สมถธรรม-วิปัสสนาธรรม หลวงตามหาบัว ญาณสัมปัณโณ
เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๓๒
ปฏิปทาเครื่องดำเนินที่พ่อแม่ครูบาอาจารย์มั่นพาดำเนินมา ไม่ว่าทางด้านธรรมด้านวินัย เป็นความถูกต้องดีงามทุกสิ่งทุกอย่าง เท่าที่ได้ไปอยู่กับท่านและสังเกตเต็มสติกำลังความสามารถของตนเรื่อยมา จนกระทั่งวาระสุดท้ายที่ท่านจากไป เป็นสิ่งที่ให้ดูดดื่มทั้งหลักธรรมหลักวินัยที่ท่านพาดำเนินไม่ให้ผิดเพี้ยนไปได้เลย
เฉพาะอย่างยิ่งพระวินัยท่านรักษาอย่างเข้มงวดกวดขัน ไม่ปรากฏว่าท่านได้ล่วงเกินพระวินัยข้อใดเลย นับแต่อาบัติทุกกฏขึ้นไปจนกระทั่งถึงสุดของพระวินัย ท่านเก็บหอมรอมริบเอาไว้หมด สมกับท่านเคารพพระพุทธเจ้าศาสดาองค์เอกอย่างแท้จริง ส่วนธรรมท่านก็ดำเนินด้วยความถูกต้องดีงาม
การฝึกอบรมบรรดาลูกศิษย์ท่านไม่ได้ถือเป็นแบบเดียว ในบรรดาธรรมะที่จะนำมาสั่งสอนบรรดาลูกศิษย์นั้น ย่อมมีหลายแง่หลายกระทง เช่นเดียวกันกับที่ท่านแสดงไว้ในกรรมฐาน ๔๐ นั่นคือท่านไม่ผูกมัดหรือไม่ผูกขาด ไม่บังคับบัญชาให้กำหนดเฉพาะธรรมบทใดก็ตามที่ท่านดำเนินมาแล้ว และให้เพื่อนฝูงดำเนินตามแบบของท่านโดยถ่ายเดียวเท่านั้นไม่ปรากฏ
ท่านแสดงเป็นกลาง ๆ ในบรรดาธรรมทั้งหลาย เช่น สมถธรรมที่อยู่ในห้องกรรมฐาน ๔๐ ท่านก็แสดงเป็นกลาง ๆ ไป แล้วก็มอบให้เป็นไปตามอัธยาศัยของผู้บำเพ็ญจะนำธรรมบทใดเข้าไปบริกรรมภาวนาก็ได้ เมื่อธรรมบทนั้นเห็นว่าเหมาะสมกับจริตนิสัยของตน แล้วได้ผลขึ้นมาในเวลาภาวนาด้วยความตั้งใจจริงจัง ท่านก็ให้พึงยึดธรรมบทนั้นไว้เป็นหลักเป็นเกณฑ์
นี่ก็พระพุทธเจ้าเป็นผู้ทรงบัญญัติไว้เสียเองในอารมณ์แห่งสมถะ ดังกรรมฐาน ๔๐ ห้อง เป็นหลักเป็นเกณฑ์แห่งธรรมทั้งหลายที่ท่านแสดงไว้ ว่าท่านไม่ได้ผูกขาด ท่านไม่ได้แสดงลงในจุดเดียวบทเดียว ทั้ง ๆ ที่พระพุทธเจ้าก็ทรงพระญาณหยั่งทราบในสัตว์ทั้งหลายเต็มพระทัยอยู่แล้ว แต่พระองค์มิได้ทรงให้เป็นไปตามนั้น เพราะเรื่องของอนาคตหรือการอยู่ของผู้ปฏิบัติทั้งหลายนั้น ไม่ใช่อยู่ในที่แห่งเดียว พอที่จะบอกจะแนะหรือจะบังคับบัญชา ให้เป็นไปตามพระโอวาทของพระพุทธเจ้าที่ทรงหยั่งทราบแล้วในนิสัยของบุคคลผู้นั้น ๆ โดยถ่ายเดียว ท่านจึงวางลงไว้เป็นศูนย์กลาง เช่น กสิณ ๑๐ อสุภะ ๑๐ อนุสสติ ๑๐ เป็นต้น ใครชอบในธรรมบทใดก็ให้ยึดธรรมบทนั้นเป็นหลักใจ แล้วภาวนาอย่างเอาจริงเอาจังกับธรรมบทนั้น
ทีนี้เมื่อจิตเข้าสู่ความสงบได้แล้ว การที่จะเปลี่ยนแปลงอารมณ์ของสมถะให้เป็นไปในแง่ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับด้านปัญญานั้นเป็นอีกแง่หนึ่ง ๆ สำหรับที่จะตั้งใจให้เป็นหลักเป็นเกณฑ์ในเบื้องต้นนี้ ต้องมีธรรมเป็นหลักเป็นเกณฑ์ที่เรียกว่าสมถธรรม ธรรมเพื่อความสงบของใจ เพราะปกติใจจะหาความสงบไม่ได้ ต้องมีธรรมเป็นเครื่องยึดเครื่องเกาะ เช่น พุทโธ ๆ หรือธัมโม หรือสังโฆ บทใดก็ตาม แต่ส่วนมากมักจะถูกในอานาปานสติ คือกำหนดลมหายใจเข้าออก นี้มีส่วนถูกมากกว่าบรรดาบทธรรมทั้งหลาย ก็ยึดธรรมบทนั้นไว้เป็นหลักเกณฑ์ จนกระทั่งจิตได้ความสงบเย็นใจกลายเป็นสมาธิขึ้นมา
คำว่าเป็นสมาธิก็คือจิตแน่นหนามั่นคง จนถึงกับความรู้เด่นอยู่ตลอดเวลา ถ้าเช่นนั้นแล้วคำบริกรรมนั้นก็เริ่มจะหมดความจำเป็นเข้าไป โดยที่เจ้าตัวก็ทราบเองเพราะมีจุดความรู้เด่น แล้วก็ยึดเอาจุดนั้นเป็นที่เกาะ เช่นเดียวกับเราอาศัยคำบริกรรมเป็นที่เกาะในเบื้องต้นนั้นแล เมื่อจิตได้รับความสงบแล้วย่อมละเอียด เราจะบริกรรมหรือไม่บริกรรมความรู้ก็เด่นอยู่ในจุดเดียวนั้น คำบริกรรมก็กลมกลืนเป็นอันเดียวกันกับความรู้นั้นเสีย นั่นละที่ว่าหมดความจำเป็นไปหมดด้วยความเข้าใจในตัวเอง นี่ในภาคสมถะท่านก็สอนไว้อย่างกว้างขวางโดยยกกรรมฐาน ๔๐ ห้องไว้เป็นหลักเกณฑ์เลย
ส่วนปัญญานั้นท่านก็เริ่มอธิบาย ดังที่เคยได้แสดงให้บรรดาท่านผู้ฟังทั้งหลายได้ทราบเรื่อยมานั่นแล มีอสุภะอสุภัง อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา เป็นพื้นฐานแห่งการดำเนินงานทางด้านวิปัสสนา ใครจะเหมาะสมในทางใดการพิจารณา แต่หลักใหญ่ของผู้เริ่มดำเนินทางด้านปัญญานี้ มักจะดำเนินทางด้านอสุภะอสุภังนี้เป็นส่วนมาก เพราะอันนี้เป็นสิ่งสำคัญมากที่เกี่ยวกับราคะตัณหา ที่ทำให้กำเริบอยู่ตลอดเวลาภายในจิตใจเผลอไม่ได้ จึงต้องได้ใช้นี้เป็นเครื่องเยียวยารักษา ต่อไปก็กลายเป็นเครื่องปราบปรามกันขึ้นมา
เมื่อจิตมีความชำนิชำนาญพอประมาณในเรื่องอสุภะอสุภังแล้ว จะค่อยคล่องตัว เห็นได้ชัดในอสุภะทั้งหลาย แล้วก็เป็นสิ่งที่ลบล้างกันกับความที่ว่าสุภะ คือความสวยงาม ไปเป็นลำดับลำดา เมื่ออสุภะได้เด่นชัดเข้าไปเท่าไร คำว่าสุภะจะอ่อนตัวลง ๆ ถึงกับไม่ปรากฏเลย ผิวภายนอกจะสดสวยงดงามขนาดไหนก็ตาม แต่ความหยั่งทราบของปัญญาที่มีความชำนิชำนาญในตัวเองแล้วนั้น จะหยั่งเข้าไปสู่ภายในตลอดทั่วถึงอย่างรวดเร็ว ไม่ได้เป็นอย่างที่เราฝึกอสุภะอสุภังในเบื้องต้น ซึ่งล้มลุกคลุกคลานจับผิดจับถูก บางทีก็ล้มเหลวไป นี่เป็นขั้นเริ่มแรก
แต่เมื่อได้พิจารณาหลายครั้งหลายหน ก็คืองานของจิตงานของปัญญานั่นแล เราจะไปนับเวล่ำเวลานับเที่ยว กำหนดกฎเกณฑ์กี่เที่ยวกี่หนอย่างนั้นไม่ถูกต้องเลย ต้องทำงานอยู่เช่นนั้น เอานั้นเป็นอารมณ์ของใจเลย การพิจารณาแยกแยะส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เพราะธรรมชาติแห่งความจริงของสิ่งเหล่านี้เป็นอสุภะอสุภังอยู่แล้ว ไม่ใช่เรามาดัดมาแปลงแต่งให้เป็นอย่างนั้นให้เป็นอย่างนี้
เราดัดแปลงจิตใจของเราซึ่งมีความเห็นผิด เพราะยาพิษคือกิเลสที่ฝังจมอยู่ภายใน ด้วยสุภะสุภังคือความสำคัญว่าสวยว่างามนั้นแลเป็นสำคัญ เพราะฉะนั้นจึงต้องดัดต้องแปลงต้องชะต้องล้างอันนี้ เพื่อให้เข้าสู่ความจริงคือตัวอสุภะ อันเป็นหลักธรรมชาติของมันทั่วสรรพางค์ร่างกายของเรานี้ จึงต้องได้ทำงานอยู่ตลอดเวลา
ให้ความรู้นี้หยั่งเข้าไปถึงอาการต่าง ๆ อยู่เสมอ เพราะอาการแต่ละอาการไม่ใช่อาการแห่งความสวยงาม เป็นอาการแห่งความไม่สวยไม่งาม ตามหลักธรรมชาติของมันเป็นอย่างนั้น ทั้งภายในภายนอกหมดสรรพางค์ร่างกายของเรานี้ ไม่มีข้อยกเว้นเลยว่าเป็นสิ่งที่สวยงามแม้นิดหนึ่ง นี่เป็นหลักธรรมชาติแห่งร่างกายที่เป็นสมบัติของเราเป็นเช่นนั้น แต่จิตมันเสกสรรปั้นยอขึ้นมาด้วยอำนาจแห่งยาพิษดังที่กล่าวแล้วนี้ พลิกตาลปัตรให้เป็นอย่างอื่นไปเสีย ทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่ความจริงมันก็เสกสรรปั้นยอไปให้เราลุ่มเราหลง
เพราะฉะนั้นการที่จะพิจารณาให้รู้ตามความเป็นจริง จึงต้องได้ดัดได้แก้ได้ไขสิ่งที่จอมปลอมนี้ ให้เข้าสู่หลักความจริงคือหลักอสุภะอสุภัง จึงต้องได้ท่องเที่ยวตามสรรพางค์ร่างกายทั้งภายนอกภายในดูตลอดทั่วถึง หรือจะดูในอาการใดก็ตามที่เป็นความถนัดกับอัธยาศัยของตนในขณะนั้นก็ตาม ให้พิจารณาแต่เฉพาะสิ่งนั้น แล้วก็จะค่อยซึมซาบไปสู่อาการทั้งหลายซึ่งเป็นลักษณะเดียวกันหมด ไม่มีอะไรขัดแย้งกัน
เอ้า ถ้าพูดถึงเรื่องว่าอสุภะอันนี้อสุภะอันนั้นเป็นยังไง ซึมซาบไปไหน ทั่วสกลกายมีแต่กองอสุภะอสุภังทั้งนั้น แล้วก็ ทุกฺขํ อนิจฺจํ อนตฺตา ก็เป็นไปในเกลียวเดียวกันนั่นเอง ไม่ได้ไปแยกไปแยะที่ไหนละ นี่การพิจารณาทางด้านปัญญา จึงถือเอาความถนัดของเจ้าของเป็นเกณฑ์อีก เช่นเดียวกันกับคำบริกรรมที่เราฝึกหัดเพื่อความเป็นสมาธิของจิตในเบื้องต้น เมื่อพิจารณาทางด้านปัญญาแล้ว เราจะจับจุดไหนเป็นเครื่องพิจารณา เราจะจ่อจิตตรงจุดไหน ใช้ความใคร่ครวญพินิจพิจารณาในจุดไหนก่อน ซึ่งเป็นเหมือนกับเราจ่อไฟเข้าสู่เชื้อไฟ มันจะค่อยลุกลามไปเอง
ขอให้สติบังคับอยู่กับงานของจิตที่ทำ อย่าให้เผลอไผลไปไหน เพราะจิตเมื่อยังไม่เคยเห็นผลกับทางด้านปัญญามักจะเถลไถล แม้จิตเป็นสมาธิอยู่แล้วมีความสงบอิ่มตัวในอารมณ์ ก็มักจะเถลไถลเข้าสู่ความสงบ ให้ไปที่อื่นไม่ค่อยไปแหละ แต่มักเข้าสู่ความสงบ เพราะเห็นว่าการพิจารณาทางด้านปัญญานี้เป็นความยากความลำบาก ไม่อยากทุกข์ยากลำบาก ก็กลายเป็นความขี้เกียจขี้คร้านไปด้วยการอยู่ในสมาธิ ไม่ต้องทำงานโดยกิริยาอาการของจิตใด ๆ ทั้งสิ้นไปเสีย นี่ละจิตมักเถลไถลอย่างนี้
แต่ถ้าจิตไม่มีสมาธิ ไม่มีความสงบบ้างเลยนั้น จะพาให้พิจารณาแล้วไปใหญ่ คำว่าปัญญามีแต่ชื่อในเบื้องต้น ที่เราจะจ่อเข้าไปว่าให้เป็นปัญญาแล้วจะกลายเป็นสัญญาอารมณ์ไป เลยเป็นเรื่องของสมุทัยฉุดลากไปได้ทั้งวันทั้งคืน เพลินไปเป็นโลกเป็นสงสารไปหมด นี่ผู้ปฏิบัติเท่านั้นที่จะทราบเหตุผลต้นปลายของจิต เกี่ยวกับเรื่องสมถะ เรื่องวิปัสสนา เรื่องสัญญาได้เป็นอย่างดี
เพียงเราเรียนมาเฉย ๆ นั้นเป็นไปได้ยาก เพราะความคาดความหมายไม่ใช่ความจริงที่เป็นเหมือนกับตัวเองของผู้ปฏิบัติ เราเรียนมาอย่างไรเราก็จำไปได้อย่างนั้น แล้วก็คาดไปหมายไป ถูกไม่ถูกก็หมายกันไปอย่างนั้น ไม่ว่าท่านว่าเราเหมือนกันหมด จึงถือเอาความจริงไม่ได้ ถือเอาความแน่นอนไม่ได้ แล้วก็เชื่อตัวเองไม่ได้
เมื่อได้พิจารณาทางด้านปัญญาโดยภาคปฏิบัติดังที่กล่าวนี้ ก็ดังที่ว่านี้เอง คือกำหนดลงในจุดใด ให้สติเป็นเครื่องควบคุมจิตใจให้ทำงานกับอาการนั้น ๆ โดยทางปัญญา เช่น อสุภะ เอ้า พิจารณาหรือจะท่องเที่ยวหมดทั้งสกลกาย เบื้องบนเบื้องล่างด้านขวางสถานกลาง เรียกว่าเที่ยวกรรมฐานในร่างกายนี้ก็ไม่ผิด เที่ยวให้เพลินอยู่ในนี้ ดูไปตามอสุภะอสุภัง เหมือนกับว่าเหยียบย่างก้าวเดินไปบนกองอสุภะอสุภัง ที่มีอยู่เต็มร่างกายของเรานี้แล เรียกว่าเที่ยวกรรมฐาน
จิต ปัญญาก้าวเดินไปตามอสุภะอสุภัง เอ้า สมมุติว่าพิจารณาไปทางไหน ก็ก้าวเดินไปตามอสุภะในทางนั้น ของอวัยวะส่วนต่าง ๆ ในร่างกายอันนี้ จะไปทางหนังไปทางเนื้อ เอ้า ไปทางแข้งขาอวัยวะส่วนไหน ก็มีแต่อสุภะเต็มตัว เพราะฉะนั้นถึงว่าก้าวเดินเหยียบไปตรงนั้น ไปบนกองอสุภะอสุภังนั้น คำว่าเหยียบไปคือปัญญา จิตรู้ไปปัญญาสอดส่องไป สติควบคุมไปกับอาการนั้น ๆ นี่เรียกว่าเที่ยวกรรมฐานบนกองอสุภะ คือป่าช้าผีดิบของเราเอง ให้ดูอย่างนี้การพิจารณากรรมฐาน ถ้าเราอยากจะเที่ยวอย่างนี้ก็เที่ยวได้
นี่เปิดโล่งให้เห็นทุกสิ่งทุกอย่างในการพิจารณา เพื่อความสะดวกตามจริตนิสัยของแต่ละราย ที่จะก้าวเดินปัญญาด้วยวิธีใด เดินอย่างนี้ก็ได้ หรือจะพิจารณาเป็นบางส่วนแห่งร่างกาย เพื่อความถนัดชัดเจนกับส่วนนั้น อย่างนี้ก็ได้ไม่ผิด สำคัญที่ความถนัดใจนั่นละเป็นของสำคัญมาก
จากนั้นจะแยกไปอวัยวะใดส่วนใดก็เหมือนกันหมด ก็เป็นที่ลงใจได้ว่าแม้พิจารณาส่วนเดียวเท่านี้ก็พอแล้วในความรู้ทั้งหลาย กับอาการต่าง ๆ ของร่างกายนี้ ไม่มีอะไรผิดแปลกกันเลย ถ้าพูดถึงว่าอสุภะก็อสุภะหมดทั้งตัว นับแต่ชิ้นหรือส่วนที่เรากำลังพิจารณาอยู่นี้ จนกระทั่งถึงอวัยวะทุกส่วนของร่างกายนี้ก็เป็นอสุภะทั้งมวล หาความสะอาดสวยงามที่ไหนไม่มีเลย มีแต่ความสกปรกโสมม เราอยู่ด้วยความสกปรก เป็นอยู่ด้วยความสกปรก ในตัวของเรานี้คือตัวอสุภะ
มีหนังที่พอดูได้บ้างหุ้มห่อเอาไว้ จะเรียกว่าพอพรางตานี้ก็ไม่ผิด พอเปิดอันนี้ออกไปแล้ว จะเยิ้มด้วยปุพโพโลหิตน้ำเน่าน้ำหนองเต็มไปหมด ตั้งแต่เนื้อแต่เอ็นแต่กระดูกเข้าไปภายใน ลึกเข้าไปเท่าไรยิ่งเห็นได้อย่างชัดเจนภายในจิตใจของตัวเอง นี่จะไม่เรียกว่าเราอยู่ด้วยสิ่งเหล่านี้อย่างไร แล้วในขณะเดียวกันเราก็หลงสิ่งเหล่านี้ตลอดมาจนกี่กัปกี่กัลป์นับไม่ถ้วนได้เลย นี่การพิจารณาอสุภะอสุภังให้พิจารณาอย่างนี้
ทีนี้จะแยกเป็นเรื่อง ทุกฺขํ เป็น อนิจฺจํ อนตฺตา ก็แยกอยู่ในนี้ ทุกฺขํ เป็นยังไง อวัยวะส่วนไหนเสริมเราให้มีความสุข นอกจากบีบหรือกดเราให้เป็นทุกข์ลำบาก กระเทือนถึงใจ ๆ อยู่ตลอดเวลา นอกจากเป็นทุกข์ในส่วนร่างกายนี้แล้ว ยังเป็นเครื่องซึมซาบเข้าไปสู่จิตใจ กระเทือนจิตใจของเราให้เป็นทุกข์อีก เรียกว่าเป็นทุกข์สองชั้นภายในตัวของเรา
อนิจฺจํ แปรหรือไม่แปร เราก็รู้อยู่ ทุกอาการของร่างกาย ทุกอาการของจิตที่แสดงออก มีแต่เรื่องกฎของ อนิจฺจํ เดินตามกฎ อนิจฺจํ อีกเหมือนกัน เช่นเดียวกับเราเดินกรรมฐานในร่างกายนี้เอง เพราะ อนิจฺจํ ก็เต็มอยู่ในส่วนเดียวกัน เดินไปด้วยกัน
ทุกฺขํ อนตฺตา ก็เหมือนกัน ทุกชิ้นทุกส่วนในร่างกายของเรานี้ มีอะไรที่จะควรยึดควรถือเป็นเราเป็นของเราไม่มีตั้งแต่ไหนแต่ไรมา ตั้งแต่วันอุบัติขึ้นมาจนกระทั่งบัดนี้ก็ไม่ปรากฏว่าอันใดเป็น อตฺตา คือตัวตนของเราโดยแท้ จนกระทั่งวันตายมันก็เป็นของมันอยู่เช่นนี้ แต่กิเลสมันดื้อมันด้านมันฉุดมันลากเราสมกับเรานี้ก็โง่มาก ถ้ากิเลสเสกสรรปั้นยอออกมาในเรื่องใดกิริยาอาการใดจะเชื่อทันที ๆ โดยไม่รู้สึกตัวเลย แต่ถ้าเรื่องอรรถเรื่องธรรมแล้วก็ต้องได้ฝึกได้ปรือกัน หรือได้ทรมานกันดัดกันอย่างหนัก ไม่เช่นนั้นก็ไปไม่ได้ นี่ละให้พากันจำเอาไว้การพิจารณาร่างกาย นี่คือทางด้านปัญญาเป็นเช่นนี้ ทีแรกพิจารณาอย่างนี้
ครั้นต่อไปจิตมีความซึมซาบด้วยอสุภะอสุภังประจักษ์ใจแล้วจะมีความเพลินในการพิจารณา เรื่องอสุภะก็เพลิน เรื่องความแปรสภาพก็จะเพลิน เรื่อง อนตฺตา มองไปไหนก็มีแต่เราไปหลงเป็นบ้ากับเขาเฉย ๆ เขาไม่ได้มีอะไร เราหากไปหลงเสกสรรปั้นยอแล้วก็ยึดก็แบกก็หามเอาว่าเป็นเราเป็นของเรา นั่นเมื่อปัญญาหยั่งทราบเข้าไปเท่าไรแล้วก็จะละอายตัวเองไปโดยลำดับลำดา แล้วยอมพระพุทธเจ้าไปโดยลำดับเช่นเดียวกัน นี่การพิจารณาทางด้านปัญญา นี่ท่านว่าสมถธรรม-วิปัสสนาธรรม
สมถะก็ในวงกรรมฐาน ๔๐ อันใดที่เหมาะสมกับจริตนิสัยของเรา ให้ตั้งหน้าตั้งตาประพฤติปฏิบัตินำธรรมบทนั้นเข้ามากำกับใจ ไม่ว่าจะเดินจะเหินจะอยู่อิริยาบถใด ความรู้กับสตินี้กับคำบริกรรมให้ติดกันแนบสนิทอยู่ตลอดเวลา นั้นแลชื่อว่าความเพียรในทางสมถะให้ดำเนินอย่างนั้น จนกระทั่งจิตมีความสงบเย็น เมื่อเย็นครั้งนี้แล้ว สงบครั้งนี้แล้ว ครั้งต่อไปก็อย่าไปยึดมาเป็นอารมณ์ว่าครั้งที่แล้วมาเราทำอย่างนั้น ๆ แล้ว อยากให้เป็นอย่างนั้น ๆ อย่าตั้งความอยากไปสู่อดีต คือ อตีตารมณ์ จะเป็นการผิดจากหลักปัจจุบันที่เคยได้รับความสงบมาแล้ว สงบเพราะหลักปัจจุบันต่างหาก ได้แก่คำบริกรรมกับจิตติดแนบกันด้วยความมีสติควบคุมอยู่เท่านั้น นี่หลักเกณฑ์ของการภาวนาเพื่อความสงบใจ
การพิจารณาเมื่อถึงจิตมีความสงบได้พอประมาณแล้ว เมื่อหยุดจากการภาวนาเพื่อความสงบนั้นก็พิจารณาทางด้านปัญญา เป็นคนละวาระ ไม่ใช่วาระเดียวกัน เวลาพิจารณาทางด้านปัญญาก็ให้เป็นการพิจารณาทางด้านปัญญาจริง ๆ ไม่ต้องห่วงสมาธิ ในขณะที่เพื่อความเป็นสมาธิเพื่อความสงบใจก็ไม่ต้องห่วงปัญญา ให้ทำงานคนละเวลาไม่ให้ก้าวก่ายกัน ไม่ให้เป็นห่วง ห่วงหน้าห่วงหลัง ไม่ให้จิตเป็นสัญญาอารมณ์แล้วจะทำอะไรไม่ค่อยได้เหตุได้ผล ไม่เป็นชิ้นเป็นอัน สุดท้ายก็โลเล นี่การพิจารณา
นี่เราพูดถึงเรื่องพ่อแม่ครูอาจารย์ท่านพาดำเนินมา สมถธรรมก็ดังที่กล่าวมานี้ ท่านไม่แยกไม่แยะไปที่ไหน วางไว้เป็นกลาง ๆ โดยยกธรรม ๔๐ ห้องนี้ออกมาชี้แจงแสดงให้บรรดาผู้ฟังทั้งหลายได้ฟังทั่วถึงกัน แล้วแต่ท่านผู้ใดจะถูกกับจริตนิสัยในธรรมบทใด แล้วยึดนำไปปฏิบัติต่อจิตใจของตนด้วยธรรมบทนั้น ๆ ถ้าพูดถึงเรื่องวิปัสสนาท่านก็ให้พิจารณาดังที่ว่ามานี้ พิจารณาอย่างนี้ ซึ่งเป็นความที่ถูกต้องดีงามราบรื่นไปโดยสม่ำเสมอ ไม่ผิด
ถ้าพูดถึงเรื่องพระวินัยท่านก็พาปฏิบัติดำเนิน ไม่มีคำว่าหลุดว่าตกหลุดไม้หลุดมือไปด้วยเจตนาอย่างนี้ไม่ปรากฏ ท่านเก็บเล็กผสมน้อยไปหมด พระวินัยก็คือพระโอวาทของพระพุทธเจ้า พระธรรมก็คือพระโอวาทเป็นทางเพื่อความพ้นทุกข์โดยถ่ายเดียว เป็นสายทางเพื่อความแคล้วคลาดปลอดภัยหมด ไม่ใช่สายทางที่จะทำเราให้ล่มจมฉิบหายไปไหน เพราะการเคารพและปฏิบัติตามหลักธรรมหลักวินัย เพราะฉะนั้นเราจึงอย่าตื่นไปไหน กิเลสฉุดลากไปไหนมันจะวิ่งนะรวดเร็วที่สุดเรื่องกิเลส เรื่องพระวินัยข้อใดต่อไปก็เห็นว่าไม่สำคัญ ๆ สุดท้ายไม่มีอะไรสำคัญเลย ธรรมก็ไม่สำคัญ วินัยก็ไม่สำคัญ จะสำคัญแต่ความเห็นความรู้ความต้องการของเราอย่างเดียว นั้นแลคือตัวกิเลสเข้าทำงานอย่างเต็มที่แล้ว คนนั้นหมดหวังไม่มีทางก้าวเดินได้เลย ทั้ง ๆ ที่สำคัญตนว่าวิเศษวิโสเลิศเลออะไรก็สำคัญไป เป็นเรื่องของกิเลสพาสำคัญทั้งนั้น สุดท้ายก็คว้าน้ำเหลว หาหลักหาเกณฑ์ไม่ได้
เพราะฉะนั้นขอให้ท่านทั้งหลายได้ยึดหลักที่เคยดำเนิน และเคยได้แสดงให้ฟัง อันเป็นแนวทางของพ่อแม่ครูจารย์ดำเนินมา ซึ่งไม่มีทางผิดจากหลักธรรมหลักวินัย เป็นความกลมกลืนถูกต้องกันไปทั้งนั้น ไม่มีคำที่จะได้ตำหนิติเตียนท่านว่าพาดำเนินผิดอย่างใดเลย เท่าที่ได้สังเกตท่านตลอดมาจนกระทั่งวาระสุดท้ายที่ท่านจากไป จึงเป็นปฏิปทาที่นอนใจได้ไว้ใจได้ นอกจากเราไม่ไว้ใจเราเท่านั้นละ
เรายังไม่ไว้ใจเราตรงไหนจุดไหนข้อใด ให้เน้นหนักให้สนใจ ให้แก้ไขให้ดัดแปลง ให้ฝึกให้ทรมานตนในจุดนั้นเพื่อความแน่ใจตายใจไปโดยลำดับ นี่เป็นของสำคัญมาก หากไม่ทำอย่างนี้แล้วจะไม่ได้หลักได้เกณฑ์เลย จะไปศึกษาอบรมกับครูกับอาจารย์ใดก็ตาม กี่ร้อยกี่พันองค์ก็สักแต่ว่าไป ไม่ได้หลักได้เกณฑ์ เพราะเราไม่ได้ตั้งใจประพฤติปฏิบัติ เราไม่เป็นหลักเป็นเกณฑ์ในตัวของเรา เราไม่มีความเข้มงวดกวดขันในตัวของเราจึงไม่ได้เรื่องได้ราว ไปหาอาจารย์องค์นี้ก็เหลวไหล ไปหาอาจารย์องค์นั้นก็เหลวไหล เลยมีแต่ความเหลวไหลไปหมด ไปหาอาจารย์องค์ใดก็เหลวไหล เพราะตัวของเราเองเป็นตัวเหลวไหล ไปที่ไหนจะเป็นความศักดิ์สิทธิ์วิเศษได้หลักได้เกณฑ์เป็นไปไม่ได้ ถ้าเราเป็นผู้เหลวไหลแล้ว ต้องตั้งหลักตั้งเกณฑ์ไว้ที่ตัวของเรานี่เป็นของสำคัญมาก
เรื่องธรรมของพระพุทธเจ้านี้เป็นสิ่งที่ตายใจได้แล้ว ถ้าใครได้เกาะไม่ปล่อยวางแล้ว ผู้นั้นเป็นที่อบอุ่น อบอุ่นอยู่ภายในจิตใจของเรา รู้ในใจของเราอย่างชัดเจน ยิ่งกว่าเรารู้สิ่งทั้งหลายที่เคยผ่านมาแล้ว ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ความชัดเจนในธรรมทั้งหลายด้วยภาคปฏิบัตินี้ชัดเจนมากกว่านั้น ชัดเจนจนเกิดความสลดสังเวชเห็นประจักษ์ ใครไม่เห็นก็ตามท่านมอบไว้กับผู้ปฏิบัติที่เรียกว่า สนฺทิฏฺฐิโก เป็นผู้เห็นเอง ก็เพราะผู้ใดเป็นผู้ปฏิบัตินั้นเองเป็นผู้จะเห็นเอง ผู้ไม่ปฏิบัติจะเห็นจะรู้ไม่ได้ อย่างที่ท่านพูดว่า ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ ก็เหมือนกันกับ สนฺทิฏฺฐิโก นี้แล คือมอบให้ผู้ปฏิบัติเท่านั้นจะเป็นผู้รู้ผู้เห็นประจักษ์กับตัวของเราเอง
นี่ถ้าเรายึดทั้งหลักธรรมหลักวินัยไว้อย่างแน่นหนามั่นคง แล้วเราจะมีความอบอุ่น ถ้าพูดถึงเรื่องความอบอุ่นก็อบอุ่นภายในใจของเรา ถ้าว่าเย็นก็เย็นไม่มีอะไรเทียบได้แล้ว นี่คือความเป็นผู้ฝากเป็นฝากตายกับหลักธรรมหลักวินัย เป็นผู้ได้รับความร่มเย็นเป็นสุขอยู่ในปัจจุบันจิตปัจจุบันธรรม ซึ่งมีอยู่กับใจของเราดวงเดียวนี้ อยู่ที่ไหนก็เย็น
เราอย่าฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม เราเคยเป็นมาอย่างไร โลกนี้เคยเป็นมาอย่างใดบ้างพิจารณาซี คำว่ามืดคำว่าสว่าง หรือมืดกับแจ้งนี้เป็นมาเท่าไร เรานับได้ไหมว่ากี่กัปกี่กัลป์ที่เคยมืดเคยแจ้งเคยสว่างมาอย่างนี้ ๆ เรื่อยมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้ และยังจะมีคำว่ามืดว่าสว่างไปนี้ไม่มีสิ้นสุดยุติลงได้ หาจุดที่หมายไม่ได้เลย ก็มีแต่มืดกับแจ้ง เราหวังเอาอะไรกับมืดกับแจ้งนี้ ตัวผู้มืดตัวธรรมชาติที่มืดหรือแจ้งเองนั้น เขาไม่มีความหมาย เขาไม่มีความรู้สึกตัวของเขาเลย ดินฟ้าอากาศก็เหมือนกัน เย็นร้อนอ่อนแข็งเขาไม่มีความรู้สึกตัวของเขาเลย ต้นไม้ภูเขาทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ในโลกอันนี้ไม่เคยปรากฏว่าเขามีความรู้สึกในตัวของเขาเลย
แต่จิตของเราเป็นตัวรู้ แต่มันรู้ด้วยความจอมปลอม จึงไปรู้ว่าสิ่งนั้นเป็นนั้นสิ่งนี้เป็นนี้ สิ่งนั้นสวยสิ่งนี้งาม สิ่งนั้นดีสิ่งนั้นไม่ดี อันนั้นร้อนอันนี้หนาว อันนั้นเย็นอันนี้มืดอันนี้แจ้งว่ากันไป ว่าไม่หยุดไม่ถอย ว่าอยู่ในหัวใจของเราคนเดียว ทำงานอยู่คนเดียว โดยที่สิ่งเหล่านั้นไม่มารับทราบจากความรู้ผีบ้าอันนี้เลย เอ้าฟังให้ดีนะ ความรู้นี้มันเหมือนบ้าไม่เหมือนอะไรละ
เอ้า ปฏิบัติเข้าไปคำนี้จะกังวานในหัวใจของท่านทั้งหลาย เมื่อรู้เข้าไปชัดเข้าไป ๆ แล้วจะไม่มาตำหนิตัวเอง จะไปตำหนิที่ไหน โอ้โห บ้ามาตั้งแต่เมื่อไรจิตดวงนี้น่ะ สิ่งเหล่านี้เขาเป็นอย่างนั้น ๆ มาแล้วเราทำไมถึงมาหลงเอานักเอาหนา ตาก็มี หูก็มี ไม่ใช่คนตาบอด หูหนวก จึงต้องหลงต้องลืมในสิ่งเหล่านี้ นี่หูก็ดี ตาก็ดี แต่มันหลงอยู่ทั้งตาดีหูดี ทั้งจิตก็ไม่ใช่จิตคนเป็นบ้าแล้วมันก็ยังหลงได้ขนาดนี้จะให้ว่ายังไงถ้าไม่เรียกว่าเลยบ้าไป นั่นมันเห็นโทษของเจ้าของด้วยการพิจารณาโดยนำธรรมะเข้าไปเป็นเครื่องส่องทาง มีสติธรรม ปัญญาธรรมเป็นสำคัญในการดำเนิน จะต้องรู้ต้องเห็นอย่างที่ว่านี้ทั้งนั้น
แล้วจะไปตื่นเต้นอะไร เมื่อสิ่งใดเคยมีอยู่ยังไงก็มีอยู่อย่างนั้น สิ่งที่เคยเกิดยังไงดับยังไงเขาก็เป็นของเขาอยู่อย่างนั้น ตามหลัก อนิจฺจํ ท่านก็พูดไว้แล้ว ท่านว่า ทุกฺขํ บีบที่ไหน ร้อนเขาไม่ทราบว่าเขาร้อนแต่เรานี้เป็นผู้ร้อน เราเป็นผู้ทุกข์ หนาวเขาก็ไม่รู้ว่าเขาหนาว อากาศที่ว่าหนาว ๆ จนกระทั่งถึงน้ำกลายเป็นน้ำแข็งไป น้ำแข็งก็ไม่ทราบตัวเองว่าเย็นประการใด ผู้ที่ทราบก็คือผู้ที่สัมผัส ได้แก่ตัวของเราเองไปสัมผัสก็ว่าเย็น ตัวของเราไปสัมผัสก็คือใจของเรานั้นแลเป็นผู้รับทราบ มีผู้นี้เท่านั้นเป็นผู้ไปตำหนิติชมว่าสิ่งนั้นดีสิ่งนี้ไม่ดี สิ่งนั้นเย็นสิ่งนี้ร้อน สิ่งนั้นแข็งสิ่งนี้อ่อน ทั่วโลกดินแดนมาสัมผัสสัมพันธ์กับผู้รู้นี้แห่งเดียว ซึ่งเปิดโรงงานไว้แล้วตั้งแต่วันเกิดมาจนกระทั่งวันตายก็ไม่มีวันปิดงาน ก็คือใจของเราทำงานนั่นเอง
โรงงานอื่น ๆ เขาเปิดได้ปิดได้ เปิดเวลาเท่านั้น ปิดเวลาเท่านี้ แต่โรงงานคือการทำงานของใจ ด้วยความคิดความปรุง ด้วยความสำคัญมั่นหมายนี้ ตั้งแต่วันเกิดมาจนกระทั่งวันตายไม่มีวันสงบงบเงียบให้ได้อยู่ผาสุกสบายด้วยคำว่าปิดโรงงาน ได้แก่ปิดกิริยาของใจให้อยู่ด้วยความสงบเย็นใจปกติ ไม่เคยมี แล้วสิ่งเหล่านี้มีได้สำหรับผู้ปฏิบัติธรรม จึงต้องได้นำเรื่องเข้ามาเทียบเคียงกัน ถ้ามีตั้งแต่เป็นบ้าอยู่ด้วยกันหมดทั้งโลกดินแดนนี้แล้ว ใครจะสอนใครได้ ฟังซิ บอดก็บอดด้วยกัน หนวกก็หนวกด้วยกัน ไม่มีผู้ตาดีหูดี ถ้าว่าโง่ก็โง่ด้วยกันไม่มีผู้ฉลาดเลย อย่างนี้ใครจะมาสอนใครได้
นี่ผู้ฉลาดยังมี ผู้หูดีตาดียังมี ผู้มีความเฉลียวฉลาดแหลมคมครอบโลกธาตุยังมี จึงต้องได้นำโลกธาตุมาสอนพวกเรา ได้แก่พระพุทธเจ้าเป็นพระองค์แรก พระสงฆ์สาวกทั้งหลายเป็นลำดับลำดามา ท่านเหล่านี้เป็นผู้ได้สัมผัสสัมพันธ์สิ่งเหล่านี้ รู้แล้วเห็นแล้ว สุดท้ายก็กลายเป็นหินลับปัญญาของท่านให้คมกล้าขึ้นโดยลำดับ เพราะความสัมผัสสัมพันธ์กับสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ จนกลายเป็นความบริสุทธิ์ขึ้นมา ทำไมท่านจะไม่เห็นไม่รู้นี้อย่างชัดเจน แล้วทำไมท่านจะนำมาสอนพวกเราโง่ ๆ นี้ไม่ได้ล่ะ
ถ้าหากว่าเป็นอย่างพวกเรานี้จะเอาอะไรไปสอนกัน แต่เราเองก็ยังไม่รู้ที่จะแก้ไขยังไง และไม่รู้ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นพิษ ถ้ารู้ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นพิษจะติดพันไปอะไรนักหนา ตาเห็นรูปก็ติดพันแล้ว รูปอะไรก็ไม่เคยได้คิดได้พิจารณาติดพันแล้ว ๆ เสียงก็ติดพันแล้ว ไม่ว่าเสียงดีเสียงชั่วติดทั้งนั้น ๆ รูปดีรูปชั่วติดทั้งนั้น เราอย่าเข้าใจว่าจะไปติดตั้งแต่รูปดีรูปชั่วไม่ติดเลย รูปดีก็อยากดู รูปไม่ดี-ลงคนง่อยเปลี้ยเสียแข้งเสียขาเดินผ่านมานี้ ตาจ้องเข้าไปยิ่งกว่าตาแมว ฟังซิ มันอยากดูทำไมของอย่างนั้น แน่ะ มันก็ติดถึงเรียกว่าอยากดู หูก็อยากฟัง เสียงดุเสียงด่าเสียงแช่งเสียงอะไรก็อยากฟัง เสียงขับลำทำเพลงก็อยากฟัง เสียงอะไรก็อยากฟัง ทุกสิ่งทุกอย่างเมื่อเข้ามาสัมผัสสัมพันธ์กับตัวหลงคือใจ ซึ่งทางเดินของมันออกทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แล้วอยากไปหมด ไม่มีความอิ่มพอเลย ก็คือใจดวงโง่ ๆ นี้เอง มันหิวโหย บรรจุความหิวไว้เต็มเอี๊ยดในหัวใจ หาช่องออกไม่ได้เลย มีแต่อัดเข้าแน่นเข้า ๆ
ถ้าไม่ได้ธรรมเข้าไปเปิด ธรรมเข้าไประเบิดให้มันแตกกระจัดกระจายออกไปแล้ว ความอยากอันนี้กี่กัปกี่กัลป์ก็ต้องเป็นอย่างนี้อยู่ตลอดไป จึงเรียกว่า วัฏฏะ ๆ หมุนอยู่อย่างนี้ตลอด เพราะกิเลสนั้นเองพาจิตให้เป็นวัฏฏะไม่ใช่อะไรนะ เราอย่าเข้าใจว่าดินฟ้าอากาศดังที่กล่าวมาแล้วนี้เป็นวัฏฏะ ไม่ได้เป็น เขาเป็นเขาตามหลักธรรมชาติของเขา เราหากไปสัมผัสสัมพันธ์ด้วยวัฏจิตของเรานี้แล้วก็หลงสิ่งนั้นหลงสิ่งนี้แล้วกว้านทุกข์เข้ามาหาตนเอง ตื่นลมตื่นอารมณ์ของตัวเอง ตื่นเงาของตัวเอง อาการของจิตที่ออกไปก็เหมือนกับเงา ก็ตื่นเงาตัวเอง ๒ ชั้น ๓ ชั้น ตื่นเงาในสภาวธรรมทั้งหลายที่จิตไปสัมผัสนั้นแล้วยังไม่แล้ว มาตื่นสัญญาอารมณ์ของตัวเองนี้อีก ตื่นไปตื่นมาอยู่อย่างนี้ตลอดเวลาตั้งแต่เมื่อไรเคยอิ่มเคยพอไหม
นี่ละเรื่องโลกเป็นเช่นนี้ ถ้าพิจารณาด้วยทางปัญญาแล้วทำไมจะไม่รู้เรื่องของเขา เมื่อรู้ตามหลักความจริงแล้วก็ต้องปล่อยเข้ามา ๆ ดังที่เคยอธิบายให้ฟังแล้วไม่รู้กี่ครั้งกี่หน นี่ปัญญา สิ่งเหล่านั้นเลยกลายเป็นหินลับปัญญาได้โดยลำดับลำดา ลับเข้ามา ๆ หมุนเข้ามา มีความคล่องแคล่วแกล้วกล้าเฉลียวฉลาดแหลมคมเข้ามาโดยลำดับ ตั้งแต่ขั้นหยาบถึงขั้นละเอียด ละเอียดสุด นั่นฟังซิ เมื่อเต็มที่แล้วปล่อยได้หมดโดยประการทั้งปวง ซึ่งตั้งแต่เกิดมาเราก็ไม่เคยได้ปล่อยและไม่ว่ากัปใดกัลป์ใดจิตดวงนี้ท่องเที่ยวมากี่กัปกี่กัลป์ไม่เคยได้ปล่อย เพราะยังไม่รู้ ต้องแบกต้องหาม เมื่อรู้แล้วใครจะทนแบกไว้ได้ล่ะ ก็รู้ว่าฟืนว่าไฟ รู้ว่าอสรพิษแล้วกอดไว้ทำไมถ้าไม่อยากตาย ก็ต้องสลัดปัดทิ้งทันที นี่ละท่านเรียกว่ายาพิษ เราไม่รู้แล้วก็เพลิน เมื่อรู้แล้วก็ต้องเป็นอย่างนั้น นี่คือเรื่องของปัญญาที่กล่าวให้ฟังนี้ ที่อธิบายให้ฟังนี้คือเรื่องของปัญญา
ตั้งแต่เริ่มแรกก็ขึ้นนี้ก่อน ขึ้นในเรื่องอสุภะอสุภัง เอาร่างกายเจ้าของเป็นที่ตั้ง เหมือนว่าเป็นเชื้อไฟ จ่อไฟคือสติปัญญาเข้าตรงนี้ก่อนแล้วก็จะค่อยกระจายออกไป ๆ กระจายออกไปทั่วโลกดินแดน เห็นไม่เห็นก็ตามเถอะ เรื่องความจริงนี้มีกระเทือนกันไปหมดทั่วดินแดนนั่นเอง ทำไมจิตซึ่งเป็นนักรู้ทำไมจะไม่รู้ สิ่งที่หลงไม่เคยเห็นก็ยังหลงได้ เมื่อพิจารณาทางด้านปัญญา ไม่เคยเห็นก็ตามมันก็ทราบได้ตามหลักความจริงแล้วถอยตัวเข้ามา ๆ นี่เรื่องของปัญญา
เมื่อสรุปความลงแล้วที่กล่าวมาเหล่านี้เราตื่นอะไรฟังซิ สิ่งเหล่านั้นเขาไม่มีอะไรแต่เราไปตื่นเขาไปติดเขา เราไม่อายเราบ้างเหรอ เราเป็นนักปฏิบัติเป็นลูกศิษย์ตถาคตทำไมถึงโง่เง่าเต่าตุ่นเอานักหนา เห็นอะไรติดนั้นพันอยู่ตลอดเวลาไม่มีวันลืมหูลืมตาเลย มีแต่วันหลับตาเดิน หลับตานอน หลับตาก้าวไปก้าวมา หลับตานั่ง หลับตาตลอดเวลา หาความลืมตาด้วยสติปัญญาบ้างไม่มีเลย สมแล้วเหรอ สมเหตุสมผลแล้วหรือกับคำว่าลูกศิษย์ตถาคต และสมเหตุสมผลแล้วหรือว่าเราเป็นนักปฏิบัติ ปฏิบัติยังไง ปัจจุบันนี้ปฏิบัติยังไง ดูเจ้าของดูหัวใจเจ้าของซิ มันปฏิบัติยังไงถึงไม่รู้ไม่เห็นสิ่งซึ่งเป็นความจริงทั้งหลาย มีอยู่ตลอดเวลา ทั้งภายนอกภายในมีอยู่ตลอดเวลา
ความรู้อันนี้ก็รู้ตลอดเวลา ทำไมไม่รู้ในจุดที่ควรจะรู้ ในจุดที่ควรจะละบ้าง ถ้าจิตมีปัญญาต้องรู้ต้องละได้ ไอ้นี้มันก็รู้ไปแบบกิเลสลากไป ๆ รู้อะไรก็รู้เป็นเรื่องของกิเลสไปหมด ให้กิเลสพารู้ ให้กิเลสพาหลง ให้กิเลสพารักพาชัง ให้กิเลสพาติดพาพันไปเสียหมดก็ไม่มีเวลาปล่อยตัวได้ละซิ ถ้าไม่มีปัญญาเข้าแทรกเลยแล้วหาทางออกไม่ได้นะ วัฏฏะ ๆ จะหมุนอยู่อย่างนี้ตลอดไป
มีใครที่จะพูดให้แม่นยำยิ่งกว่าพระพุทธเจ้า เอกนามกึ หนึ่งไม่มีสองคืออะไร ก็คือพระพุทธเจ้านั่นเอง ถ้าว่ากิเลสก็ไม่มีใครเป็นคู่แข่ง ตรัสพระวาจาออกมาคำใดก็เป็นสวากขาตธรรม คือตรัสไว้ชอบทั้งนั้น ถูกต้องแม่นยำไม่มีอะไรคลาดเคลื่อนจากหลักความจริงนั้นเลย แน่ะฟังซิ เป็นยังไงฉลาดขนาดไหนพระพุทธเจ้า แล้วพวกเราทำไมถึงได้โง่เอานักเอาหนา ไม่มีทางคิดทางอ่านบ้างเล้ย วันหนึ่งคืนหนึ่งอยู่ไปกินไปนอนไปไม่มีเวลาลืมหูลืมตาเลยทำยังไง พิจารณาซิ เราตื่นหาอะไร มีอะไรที่พอจะให้ได้ดิบได้ดี ได้ความวิเศษวิโสเลิศเลอจากสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ ก็ติดมาเท่าไรแล้วเลิศเลอไหม คนติดเลิศเลอไหม คำว่า สตฺต ๆ แปลว่าผู้ติดผู้ข้องนั่นเอง เลิศเลอไหม ผู้พ้นแล้วจากความติดข้องต่างหากเป็นผู้เลิศเลอดังพระพุทธเจ้า
สิ่งเหล่านี้เป็นหินลับปัญญาทั้งนั้น เมื่อถึงขั้นที่จะพิจารณาให้เป็นปัญญาแล้วเป็นได้หมดเลย หากเป็นเองโดยหลักธรรมชาติ ดังที่เคยพูดแล้วทีแรกก็ต้องพาก้าวเดินเสียก่อน ถูไถไปก่อน บังคับบัญชาไปก่อน เพราะปัญญายังไม่เห็นผลของตัวเอง ยังไม่เห็นผลก็ยังไม่สนใจ เมื่อได้เห็นผลปรากฏขึ้นไปโดยลำดับแล้วความสนใจมีมาเอง ความขยันหมั่นเพียร ความอุตส่าห์พยายามไม่ต้องบอกหมุนติ้ว ๆ ๆ ไปเลย แล้วสิ่งเหล่านี้จะเป็นหินลับปัญญาได้ทั้งนั้นทีเดียว นี่ละการปฏิบัติธรรม
ธรรมะสด ๆ ร้อน ๆ ให้รู้ให้เห็นอยู่ตลอดเวลา และรู้อยู่ตลอดเวลาเสียด้วยในสิ่งที่กล่าวมาเหล่านี้ หายไปไหนพอที่จะพิจารณาไม่ทัน คว้าไม่ถูก รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส สภาวธรรมทั้งหลายรอบอยู่ในตัวของเราตั้งแต่สกลกายนี้ออกไป ที่จะให้จิตเป็นผู้สัมผัสสัมพันธ์และจิตเป็นผู้รับทราบทั้งนั้น จนกระทั่งทั่วโลกดินแดน รู้อยู่ตลอดเวลา มีอยู่ตลอดเวลา ทำไมจะพิจารณากันไม่ได้ ถ้าไม่ใช่ใจนี่มันครึเอาเสียเหลือเกิน มันล้าสมัยเสียเหลือเกิน มันมืดมันบอดเสียเหลือเกิน ให้กิเลสปิดหูปิดตาไว้เสียจนกระทั่งหาทางแย็บออกไม่ได้เลยจะเป็นยังไง ถ้าอย่างนั้นแล้วก็ไม่มีความหวังนะ
พระพุทธเจ้าสอนไว้หมดแล้ว สิ่งเหล่านี้มีอยู่กับเราทำไมพิจารณาไม่เห็น นี่น่ะสำคัญ มันเป็นยังไง จิตของเรามันอยู่ยังไงทุกวัน ๆ นี้มันน่าจะได้เห็น สิ่งที่ทำให้เพลิดให้เพลินให้ลืมเนื้อลืมตัวอยู่ตลอดเวลา ก็คือสิ่งที่เคยทำให้เพลิดให้เพลินให้ลืมเนื้อลืมตัวมาแล้วทั้งนั้นนี่นะ ไม่ใช่เป็นของใหม่ เป็นของเก่ามาแล้วทั้งนั้น มาปัจจุบันนี้มันก็ติดก็เพลินอยู่ตลอดเวลางุ่มง่าม ๆ อยู่อย่างนั้น เพราะสิ่งเหล่านี้มันชักมันจูงมันลากมันเข็นไปหาที่เป็นฟืนเป็นไฟ เราก็ร้อนอยู่ตลอดเวลา ไม่มีเวลาที่จิตจะมีช่องทางให้สติปัญญาพาก้าวเดิน เบิกสิ่งเหล่านี้ออกไปให้กว้างขวางเห็นหลักความจริงเข้าเป็นลำดับลำดา จนกระทั่งถึงเอาให้พังลงไปหมดทุกสิ่งทุกอย่างภายในหัวใจของเรา อะไรเกี่ยวข้องก็ตามพังลงหมด ๆ ด้วยปัญญา นั่นมันไม่เห็นมีนี่ นี่ซิมันน่าทุเรศเอาเหลือเกินผู้ปฏิบัติ
เป็นยังไงเรื่องศาสนาดูเอาซิ ทุกวันนี้ศาสนาเจริญหรือศาสนาเสื่อม ดูตั้งแต่ข้างนอกเข้ามาข้างใน ดูกระจัดกระจายออกไปหมดทั่วโลกดินแดน เป็นยังไงในวงชาวพุทธของเราพิจารณาซิ มันน่าทุเรศเอามากมายนะ ดิ้นกัน แม้แต่พระแต่เณรเราก็ไม่พ้นที่จะเป็นอย่างนั้นได้ ไม่ว่าท่านว่าเราเป็นเหมือนกันจะว่ายังไง แต่ความจริงมีก็ต้องนำมาพูด ไม่ได้พูดตำหนิติเตียนผู้หนึ่งผู้ใดโดยเฉพาะ แต่พูดตามหลักความจริงว่ามันเป็นอย่างนั้น แล้วเราจะแก้ไขตัวของเราได้ยังไงพิจารณาซิ ไม่แก้แล้วไปไม่ได้นะ
ยิ่งมืดมิดปิดตาเข้ามา สิ่งที่จะเป็นฟืนเป็นไฟ มันคืบมันคลานมันเหมือนไฟลามทุ่ง ไม่เพียงคืบเพียงคลานนะ เพราะเราเปิดช่องเปิดทางให้มัน มันก็เหมือนไฟลามทุ่ง ลามเข้ามาไหม้หัวใจของเรานี่จะไปไหม้ที่ไหน น้ำดับไฟไม่มี สติปัญญาความพากความเพียรไม่มี เอาอะไรดับกันกับไฟราคะตัณหา ความโลภ ความโกรธ ความหลง ซึ่งเป็นเรื่องของฟืนของไฟทั้งนั้น มันเผาอยู่ที่หัวใจไม่ไปเผาที่ไหนแหละ ถ้าไม่มีธรรมเป็นเครื่องแก้ไขดัดแปลงกันแล้ว ยังไงก็ไม่พ้นความเป็นอยู่อย่างนี้และยิ่งกว่านี้แหละ นี่ละศาสนาเสื่อมดูเอา ดูที่หัวใจเรานี้
พยายามซิ ทำจิตให้มีความสงบ หยุดพักเครื่องบ้างชั่วขณะก็พักไม่ได้ เครื่องอันนี้มันดีดมันดิ้นมันหมุนเป็นวัฏฏะ ๆ คือความหมุนอยู่ตลอดเวลาภายในหัวใจของเรานี้หาเวลาสงบไม่ได้ ถ้าจิตสงบบ้าง นั่นละพักเครื่อง ผ่อนเครื่อง อย่างน้อยผ่อนเครื่องลงไปไม่ให้หมุนแรง ให้หมุนเบา ๆ เหมือนอย่างพัดลม หมุนพอเบา ๆ จากนั้นก็สงบแน่วลงไปหยุดกึ๊ก นั่นมีได้ในวงปฏิบัติของพุทธศาสนานี้ไม่สงสัย แต่ไม่มีผู้ที่จะทำให้เป็นอย่างนี้นั่นซิ มันจึงไม่เห็นความสุขในการดับเครื่องในการผ่อนเครื่อง คือหัวใจเรามันทำงาน ให้มันพักเครื่องบ้างซิ จะได้เห็นคุณค่าของการพักเครื่องเป็นยังไง คือความสงบ ท่านเรียกว่าสมถะความสงบใจ
เมื่อใจได้สงบ ได้พักเครื่อง ทำเครื่องให้เบาลง ผ่อนเครื่องให้เบาลงและถึงพักเครื่องแล้วผลเป็นยังไงนั่น เย็นสบายที่สุด เพราะฉะนั้นท่านผู้มีจิตเป็นสมาธิแล้วจึงติดสมาธิดังที่กล่าวมาแล้วนั่นแล เพราะสบายพอเข้าสู่จุดนั้นแล้วแน่วเลย จิตไม่ทำงานอะไรทั้งนั้นรู้อยู่โดยเฉพาะ เป็นความรู้ที่ละเอียดแนบแน่นที่สุดก็คืออัปปนาสมาธิ ชื่อว่าอัปปนาสมาธิ เอ้า เข้าเมื่อไรได้ ให้เห็นประจักษ์เจ้าของซิถึงพูดได้ เราเรียนก็เรียนมา เรียนมาด้วยความจำ ความจำจะให้เห็นชัดเจนเหมือนความจริงเห็นได้ยังไง ไม่เห็น เพราะฉะนั้นท่านถึงบอกว่าปริยัติเรียนแล้วให้ปฏิบัติ นั่น ปฏิบัติคือการก้าวเดินก็ต้องเห็นความจริง
ทีนี้จิตสงบลงไปแล้วเป็นยังไง แน่วอยู่นั่นไม่ทำการทำงาน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ไม่ทำงาน คือทางเดินของจิต กิริยาของจิตไม่ออก อันนั้นก็สะดวกสบายอีกแบบหนึ่ง จิตก็แน่วตัวเอง สงบแน่ว นอกจากความสงบแล้วยังเป็นความสุขความสบายรื่นเริงบันเทิงอยู่ในนั้น ถ้าจะว่ารื่นเริงบันเทิง แต่บันเทิงในธรรมทั้งหลาย ในความสงบ ไม่ใช่บันเทิงในความดีดดิ้น บันเทิงมีความสุขความสบายในความสงบ นั่นเรียกว่าจิตพักเครื่อง
ทีนี้ออกจากการพักเครื่องแล้วทำงาน ที่นี่ทำงานก็ทำงานทางด้านปัญญาไปเสีย ไม่ใช่กิเลสมันมาคว้าเอาไปทำงานเสียทั้งวันทั้งคืน จนกระทั่งนอนหลับไปก็ละเมอเพราะเครื่องดับไม่เป็น ติดขึ้นแล้วดับไม่เป็นก็คือพวกเรา ๆ ท่าน ๆ นี้เอง พอตื่นนอนไม่ทราบมันคิดตั้งแต่เมื่อไรแล้ว เราไม่รู้ว่ามันคิดขณะไหน พอตื่นนอนขึ้นมามันคิดอยู่แล้ว นี่ละมันเปิดเครื่องจนกระทั่งหลับ ถ้าไม่ได้หลับแล้วตายนะมนุษย์เรา ไม่มีเวลาพักเครื่องได้เลยละ ขันธ์พักไม่ได้-ตาย
อันนี้ยังมีดีอยู่บ้าง พอมีเครื่องรั้งเอาไว้ได้แก่การหลับ พอได้พักเครื่องบ้าง เพราะพักทางสมาธิไม่เป็น พักทางสมาธิไม่ได้และไม่รู้เรื่องสมาธิเป็นยังไงด้วย แม้แต่ผู้ที่รู้เรื่องของสมาธิด้วยการเรียนมาจำมาก็ยังทำไม่ได้ทำไม่เป็นจะว่ายังไง ทำให้เป็นบ้างซิตามพระพุทธเจ้าทรงสอน ถ้าดำเนินตามหลักพระพุทธเจ้าแล้วจะไปไหน
ปริยัติ เอ้า เรียนมา เรียนรู้วิธีการแล้วเอาทำลงไป ทำไมจะสงบไม่ได้ จิตนี้มันเหนืออำนาจของธรรมได้หรือ บังคับลงไปด้วยสติให้อยู่ก็สงบได้ เมื่อสงบแล้วเห็นผล เห็นผลแล้วพอใจที่จะต้องทำให้มากยิ่งกว่านั้นเข้าไป แล้วก็แน่วแน่ลงไปเรื่อย ๆ นี่ละที่นี่จนกลายเป็นจิตพักเครื่อง เอ้า พอถอนออกจากพักเครื่องแล้วเปิดเครื่อง เอ้า พอถอนออกจากพักเครื่องแล้วเปิดเครื่อง เปิดทางด้านปัญญา เปิดเครื่องก็คือทำงานทางด้านปัญญา เอ้า พิจารณาลงไปให้เห็นละเอียดลออลงไป ๆ
ถึงเวลาที่จะพักเครื่อง เครื่องมันร้อน เอ้า พักเข้าสู่สมาธิคือความสงบเสีย พอเครื่องเย็นแล้วได้พักเครื่องแล้ว ออกทางด้านปัญญา นี่คือปฏิปทาที่ราบรื่นท่านเรียกว่า อปัณณกปฏิปทา การปฏิบัติไม่ผิด คืออย่างนี้ในทางภาคจิตใจ ทางภาคจิตตภาวนาพิจารณาอย่างนั้น คือการก้าวเดินออกด้วยปัญญาแล้วเข้าสู่ความสงบเป็นครั้งเป็นคราว พักไปทำไปเรื่อย แล้วก็พัก ทำไปเรื่อยพัก นี่ท่านมีในปริยัติของท่านบอกไว้แล้ว แต่เราไม่รู้เพราะเราไม่ทำ เมื่อไม่ทำก็ไม่รู้
ธรรมทั้งหลายเหล่านี้ท่านแสดงมาแล้ว จากความรู้ความเห็นของจอมปราชญ์ทั้งนั้น แต่เราอ่านไปแล้วเป็นกิเลสไปหมด เพราะไม่สนใจ ความไม่สนใจไม่เป็นกิเลสจะเป็นอะไร มันไม่ถึงใจ ไม่สนใจ จนต่อเมื่อเราได้ปฏิบัติแล้วเวลามันปรากฏขึ้นมาก็รู้ที่นี่ อ๋อ ๆ แหละนั่น เมื่อปฏิบัติลงไปแล้วมันรู้ รู้แล้วก็ยอมรับ ๆ จนกระทั่งถึงวิมุตติหลุดพ้น ก็ไม่พ้นเกี่ยวกับเรื่องการเปิดเครื่องดับเครื่องนี้เลย พักเครื่อง แน่ะ คือสมถธรรมเป็นคู่เคียงกันไป เวลาปัญญาก้าวเดินนั้นคือปัญญาทำงาน นั่นละเรียกว่าทำงาน เมื่อทำงานมากก็เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า เหมือนกันกับธาตุขันธ์ของเราเหมือนกัน แล้วเข้ามาพักผ่อนหย่อนใจของเราสู่ความสงบ พอมีกำลังแล้วออกก้าวเดิน เรื่อย ๆ จนกระทั่งทะลุปรุโปร่งไปหมด
แล้วเป็นยังไงโลกอันนี้เขามาอะไรกับเราไหม จิตฟาดเสียจนทะลุปรุโปร่ง ปล่อยไปเสียหมดโดยประการทั้งปวง แล้วสิ่งเหล่านี้มามีเยื่อใยกับเราไหมนอกจากเราเยื่อใยกับเขา เราจะเป็นบ้าไปกับเขา ทีนี้พอเราหายบ้าแล้วเขาเป็นยังไง เขาเป็นยังไงเขาก็เป็นของเขาอยู่อย่างนั้น นั่นซิมันจึงได้เห็นเรื่องความผิดถูกชั่วดีของตัวเองมีอยู่กับใจดวงเดียวนี้ทั้งนั้น มีนี่เท่านั้น ๆ ไม่ได้ไปที่อื่น เพราะตัวนี้เป็นตัวรู้ มันรู้ไปหมด หลงไปหมด รู้ไปตรงไหนหลงไปตรงนั้นไม่ใช่รู้ธรรมดา มันรู้ด้วยสิ่งที่พาให้หลงมันถึงต้องหลงไปหมด ถ้ารู้ด้วยสิ่งที่พารู้แล้วไม่หลง พระพุทธเจ้าหลงที่ไหน พระสาวกอรหัตอรหันต์ทำยังไงให้หลงก็ไม่หลงเมื่อถึงขั้นรู้แล้ว เป็นเช่นเดียวกับกิเลสเมื่อยังมีอยู่ในหัวใจแล้ว ทำยังไงให้รู้ก็ไม่รู้ เมื่อปัดออกเสียจากหัวใจเสียจนหมดไม่มีอะไรเหลือแล้ว มีแต่ธรรมล้วน ๆ แล้วให้หลงก็ไม่หลง มันก็ตรงกันข้ามนั่นเอง เอ้า ให้พากันพิจารณาซิผู้ปฏิบัติทั้งหลาย
นี่ศาสนาจะมีแต่ชื่อแต่นาม มีแต่ตำรับตำรา เลยจะไม่มีอะไรเป็นความศักดิ์สิทธิ์วิเศษในวงศาสนาในวงของชาวพุทธเรา ในวงผู้ปฏิบัติจะทำยังไง เอาอะไรโชว์โลกไม่ได้ เขาทำงานอะไรเขาก็มีผลออกมาโชว์กัน แม้แต่แม่ค้าไปขายของเขาก็ยังมีกำไรเอามาโชว์กัน วันนี้ได้เท่าไร แน่ะ ไปทำงานอะไรเขาก็มีผลมาโชว์กัน เราเป็นผู้นับถือพุทธศาสนาเอาอะไรมาโชว์ไม่เห็นปรากฏเลย ดีไม่ดีตำหนิศาสนาเสียด้วยว่าศาสนานี้หมดแล้วมรรคผลนิพพานไม่มี ไม่เห็นมีอะไรจำเป็น ศีล ๕ ก็ไม่จำเป็น ศีล ๘ ก็ไม่จำเป็น ศีล ๒๒๗ ไม่จำเป็น สมาธิภาวนาไม่จำเป็น ภาคปฏิบัติโดยประการทั้งปวงไม่จำเป็น ก็มีตั้งแต่เรียนเอาแต่ชื่อเหมือนนกขุนทองเอามา ได้แล้วก็มาคุยโม้กันเท่านั้น มีแต่ลมปากนั้นเหรอจำเป็น ก็มีเท่านั้นแหละจำเป็น
กิเลสพาให้อวดมันก็จำเป็นละซิ ถ้ากิเลสเข้าแทรกที่ตรงไหนต้องจำเป็น เรียนมาเพียงจำได้เฉย ๆ ก็ถือว่าเป็นของจำเป็น ว่าได้รู้หลักนักปราชญ์ไปเสียแล้วทั้ง ๆ ที่กิเลสไม่ถลอกเลยนี่ ดูเอาตัวนี้แหละตัวผู้เรียนนี่ใครเรียน ผมก็เคยเรียนมาแล้วนี่จะว่ายังไง ไม่ใช่ผมดูถูกเหยียดหยามท่านผู้เรียนทั้งหลายนะ เราพูดตามหลักความจริง มันเป็นอย่างนั้นจริง ๆ ไม่ว่าท่านว่าเราต้องเป็นด้วยกัน นอกจากไม่พูดเฉย ๆ นี่เรานำออกมาพูดอย่างเปิดเผยให้รู้ตามหลักความจริง กิเลสเปิดเผยมันไม่ได้เหรอ ตั้งแต่มันเหยียบหัวเรายังเหยียบได้ เราเปิดเรื่องของกิเลสออกมาเพื่อคลี่คลายหรือเพื่อทำลายมันทำไมจะเปิดไม่ได้ นั่น เอามาให้เห็นอย่างนั้นซิผู้ปฏิบัติ
นี่ศาสนาจะมีแต่ชื่อเฉย ๆ นะ ไม่มีอะไรออกโชว์จะทำยังไง แล้วผู้ปฏิบัตินี่เป็นของสำคัญมาก ผู้ที่จะนำผลของศาสนาออกโชว์ได้ ตั้งแต่สมาธิขึ้นไปละ เอ้า สมาธิขั้นใด ใครจะถาม-ถามมาว่างั้นเลย นั่นจึงเรียกว่าออกโชว์ได้แล้ว มันประจักษ์เหมือนของอยู่ในร้าน เอ้า เปิดออกไปดู อยากได้อะไรดูเอา เอ้า เข้ามา สินค้าเหล่านี้มีอะไรบ้าง ต้องการอะไรให้เลือกเอาเลย นั่นคำว่าสมาธิไม่ว่าสมาธิขั้นใดพร้อมหมดในห้างร้านอันนี้ เอ้า กล่าวถึงเรื่องปัญญา เปิดออกมาให้เห็นหมด ไม่ว่าปัญญาอย่างหยาบ อย่างกลาง หรืออย่างต่ำ อย่างกลาง อย่างละเอียด ละเอียดสุด มีอยู่ในห้างร้านนี้ คือพุทธะ ได้แก่จิตตัวรู้ ๆ นี้ที่เกิดขึ้นมาจากภาคปฏิบัตินี้เต็มไปหมด
เอ้า วิมุตติหลุดพ้นหาที่ไหน หาในคัมภีร์ก็เห็นแต่ชื่อของวิมุตติหลุดพ้น หาในใบลานหาในตำรับตำราก็มีแต่ชื่อของตำรับตำราที่มีอยู่ในตำรับตำรา ไม่ใช่ตัวองค์มรรคผลนิพพาน ไม่ใช่สมาธิไม่ใช่ปัญญา หาในหัวใจของผู้ปฏิบัติซี เมื่อผู้ปฏิบัติได้เจอเข้าตรงนี้แล้วจะไปหาที่ไหนอีกที่นี่ นั่นแหละโชว์ได้เลย ไม่โชว์กับใครก็โชว์อยู่กับเจ้าของ สนฺทิฏฺฐิโก ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ ประกาศกังวานอยู่ในหัวใจตลอดเวลา อกาลิโก ฟังซิ ธรรมเป็น อกาลิโก ความบริสุทธิ์ก็เป็น อกาลิโก มันก็เห็นได้ชัดซิ นี่ละศาสนาของพระพุทธเจ้า ขอให้ปฏิบัติไปเถอะ โชว์ได้ในหัวใจเจ้าของจะไม่โชว์กับใครก็ตาม ไม่มีคำว่าจะเน่าจะเฟะจะล้าสมัยไม่มี เอี่ยมอยู่ตลอดเวลาด้วย อกาลิโก
เอาละพอ
ที่มา: www.luangta.com
https://sites.google.com/site/smartdhamma/smatha_vipassana_lt_buwa