ชีวประวัดิ พระคุณเจ้า หลวงปู่หลุย จันทสาโร ๐๕

ชีวประวัดิ พระคุณเจ้า หลวงปู่หลุย จันทสาโร ๐๕

จากหนังสือ จันทสาโรบูชา

โดยคุณหญิงสุรีย์พันธุ์ มณีวัต

พรรษาที่ ๑๕ พ.ศ. ๒๔๘๒

คงอยู่ในเขตเถื่อนถ้ำจังหวัดเลย

จำพรรษา ณ ถ้ำผาปู่ ต.นาอ้อ อ.เมือง จ.เลย

ในเขตจังหวัดเลยนั้น เดือนธันวาคม มกราคม เป็นเดือนที่อากาศหนาวที่สุด บางปีถึงกับมี “แม่คะนิ้ง”หรือน้ำค้างแข็งจับตามใบไม้ ปี ๒๔๘๑ นั้นวันขึ้นปีใหม่ยังเป็นวันที่ ๑ เดือนเมษายน และวันสิ้นปีคือ วันที่ ๓๑ มีนาคม ฤดูหนาวปลายปี ๒๔๘๑ ซึ่งคือปลายธันวาคม มกราคม ท่านก็หลบอากาศชื้นของถ้ำผาบิ้งออกวิเวกต่อไปทางพื้นที่ราบ ท่านแวะพักบ้านม่วง แล้วเลยไปทางท่าลี่ ข้ามแม่น้ำโขงไปเมืองแก่นท้าว ฝั่งลาว เพื่อโปรดญาติฝ่ายโยมบิดา พักอยู่เดือนเศษ แล้วกลับมาทางเพชรบูรณ์ ไปหล่มสัก โปรดญาติฝ่ายโยมมารดาด้วย วิเวกไปด้วย

อันที่จริงการวกมาทางเพชรบูรณ์นั้น ก็มิได้เป็นการหลบความหนาวของอากาศภูเขาเท่าใดนัก เพราะเขาทางเพชรบูรณ์ก็สูงลิ่ว และหนาวเช่นกัน หากเป็นตอนปลายฤดูหนาวแล้ว จึงค่อยยังชั่วมาก ท่านบอกว่า การเที่ยวธุดงค์สมัยนั้นธรรมชาติจะมีความสงัดวังเวงมาก ต้นไม้สูงใหญ่แหงนคอตั้งบ่า พวกไม้มีค่า เนื้อแข็งเช่น ตะเคียนทอง มะค่า ไม้แดง ไม้ประดู่ ยังเกลื่อนป่า เวลาอยู่บนยอดภู ไม่ว่าจะเป็นที่จังหวัดเลย หรือเพชรบูรณ์ เช่น ภูเรือ ภูหลวง หรือภูหอ มองเห็นภูเขาลูกแล้วลูกเล่าสลับซับซ้อนกันดุจละลอกคลื่นในทะเลลึก ภูเขาเหล่านั้นยังปกคลุมด้วยต้นไม้ใหญ่ขึ้นเบียดเสียดกัน ไม่กลายเป็นภูเขาหัวโล้นไปมากมายแล้วเช่นในทุกวันนี้

ท่านจะสรรเสริญการธุดงค์และเสนาสนะป่าอยู่เสมอ ท่านบันทึกไว้ว่า

“เห็นไม้ ภูเขา ป่าใหญ่ จิตใจตื่นเต้นด้วยสติทุกอิริยาบถ ทั้งวิเวกสงัดด้วยไตรทวารประกอบด้วยภัยอันตรายต่าง ๆ สะดวกแก่การภาวนา จิตใจถึงมรรคผลได้เร็วไม่มีนิวรณ์ตามรบกวน”

จากหล่มสัก ท่านกลับมาถ้ำผาบิ้ง ก่อนวันวิสาขบูชาเพียงวันเดียว (เหมือนแก่นท้าว)

จากหล่มสักมาถึงถ้ำผาบิ้ง วันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือนหก พ.ศ.๘๒ (ตรงกับวันที่ ๒ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๘๒—–ผู้เขียน) เจริญสมณธรรม จิตเสมอดีกว่าแต่ก่อนนั้นมาก ถึงอาพาธทำจิตให้เป็นส่วน ๆ แสดงธรรมพอเป็นไปได้ ดีกว่าอยู่หล่มสักหลายเท่าพันทวี

ท่านพักบำเพ็ญเพียรที่ถ้ำผาบิ้งจนถึงเดือนเจ็ด

“๑๙ – ๒ – ๘๒ (วันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๔๘๒…เดือนที่ ๒ ของปี ๒๔๘๒ คือ พฤษภาคม….ผู้เขียน) พิจารณาจิตเป็นอัพยากฤต รู้เองเห็นเอง พึงเห็นอานิสงส์ใหญ่ คือจิตหยั่งลงไปรากแก้ว รู้กรรมของนามธรรมและรูปธรรมอาศัยกันเป็นอยู่ แต่ชอบเข้าทางนิมิตของหญิง ธรรมะแสดงเอง ปล่อยรู้ตามเห็น ตามความเป็นเองของธรรมชาติ หายสงสัยจิตฟูสงสัย (จิตรู้มากกว่าเก่า กว้างขวางกว่าเก่ามาก มีมโนภาพอันแปลก ๆ เป็นอัศจรรย์ของธรรมะชั้นละเอียด) จิตยังข้องอยู่ในโลก… ไม่มีวินัยคุม อาศัย มีแต่ธรรมะคุม อาศัยพิจารณาความตายเห็นประจักษ์”

ปี ๒๔๘๒ ท่านจำพรรษา ณ ถ้ำผาปู่ ระยะนั้นเข้าใจว่า ยังมิได้มีการจัดตั้งเป็นวัด ดังในสมัยปัจจุบัน ขณะอยู่ที่ถ้ำผาปู่ ท่านก็อนุสรณ์ถึงการภาวนาตามสถานที่ได้วิเวกมาว่า

“การอยู่แก่นท้าว ทำความเพียรไม่สู้ดี ท่าลี่ ไม่สู้ดี บ้านม่วง ก็ไม่สู้ดี ในถ้ำผาปู่ ดีมาก หมู่เพื่อนไม่สู้เพราะเป็นคนใหม่แต่เขาตั้งใจดี เณรพระกังวลในกาลหน้ามาก อยู่แก่นท้าวและบ้านเมืองเดือนกว่า หมู่เพื่อนเป็นคนบ้านป่าบ้านคอน เป็นคนไร้การศึกษา สอนยาก หยาบทั้งกายและวาจาทั้งใจ”

ทางถ้ำผาปู่ ดีแต่อาพาธมักป่วย แต่ภาวนาดีทั้งกลางวันกลางคืน ภายในจิตละเอียดมาก แต่กังวลด้วยอาหารไม่ช่วยข่มจิต ไม่ชอบปล่อยจิตนี้เป็นจิตกำเริบ แต่เมื่อเวลาผ่อนอารมณ์ปันส่วนวางอุปาทานค่อยปลอบจิต จึงวางอารมณ์ได้ จึงรู้อารมณ์ที่เป็นปกติ นี้เป็นกระทู้สำคัญ แล้วมีนิมิตปฏิภาคแสดงแล้ววางจิตนอน ทำวิธีนี้รู้สึกว่าโรคหายมาก จึงรู้ว่าโรคเกิดขึ้นเพราะกดจิตและข่มจิต ตรึงจิต เส้นประสาทตรึง เลือดลมเดินไม่สะดวก ให้ธาตุพิการ จิตก็พิการ (ทำให้จิตฟู วางตามสภาพนั้นดีมาก) พิจารณาให้รู้จักนิสัยของจิตและอารมณ์ กลั่นเอาที่นั้นมาเป็นตัวธรรมบำรุงความรู้ความฉลาด อยู่ในถ้ำภูมิสถานอุ้มจิต จิตอ้มภูมิสถานจิต แจบจม ดี รู้สึกและตื้นจิตรู้สึกว่ามีกำลังมาก ๆ ฝันก็เป็นมงคลดี ไม่เป็นลามก แต่มักป่วย จิตชอบแสวงหาสัญญา ในทางราคะ ชอบเพ่งนิมิตหญิงเพื่อรู้เท่าอสุภะ เป็นตัวภาวนาหลักของจิต จะแก้ไขให้ภาวนาทางอื่นนั้น ไม่ได้”

การจะกล่าวถึงลักษณะสถานที่จำพรรษาของหลวงปู่ ณ ถ้ำผาปู่นี้ สมควรจะเชิญโวหารสำนวนที่ท่านเขียนไว้เอง ในเวลาอีก ๒๔ ปีต่อมา กล่าวพรรณนาถึงถ้ำผาปู่ในโอกาสถวายกฐินทาน ปี ๒๕๐๖ ความว่า

“ถ้ำผาปู่ เป็นภูเขาเอกเทศลูกหนึ่งต่างหาก มีถ้ำเล็กถ้ำใหญ่โดยรอบภูเขา มีหินผาขึ้นสูง ๆ ต่ำ ๆ มีหินผาเป็นที่เจริญตาเจริญใจ ประกอบต้นไม้แนวป่าน่าทัศนาการนั้นหนักหนา เป็นถิ่นที่ห่างไกลจากบ้าน เป็นที่น่าเจริญสมณธรรมแก่พระโยคาวจรเจ้าทั้งหลาย ที่เดินจรมาจากจตุรทิศทั้ง ๔

ถ้ำผาปู่เป็นสถานที่เป็นมงคล เป็นสถานที่วิเวก เงียบสงัดเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นสถานที่เอกชนนิยมมาก เป็นสถานที่นับถือกันสืบมาแต่โบราณกาล เป็นมงคลดุจเทพมีมาก เป็นสถานที่ดึงดูดน้ำใจของเอกชนให้มาดู

สภาพถ้ำผาปู่นั้นเรื่อย ๆ ถ้ำผาปู่เป็นสถานที่มีชื่อเด่นไปต่างจังหวัดอื่น ในระยะทางใกล้และทางไกลของประเทศไทย สถานที่ถ้ำผาปู่เป็นสถานที่หย่อนใจของชาวเมือง มีข้าราชการ พ่อค้าพาณิชย์ตลอดชาวไร่ ชาวนา พากันมานมัสการพระพุทธรูปปฏิมากร เจดียสถานในฤดูเทศกาลปีใหม่เรื่อย ๆ หากว่าเป็นเช่นนี้ ก็ควรหนักควรหนาที่ชาวจังหวัดเลยของพวกเราจะได้ช่วยกันบูรณะปฏิสังขรณ์ขึ้นเป็นอย่างดี เพื่อบุตรลูก บุตรหลาน บุตรเหลน สืบมรดกไปอนาคตข้างหน้า”

“การนำกฐินทานมาถวายสงฆ์ ณ ถ้ำผาปู่ โดยเห็นประโยชน์ไพศาลว่า พระภิกษุสงฆ์ซึ่งได้พร้อมฉันทะ ต่างถิ่น ต่างจังหวัด ต่างอำเภอพากันมาจำพรรษา ณ ถ้ำผาปู่ ตลอดไตรมาส ๓ เดือน เฉพาะเป็นพระวิปัสสนาธุระ รักษาธุดงค์ ความสันโดษ มีรับภัตตาหารวันละครั้งเป็นอาทิ ซึ่งพากันประพฤติพรตพรหมจรรย์ตามศาสโนวาทขององค์สมเด็จพระพุทธเจ้าทั้งสิ้น แม้ภิกษุสามเณรมีจำพรรษา ณ อาวาสนี้ บางองค์มีสมณบริขาร ไตรจีวรชำรุด เพื่อจะได้ผลัดเปลี่ยนให้ถูกต้องตามพระวินัยนิยม”

“อนึ่ง ผู้ถวายกฐินทานนั้น จำเป็นแท้ที่จะต้องสิ้นเปลืองเงินทองไปมาก ไหนจะต้องจ่ายซื้อเครื่องสมณบริขารอุปกรณ์ทุกอย่าง ไหนจะต้องงบงันเลี้ยงแขกเลี้ยงคนทุกอย่าง มีทั้งครุภัณฑ์ลหุภัณฑ์หลายอย่างหลายประการ ซึ่งเห็นแก่พระพุทธศาสนา มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นอย่างยิ่ง เพราะผู้ถวายมุ่งต่ออานิสงส์ใหญ่ไพศาลที่จะนำไปสู่สุคติโลกสวรรค์ ”

“สงฆ์ตั้งแต่ ๕ รูปขึ้นไป เป็นสงฆ์ปวารณา เป็นสงฆ์ควรรับกรานกฐิน ท่านเป็นสงฆ์บวชในปัจจันตประเทศได้ ที่พระองค์ตรัสไว้ในพระวินัยนิยม สงฆ์เหล่านี้ล้วนแต่บวชญัตติจตุตถกรรม สืบเนื่องมาจากองค์สมเด็จพระพุทธเจ้าทั้งนั้น ไม่ใช่สงฆ์ลักเพศบวชด้วยตนเอง สงฆ์เหล่านี้มีสิทธิที่จะทำสังฆกรรมน้อยใหญ่ให้สำเร็จได้ เพราะฉะนั้น การถวายสังฆทานต่อสงฆ์ดังที่กล่าวแล้ว จึงมีอานิสงส์มาก”

“ผลทานที่พวกท่านทั้งหลายถวายแล้วในวันนี้ ขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัย แก้วทั้ง ๓ ประการ จงดลบันดาลให้…..”

*****

ความจริง แต่แรกคิดจะนำความเฉพาะที่ท่านพรรณนาถึงลักษณะถ้ำผาปู่มาลงพิมพ์เท่านั้น แต่เมื่ออ่านไป เห็นความงามในกวีรสที่ท่านรจนาเขียนถึงการกฐินทานอย่างไพเราะ จึงอดมิได้ที่จะนำมาลงจนจบกระแสความ ให้เราชื่นชมกับอัจฉริยภาพในการเขียนของท่านอีกประการหนึ่ง

ออกพรรษา ปวารณาแล้ว แม้จะป่วยบ่อย ๆ แต่การภาวนายังดีมากอยู่ท่านจึงยังคงพักทำความเพียรอยู่ ณ ถ้ำผาปู่ต่อไปอีกระยะหนึ่ง แล้วออกเที่ยวธุดงค์ต่อไปตามวิสัยพระกัมมัฏฐาน

“มาพักเจริญสมณธรรมที่ วัดโพนนาอ้อ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๘๒ ภาวนาดีกว่าอยู่ทุกแห่ง มิได้กังวลอะไรทั้งหมด ได้คติที่สำคัญอีกหลายนัยอาหารเป็นสัปปายะ อากาศเป็นสัปปายะ บุคคลเป็นสัปปายะ เสนาสนะเป็นสัปปายะ ธาตุขันธ์ก็หายให้โอกาส”

ระหว่างการเดินธุดงค์ไปเรื่อย ๆ ในปลายปี ๒๔๘๒ นั้นท่านได้พบสถานที่แห่งหนึ่ง ซึ่งมีชัยภูมิดี เป็นมงคลแก่การบำเพ็ญความเพียร ชื่อ “บ้านหนองบง” อยู่ในเขตตำบลหนองงิ้ว อำเภอเดียวกับถ้ำผาบิ้ง คืออำเภอวังสะพุง ความจริงท่านตั้งใจจะกลับไปถ้ำผาบิ้ง ด้วยรู้สึกถึงรสชาติอันน่าพอใจในการภาวนา ณ ที่ถ้ำผาบิ้งอยู่มากและมีญาติโยมรออยู่ ณ ที่นั้นด้วย แต่บังเอิญมาพบสถานที่ถูกใจแห่งใหม่ คือบ้านหนองบงแห่งนี้เข้า จึงเลื่อนการเดินทางไปถ้ำผาบิ้งออกไปก่อน

บ้านหนองบงมีลักษณะเป็นเนินสูงขึ้นมา มีลำคลองเล็ก ๆ ผ่านกลาง ต้นไม้ในบริเวณบนเนินนั้น แต่ละต้นสูงใหญ่ เขียวขจีตลอดปี บนไหล่เนินตอนหนึ่งมีน้ำซับกล่าวคือ เป็นบ่อน้ำเล็ก ๆ จะตักน้ำไปเท่าไหร่ก็ไม่มีหมดไม่มีแห้ง คงมีน้ำผุดไหลรินซับขึ้นมาจากพื้นดิน ชาวบ้านเรียกกันว่า น้ำซำ แต่ น้ำซำ ที่หนองบงนี้ มีลักษณะพิเศษ เป็นสีเหลืองอ่อน ๆ ซึ่งถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์ เป็น น้ำคำ หรือน้ำทองคำ

ทางอีสานถือกันว่า น้ำซำ ที่ใด เป็น น้ำคำ เป็นน้ำของพวก บังบดหรือ ภุมมเทวดา ซึ่งถือศีล ๕ มีชาติภูมิอยู่ใกล้กับมนุษย์ที่สุด เมื่อจะไปขอมากินมาใช้ก็ต้องทำด้วยความเคารพต่อเจ้าของ น้ำคำจะไม่แห้งเลยตลอดปี ไม่ว่าดินฟ้าอากาศจะแห้งแล้ง ทำให้บ่อน้ำต่าง ๆ ในภาคอีสานแห้งจนเหลือแต่ทรายเพียงใด แต่ น้ำซำที่เป็น น้ำคำ นี้จะยังคงมีน้ำอยู่ให้เห็นเต็มแอ่งเต็มบ่อตลอด บริเวณรอบน้ำซำ ถือเป็นที่หวงแหนของเทพยดาอารักษ์โดยรอบ ไม่มีใครกล้าไปตัดฟันต้นไม้ใหญ่ เพราะจะเกิดป่วยเจ็บล้มตายหรือสติเสีย บางครั้งมีคนไม่เชื่อ ไปตัดทำลายต้นไม้ ก็อาจมีม้าหรือสุนัขรูปร่างประหลาดวิ่งเข้าไปในหมู่บ้านในเวลาค่ำคืน เห็นประจักษ์กันหลายคนแล้วก็จะเกิดเหตุให้ผู้ทำผิดอาเพศหรือครอบครัวของผู้นั้นป่วยไข้ขึ้นมา ต้องให้ไปสมาลาโทษกัน

ผู้เขียนเอง ระหว่างติดตามครูบาอาจารย์ไปธุดงค์ พบน้ำซำ หรือน้ำซับแบบนี้สี่ห้าครั้ง คราวหนึ่งเป็นแอ่งหินเล็ก ๆ กว้างยาวไม่ถึงเมตร ลึกเพียงครึ่งเมตรมีน้ำไหลรินตลอดเวลา แต่ก็ไม่ล้นเกินขอบอ่าง หากตักมาใช้ อาบ กิน ทำอาหารก็จะผุดขึ้นมาทดแทนให้ตักไปได้ไม่มีขาด แอ่งหินแห่งนี้เราไปธุดงค์กันยี่สิบกว่าคนก็คงมีน้ำให้พอใช้ตลอด อย่างไรก็ดี วันหนึ่งพวกเราคนหนึ่งไปอาบน้ำตรงแอ่งนั้น ทั้ง ๆ ที่ห้ามกันแล้ว ว่าน้ำนั้นทั้งใช้เป็นน้ำดื่ม เป็นน้ำทำอาหาร และน้ำใช้ น้ำอาบซึ่งรวมทั้งของพระและเณรด้วย น้ำจากที่อาบคงจะกระเซ็นลงไปในแอ่งหิน ผลก็คือน้ำที่เคยเปี่ยมขอบแอ่งหินกลับแห้งสนิททันที ท่านอาจารย์ว่า “ไปทำผิด ‘เขา’ ไม่ให้น้ำใช้แล้ว” เราต้องย้ายที่วิเวกทันที

อีกแห่งหนึ่ง เป็นแอ่งดินบนยอดเขา ขนาดบ่อใหญ่กว่ารายที่กล่าวมาแล้วหนึ่งเท่าเมื่อการ “ผิด” ขึ้นก็แห้งลงทันทีเช่นกัน แต่จำนวนคนไปน้อยกว่า ท่านอาจารย์ท่านจึงมีเวลาเจรจา “ขอ” กัน ขออยู่ ๒ วัน ท่านว่า ถ้า “เขา” ไม่ยอมก็ต้อง “หนี” อยู่บนยอดเขาไม่มีน้ำจะทำอย่างไร ผลสุดท้าย “เขา” ก็ยอมให้ รุ่งเช้าบ่อที่แห้งสนิทก็มีน้ำเต็มทันที ยังกับเปิดก๊อกน้ำใส่ตุ่ม….!

รายหลังนี้ ท่านว่า เป็นพญานาค ไม่ใช่พวกบังบดอย่างรายแรก

ณ ที่บริเวณน้ำซำ บ้านหนองบงนี้เอง ที่หลวงปู่แวะมาพักเจริญสมณธรรมในต้นเดือนกุมภาพันธ์ปี ๒๔๘๒

“๑๐/๑๑/๘๒ (ตรงกับวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๒—–ผู้เขียน) พักเจริญสมณธรรมที่หนองบง สถานที่วิเวกทั้งกลางวันกลางคืนดีนัก จิตเจตสิกนิ่มนวล สุขุมมาก ปฏิภาคนิมิตแสดงส่อขึ้นในดวงจิตเสมอ ดีกว่าทุกๆ แห่ง อยู่ได้แต่ฤดูแล้ง ฤดูหนาว ฤดูฝนอยู่ไม่ได้ ภาวนาดีทั้งกลางวันและกลางคืน ราคะกำเริบเป็นคราว ๆ สืบเป็นคราว ๆ โรคภัยให้โอกาสดี อาหารเป็นสัปปายะ อากาศเป็นสัปปายะ บุคคลเป็นสัปปายะ ฝันก็เป็นมงคล สถานที่เที่ยววิเวกมีจำนวนมาก อารมณ์ไม่มาก รักษาความสันโดษดี เป็นสถานที่พระโยคาวจรเจ้าแสวงหา โคจรคามไม่ใกล้ไม่ไกล—–พอดีรักษามั่นคงอยู่ในการภาวนา จิตไม่กำเริบฟุ้งซ่าน”

โดยที่ท่านตั้งใจจะไปนำชาวบ้านสวดมนต์ไหว้พระในวันมาฆบูชา ท่านจึงกลับถ้ำผาบิ้งอีก

“วันเพ็ญเดือน ๓ พ.ศ. ๘๒ (ตรงกับวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๒—–ผู้เขียน) ผาบิ้ง ค้นดูอนุสัย สิ่งที่ไม่รู้ก็รู้ สิ่งที่ไม่เห็นก็เห็น ธาตุพิการเหมือนแต่ก่อน อนุสัยฟุ้งขึ้นมาให้เห็นแจ่มแจ้งดี จิตยั่งยืนในการทรมานจิต ไม่ย่อท้อพิจารณาถึงขนอนอนุสัย การเทศนาดีนั้นจิตเสีย การพูดดีนั้นจิตเสีย อารมณ์นอกดูดเอาไปกินหมด กรรมอาพาธมักติดนิสัยเป็นนิจ ต่างแต่ราคะมักเกิดใกล้อันตรายเสียจริง ผิดแต่ก่อนนั้นมาก

“ข้อสำคัญ เลือกฟั้นเอาธรรมะที่เกิดเฉพาะในดวงจิต พิจารณาตามนิสัยของตนไปตามลำดับ ๑ เพ่งไม่ให้จิตเป็นตัณหา ๑ ให้จิตไปอย่างกลาง ๆ อย่าให้ดลความรักความชั่ว เห็นความรู้เขยิบขึ้นทุกที ๆ ราคะเบาบางรับรู้อารมณ์ทุก ๆ อย่าง จิตชอบสงัด เพ่งเหตุผลปัจจุบันถูกไม่ผิด เห็นเหตุผลยืดยาว อาพาธก็ถอยไม่ค่อยกำเริบ ต่างแต่น้ำใจไม่สู้เด็ดเดี่ยว เห็นความมั่นคงของศาสนา”

“เจริญภาวนาดีกว่าเมื่อคราวก่อนนั้นมาก ตรวจดูจิตละเอียดดี รู้ความเสื่อมความเจริญของจิต น้ำใจกล้าหาญต่อความเพียร เพ่งอยู่เป็นนิจ พิจารณาความเป็นเองจิต นิมิตความฝันก็เป็นมงคล โรคก็ให้โอกาส

เมื่อได้นำชาวบ้านถือศีลภาวนาระยะหนึ่ง หลวงปู่รำลึกถึงความเย็นอกเย็นใจจากการบำเพ็ญเพียร ที่บ้านนาหนองบง สถานที่สงัดเงียบ ท่านเล่าให้ฟังภายหลังว่ามีรุกขเทพมาก ท่านก็ย้อนกลับไปที่บ้านหนองบง

“มาพักเจริญสมณธรรมที่หนองบง วันขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๔ พ.ศ. ๘๒ (วันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๔๘๒—–ผู้เขียน) ได้รับความเย็นใจมาก ดีกว่าอยู่ทุก ๆ แห่ง ได้ทำความเพียรทั้งกลางวันกลางคืน ความรู้เกิดสุขุมมากปฏิภาคนิมิตแสดงมาก ฝันก็เป็นมงคลดี โรคไม่ค่อยกำเริบดีกว่าถ้ำผาปู่

“หนองบง วันแรม ๕ ค่ำ เดือน ๔ พ.ศ. ๘๒ (วันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๔๘๒—–ผู้เขียน) ภาวนานั้น จิตสงัดเงียบพิจารณาความตายแนบเนียนสนิทดี พ้นจากวิจิกิจฉา ความสงสัย ดีตลอดวันตลอดคืน มิได้กังวลในสิ่งทั้งปวง จิตไม่ฟุ้งซ่าน เห็นอานิสงส์ว่าอยู่คนเดียวจะมีกำลังมาก สัญญาไม่มาก ไม่ระคนด้วยหมู่ เห็นความรู้ที่เกิดในปัจจุบันจิต แม้จะดูหนังสือมากก็ไม่ติดสัญญา ชอบพิจารณาความเกิดในสติปัฏฐาน จิตปีนี้มีกำลังกว่าเมื่อปีกลายนี้ จิตไม่ติดทางอาหาร”

ระยะนั้นกำลังเป็นเวลาสงครามอินโดจีน กล่าวคือ ไทยได้เรียกร้องดินแดนทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงคืนจากฝรั่งเศส มีการสงครามกันบ้าง เรียกสั้น ๆ ว่า สงครามอินโดจีน เป็นผลให้ประเทศไทยได้ดินแดนบางส่วนคืนมา เช่น พระตะบอง เสียมราฐ ศรีโสภณ รวมทั้งนครจำปาศักดิ์ แต่ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ก็ต้องคืนไป อย่างไรก็ดี ข่าวการสู้รบของสงครามก็ยังมี ในฐานะอยู่ในเพศบรรพชิต นอกจากการแผ่เมตตาแล้ว ท่านได้ใช้ภาวะการสงครามเป็นบาทของการภาวนา

“ดูหนังสือพิมพ์เรื่องสงครามเท่าไร จิตยิ่งมีกำลัง เพราะเป็นเทวทูตส่งข่าวบอกความตาย และปลงกระแสของจิตให้ว่องไวตามนั้น ยิ่งทำจิตเร่งให้ภาวนาเข้าเนือง ๆ ความกลัวและความประมาทก็น้อยลง นอกจากธรรมะเป็นที่พึ่งแล้วไม่มีอะไรเป็นที่พึ่ง”

“ภายในจิตชอบอุ้มบริษัทคือพรหมวิหาร นิสัยชอบเป็นสาธารณะไม่เพ่งให้ความสุขเฉพาะตัวและตระกูล ชอบเพ่งทั่วไป เข้าใจแต่ว่าชีวิตจะไม่คงทนอยู่เสมอ”

“มาระลึกถึงโทษได้ว่าอาพาธเพราะทำจิต ๑ เกิดความสงสัยวินัย ๑ จิตวิบัติ ๑ รวม ๓ อย่างนี้โทษถึงตาย”

พรรษาที่ ๑๖ พ.ศ. ๒๔๘๓ เกิดอัศจรรย์ในดวงจิต

จำพรรษา ณ โพนสว่าง ต. นาอ้อ อ. กุดบาก จ. สกลนคร

หลวงปู่พักปฏิบัติธรรม ทำความเพียรอยู่ ณ บ้านหนองบง ต่อไปจนถึงวันขึ้นปีใหม่ เดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๘๓

จากหนองบง ท่านต่อไป ไร่ม่วง ไป หนองผักก้าม แล้วกลับมา ถ้ำผาปู่ แต่ต้นเดือนกรกฎาคม อยู่จนถึงวันขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๘ ก็ออกจากถ้ำผาปู่ ไปถึงบ้านโพนสว่าง นาอ้อ ในวันรุ่งขึ้น วันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๘ เตรียมปวารณาเข้าพรรษา ปี ๒๔๘๓ ที่บ้านโพนสว่าง สกลนคร ทันที

แสดงว่า ท่านเดินทางเปลี่ยนสถานที่รวดเร็วมาก

“วันแรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๕ พ.ศ. ๘๓ (วันที่ ๑๔ เมษายน ๒๔๘๓….ผู้เขียน) นาพ่อสว่างไร่ม่วง สถานที่อากาศดี อาหารดี แต่ไม่สงบด้วยคนและสัตว์ ลักษณะจิตกลางคืนดี เพ่งดูนิสัยและนิมิตดี ตั้งแต่หัวค่ำไป กลางวันจิตไม่อยู่ ทำให้หงุดหงิด ไม่สบาย ใคร่อยากหนีไปอยู่แห่งอื่น แต่กลางคืนจิตอยู่ และธรรมที่เกิดในจิตสุขุมมาก คณะอุบาสกอุบาสิกาดี เด็กก็ดี บางกลางวันทำจิตก็ดี”

“พักหนองผักก้าม ๑๙/๒/๘๓ (๑๙ พฤษภาคม ๒๔๘๓….ผู้เขียน) เจริญภาวนาดีทั้งกลางคืนกลางวัน ดีกว่าบ้านม่วงมาก เงียบสงัดดี อากาศดี เสนาสนะดี อาหารพอ ภาวนาได้ดีเหมือนกะอยู่หนองบง เกิดความรู้อย่างสุขุม เสนาสนะห่างกันดีกว่าทุกแห่ง กุฏิกว้างขวางปรุโปร่งดี น้ำดี มิได้ฝันร้าย ผู้อื่นไม่พลุกพล่าน สัตว์ก็ไม่พลุกพล่าน สัญญาไม่มาก ไม่อยากหนีไปที่ไหน แม้แต่จะออกเดินไปเปลี่ยนอิริยาบถ”

ความจริงระหว่างอยู่หนองผักก้ามนี้ ท่านเคยคิดจะจำพรรษาที่นี้ เพราะเห็นว่าเงียบสงัดดี อากาศดี เสนาสนะดี การภาวนาก็ดีเช่นที่หนองบง ซึ่งท่านพอใจมาก หากเห็นว่าที่นั่นอากาศชื้นมาก อยู่ได้แต่ฤดูแล้ง เมื่อมาพบที่สัปปายะ อากาศดีที่หนองผักก้าม ท่านจึงตั้งใจจะจำพรรษา แต่สุดท้ายท่านก็คงต้องเปลี่ยนความคิด อ่านที่ท่านบันทึกไว้ในตอนต่อไปแล้ว อดน้ำตาคลอไม่ได้ ด้วยรู้สึกสงสารท่านสุดหัวใจ…โดยเฉพาะตอนสุดท้ายที่ท่านว่า “พอจำพรรษาได้ก็จำ ถ้าไม่พอก็ต้องออกเดิน”

๒๖/๒/๘๓ (๒๖ พฤษภาคม ๒๔๘๓….ผู้เขียน) ภาวนาดีทั้งกลางวันกลางคืน โรคร้ายก็ให้โอกาสดี จิตไม่ง้อคน จะมีอุปัฎฐากหรือไม่นั้นไม่น้อยใจ ตั้งใจอยู่แต่ภาวนาอย่างเดียว ไม่หวังทรมานคน พอจำพรรษาก็จำ ถ้าไม่พอต้องออกเดิน”

….แล้วท่านก็ “ต้องออกเดิน” จริง ๆ ท่านย้อนกลับไปถ้ำผาปู่อีก

มาถึงเดือน ๘ ขึ้น ๑ ค่ำ พ.ศ.๘๓ (ตรงกับวันที่ ๕ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๘๓) ณ ถ้ำผาปู่ กิเลสเกิดอย่างเต็มที่ การก่อสร้างเกิดเต็มที่ แต่คติตามทันรู้ว่านักบวชสมัยนี้มารมาก โดยอยู่ได้จะมีปัญญาใหญ่ ถ้าอยู่ไม่ได้เสียหายใหญ่ เพราะโลกอยู่กับธรรมชนกัน (สมัยราคะ โทสะ โมหะ จัด) ใครอยู่ได้เป็นปราชญ์เยี่ยมฯ

“นักปราชญ์จะอยู่ได้ต้องรักษาความสงบ รีบเร่งทำความดี เพียรให้ยิ่ง พอประทังตัวอยู่ได้ หากไม่ทำความเพียรเสียหายใหญ่โต เพราะนักบวชก็เสื่อม อุบาสิกาอุบาสกก็เสื่อม ต้องปฏิบัติตามมักน้อยจริง ๆ จึงปฏิบัติศาสนาได้ จนอภิชน ลาภก็เสื่อม คนนับถือก็เสื่อม จึงเห็นได้ว่า เสื่อมพร้อมกัน เจริญพร้อมกัน ดุจสัตว์ตายในสงครามหมด สัตว์อ้อนวอนขอเกิด ต่อไปศาสนาจะเป็นอย่างไรทราบไม่ได้ฯ ราคะแรงกว่าทุกอย่างฯ”

“ผู้ปฏิบัติเห็นประโยชน์ในศาสนาน้อย”

“จิตภาวนาอยู่ แม้คิดถึงคนใดคนนั้นย่อมป่วย แม้จะเป็นพระภิกษุหรือคฤหัสถ์ก็เหมือนกัน ถ้าไม่ป่วยก็ส่งเมตตาจิตถึงกัน เช่น ท่านอาจารย์มั่นมาอุดรฯ จิตเราอยากไปอุดรฯ ก่อนที่ไม่ได้ยินข่าวมา ส่วนป่วยนั้นเมื่อเราจำพรรษาอยู่อำเภอพล คิดถึงท่านอาจารย์สิงห์ มาหาท่านก็ป่วยจริง ๆ”

“๗/๔/๘๓ (๗ กรกฎาคม ๒๔๘๓….ผู้เขียน) อยู่ถ้ำผาปู่ ในคราวนี้กิเลสเกิดมาก โทสะไม่คอยเกิด แต่การก่อสร้างนั้นเกิดมาก จิตไม่มีหิริโอตตัปปะ เหตุมากอยู่ที่อื่น ไม่ค่อยเกิดร้ายแรงเหมือนอย่างนี้ ถึงเกิดก็ไม่นานกู่เดียวเห็น แต่จิตแนบเนียนดี สุขุมดี เห็นเหตุเห็นผล จิตติดอันใดย่อมอยู่ ณ ที่นั้นนาน”

“๑๐/๔/๘๓ (๑๐ กรกฎาคม ๒๔๘๓….ผู้เขียน) ผาปู่ นาอ้อ กิเลสรบกวนทุกคืน ใคร่จะออกเดินเมืองอื่นทุกคืน วางอารมณ์ยังไม่ได้ เหตุอดีตอนาคตนั้นมาก พิจารณาธรรมในปัจจุบันยังไม่ได้ จิตลงไปไม่ได้ทำให้อาพาธ ถอนจิตพิจารณาตามอารมณ์พอประทังตัวได้ จิตพุ่งตัดสินธรรมวินัยไม่ได้ พิจารณากรรมนั้นมาก โรคภัยเกิดขึ้นตามจิตวิบัติ แต่จิตยังมั่นอยู่ในที่วิเวก ไม่ชอบระคนด้วยหมู่ สำคัญว่าชีวิตจะไม่ยืน นอนยาก เข้าอนาปานุสติจึงนอนหลับ วิสัยจิตไม่วิ่งไปตามสัญญา จิตสันโดษในสมณบริขาร ชอบเป็นพ่อค้า เพ่งสมบัติบ้าง น้ำจิตยังกลัวตาย ปาฏิหาริย์ของท่านอาจารย์มั่นสำคัญมากยิ่งกว่าท่านอาจารย์สิงห์ ท่านอาจารย์เสาร์ชอบศึกษาจิตยิ่งกว่าเทศน์หรือทรมานคน พิจารณาศาสนาตกต่ำมาก ดีแต่พิจารณาอวัยวะร่างกายทะลปรุโปร่ง มิได้เป็นก้อนเหมือนเดิม จิตเชื่อมั่นในตอนนี้มากเพราะทำให้ละอุปาทาน จิตคฤหัสถ์เกิดขึ้นมากนั้นเป็นคราว ๆ สงบเป็นคราว ๆ สงสัยในพระวินัยเป็นบางประการ แต่ทำจิตแก้ได้ ”

“พิจารณาดุจเราถอดชากผี ลอยใกล้ฝั่งแล้วกระโดดขึ้นฝั่ง อานิสงส์อัพยากฤตนี้ดีมาก พิจารณาธรรมให้เกิดจากนิสัย ละเจตนา ละตั้งใจ พิจารณาความเป็นเอง เพราะกรรมเป็นอัพยากฤต ให้รู้เอง เห็นเองตามจริตและนิสัย”

“มาอยู่ถ้ำเหตุผลยิ่งเกิดกว่าที่อื่น ใกล้ต่ออันตรายมาก ไม่ค้นอนุสัยแล้ว แต่อนุสัยจะฟุ้งขึ้นมาให้ปรากฏแล้วก็อ่านดูตามเรื่องนั้น อย่าเชื่อจิต ให้เชื่อธรรมะคือความเป็นเอง คือความเกิด ความดับของสังขาร จิตจึงไม่ร้อน กระสับกระส่าย จึงแลเห็นปกติของจิต ก็ได้ชื่อว่าเห็นธรรม”

ถ้ำผาปู่ ขึ้น ๑๐ – ๑๑ เดือน ๘ พ.ศ. ๘๓ (ตรงกับ วันที่ ๑๔- ๑๕ กรกฎาคม ๒๔๘๓….ผู้เขียน) จิตยินดีรับพิจารณาอารมณ์ต่าง ๆ ไม่อยากทวนกระแสเข้าจิตเดิม เพราะมันร้อน พิจารณาไตรลักษณ์ไม่ใคร่ได้ กิเลสกำเริบ ต่างแต่พิจารณาธรรมะสุขุม ละลงเป็นชั้นๆ เยือกเย็นและพิจารณานิสัยของตนหวังเพื่อความสัปปายะของจริตจิตใจ ไม่ข่มจิตและไม่กด ให้พิจารณาความเป็นเองของนิสัยของจิต และพิจารณาบุญวาสนาของตน (ให้จิตเข้าเอง ให้เห็นเอง ให้ออกเอง หนักหรือเบา แข็งหรืออ่อน เมื่อจิตเบื่อในการออกแล้วเข้าเอง) รู้สึกว่าใจคอก็กว้างขวาง รู้นอกมากกว่าใน ใกล้ต่ออันตรายมาก รู้สึกว่าโรคไม่ค่อยกำเริบ รู้ช้า ไปช้าพิสดาร ต่างแต่ความรู้สึกน้อย สติน้อย ปัญญาน้อย แต่มีความสบายกาย สบายใจมาก เพราะไม่ขัดกับนิสัย กิเลสแรงมากกว่าอยู่ที่อื่น จิตไม่รู้เท่าทันเหตุ จิตรู้เท่าทันนิมิตที่แสดงออกมา ไม่เผลอเหมือนเมื่อก่อน ไม่เชื่อนิมิต มีสติระวังเสมอ อานิสงส์ที่ทรมานตัวอยู่ในถ้ำจะขยายไปได้นาน เพราะตั้งใจภาวนาอย่างเต็มที่ ไม่อ้างกาลอ้างเวลา จิตมัธยัสถ์แต่การภาวนา”

“ถ้ำผาปู่ ขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๘ พ.ศ.๘๓ (๑๗ กรกฎาคม ๒๔๘๓….ผู้เขียน) การภาวนา ถ้ำผาปู่ จิตดูดดื่มมากถึงจะวิบัติเท่าไรไม่เสีย เพราะไม่ได้คลุกด้วยอารมณ์ต่าง ๆ เมื่อวิบัติแล้วก็เห็นความเจริญ เมื่อเห็นความเจริญแล้วก็เห็นความวิบัติ อยู่ในถ้ำเดือนหนึ่งนิสัยเปลี่ยนแปลงมาก จิตไม่เบื่อในถ้ำ จึงเรียกว่าจิตดื่มธรรมะเสมอ มีอานิสงส์หลายอย่างหลายประการ สถานที่เที่ยววิเวกมาก จิตเปลี่ยนอารมณ์เสมอ จิตไม่เศร้าหมอง เกิดความรู้ต่าง ๆ นิมิตฝันเป็นมงคลดีกว่าทุกแห่งเท่ากับหนองบง”

ณ ที่ถ้ำผาปู่ ระยะนี้เองที่ท่านถึงกับอุทานว่า

“เราคิดถึงคนใด คนนั้นคิดถึงเรา คนนั้นป่วย หรือคนนั้นมาหาเรา หรือคนนั้นมาใกล้ที่เราอยู่ อย่างคิดถึงท่านอาจารย์ เป็นต้น ท่านก็ป่วยจริง”

ท่านเริ่มได้ข่าว ท่านพระอาจารย์มั่นกลับมาจากเชียงใหม่แล้ว และบัดนี้กำลังจะมาที่อุดรฯ ทำให้ท่านรำพึงไว้ในสมุดบันทึกต่อไปในวันนั้นว่า

“อยากไปอุดรฯ แต่ก่อนท่านอาจารย์มั่นมา”

แต่เดิมท่านคิดจะอยู่จำพรรษาที่ถ้ำผาปู่ซ้ำอีกปีหนึ่ง อย่างไรก็ดี ท่านกลับคิดได้ว่า หากท่านพระอาจารย์มั่นมา การอยู่จำพรรษาที่ถ้ำผาปู่จะทำให้ท่านไม่มีโอกาสไปฟังธรรมได้ เพราะสมัยนั้นการคมนาคมระหว่างเลยและอุดรฯ ยังลำบากอยู่มาก เป็นการยากยิ่งที่จะไปฟังธรรมแล้วกลับวัดในวันเดียว หากท่านหาที่จำพรรษาอยู่ทางอุดรฯ หรือสกลนคร ยังจะมีโอกาสมากกว่า

ข่าวยังไม่แน่นอนว่า ท่านพระอาจารย์มั่นจะจำพรรษาอยู่ที่อุดรฯ หรือสกลนคร หลวงปู่จึงคิดจะไปดักรอที่สกลนคร เพราะขณะนั้นในใจท่านเริ่มคิดถึงถ้ำโพนงาม ที่ท่านได้วิชาม้างกาย ทำปฏิภาคนิมิตได้คล่องแคล่ว ณ ที่นั้น รวมทั้งได้มีประสบการณ์ด้านผ่านการพบสัตว์เสือ งู มาแล้วที่ถ้ำโพนงามด้วย ท่านระลึกถึงรสชาติความซาบซึ้งดูดดื่มในธรรมที่ได้รับระหว่างทำความเพียรอยู่ที่นั่น จึงใคร่จะกลับไปอีกครั้งหนึ่ง หากโชคดีท่านพระอาจารย์มั่นไปจำพรรษาอยู่ที่สกลนคร ซึ่งก็คงใกล้ถ้ำโพนงามมากเข้าไปอีก ก็จะเป็นโชค ๒ ชั้น สำหรับหลวงปู่เลยทีเดียว

คิดสระตะได้ลงตัวเช่นนั้น จากที่ยังคงอยู่ที่ถ้ำผาปู่ในวันขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๘ รุ่งขึ้น วันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๘ พ.ศ. ๒๔๘๓ อันตรงกับวันที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ หลวงปู่ก็เดินทางไปสกลนคร และจดลงในสมุดบันทึกของท่านว่า

“วันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๘ พ.ศ. ๘๓ จำพรรษาโพนสว่าง นาอ้อ ภาวนากลางคืนดี กลางวันไม่สู้ดี เพราะกลางคืนสงัด กลางวันไม่สงัด”

ความจริง โพนสว่าง นาอ้อ ที่ท่านจำพรรษาครั้งนี้นั้น เป็นสถานที่บริเวณเดียวกับถ้ำโพนงาม ซึ่งบางครั้งท่านก็เรียกโพนเชียงหวาง บางทีก็เรียกหนองสะไน ทั้งนี้เพราะ ถ้ำโพนงามนี้อยู่ในระหว่างบ้านโพนงาม บ้านโพนสว่าง หรือบางทีก็เรียก โพนเชียงหวาง บ้านนาอ้อ และบ้านหนองสะไน การโคจรบิณฑบาต ท่านอาจไปทางหมู่บ้านใดก็ได้ ผู้ฟังจึงต้องระวังไม่ให้เข้าใจผิดสับสนกัน คิดว่าเป็นสถานที่ใหม่อีกแห่งหนึ่ง

สำหรับถ้ำโพนงาม-หรือโพนสว่างนี้ หลวงปู่ได้บันทึกไว้ในปลายปี ๒๔๘๑ ณ ถ้ำผาบิ้ง ถึงการภาวนาในถ้ำต่าง ๆ ที่ท่านเคยพักปฏิบัติธรรมมาแล้ว ว่า

“จิตเกิดความรู้แปลก ๆ ถ้ำโพนงามที่ ๑ ถ้ำผาบิ้งที่ ๒ ถ้ำผาปู่ ที่๓”

และความจริง เมื่อกล่าวถึงจำพรรษาที่ “ถ้ำโพนราม” ก็มิได้หมายความว่าจะอยู่แต่ถ้ำยาวถ้ำนั้นถ้ำเดียว ท่านอาจจะไปภาวนาในถ้ำเล็กถ้ำน้อยในเขตบริเวณเทือกเขาภูพานที่ใกล้เคียงกับถ้ำใหญ่นั้นก็ได้ เหตุการณ์ใดที่ประสบระหว่างระยะเวลานั้นก็ถือว่าเกิด ณ “ถ้ำโพนงาม” ทั้งสิ้น

กลับจากเลยครั้งนั้น ท่านรู้สึกว่า ใจเบา กายเบากว่าที่เคยเป็นมา อาจเป็นได้ว่าท่านได้กลับไปอบรมสั่งสอน “แม่กวย” โยมมารดาของท่านให้มีสรณะที่พึ่งทางใจอย่างมั่นคง ไม่คลอนแคลนแล้ว แม้แต่เดิมเมื่อธุดงค์จากมาครั้งแรกว่า ตัดขาดจากชีวิตทางโลกสิ้นเชิงแล้ว แต่ลึก ๆ ลงไปในใจ บางครั้งความระลึกถึงโยมมารดายังมีอยู่ ไม่ทราบว่า จะอยู่ดีมีไข้หรือไม่ “แม่กวย” เข้าวัดถือศีล ๕ โดยเฉพาะวันอุโบสถถือศีลหลวง – ศีลใหญ่ คือศีล ๘ แต่การปกครองบ้านเรือนที่มีทรัพย์ศฤงคาร บริวารหญิงชายอาจจะดุว่า ศีลด่างพร้อย ศีลขาด ศีลทะลุ ใครจะช่วยตักเตือนสั่งสอนอบรมให้มีหลักฐานทางใจอย่างมั่นคง โดยเฉพาะการภาวนา ซึ่งคงยังล้มลุกคลุกคลานอยู่….หน้าที่ของเราผู้เป็นบุตรยังมิได้ตอบแทนบุพการีให้ถึงใจเลย

ขันเงินใบใหญ่ พร้อมจอกเล็ก ลายถมทอง ตลับสีผึ้งเงิน ฝาปิดประดับยอดเป็นทองคำ ฝีมือช่างทองเวียงจันทน์ อายุร้อยกว่าปี

เหตุนี้ การกลับไปจำพรรษาใกล้บ้านครั้งนี้ จึงทำให้ท่านหายห่วงได้อย่างปลอดโปร่งใจ นอกจากการอบรมทางจิตใจ ซึ่งท่านอบรมตลอดไปถึงญาติพี่น้องคนในบ้านแล้ว ทางด้านทรัพย์สมบัติของนอกกาย ท่านก็ได้บอกสลัดตัดเปลื้องอย่างเด็ดขาดซ้ำอีกครั้ง จริงอยู่ เมื่อออกบวชท่านก็ได้และสิทธิในทรัพย์มรดกแล้ว แต่เจ้าแม่นางกวยก็ยังมีความหวังอยู่ว่า พระลูกชายอาจจะสึกมาครองชีวิตฆราวาสอีกก็ได้ ท่านจึงพยายามจะรักษาสมบัติ ส่วนที่คิดว่าควรเป็นของบุตรชายคนโตไว้อีก โดยเฉพาะพวกเครื่องประดับที่เป็นทอง อันเป็นสมบัติของโยมบิดาของท่าน เป็นของตระกูลเจ้าเมืองแก่นท้าวตกทอดมา ก็ควรจะเป็นของหลวงปู่และน้องชาย ซึ่งเป็นเชื้อสายโดยตรง

สร้อยตัว เป็นทองคำ ฝีมือช่างโบราณเมืองแก่นท้าว ทั้ง ๒ ชุด เป็นส่วนหนึ่งของสมบัติที่โยมบิดาของหลวงปู่ นำมาให้เจ้าแม่นางกวย เฉพาะสร้อยตัวนี้ ได้ตัดครึ่งหนึ่งให้โยมน้องชายหลวงปู่ไป

ท่านได้กล่าวปฏิญาณให้โยมมารดาเข้าใจซ้ำว่า ทรัพย์ศฤงคารประเภทเรือกสวนไร่นา ตลาด โรงหนัง ที่ดิน บรรดามี ของมารดานั้น ท่านขอสละสิทธิ์ทุกประการ เฉพาะเครื่องประดับที่เป็นทอง อย่างสร้อยตัว สร้อยสังวาลใด ๆ นั้น แม้โยมพี่…เจ้าแม่นางบวย จะมิใช่บุตรสาวของโยมพ่อ แต่โยมพี่ก็ได้ดูแลเลี้ยงดูน้องมา เสมือนดั่งเป็นพี่น้องบิดามารดาเดียวกัน และโยมพี่มีลูกสาวคนเดียว สมบัติส่วนนี้หากโยมมารดายังยืนยันถือว่าควรเป็นของท่าน ท่านก็ขอสละยกให้โยมพี่ เพื่อเป็นมรดกให้ทายาทของสกุลผู้เป็นหญิง

ท่านเล่าว่า การเป็นผู้ปราศจากบ้าน ปราศจากสมบัติ ทำให้ใจเป็นสุข ไม่ห่วงหาอาลัย หรือกังวลสิ่งใด แม้จะบอกแล้วว่าสละบ้าน และสมบัติ แต่มารดาพี่น้องยังไม่แน่ใจ ห่วงหากังวลถึง จิตของบุคคลเหล่านั้นก็คงมาเกาะเกี่ยวกับท่าน ทำให้ท่านรู้สึกอยู่บ้าง เมื่อทำความเข้าใจให้ชัดเจนได้ สิ่งที่ทำให้ค้างคาจิตก็หลุดผลัวะไป….กายเบา ใจเบา อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

ระหว่างพรรษานี้ ท่านได้เกิดอัศจรรย์ในดวงจิต ทำให้เชื่อในบุญในบาป เชื่อในธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เชื่อในอำนาจของพุทโธอย่างสุดจิตสุดใจเลย

ท่านเล่าว่า วันนั้นท่านย้ายที่ภาวนาไปอยู่ที่ถ้ำเล็ก ๆ แห่งหนึ่ง ที่อยู่ต่อไปจากถ้ำยาวที่เคยเป็นที่พัก ใกล้กันนั้นเป็นซอกเล็ก ๆ ซึ่งอาจจะเดินขึ้นหลังเขาขึ้นไปหาถ้ำใหญ่ข้างบนได้ ความจริงบริเวณนี้เป็นเขตใหม่ซึ่งท่านไม่ได้เดินเล่นมาสำรวจเท่าใดนัก เมื่อมาอยู่จำพรรษาครั้งปี ๒๔๗๖ และ ๒๔๗๗ ก็มิได้เดินเลยมาทางถ้ำซีกด้านบ้านนาอ้อเท่าใดนัก อยู่แต่ซีกด้านบ้านโพนงามมากกว่า ถ้ำทางด้านบ้านโพนสว่างนี้จึงออกจะเป็นที่ “ใหม่” ของท่านอยู่มาก

ท่านหารอยแตกบนเพดานถ้ำ ตอกไม้ลิ่มเพื่อแขวนกลดได้ แต่ก็คิดว่าจะไม่ปลดมุ้งลง คงรวบชายมุ้งแขวนห้อยอยู่

เพียงเริ่มลดตัวลงนั่ง ยังไม่ทันวางเท้า วางมือ ก็ได้ยินเสียง อ่าว….อือ…อ่าว…อือ แว่วมา แรก ๆ ก็ยังเฉยอยู่ ชั่วอึดใจหนึ่งจิตก็เริ่มรับรู้เสียงนั้นว่าเป็นเสียงของอะไร เมื่อมันเริ่มดังใกล้เข้ามา ท่านเคยได้ยินเสียงครางอย่างนี้มามากที่บ้านหนองวัวซอและที่ถ้ำโพนงามนี้ แต่ก็เป็นเสียงร้องแต่ไกล ๆ นี่ฟังดูราวกับว่า มันจะตรงเข้ามาหาฉะนั้น

ใช่ไหม…เสียงเสือ ?

ขณะที่จิตเริ่มรับว่าใช่ เสียงที่ใกล้เข้ามาก็กลับเพิ่มเป็น ๒ เสียง…ไอ้ตัวเล็กก็ร้อง ไอ้ตัวใหญ่ก็ร้อง….! ใกล้เข้ามาทุกที แล้วก็เห็นมันมายืนเยื้องย่างอยู่ปากถ้ำ ทั้งตัวใหญ่และตัวเล็ก ! คงจะเป็นแม่ลูกกัน…. ตัวแม่หรอกที่มองมายังท่านอย่างสนใจ แต่เจ้าตัวเล็กดูจะไม่รู้เดียงสาอะไร คลอเคลียอยู่ข้างแม่ของมัน เหมือนทารกน้อยที่คอยแต่จะเกาะแขนขามารดาอยู่ท่าเดียว

กลิ่นสาบของมันโชยมาอ่อน ๆ นัยน์ตาของตัวแม่มองดูท่านอย่างระแวงปนหยั่งเชิง ท่านรับว่าขวัญเสียมาก…จิตมันแว่บรู้ขึ้นทันทีว่า ท่านผิดเองที่มาเลือกถ้ำเล็กที่เป็นทางเสือผ่านขึ้นถ้ำของมัน ตรงซอกหินนั้นคงเป็นบันไคอย่างดีที่จะขึ้นไปบนถ้ำชั้นบน

มันจะตรงมาหาเรา หรือมันจะเดินไปที่โขดหินซอกนั้น?- ซึ่งเราก็แย่จริง ๆ มาแขวนกลคอยู่ข้างทางซอกหินอันเป็นทางเสือผ่านได้

มันจะมาคาบเราไปกินไหม ?- เนื้อเราคงจะมีรสโอชะ เป็นอาหารให้มันและลูกเป็นอย่างดี

ท่านเล่าว่า ท่านนึกถึงคุณพระพุทธเจ้าทันที….เหงื่อออกราวกับน้ำ…รู้ชัดคราวนี้เลยว่า ความกลัวตายเป็นอย่างไร มันขยับตัวเดิน….

คิดที่พระพุทธเจ้าท่านเคยเทศน์สอนไว้ว่า ความกลัวมาถึงแล้ว ขนพองสยองเกล้ามาถึงแล้ว พึงระลึกถึงตถาคต ความกลัวจะปราศจากการไป

มันตรงมา ตัวแม่นำหน้า ลูกตามมา….

นัยน์ตาตัวแม่ใสแจ๋ว มองตรงมาราวกับพญางูสะกดเหยื่อ มันเริ่มเดินใกล้เข้ามา

ท่านเล่าว่าเหงื่อออก ไคค้าวก็ออก….เหงื่อกาฬออกด้วยความกลัวอย่างบอกไม่ถูก

ท่านเร่งภาวนาอย่างถี่ยิบ ภาวนาหนัก และรู้สึกว่าพร้อมกับที่เสือ ๒ ตัวแม่ลูก ย่างเท้าใกล้เข้ามานั้น จิตก็รวมลงสู่สมาธิอย่างรวดเร็ว และถึงฐานของอัปปนาสมาธิ หายเงียบไปทั้งคนและเสือ ๒ ตัวนั้น ราวกับมีทหารมาอารักขาตัวท่าน เป็นชั้น ๆ ชั้น ๆ ชั้น ๆ ทีเดียว ท่านว่าเห็นปาฏิหาริย์ เห็นอัศจรรย์ในดวงจิต เกิดความมั่นคงทางศาสนาตลอดมา เห็นคุณของพุทโธ เห็นอัศจรรย์ของพุทโธอย่างซาบซึ้งถึงใจเป็นที่สุด

ท่านว่า ถ้าไม่เห็นอานิสงส์ในคราวนั้นจะบวชตลอดชีวิต อยู่ตลอดมาถึงขณะนี้ได้อย่างไร ต้องเห็นปาฏิหาริย์ ต้องเห็นอัศจรรย์เสียก่อน จึงจะตั้งตัวได้

คืนวันนั้นจิตรวมแนบสนิท แต่เวลาหัวค่ำจนกระทั่งสายวันรุ่งขึ้น เห็นตะวันขึ้นสูงในท้องฟ้าแล้ว ไม่ทราบว่าเสือแม่ลูกจากไปแต่เมื่อไร ท่านมีความอิ่มเอิบใจ เวลาคงผ่านพ้นเวลาบิณฑบาตมานานแล้ว แต่ก็ไม่ได้รู้สึกหิวโหยแต่อย่างใด ท่านจึงเดินขึ้นซอกเขาขึ้นไปสำรวจเขาด้านบน ปรากฏว่าก่อนจะถึงถ้ำใหญ่ชั้นบน มีซอกถ้ำเป็นเพิงผา คงเป็นทำเลที่นางเสือแม่ลูกใช้เป็นที่พำนัก….! ด้วยเห็นรอยหญ้าที่มันคาบมาเป็นที่รองนอนให้ลูกของมันคงหลงเหลืออยู่

ที่ถ้ำโพนงามด้านบ้านโพนสว่างนี้ มีพวกรุกขเทพมากเหมือนกัน

http://www.dharma-gateway.com/monk/monk_biography/lp-louis/lp-louis-hist-04-05.htm

. . . . . . .