ประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต พฺรหฺมรํสี)
ประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต พฺรหฺมรํสี)
หากจะถามว่า…สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ในโลกนี้มีจริงหรือไม่ ? ก็ไม่มีใครสามารถตอบได้แน่ชัดว่ามีจริงหรือไม่จริง เพราะมันเป็นสิ่งที่ลี้ลับยากที่จะพิสูจน์ความเชื่อถือ และศรัทธาของคนเท่านั้น ที่เป็นผู้กำหนดว่ามีจริงหรือไม่ แต่ก็มักจะกล่าวกันว่า “ถ้าหากไม่เชื่อก็อย่าลบหลู่” เนื่องจากความเชื่อของแต่ละคนจะแตกต่างกันออกไป
สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นที่เคารพสักการะสถิตอยู่ในหัวใจของชาวอำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา คือ “องค์หลวงพ่อโต วัดสะตือ” เป็นพระพุทธรูปปางไสยาสน์ (นอน) ก่ออิฐถือปูนขนาดองค์พระยาว 1 เส้น 6 วา สูง(ตั้งแต่พื้นถึงรัศมี) 8 วา ฐานยาว 1 เส้น 10 วา กว้าง 4 วา 2 ศอก หรือ ยาว 52 เมตร กว้าง 9 เมตร สูง 16 เมตร ถือว่าเป็นพระนอนที่ยาวที่สุดในประเทศไทย ซึ่งสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรฺหมฺรํสี) ได้ทรงสร้างไว้เป็นอนุสรณ์เมื่อปี พ.ศ. 2413 ณ วัดสะตือ (เดิมชื่อ “วัดท่างาม” ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดสะตือ” เพราะมีต้นสะตือใหญ่ขึ้นอยู่ริมฝั่งแม่น้ำตรงหน้าวัด) ตั้งอยู่ริมฝั่งขวาของแม่น้ำป่าสัก หมู่ที่ 6 ต.ท่าหลวง อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นวัดเก่าแก่สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี
ราชสกุลวงษ์ของเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรฺหมฺรํสี) มารดาชื่อ เกตุ (ธิดานายไชย) เดิมเป็นชาวบ้าน ต.ท่าอิฐ อำเภอบ้านโพธิ์ (ปัจจุบันคืออำเภอเมือง จ.อุตรดิตถ์) ส่วนบิดาจะมีนามใดไม่ปรากฏแน่ชัด ทราบเพียงแต่ว่ารับราชการเป็นชาวเมืองอื่น แต่ก็เชื่อได้ว่าเป็น “ราชสกุลวงษ์” (ที่น่าเชื่อได้ว่า เจ้าประคุณสมเด็จฯ เป็นเชื้อพระวงศ์ ข้อนี้มีหลักฐานอ้างอิง ด้วยความปรากฏในเรื่องประวัติว่า พระบาทสมเด็จฯ พระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อคราวดำรงพระยศเป็นสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ได้พระราชทานเรือกราบกัญญาหลังคากระแชงเจ้าประคุณสมเด็จฯ แต่ยังเป็นสามเณร) ต่อมาการทำนาไม่ได้ผลเพราะฝนแล้งมาหลายปี โยมมารดาท่านจึงคิดย้ายภูมิลำเนาโดยการออกทำมาค้าขายโดยทางเรือและตามหาโยมพ่อด้วย จนกระทั่งเดินทางมาถึง บ้านไก่โจน (ต่อมาแผลงเป็น “ไก้จ้น”) ตำบลไก่จ้น อำเภอนครน้อย (อ.ท่าเรือ) แขวงเมืองกรุงเก่า (จ.พระนครศรีอยุธยา) จึงได้จอดเรือในคลองป่าสัก ใต้ต้นสะตือ ที่ริมตลิ่งหน้าวัดท่างาม (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น วัดสะตือ) โยมเกตุได้คลอดบุตรเป็นชาย ณ ที่แห่งนั้น ตรงกับวันพฤหัสบดี ขึ้น 12 ค่ำ เดือน 5 ปีวอก สัมฤทธิ์ศก จ.ศ. 1150 ตรงกับวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2331 เวลาบิณฑบาตรในสมัยของ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 (หลังสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ได้ 7 ปี) และตั้งชื่อว่า “โต” (ความที่กล่าวตรงนี้ เจ้าคุณพระมงคลเทพมุนี (มุ้ย ปณฑิโต) เจ้าอาวาสวัดจักรวรรดิราชาวาส เมื่อเป็นที่พระธรรมวิหารีเถร อยู่วัดพระเชตุพลฯ เล่าให้นายพรหม ขะมาลา เปรียญฟัง) เมื่อท่านเกิดแล้ว (ยังเป็นทารกแบเบาะ) มารดาก็พาท่านไปอยู่ที่ตำบลไชโย จ.อ่างทอง จนกระทั่งท่านนั่งได้ มารดาก็พามาอยู่ ณ บ้านตำบลบางขุนพรหม จังหวัดพระนคร จนกระทั่งยืนเดินได้ (ภายหลังท่านได้สร้างพระพุทธรูปใหญ่ เพื่อเป็นอนุสรณ์ ณ ที่ตำบลทั้ง 3)
ประวัติของเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรฺหมฺรํสี) ในตอนเยาว์วัยนั้นกล่าวกันว่าท่านได้ศึกษาอักขระสมัยในสำนักเจ้าคุณอรัญญิก วัดอินทรวิหาร ครั้งถึงปีวอก พ.ศ. 2342 อายุได้ 12 ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณร โดยมีท่านเจ้าคุณพระบวรวริยเถระ(อยู่) วัดสังเวชวิศยาราม (ก่อนเรียกว่าวัดบางลำพูบน) เป็นพระอุปัชฌาย์ ภายหลังได้ย้ายไปอยู่วัดระฆังโฆสิตาราม เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรม ในสมัยที่เจ้าประคุณสมเด็จฯ เป็นสามเณร ปรากฏว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อยังดำรงพระยศเป็นสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ทรงโปรดฯ มาก ทรงรับไว้ในพระราชูปถัมภ์ ถึงได้พระราชทานเรือกันยา หลังคากระแชง ให้ท่านได้ใช้สอยตามอัธยาศัย แม้กระทั่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ก็ทรงพระเมตตาครั้นถึงอายุครบอุปสมบท เมื่อปี พ.ศ. 2350 ปีเถาะ ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สามเณรโต ได้รับการอุปสมบทเป็นนาคหลวง ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม(วัดพระแก้ว) โดยสมเด็จพระสังฆราช(สุก) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏ์ เป็นพระอุปัชฌาย์
หลังจากได้ทรงบรรพชาเป็นสามเณร ก็มุ่งมั่นศึกษาค้นคว้าทางด้านปริยัติ ปฏิบัติและปฏิเวธ อย่าง มุ่งมั่นอาจหาญและมั่นคง จึงทำให้ทรงแตกฉานและเพลิดเพลินในพระธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างรวดเร็วและลึกซึ้งมาก จดจำได้แม่นยำเพราะความเป็นพระอัจฉริยะ โดยการสั่งสมบารมีญาณ อยู่ในขันธสันดานอย่างมั่นคงและแก่กล้า มาเป็นเอนกอนันตชาติ ทรงมีพระปัญญาคมกล้าเป็นยอดเยี่ยม จึงสามารถบรรลุมรรคผลอย่างรวดเร็ว โดยการเริ่มเทศน์จากพระคัมภีร์ใบลาน จนกระทั่งเทศน์ด้วยปากเปล่าและในรูปแบบของปุจฉา-วิสัชนา เป็นที่ยอมรับของอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย ที่ได้ฟังพระสุรเสียงเป็นที่ไพเราะจับใจ ความชัดเจนของอักขระการเอื้อนทำนองวรรคตอนได้ถูกต้อง ภาษาสละสลวย เนื้อหาสาระที่เทศน์ ไม่ว่าจะเป็นพระธรรมเจ็ดคัมภีร์ หรือพระเจ้า ๑๐ ชาติ ก็สามารถเทศน์ให้ญาติโยมได้รับฟังอย่างจับจิตจับใจและฟังอย่างมีความสุข และจดจำเนื้อหาที่เทศน์ได้ และกอร์ปด้วยพระอัจฉริยภาพที่สง่างาม น่ารักของ “ สามเณรจิ๋ว ”
โดยปกติเจ้าประคุณ “สมเด็จพุฒาจารย์” (โต พรฺหมฺรํสี) ท่านไม่ยินดีในสมณศักดิ์ เป็นผู้สมถะมักน้อยสันโดษไม่ยึดติดในลาภยศ สรรเสริญ ในปีจ.ศ. 1169 หรือ พ.ศ. 2350 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ก็ทรงพระเมตตารับอุปสมบท เป็นนาคหลวงที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) โดยมีสมเด็จพระสังฆราช(สุก) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ เป็นพระอุปัชฌา จ.ศ. 1188 หรือ พ.ศ. 2369 ได้รับสมณศักดิ์เป็นพระครูสามัญ อายุ 39 ปี จ.ศ. 1197 หรือ พ.ศ. 2378 ได้รับสมณศักดิ์เป็นพระครู ปริยัติธรรม อายุ 48 ปี จ.ศ. 1205 หรือ พ.ศ. 2386 ได้รับสมณศักดิ์เป็นพระราชปัญญาภรณ์ อายุ 56 ปี ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้พระราชทานสมณศักดิ์แต่งตั้งให้เป็นพระราชาคณะที่ “พระธรรมกิตติ” ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม บางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร ในปี พ.ศ. 2397 ได้รับสมณศักดิ์เป็นพระเทพกวีศรีสุทธินายก ตรีปิฎกปรีชามหาคณฤศร บวรสังฆราชคามวาสี อายุได้ 65 ปี ครั้นสมเด็จพุฒาจารย์(สน) วัดสระเกศ มรณภาพ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ให้เป็น สมเด็จพระราชาคณะที่ “สมเด็จพุฒาจารย์”รูปที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 10 ขึ้น 9 ค่ำ ตรงกับวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2407 อายุได้ 76 พรรษา ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรฺหมฺ รํสี) ได้รับประสิทธิ์ประสาทวิชาจากพระอาจารย์ มีสมเด็จพระสังฆราช(สุก) กรุงเทพฯ พระอาจารย์คง อยุธยา พระอาจารย์แสง ลพบุรี และพระอาจารย์ขอม นครสวรรค์
สมเด็จพุฒาจารย์ (โต พรฺหมฺรํสี) เป็นนักเทศน์ที่มีชื่อเสียง เป็นที่ทรงคุ้นเคยมาทั้งในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาโตเป็นผู้ไม่ปรารถนาลาภ ยศ สมณศักดิ์ใดๆ เมื่อเรียนรู้พระปริยัติมาแล้วก็ไม่เข้าแปลหนังสือเป็นเปรียญและไม่รับเป็นฐานานุกรม เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นพระราชาคณะ พระมหาโตได้ทูลขอตัวมิยอมรับตำแหน่ง หรือเลี่ยง โดยออกธุดงค์ไปตามวัดในชนบทห่างไกลทุกคราวไป จึงคงเป็นพระมหาโตมาตลอด จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระมหาโตจึงยอมรับพระมหากรุณา
สมเด็จพุฒาจารย์ (โต พรฺหมฺรํสี) มีอัธยาศัยมักน้อยเป็นปกติ ลาภสักการะที่ได้มาในทางเทศนาก็นำไปสร้างสิ่งเกี่ยวเนื่องด้วยพระศาสนา จึงมีผู้นับถือศรัทธามาก บางคนเรียกท่านว่า “ขรัวโต” เพราะท่านจะทำอย่างไรก็ทำตามความพอใจไม่ถือตามความนิยมของผู้อื่นเป็นใหญ่ ด้วยความที่พระองค์ท่านเป็นปูชนียบุคคลที่พระพุทธศาสนิกชนกล่าวขวัญถึง ในชื่อ “สมเด็จฯโตเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม และเป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ ที่มีความรอบรู้แตกฉานใน พระธรรมวินัย และธรรมปฏิบัติ ความเป็นเลิศในการเทศนา ได้รับการยกย่องสรรเสริญในสติปัญญาและ ปฏิญาณโวหารที่ฉลาดหลักแหลม เปี่ยมด้วยเมตตากรุณาแก่ผู้ตกยากมีอัธยาศัยมักน้อยสันโดษท่านถือปฏิบัติในข้อธุดงควัตรทุกประการ คือ ฉันในบาตร ถือผ้าสามผืนออกธุดงค์ เยี่ยมป่าช้า นั่งภาวนา เดินจงกรม
สมเด็จพระพุฒาจารย์โต พรหมรังสี ได้สร้างวัดและสิ่งเกี่ยวเนื่องด้วยพระพุทธศาสนาจำนวนมาก เช่น พระพุทธไสยาสน์ วัดสะตือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พระมหาพุทธพิมพ์ วัดไชโย จังหวัดอ่างทอง หลวงพ่อโต วัดอินทรวิหาร บางขุนพรหม พระโตนั่งกลางแจ้งวัดพิตเพียน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พระพุทธรูปยืนอุ้มบาตร วัดกลางคลองข่อย จังหวัดราชบุรี พระเจดีย์นอน วัดละครทำ ฯลฯ นอกจากศาสนวัตถุต่างๆ แล้ว สมเด็จพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ยังได้รจนาบทสวดพระคาถาหลายบท แต่ที่เป็นที่รู้จักและถือว่าเป็นพระคาถาที่ศักดิ์สิทธิ์ยิ่ง และนิยมสวดภาวนาในหมู่พุทธศานิกชน คือพระคาถาชินบัญชร
อนุสรณ์แห่งเจ้าประคุณ “สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรฺหมฺรํสี) ท่านได้ทรงสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่ปางไสยาสน์ มีพระนามว่า “พระพุทธไสยาสน์” (แต่ชาวบ้านโดยทั่วไปมักเรียนว่า “หลวงพ่อโต”) ณ วัดสะตือ ต.ท่าหลวง อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อไว้เป็นอนุสรณ์ว่าท่านเกิด ณ ที่แห่งนี้ เมื่อปี พ.ศ 2413 ตรงกับในสมัยรัชกาลที่ 5 นามว่า “พระพุทธไสยาสน์”
การก่อสร้างพระพุทธไสยาสน์ ในปีพุทธศักราช 2413 ก่อนที่เจ้าประคุณสมเด็จพุฒาจารย์โต จะมรณภาพ 3 ปี สมเด็จฯโตมรณภาพเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน ๒๔๑๕(ที่กรุงเทพฯ) ได้มาทำการก่อสร้างพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูนปางพุทธไสยาสน์ ณ หมู่บ้านที่ถือกำเนิดที่วัดท่างาม ปัจจุบันคือ วัดสะตือ ตำบลท่าหลวง อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งพระนอนใหญ่มีขนาด ยาว 1 เส้น 6 วา สูง (ตั้งแต่พื้นถึงรัศมี) 8 วา ฐาน ยาว 1 เส้น 10 วา กว้าง 4 วา 2 ศอก หรือ ยาว 52 เมตร กว้าง 9 เมตร สูง 16 เมตร องค์พระโปร่ง เบื้องพระปฤษฎางค์ ทำเป็นช่องกว้าง 2 ศอก สูง 1 วา สถานที่ก่อสร้างองค์พระประดิษฐานอยู่กลางแจ้ง ณ ที่ริมคูวัด ด้านตะวันออก ซึ่งอยู่ริมแม่น้ำป่าสัก
“หลวงพ่อโต วัดสะตือ” พุทธศาสนิกชนโดยทั่วไปต่างนับถือว่าเป็นพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่พึ่งทางใจแก่ทุกคน หลายคนปรารถนาในสิ่งที่ตนหวังและต้องการ ก็มักจะเดินทางไปที่วัดสะตือ แล้วอธิษฐานจิตขอพรจากท่าน ก็มักจะประสบผลสำเร็จตามความปรารถนาที่ตั้งไว้ทุกประการ ซึ่งเราจะสังเกตได้จากทุกวันหยุดเสาร์ – อาทิตย์ หรือวันหยุดตามประเพณีหรือนักขัตฤกษ์ต่างๆ จะมีพุทธศาสนิกชน ในท้องถิ่นและต่างถิ่นโดยทั่วไป นำขนมจีนมาไหว้องค์ท่าน พร้อมกับรำกลองยาวถวายตามจำนวนรอบที่ได้ตั้งใจเอาไว้ ตั้งแต่ 3 รอบ 9 รอบ จนถึงร้อยรอบก็มี ส่วนแตรวงกลองยาวที่บรรเลงก็ไม่ต้องไปหาที่ไหน จะมีคณะแตรวงและกลองยาวหลายคณะรอคอยจ้างบรรเลงให้กับทุกท่านอยู่ในบริเวณวัดและใกล้เคียง ในแต่ละปี จะมีงานประเพณี “ปิดทองไหว้”พระองค์หลวงพ่อโต วัดสะตือ 2 ครั้ง ครั้งแรกจะเป็นช่วงกลางเดือนห้า จะมีงานรวม 3 วัน 3 คืน คือ 13 – 15 ค่ำ ส่วนครั้งที่สองก็จะเป็นช่วงเดือนสิบสอง จะมีงาน 3 วัน 3 คืน เช่นเดียวกันคือวันขึ้น 13 – 15 ค่ำ ซึ่งตรงกับวันงาน “ประเพณีลอยกระทง” ของไทยเราพอดี ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าจะมีพุทธศาสนิกชนจากทั่วสารทิศ ต่างหลั่งไหลมาร่วมงานในช่วงดังกล่าวอย่างล้นหลามทุกๆ ปี
ในสมัยรัชกาลที่ 4 สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) ได้มาสร้างพระพุทธรูป เป็นพระพุทธรูปนั่งขนาดใหญ่ ใช้วิธีก่ออิฐก่อดิน แต่แล้วก็หักพังทลาย ลงในไม่ช้า ครั้งที่สองก็ก่อเช่นนั้นแต่ลดขนาดให้เล็กลงทำด้วยปูนขาวไม่ได้ปิดทอง (ได้เล่ากันมาว่า วัดไชโยเจ้าประคุณสมเด็จฯ เป็นผู้สร้างที่ดินของตา อุทิศให้กับมารดาและตา มารดาชื่อเกตุ ตาชื่อไชย จึงตั้งนามวัดว่า วัดเกตุไชโย แต่มักเรียกตามความเคยชินว่า “วัดไชโย”) เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสมณฑลอยุธยาในปีขาล พ.ศ. 2421 เสด็จวัดไชโย ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ว่า “…พระใหญ่ที่สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) ดูหน้าตารูปร่างไม่งามเลย แลดูที่หน้าวัดปากเหมือนขรัวโตไม่ผิด ถือปูนขาวไม่ได้ปิดทอง ทำนองท่านไม่คิดจะปิดทอง จึงได้เจาะท่อน้ำไว้ที่พระหัตถ์ แต่เดี๋ยวนี้มีผู้ไปก่อวิหารขึ้นค้างอยู่ใครจะทำต่อไปไม่ทราบ…” นอกจากนั้น เจ้าประคุณสมเด็จพุฒาจารย์ (โต พรฺหมฺรํสี) ยังได้ทรงสร้างพระพุทธรูปปางสมาธิประทับนั่งขนาดใหญ่ มีนามว่า “พระพุทธมหาพิมพ์” เป็นพระก่ออิฐถือปูนหน้าตักกว้าง 8 วา 7 นิ้ว สูง 11 วา 1 ศอก 7 นิ้ว ณ วัดเกตุไชโยวรวิหาร ต.ไชโย จ.อ่างทอง เพื่อเป็นอนุสรณ์ว่าท่านได้สอนนั่งที่นั่น
ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยารัตนบดินทร(รอด กัลยาณมิตร) ที่สมุหนายก สำเร็จราชการมหาดไทยปฏิสังขรณ์วัดทั่วทั้งพระอาราม เมื่อปี กุน พ.ศ.2430 แต่ทำให้พระพุทธรูปใหญ่กระเทือนพังลงมา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สร้างพระโตใหม่เป็นของหลวง ให้พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าประดิษฐ์วรการ ทรงเป็นนายช่างปั้นปูนพระพุทธรูปฝีพระหัตถ์ยอดเยี่ยมในสมัยนั้นช่วยออกแบบก่อสร้าง โดยรื้อออกใหม่ใช้โครงเหล็กยึดอิฐปูนไว้ภายใน แล้วลดขนาดลงสร้างเป็นพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิซ้อนพระหัตถ์ตามลักษณะเดิม แต่ตรงจีวรและพาดสังฆาฎิตามแบบใหม่ ขนาดหน้าตัก กว้าง 8 วา 6 นิ้ว สูงสุดยอดพระรัศมี 11 วา ศอก 7 นิ้ว
เจ้าพระยารัตนบดินทร(รอด กัลยาณมิตร) ได้ดำเนินการปฏิสังขรณ์วัดทั่วทั้งพระอารามเสร็จบริบูรณ์เมือ พ.ศ. 2437 รวมเวลาบูรณะนานถึง 8 ปี
พระพุทธรูปปางประทับยืนทรงบาตร พระนามว่า พระพุทธศรีอริยเมตไตรย์ พระพุทธรูปปางประทับยืนบนปทุมชาติ อุ้มบาตรโปรดสัตว์ ที่สูงที่สุดในโลกก่ออิฐถือปูน ปัจจุบันประดับด้วยโมเสคทองคำ 24 เค ทั้งองค์ สูง 16 วา กว้าง 5 วา 2 ศอก ณ วัดอินทรวิหาร ต. บางขุนพรม เขตพระนคร กรุงเทพฯ สร้างสมัยรัชกาลที่ 4 เสร็จสมัยรัชกาลที่ 7 (ที่ระลึกยืนเดินได้ที่นี่)
พระโตยืน วัดอินทรวิหาร เป็นพระปั้นด้วยอิฐปูน ปางอุ้มบาตร 16 วาเศษ สร้างในรัชการที่ 4 ราว พ.ศ. 2410 โดยสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต)พรหมรังสี ก่อสร้างด้วยการอิฐถือปูนดำเนินก่อสร้างเพียงครึ่งองค์ถึงพระนาภี(สะดือ) สมเด็จฯ ก็มรณภาพ ณ ศาลาใหญ่วัดบางขุนพรหมใน (วัดอินทรวิหาร) วันเสาร์ แรม 2 ค่ำ เดือน 8 ปีวอก จ.ศ. 1234 ตรงกับวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2415 อายุ 85 ปี บวชพระ 65 พรรษา การสร้างค้างอยู่นาน จะมีการก่อสร้างเพิ่มเป็นปีใดไม่ปรากฎ
ต่อมา พ.ศ. 2435 พระครูธรรมนุกูล (ภู จันฺเกศโร) ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสรูปที่ สองท่านชราภาพอายุ 91 พรรษา 70 ซึ่งต้องยกเป็นกิตติมศักดิ์อยู่ในวัดอินทรวิหาร ได้ดำเนินการก่อสร้างเพิ่มเติมแต่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์
ในปีวอก พ.ศ. 2463 พระครูสังฆบริบาล(แดง) แห่งวัดบวรนิเวศวิหารได้มาช่วยปฏิสังขรณ์ต่อจากเดิม แต่ก็สร้างสำเร็จเพียงบางส่วน เช่น พระเศียร พระกร เป็นต้น การปฏิสังขรณ์ เดิมองค์พระรกมีต้นโพธิ์และตนไทรขึ้นปกคลุม จึงได้จัดทำให้แข็งแรง ส่วนข้างในองค์พระผูกเหล็กเป็นโครง ภายนอกหล่อคอนกรีตด้วยปูนซิเมนต์ เบื้องหลังทำเป็นวิหารหล่อคอนกรีตเป็นที่พระยืนพิง พระวิหารสูงเป็นชั้น ๆ ได้ 5 ชั้น ถึงพระเกศขาดยอดพระเมาลี
ในปีชวด พ.ศ. 2467 พระครูอินทรสมาจาร(เงิน อินฺทสโร)เมื่อยังเป็นพระครู สังฆรักษ์ ย้ายมาจากวัดปรินายกมาเป็นเจ้าอาวาสวัดอินทรวิหาร เป็นเจ้าอาวาสรูปที่สาม ได้ดำเนินการสร้างพระโตต่อมา โดยเป็นประธานบอกบุญเรี่ยไรจากประชาชนทั่วไป พระครูอินทรสมาจารทำการก่อสร้างอยู่ 4 ปี จึงสำเร็จสมบรูณ์ สิ้นเงินประมาณ 10,000 บาท การก่อสร้างองค์หลวงพ่อโตจนกระทั่งเสร็จบริบูรณ์ ปี พ.ศ. 2470 รวมระยะเวลาการก่อสร้างรวม 60 ปี ได้จัดงานสมโภชน์เมื่อวันที่ 4 – 6 มีนาคม พ.ศ. 2471 ถึง ปีมะเส็ง พ.ศ. 2472
พระพุทธรูปปางมารวิชัย เป็นพระนั่ง ณ วัดพิตเพียน (วัดกุฎีทอง) อ. มหาราช จ. พระนครศรีอยุธยา เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยก่ออิฐถือปูน ปัจจุบันทาสีทอง หน้าตัก 4 วา 3 ศอก ความสูง 4 วา 3 ศอก มีความสง่าสวยงามมาก
พระพุทธปฏิมาประทับนั่งสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) พรหมรังสีสร้างไว้เมื่อใดสืบทราบประวัติไม่ได้ แต่มีการปฏิสังขรณ์ 4 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 เมื่อปีระกา พ.ศ. 2440 (เข้าใจว่าเดิมสร้างค้างอยู่) นายพลอย นางแตงไทย และนางอู่ร่วมกัน ปฏิสังขรณ์ สิ้นเงินเท่าไรไม่ทราบ ครั้งที่ 2 เมื่อปีจอ พ.ศ. 2477 พระพักตร์แบะ พระนาภีเป็นรูทะลุ เนื่องจากอสุนีบาตตกลงในที่ใกล้เคียง สิ้นเงิน 500 บาท ครั้งที่ 3 เมื่อ ปีมะโรง พ.ศ. 2483 พระพาหาเบื้องขวาหลุด เนื่องจากฝนตกหนัก สิ้นเงิน 300 บาท
ครั้งที่ 4 เมื่อปีมะโรง พ.ศ. 2495 พระศกและพระกรรณหักพังเริ่มปฏิสังขรณ์เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2495 สิ้นเงิน 3,814.90 บาท (เงินที่ใช้จ่ายในการปฏิสังขรณ์ทุกครั้งเป็นเงินส่วนเรี่ยไร)
สร้างพระยืนปางอุ้มบาตร ที่วัดกลาง จ.ราชบุรี 1 องค์ (สูง 6 วาเศษ) ฯลฯ เป็นที่น่าสังเกตว่าพระพุทธรูปที่ท่านสร้างแต่ละองค์ล้วนมีขนาดใหญ่โต ตามนามของท่านนั่นเอง เล่ากันว่าที่ที่เจ้าประคุณสมเด็จฯสร้างพระยืนนั้นเดิมเป็นป่ารก ท่านเอาเงินเหรียญชนิดกลมมาแต่ไหนไม่ทราบโปรยเข้าไปในบริเวณป่านั้น ไม่ช้าป่านั้นก็เตียนโล่งไปหมด ท่านก็ทำการได้สะดวกว่าเงินนั้นเป็นเงินตราเก่า ๆ ด้วย และว่าในตอนที่จะสร้างพระองค์นี้ ท่านต้องการไม้ไผ่ เผอิญมีผู้ล่องแพมาทางนั้น ท่านไม่มีเงิน จึงไปที่ต้นโพธิ์บริเวณนั้นก็ได้เงินมาซื้อไม้ไผ่ได้ตามประสงค์
ในขั้นต้นการสร้างพระพุทธรูปสันนิษฐานว่า ท่านคงสร้างเป็นปางไสยาสน์(พระนอน) มากกว่า เพราะในวิหารหลังพระพุทธรูปยืนซึ่งปัจจุบันได้รื้อทิ้งไปหมดแล้ว และกำลังบูรณะก่อสร้างใหม่ ภายในวิหารมีภาพวาดพระพุทธรูปนอนเป็นหลัก แต่เนื่องจากบริเวณเนื้อที่ก่อสร้างไม่เพียงพอจึงเปลี่ยนมาเป็นการสร้างพระยืนแทน เพราะยังมีแนวการเรียงอิฐอยู่ ประกอบกับสมัยนั้นวัดเป็นป่ารกชัฏไม่มีคนช่วยถากถางท่านจึงได้เอาเงินโปรยหว่านบริเวณป่า พอชาวบ้านรู้ว่ามีพระเอาเงินมาหว่านในป่าก็เลยพากันมาถากถางป่าเพื่อหาเงิน จึงทำให้บริเวณนั้นกลายเป็นที่โล่งเตียนจนได้สร้างพระพุทธรูปยืนสำเร็จ
ในกาลต่อมาพระโตนี้ชำรุดหักพัง พระเศียรแตกร้าว พระกรทั้งสองหัก พระอาจรย์อวน พรหมสโร วัดมหาธาคุฯ กรุงเทพฯ ซึ่งมีภูมิลำเนาในถิ่นนั้น ย้ายมาอยู่วัดกลางได้เป็นประธานจัดการบูรณปฏิสังขรณ์ เมื่อปี มะแม พ.ศ. 2474
สิ่งที่สำคัญที่สุดในการสร้างอนุสรณ์ต่างๆ ของเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรฺหมฺรํสี) ได้ทรงสร้างพระพิมพ์ชนิดต่างๆ ไว้เป็นจำนวนมาก ว่ากันว่าสร้างถึง 84,000 องค์ เท่ากับจำนวนพระธรรมขันธ์เรียกกันเป็นสามัญว่า “พระสมเด็จ” ส่วนมูลเหตุที่เจ้าประคุณสมเด็จพุฒาจารย์ ท่านสร้างพระพิมพ์ขึ้นนั้นสืบเนื่องมาแต่ท่านได้ปรารภถึงพระเถระในปางก่อนว่ามักสร้างพระพิมพ์บรรจุไว้ในปูชนียวัตถุสถาน เช่น พระเจดีย์ เพื่อการสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา โดยถือว่าเมื่อต่อไปข้างหน้าถึงพระเจดีย์จะสูญไป ใครไปขุดพบพระพิมพ์ก็จะได้เห็นพระพุทธรูป และรู้ว่าพระพุทธเจ้าเคยมี เคยโปรดเวไนยสัตว์ในโลกนี้ ชวนให้ระลึกถึงพระคุณต่อไป จึงได้สร้างพระพิมพ์ขึ้นไว้เป็นจำนวนมาก ซึ่งบรรดาสานุศิษย์ที่เคารพนับถือท่านรับจัดทำถวาย ในตอนแรกใช้หินลับมีดโกนแกะแม่พิมพ์ ต่อมาใช้หินอ่อนบ้าง ไม้แก่นบ้าง ดังนั้น “พระสมเด็จ” จึงมีหลายแบบหลายพิมพ์ วัตถุที่ใช้ทำพระนั้นก็มีหลายอย่างต่างกัน คือผงดินสอ(ที่ได้จากการเรียนมูลกัจจายน์ ตามวิธีโบราณ) ดินสอเหลือง ปูนขาว เกสรดอกไม้ เปลือกกล้วยหอม เปลือกกล้วยน้ำว้า ชานหมาก ในลานเผา อาหารสำรวมและน้ำอ้อย (ว่ากันว่า “พระสมเด็จ” บางชนิดทำด้วยวัตถุสิ่งเดียว บางชนิดทำด้วยวัตถุหลายสิ่ง)
ในการสร้างพระสมเด็จครั้งแรก เจ้าประคุณสมเด็จฯ ฉันกล้วยแล้วเอาเปลือกกล้วยใส่ภาชนะเก็บไว้ ท่านมีดินสอเหลืองอยู่ก้อนหนึ่ง จึงให้นายน้อยลูกศิษย์ผู้เป็นง่อย เอาเลื่อย เลื่อยดินสอเหลืองเป็นชิ้นเล็กๆ ผสมเปลือกกล้วย แล้วเจือด้วยน้ำผึ้งบ้าง น้ำอ้อยเคี่ยวบ้าง ตำจนละเอียดเข้ากันดีแล้ว จึงให้นายน้อยกับเจ้าคุณธรรมถาวร(สมุหฐานานุกรม ของท่าน) ช่วยกันพิมพ์ จนเพียงพอแก่ความต้องการ แล้วท่านก็เริ่มทำพิธีปลุกเสกวันละ 3 ครั้ง (เช้า-กลางวัน-เย็น) เป็นนิจมิได้ขาด แล้วเอาออกแจกจ่ายแก่ผู้ที่ต้องการทุกคน
ต่อมาก็ทำโดยวิธีพิมพ์ต่างออกไป คือเมื่อผสมผงที่ได้แล้วเอาออกมาปั้นแล้วคลึงเป็นท่อนยาวคล้ายฟั่นเทียน แล้วตัดเป็นข้อๆ ผ่ากลางเอากดลงในพิมพ์ เมื่อแกะออกจากพิมพ์แล้วท่านเอามีดเจียนหัวท้ายและข้างๆ ให้มนแล้วเอาเข้าพิธีปลุกเสกเช่นเคย ว่ากันว่าท่านได้นำแจกจ่ายแก่ชาววัง เวลาท่านออกบิณฑบาตเสมอๆ ท่านทำดังนี้จนหมดดินสอเหลือง ภายหลังท่านใช้ดินสอขาวที่ทำเป็นแท่งแล้วลงอักขระลบเอาผงเก็บประสมไว้จนพอแก่ความต้องการ ท่านจึงให้แกะกะเทาะปูนขาวที่ล่อนๆ ตามกำแพงโบสถ์ เสมาบ้าง ซึ่งมีตะไคร่น้ำติดอยู่เป็นส่วนมาก นำมาตำผสมกับดินสอขาวที่ท่านทำไว้แล้วจึงพิมพ์ คราวนี้พิมพ์เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าองค์พระเป็นปรกโพธิ์แบบทรงเจดีย์และชนิดอื่นๆ จึงได้ความว่าพระสมเด็จบางองค์เนื้อเหลือง ก็เพราะท่านผสมกับดินสอเหลือง บางองค์เนื้อขาวเจือเขียวเล็กน้อย ก็เพราะกะเทาะเอาปูนขาวมาผสมนั่นเอง
เล่ากันว่าเมื่อเจ้าประคุณสมเด็จฯ สร้างพระพิมพ์เสร็จแล้วท่านให้ใส่บาตรใส่กระบุงและสัด ไปตั้งไว้บนหอสวดมนต์ ตรงหน้าพรพุทธรูป แล้วโยงสายสิญจน์จากพระพุทธรูป ไปวางไว้ที่พระพิมพ์นั้น แล้วบอกแก่พระสงฆ์ที่มาประชุมเจริญพระพุทธมนต์ ในพรรษาว่าขอให้ช่วยปลุกเสกพระของท่านด้วย ต่อมาจึงให้ไปบรรจุไว้ในพระเจดีย์ตามวัดต่างๆ เช่นที่วัดระฆัง วัดชีปะขาว วัดศรีสุดาราม วัดไชโย(จ.อ่างทอง) วัดตะไกร(จ.พระนครศรีอยุธยา)
ต่อมาจึงขนานนามพระสมเด็จฯตามวัดที่บรรจุว่า “กรุวัดนั้น กรุวัดนี้” ส่วนกรุวัดใหม่อมตรส นั้นสืบเนื่องมาจาก “เสมียนตราด้วง” ต้นสกุลธนโกเศศ อยู่บ้านบางขุนพรหมได้สร้างพระเจดีย์ใหญ่ขึ้น 1 องค์เพื่อบรรจุอัฐิธาตุของสกุลวงศ์ ประสงค์จะสร้างพระพิมพ์บรรจุไว้ในเจดีย์นั้นด้วย จึงได้ขอผงทำพระจากเจ้าประคุณสมเด็จฯได้ผงมาบาตร 1 จึงเอาผงเคล้ากับปูนขาวและน้ำอ้อยใส่ครกโขลกต่อหน้าเจ้าประคุณสมเด็จฯ ซึ่งนิมนต์ไปฉันเพลในวันนั้น ณ วัดอินทรวิหาร แล้วเอาพระที่ทำทั้งหมดบรรจุไว้ในพระเจดีย์นั้น จึงเรียกว่า “พระสมเด็จกรุใหม่วัดอมตรส” หรือที่เรียกกันอีกอย่างหนึ่งว่าพระสมเด็จวัดใหม่บางขุนพรหม มีลักษณะเป็นพระนั่งขัดสมาธิบนแท่น 3 ชั้น มีเส้นนูนขึ้นมา 1 เส้น เป็นรูปโค้งครึ่งวงรูปไข่รอบองค์พระ
และเล่ากันมาว่า มีพระภิกษุรูปหนึ่ง(ไม่ทราบนาม) อยู่วัดพลับ(วัดราชสิทธาราม) ไปธุดงค์ได้ว่านชนิดต่างๆมามากมาย แล้วไปขอผงทำพระจากท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้ผงมาเล็กน้อย จึงผสมกันทำเป็นพระพิมพ์ขึ้นชนิดหนึ่ง ลักษณะนั่งขัดสมาธิบ้าง เป็นพระปิดตาบ้าง เรียกนามกันว่า “พระสมเด็จกรุวัดพลับ”
“พระพิมพ์สมเด็จ” แต่ละกรุแต่ละวัดจะหาได้ยากมาก พระสมเด็จฯ จึงเป็นที่นิยมและเป็นที่ปรารถนาของพระพุทธศาสนิกชนและผู้นิยมเก็บสะสมพระเครื่องโดยทั่วไปเป็นอย่างมาก เพราะถือกันว่าหากผู้ใดได้มีไว้สักการบูชาแล้ว ถือกันว่าดีกว่ามีสมบัติอันล้ำค่าเป็นไหนๆ หากทำดีแล้วท่านก็คุ้มครองให้อยู่รอดปลอดภัยจากภัยอันตรายทั้งปวง
เจ้าประคุณสมเด็จฯ เป็นพระเพื่อพระพุทธศาสนาโดยแท้จริง เพราะท่านบรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุ 12 ปี และทรงอุปสมบทเป็นพระเมื่ออายุ ๒๐ ปี ปฏิบัติศาสนกิจอย่างต่อเนื่องโดยตลอดชีวิต มีผลงานทั้งเรื่องการให้พระธรรมคำสอนโดยการเทศนาโปรด มีผู้นำไปเผยแผ่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้สร้างสร้างพระพุทธรูปขนาดเล็ก และขนาดใหญ่ไว้เป็นจำนวนมาก ในพระอิริยาบทต่างๆ เช่น นอน นั่ง และ ยืน และสร้างวัตถุมงคลไว้เป็นจำนวนมากมายมีทั้งขนาดเล็ก และขนาดใหญ่ เมื่อท่านสร้างพระและวัตถุมงคลต่างๆไว้จำนวนมาก จึงทำให้คนที่รู้และเข้าใจ ได้เล็งเห็นถึงคุณค่าอันมหาศาล ก็จะเก็บรักษาและหวงแหนเป็นที่สุด ทำให้เกิดอาชีพ ทำให้คนมีงานทำ สร้างรายได้นำไปจุนเจือเลี้ยงครอบครัว ส่วนคนที่ไม่รู้ไม่เห็นคุณค่าก็ไม่ให้ความสนใจ และไม่ไยดี
และในการที่เจ้าประคุณสมเด็จฯ ท่านได้สร้างพระและวัตถุมงคลไว้เป็นจำนวนมากจึงทำให้คนบางคนเกิดความไม่แน่ใจว่า พระและวัตถุมงคลเหล่านั้นพระองค์ท่านสร้างไว้จริงหรือไม่ และสร้างไว้เป็นจำนวนมากมายอย่างนั้นจริงหรือ? เพราะเขาได้ยินมาว่า “พระองค์ท่านสร้างพระไว้จำนวนไม่มากท่านจะดูฤกษ์ผานาที ฤกษ์ดีก็สร้าง ๙ องค์ ๑๐ องค์ ๒๐ องค์ หมดฤกษ์แล้วก็เลิก แล้วหาฤกษ์ใหม่สร้าง พระจึงมีจำนวนน้อย” ความจริงแล้วท่านสร้างพระและวัตถุมงคลเป็นจำนวนมากนับเป็นล้านๆ องค์ โดยเฉพาะพระเครื่อง และท่านผู้ที่สนใจสามารถพิจารณาวิเคราะห์ว่าเป็นพระหรือวัตถุมงคลที่ท่านสร้างจริงหรือไม่ โดยดูได้จากส่วนประกอบและลักษณะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ความเก่าของเนื้อพระ รูปทรงในการสร้าง และอิทธิวัตถุมงคลที่ใช้ในการสร้างพระดังต่อไปนี้
ความเก่าของเนื้อพระ พระที่สร้างโดยเจ้าประคุณสมเด็จฯ นั้น เนื้อของพระจะแห้งโดยธรรมชาติไม่ใช่อบด้วยความร้อน มีลักษณะคล้ายคลึงกับสิ่งของที่นำไปตากแห้ง เช่น ผ้าเปียก เมื่อบิดตากแห้งจะมีริ้วรอย ย่น ยับ ซึ่งเกิดจากน้ำที่ระเหยออกไปจากผ้าเพราะความร้อนหรือลม ผิวของพระจะแห้งและพระบางองค์จะเห็นรอยยุบของเนื้อพระแตกอ้าหรือเป็นร่อง พระบางองค์จะเห็นเหมือนกับเนื้องอกออกมาเป็นปุ่ม ทั้งนี้เกิดจาก สารที่เคลือบบนผิวหรือแป้งที่โรยพิมพ์แห้งกร่อนหลุดออกไปตามอายุขัยของพระนั้นๆ หรือบางพิมพ์เนื้อจะละเอียดเนียนเรียบแน่นคล้ายหินอ่อน บางองค์ออกแห้งแกร่ง บางองค์ออกแห้งหนึกนุ่มและบางองค์อาจลงรักปิดทองล่องชาด โดยทั่วๆไปขององค์พระจะเห็นมวลสารเป็นจุดดำ จุดแดง จุดเหลือง เป็นก้อนเล็กๆ หรือเป็นเม็ดคล้ายเม็ดหิน แต่ใสเหมือนแก้ว เหมือนเม็ดข้าวสาร เป็นต้น
รูปทรงในการสร้าง ส่วนมากเจ้าประคุณสมเด็จฯ ท่านจะสร้างเป็นรูป สี่เหลี่ยมผืนผ้า สามเหลี่ยมหน้าจั่ว ทรงกลม หรือรูปหยดน้ำ เป็นต้น สำหรับพระเครื่อง รุ่นแรกๆนั้น ท่านสร้างรูปทรงค่อนข้างจะกว้างใหญ่ และหนา บางพิมพ์มีสัญลักษณ์อยู่ด้านหลังของพระ เช่นรูปกงจักร รูปช้าง มงกุฎ ตัวอักษร “ต” พระรูป ร. ๕ ฝังตะกรุด ฝังก้างปลา ฝังเพชรพลอย เป็นต้น
สำหรับด้านหน้า ทรงกำหนดเป็นรูปทรงเป็นพระพุทธรูปแบบต่างๆ หรือปางต่างๆ เช่น ปางขัดสมาธิ ปางสะดุ้งมาร พระประจำวันเกิดต่างๆ พระพุทธรูปสถิตอยู่บนฐาน ๓ ชั้น ๕ ชั้น ๗ ชั้น และ ๙ ชั้น และสำหรับพระบางพิมพ์ก็จะมีพระประจำวันเกิดองค์เล็กๆ เป็นทองเหลือง หรือเป็นทองคำติดอยู่ โดยรอบพระพุทธรูปหรือที่ฐานของพระบางองค์ก็ฝังเพชรฝังพลอยไว้ด้วย และนอกจากนี้ยังมีพระรูปเหมือน และมีดวงพระชะตาของท่าน หรือ พระรูปเหมือนของรัชกาลที่ ๕ พร้อมด้วยดวงพระชะตาของท่านติดอยู่ด้วย และพระบางองค์ฝังตะกรุดทองคำ ตะกรุดเงิน และตะกรุดที่ทำด้วยนาก บางองค์ฝังเหล็กไหล ฝังพระธาตุ และมีเส้นพระเกศาของพระองค์ท่านด้วย
สำหรับรูปทรงที่นักเล่นพระหรือนักสะสมพระหวงแหนรักษา กำหนดราคาเช่าซื้อแลกเปลี่ยนกันด้วยเงินเป็นเรือนพัน เรือนหมื่น เรือนแสน และเรือนล้านนั้นคือ พระสมเด็จพิมพ์ใหญ่ พระพิมพ์ทรงนิยม พิมพ์ทรงเจดีย์ พิมพ์เส้นด้าย พิมพ์ทรงฐานแซมพิมพ์เกศไชโย พิมพ์ทรงไกรเซอร์ พิมพ์ฐานคู่ พิมพ์ปรกโพธิ์ พิมพ์สังฆาฏิ พิมพ์พระประธาน และพระสมเด็จอะระหัง เป็นต้น
จนวาระสุดท้าย ณ วันเดือน 5 ปีวอก จัตวาศก เป็นปีที่ 5 ในรัชกาลที่ 5ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรฺหมฺ รํสี)ไปดูการก่อสร้างพระโต วัดบางขุนพรมนอก และต่อมาได้เกิดอาพาธด้วยโรคชรา 15 วัน จึงถึงแก่มรณภาพ ในวันเสาร์ แรม 2 ค่ำ เดือน 8 (ต้น) ปีวอก จ.ศ. 1234 ตรงกับวันเสาร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2415 บนศาลาใหญ่วัดบางขุนพรหมนอก (ปัจจุบันคือวัดอินทรวิหาร) ขณะอายุได้ 85 ปี อุปสมบทเป็นภิกษุรวมได้ 65 พรรษา บวชเณร 8 พรรษา เป็นเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตารามได้ 21 ปี รับตำแหน่งสมณศักดิ์สมเด็จพุฒาจารย์ได้ 8 ปี ท่านได้รับรับพระราชทานน้ำสรงศพ ไตรครอง ผ้าขาวเย็บถุง โกศ กลองชนะ อภิรมย์ สนมซ้าย ฝีพาย เรือตั้งบรรทุกศพ
เมื่อเจ้านาย ขุนนาง อุบาสก อุบาสิกา ประชาชนชาวบ้านบางขุนพรมและปวงพระสงฆ์ สรงน้ำเจ้าประคุณสมเด็จฯ แล้ว สนมก็มัดตราสังศพบรรจุในโกศไม้ 12 เสร็จแล้วก็ยกลงมาที่ท่าริมแม่น้ำเจ้าพระยา ฝีพายหลวงพายลงมาตามลำแม่น้ำ เรือตามก็ตามลายแม่น้ำส่งศพกระทั่งถึงท่าวัดระฆังฯ สนมเชิญโกศศพขึ้นบนกุฏิเจ้าประคุณสมเด็จฯ อยู่แถบข้างท้ายวัดริมคลองคูวัดระฆังฯ แล้งตั้งศพบนฐานเบ็ญาสองชั้นมีอภิรมย์ 6 คน มีกลองชนะ 23 จ่าปี่ จ่ากลองพร้อม มีสวดพระอภิธรรม มีเลี้ยงพระ 3 วัน เป็นของหลวง เรื่องเกี่ยวกับการพระราชทานเพลิงศพเจ้าประคุณสมเด็จฯ ยังค้น
ไม่พบในจดหมายเหตุ ได้ฟังแต่คำบอกเล่าว่า พระราชทานเพลิงศพที่เมรุปูนวัดอรุณราชวราราม และว่าสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงได้เสด็จไปพระราชทานเพลิง พอเสด็จถึงท่าราชวรดิษฐ์ ฝนตกหนัก จึงโปรดฯ ให้สมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมพระยาบำราบปรปักษ์ แต่ครั้งยังดำรงพระยศเป็นกรมขุนเสด็จแทนพระองค์ (จากหนังสือประวัติเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรฺหมฺ รํสี) (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 1) วัดระฆังโฆสิตาราม)
ตำแหน่งสมเด็จพระพุฒาจารย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ย้อนประวัติกรุงรัตนโกสินทร์เกี่ยวกับพระราชาคณะ “สมเด็จพระพุฒาจารย์” ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 จนถึงรัชกาลปัจจุบัน มีพระมหาเถระที่ได้รับตำแหน่งสมณศักดิ์นี้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีอยู่ทั้งหมด 22 องค์ ได้แก่
องค์ที่ 1 พระพุฒาจารย์ (ไม่ปรากฏชื่อ) วัดอมรรินทราราม บางหว้าน้อย กรุงเทพฯ
องค์ที่ 2 พระพุฒาจารย์ “อยู่” เปรียญวัดระฆังโฆสิตราม (บางหว้าใหญ่) กรุงเทพฯ
องค์ที่ 3 พระพุฒาจารย์ “คุ้ม” วัดอินทราราม พ.ศ. 2466
องค์ที่ 4 พระพุฒาจารย์ “สนธิ์” วัดสะเกศ พ.ศ.2394 รัชกาลที่ 4
องค์ที่ 5 พระพุฒาจารย์ “โต” ฉายา พรหมรังสี วัดระฆังโฆสิตาราม พ.ศ. 2407 รัชกาลที่ 4 เปรียญ 4 ประโยค
องค์ที่ 6 พระพุฒาจารย์ “พุก” วัดศาลาปูน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พ.ศ. 2422 เปรียญ 3 ประโยค
องค์ที่ 7 พระพุฒาจารย์ “ศรี อโนมสิริ” วัดปทุมคงคา พ.ศ. 2430
องค์ที่ 8 หม่อมเจ้าพระพุฒาจารย์ “ทัด” วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม พ.ศ. 2437
องค์ที่ 11 พระพุฒาจารย์ “เขียว จนฺทสิริ” วัดราชาธิวาส พ.ศ. 2448 เปรียญ 8 ประโยค
องค์ที่ 9 พระพุฒาจารย์ “กระจ่าง อรุโณ” วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม พ.ศ. 2443 รัชกาลที่ 5
องค์ที่ 10 พระพุฒาจารย์ “ฤทธิ ธมฺมสิริ” วัดอรุณราชวราราม พ.ศ. 2444 เปรียญ 3 ประโยค
องค์ที่ 12 พระพุฒาจารย์ “สิริ วฑฺฒโน” พ.ศ. 2453 (นามเดิม หม่อมเจ้าภุวงค์ ชมพูนุท)
องค์ที่ 13 พระพุฒาจารย์ “มา อินทสโร” วัดจักรวรรดิราชาวาส (วัดสามปลื้ม) รัชกาลที่ 6
องค์ที่ 14 พระพุฒาจารย์ “จ่าย ปุณฺณทตฺโต” วัดเบญจมบพิตร รัชกาลที่ 6 เปรียญ 7 ประโยค
องค์ที่ 15 พระพุฒาจารย์ “แพ ติสฺสเทโว” วัดสุทัศน์เทพวราราม รัชกาลที่ 6 เปรียญ 5 ประโยค
องค์ที่ 16 พระพุฒาจารย์ “เข้ม ธมฺมสโร” วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม รัชกาลที่ 7
องค์ที่ 18 พระพุฒาจารย์ “โสม ฉนฺโน” วัดสุทัศน์เทพวราราม รัชกาลที่ 9 เปรีญญ 5 ประโยค
องค์ที่ 19 พระพุฒาจารย์ “วน ฐิติณาโณ” วัดอรุณราชวราราม รัชกาลที่ 9 เปรีญญ 6 ประโยค
องค์ที่ 20 พระพุฒาจารย์ “เสงี่ยม จนฺทสิริ” วัดสะเกศราชวรมหาวิหาร พ.ศ. 2511 เปรียญ 6 ประโยค
องค์ที่ 21 พระพุฒาจารย์ “พระพิมลธรรม” รัชกาลที่ 9 วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษ
องค์ที่ 22 พระพุฒาจารย์ “เกี่ยว อุบเสโณ” วัดสะเกศราชวรมหาวิหาร องค์ปัจจุบัน
ขอขอบคุณ : http://www.watsatue.com/view_article.php?token=206a7559ac39b6c6340565ffeefdfe37