พระพุทธเจ้าสอนกรรมฐาน (๓)
สมเด็จพระญาณสังวร? สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก? วัดบวรนิเวศวิหาร
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์? อณิศร โพธิทองคำ บรรณาธิการ
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม?
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสสอนให้ละอกุศลวิตก ความตรึกนึกคิดที่เป็นอกุศล ให้ตรึกนึกคิดในส่วนที่เป็นกุศล อันเรียกว่ากุศลวิตก และก็ตรัสสอนต่อไป
ให้สงบความตรึกนึกคิดแม้ที่เป็นกุศล รวมจิตเข้ามาตั้งสงบอยู่ในภายใน วิตก ๒ อย่างของพระพุทธเจ้า และได้ตรัสแสดงถึงพระองค์เอง ในเวลาปรกติก็ได้ทรงวิตก
คือทรงตรึกนึกคิด ๒ อย่างอยู่เป็นประจำ คือ ๑ เขมวิตกความตรึกนึกคิดที่เกษม อันหมายความว่าไม่เบียดเบียนใครอะไร อันเรียกว่า? เขมวิตก และความตรึกนึกคิดที่สงบสงัด
โดยตรงก็คือสงบสงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย อันเรียกว่า? วิเวกวิตก? โดยปรกติพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงมีความเกษม
คือความไม่เบียดเบียน เป็นที่มายินดี ยินดีอยู่ในความไม่เบียดเบียนอันเป็นความเกษม เพราะฉะนั้นวิตกคือความตรึกนึกคิดนี้ จึ่งได้บังเกิดขึ้นเที่ยวไปกับพระตถาคต
อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้มีความไม่เบียดเบียน เป็นที่มายินดี ยินดีอยู่ในความไม่เบียดเบียน ว่าเราไม่เบียดเบียนอะไรใคร ด้วยความเป็นไป หรืออาการที่เป็นไปแห่งความตรึกนึกคิดนี้
อนึ่ง ตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสถึงพระองค์เอง ทรงมีความสงบสงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย เป็นที่มายินดี ยินดีอยู่ในความสงบสงัด วิตกคือความตรึกนึกคิดนี้จึงบังเกิดขึ้น
เที่ยวไปกับพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้มีความสงบสงัดจากอกุศล เป็นที่มายินดี ยินดีแล้วในความสงบสงัด ว่าอะไรเป็นอกุศล อะไรเป็นอกุศล ทั้งหมดละได้แล้ว ดั่งนี้
พระพุทธองค์เมื่อได้ตรัสถึงพระองค์เองดั่งนี้แล้ว จึ่งได้ตรัสสอนภิกษุทั้งหลาย อันรวมถึงผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ว่าท่านทั้งหลายก็จงมีความไม่เบียดเบียน
อันเป็นความเกษม เป็นที่มายินดี ยินดีอยู่ในความไม่เบียดเบียน และวิตกคือความตรึกนึกคิดนี้ก็จักบังเกิดขึ้นเที่ยวไปแก่ท่านทั้งหลาย ผู้มีความไม่เบียดเบียน เป็นที่มายินดี ( เริ่ม ๑๖๗/๑ )
ยินดีอยู่ในความไม่เบียดเบียน ว่าเราทั้งหลายจักไม่เบียดเบียนใครอะไร ด้วยอาการที่เป็นไปแห่งวิตกคือความตรึกนึกคิดนี้? อนึ่ง ท่านทั้งหลายพึงมีความสงบสงัดจากอกุศลทั้งหลาย
เป็นที่มายินดี ยินดีในความสงบสงัด ความตรึกนึกคิดนี้ก็จักมีแก่ท่านทั้งหลาย ผู้มีความสงบสงัดจากอกุศลทั้งหลายเป็นที่มายินดี ยินดีในความสงบสงัด ว่าอะไรเป็นอกุศล
อกุศลที่ยังไม่ละแล้ว เราก็จะละอกุศลนั้น ดั่งนี้? เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าเองได้ตรัสถึงพระองค์เอง ว่าโดยปรกติได้ทรงมีวิตกความตรึกนึกคิด ๒ อย่างอยู่เป็นประจำ
คือตรึกนึกคิดไม่เบียดเบียนอันเป็นความเกษม ไม่เบียดเบียนใครอะไร และมีความวิตกคือตรึกนึกคิดที่สงบสงัดจากอกุศลทั้งหลาย ทรงละอกุศลทั้งหลายได้ ไม่ว่าอกุศลอะไรทั้งหมด
เขมวิตก วิเวกวิตก
และก็ตรัสสอนให้ผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลาย พยายามที่จะทำความยินดีในความไม่เบียดเบียน คือในความเกษม ใครอะไรทั้งหมด คือไม่เบียดเบียนใครอะไรทั้งหมด ด้วยคิดว่า
เราจะไม่เบียดเบียนใครอะไรทั้งหมด คือสัตว์บุคคลอะไรทั้งหมด ทั้งที่เคลื่อนที่ได้ ทั้งที่เคลื่อนที่ไม่ได้ทั้งหมดไม่มียกเว้น เรียกว่าเขมวิตก หรือเกษมวิตก หัดให้มีวิตกคือ
ความตรึกนึกคิดดั่งนี้อยู่เป็นประจำ? ถ้าหากว่าจะมีความตรึกนึกคิดไปในทางเบียดเบียน ด้วยเหตุแห่งโทสะความกระทบกระทั่งขัดใจโกรธแค้นขัดเคือง ก็ให้หัดทำสติ
กำหนดรู้ตัวว่านี่เป็นอกุศลวิตก ไม่เกษมไม่สวัสดี ให้ละเสีย ตั้งใจอยู่เสมอว่าเราจะไม่คิดเบียดเบียนใครอะไร คือสัตว์บุคคลใครอะไรทั้งหมด ทั้งที่เคลื่อนที่ได้
ทั้งที่เคลื่อนที่ไม่ได้ ทั้งสิ้น หัดให้มีเขมวิตกคือความตรึกนึกคิดอันเกษมดั่งนี้อยู่เป็นประจำ? กับหัดให้มีวิเวกวิตกคือความตรึกนึกคิดที่สงบสงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย
คือตรึกนึกคิดว่าอะไรเป็นอกุศล อะไรที่เป็นอกุศลนั้นที่ละไม่ได้ เราก็จะละอกุศลนั้น ให้สงบสงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย อันเป็นความสงบสงัดทางใจ ประกอบกันไป
กับความสงบสงัดทางกาย ตามที่จะพึงเป็นไปได้ เรียกว่าเป็นการหัดปฏิบัติให้มีวิเวกวิตก ความตรึกนึกคิดไปในวิเวกคือความสงบสงัด จากอกุศลจิตทั้งหลาย อกุศลกรรมทั้งหลาย
ที่เป็นอกุศลทั้งหมด หัดปฏิบัติควบคุมจิตใจของตนอยู่ดั่งนี้? ข้อที่ควรถือเป็นหลักปฏิบัติประจำ อนึ่ง พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนข้อปฏิบัติที่ควรถือเป็นหลักปฏิบัติประจำ
สำหรับแก้ทางจิตใจของตนเองอีกประการหนึ่ง คือได้ตรัสไว้ว่าภิกษุ ซึ่งหมายถึงบุคคลผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นภิกษุ ไม่ว่าจะเป็นคฤหัสถ์ เมื่อประกอบด้วยธรรมะ ๒ ประการ
ย่อมมากด้วยสุขโสมนัสในทิฏฐธรรมคือในปัจจุบันนี้ทีเดียว ย่อมเป็นผู้เริ่มปฏิบัติโดยแยบคาย เพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะ คือกิเลสที่ดองจิตสันดานทั้งหลาย
ธรรมะ ๒ ประการนั้นคือ ประกอบด้วยความสังเวช คือความสลดใจ ความรู้ซาบซึ้งในฐานะที่พึงสังเวชทั้งหลาย ประการหนึ่งด้วยมีสังเวชตั้งความเพียรโดยชอบ
เพื่อสิ้นอาสวะทั้งหลาย ตั้งความเพียรโดยแยบคาย เพื่อสิ้นอาสวะทั้งหลาย อีกข้อหนึ่งดั่งนี้
กามสุขัลลิกานุโยค
ข้อแรกให้ประกอบด้วยสังเวช คือความสลดใจ ความรู้ซาบซึ้ง ในที่ตั้งแห่งความสังเวชทั้งหลาย ข้อนี้เป็นข้อที่พึงปฏิบัติให้บังเกิดขึ้นเป็นประการแรก
เพราะโดยปรกติจิตใจนี้ที่เป็นกามาพจรคือเที่ยวไปในกาม หรือหยั่งลงในกามทั้งหลาย ย่อมประกอบด้วยความสุขสดชื่นอยู่ในกาม อันเรียกว่ากามสุขัลลิกานุโยค
เป็นปรกติของจิตที่เป็นกามาพจร จึงเป็นจิตที่มากด้วยความประมาท คือความเลินเล่อเผลอเพลิน มีความติดใจมีความเพลินอยู่ในกามคุณารมณ์ทั้งปวง
เมื่อเป็นดั่งนี้หากไม่หัดปฏิบัติพิจารณาในฐานะเป็นที่ตั้งแห่งความสังเวช ก็ย่อมจะน้อมจิตมาปฏิบัติให้ยินดีในธรรมปฏิบัติได้ยากให้ตั้งอยู่ในสมาธิที่สงบสงัดจากกาม
และอกุศลธรรมทั้งหลายได้ยาก ให้เห็นไตรลักษณ์แห่งสังขารทั้งหลายได้ยาก
ความหมายของคำว่าสังเวช
เพราะฉะนั้น จึงต้องมีวิธีปฏิบัติสำหรับพิจารณา เพื่อจะทำจิตให้สลด คำว่าให้สลดนั้นหมายความว่าให้กามฉันท์ ความพอใจรักใคร่ในกาม กามนันทิความเพลิดเพลินในกาม
ความรู้สึกสดชื่นอยู่ในกามสลดลง คือลดลง สลดก็คือลด ลดระดับแห่งความเพลิน ความติดใจ ความบันเทิง ความพอใจในกามลง เรียกว่าสลดคือลด ลดระดับของจิตลง
เมื่อลดระดับของจิตลงจากความติดความเพลิดเพลินในกามได้ จิตก็จะน้อมมาปฏิบัติในสมาธิได้ หรือกล่าวรวบว่าในศีลในสมาธิในปัญญาได้
สังเวชวัตถุ ๘ ประการ
เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสฐานะอันเป็นที่ตั้งแห่งสังเวชไว้ ๘ ประการ สำหรับให้หัดพิจารณา คือให้พิจารณาถึงชาติความเกิด ชราความแก่
พยาธิความป่วยไข้ มรณะความตาย ที่จะมีแก่ชีวิตเป็นธรรมดา คือเมื่อเกิดมาเป็นชาติความเกิด ชาติความเกิดเองก็เป็นทุกข์ เกิดมาแล้วก็เป็นทุกข์ต่างๆ
ต้องพบชราความแก่ ความแก่ก็เป็นทุกข์ ต้องพบพยาธิความป่วยไข้ ความป่วยไข้ก็เป็นทุกข์ ต้องพบความตาย ความตายก็เป็นทุกข์ นี้เป็น ๔ ข้อ
ข้อที่ ๕ คืออบายทุกข์ ทุกข์ในอบาย คือในภพชาติที่ต่ำต้อย ไม่มีความสุข หรือมีความสุขน้อย เช่นกำเนิดสัตว์เดรัจฉาน กำเนิดในนรกหรือในนิรยะ กำเนิดเป็นเปรต
กำเนิดเป็นอสุรกาย เพราะเหตุแห่งอกุศลกรรม กรรมเป็นอกุศลที่ประกอบกระทำ? เพราะว่าเมื่อมีความมัวเมาประมาทอยู่ในกาม ไม่ลดหรือไม่สลดลง
กามก็จะชักนำให้ประกอบอกุศลกรรมทั้งหลายเป็นบาป เป็นอกุศลทุจริตทางกายทางวาจาทางใจต่างๆ อกุศลกรรมนี้เองก็จะนำให้เกิดในอบาย คือกำเนิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน
ต้องไปนรกไปเกิดเป็นเปรต ไปเกิดเป็นอสุรกาย อันเป็นอบายชาติอบายภพต่างๆ ต้องเสวยอบายทุกข์ ทุกข์ในอบาย นี้เป็นข้อที่ครบ ๕
วัฏฏะทุกข์
และอีก ๓ ข้อก็คือพิจารณาถึงทุกข์ที่มีวัฏฏะ คือความเวียนว่ายตายเกิดเป็นมูลในอดีตที่ผ่านมาแล้ว ว่าอดีตที่ผ่านมาแล้วนั้น เมื่อประกอบอกุศลกรรมต่างๆ
เพราะความมัวเมาประมาทอยู่ในกามทั้งหลาย ก็ต้องเป็นทุกข์มาแล้วในอดีตเป็นอันมาก นี้ข้อหนึ่ง และพิจารณาถึงทุกข์ที่มีวัฏฏะเป็นมูลในอนาคต คือแม้ในอนาคต
ก็จะต้องพบทุกข์อีกเป็นอันมากในภายหน้า เพราะในเมื่อยังมัวเมาประมาทอยู่ในกาม ก็จะต้องท่องเที่ยววนเวียน เกิดตายตายเกิดมีทุกข์ต่างๆ ในอนาคตสืบไปอีกยืดยาว
เป็นทุกข์ที่มีวัฏฏะเป็นมูลในอนาคต ก็เป็น ๗ ข้อ
ทุกข์ในปัจจุบัน
และอีกข้อหนึ่งคือในปัจจุบัน บัดนี้ก็มีการแสวงหาอาหารเป็นมูลให้เกิดทุกข์อยู่ทุกวันทุกเวลา เพราะชีวิตร่างกายนี้ต้องอาศัยอาหาร รวมเข้าก็เป็นปัจจัยทั้ง ๔ คือโภชนาหาร
อาหารคือโภชนะสำหรับบริโภค ผ้านุ่งห่มสำหรับบริโภคใช้สอย ที่อยู่อาศัยก็สำหรับบริโภคอาศัย ยาแก้ไข้ก็สำหรับที่จะบริโภคแก้ไข้ และสิ่งอื่นๆ อีกเป็นอันมาก
ร่างกายอันนี้ต้องบริโภคอาหารทั้งปวงนี้อยู่ตลอดเวลา เรียกว่าต้องบริโภคทุกลมหายใจ ก็คือต้องหายใจเข้าหายใจออก นำเอาลมหายใจนี้เข้าไปเป็นอาหารบำรุงเลี้ยง
และเมื่อบริโภคเข้าไปแล้ว ก็ย่อยบำรุงเลี้ยงร่างกาย แล้วก็ถูกเผาไหม้หมดไป ก็ต้องบริโภคใหม่ อาหารหยาบนั้นก็อาจจะวันละ ๑ ครั้ง ๒ ครั้ง ๓ ครั้ง
อาหารละเอียดคือลมหายใจนั้น ต้องบริโภคกันอยู่ทุกลมหายใจ ขาดไม่ได้ ดั่งนี้ก็เป็นความทุกข์ในเพราะต้องแสวงหาอาหารอยู่เป็นปัจจุบัน อันเป็นข้อคำรบ ๘
รวมเป็นฐานะที่ตั่งแห่งความสังเวช ๘ หรือว่าสังเวชวัตถุที่ตั้งแห่งความสังเวช ๘ ข้อด้วยกัน สำหรับพิจารณาเพื่อให้ใจสลดคือลดความติดใจเพลิดเพลินยินดีหลงระเริงอยู่ในกาม
ให้ใจสลดลงคือให้ลดลงจากกามคุณารมณ์
เหตุให้น้อมใจปฏิบัติได้ง่าย
เมื่อเป็นดั่งนี้ ใจสลดเพราะมีความรู้ซาบซึ้ง ซึ่งเป็นศัพท์ของสังเวชโดยตรงคือความรู้ซาบซึ้ง อยู่ในสัจจะคือความจริง คือความที่ต้องเป็นทุกข์ เพราะเกิดแก่เจ็บตาย
เพราะอบาย เพราะมีวัฏฏะ คือความเวียนว่ายตายเกิดเป็นมูล ในอดีตที่ผ่านมาแล้ว ในอนาคตที่จะไปภายหน้า และในปัจจุบันก็ต้องแสวงหาอาหารมาบำรุงเลี้ยงร่างกายชีวิตอยู่ทุกวันเวลา
ใจก็จะสลด คือลดความติดใจเพลินเพลินในกามลง และน้อมใจมาปฏิบัติในสมาธิปัญญา หรือรวบยอดว่าในศีลในสมาธิในปัญญาก็สะดวกขึ้น จิตนี้จะเป็นศีลขึ้น
จะเป็นสมาธิขึ้น จะเป็นปัญญาขึ้นโดยสะดวก และจะพบกับความหลุดพ้นของจิต ซึ่งเป็นความหลุดพ้นชั่วคราว เป็นครั้งคราว จนถึงถึงหลุดพ้นอย่างเด็ดขาด ตามควรแก่ความปฏิบัติ
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป
http://www.watpanonvivek.com/index.php/section-table/2012-07-14-12-23-28/1294-2009-12-29-09-59-12