ประวัติหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
สวัสดีสมาชิกทุกท่าน วันนี้ อยากพาเพื่อนสมาชิกไปเที่ยววัด ๆ หนึ่งที่สวยงามและศักดิ์สิทธิ์ อยู่ที่จังหวัดสกลนคร คือวัดของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
เนื่องจากเมื่อวันที่ 1-2 ก.ค. 53 ได้มีโอกาสเดินทางไปศึกษาดูงานที่จังหวัดสกลนครและนครพนม ในฐานะกรรมการศูนย์ฯ และได้ยินกิตติศัพท์ว่าพระอาจารย์หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ศักดิ์สิทธิ์มาก เลยตั้งใจไปกราบนมัสการให้ได้และได้บูชาวัตถุมงคลมาเพิ่มความเป็นสิริมงคลในชีวิตด้วย
เรามาเรียนรู้ประวัติของพระอาจารย์มั่น ก่อนดีไหมคะ เริ่มเลยนะ มีผู้รู้เขียนไว้ ขออนุญาตนำเสนอนะคะ
ประวัติหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต วัดป่าสุทธาวาส อ.เมือง ฯ จ.สกลนคร
ชาติกำเนิดและชีวิตปฐมวัย
ท่านกำเนิดในสกุลแก่นแก้ว บิดาชื่อคำด้วง มารดาชื่อ จันทร์ เพียแก่นท้าว เป็นปู่ นับถือพุทธศาสนา เกิดวันพฤหัสบดี เดือนยี่ ปีมะแม ตรงกับวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2413 ณ บ้านคำบง ตำบลโขงเจียม อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี มีพี่น้องร่วมท้องเดียวกัน ๗ คน ท่านเป็นบุตรคนหัวปี ท่านเป็นคนร่างเล็ก ผิวดำแดง แข็งแรงว่องไว สติปัญญาดี มาแต่กำเนิด ฉลาด เป็นผู้ว่านอนสอนง่าย ได้เรียนอักษรสมัยในสำนักของอา คือ เรียนอักษรไทยน้อย อักษรไทย อักษรธรรม และอักษรขอม อ่านออกเขียนได้ นับว่าท่านเรียนได้รวดเร็ว เพราะมีความทรงจำดี และขยันหมั่นเพียร ชอบการเล่าเรียน ชีวิตสมณะ
การแสวงหาธรรม และปฏิปทา
เมื่อหลวงปู่มั่นอายุได้ 15 ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณรในสำนักบ้านคำบง ใครเป็นบรรพชาจารย์ไม่ปรากฏ ครั้นบวชแล้วได้ศึกษา หาความรู้ ทางพระศาสนามีสวดมนต์ และพระสูตรต่าง ๆ ในสำนักบรรพชาจารย์ จดจำได้รวดเร็ว อาจารย์เมตตาปราณีมาก เพราะเอาใจใส่ในการเรียนดี ประพฤติปฏิบัติเรียบร้อย เป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจได้ เมื่อท่านอายุได้ 17 บิดาขอร้องให้ลาสิกขาเพื่อช่วย การงานทางบ้าน ท่านได้ลาสิกขาออกไปช่วยงานบิดามารดา เต็มความสามารถ ท่านเล่าว่า เมื่อลาสิกขาไปแล้ว ยังคิดที่จะบวชอีกอยู่เสมอไม่เคยลืมเลย คงเป็นเพราะอุปนิสัย ในทางบวช มาแต่ก่อนหนหนึ่ง อีกอย่างหนึ่ง เพราะติดใจในคำสั่งของยายว่า เจ้าต้องบวชให้ยาย เพราะยายก็ได้เลี้ยงเจ้ายาก คำสั่งของยายนี้ คอยสะกิดใจอยู่เสมอ
ครั้นอายุหลวงปู่มั่นได้ 22 ปี ท่านเล่าว่า มีความอยากบวชเป็นกำลัง จึงอำลาบิดามารดาบวช ท่านทั้งสองก็อนุมัติตามประสงค์หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ท่านได้ศึกษาในสำนัก ท่านอาจารย์เสาร์ กันตสีลเถระ วัดเลียบ จังหวัดอุบลราชธานี ได้รับอุปสมบทกรรม เป็นภิกษุภาวะในพระพุทธศาสนา ณ วัดศรีทอง (วัดศรีอุบลรัตนาราม) อำเภอเมือง ฯ จังหวัดอุบลราชธานี พระอริยกวี (อ่อน) เป็นพระอุปัชฌายะ มี พระครูสีทา ชยเสโน เป็นพระกรรมวาจารย์ และ พระครูประจักษ์อุบลคุณ (สุ่ย) เป็นพระอนุสาวนาจารย์ เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2436 พระอุปัชฌายะ ขนานนาม มคธ ให้ว่า ภูริทตโต เสร็จ อุปสมบทกรรมแล้ว ได้กลับมาสำนักศึกษาวิปัสสนาธุระ กับพระอาจารย์เสาร์ กันตสีลเถระ ณ วัดเลียบ ต่อไป
ธุดงควัตร ที่ท่านถือปฏิบัติ เป็นอาจิณ 4 ประการ
1. ปังสุกุลิกังคธุดงค์ ถือนุ่งห่มผ้าบังสกุล จนกระทั่งวัยชรา จึงได้ใช้ คหบดีจีวรบ้าง เพื่ออนุเคราห์แก่ผู้ศรัทธานำมาถวาย
2. บิณฑบาติกังคธุดงค์ คือภิกขาจารยวัตร เที่ยวบิณฑบาตมาฉันเป็นนิตย์ แม้อาพาธ ไปในละแวกบ้านไม่ได้ ก็บิณฑบาตในเขตวัด บนโรงฉัน จนกระทั้งอาพาธ ลุกไม่ได้ในปัจฉิมสมัยจึงงดบิณฑบาต
3. เอกปัตติกังคธุดงค์ คือฉันในบาต ใช้ภาชนะใบเดียว เป็นนิตย์ จนกระทั่งถึงสมัยอาพาธในปัจฉิมสมัย จึงงด
4. เอกาสนิกังคธุดงค์ ถือฉันหนเดียวเป็นนิตย์ ตลอดเวลาแม้อาพาธหนัก ในปัจฉิมสมัย ก็มิได้เลิกละ ส่วนธุดงควัตรนอกนี้ ได้ถือปฏิบัติเป็นครั้งคราว ที่นับว่าปฏิบัติได้มาก ก็คือ อรัญญิกกังคธุดงค์ คืออยู่เสนา สนะป่า ห่างบ้านประมาณ 25 เส้น หลีกเร้นอยู่ในที่สงัด ตามสมณวิสัย
คำสอน
1. ธรรมชาติของดีทั้งหลายนั้น ย่อมเกิดมาแต่ของไม่ดี มีอุปมาดังดอกปทุมชาติอันสวยงาม ก็เกิดขึ้นมาจาก โคลนตม อันเป็นของสกปรก ปฏิกูล น่าเกลียดแต่ว่า ดอกบัวนั้นเมื่อขึ้นพ้นโคลนตมแล้วย่อมเป็นสิ่งสะอาด เป็นที่ทัดทรงของพระราชา อุปราช อำมาตย์ เสนาบดี เป็นต้น และดอกบัวนั้นก็มิกลับคืนไปยังโคลนตมอีก
2. ดีใดไม่มีโทษ ดีนั้นชื่อว่าดีเลิศ
3. ถ้าจิตมีความสงบถึงฐานของสมาธิแล้ว อย่าไปบังคับให้ถอนนะ ปล่อยให้อยู่ในความสงบนั้นไป จนจิตได้มีความอิ่มตัวในสมาธินั้น ๆ ได้เวลาแล้วจิตก็จะถอนออกมาเอง เมื่อจิตถอนออกจากสมาธิแล้ว ก็ให้ใช้ปัญญาพิจารณาต่อไป
4. ได้สมบัติทั้งปวงไม่เท่าได้ตน เพราะตัวตนนั้นเป็นที่เกิดแห่ง สมบัติทั้งปวง
ชีวิตบั้นปลาย
หลวงปู่มั่นได้รับ การเรียกขานจากบรรดาศิษย์ว่า “พระอาจารย์ใหญ่” เป็นผู้มีประวัติงดงาม เป็นฐานที่พึ่งอันมั่นคงตลอดจนเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางใจของเหล่าศิษยานุศิษย์ทั้งหลาย ตลอดเวลาในเพศบรรพชิต ได้ปฏิบัติตนจนกระทั่งเป็น แบบอย่างที่ดี อันจะหาผู้ใดเสมอเหมือนได้ยากยิ่ง หลวงปู่มั่นมรณภาพ เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2492 อายุ 80 ปี 56 พรรษา ซึ่งต่อมาอัฐิของท่านได้แปรสภาพกลายเป็นพระธาตุในหลายที่
จะเห็นว่าหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ท่านก็เป็นคนธรรมดา แต่เพราะมีความตั้งใจบำเพ็ญ
เพื่อให้บรรลุด้านธรรมะ จึงกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ผู้คนกราบไหว้และกล่าวขานตลอดนานเท่านาน เรา ๆ ท่าน ๆ ก็สามารถทำได้ ถ้าตั้งใจจริง ขออนุโมทนา สาธุ
ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.gotoknow.org/posts/372900