ชีวประวัดิ พระคุณเจ้า หลวงปู่หลุย จันทสาโร

ชีวประวัดิ พระคุณเจ้า หลวงปู่หลุย จันทสาโร

จากหนังสือ จันทสาโรบูชา

โดยคุณหญิงสุรีย์พันธุ์ มณีวัต

พระคุณเจ้า หลวงปู่หลุย จันทสาโร เป็นศิษย์สำคัญองค์หนึ่งของพระคุณเจ้า ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตมหาเถระ ผู้สมควรจะได้รับการถวายสมัญญา เป็นบูรพาจารย์ เป็นบิดาแห่งวงศ์พระกัมมัฏฐานในสมัยปัจจุบัน ศิษย์สำคัญที่เป็นพระเถระผู้ใหญ่ มีชื่อเสียงขจรขจายเป็นที่เคารพนับถือของมหาชนทั่วประเทศตามรอยบาทแห่งบูรพาจารย์ของท่าน ถือเป็นรุ่นใกล้เดียงกันกับหลวงปู่หลุย จันทสาโร ก็มีเช่น พระคุณเจ้า หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี (พระนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาจารย์) หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ หลวงปู่ชอบ ฐานสโม หลวงปู่ขาว อนาลโย และ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร เป็นอาทิ

หลวงปู่เทสก์ หลวงปู่อ่อน หลวงปู่ชอบ ต่างมีอายุอ่อนกว่าหลวงปู่หลุย โดยหลวงปู่เทสก์และหลวงปู่อ่อน เกิดในปีขาล พ.ศ. ๒๔๔๕ ในวันที่ ๒๖ เมษายน และ วันที่ ๓ มิถุนายน ตามลำดับ ส่วนหลวงปู่ชอบ เกิดปีฉลู พ.ศ. ๒๔๔๔ เช่นเดียวกับหลวงปู่หลุย แต่เกิดภายหลังท่าน ๑ วัน กล่าวคือ หลวงปู่หลุยเกิดวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ และหลวงปู่ชอบเกิดวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์

สำหรับวันอุปสมบทหรือญัตติเป็นธรรมยุตนั้น พอเรียงลำดับได้ดังนี้

หลวงปู่เทสก์ วันที่ ๑๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๖

หลวงปู่อ่อน วันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๗

หลวงปู่ชอบ วันที่ ๒๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๗

หลวงปู่หลุย วันที่ ๑๔ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๖๘

นอกจากหลวงปู่เทสก์ ซึ่งเห็นได้ชัดว่า อุปสมบทก่อนท่าน ๒ พรรษาแล้วหลวงปู่อ่อนและหลวงปู่ชอบจะอุปสมบทก่อนท่านเพียง ๒- ๓ เดือนเท่านั้น และมีพรรษาเท่ากัน เพราะท่านทั้งสามจะต้องเริ่มพรรษาหนึ่งในปี ๒๔๖๘ ด้วยกันทั้งนั้นด้วยแม้จะเป็นการอุปสมบทในปี ๒๔๖๗ สำหรับหลวงปู่อ่อนและหลวงปู่ชอบ แต่โดยที่ระยะนั้นวันขึ้นปีใหม่ คือ วันที่ ๑ เมษายน พรรษาของปี ๒๔๖๗ ได้ผ่านพ้นมาแล้วเมื่อท่านทั้งสองอุปสมบท เช่นในกรณีของหลวงปู่ชอบ ท่านอุปสมบทเมื่อ ๒๑ มีนาคม เท่ากับเหลือเวลาอีกเพียง ๑๐ วันก็จะสิ้นปี ๒๔๖๗ พรรษาของท่านจึงต้องไปตั้งต้นที่ปี ๒๔๖๘ เช่นหลวงปู่หลุย ในกรณีของหลวงปู่อ่อนก็เช่นเดียวกัน

หลวงปู่ขาว ญัตติเป็นธรรมยุตวันเดียวกับท่าน คือวันที่ ๑๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๘ บวชหลังท่าน ๑๕ นาที โดยต่างเป็นคู่นาคซ้ายขวาซึ่งกันและกัน ท่านอธิบายว่า แม้ท่านจะมีอายุน้อยกว่าหลวงปู่ขาวนับ ๑๐ ปี แต่โดยที่ท่านได้ญัตติมาเป็นพระธรรมยุตแล้วครั้งหนึ่งที่จังหวัดเลย แต่ในปี ๒๔๖๗ ก่อนหน้านั้น หากมีความสงสัยในการญัตติครั้งนั้นว่าจะไม่ถูกต้องสมบูรณ์ เพราะชื่ออุปัชฌาย์เขียนไม่ถูกอักขระซ้ำการภาวนาก็ขัดข้องไม่เป็นไป จึงมาขอญัตติใหม่อีกครั้งหนึ่ง ท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล) ผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ ซึ่งในขณะนั้นยังดำรงสมณศักดิ์ที่พระครูสังฆวุฒิกรจึงให้ท่านเป็นนาคขวา ให้หลวงปู่ขาวเป็นนาคซ้าย

สำหรับหลวงปู่ฝั้น อาจาโร นั้น มีอายุแก่กว่าท่าน ๒ ปี โดยหลวงปู่ฝั้นเกิดปีกุน พ.ศ. ๒๔๔๒ แต่มาญัตติบวชเป็นธรรมยุตหลังท่านและหลวงปู่ขาว ๗ วัน

ปกติพระกัมมัฏฐานสายท่านพระอาจารย์มั่น จะเคร่งครัดพระธรรมวินัยโดยเฉพาะเรื่องการบวชก่อนหลัง ถือเป็นประเพณีว่า แม้บวชหลังเพียงนาทีเดียวก็ต้องเคารพผู้บวชก่อน ดังนั้นจึงเป็นภาพธรรมดาที่จะเห็นหลวงปู่ผู้มีความมักน้อยถ่อมองค์เป็นนิสัย เมื่อพบเพื่อนสหธรรมิกของท่านผู้บวชก่อน แม้จะมีอายุน้อยกว่าแต่หลวงปู่ก็จะคุกเข่าก้มลงกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์ อย่างนอบน้อม อ่อนโยนถึงเวลาจะพูดจาด้วย ก็จะใช้คำแทนชื่อองค์ท่านเองว่า “กระผม” หรือ “เกล้ากระผม” เสมอ เช่น เมื่อท่านพบหลวงปู่เทสก์ ซึ่งเป็นที่ทราบและเป็นที่ยกย่องกันในหมู่วงศ์ศิษย์ของท่านพระอาจารย์มั่นว่า ท่านพระอาจารย์มั่นท่านถือหลวงปู่เทสก์เป็นธรรมทายาทของท่าน เป็นคล้าย “พี่ชายใหญ่ของวงศ์ตระกูล” ที่จะต้องดูแลพวกน้อง ๆ..

หลวงปู่หลุยท่านก็จะปฏิบัติต่อหลวงปู่เทสก์ด้วยความนอบน้อมถ่อมองค์เช่นดังที่กล่าวมา

แต่อย่างไรก็ดี เมื่อพบเพื่อนผู้บวชทีหลัง อย่างหลวงปู่ขาวและหลวงปู่ฝั้นท่านจะรีบยกมือขึ้นเตรียมไหว้ก่อนเป็นประจำ และในเวลาที่ได้รับนิมนต์ไปฉันจังหันท่านจะถอยไปนั่งในที่ลำดับถัดไปจากหมู่พวกเสมอ ดังนี้ ความเรื่องที่ท่านมีอาวุโสทางบวชก่อนนี้ หากมิได้แพร่งพรายมาจากทางหลวงปู่ขาว ซึ่งกล่าวยกย่องท่านแล้วก็คงจะแทบไม่มีศิษย์รุ่นหลังผู้ใดทราบเลย

ชาติตระกูล

เจ้าแม่นางกวย (สุวรรณภา) วรบุตร โยมมารดาของหลวงปู่

ในเขตตัวเมืองจังหวัดเลย สมัยเมื่อประมาณร้อยกว่าปีก่อนโน้น ดรุณีน้อยนางหนึ่ง ชื่อ “กวย” เป็นธิดาของผู้มีอันจะกินในละแวกบ้าน เป็นที่ขึ้นชื่อลือชากันว่ารูปสวย แต่งตัวงาม เป็นผู้หญิงคนเดียวในหมู่บ้าน ซึ่งขณะนั้นเรียกกันว่า บ้านเมืองใหม่ที่อ่านหนังสือออก เขียนหนังสือได้ ทั้งรูปสมบัติ คุณสมบัติ ทรัพย์สมบัติมีวิชาความรู้ทุกอย่างเพียบพร้อม ดรุณีน้อยผู้นั้นจึงเป็นที่หมายปอง มีผู้มาติดพันมากมาย สุดท้ายมีข้าราชการหนุ่มผู้หนึ่งในจังหวัด เป็นผู้ที่โชคดี สู่ขอตกลงแต่งงานกันอย่างมีหน้ามีตา

ข้าราชการหนุ่มผู้นั้น ได้รับราชการต่อมาด้วยความก้าวหน้า ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ เป็นที่ ขุนวาณิชนิกร เป็นเจ้าเมืองเลย ส่วนภรรยาของท่านชาวเมืองยกย่องเรียกกันว่า เจ้าแม่นางกวย

ในสมัยนั้น กฎหมายและประเพณีไทยยังเอื้ออำนวยอยู่มากที่จะให้ชายหนึ่งมีภรรยาเกินกว่าหนึ่ง โดยมีเอกภรรยาเพียงคนเดียว และสามารถมีอนุภรรยาได้อย่างไม่จำกัดจำนวน ตามแต่ผู้สามีจะสามารถเลี้ยงดูได้ ความจริงประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕ ว่าด้วยครอบครัว เพิ่งจะประกาศใช้กำหนดให้สามีมีภรรยาได้ถูกต้องตามกฎหมายเพียงคนเดียว เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๗ นี่เอง ฉะนั้น ในระยะนั้นท่านขุนวาณิชนิกร ซึ่งบริบูรณ์ด้วยยศศักดิ์ ศฤงคาร จึงมีผู้ชิงกันเสนอหญิงให้เป็นภรรยารองอย่างไม่คำนึงถึงจิตใจของผู้เป็นเอกภรรยา พูดไปแล้วควรจะถือได้ว่าเจ้าแม่นางกวยเป็นหญิงที่มีความทันสมัยก้าวหน้าอย่างยิ่ง ถือเป็นสตรีที่ต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีหรือ Women’s Lib คนแรกของจังหวัดเลยก็ว่าได้ ท่านถือว่า การมีอนุภรรยาซึ่งสมัยนั้นกฎหมายก็ยอมรับ ไม่ใช่กฎกรรมที่ควรยอมรับได้ ชายและหญิงควรมีสิทธิทัดเทียมกัน เมื่อแต่งงานกันแล้วก็ควรจะครองรักด้วยกันอย่างซื่อสัตย์ ถ้าไม่ต้องการให้ภรรยานอกใจ สามีก็ไม่ควรนอกใจภรรยาด้วยเช่นเดียวกัน ดังนั้น เมื่อไม่สามารถตกลงปรองดองกันได้ในปัญหานี้ ท่านจึงแยกทางกับสามีอย่างไม่อาลัยไยดีกับตำแหน่งภริยาเจ้าเมืองอันมีหน้ามีตานั้นเลย

ท่านแยกตัวมาจากจวนเจ้าเมืองอย่างใจเด็ดผิดหญิงทั่วไป มีเพียงธิดาน้อยชื่อ “บวย” อยู่เป็นเพื่อนด้วย กลับมาปกครองข้าทาสหญิงชายและทรัพย์สมบัติเดิมอยู่ตามลำพัง

หลานเหลนในระยะหลัง เล่าให้ฟังว่า ทรัพย์สมบัติของเจ้าแม่นางกวยนั้น เรียกว่า เป็นเอกอยู่ในบ้าน สมัยนั้นจังหวัดเลยยังมิได้มีการแบ่งเป็นถนน เป็นซอยเช่นในทุกวันนั้นคงเป็นหมู่บ้าน เรียกกันว่า บ้านเมืองใหม่ บ้านแฮ่ บ้านติ้ว เป็นต้นตำบลที่เรียกว่า “บ้านติ้ว” คือบริเวณแถบที่ตั้งศาลากลางในปัจจุบัน บ้านเมืองใหม่ซึ่งเป็นชื่อหมู่บ้านที่เจ้าแม่นางกวยครอบครองนั้น ในเวลานี้ก็อยู่กลางใจเมืองเลยพอดี

บริเวณเขตบ้านกว้างขวาง ด้านหนึ่งติดแม่น้ำเลย ซึ่งขณะนั้นยังกว้างใหญ่น้ำลึกใสสะอาด ไม่ตื้นเขิน สกปรกรุงรัง ชายฝั่งถูกรุกล้ำเข้ามาจนแคบเล็กเช่นในเวลานี้ระยะนั้น เด็ก ๆ จะสามารถกระโจนลงไปดำผุดดำว่าย พุ่งหลาวเล่นได้อย่างสำราญเมื่อกล่าวว่า บริเวณเขตบ้านกว้างขวาง ก็หมายความตามนั้น ว่ากว้างขวางจริง ๆ

กล่าวคือ ด้านที่ติดแม่น้ำนั้นยาวเหยียดเลียบไปตามชายฝั่ง ด้านหนึ่งปลูกต้นไม้ผล ทั้งใหญ่และเล็ก หมากม่วง หมากพร้าว หมากหุ่ง (มะละกอ) หมากวี่ง (ขนุน) กล้วย อ้อย มะนาว พริก หอมกระเทียมไม่เคยต้องซื้อ เก็บจากสวนภายในเขตบ้าน โดยเฉพาะหอม กระเทียม นั้น ทำเป็นมัดกระจุก แขวนไว้เป็นราว ๆ เลย ต่อไปเป็นบริเวณทุ่งนา ซึ่งหลานของท่านกล่าวว่า ไม่ทราบว่า กี่ร้อยกี่พันไร่ ด้วยไม่ทราบจะนับอย่างไร เพราะมองไปสุดลูกหูลูกตา จากหมู่บ้านนี้ไปจรดอีกหมู่บ้านหนึ่งก็แล้วกัน ถึงหน้านา จะมีลูกนา ออกดำนา ปลูกข้าว ถึงเวลาเก็บเกี่ยว ก็จะมีการลงแขก เกี่ยวข้าว นวดข้าว ฝัดข้าว เอาข้าวขึ้นยุ้งขึ้นฉาง

ทุกบ้านจะทอผ้าใช้เอง ไม่มีการซื้อหา ในขณะที่บ้านอื่นโดยทั่วไปจะทอผ้าฝ้าย เป็นผ้าถุง ผ้าขาวม้า เพื่อให้ในชีวิตประจำวัน แต่บ้านเจ้าแม่นางกวยจะทอผ้ายก ผ้าไหม มีการเลี้ยงไหม ปลูกหม่อนภายในบ้าน ลูกหลานยังจำวันเวลาได้ที่จะเอาตัวไหมมาใส่กระด้ง ให้ใบหม่อนเป็นอาหาร หลานน้อยจะใช้นิ้วจี้เล่นกับตัวหนอนพวกข้าทาสหญิงชายจะเอาไหมมาสายเป็นไจ บางทีจะใช้เชือกผูกมัดเป็นปม ก่อนจะย้อมสี เสร็จแล้วก็จะทอออกมาเป็นผ้ามัดหมี่ลวดลายต่าง ๆ กัน วิธีการผูกปมมัดแตกต่างกันจะได้ลายผ้าที่สวยงามผิดแผกกัน สำหรับผ้ายก ผ้าลายดอก ลายขิด ก็ต้องมีวิธีการไปอีกแบบหนึ่ง เมื่อถึงเทศกาลตรุษสงกรานต์หรืองานบุญ ก็จะแต่งตัวประกวดประชันกันภายในละแวกบ้านว่า ลายผ้าของบ้านใดจะงดงามแปลกตากว่ากัน และก็เป็นที่ทราบกันว่า ผ้าทอบ้านเจ้าแม่นางนั้นแหละจะต้องเป็นผ้าทอที่มีสีสันสวยลายงดงามกว่าของบ้านอื่น ๆ เสมอ

เจ้าแม่นางปกครองทรัพย์สมบัติและหมู่บริวารมาได้โดยราบรื่น ความใจเด็ดที่กล้าแยกทางกับเจ้าเมืองประการหนึ่ง ทรัพย์ศฤงคารมากมายที่มีอีกประการหนึ่งทำให้ไม่มีชายใดกล้ามาวอแว กระทั่งลุเวลาวันหนึ่งได้มีชายหนุ่มหน้าตาคมคายผู้หนึ่งเข้ามาเป็นแขกในละแวกบ้าน เป็นผู้ที่เจ้าแม่นางไม่อาจจะปฏิเสธการต้อนรับได้ ด้วยมีศักดิ์ตระกูลใกล้เดียงกัน ชายหนุ่มผู้นั้นมีนิสัยร่าเริง ช่างเล่น ช่างเจรจา ข้ามฟากมาจากฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง เป็นบุตรชายของเจ้าเมืองแก่นท้าว ซึ่งสมัยก่อนหน้านั้นไม่นาน เมืองแก่นท้าวนี้ยังรวมอยู่ในเขตประเทศไทย เพิ่งถูกแยกไปถือเป็นเขตดินแดนประเทศลาวเมื่อเกิดกรณี ร.ศ. ๑๑๒ (ตรงกับ พ.ศ. ๒๔๓๖) นี่เอง การสูญเสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้แก่ฝรั่งเศส ทำให้แก่นท้าวต้องหลุดไปจากแผนที่ประเทศไทย

เมืองแก่นท้าว อยู่ตรงข้ามแม่น้ำเหือง อำเภอท่าลี่ จังหวัดเลย ในปัจจุบันคำว่า “แก่น” ออกเสียงยาวหน่อย เป็นภาษาลาว แปลว่า ชอบอาศัยอยู่ ท้าวหมายถึง เพศชาย ดังนั้นรวมคำว่า “แก่นท้าว” หมายความว่า เมืองที่ผู้ชายชอบอยู่แม้ขณะนี้ แก่นท้าวก็ยังมีชื่อเสียงอยู่มากว่า เป็นเมืองผู้หญิงสวย เหล้าสาโทเด็ด คือจุดไฟติดทีเดียว

เมืองแก่นท้าว จะเลื่องชื่อลือนามว่า ผู้หญิงสวยอย่างไร เป็นเมืองที่ชายชอบอยู่อย่างไร แต่ในที่สุด ชายหนุ่มผู้มีนามว่า “คำฝอย วรบุตร” บุตรชายของเจ้าเมืองแก่นท้าว ก็มิได้สนใจ หากกลับมีใจยินดีสวามิภักดิ์ต่อเจ้าแม่นางกวย หญิงสาวชาวบ้านเมืองใหม่ จังหวัดเลยแต่โดยดี

เมื่อถึงวันอังคาร ขึ้น ๙ ค่ำ เดือนสาม ปีฉลู ตรีศก อันตรงกับวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๔๔…ในสถานภาพเช่นนั้น ในชาติตระกูลดังนั้น ทารกชายผู้หนึ่ง ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นมาในสกุล “วรบุตร” ในเวลาเช้าตรู่ เวลาพระออกบิณฑบาต …เป็นผู้ซึ่งต่อมาในภายหลัง ได้เป็นที่รู้จัก เป็นที่เคารพรัก เลื่อมใสศรัทธาของปวงพุทธศาสนิกชนไทยทั่วประเทศ ในนามว่า พระคุณเจ้า หลวงปู่หลุย จันทสาโร

เกี่ยวกับการเกิดของท่านนี้ ต่อมาในภายหลัง ใน พ.ศ. ๒๔๘๐ เมื่อหลวงปู่ธุดงค์ออกจากบ้านไปกว่าสิบปี ก็กลับมาเยี่ยมจังหวัดเลย มาพักที่ ป่าช้าวัดหนองหมากผางตำบลนาอ้อ อำเภอเมืองก็ได้มาโปรดโยมมารดา ได้ถาม เจ้าแม่นางกวย หรือ “แม่กวย” ของท่าน ถึงเรื่องนี้ ทราบความแล้วท่านได้บันทึกไว้ดังนี้

“พ. ศ. ๒๔๘๐ ได้ถามแม่กวย… กำเนิดในท้อง ๑๐ เดือนอยู่กรรมสบาย ไม่ป่วย เราอยู่ในท้องแม่ แม่สมาทานอุโบสถหลวงแรกเกิดคนชอบมาก บิดาฝันได้แก้ว เกิดทีแรกรกพันคอ คนอื่นทายว่าจะได้บวช เจ็บท้อง ๑ คืน รุ่งจวนสว่างคลอด อยู่กรรม ๒๑ วันแม่โช้นเลี้ยง นอนไว้ที่ไหนก็นอนง่าย ร้องไห้แต่อยู่กรรม นอกนั้นไม่ร้องไห้ ตกต้นไม้ ไม่ใข่ตายคืน ครู่เดียวก็รักตัว อยู่กรรมหนาวจัดเกิดทีแรกรูปงาม ใคร ๆ ก็ชอบอุ้ม อยู่ในท้องนั้นใหญ่จนแม่ตำแย แม่โช้นพันทักท้องว่า ใหญ่นักจะออกไม่ได้ แม่เลยตกใจ นี้แหละพระคุณของแม่เช่นนี้ เราไม่กล้าสึก เพราะฉลองคุณบิดามารดาให้เต็มเปี่ยมในชาตินี้…..”

หมายความว่า การเกิดของท่านมีลักษณะพิเศษ คือ โยมมารดามีครรภ์ถึง ๑๐ เดือนจึงคลอดบุตรชายผู้นี้ ระหว่างอยู่ไฟ สุขภาพของมารดาและบุตรดีมากไม่ป่วยเลย ระหว่างที่บุตรอยู่ในครรภ์ มารดาสมาทานรับศีลอุโบสถใหญ่ตลอดแรกเกิดเป็นที่รักใคร่เอ็นดูของผู้ที่พบเห็นมาก โยมบิดาฝันเป็นมงคลว่า “ได้แก้ว”เป็นนิมิตหมายที่ดีมาก เมื่อเกิดรกพันคอ จึงมีคนทำนายว่า ต่อไปทารกนี้จะได้บวช

มารดาท่านเจ็บท้องตลอดคืน จนจะรุ่งสว่างจึงได้คลอด อยู่ไฟนานถึง ๒๑ วัน เป็นเด็กเลี้ยงง่าย ยายเลี้ยง ให้นอนที่ไหนก็นอน ง่ายมาก ไม่ขี้อ้อนโยเย มีการร้องไห้บ้างแต่ตอนแม่อยู่ไฟเท่านั้น หลังจากนั้นก็แทบไม่ร้องไห้เลย (ท่านคงซนพอดู) ตกต้นไม้ก็ไม่เจ็บหรือสลบ เพียงครู่เดียวก็รู้สึกตัว ระหว่างอยู่ไฟอากาศหนาวจัด เป็นเด็กสวย รูปงาม ใคร ๆ ก็ชอบอุ้ม เวลาท่านอยู่ในท้องมารดานั้น ครรภ์ใหญ่มาก…ใหญ่จนทุกคนขู่แม่…ไม่ว่าจะเป็นหมอตำแย หรือคุณยาย ต่างพากันว่า ถ้าท้องใหญ่นักเช่นนี้จะออกไม่ได้ ทำให้โยมมารดาของท่านตกใจมาก เพราะในชนบทไกล ๆ นั้น ถ้าท้องใหญ่มากจนทารกออกไม่ได้ ก็มักจะเป็นอันตรายถึงชีวิตทั้งแม่และเด็ก…!

เมื่อหลวงปู่รำพึงถึงพระคุณของแม่ ที่ยอมเสี่ยงภัยอันตรายอย่างใหญ่หลวงเพื่อลูกดังนั้น ความตั้งใจที่จะคงอยู่ในเพศพรหมจรรย์ต่อไปจึงยิ่งแน่นแฟ้นขึ้น ไม่กล้าสึก เพื่อให้บุญกุศลจากการบวชอุทิศตนให้แก่พระวรพุทธศาสนานั้นมีผลเต็มเปี่ยม บูชาฉลองพระคุณบิดามารดา

วัยดรุณ

ชีวิตในวัยเด็กของหลวงปู่ คงจะเป็นชีวิตที่สมบูรณ์พูนสุขมากอยู่ นอกจากการมีกำเนิดในครอบครัวที่มีอันจะกิน หรือความจริงควรจะเรียกได้ว่า…ร่ำรวยทีเดียว!…โดยเปรียบเทียบกับเพื่อนบ้านละแวกนั้น บิดามารดาก็คงประคบประหงมอย่างดี ดังที่มารดาเจ้าแม่นางกวยเล่าให้หลวงปู่ฟังว่า “เกิดทีแรกรูปงาม ใคร ๆ ก็ชอบอุ้ม” แถมเป็นเด็กเลี้ยงง่าย ไม่ใคร่ร้องไห้ ญาติทุกคนจึงเอ็นดู แย่งกันอุ้ม ท่านบันทึกไว้ต่อมาอีกหลายปีว่า

“หนาวจัด ในสมัยนั้นเราเป็นเด็ก บิดาอุ้มเราไปเยี่ยมบ้านแก่นท้าว แม่กับพ่ออุ้มเราไปแต่เราไม่รู้เดียงสานั้นครั้งหนึ่ง”

นายสุข วรบุตร
น้องชายคนเดียวของท่าน

น้องชายของท่าน “สุข วรบุตร” เกิดในปี พ.ศ. ๒๔๔๘ หลังท่าน ๔ ปี ท่านจึงดำรงความเป็นลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของตระกูลอยู่หลายปี กว่าน้องชายผู้เกิดใหม่จะมาแทนที่จุดรวมแห่งความสนใจของบิดามารดาและญาติพี่น้อง

ท่านว่า แต่ท่านก็มิได้นึกอิจฉาริษยาอะไรน้อง คงเห็นน้องเหมือนของเล่นมีชีวิตที่จะเล่นด้วย พี่สาวของท่าน แม้จะต่างบิดากัน แต่ก็รักใคร่กันสนิท ช่วยมารดาดูแลท่านด้วยความรักมาอย่างไร ท่านก็ช่วยมารดาอุ้มชูน้องด้วยความรักเช่นกันอย่างนั้น แต่นั่นแหละเด็กผู้ชายไหนเลยจะเหมือนเด็กผู้หญิง ท่านกล่าวว่า ท่านดูน้องอยู่ประเดี๋ยวประด๋าวก็ลงจากเรือน เป็นหัวหน้าพากลุ่มเด็กลูกคนใช้ออกลงน้ำบ้าง ออกไปเที่ยวในทุ่งนาบ้างสนุกสนานไปวัน ๆ ตามประสาเด็ก

ชีวิตที่พร้อมหน้าพร้อมตาด้วยพ่อ แม่ พี่สาว และน้องชาย ต้องสะดุดหยุดลง เมื่อบิดามาถึงแก่กรรมลงขณะที่ท่านอายุได้เพียง ๗ ขวบ และน้องอายุ ๓ ขวบเท่านั้น ความสุขแจ่มใสที่เคยมีในบ้าน ก็คล้ายกับมีหมอกควันบาง ๆ มาปกคลุมอยู่ไม่ต้องสงสัย เจ้าแม่นางกวยจะต้องรู้สึกถึงการ “จาก” เป็นอย่างมาก ชีวิตการแต่งงานของท่าน มีแต่การพลัดพรากจากกัน จากเป็น แล้วก็จากตาย ความเป็นหญิงคนเก่งขี่ม้าไปตรวจสวน ตรวจที่นา อย่างที่เคยปฏิบัติ ก็เนือย ๆ ไป มีแต่ความเหงา เฉื่อยชามากขึ้น ท่านไม่กลัวการจากเป็น ซึ่งอาจอยู่ในลิขิตของมนุษย์ การจากฝ่ายนั้นเป็นสิ่งที่ไม่มีใครจะยื้อยุดฉุดกระชากชีวิตที่จะจากไปไว้ได้

มารดาท่านเริ่มเห็นทุกข์…ประจักษ์ถึงการพลัดพรากจากสิ่งที่รักที่ชอบใจไปเป็นความทุกข์ การงานบ้าน การดูแลทรัพย์สมบัติก็เริ่มปล่อยให้อยู่ในภาระของบุตรสาว ตัวท่านสนใจเข้าวัด ฟังธรรมมากกว่า ระหว่างนั้นพี่สาวของท่านเพิ่งจะรุ่นสาวแต่พวกคนในบ้านและเพื่อนบ้านก็ยกย่องเกรงใจ เรียกกันเป็น “เจ้าแม่นาง” เช่นมารดาในบ้านจึงมีทั้ง เจ้าแม่นางกวย และ เจ้าแม่นางบวย

โถลายคราม ซึ่งเจ้าแม่นางกวย ใช้เป็นที่อบร่ำทำน้ำอบไทย ในเวลาตรุษสงกรานต์

ท่านเล่าว่า การนา การสวน การทอผ้า มารดามิค่อยสนใจนัก แต่ที่ท่านยังจำได้ว่า มารดายังทำเป็นประจำ คือ การทำบุญ ตักบาตร ทำด้วยตนเองตลอดรวมทั้งการโอบเอื้ออารีกับหมู่เพื่อนบ้าน เวลาตรุษสงกรานต์ ซึ่งมารดาเคยให้นำเครื่องโถเคลือบน้อยใหญ่ออกมาขัดล้าง โถใบใหญ่เป็นที่จัดทำน้ำปรุง ประกอบด้วยเครื่องหอม เครื่องเทศ อบร่ำ เป็น “หัวน้ำอบไทย” ขันถมทองใบใหญ่ ใช้เป็นที่ผสมหัวน้ำอบเจือจางกับน้ำอบร่ำของหอม ให้เป็นน้ำอบไทย แจกจ่ายให้ข้าทาสบริวารในบ้านรวมทั้งให้นำไปมอบเป็นของขวัญสงกรานต์ปีใหม่ ระยะนั้นวันปีใหม่ของไทยเรายังตั้งต้นวันที่ ๑ เมษายน วันสงกรานต์ ๑๓ เมษายน จึงมีความสำคัญต่อความรู้สึกของคนไทยมาก เพราะเป็นวันเถลิงศกปีใหม่ตามโบราณประเพณี และใกล้กับวันขึ้นปีใหม่ของทางการ ทุกบ้านเรือนจะรู้สึกถึงความพิเศษอันนั้นจัดนำของขวัญให้กันผู้น้อยก็นำผ้านุ่ง ผ้าห่ม น้ำอบไทยไปกราบคารวะผู้ใหญ่ด้วยความเคารพและขอพรผู้เกิดก่อน ผู้ใหญ่ก็ให้พรประพรมน้ำหอมให้ ถ้าเป็นผู้มีฐานะตีก็จะมีของขวัญตอบแทนในกรณีมารดาท่านนั้น ไม่แต่ประพรมน้ำหอมให้ ยังแจกน้ำอบไทยให้ด้วยซ้ำ งานนี้เจ้าแม่นางกวยไม่ได้มอบให้ใครทำแทน ท่านทำเป็นประจำตลอดมา จนสมัยเหลนเกิดแล้ว ก็ยังจำภาพ คุณทวด เจ้าแม่นางทำน้ำอบไทย เก็บหัวน้ำอบไทยไว้ในโถใหญ่แล้วแบ่งออกมาปรุงในขันถมทองใบใหญ่ มีจอกถมทองอันน้อยลอยอยู่ในขัน สำหรับเป็นที่ตักแจกน้ำอบไทย

เจ้าแม่นางกวยว่า เป็นการทำบุญ และรักษาประเพณีอันดีงามของไทยไว้

นิมิตที่บอกอนาคต

เมื่อบรรยากาศแห่งความร่าเริงภายในบ้านแปรเปลี่ยนไป หลวงปู่ซึ่งเคยถอดแบบความรื่นเริง สนุกสนานของบิดาไว้ ก็พลอยรู้สึกไปด้วย ท่านว่า ที่เคยเป็น “หัวโจก” พาเด็กในบ้านสนุกสนาน กระโดดน้ำ ปีนป่ายต้นไม้ ซนไปต่าง ๆ นานาก็แทบหมดสนุก พี่สาวก็คร่ำเคร่งกับการดูแลว่ากล่าวคนในบ้าน น้องชายก็เล็กนักไม่เข้าใจอะไรเลย

ท่านจึงมักปลีกตัวไปนั่งคนเดียวริมแม่น้ำ มองดูน้ำที่ไหลระเรื่อยผ่านไปเศษใบไม้ที่ปลิวตกลงมา ไม่ช้าก็ถูกกระแสน้ำนั้นพัดพาลอยไป

น้ำมาจากไหน…จะไหลไปไหน มีแต่ไหลไปทางเดียว ไม่มีไหลกลับดูแต่เศษใบไม้ที่ปลิวตกลงในน้ำ ไม่ช้าก็ถูกกระแสน้ำม้วนตัวพัดพาลอยละลิ่วไปจนสุดสายตา ครูที่โรงเรียนสอนว่า เวลาและกระแสน้ำไม่รอใคร แต่ท่านไม่คิดถึงในเรื่อง “เวลา” กลับคิดไปในแง่เปรียบเทียบกับ “ชีวิต” มากกว่า

ชีวิตมนุษย์ก็เหมือนกระแสน้ำ เกิดมาแล้วก็ล่วงวันไป…ผ่านไป ชีวิตมีแต่ล่วงไปทุกวัน ทุกคืน ไม่เคยหยุดอยู่กับที่ เกิดแล้วทำไมไม่หยุดอยู่ ที่เคยพบเห็นกันก็จากกันเหมือนใบไม้ที่ลอยลิ่วไปกับน้ำ ดูแต่บิดา ท่านเมตตา อุ้มเรา จูงเรา หัวเราะกับเรา รักเรา อาทรเรา อยู่ไม่นาน ก็ไม่มีบิดาอีกแล้ว

ชีวิตนี้ช่างน้อยนิดนี่กระไร

ชีวิตนี้ช่างไม่เที่ยงแท้จริง ๆ…..!

ท่านครุ่นคิด…คิด ๆ อยู่ ไม่ทราบว่าเป็นการคิดเพ้อเจ้อหรือไร้สาระหรือไม่เคยปรารภกับพี่ พี่ก็ทำท่าเหมือนน้องชายจะกลายเป็นคนสติเสียหรือเปล่า

ท่านก็เลยไม่กล้าพูด เล่า ความคิดเหล่านี้ให้ใครฟัง

ได้แต่ คิด…คิด ดูกระแสน้ำในแม่น้ำเฉยอยู่…ราวกับจะเป็นเพื่อนรับฟังความคิดของท่าน เพ่งน้ำ ดูน้ำ มันสงบ มันเย็นดี มันปลอดโปร่งใจดี

ท่านไม่ทราบว่า นั่นเป็นการหันเหจิตเข้าสู่ความสงัดวิเวก นั่นเป็นการเริ่มของความคิดทางธรรม การเพ่งน้ำ ดูน้ำ ที่สงบ ที่เย็น นั้นที่จริงก็เป็นการภาวนาโดยอาศัยน้ำเป็นอารมณ์ อันอาจจะเป็นอาโปกสิณ…กสิณน้ำของผู้รู้ต่อไปได้…..

ท่านว่า ท่านไม่ทราบอะไรทั้งสิ้น วันหนึ่งขณะที่นั่งอยู่ที่ริมสะพานน้ำนั่งมองน้ำเพลิน คิดเรื่องชีวิตต่าง ๆ อย่างหมกมุ่นเกินวัย จิตตกภวังค์วูบลง เกิดนิมิตเห็นเป็นแสงสว่างสีสวยคล้ายสีรุ้ง แต่ต่างกับรุ้งที่ไม่เป็นวงโค้งครอบลงกับขอบฟ้าเป็นวงกลม ลำแสงนี้เป็นลำพุ่งขึ้นไปกลางฟ้า แล้วก็สว่างอยู่บนนั้น ไม่ทอดลำแสงลงแต่อย่างใด ลำแสงระยะต้นดูเป็นสีเทาดำ ไม่สว่าง ส่วนที่สว่างจ้านั้นเริ่มแต่ตอนกลางเป็นต้นไป ยิ่งถึงปลายลำแสงก็ยิ่งสว่างจ้ายิ่งขึ้น

จิตถามว่า แสงอะไร

ในใจตอบว่า แสงนี้แสดงนิมิตของชีวิตเรา ตอนต้นไม่สว่าง เพราะเราอาภัพบิดาตายแต่เล็ก ชีวิตจะลำบาก ช่วงเที่ยงวัน…ท่านว่า ทำไมเรียกเช่นนั้นก็ไม่ทราบคงเป็นเพราะเห็นว่า ระยะนั้นแสงพุ่งขึ้นสูง…สูงสุดยอด เป็นช่วงตอนกลางของลำแสงถือเป็นเที่ยงวันหรือช่วงวัยกลางของชีวิต….จะเริ่มเป็นคนมีชื่อเสียง เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป แสงนั้นไม่ตกลงเลย ความที่เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป ก็จะไม่ลดละลงเลยเช่นกัน

แล้วในใจก็รู้ขึ้นมาอีกว่า

“ต่อไปจะต้องบวช และบวชแบบกัมมัฎฐาน”….. ขณะนี้ยังเป็นเด็กไม่รู้จักคำว่า “กัมมัฎฐาน” มาก่อนเลย แต่ในใจก็คิดขึ้นมาเช่นนั้นเองได้อย่างไรก็ไม่ทราบ ท่านเล่าให้ศิษย์ฟังว่า “คงเป็นนิสัยวาสนาที่เคยสั่งสมอบรมมาแต่ชาติก่อน ๆ มาบอกมาเตือน” นั่นเอง

เป็นนิมิตที่ประหลาดมาก ท่านเองลืมไปนาน จนกระทั่งภายหลังเวลามาอนุสรณ์ถึงความหลัง ระหว่างเจริญภาวนาสงบวิเวกอยู่ นิมิตนี้ก็ผุดขึ้นมาอีก เป็นการบอกอนาคตในภายภาคหน้า มีตัว “ผู้รู้” อยู่กับตัวนานแล้ว แต่ไม่รู้จัก

ท่านว่า จำได้ว่า ระยะที่มีนิมิตนี้ ท่านมีอายุประมาณ ๙ ขวบเท่านั้น

วอ-บา- หลุย

ในสมัยเมื่อเจ็ดสิบแปดสิบกว่าปีก่อนโน้น ระบบการศึกษาของจังหวัดเลยมีเพียงแค่ระดับประถมศึกษาเท่านั้น หากต้องการจะเรียนสูงกว่านั้นจะต้องมาต่อที่กรุงเทพฯอันเป็นเมืองหลวงของประเทศ การคมนาคมเดินทางจากจังหวัดหัวเมืองจะมานครหลวงนั้นแสนลำบาก ไม่มีทางที่คนธรรมดาสามัญ ไม่ใช่ข้าราชการจะเดินทางกันไปเองได้ เพราะต้องเดินทางรอนแรมกันไปกลางป่ากลางดง มีเกวียน มีช้าง มีม้าต่างไปเป็นขบวน โดยที่ถ้าใครจะให้บุตรหลานไปเรียนสูงกว่าชั้นประถม จะต้องฝากฝังไปกับขบวนข้าราชการที่จะต้องเดินทาง ถ้าไม่สบจังหวะเวลา ไม่มีการไปราชการกรุงเทพฯ ไม่มีการโยกย้ายตำแหน่ง ก็ไม่มีโอกาสเดินทางเข้าเมืองหลวง นอกจากนั้นเข้าเมืองหลวงได้แล้ว ก็จะต้องหาบ้านผู้หลักผู้ใหญ่ หรือญาติมิตรให้บุตรหลานได้พักพิง

ระหว่างการศึกษาด้วยหลวงปู่ต้องการจะไปเรียนต่อกรุงเทพฯ แต่มารดาก็ไม่ยอมส่งไป อ้างว่าไม่มีญาติมิตรที่จะคอยดูแลได้ ความจริงคงเป็นความรู้สึกลึก ๆ เรื่องกลัว “การจาก”ยังฝังอยู่มากกว่า สามีก็ไม่อยู่แล้ว หากลูกชายคนโตพลอยเป็นอะไรไปจะทำอย่างไรเพราะมีบ่อยครั้งที่ได้ข่าวว่า เด็กชายที่เดินทางไปเพื่อการศึกษา ต้องเป็นไข้ป่า ล้มหายตายจากไปเสียก่อนก็มี มารดาจึงไม่ยอมให้บุตรจากมา หลวงปู่จึงมีโอกาสศึกษาเล่าเรียนแค่จบประถมปีที่ ๓ เท่านั้น

ซึ่งขณะนั้นนับเป็นการศึกษาที่สูงมากสำหรับบ้านเมืองที่ห่างไกลนครหลวงไปจนสุดกู่อย่างจังหวัดเลย

โรงเรียนที่ท่านเรียนนั้น ชื่อ โรงเรียนวัดศรีสะอาด ฉะนั้นจึงไม่น่าประหลาดใจที่สภาพอันสงบร่มเย็นของ “วัด” จะมีส่วนกล่อมเกลาให้จิตใจเด็กชายน้อยแห่งสกุล “วรบุตร” หันไปสู่ทางธรรม ด้วยโรงเรียนก็อยู่ในเขตวัด การเรียนการเล่นก็ไม่ห่างเสียงสวดมนต์ไหว้พระ มิหนำซ้ำโรงเรียนขาดแคลนครู บางเวลาต้องอาศัยพระช่วยมาสอนหนังสือด้วย ชีวิตของท่านจึงโน้มน้าวไปหาความสงบของวัด แนบแน่นกับวัด…โดยไม่รู้ตัว

แต่เดิมบิดามารดา ตั้งชื่อบุตรชายคนนี้ว่า “วอ” แต่เมื่อมาเข้าโรงเรียนความที่มีนิสัยช่างซัก ช่างเจรจา ช่างออกความเห็น เหมือน “ครูบา” ทางครูและเพื่อน ๆ ก็เลยเรียกชื่อท่านว่า “บา” ท่านได้ไชชื่อใหม่ว่า “บา” นี้จนกระทั่งได้เปลี่ยนเป็น “หลุย” ในภายหลัง ดังจะกล่าวต่อไป

ทางที่หลงไป

ท่านเคยเล่าว่า การที่มารดาไม่ยอมส่งเสียให้ท่านมาเรียนต่อที่กรุงเทพฯหลังจากจบชั้นประถมปีที่ ๓ แล้วนั้นทำให้ท่านเสียใจมาก ว่ามารดาไม่รัก ทรัพย์สมบัติก็มีมากมาย เพียงแค่นี้ก็ไม่ยอมเสียเงิน ท่านว่า ระยะนั้นไม่เข้าใจถึงความรู้สึกของมารดาที่จะต้องห่วงหาอาทรต่อบุตร ท่านได้แสดงกิริยาที่คล้ายกับ “ทำฤทธิ์” กับมารดาหลายประการ มาคิดได้ในภายหลังก็ออกอายใจเหลือประมาณ มีการใดที่จะทำเพื่อทดแทนพระคุณมารดา ท่านจะรีบทำ เช่น เรื่องการบวชไม่ยอมสึก การทำกลด แจกกลดในระยะหลัง ที่ทำบูชาคุณมารดา

ท่านกล่าวว่า ที่ท่านคิดอยากไปศึกษาต่อนั้น เป็นเพราะเมื่อบิดาข้ามมาจากเมืองแก่นท้าว ก็มากับเพื่อนคนหนึ่ง ต่อมาเพื่อนของบิดาคนนี้ได้เข้ารับราชการมีความเจริญก้าวหน้าได้รับบรรดาศักดิ์เป็นถึง “หลวง…..” บิดาของท่านบุญน้อยเสียชีวิตก่อน จึงไม่มีบรรดาศักดิ์ และมีพวกข้าราชการหลายคนล้วนมีบรรดาศักดิ์เป็น ขุน หลวง พระ พระยากัน ซึ่งจะต้องมีพื้นความรู้ดีจึงจะก้าวหน้าทางราชการได้ ท่านก็เลยคิดอยากจะเรียน…หาความรู้ใส่ตัว เพื่อเป็นฐานทางราชการบ้าง

เจ้าแม่นางบวย พีสาวของท่านและพี่เขย คือนายอ้วน ปัญญาประชุม ที่เคยเป็นสมุห์บัญชี
อ.เชียงคาน และบุตรสาว

มารดาเห็นท่านเป็นคนมีวาทะโวหารดี และสนใจจะเอาตีทางราชการ เผอิญทางบุตรเขยของท่านย้ายจากจังหวัดเลย ไปเป็นสมุห์บัญชี แผนกสรรพากร ที่อำเภอเชียงคาน มารดาจึงฝากฝังให้ท่านไปอยู่กับพี่เขยหรือสามีเจ้าแม่นางบวยที่อำเภอเชียงคาน ตั้งแต่ปี ๒๔๖๐ ท่านได้ไปเริ่มทำงานเป็นเสมียนฝึกหัดก่อนเพราะอายุยังไม่ครบ ๑๘ ปี ที่จะรับราชการได้ รอจนอายุครบ ๑๘ พี่เขยจึงให้เป็นเสมียนจริง ๆ ทำอยู่จนถึงปี ๒๔๖๔ ท่านอัยการภาคผู้มีความคุ้นเคยกับครอบครัวหลวงปู่ ก็ฝากให้ไปทำงานที่ห้องอัยการจังหวัดร้อยเอ็ด ท่านจึงย้ายจากเชียงคานไปอยู่ร้อยเอ็ดโดยไปทำงานอำเภอแซงบาดาลบ้าง ห้องอัยการบ้าง

เมื่อเป็นเด็กหนุ่มคะนองอยู่ที่เชียงคาน ได้เข้าโบสถ์นับถือศาสนาคริสต์เพราะชอบสวดมนต์ และลึก ๆ ลงไปในใจ อยากจะแกล้งทำให้มารดาซึ่งมีศรัทธาทางพระพุทธศาสนามากผิดหวังที่ลูกชายเปลี่ยนไปศาสนาอื่น แกล้งมารดาด้วย ท่านว่า

อำเภอเชียงคานอยู่ติดแม่น้ำโขง มีการติดต่อกับฝรั่งทางฝั่งลาวมากท่านจึงได้รับการฝึกหัดให้รู้จักการเสิร์ฟอาหาร แบบตั้งโต๊ะดินเนอร์ รู้จักการตั้งแก้วเหล้าขาว เหล้าแดง รู้จักอาหารที่ควรรับประทานกับเหล้าขาว เหล้าแดง เสิร์ฟแบบฝรั่งเศสอย่างถูกต้องคล่องแคล่ว ท่านนับถือศาสนาคริสต์อยู่ ๕ ปี จนคุณพระเชียงคาน ลุงของท่าน ให้ชื่อท่านว่า “เซนต์หลุย” หรือ “นักบุญหลุย” ท่านมีชื่อ “หลุย” มาด้วยประการฉะนี้

การคลุกคลีอยู่กับการจัดอาหารเลี้ยงบ่อย ๆ นั้นทำให้ท่านได้เห็นการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตมากมาย บังเกิดความสังเวชสลดใจ จึงออกจากศาสนาคริสต์

ท่านอธิบายถึงบาปจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตว่า สมัยนั้นทางจังหวัดเลยไม่มีการขายเนื้อสัตว์ที่ฆ่าแล้ว เช่น เมื่อบ้านใดต้องการปรุงอาหารไก่ ก็จะซื้อไก่เป็น ๆไปจากตลาด แล้วจัดการฆ่ากันเอง ส่วนเนื้อหมู เนื้อวัว ก็จะขายกันต่อเมื่อหลาย ๆ บ้านรวมกันจะซื้อ บอกกล่าวกันครบ ๑ ตัว ก็จะฆ่าสักครั้งหนึ่ง การซื้อสัตว์เป็น ๆ มาฆ่าเป็นอาหารนี้ ความจริงก็มิได้ทำกันบ่อยนัก ด้วยพอหา ปลา กบ เขียด ในแม่น้ำได้โดยง่าย บ้านเมืองสมัยนั้นยังอุดมสมบูรณ์ สมกับคำที่ว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” จริง ๆ ตั้งแกงในหม้อบนเตาไฟ ไปเก็บผักในไร่ บ้านท่านอยู่ริมแม่น้ำ ก็ให้คนลงทอดแหทอดอวน ประเดี๋ยวก็ได้ปลาได้กุ้ง ทันลงหม้อแกงที่กำลังเดือดอยู่

จริงอยู่ ไม่ว่าปลา ไม่ว่ากุ้ง ไม่ว่าไก่ ต่างก็เป็นสัตว์มีชีวิต ตัวหนึ่งก็ชีวิตหนึ่ง แต่ชีวิตของสัตว์โตกว่า เมื่อจะฆ่า นัยน์ตาของมันวิงวอนอย่างน่าสงสารยิ่ง แถมยังดิ้นสุดชีวิต พลางส่งเสียงร้องอุทธรณ์ขอชีวิต จะดังลั่นกระเทือนโสตประสาทอย่างใด คงจะพออนุมานได้ ถ้าไก่มันไม่พยายามทั้งสิ้นทั้งร้องอย่างมาก ภาษาไทยเราคงไม่มีวลีเปรียบเทียบเสียงร้องที่แสดงถึงความเจ็บปวดดิ้นรนเพื่อชีวิตว่า “ร้องราวกับไก่ถูกเชือด” ดอก

ท่านว่า เวลาอยู่กับบ้านไทยที่เป็นพุทธ ก็มิได้รู้สึกความน่าสงสารของไก่ที่ถูกฆ่านี้มากนัก ด้วยการฆ่านั้นพวกคนใช้ก็ทำกันทางในครัว ไม่เห็นตำตาก็ไม่เป็นไร นอกจากนั้นทางบ้านเมืองคนไทย ไม่ได้ต้องปรุงอาหารที่เป็นไก่มากนัก นอกจากในโอกาสพิเศษ หรือเทศกาลตรุษสงกรานต์ อีกประการหนึ่ง การประกอบอาหารไทยไม่ต้องใช้เนื้อสัตว์มากสำหรับอาหารมื้อหนึ่ง ๆ อาหารของไทยจะมีอาหารหลักเป็นข้าว ส่วนกับข้าวก็จะเป็นเนื้อสัตว์แต่เพียงน้อย พร้อมทั้งผักมาก ๆ แต่อาหารแบบของคริสต์ที่จัดให้ฝรั่งนั้น อาหารดินเนอร์มื้อหนึ่ง ๆ นอกจากซุปที่เป็นอาหารจานแรกแล้วจะกอปรด้วยอาหารอีก ๒ จาน จานแรกเป็นเนื้อปลาหรือสัตว์ป่าที่มี ๒ เท้า จานที่สองเป็นอาหารเนื้อสัตว์พวกสัตว์ ๔ เท้า ถ้าจานแรกเป็นไก่ ก็ต้องใช้ไก่ครึ่งตัว สำหรับแขก ๑ คน ถ้าเลี้ยงดินเนอร์ ๔๐ คน จะต้องฆ่าไก่อย่างน้อย ๒๐ ตัว…แล้วยังพวกอาหารจานเนื้อหมูอบ สเต็กเนื้ออีกเล่า ก็ต้องฆ่าหมู ฆ่าวัวเช่นกัน บางวันเห็นการฆ่าไก่เกินกว่าร้อยตัว เสียงมันร้องลั่น ดิ้นทุรนทุรายน่าสงสารเป็นที่สุด

ออกบวช

ท่านออกจากศาสนาคริสต์แล้ว แต่ภาพไก่ที่เห็นถูกเชือดทุก ๆ วัน ยังตามมารบกวนความรู้สึกอยู่ในมโนภาพ ท่านเคยได้ยินว่า การบวชอาจจะแผ่บุญกุศลไปให้ผู้ที่ตายไปแล้วได้ ไก่ตายไปแล้ว…บางทีการบวชอาจจะอุทิศส่วนกุศลไปให้ได้กระมัง ?

ประจวบกับระยะนั้น การทำราชการไม่สู้จะปลอดโปร่งใจ ด้วยผู้บังคับบัญชาเกิดกินแหนงแคลงใจในตัวท่าน ทำให้ท่านรู้สึกอึดอัดใจในชีวิตฆราวาสอย่างยิ่ง ผู้บังคับบัญชาเคยรักใคร่ เอ็นดู กลับเปลี่ยนแปลง (ซึ่งท่านบันทึกวิจารณ์ไว้ในภายหลังว่าเป็นอนิจจัง เป็นเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ท่านตัดสินใจละโลกฆราวาสไต้ง่ายดายขึ้น) ท่านจึงขอลาออกจากราชการ แล้วเข้าสู่พิธีอุปสมบท เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๖ โดยมีท่านอัยการภาคเป็นเจ้าภาพบวชให้ บวชเป็นพระมหานิกาย จำพรรษาอยู่ ณ อำเภอแซงบาดาล ปัจจุบัน คือ อำเภอธวัชบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด

ได้กลดแรกในชีวิต

ระหว่างพรรษาแรกที่อำเภอธวัชบุรีนี้ หลวงปู่ได้พยายามศึกษาพระธรรมวินัยตามขนบธรรมเนียมของสมณะซึ่งมีทั้งปริยัติและปฏิบัติ สำหรับเรื่องปฏิบัตินั้น ท่านว่ารู้สึกดื่มด่ำมาก ราวกับได้ไปพบเพื่อนเก่าที่จากกันมาช้านานแล้ว เมื่อออกพรรษาแล้วท่านก็ลาอาจารย์กลับ เพื่อกลับไปเตรียมคัดเลือกเกณฑ์ทหารที่จังหวัดเลยอันเป็นภูมิลำเนาเดิม

ท่านออกเดินทางไปจังหวัดนครพนม เพราะคิดว่าก่อนจะกลับบ้านก็ควรหาโอกาสไปนมัสการพระธาตุพนมอันเป็นพระธาตุอันศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพอันสูงสุดของชาวอีสานและชาวไทยทั้งประเทศ เพื่อความสิริมงคลก่อน ระหว่างทางได้พบพระธุดงคกัมมัฏฐานรูปหนึ่งมาจากอำเภอโพนทอง สนทนาปราศรัยกันด้วยความชอบอัธยาศัยซึ่งกันและกัน

หลวงปู่เป็นพระหนุ่ม เพิ่งบวชพรรษาแรก ยังไม่มีประสบการณ์ใดในการธุดงค์ ส่วนพระกัมมัฏฐานรูปนั้นแก่พรรษากว่า ผ่านการธุดงค์มาอย่างโชกโชนแล้วท่านได้ทราบความมุ่งมั่นปรารถนาของหลวงปู่ที่จะเป็นพระธุดงค์ที่ดี ประพฤติปฏิบัติเพื่อความหมดไป สิ้นไป แล้วท่านก็อนุโมทนาด้วย ก่อนจะแยกจากกัน ทราบว่าหลวงปู่ยังไม่มีอัฐบริขารกลดและมุ้งกลด พระกัมมัฏฐานรูปนั้นก็มอบกลดและมุ้งกลดของท่านให้หลวงปู่ไว้ใช้ ครั้งแรกหลวงปู่ปฏิเสธด้วยความเกรงใจ แต่ท่านก็คะยั้นคะยอให้รับไว้ บอกว่า หากต่อไปท่านได้ภาวนาดี เป็นผลดี ผมก็จะได้มีส่วนแห่งผลดีนั้นด้วย และผมขออนุโมทนาล่วงหน้าไว้ เชื่อว่าท่านคงจะได้เป็นพระปฏิบัติดี เป็นที่เชิดชูของพระพุทธศาสนาสืบต่อไป

หลวงปู่กล่าวว่า เป็นกลดคันแรกในชีวิตที่ท่านได้รับ ทำให้ท่านรู้สึกในพระคุณของพระธุดงคกัมมัฏฐานรูปนั้นอย่างที่สุด ได้ใช้ในการภาวนาตลอดมาจนกลดและมุ้งขาด ซ่อมแซมปะชุนไม่ได้อีกต่อไป ท่านไม่เคยลืมพระคุณนี้ และนี่เป็นเหตุปัจจัยประการหนึ่งที่ทำให้ท่านได้ทำกลดแจกจ่ายไปให้พระ เณร แม่ชีมาตลอดเวลา อุทิศกุศลทั้งมวลให้พระธุดงค์จากอำเภอโพนทองรูปนั้นด้วยความสำนึกในพระคุณเป็นที่สุด

ไปถึงพระธาตุพนม ท่านได้มีโอกาสใช้ประโยชน์จากกลดคันแรกนั้นอย่างเต็มที่ พร้อมทั้งได้ทดลองความรู้เรื่องการปฏิบัติภาวนาที่พระธุดงค์แนะนำท่านด้วย

อาจจะเป็นเพราะสถานที่เป็นมงคลอย่างเยี่ยมยอด ได้ประเดิมกลดที่ลานพระธาตุเจดีย์ที่บรรจุพระอุรังคธาตุของสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าอันศักดิ์สิทธิ์ยิ่ง ได้ถวายการภาวนาเป็นพุทธบูชา ไม่นอนตลอดคืน บังเกิดความอัศจรรย์ในจิต คือเกิด กายลหุตา จิตลหุตา กายเบา จิตเบา ทำให้ท่านรู้สึกดื่มด่ำในการภาวนามากแล้วตั้งสัจจาธิษฐานว่า

“กลับไปจังหวัดเลยครั้งนี้ หากไม่ได้รับเกณฑ์เป็นทหาร จะบวชกัมมัฎฐานตลอดชีวิต”

ท่านเล่าว่า ไม่ทราบว่าเหตุใด คำว่า “กัมมัฏฐาน” ในนิมิตครั้งเป็นเด็กชายวัย ๙ ขวบนั้นได้กลับคืนมาสู่อนุสติอีก

พบท่านพระอาจารย์บุญ

รูปปั้นท่านพระอาจารย์บุญ พระอาจารย์องค์แรกของหลวงปู่ ปั้นตามคำบอกเล่าของชาวบ้านในยุคนั้น

พักภาวนาอยู่ ณ พระธาตุพนมพอสมควร ท่านก็ออกเดินทางเตรียมกลับจังหวัดเลย ผ่านอำเภอนาแก จังหวัดสกลนคร อำเภอพรรณานิคม วาริชภูมิ สว่างแดนดิน หนองหาน จังหวัดอุดรธานี ปากดง

มาถึงอำเภอหนองวัวซอ ได้ยินกิตติศัพท์ว่ามีพระอาจารย์ที่มีชื่อทางธุดงคกัมมัฏฐานองค์หนึ่ง ได้พาชาวบ้านอพยพมาจากจังหวัดอุบลราชธานี มาตั้งบ้านเรือนและสร้างวัดอยู่ที่หนองวัวซอ มีผู้คนพากันไปฟังธรรมจากท่านกันอย่างล้นหลาม ท่านได้ยินคำว่า “กัมมัฏฐาน” ก็สนใจ เลยแวะเข้าไปดูลาดเลากับเขาบ้าง

ปรากฏว่า การแวะเข้าไปดูลาดเลากับเขาบ้าง ในครั้งนั้น ทำให้ท่านอยู่ต่อมากับพระธุดงคกัมมัฏฐานรูปนั้นไปอีกหลายเดือน จนถึงเวลาเดือนเมษายน ใกล้จะเกณฑ์ทหาร จึงลาจากท่านไป

เป็นวาระแรกที่ท่านได้พบ ท่านพระอาจารย์บุญ ปัญญาวุโธ…..

ท่านเล่าว่า ได้เห็นศีลาจารานุวัตรและข้อปฏิบัติ ได้ฟังธรรมเทศนาของท่านพระอาจารย์บุญแล้วก็เลื่อมใสมาก ขอถวายตัวเป็นศิษย์ ตามแต่ท่านจะเมตตาสั่งสอน แต่ก็มีปัญหา ด้วยการบวชของท่านนั้นยังเป็นมหานิกายอยู่ ท่านพระอาจารย์บุญจึงแนะนำว่า หากไม่ได้รับการเกณฑ์ทหารแล้วก็ให้ขอญัตติเป็นธรรมยุตเสียที่จังหวัดเลย หลวงปู่จึงได้ไปขอญัตติจตุตถกรรมใหม่เป็นพระธรรมยุตที่ วัดศรีสะอาด อำเภอเมืองจังหวัดเลย โดยมี ท่านพระคูรอดิสัยคุณาธาร (อ่ำ อรโก) เป็นพระอุปัชฌาย์

พบท่านพระอาจารย์เสาร์ และท่านพระอาจารย์มั่น

ท่านได้อยู่กับพระอุปัชฌาย์พอสมควร แล้วก็ได้เดินทางจากจังหวัดเลยกลับไปอยู่กับท่านพระอาจารย์บุญ ที่อำเภอหนองวัวซออีก และได้ติดตามท่านพระอาจารย์บุญไปยังวัดพระบาทบัวบก ณ ที่นี้เองที่หลวงปู่ได้พบกับ ท่านพระอาจารย์เสาร์ กนตสีโล และได้อยู่ปฏิบัติรับฟังโอวาทจากท่านพระอาจารย์เสาร์ โดยมีท่านพระอาจารย์บุญเป็นพระพี่เลี้ยงผู้ชี้แนะในข้อที่ท่านไม่เข้าใจอีกชั้นหนึ่งด้วย

จากนั้น ท่านพระอาจารย์บุญก็ได้พาหมู่คณะศิษย์พร้อมด้วยหลวงปู่ไปกราบนมัสการ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตมหาเถระ ที่ท่าบ่อ อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย คณะท่านพระอาจารย์บุญได้อยู่อบรมรับฟังโอวาทและฝึกปฏิบัติจากท่านพระอาจารย์มั่น จนกระทั่งจวนจะเข้าพรรษา จึงได้พากันย้อนกลับมาจำพรรษาที่วัดพระบาทบัวบก

หลวงปู่นับหนึ่ง ๓ ครั้ง

ในพรรษานี้ การภาวนาของหลวงปู่ก็ยังมีอุปสรรคเกิดขึ้น คือเมื่อภาวนาจิตร่วมลงแล้ว เกิดอาการสะดุ้ง จิตถอนขึ้นมาเองโดยไม่ได้กำหนด บางครั้งก็ไม่มีการเป็นไป เกิดการขัดข้องอยู่ในจิตเสมอ จึงได้นำความไปกราบเรียนถามท่านพระอาจารย์บุญ ก็ได้รับคำแนะนำให้ทำญัตติจตุตถกรรมใหม่ เพราะสงสัยว่าการญัตติครั้งที่แล้วคงจะไม่ถูกต้องนัก หลวงปู่ก็ได้ปฏิบัติตามคำแนะนำ โดยไปทำพิธีญัตติจตุตถกรรมใหม่ ที่วัดโพธิสมภรณ์ ตำบลหมากแข้ง อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานีเมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๖๘ เวลา ๑๓.๐๘ น. โดยมี ท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล) แต่เมื่อครั้งเป็น ที่ พระครูสังฆวุฒิกร เป็นพระอุปัชฌาย์ และท่านพระอาจารย์บุญ ปัญญาวุโธ เป็นพระกรรมวาจาจารย์

หลวงปู่เล่าขัน ๆ ว่าท่านนับพรรษาหนึ่ง อยู่ถึง ๓ ครั้ง “หนึ่ง” ครั้งแรกเป็นพระมหานิกาย “หนึ่ง” ครั้งที่สอง เมื่อญัตติเป็นธรรมยุตครั้งแรก พ.ศ. ๒๔๖๗ “หนึ่ง” ครั้งที่สาม เมื่อญัตติเป็นธรรมยุตครั้งที่สอง พ.ศ. ๒๔๖๘

หลวงปู่นับ “หนึ่ง” ๓ ครั้ง ด้วยประการฉะนี้

http://www.dharma-gateway.com/monk/monk_biography/lp-louis/lp-louis-hist-04-01.htm

. . . . . . .