ตอนห้า อานาปานสติ ขั้นที่หนึ่ง การกำหนดลมหายใจยาว
ภาคอานาปานสติภาวนา
จตุกกะที่ ๑ – กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน
(ตั้งแต่การเริ่มกำหนดลม จนถึงการบรรลุฌาน)
เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสข้อความอันปรารภถึงลักษณะ และกิริยาอาการของบุคคลผู้เริ่มทำสติดังนี้แล้ว ได้ตรัสถึงลำดับหรือระยะแห่งการกำหนดลมหายใจ และสิ่งที่เนื่องกับการกำหนดลมหายใจสืบไปว่า :
(๑) ภิกษุนั้น เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้สึกตัวทั่วถึง ว่าหายใจเข้ายาว ดังนี้ ; เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้สึกตัวทั่วถึง ว่าหายใจออกยาว ดังนี้,
(๒) ภิกษุนั้น เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้สึกตัวทั่วถึง ว่าหายใจเข้าสั้น ดังนี้ ; เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้สึกตัวทั่วถึง ว่าหายใจออกสั้น ดังนี้.
(๓) ภิกษุนั้น ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งกายทั้งปวง จักหายใจเข้า ดังนี้ ; ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งกายทั้งปวง จักหายใจออก ดังนี้.
(๔) ภิกษุนั้น ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้ทำกายสังขารให้รำงับอยู่ จักหายใจเข้า ดังนี้ ; ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้ทำกายสังขารให้รำงับอยู่ จักหายใจออก ดังนี้.
ทั้ง ๔ ข้อนี้ เรียกว่าจตุกกะที่หนึ่ง หรืออานาปานสติหมวดที่หนึ่ง ซึ่งควรจะได้รับคำอธิบายอย่างละเอียดทั่วถึงเสียก่อนแต่ที่จะได้กล่าวถึงจตุกกะที่สองที่สาม เป็นลำดับไป. แม้เพียงแต่จตุกกะที่หนึ่งนี้ ก็มีคำอธิบายและเรื่องที่ต้องปฏิบัติอย่างยืดยาว และทั้งเป็นการปฏิบัติที่สมบูรณ์ขั้นหนึ่งอยู่ในตัวเอง หรือผู้ปฏิบัติอาจจะยักไปสู่การปฏิบัติที่เป็นวิปัสสนาโดยตรงต่อไป โดยไม่ต้องผ่านจตุกกะที่สอง ที่สาม ก็เป็นสิ่งที่กระทำได้ ; ฉะนั้น จึงเป็นการสมควรที่จะได้วินิจฉัยในจตุกกะที่หนึ่งนี้ โดยละเอียดเสียชั้นหนึ่งก่อน.
อานาปานสติ หมวดที่หนึ่งนี้ มีชื่อว่า “กายานุปัสสนา” อีกชื่อหนึ่ง เพราะเหตุว่ามีกาย กล่าวคือลมหายใจเข้า – ออก เป็นอารมณ์ของการกำหนดและพิจารณา และจัดเป็นสติปัฏฐานข้อแรก แห่งสติปัฏฐานทั้งสี่ อันมีอธิบายดังต่อไปนี้ :
* * *
ตอน ห้า
อานาปานสติ ขั้นที่ หนึ่ง
(การกำหนดลมหายใจยาว)
อานาปานสติขั้นที่หนึ่งนี้ มีหัวข้อว่า “ภิกษุนั้น เมื่อหายใจเข้ายาวก็รู้สึกตัวทั่วถึง ว่าหายใจเข้ายาว ดังนี้ ; เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้สึกตัวทั่วถึง ว่าหายใจออกยาว ดังนี้”. (บาลีว่า ทีฆํ วา อสฺสสนฺโต ทีฆํ อสฺสสามีติ ปชานาติ ทีฆํ วา ปสฺสสนฺโต ทีฆํ ปสฺสสามีติ ปชานาติ.)
อานาปานสติข้อนี้ กล่าวถึงการหายใจเข้า–ออก ยาว เป็นส่วนสำคัญฉะนั้น สิ่งที่ควรทำความเข้าใจก็คือ คำที่ว่า หายใจยาว นั่นเอง. เพื่อให้เป็นการเข้าใจง่ายแก่ผู้ปฏิบัติ ผู้ปฏิบัติควรจะต้องฝึกหัด และสังเกตการหายใจเข้า – ออกให้ยาวกว่าธรรมดาให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อจะให้ทราบว่ายาวที่สุดนั้นเป็นอย่างไรเสียก่อน, แล้วจะได้นำไปเปรียบเทียบกับการหายใจตามปรกติธรรมดาว่ามันยาวสั้นกว่ากันอย่างไร, แล้วนำไปเปรียบเทียบกับการหายใจที่สั้นกว่าธรรมดา เช่น การหายใจในเวลาเหนื่อย เป็นต้น ว่ามันยาวสั้นกว่ากันอย่างไรต่อไปอีก. และในที่สุด ควรจะมีการทดลองหายใจอย่างสั้นที่สุด เท่าที่จะให้สั้นได้ ด้วยการบังคับของเราเอง เพื่อเปรียบเทียบกันอีกครั้งหนึ่ง ในที่สุดก็จะทราบได้ว่า คำว่าหายใจยาว หรือหายใจสั้นนั้น มีความหมายต่างกันอย่างไร หรือมีตัวจริงอยู่อย่างไร และจะเป็นผู้สามารถกำหนดลมหายใจที่ยาวหรือสั้น ได้ถูกตรงตามที่ต้องการ.
ข้อที่ว่าให้พยายามหายใจให้ยาวที่สุด เท่าที่จะหายใจได้นั้น มีข้อที่ต้องควรกำหนดคือ จะกินเวลานานประมาณ ๓๐ – ๔๐ วินาที ในระยะหนึ่งๆ เท่าที่เราจะผ่อนให้ยาวได้ ทั้งเข้าและออก : และให้สังเกตว่า จะต้องนั่งตัวตรงจริงๆ จึงจะหายใจได้ยาวถึงที่สุดจริงๆ และ เมื่อหายใจเข้าถึงที่สุดจริงๆ นั้นจะมีอาการปรากฏว่าส่วนท้องแฟบถึงที่สุด ส่วนโครงอกพองออกถึงที่สุด, และโดยนัยตรงกันข้าม เมื่อหายใจออกถึงที่สุด ก็จะปรากฏว่าท้องป่องออกไป ส่วนโครงอกแฟบ อย่างนี้จึงเรียกว่ายาวถึงที่สุดจริงๆ มีความหมายอยูตรงที่ว่ามีการหายใจทั้งยาว ทั้งนาน.
เพื่อเข้าใจเรื่องนี้ได้ถึงที่สุด ควรพิจารณาเพื่อการเปรียบเทียบ เลยไปถึงการหายใจสั้น. คำว่า “หายใจสั้น” จะมีอาการตรงกันข้าม คือเมื่อหายใจเข้าท้องป่องออกไป, เมื่อหายใจออก ท้องแฟบเข้ามา พอเป็นทางสังเกตได้ว่าที่เป็นดังนี้ เป็นเพราะหายใจเข้าน้อย จนไม่ถึงกับทำให้โครงอกตอนบน พองออกไปมาก หรือหายใจออกน้อย จนไม่ทำให้โครงอกตอนบนแฟบเข้าไปมากอาการที่ปรากฏที่ท้องจึงแตกต่างกันอย่างตรงกันข้าม ซึ่งผู้ฝึกหัดจะต้องรู้จักสังเกตให้ดี มิฉะนั้นจะเข้าใจผิดและสับสนกันไปหมด. เกี่ยวกับเรื่องนี้ อาจจะยุติเป็นหลักที่เรียกว่า “หายใจเข้าสั้น” ก็คือ สั้นเพียงเท่าที่ทำให้โครงอกขยายออกหน่อยหนึ่ง แต่ไม่ถึงกับทำให้ท้องแฟบ. ถ้าถึงกับทำให้ท้องแฟบ ก็เรียกว่า หายใจเข้ายาว. ที่เรียกว่า “หายใจออกสั้น” ก็คือ หายใจออกหน่อยหนึ่งเพียงที่ทำให้โครงอกแฟบลงหน่อยหนึ่ง แต่ไม่ถึงกับทำให้ท้องป่องออก. ถ้าถึงกับทำให้ท้องป่องออก ก็เรียกว่าเป็นการหายใจออกยาว. ข้อเท็จจริงอยู่ตรงที่ว่าโครงอกแฟบมากหรือน้อยนั่นเอง ; ส่วนท้องนั้นจะมีอาการตรงกันข้ามกับโครงอกเสมอไป ในเมื่อมีการหายใจอย่างยาวที่สุด ทั้งเข้าและออก.
ผู้มีการศึกษาเกี่ยวด้วยอวัยวะเครื่องหายใจ มีปอดเป็นต้นมาแล้วเป็นอย่างดี ย่อมอาจจะเข้าใจเรื่องนี้ได้ดี. คำว่า “หายใจนาน” พระอรรถกถาจารย์แนะให้สังเกตการหายใจของสัตว์ ๒ ประเภท. สัตว์ประเภทแรก เช่นช้าง มีระยะหายใจนานกว่าสัตว์ประเภทหลัง เช่นหนู หรือกระต่าย. การกำหนดเอาเวลาเป็นหลักเช่นนี้ แม้จะเรียกว่าหายใจช้าหรือเร็วก็ตาม ผลย่อมเป็นอย่างเดียวกันกับคำว่าหายใจยาวหรือสั้น. นี้กล่าวเฉพาะในการปฏิบัติการกำหนดลมหายใจ ; ส่วนข้อเท็จจริงที่ว่า ลมจะเข้าไปมากหรือน้อยกว่ากันอย่างไรนั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก. สิ่งที่ต้องการความสังเกตในความแตกต่างอีกอย่างหนึ่ง ก็คือ “การหายใจเบา” หรือ “หนัก” “หยาบ” หรือ “ละเอียด”. ถ้าหากลมกระทบพื้นผิวแห่งช่องหายใจรุนแรง ก็เรียกว่าหายใจหนักหรือหยาบ ถ้าหากกระทบพื้นผิวเหล่านั้นไม่รุนแรง หรือถึงกับว่าไม่รู้สึกว่ากระทบ ก็เรียกว่าหายใจเบาหรือละเอียด. อาการทั้งสองอย่างนี้ เป็นสิ่งที่ควรศึกษาให้เข้าใจอย่างยิ่งไว้อย่างเดียวกันเพราะมีเรื่องที่จะต้องปฏิบัติในข้อต่อไปข้างหน้าเกี่ยวกับเรื่องนี้.
การกำหนดลมหายใจ.
บัดนี้ มาถึง วิธีการกำหนดลมหายใจ ในลักษณะที่ต่างๆ กันเป็นลำดับไป, ดังจะได้แยกวินิจฉัยทีละบท : บทว่า “เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ว่าหายใจเข้ายาว” หรือ “เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ว่าหายใจออกยาว” นั้น มีหลักแห่งการปฏิบัติคือ หลังจากการที่ได้ซักซ้อมอวัยวะเครื่องหายใจต่างๆ มีช่องจมูก เพดาน หลอดลมและปอดเป็นต้นให้อยู่ในสภาพที่ปรกติและเหมาะสมดีแล้ว ก็ปล่อยให้มีการหายใจตามปรกติธรรมดาบ้าง บังคับให้ยาวกว่าธรรมดาบ้าง ให้สั้นกว่าธรรมดาบ้าง เป็นการซักซ้อมทางร่างกายโดยตรง ว่าควรจะมีอัตราปรกติอย่างไร ที่เป็นอัตราปรกติถาวรไม่ยาวไม่สั้นเสียก่อน แล้วจึงเริ่มกำหนดว่ามันยาวหรือสั้นเท่าไร.
ลมหายใจที่สั้นหรือยาว นี้ ย่อมขึ้นอยู่กับอารมณ์ทางจิตและความผันแปรทางร่างกาย หรือแม้ที่สุด เพียงแต่การไปสนใจมันเข้าเท่านั้น มันก็ทำให้การหายใจนั้น สั้นหรือยาว ออกไปได้กว่าธรรมดา. เพราะฉะนั้น ในขั้นแรกเราจะต้องสังเกตความสั้นยาว ที่มันเปลี่ยนแปลงไปตามสิ่งแวดล้อม ซึ่งกำลังแวดล้อมอยู่ในขณะนั้น เช่นถ้าอารมณ์ปรกติดี การหายใจก็ยาวกว่า เมื่อมีอารมณ์ร้ายเช่น ความโกรธเป็นต้นเข้าครอบงำ. หรือเมื่อร่างกายสบายดี ลมหายใจก็ยาวกว่าเมื่อร่างกายกำลังผิดปรกติ เพราะความเหน็ดเหนื่อย เป็นต้น. แม้ลมหายใจจะมีอาการอยู่อย่างนั้น อย่างใดอย่างหนึ่ง แต่พอเราไปตั้งใจทำการกำหนดมันเข้ามันก็จะต้องยาวกว่านั้นอีกเป็นธรรมดา. เพราะฉะนั้น ผู้ปฏิบัติจะต้องรู้จักสังเกตความพลิกแพลงของลมหายใจในลักษณะอย่างนี้ด้วย จึงจะกำหนดความยาวหรือสั้นได้โดยถูกต้อง หรืออย่างน้อยที่สุด ก็กำหนดได้ว่า มันยาวกว่ากันเท่าไรแล้ว. ทำการกำหนดไปเป็นเวลานานพอสมควร ก็จะรู้จักความสั้นยาวที่แน่นอนยิ่งขึ้น.
ในขั้นแรกๆ ควรจะหัดหายใจให้หยาบที่สุด ให้ยาวที่สุด เพื่อให้กำหนดได้โดยง่าย ว่าลมหายใจเองเป็นอย่างไร ? ทางที่มันกระทบนั้น ถูกมันกระทบอย่างไร ? กำลังกระทบอยู่ที่ตรงไหน ? มีอาการเหมือนกับว่ามันไปสุดลงที่ตรงไหน ? หยุดอยู่ที่ตรงไหน ? นานเท่าไร ? แล้วจึงหายใจกลับออกมาหรือกลับเข้าไปก็ตาม แล้วแต่กรณี. ถ้าหายใจเบาหรือละเอียดไปตั้งแต่ทีแรกก็ไม่มีทางที่จะสังเกตสิ่งเหล่านั้นได้ ทำให้กำหนดลมหายใจได้โดยยาก หรือถึงกับล้มเหลวไปก็ได้. ทางที่ดียิ่งไปอีก คือควรจะหายใจให้หยาบหรือหนัก จนกระทั่งเกิดมีเสียงได้ยินทางหู ขึ้นมาด้วยส่วนหนึ่ง หูก็เป็นประโยชน์ในการช่วยให้สติกำหนดลมหายใจได้ง่ายขึ้นอีกแรงหนึ่ง. โดยที่แท้แล้ว คำว่า “การกำหนดลมหายใจ” นั้น เป็นการกำหนดที่พื้นผิวที่ลมกระทบนั้น มากกว่าที่จะกำหนดที่ตัวลม เพราะลมเป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อน กำหนดยาก. แต่เมื่อมันกระทบพื้นผิวซึ่งเต็มไปด้วยเส้นประสาทเข้าที่ตรงไหน ก็เป็นการง่ายที่จะกำหนดว่าลมกำลังอยู่ที่นั่น หรือเดินไปถึงไหน. และยิ่งเมื่อมีเสียงที่ได้ยินทางหูเข้ามาช่วยด้วย ก็เป็นการช่วยให้กำหนดได้ง่ายขึ้นอีกว่าหายใจครั้งหนึ่ง ยาวหรือนานเท่าไร. การหายใจหนักๆ ในขั้นแรก จึงเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ ดังนี้. แม้ในขั้นต่อไป การหายใจยาวหรือหนัก จนเคยชินเป็นนิสัย ก็ยังมีประโยชน์อยู่นั่นเอง เพราะนอกจากจะเป็นประโยชน์ทางอนามัยแก่ร่างกายโดยเฉพาะแล้ว ยังเป็นประโยชน์ในทางที่จะทำให้เราฝึกหัดในบทฝึกหัดขั้นต่อๆ ไป ได้อย่างง่ายดายเสมอไป จึงขอแนะนำให้ฝึกในการหายใจให้ยาวและหนักอยู่เป็นปรกติ ตามโอกาสที่จะพึงกระทำได้.
การกำหนดลมหายใจด้วยสติ
ต่อไปนี้ ก็มาถึงระยะแห่งการฝึกในการกำหนดลมหายใจ ซึ่งยาวอยู่เองแล้ว เพราะการที่เราไปกำหนดมันเข้า. อาการที่เรียกว่า “กำหนด” ในที่นี้ ถ้ากล่าวอย่างโวหารธรรมดาก็คือ การที่เราตั้งจิตกำหนดลมหายใจ ที่กำลังแล่นเข้าแล่นออกอยู่ตามเรื่องตามราวของมันเอง จะเรียกว่าเป็นการสังเกตลมหายใจว่ากำลังเป็นอยู่อย่างไร ดังนี้ก็ได้ แต่เราไม่นิยมเรียกเช่นนั้น นิยมเรียกให้แน่ชัดลงไปเป็นภาษากัมมัฏฐาน หรือภาษาที่ใช้ในการสอนอภิธรรมว่า เป็นการผูกจิตไว้ที่ลมหายใจ ด้วยเครื่องผูกคือสติ เลยทำให้เกิดมีสิ่งที่จะต้องศึกษาขึ้นมาถึง ๓ เรื่องเป็นอย่างน้อย คือ ลมหายใจ ๑ จิต ๑ สติ ๑ รวมเป็น ๓ แล้ว ยังจะต้องศึกษาเรื่องผลที่เกิดขึ้นเพราะการทำเช่นนั้น ว่ามีอยู่อย่างไร กี่อย่าง ตามลำดับไป.
ลมหายใจ มีเรื่องราวอย่างไร เป็นเรื่องที่กล่าวถึงแล้วข้างต้น. ส่วนเรื่องจิตนั้น หมายความว่าเมื่อก่อนนี้ สาละวนอยู่กับโลกิยารมณ์ต่างๆ เดี๋ยวนี้ถูกพรากหรือถูกเปลี่ยนมาให้เป็นจิตที่ติดอยู่กับลมหายใจ ด้วยเครื่องผูกคือสติ ไม่ให้เป็นจิตที่ไปคลุกคลีอยู่กับโลกิยารมณ์ดังเช่นเคย. สำหรับสตินั้น หมายถึงเจตสิกธรรมซึ่งเป็นสมบัติของจิตอย่างหนึ่ง ในบรรดาสมบัติทั้งหลายของจิต. เจตสิกธรรมข้อนี้เป็นฝ่ายกุศล ทำหน้าที่ยกจิตขึ้น หรือดึงจิตมาผูกไว้กับลมหายใจ ซึ่งในที่นี้เป็นรูปธรรมบริสุทธิ์ ไม่เป็นที่ตั้งแห่งอกุศล จิตจึงพ้นจากความเป็นอกุศลมาสู่ความเป็นกุศล ด้วยอำนาจแห่งเจตสิกธรรม อันมีชื่อว่า สติ นั้น.
อาการที่จิตถูกสติผูกไว้กับอารมณ์ คือลมหายใจในที่นี้ แม้เพียงเท่านี้ก็เรียกได้ว่าการกำหนด คือการกำหนดของจิตที่ลมหายใจด้วยอำนาจสติ. ในขั้นนี้ยังเป็นเพียงการกำหนดล้วนๆ ไม่เป็นการพิจารณาแต่ประการใด และยังไม่เกี่ยวกับความรู้หรือญาณ จึงเรียกแต่เพียงว่า การกำหนด หรือตรงกับคำอีกคำหนึ่งว่า “บริกรรม” ล้วนๆ จัดเป็นอาการอย่างหนึ่ง ซึ่งต่อไปข้างหน้า จะถูกจัดเป็นองค์ของฌาน ที่เรียกว่า “วิตก”. ผู้ศึกษาถึงเข้าใจไว้เสียด้วยว่า คำว่า “วิตก” ในที่นี้ มีความหมายอย่างนี้ มิได้หมายอย่างโวหารพูดทั่วไป ซึ่งหมายถึงการคิดนึกตรึกตรองเป็นเรื่องราวไป แต่ประการใดเลย. ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับคำว่า “กำหนด”.
การเกิดของความรู้.
เมื่อมีการกำหนดในลักษณะเช่นที่กล่าวนี้ ก็แสดงอยู่ในตัวแล้วว่า ย่อมเป็นทางให้เกิดความรู้ หรือความรู้สึกแก่จิตขึ้นมาได้เอง ว่าลมหายใจนั้นยาวหรือสั้นเป็นต้น. ข้อนี้อธิบายว่า เมื่อลมหายใจก็แล่นไปแล่นมาอยู่ และจิตก็ถูกสติผูกติดไว้กับลมหายใจ จิตจึงมีอาการเหมือนกับพลอยแล่นไปแล่นมา ตามไปด้วยกัน จึงเกิด “ความรู้” ขึ้นได้ โดยไม่ต้องมีการคิดหรือการพิจารณาเลย. ความรู้เช่นนี้ยังไม่ควรเรียกว่า “ญาณ” เป็นเพียงสัมปชัญญะ คือความรู้สึกตัวทั่วถึงว่ามันเป็นอย่างไรในขณะนั้น. แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม บางทีท่านก็ใช้คำว่า “ญาณ” แก่อาการรู้เช่นนี้ ในบางคัมภีร์บ้างเหมือนกัน, ควรจะทราบไว้กันความสับสน. ทั้งนี้ เพราะคำว่า ญาณ นั้น มีความหมายกว้างขวาง เอาไปใช้กับความรู้ชนิดไหนก็ได้ แต่ความหมายที่แท้นั้น ต้องเป็นความรู้ทางสติปัญญาโดยตรง. เมื่อคำว่า “ญาณ” หรือความรู้ ใช้ได้กว้างขวางอย่างนี้ รวมกับการที่ท่านไม่อยากใช้คำอื่นเพิ่มเข้ามาให้มากมายและสับสนโดยไม่จำเป็น อาจารย์บางพวกจึงกล่าวว่า แม้ความรู้สึกที่เกิดขึ้นว่า เรากำลังหายใจยาว ดังนี้เป็นต้นก็จัดเป็นญาณอันหนึ่งด้วยเหมือนกัน ทำให้มีการกล่าวได้ว่า ญาณได้ปรากฏแล้วแม้แต่ในขณะที่เริ่มทำอานาปานสติ พอสักว่าเมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้สึกตัวทั่วพร้อมว่า เราหายใจเข้ายาว ดังนี้.
กรรมวิธีในขณะแห่งการกำหนดลม.
กรรมวิธีทางจิต ที่เป็นไปในขณะแห่งการกำหนดลมหายใจในขั้นที่กล่าวนี้ มีอยู่เป็นลำดับดังนี้ :-
๑. เมื่อเขากำหนดลมหายใจนานๆ เข้า ก็จะประสบความสำเร็จแห่งการกำหนด จึงเกิด “ฉันทะ” คือความพอใจ อันเป็นกุศลเจตสิกอันใหม่ขึ้นมาเนื่องจากการกำหนดลมหายใจนั้นแล้ว มีปฏิกิริยาสืบไป คือ :-
๒. เมื่อฉันทะเป็นอยู่ ลมหายใจก็ปรากฏว่ายาวไปกว่าเดิมด้วย มีความละเอียดยิ่งกว่าเดิมด้วย. แม้จะไม่มีความละเอียดแห่งลมในระยะแรกแห่งการเกิดของฉันทะ ก็จะต้องมีในระยะต่อมา. ผู้ปฏิบัติอาศัยกำลังแห่งฉันทะนั้น ทำการกำหนดลมหายใจที่ยาวกว่าเดิม หรือละเอียดกว่าเดิมขึ้นไปอีก นานเข้า ปฏิกิริยาขึ้นสืบไป คือ :-
๓. ปราโมทย์ได้เกิดขึ้น. คำว่าปราโมทย์ในที่นี้ ตรงกับภาษาบาลีว่า ปามุชฺช ได้แก่ปีติอย่างอ่อน ซึ่งที่แท้ได้แก่เจตสิกธรรมที่เป็นกุศลอีกอันหนึ่ง ซึ่งต่อไปจะตั้งอยู่ในฐานะเป็นองค์สำคัญแห่งฌานองค์หนึ่ง, ด้วยอำนาจแห่งปราโมทย์นั่นเอง ลมหายใจก็ยาวไปกว่าเดิม ละเอียดไปกว่าเดิม, การกำหนดลมหายใจของผู้ปฏิบัตินั้น ก็ตั้งอยู่ได้อย่างแน่นแฟ้น จนกระทั่งกล่าวได้ว่าไม่ละจากอารมณ์ จิตนี้จึงได้สมมตินามใหม่ ว่า… (อ่านต่อไปยังบรรทัดล่าง)
๔. “จิตที่เกิดจากลม” เพราะมีลมหายใจหรือการกำหนดลมหายใจเป็นสิ่งที่ปรุงจิตอยู่อย่างเต็มที่. ข้อนี้มิได้มีความหมายอะไรอื่น นอกจากจะแสดงว่า เดี๋ยวนี้จิตเริ่มมีความเป็น “เอกัคคตา”, คือความมีอารมณ์อย่างเดียวเกิดขึ้นแล้วแก่จิตนั้น กลายเป็น เอกัคคตาจิต เนื่องมาจากลมหายใจนั้นมีผลทำให้เกิดขึ้น. ต่อจากนั้น ก็มีอาการแห่ง…
๕. อุเบกขา หรือความวางเฉยต่อโลกิยารมณ์ ไม่ถูกนิวรณ์ต่างๆ รบกวนได้อีกต่อไป ปรากฏชัดอยู่ ส่วน…
๖. ภาวะแห่งความที่ลมหายใจนั้น เปลี่ยนรูปปรากฏเด่นเป็นนิมิตแห่งกัมมัฏฐาน มีอุคคหนิมิตเป็นต้น เห็นอยู่ชัดด้วยตาอันเป็นภายใน ในรูปนิมิตใหม่ อย่างใดอย่างหนึ่งนั้น ย่อมแปลกกัน แล้วแต่ลักษณะของบุคคล. เมื่อนิมิตนั้นปรากฏชัด ก็เป็นเหตุให้กล่าวได้ว่า…
๗. สติเป็นธรรมชาติปรากฏชัด ปรากฏทั้งในฐานะที่เป็นตัวเจตสิกธรรมด้วย ปรากฏทั้งในฐานะที่เป็นการทำหน้าที่ของมันคือการกำหนดด้วยและเนื่องจากสติเป็นไปดังนี้ไม่ขาดตอน สิ่งที่เรียกว่า สัมปชัญญะ คือความรู้สึกตัวทั่วพร้อมก็ปรากฏ แต่เราไปเรียกชื่อมันเสียใหม่ว่า แม้…
๘. ญาณก็ปรากฏ คำว่า “ญาณก็ปรากฏ” ในที่นี้ มีความหมายต่างๆ กัน แล้วแต่ว่ามันจะปรากฏในขั้นไหนแห่งการกระทำอานาปานสติ สำหรับในขั้นนี้ ซึ่งเป็นขั้นแรกที่สุดนั้น ญาณในที่นี้ ก็เป็นเพียงสัมปชัญญะที่กำลังรู้สึกว่า “เราหายใจออกยาว หรือหายใจเข้ายาว” เท่านั้น.
๙. แม้กายก็ปรากฏ ลมหายใจชื่อว่ากาย ในฝ่ายรูปธรรม หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า รูปกาย. แม้จะกล่าวเลยไปถึงว่า แม้นามกายก็ปรากฏ ดังนี้ก็ยังได้ เพราะว่าจิตก็ดี หรือเจตสิกธรรม กล่าวคือฉันทะและปราโมทย์เป็นต้นก็ดี เหล่านี้เป็นนามกาย ซึ่งล้วนแต่ปรากฏด้วยเหมือนกัน หากแต่ว่าการปฏิบัติในขั้นนี้ เป็นเพียงขั้นริเริ่ม มุ่งหมายกำหนดแต่เพียงลมหายใจซึ่งเป็นรูปกายฉะนั้น คำว่า กาย ในอานาปานสติระยะที่หนึ่งนี้ จึงหมายถึงแต่เพียง รูปกาย และโดยเฉพาะเพียงลมหายใจเท่านั้น. คำว่า “กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน” กล่าวคือ การตั้งไว้ซึ่งสติเป็นเครื่องตามเห็นซึ่งกาย ในขั้นที่หนึ่งนี้ ย่อมเพ่งเล็งเอาลมหายใจเป็นความหมายของคำว่า กาย แห่งวลีนั้น. เมื่อลมคือกายก็ปรากฏ สติก็ปรากฏ และ ญาณก็ปรากฏ ครบถ้วนทั้ง ๓ ประการแล้ว ผู้ปฏิบัติ หรือกล่าวโดยเฉพาะ ก็คือจิตแห่งผู้ปฏิบัตินั้น เป็นอันว่าได้ลุถึง…
๑๐. กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน แล้วโดยสมบูรณ์ แม้ในระยะเริ่มแรกซึ่งเป็นเพียงการกำหนดลมหายใจที่ยาวอย่างเดียว.
จากกรรมวิธีทั้ง ๑๐ ระยะที่กล่าวข้างต้นเราจะเห็นได้จากระยะที่ ๑ – ๒ – ๓ ว่า ความยาวแห่งลมหายใจนั้นมีอยู่ ๓ ลักษณะ ด้วยกัน คือยาวหรือนานตามปรกติของลมหายใจนั้นอย่างหนึ่ง, ยาวออกไปอีกเพราะอำนาจของฉันทะที่เกิดขึ้นอย่างหนึ่ง, และยาวออกไปอีกเพราะอำนาจของปราโมทย์เกิดสืบต่อจากฉันทะอีกอย่างหนึ่ง, จึงเป็น ๓ ลักษณะด้วยกัน. เมื่อลมหายใจออกก็ยาว ลมหายใจเข้าก็ยาว และรวมกันทั้งออกทั้งเข้าก็ยาว เป็นลมยาว ๓ ชนิดด้วยกันดังนี้แล้ว เอาไปคูณกันเข้ากับความยาวที่มีลักษณะ ๓ ดังที่กล่าวมาแล้ว ก็กลายเป็น ๙ เรียกว่า ความยาวมีอาการ ๙ เป็นหลักสำหรับการศึกษาในบทว่าหายใจยาว แห่งอานาปานสติข้อที่หนึ่งนี้ โดยตรง.
(จบอานาปานสติขั้นที่หนึ่งอันว่าด้วยการกำหนดลมหายใจยาว)
* * *
https://sites.google.com/site/smartdhamma/part5_anapanasat_buddhadhas