเป็นนิสัย ฝึกจนรู้สึกว่า แม้ไม่ได้ภาวนา ใจก็ยังแผ่เมตตาอยู่ จะทำให้ท่านพ้นจากจิตใจพยาบาทอาฆาต มีแต่นิสัยที่อ่อนโยน มีจิตใจโอบอ้อมอารี มีใจกว้าง ไม่เห็นแก่ตัว ไปไหนก็จะมีแต่คนเอ็นดูและเมตตา ทั้งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็ปราณีช่วยคุ้มครองภัยด้วย)

หน้า20

มอบตัวเป็นศิษย์

ท่านที่สนใจในการเรียนกรรมฐานนั้น ควรที่จะมอบตัวเป็นศิษย์แด่ครูอาจารย์ผู้อบรม ในการมอบตัวนี้ไม่ต้องการอามิสบูชา คือลาภสักการะแม้แต่ ดอกไม้ ธูป เทียน และสิ่งของทั้งปวง ขอเพียงแต่ท่านตั้งจิตแน่วแน่ด้วยใจจริง ที่มีศรัทธาต่อแนวทางตามหนังสือนี้

(ตั้งใจให้ดี) ระลึกถึงสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) พรหมรังสี

พนมมือสวดมนต์ไหว้พระก่อนแล้ว น้อมนำ จิตใจกล่าวเป็นวาจาต่อหน้าพระพุทธรูปดังนี้

“ พนมนิ้วต่างธูปเทียนเหนือเศียรนี้

น้อมศีรษะอัญชุลีแทนบัวขาว

ใต้แสงธรรมล้ำพิสุทธิ์ผุดผ่องพราว

ประนมกรจรดเกล้าภาวนา

ขอถวายกายใจไว้เป็นศิษย์

ยึดพระพุทธด้วยจิตศรัทธากล้า

หน้า21

ยึดพระธรรมคำสอนชี้มรรคา

ปฏิปทาพระสงฆ์ผู้ส่งทาง

ขอให้ครูอบรมบ่มนิสัย

นำศิษย์ให้รู้คิดทำจิตว่าง

ลดกิเลสภายในให้เบาบาง

ใจสว่างทางสงบพบนิพพาน ”

การมอบตัวนี้ มีประโยชน์ในการปฏิบัติจิตเรียนกรรมฐานคือ

1. เกิดความเชื่อมั่นตัวเองมากขึ้นที่มีครูอาจารย์เป็นที่พึ่งทางใจ และปราศจากความลังเลสงสัยในการเรียนกรรมฐาน

2. ลดความยึดมั่นถือตน เพื่อมิให้เป็นคนดื้อด้าน จะได้สงบกาย สงบใจ พร้อมที่จะรับคำบรรยายของครูอาจารย์ด้วยความเคารพยำเกรงเป็นการเพิ่มความศรัทธา

3. สายสัมพันธ์แห่งธรรมนี้ ครูอาจารย์ย่อมสงเคราะห์ให้ท่านแจ้งในอริยมรรคอริยผล ตามควรแก่อัธยาศัย และปกป้องคุ้มครองให้พ้นจากภัยอันตรายทั้งปวง

หน้า22

บทอธิษฐานก่อนปฏิบัติฝึกสมาธิ

ขอน้อมระลึกถึงพระคุณของสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) พรหมรังสี ( ด้วยคาถา ธัมมังอรณัง ) ผู้ประพันธ์พระคาถาอาราธนาบารมี คุณพระศรีรัตนตรัยบทนี้

พุทธังบังข้างซ้าย ธัมมังบังข้างขวา

สังฆังบังกายา อรหันต์บังเกศา

อะหังพุทโธ ธามะนะโม

พุทธายะ นะมะพะทะ

มะอะ อุ อุอะมะ

อะมะอะ สาธุฯ

ขอบารมีคุณพระศรีรัตนตรัย คุณบิดามารดา คุณครูอุปัชฌาย์อาจารย์และผู้มีพระคุณทุกท่าน เจ้าที่ เจ้าทาง เจ้าเขาเจ้าป่า เจ้าเรือน และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โปรดช่วยคุ้มครองให้ตัวข้าพเจ้าพ้นจากภัยพิบัติอันตรายทั้งปวง และโปรดส่งเสริมให้สติปัญญาของข้าพเจ้าเจริญยิ่งๆขึ้น

หน้า23

(แล้วแผ่เมตตาตามบทแผ่เมตตาหลังบทสวดมนต์)

(ระหว่างกล่าวคำอธิษฐานคาถาบทนี้ ขอให้จินตนาการ น้อมนำ จิตใจไปตามความหมายของบทคาถาคือ

ได้เห็น บารมีพระพุทธกำลังเข้าบังข้างซ้าย ของร่างกาย

บารมีพระธรรมกำลังเข้าบังข้างขวาของร่างกาย

บารมีพระสงฆ์กำลังครอบคลุมบังทั้งร่างกายตั้งแต่ศีรษะจรดทั่วทั้งร่างกายของเราลงมา

บารมีพระอรหันต์บังเกศาอยู่ที่ผมเรา

จากนั้นระลึกถึงพระพุทธเจ้า 5 พระองค์

ธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ บังหน้า บังหลัง)

คาถาบทนี้ ยังเหมาะกับการใช้ทุกวันก่อนออกจากบ้านก่อนเดินทาง และภาวนาไปจนเกิดความเคยชิน ก็จะฝังแน่นในใจ

หน้า24

บทแผ่เมตตาหลังจากฝึกปฏิบัติสมาธิจิตแล้ว

ในขณะจิต “ นิ่ง ” จิตใจของผู้ปฏิบัติจะไม่มีอคติจิตใจเกิดกุศล ดังนั้น หลังจากการปฏิบัติจิตแล้ว ควรกล่าวอธิษฐานดังนี้

“ ด้วยกุศลผลบุญ ที่ข้าพเจ้าได้ทำจิตสงบไปชั่วขณะหนึ่งนี้

ขอถวายกุศลนี้แด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ พระปัจเจกโพธิเจ้าทุกๆพระองค์ พระอรหันต์ทุกๆพระองค์ พระโพธิสัตว์ทุกๆพระองค์ เทพ พรหม ผู้สำเร็จทุกท่าน บิดามารดา ครูอุปัชฌาย์อาจารย์ ญาติมิตร เพื่อนสาราสัตว์น้อยใหญ่ เจ้ากรรมนายเวร

ขอบารมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสากลโลก จงช่วยปกป้องคุ้มครองมวลมนุษย์ทั้งโลกให้รอดพ้นจากภัยพิบัติทั้งหลาย ผลร้ายที่จะเกิดแก่ประเทศไทย จงกลายเป็นผลดี

และโปรดแผ่พลังจิต แผ่บารมี ช่วยให้ข้าพเจ้าเกิดปัญญาเห็นธรรมด้วยเทอญ ”

หน้า25

ข้อควรปฏิบัติก่อนปฏิบัติฝึกสมาธิ

ข้อความต่อไปนี้เป็นสิ่งสำคัญที่ท่าน ต้องจำและปฏิบัติในระหว่างการปฏิบัติเดินสู่ทางสงบ และจะชนะกิเลสเบื้องต้นด้วยความเพียร และความอดทน

1) ต้องนอนให้เพียงพอ คือร่างกายต้องได้รับการพักผ่อนพอสมควร แต่ไม่นอนมากเกินไป เมื่อตื่นแล้ว ไม่ควรนอนต่ออีกโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไม่ควรนอนกลางวัน เพราะการนอนมากจะทำให้เกิดอาการเคลิบเคลิ้มง่วงเหงาหาวนอนอยู่ตลอด ไม่มีเรี่ยวแรง

2) พยายามหาโอกาส อาบน้ำ หรือ เช็คตัวชำระร่างกาย เพื่อให้ร่างกายสะอาด จะช่วยเสริมให้จิตใจสดชื่น

3) หาเครื่องแต่งตัวและสถานที่ที่เหมาะสม ถ้าเป็นไปได้ควรหาเครื่องแต่งกายสีขาวที่ไม่คับแคบไว้

หน้า26

ใส่ในระหว่างปฏิบัติจิต เพื่อให้หายใจสะดวก เลือดลมเดินหมุนเวียนได้คล่อง

และหาสถานที่ที่เหมาะสมแก่การฝึกจิต คือเรียบง่าย เงียบ อากาศถ่ายเทสะดวก ร่มเย็นพอสมควร

สองประการนี้ เป็นการช่วยสนับสนุน ให้จิตใจสะอาดสบายตา สงบได้สมาธิเร็ว

4) ข้อควรระวังเกี่ยวกับการรับประทานอาหาร

4.1 หลังจากรับประทานอาหาร แล้วต้องรอให้ผ่านพ้นไปครึ่งชั่วโมง เป็นอย่างน้อยจึงจะนั่งสมาธิได้ มิฉะนั้นแล้วจะทำให้ท่านเป็นโรคกระเพาะอาหาร เพราะหลังจากรับประทานอาหารแล้ว เลือดจะนำธาตุไฟมารวมกลุ่มที่กระเพาะอาหาร มากขึ้นเพื่อย่อยอาหาร ในเวลาเดียวกัน ถ้าเราเข้านั่งฝึกสมาธิ เลือดจะถูกดึงขึ้นเลี้ยงสมองมากขึ้นทันทีที่เราใช้ความคิด จึงทำให้ทั้งกระเพาะอาหารขาดธาตุไฟย่อยอาหาร จะทำให้อาหารไม่ย่อยหรือย่อยได้ไม่ดี จึงเป็นโรคกระเพาะได้ง่าย

หน้า27

ขณะเดียวกัน สมองก็ขาดเลือดมาหล่อเลี้ยง จึงเกิดอาการง่วงเหงาหาวนอน นั่งไม่ได้สติ จิตไม่สงบ

4.2 ควรที่จะมีเวลา รับประทาน อาหารที่แน่นอน และรับประทานอาหารพอสมควร

บางท่านรับประทานอาหารเดี๋ยว 3 มื้อ เดี๋ยว 2 มื้อ เดี๋ยว 1 มื้อ จะเป็นโรคกระเพาะอาหารได้ง่าย ควรที่จะรับประทานเป็นที่แน่นอนว่า จะรับประทานวันละกี่มื้อและควรจะต้องรับประทานให้ตรงตามเวลาทุกวันด้วย โดยเฉพาะสมณเพศแล้วป่วยเป็นโรคกระเพาะอาหารมาก อาการหนักถึงขั้นเข้าโรงพยาบาลและเสียชีวิตได้

เพราะว่า ” เมื่อถึงเวลารับประทานอาหาร อวัยวะภายในก็จะทำการส่งน้ำย่อย น้ำดี และกรดในกระเพาะอาหารก็จะรวมตัวกันเพื่อย่อยอาหาร ถ้าไม่มีอาหาร น้ำย่อยน้ำกรดเหล่านั้น ก็จะย่อยเนื้อหนังของกระเพาะอาหารและลำไส้ถึงขั้นทะลุได้

อนึ่ง ควรที่จะรับประทานอาหารพอเหมาะ เพื่อให้ร่างกายโปร่งสบายเพราะถ้ามากไป ก็จะทำให้แน่นอึดอัด ง่วงนอน น้อยไปก็ทำให้หิวง่ายจิตใจฟุ้งซ่าน

หน้า28

4.3 สำหรับท่านที่มุ่งหวังโลกุตระควรที่จะงดเว้นหรือหลีกเลี่ยงอาหารบางประเภท

ควรงดเว้นอาหารรสจัดทั้งหลาย ที่จะกระตุ้นกามตัณหา จำพวกพริก ผักกุยช่าน และดอก (ไม้กวาด) กระเทียม หัวหอม และรับประทานอาหารเนื้อสัตว์ให้น้อยลง แต่ก็ควรจะรับประทานอาหารโปรตีนพวกถั่ว ถั่วเหลืองเพิ่มเติม ถ้าเป็นไปได้ ควรรับประทานอาหารมังสวิรัติก็จะดี

4.4 ควรงดเว้นสิ่งเสพติดและมึนเมา ตั้งแต่ยาเสพติดทั้งหลายจนเหล้า บุหรี่หมากพลู ยานัดถุ์ ตลอดจนชา กาแฟที่จะทำให้เกิดความรู้สึกว่า ขาดเสียมิได้เมื่อนึกอยากขึ้นมา เพราะจะทำให้เกิดความหงุดหงิดอารมณ์เสีย

5) ขอให้ท่านดื่มน้ำ 1 แก้ว ก่อนเวลาปฏิบัติจิตและหลังออกจากสมาธิอีก 1 แก้ว เพื่อเสริมให้ร่างกายสดชื่น น้ำนั้นควรที่จะเป็นน้ำอุ่นหรือน้ำสะอาดที่ไม่มีความเย็นด้วย เช่น ไม่ควรแช่เย็น หรือ ใส่น้ำแข็ง

หน้า29

6) รักษาความสนใจไว้ให้ดีด้วยการปฏิบัติจิตให้สม่ำเสมอทุกๆวัน และเป็นเวลาเดียวกันได้ยิ่งดี ต้องไม่มีการนัดกับใครทั้งก่อนและหลังเวลาที่จะฝึกปฏิบัติจิต เพราะจะทำให้เราเกิดความกังวล

7) ถ้าจิตรีบเร่ง ” อยาก ” ได้แล้วท่านจะไม่ได้ เพราะตัว “ อยาก “ คือกิเลสที่ทำให้ประสาทตื่นเต้นเครียด เป็นการบีบรัดให้ประสาท มึนชา ไม่ทำงานอย่างที่เราหวังได้

* ขอให้ท่านวางตัวเป็นกลางในการปฏิบัติ ด้วยการประคองความเพียรไม่ให้หย่อนเกินไป และไม่ตึงเกินไป เดินไปเรื่อยๆ ค่อยเป็นค่อยไปด้วยความอดทนไม่ท้อแท้

* ถ้านั่งแล้วรู้สึกเวียนหัว ด้วยสาเหตุใดก็ตาม มีอาการปวดเสียวหัวใจ หายใจเหนื่อย ปลายมือปลายเท้า เย็น ซีด มีเหงื่อเย็นๆ ซึมออกมานั้น คงจะมีเหตุจากการที่เลือดขึ้นไปหล่อเลี้ยงสมองน้อย อาจจะเป็นเหตุให้เป็นลมหมดสติได้

หน้า 30

ท่านไม่ต้องตกใจ ขอให้ค่อยๆถอนออกจากการฝึกสมาธิแล้วนอนราบกับพื้นทำใจให้สบาย ปล่อยให้เลือดเข้าไปหล่อเลี้ยงสมองสักครู่ นอนนานประมาณ 5 นาที ร่างกายก็จะหายเป็นปรกติ

8) วิธีการถอนออกจากการปฏิบัติจิตทุกครั้ง

ขอให้ค่อยๆ คลายออกจากสมาธิ ด้วยการหายใจตามปรกติช้าๆ 10 ครั้ง แล้วถอนหายใจลึกๆ ช้าๆ ตามแบบการฝึกลมปราณ (หน้า 79 ) สัก 10 ครั้ง ให้โล่งอก และตื่นจากภวังค์แล้วค่อยๆขยับร่างกายให้เคลื่อนไหวเล็กน้อย ถอนฝ่ามือที่ซ้อนกันอยู่นั้นออกแล้วมาวางบนหัวเข่า ลืมตาขึ้นเล็กน้อย มองลาดต่ำใกล้ตัวใช้ฝ่ามือทั้งสองข้างคลึง เบาๆ ช้าๆ ที่ตาสักครู่แล้วจึงลืมตาขึ้นเต็มที่ และถูฝ่ามืออีกครั้งจนร้อนแล้วนวดคลึงตั้งแต่ขมับ ท้ายทอยลงมาต้นคอ ไหล่ แขน หน้าอก หน้าท้อง เอว หลัง ต้นขา แล้วจึงค่อยๆยืดขาออกกระดิกปลายเท้าให้ยืดออกพักหนึ่งจนรู้สึกหายจากอาการชาแข็งกระด้าง

หน้า31

ปรับเช่นนี้ จนจิตใจและร่างกายคืนสู่สภาพปรกติ รับรู้สิ่งแวดล้อมเต็มที่แล้วจึงลุกขึ้นจากที่นั่ง

แม้จะมีคนรีบด่วนมาเรียก ก็ขอให้ท่านใจเย็นๆ ค่อยๆ ขานรับ ค่อยๆ คลายออกจากสมาธิเพื่อให้พ้นจากการสะดุ้งหวาดกลัว อันเป็นเหตุให้สะเทือนกายทิพย์

เมื่อถอนออกจากการปฏิบัติสมาธิแล้ว ไม่ให้รีบถอดเสื้อผึ่งลมหรือรีบไปล้างหน้าอาบน้ำ เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นหวัด เพราะขณะที่นั่งฝึกสมาธิจนจิตสงบธาตุทั้ง4 เสมออยู่นั้น ต่อมเหงื่อและรูขุมขนทั่วร่างกายจะเปิดกว้างกว่าปรกติเพื่อขับเหงื่อ เมื่อออกจากสมาธิแล้ว เช็คเหงื่อให้แห้งและรอจนกว่า ร่างกาย ปรับอุณหภูมิให้เสมอกับอากาศแวดล้อมก่อน จึงควรจะไปล้างหน้าอาบน้ำได้

9) เดินจงกรมหลังจากฝึกปฏิบัติสมาธิแล้วทุกครั้ง ขอให้ท่านเดินจงกรมอย่างน้อย 15 นาที เพื่อ

หน้า32

เป็นการบริหารร่างกายให้เลือดลมที่คั่ง ค้างตาม เอ็นตามข้อเดินสะดวกโดยเฉพาะอย่างยิ่งขาจะได้ไม่เสียสุขภาพด้วย

10) บูชาและน้อมระลึกถึงพระรัตนตรัย ตามบทสวดมนต์ข้างต้น
( หน้า 12 ) เพื่อส่งเสริมเกื้อกูลให้ผู้ปฏิบัติสมาธิเกิดความเลื่อมใสศรัทธาบารมีพระรัตนตรัยที่ภาวนาเป็นการสนับสนุนเสริมพื้นฐานของจิตไม่ให้หดหู่ เกิดความหนักแน่น กล้าหาญ เข้มแข็ง สงบ พร้อมที่จะเริ่มต้นฝึกปฏิบัติจิตต่อไป

และอธิษฐานตามบทก่อนปฏิบัติฝึกสมาธิ

หน้า33

คำเตือนขณะปฏิบัติสมาธิ

เพื่อไม่ให้ตกใจขณะปฏิบัติสมาธิ จะต้องพยายามควบคุมอารมณ์ไม่ให้ตกใจจนเกิดความกลัว ถ้าเกิดตกใจจากเหตุใดๆก็ตาม ห้ามลุกขึ้นจากที่นั่งอย่างเด็ดขาด

ถ้านั่งหลับตาอยู่พบเห็นเป็นนามธรรมคือ พวกวิญญาณแล้ว ให้ตั้งจิตถามไปว่าท่านเป็นใคร มาจากไหน ต้องการอะไร ถ้าวิญญาณนั้นมาดี ก็จะได้รับคำตอบ ถ้าวิญญาณนั้นมาร้ายคือมาเป็นมารผจญหรือว่าเป็นภาพอุปาทานที่ลวงตา หรือว่าเสียงอุปาทานที่ลวงหูจากความคิดจิตใต้สำนึก หรือว่านิมิตที่น่าหวาดกลัวตื่นเต้น ขอให้ท่านวางจิตใจให้นิ่งๆ ระลึกถึงพระรัตนตรัยครูบาอาจารย์ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทำใจดีสู้เสือ และอุทิศกุศลให้อโหสิกรรม แล้ววิญญาณหรือรูปเหล่านั้นก็จะหายไปในที่สุด

หน้า34

แต่ถ้าเป็นการตกใจเพราะเหตุอื่น เช่นเสียงดังหรือจิตใจตกภวังค์ สะดุ้งทำให้ตกใจ ให้ค่อยๆลืมตาขึ้น เมื่อพบว่าเหตุนั้นแม้จะถึงขั้นคอขาดบาดตายก็ต้องทำจิตใจให้สบายก่อนแล้วค่อยลุกจากที่ได้

การปรับจิตหลังภาวะตกใจ ในสภาวะที่จิตใจสงบอยู่ในสมาธิที่นิ่งนั้น ทะเลแห่งความนึกคิดของเรานั้น จะนิ่งเรียบเงียบสงัด ผิวน้ำเรียบเสมอตกอยู่ในภวังค์แห่งความว่างเปล่า

เพียงสะดุ้งหวาดกลัวจากเหตุใดก็ตาม เสียงดังที่แทรกขึ้นในท่ามกลางความเงียบนั้น จะทำให้ตกใจเหมือนใครเอาก้อนหินปาลงในน้ำอันนิ่งเงียบนั้น หินยิ่งก้อนใหญ่ เสียงยิ่งดัง ยิ่งจะทำให้ผิวน้ำแตกกระจายกระเซ็นแผ่ซ่านเป็นวงคลื่นออกเป็นระลอกๆ มากขึ้น จากศูนย์กลางที่หินปาลงไป และจะสงบลงอีกครั้งด้วยการปรับจิตให้สงบคืนสู่สภาพปรกติ ผิวน้ำทะเล แห่งความคิดของเราก็คืนสู่สภาพเรียบเงียบอีกครั้ง และเมื่อเราตกใจในระหว่างฝึกสมาธินั้น หัวใจจะเต้นแรงผิดปรกติ และปวดเสียวเป็นระยะๆ หน้าจะซีด นิ้วหัวแม่มือ

หน้า35

ที่จรดชนกันนั้น พอเกิดการตกใจก็จะถูกสลัดออก ขอให้กดจรดชนกันใหม่ และค่อยๆหลับตาลง ถอนหายใจลึกๆ ช้าๆ ประมาณ 5 ครั้ง แล้วเริ่มต้นตั้งจิตใจส่งไปที่กึ่งกลางระหว่างคิ้วใหม่ หายใจเข้าว่า “ พุท ” หายใจออกว่า “ โธ ”ปฏิบัติเช่นนี้อยู่ประมาณ 15 นาที หรือนานกว่านี้ จนหัวใจที่เต้นแรงผิดปรกตินั้นคืนเข้าสู่ภาวะปกติ ความกลัวก็หายไป แล้วจึงค่อยๆคลายออกจากการฝึกสมาธิได้

ภาวะตกใจ เรียกว่า กายทิพย์สะเทือน

ภาวะตกใจแล้วลุกขึ้นวิ่งหนีจากที่นั่ง เรียกว่า กายทิพย์ถูกสะเทือนถึงขั้นแตกกระจาย

ภาวะปรับจิตให้หายตกใจ เพื่อรักษากายทิพย์สะเทือน เรียกว่า ปรับธาตุของกายทิพย์ที่สั่นสะเทือนนั้นให้นิ่งและคืนสู่สภาพปรกติ

อย่าลืมหลักการปรับจิตหลังภาวะตกใจนี้ มีความสำคัญต่อผู้ที่จะฝึกจิตมาก เพราะหลักการนี้ จะทำให้ท่านพ้นจากการเสียสติเพราะนั่งสมาธิ

หน้า36

อาการของคนที่ป่วยเพราะกายทิพย์สะเทือน

1 ) คนที่ป่วยชนิดเบาๆ คือหลังตกใจแล้ว ไม่ได้สมานกายทิพย์ จะมีอาการเบื่อหน่ายชีวิต เมื่อยๆ ชาๆ ไม่ค่อยมีจิตใจจะทำงาน และพอตกบ่ายก็จะมีอาการง่วงเหงาหาวนอน มึนศีรษะ ปวดหัวเล็กน้อยจนปวดหัวมาก

วิธีรักษา

พยายามหาเวลานั่งสมาธิให้มากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนบ่ายที่ง่วงนอนไม่ควรไปนอน แต่ไปนั่งฝึกสมาธิปฏิบัติเช่นนี้ 7 วัน ก็จะหายเป็นปกติ

2) คนที่ป่วยอาการหนัก อาการของคนที่ป่วยหนักนี้ คือ หลังตกใจแล้ว กายทิพย์ที่ถูกสะเทือนจนแตกกระจาย จะมีอาการควบคุมสติไม่อยู่ เช่น จิตใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัวเหม่อลอย หรือพูดจาไม่สมประกอบ บางขณะไร้สติอย่างที่เรียกว่า คนบ้านั้นเอง

หน้า37

วิธีรักษาขั้นต้น

การพอกกายทิพย์เพื่อรักษากายทิพย์ที่ถูกสะเทือน ถึงขั้นแตกกระจาย เป็นวิธีรวมจิตที่แตกแยกกระจายให้สมานคืนรูปเดิม

หาพี่เลี้ยงใจเย็นๆ มีมหาเมตตา พูดจาดีๆ มาช่วยควบคุมให้เขาปฏิบัติสมาธิจิตเริ่มต้นใหม่ด้วย การเพ่งพระพุทธรูปเป็นนิมิตดังนี้คือ

หาห้องสะอาดปราศจากความรุงรัง ที่ฝาห้องติดผ้าขาวหรือกระดาษขาว และตั้งพระพุทธรูปองค์ไม่ใหญ่นัก ประมาณหน้าตัก 5 นิ้วก็พอ ตั้งสูงประมาณพอดี กับระดับสายตาของผู้ที่จะปฏิบัติฝึกสมาธิจิต แล้วแนะนำคนไข้นั่งในท่าสมาธิ ( ตามบทในการนั่งสมาธิ ) ห่างจากองค์พระพุทธรูปพอสมควร แล้วให้คนไข้เพ่งไปที่พระพุทธรูปนั้นจนจำภาพได้ และให้ปิดหนังตาลง พยายามให้นึกเห็นภาพ พระพุทธรูป นั้นอีกจนกว่าภาพพระจะชัดเป็นรูปสมบูรณ์แต่พอภาพหายไปให้ลืมตาใหม่

หน้า38

เพ่งแล้วหลับตาอีก ปฏิบัติหมุนเวียนเช่นนี้จนกว่าหลับตาเห็นพระพุทธรูป

สำหรับคนไข้ที่ไม่มีสติของตัวเองเลยนั้น ขอให้เขานั่งอยู่กับที่เพ่งองค์พระพุทธรูปไปเรื่อยๆ เมื่อยก็พักสายตาแล้วก็เพ่งไปอีก จนกว่าจะจำภาพได้

จากการที่หลับ ตาแล้วจำภาพพระพุทธรูปได้นั้น เรียกว่า “เริ่มมีสติรู้สึกตัว ควบคุมตัวเองได้แล้ว ”เป็นการรักษาขั้นต้น

จากนั้นให้ฝึกด้วยวิธีพอกกายทิพย์

หน้า39

วิธีรักษาขั้นสูง

การพอกกายทิพย์ให้สมบูรณ์ เมื่อการรักษาขั้นต้นนั้นจะมีความรู้สึกว่า ” หลับตาจำพระพุทธรูปได้ ” แต่พระพุทธรูปนั้นจะยังเลือนลางลอยอยู่เบื้องหน้าแล้วเราก็ค่อยๆ ส่งความรู้สึกนึกคิดเพ่งส่งเข้าไปที่พระพุทธรูปเหมือนเก็บรวบรวมเอาสรรพความคิด สรรพกำลังในร่างกายรวมตัวเป็นธนูพลัง ยิงออกจากคันธนูคือ ร่างกายเราไปที่เป้า คือพระพุทธรูป ฝึกเช่นนี้ครั้งแล้วครั้งเล่าภาพพระพุทธรูปจะค่อยๆชัดขึ้นจนเห็นทุกสัดส่วนชัดเหมือนเห็นด้วยการลืมตา เพ่งต่อไปอีก

หน้า40

พระพุทธรูปจะค่อยๆเปล่งแสงสว่างจนเป็นวงกลมล้อมรอบพระพุทธรูปที่เราเรียกกันว่าดวงจิตหรือดวงแก้ว แรกๆตรงกลางดวงแก้วยังมีพระพุทธรูปอยู่ เมื่อฝึกขึ้นไปอีกชั้น พระพุทธรูปจะหายไป คงเหลือแต่ดวงแก้วหรือดวงจิตอย่างเดียว และเมื่อเพ่งไปอีก ดวงแก้วนั้นก็จะกลมและสว่างจนเรารู้สึกเกิดความปีติสงบสุข

นั่นละ “ ท่านหายเป็นปกติแล้ว ”

ระหว่างฝึกนั้นให้หลับตาตลอด แต่ถ้าภาพพระพุทธรูปจับไม่อยู่หายไป ก็ลืมตาขึ้นมาเพ่งจับภาพพระพุทธรูปใหม่อีกครั้งแล้วดำเนินตามวิธีข้างต้นอีก

( หมายเหตุ การฝึกนี้จะต้องไม่เกร็งบีบประสาท ถ้ามีอาการมึนชาหรือปวดขมับให้ดูวิธีการคลายความตรึงเครียดในบทที่3 )

วิธีการพอกกายทิพย์ให้สมบูรณ์นี้ ก็คือการดึงเก็บรวบรวมเอามวลสาร ของอะตอมในโมเลกุลซึ่งเป็นส่วนละอียดที่สุดของส่วนประกอบดวงจิตที่เหมือนดวงแก้วที่แตกกระจายออกไปนั้นมารวมตัวสมานกันอีก ครั้งพระพุทธรูปที่เราเพ่งนั้นเป็นนิมิตหรือศูนย์กลางของ

หน้า41

การเพ่ง เมื่อการเพ่งจับนิมิตจน จิตรวมเป็นหนึ่งก็จะเกิดอำนาจดึงดูด เหมือนแม่เหล็ก ยิ่งส่งความนึกคิดเข้าไปในองค์พระพุทธรูปมากเท่าใดแล้วเหมือนเสริมพลังให้กับแม่เหล็ก อำนาจแม่เหล็กที่ศูนย์กลาง คือ พระพุทธรูปจะยิ่งเพิ่มพลังดึงดูดมากขึ้น จึงเกิดกำลังทวีคูณ ดึงดูด เก็บรวบรวมชิ้นส่วนอันละเอียดของดวงจิต ( ดวงแก้ว)ที่แตกซ่านกระจายนั้นรวมตัวเข้าเป็นวงกลม (ดวงแก้ว) ที่สมบูรณ์ (ใหม่ๆดวงแก้วอาจจะไม่ค่อยสว่างและไม่ค่อยกลมด้วย)

สุดท้าย อำนาจดึงดูดสูงยิ่งขึ้นๆ เศษส่วนต่างๆของดวงแก้วก็จะติดแน่นสมานจนไม่มีรอยตำหนิ

หน้า42

วิธีพอกกายทิพย์นี้ ไม่ใช่มีไว้สำหรับรักษาคนเสียสติเท่านั้น แต่ยังมีไว้สำหรับช่วยเหลือรักษาคนที่กายทิพย์แตก เพราะป่วยเป็นโรคประสาทขนาดหนักถึงขั้นเสียสติ และพวกเกจิอาจารย์ที่ถูกฝ่ายตรงข้ามทำลายฝังรูปฝังรอย หรือว่าปล่อยไสยคุณมาทำลายด้วยมีอาการคือเหมือนคนป่วยหนักใกล้จะตาย อ่อนเพลียและหายใจติดขัด ขอให้เขาระลึกถึงครูบาอาจารย์ทันที และขอน้ำพระพุทธมนต์หน้าหิ้งพระนำมาอาบและดื่มจากนั้นอาการจะค่อยยังชั่ว แล้วให้รีบปฏิบัติตามวิธีพอกกายทิพย์นี้ เขาก็จะพ้นจากการเสียสติ หรือวายชนม์ก่อนอายุขัยได้อย่างดี

หน้า43

เวลาที่เหมาะสมกับการฝึกสมาธิ
สำหรับท่านที่เริ่มฝึกใหม่ๆควรที่จะเริ่มกำหนดเวลาตั้งแต่ 5 นาที เป็นจุดเริ่มต้นและค่อยๆเพิ่มขึ้นเป็น10 , 20 และ 30 นาที เป็นเวลาที่เหมาะสมที่สุด ไม่ควรฝึกให้มากกว่านี้ เพราะจิตยังไม่คุ้นเคย จะทำให้เกิดความอึดอัดและปวดเมื่อยได้ง่ายต้องค่อยเป็นค่อยไปเหมือนดัดไม้ ให้ค่อยๆดัด จะได้ผลในไม่ช้า ถ้ารีบด่วนหักโหมจะดัดไม่ได้ พาลจะพาให้เสีย คือทำให้ไม้หัก เหมือนจิตที่ถูกดัดเช่นกัน
สำหรับผู้ฝึกจนเกิดความชำนาญแล้วจะนั่งเข้าฌานเป็นเวลาหลายๆชั่วโมงก็ได้ตามแต่กำลังจะศรัทธาและเวลาจะอำนวยให้
เวลาที่เหมาะสมแก่การปฏิบัติจิตในวันหนึ่งคือ
ตอนเช้า
หลังจากตื่นนอนชำระร่างกายแล้ว ส่วนสมณเพศควรจะปฏิบัติหลังจากทำวัตรเช้า(ตี 4 )แล้วสำหรับ

หน้า44

ท่านที่ต้องออกทำงานนั้น ควรกำหนดเวลาแต่น้อยหรือเป็นเวลาที่ไม่ขัดกับเวลาที่จะต้องออกงาน จะได้ไม่เกิดความกังวล
เหตุที่ว่าตอนเช้าดีนั้น เพราะว่า เวลากลางคืนนอนเต็มที่แล้ว เช้าตื่นขึ้นมาย่อมมีจิตใจสดชื่น ไม่อ่อนเพลีย จึงเสริมให้การนั่งสมาธิสงบและเข้าที่ได้เร็วก็จะส่งเสริมให้มีสุขภาพจิตสมบูรณ์
สำหรับท่านที่มีเวลาและสถานที่เหมาะเช่น รุ่งอรุณที่ริมฝั่งทะเล หรือ บนเขาที่มองไปเห็นขอบฟ้ากว้างเขาเขียว ยิ่งถ้ามีพระอาทิตย์ขึ้นตอนเช้าๆที่มีแสงอ่อนๆหรือเป็นดวงยิ่งดี จะได้เป็นนิมิตแห่งการฝึกสมาธิบรรยากาศที่มีลมโชย พัดผ่าน ปะทะกับร่างกาย จะทำให้เย็นสบาย จิตใจสดชื่น ร่าเริงใจ สิ่งเหล่านี้ย่อมเป็นสิ่งสนับสนุนให้จิตสงบ และเป็นการได้สมาธิเร็วยิ่งขึ้น
แต่ถ้าคนที่ฝึกใหม่ๆ ควรจะหาเสื้อผ้าหนาคุมกันความหนาวเย็นตอนเช้ามืด และถ้าน้าค้างลงควรจะหาหมวกใส่ เป็นการป้องกันเป็นไข้หวัด

หน้า45

ตอนเย็น
ควรจะเป็นเวลาก่อนนอน หลังจากสวดมนต์ไหว้พระแล้ว หลังจากปฏิบัติจิตแล้วจะช่วยให้นอนได้อย่างสบาย มีสติ ไม่กระสับกระส่าย และตื่นได้ตามกำหนดเวลาที่เราตั้งเป้าหมายไว้ในใจ
เวลาปฏิบัติจิตนั้น ถ้าสามารถทำได้วันละ 2 ครั้งก็จะควบคุมอารมณ์ต่อเนื่องได้ดีมาก
เช้า ก็สร้างอารมณ์ที่ดีก่อนที่จะออกไปต่อสู้ กับการงาน
เย็น ก็คลายความเมื่อยล้าและนอนได้สงบ หลับสนิท
สำหรับท่านที่มีเวลาว่าง ควรจะฝึกวันละหลายๆครั้ง เป็นการอบรมบ่มนิสัยจิตให้เกิดความเคยชินให้เกิดความสงบง่ายขึ้นกว่าทุกครั้งที่เข้าฝึกสมาธิ

หน้า46

สำหรับท่านที่มุ่งหวังโลกุตระ ควรจะฝึกตลอดสมํ่าเสมอ มีการเปลี่ยนอิริยาบถบ้างเมื่อเกิดความจำเป็นเท่านั้น เพราะเมื่อเปลี่ยนอิริยาบถครั้งหนึ่ง เหมือนต้องตั้งต้นครั้งหนึ่ง ในขณะต้องทำกิจวัตรประจำวันหรือทำงานนั้น ก็รักษาอารมณ์แห่งการมีสติสมาธิเสมอก็จะเป็นการดีมาก เพื่อให้อารมณ์สงบสืบทอดต่อเนื่องจนกระทั่งเข้านอนก็พยายามให้นอนอย่างมีสติด้วย

หน้า47

ฝึกสมาธิด้วยอิริยาบถที่เหมาะสมกับท่าน
วิธีฝึกสมาธิให้จิตสงบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอานาปานสติที่มุ่งในการฝึก ด้วยลมหายใจนี้มีจุดเด่นและคุณวิเศษยอดเยี่ยมสืบทอดมานานแล้ว ด้วยวิธีนี้สามารถป้องกันและรักษาโรคภัยไข้เจ็บทั้งกายและใจ เป็นการเสริมสร้างให้ร่างกายมีสุขภาพแข็งแรง โดยเน้นหนักในการฝึกลมหายใจเข้าออก
ในการฝึกหายใจเข้าออกให้จิตสงบนี้ มีอยู่หลายอิริยาบถต่างๆ กัน โดยปรกติการออกกำลังบริหารร่างกายและการฝึกหายใจเข้าออกให้เกิดสมาธิมีอิริยาบถหลักอยู่ 4 อย่าง
วิธีแรก “ เดิน ” ก็คือการบริหารท่อนล่างของร่างกายระหว่างเดินนั้น จิตใจย่อมเคลื่อนไหวสั่นคลอน ไปกับการเคลื่อนไหวของร่างกาย จิตจึงไม่นิ่งเท่าที่ควร

หน้า48

วิธีที่สอง “ หยุด ” ก็คือยืนอยู่กับที่ จิตใจต้องคอยพะวงควบคุมการทรงตัวของร่างกาย และรับรู้สิ่งแวดล้อมมากจนจิตไม่ค่อยสงบ
วิธีที่สาม “ นอน ” กล้ามเนื้อส่วนต่างๆของร่างกาย ได้หย่อนยานคลายจากการเหนี่ยวรัดดึง เมือนอนแล้ว เลือดจะคั่งอยู่ที่สมอง เกิดความง่วงเหงาหาวนอน จิตเคลิ้มหลับง่าย หาสติได้ยาก
วิธีที่สี “ นั่ง ” เป็นท่าที่เหมาะสมกับการฝึกจิตคือ กล้ามเนื้อของร่างกายได้ยึดรั้งให้อยู่ในท่าที่มั่นคงโดยธรรมชาติ จิตใจไม่ต้องพะวงเป็นห่วงอยู่กับกายเนื้อมากนักจึงทำให้จิตสงบนิ่งได้เร็วกว่าท่าอื่น
ดังนั้น วิธีฝึกสมาธิส่วนมากจึงนิยมใช้ท่านั่ง เรียกกันทั่วไปว่า “ นั่งสมาธิ ”
แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ปฏิบัติฝึกจิตก็สามารถที่จะเปลี่ยนอิริยาบถเมื่อเกิดความจำเป็นจริงๆเข้า จะได้เป็นการฝึกจิตอย่างต่อเนื่อง หรือ ตามสภาพสังขารตนที่จะทนอยู่ได้ในอิริยาบถนั้นๆ

หน้า49

การฝึกนี้ ไม่จำเป็นต้องใช้ท่าใดท่าหนึ่ง อย่างตายตัว เพื่อปฏิบัติจิต
ควรพิจารณา ท่าที่มั่นคงและสบายตามความเหมาะสมกับสังขารของตนและเลือกท่าที่จะช่วยสนับสนุนให้การปฏิบัติจิตของเราสงบได้เร็วและดี
พยายามอย่าฝืนอารมณ์ ฝืนสังขารที่จะทนอยู่กับท่าฝึกสมาธิที่คิดว่าตนชอบแต่ด้วยความไม่เหมาะสมจากเหตุต่างๆ จึงทำให้ออกจากการปฏิบัติจิตแล้วแทนที่จะสงบกาย สบายใจ กลับทำให้เกิดอารมณ์หงุดหงิดหัวเสีย พาลพาให้เสียสุขภาพกายและจิต
ผู้มีสมาธิดีแล้ว ย่อมสามารถควบคุมรักษาอารมณ์ให้ดีอยู่ในสมาธิ ได้ทุกอิริยาบถไม่ว่าจะตื่นหรือนอน
โรคประสาทเสื่อม อ่อนเพลีย โรคหัวใจ ควรที่จะใช้ท่านั่งสับกับท่าเดินจงกรม และมีการออกกำลังกายเบาๆ อย่างพอเหมาะสมด้วย
โรคกระเพาะอาหารย้อยหย่อนยาน
โรคกระเพาะอาหารเป็นแผล โรคมดลูกหย่อนควรจะใช้ท่านอนตะแคงข้างขวา

หน้า50

โรคนอนไม่หลับ ใช้ท่านั่งและสลับกับท่านอนและควรจะมีการออกกำลังกายอย่างพอเหมาะ เพื่อให้ประสาทคลายความตึงเครียด สนับสนุนให้นอนหลับได้สนิท
โรคปอด โรควัณโรค ห้ามหายใจแรงและหายใจกระแทก ควรหายใจแบบช้าๆยาวๆ พักหายใจสักครู่หนึ่ง ให้อากาศที่หายใจเข้าไปนั้นหมุนเวียนอยู่ ภายในร่างกายสักพักหนึ่ง แล้วจึงค่อยๆปล่อยลมหายใจออกมา วิธีนี้ ปอดก็จะได้ทำงานน้อยลงอาการเจ็บปวดก็จะบรรเทา โรคก็จะหายเร็วขึ้นกว่าปรกติ
โรคนี้ควรจะใช้ท่านอนตะแคงข้าง และเมื่อร่างกายแข็งแรงขึ้น แล้วก็สลับกับท่านั่งขัดสมาธิแบบธรรมชาติบ้าง แล้วผสมด้วยการเดินจงกรมบ้าง จะได้ทำให้ร่างกายปลอดโปร่ง และข้อห้ามสำหรับโรคนี้ คือ ห้ามออกกำลังกายหักโหม
โรคความดันโลหิตสูง ควรที่จะใช้ท่านอนตะแคงข้างสลับกับการเดินจงกรมการฝึกปฏิบัติไม่ควรให้เหนื่อยเกินไป เพราะจะทำให้ความดันเพิ่มสูงขึ้นได้

หน้า51

โรคความดันโลหิตตํ่า ควรใช้ท่าเดินจงกรม เพื่อออกกำลังกายพอเหมาะกระตุ้นหัวใจสูบฉีดโลหิตดีขึ้น เมื่อเดินพอสมควรแล้ว สลับกับท่านอนราบขนานกับพื้นก็จะดี แต่ทั้งนี้ ต้องพิจารณาความเหมาะสมตามสถานการณ์ด้วย

หน้า53

1. ท่านั่งขัดสมาธิชั้นเดียว
คือนั่งอกผายไหล่ผึ่งศีรษะตรง คางหดและกดลงเล็กน้อย อยู่ในอิริยาบถที่ไม่เกร็ง จะได้ไม่เครียด เริ่มต้นด้วยนั่งเท้าขวาทับเท้าซ้าย มือขวาทับมือซ้าย(วางมือบนฝ่าเท้า) ให้หัวแม่มือจรดชนกันเบาๆเพื่อให้เลือดที่หมุนเวียนนำธาตุไฟ ถ่ายเท เดินได้สะดวก และเมื่อฝึกสมาธิปรับธาตุทั้ง 4 เสมอแล้ว หัวแม่มือที่จรดชนกันนั้นจะดูดเข้าหากันคล้ายมีกระแสแม่เหล็กดูดกันอยู่ ไม่ต้องตกใจ
ข้อดี เป็นอิริยาบถง่ายๆ และใช้ฝึกกันทั่วไป นั่งทนได้นาน ทั้งยังเป็นท่านั่งที่มั่นคงพอสมควรที่ไม่สั่นคลอนง่าย
ข้อเสีย หัวเข่านั่งแนบติดกับพื้นเพียงข้างเดียวหัวเข่าข้างขวาไม่ติดพื้น นั่งใหม่ๆจึงรู้สึกว่าร่างกายเอียงขวา ท่านก็ต้องค่อยๆพยุงร่างให้นั่งตรง ก็จะแก้อุปสรรคนี้ได้ และนั่งทรงตัวได้มั่นคงเทียบเท่าท่านั่งขัดสมาธิสองชั้น
ขาขวาที่พับทับบนขาซ้ายนั้นเหน็บชาง่าย

หน้า54

2 ท่านั่งขัดสมาธิสองชั้น (ขัดสมาธิเพชร)
คือนั่งและวางตัวทุกอย่างเหมือนท่าขัดสมาธิชั้นเดียว ต่างกันเพียงแต่เอาฝ่าเท้าซ้ายที่ถูกทับติดอยู่กับพื้นนั้นสอดขึ้นมาขัดในซอกพับของเข่าขวา มีลักษณะโคนขาทั้งสองข้างไขว้ประสานกันเป็นรูปหางนกนางแอ่น
ข้อดี หัวเข่าทั้งสองข้างแนบติดกับพื้น สามารถนั่งได้ตัวตรงไม่โยกโคลงเคลง เอนเอียง เสียการทรงตัว ระหว่างปฏิบัติ เป็นท่านั่งได้มั่นคงไม่สั่นคลอน
ข้อเสีย คือ ผู้ที่ไม่เคยฝึกนั่งขัดสมาธิท่านี้แล้ว เพียงเดี๋ยวเดียวที่เข้านั่งได้ที่ ก็เกิดอาการปวดขัดข้อเท้าทั้งสองข้าง และเท้าทั้งสองข้างเกิดอาการเหน็บชาได้ง่าย เป็นการทรมานสร้างความเจ็บปวดให้เกิดการกังวลกับจิตในขณะปฏิบัติสมาธิมาก จะต้องรีบคลายออกจากการนั่ง

หน้า55

3 ท่านั่งขัดสมาธิแบบธรรมชาติ
คือนั่งและวางตัวเหมือนท่านั่งขัดสมาธิชั้นเดียวต่างกันตรงที่ไม่ต้องยกขาขวาขึ้นไปพาดบนขาซ้าย แต่พับขาขัดชิดลำตัว วางไว้บนพื้นติดขาซ้าย
ข้อดี เป็นการนั่งแบบธรรมชาติธรรมดา สามัญขาไม่เมื่อยชาได้ง่าย
ข้อเสีย เมื่อขาทั้งสองข้างไม่ขัดกันเลย จึงทำให้ร่างกายไม่ดึงรัดอยู่ในท่าที่มั่นคง จิตใจก็ต้องพะวงที่จะใช้สติกำกับให้ร่างกายนั่งทรงตัวให้ตรง จึงทำให้เกิดสมาธิได้ยาก

หน้า56

4 ท่านั่งพิงฝาเหยียดเท้า
เป็นท่านั่งที่นั่งสบาย คือเอาหลังพิงฝาบ้านหรือฝาห้องยึดตัวให้ตรง แล้วเหยียดขาออกไปนาบติดกับพื้น ขากับลำตัวนั่งแล้วเกิดเป็นมุมฉาก มือทั้งสองข้างซ้อนกันเหมือนท่านั่งขัดสมาธิชั้นเดียวแล้ววางไว้บนตัก
ข้อดี เป็นท่าที่เหมาะสมกับคนแก่ และท่านที่ทุพลภาพ ไม่สมประกอบ ก็สามารถที่จะใช้ท่านั่งนี้กำหนดจิตได้
ข้อเสีย การนั่งวิธีนี้ไม่มีหลักคํ้ายันให้ตัวตรงได้ดี ร่างกายจะคอยเลื่อนไหลลงมาเป็นท่านอน ทำให้จิตต้องคอยควบคุมให้ร่างนั่งตรง และเป็นท่าที่มีโอกาสง่วงนอนมากจึงเสียสมาธิได้ง่าย

หน้า57

5 ท่านั่งบนเก้าอี้ แล้วทอดขาลงเหยียบพื้น
เป็นท่าที่นั่งบนม้านั่งที่มีพนักพิงสูงพอ ประมาณที่จะพิงได้สบายหรืออาจจะมีที่เท้าแขน เมื่อนั่งแล้วให้ทอดขาลงมา เท้าจะต้องเหยียดลงมาตั้งฉากเหยียบถึงพื้นพอดี ถ้าเก้าอี้สูงเกินไป จะต้องหาม้านั่งเล็กๆมารองให้เท้าเหยียบ เท้าทั้งสองข้างกางออกเป็นการช่วยการทรงตัวของร่างกาย ส่วนฝ่ามือก็ยังคงวางมือขวาทับมือซ้าย หัวนิ้วแม่มือชนกันแล้ววางบนตัก หลับตาภาวนาบริกรรมกำกับตามแบบนั่งขัดสมาธิ
ข้อดี คือ เหมาะกับผู้ที่มีอาการปวดขา ปวดหัวเข่า และคนที่มีรูปร่างใหญ่ที่ไม่สามารถนั่งขัดสมาธิได้
ข้อเสีย ท่านที่สุขภาพขาไม่ดี นั่งทรงตัวไม่ดีจำเป็นต้องนั่งพิงเก้าอี้ จึงทำให้ง่วงนอนได้ง่าย ทำให้สติคลายออกจากการมีสมาธิได้ง่าย ถ้าเป็นไปได้ ควรจะพยายามนั่งแล้วไม่พิงพนักเก้าอี้ นอกเสียจากจำเป็นจริงๆ

หน้า59

6 ท่าเดินจงกรม
การเดินจงกรมเป็นวิธีฝึกสมาธิแบบหนึ่ง และเป็นวิธีออกกำลังบริหารร่างกายด้วย
ความดีของการเดินจงกรม
1. หลังจากการปฏิบัติจิตแล้ว เลือดลมจะขัดตามข้อตามเอ็นต่างๆ และเหน็บชาท่านควรจะเดินจงกรมเพื่อคลายเส้นเอ็นให้เลือดลมเดินได้สะดวก ซึ่งเป็นวิธีออกกำลังกายที่จะระบาย และขับโรคออกไปด้วย ช่วยไม่ให้เสียสุขภาพทั้งขาและกล้ามเนื้อส่วนต่างๆจะได้ไม่เป็นอัมพาตและเป็นการเสริมให้สุขภาพสมบูรณ์มีโรคภัยไข้เจ็บน้อยด้วย
2 .หลังจากรับประทานอาหารแล้ว ไม่ควรเข้านั่งสมาธิ ควรที่จะเดินจงกรมอย่างน้อย 15-30 นาที เพื่อช่วยให้อาหารที่รับประทานเข้าไปแล้วนั้น ย่อยง่าย ไม่ให้เกิดอาการอืดเฟ้อ แน่น เรอเปรี้ยว
3 .เป็นผู้อดทนต่อการทำงาน และเดินทางไกล คือ เมื่อท่านฝึกเดินจงกรมบ่อยๆ สมํ่าเสมอ จะเกิดความเคยชินจนเป็นนิสัยเพื่อฝึกให้หัวใจได้ทำงาน สูบฉีด

หน้า60

โลหิตอย่างสมํ่าเสมอไม่เป็นโรคหัวใจ และโรคความดันโลหิตสูงและตํ่า เป็นผลให้การเดินทาง หรือ ทำงานไม่เหนื่อยง่าย และช่วยลดไขมันในร่างกายไม่ให้อ้วนเกินควรด้วย
4. เกิดความเพียร สร้างความอดทนให้กับผู้ปฏิบัติจิต เพราะเมื่อนั่งสมาธิในอิริยาบถอื่นใดแล้ว อาจจะเกิดอาการเมื่อยขบที่ทนอยู่ไม่ได้นานก็ควรที่จะใช้การเดินจงกรมภาวนาสลับกับการนั่งบำเพ็ญจิต จะช่วยสงบได้ผลไวกว่าปรกติ และเมื่อได้สมาธิจากการเดินจงกรมภาวนาจะเป็นอารมณ์ที่อยู่ได้นาน ไม่เสื่อมง่าย
5.เมื่อฝึกเดินจงกรมภาวนาสมํ่าเสมอ เป็นการฝึกให้มีสมาธิแบบลืมตา จึงมีผลฝึกให้มีสมาธิในระหว่างเดินและระหว่างทำงานอีกทางหนึ่ง
สถานที่ที่เหมาะสมกับการเดินจงกรม
สถานที่ที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการเดินจงกรม คือสนามหญ้า และโดยเฉพาะอย่างยิ่งยามเช้าที่นํ้าค้างประพรมบนใบหญ้า ยิ่งเป็นการดี เพราะนํ้าค้างตาม

หน้า61

ใบหญ้านั้นเป็นธาตุนํ้าบริสุทธิ์ของธรรมชาติ เมื่อเท้าเราก้าวสัมผัสนํ้าค้างบนใบหญ้า ธาตุนํ้าค้างนั้นจะเป็นองค์ประกอบสำคัญในการปรับธาตุทั้ง 4 คือ ดิน นํ้า ลม ไฟ ในร่างกายเราให้เสมอกันอันเป็นเหตุสำคัญที่จะลดการเจ็บป่วย
(ถ้าหาสถานที่อย่างนี้ไม่ได้ ที่ไหนๆก็ฝึกเดินได้)
วิธีปฏิบัติ
เป็นไปตามขั้นตอนดังนี้
1. ยืนในท่าสงบ อกผายไหล่ผึ่ง มือประสานกันโดยมือขวาทับมือซ้ายอยู่บริเวณเอวด้านหลัง นิ้วหัวแม่มือชนกัน เพื่อให้เลือดที่หมุนเวียนนำธาตุไฟในร่างกายถ่ายเทได้ดี
ระหว่างเดินจงกรมนั้น จะต้องใช้สติกำหนดรับรู้การก้าวเท้า ก้าวเท้าซ้ายก็รู้ ก้าวเท้าขวาก็รู้ ยืนหยุดอยู่กับที่ก็รู้ว่ายืนอยู่
2. เดินก้าวแบบธรรมดา โดยเท้าอยู่ในลักษณะตรงไม่งอ ปลายเกร็งลาดตํ่ากว่าส้นเท้า เหยียดให้เต็มที่

หน้า62

เพื่อให้เส้นเอ็นคลาย แล้วใช้ปลายเท้าชี้ลงแตะพื้นก่อนส้นเท้า พร้อมกับสูดลมหายใจเข้าปอด กำหนดจิตว่า ” พุท ” สายตารวมเพ่งไปที่หัวแม่เท้าซ้าย
ก้าวเท้าขวาออกไปข้างหน้าพอสมควร โดยเท้าอยู่ในลักษณะเช่นเดียวกับการก้าวเท้าซ้ายพร้อมกับระบายลมหายใจออก กำหนดจิตว่า ” โธ ” สายตารวมเพ่งไปที่หัวแม่เท้าขวา
การเดินวิธีนี้เดินก้าวไปข้างหน้าแบบธรรมดา
3. เดินก้าวแบบจัดขาเดินในเส้นตรง วิธีนี้เหมาะกับคนที่ขาแข็งแรงเดินสะดวก วิธีการเดินและการวางมือนั้นเหมือน ข้อ 2 ต่างกันเพียงแต่ว่า เมื่อยกเท้าออกไปนั้นขณะที่เท้ากำลังจะเหยียบ ลงดินถึงพื้นนั้น ปกติเราจะใช้ฝ่าเท้าด้านนอกตัวสัมผัสพื้นก่อนแต่วิธีนี้จะพยายามใช้ฝ่าเท้าด้านในสัมผัสพื้น และเหยียบลงไปตามเส้นตรงกับเท้าที่ก้าวเหยียบไปก่อนแล้ว คือ เดินเป็นเส้นตรงตลอดทาง ถึงที่เลี้ยวก็ยืนหยุดแล้วเลี้ยวเดินต่อไป

หน้า63

ข้อสังเกต ระยะเท้าก้าวออกไปนั้น ก้าวตามความถนัด เพราะวิธีนี้ ต้องเดินแบบใช้สมาธิ สติ สูงกว่าวิธีแรก เพื่อการทรงตัวและจัดขาเดินให้เป็นเส้นตรง
ข้อเสีย คนที่ขาไม่แข็งแรง หรือคนมีอายุไม่ควรใช้เดินวิธีนี้ ระวังจะพาให้หกล้มได้ง่าย
4 .ก้าวเท้าเช่นนี้สลับไปเรื่อยๆ ก้าวเท้าควรจะก้าวยาวพอดี อย่าให้ยาวเกินไป สั้นเกินไป อย่าให้ช้านัก อย่าให้เร็วนัก ควรใช้เวลาอย่างน้อย ประมาณ 15-30 นาที
5. การเดินจงกรมนี้ จะเดินในวงแคบหรือ วงกว้างก็ได้ แล้วแต่สถานที่จะอำนวยให้
เมื่อเดินไปถึงปลายสุดทางที่จะเลี้ยวนั้น ต้องยืนนิ่งก่อนกำหนดจิตรู้ว่า ยืน แล้วจึงหันตัวเดินต่อไป ระหว่างหันตัว ก็ให้กำหนดจิตรู้ว่า กำลังหันตัวอยู่

หน้า63

7 ท่ายืน
ยืนในท่าทางสงบ เท้าทั้งสองข้างยืนห่างกันประมาณ 1 คืบ ปลายเท้ากางออกเล็กน้อย ยืดตัวตรงหลังไม่ค้อมงอ คางหดและกดลงเล็กน้อย ยืนอยู่ในท่าสงบสบายไม่ตึงเครียด สายตามองทอดตํ่าลงที่พื้นห่างจากลำตัวไม่ควรเกิน 1 ก้าว ส่วนฝ่ามือนั้นให้ใช้นิ้วประสานกันวางไว้หน้าท้อง นิ้วหัวแม่มือชนกัน วิธีบริกรรมภาวนากำกับนั้น เหมือนวิธีภาวนาทั่วไป ต่างกันที่ลืมตาขึ้นเล็กน้อย
ข้อดี เป็นการเปลี่ยนอิริยาบถอีกแบบหนึ่ง เพื่อฝึกสมาธิให้ต่อเนื่อง และเหมาะอย่างยิ่งในการยืนปลงสังขาร และสรรพธรรม เช่น ปลงสิ่งทั้งหลายจนเห็นความจริงแห่งอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ล้วนไม่เที่ยงแท้
ข้อเสีย ท่ายืนนี้ยืนอยู่ไม่ได้นาน เมื่อยล้าได้ง่าย จิตต้องคอยพะวงการทรงตัวให้ยืนอยู่ให้ได้ ทำให้ความเพียรเสื่อมถอยได้ง่ายกว่าการเดินจงกรม และไม่เหมาะสมกับท่านที่มีร่างกายไม่แข็งแรงเพราะในขณะยืนนั้น

หน้า64

เลือดจะคั่งค้างอยู่ในส่วนท่อนล่างของร่างกายมาก จึงทำให้เลือดขึ้นไปเลี้ยงสมองน้อยกว่าปรกติ ยืนนานๆเข้าจะเกิดอาการเวียนหัว มึนศีรษะ เมื่อมีอาการเช่นนี้ควรรีบงดเว้นการปฏิบัติ แล้วลงนั่งพักผ่อนก่อนที่จะเป็นลม หกล้มหัวฟาดพื้นได้ จึงเป็นข้อควรระวังสำหรับท่านที่สุขภาพไม่แข็งแรง

หน้า65

8 ท่านอนสีหไสยาสน์
นอนด้วยท่าทางสงบ นอนตะแคงขวาเพื่อไม่ให้บีบทับหัวใจมากเกินไป มือขวาวางหงายไว้บนหมอนข้างแก้มขวา มือซ้ายวางราบไปตามลำตัว ขาขวาวางเหยียดไปแบบธรรมชาติไม่ต้องเกร็งให้ตรงเกินไป โคนขาซ้ายทับขาขวาอย่างพอเหมาะ เข่าซ้ายพับงอเล็กน้อย ปลายเท้าซ้ายวางลาดตํ่าไว้หลังเท้าขวา เป็นการช่วยพยุงร่างให้ทรงตัวในท่านอนได้นาน
ส่วนการกำหนดบริกรรมลมหายใจนั้น กำหนดเหมือนบทเดิม จนกว่าจะหลับไป หรือว่าบริกรรมเพื่อพักชั่วคราว และเมื่อตื่นขึ้นมาก็ต้องมีสติกำหนดบริกรรมกำกับลมหายใจอีกจนกว่าจะลุกขึ้น เพื่อเปลี่ยนอิริยาบถใหม่
ท่านที่เป็นโรคกระเพาะอาหารย้อยหย่อนยาน ควรนอนท่าตะแคงข้างขวา เพื่อไม่ให้กระเพาะอาหารย้อยถ่วงลงมามากกว่าเดิม และเมื่อฝึกสมาธิก็พยายามขับลมหายใจลงสู่เบื้องตํ่าเป็นการบีบรัดและเร่งให้กล้ามเนื้อนั้นมีกำลัง กระเพาะอาหารก็จะค่อยๆคืนสู่ตำแหน่งเดิม
ข้อดี เป็นท่าที่เหมาะสมกับคนแก่ หรือท่านที่เจ็บป่วย หรือมีร่างกายอ้วนมากจนไม่เหมาะกับการที่จะใช้ท่าอื่นเพื่อการฝึกปฏิบัติจิต
เป็นท่านอนที่มีสติอยู่ได้นานกว่าท่านอนหงาย
ข้อเสีย ท่านอนทุกท่า เมื่อวางตัวนอนแล้วศีรษะจะอยู่ในลักษณะระดับลาดใกล้เคียงกับลำตัวที่นอนขนานกับพื้นหรือเตียง เลือดจึงไหลขึ้นไปคั่งอยู่ที่สมองมากกว่าปรกติ เดี๋ยวเดียวที่เข้านอนได้ที่ ส่วนมากก็จะหลับ
บางครั้งจะหลับก่อนที่จะได้สมาธิที่สมบูรณ์

หน้า66

9 ท่านอนหงาย
ท่านี้เหมาะกับคนที่มีร่างกาย อ้วน หรือไม่สะดวกในการใช้ท่าฝึกสมาธิท่าอื่น
ในขณะเดียวกัน ท่านอนทุกท่าเป็นอิริยาบถของการเตรียมตัวหลับนอน ดังนั้น จึงเป็นการฝึกสมาธิก่อนนอนโดยปริยาย แม้ว่าจะฝึกจิตยังไม่ทันหลับ สติความระลึกรู้ก็จะดับไปพร้อมกับนอนหลับสนิท

หน้า67

ท่านอนหงายรักษาโรคปวดหลัง ท่านี้เหมาะกับคนที่ปวดหลัง คือนอนหงายเหยียดตรงไปบนพื้นหรือพื้นห้องที่ไม่มีฟูกหรือที่นอนอ่อนนิ่มรองรับอยู่ แล้วเอาผ้าบางๆพับให้เป็นเส้นหนาพอควร ความหนาของผ้านี้อาจจะใช้ความหนาไม่เท่ากันทุกคน ขอให้พิจารณารองแล้วนอนไม่อึดอัดเกินไปก็ใช้ได้ ผ้าที่พับนั้น เมื่อพับแล้วต้องยาวกว่าความกว้างของแผ่นหลังท่านเล็กน้อย พับแล้วจึงนำผ้านั้นสอดขวางกับลำตัววางไว้อยู่ใต้บั้นเอวพอดี
ส่วนฝ่ามือนั้นให้นิ้วประสานกัน นิ้วหัวแม่มือจรดชนกันวางอยู่ที่หน้าท้อง ไม่ควรวางไว้หน้าอก เพราะธาตุไฟที่ถ่ายเทผ่านฝ่ามือ จะเผาผลาญอวัยวะภายในอก เช่น ตับ ปอด หัวใจ ทำให้ตื่นขึ้นมาเหมือนคนมีไข้ และจะมีอาการหิวนํ้า
ส่วนลมหายใจนั้นก็กำหนดบริกรรมกำกับเหมือนทุกท่าของการปฏิบัติ
ถ้าอากาศเย็นควรหาผ้าคลุมร่างให้อบอุ่นไว้ด้วย
ข้อดี ท่านอนทุกท่าที่นอนแล้วภาวนาปฏิบัติจิตนั้นเป็นการฝึกแบบเก็บเล็กผสมน้อยก่อนนอนหลับ แม้จะเพียงวันละ 5 นาทีก็ยังดี และเป็นผลพลอยได้ คือ จะหลับได้สบายอย่างมีสติด้วย
ข้อเสีย มีเวลาน้อยมากที่จะภาวนาให้เกิดสมาธิเพราะหลับก่อน แต่ก็ยังเป็นประโยชน์แก่คนที่นอนหลับยากที่จะใช้เวลาก่อนนอนหลับนั้น ภาวนาจนกว่าจะหลับสนิทไปเป็นการแก้ไขการทรมานกระสับกระส่าย ไม่เกิดอาการกระวนกระวายก่อนหลับนอน

หน้า69

สมาธิรักษาโรคนอนไม่หลับ
ข้อแนะนำสะกดตนเองให้นอนหลับ
คนที่คิดมากเกิดความกังวลใจ ห่วงนั้น ห่วงนี่ ห่วงลูก ห่วงหลาน ห่วงสมบัติ หรือห่วงว่าจะไม่มีกินคิดแล้วไม่หยุดยั้งชั่งใจให้สงบบ้าง จึงเกิดเป็นโรคประสาทอ่อน หรือโรคประสาทมากๆ นั้น ส่วนมากจะมีอาการอย่างหนึ่ง คือนอนไม่หลับ อันเป็นทุกข์อย่างยิ่งจึงควรปฏิบัติดังนี้
9.1 อย่านอนหลับกลางวัน กลางวันถ้าเกิดอาการง่วงนอน พยายามอย่าไปนอนหลับหรือนั่งพักผ่อน ควรจะหางานทำที่ต้องใช้กำลังกายบ้าง หรือว่า เดินให้หายง่วง อาจจะใช้ท่าเดินจงกรมเดินไปแผ่เมตตาไปตามทุกลมหายใจ จะช่วยให้จิตใจสบายปลอดโปร่งคลายความหงุดหงิดได้
9.2 กลางคืนอย่านอนหลับหัวคํ่าเกินไป ให้นอนหัวคํ่าที่สุดประมาณ 21.00 น. หรือว่าดึกกว่านี้หน่อยเวลานอนจะได้นอนหลับทีเดียวจนถึงเช้า
9.3 ทำจิตใจให้มีอารมณ์สบายๆ ก่อนนอน สวดมนต์ไหว้พระ แผ่เมตตา ระลึกถึงกุศล ความดีที่เคยทำมา แล้วอุทิศผลบุญเหล่านั้นให้กับผู้มีพระคุณทุกท่าน และเจ้ากรรมนายเวร แล้ววางอารมณ์ทุกอย่างลืมเสียให้หมด เช่น ดีใจจนตื่นเต้น เสียใจจนเศร้าโศก ความอาฆาตมาดร้ายพยาบาท หรือว่า ความคิดที่ว่าทำอย่างไรจึงจะได้มีสมบัติมากๆ เป็นต้น
9.4 สะกดใจให้สงบอยู่กับที่ นอนในท่าที่รู้สึกว่าสบายหลับตาแล้วภาวนาหายใจเข้าว่า “พุท ”หายใจออกว่า “โธ ”หรือสวดมนต์ในใจบทใดบทหนึ่งก็ได้ส่วนจิตใจนั้นต้องส่งความรู้สึกทั้งหมด ไปตามคำภาวนาหรือบทสวดมนต์นั้นๆ ไปเรื่อยๆ ภาวนาจนกว่าจิตใจ จะสงบและหลับไป
9.5 ปล่อยใจวางภาระทุกอย่าง นอนในท่าที่รู้สึกสบาย หลับตาแล้วระลึกถึงกุศลความดีที่ได้ทำมา แล้วอุทิศให้ผู้มีพระคุณทุกท่าน และเจ้ากรรมนายเวรแล้วภาวนาแผ่เมตตาไป จนจิตใจสงบหลับไปในที่สุดระหว่างภาวนาแผ่เมตตานั้น จิตใจจะต้องน้อมนำไปตามความหมายของบทแผ่เมตตา
ถ้ายังไม่หลับ ให้ระลึกว่า กายเรานี้สักแต่ว่ากายเป็นเพียงก้อนธาตุก้อนหนึ่งที่วิญญาณเราอาศัยอยู่ เพื่อใช้กรรม รอเวลาให้หมดวาระตามอายุขัยที่มีอยู่ หรือตามกรรมที่กระทำไว้ในอดีต ที่จะส่งผลมาปัจจุบันชาติให้เราอาจจะตายเมื่อใดก็ได้ บางทีเดี๋ยวก็อาจจะตาย
ร่างนี้พร้อมแล้วที่จะแตกดับไป กายนี้พร้อมแล้วที่จะแปรธาตุสลายไปสู่ธาตุเดิมคือ ดิน นํ้า ลม ไฟ ที่อยู่ตามธรรมชาติ ไม่เป็นแก่นสารสาระอะไรที่เราจะมายึดมั่นถือมั่นให้ทุกข์กาย ทุกข์ทั้งใจ เราไม่มีอะไรที่จะยึด เราไม่มีอะไรที่จะหลง เมื่อนั้นเราจึงไม่มีทุกข์ใดๆ ที่จะมาทำให้เราต้องกังวลจนนอนไม่หลับ คิดไปภาวนาไปเรื่อยๆ แล้วทำใจสบายๆ ไม่เครียดแบบเอาจริงเอาจัง ทำใจให้ได้ว่า การนอนหลับของเราก็คือ การตายแบบหนึ่งที่เราปล่อยใจ วางภาวะทุกอย่างเตรียมพร้อมแล้วที่จะตาย เพราะทุกอย่างของคนเรานั้น สิ้นสุดที่ “ ตาย ”

หน้า72

10 ท่าฝึกสมาธิแบบอิสระ
เป็นการฝึกปฏิบัติสมาธิจิตที่ไม่จำกัดท่าฝึกสถานที่เพียงแต่มีเวลาชั่วขณะหนึ่ง หรือว่า ยามที่ไม่ต้องใช้ความคิดท่านก็หาโอกาสนั้นที่จะภาวนาได้แม้จะไม่หลับตาก็ภาวนาได้ เช่น ขณะนั่งรถ เดินทาง หรือว่า นั่งซักเสื้อผ้า เก็บกวาด ทำความสะอาด ท่านเพียงแต่ภาวนา “ พุท ” “ โธ ”ควบคุมอารมณ์ให้สงบ ก็เป็นการฝึกจิตให้สงบอย่างเบื้องต้นที่ดีแล้วแม้จะเป็นระยะเวลาสั้น
ท่าอิสระอีกแบบหนึ่ง
เป็นวิธีฝึกสมาธิปฏิบัติจิต ที่เหมาะสำหรับท่านที่ไม่มีเวลาว่างจริงๆ เพียงแต่ท่านใช้เวลาให้จิตสงบครั้งละ 5 นาที
เมื่อท่านเมื่อยล้าจากการงาน การใช้สายตา ประสาทเครียด มึนศีรษะ หรือกำลังโมโหอยู่ ขอให้ท่านนั่งหรือนอนในอิริยาบถที่สบาย หลับตานึกถึง พระพุทธเจ้า หายใจเข้าท่องว่า “ พุท ” หายใจออกท่องว่า “ โธ ” เมื่อครบกำหนดเพียงประมาณครู่หนึ่งหรือ 5 นาที แล้วออกจากสมาธิ ร่างกายก็จะรู้สึกสดชื่นขึ้น พร้อมที่จะทำงานต่อไป ตาก็ได้พักสายตาคลายความเมื่อยล้าของประสาทตา ประสาทต่างๆ ก็คลายความเครียดลงสมองก็จะปลอดโปร่ง ความโมโหโทโสก็หยุดชะงักลงเกิดสติยั้งคิดทันก่อนที่จะทำอะไรผิดพลาดไปได้
นี่ละ “ อานิสงส์ของสมาธิเพื่อชีวิตประจำวัน ”

หน้า74

การฝึกสมาธิที่ดี
ต้องเน้นหนักทั้งการออกกำลังบริหารกายที่พอเหมาะและการพัฒนาจิตใจอย่างสมํ่าเสมอ
“ ท่ามกลางความสับสนวุ่นวายของสังคม
ท่านสามารถอยู่อย่างสงบกาย สงบใจ
ท่านก็คือยอดคนที่มีสมาธิอันยอดเยี่ยม ”

หน้า75

รักษาอารมณ์ให้ดีก่อนปฏิบัติฝึกสมาธิจิต

ถ้าท่านเป็นคนเจ้าโทสะ โมโหร้าย ด้วยเหตุที่เอาแต่ใจตัวก็ตามหรือภาวะแวดล้อมเป็นเหตุก็ตาม ที่ทำให้ท่านไม่พอใจ
ในขณะที่จิตใจปั่นป่วนนั้น ธาตุภายในร่างกายก็พลอยปั่นป่วนด้วยเป็นเหตุให้การปฏิบัติสมาธิจิตสงบได้ยาก
ท่านควร นิ่งเงียบ หยุดโมโหโทโสสักครู่แล้วพิจารณาว่า โมโหแล้วจะได้มีอะไรดีขึ้นเพราะโมโหแล้วมีแต่ทำให้สุขภาพกายและจิตเสื่อมท่านก็จะหยุด พ้นจากกิเลสเหล่านี้ที่คอยเกาะกุมอยู่เหนือเรา คอยบัญชาเราแล้วท่านก็จะรักษาอารมณ์ให้สงบลงมา มีจิตใจสงบสดชื่น ร่าเริงทุกครั้งก่อนที่จะเข้าปฏิบัติ
ท่านต้องไม่ใช่ฝึกเพราะถูกบีบบังคับ หรือจำใจที่จะต้องฝึก แต่ฝึกเพราะความสมัครใจที่หวังความสงบและหลุดพ้นจากวัฏสงสาร ด้วยใจที่สมัครเข้าฝึก

หน้า76

นี้เอง จึงทำให้ท่านไม่เกิดความท้อแท้ เบื่อหน่ายรังเกียจที่จะเข้าฝึกครั้งต่อไป
เริ่มต้นฝึกด้วยความตั้งใจ วางจิตใจ ร่างกายให้อยู่ในอารมณ์สบายๆ ตัดความกังวลทั้งหมดวางไว้นอกกาย เช่นกังวลเรื่องที่อยู่อาศัย งาน การเรียน หมู่คณะครอบครัวและญาติ สำหรับผู้มุ่งหวังโลกุตระแล้วไม่ควรกังวลถึงเรื่องตระกูล ชื่อ เสียง ลาภ เกียรติ ยศ สรรเสริญ ที่ตนเคยมีอยู่และห่วงกลัวว่าจะไม่ได้ในอนาคต ห่วงการเดินทาง ห่วงการเจ็บป่วย ห่วงเรื่องอิทธิฤทธิ์ ควรตัดความกังวลเหล่านี้ออกจากใจชั่วขณะหนึ่งที่ปฏิบัติไม่คิดถึงเรื่องในอดีตแม้ลมหายใจที่ผ่านไปและไม่คิดถึงเรื่องอนาคตแม้ลมหายใจที่ยังมาไม่ถึง แต่ให้คิดถึงภาวะปัจจุบันคือ
“ ภาวะที่กำลังฝึกปฏิบัติสมาธิจิตให้สงบอยู่ ”

หน้า77

ฝึกสมาธิควรสนใจฝึกลมปราณ
ท่านที่จะฝึกปฏิบัติสมาธิจิตนั้น ก็ควรจะศึกษาวิธีฝึกลมปราณด้วย เพื่อประโยชน์ในการฝึกต่อไป เพราะฝึกสมาธิกับฝึกลมปราณต่างกันเพียงเล็กน้อย
คือ เริ่มต้นเหมือนกันที่ “ ต้องทำใจให้สงบก่อน ”
แล้วจึงไปแยกทางดังต่อไปนี้ แต่ผลจากการปฏิบัติยังคงมีหลายสิ่งหลายอย่างเหมือนกันหรือใกล้เคียงกันมา
ฝึกปฏิบัติสมาธิจิตนั้น
เน้นหนักในด้านความสงบ
โดยหายใจตามปรกติแล้วไปเน้นการฝึกจิตให้สงบเพื่อเป็นพื้นฐานในการอบรมจิตให้รวมเป็นหนึ่ง สืบเนื่องจนถึงขั้นวิปัสสนา

หน้า78

ฝึกลมปราณเน้นหนักในด้านสร้างกำลังภายใน
โดยเน้นไปบริหารลม หายใจที่เข้าออก ให้หายใจ ลึกๆ ช้าๆ ต่อเนื่องจนจิตสงบเป็นพื้นฐานการสร้างกำลังภายใน เพื่อรักษาร่างกายให้แข็งแรง และรักษาโรคที่เกิดกับร่างกายบางชนิดได้
ฝึกสมาธิและฝึกลมปราณจนถึงจุดหนึ่ง เหมือนกับจะสงบจนคล้ายตกอยู่ในภวังค์ มีตัวตนเหมือนไม่มีความนึกคิดเหมือนไม่มี
ถ้าจะพิจารณาสภาวธรรมคือ วิปัสสนา หรือว่าการใช้อำนาจจิตก็ต้องฝึกให้ได้สมาธิขั้นกลาง ไม่ตกสู่ภวังค์แล้วใช้สติพิจารณาสภาวธรรมนั้นๆส่วนเรื่องการใช้อำนาจจิตก็ใช้ภาวะจิตนี้ ส่งกระแสอำนาจจิตไปตามที่ต้องการ
แต่ถ้าจะเดินลมปราณก็ต้องไม่ให้จิตตกภวังค์เช่นกันแล้วส่งความนึกคิดไปจับที่กองลมหายใจ ให้ไปลงที่จุด “ ตั้งช้าง ” หรือนำพาลมปราณเดินทั่วกายต่อไป

หน้า79

ฝึกลมปราณสร้างกำลังภายใน
วิธีการฝึกลมปราณนี้ เป็นวิธีฝึกการหายใจให้เกิดความเคยชิน และสืบเนื่องจนเป็นนิสัยที่ดีของการหายใจ เพื่อใช้นำการหายใจในการฝึกปฏิบัติสมาธิจิตทุกๆครั้ง และหลังจากออกจากสมาธิแล้ว
อนึ่งเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในระหว่างฝึก “ลมปราณ ” พร้อมทั้งข้อปฏิบัติระหว่างฝึกนั้นมีส่วนคล้ายคลึงกับเหตุที่จะเกิดขึ้นในระหว่างฝึกปฏิบัติจิตด้วย
ส่วนท่าฝึกใช้ร่วมกันได้
ด้วยเหตุนี้ จึงได้เขียนรวมไว้ในที่นี้
ฝึกลมปราณสร้างกำลังภายใน
ก่อนอื่น ใจเย็นๆ นั่งลงหายใจตามปรกติก่อน สัก 1 หรือ 2 นาที ถ้าเหนื่อยมาจากงาน หรือเพิ่ง

หน้า80

เดินทางมาถึง นั่งพักสักครู่ก่อน เพื่อให้ใจสงบลงพร้อมที่จะฝึกต่อไป
จากนี้ เลือกท่าฝึกที่เหมาะสมกับสังขารท่านท่าใดท่าหนึ่ง
โดยปกติคนเราจะหายใจช่วงสั้นและตื้น
ไม่ได้ใช้ความสามารถของปอดที่สามารถขยาย และหดอย่างเต็มที่ จึงทำให้ปอดไม่ได้หายใจเอาอากาศดีเข้าและขับอากาศเสียออกจากร่างกายอย่างเต็มที่ ปอดจึงไม่สามารถฟอกโลหิตให้สดใสสมบูรณ์ดีเท่าที่ควรเป็นผลให้ร่างกายเจ็บป่วยได้ง่าย
การฝึก “ ลมปราณ ” ต่อไปนี้จะช่วยป้องกันและรักษาท่านหายจากโรคภัยไข้เจ็บได้
ฝึกลมปราณก็ต้องอาศัยการฝึกจิตให้สงบก่อน
การฝึกนี้ไม่ต้องใจร้อนรีบเร่ง ไม่ฝืนสังขารและฝืนจิตใจ ทำใจสบายๆ ค่อยๆฝึก และฝึกจนจิตรวมเป็นหนึ่ง จึงจะเป็นพื้นฐานที่ดีของการฝึกลมปราณต่อไป

หน้า81

1. ทำใจให้สงบแล้วค่อยๆหลับลง หุบปากแล้วใช้ปลายลิ้นคํ้า แตะเพียงเบาๆที่เพดาน
2. หายใจตามปรกติวิสัยจนกว่าจะสงบ รวมจิตเป็นหนึ่งก่อน แล้วจึงหายใจเข้าค่อยๆ ลึกขึ้นด้วย วิธีถอนหายใจลึกเข้าๆจนสุดแรงดูดลม ลมหายใจนั้นจากหยาบให้ค่อยๆปรับให้ละเอียดมากขึ้น จากการหายใจตื้นให้ค่อยๆ ลึกจากการหายใจช่วงสั้นให้ค่อยๆเป็นช่วงยาวขึ้น ค่อยๆเพิ่มขึ้นทีละขั้นอย่างช้าๆ ตามลำดับ
แล้วค่อยๆผลักดันนำส่งลมหายใจที่ดูดเข้ามานั้นให้ตำลงๆ จนกว่าจะเลยสะดือลงไป 3 นิ้วเป็นตำแหน่งที่ตั้งของจุด “ ตั้งช้าง ”
การนำล่องลมหายใจให้ตำนี้ ไม่ควรจงใจใช้แรงบีบเกร็งกล้ามเนื้อให้ดันลมหายใจตำลงไป แต่เป็นการทำงานที่เรียกว่าจิตสำนึกว่า ความรู้สึกของจิตใจไปจับที่กองลม จึงสมมุติว่าเห็นกองลมที่หายใจเข้านั้นเป็นกลุ่มลมสีขาวกำลังถูกนำผ่านรูจมูก ผ่านหลอดลม ผ่านปอดแล้วผ่านช่องท้องและลงตํ่าจนถึงท้องน้อย ซึ่ง

หน้า82

ที่ตั้งของจุด “ ตั้งช้าง ”เมื่อลมหายใจถึงจุด “ ตั้งช้าง ” แล้วค่อยๆ ปล่อยลมหายใจออก ช่วงที่ลมหายใจเข้าและออก จะต้องฝึกให้ใช้ระยะเวลายาวเท่าๆกัน จิตใจก็จะค่อยๆสงบลงมา
การหายใจเข้าออกตามวิธีนี้ จะต้องเป็นลักษณะธรรมชาติ หายใจไม่มีเสียง ไม่ใจร้อนรีบเร่ง การหายใจเป็นไปอย่างมั่นคง เชื่องช้า ต่อเนื่องไม่ขาดช่วง ละเอียดนิ่มนวล ลึก ยาว
ลักษณะการฝึกการหายใจที่ถูกต้อง คือหายใจแล้วไม่รู้สึกลำบากและเหนื่อย ประสาทผ่อนคลายความตึงเครียด จิตใจสงบว่างเปล่า จึงเป็นการถูกต้อง
3. เมื่อฝึกลมหายใจแบบนี้ผ่านไประยะหนึ่งจะ รู้สึกว่าลมหายใจเข้านั้น มีกระแสลมพัดจากเบื้องบนลงสู่เบื้องตำจนถึงจุด “ ตั้งช้าง ” เหตุที่รู้สึกว่ามีกระแสลมนั้นก็เพราะว่าเวลาถอนหายใจเข้านั้น กล้ามเนื้อซี่โครงจะหดตัวดึงกระดูกซี่โครงให้ยกขึ้นและบานออก ทรวงอกจะพอกโตขึ้นช้าๆ ท้องน้อยก็จะค่อยๆหดเข้าช่วงนี้ปอดก็จะขยายพองตัวออกดูดอากาศดีเข้าเต็มที่

หน้า83

ปอดจึงขยายตัวพองโตตั้งแต่ใต้ขั้วปอดลงมาจนถึงปลายกีบของปอด และที่ใต้ปอดนั้นมี “ กระบังลม ” ที่มีโครงสร้างคล้ายพังผืดกั้นขวางระหว่างทรวงอก กับ ช่องท้อง เมื่อปอดขยายตัว ก็จะผลักดันให้กระบังลมหดตัวขยับลดตำลงมา พอตอนที่ปอดคลายลมหายใจออกนั้น กล้ามเนื้อซี่โครง และกระบังลมจะคลายตัวออกก็จะแฟบลงท้องน้อยก็จะพองคืนสู่สภาพปรกติ
การหายใจเข้าและออกเช่นนี้ จึงเกิดการบีบรัดและผ่อนคลายของอวัยวะภายในทรวงอก และที่ช่องท้องเป็นการเพิ่มการเคลื่อนไหวภายในมากขึ้น จึงรู้สึกว่าเป็นกระแสลมวิ่งตามลมหายใจที่เรียกว่า “ กระแสพัดพาภายในร่างกาย ”นั้น การเคลื่อนไหวเช่นนี้จึงเป็นการบริหารภายในร่างกาย
กำลังภายในเคลื่อนไหวภายในร่างกาย
หลังจากฝึก ลมปราณ หรือ ฝึก สมาธิ ไปได้ระยะหนึ่งแล้ว ท่านอาจจะรู้สึกว่าท้องน้อยที่เป็นที่ตั้งของจุด ” ตั้งช้าง ” มีกลุ่มความร้อนเกิดขึ้น

หน้า84

ระยะเวลาที่ฝึกแล้วจะเกิดกลุ่มความร้อนนี้ใช้เวลาไม่เท่ากันทุกคน ต้องแล้วแต่ความสมบูรณ์ของสังขารและความพร้อมของจิตใจที่ได้ฝึกมาถูกต้อง เข้าหลักได้ดี เพียงใดก็จะเกิดผลเร็วเพียงนั้น บางท่านฝึกไปในทางจิตสงบ หลายท่านตั้งแต่เริ่มฝึกใหม่ๆ จนถึงขั้นจิตสงบอาจจะไม่มีกลุ่มความร้อนนี้เกิดขึ้นก็ได้
กลุ่มความร้อนนี้เราเรียกกันว่า “ กลุ่มกระแสกำลังภายใน ” เป็นพลังงานที่เกิดจากการฝึก ลมปราณ
กลุ่มความร้อนนี้เมื่อเกิดขึ้นใหม่ๆ อาจจะเกิดขึ้นชั่วครู่หนึ่งหรือเกิดความรู้สึกเพียงบางครั้งบางคราวของการฝึก แต่เมื่อใดที่เราจับจุดที่จะเกิดความสำเร็จนี้ได้แล้ว เมื่อคราวใดที่เกิด “ กลุ่มความร้อน ”นี้แล้วใจเย็นๆ อย่าเพิ่งลุกจากที่ ไม่ตื่นเต้นดีใจ ไม่เสียใจ ที่เพิ่งจะสำเร็จ ทำใจสบายๆ วางตัวเป็นกลาง คงฝึกลมปราณธรรมดาต่อไป โดยไม่ต้องเพิ่มแรงบีบรัดกดดันหรือว่า เกร็งบีบประสาท ไม่ช้า กลุ่มความร้อนนั้นก็จะร้อนมากพอสมควรที่เรียกว่า “ ไออุ่น ” (แต่ไม่ใช่รู้สึกว่าความร้อนมากจนกระวนกระวาย)

หน้า85

วิธีนำส่ง “ กลุ่มไออุ่น ” ให้พัดพาโคจรไปทั่วร่างกาย
“ กลุ่มไออุ่น ” นี้เมื่อเกิดขึ้นแล้ว อาจจะมีโอกาสโคจรไปตามร่างกายเอง โดยเราไม่ต้องนำพาก็ได้ แต่เขียนไว้เป็นลักษณะแผนที่ การเดินทาง ของกลุ่มไออุ่น เพื่อว่าถ้าเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นที่ใดและจุดใดแล้ว ควรที่ทำอย่างไรต่อไป จะได้ไม่ต้องตกใจ ถ้าประสบกับเหตุการณ์นั้นๆ
เมื่อเกิด “ กลุ่มไออุ่น ” ที่จุด “ ตั้งช้าง ” แล้วยังคงฝึกลมปราณไปตามปรกติ
ตั้งสมมุติฐานจินตนาการว่า เมื่อฝึกลมปราณจนกระแสกำลังภายในทับถม เสริม เพิ่มเติม ที่กลุ่ม ไออุ่น มากขึ้นๆ กลุ่มไออุ่นก็เพิ่มจำนวนหนาแน่นรวมกลุ่มใหญ่มากขึ้นหนักขึ้น (ทั้งนี้เป็นเพียงความรู้สึกเท่านั้นไม่ใช่แสร้งออกแรงบีบรัดบังคับกล้ามเนื้อ)หลังจากนั้นจึงรวบรวมความสนใจเพื่อใช้เสริมความรู้สึกมากขึ้น จะมีอาการคล้ายๆกับ กำลังถ่ายอุจจาระอยู่ และเมื่อฝึกไปๆอาจจะรู้สึกว่ากำลังถ่ายออกมาจริงๆ ขอให้อั้นกลั้นไว้

หน้า86

ก่อนฝึกต่ออีกระยะหนึ่ง “ กลุ่มไออุ่น ” ก็จะไหลผ่านจุด “ ฝีเย็บ ” (ตำแหน่งนี้อยู่ระหว่างช่องถ่ายเบากับทวารหนัก) มีข้อสังเกต คือ มีกลุ่มไออุ่นไหลผ่านต่อเนื่องหรือเหมือนกระแสไฟฟ้าไหลกระโดด ข้ามทวารหนัก อยู่ตลอด เวลาไปสู่จุดก้นกบ (ตำแหน่งนี้อยู่ที่ปลายสุดของกระดูกสันหลัง) เมื่อกลุ่มไออุ่น รวมถึงจุดก้นกบแล้ว ก็จินตนาการต่อว่า นำกลุ่มไออุ่น ส่งต่อขึ้นไปกระดูกสันหลัง (การนำส่งช่วงนี้ จะรู้สึกว่า มีอาการหดช่องทวารหนักขึ้นไป) กระแสกลุ่มไออุ่นก็จะผลักดันขึ้นสันหลังเอง (โดยไม่ต้องแสร้งชักนำ)
ระหว่างที่ไออุ่น ยังเคลื่อนไหวโคจรไปสู่ทั่วร่างกายนั้น ก็ยังคงหายใจฝึกลมปราณเสริมทับถมให้กับจุด “ ตั้งช้าง ” ต่อไป เหมือนกับว่า เรากรอกนํ้าเติมใส่ที่กรวยอยู่ตลอดเวลา เป็นการผลักดันนํ้าที่ไหลไปก่อน และนํา(กลุ่มไออุ่น) นั้นก็จะไหลไปตามท่อ คือ ผ่านตามจุดต่างๆของร่างกาย “ กลุ่มไออุ่น ” ก็ไหลขึ้นตามกระดูกสันหลัง ผ่าน “ จุดบั้นเอว ” ผ่านขึ้นไปที่ “ จุดคอพับ ” (จุดนี้อยู่ระหว่างกระดูกสันหลังช่วงระหว่าง

หน้า87

กระดูกต้นคอต่อกับไหล่พอดี สังเกตได้จากเวลาพับคอ จะมีกระดูกนูนขึ้นมาตรงจุดนั้น ) ขึ้นผ่าน “ จุดท้ายทอย ” (จุดที่กระดูกคอต่อกับหัวกะโหลก) ขึ้นไปสู่จุดกระหม่อม (ตรงกลางของหัวกะโหลกตำแหน่งนี้สังเกตได้จากตอนที่เด็กยังอ่อนๆอยู่ กลางกระหม่อมนั้น จะผุดขึ้นลงตามกระแสผลักดันของเลือดที่หัวใจสูบฉีดขึ้นมา หล่อเลี้ยงจุดนั้น) จากนั้น ก็เคลื่อนผ่านกระหม่อม มายัง “ จุดหน้าผาก ” (กึ่งกลางระหว่างคิ้ว) ลงสู่ “ จุดลิ้นไก่ ” (จุดนี้อยู่รอยต่อระหว่างโคนลิ้นกับลิ้นไก่ที่เพดานปาก )และไหลผ่านลงมา “จุดกึ่งกลางของกระดูกหน้าอก ” (อยู่กึ่งกลางของกระดูกไหปลาร้าหรือเรียกว่าใต้จุดคอหอย)ลงสู่จุดกลางอก (จุดผ่ากลางระหว่างหัวนมทั้งสองข้าง) ผ่านสะดือและลงสู่ “ จุดตั้งช้าง ” อีกครั้ง โคจรหมุนเวียนอยู่ตลอดเวลาที่นั่งฝึกอยู่
ยังมีอีกกระแสหนึ่ง เรียกว่า “ กระแสขวาง ”หรือเรียกว่า “ กระแสเข็มขัดรัดเอว” ฝึกลมปราณไปพักหนึ่งแล้ว อาจจะเกิดกระแสขวางนี้ขึ้นมาเมื่อใดก็ได้ คือเมื่อเริ่มมี “ กลุ่มไออุ่น ” นั้น บางครั้งไม่วิ่งขึ้นสู่ศีรษะ

หน้า88

แต่กลับจะวิ่งเป็นแนวขวางบั้นเอว ครบรอบเป็นลักษณะ เข็มขัด ซึ่งบางครั้งก็จะวิ่งอ้อมจากซ้ายไปขวา บางครั้ง ก็จะวิ่งจากขวาไปซ้ายอย่างมีระเบียบโดยประมาณวิ่งรอบครั้งละ36 รอบ
และเมื่อฝึกไปอีกระยะหนึ่ง กระแสไออุ่นก็จะกระจายไปทั่วถึงปลายเท้า ปลายมือ
การเคลื่อนโคจรของไออุ่นนี้ อาจจะเคลื่อนโคจรผ่านไปทีละจุด และอาจจะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งจึงสามารถผ่านอีกจุดหนึ่งจนถึงขั้นโคจรครบทุกจุดทั่วกาย
บางท่านฝึกเป็นปีๆ จึงจะสามารถโคจรครบรอบกาย
ในระหว่างที่ “ กลุ่มไออุ่น ” จากลมปราณกำลังโคจรผ่านจุดต่างๆ ของร่างกาย อยู่นั้น เกิดมีความจำเป็นต้องออกจากสมาธิในขณะที่ไออุ่นยังโคจรไม่ครบรอบใดรอบหนึ่ง ก็ค่อยๆ คลายออกสมาธิได้
และเมื่อเสร็จธุระแล้ว ควรหาโอกาสฝึกต่ออีกในระยะเวลาที่ใกล้เคียงได้ยิ่งดีซึ่งก็เท่ากับเริ่มต้นใหม่ เพื่อเดินลมปราณให้คล่องสะดวก

หน้า89

ฝึกลมปราณที่ไหนก็ได้
การฝึกลมปราณนี้ก็คล้ายกับการฝึกสมาธิ ซึ่งฝึกจนคล่องตังแล้ว ชำนาญในการเจริญก็สามารถฝึกได้ในทุกอิริยาบถ ไม่ว่าจะนั่งรถเดินทางหรือยามที่ว่าง
ต่างกันเพียงแต่ฝึกสมาธิทั่วไป ไม่ได้เน้นหนักให้หายใจลึก
แต่ฝึกลมปราณ เน้นหนักให้หายใจลึกๆ ด้วยใจที่เป็นสมาธิ
พอมีจังหวะ 5-10 นาที เราก็สามารถเดินลมปราณ โดยไม่จำเป็นต้องหลับตาเพียงแต่ค่อยๆ ถอนหายใจให้ลึกตามแบบฝึกลมปราณด้วยสมาธิ อันจดจ่อกับลมหายใจเข้าออก
เมื่อฝึกจนคล่องตัวแล้ว เวลาอากาศหนาวๆ เราก็เดินลมปราณสักครู่หนึ่ง ก็จะเพิ่มความอบอุ่นในร่างกายขึ้น ทำให้ร่างกายแข็งแรงไม่เป็นหวัดได้ง่ายด้วย
การฝึกลมปราณอยู่เสมอ ยังเป็นการรักษาโรคปวดเมื่อยตามเอ็นตามข้อ

หน้า90

“ มีดดาบจะคมต้องหมั่นฝน
คนจะฉลาดต้องหมั่นเรียน
ฌานจะแก่กล้าต้องหมั่นฝึก ”

หน้า91

วิธีแก้ไขอาการที่อาจจะเกิดขึ้นในระหว่างฝึกลมปราณและฝึกสมาธิ

1. อาการเจ็บท้องน้อย แน่นหน้าอก

ท่านที่ฝึกใหม่ๆนั้น ปฏิบัติแล้วรู้สึกว่าปวดเสียวหน้าอกเกร็งหน้าท้อง แต่พอผ่านพ้นการปฏิบัติ 3 ครั้งแล้วท่านจะรู้สึกว่าปฏิบัติแล้วโล่งอก ร่างกายสดชื่น

ขณะเดียวกัน ระหว่างหายใจเข้าออกนั้น จิตใจรีบเร่งใช้แรงบีบประสาทเกร็งกล้ามเนื้อเบ่งอกอย่างแรง เมื่อหายใจเข้ารวมทั้งเกร็งกล้ามเนื้อท้องน้อยตึงอย่างกับหน้ากลองแล้ว จะเกิดอาการแน่นหน้าอกปวดชายโครงทั้งสองข้าง ศีรษะมึนชา เหน็ดเหนื่อยง่าย

วิธีแก้ไข ขอให้ท่านผ่อนคลายการบีบเกร็งกล้ามเนื้อ หายใจตามปรกติสักครู่หนึ่ง ก็จะหายจากอาการปวด และรอจนกว่าหายจากอาการเครียดทางประสาทก่อนจึงปฏิบัติต่อไป

หน้า92

ต้องเข้าใจว่า การฝึกลมปราณนี้ มีพื้นฐานจากการฝึกสมาธิให้ใจสงบ และใช้กระแสความนึกคิดเป็นสื่อชักนำอากาศเข้าออกอย่างมีระเบียบ ไม่ได้ใช้แรง(กำลังคน ) ชักดึงลาก โดยมีสูตรว่า ใช้กระแสจิตแห่งความนึกคิดชักนำลมหายใจ โดยให้กระแสจิตแห่งความนึกคิด ผสม ผสานกลมกลืน ร่วมกับลมหายใจกรอกเติมสู่จุด “ ตั้งช้าง ”

2. เหงื่อออก

ระหว่างที่ฝึกสมาธิเริ่มเข้าสู่ความสงบ หรือ ระหว่างฝึกลมปราณ กระแส “ กลุ่มไออุ่น ” โคจรนั้นธาตุทั้ง 4 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ในร่างกายได้ปรับจนเริ่มเสมอกันและจะขับเหงื่อออกมา หลายท่านจึงรู้สึกเหงื่อออก เริ่มตั้งแต่กระดูกสันหลังขึ้นไปจนถึงศีรษะ ถ้าฝึกจนครบรอบการโคจรการหมุนเวียนของลมปราณหลายรอบแล้ว จะมีเหงื่อออกท่วมทั่วตัวและในการฝึกจิตให้สงบ ก็อาจจะมีเหงื่อออกเหมือนกัน ร่างกายจะรู้สึกอบอุ่นสบาย มีไออุ่นระเหยออกรอบตัว จนรู้สึกตัวเบาเย็นสบาย นี้ เป็นการปรับธาตุจนสามารถขับโรคออกได้ เมื่อออกจากการฝึก

หน้า93

ปฏิบัติจิตแล้ว ต้องเช็ดเหงื่อทั่วตัวให้แห้ง รอจนกว่าอุณหภูมิร่างกายปรับคืนสู่สภาพปรกติ กลมกลืนกับอากาศภายนอกก่อน จึงจะออกไปสัมผัสต้องลมได้ มิฉะนั้นจะเป็นไข้หวัดได้ง่ายๆ

3. เกิดอาการเคลื่อนไหวของร่างกาย

บางท่านฝึกสมาธิถึงขั้นสงบจุดหนึ่ง จะเหมือนกับการฝึกลมปราณ เมื่อสงบถึงจุดอิ่มตัวจุดหนึ่งที่เรียกว่า “ท่ามกลางความสงบจะเกิดอาการเคลื่อนไหวท่ามกลางการเคลื่อนไหวยังมีจิตสงบที่มีสมาธิ ” เลือดลมจะเดินผ่านจุดต่างๆตามเอ็น ตามข้อ ในร่างกายเกิดอาการเนื้อเต้น เอ็นกระตุก

“ ท่านที่ฝึกแนวสมาธิเพื่อจิต” จะเกิดอาการโยกซ้าย โยกขวา หรือ โยกหน้า โยกหลัง การหายใจก็จะแรงขึ้นและหยาบ ขอให้ท่านทำใจสบายๆตามอาการไปเรื่อยๆ แล้วหลังจากเกิดอาการประมาณ 15-30 ครั้ง หรือนานกว่านี้ อาการก็จะหายไปเอง แต่ถ้าท่านเบื่อหน่ายกับอาการเขย่าเช่นนี้ ขอให้ท่านพิจารณาจนรู้ถ่องแท้กับอาการนี้ ว่ามีอาการกระทำ

หน้า94

อย่างไรแล้วจึงเริ่มสะกดตัวให้อยู่ในท่าปรกติได้ด้วยการใช้สติค่อยๆ ควบคุมลมหายใจให้สงบละเอียดลงมาอาการโยกย้ายของร่างกายก็จะหยุดลงได้

“ ท่านที่ฝึกแนวลมปราณ ” นั้น จากการที่นำส่งกระแสพลังลมปราณทับถมเติมที่จุด “ ตั้งช้าง ” ตลอดเวลา จึงเป็นการเพิ่มแรงกระตุ้นให้ร่างกายเคลื่อนไหวมากขึ้น บางครั้งสั่นโยกรุนแรงถึงกับกางแขนออกว่าเป็นท่ามวยจีนแบบต่างๆอย่างมีระเบียบ การเคลื่อนไหวจะสัมพันธ์ กับลมหายใจที่เข้าออก ซึ่งการเคลื่อนไหวเองโดยที่เราไม่ได้จงใจหรือแกล้งให้ร่ายรำ การเคลื่อนไหวอย่างนี้จะเป็นอยู่ประมาณ 36 วัน อาจจะมีเสียงกระดูกลั่นไปทั่วร่างกาย แล้วร่างกายก็จะค่อยๆกลับคืนสู่ความสงบอีกครั้ง เวลานั้น จะรู้สึกว่า ตัวเบา เหมือนนกพร้อมที่จะบิน และเมื่อเดินทางจะก้าวไวคล่องเหมือนวิ่งอย่างไม่เหนื่อย

ในระหว่างเกิดการเคลื่อนไหวอยู่นั้น ไม่ต้องตกใจ ยังคงทำใจให้สงบ (สำหรับฝึกแนวจิตสงบ ) และ

หน้า95

ยังคงนำส่งพลังลมหายใจเข้าสู่จุด “ ตั้งช้าง ” ต่อไป ที่เรียกว่า ท่ามกลางการเคลื่อนไหวยังมีสมาธิอยู่

อาการเคลื่อนไหวนี้ เกิดขึ้นเมื่อใดหรือว่าจะหยุดเมื่อใด หรือว่าเคลื่อนไหวท่าใดนั้น จะเกิดไม่เหมือนกันทุกคน แต่เขียนไว้เพื่อเตือนสติไม่ให้ตกใจถ้ามีอาการอย่างนี้เกิดขึ้น

หลังจากเกิดอาการเคลื่อนไหวสั่นโยกแล้ว จิตใจจะไม่ค่อยปรกติ คือ ใจสั่นหายใจแรง ควรที่จะเข้าสมาธิปรับจิตใจสบายแล้ว จึงค่อยคลายออกจากสมาธิจะได้ไม่สะเทือนกายทิพย์

4. รักษาอาการช้ำใน

บางท่านที่เคยพลัดตกหกล้ม หรือถูกตีช้ำในที่ใดที่หนึ่ง เลือดก็จะคั่งค้างเป็นก้อนอยู่ที่จุดนั้น เวลาอากาศเปลี่ยนแปลงจะมีอาการเจ็บปวดมากตรงจุดนั้น (คนหนุ่มสาวอาการอาจจะยังไม่กำเริบส่วนมากจะมาเป็นตอนที่มีอายุมากขึ้น หรือว่าสังขารเสื่อมลง ) แต่เมื่อฝึกลมปราณ

หน้า96

เดินทั่วผ่านไปยังจุดที่ช้ำในนั้น ก็จะพยายามทำลายเลือดคั่งค้างก้อนนั้น จึงเกิดอาการปวดมากกว่าเก่าอยู่พักหนึ่ง เป็นการพยายามเดินผ่านของลมปราณ และแล้ว เมื่อผ่านไปได้ ก็จะเป็นการรักษาให้ท่านหายขาดจากโรคช้ำใน

5. เกิดอาการตัวพองโตและเบาอยากจะลอย

เมื่อฝึกสมาธิหรือฝึกลมปราณจนจิตสงบ อาจจะมีความรู้สึกว่า ตัวเองกำลังพองโตๆ มากขึ้น จนตัวโต ยันตึก และกำลังพองจนเกือบจะระเบิดออก หรือบางทีรู้สึกว่า ตัวเองเบาอย่างไร้น้ำหนัก กำลังลอยขึ้นจากที่นั่งจนร่างอยู่ไม่ติดที่ และจะลอยออกไปนอกบ้าน ขอให้ท่านทำใจสบายๆ ไม่ต้องตกใจ เพราะที่จริงแล้วร่างท่านไม่ได้พอง ไม่ได้ลอยเลย เพียงแต่ว่า ภาวะนั้น จิตเริ่มสงบ และธาตุทั้ง 4 เริ่มปรับตัวจนรวมตัวเสมอกัน ลมหายใจก็จะละเอียดเหมือนไม่ปรากฏ จิตของท่านได้ตกภวังค์สติไม่อยู่กับตัว ตามระลึกไม่ทันกับความสงบนั้น สติคลายออกจากสมาธิชั่วแวบหนึ่ง

หน้า97

ไม่ได้จับอยู่กับตัว จึงเกิดอาการอุปาทานรู้สึกเป็นอาการเหล่านี้ได้

6. วิธีปรับถ่ายเทธาตุไฟให้หายปวดหัวตัวร้อนเป็นไข้

บางท่านรู้สึกว่า หัวแม่มือที่จรดชนกันอยู่นั้นร้อนมากจนรู้สึกว่าคล้ายจะลุกเป็นไฟ และ ศีรษะก็ร้อน ประสาทตึงเครียด ปวดขมับ แม้ว่าจะพยายามปลงตกข่มเวทนาว่า กายนี้สักแต่กาย จะเจ็บจะปวดก็เรื่องของกายจิตใจไม่เจ็บปวด ไม่สนใจ ด้วยขันติ ความอดทนอย่างเต็มที่แล้ว อาการธาตุไฟยังคงกำเริบโชติช่วงร้อนไปทั่วสรรพางค์กาย ยังปวดหัวไม่หายแทบจะระเบิดอยู่ให้ปฏิบัติตามวิธีแก้อาการดังนี้

วิธีแก้ไข

ค่อยๆ ถอยออกจากสมาธิอย่างช้าๆ และคลายความนึกคิด ที่รวมจิตใจ ให้เป็นหนึ่ง ที่ตั้งความรู้สึกอยู่ที่ศีรษะนั้นออก เรียกว่า

“ ไม่คิดอะไรอีกที่จะรวมจิต ” แล้วค่อยๆลืมตาขึ้นมองราดต่ำลงที่พื้น หายใจให้สบายๆตามปรกติก่อน แล้วค่อยๆถอนหายใจลึกๆ

หน้า98

ช้าๆ และคลายมือที่ซ้อนกันนั้นออกมากุมที่หัวเข่าทั้งสองข้าง พอหายใจเข้า ก็เอาจิตใจไปจับที่กองลมที่ดูดเข้ามาแล้วผลัก แผ่ซ่านคลายออก ไปทั่วทั้งตัวพร้อมกับลมหายใจที่ปล่อยออกไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเน้นหนักในการคลายออกทางฝ่ามื้อทั้งสองข้าง ก็จะรู้สึกว่า “ มีลมร้อนวิ่งออกทางปลายนิ้ว ”

นี่คือ “ การคลายธาตุไฟออกจากร่างกาย ”

ปฏิบัติอย่างนี้ประมาณ 15-30 นาที ก็หายปวดหัว และตัวไม่ร้อนเป็นไข้อีก

7. อาการคัน

ระหว่างฝึก เมื่อธาตุปรับตัวหรือปรับจนเริ่มจะเสมอนั้น จะมีอาการคันเหมือนแมลงตอมหรือปลาตอด สร้างความรำคาญรบกวนสมาธิ ท่านไม่ต้องกลัว และไม่สนใจอาการนั้น สักประเดี๋ยวก็จะหายไปเอง

8. เกิดอาการท้องเสีย

บางท่านที่ฝึกลมปราณแล้ว อาจจะมีอาการท้องเสีย ท้องร่วง ให้ย้ายความสนใจจากที่จุด “ ตั้งช้าง ” เคลื่อนย้ายลงไปที่ปลายหัวแม่เท้าข้างใดข้างหนึ่ง เมื่อ

หน้า99

ดึงความสนใจไปที่หัวแม่เท้าแล้ว อาการท้องเสียก็จะหายได้

ทั้งนี้ด้วยเหตุว่า การตั้งจุดอยู่ที่จุด “ ตั้งช้าง ” นั้นบางท่านเกิดการบีบรัดทางประสาทรู้สึกว่า เครียดหรือว่าเป็นการบีบรัดลำไส้มากไป เมื่อย้ายความสนใจไปที่จุดอื่นเสีย ก็ทำให้อาการท้องเสียหายได้

9. อาการกลืนน้ำลาย

ระหว่างฝึกสมาธิหรือว่าฝึกลมปราณใหม่ๆ ที่จิตยังไม่สงบ อาจจะมีน้ำลายออกมามากพอสมควร ควรที่จะค่อยๆ กลืนเข้าไปอย่างช้าๆ ไม่ต้องบ้วนทิ้ง เพื่อจะได้ช่วยเป็นน้ำย่อยอาหารด้วย และเมื่อจิตสงบแล้วจะรู้สึกว่า น้ำลายนั้นไม่ไหลออกมาอีก จนเราไม่ต้องคอยพะวงกลืนน้ำลาย แต่พอจิตคลายออกจากสมาธิเมื่อใด น้ำลายก็จะเริ่มไหลท่วมทั่วปากอีก

เป็นที่น่าสังเกต ดังนี้

หน้า100

ข้าขอปฏิญาณกับตัวข้าเองว่า

“ ด้วยเจตนาอันแน่วแน่ไม่เสื่อมถอยของข้า

ขอให้ข้าสำเร็จลุล่วงสู่ทางสงบเร็ววัน ”

คิดดีแล้ว
ตั้งใจมั่นคงแล้ว
เป็นการดำริชอบแล้ว
ก็เริ่มต้นลงมือปฏิบัติต่อไป

หน้า101

บทที่1 ฝึกกำหนดจิตกักบริเวณตัวเอง

สมาธิ

สมาธิคือการฝึกจิตใจให้สงบมุ่งมั่น มีสติรวบรวมกำลังใจให้เกิดพลังอันเข้มแข็ง ดำรงตั้งอยู่กับตัวในจุดเดียว อารมณ์เดียว อย่างสม่ำเสมอทุกขณะ ทุกอิริยาบถ จะต้องระลึกรู้สึกตัวคิดได้ก่อนทำ ด้วยอำนาจสมาธิจะระงับความคึกคะนองของจิต ใจอันจะส่งผลถึงการควบคุมกายและวาจาให้สงบระงับด้วย

ปรกติเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ลงมา ส่วนมากจะปฏิบัติจิตได้ผลดีกว่าผู้ใหญ่ เพราะว่าส่วนมากจิตใจยังไม่วุ่นวาย แต่คนที่อายุตั้งแต่ 15 ปี ขึ้นไปนั้น ส่วนมากชอบคิดมากจนเรียกว่า “ จิตฟุ้งซ่าน ”

ผู้ฝึกใหม่ควรที่จะหาสถานที่ที่ปลอดโปร่ง อากาศถ่ายเทได้ดี ไม่รกรุงรังอยู่ห่างไกลจากเสียงรบกวน

หน้า102

คนที่ฝึกใหม่อาจจะพบว่า ไม่เข้าฝึกปฏิบัติจิตแล้ว ไม่มีความคิดฟุ้งซ่าน แต่พอเข้าปฏิบัติจิตแล้ว ความคิดฟุ้ง ซ่าน สับสนวุ่นวายร้อยแปดอย่างเรียงแถวเข้ามาอย่างไม่หยุดหย่อน

ความจริงก็คือ เวลาปรกตินั้น ความนึกคิด ฟุ้งซ่าน มีอยู่เสมอตามประสาของคนที่ยังมีกิเลสอยู่เพียงแต่ความนึกคิดเหล่านั้นถูกดึงความสนใจให้กระจายไปสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมจึงทำให้จิตใจไม่รู้สึกคิดมาก

เป็นธรรมดาท่านที่เข้าฝึกปฏิบัติจิตใหม่ๆ จะรู้สึกว่า ความนึกคิดนี้ดับไป ความนึกคิดอีกอย่างหนึ่งก็ผุดแทรกขึ้นมาแทนที่ จับไม่ได้ ตามไม่ทัน เกิดดับอยู่ตลอด เป็นการก่อกวนจิตใจให้สงบได้ยาก

ท่านไม่ต้องกังวล

ขอให้ท่านหยุดคิดคำนึงอื่นใด ค่อยๆหาจุดยึดเหนี่ยว ฝึกตามวิธีต่อไปนี้นานๆเข้า จิตย่อมสงบเอง

เลือกท่าฝึกปฏิบัติจิตที่เหมาะสมกับสังขารของท่านท่าใดท่าหนึ่ง แล้วปฏิบัติดังนี้

หน้า103

ถอนหายใจลึกๆ ช้าๆ 10 ครั้ง ตามแบบการฝึกลมปราณ (หน้า79 ) ก่อน และหลังออกจากฝึกสมาธิทุกครั้ง เพื่อเป็นการปรับธาตุภายในร่างกายให้ปรกติแล้วค่อยๆปิดหนังตาลงให้สนิท เพื่อไม่ให้ตาสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมเป็นการป้องกันไม่ให้กระแสภายนอกผ่านเข้ามาก่อกวนปรุงแต่งให้จิตใจฟุ้งซ่าน พอปิดหนังตาแล้วต้องจำไว้ว่าต้องไม่ลืมตาขึ้นอีก

หลังจากหลับตาแล้ว ให้ภาวนาในใจเมื่อหายใจเข้าว่า “ พุท ” และเมื่อหายใจออกว่า “ โธ ” เป็นการน้อมจิตใจให้ระลึกถึงพระพุทธเจ้า แม้จะสงบหรือไม่สงบก็ยังคงบริกรรมภาวนาไปเรื่อยๆ โดยจิตใจจับอยู่กับคำภาวนาว่า “ พุท ” และ “ โธ ” อยู่เสมอ

ถ้ามีการพลั้งพลาดจากคำภาวนา ในใจแล้วไปคิดเรื่องอื่นก็ค่อยๆตั้งสติขึ้นมา ดึงความนึกคิดนั้นกลับมา ท่อง “ พุท ” “ โธ ” ใหม่อีก สลับอยู่อย่างนี้จนจิตใจเคยชินกับคำภาวนา จิตใจก็จะค่อยๆ จดจ่อลงสู่คำภาวนาจนเกิดความสงบได้ไม่มากก็น้อย

หน้า104

ท่านจะต้องไม่ลุกจากที่นั่งโดยเด็ดขาดก่อนเวลาที่กำหนดไว้อย่างน้อยครั้งละ 5 – 15 นาที แม้จะเกิดความหงุดหงิดหรือถูกเสียงอะไรรบกวน หรือปวดเมื่อยก็ตาม ขอให้ท่านอดทนรอจนครบเวลากำหนด ( โดยเราใช้นาฬิกาปลุก ให้ไขลานเล็กน้อยก็พอ ป้องกันเสียงนาฬิกาทำให้ตกใจ) ปฏิบัติเช่นนี้ทุกวันอย่างน้อย 7 – 15 วัน หรือนานกว่านี้ จนเกิดความเคยชินกับการกักบริเวณตัวเอง โดยขอให้ปฏิบัติบ่อยๆแต่ใช้เวลาครั้งละน้อยๆ

ในขั้นนี้

“ จิตมนุษย์เราเปรียบเหมือนกับลิงที่อยู่ไม่เป็นสุข

เราก็พยายามฝึกลิงคือ “ ใจ ” ให้อยู่เฉยๆสบายๆเป็นสุขได้

และมองเห็นความวุ่นวายไม่หยุดเป็นทุกข์ ”

หน้า105

บทที่หนึ่งนี้ เหมาะกับผู้ไม่เคยฝึกมาก่อน และใช้ฝึกกับเด็กเล็กๆได้

แต่ควรจะศึกษาวิธีป้องกันภาวะการตกใจจากการฝึกสมาธิ

ถ้าเป็นเด็กก็ควรให้ผู้ใหญ่อยู่ใกล้ๆ และบอกให้เด็กเข้าใจว่า ถ้าพบเห็นอะไร หรือตกใจเพราะได้ยินเสียงดัง หรือเหตุอื่นที่จะทำให้ตกใจนั้น ไม่ต้องตกใจครูหรือผู้ใหญ่เป็นเพื่อนอยู่ใกล้ตัวเด็กแล้ว

ถ้าพบเห็นเด็กตกใจจะลุกจากที่ ก็บอกให้นั่งต่อ ปลอบให้คลายจากอาการตกใจ และฝึกต่ออีกสักครู่จนจิตใจคืนสู่สภาพปรกติแล้ว จึงออกจากสมาธิได้

หน้า106

หัวใจของความสำเร็จในการฝึกสมาธิ

ความสำเร็จของงานชิ้นหนึ่งไม่ใช่สำเร็จด้วยเวลา 5 หรือ 10 นาที ก็จะลุล่วงด้วยดี จึงขอให้ปฏิบัติเดินไปเรื่อยๆ ไม่ช้าก็จะสำเร็จ

ได้ก็ไม่ดีใจ ไม่ได้ก็ไม่เสียใจ

ไม่รีบไม่เร่ง ไม่ทะยานอยากได้

ถึงก็ช่าง ไม่ถึงก็ช่าง

เดินไปเรื่อยๆ มุ่งสู่ทางสงบ

เหนื่อยก็พัก หิวก็กิน

แม้วันนี้ไม่สงบ พรุ่งนี้ก็ต้องสงบ

พรุ่งนี้ไม่สงบ วันหนึ่งข้างหน้าก็ต้องสงบ

หน้า107

บทที่2 หาจุดยึดให้จิตสงบขั้นต้น

เพื่อให้การฝึกปฏิบัติจิตให้สงบ จึงแนะนำให้มีการยึดในบทนี้ การยึดนี้ เป็นการหาหลักให้จิตที่ลอยเคว้งนั้นจับไว้ แล้วค่อยๆ พยุงเข้าสู่เป้าหมายต่อไป

ดังนั้น จึงฝึกด้วยวิธีต่อไปนี้

เลือกท่าฝึกสมาธิที่เหมาะสมกับสังขารของท่านหายใจลึกๆช้าๆยาวๆ 10 ครั้ง ตามแบบการฝึกลมปราณหน้า (79)

เริ่มฝึกด้วยอานาปานสติ คือฝึกจิตใจให้สงบมีสติด้วยการยึดลมหายใจ วิธีฝึกนี้ เป็นกรรมฐานที่ทุกคนสามารถฝึกปฏิบัติให้เกิดความสงบได้ดี ใช้ได้ทั้งในการฝึกสมถกรรมฐาน คือ ฝึกจิตให้สงบได้สมาธิ และใช้ฝึกปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน คือฝึกให้เกิดปัญญาเห็นแจ้งแห่งการเกิดดับไม่เที่ยงแท้ ตามสภาวะธรรมที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ได้ไม่นาน ทนอยู่ไม่ได้ ดับไป ไม่ใช่

หน้า108

ตัวตน เราเขา ไม่เป็นตัวตนที่จะให้ยึดมั่นถือมั่นว่าของเรา

การฝึกตามแนวนี้ เป็นที่นิยมใช้ฝึกกันมากเพราะเมื่อฝึกจนจิตสงบจะเกิดความปีติ และนิมิตลักษณะดีไม่น่าหวาดกลัว เป็นการเพิ่มพูนความพอใจรักใคร่และขยันหมั่นเพียรที่จะประกอบการฝึกปฏิบัติจิตมากขึ้นซึ่งการฝึกวิธีนี้ ลมหายใจเป็นอารมณ์ที่มีอยู่แล้วในร่างกายของเราทุกคน

เข้าอิริยาบถท่าฝึกแล้ว ค่อยๆหลับตาลง

วิธีหายใจเข้าออกที่ถูกต้อง คือหายใจเข้าออกอย่างละเอียด สม่ำเสมอต่อเนื่อง หายใจเป็นธรรมดาตามธรรมชาติไปเรื่อยๆ โดยไม่หายใจหยาบมีเสียงดังและขาดหายเป็นช่วงๆ

เมื่อเข้าฝึกใหม่ๆนั้น กายและใจยังกระสับกระส่ายไม่สงบ คิดฟุ้งซ่านกวัดแกว่ง ดิ้นรน กระวนกระวาย สมองต้องทำงานหนัก หัวใจต้องสูบฉีดโลหิตไปหล่อเลี้ยงร่างกายมาก จึงต้องการอากาศดีไปหล่อเลี้ยงร่างกายมาก ทำให้ปอดต้องหายใจแรง หยาบถี่

หน้า109

ขอให้ทำใจสบายๆค่อยๆฝึกไป ด้วยเมื่อหายใจเข้าท่องว่า “ พุท ” และเมื่อหายใจออกว่า “โธ ” ดังต่อไปนี้

“ หายใจเข้า ”

ระหว่างที่หายใจเข้านั้น ให้ตั้งสติรู้ว่า “ ลมหายใจกำลังเข้า ” และบริกรรมภาวนาในใจว่า “พุท ” สมมุติว่าเห็นตัว ( หนังสือหรือเสียง ) “ พุท ” กำกับจับอยู่กับลมหายใจที่เกิดขึ้นเริ่มกระทบเข้ารูจมูก (สมมุติว่าข้างขวา) และถูกดูดดึงลงไปๆสู่ปอดที่ทรวงอกลงช่องท้องสลายกับเม็ดเลือดแดงวิ่งไปทั่วร่างกาย

ตัว “ พุท ” ที่กำกับจับมากับ “ ลมหายใจเข้า ” ก็ละลายหายไปกับลมหายใจ

“ ลมหายใจออก ”

เมื่อลมหายใจที่ถูกใช้งานแล้ว ก็จะก่อตัวมารวมกันที่ช่องท้อง ให้ตั้งสติรู้ว่า “ ลมหายใจกำลังจะออก ” และบริกรรมภาวนาในใจว่า “ โธ ” กำกับจับอยู่กับลมหายใจที่ก่อตัวขึ้นที่ช่องท้องนั้น คลายส่งไปยังปอดที่ทรวงอกและสุดท้ายออกสู่รูจมูก (สมมุติว่าข้างซ้าย)

หน้า110

ตัว “ โธ ” ที่กำกับจับมากับลมหายใจออกนั้นก็ละลายหายไปกับลมหายใจที่สลายไปในอากาศ

ภาวนาบริกรรมท่อง “ พุท ” “ โธ ” กำกับหมุนเวียนไปเห็นการเกิดดับของลมหายใจอยู่ตลอดเวลา คือ เกิดแล้วก็ดับสลายไปในที่สุด ทนอยู่ไม่ได้ เพราะไม่เที่ยงแท้ ไม่ยั่งยืนจีรัง ไม่มีตัวตนที่จะให้ยึดมั่นถือมั่นอยู่ได้ ฝึกเช่นนี้ไป ฝึกจนจิตรู้เห็นแจ้งการ “ เกิด ” “ ดับ ” การสลายของลมหายใจ

วิธีที่ดีที่จิตจะจับตัว “ พุท ” “ โธ ” การจับนี้จับแค่อยู่ ไม่ใช่จับด้วยความยึดมั่นถือมั่นจนประสาทเครียด จิตจับที่ “พุท ” “ โธ ” เบาๆเหมือนเกาะด้วยการใช้มือเเตะเพียงเบาๆไม่ช้านัก จิตใจที่คิดนานาประการนั้นก็จะมารวมอยู่ที่ “ พุท ” “ โธ ”และเมื่อภาวนาต่อไปอีก จิตใจก็จะค่อยๆลดการพยศลงและค่อยๆสงบลงไปตามลำดับ การหายใจก็จะค่อยๆละเอียดลงไปตามลำดับ การหายใจก็ค่อยๆเบาลงตาม คำบริกรรม “ พุท ” “โธ ” ก็จะค่อยๆเลือนหายไป เราไม่ต้องพะวงไขว้คว้าหาตัว “ พุท ” “ โธ ” ก็จะค่อยๆเลือนหายไป เราไม่ต้องพะวงไขว้คว้าหาตัว “ พุท ” “ โธ ”

หน้า111

มายึดเกาะไว้อีก เพราะจุดหมายของเราต้องการไปยึดที่ลมหายใจ คำบริกรรมเป็นเพียงแต่เหมือนเชือกที่สนตะพายวัว(จิต) ที่พยศให้อยู่กับหลักคือกายเพื่อให้สงบลงไป
เมื่อฝึกจิต(วัว) จนหายพยศแล้ว จิต (วัว)นั้นก็จะสงบระงับลงอยู่กับที่ โดยไม่จำเป็นต้องใช้เชือก (คำบริกรรมพุทโธ)
เมื่อจิต “ ละ ” จากการท่องคำภาวนา “ พุท ” “โธ ” แล้ว
ให้ตั้งสติมั่นอยู่กับใจของท่าน กำหนดระลึกรู้อยู่ตลอดเวลาไปจดจ่อแนบติดลมหายใจเข้าออก รู้ตามทันลมหายใจว่ากำลังเข้าและออก รู้ชัดว่า ลมหายใจเข้าออกนั้นยาวหรือสั้น เมื่อกำหนดจิตใจให้มีสติติดตามจนรู้ชัดไม่คลาดเคลื่อนแล้ว ด้วยการจดจ่อลมหายใจนี้ก็จะดึงเอาสติให้วิ่งแนบอยู่กับอารมณ์ของลมหายใจ จิตใจก็สงบมากขึ้น ลมหายใจก็จะค่อยๆละเอียด สมาธิก็ค่อยๆปรากฏขึ้นตามลำดับ และในที่สุด กำลังความคิดของจิตทั้งหมดก็จะดิ่งไปสู่ลมหายใจแห่งเดียว

หน้า112

เมื่อจิตเพ่งจับที่ลมหายใจนั้นจดจ่อมากขึ้น เพ่งจนเกิดนิมิตภายในใจ มีความรู้สึกว่า ลมหายใจนั้นเป็นกลุ่มไอสีขาวๆใสๆวิ่งเข้าออก แต่ยังไม่แจ่มชัดนิมิตนี้เป็นนิมิตหมายที่ได้จากการบริกรรมที่เรียกว่าเกิด “ บริกรรม นิมิต ”
ระหว่างเข้าสมาธินั้น จะต้องตื่นตัวคอยควบคุมจิตให้อยู่ในอารมณ์เดียวเสมอ อย่าปล่อยใจให้เตลิดไปนอกลู่นอกทางไปตามความคิดต่างๆ จิตใจเหม่อลอยหรือเคลิบเคลิ้มอยากนอน จนบางครั้งจิตใจอาจจะพลาดคลาดออกจากการจดจ่อแล้วคิดฟุ้งซ่านจนเกิดอาการวิตกกังวลท่านจะต้องพยายามควบคุมจิตเหมือนควบคุมม้าให้วิ่งอยู่แต่ในทางที่เราต้องการเท่านั้น
ถ้าม้า (จิต) วิ่งออกนอกเส้นทางที่เราต้องการสติเริ่มค่อยๆเลือนหาย ง่วงเหงาหาวนอน
แก้ไขอาการนี้ด้วย การค่อยๆยืดอกขึ้น หายใจลึกๆยาวๆช้าๆหลายๆครั้ง จิตก็จะสดชื่นตื่นจากภวังค์อีกครั้ง และเข้าสู่สมาธิต่อไป เริ่มต้นพิจารณาติดตามลมหายใจเข้าออกใหม่ สลับกันเช่นนี้จิตก็จะมีสติ

หน้า113

แล้วค่อยๆ สงบอีกครั้ง ด้วยปรกตินั้นจิตใจของเรานั้นถูกตามใจไปตามอารมณ์ของตนที่ต้องการ เหมือนม้าป่าที่ไร้การฝึกอบรม เมื่อนำจิต(ม้า) นั้นเข้ารับการฝึกอบรมให้สงบหายพยศเพื่อใช้งานได้นั้น อาจจะต้องใช้เวลามากหรือน้อยต่างกัน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับพื้นฐานนิสัยของจิตที่อบรมมาจากชาติปางก่อนและชาตินี้ ขอเพียงแต่ท่านมีความเพียร อุตสาหะ วิริยะ ไม่ท้อถอย ไม่ช้าจิตก็จะสงบอย่างแน่แท้
เมื่อปฏิบัติฝึกจิตจนสงบเกิดความเคยชิน และคล่องแคล่วแล้วจะรู้จุด รู้วิธี รู้ขั้นตอนที่จะหาความสงบให้กับจิตใจของท่านได้ทุกเวลาที่เข้าสมาธิ
จิตใจสงบเมื่อใดแล้ว ก็จะรู้สึกว่าห้วงแห่งความนึกคิดของตนว่างเรียบสบายจิตก็จะค่อยๆคลายออกจนหยุดการยึดมั่นถือมั่นลมหายใจที่เข้าออก คือ จิตใจขณะนั้นจะไม่ไปตามจับแนบอิงกับลมหายใจที่ “ กำลังเข้าและออก ” แต่ตั้งสติระลึกรู้อยู่ที่ริมฝีปากบน (หรือรูจมูก) ตอนนี้จิตเหมือนนายทวารที่เฝ้าประตู รู้เสมอว่า “ ยังมีลมหายใจเข้าออกอยู่ ” (แต่ไม่ได้

หน้า114

ตามเข้าไปดูว่าไปไหน) จิตจึงได้รับความอิสระลอยอยู่ท่ามกลางความนิ่งสงบรู้สึกว่า โล่งอก โล่งใจ เกิดความปีติ สงบจิต สบายกาย พอใจ รักใคร่ ในอารมณ์นั้น
ขณะนั้น ห้วงทะเลแห่งความนึกคิดของเรานั้นเข้าสู่ภาวะคลื่นลมสงบเงียบเรียบ เหมือนผิวนํ้าอันไร้คลื่นและ เมื่อฝึกจนเกิดความสงบมากขึ้นตามลำดับแล้วผิวนํ้านั้นก็จะค่อยๆ สว่างเรืองแสงเกิดขึ้นมาตามธรรมชาติของจิตที่ได้มีความสงบ จิตยิ่งสงบเพียงใด ยิ่งเปล่งแสงมากเพียงนั้นแม้นั่งอยู่ในที่มืดหรือเวลากลางคืนก็ตามหลับตาจะมีความรู้สึกเห็นความสว่างอยู่เฉพาะหน้าความสว่างนี้ไม่ได้เกิดขึ้นด้วยอุปาทาน และการจินตนาการของความนึกคิด ซึ่งท่านปฏิบัติฝึกถึงขั้นระดับนั้นแล้วก็จะสว่างเอง เห็นความสว่างทั่วท้องฟ้า และเมื่อจิตคลายออกจากสมาธิ หรือคิดฟุ้งซ่าน ทำให้จิตเกิดอาการขุ่นมัวด้วยการวิตกกังวลใดๆ แสงสว่างนั้นก็จะหายไป

หน้า115

แสงสว่างนั้น เราจะได้เห็นอีกครั้งต่อเมื่อเราฝึกสมาธิให้จิตสงบใหม่ ก็จะเห็นแสงสว่างนั้นอีก แสงสว่างจะเกิดดับเป็นเช่นนี้ตลอดไปที่จิตเรายังไม่นิ่งดี จนกว่าเราจะฝึกจิตจนเกิดความชำนาญนิ่งดี สติตั้งมั่นอยู่ในความสงบได้นานแล้ว ก็จะได้เห็นแสงสว่างนั้นคงอยู่เสมอไปด้วยความรู้สึกทุกครั้งที่เราหลับตา
แต่ถ้าท่านฝึกจิตใจสงบแล้ว ไม่พบเห็นแสงสว่าง ก็ไม่มีความจำเป็นต้องไปดิ้นรนใฝ่หาแสงสว่างเพราะนิมิตนี้เป็นเพียงสัญญาณอย่างหนึ่งเท่านั้น มีอยู่หลายท่านที่ฝึกจนจิตสงบในระดับนี้ อาจจะไม่มีแสงสว่างเกิดขึ้นก็ได้ จึงไม่ต้องไปวิตกกังวลกับนิมิตนี้
สมาธิระดับนี้เขาเรียกว่า “ ขณิกสมาธิ ”
คือสมาธิที่ได้จากอารมณ์ของจิตที่ได้ฝึกให้นิ่งสงบลงเพียงระยะเวลาสั้นๆชั่วขณะหนึ่ง คือจิตใจจะมีสติตั้งมั่นสงบดำรงอยู่ได้ชั่วคราว แล้วจิตก็คลายถอนขึ้นมา
ดังนั้น สมาธิระดับนี้ จึงเรียกว่า “ ได้สมาธิขั้นต้น ”

หน้า116

ภาวะขณะนี้จิตใจเริ่มสงบไม่ฟุ้งซ่าน มีธรรมารมย์เป็นเป้าหมายให้กับจิตใจยึดเหนี่ยวเป็นอารมณ์ และเริ่มรู้จักวิธีการหาความเงียบสงบ ท่ามกลางความวุ่นวายของจิตและสังคม
ท่านจะต้องขยันหมั่นเพียร ฝึกจนเกิดความชำนาญเพื่อความเจริญในสมาธิผลให้มั่นคงทนอยู่ เพื่อเป็นบันไดไต่ไปสู่สมาธิระดับสูงต่อไป

หน้า117

สีของแสงคือสัญลักษณ์ของกิเลส

แสงที่เกิดขึ้นจากการฝึกจิตในขั้นต้นนี้ เกิดได้ด้วยเหตุที่ธาตุทั้ง 4 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ในร่างกายเราปรับรวมตัวเข้ากันเสมอ จิตนิ่งสงบ แล้วจึงเปล่งแสงออกมาทางจิตใจ ความรู้สึก และแสงนั้นจะมีสีต่างกัน

สีเหล่านี้ เป็นปรากฏการณ์จากอารมณ์ภายในของจิตใจ ได้แผ่ออกมาเป็นไปตามสัญลักษณ์ตัวแทนของกิเลส 3 กอง คือ โลภ โกรธ หลง

ท่านที่ฝึกจิตให้สงบในขั้นนี้ใหม่ๆ แสงสีนั้นจะปรากฏเป็นสีขาว อันหมายถึง ความบริสุทธิ์ ของจิตเฉพาะในสภาวะขณะนั้นที่นิ่งสงบสะอาดอยู่ชั่วขณะหนึ่งแล้วก็จะเปล่งสีที่แท้อันเป็นธาตุแท้ของจิตออกมา

หน้า118

วิธีแยกพิจารณาสีที่ปรากฏในขั้นนี้

1. โลภจริต (ราคะจริต)

ตระกูลสีเขียวหม่นหมอง คือมีสีเขียวเป็นหลักแต่เป็นสีที่ไม่สดใส คือเป็นสีที่ดูแล้วหม่นหมองขุ่นมัว มีสีแก่อ่อนลดหลั่นลงไปตามลำดับแบบขั้นบันได เช่น สีเขียวใบไม้แก่ใกล้จะร่วง สีเขียวใบไม้เน่า สีเขียวตองอ่อน สีเหลืองขุ่นมัว เป็นต้น เป็นสัญลักษณ์ปรากฏให้รู้ว่า คนประเภทนี้ มีโลภจริตเป็นเจ้าเรือน มีอารมณ์โลภอยากได้ มักติดอกติดใจ มีอารมณ์หนักเบาตามสีแก่อ่อนที่แสดงออกมา

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นสีแสดงออกของคนที่มีเลือดบ้าใฝ่ใจถึงกามตัณหา โดยเน้นหนักไปในด้านความกำหนัดเพศสัมผัสกามราคะ

วิธีแก้

ต้องหมั่นฝึกจิต ให้สงบเพื่อมองเห็นผลร้ายของกิเลส เจริญปลงอสุภะ พิจารณาถึงความที่ร่างกายคนเรานั้นเป็นสังขารที่ไม่เที่ยงแท้ เปลี่ยนแปลงไปตามภาวะที่ทุกคนต้องเกิด แก่ เจ็บ ตาย ไม่ว่าคนที่เรารัก

หน้า119

หรือตัวเราเองต่างก็ต้องตายเมื่อใดก็ได้ เนื้อหนังผุพัง เน่าเปื่อย ความสวย ความงามที่น่ารักที่เคยมีอยู่ก็จะสลายไปตามกาลเวลา ไม่ยั่งยืนจีรัง

จิตได้ปลงจนสงบระงับลง ปลงจนทุกครั้งที่เรานึกคิดถึงหรือเวลาที่เราได้พบปะเห็นเพศฝ่ายตรงข้ามที่เราเคยสัมพันธ์ หรือความอยากได้ทั้งปวงว่าเป็นของไม่เที่ยงแท้ เป็นทุกข์ทนอยู่ไม่ได้ แล้วก็ผุพังเน่าไปโดยไม่มีอะไรให้ยึดมั่นถือมั่น จิตปลงเช่นนี้ทุกครั้งที่จิตเรานึกคิดกามราคะ จิตปลงบ่อยๆเข้า จิตก็จะคลายออกจากกามราคะ

2.โทสจริต (โกรธ)

ตระกูลสีแดง คือสีที่มีส่วนผสมของสีแดงตั้งแต่ สีแก่ลดหลั่นลงไปตามลำดับแบบขั้นบันไดเช่น สีแดงแก่ แดงม่วง แดง ส้มแดง ส้ม เป็นต้น เป็นสัญลักษณ์ปรากฏให้รู้ว่าคนประเภทนี้มี โทสจริต เป็นเจ้าเรือน มีอารมณ์ขี้โมโห โทโส เลือดขึ้นหน้าบ่อยมีอารมณ์หนักเบาตามสีแก่อ่อนที่แสดงออก

หน้า120

อนึ่ง ถ้ามีสีขุ่นมัวเข้าผสม ที่เรียกว่า ช้ำเลือด ช้ำหนอง สีน้ำล้างเนื้อเข้าผสมในสีแดงที่มีอยู่แล้ว แสดงว่า คนๆนี้ เป็นคนโทสะโกรธง่ายแล้วยังเป็นคนขี้โกรธอย่างไม่มีเหตุผล เอาแต่อารมณ์ของตนเป็นใหญ่ เวลาโกรธขึ้นมาไม่ฟังใครคัดค้านหรือหักห้ามทั้งนั้น

วิธีแก้

ต้องหมั่นอบรมฝึกใจเพ่งเล็งไปยังนิสัยที่ตรงกันข้ามกับความโกรธ ปลูกฝังความโอบอ้อมอารี ความเห็นใจ ความสงสารให้เกิดขึ้นในจิตใจ สร้างพลังแห่งกุศลธรรมด้วยการให้ได้ครองพรหมวิหารธรรม 4 ประการคือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา และ

หมั่นเจริญแผ่เมตตาที่ประกอบด้วยเจตนาดีจากส่วนลึกของจิตใจอุทิศกุศลถึง พรหมโลก เทวโลก มนุษย์โลก นรกโลก เจ้ากรรมนายเวร และเผื่อแผ่ไปยังสิ่งมีชีวิตทั้งปวงอย่าได้มีเวรซึ่งกันและกันเลย

ด้วยอารมณ์ เมตตา เป็นคนใจดีชอบเผื่อแผ่ช่วยเหลือคนอื่นอย่างไม่เห็นแก่ตัว

หน้า121

กรุณา เกิดความสงสารที่เห็นคนอื่นได้รับทุกข์

มุทิตา ยินดีด้วยกับคนอื่นที่ได้รับความสุข

อุเบกขา การควบคุมจิตใจให้สม่ำเสมอวางเฉยไว้ได้ ไม่ไปยินดียินร้ายและไม่เหยียบย่ำซ้ำเติมกับกรรมวิบากของสัตว์โลกที่เราไม่สามารถช่วยอะไรเขาได้

3.โมหจริต (ความหลง)

ตระกูลสีดำ คือสีที่มีส่วนผสมของสีดำตั้งแต่สีเข้มแก่ลดหลั่นลงไปตามลำดับแบบขั้นบันไดเช่น สีดำสนิท สีเทาแก่ เทาอ่อน เป็นต้น เป็นสัญลักษณ์ปรากฏให้รู้ว่า คนประเภทนี้มี โมหจริตเป็นเจ้าเรือน และอกุศลกรรมกำลังวิบาก ดวงกำลังมืด ได้เข้าปิดบังปัญญา ให้เห็นผิดเป็นชอบ จิตใจฟุ้งซ่าน หงุดหงิด รำคาญ และบางครั้งมองไม่เห็นภัยอันตรายในภาวะนั้น จึงอาจจะกระทำสิ่งไม่ดีที่คิดไม่ถึง หรือประสบเหตุการณ์อันไม่คาดฝันมาก่อน เช่น บาดเจ็บเล็กน้อยถึงขั้นสาหัสหนักๆอาจจะถึงตายได้ ทั้งนี้หนักเบาตามแต่อกุศลกรรมที่กำลังวิบากแล้วแสดงออกมาเป็นสัญลักษณ์ตามความแก่อ่อนของสี

หน้า122

วิธีแก้

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การประพฤติตนเป็นคนดี หมั่นถือศีล สวดมนต์ ไหว้พระทำสมาธิให้ใจสงบเกิดปัญญาระลึกชอบ พิจารณาจนแจ้งซึ่งเหตุผลอันดีที่ควรประพฤติปฏิบัติต่อไปด้วยการ แผ่เมตตาอุทิศกุศล อย่างสม่ำเสมอทุกขณะจิต ขอให้เจ้ากรรมนายเวรจงอโหสิกรรมและฝึกเป็นคนใจกว้าง พร้อมอภัยให้กับคนอื่นและตนเอง สร้างจิตใจให้มีอภัยทานเป็นสรณะ และช่วยเหลือคนอื่นโดยไม่เห็นแก่ตัว

จิตใจที่มืดมนและอกุศลกรรมที่วิบากก็จะค่อยๆคลายจากหนักเป็นเบาได้จิตก็จะค่อยๆสว่างขึ้น

หน้า123

ทานยาสมุนไพรช่วยรักษาอาการปวดเมื่อยเอว

ปรกติ ท่านฝึกสมาธิถึงระดับขั้นนี้แล้ว แม้จิตใจเริ่มสงบ สมองไม่คิดฟุ้งซ่าน บางครั้งใจก็เริ่มปล่อยวางไม่รับรู้อาการปวดเมื่อย อาจเกิดอาการปวดเอวตรงบริเวณชายโครงของร่างกาย แม้จะฝึกปฏิบัติสมาธิจิตสงบแล้วทำใจปลงอนิจจังว่า ความทุกข์จากการปวดนี้เกิดได้ตั้งอยู่แล้วก็ต้องทนอยู่ไม่ได้ สุดท้ายต้องดับหายไป ฝึกไปบ่มจนจิตใจรู้แจ้งอาการแห่งอาการทุกข์เวทนาครั้งแล้วครั้งเล่ามานานวันแล้ว ท่านยังไม่หายปวดหรือเบาบางจากโรคแล้ว ขอให้ท่านเข้าใจว่า “ ไต ” ของท่านอาจจะมีอาการบอบช้ำมาก จนพลังจากการนั่งสมาธิไม่สามารถช่วยรักษาซ่อมแซม ขอให้ท่านรับประทานยาสมุนไพรเกี่ยวกับการแก้กษัย ควบคู่กับการเข้าสมาธิอาการของท่านก็จะดีขึ้นตามลำดับ เพราะปกติแล้ว พลังจากการเข้าสมาธิจะช่วย รักษากายเนื้อให้หายเจ็บปวดได้

หน้า124

ถ้าสังขารนั้นไม่ร่วงโรยเกินไป ซึ่งท่านคงจะเคยได้ยินเรื่องกำลังภายในซึ่งมีพื้นฐานมาจากการฝึกสมาธิเช่นกันที่สามารถนำพลังภายในกายไปรักษาโรคทั่วๆไปได้

ระหว่างที่รักษาโรคไตเสื่อมปวดหลังนี้ ไม่ว่าหญิงชาย ห้ามมั่วในกามอย่างเด็ดขาด การรักษาโรคเหล่านี้จะได้ผลต่อเมื่อท่านไม่ทรยศต่อสัจจะ ของตัวท่านเองที่ตั้งไว้ที่จะพยายามฝึกจิตสม่ำเสมอ เพื่อรักษาโรคภัยไข้เจ็บของตัว ขอให้สังวรว่า “ ใครกินใครอิ่ม ” เวลาเจ็บปวด ไม่มีใครมาเจ็บปวดแทนท่านได้ ยาชุดนี้เป็นตำหรับยาจากหมอจีน ที่ต้องการเผยแพร่เป็นวิทยาทาน โดยมิได้หวังผลตอบแทนใดๆทั้งสิ้น

ยานี้สั่งซื้อที่ร้านขายยาจีน ให้เขาปั้นเป็นลูกกรอนเท่าเม็ดถั่วเขียว ทานก่อนนอนคืนละ 10 เม็ด ถ้ามี อาการร้อนใน คือคอแห้ง มีเสมหะเหนียว ก็ลดน้อยลงมาเหลือคืนละ 5 เม็ด (ระหว่างทานยาห้ามกินน้ำแข็งน้ำเย็น)

สตรีมีครรภ์คนมีไข้ตัวร้อนห้ามรับประทาน

สรรพคุณ

บำรุงเลือด แก้ปวดหลัง แก้หัวเข่าและขาไม่มีแรง

หน้า126

ด้วยจิตที่มุ่งมั่น

เต็มเปี่ยมด้วยศรัทธาอันแรงกล้า

จึงไม่มีอุปสรรคใดที่จะขวางกั้นจิตเราได้

หน้า127

บทที่3 ฝึกจิตให้สงบมากขึ้นในขั้นกลาง

วิธีการฝึกบทนี้เป็นบทฝึกต่อเนื่องจากบทที่2

ดังนั้น

ถ้าท่านไม่ได้ฝึกต่อเนื่องมาตลอดก็ควรที่จะฝึกตั้งแต่บทที่1,2,แล้วจึงมาลงฝึกบทที่3 นี้ ซึ่งการฝึกนั้น อาจจะใช้เวลาเพียงเล็กน้อยก็สามารถบรรลุขั้นตอนตามบทที่1,2,แล้วเข้าสู่บทที่3นี้ เป็นการทบทวนความจำเพื่อนำมาเรียนต่อเนื่องบทนี้

ท่านที่ฝึกจากบทที่2 แล้ว เห็นแสงสว่างอยู่หรือท่านที่ฝึกจนสงบถึงระดับนี้ แต่ไม่เห็นแสงสว่างนั้น

ขอให้ฝึกต่อด้วยการภาวนา “ พุท ” “โธ ”โดยคำภาวนาในที่นี้ไม่ได้ให้ใช้กำกับลมหายใจ แต่ใช้เป็นตัวสมมติแทนกองลมหายใจเข้าออก เพราะว่าลมหายใจนั้นหาจับตัวให้เห็นยาก จึงหาวิธีใช้ “ พุท ” “ โธ ” ให้

หน้า128

ภาวนาต่อเนื่อง เมื่อหายใจเข้าท่องว่า “ พุท ” และเมื่อลมเข้าสุดแล้วจะออกมาก็ท่องต่อด้วย “ โธ ” ออกพร้อมกับลมหายใจออกมาส่งไปที่กึ่งกลางระหว่างคิ้ว

สำหรับท่านที่ฝึกเห็นแสงสว่าง แล้วก็ส่งไปที่ศูนย์กลางของแสงสว่างนั้น

เมื่อภาวนาจนชำนาญแล้วไม่ต้องท่อง “ พุท ” “ โธ ” ก็ได้ แต่เป็นการส่งจิตใจความนึกคิดไปตามกองลมหายใจเข้าแล้วออกไปเสริมเติมใสที่กึ่งกลางระหว่างคิ้วหรือศูนย์กลางของแสงสว่าง

ฝึกอย่างนี้จนจิตใจมุ่งมั่นเป็นสมาธิสงบได้นาน

อารมณ์สมาธิจะค่อยๆสงบดีขึ้น แต่อารมณ์สมาธิขณะนี้ยังรวมได้ไม่ สนิทเต็มที่จึงยังไม่นิ่งแน่วแน่สมบูรณ์ดี จิตใจยังยึดเอาอารมณ์แห่งการภาวนา มาเป็นอุปาทานเครื่องยึดมั่นถือมั่นอยู่ ภาวะนั้นจิตกำลังจะรวมเข้ามาเป็นหนึ่ง จิตใจความนึกคิดจะตั้งอยู่เฉพาะที่ศูนย์กลางแสงสว่างหรือกึ่งกลางระหว่างคิ้วนั้น แล้วจะค่อยๆสงบมากขึ้นอีกสู่ความสงบและเสวยอารมณ์นี้อยู่ภายในจิตตนเอง

หน้า129

สมาธิระดับนี้ มีกำลังสามารถผลักดันข่มกิเลสนิวรณ์ 5 อันเป็นกิเลสที่กั้นจิตไม่ให้บรรลุคุณความดีเป็นอกุศลที่ทำจิตให้กระวนกระวายใจเศร้าหมองและข่มปัญญาให้อ่อนกำลัง

นิวรณ์ 5 คือ

1 ความพอใจรักใคร่ในกาม รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส

2.ความพยาบาท คิดปองร้าย

3.ความหดหู่ท้อแท้เกียจคร้านง่วงเหงาเคลิบเคลิ้ม

4.ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ

5.ความลังเลสงสัย

ด้วยกำลังสมาธิเกือบจะถึงระดับฌานนี้ จึงมีแรงผลักดันข่มให้นิวรณ์ทั้ง 5 ประการ หลุดพ้นไปออกจากจิตใจได้ชั่วขณะหนึ่ง แต่องค์ฌานระดับนี้กำลังของสมาธิยังไม่แข็งแกร่งพอที่จะสามารถ “ ละ ” วางอารมณ์แห่งการภาวนาได้ และบางครั้งจิตยังรู้ว่ามีอารมณ์จากภายนอกเข้ามากระทบสัมผัสประสาททั้ง 6 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจบ้าง อย่างเช่นเสียงที่เข้ามา

หน้า130

รบกวนทางประสาทหู รูปที่เกิดขึ้นในมโนภาพเป็นแต่จิตใจในขณะนั้น ยังคงรวมเป็นหนึ่งที่ไม่ฟุ้งซ่าน ออกจากสมาธิไปรับรู้อารมณ์ภายนอกที่มากระทบนั้น จิตใจสามารถวางเฉยไม่ปรุงแต่ง

เมื่อฝึกจนเกิดความชำนาญมากขึ้นด้วยการสืบต่อเนื่อง จิตใจก็จะสงบมากยิ่งขึ้นจิตยังคงยึดอยู่กับการบริกรรมภาวนา แต่ก็ค่อยๆปล่อยวางกายเนื้อของตนไม่มีอาการ ปวดเมื่อย ขาชา เหน็บ ไม่รับรู้อารมณ์ภายนอก ครั้งทุกข์เวทนาเหล่านี้ ไม่เกิดขึ้นก็ไม่มีอาการทุกข์เวทนาคอยก่อกวนจิตใจให้ต้องคอยพะวงกับอาการเจ็บปวดเมื่อย จนทำให้สมาธิตก จิตจึงมีสมาธิดี ค่อยๆมั่นคงแน่วแน่ ในภาวะขณะนั้น ที่กึ่งกลางระหว่างคิ้วหรือที่ตรงกลางแสงสว่างนั้น จึงค่อยๆเปล่งแสงสว่างจ้ามากขึ้นแล้วรวมเป็นวงกลมอย่างเรืองรางก่อน เราค่อยๆประคองจับวงกลมนั้น อย่างสุขุมแผ่วเบา แล้วส่งจิตใจความนึกคิดที่รวมเป็นหนึ่งนั้นเข้าไปมากขึ้น ด้วยอารมณ์ที่ไม่สอดส่ายไปในที่อื่น

หน้า131

คราวนี้ ส่งเข้าไปที่ศูนย์กลางวงกลมนั้น

วงกลมที่เป็นเป้าของจิตนั้นก็จะค่อยๆ ชัดขึ้นและเนื้อที่ภายในวงกลมนั้นก็จะเต็ม เกิดเป็น “ ดวงสีขาว ” สว่างที่ผุดขึ้นเฉพาะหน้าจำได้แม่นยำแจ่มชัดติดตา เหมือนดวงวงกลมของจริงที่ขีดเขียนขึ้น นิมิตวงกลมนี้เรียกว่า “ อุคหนิมิต ” คือ นิมิตที่ติดตามองเห็นได้ชัดเจน เป็นนิมิตที่เกิดขึ้นจากการรวมพละกำลังจากสมาธิ ไม่ใช่นิมิตที่นึกขึ้นมาจากมโนภาพ

หน้า132

ความสำเร็จของการฝึกสมาธิ

“ ยิ่งฝึก ยิ่งคล่อง ยิ่งคล่อง ยิ่งชำนาญ

ทั้งคล่อง ทั้งชำนาญ ย่อมควบคุมอารมณ์ได้ทุกเมื่อ ”

หน้า133

ยึดอุคหนิมิตเป็นอารมณ์

อุคหนิมิต เมื่อได้ปรากฏเป็นดวงเช่นนี้แล้ว จิตจึงเอานิมิต “ ดวงสีขาว ” นั้นให้สติยึดมั่นเป็นอารมณ์อยู่ได้พักหนึ่ง ก็จะตกสู่ภวังค์เสียอีกพักหนึ่งจิตยังขึ้นๆลงๆไม่แน่วแน่แท้เรียกตามภาษาชาวบ้านว่า “ นิมิตนั้น ยังปรากฏแบบผุดๆโผล่ๆ ”

นิมิต “ ดวงสีขาว ” นี้เป็นของแปลกใหม่สำหรับนักปฏิบัติ เมื่อได้พบเห็นนิมิตแล้ว จิตก็ต้องวางใจเป็นกลางคือ อุเบกขาวางเฉยด้วยสติสัมปชัญญะ ไม่ลิงโลด ดีใจในอารมณ์ตื่นเต้นจนฟุ้งซ่านเสียสมาธิ และไม่ยินร้ายเสียใจที่ได้นิมิตช้าไป ให้ค่อยๆส่งความนึกคิดไปประคองกำหนดระลึกรู้จับอยู่ที่ศูนย์กลางของดวงสีขาวนั้นต่อ และ ส่งกระแสจิตใจความนึกคิดเข้าเสริมทับถมที่ดวงสีขาวนั้นต่อไปอย่างต่อเนื่อง “ ดวงสีขาว ” นั้นก็จะค่อยๆตั้งมั่นอยู่และจะแจ่มใสชัดเจน ไม่หนีหายไปแต่ถ้านิมิต “ ดวงสีขาว ” นั้นหายไปด้วยเหตุที่สมาธิตกลง

หน้า134

เพราะตื่นเต้นจากความดีใจหรือเสียใจจนคิดฟุ้งซ่านเกิดความวิตกกังวล หรือจิตใจหลงใหลในนิมิตมากไปจิตคลายออกจากการมั่นในสมาธิ นิมิตจึงหายไป จิตใจก็ไม่ต้องเสียใจ เศร้าโศก หดหู่ ท้อถอย เชื่องซึม คลายออกจากสมาธิ ละทิ้งการฝึกจิต

ท่านตั้ง “ สติ ” ให้ดีทบทวนพิจารณาสังเกตว่า “ ดวงสีขาว ” ที่เคยเกิดนั้น เกิดในภาวะใดของอารมณ์ขณะฝึกจิต ลักษณะไหน นิมิตจึงเกิดขึ้นก็ให้ย้อนกลับไปฝึกเริ่มต้นใหม่ จนจิตสงบแล้วก็จะได้พบดวงสีขาวปรากฏในบริเวณที่เคยปรากฏอีกครั้งหนึ่ง

เมื่อฝึกได้พบเห็นนิมิต “ ดวงสีขาว ” ใหม่อีกครั้ง

ต้องผูกจิตไว้ให้ยึดมั่นติดในอารมณ์กำหนดจิตจดจำไว้เป็นอย่างดี ด้วยความหวงแหนและเชื่อมั่นว่านิมิตนี้เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องไม่ปล่อยปละละเลยให้เสื่อมไปอีก เพราะนิมิตนี้เป็นจุดนำทางเราไปสู่สมาธิที่สูงขึ้น

หน้า135

จิตใจในขณะที่ได้สมาธินี้เกิดความพอใจตั้งมั่นไม่ฟุ้งซ่าน นิ้วหัวแม่มือที่จรดกันนั้นจะรู้สึกว่ามีอำนาจเหมือนกระแสพลังแม่เหล็กดูดจนติดแน่น ร่างกายจะนั่งอยู่เป็นสุขสบายไม่เคลื่อนไหว และมีความรู้สึกว่ากายเบาเหมือนไม่มีรูปร่างคงอยู่ จึงไม่รู้สึกปวดเมื่อย ศีรษะคล้ายหนักอึงแผ่ดังสุ่มครอบลงมาทั้งร่างกาย หนังตาจะหนักๆและไม่มีอาการกลืนน้ำลายซึ่งเกิดจากจิตสงบนิ่งทำให้ต่อมน้ำลายในปากไม่บีบน้ำลายออกมาขณะเดียวกันจะรู้สึกว่ามีเหงื่อซึมออกมา โดยส่วนมากจะเริ่มที่ตลอดแนวกระดูกสันหลัง และฝ่ามือก่อน และบางครั้งอาจจะมีอาการเหมือนมีความร้อนอุ่นๆเกิดขึ้นภายในร่างกายและวิ่งไปทั่วร่างกายช่วงนี้เหงื่อจะถูกขับออกมาก จนท่วมตัวเป็นการขับโรคภัยไข้เจ็บออกมาด้วย

ที่เป็นเช่นนี้ เพราะจิตใจความนึกคิดขณะนี้จับอยู่ที่ดวงนิมิต ไม่ได้ออกมารับรู้อาการภายนอกนิมิต

สมาธิระดับนี้ เขาเรียกว่า “ อุปจารสมาธิ ” คือ สมาธิที่ได้จากอารมณ์ของจิตรวมเข้าเป็นหนึ่งสู่ความสงบมั่นคงจวนเจียนจะแน่วแน่ เฉียดๆ ฌานแล้ว

หน้า136

ดังนั้น สมาธิระดับนี้ จึงเรียกว่า “ ได้สมาธิขั้นกลาง ” ภาวะจิตใจที่ได้สมาธิระดับขั้นกลางนี้ การฝึกนี้สามารถรวมอารมณ์แห่งความนึกคิด ให้เป็นหนึ่ง ที่จวนเจียนจะแน่วแน่ ลมหายใจจึงละเอียดสงบเงียบและซาบซึ้งปราณีตกว่าเดิมเกิดอำนาจปราโมช อิ่มเอิบใจเล็กน้อย อุเบกขาความวางเฉยก็ตั้งขึ้น ธาตุย่อมจะเสมอ จิตใจก็จะรู้สึกมีความเยือกเย็นสงบสุขมากขึ้น แม้ออกจากการปฏิบัติฝึกสมาธิ ก็ยังพอจะมีสติปัญญาควบคุมจิตใจไม่ให้ลุ่มหลงกับกิเลสแห่ง โลภ โกรธ หลง เป็นบางขณะได้

ด้วยการมุ่งมั่น เอาดีในสมาธิผลที่สูงขึ้นกว่านี้ท่านต้องฝึกตามบทนี้จนเกิดความชำนาญ และต้องไม่หลงยึดติดอยู่กับความสงบสุขเล็กน้อย ต้องมุ่งพัฒนาจิตให้สงบมั่นคงแน่วแน่ต่อไป

หน้า137

ระวังจิตกับวิญญาณจะรวมฉับพลัน

ในการฝึกสมาธิระดับขั้นกลางจนถึงขั้นสูงนั้น อาจจะมีเหตุบังเอิญคือ จิตเกิดรวมฉับพลันกับวิญญาณเป็นลำแสงพวยพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้า ไม่ต้องตกใจ ทำจิตใจให้มั่นจับไปกับลำแสงนั้นเหมือนพบเสือแล้ว ไม่กลัวเสือ ทำใจดีๆ จับหางเสือวิ่งตามเสือไปจนได้จังหวะโอกาสที่จิตเราหายตื่นตกใจแล้ว ก็สามารถกระโดดขึ้นนั่งหลังเสือใจก็จะค่อยๆสงบลงได้

รายละเอียดบทนี้ ให้ศึกษาเพิ่มเติมได้จากบทการถอดจิต (ข้อ ก) ในภาคอิทธิฤทธิ์-บุญฤทธิ์

หน้า138

คำเตือนการฝึกจิต

คนใดเอยที่ประกาศขอฝึกจิต

เราขอเตือนระวังภัยกิเลสตน

โดยเฉพาะผู้มุ่งหวังโลกแห่งธรรม

โลกียะคือทางโลกที่คนหลง

หลงอยู่ในโลภโกรธหลงภัยมหันต์

กิเลสสัตว์ตัณหาคนกามฉันทะ

จิตรุ่มร้อนกายเสื่อมทรามเสียพลัง

กามดึงจิตกามดึงกายดิ่งนรก

ไม่มีวันผุดโผล่ขึ้นมุ่งทางธรรม

นอกเสียจากท่านปลงขันธ์ปลงให้แตก

เห็นความจริงอนิจจังไม่เที่ยงหนอ

ปลงทุกเมื่อเมื่อจิตผุดกามอารมณ์

ปลงเช่นนี้หมุนเวียนไปย่อมได้ผล

จิตสบายไม่หลงเริงเยี่ยงสัตว์ป่า

และเมื่อนั้นท่านจะหลุดกามฉันทะ

หน้า139

วิธีตั้งอารมณ์ให้จิตยึดจับอยู่ที่กึ่งกลางระหว่างคิ้ว

ท่านที่ฝึกจนสงบแล้วไม่มีแสงสว่างเกิดขึ้นนั้น ต้องอาศัยวิธีนี้เป็นพื้นฐานในการฝึกจิตให้เจริญสู่สมาธิที่ดีขึ้น คือ เมื่อหายใจนั้นจิตใจจับตามกองลมหายใจเข้า ทางรูจมูกนั้นท่องว่า “ พุท ” และพอลมหายใจเริ่มออกก็ท่องว่า “ โธ ” พร้อมกับลมหายใจออกมาถึงรูจมูก

ระหว่างนั้นสมมติว่า จิตใจเราที่จับติดกับกองลมหายใจพร้อมตัว “ โธ ” นั้นถูกนำสูงขึ้นไปอีก ผ่านเพดานปากและผ่านดั้งจมูก และส่งออกไปทับถมที่กึ่งกลางระหว่างคิ้ว เป็นการรวบรวมจิตใจความนึกคิดทั้งหลายให้ไปรวมเป็นหนึ่งตั้งอยู่ที่กึ่งกลางระหว่างคิ้วนั้น

หน้า140

อีกวิธีหนึ่ง

คือ ลืมตาขึ้น แล้วมองไปที่ปลายนิ้วของท่านซึ่งยกขึ้นชี้มาที่ตา นิ้วตั้งสูงเสมอระดับตามองแล้วจะเกิดความรู้สึกเสียวที่ดั้งจมูกตรงกึ่งกลางระหว่างคิ้วนั้น สถานที่รู้สึกเสียว คือตำแหน่งที่วางจิตใจ เมื่อจับจุดนี้ได้แล้วจึงค่อยๆปิดหนังตาลงมา แต่ตาในยังคงมองไปรวมเป็นจุดเดียวกันที่ตำแหน่งเสียวนั้น

เท่าที่เคยทดลองมา

ยกนิ้วชี้ให้ตาตัวเองเพ่ง ส่วนมากไม่รู้สึกเสียว แต่พอให้คนอื่นชี้ตาเรา จับจ้องเพ่งดูกลับมีความรู้สึกเสียวเร็ว

ระหว่างการรวมจิตนี้ ท่านอย่าเร่งรีบบีบรัดความนึกคิดให้เครียดนัก เพราะการบีบรัดจะทำให้ท่านปวดขมับ ถ้ามีอาการปวดขมับ ให้ศึกษาวิธีแก้ปวดประสาทสองข้างขมับ

และท่านที่ฝึกมาถึงระดับนี้แล้ว ฝึกต่อไปจิตก็สงบดี แต่ถ้าไม่ได้นิมิตวงกลมนั้น ขอแนะนำให้ฝึกบทเพ่งกสิณตั้งนิมิตให้แข็งแกร่ง เพื่อนำนิมิตวงกลมมาเป็นอุคหนิมิต

หน้า141

เพ่งกสิณตั้งนิมิต

ประดิษฐ์กสิณขึ้นด้วยการตัดกระดาษสีขาว ให้เป็นดวงวงกลมเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 นิ้ว ติดไว้ในกึ่งกลางของกระดานดำ หรือกระดาษสีดำที่กว้างอย่างน้อย 50 ตารางเซนติเมตรหรือใหญ่กว่านี้ก็ได้ แล้วนำมาตั้งหรือแขวนไว้ตรงข้างหน้าของเรา อยู่ในระยะที่ไม่ไกลหรือใกล้เกินไป คือ ดูความพอเหมาะสมที่ตั้งหรือแขวนแล้ว ต้องมองเห็นจุดสีขาวได้ชัดเจน และดวงสีขาวนั้นต้องอยู่ในระดับเสมอตาในขณะที่เรานั่งลงแล้ว

เหตุที่ใช้ดวงสีขาว

เพราะว่า เมื่อมองเพ่งจนจำได้แล้ว จะได้นิมิตเหมือนของจริงที่ปรากฏขึ้นตอนที่จิตสงบ

ซึ่งนิมิตที่เห็นในความรู้สึกเมื่อฝึกถึงขั้นอุคหนิมิต ดวงนิมิตนั้นจะเป็นดวงวงกลมสีขาวสดใสที่ไม่มีสีอื่นเจือปน

หน้า142

ส่วนที่ใช้กระดานดำหรือกระดาษดำ เพื่อเน้นให้ดวงสีขาวชัดขึ้น สร้างภาวะการรวมสมาธิได้ดี

เมื่อเตรียมการพร้อมแล้ว

ปฏิบัติดังนี้

วิธีการจับ “ ดวงสีขาว ” นั้นใหม่ๆสำรวมจิตให้มั่น “ มอง ” ไปยังเป้าหมายนั้นด้วยสายตาตามปรกติธรรมดา มองเพียงแค่จำได้

เพราะถ้าเพ่งจ้องด้วยการตั้งใจแรง มองอย่างบีบรัดรุนแรงหวังผลเร็วแล้ว ก็จะเกิดอาการเครียดตึงถึงขั้นปวดขมับ ขอให้ท่านมองจนจำดวงสีขาวได้เมื่อใดเมื่อนั้นก็ปิดหนังตาลงมา แต่ตาในไม่ได้หลับ ยังคงส่งความรู้สึกเพ่งเล็งไปยังจุดเดียวคือ “ ดวงสีขาว ” ที่จำติดตาได้นั้น นึกนิมิต “ ดวงสีขาว ” นั้นให้ปรากฏเหมือนของจริงที่ลืมตาดู

เมื่อหลับตาจับ “ ดวงสีขาว ” อยู่เฉพาะหน้าเราได้แล้ว หายใจเข้าภาวนา “ พุท ” แล้วหายใจออกต้องท่องต่อด้วยการภาวนาว่า “ โธ ” พอคำว่า “ โธ ”จะออกพร้อมลมหายใจสลายไปในอากาศนั้น เราสมมุติว่า นำตัว “ โธ ” พร้อมด้วยลมหายใจส่งเข้าที่ศูนย์กลาง

หน้า143

ของ “ ดวงสีขาว ” นั้น ทับถมไปจนกว่าดวงนั้นจะสว่างและชัดเจน

ถ้าท่านฝึกจนชำนาญแล้ว ไม่ต้องภาวนา “ พุท ” “ โธ ” ก็ได้ แต่ใช้ส่งกระแสจิตใจความนึกคิดเข้าไปที่ศูนย์กลาง “ ดวงสีขาว ”

เมื่อจำดวงสีขาวนั้นได้ดีแล้ว ก็หน่วงไว้อยู่ครู่หนึ่ง ดวงนิมิตนั้น ก็อาจจะเสื่อมคือเลือนรางจนมองไม่ชัด ก็ลืมตามองดูใหม่อยู่พักหนึ่ง จนกว่าจะจำภาพดวงสีขาวนั้นได้แล้วก็หลับตาบริกรรมภาวนาต่อไป ทำสติให้มีความไม่หลงลืมนิมิตหมายอันที่ถือเอาได้แล้ว

บริกรรมภาวนาสลับไปอย่างนี้จนกว่าเมื่อใดหลับตาแล้ว พอนึกหน่วงดู ก็จะเห็น “ ดวงสีขาว ” ทุกครั้งอย่างชัดเจนก็จะเป็น “ อุคหนิมิต ” เพื่อในการฝึกปฏิบัติให้ดีอีกต่อไป

การมองจับดวงสีขาวนั้น คนที่เหลือกตาจ้องดู ตาก็จะเมื่อยล้าเร็ว “ ดวงสีขาว ” ที่เพ่งมองนั้น เมื่อหลับตาแล้วมองไปจะปรากฏใหญ่โตเกินกว่าความจริง ทำให้ไม่เกิดนิมิตแท้

หน้า144

คนที่หรี่ตาดู จะมองเห็น “ ดวงสีขาว ” ไม่ชัดหลับตาแล้วก็จับ “ดวงสีขาว ” ไม่ติดตา ทำให้จิตใจเกิดการหดหู่ท้อถอย จึงทำให้ไม่เกิดนิมิตแท้อีกเช่นกัน

เมื่อฝึกจนเกิดความชำนาญ ฝึกจนหลับตาเมื่อใด มองไปข้างหน้าทุกครั้ง ในจิตใจความนึกคิดขณะนั้น ก็จะเห็นดวงสีขาวปรากฏขึ้นเหมือนของจริงที่เวลาลืมตาดู

ก็ให้เอาแผ่นกระดาษหรือกระดานดำที่ติดดวงสีขาวนั้นออกไปให้พ้นจากสายตาแล้วฝึกต่อไป โดยไม่ต้องมีเป้าให้เพ่งมองอีก ฝึกจนหลับตาแล้วยังคงพบเห็นดวงสีขาวติดตาอย่างสนิทอยู่เฉพาะหน้าอีก หลับตานึกภาพดูทุกครั้ง ภาพก็จะเป็นมาทันที ฝึกจนจำได้แม่นยำ เช่นนี้แล้ว “ อุคหนิมิตย่อมเกิดขึ้น ” ที่เรียกว่าได้ “ สมาธิขั้นกลาง ”

หน้า145

วิธีการแก้ปวดประสาทสองข้างขมับ
ขอให้ท่านวางจิตใจให้สบายๆ แล้วรวมจิตใจความนึกคิดให้เป็นหนึ่ง สมมติว่าตั้งไว้ที่ท้ายทอย แล้วค่อยๆส่งจิตใจความนึกคิดนั้นให้ผ่านสองข้างของขมับแล้วมารวมกันที่กึ่งกลางระหว่างคิ้วแล้วจึงค่อยๆผ่อนคลายออกสู่นอกศีรษะ ปฏิบัติเช่นนี้ประมาณ 15 -30 นาที ก็จะหายปวด คืนสู่สภาพปรกติ
ถ้าท่านรักษาตัวด้วยวิธีนี้แล้วยังไม่หายปวดและประสาทยังมีความตึงเครียดมึนชา งงไปหมด ไม่ต้องตกใจ คือ ทำใจสบายๆ งดเว้นการฝึกสมาธิในวันนั้นแล้วเดินจงกรมแผ่เมตตา หรือหาทางออกด้วยการไปทำงานที่ต้องออกกำลังให้เพลินกับงาน กลางคืนก็จะได้หลับสบาย พรุ่งนี้ค่อยมาฝึกสมาธิต่อไปใหม่

หน้า146

คบปราชญชาติเชื้อ ชาญธรรม์
จักสูญไปสวรรค์ สวัสดิ์แท้
คบพาลประทุษฐ์อัน หินชาติ
จักได้ทนทุกข์แล้ เพลี่ยงพลั้งเสียตน ฯ

(สำนวนเก่า)
(จากประชุมโคลงโลกนิติ)

หน้า147

นิมิตภาพและเสียงจากสมาธิขั้นกลาง

เมื่อท่านฝึกจนได้อุคหนิมิตแล้ว รวมจนจิตนิ่งตกสู่ภวังค์จิต จิตใจขณะนั้นจะไม่มีการรับรู้อารมณ์ภายนอกแล้วรวมเป็นหนึ่ง ปล่อยวางความจำและการยึดมั่นในสิ่งต่างๆทั้งอดีตและอนาคต จะมีแต่อารมณ์รู้ปรากฏเฉพาะเวลานั้น คือ นิ่งสงบสบายเคลิ้มอยู่ในอารมณ์คือมีอาการคล้ายครึ่งหลับครึ่งตื่น แต่ยังมีสติควบคุมสังขารอยู่ หรือภาวะที่ถอนจิตจากภวังค์ขึ้นมาเล็กน้อย

ภาวะเช่นนี้ อาจจะมีนิมิตภาพหรือนิมิตสัญญาณเกิดขึ้นได้

แต่ก็ไม่เกิดกับทุกคนเสมอไป

ก.ท่านที่ฝึกจิตให้สงบด้วยวิธีใช้หลักวิปัสสนาไตร่ตรองให้เกิดปัญญา อบรมจิตใจให้เห็นความเกิดดับความไม่เที่ยงแท้ของสังขารที่มีภาวะธรรมทนอยู่ไม่ได้แล้วก็สลายไปในที่สุดเป็นการใช้ปัญญาให้เหตุผล

หน้า148

เพื่อตัดต้นเหตุของความฟุ้งซ่าน อบรมให้จิตสงบ สมาธิประเภทนี้ส่วนมาก จิตมีปัญญาแฝงกับสมาธิคอยหว่านล้อมจิตให้สงบ เรียกว่าเป็นคนคิดมากด้วยปัญญา แต่เมื่อสงบแล้ว สมาธิจะมั่นคงกว่าประเภทที่ฝึกสมาธิให้จิตสงบจนเกิดปัญญา

ดังนั้นสมาธิประเภทนี้ ส่วนมากจะไม่ค่อยมีนิมิตภาพหรือสัญญาณที่เกิดขึ้นมา

ข.ท่านที่ฝึกจิตให้สงบด้วยสมาธิ

สายนี้คนที่ฝึกส่วนมากจะมีศรัทธาแก่กล้า มีนิสัยเชื่อง่ายไม่คอยระวังเฉลียวใจที่จะใช้ปัญญานึกพิจารณาถึงเหตุผล จิตจึงมุ่งพุ่งดิ่งด้วยความเชื่อที่ไม่ลังเลสงสัยเวลาจิตจะเข้าถึงจุดสงบ ระหว่างนั้น จิตจะไม่คิดระวังกังขา จึงเหมือนคนตกบ่อตกเหวรวดเดียวตกถึง “ ความสงบ ” คือที่พักของจิต เป็นการเข้าสู่ภวังค์เหมือนภาวะที่คนกระโดดลงน้ำนั้นจะจมดิ่งลงไป แล้วจึงลอยขึ้นมาใหม่ และเมื่อคนที่มีสติเหมือนคนหัดว่ายน้ำเป็นแล้ว ก็สามารถลอยคอพิจารณาสิ่งแวดล้อมและสามารถว่ายไปตามทิศทางที่ตนต้องการ

หน้า149

ภาวะนั้น จิตจึงค่อยๆ ถอนขึ้นมารับรู้เหตุการณ์ต่างๆ ที่มาปรากฏเป็นนิมิตขึ้นแล้วพิจารณาหาเหตุผลที่เกิดในสภาวะธรรมนั้น เรียกว่า เป็นการฝึกอบรมจิตเป็นสมาธิให้เกิดปัญญา คนประเภทนี้มักปัญญาอ่อนไหวลืมตัว สติเผลอได้ง่าย และมักยึดด้วยอุปาทาน จิตจึงปรุงแต่งขยายเรื่องราวให้เกินขอบเขต หลงจนถอนตัวได้ยาก

นิมิตที่เกิดขึ้นนั้น แบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ นิมิตในที่เกิดจากตัวเราเอง และนิมิตนอกที่เกิดจากสิ่งภายนอกเข้ามาสัมผัส นิมิตทั้งสองประเภทนี้มีทั้งที่เป็นจริงและไม่จริง

หน้า149

นิมิตในที่เกิดขึ้นจากตัวเราเอง

นิมิตประเภทนี้ ส่วนมากจะปรากฏเป็นภาพที่สวยบ้าง ไม่สวยบ้าง เช่น เห็นตัวเองนั่งบ้าง นอนบ้าง บางทีท่านที่ฝึกปลงอสุภะ อาจจะเห็นตัวเองเป็นซากศพที่กำลังเน่าเปื่อยมีกลิ่นเหม็น

หน้า150

บางครั้งอาจจะได้ยินเสียงผู้ที่เรานับถือมากเตือนให้ตนทำดีปฏิบัติธรรมบ้าง หรือเกิดสัญญาณเตือนขึ้นในใจ (ในสมอง) เป็นการเตือนภัยบ้าง เตือนเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นบ้าง เหมือนใครมาคอยกระซิบเตือนเป็นลางสังหรณ์ให้รู้ล่วงหน้า

บางครั้งรู้สึกว่าตัวเบาเหมือนจะลอย ตัวพองโตเหมือนระเบิด หรือ ได้ยินเสียง ดนตรีทิพย์ แสดงนานบ้างหรือสั้นบ้าง เป็นต้น

หน้า150

นิมิตนอกที่เกิดจากสิ่งภายนอกเข้ามาสัมผัส

บางท่านนั่งไปจิตสงบ ใจสบาย กระแสจิตอาจจะออกไปสัมผัสพบเห็นตัวเองเดินอยู่ในหมู่แมกไม้สวนดอกที่ร่มรื่นเหมือนดินแดนสวรรค์ มีทางเดินไปไม่สุดสาย บางคนเห็นเป็นทะเลกว้างสุดขอบฟ้า บางคนเห็นเหมือน ตัวเองยืนอยู่ท่ามกลางหมู่เมฆที่ลอยผ่านตัวอย่างนิ่มนวลและเมฆนั้นมีลักษณะรูปร่างต่างๆกัน เรียกว่า สวยจนดูแล้วเพลิดเพลินหลงติดอยู่กับบรรยากาศภาวะนั้น บางทีเห็นเป็นคน สัตว์ เทวดา พอนึกอยากจะเห็นอะไรก็เห็น อยากจะเห็นพระอินทร์ก็เห็น อยากจะเห็นพระพรหมก็เห็น และได้พูดคุยกับเทวดาอินทร์พรหม

หน้า151

บางทีอยู่ ๆ ก็มีเทวดาพาไปเที่ยวนรกภูมิเห็นผีเปรต ปีศาล อสูรกาย ปรากฏเข้ามาในนิมิตนั้น อาจจะทำให้ตื่นตนกตกใจกลัวจนเป็นบ้าได้เหมือนเราได้ ออกไปสัมผัสพูดคุยพบเห็นเหตุการณ์เหล่านั้นจริงๆรู้สึกว่าเป็นเรื่องเป็นราวเหมือนภาพยนตร์เรื่องยาวบ้างสั้นบ้างปรากฏขึ้น พาให้เพลินหลงยึดอยู่ในนิมิตที่เป็นของแปลกใหม่ เป็นปรากฏการณ์ที่มหัศจรรย์มากของคนที่ฝึกพบเห็นใหม่ๆ จึงคิดเอาเป็นจริงเป็นจัง ทึกทักว่าแน่แล้วเราได้ฌานวิเศษ ภาพนิมิตเหล่านั้นจึงเข้าไปประทับในความทรงจำติดตาตลอดเวลา เกิดการหลงผิดเข้าไปยึดมั่นอย่างเหนียวแน่นจนลืมตัวเสียสติไปก็ได้

แต่แท้จริงนิมิต ส่วนมาก เป็นเพียง ความทรงจำในอดีตที่สมองปรุงแต่งขึ้นภายในจิตด้วยอำนาจอุปาทานที่ฝังอยู่ใต้จิตสำนึกเท่านั้น

หน้า152

วิธีถอนจิตออกจากนิมิตเพื่อเข้าสู่สมาธิต่อไป

ไม่ว่าท่านจะได้พบนิมิตใน ที่เกิดจากตัวเราเองหรือนิมิตนอกที่เกิดจากสิ่งภายนอกเข้ามาสัมผัส

เบื้องต้นนั้น

ท่านที่ฝึกจิตยังไม่แข็งแกร่ง และไม่เคยประสบพบเห็นเหตุการณ์อย่างนี้มาก่อน คือ ยังไม่มีความเคยชิน ในเหตุการณ์ที่นิมิตภาพหรือเสียงเกิดขึ้น เหมือนคนไม่ชำนาญเส้นทางเดินผ่านป่าที่อาจจะผจญภัยกับสัตว์ร้าย หรือพบความเงียบวังเวงที่น่ากลัว

พึงปฏิบัติดังนี้

ตั้งสติให้มั่นดึงจิตใจความรู้สึกให้อยู่กับตัวกายเนื้อไม่ให้ส่งกระแสจิตออกไปสัมผัส และไม่รีบไปสนใจปรุงแต่งเหตุการณ์นั้น ทำใจให้ดีๆให้รู้พร้อมด้วยสติสัมปชัญญะที่วางเฉยด้วยอุเบกขา ไม่ยินดียินร้ายกับเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น ไม่ตื่นตนกตกใจ ไม่สะดุ้งหวาดกลัว ขวัญเสีย ทำใจดีสู้เสือ เมื่อสติมั่นคงอยู่ ปัญญาก็เกิดขึ้น

หน้า153

พิจารณาด้วยอารมณ์หนักแน่นรอบคอบ ทำใจให้เข้มแข็ง กล้าหาญ พิจารณาภาพนิมิตที่เคลื่อนไหวหรือไม่นั้นศึกษาให้รู้ชัดว่านิมิตนั้นคืออะไร และเป็นมาอย่างไรแล้วจะเป็นไปอย่างไร เมื่อพิจารณาเห็นความเป็นจริงแจ้งชัดแล้ว ก็ปล่อยวางเสียด้วยไม่หลงใหลเพลิดเพลินมัวเมาคล้อยตามไปยึดมั่นถือมั่นในนิมิตเหล่านั้น

ซึ่งนิมิตเป็นเพียงทางผ่าน อย่าไปติดใจยึดมั่น

เพราะว่า ถ้าเราไปยึดมั่นแล้ว จะปรุงแต่งเป็นกิเลสปกปิดปัญญาให้อารมณ์สมาธิขณะนั้นขาดสติ จิตใจฟุ้งซ่านซัดส่ายกวัดแกว่งเป็นอุปสรรคแก่การทำใจให้สงบ ทำให้เสียสมาธิ คือ สมาธิจะเสื่อมถอยลงไป

ท่านพึงตั้งสติโดยเร็ว

ดึงจิตกลับเข้าที่ คือ “ ให้นึกถึงดวงสีขาว ” ที่เป็นนิมิตให้ปรากฏขึ้นมาใหม่อีกครั้ง เอาจิตใจความนึกคิดจับจดจ่ออยู่กับนิมิตดวงสีขาวนั้น เริ่มบริกรรมภาวนา “ พุท ” “ โธ ”ใหม่ กำหนดจิตอยู่กับการบริกรรมภาวนา แล้วกำหนดจิตตั้งมั่นรู้ให้ทันเหตุการณ์นั้นว่าภาพที่เกิดขึ้นนี้ ล้วนแต่เป็นอุปาทานจากสัญญาความ

หน้า154

ทรงจำในอดีตที่เก็บค้างอยู่ในสมอง จึงไม่น่ายึดมั่นถือมั่น เพราะไม่มีแก่นสารสาระที่จะเป็นประโยชน์กับการเจริญสมาธิ

เมื่อจิตใจเราตั้งมั่นอยู่ และจับจดจ่ออยู่กับนิมิต “ ดวงสีขาว ”แล้ว ภาพที่เกิดอยู่นั้น ก็จะเลือนรางเสื่อมหายไป

ถ้าภาพนิมิตเหล่านั้นยังไม่หายไป

ให้ตั้งสติให้มั่นอีกครั้ง น้อมเหตุการณ์เหล่านั้นลงไปสู่พระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ว่า สิ่งที่เกิดนั้น ไม่เที่ยงแท้เป็นทุกข์ ทนอยู่ไม่ได้ เป็นเพียงรูปสังขารที่อุปาทานปรุงแต่งที่ไม่มีตัวตน มิใช่ตัวตนเราเขา ไม่สามารถจะยึดได้ เป็นเพียงสภาวะธรรมหนึ่งเท่านั้น รูปเกิดขึ้นแล้วก็แตกดับสลายไปตามสภาพที่เกิดมาอย่างไรก็สลายเป็นไปอย่างนั้น ไม่ยั่งยืนจีรัง

เมื่อพิจารณารูปนั้นไป จิตก็จะแก่กล้าขึ้น รูปนั้นก็ทนอยู่ไม่ได้สลายหายไป โดยไม่มีตัวตนรูปร่างอะไรเหลืออยู่

หน้า155

ถ้าเหตุการณ์นั้นเป็นนิมิตที่หลอกหลอนขึ้นมา รูปนั้นก็จะค่อยๆสลายไป เพราะกำลังปัญญาแก่กล้าขึ้นก็สามารถรู้แจ้งเห็นจริงตามสภาวะธรรม รูปเสียงเหล่านั้นก็จะเสื่อมไปด้วยเหตุที่ว่า ภาพนิมิตนั้นเกิดขึ้นด้วยอุปาทานของจิต ถ้าเราไปยึดหลงอยู่ในอารมณ์นิมิตนั้นนานๆ ครั้ง เมื่อคลายออกจากสมาธิแล้ว ก็จะไม่เกิดปัญญา หรือไม่เป็นกำลังหนุนให้สมาธิแข็งแกร่งขึ้น เพราะเป็นเพียงภาพหรือเสียงที่เกิดขึ้น เหมือนนอนหลับฝันไปเท่านั้น บางครั้งตื่นขึ้นหรือออกจากสมาธิแล้ว อาจจะเหนื่อยหอบใจสั่นเหมือนไปพบปะเหตุการณ์นั้นจริงๆ

หน้า156

แต่ถ้าภาพเหล่านั้นปลงอนิจจังเท่าใดก็ยังไม่หายไป ไม่ต้องตกใจ

ระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย ระลึกถึงหลวงพ่อโต น้อมระลึกว่าตัวเรานี้ ได้ถวายตัวแด่พระพุทธเจ้า ครูบาอาจารย์ หลวงพ่อโต แล้ว ตายเป็นตายแล้วพยายามตั้งสติให้ดีภาวนา “ พุท ” “โธ ” แผ่เมตตา อุทิศกุศลไปให้กับภาพหรือเสียงเหล่านั้นไปเรื่อยๆ อย่างไม่ตกใจ

ภาวะที่จิตต่อสู้กับความกลัวนั้นจะเกิดเป็นกำลังหนุนให้สมาธิแน่นหนาแข็งแกร่งยิ่งขึ้น จิตก็จะค่อยๆมั่นคงแข็งแกร่งแน่วแน่มากขึ้น สามารถพัฒนาจิตให้ถึงในระดับสูงได้

ในภาวะนั้นเหมือนอย่างคนที่ไปฝึกในป่าช้าหรือที่เปลี่ยว เพราะต้องการอบรมจิตในภาวะที่รู้สึกกลัวให้กล้าเผชิญต่ออารมณ์น่ากลัวจนไม่กลัว จิตก็จะนิ่งสงบแข็งแกร่งมีสติปัญญาคมกล้าขึ้นเป็นลำดับ

หน้า157

ด้วยเหตุเดียวกันนี้ การฝึกจิตแบบนี้จึงต้องใช้สติปัญญาที่มั่นคง ความรู้แจ้ง ความกล้าหาญ ควบคุมความนึกคิดอยู่ตลอดเวลา

จิตที่ได้สงบในภาวะเช่นนี้ จึงมีกำลังแน่นหนามั่นคงมาก

อนึ่ง ท่านควรพิจารณาเหตุการณ์เช่นนี้ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ในวิธีการตั้งสติ และรักษาสมาธิให้มั่นนี้เพื่อเป็นประโยชน์ในคราวฝึกต่อไป

ซึ่งวิธีการฝึกแบบนี้เป็นข้อห้ามสำหรับคนขลาดดังต่อไปนี้

หน้า158

วิธีการฝึกแบบนี้เป็นข้อห้ามสำหรับคนขลาด

การฝึกแบบนี้เป็นข้อต้องห้ามสำหรับคนที่รู้ตัวว่าตัวเองเป็นคนขี้ขลาดตาขาว จิตยังไม่แข็งแกร่ง ไม่ให้ไปฝึกในป่าช้าสุสานหรือที่เปลี่ยวที่ไม่มีคนคอยควบคุม เพราะเมื่อพบเห็นเหตุการณ์น่ากลัวแล้ว จะตั้งสติไม่อยู่ถึงกับเป็นบ้าได้ ให้ศึกษาเพิ่มเติมวิธีพอกกายทิพย์ในภาวะตกใจ (หน้า37 )

จึงขอแนะนำว่า

เมื่อพบเหตุการณ์นั้นเข้า ใจไม่สู้ ปราบไม่อยู่ไม่ต้องตกใจ ทำใจดีๆ ไม่ให้ลุกจากที่นั่ง ค่อยๆลืมตาขึ้น แล้วคลายออกจากสมาธิอย่างช้าๆ ไม่เข้าสู่การภาวนาด้วยการหลับตาอีก ลืมตาไว้เดินจงกรมแผ่เมตตา หรือหางานทำที่ต้องออกกำลังกายให้เหนื่อยจนรวมสมาธิไม่ติด ไม่นิ่งสงบ จิตใจยังคงมุ่งว้าวุ่นกับงาน เมื่อนั้น จิตใจก็จะไม่หวนกลับไปนึกคิดปรุงแต่งภาพหรือเสียงที่พบในนิมิตนั้นอีก รอจนกว่าข้ามวันหรือไปปรึกษาอาจารย์ผู้ควบคุมแล้วค่อยมาฝึกต่อ

หน้า159

วิธีส่งจิตเข้าไปสัมผัสกับนิมิตรูป เสียง

เมื่อเราฝึกจิตแล้วเกิดพบเห็น นิมิตภาพเหล่านั้นจนเป็นของเคยชิน เหมือนนายพรานผู้ฝึกการเดินป่าจนคล่องแล้ว ก็จะเกิดความเคยชินกับความเงียบวังเวงที่น่ากลัว แม้พบเห็นสัตว์ร้ายต่างๆ ก็ไม่กลัว สามารถตั้งสติมั่นอยู่กับตัว มีปัญญาพร้อมที่จะแก้ไขปัญหาโดยหลบหลีกหรือกำจัดภัยนั้นได้

เมื่อนั้น

จงปล่อยจิตออกไปสัมผัสกับเหตุการณ์ที่ปรากฏอยู่นั้น ด้วยการตั้งสติสัมปชัญญะให้มั่นคงทนอยู่กับตัว ไม่หลงใหล ประมาทกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นจนถอนตัวไม่ขึ้น แล้วส่งจิตใจความนึกคิดเข้าไปเสริมที่ภาพนั้นมากขึ้นพยายามบังคับให้ภาพนั้นชัดเจนมากขึ้น ตั้งสติแล้วส่งจิตใจเข้าไปคลุกคลีไตร่ถามสารทุกข์สุขดิบก็จะได้เป็นประโยชน์ในการศึกษาเรื่องราวในอดีต ปัจจุบัน อนาคตได้ดี

หน้า160

แต่ทั้งนี้ พึงสำรวมจิตระวังแล้วตั้งสติพร้อมวิจารณาญาณที่สมบูรณ์ ด้วยการทบทวนตรึกตรองหาเหตุผลอยู่ตลอดเวลา โดยไม่ด่วนตัดสินปักใจเชื่อแน่สนิทและอย่าไปปรุงแต่งขยายเรื่องราวในนิมิตให้มากจนเกินขอบเขต จะทำให้ลืมตัวจนเสียสติได้เป็นการหลีกเลี่ยงไม่ให้ตกหลุมอันตราย เพราะนิมิตเหล่านั้น มีทั้งจริงและไม่จริง ที่เหล่ามารสามารถเนรมิตขึ้นมาหลอกหลอนเราได้ ด้วยอำนาจแห่งการบำเพ็ญมาที่ไม่ได้คิดหวังดีต่อคนอื่นตามวิสัยของวิญญาณที่มีโทสจริตอยู่ในอนุสัย

หน้า161

บทที่4 ฝึกจิตสงบในขั้นสูงให้ได้ฌาน

ในการฝึกสมาธิบทนี้ เป็นการฝึกสมาธิต่อเนื่องจากบทที่ 3 ซึ่งถ้าท่านฝึกจนเกิดความชำนาญแล้ว ก็นำสมาธิจิตระดับกลางมาเข้าฝึกต่อเนื่องบทนี้ได้

แต่ถ้ายังไม่เข้มแข็งพอแล้วควรจะฝึกบทที่ 1 , 2 , 3 ให้ชำนาญและหนักแน่นมั่นคงก่อนแล้วค่อยมาเรียนต่อบทนี้

หน้า162

เพราะว่า

ถ้าพื้นฐานสมาธิไม่แข็งแกร่งแล้ว เมื่อฝึกต่อไปสมาธิเบื้องต้นที่ได้มาก็พลอยจะเสื่อม เพราะมัวแต่คิดฟุ้งซ่านปรุงแต่ง ในความอยากได้ฌานระดับสูง ดังนั้นสมาธิระดับสูงก็ไม่ได้ เรียกว่า ต้นทุนก็หาย กำไรก็ไม่มี เท่ากับล้มละลายเหมือนสร้างบ้านลงรากฐานไว้ไม่แข็งแรง สมบูรณ์ เมื่อสร้างต่อเติมต่อไปสูงๆขึ้น ผลปรากฏว่าบ้านยุบหายจมลงไปในดินทั้งหลัง เกิดการเสียหายอย่างใหญ่หลวง ไม่ได้แล้วยังเสียหายอีก

วิธีการฝึกจิตจากบทที่ 3 คือได้สมาธิในขั้นกลางแล้วจะขึ้นสู่การเจริญสมาธิขั้นสูงให้ได้ฌานนั้น มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องการคุณธรรมอันนำไปสู่ความสำเร็จ 4 ประการ และเตรียมพร้อมหลายๆสิ่ง ทั้งวัตถุและจิตใจเพื่อเกื้อหนุนให้การฝึกสมาธิเจริญสู่ความนิ่งสงบแน่วแน่ดีขึ้น

จึงขอแนะนำให้พิจารณาปฏิบัติตามบทต่อไปนี้

หน้า163

คุณธรรมที่นำไปสู่ความสำเร็จ

การฝึกจิตสงบขั้นสูงให้ได้ฌานไม่ใช่ฝึกชั่วโมงเดียว วันเดียวก็สำเร็จ ผลไม้จะสุกงอมก็ต้องใช้เวลาในการเติบโต

ฌานจะปฏิบัติทำให้แก่กล้า ก็จำเป็นต้องประกอบด้วยอิทธิบาท 4 คุณธรรมที่นำไปสู่ความสำเร็จ แห่งผลที่มุ่งหมาย 4 ประการ คือ

1.ฉันทะ ความพอใจใฝ่ใจรักจะทำสิ่งนั้นอยู่เสมอและปรารถนาจะทำให้ได้ผลดียิ่งๆขึ้นไป

2. วิริยะ ความขยันหมั่นเพียร ประกอบสิ่งนั้นด้วยความพยายาม เข้มแข็ง อดทน เอาธุระไม่ท้อถอย

3. จิตตะ ความคิดที่ตั้งจิตมั่น ทำในสิ่งนั้น ไม่ปล่อยใจให้ฟุ้งซ่านเลื่อนลอยไป

4. วิมังสา ความไตร่ตรองด้วยการหมั่นใช้ปัญญาใคร่ครวญพิจารณาทบทวน ตรวจหาเหตุผลและตรวจสอบข้อยิ่งหย่อนในสิ่งที่ทำนั้น มีการวางแผนวัดผลคิดค้นวิธีแก้ไขปรับปรุง

หน้า164

บุญกรรมก่อเกิดด้วย ดวงใจ

ผลเพิ่มเพื่อเชื้อไตร รัตน์แก้ว

บุญบาปมากน้อยใน จะติด ตนนา

ดังจักรเกวียนเวียนแล้ว ไล่เลี้ยว ตื่นโคฯ

(สำนวนเก่า)

(จากประชุมโคลงโลกนิติ)

หน้า165

กุศลที่จะเกื้อหนุนให้สมาธิแน่วแน่ดีขึ้น

“ กุศล ” ในที่นี้หมายถึง “ ความดีทั้งปวง ” ที่ควรกระทำและสรรหาไว้ในวัตถุที่จำเป็นแก่การครองชีพรวมทั้งบุคคลที่ควรคบค้าสมาคม เป็นการดำเนินชีวิตอย่างถูกต้องซึ่งเป็นความจำเป็นอย่างยิ่ง สำหรับเกื้อหนุนให้สมาธิแน่วแน่ดีขึ้น

เพราะว่า ถ้าสิ่งหนึ่งสิ่งใดขาดตกบกพร่องแล้ว ก็อาจจะเป็นเหตุให้เกิดอุปสรรคกีดขวางทางแห่งความเจริญของสมาธิให้สำเร็จตามเป้าหมาย

ดังนั้น

ท่านที่หวังฝึกสมาธิแก่กล้าแน่วแน่สู่ระดับฌานจึงควรเตรียมการและปฏิบัติตามกุศล 10 ประการนี้คือ

หน้า166

1.ทำวัตถุในตัวและสิ่งแวดล้อมรวมทั้งสถานที่อยู่ให้เหมาะสม

คือ พิจารณาร่างกายให้มีความพร้อม เช่น ตัดเล็บ ตัดผม ใส่เสื้อผ้าที่สะอาดและการอาบน้ำชำระร่างกาย เพื่อจิตใจจะได้สดชื่นปลอดโปร่งเหมาะสมในการเจริญสมาธิ

สิ่งแวดล้อมในที่อยู่อาศัยรวมหมายถึง สถานที่ที่เหมาะสม คือ เงียบสงบ ไม่รกรุงรัง ปลอดโปร่ง อากาศถ่ายเทดี และอยู่ในแวดล้อมของคนที่คอยแต่สนับสนุนการปฏิบัติจิตของเรา ซึ่งเมื่อเข้าฝึกในที่นั้นแล้ว จะได้สมาธิจิตสงบได้เร็ว

2.การเดินทางสะดวก

คือ สถานที่อยู่ในบริเวณที่จะเดินทางไปไหนมาไหนสะดวก เช่น สะดวกแก่การเดินทางไปธุระอันจำเป็นทั้งปวง ในการหายารักษาโรค หาอาหาร เครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น

3.การพูดคุยที่เหมาะสม

คือ ควรที่จะสนทนาแต่เรื่องที่จะส่งเสริมให้นิมิตมั่นคงทนอยู่ โดยหลีกเลี่ยงถ้อยคำที่กล่าวเพ้อเจ้อ นินทา

หน้า167

อาฆาตมาดร้าย และคำพูดอื่นอันจะทำให้จิตใจฟุ้งซ่านรวมทั้งการโต้เถียงอันไร้ประโยชน์ ที่มีผลทำให้นิมิตเสื่อมหาย

แม้จำเป็นต้องพูดคุย ก็สนทนาแต่น้อยเท่าที่จำเป็นเท่านั้น เพราะคนพูดมากไม่ว่าพูดเรื่องดีหรือไม่ดี ล้วนแต่ทำให้จิตใจฟุ้งซ่าน ทั้งนั้นและการพูดมากก็สิ้นเปลืองพลังภายในกายโดยไม่จำเป็นด้วย

4.บุคคลที่ควรคบค้าสมาคม

คือ ควรคบหาเฉพาะบุคคลที่มีจิตเป็นสมาธิที่มั่นคง คลายจากความยึดมั่นถือตน พูดแต่สิ่งดีทำแต่สิ่งดี เมื่อคบหาด้วยก็มีแต่ช่วยชักจูงน้อมไปในทางที่ดี ให้จิตสงบเกิดสมาธิเร็วและดีขึ้นเป็นลำดับ

อนึ่ง ควรหลีกเลี่ยงคบหาบุคคลที่มีจิตใจโลเลไม่เป็นสมาธิ ชอบคุยฟุ้งซ่าน เพ้อเจ้อกล่าวนินทา ใส่ร้าย อาฆาตผู้อื่น ซั้ายังเป็นบุคคลที่เต็มไปด้วยการยึดมั่นถือมั่นหลงยกตนข่มท่าน เมื่อคบแล้วจะทำให้จิตใจเสื่อมทราม ตกต่ำ เสียสมาธิ

หน้า168

5.การได้รับอาหารที่เหมาะสม

คือ การได้รับประทานอาหารที่มีคุณค่าอย่างสมบูรณ์พอควรแก่ความจำเป็นที่ร่างกายต้องการ ไม่ให้หิวหรืออิ่มเกินไป เรียกว่า “ กินด้วยความหิว ปฏิกูลบำรุงปฏิกูล เพื่อให้สังขารอยู่ใช้กรรม ไม่ใช่อยู่เพื่อกินด้วยความอยาก ” บำเรออาหารแก่ร่างกายสมบูรณ์เกินความจำเป็นจนอ้วนท้วมเกิดโรคต่างๆเป็นการไม่สะดวกในการปฏิบัติจิต ทั้งยังสร้างภาวะให้จิตลุ่มหลงห่วงกินจนจิตใจเสื่อมถอยจากสมาธิ

6. อยู่ในฤดูที่อยู่สบาย

คือ พยายามหาที่อยู่ที่จะมีอากาศร่มรื่นพอควรอันไม่ร้อน ไม่หนาวเกินควรจนร่างกายทนไม่ได้ ก็เป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมให้เกิดสมาธิดีขึ้น

7.อยู่ในอิริยาบถที่เหมาะสม

คือ ควรจะพิจารณาเลือกอิริยาบถที่เหมาะสมที่ตน เลือกเข้าฝึกแล้ว ได้สมาธิเร็ว จิตสงบ เห็นนิมิต

และควรงดเว้นอิริยาบถที่ฝึกแล้วรู้สึกว่า ทรมานสังขารทำให้สมาธิตก นิมิตเสื่อมถอย

หน้า169

8.พละกำลังที่จะเสริมให้สมาธิ จิตสงบ

คือ ทำให้อินทรีย์ทั้ง 5 ให้มีพละกำลังเท่ากันเพราะถ้าอินทรีย์ใดแก่กล้าหรือยิ่งหย่อนกว่ากันก็จะทำให้จิตใจเกิดความไม่สมดุลย์ในการปฏิบัติ ความคิดและกำลังสมาธิก็จะเสื่อมถอย

อินทรีย์ 5 ได้แก่

8.1 ศรัทธาอินทรีย์ ความเชื่อมั่นเลื่อมใสผลแห่งการปฏิบัติสมาธิจะได้สำเร็จมรรคผล

8.2วิริยะอินทรีย์ ความขยันหมั่นเพียรอย่างสม่ำเสมอที่ไม่ตึงหรือหย่อนเกินไปในการปฏิบัติเจริญสมาธิให้จิตสงบเป็นอำนาจแห่งความพอใจใคร่จะทำการปฏิบัติ

8.3สติอินทรีย์ ความระลึกได้ที่คอยควบคุมให้จิตอยู่ในอารมณ์ปฏิบัติสมาธิให้จิตสงบ

8.4สมาธิอินทรีย์ ความตั้งใจให้มั่นอยู่ในอารมณ์สมาธิที่รวมเป็นหนึ่ง

8.5ปัญญาอินทรีย์ ความรู้ชัดแจ้งในวิธีการปฏิบัติที่ถูกต้องที่จะอบรมจิตให้สงบ

หน้า170

9. ความฉลาดในนิมิต

เป็นข้อเตือนสติให้เป็นคนช่างสังเกตพิจารณาในภาวะที่นิมิตเกิดปรากฏแล้ว มีวิธีใดที่เคยใช้ในการเจริญให้นิมิตมั่นคงยิ่งขึ้น จงจดจำนำมาใช้ และควรจะมีใจเฉลี่ยวเมื่อเหตุที่นิมิตเสื่อมหายไปแล้วปฏิบัติอย่างไรนิมิตจึงเกิดอีก และรักษาไว้ให้คงอยู่

ซึ่งวิธีต่อไปนี้ เป็นวิธีเสริมให้นิมิตคงอยู่และสมาธิเจริญยิ่งๆขึ้น

9.1 ยกจิตในสมัยที่ควรยก

ในขณะใดที่จิตใจหดหู่เกิดความเบื่อหน่าย ไม่อยากฝึกจิต พึ่งเจริญด้วยความขยันหมั่นเพียรมองพิจารณาฝึกสมาธิเป็นการปฏิบัติที่จะได้ความปีติอิ่มเอิบใจ

เมื่อนั้น ก็จะเป็นการสร้างภาวะที่ดีประคองให้จิตสบาย ยกระดับจิตให้สูงขึ้นเพื่อเกิดศรัทธาที่จะฝึกต่อไป

หน้า171

9.2 ข่มจิตในสมัยที่ควรข่ม

ในขณะที่จิตใจเกิดอาการฟุ้งซ่าน คิดมากจนรวมสมาธิไม่ติด เราก็ต้องใช้สมาธิปัญญาพิจารณาเหตุที่ทำให้เกิดอาการฟุ้งซ่าน

เช่น

ค้นพบว่า เพราะความอยากได้คิดเลยไปในอนาคตว่าทำอย่างไรจึงจะได้ฌานสูงๆขึ้นไป ก็ต้องข่มจิตด้วยการวางใจในอุเบกขาเฉยๆเสีย

การข่มจิตนี้ ควรจะค่อยๆ โน้มน้าวดึงจิตให้เข้าทีละน้อยๆ ท่านควรพิจารณาให้รู้ถ่องแท้ว่า เมื่อฝึกถึงฌานสูงๆ สมาธิก็จะเจริญไปถึงเอง ไม่ต้องดิ้นรนใฝ่คว้าจนเสียสมาธิ

9.3 ทำใจให้ร่าเริงในสมัยที่ควรร่าเริง

ในโอกาสใดที่จิตใจมีปัญญาอ่อนแรงลง พิจารณาปลงสังเวชเศร้าสลดกับกายสังขารหรือมองไม่เห็นความสุขอันพึงได้จากการปฏิบัติก็ควรปลุก สร้างจิตใจให้เกิดความปลื้มปิติเลื่อมใสศรัทธาเคารพนบนอบระลึกถึง

หน้า172

คุณแห่งพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ผู้นำความสุขอันเที่ยงแท้มาเผยแพร่ให้เราได้พบกับความจริง ที่ว่า “ทุกข์ทั้งหลายก็อยู่ในกฏแห่งอนิจจัง ที่ไม่เที่ยงแท้ ทนอยู่ไม่ได้ ไม่มีตัวตนที่ควรแก่การยึดมั่น ”

เมื่อปัญญาเราเจริญแก่กล้าขึ้นเป็นลำดับ ก็จะทำให้เกิดความร่าเริงชื่นบานดูดดื่มเป็นการยกระดับจิตใจให้สูงขึ้น หมดสิ้นจากภาวะจิตใจที่ต่ำต้อยหดหู่

9.4 คุมจิตในสมัยที่ควรคุม

คือ ในขณะที่จิตใจไม่หดหู่ ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ทุกข์โศก ดำเนินปฏิบัติจิตไปตามวิถีแนวทางแห่งการฝึกสมาธิแล้ว

เราก็คุมเชิงอยู่เฉยๆ ดูจิตให้ปฏิบัติไปเรื่อยๆ เหมือนม้าลากรถที่เดินไปสู่บนถนนที่ราบรื่นแล้ว คนขับรถม้าเพียงแต่จับเชือกเฉยๆ ไม่ต้องกระตุกหรือกระชักเชือกจิตก็จะพาไปถึงเป้าหมายแห่งความสงบเอง

หน้า173

10.โดยน้อมจิตไปในสมาธิในจังหวะที่เหมาะสม

คือ เมื่อจิตใจเริ่มสงบนั้น ก็พยายาม ค่อยๆ น้อมน้าวตะล่อมจิตใจให้หน่วงลงสู่ในสมาธิมากขึ้น โดยพิจารณาในจังหวะที่จิตใจพร้อมแล้วจากการปฏิบัติตามข้อที่กล่าวข้างต้น

เมื่อนั้น จิตก็จะฝังลงในความคิดที่จะเจริญมุ่งสู่ความสงบแน่วแน่มั่นคงอย่างแน่นอน

หน้า174

น้ำใจสุขเลิศล้ำ เสน่หา

ยากยิ่งจะนำมา กล่อมใช้

ความสุขแห่งใจพา สุขกว่า

ความสุขอื่นหาได้ ไม่แท้สุขใจ

หน้า175

ยึดอุคหนิมิตฝึกต่อเนื่องให้ได้ปฏิภาคนิมิต

เมื่อท่านฝึกได้สมาธิขั้นกลาง ก็ได้นิมิต “ ดวงสีขาว ” เป็นเครื่องหมายที่จำติดตาแล้วขอให้ฝึกต่อดังนี้

หลับตาลง

เจริญสมาธิให้จิตสงบแล้วมองไปที่กึ่งกลางระหว่างคิ้ว อุคหนิมิต “ ดวงสีขาว ” ก็จะปรากฏเกิดขึ้นตั้งอยู่เฉพาะหน้าเรา แล้วส่งจิตใจความนึกคิดเข้าไปประคองจับอยู่ที่ศูนย์กลางของดวงสีขาว

คือ

เหมือนถือดินสอเข้าไปจุดเป็นสีดำที่ศูนย์กลางของวงกลม เพื่อเป็นเป้าหมายของจิตใจที่จะส่งเข้าไปทับถมที่จุดนั้น

หน้า176

เมื่อสร้างจุดเสร็จแล้ว

หายใจเข้าภาวนาว่า “ พุท ” แล้วหายใจออกก็ท่องต่อเนื่องด้วยคำภาวนาว่า “ โธ ” พอคำว่า “ โธ ” จะออกจากร่างกายพร้อมลมหายใจสลายไปในอากาศนั้น เราก็สมมติว่า นำตัว “ โธ ” พร้อมด้วยลมหายใจส่งเข้าไปที่จุดสีดำศูนย์กลางของดวงสีขาวนั้น

ถ้าท่านฝึกจนชำนาญแล้ว

ไม่ต้องภาวนา “ พุท ” “ โธ ” ก็ได้ แต่ใช้ส่งกระแสจิตใจความนึกคิดเข้าไป เป็นการฝึกต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ไปยังศูนย์กลางดวงสีขาวนั้นให้มากขึ้นๆ อย่างช้าๆ เรื่อยๆ วางตัวเป็นสายกลางเหมือนน้ำในลำธารไหลรินเอื่อยๆเข้าไปสู่ศูนย์กลางดวงสีขาวอย่างไม่ขาดสาย

ฝึกไปเช่นนี้ด้วยความขยันหมั่นเพียร ที่ไม่รีบเร่งอยากได้อันเป็นกิเลสที่จะทำให้ปวดขมับ และทำให้ไม่บรรลุผลสำเร็จ เพราะว่าภาวะรีบเร่งนั้นทำให้เกิดความเครียดถึงกับปวดศีรษะ มึนชา และสองข้างขมับมีอาการปวดเส้นประสาทจนกระตุก

หน้า177

ถ้าท่านมีอาการเช่นนี้แล้ว ขอให้คลายออกจากการจดจ่อแล้วถอยไปอ่านวิธีการรักษาด้วยวิธีการแก้ปวดประสาทสองข้างของขมับ(หน้า145)

ขณะเดียวกัน

ท่านก็ต้องฝึกอย่างไม่ย่อหย่อน จนจิตใจหดหู่ท้อถอย เสียกำลังใจ จนไม่มีแรงพอที่จะเดินก้าวหน้าไปสู่มรรคผล

สรุปก็คือ

ใช้วิธีเดินสายกลาง บำเพ็ญด้วยสติ ควบคุมจิตให้เป็นไปอย่างสม่ำเสมอ

หน้า178

ฝึกเจริญสมาธิไประยะหนึ่ง

ความสว่างรอบๆดวง อุคคหนิมิตจะค่อยๆวิ่งเข้าไปรวมที่จุดศูนย์กลางของ “ ดวงสีขาว ” เนื้อในดวงสีขาวก็จะค่อยๆรวมเข้าไปอยู่ในจุดศูนย์กลาง คงเหลือแต่วงแหวนอุคหนิมิตล้อมรอบจุดศูนย์กลางนั้น

เราไม่ไปสนใจการเปลี่ยนแปลงนั้น

แต่เรายังคงปฏิบัติเหมือนแต่ต้นต่อไป

จุดศูนย์กลางนั้นจะค่อยๆรวมตัวเป็นแก้วใสๆเท่าหัวเข็มมุดที่สวยงาม เกิดซ้อนขึ้นในศูนย์กลางของ “ ดวงสีขาว ” แล้วค่อยๆเปล่งรัศมีรอบตัวแผ่เป็นแสงออกโดยรอบดวงแก้ว

ด้วยกำลังของการภาวนา ลมหายใจขณะนั้นจะละเอียดยิ่งขึ้น จิตใจก็จะสงบระงับมากขึ้นโดยลำดับจนลมหายใจไม่ปรากฏว่ามีหรือไม่มี

หน้า179

แสงจากดวงแก้วจะค่อยๆสว่างจ้ามากขึ้น ขณะนี้ดูไปเหมือนมองเห็นพระอาทิตย์ตอนกลางวัน แต่แสงจากดวงแก้วนี้อ่อนนุ่มสุขุมดังแสงจันทร์ แสงนั้นเจิดจ้าแต่ไม่แสบตาแบบแสงจากอาทิตย์ และจะมีอารมณ์ไหวๆ ในตอนแรกๆเท่านั้น

ขณะนี้อุคคหนิมิตที่เป็นวงแหวน ล้อมรอบดวงแก้วอยู่นั้นก็จะค่อยๆเลือนรางจางหายไป

ในที่สุด

ก็จะเหลือแต่ดวงแก้วที่เปล่งแสง ที่เรียกว่า “ ปฏิภาคนิมิต ” คือ นิมิตเทียบเคียงเขยิบใกล้เข้าสู่ความแน่วแน่

“ ปฏิภาคนิมิต ” นี้เป็นการรวมสมาธิได้กำลังแรงกว่าอุคหนิมิต จนกิเลสไม่สามารถที่จะขึ้นมารบกวนกระทบกระเทือนจิตใจขณะนั้นได้

หน้า180

คนใดมักน้อยโลภ โลโภ

ระงับดับโกรโธ แช่มช้า

พยาบาทวิหิงโส สูญดับ ได้แฮ

พักตรเพียงจันทร์แจ่มฟ้า เพริศแพร้วไพบูลย์

(สำนวนเก่า)

จากประชุมโคลงโลกนิติ

หน้า181

ยึดปฏิภาคนิมิตฝึกต่อเนื่องให้ได้ปฐมฌาน

เมื่อได้ฝึกจนปฏิภาคนิมิตเกิดขึ้นตั้งอยู่แล้ว แสงสว่างที่อยู่รอบๆดวงแก้ว ก็จะแนบนิ่งไม่หวั่นไหว จิตก็จะผละออกจากการรับรู้ลมหายใจ แล้วมาตั้งอยู่ที่ “ ปฏิภาคนิมิต ”

จิตประคองจับเฉพาะ “ ดวงแก้ว ” ไว้ ไม่สนใจสีแสงรอบดวงแก้ว เพราะบางครั้งสีแสงเหล่านั้นอาจจะเปล่งออกมาเป็นสีรุ้งแผ่รัศมีเป็นชั้นๆ หรือเป็นสีสันที่น่าสนใจ น่ารักใคร่ที่จะทำให้หลงยึดติดอยู่

เมื่อจิตประคองจับ “ ดวงแก้ว ” แล้วก็ตั้งเป็นเป้าหมาย ให้ส่งกระแสจิตใจความนึกคิดเข้าไปที่ศูนย์กลางของดวงแก้วอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง ฝึกเช่นนี้ไปฝึกจนเข้าสมาธิทุกครั้งก็จะเห็น “ดวงแก้ว ” แล้วฝึกให้เห็นเสมอและเร็วขึ้นกว่าเก่า คือฝึกจนชำนาญที่จะใช้ระยะเวลาสั้นลงๆที่จะให้ได้เห็น “ ดวงแก้ว ”

หน้า182

ฝึกจนหลับตาทุกครั้งก็จะเห็นดวงแก้วทันที

ฝึกจนได้เห็นทุกครั้ง ที่จิตใจนึกต้องการจะเห็น

ฝึกจนลืมตา ก็ยังรู้สึกมีนิมิตดวงแก้วอยู่เฉพาะที่ข้างหน้าของหน้าผาก ตั้งอยู่เสมอกับระดับกึ่งกลางระหว่างคิ้วนั้น แล้วลืมตาส่งจิตใจความนึกคิดเข้าไปอย่างต่อเนื่องอีก ด้วย การอาศัยความมืดของเวลากลางคืน ลืมตาไว้แล้วมองไปข้างหน้าส่งจิตใจความนึกคิดรวมเป็นหนึ่ง ส่งเข้าไปกึ่งกลางระหว่างคิ้วแล้วค่อยๆผลักดันนิมิต ” ดวงแก้ว ” นั้นให้ไปปรากฏชัดที่ข้างหน้าเราในระยะที่สายตามองเห็นได้ ได้ถนัดเมื่อ “ดวงสีขาว ” เคลื่อนออกตั้งเป็นเป้าแล้วใหม่ๆจะเลือนรางและเคลื่อนไหวไม่อยู่กับที่ ให้ค่อยๆประคองจับไว้ให้นิ่งและบังคับให้อยู่กับที่ ส่งจิตใจความนึกคิดเข้าไปตรงศูนย์กลางของนิมิตที่พอจะเห็นได้นั้น ส่งกระแสความนึกคิดเข้าไปอยู่ระยะหนึ่ง ดวงแก้วที่เห็นด้วยการลืมตานั้นก็จะค่อยๆชัดและเป็นจริงขึ้นมา จึงเป็นการฝึกที่เรียกว่า ฝึกจนลืมตาเห็นได้แม้ในเวลากลางคืน

หน้า183

ฝึกจนลืมตาเห็นนิมิตในเวลากลางวัน

เมื่อฝึกเห็นดวงแก้วในเวลากลางคืนจนชำนาญแล้ว ก็มาฝึกให้เห็นในเวลากลางวัน

ใหม่ๆควรจะฝึกในห้องที่มีผ้าดำหรือกระดานดำอยู่หน้าห้อง ภายในห้องเปิดประตูหน้าต่างให้แสงสว่างเข้ามาได้เต็มที่ แล้วส่งจิตใจความนึกคิดดึงภาพนิมิต “ ดวงแก้ว ” ให้ไปปรากฏที่หน้ากระดานดำ

เมื่อตั้งเป็นเป้าได้แล้ว ก็ส่งกระแสจิตใจความนึกคิดเข้าไปที่เป้า “ ดวงแก้ว ” นั้น จนมองเห็นได้ชัด

แล้วก็เปลี่ยนจากกระดานดำเป็นผ้าขาวผืนใหญ่หรือเป็นกระดานขาว ตั้งเป้าฝึกเหมือนวิธีแรก ด้วยการตั้ง “ ดวงแก้ว ” ที่เป็นสีขาวให้ไปปรากฏบนผ้าขาว จึงเป็นวิธีที่ยากขึ้นในการฝึกให้เห็นชัด แต่ไม่พ้นความพยายาม

ในไม่ช้า ก็จะ ฝึกจนลืมตาเห็นได้ในเวลากลางวัน

หน้า184

เมื่อฝึกจนคล่องชำนาญแล้ว

ก็ฝึกลืมตากำหนดให้นิมิต “ ดวงแก้ว ” เกิดให้เห็นได้ในทุกสถานที่ และพยายามฝึกด้วยการเพ่งโดยการส่งจิตใจความนึกคิดเข้าไปที่เป้าคือ “ ดวงแก้ว ” จนมองเห็นได้ชัดเจน ด้วยนิมิต “ ดวงแก้ว ” นี้ก็จะแจ่มชัดขึ้นตามลำดับต่อไปโดยไม่ต้องย้อนกลับไปอาศัยกสิณเพ่งวงกลมหรือดวงสีขาวอีก

หน้า185

ได้ปฏิภาคนิมิตแล้วควรหมั่นเจริญสมาธิ

ท่านที่ฝึกบรรลุได้ปฏิภาคนิมิตใหม่ๆ ควรจะขยันหมั่นเข้าฝึกอยู่ในอารมณ์สมาธิบ่อยๆ

จะก่อให้เกิดความเคยชินทางจิตใจให้สงบ

สร้างความชำนาญในการบำเพ็ญฌาน

แต่อย่าใช้เวลานานไป เพราะถ้าใช้เวลาพิจารณานานไป จิตใจก็จะเมื่อยล้า องค์ฌานคือ “ ดวงแก้ว ” ก็จะปรากฏหยาบเป็นผลให้กลายเป็นองค์ฌานที่ไม่แข็งแกร่งพอที่จะไปบรรลุฌานขั้นสูงต่อไป

ในขั้นนี้มีลักษณะเหมือนกินข้าวให้บ่อย แต่กินครั้งละไม่ต้องมากเพราะถ้ากินมาก จะจุกเสียดอึดอัดเกินไปไหนมาไหนไม่ได้อีก

ฝึกปฏิบัติต่อไปอีก

ฝึกจนสามารถบังคับให้จิตนิ่งทุกขณะที่เราต้องการ “ ดวงแก้ว ” ถูกบังคับให้อยู่เฉพาะหน้าเห็นชัดติดตาได้นานตามที่เราต้องการ ฝึกจนเป็นนิมิตที่ปรากฏอยู่ในใจที่ไม่เลือนจางหายไป

ฝึกถึงขั้นนี้แล้ว

หน้า186

ฝึกขยายและหดนิมิต

ท่านก็ฝึกตั้งนิมิต “ ดวงสีขาว ” นั้นไว้เฉพาะหน้าเอาจิตใจความนึกคิดไปจับอยู่ที่ศูนย์กลางของดวงแก้วทำใจให้สงบสำรวมเป็นหนึ่งอยู่กับที่กายเนื้อ ฝึกขยายและหดดังนี้

1.ฝึกจับจากดวงเล็กขยายให้เป็นดวงใหญ่

ส่งจิตใจความนึกคิดจากกายเนื้อเข้าไปที่ศูนย์กลางของดวงแก้ว ส่งเข้าไปเรื่อยเรื่อย ด้วยใจที่คิดว่าเหมือนเป่าลมเข้าไปที่ปากลูกโป่งให้ค่อยๆโตขึ้นทีละน้อยๆ จิตใจจะได้ละเอียดไม่ทำให้สมาธิหยาบด้าน ค่อยๆขยายทีละครึ่งเซ็นต์ ทีละนิ้ว จนเป็นคืบเป็นศอก ขยายจนใหญ่ที่สุดที่เราสามารถมองเห็นก็พอ การขยายนี้จะต้องขยายตรงศูนย์กลางออกไปเท่ากันทุกด้าน แม้ขยายออกไปกว้างเท่าใดก็ยังเป็นวงกลมที่ไม่บูดเบี้ยว

ระหว่างที่กำลังขยายอยู่นั้น จิตใจมีอารมณ์สบายๆ ไม่ตื่นเต้นรีบเร่ง จะได้ไม่เปลืองพลังภายในกาย ทำให้เมื่อออกจากสมาธิแล้วไม่เหนื่อยอ่อนเพลีย

หน้า187

2.ฝึกจับจากดวงใหญ่ให้หดเป็นดวงเล็ก

เมื่อฝึกจนนิมิตขยายเป็นดวงใหญ่ตามที่ต้องการแล้ว

ทำใจให้สงบรวมอารมณ์เป็นหนึ่ง ตั้งอยู่ที่กายเนื้อส่งจิตใจความนึกคิดเข้าไปที่ศูนย์กลางของดวงแก้ว

เหมือนจุ่มหลอดกาแฟเข้าไปใจกลางดวงแก้วด้วยใจที่คิดว่า เหมือนดูดน้ำออกจากดวงแก้วกลับมาที่กายเนื้อ ดูดไป ๆอย่างช้าๆ ดวงแก้วก็จะค่อยๆหดลงมาทีละน้อยๆจนคืนสู่สภาพเดิมที่โตเท่าหัวเข็มมุด

3. ดวงนิมิตที่อยู่ใกล้ให้ออกไปอยู่ที่ไกลและถอยกลับมาอยู่ที่เดิม

เมื่อตั้งดวงนิมิตที่อยู่เฉพาะหน้าเรานั้นได้แล้ว ก็ส่งจิตใจความนึกคิดเข้าไปที่ศูนย์กลางของดวงแก้วค่อยๆส่งไป เหมือนค่อยๆผลักให้ดวงแก้วถอยออกห่างไปอย่างช้าๆค่อยๆห่างออกไปจนถึงระยะไกลพอที่เราจะจับตามองเห็น ระวัง อย่าผลักให้ถอยเร็วไปจะทำให้ตั้งสติตามไปไม่ทัน เกิดอาการตกใจได้

หน้า188

เมื่อดวงแก้วถูกผลักออกไปไกลตามที่เราต้องการแล้ว

ตั้งใจให้จิตสงบรวมเป็นหนึ่งที่กายเนื้อ ส่งจิตใจความนึกคิดเข้าไปที่ศูนย์กลางของดวงแก้วที่อยู่ไกลนั้น แล้วค่อยๆดึงลากดวงแก้วให้กลับเข้าใกล้มาจนอยู่ในตำแหน่งเดิม คือ อยู่เฉพาะหน้าเรา

4.ที่อยู่ต่ำให้เลื่อนสูงขึ้นไป

ตั้งใจให้สงบรวมเป็นหนึ่งอยู่ที่กายเนื้อ ส่งจิตใจความนึกคิดเข้าไปที่ศูนย์กลางของดวงแก้ว แล้วค่อยๆหิ้วชักรอกให้ดวงแก้วสูงขึ้นๆ จนสายตาเราสามารถมองเห็นได้และตั้งอยู่คงที่ในความสูงนั้น

เมื่อตั้งดวงแก้วอยู่ที่สูงได้แล้ว ก็ส่งจิตใจความนึกคิดเข้าไปที่ศูนย์กลางดวงแก้วดึงหน่วงถ่วงให้ดวงแก้วนั้นเลื่อนต่ำลงมาสู่ตำแหน่งเดิม และค่อยๆกดให้ต่ำลงไปอีก แล้วจึงค่อยๆดึงขึ้นมาคืนตั้งอยู่เฉพาะหน้าเราอีกครั้ง

5.อยู่ภายนอกให้เข้ามาปรากฏในตัวเรา

ดวงนิมิตที่ได้ฝึกจนพบเห็นนั้น ปรกติจะมีความรู้สึกว่าอยู่ภายนอกกายเราตั้งอยู่เฉพาะหน้าคือ ตรงข้ามกับหน้าเรา โดยอยู่ในระดับเสมอกับกึ่งกลางระหว่างคิ้ว ห่างประมาณ 1 ฟุต หรือ 1 คืบ

เราตั้งจิตให้สงบรวมเป็นหนึ่งอยู่ที่กายเนื้อ แล้ว ส่งจิตใจความนึกคิดเข้าไปที่ศูนย์กลางของ ” ดวงแก้ว ” แล้วค่อยๆดึงลากเข้ามาที่กึ่งกลางระหว่างคิ้ว แล้วค่อยๆดึงต่ำลงมาที่หน้าอก หน้าท้อง แล้วก็วกผ่านทวารหนักขึ้นบั้นเอว ไปตามกระดูกสันหลังขึ้นไปผ่านท้ายทอย กลางกระหม่อม แล้วคืนสู่กึ่งกลางระหว่างคิ้วใหม่อีก ให้ฝึกหมุนเวียนอยู่หลายรอบจนชำนาญ แล้วก็ค่อยๆส่ง “ ดวงแก้ว ” นั้นคืนสู่กึ่งกลางระหว่างคิ้ว ส่งคืนออกไปอยู่เฉพาะหน้าอีกครั้ง

ฝึกจนชำนาญแล้ว ก็จะสามารถตั้งดวงแก้วให้เคลื่อนไปไว้ที่ไหนก็ได้ตามความต้องการที่จิตใจความนึกคิดในขณะนั้นจะสั่งการ ผู้ฝึกก็จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงความคิดเห็นให้ดีขึ้นด้วยการพิจารณาโดยปัญญาตามลำดับ

หน้า190

เมื่อฝึกจนสมาธิคมกล้าแข็งแกร่งมากขึ้นด้วยการตั้งปฏิภาคนิมิตอยู่เฉพาะหน้าแล้ว ยังคง ส่งจิตใจความนึกคิดเข้าไปที่ศูนย์กลางของดวงแก้ว ดวงแก้วจะเจิดจ้าสว่างยิ่งๆขึ้น สว่างจนท้องฟ้าแจ้งไปหมด ดวงแก้วที่เป็นปฏิภาคนิมิต ก็จะถูกความสว่างกลืนหายไป

แต่ทั้งนี้ ไม่ได้หายไปไหน

ดวงแก้วยังคงอยู่เฉพาะหน้าเรา เพียงแต่ขณะนั้นมีลักษณะเหมือนดวงอาทิตย์ตอนเที่ยงวัน มองไปไม่มีพระอาทิตย์ แต่ต่อเมื่อเราอยากจะเห็นนิมิต “ ดวงแก้ว ” โดยเราส่งจิตใจความนึกคิดมองผ่านกึ่งกลางระหว่างคิ้วออกไปก็จะพบดวงแก้วตั้งอยู่เฉพาะหน้าเราอีก

ขณะนี้ จิตใจความนึกคิดได้รวมอารมณ์เข้าเป็นก้อนเดียวที่สมานอย่างสนิทแนบแน่นผ่องใส สว่างไสวเจิดจ้าอยู่ลำพังดวงเดียว ตั้งอยู่ที่กึ่งกลางระหว่างคิ้วสภาพจิตได้ละเอียดลงไปจนสลัดอารมณ์ อุปาทานทั้งหมด ไม่เกาะเกี่ยวสัมพันธ์กับอารมณ์ทั้งภายในและภายนอกที่มากระทบ จิตใจปลอดโปร่งแช่มชื่นอิ่มเอิบ เกิดความ

หน้า191

เชื่อมั่นขยันหมั่นเพียรพยายามจะที่ปฏิบัติสมาธิต่อไป สติจึงได้รวมกำลังจากสมาธิที่จิตตั้งมั่นแน่วแน่ ผนึกกำลังอันน้อยนิดให้เกิดเป็นพละกำลังมหาศาลอย่างสมบูรณ์ในดวงจิต จิตนิ่งสงบผ่องใส ใจสว่าง ปัญญาย่อมเกิดเต็มเปี่ยม สมบูรณ์เต็มที่ ที่รู้ชัดเด่นอยู่ภายในดวงจิตโดยไม่ตกสู่ภวังค์ ไม่ห่วงยึดกายเนื้อ จึงทำให้ร่างกายที่เคยปรากฏก็เหมือนหายไป ลมหายใจก็ละเอียดสุขุมปรากฏอยู่เฉพาะแต่ในใจ ส่วนกายเนื้อนั้นเหมือนไม่หายใจ

เมื่อเจริญสมาธิต่อไป

ขณะนี้ แม้จิตจะอยู่ในสมาธิ แต่ก็เป็นผู้รู้ ผู้ตื่นอยู่

จิตใจอยู่ในภาวะที่ละเอียด สุขุม แน่วแน่ แน่นหนามั่นคงมากขึ้น ไม่โยกคลอนไม่ฟุ้งซ่านสอดส่ายออกไปภายนอก ยังคงรวมเข้านิ่งดิ่งลงสู่ภวังค์แล้วก็ถอนขึ้นมามีสติสมบูรณ์พร้อมเป็นการตัดภวังค์ครั้งเดียวแล้วจิตก็ตั้งอยู่ได้นานเป็นวันเหมือนคนหัดว่ายน้ำมาดีแล้วกระโดดลงน้ำ จะต้องจมดิ่งลงเพียงครั้งเดียวก่อน แล้วจึงลอยขึ้นมาอีกครั้ง สามารถลอยคอ

หน้า192

ลอยตัวอยู่ได้นาน มีเวลามีโอกาสที่จะพิจารณาสภาวะสิ่งแวดล้อมหรือพิจารณาธรรมต่อไป เหมือนเด็กที่เจริญสมบูรณ์โตเต็มที่แล้ว เมื่อลุกขึ้นจากท่านั่งได้แล้ว ก็สามารถยืนตั้งหลักอยู่ได้นานเป็นวันก็ได้

อารมณ์ขณะนี้เป็นสมาธิที่อบรมดีแล้ว ที่จะรวมให้ตั้งอยู่ได้นาน จะให้รวมหรือถอนขึ้นมาเมื่อใดก็ได้ตามที่ต้องการ

สมาธิระดับนี้ เขาเรียกว่า “ อัปปนาสมาธิ ” คือ สมาธิที่ได้จากอารมณ์ของจิตรวมเข้าเป็นหนึ่ง สู่ความสงบมั่นคงแน่นหนานิ่งได้อย่างแน่วแน่

ดังนั้น สมาธิระดับนี้

จึงเรียกว่า “ ได้สมาธิขั้นสูง ”

สมาธิระดับนี้ ย่อมมีกำลังแก่กล้า กำลังปัญญาย่อมเกิดแก่กล้าขึ้นตามกำลังสมาธิ

เมื่อจิตสงบนิ่งแน่วแน่เต็มที่เพียงนี้แล้ว สติก็อาศัยกำลังสมาธิ และความคิดเห็นแจ่มแจ้งที่เกิดขึ้นภายในจิตใจ เป็นกำลังปัญญารวมเป็นพลังที่เข้มแข็งสามารถขจัดนิวรณ์ธรรมที่เป็นกิเลสขัดขวางกั้นจิต

หน้า193

ไม่ให้พัฒนาถึงธรรมแห่งการกระทำความดี ภาวะนี้เป็นการขัดเกลาจิตใจให้ใสสะอาดบริสุทธิ์

จิตขณะนี้อยู่ในภาวะผู้รู้ตื่นอยู่ มีสติสัมปชัญญะไพบูลย์ที่สูงเฉียบแหลมกว่าเก่า คงอยู่ตลอดเวลาที่จะพิจารณาตัดนิวรณ์ธรรม

1. ด้วยความไม่หลงใหลยินดี จึงได้พิจารณาเห็นโทษในรูปในสีที่ตาเห็นว่าสวยงาม เสียงที่หูได้ยินว่าไพเราะ กลิ่นที่จมูกได้ดมว่าชวนติดตาม รสชาติที่ลิ้นได้ชิมว่าอร่อย การสัมผัสทางกายกับสิ่งของและเพศตรงข้ามที่รู้สึกว่าอ่อนนุ่มน่ารัก น่าใคร่น่ายินดี และจิตใจที่ปรุงแต่งหลอกล่อให้เราก้าวไปไคว่คว้าใฝ่ใจแสวงหาเพื่อบำเรอความสุขอันไม่เที่ยงแท้

จิตจึงสลัดละทิ้ง จากความพอใจรักใคร่ในกามฉันทะ

2. ด้วยความไม่ยินร้าย ในสิ่งไม่พอใจที่เข้ามากระทบกระทั่งจิตใจ จึงไม่โกรธแค้นเกรี้ยวกราดคิดอาฆาตเกลียดชังที่จะไม่พอใจทุกรูปทุกนามที่มีกรรมของตนเป็นที่ตั้ง เพราะเราเจริญพร้อมด้วยพรหมวิหารสี่ คือ

หน้า194

เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขาที่จะให้อภัยแก่เขา ในขณะเดียวกัน ถ้าไม่มีใครรู้ใจเราอภัยให้กับเรา เราก็สามารถตั้งจิตอภัยให้ตัวเราเองกับความคิดที่ไม่ดีในอดีตมั่นใจที่จะตั้งต้นใหม่ในการบำเพ็ญความดีที่ไม่ผูกใจเจ็บคิดอาฆาตแค้นจองเวรคนอื่นและเหยียดหยามตนเอง

จิตจึงละทิ้งจากความพยาบาทคิดปองร้าย

3. ด้วยความขยันหมั่นเพียรเป็นกำลังเสมอต้นเสมอปลาย ที่ประคองจิตให้พยายามปฏิบัติจิตจนถึงความสงบทั้งกายและใจ

จิตจึงละทิ้งจากความหดหู่ท้อแท้ความเกียจคร้านง่วงเหงาเคลิบเคลิ้ม

4. ด้วยจิตใจที่ฝึกจนสงบ ได้สมาธิ จิตตั้งมั่นคงอยู่ จึงผูกจิตยึดอารมณ์แห่งความสงบนั้นไว้ได้ จิตจึงละทิ้งจากความฟุ้งซ่านรำคาญใจ

5. ด้วยภาวะจิตที่ฝึกได้สำเร็จมรรคผลแห่งสัมมาสมาธิที่ตั้งจิตมั่นชอบ โดยได้รวมความเห็นชอบวจีสุจริต เจรจาชอบ กายสุจริตกระทำชอบ ความเลี้ยงชีพชอบ ด้วยการเว้นจากมิจฉาชีพ พยายามชอบ

หน้า195

คือมีความเพียรชอบ ความระลึกชอบคือที่ตั้งกำหนดจิตพิจารณาสิ่งทั้งหลายให้รู้เห็นตามความจริงของสิ่งนั้น

เมื่อได้บรรลุเช่นนี้แล้ว

จึงเกิดความเชื่อมั่นศรัทธาในคุณพระรัตนตรัยที่นำไปสู่ความสงบสุขอันแท้จริง จิตจึงละทิ้งจากความลังเลสงสัย

สภาวะจิตที่ปฏิบัติอยู่ขณะนี้ จิตได้สงบมาก

เพราะ ได้รับความอิสระจากการสลัดหลุดพ้นจากกามและอกุศลทั้งปวง ชีวิตจิตใจดำเนินไปโดยความบริสุทธิ์ ไม่เห็นแก่ตัวที่จะเบียดเบียนผู้อื่น จิตใจจึงอยู่ในสภาวะได้เพ่งพินิจรู้เด่นชัดอยู่ด้วยปัญญาที่แก่กล้าขึ้น เกิดความคิดเห็นแจ่มแจ้งที่ผุดขึ้นภายในจิตใจ ด้วยจิตที่ผ่องแผ้วสงบสุขเป็นสมาธิแน่วแน่นิ่งที่ไม่หวั่นไหวต่ออารมณ์ ปัญญาย่อมเกิดเป็นหนึ่งประภัสสรยิ้มผ่องใสอย่างอิ่มเอิบที่ได้ ปฐมฌาน อันเป็นภาวะจิตอันปลาบปลื้มปีติ สะอาด บริสุทธิ์ที่สมบูรณ์ครบพร้อมด้วยองค์ 5 คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคตา

หน้า196

และมีอินทรีย์ 5 เป็นพละกำลังที่สนับสนุนอยู่คือ

1. ความศรัทธาเชื่อมั่นเลื่อมใส

2. ความขยันหมั่นเพียรอย่างสม่ำเสมอ

3. ความระลึกได้ที่มีสติคอยควบคุมอยู่ทุกเมื่อ

4. ความตั้งจิตให้มั่นในอารมณ์สมาธิที่รวมเป็นหนึ่ง

5. ความรู้ชัดแจ้งด้วยปัญญา

หน้า197

ปฐมฌานประกอบด้วยองค์หรืออารมณ์ 5 ประการคือ

1.วิตก (ใช้เวลาช่วงสั้น ) คือการตรึกหรือการครุ่นคิดระลึกอยู่ (ไม่ใช่วิตกกังวล ) เป็นสภาวะที่จิตกำลังนึกคิดสัมผัสกับนิมิต เห็นได้ด้วยใจอยู่ จิตจะไม่พรากจากนิมิต

2. วิจาร (ใช้เวลาช่วงยาว ) การตรองใคร่ครวญทบทวนพิจารณาตรวจสอบนิมิต เพื่อหาข้อเท็จจริงในอารมณ์ภาวนา กำหนดรู้ด้วยใจกับภาวะนิมิตคงอยู่ในสภาพอย่างไร เป็นการผูกจิตวนเวียนกับอารมณ์ที่กำลังนึกถึงอยู่นั้นคอยระมัดระวังไม่ให้สติเกิดการกวัดแกว่ง

3. ปีติ คือ ความรู้สึกยินดีอิ่มเอิบ เบิกบาน ปลาบปลื้มใจจากการที่จิตได้นิมิตแห่งความสงบ สันติ สันโดษ (มีอารมณ์คล้าย ดีใจ ที่ได้ดื่มน้ำหวาน )

4. สุข คือความรู้สึกที่เสวยอารมณ์ชุมชื่นสุขสำราญเพลิดเพลินสบายใจที่ได้ประสบในสมาธิ

(มีอารมณ์ คล้าย ดื่มน้ำหวานแล้วรู้สึกอร่อยชื่นใจ )

หน้า198

5. เอกัคตา คือ อารมณ์จิตดำเนินรวมเข้าอยู่ในอารมณ์เดียวที่ตั้งมั่นรวมเป็นหนึ่งแน่วแน่ ซึ่งปรากฏในนิมิตเป็นดวงแก้วที่แวววาวกว่ามุก และมีความแข็งแกร่งแน่นหนาเหล็กกล้า

ภาวะแห่งการที่จิตฝึกจนนิ่งสงบได้แน่วแน่ ทำให้จิตใจมีสมาธิแข็งแกร่งแน่วแน่ดีนี้เมื่อจิตนิ่งพักอยู่ได้นานพอสมควรแล้ว ควรจะใช้กำลังปัญญาไตร่ตรองพิจารณาสภาวะธรรมให้เห็นธรรม ก็จะเกิดเป็นกำลังในการเพิ่มพูนสติปัญญาและความคิดมากขึ้น

ในขณะที่นั่งปฏิบัติจิตอยู่ จะพบว่าที่มีความสุขที่สุดก็คือ ตอนที่ไม่มีตัวตน ไม่มีอารมณ์แห่ง โลภ โกรธ หลง และยิ่งตอนที่รู้สึกเหมือนไม่มีลมหายใจแล้ว ยิ่งพบว่า ความสุขที่แท้จริง คือ เมื่อเราสามารถปรับปรุงตัวเอง ให้เกิดเป็นบุคคลที่ว่าง เปล่าพ้นจากสรรพสิ่งนั้นคือ “ ความสุข ” ไม่ใช่ ความสุขจากการยึดวัตถุที่เป็นความสุขจอมปลอมที่ไม่เที่ยงแท้

หน้า199

ซึ่งในขณะที่คลายออกจากการปฏิบัติจิต ขอให้ท่านมีหิริโอตัปปะคือ ความเกรงกลัวละอายต่อบาป แล้วท่านจะพบว่า จิตใจท่านมีสติสัมปชัญญะรวมเป็นหนึ่งอยู่เสมอ รู้ทันอายตนะของกิเลส โลภ โกรธ หลง อยู่ตลอดเวลา ท่านจะสามารถมีความสุขอย่างแท้จริง เมื่อท่านพบความจริงว่า ท่านสามารถยืนอยู่เหนือความทุกข์แห่งกิเลส โลภ โกรธ หลง

ในขณะเดียวกัน

ถ้ามีอารมณ์กิเลสจากการยุแหย่ ภายนอกเข้ามาทดสอบ

ขอให้ท่านเข้าใจว่า นั่นคือข้อสอบที่มาทดสอบภาวะจิตของเราว่าสมาธิจิตเรานี้ แข็งแกร่งควบคุมอารมณ์ที่เป็นหนึ่งในเอกะได้หรือไม่ จากการที่เราสามารถรวบรวมจิตใจให้เป็นสมาธิ

แล้วใช้อารมณ์แห่งความนิ่งที่เรียกว่า

“ อารมณ์ธรรม ” พิจารณาสภาวะธรรม

โดยไม่หลงกิเลส “โลภ โกรธ หลง ”

ก็แสดงว่าสมาธิเราดีพอไปได้แล้ว

หน้า200

ในเวลาเดียวกัน

ถ้าท่านยังมีเผลอพลั้งตกอยู่ในอารมณ์ โลภ โกรธ หลง จะมากหรือน้อยก็ตาม แสดงว่า ท่านยังไม่ได้สอบผ่านบทเรียนบทที่ 4 นี้ ขอให้ท่านกลับไปเริ่มต้นเรียนใหม่ได้ เพราะคนที่มีสมาธิดี ไม่ใช่มีสติเฉพาะตอนที่นั่งหลับตาเท่านั้น

ใครว่าใครทำผิดศีลหลงเข้าไปในกิเลส “ โลภ โกรธ หลง ” แล้วอ้างว่า “ ตัวไม่รู้ว่าตัวผิดที่หลงไปตกในความโลภ โกรธ หลง ” นั้น ขอเรียนให้ทราบว่า “ท่านไม่มีหิริโอตัปปะ ความเกรงกลัวละอายต่อบาป ” ดังนั้น ถ้าท่านหมั่นคิดคำนึงว่า “ คนเราเกิดมาเพื่อพัฒนาตัวเองให้เบาบางจากกิเลส ” “ โลภ โกรธ หลง ” แล้วท่านจะต้องมี “ หิริโอตัปปะ ความเกรงกลัวละอายต่อบาปทุกวินาทีแห่งการมีชีวิตอยู่แล้ว ท่านจะพบทางสงบสุขสันติธรรมอย่างแน่นอน ”

หน้า201

พระธรรมดูดุจแก้ว จินดา

ให้เกิดเชาว์ปัญญา เลิศด้วย

ให้ตระกูลยศถา ใหญ่ยิ่ง

เกิดสวัสดิ์เท่าม้วย มุ่งฟ้าเสวยสวรรค์ ฯ

(สำนวนเก่า)

จากประชุมโคลงโลกนิติ

หน้า202

เพราะทำความดีทั่วไป

ทำดีไป่เลือกเว้น ผู้ใด ใดเอย

แผ่ผูกไมตรีไป รอบข้าง

ทำคุณอุดหนุนใน การชอบ ธรรมนา

ไร้ศัตรูปองมล้าง กลับซ้องสรรเสริญ

(พระราชนิพนธ์พระพุทธเจ้าหลวง)

จากสุภาษิตและคำพังเพยของไทย

หน้า203

ฝึกหาความชำนาญ(วสี)ในฌาน

ท่านที่ฝึกสมาธิจนได้บรรลุปฐมฌานแล้ว ควรศึกษาวสี ความชำนาญในฌาน 5 ประการ ดังนี้

1. อาวัชชนวสี ชำนาญในการนึกหน่วงถึงนิมิต คือ เมื่อตั้งใจนึกถึงนิมิต นิมิตก็จะปรากฏทันที

2. สมาปัชชนวสี ชำนาญในการเข้าฌาน คือ พอนึกถึงนิมิตของฌาน จิตก็เข้าอยู่ในฌานนั้นทันที

3. อธิฎฐานวสี ชำนาญในการยับยั้งไว้ให้อยู่ในฌาน คือ เมื่ออธิษฐานตั้งใจให้อยู่ในฌานนานเท่าไรก็ได้

4. วุฏฐานวสี ชำนาญในการออกจากฌาน คือ สามารถออกจากภาวะที่อยู่ในฌานได้ทันทีที่อยากจะออก

5. ปัจจเวกขณวสี ชำนาญในการพิจารณา(ทบทวน) คือ มีสติปัญญาอันแหลมคมสามารถมองเห็นเหตุที่เป็นอุปสรรคและเหตุที่จะส่งเสริมให้จิตสำเร็จบรรลุฌาน

หน้า204

ไม่ได้พูดร้ายต่อใครเลย

เหินห่างโมหะร้อน ริษยา

สละส่อเสียดมารสา ใส่ร้าย

คำหยาบจาบจ้วงอา ฆาต ขู่เข็นแฮ

ไม่หมิ่นนินทา ป้าย โทษให้ผู้ใด

(พระราชนิพนธ์พระพุทธเจ้าหลวง)

จากสุภาษิตและคำพังเพยของไทย

หน้า205

โทษของอุปกิเลสจากนิมิตและวิธีแก้ไข

ท่านที่ฝึกสมาธิบรรลุขั้นตอนมาตลอดนั้น จิตใจอาจจะหลงใหลยึดเหนี่ยวข้องอยู่ในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง ซึ่งเป็นภาวะกิเลสที่เป็นเหตุให้เกิดอุปสรรคขัดขวางกั้นจิตไม่ให้ก้าวหน้าเจริญต่อไปถึงฌานที่สูงขึ้น เพราะจิตเกิดหลงเข้าใจผิดว่า ตนบรรลุมรรคผลแล้ว จิตจึงยึดแน่นติดอยู่กับอารมณ์นั้น

1. โอภาส แสงสว่าง ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นในขณะที่จิตนิ่งชั่วขณะหนึ่งเห็นเป็นสีแสงต่างๆ หรืออาจจะเป็นภาพก็ได้ อย่าเพิ่งไปสนใจและปักใจว่าต้องเป็นของเที่ยงแท้ เพราะภาวะนี้ จิตยังไม่ได้บรรลุฌานญาณปัญญาโดยแท้

2. ปีติ ความรู้สึกยินดีอิ่มเอิบเบิกบานใจ จนลืมตัว

3. ปัสสัทธิ ความสงบสบายระงับจากอารมณ์ภายนอก ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน จิตก็ปรุงแต่งหลงนึกว่าถึงนิพพาน

หน้า206

4. สุข ความรู้สึกที่เสวยความชุ่มชื่นสุขสำราญเพลิดเพลินใจ ซึ่งเป็นผลจากการฝึกสมาธิก็อย่าหลงยึดไว้เพราะเป็นของไม่เที่ยงแท้

5. อธิโมกข์ ความปลงใจเชื่อด้วยศรัทธาอันแก่กล้าโดยไม่มีเหตุผล จะทำให้กิเลสทั้งหลายกำเริบหลงมากยิ่งขึ้น

6. ปัคคาหะ ความขยันหมั่นเพียรที่ไม่ย่อหย่อนท้อท้อย ก็อย่าหลงเข้าใจผิดว่าภาวะนี้เป็นภาวะได้สำเร็จมรรคผล

7. ญาณ ความหยั่งรู้ที่เป็นผลพลอยได้จากการฝึกสมาธิ ซึงเป็นโลกียญาณยังเป็นของไม่เที่ยง ก็อย่าหลงว่าได้บรรลุความรู้แจ้ง

8. อุปัฏฐาน สติเข้าไปตั้งมั่นแก่กล้าอยู่เฉพาะอารมณ์นั้นเกิดภาวะจิตสงบเยือกเย็น ทำให้หลงว่าได้บรรลุนิพพาน

9. นิกกันติ ความยินดีพอใจจนเกิดการติดใจ ในผลแห่งการปฏิบัติจิต จึงทำให้จิตข้องอยู่ในขั้นนั้น ไม่ก้าวหน้าต่อไป

10. อุเบกขา ความมีจิตเป็นกลาง ด้วยการวางเฉยที่เป็น อารมณ์หนึ่งจากการฝึกสมาธิโดยเข้าใจผิดว่า ภาวะนี้ บรรลุนิพพาน ไม่ต้องทำอะไรต่อไปอีก

พึ่งเข้าใจว่ากิเลสเหล่านี้ เกิดขึ้นในภาวะการฝึกสมาธิให้เกิดฌาน ซึ่งยังอยู่ในภาวะระดับโลกียะที่อยู่ในสามัญลักษณะที่ไม่เที่ยงแท้ถาวร ทนอยู่ในสภาพไม่ได้และต้องแตกดับไปในที่สุด จึงไม่น่ายึดมั่นถือมั่นจนหลงตนยึดตนว่าเป็นผู้วิเศษ

อันเป็นเหตุทำให้สติวิปลาสคือบ้าได้

วิธีแก้ไข
1. ระหว่างที่ฝึกสมาธินั้น ต้องมีสติสัมปชัญญะ คือ จิตตั้งมั่นคงอยู่รู้ตัวอยู่เสมอที่ไม่เผลอตัว ไปหลงใหลคลั่งไคล้กับความรู้สึกในสภาวะนั้น จนเกิดการยึดมั่นถือมั่น

2. ถ้ารู้สึกว่า ตนเองเริ่มสนใจหลงเข้าไปยึดกับสภาวะนั้นแล้ว ก็พยายามหาเหตุผลมาลบล้างด้วยการปฏิบัติตามอริยสัจ 4 พิจารณา ว่า สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นทุกข์ทั้งสิ้นที่ทนอยู่ในสภาพไม่ได้ ด้วยเหตุที่เราเข้าไปยึดจึงทำให้เราเป็นทุกข์ จึงต้องหาวิธีปฏิบัติให้พ้นจากทุกข์นี้ ด้วยมรรควิธี

หน้า208

3. พอรู้ตัวว่า ตนเอง ยึดติดกับอารมณ์เหล่านี้อย่างเหนียวแน่นจนถอนตัวไม่ขึ้นแล้ว ก็ต้องถอนตัวคลายออกจากสมาธิไม่ฝึกสมาธิด้วยการหลับตาอีก เพื่อไม่ให้จิตสงบรวมเข้าสู่ภวังค์หลงเข้าไปในอารมณ์นั้นอีก

เปลี่ยนการบำเพ็ญใหม่ ด้วยการทำงานให้มากให้หนักจนจิตเป็นสมาธิวุ่นอยู่กับงานเพื่อให้ลืมอารมณ์ต่างๆที่ปรากฏ

หมายเหตุ

คนเหล่านี้ที่หลงติดอยู่ในอารมณ์เหล่านี้ ส่วนมากจะลืมตัว จึงจำเป็นต้องการผู้อยู่ใกล้คอยเตือนสติ หรือ มีครูอาจารย์คอยแนะนำให้ตั้งสติให้ดี

การฝึกสมาธินั้น จะต้องไม่มีอุปาทาน ที่เข้าไปยึดมั่นในอารมณ์ที่ได้ขณะนั้นโดยนึกเอาเองว่าจะต้องเป็นไปอย่างนั้นอย่างนี้ เพราะผู้ฝึกจิตโดยแท้ล้วนต้องการ ” ละ ” ทิ้งจากการยึดมั่นถือมั่นกิเลสเหล่านั้น เพราะเข้าใจดีว่า นิมิตหมายเหล่านั้นเป็นเพียงทางผ่านไปสู่โลกแห่งการมีชีวิตอันประเสริฐบริสุทธิ์ จึงตั้งสติพร้อมพิจารณาสละสลัดกิเลสเหล่านี้

หน้า209

คิดเสียก่อนจึงพูด

พาทีมีสติรั้ง รอคิด

รอบคอบชอบแลผิด ก่อนพร้อม

คำพูดพลางลิขิต เขียนร่าง เรียนแฮ

ฟังเพราะเสนาะต้อง โสตร์ทั้งห่างภัย
(พระราชนิพนธ์พระพุทธเจ้าหลวง)
จากสุภาษิตและคำพังเพยของไทย

หน้า210

ถามฟังความก่อนตัดสิน

ยินคดีมีเรื่องน้อย ใหญ่ไฉน ก็ดี

ยังบ่ลงเห็นไป เด็ดด่วน

ฟังตอบสอบคำไข คิดใคร่ ครวญนา

ห่อนตัดสินห้วนห้วน เหตุด้วยเบาความ

(พระราชนิพนธ์พระพุทธเจ้าหลวง)

จากสุภาษิตและคำพังเพยของไทย

หน้า211

วิธีแก้เหตุที่ทำให้จิตไม่สงบ

การฝึกสมาธิอาจจะเป็นของใหม่ สำหรับชีวิตของท่านก็ได้ จึงยังไม่เกิดความคุ้นเคยจนเกิดเป็นความเคยชินขึ้นในนิสัยสันดานของท่าน

ขอให้เข้าใจว่า “ การมุ่งหวังทำความดีต้องใช้ความอดทน ”

ด้วยเหตุนี้ จึงจำเป็นต้องแนะนำเพิ่มเติมวิธีแก้เหตุที่ทำให้จิตไม่สงบ

1. สวดมนต์ภาวนา ด้วยน้อมตามเสียงและความหมายของบทสวด จนจิตใจค่อยๆ สงบลงมาแล้วจึงเข้าสมาธิ

หรืออาจจะใช้วิธีภาวนา “ พุท ” “ โธ ” อยู่เนื่องๆในทุกโอกาสที่อำนวยจนสืบเนื่องติดเป็นนิสัย แม้ปากหยุดการภาวนา ใจก็ยังคงภาวนา ก็จะทำให้ใจไปยึดเหนี่ยวกับ “ พุท ” “ โธ ” สงบได้อีกแบบหนึ่ง

2. ถ้าท่านมีจิตยังยึดตัวยึดตนว่าเป็นอัตราตัวตนอยู่ ขอให้ท่านปลงอสุภะด้วยการอ่านบทปลงอสุภะ

หน้า212

อย่างช้าๆ อัดลงในม้วนเทปบันทึกเสียง (คนที่ไม่มีเครื่องบันทึกเสียงให้หาคนมานั่งอ่านให้ฟัง) แล้วนั่งหลับตาฟังสร้างภาพจินตนาการตามไปเรื่อยๆใคร่ครวญพิจารณาทบทวนเช่นนี้หลายๆครั้ง แล้วจะพาให้จิตใจท่านสยบสงบลงมาอย่างได้ผล เพราะคนเราสิ้นสุดทุกอย่างตรงที่สิ้นสุดคือ “ ตาย ”

3. ท่านที่มีความกำหนัดหมกหมุ่นติดอกติดใจในกาม ก็ให้ปลงอสุภะตามข้อที่ 2 ถ้าเป็นฆราวาสให้บ่มเพียงอาทิตย์ละครั้งก็พอ ก็จะช่วยลดความกำหนัดให้เบาบางลง แต่ถ้าท่านที่มุ่งหวังโลกุตรธรรมแล้ว ท่านต้องบ่มเช้าเย็นวันละสองครั้ง หรือทุกครั้งที่มองเห็นเพศตรงข้ามแล้วเกิดอารมณ์หลงใหลในรูปแห่งความสวยงามและรสแห่งการสัมผัสแล้ว ให้ปลงให้เห็นแจ้งรู้ชัดว่า รูปที่เราหลงนั้นก็เหมือนรูปที่เราเคยปลงในบทปลงอสุภะ คือ เห็นตัวเองได้ตายแล้ว ร่างกายกำลังละลายผุพังเน่าเปื่อย น้ำเหลืองเยิ้ม เนื้อเละๆ ตาโบ๋ กลิ่นเน่าเหม็นฟุ้ง เป็นต้น และคนที่เราเห็นก็อยู่ในลักษณะเช่นนี้ซึ่งขณะนั้นมองเห็นตัวเราและฝ่ายตรงกันข้าม มีลักษณะ

หน้า213

เช่นนี้แล้วตัวเราคงหมดแรงที่จะรัก ทำให้รักคนนั้นไม่ลงเป็นการทวนกระแสความอยาก ไม่ให้ไปติดไปเกาะเกี่ยวจิตจึงปล่อยวางได้โดยลำดับ

ท่านปฏิบัติเช่นนี้สม่ำเสมอทุกวินาที แห่งการมีลมหายใจอยู่ จะเป็นอุบายถ่ายถอนความกำหนัดไม่ให้รุมล้อมจิตใจ ท่านก็จะมีอารมณ์กามตายด้าน ไม่สนใจในเรื่องเพศสัมพันธ์อีก

4. ท่านที่จิตใจโมโหร้าย ผูกโกรธที่จะจองล้างจองผลาญ ทั้งนี้ เพราะท่านมีพื้นเพนิสัยใจคอคับแคบ จึงรู้สึกอารมณ์ต่างๆล้วนไม่ถูกใจไปหมด ไม่ว่าเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็เก็บขึ้นมาปรุงแต่ง ให้รู้สึกอึดอัดน่าโมโหที่จะต้องโกรธแค้น

ดังนั้น ท่านจึงต้องหัดนิสัยใหม่ข่มใจเอาชนะตนเองให้ได้ด้วยการแผ่เมตตาจนเกิดความซาบซึ้งดัดนิสัยให้ใจกว้างโอบอ้อมอารีเกื้อกูลช่วยเหลือผู้อื่น โดยไม่เห็นแก่ตัว แล้วก็ให้บ่มปลงอสุภะด้วยการปฏิบัติตามข้อ 2 รับรองว่า ท่านจะลดความโมโหร้ายลงได้ เพราะคนเรานั้น ถ้าอยู่ในอารมณ์แห่งการเห็นสังขารไม่เที่ยงแท้ ไม่ยั่งยืนจีรังบ่อยๆแล้ว ใจก็เกิดสังเวชอ่อนโยนลงมาก

หน้า214

5. ท่านที่ถือชั้นวรรณะ ชอบเอาความรู้ความสามารถความมั่งมีและยศฐาบรรดาศักดิ์ ไปข่มเหงผู้อื่นให้เจ็บใจ และไม่รู้จักพอกิน พอใช้ พออยู่ “ สมองคิดแต่วิธีหาเงินหาเกียรติเพื่อบำเรอสนองตัณหา ” ก็ขอให้บ่มจิตตามบทปลงอสุภะตามข้อที่ 2 แล้วท่านจงคิดถึงมรณังสติ คือ “ ความตาย ” ว่าเป็นสิ่งที่ทุกคนหนีไม่พ้นไม่ว่าใหญ่โตแค่ไหน มั่งมีรวยมหาศาล ล้วนต้องตาย ท่านก็จะหยุด “ โลภ ” มากทันที โลภมากก็แบกทุกสิ่งที่เป็นรูปธรรมกลับไปปรภพไม่ได้ เพราะว่า ท่านอาจจะตายเมื่อไรก็ได้ มีเพียงความชั่ว ความดีที่เป็นนามธรรมติดตามไปเท่านั้น

โดยที่โลงศพมีไว้ใส่ศพคนตาย

ไม่ใช่มีไว้ใส่เฉพาะคนแก่เท่านั้น

หน้า215

เพราะอดพูดในเวลาโกรธได้

สามารถอาจห้ามงด วาจา ตนเอย

ปางเมื่อยังโกรธา ขุ่นแค้น

หยุดคิดพิจารณา แพ้ชนะ ก่อนนอ

ชอบผิดคิดเห็นแม้น ไม่ยั้งเสียความ

(พระราชนิพนธ์พระพุทธเจ้าหลวง)
จากสุภาษิตและคำพังเพยของไทย

หน้า216

เพราะได้กรุณาต่อคนที่ถึงอับจน

กรุณานรชาติ พ้องภัย พิบัติเอย

ช่วยรอดปลอดความขษัย สว่างร้อน

ผลจักเพิ่มพูนใน อนาคต กาลเฮย

ชนจักชูชื่นช้อน ป่างเบื้อง ปัจจุบัน
(พระราชนิพนธ์พระพุทธเจ้าหลวง)

จากสุภาษิตและคำพังเพยของไทย

หน้า217

ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน

เมื่อท่านได้ฝึกปฐมฌานจนคล่องแคล่วแล้ว ก็จะรู้ว่า

“ ปฐมฌาน ” ยังอยู่ใกล้กับนิวรณธรรมอันจะมีโอกาสทำให้ฌานเปลี่ยนแปลงเสื่อมได้ง่าย จึงจำเป็นต้องพยายามฝึกจิตต่อไปให้สูงขึ้นโดยลำดับ

ปฐมฌานยังเป็นฌานที่ประกอบด้วยองค์ 5 คือ วิตก วิจาร ปิติ สุข เอกัคคตา จิตขณะนั้นยังมีวิตก วิจารณ์การตรึกตรองนึกคิดพิจารณาพอใจน่ารักใคร่อยู่กับปฐมฌาน ซึ่งเป็นอารมณ์ฟุ้งซ่านที่เป็นธรรมยังหยาบอยู่ก็จะลอยขึ้นมาก่อน

เมื่อจิตใจเพ่งพินิจไปที่นิมิตด้วยอุเบกขาเฝ้าสังเกต

อาการตรึกตรองมีรูปร่างและอาการที่เกิดขึ้นกับจิตใจอย่างไร โดยไม่เข้าไปรับรู้อารมณ์นั้น จิตใจท่านก็ค่อยๆประณีตละเอียดยิ่งขึ้น ปล่อยวางความพอใจในปฐมฌานเข้าสู่ “ ทุติยฌาน ”

ทุติยฌานประกอบด้วยองค์ 3 ปิติ สุข เอกัคตา คือเครื่องยังใจให้ผ่องใส

หน้า218

โดยไม่ถูกวิตก วิจาร เข้าครอบงำ ปิติเด่นชัดกว่าระดับปฐมฌาน

เมื่อได้ทุติยฌานแล้วต้องเจริญตามวสีความชำนาญ 5 ประการดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นจนช่ำชอง ก็จะเห็นโทษว่า ทุติยฌานยังอยู่ใกล้กับวิตก วิจารณ์ซึ่งเป็นข้าศึกขององค์ฌานระดับนี้

จิตใจเพ่งพินิจต่อไปนี้อีกด้วยอุเบกขาจึงเกิดความสงบระงับยิ่งขึ้นอีกหน่อย ก็จะได้เห็นด้วยปัญญาว่า “ ปีติ ” ความดีใจนี้ก็ไม่เที่ยงแท้ต้องสลายไปในที่สุด จึงเกิดความไม่ยินดีปิติในทุติยฌาน ปิติที่เป็นธรรมหยาบกว่าเพื่อนก็ลอยขึ้นและดับสูญไป จิตก็จะเข้าสู่ตติยฌาน

ตติยฌานประกอบด้วยองค์ 2 คือ สุข เอกัคคตา คือ ผู้วางเฉยมีสติสัมปชัญญะเสวยสุขอยู่ ซึ่งภาวะนี้ จิตใจและร่างกายจะมีความสุขกาย สบายใจมากที่ต้องควบคุมด้วยสติสัมปชัญญะไม่ให้หลงระเริงดีใจ มิฉะนั้น จิตก็จะตกลงไปสู่ทุติยฌาน

เมื่อสติควบคุมจิตใจได้แล้ว จิตก็เพ่งพินิจต่อไปอีกด้วยอุเบกขาความวางเฉยได้จิตก็ได้สติสงบระงับยิ่งขึ้น

หน้า219

พิจารณามองเห็นว่า “ สุข ” นี้ก็ไม่เที่ยงแท้ ต้องสลายไปในที่สุดและถ้าตราบใดจิตยังยึดติดในสุข ก็ยังต้องมาเกิดอีก เมื่อเห็นโทษของ “ สุข ” แล้ว “ สุข ” จึงไม่เป็นเครื่องดึงเหนี่ยวจิตให้ติดข้องอยู่ในตติยฌาน

ดังนั้น จิตจึงละ “ สุข ” ได้เข้าสู่จตุตถฌาน

จตุตถฌาน ประกอบด้วยอารมณ์ 2 ประการ คือ อุเบกขา และเอกัคตา

คือ ความบริสุทธิ์ของจิตใจที่ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข ไม่เสียใจ ไม่ดีใจ ไม่รู้สึกยินดีไม่รู้สึกยินร้ายเมื่อเห็นรูป เป็นต้น

เอกัคคตา คือ สมาธิสงบมาก

อุเบกขา คือ จิตใจวางเฉยตั้งมั่นอยู่กับที่ พินิจดูสภาพจิตของตนในขณะนั้นด้วยอารมณ์สงบ เหมือนแมลงมุมทำรังเสร็จแล้วนั่งอยู่ตรงกลางรัง แม้มีอะไรเกิดขึ้นก็เพ่งพิจารณาดูว่าเป็นอะไร ทำไม รับรู้แล้วไม่นำเหตุการณ์เหล่านั้นมาปรุงแต่งที่จะทำให้จิตใจเกิดสะเทือนอารมณ์

หน้า220

คล้ายกับอุเบกขาในพรหมวิหาร 4 คือ เคราะห์กรรมอันใดซึ่งสุดวิสัยที่เราจะช่วยได้ อันเกิดกับคนรัก เราก็ไม่เศร้าโศกเสียใจ แม้เกิดกับศัตรู เราก็ไม่เหยียบย่ำซ้ำเติมเพราะพิจารณาได้ว่า ทุกคนมีกรรมของตนเป็นที่ตั้ง ผู้ใดก่อกรรมอันใด กรรมย่อมสนองผู้นั้น ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว

ท่านที่ได้ฝึกบำเพ็ญจนบรรลุฌานต่างๆตามลำดับแล้ว พึงเจริญอยู่เนื่องๆ ฌานจะได้ไม่เสื่อมถอย

หน้า221

อดกลั้นต่อผู้อื่นได้ทุกคน

ขันติมีมากหมั้น สันดาน

ใครเกะกะระราน อดกลั้น

ไป่ฉุนเฉียบเฉกพาล พาเดือด ร้อนพ่อ

ผู้ประพฤติดั่งนั้น จัดได้ใจเย็น

(พระราชนิพนธ์พระพุทธเจ้าหลวง)

จากสุภาษิตและคำพังเพยของไทย

หน้า222

เพราะขอโทษที่ได้ทำผิดทั้งหมด

ใดกิจผิดพลาดแล้ว ไป่ล่ะ ลืมเอย

ห่อนทิฐิมานะ อ่อนน้อม

ขอโทษเพื่อคารวะ วายบาดหมางแฮ

ดีกว่าปดอ้อมค้อม คิดแก้โดยโกง

(พระราชนิพนธ์พระพุทธเจ้าหลวง)

จากสุภาษิตและคำพังเพยของไทย

หน้า223

บทส่งท้ายภาคโลกีย์วิสัย

สาธุชนผู้มุ่งหวังความก้าวหน้าของจิตที่ต้องการหลุดพ้นจากกิเลส จะไม่หลงยึดกับภาวะที่จิตรู้สึกปลอดโปร่ง ปลื้มปีติที่เป็นความสุขเล็กน้อยอันได้จากการปฏิบัติฝึกจิตได้บรรลุ “ อำนาจฌาน ”

เพราะว่า การฝึกสมาธิจนได้บรรลุ “ อำนาจฌาน ” เหมือนได้ก้อนหินก้อนใหญ่นำไปทับหญ้า ทับกิเลสเป็นการระงับการเจริญเติบโต และการกำเริบของกิเลสได้ชั่วคราวเท่านั้น

วันใดที่สมาธิอ่อนแรงลง เหมือนก้อนหินได้ถูกยกขึ้น หญ้าก็จะงอกออกจากใต้ก้อนหิน กิเลสก็งอกงามขึ้นมาใหม่อีก

ลำพัง “ อำนาจฌาน ” เพียงอย่างเดียวยังไม่เที่ยงแท้ ยังไม่จีรังยั่งยืน ยังไม่สามารถฝึกจิตให้หลุดพ้นได้ เพราะอำนาจฌานเป็นเพียงพละกำลังที่ใช้ควบคุมให้นิ่งสงบเท่านั้น

หน้า224

ท่านต้องตั้งมั่นที่จะเดินไปสู่ชีวิตที่บริสุทธิ์ด้วยการปฏิบัติตามหลักวิปัสสนา ที่ฝึกจิตให้เกิด “ ญาณปัญญา ” เกิดปฏิภาณเห็นแจ้งในสภาวะธรรมเพื่อการประพฤติปฏิบัติตนให้หลุดพ้นจากกิเลส โลภ โกรธ หลง มุ่งสู่แดนนิพพานอันเป็นแดนแห่งการมีชีวิตบริสุทธิ์

เพราะไม่เชื่อคำเล่าลือหรือบอกเล่าเป็นข่าวร้าย

อีกอนึ่งไป่เชื่อถ้อย คำคน ลือเอย

บอกเล่าข่าวเหตุผล เรื่องร้าย

สืบสวนประกอบจน แจ่มเท็จ จริงนา

ยังบด่วนยักย้าย ตื่นเต้นก่อนกาล

(พระราชนิพนธ์พระพุทธเจ้าหลวง)

จากสุภาษิตและคำพังเพยของไทย

หน้า226

ชาติ เกิดรูปพร้อม อาการ

ชรา ร่างสาธารณ เหี่ยวแห้ง

พยาธิ บันดาล ต่างต่าง

มรณะ กาแร้ง แย่งยื้อกันกินฯ

(สำนวนเก่า)

(จากประชุมโคลงโลกนิติ)

หน้า227

พุทธศาสนา เป็นศาสนาสอนให้เชื่อในกฏแห่งกรรมว่า “ ทุกคนมีกรรมของตนเป็นที่ตั้ง มีกรรมของตนเป็นเผ่าพันธุ์ ใครทำดีก็ได้ดี ใครทำชั่วย่อมได้ชั่ว กรรมย่อมตามสนองไปทุกภพทุกชาติ ซึ่งมีทั้งกุศลและอกุศลหนุนเนื่องให้ชีวิตรุ่งเรืองหรือตกอับ ทั้งนี้ กรรมเหล่านี้ย่อมวิบากในเวลาใดเวลาหนึ่ง ”

ในขณะเดียวกัน

พุทธศาสนา เป็นศาสนาที่ไม่บังคับให้ใครเข้านับถือ ศาสนิกชนแห่งชาวพุทธต้องเชื่อในสิ่งที่เขาสามารถพิสูจน์โดยอาศัยการสังเกตอย่างถี่ถ้วนในสภาพลักษณะ และศึกษาให้เข้าใจในทฤษฎีแล้วนำมาปฏิบัติเค้นคว้าสืบสวนจากมูลเหตุไปหาผลจนรู้แจ้งเห็นจริงตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างถ่องแท้เพราะความจริงที่ได้ประจักษ์กับตนเอง ย่อมเป็นความคิดที่แจ่มใสฉายรัศมีให้จิตกระจ่างแจ้งเป็นการอบรมบ่มจิตให้เกิดปัญญาที่สามารถชำระล้างจิตที่โง่เขลาให้สะอาดบริสุทธิ์ผุดผ่อง

หน้า228

สำคัญมากกว่า ในการเชื่อมั่นด้วยจิตใจที่สวามิภักดิ์ต่อศาสนาตามความจริงที่คนอื่นค้นพบโดยสืบเนื่องจากความศรัทธาในตำราที่ได้เล่าเรียนมา โดยเชื้อชาติ โดยสัญชาติ โดยวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีที่สืบทอดกันมาที่ตนกำเนิดมาในสิ่งแวดล้อมนั้น

เพราะการเชื่อแบบนี้ เป็นไปในลักษณะเชื่อโดยปฏิบัติตามๆกันไปที่ไม่ได้ปฏิบัติตามคำสอนในศาสนานั้นอย่างจริงจังจริงใจเป็นการมองไม่เห็น ประโยชน์และความสำคัญของศาสนา ภาวะเช่นนี้ ย่อมเป็นการสร้างภาวะอันตรายที่จะทำลายตนเองและศาสนาที่ตนนับถืออยู่อย่างจงใจหรือทำโดยแกล้งไม่รู้

ดังนั้น ท่านที่ฝึกต่อเนื่องอย่างจริงจังมาทุกบทแล้ว ย่อมเป็นข้อพิสูจน์กับตนเองว่า

“ สมาธิ ” มีประโยชน์มากมาย

สำหรับคนที่โรคภัยไข้เจ็บ ก็สามารถจะรักษาโรคให้เบาบางหรือหายขาดได้

หน้า229

สำหรับคนที่ไม่เป็นโรคภัยไข้เจ็บ ก็ได้ผลคือ จิตใจได้พบ “ ทางสงบ ” ไว้ควบคุมอารมณ์ต่างๆแห่งการเป็นฆราวาสวิสัยที่มี “ อารมณ์แห่งโลภ โกรธ หลง ” นั้นไม่ให้อารมณ์เหล่านี้ซู่ซ่ามากเกินควรแห่งการที่เรียกว่า “ สัตว์ประเสริฐ ”

มิฉะนั้นแล้วท่านจะถูกเรียกว่า มีอารมณ์รุนแรงยิ่งกว่าสัตว์เดรัจฉาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ สัตว์ป่า ” ประเภทที่มีความอาฆาตมาดร้าย ดุดันโมโหจัดเป็นต้น

คนที่ฝึกสมาธิพบทางสงบนานๆเข้า จะมีอารมณ์ใจเย็น ไม่สะเทือนต่อคำด่า สรรเสริญ นินทา ไม่รีบเร่งจนเครียด ดำเนินชีวิตไปแบบเรื่อยๆ ที่มีพร้อมด้วยความคิดที่วิวัฒนาการดีแล้วที่ไม่เจือปนไปด้วยความทะยานอยากได้อย่างเห็นแก่ตัวที่จะก่อให้คนอื่นเดือดร้อนและเกลียดชังตนจนคนบางพวกบางเหล่าว่า “ ท่านมีวิสัยฟั่นเฟือนผิดจากปรกติ ” ก็ขอให้ท่านทำจิตใจให้เข้มแข็งดำเนินต่อไป แต่ขอให้ปฏิบัติภาระกิจการต่างๆโดยให้รู้จักหน้าที่ของตนตามฆราวาสวิสัยแล้วปฏิบัติตามหน้าที่การงานที่ต้องรับผิดชอบ อย่าพึ่งทำเป็น

หน้า230

ปฏิบัติซึ้งทางธรรมจะรีบทิ้งทางโลกียะ ภรรยาก็อยากจะบวชชี สามีก็อยากจะบวชพระ ท่านควรสังวรว่ายังไม่ถึงเวลา อารมณ์แห่งความนิ่งนี้เป็นเพียงอารมณ์แห่งความนิ่งชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น ในฐานะที่ท่านยังอยู่ในโลกียะวิสัยขอให้ท่านดำเนินตามสายกลางรักษาน้ำใจและใช้อารมณ์ธรรมแห่ง “ ทางสงบ ” ควบคุมการเป็นอยู่ในชีวิตประจำวันก็พอ ถ้าท่านไม่เชื่อตามคำแนะนำนี้แล้ว อนาคตแห่งชีวิตของท่านจะไม่มีความสงบสุข เพราะว่า ท่านไม่รู้จักคำว่า “ สายกลาง ” คนที่ไม่ตั้งสติประมวลชีวิตตัดสินอนาคตให้ดีว่า จะเตรียมตัวเดินทางไหนแล้วจะทำให้บุคคลนั้นเสียใจตลอดชาติ “ โลกก็ไม่ได้ดี ธรรมก็ไม่ได้ดี ” เลยตกสภาพเป็นบุคคลที่ไม่มีหลักให้กับจิตใจ อนาคตเลยต้องเคว้งคว้างอยู่กลางอุปสรรค์นานาประการอย่างแน่นอน เพราะจิตใจหาที่ยึดเหนี่ยวเป็นสรณะไม่ได้ คนที่อยู่ทางโลกียะ

ท่านควรจะต้องมุ่งหวังลาภ เกียรติยศ สรรเสริญ ให้อยู่ในขั้นเอาตัวรอดได้และใช้อารมณ์ธรรม ประกอบควบคุมจิตให้รู้จักจุดอิ่มตัว คือ “ พอกิน พอใช้ พออยู่ ” ท่านที่มุ่งหวังยังคงอยู่ทางโลกียะก็ขอจบบทเรียนเพียงเท่านี้

หน้า231

ท่านที่ตัดสินที่จะมุ่งหวังปฏิบัติจิตปฏิบัติตนมุ่งสู่โลกุตระแล้ว

ท่านจะต้องเข้าใจว่า ทางสายนี้ให้ “ ละ ” จนถึงที่สุดแห่งการพ้นจากการลุ่มหลงกิเลส “ โลภ โกรธ หลง ” โดยทุกๆนาทีแห่งการมีชีวิตอยู่มีค่าสำหรับการปฏิบัติธรรมทั้งสิ้น

เริ่มต้นด้วยการให้คำมั่นสัญญาตั้งเป้าหมายให้กับตนเองเป็นการปฏิญาณให้สัจจะแล้วค่อยๆเดิน โดยบ่มนิสัยในระหว่างการเป็นฆราวาสนั้นให้อยู่ในภาวะแห่งการตื่นรู้แจ้งตามทันอายตนะของตนในกิเลส โลภ โกรธ หลง และบ่มให้เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ของการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ว่าชีวิตนี้เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงแท้แน่นอน และเปลี่ยนแปลงไปสู่ความสลายทุกขณะ แล้วรักษาศีล 5 ให้บริสุทธิ์อย่างน้อย 5 ปี แล้วจึงค่อยไต่ไปปฏิบัติรักษาศีล 8 จนถึงศีล 10 ศีล 227 เป็นต้น เมื่อนั้น ศีล สมาธิ ปัญญาย่อมเปิดทางพาท่านสู่นิพพานแน่นอน

เชิญท่านเดินตามหลัก การวิปัสสนา

หน้า232

มนุษย์เกิดมาประเสริฐแท้โดยชาติกำเนิด

จิตสำนึกสูงกว่าสัตว์ทุกเหล่าเดรัจฉาน

เปิดโอกาสอันดีเลิศให้บำเพ็ญลดกิเลส

เพื่อจะได้หลุดพ้นทุกข์ภัยวัฏฏะ

มนุษย์เอยจึงได้ชื่อ

“ สัตว์ประเสริฐ ”

สังคมธรรมจะไม่มั่วหลงอยู่กับ กาม เกียรติ ลาภ ยศ สรรเสริญ นินทา อาฆาต พยาบาท ใส่ร้ายอิจฉาริษยาผู้อื่น

หน้า233

ภาคโลกุตรวิสัย

ผู้มุ่งเดินไปสู่โลกุตระคือ ผู้ที่เกิดความเบื่อหน่ายในการเคล้าคลุกคลีจมปลักอยู่กับโลกียวิสัย

จึงได้ตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยวที่จะปลดเปลื้องจิตให้พ้นจากการยึดเหนี่ยวกับกิเลสแห่ง โลภ โกรธ หลง

ปณิธานอันแน่วแน่เด็ดขาดนี้ได้กระชับจิตให้มั่นคง แน่ใจว่า การมุ่งสู่จุดหมายที่ดี ย่อมนำพาให้หลุดพ้นจากทุกข์ที่จะต้องมาเกิดอีก

เพราะรู้ว่า

ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ล้วนเป็นทุกข์ทั้งสิ้น และมองเห็นภัยแห่งการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสาร

จึงพยายามลดละกิเลสโดยเลิกล้มความต้องการที่จะพอกพูนกิเลสตามคนที่อยู่ในโลกียวิสัย

ความนึกคิดริเริ่มที่ดีนี้ เป็นอุดมคติที่สำคัญที่สุดของผู้ปฏิบัติธรรม

หน้า234

สุขใดไป่สุขเถ้า นฤพาน

พ้นจากเก่งกันดาร สี่ได้

คือชาติชราพยาธิกาล มรณะ ทุกข์แฮ

สร้างกุศลใดให้ มุ่งแม้นเมืองเขษมฯ

(สำนวนเก่า)

จากประชุมโคลงโลกนิติ

หน้า235

หลักวิปัสสนา

วิปัสสนา คือ การปฏิบัติฝึกอบรมจิตให้ปัญญาเจริญพิจารณาจิตใจตัวเราเองที่เป็นต้นเหตุแห่งทุกข์ ค้นตัวสัจจะแห่งพุทธะ จนเกิดความรู้แจ้งแทงตลอดตามความเป็นจริงในแก่นแท้ของชีวิต รู้เท่าทันต่อความเป็นไปในการเกิดดับของกิเลสในภาวะปัจจุบันล้วนไม่เที่ยงแท้ เป็นทุกข์ ทนอยู่ไม่ได้ ไม่มีแก่นสารอัตราตัวตนให้หลงใหลยึดมั่นถือมั่น เป็นการกำจัดต้นเหตุแห่งทุกข์ที่ทำให้จิตใจเศร้าโศกขุ่นมัวเร่าร้อนอย่างเด็ดขาด แล้วตั้งจิตมุ่งหมายสู่ชีวิตอันบริสุทธิ์ในแดนนิพพาน

หน้า236

ดำเนินเรื่องตามหลักวิปัสสนา

เมื่อท่านฝึกต่อเนื่องมา 4 บทแล้ว เป็นการฝึกสมาธิจนไดฌาน ย่อมสามารถควบคุมจิตให้แน่วแน่สร้างสติปัญญาอันหลักแหลมสอดส่องแสวงหาทางดับทุกข์ที่นำไปสู่การปฏิบัติตนให้หลุดพ้นจากวัฏฏะสงสาร มุ่งสู่แดนนิพพาน โดยศึกษาปฏิบัติตามหลักวิปัสสนาง่ายๆที่เป็นไปตามหลักธรรมชาติ

เริ่มแรกแนะนำให้รู้จัก รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่รวมแล้วมีเพียงรูปกับนามเท่านั้น

เมื่อเข้าสู่ บทปลงอสุภะ ด้วยการ ถอดจิต ก็จะพบว่าวิญญาณมีจริง โลกหน้ามีจริง กฏแห่งกรรมมีจริง เมื่อปลงอสุภะแล้ว จะได้พิจารณาเห็นว่ารูปกับนามล้วนอยู่ในสภาพสามัญลักษณะคือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่เที่ยง ทนอยู่ไม่ได้ ไม่เป็นอัตราตัวตนที่จะให้ยึดมั่นถือมั่น เป็นการตัดต้นเหตุแห่ง อวิชชา ตัณหา อุปาทาน

หน้า237

เมื่อตัดกิเลส 3 กองนี้ได้แล้วจิตก็จะพ้น โลกธรรม8ที่เป็นโลกียวิสัย ดำเนินชีวิตอย่างประเสริฐ มีจิตใจที่สงบสุข บริสุทธิ์มุ่งสู่แดนนิพพานด้วยการปฏิบัติตามหลัก อริยสัจ 4

บทส่งท้าย สังโยชน์ 10 กิเลสที่ดึงเหนี่ยวร้อยรัดให้ตกอยู่ในวัฏฏะ เพื่อเป็นตารางเปรียบเทียบกับภาวะการปฏิบัติจิตที่ได้ลดละกิเลสแล้ว

หน้า238

สังขารหวัวผู้ว่า ตนทรนง

ทรัพย์ย่อมหวัวคนจง ว่าเจ้า

หญิงหวัวแก่ชายปลง ชมลูก

มัจจุราชหวัวผู้เถ้า บ่รู้วันตาย

(สมเด็จกรมพระยาเดชาดิศร)

จากประชุมโคลงโลกนิติ

หน้า241

ทุกวันนี้ท่านที่ว่า จิตใจท่านคงวุ่นวายอยู่เพราะว่า ท่านยังคงอยู่ในสภาพยึดตน หลงตน จิตจึงอยู่กับตน โดยไม่สามารถยกจิตให้พ้นจากกิเลสภัยในกายได้

ด้วยเหตุนี้แล้ว

จึงให้ศึกษาบทนี้เพื่อให้มองเห็นว่าร่างที่เรายึดนี้ก็ไม่สวย ไม่งาม ไม่น่ารักใคร่

ตั้งแต่เช้าจรดเย็น เราก็คือ ซากศพเดินได้ ที่ตกอยู่ภายใต้การครอบงำของอิทธิพลแห่งความนึกคิด โลภ โกรธ หลง ที่ผุดขึ้นและดับลงสลับกันอยู่ตลอดเวลาไม่มีแก่นสารสาระแน่นอน กิเลสเหล่านี้จึงเบียดบังธาตุแท้แห่งปัญญา มองไม่เห็นสัจจะว่า เหตุใดเราจึงต้องมาเกิดและควรเตรียมตัวว่าจะตายเมื่อใด ตายแล้วไปไหน ด้วยเหตุประการนี้ จึงจำเป็นต้องบำเพ็ญฝึกจิตให้เกิดสมาธิเป็นปัญญา พิจารณาเหตุและปัจจัยการเกิดดับของกิเลส

หน้า242

ซึ่งกิเลสเปรียบดังพายุฝุ่นที่พัดพาเอาฝุ่นผงขึ้นปกคลุมจิตอยู่ตลอดเวลาเมื่อใดที่จิตเราสงบข่มกิเลสไว้ได้ชั่วขณะหนึ่งเหมือนพายุฝุ่นนั้นเงียบสงบลงทันใด จิตที่เหมือนตะเกียงก็พ้นจากการปกคลุมของฝุ่นผง ย่อมเปล่งแสงเจิดจ้า ส่องทั่วพื้นปฐพีแห่งความ นึกคิด เกิดปัญญามองเห็นสัจจะแห่งความจริงว่า ทุกอย่างที่เกิดนั้นเป็นทุกข์ทั้งสิ้น เป็นหลักแห่งการพิจารณาพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจังความไม่เที่ยงแท้ ทุกขังการทนอยู่ไม่ได้ อนัตตาเป็นของไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน

ตัวเรานี้หนอ ทุกวันนี้ที่เราหลงยึดตัวเองว่ารูปหล่อหรือว่าสวยงาม ซึ่งความจริงมันเป็นเพียงเรือนสังขารที่จิตวิญญาณอาศัยสิงสถิตอยู่เพื่อใช้กรรม เมื่อตายลงหรือผลิกร่างกายเอาข้างในออกข้างนอก จะได้เห็นว่าเป็นของไม่สวยไม่งามเป็นปฏิกูลที่น่าเกลียด โสโครก สกปรก

กายของเรานี้ ก็คือการรวมตัวของธาตุทั้ง 4 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ก่อตัวเป็นก้อนธาตุก้อนหนึ่งเท่านั้น ถ้าตายลง ธาตุที่รวมตัวอยู่ก็จะแตกดับ กายเนื้อก็จะสลาย

หน้า243

ไปตามธรรมชาติ คืนสู่สภาพเดิมอีกครั้ง คือ เป็น ดิน น้ำ ลม ไฟ หาใช่ตัวตนเราเขาไม่

“ ขึ้นชื่อว่าเกิดแล้วเป็นทุกข์ทั้งสิ้นการเกิดนั้นเป็นการเริ่มต้นของการสลาย ”

มนุษย์ขณะที่ยังอยู่ในครรภ์มารดา ก่อน คลอดออกมาก็ต้องนั่งทนทุกข์ทรมานอยู่นานถึง 9-10 เดือน

พอคลอดเกิดออกมาก็เป็นทุกข์อีก คือ ต้องรับภัยธรรมชาติตั้งแต่หนาว ร้อน ความหิว ความกระหาย โรคภัยไข้เจ็บ

พอโตขึ้นรู้ความก็เริ่มทุกข์อีก เพราะถูกเหล่ากิเลสโลภ โกรธ หลง รุมทำร้ายป้ายสีเบียดเบียน ตอนนี้มนุษย์ก็ป่วยเจ็บทั้งกายและใจไปตามปกติ ร่างกายก็ต้องเสื่อม โทรมคลายจากสภาพเดิมภายใต้กฎแห่ง

หน้า244

ธรรมชาติที่ทุกอย่างเริ่มเกิดก็เริ่มสลาย ไปในตัวซึ่งเป็นของไม่เที่ยงแท้ เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ แต่เมื่อโรคภัยไข้เจ็บทั้งกายและใจเสริมทับร่างกายเข้า ยิ่งทำให้ร่างกายเสื่อมโทรมรวดเร็วยิ่งๆขึ้นเป็นลำดับ

ความแก่ของท่านเริ่มปรากฏชัด คือ ตาฟาง ฟันหลุด ผมหงอก หนังเหี่ยวย่น ตัวงอ

ร่างกายเรานี้เต็มไปด้วยโรค หมักหมมเต็มไปด้วยสิ่งปฏิกูลโสโครกเน่าเหม็นมากไปด้วยขี้ทั้งหลายตั้งแต่ ขี้หัว ขี้หู ขี้ตา ขี้ฟัน ขี้มูก ขี้เล็บ ขี้ในท้อง มูตร คูถ และขี้ไคล สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นสิ่งที่เน่าเปื่อยผุพังมาตลอดชั่วชีวิตของท่าน เป็นความไม่เที่ยงแท้ของร่างกายที่ปรากฏในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่เป็นการให้เข้าใจถึงความไม่คงทนถาวร เป็นเหตุที่จะนำมาดับตัณหา

ในภาวะที่ท่านเริ่มแก่นี้ ถ้าท่านไม่เริ่มรักษาร่างกายด้วยสุขอนามัย และรักษาใจด้วยยาธรรมะแล้ว ท่านก็จะต้องตายเร็วก่อนที่จะสิ้นอายุขัย อย่างแน่นอน เห็นได้จากคนบางคนที่เพรียบพร้อมด้วยปัจจัย 4 แล้วยังทุกข์ใจ อยู่ไม่เป็นสุข ก็เหมือนตายทั้งเป็น

หน้า245

ท่านต้องเข้าใจว่า “ ชีวิตเป็นของสั้น ”

โดยอย่าประมาททะนงตน นึกว่ายังมีชีวิตอีกยาว รอให้ตัวแก่แล้วค่อยเข้าหาธรรมะ

แล้วท่านเคยคิดบ้างไหมว่า ขณะนี้หรืออีกสักครู่ท่านอาจจะตายได้ทันที โดยที่ท่านไม่เคยคิดอยากจะตายเดี๋ยวนี้

เมื่อท่านตายไป สังขารย่อมแตกสลายไปตามบทปลงอสุภะ เป็นช่วงเวลาที่ต้องพลัดพรากจากลูกจากสามีภริยา ญาติพี่น้องและทรัพย์สมบัติไป

มนุษย์ทุกคนเมื่อมีเกิด ก็ต้องประสบกับความแก่ ความเจ็บ ความทุกข์กาย ทุกข์ใจ ความดีใจ แล้วก็ต้องเศร้าโศก ลำบาก รำพัน คร่ำครวญเสียใจและถึงแก่ความตาย เป็นการจบสิ้นในที่สุด

หน้า246

ดังนั้น ท่านไม่ควรหลง ไม่ควรติด ในความศิวิไลซ์ของโลก ซึ่งเป็นกิเลสนอกกาย และไม่ควรหลงระเริงกำเริบเสิบสานตามกิเลสภายในคือ โลภ โกรธ หลง เมื่อท่านรู้แจ้งเห็นจริงแล้ว ควรที่จะเสาะแสวงหาช่องทางให้พ้นโลก เป็นการปลดเปลื้องทุกข์ให้พ้นจากวัฏฏะ คือ ตื่นตามทันและอยู่เหนืออารมณ์กิเลส โลภ โกรธ หลง

เมื่อนั้น

ท่านย่อมยืนอยู่ตรงสายกลางเดินไปสู่นิพพานได้แน่นอน

หน้า247

พิจารณากายในกาย

กายในกายในที่นี้

หมายถึงกายทิพย์จิตวิญญาณ

กายทิพย์นี้ แยกออกจากกายเนื้อด้วยวิธีถอดจิตซึ่งเสนอให้ฝึกในภาคผลพลอยได้จากการฝึกสมาธิ

กายทิพย์เมื่อถอดจากกายเนื้อแล้ว จะมีหน้าตารูปร่างเหมือนกายเนื้อ

เมื่อถอดจิตได้แล้ว เราก็บังคับให้มานั่งหันหน้าเข้าหากายเนื้อ และให้กายทิพย์นั้นเป็นร่างที่ผุพังเน่าเปื่อย เป็นภาพให้กายเนื้อพิจารณาปลงอสุภะ เห็นความไม่สวยงามของร่างกาย เมื่อพิจารณาจนถึงวาระสุดท้ายแล้ว เราก็สามารถถอดกายทิพย์ออกมาใหม่อีกครั้งแล้วครั้งเล่าให้ปลงอสุภะได้ เป็นการพิจารณากายในกาย จิตในจิต วิญญาณในวิญญาณ เป็นการซักฟอกล้างกิเลสอันละเอียดทั้งปวง ซึ่งเป็นอนุสัยที่ยึดติดอยู่กับวิญญาณในวิญญาณ ซักฟอกล้างจนจิตใจสะอาด สดใส

หน้า248

ผ่องแผ้ว บริสุทธิ์เหลือแต่ดวงจิตที่รู้แจ้งโลก คือเป็นผู้รู้ ผู้ตื่นอยู่เหนือกิเลสทั้งปวง เพราะไม่หลงยึดอะไรอีก

ความรู้สึกของกายเนื้อระหว่างปลงอสุภะ

ความรู้สึกขณะนั้น กายทิพย์จิตวิญญาณที่ถอดออกมานั้นเหมือนกล้องโทรทัศน์วงจรปิด ทำหน้าที่สอดส่องและเป็นตัวกระทำการ แล้วจึงส่งเหตุการณ์เหล่านั้นมาตามสายแก้วทิพย์ที่เป็นความรู้สึกติดต่อกับกายเนื้อ ซึ่งกายเนื้อทำหน้าที่เหมือนจอโทรทัศน์พร้อมเป็นเครื่องบันทึกเสียงและภาพให้อยู่ในความทรงจำ

กายทิพย์มีความรู้สึกเจ็บ กายเนื้อก็เจ็บตามไปด้วย แต่เป็นความรู้สึกเท่านั้นไม่ได้เจ็บที่เนื้อหนัง และความรู้สึกนั้นจะฝังติดอยู่ในส่วนลึกของจิตใจ

ดังนั้น การปลงอสุภะนี้ กายเนื้อจึงเก็บข้อมูลความรู้สึกเหล่านี้ไปฟอกล้างจิตใจซึ่งเป็นภาวะความจริงที่เกิดขึ้นเป็นภาพยนตร์ให้พิจารณาเหมือนดำเนินเป็นไปตามบทปลงอสุภะ ไม่ใช่ภาพเกิดแบบจินตนาการ (ซึ่งคนที่ยังไม่ได้ฝึกถอดจิตจึงจำเป็นจินตนาการตามความรู้สึกที่จะสร้างขึ้นในจิตใจความนึกคิด)

หน้า249

สิ่งที่ต้องเตรียมตัวเพื่อให้ซาบซึ้งเห็นภาพให้ชัดเจนในการปลงอสุภะ

(สำหรับท่านที่ยังถอดจิตไม่ได้)

ก. ภาพ เพื่อสนับสนุนให้เกิดความทรงจำในการจินตนาการ

1.แม้ว่าจิตท่านรวมเป็นหนึ่ง จากการฝึกผ่านบทเรียนมา 4 บทแล้ว ถ้ายังไม่สามารถนึกสร้างภาพเห็นตัวเรากำลังนั่งสมาธิอยู่ตรงข้ามกับเรา ให้ซื้อกระจกบานใหญ่มาตั้งไว้ตรงข้ามตัวท่าน ส่องดูหน้าตารูปร่างตัวเองหลายๆครั้ง จนหลับตาสามารถเห็นภาพตัวเองเกิดขึ้นในภาพแห่งความทรงจำ

2. จัดหารูปเกี่ยวกับโครงสร้างของร่างกายมาดูให้รู้ตำแหน่งของอวัยวะส่วนต่างๆ

3. จัดหารูปโครงกระดูกมาเพื่อเน้นให้เห็นกระดูก

หน้า250

ข.สัมผัสรูปร่าง เพื่อสนับสนุนให้เห็นจริงเห็นจัง

1. ใครที่ยังไม่เคยเห็นอวัยวะภายใน ให้ไปดูเครื่องในหมูที่ตลาดรวมทั้งสมองด้วย แล้วลองจับดูซิว่านิ่มหรือแข็ง

2. ใครที่ไม่เคยเห็นกล้ามเนื้อให้ไปดูเนื้อหมูได้

3. ใครที่ไม่เคยสัมผัสรูปเนื้อหนังมังสาตอนเน่าเปื่อยให้ซื้อเนื้อหมูสามชั้นมาครึ่งกิโลกรัม (หรือรวมทั้งอวัยวะภายในทั้งชุด มาห้อยให้ต่อกันตามโครงสร้างเดิม) แขวนเอาไว้แล้วให้ค่อยๆเน่าเปื่อย สังเกตเห็นสีสันการเปลี่ยนแปลงผุพังเน่าเปื่อย

4. ใครที่ไม่เคยเห็นโครงกระดูกคน ให้ไปขอจับดูที่โรงพยาบาล

5. ถ้าเป็นไปได้ ควรจะจัดเป็นห้องปลงอสุภะเต็มไปด้วยเครื่องเตือนใจเหล่านี้ มิฉะนั้นแล้ว ถ้ากลิ่นไปรบกวนชาวบ้าน คงจะต้องถูกต่อว่าอย่างแน่นอน

หน้า251

ค. กลิ่น เพื่อสนับสนุนให้สัมผัสกับกลิ่นให้เห็นจริงเห็นจัง

1.กลิ่นเหม็นเน่าของซากศพ พิสูจน์ได้ตอนที่เห็นหมาเน่าเละข้างถนน มีแมลงวันตอมเป็นฝูง มีอีกาคอยจิกเศษเนื้อ หรือเนื้อที่เราซื้อมาเก็บจนเน่า (ตามข้อ ข. ตอน 3)

2. กลิ่นเลือด คิดว่าทุกท่านคงจะเคยเลือดออกจำกลิ่นคาวได้

3. เรื่องกลิ่นนี้มีส่วนเตือนสติให้ท่านตั้งสติปลงให้ตกได้เพราะกลิ่นเหม็นทั้งปวง ประสาทคนไวต่อการรับรู้มากแต่ง่ายต่อการลืมกลิ่น ท่านจะต้องฝึกจนหลับตาจำกลิ่นได้ และเมื่อปลงจนเห็นความไม่จีรังยั่งยืนของกายเนื้อที่กำลังเน่าเปื่อย กลิ่นเหม็นเน่าทั้งปวงกำลังคุกรุ่นเต็มที่แล้ว ท่านจะต้องเฉยเมยต่อกลิ่นและภาพได้ โดยไม่มีอาการเคลื่อนเหียนอาเจียน แม้ลืมตามองเห็นภาพและได้กลิ่นเน่าทั้งปวงก็ต้องฝึกจนเดินผ่านได้อย่างปรกติ

หน้า252

หมายเหตุ

ระหว่างฝึกนี้ ให้ทำจิตใจสบายๆไปเรื่อยๆตามสายกลาง โดยต่อไปนี้ให้จำไว้ว่าจะเป็นการใช้ความนึกคิดจินตนาการภายในให้เห็นจริงเห็นจังเหมือนหนึ่งเกิดกับตัวเราเองที่กำลังละลายทั้งรูปและนาม ระหว่างนี้กายเนื้อจะต้องอยู่ในสภาพปกติ ไม่มีการเคลื่อนไหวทุกส่วน ไม่มีอาการเกร็งและบีบประสาทส่วนใดๆทั้งสิ้น

บทพิจารณาปลงอสุภะ

หน้า255

ต่อไปนี้เรากำลังจะมาพิจารณาร่างกายของเราว่าการที่ว่าไม่เที่ยงนั้นเป็นอย่างไร เพื่อเป็นเครื่องเตือนสติเราให้ตื่นตัวรีบสร้างแต่ความดี ปลดเปลื้องจากการหลอกลวงของสังขารที่ยึดว่าเป็นตัวตน
สำหรับคนที่ไม่ได้ฝึกถอดจิตมา ก็จินตนาการให้ภาพค่อยๆเกิดที่ละชุด

สำหรับท่านที่ถอดจิตได้แล้ว ก็ส่งจิตใจความนึกคิดไปที่กายทิพย์ให้เป็นไปตามบทนี้
โดยนึกเห็นภาพร่างกายเรายกนิ้วที่มีเล็บนั้นกรีดไปที่หลอดเลือดตรงข้อมือทั้งสองข้าง ทันใดนั้นกายเนื้อเรารู้สึกมีอาการเจ็บแสบปวดเป็นระยะ ที่ข้อมือทั้งสองข้างทันที เริ่มเห็นเลือดพุ่งไหลออกมาเป็นทางเปลื้อนเสื้อและกางเกงให้แดงไปเป็นหย่อมๆและจุดๆสีแดงของเลือดมองเห็นแล้วน่าหวาดกลัว เพราะมันเป็นสิ่งที่น่าบาดใจ กลิ่นคาวเริ่มโชยเข้าจมูก มันคือกลิ่นเตือนใจ

หน้า256

เราว่านั่นละเลือดเรากำลังไหลออกจากข้อมือ จากการที่ไหลพุ่งค่อยๆลดลงมาเหลือเป็นหยดๆและเลือดชักจะไม่แดงสดแต่มันกำลังไหลออกมาเจือจางมากขึ้นจากแดงชมภูที่ปนด้วยนํ้าเหลืองจนมันค่อยๆขาวลงเหลือแต่นํ้าเหลืองที่หยดลงที่ละหยด
เมื่อเลือดไหลออกจากร่างกายมากขึ้น กายเนื้อที่เคยมีสีเลือดเหลืองแดงผิวพรรณสดใสนั้น บัดนี้ค่อยๆซีดขาวเผือดลงจนเห็นว่ามองไปที่ใบหน้าก็ขาวซีดสักครู่หนึ่ง ที่เลือดออกหมดเหลือแต่นํ้าเหลืองที่ไหลซึมออกจากร่างกายนั้น สายใยของจิตวิญญาณกับกายเนื้อกำลังจะขาดออกจากกัน ขณะเดียวกันลมหายใจซึ่งเป็นธาตุลมของกายเนื้อนั้นกำลังเบาลงๆ ครู่หนึ่งต่อมาจากการที่เลือดไม่มีหล่อเลี้ยงกายเนื้อ จึงทำให้กายเนื้อหมดลมหายใจในบัดนั้น จิตวิญญาณได้แยกขาดออกจากกายเนื้อ

หน้า257

อาการตอนนี้
ขอให้มองเห็นและรู้สึกว่า ลมหายใจเรานั้นไปเกิดรวมอยู่กับจิตวิญญาณ และจ้องมองดูมาที่กายเนื้อพบว่ากายเนื้อนั้นกำลังเขียวเข้มขึ้นทุกขณะ และเลือดที่ไหลกองเลอะรอบๆ ตัวนั้นจากสีแดงสดได้กลายเป็นสีเลือดหมูเข้ม จนส่วนใดที่ไหลออกมาก่อนก็แดงเข้มจนดำ เมื่อปนกับนํ้าเหลืองที่ซึมออกมาคละกัน จึงเกิดกลิ่นคาวคลุ้งไปทั่วรอบๆตัว
ระหว่างที่กายเนื้อกำลังจะหมดลมหายใจนั้น ธาตุไฟเริ่มรวมตัวไม่ติด และแตกกระจายออก จึงไม่สามารถควบคุมประสาทต่างๆได้ อันเกิดผลทำให้ทวารเปิด ปัสสาวะไหลซึมออกมาอยู่อย่างไม่หยุด อุจจาระก็ไหลออกมากองรวมกัน กลิ่นเหม็นแอมโมเนียของปัสสาวะ อุจจาระที่เละๆเหลืองๆดำๆนั้นก็แสนจะเหม็นยิ่งกว่าอุจจาระในวันปกติ ที่เคยถ่ายอยู่เป็นประจำ

หน้า258

กายเนื้อได้ทรุดโทรมลงตามลำดับ
สามวันผ่านไป กายเนื้อเริ่มอึดบวมพองขึ้นกว่าเดิมชักจำหน้าตัวเองไม่ได้
เจ็ดวันผ่านไป กายเนื้อยิ่งบวมฉุมากขึ้นจนจำหน้าตัวเองไม่ได้ ใบหน้าที่เคยหล่อเหล่า ที่เคยสวยงามติดตาติดใจชาวบ้าน บัดนี้ บวมอย่างกับลูกแตงโม ตาที่ยึดว่าหวานหยาดเยิ้มก็บวมโป่งนูนขึ้นมา ถลนเกือบจะหลุดออกจากเบ้าตา ลิ้นที่เคยพูดสารพัดสารพันเล่าก็บวมใหญ่คับจุกอยู่ในปาก แลบปลายลิ้นยืดออกมานอกฟันเล็กน้อย ผิวที่เคยสวยเรียบนั้น บัดนี้พองตึงจนใส และเขียวแดงดำเป็นจํ้าๆกลิ่นเหม็นเน่าเริ่มกระจายออก บางที่ก็รู้สึกเหม็นสางๆโชยเป็นระยะๆบัดนี้ร่างกายที่เคยมีทรวดทรงกระทัดรัดหุ่นงาม ก็ไม่น่ารักแล้วเพราะร่างกายอยู่ในสภาพเหมือนฟักต้มที่พองโต เนื้อฉุๆ
สิบห้าวันผ่านไป ผิวหนังที่เต่งตึงนั้น เริ่มปริออกเป็นทาง นํ้าเหลืองเริ่มเกิดทั่วทุกแห่งที่กายเนื้อแตกออก ความเหม็นของกายเนื้อแผ่กระจาย

หน้า259

ไปไกลจนแมลงวัน แมลงหวี่ต่างมาตอมมากขึ้นๆบินกันว่อนเสียงหึ่งๆดังรอบกายเนื้อ ต่างก็เข้าตอมที่รอยแผลเน่า ช่วยกันชอนไชดูดกินนํ้าเหลืองนํ้าหนองและช่วยกันไข่ ใส่กายเนื้อเป็นของแถมนอกรายการกิน
เจ็ดวันผ่านไป หนอนตัวสีขาวๆเล็กๆโตไม่เกินเมล็ดข้าวสารเริ่มเกิดเป็นจำนวนหมื่นๆแสนๆตัวเกาะทั่วทุกตารางนิ้วของกายเนื้อ รุมชอนไชดูดนํ้าเหลืองกินเนื้อเน่าเป็นการใหญ่ ด้วยเหตุที่หนอนมากและกินเร็ว จึงเกิดเสียงจากการกิน ยุบยับๆคลานเข้าออกตาหูจมูกปาก และทวารหนัก ทวารเบา
หน้าท้องที่บอบบางนั้น การบวมมากจนเน่าเปื่อยและหนอนไช ลมในท้องในไส้ได้เบ่งจนผิวหน้าท้องได้ระเบิดแตกออกดังปรุ๊ฟ ปอด ตับ ไต หัวใจ ม้ามพังผืด มันข้นเปลวมัน มันไขข้อ และลำไส้เป็นขดๆที่เน่าไหลออกมา ปนกับอาหารเก่า อาหารใหม่ที่เป็นปฏิกูล กลิ่นเหม็นซากศพยิ่งคลุ้งกันใหญ่ นํ้าตา นํ้ามูก นํ้าลาย เสลด นํ้ากาม อุจจาระปัสสาวะ นํ้าเหงื่อ นํ้าเหลือง นํ้าเลือด หนอง

หน้า260

รอบๆตัวผสมกันเป็นธาตุนํ้าที่เมือกๆ ยางๆแมลงวัน แมลงหวี่ ต่างบินว่อนร่อนลงรุมกินกองนํ้าเน่ามากขึ้นทันตาเห็น
ขุมขนที่เน่าเละนั้น ทำให้ผมและเส้นขนทั่วกายก็หลุดร่วงลงมาหมด
ตอนนี้ท่านจงรวมจิตที่มีลมหายใจนั้นทบทวนไตร่ตรอง พิจารณากายเนื้อทั้งร่างอีกครั้ง ร่างกายเราที่เคยยึดหวงมากนั้น บัดนี้มันเปลี่ยนไปมากดูตั้งแต่ข้างบนลงมา
ศีรษะที่เคยผมดกก็เป็นหัวล้านหมด และหนังหัวที่เน่าเละๆมีทั้งนํ้าเหลืองและนํ้าหนอง หนอนชอนไชเข้าออก ใบหน้านั้นเล่า ตาก็ถลนเละจวนจะหลุดออกจากเบ้าตา จมูกก็บี้บุบลงไป ซํ้ายังแหว่งๆ ไม่เป็นจมูก ริมฝีปากก็เละๆแหว่งๆไม่เป็นปาก แก้มก็เน่ายุบลงไปและแหว่งหายไปเป็นรูๆ ลิ้นหรือก็เละๆอุดอยู่ในปาก ลำตัวทั้งหมดหรือก็เละเหลวไปหมดเหมือนหุ่นขี้ผึ้งที่กำลังถูกเปลวไฟลนละลายลงมา เนื้อหนังมังสาชักจะเกาะไม่ติดกับกระดูก กลิ่นซากศพอันเหม็นยิ่งกว่า

หน้า261

สิ่งอื่นใดนั้น โชยไปทั่วสารทิศ เรียกร้องให้เหล่าสัตว์ทั้งหลายเข้ามาเห็น สุนัขตามกลิ่นมาแทะซากดึงไส้ยวงๆยาวเป็นเมตรออกไปขาดออกเป็นท่อนๆตอนๆ แร้งฝูงใหญ่ลงมาจิกเนื้อแย่งกินกันฉีกแหวะออกลากเอาตับ ไต ปอดหัวใจ ออกมากินอย่างเอร็ดอร่อยมาก มันควักลูกตาข้างหนึ่งออกไปทำให้มองเห็นเบ้าตาโบ๋ลึกเข้าไปเป็นโพลงสีดำ หนอนไต่ออกมาจากเบ้าตาตั้งหลายตัว แมลงวันยังคงบินว่อนรอบกาย หนูก็ไต่ขึ้นโครงร่างกายเนื้อไปยังศีรษะเจาะกินสมองและเศษเนื้อทุกส่วนที่มันสนใจเนื้อหนัง เอ็นค่อยๆเละมากขึ้นหลุดลงมากองกับพื้นร่วมด้วยผม ขน เล็บ ฟัน ส่งกลิ่นเหม็นตามสภาพความเน่าเปื่อยของร่างกาย

เนื้อหนังค่อยๆละลายลงมาจนหัวกระโหลกไม่มีเนื้อหนังหุ้มอยู่อีก มองเห็นเศษเนื้อและเศษเอ็นเส้นประสาทยังคงเกาะติดอยู่บ้าง ที่ไม่มีส่วนเหมือนหน้าตัวเองเลย เบ้าตาก็ไม่มีตา มันเป็นเพียงรูกลมๆที่ลึกเข้าไป จมูกก็ไม่มี มันเห็นแต่เพียงรูโพรงสามเหลี่ยมเท่านั้น หูหรือก็เน่าละลายหายไปหมดแล้ว

หน้า262

แก้มก็ไม่มีเหลือ ปากก็ไม่มี มันเห็นเพียงกระดูกกรามที่ขบคู่กับกระดูกแก้มที่มีฟันผุๆ ของเราเกาะติดอยู่เป็นแถว มันไม่ต่างอะไรกับกระโหลกที่เขาล้างป่าช้าเลย ดูมาที่คอหรือ ครั้งหนึ่งเคยใส่เครื่องเพชรหรือสร้อยทองคำหรือว่าห้อยพระเครื่องนั้น บัดนี้ไม่มีเนื้อเลย เห็นแต่เศษเอ็นเกาะติดอยู่บ้างเท่านั้น มันเป็นเพียงกระดูกคอไม่กี่ข้อที่ต่อลงมาติดกับกระดูกไหปลาร้า และมองลงมาอีกเห็นซี่โครงเรียงลำดับเป็นระนาดที่ไม่มีเนื้อเรียงเป็นคู่ๆลงไปกับกระดูกแผ่นหลัง ที่มีกระดูกสันหลังต่อลงมาถึงสะโพก หน้าท้องหรือก็ไม่มีเนื้อห่อหุ้มอยู่เลย มันมีแต่ความว่างเปล่า เห็นแต่กระดูกสันหลังเป็นโครงสร้างของคนนั่งขัดสมาธิอยู่ โดยทุกส่วนไม่มีเนื้อเลย แม้แต่มือและเท้าก็มีแต่กระดูกที่เรียงต่อเป็นรูปเท่านั้น

รูปโครงกระดูกนั้น เมื่อเทียบกับรูปคนเราที่มีชีวิตอยู่ จะต่างกันคนละโลก

คนมีชีวิตอยู่ เขาเรียกว่าคน ใครๆก็รัก เมียรักผัว ผัวรักเมีย พ่อแม่รักลูก ลูกรักพ่อแม่

หน้า263

ยามตายจากไป ซากศพเน่าเปื่อยเหลือแต่กระดูก คนเป็นต่างเรียกคนตายว่า “ ซากผี ” เมียรักก็กลัวผัวผี ผัวรักก็กลัวเมียผี ลูกรักก็กลัวพ่อแม่ผีๆ เพราะมันไม่มีความสวยงามของกายเนื้อให้ยึดหลงว่าสวยเลย เรายังไม่เคยได้ยินใครๆบอกว่า “ ซากผี ” นั้นน่ารักสักคน เคยได้เห็นได้ยินคนชมคนเป็นว่า รูปหล่อ รูปสวย เท่านั้น

นี่ละหนอ อารมณ์คนที่เรียกว่า “ อารมณ์ปุถุชน ” ที่ยึดหลง อยู่กับรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส

ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ ล้วนแล้วแต่ไม่เที่ยงแท้ทั้งสิ้น

ดอกไม้มีวันบาน ก็มีวันร่วงโรย มีเกิดก็มีดับแต่การเกิดดับนั้น ไม่ได้จำกัดวันเวลาให้แน่ชัดเท่านั้น โครงกระดูกของเราที่นั่งขัดอยู่ในท่าสมาธินั้น นั่งอยู่มิได้นานนักก็ค่อยๆ เสื่อมคลายออกและกระดูกส่วนต่างๆก็หลุดกระจุยกระจายกองลงมากับพื้น ไม่เป็นรูปเป็นร่างของโครงเดิมเลย มองไกลๆแลเห็นนํ้าค้างซึมออกมา

หน้า264

จากเบ้าตา มันเหมือนนํ้าตาแห่งความเศร้ากับร่างกายที่ได้พังทลายลงไป เสียงพายุยามคํ่าคืนพัดส่ายดังหวิวๆเหมือนโครงกระดูกนั้น กำลังร้องไห้สะอื้นอาลัยอาวรณ์กับการพังสลายของตัวมันเอง ท่ามกลางความมืดของยามคํ่าคืน แห่งการสลายของโครงกระดูกที่กองเรียราดกับพื้นที่ถูกดินฟ้าอากาศกัดกร่อนสลายไป

คืนนั้นเราจำได้

ลมหายใจข้ายึดเกาะติดแน่นกับดวงจิตวิญญาณพยายามพิจารณาเพ่งไปที่โครงกระดูกนั้นขณะหนึ่ง เห็นดวงแสงหิ่งห้อย 2 ดวง ที่บินคู่วนไปมารอบกองกระดูกเหมือนแววตาของมันกำลังรบหรี่ๆค่อยๆดับและจางห่างออกไปเป็นสัญญาณบอกอำลาวิญญาณข้าว่า

“ ถึงเวลาแล้วที่ต้องจากช่วงละครชีวิตตอนนี้ไปก่อน ”

ครู่หนึ่งต่อมา เสียงร้องไห้ของสายฝนและสายลมไว้อาลัยเป็นการใหญ่ สายฟ้าแลบแปลบปลาบชั่วแวบผ่านโครงกระดูกและ ผม ขน เล็บ ฟันที่เป็นธาตุดินนั้น มันกำลังถูกลมฝนและกาลเวลาละลายมันให้ชำรุดทรุดโทรม

หน้า265

ย่อยยับลงอย่างรวดเร็ว กองกระดูกนั้นกำลังดิ้นรนที่อยากจะรวมตัวมาเป็นคนใหม่ แต่มันสิ้นกาลเวลาแล้ว เพราะมันเป็นวาระสุดท้ายของกฎแห่งกรรมคือ

ตายในภพนี้แห่งการมีกายเนื้อ

เสียงฟ้าผ่าลงมา เปรี้ยง เปรี้ยง เปรี้ยง

เสียงฟ้าผ่าดังยิ่งกว่าเสียง ระเบิดปรมาณูเป็นการแจ้งเหตุว่า ทุกอย่างหมดสิ้นเพียงนี้ สำหรับฉากมนุษย์ชาตินี้และแล้วทุกอย่างก็เงียบสงัดตามปกติ

อรุโณทัยค่อยๆสาดส่องมาจากทิศบูรพา

ดวงวิญญาณของข้า ที่มีลมหายใจเกาะติดอยู่ ค่อยๆมองดูที่เดิมที่เป็นกองกระดูกของข้ากองอยู่นั้น ทุกอย่างว่างเปล่า ไม่มีผงกระดูกเหลืออยู่ ทุกอย่างแปรสภาพคืนสู่สภาพธาตุแท้เป็นดินโดยธรรมชาติไปหมด ไม่มีแม้แต่คราบเลือดหนองติดกับธรณี

หน้า266

ข้าเห็นแต่แสงสว่างของพระอาทิตย์ค่อยๆ จ้าจัดขึ้นมา มันส่องสาดมายังใบหน้าของดวงจิตข้า ดวงจิตข้ารู้สึกว่า มองไปทิศไหนๆรอบตัวของดวงจิต เห็นแต่ความสว่างไสวของแสงสีทองโผล่ขึ้นมา ท่ามกลางบรรยากาศที่ขาวบริสุทธิ์

ข้าไม่มีตัว ไม่มีตน ข้าเหลือแต่จิตวิญญาณและลมหายใจ ข้ากำลังพ้นจากการใช้กรรมภพหนึ่งชาติหนึ่งแห่งการเกิดเป็นมนุษย์แล้ว

ครู่หนึ่งต่อมา จิตวิญญาณคิดได้ว่า

“ ด้วยกรรมวิบากกุศล และอกุศลของข้ายังใช้ไม่หมด ”

จิตวิญญาณจึงได้รวมกับลมหายใจ กลับมาอาศัยร่างกายเพื่อใช้กรรมอีก เพราะยังไม่สิ้นอายุขัยแห่งกายนี้

หมายเหตุ

1. ท่านที่จะฝึกสมาธิต่อ ก็อาศัยช่วงที่ได้ละลายร่างกายจนหมดสิ้น เห็นแสงสีทองท่ามกลางบรรยากาศที่ขาวบริสุทธิ์นั้น แล้วฝึกสมาธิต่อไป

ถ้าอยู่ในระดับยังยึดนิมิตอยู่ ก็ตั้งนิมิตวงกลมหรือดวงแก้ว ตรงศูนย์กลางแสงสว่างนั้นแล้วเจริญสมาธิบทนั้นต่อไป

ฝึกจนชำนาญดีแล้ว

พอนั่งสมาธิเข้าที่แล้วก็ปรับตัวเองให้รู้สึกว่า ร่างกายได้ละลายสูญหมด เหลือแต่จิตวิญญาณ และลมหายใจจะรู้สึกว่า จิตนิ่งสงบ ไม่มีร่างกายเป็นภาระให้ยึดเหนี่ยว จิตจึงเจริญสมาธิต่อได้ดี

2. ท่านที่ไม่เจริญสมาธิต่อ ก็เตรียมตัวถอนออกจากการปลงอสุภะ ด้วยการค่อยๆถอนลมหายใจลึกๆ 10 ครั้ง และหายใจแบบปรกติ 10 ครั้ง จึงค่อยๆลืมตาขึ้น ครู่หนึ่งต่อมา จึงลุกขึ้นจากที่นั่งได้

หน้า269

เมื่อท่านออกจากการปลงอสุภะ

เพ่งการเน่าเปื่อยของซากศพตัวเราแล้ว ขอให้ท่านอย่ามีอุปาทานที่รู้สึกสะอิดสะเอียนติดอยู่ความทรงจำที่จะหลอกหลอนตนเอง จนใบหน้าแสดงออกซึ่งความเซื่องซึมเศร้าสลดโดยรู้สึกจิตใจรังเกียจร่างกายตนเอง เบื่อหน่ายการเป็นคนต่อไป ขอให้เข้าใจว่า ท่านยังไม่หมดกรรม และยังไม่หมดอายุขัยในชาตินี้

ท่านต้องระลึกอยู่เสมอว่า พุทธศาสนิกชนเป็นผู้กล้าเผชิญกับความจริง โดยไม่เกรงกลัวต่อความตาย เป็นการเตือนสติให้เลิกการยึดเหนี่ยวในตัวตน

เพราะเข้าใจอย่างถ่องแท้ ตามหลักความจริงของการ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ว่าร่างกายเรานี้ก็คือ รูปที่มาจากการปรุงแต่งของธาตุทั้ง 4 หล่อหลอมเป็นตัวเป็นตนให้สมมติเรียกกันว่า “ คน ” ที่มีกรรมของตนเป็นที่ตั้ง ซึ่งวิญญาณมาเกิดอาศัยอยู่เพื่อใช้กรรมตามวาระ

หน้า269

กายเนื้อนี้เป็นของไม่แน่นอน ไม่ยั่งยืนจีรังพร้อมแล้วที่จะแตกดับเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา

เราจึงไม่กลัวความตาย พร้อมแล้วที่จะตาย

เพราะเราเข้าใจว่า “ ตายแล้วไม่สูญ โลกหน้ามีจริง ” ชีวิตคือวัฏฏะที่ต้องเดินทางไกล เราจึงไม่ประมาท ได้เตรียมใจโดยการอบรมจิตให้สูงขึ้นด้วยการไม่ทำความชั่ว ทำแต่ความดี ทำบุญสร้างกุศลและชำระจิตให้ผ่องแผ้วด้วยการลดกิเลสให้เบาบางที่สุดเป็นการจัดเสบียงเตรียมใจพร้อมที่จะตายเดินไปสู่ปรโลกโดยบุญกุศลที่ทำย่อมติดตามไป

หน้า270

ห้ามปากหรือไม่ฟังคำพูดเพศนินทา

ไป่ฟังคนพูดฟุ้ง ฟั่นเฝือ

เท็จและจริงจานเจือ คละเคล้า

ถือมีดเที่ยวกรีดเถือ ท่านทั่ว ไปนา

ฟังจะพาลลอบเข้า พวกเพ้อรังควาน

(พระราชนิพนธ์พระพุทธเจ้าหลวง)

จากสุภาษิตและคำพังเพยของไทย

หน้า271

วิปัสสนา

ชีวิตมนุษย์

ชีวิตมนุษย์เป็นสิ่งที่จะต้องศึกษาให้ละเอียดจนเกิดความเข้าใจ ซึ่งเป็นการเข้าใจตนเองส่งผลให้รู้จักตนเองและส่วนรวมด้วย

มนุษย์ คือ

สิ่งมีชีวิตซึ่งประกอบด้วยสังขารร่างกายรวมทั้งจิตใจควบคู่กันอยู่โดยสมมติเรียกกันว่า คนหรือสัตว์

ร่างกาย ก็คือ รูปขันธ์ (รูปกลุ่มหนึ่ง)

จิตใจ ก็คือ นามขันธ์ (นามกลุ่มหนึ่ง)

รูปขันธ์ คือ ร่างกายที่มองเห็นได้ด้วยตาที่ประกอบด้วยธาตุ 4 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ อิงอาศัยซึ่งกันและกันรวมตัวเป็นก้อนธาตุ ถ้าขาดเสียธาตุหนึ่งธาตุใด ร่างกายก็ต้องแตกสลาย

หน้า272

อนึ่ง พฤติกรรม และคุณสมบัติต่างๆ เช่น เย็น ร้อน แข็ง อ่อน หนัก เบา สี แสง เสียง กลิ่น รส ซึ่งก็จัดเป็นรูปขันธ์ที่มีลักษณะที่สัมผัสได้ด้วย ตา หู จมูก ลิ้น กาย

นามขันธ์ คือ จิตใจ และตัวการที่ปรุงแต่งจิตซึ่งเป็นนามธรรม ไม่มีรูปร่างที่จะให้สัมผัสจับต้องได้ด้วย ตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่รู้ด้วยความรู้สึกทางจิตใจ

นามขันธ์กลุ่มนี้ประกอบด้วย 4 อย่าง คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

1. เวทนาขันธ์ (กองเวทนา)

ส่วนที่เป็นการเสวยรสอารมณ์ในความรู้สึกว่า สุขสบาย หรือ ทุกข์โศก เสียใจ หรือ ไม่สุข ไม่ทุกข์ คือ รู้สึกเฉยๆ

ซึ่งความรู้สึกเหล่านี้ผ่านเข้ามาจากการสัมผัสทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ให้ใจรับรู้

2. สัญญาขันธ์ (กองสัญญา )

ส่วนที่เป็นความกำหนดจดจำแจกแจงได้นัดหมายให้เกิดความจำหมายรู้ สิ่งนั้นสิ่งนี้ที่ผ่านเข้ามาจากการ

หน้า273

สัมผัสทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ให้ใจรับรู้ว่า ตาดูแล้วจำได้ว่า นี่คือสีขาว ฟังแล้วจำได้ว่าเสียงนี้ของนายแดง เป็นต้น

3. สังขารขันธ์ (กองสังขาร)

ส่วนที่เป็นสภาพเจตนาที่เข้าไปประกอบจิตแล้วปรุงแต่งจิตให้คิดดีเป็นกุศล หรือคิดชั่วเป็นอกุศล หรือ คิดเป็นกลางๆอันหมายถึงคุณสมบัติต่างๆของจิต เช่น ศรัทธา หิริโอตตัปปะ เมตตา กรุณา โลภะ โทสะ โมหะ มานะ หรือ (กลางๆ) ฉันทะ วิริยะ เป็นต้น

4. วิญญาณขันธ์ ( กองวิญญาณ)

ส่วนที่เป็นธรรมชาติของความรู้แจ้ง ซึ่งเป็นความรู้สึกของอารมณ์ซึ่งแจ้งทางใจที่ผ่านจาก ตา หู จมูก ลิ้น กาย เข้ามากระทบ เช่น การได้เห็น การได้กลิ่น การได้รส การได้สัมผัส

รูปขันธ์ 1

นามขันธ์ 4 คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

เมื่อรวมกันเข้าแล้วเรียกว่า ขันธ์ 5 สรุปลงก็เพียงรูปกับนาม อันประกอบ

หน้า274

กันเข้าเป็นสังขารร่างกายที่สมมติเรียกกันว่า นี่สัตว์ นั่นบุคคล ตัวตน เราเขา

และเมื่อนำร่างกายเข้าสู่หลักการพิจารณาปลงอสุภะครั้งแล้วครั้งเล่าจนเกิดความเบื่อหน่ายในการครองสังขารที่แบกเป็นภาระอยู่จิตจึงละจากการยึดมั่นถือมั่นในตัวตน จิตเริ่มผ่องใส เกิดปัญญาคิดออกจากาม และรู้แจ้งเห็นจริงตามปรากฏการณ์แห่งสัจธรรมว่า

“ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในโลกนี้เมื่อรวมแล้วล้วนเป็นสภาวะธรรมหนึ่งเท่านั้น ที่หนีไม่พ้นการทรุดโทรมแปรปรวนไปตามเหตุปัจจัยของกฏแห่งพระไตรลักษณ์ ”

อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

ซึ่งเป็นสามัญลักษณะที่เกิดขึ้นกับทุกสิ่งเสมอกัน

สังขารธรรมทั้งปวงเมื่อมีเกิดแล้ว ย่อมไม่เที่ยงแท้ถาวร มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ทนอยู่ในสภาวะเดิมไม่ได้ ต้องสลายไปในที่สุดไม่มีเขา ไม่มีเราไม่เป็นอัตราตัวตนที่น่าจะยึดมั่นถือมั่น

ภาวะเหล่านี้เป็นปรากฏการณ์อันแท้จริงของธรรมชาติที่เกิดดับอยู่ตลอดเวลา ซึ่งรู้จากการศึกษาตาม อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ดังต่อไปนี้

หน้า275

1. อนิจจัง

ความเป็นของไม่เที่ยงแท้แน่นอน ซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้เมื่อเริ่มเกิด ขึ้นย่อมแปรเปลี่ยนแตกดับเสื่อมสลายไปทุกเสี้ยววินาที เราได้เห็นความไม่แน่นอนอยู่ตลอดที่สลายไปตามกาลเวลา คือ

อนิจจาตาปัจจัยซึ่งไม่คงทนอยู่ได้ตามสภาพเดิม ที่เป็นรากฐาน มูลเหตุแห่งความทุกข์ของคน ที่ได้หลงยึดเหนี่ยวอยู่กับสิ่งที่ไม่เที่ยงแท้แน่นอน ในความสุขที่เลื่อนลอยย่อมเป็นทุกข์

2. ทุกขัง

ความทุกข์นี้มีความหมายครอบคลุมทั้งทุกข์ของสิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิต

ทุกข์หมายถึง สภาวะของสิ่งทั้งปวงที่ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ต้องเปลี่ยนแปลงแปรปรวนไปตามลำดับตลอดเวลาเป็นธรรมดา

อาการค่อยๆเปลี่ยนแปลงนี้ คือ ” ทุกข์ ”

หน้า276

3. อนัตตา

ความเป็นของ ไม่ใช่ตนที่ใครจะบังคับให้อยู่ในสภาพได้ ไม่มีตัว ไม่มีตน

คือ ปราศจากแก่นสารที่เที่ยงแท้ เพราะไม่ใช่ตัวตนที่จะให้บังคับบัญชาได้ตามใจเราได้ ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่บนโลกนี้ที่ประกอบขึ้นเป็นบุคคล สิ่งของ อารมณ์ ความรู้สึก ความคิดเห็นย่อมเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เป็นสิ่งไม่เที่ยงแท้ เปลี่ยนจากสภาพหนึ่งไปสู่อีกสภาพหนึ่งตลอดเวลาที่เกิดขึ้นดับไป จึงไม่มีแก่นสารอะไรที่น่าจะเป็นอัตราตัวตนให้น่ายึด น่ารักใคร่ น่าเสียดาย หรือน่ายึดในอารมณ์แห่งความดีใจ เสียใจ สมหวัง หรือผิดหวัง

เมื่อคนเราถูกความไม่รู้ลวงหลงไปยึดในสิ่งที่ไม่มีตัวตนว่าถาวร จึงตกเป็นทาสแห่งความเปลี่ยนแปลงเกิดทุกข์ใจ เพราะยึดว่า มีตัวตน

เมื่ออบรมอยู่เสมอจนเกิดความเคยชิน รู้แจ้งในอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

หน้า277

ความจริงนี้ ก็จะแทรกซึมเข้าไปตั้งมั่นยั่งยืนในชีวิตจิตใจของเรา เป็นการปรุงแต่งจริตอัธยาศัยไม่ให้โอนเอียงหลงเข้าไปยึดเหนี่ยวในรูปนาม และกิเลสที่ล้อมรอบจิตใจ ทำให้จิตเกิดปัญญาอันเฉียบแหลมรู้แจ้งจริงตามสภาวะธรรมหลุดจากการยึดมั่นในความไม่เที่ยงแท้ได้ อันเป็นเหตุปัจจัยในการกำจัดความเห็นแก่ตัวดับทุกข์แห่งกิเลส 3 กอง

คือ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน

หน้า277

อวิชชา

ความไม่รู้หรือความโง่เขลาครอบงำ

(ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์)

หมายถึง ความไม่รู้ในอริยสัจ 4 ประการ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เมื่อจิตไม่รู้แจ้งตามอริยสัจ 4

หน้า278

จึงทำให้เกิดตัณหาพาให้ต้องตกอยู่ในวัฏฏะสงสารด้วยเหตุดังต่อไปนี้

1. เข้าใจผิดคิดว่า การทำบุญสร้างกุศลจะเป็นกุศลเกื้อหนุนไปเกิดในภพมนุษย์ โลก เทวโลก พรหมโลก ซึ่งจะเป็นภพที่ดีมีพร้อมด้วย อายุ วรรณะ สุข พละ และสมบัติเป็นสุขที่เที่ยงแท้ โดยมองไม่เห็นว่า “ ขึ้นชื่อว่า “ เกิด ” แล้วเป็นไปเพื่อทุกข์ทั้งสิ้น ” เพราะยังไม่สิ้นภพชาติ

2. เพราะความไม่รู้แจ้งในอริยสัจ 4 จึงมองไม่เห็นโทษของอกุศลกรรม เป็นเหตุให้งมงายเข้าใจผิดคิดว่า การทำชั่วสร้างบาปเป็นความสุข เช่นการล่าฆ่าสัตว์ เป็นต้น ซึ่งเป็นการก่อกรรมชั่วที่เป็นเหตุพาให้ทุกข์เพราะต้องมาเกิดใช้กรรมอีก

3. การไม่รู้ข้อปฏิบัติ คือ มรรค มีองค์ 8 ซึงเป็นหนทางปฏิบัติดำเนินไปถึงพระนิพพานอันเป็นสภาพพ้นจากทุกข์ จึงมีการบำเพ็ญเพียรให้ถึงอรูปฌาน เพราะเข้าใจว่า “ การไปเกิดเป็นอรูปพรหมนั้นเป็นความสุขที่มั่นคงแน่นอน เป็นแดนนิพพาน ”

หน้า279

ซึ่งตามความเป็นจริง อรูปพรหมยังไม่พ้นทุกข์จากการที่ต้องมาเกิดอีก เพียงแต่อายุขัยแห่งการเป็นอรูปพรหมนั้นยาวนานมากเท่านั้น

ตัณหา

ความดิ้นรนทะยานอยากอย่างไม่หยุดหย่อน 3 ประการ

1. กามตัณหา

ความทะยานอยากได้และชื่นชมชอบ ความยินดี พอใจ ติดใจ หลงใหลน่ารักใคร่ เพลิดเพลินในกาม เป็นความสุขแบบโลกียะ คือ ความสุขทางเนื้อหนังที่เกิดจากการสัมผัสทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

กามแบ่งเป็น 2 อย่าง คือ กิเลสกาม และวัตถุกาม

กิเลสกาม คือ กิเลสที่เป็นเหตุทำให้จิตใจหลงยึดมั่นเกิดความอยาก เกิดความใคร่ ติดใจพอใจอยากได้กับวัตถุ และเมื่อได้แล้วก็เกิดความรักใคร่ยินดีติดใจเพลิดเพลินอยู่กับวัตถุนั้น

หน้า280

วัตถุกาม คือ วัตถุที่ทำให้รู้สึกอยากได้ซึ่งเป็น รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เพื่อสนองความใคร่ ความต้องการของ ตา หู จมูก ลิ้น กาย

แต่ทั้งนี้กามตัณหาที่นี้หมายถึงกิเลสกาม

2. ภวตัณหา

ความทะยานอยากจะเป็นไปในสภาพ ในภพที่ตนต้องการ เช่นอยากเกิดเป็นคนรวย เป็นต้น

3. วิภวตัณหา

ความทะยานอยากไม่เป็นในสภาพ ในภพ ที่ตนไม่ต้องการ ไม่ปรารถนา เช่น ไม่อยากเกิดเป็นคนจน เป็นต้น

อุปาทาน

การยึดมั่นติดแน่นในกิเลสที่ตนนิยม 4 ประการ

1.กามุปาทาน

ความยึดมั่นติดใจในกาม แห่ง รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสว่า เป็นของน่ารักใคร่น่าพอใจ

หน้า281

2.ทิฏฐปาทาน

ความยึดมั่นถือมั่นตามทิฏฐิหรือ ทฤษฎี ความเห็นหลักคำสอนที่ตนนิยมว่าถูกต้อง เช่น กฎแห่งกรรมไม่มี กรรมที่ทำไปนั้นไม่มีผล ชาติหน้าไม่มี วัฏจักรการเวียนว่ายตายเกิดไม่จริง เป็นต้น

3. สีลัพพตุปาทาน

ความยึดมั่นในศีลและพรตที่ตนนิยม ซึ่งมิใช่ทางนิพพานว่าเป็นทางนิพพาน

คือ ยึดมั่นในหลักความประพฤติ ข้อปฏิบัติ แบบแผน ระเบียบ วิธีขนบธรรมเนียมประเพณี ลัทธิ พิธีต่างๆ โดยถือว่า จะต้องเป็นอย่างนั้น ที่ตนเชื่อว่าถูก โดยสักแต่ว่า กระทำสืบเนื่องต่อๆกันมา หรือ ปฏิบัติตามๆกันไปอย่างงมงาย โดยนิยมว่า ขลังศักดิ์สิทธิ์ มิได้เป็นไปด้วยความรู้ความเข้าใจตามหลักความสัมพันธ์แห่งเหตุและผลอันถูกต้อง

หน้า282

4.อัตตราทุปาทาน

ความยึดมั่นในวาทะถือว่า มี อัตตาตัวตน

มองไม่เห็นว่า สภาวะของสิ่งทั้งปวงอันรวมทั้งตัวตนว่า เพียงแต่เป็นสิ่งหนึ่งที่มวลสารประชุมประกอบกันเข้า เป็นไปตามเหตุปัจจัยทั้งหลายที่มาสัมพันธ์กัน ไม่ใช่เป็นอัตราตัวตน มีเรา มีเขา

เมื่อจิตได้คลายออกจากกิเลส อวิชชา ตัณหา อุปาทาน

จิตจึงไม่ใฝ่หาความสุขสำราญ ความสนุก คึกคนอง ทั้งกาย วาจา ใจ อันเป็นกิเลสที่ผูกมัดสามัญชนให้ตกสู่ห่วงแห่งวัฏฏะสงสารการเวียนว่ายตายเกิด

เพราะรู้ตามสภาพความเป็นจริงของกฎแห่งกรรมว่า

“ การกระทำกรรมใดย่อมจำแนกส่งผลให้ผู้นั้นเสวยกรรมนั้น ”

การทำดีย่อมได้ดี

การทำชั่วย่อมได้สิ่งที่ไม่ดี

หน้า283

ดังนั้น ผู้ปฏิบัติธรรมระดับนี้ จึงเพียรพยายามทำแต่ความดี

เว้นจากการทำความชั่วทั้งปวง ที่จะสร้างความทุกข์ พอกพูนกิเลสให้เกิดขึ้นในภพนี้ ที่จะเป็นเหตุสืบเนื่องให้เป็นไปตามผลจากการกระทำ อันเป็นมูลเหตุที่จะเป็นบ่วงสัมพันธ์ต่อเนื่องส่งผลถึงภพหน้า พัวพันดั่งสายโซ่ปฏิกิริยาก่อภพชาติไม่มีที่สิ้นสุด

หน้า284

เมื่อฝึกถึงตอนนี้แล้ว

ท่านต้องปลูกฝัง

พรหมวิหารธรรม 4

หมายถึงธรรมประจำใจอันเป็นหลักความประพฤติที่ประเสริฐบริสุทธิ์ ปฏิบัติตนต่อมนุษย์สัตว์ทั้งหลายโดยชอบ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา

การอบรมนี้ เป็นการปรับปรุงพัฒนาแก้ไขตนเองอย่างลึกซึ้ง ให้ปัญญาเจริญขึ้นด้วยความสงบสามารถกำจัดกิเลสที่ลอยอยู่ในจิตใจให้ค่อยๆหมดไป คงเหลือแต่กิเลสที่ติดอยู่ในอนุสัยเดิม เหมือนตะกอนที่นอนนิ่งอยู่ในก้นบึ้งของสันดาน ที่ต้องชำระล้างขูดเกลาด้วยวิธีการถอดจิตแล้วปลงอสุภะ ครั้งแล้วครั้งเล่าชำระฟอกล้างกิเลสในสันดานให้หมดไปดังที่เรียกว่า

“ พิจารณากายในกาย จิตในจิต วิญญาณในวิญญาณ ”

จนเหลือแต่วิญญาณอันบริสุทธิ์ที่ดีเลิศดับจิตที่เป็นอกุศล

หน้า285

เมื่อนั้น

จิตใจของท่านย่อมอยู่อย่างผู้ปฏิบัติโลกุตรธรรมโดยแท้ เป็นสภาวะที่ตั้งจิตปฏิบัติตนสละพ้นจาก

โลกธรรม 8

อันเป็นโลกียวิสัยอย่างเด่นชัด อันมี

1.ลาภ – ได้ลาภ มีลาภ

2.อลาภ – สูญเสีย เสื่อมลาภ

3. ยศ – ได้ยศ มียศ

4. อยศ – ถอดยศ เสื่อมยศ

5. นินทา – ติเตียน

6. ปสังสา – สรรเสริญ

7. สุข – ความสุข

8. ทุกข์ – ความทุกข์

ทั้งนี้ ผู้มุ่งสู่โลกุตรธรรมย่อมมองเห็นสิ่งเหล่านี้

รวมทั้งปัจจัย 4 อันมี เครื่องนุ่งห่ม อาหาร ที่อยู่อาศัย ยาและอุปกรณ์รักษาโรค ล้วนเป็นเพียง

หน้า286

ปัจจัยปรุงแต่งที่แตกดับได้ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา จึงไม่โลภอยากได้และหลงใหลลุ่มหลงหมกมุ่นมัวเมาเคลิ้มลำพองไปตามบารมีอำนาจวาสนายศถาบรรดาศักดิ์ความมั่งคั่งที่ปรารถนาให้มีอยู่ และ จิตไม่น้อยเนื้อต่ำใจ ไม่โทษฟ้า โทษดิน ไม่ขุ่นมัวหม่นหมองคลุ้มคลั่งไปด้วย เหตุที่ต้องได้พบกับความไม่น่าปรารถนาที่ต้องได้ทุกข์เมื่อเสื่อมสูญเสียสิ่งที่รัก

สรุปก็คือ จิตใจไม่รู้สึกกระทบกระเทือนหวั่นไหวต่ออารมณ์ของความดีใจและความเสียใจ คือ จิตพ้นจากเครื่องเร้าความรู้สึกเวทนา สุข ทุกข์ หรือเฉยๆ

ด้วยเหตุนี้ ผู้ปฏิบัติธรรมนี้จึงเป็นผู้รู้แจ้งเห็นจริงด้วยปัญญาที่ไม่ไปหลงยึดในโลกธรรม 8 ประการ จิตสามารถตั้งสติดำรงมั่นอยู่ในสมาธิ มีจิตที่สงบปราศจากทุกข์ ไม่ปล่อยให้โลกธรรม 8 ที่เป็นของสามัญชนวิสัยเข้าครอบงำย่ำยีจิตใจ เหมือนเป็นม่านแห่งความโง่เขลาปิดบังปัญญาอันแจ้งแก่เหตุ

หน้า287

ดังนั้น ผู้หลุดพ้นจากโลกธรรม 8 คือ ผู้มีสติปัญญาอันแหลมที่ได้แผ้วถางทางผ่านป่าทึบแห่งความโง่เขลา ย่อมมองเห็นทางดับทุกข์ ด้วยการปฏิบัติตามอริยสัจ 4 อันได้แก่ความจริง 4 ประการ ที่ทำให้เจริญหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงอย่างเด็ดขาด ข้ามพ้นจากความเศร้าโศกร่ำไร ดับความทุกข์และโทมนัส มีแต่ความกระปรี้กระเปร่า ชื่นบาน สงบกาย สบายใจ ปฏิบัติตามทางสายกลาง ดังต่อไปนี้

หน้า288

โดยอาศัยปฏิบัติตาม

โพชฌงค์ 7

กลุ่มธรรมสามัคคีที่อิงอาศัยเกิดขึ้นด้วยกัน และให้คุณต่อกัน นำไปสู่ปัญญาแห่งการตรัสรู้

1. สติ – ความระลึกได้ สำนึกพร้อมอยู่

2. ธัมมวิจัย – ความเฟ้นธรรม สอดส่องสืบค้นธรรม>

3. วิริยะ – ความเพียร

4. ปีติ – ความอิ่มใจ

5. ปัสสัทธิ – ความสงบกายสงบใจ

6. สมาธิ – ความมีใจตั้งมั่น

7. อุเบกขา – ความมีใจเป็นกลางที่รู้สึกเฉยๆต่อสภาวะธรรมทั้งปวง เพราะได้เห็นตามความจริงว่าทุกอย่างที่เกิดล้วนแต่เป็นไปตามกรรม

เมื่อปฏิบัติตามโพชฌงค์ 7 แล้ว ย่อมเกื้อหนุนให้เจริญอริยสัจ 4 ได้ดี

หน้า289

อริยสัจ 4

ซึ่งประกอบด้วย ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

1.ทุกข์

หมายถึง สภาพที่ทนได้ยากซึ่งทำให้เกิดสภาวะทุกข์กายทุกข์ใจที่เกิดกับสิ่งมีชีวิตเท่านั้น

สภาพทุกข์กาย ที่ทนอยู่ในสภาพอย่างเดียวตลอดไม่ได้ ซึ่งติดมากับสังขาร คือ เมื่อมี เกิดแล้วต้องแก่ แล้วต้องตาย

และสภาพ ทุกข์ใจ ที่เกิดหลังซึ่งเป็น สภาวะที่บีบคั้นให้จิตใจทนได้ยาก จากการที่ไม่สบายกาย ไม่สบายใจ ความเศร้าโศกเสียใจ ความคร่ำครวญ ความคับแค้นใจ ความพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ความประสบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รัก และความไม่สมปรารถนา

หน้า290

2.สมุทัย

รู้มูลเหตุแห่งการเกิดทุกข์ว่ามาจาก “ ตัณหา ” คือ ความทะยานอยาก เช่น อยากได้นั่นได้นี่ อยากจะเป็นโน่นเป็นนี่ อยากไม่เป็นโน่นเป็นนี่

3.นิโรธ

ความดับทุกข์ หมายถึง พระนิพพาน

ความดับทุกข์จะเกิดขึ้นได้ ต่อเมื่อได้ดับตัณหา ทั้ง 3 ประการ ซึ่งเป็นต้นเหตุแห่งทุกข์

4.มรรค

วิธีปฏิบัติที่เป็นวิถีทางดำเนินถึงการหลุดพ้นจากทุกข์อย่างแท้จริงบรรลุถึงความดับทุกข์คือ

อริยมรรค ประกอบด้วยองค์ 8

ดังนี้ คือ

ความเห็นชอบ ความดำริชอบ การเจรจาชอบ การทำการงานชอบ การเลี้ยงชีพชอบ การทำความเพียรชอบ การระลึกชอบ การตั้งใจชอบ

หน้า291

มรรค 8 ประการนี้เป็นวิธีการปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์มุ่งสู่นิพพานอันเป็นเป้าหมายปลายทางของชีวิตซึ่งเอื้ออำนวยส่งเสริมสนับสนุนสัมพันธ์กันเป็นลูกโซ่ เมื่อจัดเข้าในไตรสิกขาแล้ว มี 3 ระดับ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา

ระดับต้นได้แก่ศีล

คือ ข้อห้ามในการประพฤติชั่ว แนะให้ปฏิบัติตนดำเนินชีพอย่างบริสุทธิ์ ที่ไม่เป็นภัยอันตรายกับใครเป็นการสำรวมกาย วาจา ใจ ระงับซึ่งความคึกคนองทั้งปวง เมื่อปฏิบัติตามแล้ว จะเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะและขยัน ซึ่งรวมเอามรรคข้อที่ 3 การเจรจาชอบ ข้อ 4 การทำงานชอบ ข้อ 5 การเลี้ยงชีพชอบ

ระดับกลางได้แก่สมาธิ

คือ การสำรวมตั้งจิตมั่นแน่วแน่ส่งเสริมให้จิตสามารถจดจ่ออยู่กับการปฏิบัติอย่างแข็งแกร่งมั่นคง ซึ่งรวมเอามรรค ข้อที่ 6 การทำความเพียรชอบ ข้อ 7 การระลึกชอบ ข้อ 8 การตั้งจิตมั่นชอบ

หน้า292

ระดับสูง ได้แก่ปัญญา

ซึ่งปัญญานั้นแบ่งได้ 3 ระดับ ดังนี้

1.ปัญญาขั้นต้น

สุตมยปัญญา

ปัญญาเกิด จากการ สดับตรับฟัง จากการบอกเล่าหรือการศึกษาเล่าเรียนตามตำรา

2.ปัญญาขั้นกลาง

จินตมยปัญญา

เมื่อได้ความรู้เกิดปัญญาจากระดับต้นแล้วนำมาพิจารณาไตร่ตรอง คิดทบทวนหาเหตุผล จนเกิดความเข้าใจมากขึ้นก็เกิดปัญญาขั้นกลาง

3.ปัญญาขั้นสูง

ภาวนามยปัญญา

เมื่อได้เข้าใจมากขึ้นในปัญญาขั้นกลาง แล้วนำมาฝึกอบรมลงมือปฏิบัติจนเกิดปัญญาขั้นสูง เป็นการปฏิบัติจนเกิดความรู้แจ้งเห็นจริงที่แท้ ต่อกิเลสที่มีอยู่ภายในกาย จิตในจิต จนค้นตนให้รู้จักตน อยู่เหนือตน ซึ่งรวมเอามรรค ข้อ 1 ความเห็นชอบด้วยปัญญา ข้อ 2 ความดำริชอบ ความนึกคิดริเริ่มอันดีงามด้วยปัญญา

หน้า 293

จากนี้ก็ศึกษารายละเอียดในมรรคองค์ 8 ประการดังต่อไปนี้

1.สัมมาทิฏฐิ

ความเห็นชอบด้วยปัญญา

ขั้นพื้นฐาน

คือ ความเห็นซึ่งเป็นความเชื่อ ที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม เห็นชอบตามกฎแห่งกรรม บุญบาปมีจริง ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว วิญญาณมีจริง ตายแล้วไม่สูญ โลกหน้ามีจริง ตายแล้วต้องเกิดอีก เป็นต้น

ความเห็นชอบในชั้นสูง

คือ เห็นชอบด้วยปัญญา ความรู้แจ้งที่ได้มาจากการพิจารณาหรือกำหนดอารมณ์จนเกิดความเข้าใจอย่างซาบซึ้งมองเห็นตนเองว่า สภาวะสังขารธรรมที่ประกอบด้วยรูปและนามล้วนไม่เที่ยงแท้ เป็นทุกข์ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ และต้องสลายไปในที่สุด ไม่เป็นอัตรา

หน้า294

ตัวตนที่จะให้ยึดมั่นถือมั่น เป็นการเห็นชอบตามความเป็นจริงที่ไม่เคลือบแฝงด้วย อวิชชา ตัณหา อุปาทาน

จึงทำให้จิตใจผ่องแผ้ว สงบ เป็นสมาธิ เห็นชอบการปฏิบัติตามอริยสัจ 4 เป็นหนทางที่ถูกต้องที่จะพัฒนาตนเองนำไปสู่การหลุดพ้นจากวัฏฏะ

2 . สัมมาสังกัปปะ

ความดำริชอบ

หมายถึง ความนึกคิดที่ถูกต้อง 3 อย่าง

คือ

2.1 เนกขัมมสังกัปปะ ความนึกคิดมุ่งหมายริเริ่มอันดีงามที่จะสลัดตน คลายออกจากการหมกมุ่นมัวเมาในโลกียวิสัย เป็นความคิดที่จะปลอดจากกาม โดยไม่โลภอยากได้ที่จะปรนปรือความสุขสำราญ ความเพลิดเพลิน สนองความอยากของตน

หน้า295

2.2 อพยาปาทสังกัปปะ ความคิดที่ปราศจากการพยาบาท เกลียดชังและดุดันคิดปองร้ายผู้อื่น จิตใจมีแต่ความเมตตา เสียสละ ไม่ขัดเคืองเพ่งมองคนอื่นในแง่ร้าย

2.3 อวิหิงสาสังกัปปะ ความคิดที่ไม่เบียดเบียนผู้อื่นด้วยความนึกคิดที่ประกอบด้วยกรุณา ไม่คิดร้ายหรือมุ่งทำลาย อุเบกขา ความวางเฉยได้ที่ไม่ไปซ้ำเติม สมน้ำหน้าบุคคลที่กำลังประสบเคราะห์กรรมเพราะเชื่อในกฏแห่งกรรมว่าใครก่อกรรมอันใดกรรมนั้นย่อมสนอง

ผู้บำเพ็ญต้องปลูกฝังความดำริชอบซึ่งเป็นความดีเหล่านี้ให้มีในจิตใจให้เกิดความเคยชินในการตั้งสติสังเกตสืบสวน ค้นคว้าให้แจ้งในจุดหมายแห่งความคิดที่ชักจูงให้ทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ ซึ่งการหมั่นทบทวนพิจารณาจำแนกแยกแยะดังนี้ ย่อมปลูกฝังส่งเสริมให้สติปัญญาเจริญมีกำลังในการเห็นชอบ

หน้า296

3. สัมมาวาจา

การเจรจาชอบ

หมายถึงคำพูดที่ถูกต้องดีงาม

ได้แก่ วจีสุจริต 4 อย่าง

3.1 พูดจริงด้วยความซื่อสัตย์ ไม่กล่าวคำเท็จ หมายถึง บรรดาการพูดไม่ตรงกับความจริงทุกสถาน

3.2 พูดแต่คำพูดที่อ่อนหวาน ไม่กล่าวคำหยาบ เช่น ด่ากระเซ้า การสบถสาบาน เป็นต้น

3.3 ไม่พูดจานินทา กล่าวกระแทกแดกดัน ประชดประชัน ส่อเสียด ยุยงให้คนอื่นแตกความสามัคคีซึงจะทำให้เกิดการระหองระแหงผิดใจกันระแวงแก่กัน

3.4 ไม่พูดจาเพ้อเจ้อ เหลวไหล ไร้สาระ รวมทั้งกล่าวยกยอปอปั้นจนหาแก่นสารไม่ได้ ถึงแม้จะเป็นคำพูดที่มีประโยชน์และถ้อยคำที่ไพเราะ ก็ควรจะพูดจาในจังหวะเวลาที่เหมาะสมกับกาลเทศะเท่านั้น

หน้า297

4.สัมมากัมมันตะ

ความประพฤติที่ถูกต้องดีงาม

ได้แก่กายสุจริต 3 ประการ

อันเป็นการประพฤติดีนำมาซึ่งความสงบ คือ

4.1 มีความเมตตากรุณาเอ็นดูสัตว์ ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต

4.2 มีความซื่อตรง ไม่ลักทรัพย์ ไม่คิดคดทรยศ ฉ้อโกงทุกสถาน

4.3 ไม่ประพฤติผิดในกาม มีความรักสงบสันโดษ พอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่ ด้วยไม่เป็นชู้กับคู่เมียคู่ผัวเขา และเว้นจากการเสพด้วยเครื่องดื่มมึนเมา และสิ่งเสพติดทั้งปวง

5.สัมมาอาชีวะ

การเลี้ยงชีพชอบ

ด้วยการประกอบอาชีพสุจริต และดีงามที่ไม่เบียดเบียนก่อให้คนอื่น สัตว์อื่น เป็นทุกข์ เกิดความเดือดร้อนและอันตราย

หน้า298

6.สัมมาวายามะ

ความเพียรพยายามชอบ

คือความขยันหมั่นเพียรที่ถูกต้อง 4 สถาน

6.1 สังวรปธาน เพียรระวังไม่ให้อกุศล(ความชั่ว)เกิดขึ้น อันเป็นความเพียรอย่างเหนี่ยวแน่นที่จะพยายามระวังควบคุมยับยั้ง และสกัดกั้นความคิดและการกระทำอันไม่ดีที่มุ่งทำลาย อันเป็นความคิดชั่ว(หรือนิวรณ์ 5 ) ที่ยังไม่เกิดไม่ให้เกิดขึ้น คือ ระวังตนมิให้เกิดความชอบใจและความไม่ชอบใจในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และธรรมารมณ์ที่ผ่านมาจาก อายตนะ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

6.2 ปหาปธาน เพียรพยายามตัดทอนละอกุศล (ความชั่ว) หรือ นิวรณ์ 5 ที่เกิดขึ้นแล้วให้หมดไป

6.3 ภาวนาปธาน เพียรพยายามส่งเสริมอบรมปลูกฝังกุศลจิต (เจริญสติปัฏฐาน 4 หรือ โพชฌงค์ 7 ) ความดีที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้นในสันดาน

หน้า299

6.4 อนุรักขนาปธาน เพียรพยายามประคองจิตให้ตั้งมั่นรักษากุศล (ความดี ) ที่เกิดขึ้นซึ่งมีอยู่แล้วให้ตั้งมั่นคงอยู่ตลอดไป และเจริญยิ่งขึ้นจนไพบูลย์

7. สัมมาสติ

ความระลึกชอบ

คือ การฝึกอบรมให้มีสติระลึกที่ถูกอยู่ในอารมณ์ที่เป็นปัจจุบันตามหลักสติปัฏฐาน 4 พิจารณา กาย เวทนา จิต ธรรม ติดตามการเกิดดับของจิตให้ได้รู้อยู่ทุกขณะ กำหนดสติพิจารณาสังเกตทบทวนอย่างถี่ถ้วนลึกซึ้งไม่ให้หลงไปกับกิเลสแห่งความพอใจ โลภอยากได้ของเขา และความไม่พอใจ ความทุกข์ใจที่ทำให้จิตใจเร่าร้อน จึงต้องกำจัดกิเลสเหล่านี้ให้พินาศหมดสิ้นไป ด้วยความเพียรพยายาม และสติสัมปชัญญะความระลึกรู้สึกตัวอยู่เสมอ เพ่งจนสติความรู้สึกตัวกล้าแข็งขึ้นมาไม่มีอารมณ์อื่นแทรก ก็จะเกิดความรู้ภายในขึ้นเห็นชัดแจ้ง

หน้า300

ตามทันกับปรากฏการณ์ ของกิเลสที่เป็นปัจจุบันธรรม ซึ่งเกิดขึ้น และดับไป เป็นการเห็นตามความเป็นจริงว่าในขณะที่กำลังพิจารณาอยู่นั้น มีสภาพอย่างไร เป็นการฝึกจิตเพื่อให้เกิดสมาธิมั่นในทุกสภาวะธรรมปัจจุบัน

เมื่อฝึกจนเคยชินในการตั้งสติอยู่ในอารมณ์ขณะปัจจุบันด้วยสติปัฏฐาน ก็จะสามารถแบ่งแยกและวิจารณ์ ทำให้จิตใจสว่าง ความไม่รู้ที่เปรียบดังความมืดก็จะจางหายไป ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็น ที่จะส่งเสริมความเห็นชอบด้วยปัญญา เพื่อการบำเพ็ญฌานญาณได้ง่ายขึ้น

กาย (รูป )

ไม่ว่าท่านจะอยู่ในอิริยาบถใดๆ กำหนดสติให้รู้สึกทันต่ออิริยาบถนั้นว่ากำลังทำอะไรอยู่ เมื่อรู้แล้วให้ตั้งสติพิจารณาว่ากายนี้สักแต่ว่ากาย ซึ่งเป็นปฏิกูลวัตถุธาตุก้อนหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา เมื่อพิจารณาไป จิตก็จะนิ่งเป็นหนึ่ง ทำให้ไม่หลงยึดมั่นติดในรูปนามว่าเป็นของงาม น่ารักใคร่

หน้า301

เวทนา (นาม )

เมื่ออยู่ในความรู้สึกอย่างไร ให้เอาสติตั้งลงพิจารณากำหนดให้รู้ชัดที่ความรู้สึก ( เวทนา ) ปัจจุบัน ขณะนั้นที่รู้สึกว่า ทุกข์ สุข หรือว่า เฉยๆ แยกสติกับใจออกจากเวทนาแล้วก็จะเกิดความรู้สึกว่า เวทนาที่เกิดนั้นสักแต่ว่าเป็นอาการของความรู้สึกหนึ่งที่ไม่ได้อยู่ในกายและนอกกายเรา ไม่ใช่บุคคล ตัวตน เราเขาที่น่าจะยึดมั่นถือมั่น ทำให้ไม่หลงยึดมั่นในสุขทั้งปวง

จิต (นาม )

เมื่ออยู่ในสภาวะใดที่มีสภาพจิตอย่างไร ให้ระลึกถึงจิตใจของตนเองขณะนั้น เช่น ราคะ โทสะ โมหะ หดหู่ฟุ้งซ่าน เศร้าหมอง หรือผ่องแผ้ว ก็ให้เพ่งพิจารณากำหนดสติให้รู้ชัดสภาพอาการของจิต ที่ดิ้นรนกระสับกระส่ายหรือว่าเป็นสมาธิ พิจารณาอยู่ในอารมณ์เดียวจนเห็นจิตขณะนั้นเป็นเพียงจิต ที่เป็นไปในอาการเกิดดับเป็นอนัตตา ไม่มีแก่นสารสาระที่เที่ยงแท้แน่นอน สติก็จะกำหนดรู้อยู่ที่จิตเพียงแห่งเดียว

ทำให้ไม่หลงยึดมั่นว่าทุกสิ่งเป็นของเที่ยงแท้

หน้า302

ธรรม (นามและรูป )

เมื่อเผชิญกับสภาวธรรมใดให้ระลึกนึกถึงสิ่งที่เป็นธรรมารมณ์ที่ผ่านเข้าสู่การรับรู้ทางมโนทวาร อันเป็นอารมณ์ของใจที่เกิดในสภาวะนั้นให้ตั้งสติกำหนดตั้งมั่นลง ณ สภาวะปัจจุบันนั้น คือ มีสติพิจารณาจนรู้ชัดการปรากฏการณ์ธรรมทั้งหลาย

1. นิวรณ์ 5 ลักษณะกิเลสที่ครอบงำจิตใจอันเป็นเครื่องขวางกั้นมิให้การปฏิบัติธรรมบรรลุผล คือ 1. กามฉันทะความพอใจในกามสุข 2. พยาบาท ผูกโกรธ 3. ความหดหู่ง่วงเหงาหาวนอน 4. ความฟุ้งซ่าน หวาดหวั่นรำคาญใจ 5. ความเคลือบแคลงลังเลสงสัยใจในธรรม

2. ขันธ์ 5 อุปาทานยึดมั่นถือมั่นในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ว่าเป็นตัวตน

หน้า303

3. อายตนะ 12 คือ อายตนะภายใน 6 ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และอายตนะภายนอก รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์

4. โพชฌงค์ 7 คือ องค์แห่งปัญญาธรรมเครื่องตรัสรู้ 1. สติ 2. ธัมมวิจัย 3. วิริยะ 4. ปิติ 5. ปัสสัทธิ 6. สมาธิ 7. อุเบกขา

5. อริยสัจ 4 คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

ให้พิจารณาจนรู้ชัดว่า ธรรมเหล่านี้ คืออะไร เป็นอย่างไร มีในตนหรือไม่ เกิดขึ้น เจริญบริบูรณ์และดับไปได้อย่างไร ตามความจริงของธรรมอย่างนั้น เมื่อรู้แล้วก็ให้สละปล่อยว่าง ก็จะเห็นว่าธรรมสักแต่ว่าธรรม ไม่ใช่บุคคลตัวตนเราเขา ทำให้เห็นได้ว่ารูปนามไม่ใช่ตัวตน

หน้า304

8.สัมมาสมาธิ

สมาธิชอบ

คือ การตั้งมั่นชอบของจิตใจที่เป็นสมาธิที่รวมอารมณ์อยู่ในอารมณ์เดียวที่ แน่วแน่เป็นเอกัคคตา นำไปใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งทำให้จิตใจเข้มแข็งบริสุทธิ์ผ่องแผ้วเกิดพละกำลัง ส่งเสริมให้จิตเพ่งพิจารณาอารมณ์สติปัฏฐาน 4 คือ กาย เวทนา จิต ธรรม อย่างลึกซึ้งได้ดีขึ้น จนจิตเกิดปัญญาเห็นแจ้งในการ เพ่งลักษณะโดยวิปัสสนาพินิจพิจารณาสังขาร ด้วยพระไตรลักษณ์ว่าเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

โดยมรรควิธี ที่ยังกิจแห่งวิปัสสนานั้นให้สำเร็จ

โดยผลที่เพ่งนิพพาน อันเป็นภาวะสัจจะของนิพพานที่ไม่เจือปนด้วยกิเลส มีแต่ความว่างเปล่า

การมีสมาธิแน่วแน่ ภาวะจิตใจเหมือนน้ำที่เคยขุ่นมันก็จะตกตะกอน น้ำจะใส สามารถมองเห็นกิเลสอันละเอียดอ่อน คือ โลภ โกรธ หลง แล้วจึงใช้สติพิจารณาหาเหตุหาผลที่เกิดที่ดับของอดีต ปัจจุบัน อนาคต จนรู้แจ้งอยู่เหนือกิเลสเรียกว่า “ ผู้มีปัญญา ”

หน้า305

ย่อมยังจิตที่ดำริชอบ ดำเนินชีวิตอย่างบริสุทธิ์ ค้นคว้าหาอุดมการณ์ที่ถูกต้องเที่ยงแท้ จิตใจก็จะนึกคิดมุ่งหมายไปในส่วนที่ไม่เห็นแก่ตัว สติปัญญายิ่งจะงอกงามขึ้นสามารถควบคุมจิตใจและความรู้สึก ให้อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาให้พ้นจากความโลภ ความโกรธ ความหลง ได้

ผู้ปฏิบัติตามอริยสัจ 4 แล้วย่อมแจ้งแก่ใจว่า ได้เดินทางสู่การดับทุกข์ที่ถูกต้องแล้ว

ผู้ปฏิบัติจิตมุ่งเดินสู่บนเส้นทางโลกุตระนั้นล้วนมีนิสัย รักสันติ สงบ สันโดษ มักน้อย ขยัน ซื่อสัตย์ อดทน ไม่เห็นแก่ตัว และพึงระวังอยู่เสมอที่จะไม่ยกตนข่มท่านโดยถือว่าตัวเองปฏิบัติดีกว่าคนอื่น แม้ปฏิบัติธรรมฝึกจิตตนให้หลุดพ้น ก็ต้องแบ่งเวลาช่วยเหลืองานส่วนรวมให้สำเร็จลุล่วงด้วยดี เพราะถ้าหมู่คณะส่วนรวมอยู่ไม่ได้ ตัวเราที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมนั้นก็จะอยู่ไม่ได้เช่นกัน

หน้า306

ผู้ปฏิบัติธรรมตั้งจิตมั่นแล้วที่ไม่หลงมัวเมาหมกมุ่นพัวพันกับการเสพกามสุขทั้งหลายและไม่เคร่งเครียดกับการบำเพ็ญจนเป็นการประกอบการทรมานทำตนให้ลำบาก

แต่ปฏิบัติตน ด้วยสัจจะเพื่อตนให้หลุดพ้นตนเดินไปตามทางสายกลางมัชฌิมาปฏิปทาอย่างมั่นใจด้วย อริยมรรค 8 ข้อ ซึ่งทุกข้อ ต่างก็เกื้อหนุนซึ่งกันและกัน

เป็นการปฏิบัติตาม พุทธโอวาท 3 ประการ คือ

1.ไม่ทำความชั่วทั้งปวง

2. ทำความดีให้สมบูรณ์

3. ชำระจิตใจของตนให้สะอาด บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว

การปฏิบัติที่ถูกต้องก่อให้เกิดความบริสุทธิ์ทั้งกายและใจ ซึ่งเป็นผลจากการปฏิบัติสมาธิจนจิตนิ่งแน่วแน่สร้างอำนาจฌานบังคับจิตใจให้สงบตั้งมั่น แล้วพิจารณาธรรมจนเกิดญาณปัญญาเปรียบดังได้จุดดวง

หน้า307

ประทีปเป็นนิมิตอันแจ่มใสส่องสว่างให้จิตสว่างมองเห็นทางในป่าทึบแห่ง ความโง่เขลา เพื่อพิจารณา ธรรมอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้นจนเห็นมูลเหตุและความหมายแห่งการกระทำของตนเองที่เจือปนด้วยกิเลสธุลีอัน หนาแน่นที่สลับซับซ้อนอยู่ในสันดาน ก็จะบรรลุถึงการมองเห็นตนเองอย่างแจ่มแจ้งทะลุถึงจิตใจภายใน คอยสำรวจตนเองเสมอจนรู้จักตนเอง สามารถตั้งสติอย่างมั่นคง ดำเนินชีวิตอย่างบริสุทธิ์กอปรด้วยคุณธรรมอันดีงาม

เลิกเป็นทาสที่ผูกพันกับกิเลส เป็นการปลูกฝังให้เกิดความเคยชินที่ดีให้มีขึ้นในนิสัยสันดานตลอดชีวิต

เมื่อปฏิบัติได้แล้ว

จิตใจก็จะปราศจากความยึดเหนี่ยวในทุกสิ่งของโลกทั้งรูปและนามปลดเปลื้องละจากการร้อยรัดครอบงำของกิเลสที่เคยยึดสืบเนื่องจากความเคยชิน อันเป็นสภาพพ้นจากกิเลส จิตก็มุ่งพุ่งสู่พระนิพพานอันเป็นอุดมคติจุดหมายปลายทางที่แท้จริง

เป็นการบรรลุถึงความหลุดพ้นจากกองทุกข์แห่งวัฏสงสาร

ขออนุโมทนาสาธุ ฯ มา ณ โอกาสนี้

หน้า308

บทส่งท้ายภาคโลกุตระ

สังโยชน์ 10

กิเลสที่ดึงเหนี่ยวร้อยรัดให้ตกอยู่ในวัฏฏะ

ท่านที่ฝึกผ่านหลักวิปัสสนามาแล้ว ก็ยังไม่รู้ว่าจิตใจของตนเองหลุดพ้นจากกิเลสมากน้อยเพียงใด

ดังนั้น

จึงเสนอบทนี้เพื่อเป็นตารางเปรียบเทียบกับภาวะการปฏิบัติจิตของท่าน

มากแม้นยังมีกิเลสมากอยู่ ก็ขอให้ท่านพยายามฝึกจิตให้ลดละให้ได้ เพื่อหลุดพ้นจากกิเลสสังโยชน์ 10 อันเป็นกิเลสที่ดึงเหนี่ยวร้อยรัดให้ตกอยู่ในวัฏสงสารที่ต้องมาเกิดอีก เพราะเป็นกิเลสที่ผูกใจสัตว์มัดไว้กับความทุกข์

“ คนเราถ้าบาปหนาจิตหยาบ

ก็จะมองไม่เห็นความผิดของตนเอง ”

หน้า309

สังโยชน์ 10

1. สังกายทิฏฐิ ความเห็นว่าเป็นตัวเป็นตน คือ ยึดขันธ์ 5 รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่สรุปลงเป็นรูป นาม ล้วนมีตัวตนเป็นของเรา

2. วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัยไม่แน่ใจในคุณพระรัตนตรัย ว่าจะนำพาให้พ้นทุกข์

3. สีลัพพตปรามาส การถือมั่นศีลพรตอย่างไม่จริงจังเคร่งครัด โดยสักแต่ว่าทำตามกันไปอย่างงมงาย

4. กามฉันทะ ความกำหนัดหมกมุ่นติดอกติดใจในกาม

5. ปฏิฆะ การกระทบกระทั่งแห่งจิตได้แก่ ความหงุดหงิดด้วยอำนาจโทสะ ความคับแค้น ความขึ้งเครียด ซึ่งเป็นอารมณ์ผูกโกรธที่จะจองล้างจองผลาญ

หน้า310

6. รูปราคะ ความติดใจยึดมั่นในรูปฌาน ความปรารถนาในรูปภพ โดยถือว่ารูปภพเหล่านี้เป็นสิ่งวิเศษดีเลิศ

7. อรูปราคะ ความติดใจในอารมณ์แห่งอรูปฌานความปรารถนาในอรูปภพว่า เป็นคุณวิเศษที่จะให้พ้นจากวัฏฏะ

8. มานะ การมีอารมณ์สำคัญตน คือ ถือตนว่าเป็นนั่นเป็นนี่มีชั้นวรรณสูงกว่าคนอื่น

9. อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ ครุ่นคิดอยู่แต่ในอกุศล

10 อวิชชา ความไม่รู้จริงทำให้หลงคิดว่า ทุกสิ่งของโลกเป็นของเที่ยงแท้

สาธุชนผู้เจริญตามวิปัสสนากรรมฐาน พึ่งมุ่งหมายที่จะประหารกิเลสด้วยกำลังสมาธิ กำลังปัญญาจากวิปัสสนาญาณเป็นไปตามขั้นตอนของสังโยชน์ 10 ตั้งแต่

หน้า311

ข้อ 1 ลำดับถึงข้อ 10 ผ่านด่านแห่งสังโยชน์มากยิ่งมีโอกาสหลุดพ้นจากวัฏฏะมากขึ้น

ทั้งนี้ คนเราไม่จำเป็นต้องรู้ว่า ผ่านได้กี่ข้อ ก็เป็นการสำเร็จมรรคผลชั้นนั้นชั้นนี้ เพราะว่า

เมื่อยึดขั้น ยึดชั้น ก็เป็นการยึดตัวตน

เป็นก้าวแรกของความหลง

เป็นเหตุต่อเนื่องปรุงแต่งให้เกิด “ ทุกข์ ”

หน้า312

ความดีจงรักษ์ไว้ ให้คง ตนนา

ประหนึ่งเกลือดำรง รสหมั้น

อันว่าจะถือตรง ภาษิต นี้ฤา

จำจะตั้งจิตนั้น แน่นไว้ในธรรม

พระราชนิพนธ์ภาษิต

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

จาก พระราชนิพนธ์ภาษิต

หน้า313

อย่าเพิ่งงมงาย

ขึ้นชื่อว่า “ ฤทธิ์ ” นั้น ไม่ว่าอิทธิฤทธิ์ บุญฤทธิ์

คนที่เชื่อ ก็จะถามอยู่เสมอว่า ท่านฝึกปฏิบัติสมาธิจิตแล้ว เห็นผีสาง เทวดา เห็นนรก สวรรค์ เห็นอะไรต่ออะไรที่เป็นทิพย์หรือยัง

ซึ่งตามความเป็นจริงนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ได้ก่อตัวขึ้นมาในชั่วพริบตา เด็กไม่ใช่เกิดมาก็พูดได้ เดินได้ วิ่งได้ ความสำเร็จของงานชิ้นหนึ่งก็ต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง

ในทำนองเดียวกัน การฝึกจิตจนบรรลุฌานญาณก็ต้องใช้เวลามากพอสมควรจึงสมามรถสัมฤทธิ์ผลที่จะสัมผัสกับเรื่องของทิพย์

คนที่ไม่เชื่อ ก็อย่าเพิ่งดูถูกเหยียดหยามคนที่ศึกษาเรื่องสมาธิ ปฏิบัติจิตจนได้บรรลุผลแห่งอภิญญา (วิชา 8) ซึ่งเป็นธรรมที่ควรรู้ยิ่งให้แจ้งว่า

หน้า314

เป็นเรื่องงมงาย ไร้สาระ ไร้เหตุผลที่จะนำมาอ้างอิงให้เป็นที่น่าเชื่อถือได้

ความจริงของอภิญญา ( หรือ วิชา 8) ก็คือ ความรู้แจ้งอันวิเศษในอิทธิฤทธิ์ บุญฤทธิ์ที่เป็นปาฎิหาริย์เป็นเรื่องอัศจรรย์แปลกประหลาดที่ไม่สามารถพิสูจน์ด้วยเครื่องมือวิทยาศาสตร์

เพราะสิ่งเหล่านี้ เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ด้วยอำนาจพลังจากจิตใจที่ไม่มีตัวตนให้จับต้องได้

ดังนั้น

ผลิตผลแห่งพลังจิตก็ไม่มีตัวตนให้จับต้องได้เช่นกัน นอกเสียจากท่านได้ฝึกจิตเข้าสัมผัสด้วยตนเองจึงจะรู้ด้วยตนเอง และเป็นเรื่องยากมากที่จะนำมาบอกกล่าวเป็นภาษาให้คนอื่นรู้แจ้งได้ เพราะภาษาเป็นเพียงคำพูด สมมุติหมายแทนอาการกิริยา หรือคุณสมบัติสิ่งนั้น

อย่างเช่น ท่านบอกอีกคนหนึ่งว่า “ น้ำตาลมีรสหวาน ” คนที่ไม่เคยกินน้ำตาลอธิบายเปรียบเทียบเท่าใดก็ไม่รู้เรื่อง จนกว่าคนนั้นได้กินน้ำตาล จึงรู้ว่าที่ว่า “ หวาน ” มีรสเช่นนี้เอง

หน้า315

สรุปก็คือ

ขอให้ท่านวางตัวเป็นกลาง

อย่าเพิ่งงมงาย พิจารณาไปเรื่อยๆ

“ สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น

สิบตาเห็นไม่เท่ามือคลำ ”

ท่านที่เชื่อหรือท่านที่ไม่เชื่อ

ขอเชิญท่านทดลองปฏิบัติฝึกสมาธิจิตตั้งแต่เริ่มต้นจนบรรลุถึงขั้นถอดจิตได้ ท่านก็จะพบว่า เห็นวิญญาณตนเองถอดออกจากตัวเราเอง ทำให้เชื่อเรื่องวิญญาณมีจริง โลกหน้ามีจริง ตายแล้วไม่สูญ กฎแห่งกรรมมีจริง

ทำดีได้ดี

ทำชั่วได้ชั่ว

มนุษย์เกิดมาล้วนมีกรรมของตนเป็นที่ตั้ง

ขึ้นชื่อว่าเกิดแล้ว เป็นไปด้วย “ ทุกข์ ” ทั้งสิ้น

ถ้าท่านคิดว่าโลกมนุษย์นี้ไม่น่าอยู่ ล้วนแต่เป็นทุกข์แล้ว ท่านคงไม่อยากจะมาเกิดอีก และอยากจะไปเกิดในภพแห่งที่ดีกว่านี้

หน้า316

ท่านทำบาปก่อกรรมก็ต้องตกนรก และเมื่อขึ้นจากนรก ก็ต้องมาใช้กรรมในโลกมนุษย์อีกครั้ง โดยไม่แน่ว่าอาจจะมาเกิดเป็นไอ้ตูบ อีด่าง นางเหมียว นายจ๋อก็ได้

แต่ถ้าท่านทำบุญสร้างแต่ความดี ก็จะได้ไปเสวยสุข ณ แดนสวรรค์

คนที่ขึ้นไปสวรรค์ มี 2 แบบ

แบบ 1 ทำบุญสร้างกุศลอยู่เนืองนิจ จนสิ้นอายุขัย ประเภทนี้ส่วนมากขึ้นไปอยู่สวรรค์ชั้นที่ไม่สูงนัก ส่วนมากไม่ได้ฝึกสมาธิและวิปัสสนาละลายกิเลส ละลายรูปนาม ทำให้เทวดาประเภทนี้ยังมีการยึดตัวถือตน มีโลภ โกรธ หลง เจือปนอยู่ในนิสัยอยู่บ้าง

แบบ 2 ขึ้นไปอยู่บนสวรรค์ด้วยอำนาจฌานญาณ ประเภทนี้ส่วนมากมีการฝึกสมาธิวิปัสสนาละลายรูป นาม และละลายกิเลส โลภ โกรธ หลง มากกว่าประเภทที่1 ซึ่งท่านฝึกสมาธิได้ปฐมฌาน ท่านก็มีโอกาสขึ้นไปอยู่ที่เทวโลกแล้ว

เทวดาทั้ง 2 ประเภทที่กล่าวมานี้ขึ้นไปอยู่บนสวรรค์แล้วก็ยังมีโอกาสบำเพ็ญยกระดับจิตให้สูงขึ้น

หน้า317

ด้วยการค่อยๆลดละกิเลส โลภ โกรธ หลง และฝึกจิตสร้างอำนาจฌานญาณต่อไปให้แข็งแกร่งสูงขึ้นยิ่งๆขึ้น มิฉะนั้นเมื่อท่านหมดสิ้นอายุขัยแห่งการเป็นเทวดาชั้นนั้นๆท่านก็ต้องลงมาเกิดอีกในโลกมนุษย์เพื่อใช้กรรมตามวาระหรือกระทำผิดเพียงเกินเส้นยาแดง ก็ต้องลงมาเกิดในโลกมนุษย์เพื่อใช้กรรมที่ก่อไว้เช่นกัน

ทั้งนี้ การที่วิญญาณได้ขึ้นไปสวรรค์เกิดเป็น พรหม เทพ นั้นยังไม่พ้นที่จะต้องเกิดอีก

ท่านที่หวังหลุดพ้นจากทุกข์โดยสิ้นเชิง ก็ควรที่จะบำเพ็ญวิปัสสนาละลายรูป นามจนเกิดญาณปัญญาอันเลิศแล้วพิจารณากำจัดกิเลสจนจิตบริสุทธิ์ สามารถมุ่งสู่แดนนิพพานซี่งเป็นเป้าหมายอันแท้จริงของผู้หวังฝึกจิตให้ไปสู่ในโลกุตระ

ดังนั้น เพื่อสนับสนุนให้เกิดการรู้แจ้งเห็นจริงในทางแห่งการหลุดพ้นทุกข์โดยสิ้นเชิง จึงขอให้ศึกษาฤทธิ์ต่างๆให้ละเอียดต่อไป และทดลองปฏิบัติ เมื่อฝึกสำเร็จตามขั้นตอนแล้ว ก็จักทำให้ญาณปัญญาเจริญถึงพร้อมได้โดยง่าย

หน้า319

ภาคอิทธิฤทธิ์ – บุญฤทธิ์

การฝึกฝนภาคอิทธิฤทธิ์ – บุญฤทธิ์ นี้เป็นผลพลอยได้มาจากการฝึกสมาธิ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโลกียะ เช่น

มโนมยิทธิ ฤทธิ์สำเร็จด้วยใจรวมทั้งการอธิษฐาน คือ นิรมิตกายทิพย์ออกจากกายเนื้อ ดุจชักไส้จากหญ้าปล้อง ชักดาบจากฝัก (หรือเรียกว่า ถอดจิต )

อิทธิวิธี ความรู้ที่ทำให้แสดงฤทธิ์ได้ต่างๆ

ทิพยโสต ญาณที่ทำให้มีหูทิพย์

เจโตปริยญาณ ญาณที่ทำให้สามารถกำหนดหยั่งรู้วาระจิตคนอื่น

ปุพเพนิวาสานุสติญาณ เป็นเหตุระลึกขันธ์ที่อาศัยอยู่ในชาติปางก่อนได้ คือ ระลึกชาติ

จุตูปปาตญาณ ญาณที่ทำให้มีตาทิพย์ในการกำหนดรู้เรื่องการจุติและอุบัติของสัตว์ทั้งหลาย อันเป็นไปตามกรรม เห็นการเวียนว่ายตายเกิดของสัตว์ทั้งหลาย

หน้า320

การฝึกนี้เป็นไปด้วยโลกียฌานที่ยังไม่พ้นกฎแห่ง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ที่ไม่จีรังยั่งยืน เกิดขึ้นตั้งอยู่ เสื่อมสลายดับไป ไม่ใช่เป้าหมายปลายทางอย่างแท้จริงของผู้หวังสู่โลกุตรที่มุ่งหมายความหลุดพ้นจากทุกข์

ดังนั้น ผู้มุ่งสู่โลกุตระโดยแท้จึงไม่ต้องตะเกียกตะกายกระหายโลภอยากจะได้ให้มีในตน

แต่ทั้งนี้ ธรรมชาติของผู้บำเพ็ญฝึกสมาธิจนจิตนิ่งตั้งมั่นหรือเจริญวิปัสสนาจนจิตบริสุทธิ์สะอาด ไม่มีความคิดไปตามอำนาจปรารถนา และปราศจากอุปกิเลสเครื่องทำใจให้เศร้าหมองขุ่นมัว มีจิตใจที่ตั้งอยู่ไม่หวั่นไหว มีสติระลึกอยู่ทุกขณะ ซึ่งวาระจิตขณะใดขณะหนึ่งในการบำเพ็ญฝึกจิตดังที่กล่าวนี้ อาจจะเกิดผลพลอยได้มีอิทธิฤทธิ์ หรือบุญฤทธิ์เกิดขึ้นเป็นไปตามธรรมดาของการปฏิบัติจิต เมื่อเกิดทิพยอำนาจอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว ท่านก็ควรจะสนใจศึกษาและฝึกให้เจริญยิ่งขึ้น โดยอาศัยอิทธิบาท 4 คุณธรรมที่นำไปสู่ความสำเร็จ คือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา

หน้า321

การฝึกจิตนี้ เหมือนธรรมชาติของการปลูกต้นไม้ เมื่อปลูกจนต้นไม้นั้นเจริญสมบูรณ์แข็งแรงโตเต็มที่แล้ว ก็จะออกดอก และในขณะที่ดอกเริ่มแรกแย้มท่านก็ควรจะสนใจ เอาใจใส่ต้นไม้ที่ท่านปลูกมากับมือด้วยการใส่ปุ๋ยรดน้ำ ให้ต้นไม้เจริญยิ่งขึ้น ถึงขั้นติดผลยังประโยชน์แก่ตนต่อไป

ซึ่งความรู้ความสามารถเหล่านี้ แม้จะอยู่ในส่วนของโลกียะที่ไม่เที่ยงแท้ แต่ถ้าเราศึกษาอย่างถ่องแท้ด้วยการทบทวนหาเหตุผลอยู่ตลอดเวลาวางใจเป็นกลางไม่มีอุปาทานฝักใฝ่ น้อมเอียงไปกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้น เราก็จะมีสติยั้งคิดไม่หลงงมงายจนถอนตัวไม่ขึ้นทำให้เกิดความรู้แจ้งในญาณปัญญาแห่งโลกุตระโดยแท้และเชื่อมั่นในสัจธรรมแห่งพุทธยิ่งขึ้น คลายจากความลังเลสงสัยได้ เช่น

การถอดจิต เพื่อปลงอสุภะให้เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นการพิจารณากายในกาย ก็จะสามารถละลายกิเลสในสันดานได้

การระลึกชาติ ทำให้เข้าใจในเรื่องภพชาติ ตายแล้วไม่สูญ ผลแห่งการทำดี ทำชั่วที่ส่งผลมาถึง

หน้า322

ปัจจุบันตามกฎแห่งกรรมเพื่อยืนยันให้เชื่อมั่นอย่างมั่นคงในวัฏะจักรแห่งการเวียนว่ายตายเกิด

ญาณแห่งตาทิพย์ สามารถเห็นเรื่องทิพย์ โดยเฉพาะวิญญาณ และยังสามารถมองเห็นที่มาของอุปสรรคที่ขวางกั้นจิตในการเจริญสมาธิ เพื่อจะได้หาทางแก้ไขต่อไป

ผลพลอยได้จากสมาธิเหล่านี้ ก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งที่จะยังการเจริญปัญญาให้ถึงพร้อมได้โดยง่ายตามที่จิตมุ่งหมายสู่ญาณแห่งโลกุตรความรู้แจ้งที่เที่ยงแท้แน่นอนที่มนุษยชาติต้องศึกษาให้ถึงแก่นแท้อย่างจริงจังคือ

วิปัสสนาญาณ คือ ปัญญาที่พิจารณาเห็นสังขารคือ เห็นนาม รูปเป็นไปโดยพระไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ที่ต่างกันออกไปเป็นชั้นๆต่อเนื่องกัน

เมื่อฝึกต่อไป ก็จะเจริญถึง

อาสวักขยญาณ ญาณหยั่งรู้ในธรรม เป็นที่สิ้นไปแห่งอาสาวะกิเลส เครื่องเศร้าหมองทั้งหลายที่หมักหมนอยู่ในจิตสันดาน

หน้า323

อุปกิเลสเครื่องทำใจให้เศร้าหมองขุ่นมัว

อุปกิเลสเครื่องทำใจให้เศร้าหมองขุ่นมัว ซึ่งจะเป็นกิเลสทำให้จิตใจไม่สงบ

อุปกิเลสมี 16 ประการคือ

1.อภิชฌาวิสมโลภะ คิดเพ่งเล็งอยากได้จ้องจะเอาไม่เลือกควรหรือไม่ควร

2. พยาบาท (โทสะ ) มีใจเดือดร้อน ความอาฆาต ผูกใจเจ็บ คิดร้ายแก่ผู้อื่น

3. โกธะ ความโกรธ อาการกำเริบพลุ่งขึ้นมาในใจจากความไม่ชอบแต่ยังไม่ถึงโทสะ

4. อุปนาหะ ความผูกใจโกรธ เพียงแต่ผูกใจไม่ยอมลืม แต่ไม่ถึงกับคิดทำร้ายเขา เพราะกำลังกิเลสยังอ่อนกว่าโกรธ

5. มักขะ ความลบหลู่คุณท่าน คือใครมีบุญคุณกับเราแล้วไม่นึกถึงคุณท่าน เป็นการลบล้างปิดซ่อนคุณค่าความดีของผู้อื่น

6.ปลาสะ ความตีตัวเสมอ เอาตัวขึ้นตั้งทานไว้ ไม่ยอมยกให้ใครดีกว่าตน

หน้า324

7. อิสสา ความริษยา เห็นใครได้ดีก็ทนอยู่ไม่ได้ ต้องตั้งตัวมุ่งขัดปัดเขา ทำให้เขาเสื่อมเสีย

8. มัจฉริยะ ความตระหนี่ เป็นคนหวงที่ไม่อยากให้ง่าย เช่น ตระหนี่ทรัพย์ ตระหนี่ความรู้

9. มายา มารยาเจ้าเล่ห์ คือลวงพูดอะไร ทำอะไรให้เขาเข้าใจผิดพลาด

10. สาเถยยะ ความโอ้อวดหลอกเขา

11. ถัมภะ ความหัวดื้อ กระด้าง เป็นคนหัวแข็ง

12. สารัมภะ ความแข่งดี ไม่ยอมลดละมุ่งแต่จะเอาชนะกัน

13. มานะ ความถือตัว การยึดมั่นถือตน

14. อติมานะ (มานะยิ่ง) ความถือตัวว่า ดียิ่งกว่าเขา ดูหมิ่นเขา ยกตนข่มท่าน

15. มทะ ความมัวเมากิเลส เช่น บ้ายศ บ้ายอ หลงยึดอยู่กับสิ่งต่างๆ

16. ปมาทะ ความประมาท ละเลย เลินเล่อ ปล่อยสติ

หน้า325

รากฐานแห่งความสำเร็จบรรลุฤทธิ์

ความสำเร็จอำนาจฤทธิ์นั้นบรรลุด้วยปัญญาความรู้อันแตกฉานจากรากฐานที่จิตไม่หวั่นไหว 16 ประการ

1. จิตที่ไม่ฟุบลง เพราะไม่หวั่นไหวด้วยความเกียจคร้าน

2. จิตที่ไม่ฟูขึ้น เพราะไม่หวั่นไหวด้วยความคิดพล่าน

3. จิตที่ไม่โอบไว้ เพราะไม่หวั่นไหวด้วยความกำหนัดยินดีในกาม

4. จิตที่ผลักออก เพราะไม่หวั่นไหวด้วยความพยาบาทอาฆาต ผูกใจเจ็บคิดร้ายแก่ผู้อื่น

5. จิตที่ไม่เกาะเกี่ยว เพราะไม่หวั่นไหวด้วยความดื้อดึงที่เชื่อในความเห็นของตน

6. จิตที่ไม่ผูกพัน เพราะไม่หวั่นไหวด้วยความพอใจรักใคร่ยินดีในกามเนื่องด้วย

หน้า326

อารมณ์ที่ชอบใจมีรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เป็นต้น

7. จิตที่หลุดพ้น เพราะไม่หวั่นไหวด้วยความกำหนัดความใคร่ด้วยอำนาจกิเลสกามคุณ

8. จิตที่ไม่พัวพัน เพราะไม่หวั่นไหวด้วยกิเลสเครื่องทำใจให้เศร้าหมอง ได้แก่ โลภ โกรธ หลง

9. จิตที่ทำให้ไม่มีเขตแดนพื้นที่ที่จำกัดกำหนดขีดคั่นไว้ เพราะไม่หวั่นไหวด้วยอำนาจอาณาเขตของกิเลส

10. จิตที่ถึงความมีอารมณ์เป็นหนึ่ง เพราะไม่หวั่นไหวด้วยกิเลสต่างๆ

11. จิตที่ศรัทธากำกับแล้ว เพราะไม่หวั่นไหวด้วยความไม่เชื่อ

12. จิตที่วิริยะความขยันกำกับแล้ว เพราะไม่หวั่นไหวด้วยความเกียจคร้าน

หน้า327

13. จิตที่สติกำกับแล้ว เพราะไม่หวั่นไหวด้วยความเลินเล่อ

14. จิตที่สมาธิกำกับแล้ว เพราะไม่หวั่นไหวด้วยความคิดพล่าน

15. จิตที่ปัญญากำกับแล้ว เพราะไม่หวั่นไหวด้วยความไม่รู้

16. จิตที่ถึงความสว่างแล้ว เพราะไม่หวั่นไหวด้วยความมืด คือ อวิชชาความโง่

หน้า328

ความรู้คู่เปรียบด้วย กำลัง กายแฮ

สุจริตคือเกาะบัง ศาสตร์พ้อง

ปัญญาประดุจดัง อาวุธ

กุมสติต่างโล่ห์ป้อง อาจแกล้วกลางสนาม

พระราชนิพนธ์

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

จากพระราชนิพนธ์

หน้า329

ประโยชน์ของพลังจิต

จะได้ผลมากน้อยขึ้นอยู่กับกำลังสมาธิ

พลังจิตเกิดขึ้นจากอำนาจพละกำลังของการฝึกสมาธิจนบรรลุอำนาจ “ ฌาน ”

พลังจิตจึงเกิดเป็นประโยชน์ได้มากน้อยขึ้นอยู่กับความแน่วแน่แข็งแกร่งของจิตใจที่ได้จากการรวบรวมอารมณ์จิตสงบตั้งมั่นคงอยู่ในอารมณ์เดียวของสมาธิที่ฝึกได้ในภาวะนั้นมีประสิทธิภาพอยู่ในระดับสูงเพียงใด ขั้นต้น ขั้นกลางหรือขั้นสูง

พลังจิตสูงส่งเพียงใด ก็จะยังประโยชน์ให้สิ่งทำไปนั้นสำเร็จผลมากเพียงนั้น

พลังจิตที่ยังอ่อนแอ ย่อมไม่สามารถทำให้เกิดผลสมดังที่ใจปรารถนา

หน้า330

สังวรก่อนฝึกอิทธิฤทธิ์ – บุญฤทธิ์

ใครที่บังอาจใช้อำนาจพลังจิต ในทางผิดศีลธรรม ไม่ว่าจะทำด้วย ความโลภ โกรธ หลง ขอให้พลังจิตที่ฝึกได้นั้น เสื่อมสลายโดยฉับไวและกรรมจงตามทัน

ท่านควรสังวรว่า การที่ท่านมีพรสวรรค์ในฌานญาณอันวิเศษมากนี้ จงสงวนความดีเหล่านี้ไว้ให้อยู่เพื่อความดี อย่าให้จิตใจหลงตกอยู่ภายใต้พลังอำนาจมืดที่จะใช้พรสวรรค์ในทางที่ผิด

อย่าลืมว่า การกระทำความชั่วร้ายไม่ใช่ความผิดของร่างกาย

จิตใจซิเป็นใหญ่ ความคิดอันชั่วร้ายจะบดบังเบียดเข้ามาที่จิตใจเท่านั้น ท่านจะต้องตั้งสติด้วยดวงจิตอันบริสุทธิ์ที่แกร่งด้วยความดี ติดตามอย่างใกล้ชิดกับภาวะของความชั่วร้ายที่จะเข้าแทรก ในดวงจิตของเราอยู่เสมอ เมื่อรู้ทันต่อเหตุการณ์นั้นแล้ว จิตย่อมคงทนต่อการบังคับของพลังความชั่วร้าย สามารถชนะกิเลสมารเหล่านั้นได้

หน้า331

ข้อห้ามและข้อควรระวังในการฝึกอิทธิฤทธิ์ บุญฤทธิ์

ท่านที่จะศึกษาเรื่องโลกทิพย์ ท่านจะต้องปฏิบัติตามกฎข้อห้ามข้อบังคับ ดังต่อไปนี้อย่างเข้มงวด ซื่อสัตย์ ต่อคำเตือนนี้ ท่านก็จะพ้นจากอันตรายอันอาจจะเกิดขึ้นกับท่านได้

มิฉะนั้น แล้ว ขอให้ท่านถอยออกไปห่างๆอย่าแตะต้องบทเรียนต่อไปนี้อย่างเด็ดขาด

ข้อห้ามและข้อควรระวัง

1. จะต้องเป็นบุคคลไม่คุยโว้โอ้อวด เรียนไม่ถึงจุดแห่งความสำเร็จแล้วมานั่งทดสอบและอวดดีอาจจะถูกคนอื่นที่เก่งกว่าทดลองก็คงเจ็บไปหลายวันและถ้าอวดดีทั้งๆที่ตนยังเรียนไม่ถึงดี คนจะหาว่าเราบ้ามากกว่าดี เพราะท่านไม่มีความแม่นยำ

หน้า332

2.จะต้องมีความพอใจศรัทธา พากเพียร กล้าหาญ อย่างยิ่ง กล้าต่อสู้กับอุปสรรคอยู่เนืองนิจ

จะต้องใคร่ครวญพิจารณาในข้อวัตรปฏิบัตินั้นให้ถูกต้อง ท่านก็จะเข้าถึงจุดแห่งความสำเร็จตามเป้าหมายที่ขีดขั้นไว้

3. พิสูจน์อำนาจพลังงานแห่งทิพย์

หลังจากท่านสำเร็จตามข้อ 2. แล้ว เพื่อเก็บข้อมูลสำหรับค้นคว้าต่อไป โดยอย่าได้มีการเปิดเผยตัว ขอให้เป็นการพิสูจน์แบบปิดเงียบรู้เฉพาะในหมู่คนสนิทเท่านั้น

4. ทุกครั้งที่มีการใช้อำนาจจิตแล้ว จะต้องเข้าฝึกสมาธิอย่างน้อยครึ่งชั่วโมง เพื่อสร้างเสริมกำลังภายในกาย เหมือนหม้อแบตเตอรี่ที่ใช้งานแล้วต้องคอยชาร์ทเสริมไฟเพิ่มเติมอยู่เสมอ มิฉะนั้นแล้วหม้อไฟนั้นก็จะเสื่อมคุณภาพไร้ค่าถึงขั้นเสียหายใช้การไม่ได้อีก ตัวเราก็เหมือนกัน ถ้าใช้พลังจิตแล้วกายทิพย์จะเสื่อม อ่อนอำนาจพลังลงและถ้าเสื่อมมากๆแล้ว อาจจะถึงตายได้ง่ายๆ โดยตายก่อนอายุขัย

หน้า333

5.ระหว่างพิสูจน์อยู่นั้นพยายามอย่าริอ่านเป็นคนสอดรู้สอดเห็น เต็มไปด้วยความอยากเพราะจะเป็นทางพาท่านไปตายได้ง่ายๆ แม้ว่าท่านฝึกจนสำเร็จตามขั้นขีดที่วางไว้ ขอร้องขอวิงวอนว่าอย่าโอ้อวดผลงานแก่คนทั่วไป มิฉะนั้น ท่านอาจจะได้รับปัญหานานาประการจากชาวบ้านและรับการขัดขวางและทำลายจากฝ่ายที่ไม่หวังดีต่อท่าน

อย่าลืมว่า

“ ถ้าตัวเราทรนงองอาจ

ครูบาอาจารย์จะไม่ร่วมด้วย ”

หน้า334

หัวโขน สวมหัว คนเต้น

หวังเป็น ลิงยักษ์ สักครู่

ถอดโขน แล้วคน เดิมดู

ใช่ผู้ ยักษ์ลิง สิ่งลวง

หน้า335

ภาวะความจริงของกายทิพย์

กายทิพย์จิตวิญญาณเป็นรูปขันธ์ในลักษณะนามธรรม เพราะมีสภาพลักษณะคล้ายอากาศที่โป่งแสง ซึ่งไม่อาจจับต้องได้และตาเนื้อก็มองเห็นได้ยาก

เราจะรู้ว่านี่คือ “ อากาศ ” ต่อเมื่ออากาศเคลื่อนตัวเป็นลมสัมผัสกับกายแต่จะมองเห็นหรือรู้เรื่องวิญญาณก็ต้องอาศัยจากกระแสอำนาจจิตที่บำเพ็ญจนถึงจตุตถฌานก็จะสามารถสัมผัสได้รู้เห็นเองเข้าใจถึงสภาวะธรรมชาติของโลกวิญญาณซึ่งเป็นสภาพที่รู้เฉพาะตัว

จิตวิญญาณจากโลกวิญญาณที่ต้องมาเกิดนั้น ไม่ว่าจะเป็นพรหม เทพ ยม หรือ ผีเปรต อสูรกายล้วนมีกรรมวิบากของตนเป็นที่ตั้ง มีกรรมของตนเป็นเผ่าพันธุ์ปรุงแต่งให้เมื่อเกิดแล้วมีหน้าตาดี หรือรูปอัปลักษณ์รุ่งเรืองหรืออับจน

หน้า336

จิตวิญญาณโดยทั่วไปเป็นสภาพกายทิพย์ที่สามารถขยายตัวให้ใหญ่หรือหดลงให้เล็กได้ เมื่อมาเกิดนั้น ก็จะหดตัวให้เล็กเข้าปฏิสนธิผสมรวมตัวกับเซลตัวอ่อนในครรภ์มารดาและจะวิวัฒนาการขึ้นเกาะที่ต่อม “ เมดูลล่า ” ซึ่งเป็นก้านสมอง มีลักษณะเป็นรูปปิระมิด เป็นที่ตั้งต้นของเส้นประสาทที่แยกจากสมอง ต่อมนี้มีศูนย์ต่างๆตั้งอยู่ได้แก่ ศูนย์ควบคุมการหายใจ การเต้นของหัวใจ การหดขยายของหลอดโลหิต คุมการจาม ไอ อาเจียน การขับนํ้าย่อยของระบบย่อยอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อมนี้มีหน้าที่รับความรู้สึกถ่ายทอดไปยังสมองใหญ่ ต่อมนี้ตั้งอยู่เหนือบริเวณท้ายทอย และเป็นส่วนหนึ่งของสมอง

ในขณะเดียวกัน ต่อม “ เมดูลล่า ” จะเป็นจุดศูนย์รวมของกายทิพย์ที่จะผสมกับจิตวิญญาณที่หน้าผากแล้วแยกออกจากกายเนื้อ เมื่อครั้งฝึกการถอดจิต

และที่ต่อมนี้เป็นตำแหน่งที่จะเกิดความรู้สึกรับรู้ในเวลาจิตสัมผัสกับเรื่องทิพย์ แล้วส่งไปปรุงแต่งแปลเป็นความหมายที่สมองใหญ่อีกที

หน้า337

กายทิพย์เมื่อมาเกิดแล้วจะถูกวัตถุธาตุ ซึ่งเป็นปฏิกูลปรุงแต่งให้ยึดติดอยู่กับกายเนื้อ เกิดเป็นสภาพกายทิพย์ที่หยาบ

เมื่อฝึกถอดกายทิพย์ออกมาได้แล้ว จะมีสายใยแห่งชีวิตเชื่อมโยงกับกายเนื้อ

กายทิพย์เมื่อถอดออกมาใหม่ๆ นั้น จะโปร่งแสงฝึกต่อไปอีก กายทิพย์จึงจะค่อยๆทึบแสง เห็นเหมือนกายเนื้อมากขึ้นเรียกว่ากายหยาบ และเมื่อนำกายหยาบนั้นมาเข้าปลงอสุภะด้วยการถอดจิตครั้งแล้วครั้งเล่า ก็จะละลายกิเลสกายในกายได้ ทำให้กายหยาบลอกคราบออกไปเป็นชั้นๆ ละเอียดขึ้นๆตามลำดับ เมื่อตายลงเมื่อใด กายทิพย์อันละเอียดก็จะแยกออกจากกายเนื้อไปเกิดเป็นเทพพรหม ซึ่งเป็นรูปแห่งความหมาย

สำหรับคนที่ไม่ได้ฝึกถอดจิตละลายกิเลสแล้วกายทิพย์ก็หยาบต้องไปเกิดเป็นเทวดาชั้นตํ่า หรือว่าเป็นผีเปรต อสูรกาย ตามกรรมวิบากของตนที่สร้างมา

กายทิพย์ของเทพ พรหม หรือ ผี เปรต อสูรกาย เวลาจะปรากฏให้คนเห็นได้ด้วยตาเนื้อนั้น ต้องอาศัย

หน้า338

การรวบรวมพลังจิต ให้ดำรงภาวะจิตขณะนั้นเป็นหนึ่ง อย่างแนบแน่นแน่นิ่งเพิ่มพลังให้กับกายทิพย์ จนสามารถเปล่งเป็นภาพที่เห็นได้ด้วยตาเนื้อ ที่คนทั่วไปที่เห็นแล้วบอกว่า “ ถูกผีหลอก ”

กายทิพย์คนเรานั้น เมื่อตายลง กายทิพย์จะแยกกับร่างออกไปเกิดใช้กรรมตามวาระวิบากกรรมของตนที่สร้างมา ไม่ว่ากรรมดีหรือกรรมชั่ว ไม่มีวันสิ้นสุด หรือหยุด ต่อเมื่อเข้าสู่แดนนิพพานเท่านั้น จึงไม่ต้องมาเกิดอีกที่

เพื่อพิสูจน์เรื่องวิญญาณมีจริง นำไปสู่การเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม โลกวิญญาณ ตายแล้วไม่สูญ

จึงขอเสนอบทต่อไปนี้ ด้วยการฝึกถอดจิต ซึ่งเขียนบรรยายหลายแบบไว้ในนี้เพื่อไว้ให้ศึกษาเผื่อว่าเหตุการณ์นั้นอาจจะเกิดขึ้นกับท่าน ท่านจะได้รู้วิธีป้องกันอันตรายได้

จำไว้ว่า

“ ความมั่นใจรวมเป็นหนึ่งในเอกะพาท่านรอดจากอันตรายได้ ”

หน้า339

ข้อห้ามในระหว่างการนั่งฝึกถอดจิต

1. จะต้องฝึกในห้องที่ไม่มีใครรบกวน โดยปิดประกาศไว้หน้าห้องว่า ห้ามรบกวน ห้ามเรียก ห้ามปลุก จนกว่าจะถึงเวลาที่จะกำหนดออกจากสมาธิ

ถ้ามีความจำเป็นต้องปลุกแล้ว ห้ามแตะต้องร่างอย่างเด็ดขาด และห้ามตะโกนเรียก เพราะเมื่อแตะต้องร่างทันที ทำให้ตกใจ หนักๆอาจจะทำให้เสียสติได้(ต้องรักษาด้วยการปรับจิต หนักหน่อยก็รักษาด้วยวิธีพอกกายทิพย์)

เหตุที่จะเป็นเช่นนี้ เพราะว่า คนเราถ้ายังไม่ตายนั้น กายทิพย์เมื่อฝึกจนสามารถแยกกับกายเนื้อได้แล้ว จะมีสายใยทิพย์ติดกับกายเนื้อ เมื่อเกิดเหตุให้กายเนื้อตกใจ กายทิพย์จะรีบกระโจนกลับคืนร่างทันทีเพราะคนยังไม่ตายนั้น กายเนื้อเปรียบดังรังที่จะเกาะอาศัยอยู่เพื่อใช้กรรมต่อไปจนกว่าจะสิ้นอายุขัย หรือว่า

หน้า340

กายเนื้อแตกสลายก่อนสิ้นอายุขัยด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง ดูตัวอย่างเช่นกายเนื้อเหมือนเปลือกหอย กายทิพย์เหมือนปูเสฉวนตราบเท่าที่ยังมีชีวิตอยู่ก็ต้องอาศัยเปลือกหอย

2. จะต้องสวดมนต์ไหว้พระก่อนฝึกวิชานี้ แล้วอาราธนาระลึกถึงบารมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ครูบาอาจารย์หลวงพ่อโต และเจ้าที่เจ้าทางช่วยคุ้มครองร่างท่านในระหว่างฝึกจิตไม่ให้สิ่งเลวร้ายมารมาผจญแฝงหรือทำลายร่างท่านได้(อธิษฐานตามบทอธิษฐานก่อนปฏิบัติสมาธิหน้า22)

3.ถ้าเกิดเหตุอะไรที่ทำให้ตกใจให้รีบระลึกถึงครูบาอาจารย์ ท่อง
“ ธัมมัง อรณัง ” หลวงพ่อโตช่วยลูกด้วย ขอบารมีหลวงพ่อโตช่วยคุ้มครองและสกัดดวงวิญญาณท่านให้คืนสู่ร่าง ก็จะได้รับความปลอดภัยอย่างแน่นอน
และถ้าจะใช้พลังจิตรักษาโรค ก็ให้ระลึกถึงครูบาอาจารย์ทุกครั้ง

หน้า341
4. อย่าริอ่านถอดจิตไปในที่ต่างๆ ซึ่งท่านไม่ควรไป เช่นนรกโลก หรือที่แปลกถิ่นเพราะท่านอาจจะถูกอำนาจจิตที่แข็งแกร่งกว่ากักคุมไม่ให้คืนร่างได้ ถ้าวิญญาณไม่เข้าร่างเกิน 7 วัน ท่านจะต้องตาย และต้องสั่งญาติไว้ว่า ถ้าพบร่างยังอุ่นอยู่ ห้ามโยกย้ายร่างผู้ฝึกถอดจิต เพราะอาจจะเป็นเหตุทำให้กายทิพย์กลับคืนร่างไม่ได้ อย่าเพิ่งเก็บศพอย่างเด็ดขาด เพราะยังไม่ตาย คนที่พบเห็น ช่วยจุดธูปหน้าหิ้งพระ เรียกร้องให้ครูบาอาจารย์ของผู้ฝึกช่วยเหลือ วิญญาณก็จะกลับคืนร่างได้

5. จำไว้ว่า ถ้าท่านไม่ทิ้งครูบาอาจารย์หลวงพ่อโตแล้ว ท่านย่อมเมตตาคุ้มครองอยู่ตลอดเวลา

หน้า342
กรรมใดก่อขึ้นย่อม ยังผล

ดีชั่วดังที่ตน ประพฤติ

ทำดีจักได้ผล ผลเลิศ

ทำชั่วจักเสียจิต เพราะโทษตามทัน

พระราชนิพนธ์ภาษิต
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

หน้า343

(ก) วิธีถอดจิตที่1

ภาวะการถอดจิตวิญญาณที่เกิดจากการรวมฉับพลันกับกายทิพย์

ปกติแล้วกายทิพย์เป็นอณูปรมาณูเล็กๆละเอียดมากกระจายไปทั่วในร่างกายเนื้อซ้อนอยู่กับเซลของกายเนื้อและเมื่อตอนที่เราฝึกปฏิบัติจิตตาม บทที่ 1-5 คือ ทางสงบแล้ว พอนั่งไปถึงจุดหนึ่งแห่งความสงบนิ่งมากพอแล้ว กายทิพย์จากกายในกายจะวิ่งมารวมตัวที่ท้ายทอยเหมือนมีอาการหนักๆร้อนๆที่ท้ายทอย แล้วค่อยๆวิ่งรวมผ่านสองข้างขมับ มาผสมจิตวิญญาณที่หน้าผากรวมกันเป็นลำแสงพวยพุ่งออกจากกายเนื้อ ตรงหน้าผากสู่อวกาศ ตอนนี้จะรู้สึกว่า ใจเสียววูบหนึ่งแล้วกายเบาไร้นํ้าหนัก ตอนนี้คนที่จิตไม่แน่วแน่อาจเป็นบ้าได้เพราะกลัวก่อนเหตุ ท่านที่ประสบอาการเช่นนี้ ควรตั้งใจให้มั่นไม่ต้องตกใจ แล้วเพ่งจิตตามลำแสงนั้นไปด้วยสติสัมปชัญญะ แนบตามติดกับลำแสงไป

หน้า344

จนแสงนั้นนิ่ง แล้วพยายามตั้งสติให้จิตแน่วแน่ ค่อยๆบีบลำแสงนั้นให้รวมเป็นวง ถ้าจิตยังไม่นิ่งดี วงกลมนั้นเปรียบเสมือนหนึ่งดังดวงใจของเราจะไม่สดใส และไม่แข็งแกร่งพอ แต่เมื่อบ่มจิตให้แน่นหนาขึ้นโดยส่งกระแสจิตใจความนึกคิดมุ่งสู่ศูนย์กลางวงกลมแบบจดจ่อมากขึ้น จนแน่วแน่นิ่งดีแล้ว ดวงแก้วนั้นก็จะค่อยๆสดใสแวววาวขึ้น(จากตอนนี้แล้วฝึกตามข้อ 2 ต่อไป)

ถ้าท่านไม่ฝึกปฏิบัติจิตต่อไป

ท่านต้องตั้งสติที่กายเนื้อ แล้วส่งกระแสจิตใจความนึกคิดผ่านกึ่งกลางระหว่างคิ้วออกไปที่ดวงแก้วแล้วกำหนดจิตค่อยๆดึงกลับเข้าร่างใหม่อีกครั้ง กายทิพย์ก็จะกลับคืนสู่ร่างทันที

เมื่อกายทิพย์คืนสู่ร่างแล้ว อย่าเพิ่งลืมตาขึ้น ค่อยๆถอนหายใจลึกๆ 10 ครั้ง แล้วหายใจละเอียดลงอีก 10 ครั้ง หายใจปกติอีก 10 ครั้ง เป็นการปรับจิตใจให้หายจากภาวะการสั่นสะเทือนของกายทิพย์ แล้วจึงค่อยๆลืมตาขึ้น คลายออกจากสมาธิต่อไป

หน้า345

(ข)วิธีถอดจิตที่2

การปรับจิตจากดวงแก้วเป็นกายทิพย์

เมื่อท่านฝึกจนได้ปฐมฌานแล้ว ได้นิมิตแห่งเอกัคตาเป็นดวงแก้วที่แวววาวแข็งแกร่งซึ่งปรากฏด้วยความรู้สึก แต่เมื่อเราส่งจิตใจความนึกคิดมองผ่านกึ่งกลางระหว่างคิ้วออกไปก็จะพบดวงแก้วตั้งอยู่เฉพาะหน้าเรา

(หรือท่านที่เกิด ภาวะจิตวิญญาณรวมฉับพลันกับกายทิพย์และได้ปรับจิตตามวิธีการถอดจิตข้อ ก วิธีที่1 แล้วเริ่มฝึกต่อเนื่องจากนี้ไป)

เมื่อได้ดวงแก้วตั้งอยู่เฉพาะหน้าเราแล้ว ขอให้ท่านค่อยๆส่งกระแสจิตเข้าไปบีบดวงแก้วนั้นให้เล็กลงแล้วก็ขยายให้ใหญ่ได้จนคล่องแล้ว ก็ค่อยๆกำหนดบีบรัดดวงแก้วนั้นให้กลายเป็นรูปคนขึ้นมา (เราจะสร้างรูปตัวเราได้ อาจจะสร้างจากความทรงจำ โดยวิธีหา

หน้า346

กระจกบานใหญ่ๆมาตั้งอยู่ตรงข้ามกับเรา มองแล้วพิจารณาจดจำภาพมาเพื่อในการถอดจิตต่อไป )ใหม่ๆรูปนั้นจะไม่ชัด เลือนลางมาก ตอนนี้ร่างนั้นจะรู้สึกว่าดูแล้วมีเพียงโครงร่างแก้วที่โปร่งแสง แสดงว่า ยังถอดจิตไม่สมบูรณ์ ท่านจะต้องค่อยๆส่งจิตใจความนึกคิดของท่านเข้าไปที่โครงร่างนั้น โครงร่างนั้นก็จะค่อยๆชัดขึ้นตามกำลังของสมาธิที่สูงขึ้น จนเห็นเป็นรูปร่างมีเนื้อหนังมังสาขึ้นจนกระทั่งมีหน้าตาเหมือนท่านไม่มีผิดท่านจะเห็นว่าท่านได้แบ่งเป็น 2 คน เป็นพี่น้องฝาแฝดหันหน้าเข้าหากัน กำลังจ้องมองกัน ท่านไม่ต้องตกใจ ขอให้เข้าใจว่า นั่นคือ กายทิพย์ของท่าน

(สำหรับท่านที่จะฝึกปลงอสุภะพิจารณากายในกายก็เริ่มฝึกต่อในตอนนี้) คือ ส่งจิตใจกำหนดให้กายทิพย์นั้นเป็นไปตามบทปลงอสุภะ เมื่อถอดจิตปลงครั้งแล้วครั้งเล่าแล้ว จิตใจก็จะสะอาด กายทิพย์ก็จะละเอียดยิ่งๆขึ้น จิตใจตัดกิเลสหมดไปเท่าใด กายทิพย์ก็จะละเอียดมากขึ้นเพียงนั้น

หน้า347

กายทิพย์เมื่อถอดออกมา ถ้าท่านฝึกส่งกระแสจิตใจความนึกคิดมากขึ้นจนถึงขั้นสุดยอดแล้ว สามารถรวมเป็นคนออกนอกบ้านเดินให้สามัญชนมองเห็นได้ด้วยตาเนื้อธรรมดา และกายทิพย์นั้นซึ่งอยู่ในสภาพกายหยาบก็สามารถหยิบของได้ เพียงแต่ไม่พูดไม่จาเท่านั้น แต่ถ้าบำเพ็ญจิตสูงขึ้น ร่างนั้นก็จะพูดได้

และกายทิพย์นี้จะเคลื่อนไหวไปไหนมาไหนได้เร็วมาก นึกจะไปไหนก็ไปได้ถึงที่นั่นทันที แต่ถ้าสมาธิอ่อนแรงลงเมื่อใด พละกำลังก็ตกลง การเคลื่อนที่ก็จะช้าลงด้วย ถ้าท่านฝึกจนเห็นกายทิพย์รวมตัวเป็นคนแล้วจะต้องมีความสามารถมองเห็นวัตถุธาตุ คือสิ่งก่อสร้างทุกอย่างรวมทั้งมีความถูกต้องทั้งสีและรูปร่าง พร้อมทั้งอ่านหนังสือไม่ผิดด้วย

ส่วนในด้านวิญญาณนั้น ท่านอาจจะถูกหลอกลวงง่าย เพราะจิตนั้นยังอ่อนหัดและยังไม่แข็งแกร่งพอ จึงขอให้ท่านวางจิตเป็นกลาง พยายามตั้งสติพิจารณาทบทวนหาเหตุผลอย่างต่อเนื่อง แล้วส่งจิตใจความนึกคิดเข้าไปที่ภาพหรือเสียงนั้น จะได้ภาพและเสียงที่เป็น

หน้า348

ความจริงมากขึ้น แต่ขอให้ท่านอย่าหลงงมงายเชื่ออะไรง่ายๆนัก ผู้ใดหลงง่ายๆก็จะเป็นคนบ้าง่ายๆคือ กลายเป็นคนหลงใหลเรื่องลมๆแล้งๆที่ไม่ถูกต้องกับเหตุผลของความเป็นจริง ท่านต้องค่อยๆหาประสบการณ์ไป เป็นการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมอยู่ระยะหนึ่งก็จะเกิดความเข้าใจมากขึ้น จนกระทั่งจะรู้ถึงความเป็นจริงเรื่องจิตวิญญาณอย่างดี เพราะเรื่องวิญญาณเป็นเรื่องละเอียดมากๆที่น่าศึกษาต่อไป

หน้า349

(ค) วิธีถอดจิตที่3

ถอดจิตจากกึ่งกลางระหว่างคิ้ว

ที่จริงไม่อยากเขียน เพราะกลัวว่าจะเกิดอันตรายกับท่าน แต่คิดๆดูแล้วเหตุการณ์เหล่านี้อาจจะเกิดกับท่านที่ฝึกสมาธิทุกท่านได้ จึงเห็นสมควรเขียนไว้ให้ศึกษา เผื่อเหตุการณ์นี้อาจจะเกิดขึ้นกับท่านโดยบังเอิญท่านจะได้รู้วิธีแก้ไข

ในขณะที่ท่านฝึกปฏิบัติจิตผ่านบทที่2 หาจุดยึดให้สงบในขั้นต้นมานั้น ท่านอาจจะเกิดความรู้สึกว่าที่ดั้งจมูกตรงกึ่งกลางระหว่างหัวคิ้วนั้น มีความเสียวปวดตึงเป็นจุดอยู่ แม้ลืมตาก็ยังพบว่าตึงเสียวอยู่ เมื่อพบจุดเสียวนั้น ท่านค่อยๆส่งจิตใจความนึกคิดเข้าไปจุดนั้นมากขึ้น จุดเสียวนั้นก็จะหนักอึ้งมากขึ้นๆ จนเกิดอาการเหมือนสว่านหมุนเจาะไชเข้าไปในสมอง จนท่านรู้สึกว่าจุดนั้นมีการรวมตัวเป็นกลุ่มก้อนแข็งแกร่ง

หน้า350

ไชยิ่งลึกๆเข้าในสมองหนักเต็มที่แล้ว ขอให้ท่านรวมจิตใจความนึกคิดอีกชั้นหนึ่งตั้งไว้ที่ตำแหน่งท้ายทอยส่วนบนทำหน้าที่เป็นที่รวมดีดถีบไปยังจิตที่รวมเป็นกลุ่มก้อนที่หน้าผากที่จุดเสียวตึงนั้นอย่างแรง จุดเสียวตึงนั้นก็จะถูกดีดอย่างแรงหลุดลอยออกจากร่างกายเนื้อทันทีพุ่งเข้าสู่ในอวกาศ ด้วยความเร็วมากจนเหมือนกายเนื้อช็อคไปชั่วขณะหนึ่ง แล้วจึงมีสติอีกครั้ง กายทิพย์ก็จะรู้สึกตัวมองเห็นตัวเองกำลังลอยเหาะอยู่บนอวกาศ มีลมผ่านข้างหูอย่างแรง ไม่เบาไปกว่าที่ท่านนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์

และเมื่อท่านจะให้กายทิพย์กลับคืนร่าง ก็ตั้งจิตกำหนดนึกถึงกายเนื้อ ทันทีที่ตั้งจิตอยากจะกลับคืนร่างกายทิพย์นั้นก็จะดีดกลับมาเข้าร่างทันที จะมองเห็นกายเนื้ออยู่ในลักษณะเป็นหุ่นอยู่ไม่เคลื่อนไหว และเมื่อกายทิพย์มาถึง ก็จะค่อยๆกลืนเข้าหากันเหมือนกายซ้อนกาย และค่อยๆกลืนสนิทเข้าเป็นร่างเดียว ถ้าได้สติเต็มที่แล้ว มีอาการใจสั่น ก็ควรที่จะปรับจิตใจให้สงบก่อนแล้วจึงคลายออกจากการฝึกจิต

หน้า351

จุดอันตราย

1. ระหว่างจะถอดจิตออกด้วยการกระแทกนั้น

จะต้องตั้งเป้าหมายว่าจะไปไหนแล้วภาวนาในใจตลอดเวลา ใหม่ๆขอให้ตั้งเป้าหมายระลึกถึงหลวงพ่อโต ครูบาอาจารย์หน้าหิ้งพระก่อน ก็จะดีมาก ฝึกจนชำนาญแล้วค่อยขอให้ครูบาอาจารย์ท่านพาไปที่อื่นต่อไป

2. ระหว่างที่ถอดจิตออกด้วยการกระแทกให้จิตออกไปนั้น ถ้าไม่มีเป้าหมายแล้วจิตท่านจะลอยอยู่กลางอวกาศลอยคว้างไปเรื่อยๆ และถ้าพบมารร้ายหรือดวงวิญญาณที่ไม่หวังดีแล้ว จะถูกเขาเหล่านั้นใช้พลังจิตตัดสายใยทิพย์ ระหว่างกายทิพย์ที่ติดกับกายเนื้อขาดจากกัน กายทิพย์ท่านก็จะลอยลิ่วเหมือนว่าวที่ขาดเชือกว่าวควบคุม

เมื่อกายเนื้อขาดจากกายทิพย์แล้ว กายเนื้อก็จะหมดลมหายใจไปในไม่ช้า ภาวะนี้ขอให้อย่าตกใจ รวมจิตให้เป็นหนึ่งปฏิบัติตามวิธีแก้ไขดังต่อไปนี้

วิธีแก้ไข

ภาวะขณะที่กายทิพย์ลอยไป เหมือนว่าวที่ไม่มีจุดหมายปลายทางนั้น ให้พยายามรวมจิตให้เป็นหนึ่ง

หน้า352

ไม่ตกใจแล้วน้อมจิตใจระลึกถึงครูบาอาจารย์ โดยท่อง “ ธัมมัง อรณัง” หลวงพ่อโตช่วยลูกด้วย ท่านก็จะได้รับการช่วยเหลือ จากหลวงพ่อโตช่วยสกัดวิญญาณให้หยุด แล้วนำพาวิญญาณกลับคืนสู่ร่างอีกครั้งหนึ่ง

หมายเหตุ

ถ้าวันธรรมดาท่านภาวนาท่องระลึกว่า “ หลวงพ่อโต ธัมมังอรณัง ” อยู่เสมอๆ เป็นกิจวัตรประจำวันทุกขณะที่จิตไม่ได้คิดสิ่งอื่นใด แล้วอุทิศถวายกุศลผลบุญที่สร้างบำเพ็ญมา ถวายแด่ครูบาอาจารย์ท่าน เชื่อไหมว่า เวลาเกิดเหตุฉุกเฉิน จิตยังไม่ทันคิดหรือจะได้พูดส่วนลึกของจิตใจก็จะภาวนาท่อง “ หลวงพ่อโต ธัมมังอรณัง ” ขึ้นมาทันทีทันใดทันกับเหตุการณ์ที่กำลังรอคอยความช่วยเหลือจากหลวงพ่อโต

3. การฝึกวิธีนี้ ไม่ได้ตั้งใจเขียนให้ฝึก แต่เขียนบันทึกไว้ในลักษณะบทเรียนจากประสบการณ์ของผู้เขียนประสบมาก่อน ซึ่งสมควรเขียนให้ศึกษา

เพราะอย่ารู้อะไรเลยสบาย

ถ้ารู้อะไรแล้วรู้ให้จริงรู้ให้กว้าง

หน้า353

การเคลื่อนย้ายกายทิพย์
1. ความสัมพันธ์ระหว่างกายทิพย์ที่ถอดออกมากับกายเนื้อ กายทิพย์ที่ถอดออกมานั้นเปรียบเสมือนเป็นดวงตาหรือกล้องถ่ายทอดโทรทัศน์วงจรปิดและดวงตานี้มีสายใย หรือสายโทรศัพท์มาพ่วงติดกับกายเนื้อซึ่งจะคอยรับและบันทึกความรู้สึกทั้งภาพและเสียง กายเนื้อนี้ยังเป็นเสมือนรังหรือบ้านของกายทิพย์ เพราะเมื่อตกใจแล้ว กายทิพย์จะต้องรีบวิ่งดีดกระโจนกลับเข้าร่างทันที และกายเนื้อยังเป็นรากฐานสั่งการกายทิพย์ให้ปฏิบัติการตามคำสั่งด้วย
แต่เมื่อถอดกายทิพย์จนแยกออกจากกายเนื้ออย่างสมบูรณ์แล้ว กายทิพย์นี้ก็จะแยกออกจากกายเนื้ออยู่ตลอดเวลา อยู่ในลักษณะเป็นเงาตามตัวของกายเนื้อโดยมีสายใยทิพย์เชื่อมโยงอยู่ และตอนนี้ กายทิพย์จะไม่อยู่ใต้บังคับบัญชาของกายเนื้อเสมอไป กายทิพย์

หน้า354

กลับจะเป็นศูนย์เตือนสติป้อนความรู้ให้กับกายเนื้อ ให้รู้จักผิดถูกดีชั่ว
2. เริ่มเคลื่อนย้ายกายทิพย์ กำหนดจิตใจความนึกคิดจากกายเนื้อสั่งการ และบังคับให้กายทิพย์เคลื่อนที่เดินสำรวจภายในห้องก่อนจนถึงสำรวจทั้งบ้านจุดมุ่งหมายพยายามดูวัตถุสิ่งก่อสร้างให้ถูกต้องทั้งสีสันและรูปร่าง ถ้าผิดจากความเป็นจริงให้ฝึกการส่งกระแสจิตจดจ่อที่กายทิพย์ใหม่ตามวิธีเบื้องต้นที่กล่าวมาแล้วการที่ยังมองอะไรไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงนั้นเพราะว่ากายทิพย์ที่กระจายอยู่ในกายเนื้อยังถอดออกมาไม่หมดจึงต้องฝึกเพิ่มเติมใหม่
เมื่อท่านฝึกจนหลับตาเห็นวัตถุธาตุไม่ผิดจากความเป็นจริงแล้ว ก็ขอให้เริ่มพิสูจน์เรื่องวิญญาณด้วยการเพ่งมองไปที่หน้าโต๊ะหมู่ หรือหิ้งบูชาพระหรือระลึกถึงครูบาอาจารย์ ขอชมบารมีท่าน ถ้าภาพไม่ชัด ให้ค่อยๆส่งจิตใจความนึกคิดเข้าไปที่ภาพนั้น ภาพนั้นก็จะค่อยๆชัดขึ้นตามกำลังสมาธิ ในขณะเดียวกัน ถ้าท่านพบเห็นภาพที่น่ากลัว ไม่ต้องตกใจ ตั้งใจให้มั่นระลึก

หน้า355

ถึงครูบาอาจารย์ ส่งจิตใจความนึกคิดเข้าไปเสริมเพิ่มเติมภาพนั้นให้ชัดขึ้นแล้วส่งกระแสจิตสนทนากับสิ่งที่เกิดขึ้น ฝึกเช่นนี้จนเกิดความเคยชินและคุ้นเคยกับสิ่งเหล่านี้ แล้วค่อยๆเคลื่อนกายทิพย์ไปสนทนากับเจ้าที่เจ้าบ้านหรือดวงวิญญาณอื่นภายในบ้าน
3. ฝึกจนเกิดความเคยชินแล้ว ให้ระลึกอาราธนาครูบาอาจารย์หลวงพ่อโต ที่เราเคยสนทนาที่หน้าหิ้งพระนั้น โปรดเมตตาพาท่านไปเที่ยวตามสถานที่ต่างๆที่ท่านเห็นว่าสมควร
บางครั้งเราต้องการจะพิสูจน์ว่า กายทิพย์เรามีความแข็งแกร่งและแม่นยำขนาดไหน เมื่อถอดกายทิพย์ไปถึงสถานที่นั้นแล้ว จดจำเหตุการณ์และวันเวลาขณะนั้นไว้ แล้วนำไปเทียบหาความจริงกับเพื่อนคนนั้นที่เราได้ถอดกายทิพย์ไปหา
ทุกครั้งที่ถอดกายทิพย์ไปต่างถิ่น ต้องเคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์เจ้าที่เจ้าทางในถิ่นนั้นด้วยการกราบไหว้ และอย่าทำอะไรที่เป็นการลบลู่ดูหมิ่นท่านด้วย

หน้า356

ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์นำพา ห้ามถอดจิตไปไหนอย่างเด็ดขาด ต้องฝึกจนกว่าครูบาอาจารย์จะสอนบทเรียนและชี้แนะจนเอาตัวรอดได้ ท่านก็จะปล่อยให้เราไปไหนมาไหนด้วยความอิสระ
หมายเหตุ
การฝึกถอดกายทิพย์นี้ใหม่ๆ ต้องใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมง หรือ 15 นาที จึงจะสามารถรวมจิตเป็นหนึ่งถอดกายทิพย์ได้ ท่านจะต้องฝึกจนสามารถรวมจิตใจความนึกคิดให้เป็นหนึ่ง ถอดกายทิพย์ให้ได้ในชั่วพริบตาเดียว จึงจะใช้ได้

หน้า357

ตาทิพย์
ก่อนอื่นต้องอธิบายให้เข้าใจทิพย์อำนาจก่อน
ของทิพย์เป็นของละเอียดอ่อนยิ่งกว่าอณูปรมาณูซึ่งเรียกว่า “ มวลสาร ” ดังนั้น เมื่อเราจะไปมองเห็นของเล็กๆ เราก็ต้องรวบรวมพลังกายในกายจากการฝึกอบรมจิตให้สงบละเอียดลงๆจนอยู่ในสภาพภาวะเดียวกันกับมวลสารที่เราจะสัมผัส เหมือนปรับสภาพตัวเราให้เป็นเครื่องรับภาพโทรทัศน์ เพื่อรับภาพที่เป็นกระแสคลื่นอยู่รอบๆตัวเรา ซึ่งมองไม่เห็นด้วยตาเนื้อ
เมื่อท่านฝึกผ่านบทเรียนที่ 4 คือ ได้ปฐมฌานแล้ว ถ้าท่านฝึกต่อไปเรื่อยๆก็มีเพียงสงบอยู่นั่น แม้บางครั้งอาจจะเกิดฤทธิ์เดชบางอย่างขึ้นมาบ้าง ก็ไม่รู้หนทางที่จะศึกษาให้เจริญขึ้น ไต่ไปสู่การที่จะใช้อำนาจพลังจิตนั้นได้

หน้า358

ดังนั้น ท่านควรฝึกบทนี้ต่อไปเพื่อพิสูจน์ความจริงเกี่ยวกับโลกทิพย์ จิตวิญญาณ เพื่อเป็นเครื่องเตือนสติ “ ตายแล้วไม่สูญ ” กฎแห่งกรรมมีจริง และยังสามารถมองเห็นที่มาของอุปสรรคที่ขวางกั้นจิต ในการเจริญสมาธิ เพื่อจะได้หาทางแก้ไขต่อไป
เมื่อท่านฝึกปฏิบัติจิตสำเร็จผ่านบทปฐมฌานแล้วท่านจะมีจิตใจสบาย เห็นดวงแก้วที่เราจดจ่อนั้นค่อยๆเรืองแสงจนค่อยๆสว่างมากขึ้นถึงขั้นแสงจ้าจัดแรงกล้าไม่แพ้ดวงอาทิตย์และความสว่างนี้จะคงตัวอยู่ได้นานไม่ลดลงไปอีกเมื่อท่านได้ปฏิบัติจิตอย่างสมํ่าเสมอ จากนั้นท่านรวมกระแสจิตใจความนึกคิดที่เป็นหนึ่งนั้นค่อยๆบีบรัดให้ปลายแหลมเหมือนเข็มแล้วค่อยๆน้อมนำกระแสจิตนั้น มุ่งไปเฉพาะที่ส่งเข้าไปที่ศูนย์กลางดวงแก้วนั้นอย่างช้าๆเรื่อยๆไม่ขาดสาย มิช้ามินานก็จะเห็นภาพค่อยๆเกิดขึ้นอย่างเลือนลาง ขอให้ท่านส่งกระแสจิตใจความนึกคิดเข้าเพิ่มเติมที่ภาพนั้นอีกต่อไป ภาพนั้นก็จะค่อยๆชัดมากขึ้นตามกำลังของสมาธิ จนเห็นภาพนั้นเหมือนของจริงที่มองด้วยตาเนื้อ คือเหมือนลืมตามองเห็น

หน้า359

คนไม่ฝึกสมาธิจิตจะหยาบ มองเห็นแต่ของหยาบหยาบ
คนฝึกจิตให้ละเอียดสุขุม
ย่อมมองเห็นของละเอียด(ของทิพย์ )ได้
ตาทิพย์นั้น มองเห็นได้ 2 สิ่ง คือ
1. ของทิพย์ เช่น วิญญาณและวิมานหรือนิมิตแห่งทิพย์
2. วัตถุธาตุ คือ วัตถุที่เรามองเห็นด้วยตาเนื้อคือเหมือนลืมตาดู
คนที่ฝึกได้ตาทิพย์ใหม่ๆ ควรจะทดลองด้วยการฝึกหน้าหิ้งพระขอชมบารมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เราบูชาโดยอย่าได้ไปอยากดูสอดรู้สอดเห็นสิ่งอื่นนอกหิ้งพระ มิฉะนั้นแล้วอาจจะได้รับอันตราย
ภาพที่เห็นครั้งแรกจะเป็นพวกทิพย์ คือ วิญญาณ ส่วนมากเป็นนิมิตที่ยังไม่แน่นอนถูกต้องเสมอเพราะพลังจิตเรายังอ่อน อาจจะเป็นภาพหลอกหลอนหรือภาพเนรมิตมาบังเราได้ ขอให้ท่านวางใจเป็นกลางเฉยๆก่อน แล้วส่งกระแสจิตใจความนึกคิดไปเพิ่มที่

หน้า360

ภาพนั้น ภาพนั้นก็จะค่อยๆชัดขึ้นมา และมองไปโดยไม่ปรุงแต่งแบบไม่มีความอยากรู้ และต้องไม่กลัวภาพที่เกิดขึ้นแม้ว่าจะน่ากลัว
เมื่อท่านฝึกดูเหตุการณ์ในปัจจุบันได้แล้ว และเมื่อฝึกต่อจนเกิดพลังแข็งแกร่งแล้วก็จะสามารถมองไปข้ามทวีปและเรื่องอนาคตได้ แต่เรื่องอนาคตนี้อาจจะไม่แน่นอนเสมอไปเพราะยังมีวิบากกรรมเข้ามาปรุงแต่งให้เปลี่ยนแปลงได้ และมองถอยไปในอดีตได้ แต่ยังไม่ลึกพอที่จะระลึกชาติ ซึ่งส่วนมากจะสามารถมองเห็นเหตุการณ์เฉพาะที่เราอธิษฐานจิต เช่น อยากรู้สาเหตุที่นั่งปฏิบัติจิตแล้วจิตไม่สงบ เมื่อน้อมจิตไปตามคำอธิษฐาน ก็จะเห็นภาพเหตุการณ์ที่เป็นเหตุบังปัญญาไม่ให้บรรลุทางสงบ
จำไว้ว่า ถ้าได้เห็นเรื่องของโลกวิญญาณแล้วอย่าได้ทำเป็นคนปากเปราะเห็นอะไรเที่ยวพูดเที่ยวเล่าให้ใครต่อใครฟังท่านต้องพิจารณาว่าสมควรบอกหรือไม่ เพราะถ้าบอกสุ่มๆไป ท่านอาจจะต้องรับกรรม

หน้า361

ในฐานะเอาเรื่องของโลกวิญญาณมาเปิดเผย โดยพูดแล้วอาจจะเกิดความเสียหายกับโลกวิญญาณ
เหตุทั้งนี้ เพราะว่า การเอาเรื่องอีกโลกหนึ่งมาบอกเล่าให้คนอีกโลกหนึ่งฟัง คนส่วนมากจะไม่เชื่อแล้วก็จะกล่าวคำพูดหยาบช้าสบประมาทโลกวิญญาณทำให้เกิดภาวะกฏแห่งกรรมลงโทษผู้พูดคำสบประมาทนั้นได้ ซึ่งก็อาจจะพาให้ท่านเดือดร้อนไปด้วย
ต่อไป พิสูจน์มองวัตถุธาตุด้วยตาทิพย์ คือ เมื่อท่านฝึกจนบรรลุตาทิพย์แล้ว หัดหลับตามองเห็นภาพวัตถุต่างๆให้ชัดเหมือนลืมตาดู และจะแน่นอน ต้องฝึกจนถึงขั้นหลับตาอ่านหนังสือได้ไม่ผิดแม้สักตัวเดียวแสดงว่า ท่านจบหลักสูตรการฝึกตาทิพย์แล้ว
ขอแสดงความดีใจกับท่านมา ณ โอกาสนี้
ระหว่างฝึกตาทิพย์นี้
1. ใบหน้าและลูกตาจะไม่มีอาการบิดเบี้ยว
2. ประสาททุกส่วนจะไม่มีอาการตึงเครียด
3. จำไว้ว่า นี่คือการฝึกทิพย์อำนาจ ไม่ใช่ฝึกตาเนื้อ

หน้า362

สวรรค์ แสวงสุขได้ เสียกรรม
ในอก อิ่มบุญธรรม เที่ยงได้
นรก รักบาปนำ ไปสู่ ทุกข์แฮ
ในใจ ให้สุขให้ ทุกข์ด้วยใจเอง

(สำนวนเก่า)
จากประชุมโคลงโลกนิติ

หน้า363

ฝึกรักษาโรค
โรคภัยไข้เจ็บนั้นเกิดจากกรรม 2 ประเภท
ประเภทที่1 เกิดจากกรรมในอดีตชาติส่งผลมาตามล้างตามสนองให้วิบากเป็นอย่างนั้นอย่างนี้
ประเภทที่2 เกิดจากการเสื่อมโทรมของร่างกายที่เป็นไปตามภาวะธรรมชาติ เกิด แก่ เจ็บ หรือ เกิดจากการที่มนุษย์ ไม่รู้จักรักษาพยาบาลร่างกายให้แข็งแรงที่จะไม่ให้ร่างกายเสื่อมเร็วก่อนอายุขัยอันสมควร
ดังนั้น การรักษาโรคจึงเป็นการดุลกรรมคนป่วยและส่วนมากคนป่วยเล็กน้อยไม่ค่อยจะหาหมอรักษา จะรักษาต่อเมื่อโรคกำเริบจนอาการหนักแล้ว
การรักษาโรคนี้ เขาพูดกันว่า “ มาเป็นภูเขา ไปเป็นเส้นผม ” คือเวลาป่วยขึ้นมาส่วนมากจะมีอาการหนัก

หน้า364

แต่เวลาจะหายนั้นต้องค่อยๆเป็นค่อยๆไป หายไปทีละเล็กละน้อย
ถ้าท่านคิดจะสงเคราะห์ ช่วยรักษาโรคให้คนป่วยแล้ว ต้องอาศัย ตาทิพย์ พิจารณาดูเรื่องกรรมวิบากของเขาก่อน แล้วจึงค่อยๆรักษาให้หายได้ พร้อมกับแนะนำให้คนป่วยหมั่นสวดมนต์ไหว้พระ ฝึกสมาธิทำใจให้สงบควบคู่กับการทำบุญสร้างกุศลช่วยเหลือคนอื่นด้วยกำลัง หรือปัจจัยตามกำลังความสามารถของตนที่จะทำได้ดีที่สุด
ต่อไปนี้ ศึกษาวิธีรักษาโรค
1. ตรวจรักษาโรค ถ้าคนป่วยมาหาท่านบอกว่า ปวดตรงนี้ตรงนั้นแล้ว ขอให้ท่านหลับตารวมจิตเป็นหนึ่งให้เป็นดวงแก้วส่งข้ามไปตำแหน่งที่ปวด ท่านจะพบว่า เป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่เห็นกล้ามเนื้อเส้นเลือดอย่างชัดเจนยิ่งกว่าเครื่องเอ็กซเรย์ และอาจจะพบว่า บริเวณที่ปวดนั้นเส้นเลือดบวมหรือชํ้าหนอง หรือมีเนื้องอกทับอยู่บนเส้นประสาท ท่านก็บีบดวงแก้วให้เล็กลงแล้วค่อยๆละลายบริเวณปวดนั้นให้ค่อยๆคืนสู่สภาพปกติ

หน้า365

โดยใช้วิธีการนึกมโนภาพว่า ค่อยๆ หายไปๆ พอเราถอนดวงจิตกลับคืนสู่ร่างแล้ว อาการของคนไข้ก็จะบรรเทาได้ แต่ทั้งนี้จะหายเร็วหรือไม่หาย ต้องพิจารณาขึ้นอยู่กับเจ้ากรรมนายเวรด้วย
2. วิธีส่งกระแสจิตเข้าสัมผัส คนป่วยมีอาการป่วยเหมือนข้อ 1 แต่เราพลังจิตยังไม่แข็งแกร่งพอ ให้สัมผัสร่างกายคนป่วยด้วยมือหรือไม้เท้า มีดหมอก็ได้ โดยส่งดวงแก้วผ่านไปตามมือหรือไม้เท้า หรือมีดหมอเข้าไปในกายเนื้อคนป่วยแล้วค่อยๆวิ่งไปตามกายเนื้อคนป่วยสู่ตำแหน่งที่ปวด ก็จะพบและรักษาเหมือนข้อ 1
3. วิธีรักษาคนป่วยที่ถูกผีสิง ถ้าบังเอิญหลับตามองไปเห็นผีสาง ยักษ์ อสูรกายคุมร่างกายเนื้อคนป่วยอยู่ ไม่จำเป็นแล้วอย่าแตะต้องเขาเหล่านี้จะดีกว่าเพราะถ้าท่านพลังจิตไม่แข็งแกร่งพอท่านอาจจะถูกมารร้ายเหล่านั้นทำร้ายท่านได้ หรืออาจจะถูกทำลายกายทิพย์ให้สะเทือนแตกกระจายถึงตายได้ ควรจะเจรจาพูดกับวิญญาณดีๆ ให้อโหสิกรรมกัน ถ้าต้องการอะไรก็จะให้คนป่วยจัดทำตามประสงค์ที่สามารถปฏิบัติตาม

หน้า366

คำขอได้และจะทำบุญอุทิศกุศลไปให้ด้วย แล้วขอให้ไปเสียดีๆจะได้หมดเวรซึ่งกันและกัน อย่าได้จองเวรกันต่อไปอีกเลย
ในขณะเดียวกัน ถ้าท่านคิดว่า ท่านมีความสามารถแล้ว พร้อมที่จะสงเคราะห์ช่วยเหลือคนป่วยแล้ว
เมื่อเจรจาดีๆไม่ได้ผล ไม่ยอมไป ควบคุมใจให้ตั้งมั่นๆ รวมดวงจิตให้เป็นดวงแก้วที่แข็งแกร่งแผ่รัศมีเข้าไปขับไล่วิญญาณนั้นออกจากกายเนื้อคนป่วยให้ขับออกวันละนิดๆกายเนื้อคนป่วยจะได้ไม่เสื่อม ขอให้เข้าใจว่า วิญญาณที่เข้ามาแฝงนั้นเปรียบเสมือนต้นไทรที่เข้ามาเกาะงอกรากบนต้นไม้จริงคือกายเนื้อ ยิ่งอยู่นานวัน รากไทรยิ่งชอนไชเข้าไปในกายเนื้อคนไข้มากขึ้น ท่านจะต้องค่อยๆตัดรากไทรไปทีละรากจนกว่าต้นไทรจะล้มควํ่าออกจากกายเนื้อคนป่วย
ถ้าท่านหวังขับไล่ให้สำเร็จผลโดยเร็ว ระวังคนป่วยจะตายเพราะกายเนื้อเสื่อม กายทิพย์แตก หรือบางครั้งดวงวิญญาณร้ายนั้น ก่อนจะออกไปได้กระชากดวงวิญญาณคนป่วยออกไปด้วย คนป่วยก็จะตายทันที

หน้า367

ท่านเองระวังจะต้องติดคุกติดตาราง เพราะความประมาท เนื้อไม่ได้กิน หนังไม่ได้รองนั่ง แล้วเอากระดูกไปแขวนคอ
และให้ระวังการไปอาบนํ้ามนต์ให้คนไข้ที่ป่วยเพราะถูกนํ้ามันพราย หากท่านไม่ทำนํ้ามนต์อาบนํ้าชำระร่างกายแล้ว ท่านจะป่วยเป็นแผลพุพองทั้งตัวกินยาก็ไม่หาย จนกว่าจะรักษาด้วยการอาบนํ้ามนต์ให้กับตนเอง
หมายเหตุ
การรักษาโรคภัยไข้เจ็บนั้น ส่วนมากเป็นกรรมเก่าของคนป่วย ท่านจะต้องให้คนป่วยทำบุญใส่บาตรสร้างกุศลให้กับเจ้ากรรมนายเวร
ท่านในฐานะผู้รักษาเป็นการดุลกรรม ก็ต้องปฏิบัติเช่นเดียวกันตามที่กล่าวมา และเพื่อรักษาอำนาจฌาน และความบริสุทธิ์ของจิตใจ ต้องถือศีล 8 อาทิตย์ละ 1 วัน และวันนั้นพยายามเข้าปฏิบัติจิตฝึกสมาธิบ่อยๆด้วย

หน้า368

การเสพธรรมรสไซร์ ไป่มี
ที่จะต้องเสียใจ สักเทื้อ
เริ่มเสพก็ยินดี อยากเสพ อีกนา
เสพเสร็จก็สุขเมื้อ ไม่วาย

พระราชนิพนธ์ภาษิต
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

หน้า369

ญาณหยั่งรู้วาระจิตคนอื่น
เจโตปริยญาณ ญาณที่ทำให้สามารถกำหนดหยั่งรู้วาระจิตคนอื่น
การหยั่งรู้นั้นจะหยั่งได้ก็ต้องอาศัยสื่อ เพื่อใช้ในการหยั่งรู้ คือ ชื่อ นามสกุล วัน เดือน ปีเกิด และเวลาเกิด รูปถ่าย หรือบุคคลสิ่งเหล่านี้ยิ่งมีครบบริบูรณ์ทุกประการยิ่งจะช่วยให้สามารถหยั่งรู้ได้ง่ายขึ้น และจะละเอียดลึกซึ้งมากขึ้นตามลำดับ
เมื่อเราได้ฝึกปฏิบัติจิตจนถึงขั้นจตุตถฌานแล้วส่งจิตใจความนึกคิดเข้าไปยังสื่อที่ได้มา แล้วค่อยๆหยั่งลึกลงในสื่อนั้นเหมือนส่องกล้องเข้าไปสัมผัส และที่กายเนื้อนั้นจะต้องมีความสงบมาก มีจิตใจที่แน่วแน่แต่แผ่วเบาพริ้วอ่อนไหวพร้อมที่จะรับกระแสที่ได้จากการสัมผัส ที่ส่งมาให้รับรู้เป็นเรื่องราว โดยส่งความรู้สึกนั้นจะเกิดที่ท้ายทอยที่ต่อม “ เมดูลล่า ” แล้วส่งต่อไป

หน้า370

ยังสมองใหญ่ปรุงแต่งแปลรหัสที่ส่งมานั้นว่า หมายถึงอะไร
แต่ทั้งนี้ ความถูกต้องจะไม่แน่นอนเสมอไป เพราะยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่หยั่งถึงได้ยากมาก นั่นคือ วิบากกรรมซึ่งเป็นกุศลกรรม และอกุศลกรรมของคนเรานั้นไม่รู้ว่าจะมาวิบากเมื่อใด ซึ่งอาจจะตามมาสนองวิบากเมื่อใดก็ได้ ทำให้เรื่องราวเปลี่ยนแปลงได้
พลังจิต ก็ยังมีประโยชน์บ้างในการหยั่งรู้นิสัยใจคอ และวิบากกรรมในระยะใกล้ ๆ ได้ เพื่อช่วยแก้ไขเหตุการณ์บางอย่างที่พอจะช่วยแก้ไขสถานการณ์จากร้ายให้เป็นดีได้

หน้า371

ระลึกชาติ
ปุพเพนิวาสานุสติญาณ เป็นการใช้พลังจิตเพื่อให้สามารถหยั่งรู้ระลึกขันธ์ที่อาศัยอยู่ในชาติปางก่อนได้คือ ระลึกชาติ
การระลึกชาติอาจจะเกิดได้ 2 ทาง
1. ระลึกได้โดยนิมิตหมายจากการฝัน หรือเกิดเป็นภาพในภาวะจิตนิ่งเหมือนฝัน
2. ระลึกได้โดยอาศัยอำนาจฌาน ก่อเกิดอำนาจญาณ เมื่อท่านฝึกบรรลุถึงจตุตถฌาณ ทำใจให้สบายๆ นำกระแสจิตใจความนึกคิดค่อยๆหยั่งลึกเข้าสู่ภวังค์ลึกลงๆๆค่อยๆย้อนนึกถึงอดีตจากใกล้ที่สุดนึกจากปัจจุบันถอยหลังไปถึงเมื่อครั้งเยาว์วัยอยู่ แล้วค่อยๆปล่อยใจให้ลึกลงไปติดตามกระแสความรู้ที่หยั่งรู้อยู่ในขณะนั้นทำใจให้เข้าสู่สมาธิระดับเดียวกันกับภาวะความละเอียดอ่อนนั้น จะเข้าใจภาวะนั้นจากชาติหนึ่ง

หน้า372

ถอยออกไปอีกชาติหนึ่ง ใหม่ๆที่ฝึกนั้น จะเป็นเพียงความรู้สึกที่เกิดขึ้น แต่เมื่อฝึกจนพลังจิตแข็งแกร่งแล้ว ก็จะเห็นเป็นภาพได้ชัดเจนเหมือนภาพยนตร์ เมื่อได้พบเห็นเช่นนี้แล้ว ก็จะเข้าใจภาวะนิสัยเดิมในชาติก่อนๆอันฝังแน่นเป็นอนุสัยในสันดานของการมีชีวิตในปัจจุบันชาติ ท่านก็จะได้รู้อนุสัยที่ไม่ดีนั้นนำมาปรับปรุงให้ดี ส่วนที่ดีก็จะได้นำมาบำเพ็ญสืบเนื่องให้เจริญยิ่งขึ้นไป
เมื่อได้ระลึกชาติแล้ว อย่าหลงงมงายดังนี้
ครั้งก่อนเคยเกิดเป็นผู้ยิ่งใหญ่ ก็อย่าคิดว่าจะใหญ่มาถึงชาตินี้
ครั้งก่อนเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานหรือผีเปรตก็อย่านำมาคิดเสียใจ
คนเราถ้าหลงอดีต ก็จะไม่ถึงปัจจุบัน
ถ้าหลงปัจจุบัน ก็จะไม่สามารถหลุดพ้นจากวัฏฏะได้

หน้า373

ปากทิพย์
เมื่อท่านฝึกจนได้บรรลุฌานอย่างน้อยปฐมฌานแล้ว จะเรียนอะไรก็รู้สึกว่าง่าย เพียงแต่ท่านปรับภาวะจิตขณะเรียนนั้นให้คล้อยตามไป ยิ่งการล้อเลียนตามเสียงที่ได้ยินนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ยากเลย แต่ทั้งนี้เมื่อพูดได้แล้วจะเข้าใจคำพูดนั้นสื่อความหมายอะไร ต้องฝึกหูทิพย์จึงจะเข้าใจคำพูดนั้นที่พูดไปหมายถึงอะไร
เมื่อมีเทพพรหมผ่านร่างมนุษย์แล้วพูดเป็นภาษานั้น เรารวมจิตใจให้เป็นหนึ่งปล่อยให้ความคิดขณะนั้นว่างจากสรรพสิ่ง แล้วส่งจิตใจความนึกคิดแนบไปตามคำพูดที่ได้ยินแล้วค่อยๆหัดพูดตามไป ซึ่งตามไปอยู่ระยะหนึ่ง เราก็มีความอยากจะพูดแบบภาษานั้นบ้างก็อย่าห้ามใจไม่ให้พูด จงทำใจเปิดให้สบายๆปากอยากจะพูดอะไรก็ปล่อยให้พูด เมื่อพูดไปประโยคหนึ่งก็ส่ง

หน้า374

จิตใจคล้องตามประโยคแรกที่พูดไปแล้ว ปฏิบัติเช่นนี้แล้ว ก็จะค่อยๆต่อกระแสคำพูดให้ต่อเนื่องได้
ในทำนองเดียวกันนี้ ก็สามารถนำไปเรียนการพูดภาษาอื่นได้ แต่ทั้งนี้พูดได้ แปลไม่ได้
การพูดภาษาเทพพรหมได้ ก็เป็นประโยชน์อย่างหนึ่งในการรู้เรื่องอดีตได้เมื่อเราสามารถหยั่งรู้ความหมายในคำพูดนั้น เพราะส่วนมากจะพูดได้ด้วยกายทิพย์ของเราเอง

หน้า375

หูทิพย์
เสียงแห่งคำพูดนั้นเป็นเพียงภาษาสื่อความหมายให้หูได้ยินว่าเสียงที่พูดนั้นหมายถึงอะไร
ก่อนที่จะพูดนั้น คนเราต้องคิดก่อนที่จะพูด หรือพูดโดยใจอยากจะพูดอะไร สมองยังไม่ทันคิด ก็พูดออกมา
ดังนั้น ภาวะการพูดนั้นจึงเป็นกระแสคลื่นที่ซ่อนไว้ ซึ่งความหมายทั้งปวงตามที่คนหรือสัตว์ต้องการพูดหมายถึงอะไร
เมื่อท่านฝึกจนบรรลุอำนาจฌานอย่างน้อยปฐมฌานแล้วเมื่อได้ยินใครพูดกันที่เป็นภาษาเทพพรหม ในขณะที่มีดวงวิญญาณผ่านร่างมนุษย์ ท่านก็ส่งจิตใจความนึกคิดเข้าไปในคำพูดนั้น ก็จะรู้ว่าเขากำลังสนทนาหมายถึงอะไร หรือใช้หยั่งรู้ภาษาต่างชาติก็จะรู้ความหมายของการพูดได้
ถ้าฝึกดีๆ ก็ฟังภาษาสัตว์รู้เรื่องได้
ซึ่งการได้ฟังรู้เรื่องนี้ ไม่ใช่แปล แต่เป็นการสื่อความหมายเท่านั้น

หน้า376

ประกาศสงวนลิขสิทธิ์

คณะกรรมการชมรมธรรมไมตรีได้ดำเนินการเผยแพร่หนังสือแนวคำสอนสมเด็จโต สมาธิ ทางสงบ ถอดจิต ตามนโยบายขายบ้าง แจกบ้าง ขอเพียงแต่ได้ทุนหมุนเวียนเผยแพร่พิมพ์เล่มต่อไป ก็เป็นพระคุณยิ่งนักที่ได้รับความร่วมมือสนับสนุนจากสาธุชนผู้ปฏิบัติธรรม ทำให้หนังสือเราได้เผยแพร่ออกไปอย่างกว้างขวาง เป็นเหตุให้สำนักพิมพ์เห็นเป็นหนังสือขายดี ได้ทำการลอกเลียนหนังสือทั้งเล่มแม้แต่ชื่อเรื่องก็เติมคำว่า คาถา นำหน้า สมาธิ ทางสงบ ถอดจิต ส่วนเนื้อหานั้นก็ได้คัดลอกตัดต่อจากต้นฉบับหนังสือหนา 416 หน้า เหลือเพียง 204 หน้าเป็นการตัดต่อหยิบยกตามใจชอบโดยมิใช่เป็นการรู้แจ้ง เข้าใจหลักปฏิบัติธรรมอย่างแท้จริง แสดงให้รู้ถึงนํ้าใจที่แห้งแล้งและโหดร้าย มุ่งหวังแต่ผลประโยชน์ส่วนตัวแต่ฝ่ายเดียวโดยไม่คำนึงถึงการรับผิดชอบต่อผลร้ายอันจะเกิดแก่ผู้อ่านที่ใช้เป็นตำราคู่มือในการฝึกปฏิบัติ นับเป็นเรื่องเศร้าใจยิ่งนัก แม้จะไม่คำนึงถึงว่าผู้คัดลอกตัดตอนของเดิมเช่นนี้เป็นการผิด พรบ. การพิมพ์และเป็นบาปกรรมเพียงใด จึงประกาศเพื่อช่วยให้เกิดความถูกต้องขึ้น

คณะกรรมการชมรมธรรมไมตรี

หน้า377

ฝึกอำนาจพลังจิตรักษาตนเองแบบง่ายๆ
คนส่วนมาก มักรอคอยขอรับความช่วยเหลือจากผู้อื่น น้อยนักที่คิดช่วยตนเองก่อน ท่านควรที่จะฝึกให้เป็นคนที่พร้อมจะช่วยเหลือตนเอง
“ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ”
ขอให้ท่านพยายามหาโอกาสปฏิบัติฝึกจิต นั่งสมาธิวันละชั่วโมง ก็จะสร้างอำนาจพลังจิตเบื้องต้นได้
1. ฝึกจิตรวมเป็นหนึ่ง ถ้าท่านมีจิตใจผวาบ่อยๆหรือจิตใจหงุดหงิด อ่อนเพลียปวดหัวอยู่บ่อยๆ โดยหาสาเหตุไม่ได้ ซึ่งหาหมอแล้วก็ไม่หาย ท่านอาจจะตกอยู่ภายใต้อำนาจแห่งไสยคุณที่ใครทำมาบังคับท่านให้เกิดมีอาการต่างๆและบังคับให้กระทำสิ่งที่ไม่ดีไม่งามได้โดยปกติแล้วคนไข้ที่ถูกไสยคุณไม่ลึกนั้น จะมีสติเป็นของตนเองไม่มากก็น้อย ท่านจะต้องช่วยตนเองด้วยการ

หน้า378

รวมจิตใจความนึกคิดให้เป็นหนึ่งด้วยการท่อง “ พุท ” “ โธ ” อยู่ตลอดเวลาที่จิตว่าง จะได้ปักใจไม่ให้ไปรับรู้อำนาจอื่นที่มาบีบประสาทเรา พยายามปลุกใจตนเองว่าเราจะต้องชนะทุกสิ่งทุกอย่าง ความชั่วทั้งหลายต้องไม่สามารถทำอะไรเราได้ เราจะต้องหายจากความเจ็บปวดปฏิบัติเช่นนี้เรื่อยๆบ่อยๆ ฝึกจนเกิดความเคยชินท่านก็จะได้รวมจิตเป็นหนึ่งแข็งแกร่งขึ้น อยู่เหนือสิ่งเลวร้าย จนไสยคุณเกาะท่านไม่ติด เพราะเรามีจิตเป็นหนึ่งและระลึกบารมีพุทธคุณคุ้มครองเราอยู่ตลอดเวลา
2. ฝึกขับไล่ไสยคุณ ท่านที่มีอาการหงุดหงิดปวดหัว หรือปวดตามตัว แน่นหน้าอก ไม่ว่าท่านรู้ดีว่าถูกไสยคุณหรือว่าไม่ถูกกระทำ ควรปฏิบัติดังนี้
สวดมนต์ไหว้พระแล้วขอบารมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ครูบาอาจารย์ช่วยรักษา โดยท่านนั่งหันหลังให้กับหิ้งพระแล้วเหยียดเท้าไปข้างหน้า ที่ปลายเท้าจุดเทียนไว้เล่มหนึ่ง เมื่อพร้อมแล้ว ก็เพ่งเทียนจนจำเปลวเทียนได้

หน้า379

หลับตานำรูปเปลวเทียนขึ้นบนศีรษะ แล้วนำเปลวเทียนค่อยๆไล่ลงมาถึงปลายเท้าปลายแขน
พอรูปเปลวเทียนหายไป ก็ลืมตาเพ่งจนจำเปลวเทียนได้ใหม่ฝึกขับไล่ต่อไป
ผู้ที่ฝึกจนชำนาญแล้ว ไม่ต้องจุดเทียนก็สร้างเปลวไฟขึ้นขับไล่ได้ ปฏิบัติเช่นนี้วันละ 15-30 นาที อาการต่างๆก็จะดีขึ้นตามลำดับ
3. ฝึกช่วยสะเดาะเคราะห์ให้กับตนเอง คนเราไม่ว่าจะป่วยหรือว่าการเงิน การงาน ภาวะสิ่งแวดล้อมมีแต่ความติดขัดบ่อยๆติดๆกัน หรือว่าฝันร้ายอยู่บ่อยๆฝันแต่นิมิตที่ไม่ดี ขอให้เข้าใจว่า ดวงกำลังไม่ค่อยจะดี อกุศลกรรมวิบากเริ่มมาหาท่านแล้ว ท่านควรจะระวังเนื้อระวังตัว ทำอะไรก็อย่าประมาท อย่าให้เรื่องเล็กกลายเป็นเรื่องใหญ่ และหลายๆท่านชอบไปหาคนมาช่วยทำการสะเดาะเคราะห์ ขอแนะนำท่านช่วยเหลือตนเองดังนี้

หน้า380

พยายามทำบุญด้วยความไม่เห็นแก่ตัว พร้อมที่จะช่วยเหลือคนอื่นให้พ้นทุกข์เสมอ หมั่นสวดมนต์ไหว้พระฝึกปฏิบัติจิตให้สงบ จะได้ไม่ทำอะไรวู่วาม ปล่อยสิ่งมีชีวิตที่ถูกกักขังให้ได้ความอิสระ โดยเฉพาะปล่อยสัตว์ที่เขากำลังจะนำไปฆ่ายิ่งดี กระทำเป็นระยะหนึ่งจนกว่าจะพ้นดวงมืด และทุกปีก่อนครบวันเกิด 30 วัน ก็ควรปฏิบัติทำบุญเช่นนี้
ดวงไม่ค่อยดี ส่วนมากเมื่ออายุลงท้ายด้วยเลข 9-0 หรือตรงที่ใกล้จะครบวันเกิดในรอบปี หรือเมื่ออายุ 24 จะขึ้น 25 บริบูรณ์ที่เรียกว่า เบ็ญจเพศ เมื่อพ้นกำหนดที่จังหวะดวงไม่ดีก็ต้องปฏิบัติสร้างบุญกุศลอีก 30 วัน
เรียกว่า
“ มาก็ทำบุญต้อนรับ ไปก็สร้างกุศลหนุนส่ง ”

เรียนพระธรรมแท้ผูก ไมตรี
รวมเหล่าหมู่คนดี ก่อตั้ง
ชมรมเพื่อเกิดมี ในสัตย์ธรรมนา
เผยแพร่ธรรมเพื่อรั้ง แก่นแท้ศาสนา
(ของเก่า)
ชมรมธรรมไมตรีก่อตั้งขึ้นด้วยความปราถนาดีของคณะผู้สนใจธรรม ที่จะรณรงค์ทุกฝ่ายร่วมกันเผยแพร่ธรรมเพื่อสนับสนุนโครงการเผยแพร่วัฒนธรรม และจริยธรรมอันดี ให้จรรโลงสืบเนื่องต่อไปในมนุษย์ชาติให้อยู่ร่วมกันอย่างสงบ สันติสุข
ดังนั้น คณะผู้ก่อตั้งจึงได้สำรองจ่ายเงินเพื่อจ้างพิมพ์หนังสือธรรมทั้งหลาย ที่มีเนื้อหาเน้นหนักในด้านคุณค่า และจะพยายามเผยแพร่ให้กว้างขวางที่สุดโดยส่งไปเผยแพร่ตามห้องสมุดโรงเรียนและหอสมุดทั่วประเทศ
ผู้ใดมีปัญญา มีแรงงาน มีโอกาสก็จอให้ช่วยกันประชาสัมพันธ์เผยแพร่ให้กว้างขวางยิ่งๆขึ้น ผู้ใดมีปัจจัยก็สนับสนุนด้วยปัจจัย
อนึ่ง ท่านที่ส่งปัจจัยเพื่อร่วมทำบุญเพื่อในการจัดพิมพ์หนังสือนั้นคณะผู้จัดพิมพ์ก็จะจัดส่งหนังสือไปมอบแด่ท่านเพื่อร่วมสร้างกุศลเผยแพร่ต่อๆไป ตามคติธรรมที่ว่า
“ ร่วมแรงลงทุนเผยแพร่ธรรม
ย่อมผดุงไว้ซึ่งสันติสุขแด่ชาวโลก ”

โครงการเผยแพร่ธรรมของชมรมธรรมไมตรี

เหตุการณ์ปัจจุบันของโลกได้เปลี่ยนแปลงไปมาก วุ่นวาย สับสน แก่งแย่ง ชิงดีชิงเด่นมากขึ้น บ้างก็เกิดสงครามด้วยอาวุธ บ้างก็เกิดสงครามทางเศรษฐกิจทำให้ทั่วโลกเกิดสงครามประสาทเครียดกันทั่วหน้าไม่เว้นคนรวยหรือคนจน ดังนั้น มวลชนจึงต่างหันเข้ามาพึ่งพิงหาความสงบ จากศาสนามากขึ้นด้วยความรักความเคารพ ต่อศาสนาพุทธอย่างสุดซึ้งเราคณะกรรมการชมรมธรรมไมตรี จึงขันอาสาด้วยความปรารถนาดีอันยิ่งใหญ่ที่จะเป็นแกนนำในการเผยแพร่ หลักคำสอนของพุทธองค์ทางสายกลางเพื่อดับทุกข์อย่างถูกวิธีไม่แบ่งแยกนิกาย
จึงขอประกาศเชิญชวนท่านร่วมสละแรงกาย เข้ามาจัดห่อหนังสือส่งออกไปเผยแพร่ให้กว้างขวาง สละปัจจัย ตามกำลังศรัทธา เพื่อเข้ามาเป็นกองทุนสนับสนุนในการทำงานดังนี้

1.แจกหนังสือ ไปยังวัดทั่วประเทศ ห้องสมุดทุกแห่งโรงเรียนทุกระดับ มหาวิทยาลัย เพื่อหวังให้ความรู้ทางสายกลางที่ถูกต้อง เข้าถึงชาวพุทธอย่างทั่วถึง เป็นการพิทักษ์คุ้มครองให้ศาสนาพุทธเที่ยงตรง เกิดประโยชน์แก่ชาวพุทธอย่างแท้จริง

2. จัดอบรมทุกวันอาทิตย์ต้นเดือน ที่บ้านชมรมธรรมไมตรีตั้งแต่ 7.00 น.-17.00 น.เริ่มจากศีล สมาธิ วิปัสสนาปัญญาแบบง่ายๆให้เข้าใจ เพื่อนำไปพัฒนาชีวิตให้สงบสุขทั้งกายและใจ

3. จัดบวชพระเณร(ฟรี)ที่วัดธารนํ้าตกหลังเหว

ช่วงกลางเดือนมีนาคม-เมษายนทุกปี จัดบวชสามเณรระยะสั้นเพื่อสร้างพื้นฐานในการควบคุมอารมณ์ให้ถูกต้องในการเป็นคนดี

ช่วงเข้าพรรษาจัดบวชพระเข้าจำพรรษา ที่วัดธารนํ้าตกหลังเหว ท่านที่สนใจบวชพระ-เณร(ฟรี)ติดต่อได้ที่บ้านชมรมธรรมไมตรี ท่านที่จะสละเงินตั้งกองทุนบวชสามเณรองค์ละ 1,000 บาท บวชพระองค์ละ 2,000 บาท หรือตามกำลังศรัทธา

ท่านที่อ่านหนังสือแล้วสงสัยมีปัญหา โปรดเขียนจดหมายเข้ามาถามได้ หรือร่วมทำบุญเพื่อบวชพระ รับหนังสือไปเผยแพร่โปรดติดต่อมายัง อาจารย์ ยุทธพงษ์ แสงอรุณกุศล ที่ 59/303 บ้านชมรมธรรมไมตรี สุดซอย 15 หมู่บ้าน ป.ผาสุข ถนนบรมราชชนนี (ปิ่นเกล้า-นครชัยศรี) บางระมาด ตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร 10170 โทรศัพท์ 02-4483592 (ธนาณัติสั่งจ่าย ปณ.ตลิ่งชัน 10170 )

หนังสือนี้จัดพิมพ์โดย

หนังสือเล่มนี้และหนังสืออื่นๆของชมรมธรรมไมตรีมีโครงการจัดถวายวัดทั่วประเทศ 32,000 วัดต้องใช้ปัจจัยจำนวนมากขอเชิญร่วมทำบุญสมทบ เพื่อเป็นทุนในการจัดพิมพ์เผยแพร่ต่อไป
ค่าจ้างพิมพ์ปกแข็งกระดาษปอนด์อย่างดี เล่มละ 100 บ.
ปกอ่อนกระดาษปรุ๊ฟ เล่มละ 60 บ.

พิมพ์ที่ ห.จ.ก รุ่งเรืองสาส์นการพิมพ์ 93-93/1 ถนนนครสวรรค์ เขตป้อมปราบ กทม. โทร.02-2814291,02-2814283,02-2824520
หนังสือที่พิมพ์ออกจำหน่ายแล้ว

แนวคำสอนสมเด็จโต – สมาธิ ทางสงบ ถอดจิต ราคา 60 บาท

ประสบการณ์จากสมาธิ – วิญญาณ 1 ราคา 60 บาท

ประสบการณ์จากสมาธิ – วิญญาณ 2 ราคา 60 บาท

ประสบการณ์จากสมาธิ – วิญญาณ 3 ราคา 60 บาท

ประสบการณ์จากสมาธิ – วิญญาณ 4 เพ่งนิมิตส่องใจ
ราคา 60 บาท

กฎแห่งกรรมชุดที่ 1 ท้าพิสูจน์ตายแล้วฟื้น ราคา 60 บาท

กฎแห่งกรรมชุดที่ 3 คู่มือแก้กรรม ราคา 60 บาท
สั่งซื้อหนังสือได้ที่

อาจารย์ ยุทธพงษ์ แสงอรุณกุศล ที่ 59/303 บ้านชมรมธรรมไมตรี สุดซอย 15 หมู่บ้าน ป.ผาสุข ถนนบรมราชชนนี (ปิ่นเกล้า-นครชัยศรี)
บางระมาด ตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร 10170 โทรศัพท์ 02-4483592

(ธนาณัติสั่งจ่าย ปณ.ตลิ่งชัน 10170 )

ขอขอบคุณ : kmbcnr.files.ล.com/

. . . . . . .