อัฏฐังคิกมรรคยอดศิลปะแห่งการดำเนินชีวิต โดย ท่านพุทธทาส ภิกขุ

อัฏฐังคิกมรรคยอดศิลปะแห่งการดำเนินชีวิต โดย ท่านพุทธทาส ภิกขุ

หน้าที่ 1 – อัฏฐังคิกมรรค
ท่านทั้งหลายควรทบทวนความหมายของคำว่า ศิลปะ ให้ปรากฎอยู่ในใจเสมอ แล้วก็จะเข้าใจได้ว่าทำไมธรรมะจึงเป็นศิลปะ หรือบางที่ก็เป็นยอดของศิลปะด้วยซ้ำไป ความหมายของศิลปะนั้นโดยส่วนใหญ่มันหมายถึงงาม และสำเร็จประโยชน์และก็เป็นงานฝีมือ คือ ทำยาก มันงาม มันสำเร็จประโยชน์ตามที่ต้องการ ก็เป็นงานฝีมืออันละเอียด ศิลปะแห่งการมีชีวิต ในที่นี้หมายถึงต้องการให้มันมีชีวิตที่งดงาม และก็สำเร็จประโยชน์ตามคำมุ่งหมายของคำว่าชีวิต แล้วก็เป็นงานที่ละเอียดปราณีต น่าดูน่าเลื่อมใส เพราะว่ามันยาก สำหรับคำว่างามนั้นเป็นความหมายสำคัญของคำๆ นี้

ท่านทั้งหลายจะต้องเข้าใจคำว่างามให้ถูกต้อง งามโดยการขีดเขียนมีสีสีสันนั้นก็งาม งามด้วยกิริยาท่าทาง เช่น เต้นรำงาม อย่างนี้มันก็งาม หรือคนรูปร่างงามอย่างนี้มันก็งาม แต่งามในชีวิตนี้มันไม่ใช่อย่างนั้น แต่มีความหมายไปในทางที่ว่ามันดี มีความหมายพิเศษอยู่ในตัวมันเอง จนเราจะพูดในทีนี้ได้ว่า เป็นมนุษย์ให้งดงาม อย่าสักแต่ว่าเป็น เป็น หรือว่าจะทำอะไรอย่างหนึ่งก็ทำให้งดงามอย่าสักแต่ว่าทำ ชีวิตนี้มันอาจจะทำให้งามในลักษณะที่ว่า เป็นศิลปะ สำเร็จประโยชน์อย่างยิ่งในการที่มีชีวิต และก็ทำยาก แต่ไม่ได้หมายความว่ายากจนใครๆ ทำไม่ได้ เพียงแต่ว่ามันต้องการความตั้งอกตั้งใจ ฝีไม้ลายมือเต็มที่สักหน่อยเท่านั้น ทำไมจะต้องเอาเรื่องงามนี้มาพูดเกี่ยวกับการมีชีวิต เพราะว่ามันอาจจะมีชีวิตให้งามกว่าธรรมดา และมีความสุขยิ่งขึ้นไปกว่าธรรมดา เราจะนึกถึงพระพุทธภาษิตที่พระองค์ทรงกำชับเมื่อส่งภิกษุไปประกาศพระศาสนาว่า เธอจงแสดงธรรมประกาศพรหมจรรย์ ให้มีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง และมีความงามในเบื้องปลาย ประกาศพรหมจรรย์ยังต้องทำให้งามนี่มันอย่างไรกัน ขอให้ท่านทั้งหลายลองคิดดู การประกาศพรหมจรรย์ที่การสั่งสอนแบบแห่งการครองชีวิตอันประเสริฐ ถ้ามันทำไปอย่างโง่เขลามันก็ไม่งาม มันอาจจะดูได้แต่ตอนต้น ตอนกลาง ตอนปลายมันไม่งาม จึงทรงบังคับว่าต้องทำให้มันงามทั้งเบื้องต้น ท่ามกลาง และเบื้องปลาย พุทธบริษัทมีชีวิตที่มีความงามตามความหมายของคำว่า พรหมจรรย์ ตามลักษณะของพระพุทธเจ้าที่ว่า เป็นผู้รู้ เป็นผู้ตื่น และเป็นผู้เบิกบาน คนที่มีความรู้เป็นคนงดงาม คนที่ตื่นคือไม่โง่ไม่เขลาเป็นคนงดงาม คนที่เบิกบานเป็นคนงดงาม นี่มันมีความงามอย่างนี้ เพราะว่าเขาอยู่เหนือปัญหา ไม่มีอะไรที่เป็นปัญหาในชีวิตสำหรับคนชนิดนี้ อยู่ในโลกก็อยู่อย่างคนมีชัยชนะเหนือโลก ไม่ใช่เป็นคนจนโลก อย่างนั้นมันจึงงาม เราจะต้องมีการดำเนินชีวิตชนิดที่เป็นศิลปะและมีความงาม หนทางที่จะดำเนิน ได้แก่ สิ่งที่เรียกว่าพรหมจรรย์นั้นเอง ดังที่พระองค์ทรงกำชับว่าให้ประกาศพรหมจรรย์ให้งดงาม พรหมจรรย์ในที่นี้ก็หมายถึง อัฏฐังคิกมรรคนั่นแหละ ขอให้เขาใจให้ถูกต้องให้ถูกตัว อัฏฐังคิกมรรค นั้นก็คือ พรหมจรรย์ บางทีเราก็เรียกกันเต็มที่ว่า พระอัษฎางคิกมรรค ในหนังสือเทศน์เก่าๆ ท่านมีสำนวนโวหารไพเราะมาก ท่านก็เรียกว่า พระอัษฎางคิกมรรค ซึ่งเดี๋ยวนี้เรามาเรียกกันสั้นๆ ว่า อัฏฐังคิกมรรค อัฏฐังคิกมรรคนี้เป็นหนทางอันประกอบไปด้วยองค์ 8 อย่างที่เราได้เคยได้ยินได้ฟังกันอยู่ มี ความเป็นอริยะ คือไปจากฆ่าศึก หมายความว่าเป็นหนทางไปจากฆ่าศึก และไปสู่พระนิพพาน เพื่อบรรลุผลคือพระนิพพาน ล้วนแต่แสดงความงามอยู่ในตัวแห่งอัฏฐังคิกมรรคนั้นเอง ท่านจงนึกถึงอัฏฐังคิกมรรคว่าประกอบไปด้วยองค์ 8 อย่างไรกันเสียก่อนแล้วก็จะค่อยเห็นความงาม ท่านทั้งหลายโดยมากก็ท่องได้สำหรับ อัฏฐังคิกมรรค สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ, สัมมาสังฆโต การดำริชอบ, สัมมาวาจา การพูดจาชอบ, สัมมากัมมันโต การทำการงานชอบ, สัมมาอาชีโว ดำรงชีวิตชอบ, สัมมาวายาโม พากเพียรชอบ, สัมมาสติ ระลึกชอบ, สัมมาสมาธิ ตั้งใจมั่นชอบ นี่เป็นตัวพรหมจรรย์ซึ่งพระองค์ทรงกำชับให้ประกาศให้งดงามทั้งเบื้องต้น ท่ามกลาง และเบื้องปลาย ท่านทั้งหลายจะต้องจำไว้ในใจให้ชัดเจนแจ่มแจ้ง คล่องแคล่ว แล้วจะได้ประพฤติปฏิบัติให้มันงดงาม อาตมาจะแสดงความงดงามของอัฏฐังคิกมรรคนี้ตามสมควร เพื่อให้ท่านเห็นว่ามันเป็นศิลปะอย่างไร อัฏฐังคิกมรรค มรรคมีองค์ 8 นั้น มีความงามตรงที่ว่า มันอยู่ระหว่างกลาง หรืออยู่ตรงกลางที่เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา ตรงกลางระหว่างเปียกกับแห้ง ถ้าเปียกเรียกว่า อาคาฬหปฏิปทา ถ้าแห้งเรียกว่า นิชฌามปฏิปทา เปียก หมายถึง ชุ่มแช่ในกามคุณ แห้ง หมายถึง ทรมานตนให้ลำบาก ถ้าจะพูดธรรมดาๆ ว่า เปียก ก็คือมันมากเกินไป แห้งมันก็น้อยเกินไป หรือว่าเปียกนี่มันฟุ่มเฟือย ตามใจตัวเองมากเกินไป แห้งนั้นมันก็ทรมานตัวเองมากเกินไป เมื่อมันอยู่ตรงกลางมันจึงจะงาม อีกอย่างเรียกว่าตึงเกินไป หรือหย่อนเกินไป มันก็ไม่งาม อัฏฐังคิกมรรคเป็นเครื่องทำให้พอดี ให้อยู่ในท่ามกลางมันจึงงาม ดูต่อไป อัฏฐังคิกมรรคมี่ความงาม เพราะว่ามีความถูกต้องอย่างครบถ้วน เป็นสัมมัตตะ มีความถูกต้องในความคิดเห็น ในความใฝ่ผัน ในการพูดจา ในการทำงาน ในการเลี้ยงชีวิต ในการพากเพียร ในการมีสติ และการมีสมาธิ คำว่าถูกต้องนี่ คือ มันถูกต้องต่อการทำบุคคลนั้นหรือคนรอบข้างที่เกี่ยวเนื่องกับเขานั้นไม่ให้มีความทุกข์ ในทางอื่นก็อาจจะหมายความกันอย่างอื่น แต่ในทางธรรมะ พระศาสนาแล้ว คำว่าถูกต้องนั้นหมายถึงว่า ให้เกิดประโยชน์แก่คนทุกฝ่ายก็เรียกว่าถูกต้อง คนทุกฝ่ายไม่ได้หมายถึงคนนั้นเอง แต่หมายถึงคนนั้นด้วยและคนที่มาเกี่ยวข้องกับคนนั้นดัวย ถ้ามันพิสูจน์ความเป็นประโยช์แก่ทุกคนแล้วก็เรียกว่า ถูกต้อง หรือดี หรือชอบ หรือกุศล หรือบุญ ก็แล้วแต่จะใช้คำไหน แต่ถ้ามันพิสูจน์ความมีอันตรายแก่ทุกคนก็เรียกว่ามันผิด มันชั่ว มันบาป มันเป็นอกุศล อัฏฐังคิกมรรคนี้ประกอบด้วยความถูกต้องครบถ้วนถึง 8 ประการ มันก็จะมีความงามในทางธรรมเต็มที่ นี้ดูต่อไปอีก อัฏฐังคิกมรรคมีความงามเพราะว่า กระแสของมันเอียงไปทางพระนิพพาน ที่เรียกว่า นิพพานะนินนา มันมีความลาดเอียงไปทางนิพพาน เหมือนหนทางๆ หนึ่งเราก็มองเห็นอยู่ว่ามันลาดเอียงไปทางที่เราประสงค์ ไปยังสิ่งที่เราประสงค์ เราก็พอใจ เราก็ยินดีที่ได้เห็นหนทางนั้น อัฏฐังคิกมรรคนี้ก็เหมือนกัน ถ้าผู้ใดมองเห็นจริงๆ เข้าใจจริงๆ จะรู้สึกได้ว่าเอียงไปทางพระนิพพาน แล้วเขาก็พอใจ เพราะความที่มันเอียงไปหานิพพานนั้นน่ะมันจึงมีความงาม คือมันเอียงไปหาที่สุดแห่งความทุกข์

หน้าที่ 2 – สมังคี สมะอังคอี
จะสิ้นสุดแห่งความทุกข์กันเสียที การที่มันเอียงไปทางไหนนั้นมันหมายความว่ามันง่ายแกคนที่จะเดินไป แม้ไม่เดินมันยังจะกลิ้งไปเองได้ มันง่าย เหมือนกับเราเดินลงที่ลาดเอียง มันเดินง่าย ไปตามที่เราต้องการได้โดยง่าย ไม่เหมือนกับเดินขึ้นภูเขา อัฏฐังคิกมรรคมีความงามตรงที่ว่า แสดงความเอียงไปสู่พระนิพพานอยู่เสมอ ถ้าใครพลัดเข้าไปในหนทางนี้แล้วมันจะเลื่อนไหลไปสู่พระนิพพาน ค่าของมันอยู่ที่ตรงนี้และอย่างนี้ มันจึงเรียกว่ามีความงาม

ดูต่อไป อัฏฐังคิกมรรคนั้นมีความงามเพราะเป็นศิลปะแห่งการไม่ต้องทำอะไร นี่บางคนอาจจะไม่เข้าใจว่า ไม่ต้องทำอะไรแล้วมันจะมีประโยชน์อะไร หรือมันจะได้อะไร นี่มันเป็นสำนวนพูด พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้เมื่อจวนจะเสด็จปรินิพพานอยู่หยกๆ แล้วว่า ถ้าภิกษุทั้งหลายเหล่านี้จักเป็นอยู่โดยชอบไซ้ โลกก็จะไม่ว่างจากพระอรหันต์ ที่พระองค์ตรัสว่าไม่ต้องมีอะไรมากนอกจากเป็นอยู่โดยชอบเท่านั้นน่ะ โลกจะไม่ว่างจากพระอรหันต์ ที่ว่าเป็นอยู่โดยชอบนั้นก็คือ เป็นอยู่ตามอัฏฐังคิกมรรค 8 อย่างที่ได้กล่าวมาแล้วว่ามันมีความถูกต้อง 8 ประการ คำว่าไม่ต้องทำอะไร เป็นสำนวนพูด ถึงจะอยู่กันให้ดีๆ ไม่ต้องทำอะไร ไม่ต้องทำอะไรมากไปกว่านั้น หรือว่าไม่ต้องทำอะไรให้มากไปกว่าที่ธรรมชาติกำหนดให้แล้ว เช่นว่าจิตนี้มันเป็นประภัสสร ไม่มีกิเลส ไม่มีความทุกข์ ถ้ากิเลสเกิดขึ้นมันจึงจะเศร้าหมองหรือจะมีความทุกข์ เราเพียงอยู่ให้ดีๆ อยู่ให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ อย่าให้กิเลสมันเกิดขึ้นมาได้ กิเลสเกิดขึ้นนี้เพราะเราซุกซน เราแส่ไปหาเรื่อง แส่ไปในทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไปหลงรักในความงดงาม ไพเราะ เอร็ดอร่อยเป็นต้น คล้ายกับว่ามันอยู่ไม่นิ่ง ถ้ามันอยู่นิ่งๆ มันอย่าแส่ไปหาเรื่อง มันก็คงจะสงบอยู่ตามเดิม เรื่องนี้คนที่ชื่อว่าไอ้หล่างเอาไปพูดมาก เพราะอยู่นิ่งๆ ไม่ต้องทำอะไร สมัยก่อนมันอยู่ให้ถูกต้องตามกฎธรรมชาติซึ่งเป็นอยู่แล้ว อย่าไปรับเอาอะไรใหม่เข้ามา ด้วยความโง่ ด้วยความเขลา ด้วยความหลงของอวิชชา มันเป็นสำนวนพูดซึ่งต้องแปลความหมาย อย่าไปสร้างตัวตนอะไรของตนขึ้นมา อยู่นิ่งๆ ถ้าไปสร้างตัวตนของตนขึ้นมามันก็ต้องเป็นทุกข์ ก็อยู่อย่างที่เรียกว่ามันได้ต้องทำอะไร เพราะว่ามันไม่มีตัวของตน ไม่มีผู้ทำอะไร ก็เรียกว่าเป็นอยู่ชอบอย่างยิ่ง ไม่มีทางจะผิดพลาดได้ ทีนี้ก็จะดูต่อไปความงามของอัฏฐังคิกมรรคนั้นมันเป็นกัลยาณมิตรให้แก่คนทุกคน ในทางจิตในทางวิญญาณ พระอานนต์กราบทูลพระพุทธเจ้าว่ากัลยาณมิตรนั้นเป็นครึ่งหนึ่งของความสำเร็จ พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า อย่าพูดอย่างนั้นอานนต์มันไม่ถูก ต้องพูดว่ากัลยาณมิตรเป็นทั้งหมดของความสำเร็จ ไม่ใช่เป็นเพียงครึ่งเดียว ทั้งแสดงกัลยาณมิตรด้วยอัฏฐังคิกมรรคให้ทุกคนถือเอาอัฏฐังคิกมรรคเป็นกัลยาณมิตร ข้อนี้มันก็น่าคิดอยู่ว่า แม้กัลยาณมิตรที่เป็นคนๆ ด้วยกันจะเรียกว่าเป็นครึ่งหนึ่งแห่งความสำเร็จหรือทั้งหมดแห่งความสำเร็จก็ลองคิดดู ถ้าพระพุทธเจ้ามาเป็นกัลยาณมิตรของเรา ก็เป็นทั้งหมดของความสำเร็จเป็นแน่นอน เป็นแสงสว่างถึงที่สุด เป็นกัลยาณมิตรถึงที่สุด แต่เดี๋ยวนี้แม้ท่านทรงแสดงอริยมรรคมีองค์ 8 เป็นกัลยาณมิตร ก็หมายความว่าเป็นมิตรในทางวิญญาณ ไม่ใช่มิตรในทางกาย ในทางวัตถุ แต่ว่าเป็นมิตรในทางจิต เป็นมิตรในทางวิญญาณ คำว่ามิตร แปลว่า คนที่มีจิตใจหวังดีต่อกัน เป็นผู้ร่วมกระทำความรอบปลอดภัยให้แก่กันและกัน ถ้าเรามีอัฏฐังคิกมรรคเป็นกัลยาณมิตรก็หมายความว่ามันมีแต่ความถูกต้อง ทั้งทางกายทั้งทางจิตตามองค์แห่งอริยมรรคนั้น มีความเป็นกัลยาณมิตรอย่างยิ่งอย่างนี้เราจึงเรียกว่างาม ชีวิตที่มีกัลยาณมิตรอย่างนี้เรียกว่าเป็นชีวิตที่มีศิลปะอันงดงาม ดูต่อไปว่าอัฏฐังคิกมรรคมีความงาม เพราะว่ามันเป็นการประสานกลมเกลียวแห่งองค์มรรค เหมือนกับการประสานกลมเกลียวแห่งเชือก 8 เกลียว เชือกควั่นสองเกลียวยังไม่ค่อยงาม เชือกควั่นสามเกลียวงามกว่า ยิ่งมากเกลียวควั่นกันได้ละเอียดปราณีตยิ่งดูงาม ยิ่งดูเกลี้ยงยิ่งดูงาม แปดเกลียวควั่นเป็นเส้นเดียวแล้วดูงามนี่มันหมายความว่า มันมีลักษณะของความเป็นระบบ ความสำเร็จประโยชน์นั้น ไม่สำเร็จประโยชน์ด้วยการกระทำเพียงอย่างเดียว แต่สำเร็จด้วยการกระทำหลายอย่างประสานกันไปอย่างกลมเกลียวเป็นระบบ ความสำเร็จประโยชน์อยู่ที่การกระทำเป็นระบบ เพราะปัญหาหรือความทุกข์มันก็เกิดขึ้นเป็นระบบ ร่างกายคนเราก็เป็นระบบ ลองคิดดูเถอะว่ามันมีอะไรหลายอย่าง หลายส่วน หลายระบบด้วย รวมกันเป็นร่างกายคนๆ หนึ่ง เรื่องมีอะไรเป็นระบบนี่มันเป็นหลักเกณฑ์ของธรรมชาติ ที่ธรรมชาติมันสร้างขึ้นเองมันก็เป็นระบบ ที่มนุษย์สร้างขึ้นใหม่มันก็เป็นระบบ เช่นว่ารถยนต์สักคันหนึ่งมันก็สร้างกันเป็นระบบ มีหลายๆ ระบบเล็กๆ รวมกันเป็นระบบใหญ่ เช่น ระบบไฟ ระบบน้ำ ระบบหล่อลื่น ระบบอะไรก็สุดแท้รวมกันเป็นระบบใหญ่ คือเป็นรถยนต์คันหนึ่ง ธรรมะสำหรับขจัดความทุกข์ก็มีลักษณะเป็นระบบ เพราะว่าธรรมชาติมันเป็นระบบ ความทุกข์มันเกิดเป็นระบบ ธรรมะที่จะดับทุกข์ที่จะแก้ทุกข์มันก็ต้องเป็นระบบที่พอกัน ที่ครบถ้วน เราก็เห็นความงามของการที่มันทำงานเป็นระบบ เป็นการประสานกันโดยความถูกต้องขององค์แห่งมรรค เสมือนหนึ่งเชือกแปดเกลียว คิดดูอีกทีต่อไปอีกก็ว่าอัฏฐังคิกมรรคมีความงามแห่งความเป็น สมังคี สมังคีคำนี้คงจะแปลกหูสำหรับบางคน สมังคี สมะอังคอี แปลว่ามีองค์อันเสมอกัน สมังคี แปลว่ามีองค์อันเสมอกัน คือ มีส่วนประกอบที่เสมอกัน คือมันถูกต้องสำหรับที่มันจะประกอบกัน แล้วก็รวมกันเป็นสิ่งเดียวกัน ซึ่งพวกเราทำอะไรมันไม่ค่อยมีอาการที่เรียกว่าสมังคี คือ ส่วนประกอบต่างๆ มันไม่ถูกต้อง มันไม่สม่ำเสมอกัน เหมือนอย่างว่าจะทำน้ำพริกกิน ถ้าส่วนประกอบของน้ำพริกนั้นมันไม่ถูกต้อง ไม่สม่ำเสมอ มันก็จะเป็นน้ำพริกที่เด็กๆ ทำ มันกินเกือบจะไม่ค่อยได้ ถ้าเป็นคนที่มีฝีมือเป็นแม่ครัวดีมีฝีมือเขาก็ทำน้ำพริกให้มันกินอร่อยได้ เพราะมันมีส่วนประกอบที่เรียกว่าสม่ำเสมอกัน คือถูกต้อง ตามที่มันควรจะมีอย่างไร สำหรับอริยมรรคนี้ก็เหมือนกัน องค์ทั้ง 8 นั้นต้องครบ แต่ละองค์ๆ ก็มีคุณสมบัติเต็มที่สำหรับองค์นั้นๆ หมายความว่าไม่มีอะไรบกพร่อง ไม่มีองค์ไหนบกพร่อง และก็ประสานกันเหมือนกับว่าเชือกแปดเกลียว เราจะเข้าใจได้ว่าเชือกแปดเกลียวนั้น แต่ละเกลียวมันมีกำลังหรือมีแรงยึดเหนี่ยวเท่าๆ กัน ขนาดเดียวกัน ถ้ามันเล็กบ้างใหญ่บ้างมันก็เป็นเกลียวกันไม่ได้ดี หรือแรงยึดเหนี่ยวไม่เท่ากัน ไอ้ที่มันไม่มีแรงยึดเหนี่ยวมากมันก็ขาดเสียก่อน มันก็พลอยขาดตามๆ กันไปด้วย นี่เรียกว่า มันไม่มีความเป็น สมังคี อะไรๆ ในโลกนี้ที่เกี่ยวกับมนุษย์ล้วนแต่ต้องการสิ่งนี้ คือความเป็นสมังคี แล้วเราก็ไม่ค่อยสนใจ ดังนั้นในครอบครัวหนึ่งๆ มันจึงมีการทะเลาะเบาะแว้ง มีความโกลาหลวุ่นวาย มีความกระทบกระทั่ง ไม่เป็นผาสุข เพราะส่วนประกอบมันไม่เข้ากัน มันไม่เสมอกัน คือสมาชิกในครอบครัว

หน้าที่ 3 – พรหมจรรย์
นั่นเอง มันไม่เป็นสมังคีต่อกัน เราจึงเห็นว่าอัฏฐังคิกมรรคนี้มีความงามตรงที่มีองค์เสมอกัน เพียงที่ยกตัวอย่างมานี้ก็ดูจะมากพอแล้ว เพราะว่าอัฏฐังคิกมรรคนี้มีความงาม มีความงามสำหรับคนมีปัญญา มีตาแห่งปัญญา มองเห็นสิ่งนั้นๆ อย่างชัดเจนอย่างแจ่มแจ้ง คนโง่มองไม่เห็น แน่นอนคนมีปัญญาเท่านั้นจึงจะเห็นความงามของพระธรรม พูดว่าความงามของพระธรรมคนธรรมดาก็ฟังไม่ถูกแล้ว เพราะไม่รู้ว่าจะงามอย่างไร และไม่รู้ว่าพระธรรมนั้นคืออะไรด้วย คนที่เข้าใจรู้จักพระธรรมเท่านั้นที่จะเห็นว่าพระธรรมนี้มีความงดงาม โดยเฉพาะอัฏฐังคิกมรรคก็มีความงามอย่างที่กล่าวมาแล้ว สรุปว่ามันพอดี ไม่ตึงไม่หย่อน ไม่เปียกไม่แห้ง มีความถูกต้องครบถ้วน สำหรับจะเอียงไปสู่พระนิพพาน และก็ดีที่ไม่ต้องทำอะไรมาก อยู่ให้มีความถูกต้องเป็นอยู่อย่างถูกต้องเท่านั้น ไม่ต้องทำอะไรมาก มันก็สำเร็จประโยชน์ จะเป็นมิตรสำหรับดับทุกข์ ไม่มีมิตรอย่างอื่นใดยิ่งไปกว่า มันเป็นงานระบบประสานแห่งองค์แปดองค์เหมือนเชือกแปดเกลียว แต่ละองค์มีคุณสมบัติเต็มที่ในหน้าที่ของตนประสานกันดีแล้ว เรียกว่า มัคคสมังคี ความมีคงเสมอกันซึ่งพวกเราไม่ค่อยจะมี นี่แหละคือความงามของอัฏฐังคิกมรรค ที่นี้ที่กล่าวไว้เป็นหัวข้อเบื้องต้นว่า อัฏฐังคิกมรรคเป็นยอดศิลปะแห่งการดำเนินชีวิต ก็คงพอจะเห็นได้บ้างแล้วว่ามันมีความงาม มันจึงเป็นศิลปะ อัฏฐังคิกมรรคมีความงามอย่างที่กล่าวมาแล้ว ในเมื่อปฏิบัติดี ปฏิบัติอย่างเฉลียวฉลาดและแยบคาย เมื่อเกิดความงานอันนี้ขึ้นมา ดีที่ว่าเป็นทางดำเนินแห่งชีวิตนั้น ก็จะได้พิจารณากันต่อไป ท่านทั้งหลายเข้าใจหรือไม่ว่า ชีวิตนี้เป็นการเดินทาง ถ้ามีปัญญาสักหน่อยก็จะเห็นได้ว่าชีวิตนี้เป็นการเดินทาง คือ มันไม่ซ้ำที่ มันเปลี่ยนเรื่อย มันมีวิวัฒนาการ เปลี่ยนแปลงเรื่อยไป ก็คิดดูเถอะตั้งแต่เกิดมาจากท้องแม่ มันก็เปลี่ยนไปกว่าจะเน่าเข้าโรง หรือว่าถ้าเอาชาติหน้าชาติอื่นมาเป็นเครื่องประกอบก็ยิ่งเห็นว่ามันเป็นการเดินทางที่ยืดยาว อย่างที่เขากล่าวไว้แต่โบราณว่าเป็นกัปๆ กัลป์ๆ กันทีเดียว คือท่องเที่ยวไปในวัฏสงสาร ขอให้เข้าใจแต่โดยใจความได้ว่า ไอ้ชีวิตนี้มันไม่ได้อยู่ที่มันเปลี่ยนเรื่อย

ดังนั้นมันเป็นการเดินทาง ถ้ามันเดินผิดมันก็ต้องทนทุกข์ทรมานและไม่ถึงปลายทาง ถ้ามันเดินถูกมันก็มีความสุขสบายและก็จะถึงจุดหมายปลายทาง นี่แหละคือข้อที่ว่าชีวิตนี้เป็นการเดินทาง การเดินทางนี้เป็นไปได้สองอย่าง คือ เป็นการเดินทางโดยวิวัฒนาการของธรรมชาติ นั้นธรรมชาติมันจัดมาให้เสร็จว่าชีวิตนี้เป็นการเดินทาง ถ้าเรียนวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับชีววิทยา เขาก็อธิบายไว้ชัดเจนในทำนองที่ว่าชีวิตนี้ตั้งต้นด้วยสิ่งที่ต่ำต้อยที่สุดเป็นสัตว์เซลล์เดียว และกว่าจะเป็นสัตว์หลายเซลล์ กว่าจะเป็นต้นไม้ กว่าจะเป็นสัตว์เดรัชฉาน กว่าจะสูงขึ้นมาจนถึงเป็นคน มันต้องเปลี่ยนแปลงมาเรื่อยๆ โดยกฎของวิวัฒนาการตามธรรมชาติ อย่างนี้เรียกว่ามันเดินทางโดยวิวัฒนาการของธรรมชาติไม่เกี่ยวกับเรา ที่นี้การเดินทางอีกแบบหนึ่งมันเกี่ยวกับสติปัญญาของมนุษย์ คือมนุษย์เข้ามาเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เรียกว่าชีวิตของตนหรือของใครก็ตาม มีการประพฤติกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งให้มันมีความเปลี่ยนแปลง มาก รวดเร็วยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน เราเห็นได้ว่ามนุษย์นั้นทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องกินอยู่ นุ่งห่ม อยู่อาศัย บำบัดโรคภัยไข้เจ็บ ที่เรียกว่ากันว่าปัจจัย 4 ประการนั้นก็ดี หรือว่ามีสิ่งประเล้าประโลมใจให้หลงใหลเพลิดเพลินนั้นก็ดี มีมากจนมนุษย์เปลี่ยนไปมาก จนมนุษย์ไม่อาจจะนอนกลางดินได้เหมือนแต่ก่อน มนุษย์ไม่อาจตากแดดตากฝนได้เหมือนอย่างสัตว์ เช่น วัวและควาย เหมือนอย่างแต่ก่อน นี่คือความเปลี่ยนแปลงตามสติปัญญาของมนุษย์ เดี๋ยวนี้เราก็มีอะไรต่อมิอะไรหลายอย่างที่เรียกว่าหยุกยา มาใช้มาสอย มาทา มากิน ทำทุกอย่างจนร่างกายนี้มันค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปจากที่เคยเป็นมา จากที่ธรรมชาติมันสร้างสรรค์มา ก็เรียกว่าเป็นการเดินทางที่ซัดไปเซมา ผลุนๆ ผลันๆ หาได้เป็นไปเพื่อความสงบสุขไป แม้ว่ามนุษย์จะมีปัญญา มันก็มีปัญญาเพื่อจะรับใช้กิเลสเสียมากกว่า มันไม่มีความถูกต้อง เพราะว่ามันไม่ได้เดินไปตามทางแห่งอัฏฐังคิกมรรค จนกว่าเมื่อไรจะเกิดคนมีปัญญา เช่น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า มาพบวิถีทางที่จะเดินหรือพบวิธีการที่จะเดิน มันก็มีผลดี หนทางก็ดี วิธีเดินมันก็ดี มันก็ดีไปหมด ชีวิตกลายเป็นสิ่งที่มีความสงบสุข แม้ว่าจะอยู่ในท่ามกลางโลกที่เต็มไปด้วยความโกลาหลวุ่นวาย มันก็ไม่โกลาหลวุ่นวาย แม้จะมีอะไรมายั่วมาดึงมันก็ไม่ถูกดึง มันเป็นชีวิตที่คงอยู่ได้อย่างที่เรียกว่าชนะ มีชัยชนะต่อทุกสิ่งที่เข้ามาครอบงำ เข้ามาชักจูง เข้ามายั่วยาน เข้ามาหลอกลวง ชีวิตดำรงอยู่ได้ในความถูกต้อง ในท่ามกลางสิ่งที่เป็นฆ่าศึกหรือหลอกลวง เราก็มองเห็นได้ว่ามันเป็นชีวิตอีกแบบหนึ่งซึ่งมีความงาม ถ้าปล่อยไปตามความโง่ความหลงของกิเลสแล้วมันก็เป็นความสกปรก แต่มันอาจจะเป็นความงามของคนโง่คนหลงของคนพาลก็ได้ เพราะว่าคนโง่ คนหลง คนพาล เขาก็มีอะไรๆ ไปตามแบบของเขา ดังนั้นเขาก็ต้องมีความงามไปตามแบบของเขา จนถึงกับว่าการคลุกเคล้าอยู่ด้วยกิเลสนั้นเป็นความงามของตน ชีวิตเป็นการเดินทาง เมื่อทำได้ดีที่สุดจนหมดปัญหาก็เรียกว่า พรหมจรรย์ พรหมจรรย์ แปลว่า การประพฤติกระทำอันประเสริฐหรือสูงสุด คำว่าพรหมจรรย์นี้ในภาษาไทยมีความหมายแคบ หมายถึงแต่ความบริสุทธิ์ทางเพศ ในความหมายแคบๆ แต่ในภาษาบาลีนั้นคำว่า พรหมจรรย์ หมายถึง การประพฤติธรรมะทั้งหมดอย่างถูกต้องจนถึงกับไปนิพพานเลยทีเดียว อย่างที่กล่าวมาแล้วเป็นต้นว่าอัฏฐังคิกมรรคนั่นแหละคือตัวพรหมจรรย์ ตัวพรหมจรรย์นี่แหละคืออัฏฐังคิกมรรค การดำเนินชีวิตที่ดีที่สุดก็เรียกว่าพรหมจรรย์ การดำเนินชีวิตตามทางแห่งอัฏฐังคิกมรรคนั้น มันมีข้อที่ควรจะสังเกตดูว่า มันเหมือนกับว่าทำให้ชีวิตนี้มีเกลียวแปดเกลียวและก็ประสานกันดี เป็นชีวิตที่มุ่งดิ่งไปยังพระนิพพาน นี่เป็นการพูดอุปมาด้วยภาพพจน์ เพื่อเข้าใจความหมายบางอย่างได้ดีขึ้น ว่าชีวิตนี้เหมือนของแปดเกลียว เกลียวชีวิตแปดเกลียว ปั้นเป็นเส้นเดียวแล้วก็เดินไป หมายถึงว่ามันมีทางไป มันมีความมุ่งหมายของความยาว ที่มันยาวไปถึงไหน นี่เรียกว่าปลายทางของมัน ชีวิตเป็นของมีเกลียวแปดเกลียวนี้มันเป็นไปตามธรรมชาติ ท่านจงเข้าใจว่ามันเป็นไปตามธรรมชาติ ไม่ใช่ว่าเราจะพึ่งมีองค์ 8 หรือแปดเกลียวนี้ต่อเมื่อให้ฟังจากพระพุทธเจ้าว่า มรรคมีองค์ 8 ที่จริงชีวิตนี้มันเป็นแปดเกลียวอยู่ก่อนแล้วตามธรรมชาติ หรือมิใช่มันจะเป็นของแปดเกลียวต่อเมื่อเราปฏิบัติตามอัฏฐังคิกมรรค อย่างนี้ก็ไม่ใช่ มันเป็นของมีเกลียวแปดเกลียวอยู่แล้วตามธรรมชาติ แต่ว่าเกลียวเหล่านั้นมันไม่ถูกต้อง คือมันไม่เป็นสัมมา สัมมาแปลว่าถูกต้อง มันเป็นเกลียวที่ไม่ถูกต้อง มันอาจจะเป็นเกลียวเว้าๆ แหว่งๆ คอดๆ หรือไม่มีคุณสมบัติอันแน่นอน มันไม่เป็นความถูกต้อง มันจึงไม่เป็นมรรคที่จะไปสู่พระนิพพาน ที่ว่าชีวิตแปดเกลียวนั้นเรามองดูกันแต่ส่วนที่มันเป็นส่วนประกอบของชีวิตอยู่ตามธรรมชาติ อย่างพึ่งไปพูดถึงธรรมะ พึงดูว่าเราทุกคนเกิดมาแล้วต้องมีความคิดเห็นของตนด้วยกันทั้งนั้น ผิดถูกไม่รู้ทุกคนมีความคิดเห็นของตนทั้งนั้น เด็กก็มี ผู้ใหญ่ก็มี คนโง่ก็มี คนฉลาดก็มี มีความคิดเห็นของตนทั้งนั้น

หน้าที่ 4 – สมาธิ ความมั่นคงแห่งจิต
แล้วคนเราเกิดมาแล้วมีความต้องการอย่างใดอย่างหนึ่งของตนทั้งนั้น ต้องการผิด ต้องการถูก ต้องการอะไรก็ไม่รู้ ไม่รับผิดชอบ แต่ว่ามีความต้องการอยู่ด้วยกันทั้งนั้น ที่นี้คนเราเกิดมาแล้วก็ต้องการสื่อสารด้วยคำพูด คือวาจา คนเรามีวาจา มีการพูด เพราะว่าเราจะต้องอาศัยการพูดจา เพื่อจะรับความรู้จากผู้อื่น หรือว่าจะให้ความรู้แก่ผู้อื่น นั้นเราเกิดมาก็พูดเป็น โตไม่ทันไรขึ้นมาก็พูดเป็นและก็พูดกันจนตาย นี้เรียกว่าทุกคนเกิดมาแล้วก็ต้องมีการสื่อสารด้วยวาจา แล้วทุกคนเกิดมาแล้วต้องมีการเคลื่อนไหวทางกายที่เรียกว่า กัมมันตะ เพราะว่าธรรมชาติมันไม่ยอมให้ใครอยู่นิ่ง ทุกคนก็ต้องเคลื่อนไหวทางการกระทำคือทางกาย ทำอะไรก็ทำตามที่ว่ามันเข้าใจต้องทำอะไร เราจึงมีการเคลื่อนไหว กันอยู่ทุกคน ไม่ต้องมีใครมาสอน ที่นี้ทุกคนเกิดมาแล้วต้องเลี้ยงชีวิต ต้องหากินเลี้ยงชีวิต สัตว์เดรัชฉานก็ต้องเลี้ยงชีวิต คนก็ต้องเลี้ยงชีวิต

นี่การเลี้ยงชีวิตการหาเลี้ยงชีวิตมันก็มีอยู่แล้วโดยธรรมชาติ ทุกคนเกิดมาแล้วก็มีความพยายามในสิ่งที่ตนรักหรือตนปรารถนากว่าจะได้มา แม้แต่สัตว์เดรัชฉานมันก็ทำเป็น นกหนูมันก็เจาะหรือขุดรูจนกว่าจะได้สิ่งที่มันต้องการ มันก็รู้จักพยายาม ฉะนั้นคำว่าพยายามนี้เป็นสิ่งที่ทำเป็นสำหรับสิ่งที่มีชีวิต ที่สูงขึ้นไป ความมีสติ ท่านอย่าเพลินนึกถึงธรรมะที่เป็นคำสอนในศาสนา สตินี้เป็นสิ่งที่ทุกคนมี สติในส่วนสัญญา ที่ระลึกได้จำได้ว่านี้เป็นอะไร อย่างนี้ก็มีกันทุกคน สัตว์เดรัชฉานมันก็มี สุนัข แมว มันก็มี มันจำได้ว่าคนนี้เป็นเจ้าของ คนนี้ไม่ใช่ สติความระลึกได้รวดเร็วทันทีว่าคนนี้เป็นเจ้าของ หรือสติที่ว่าจะทำอย่างไร เพียงแต่แก้ปัญญหาอันนี้ได้ สัตว์เดรัชฉานมันก็เคยกระทำมาก่อนในบางสิ่งบางอย่างมันก็ยังจำได้ มันก็ระลึกได้ มันก็เอาวิธีนั้นมาใช้อีก นี้มันก็ต้องอาศัยสติด้วยเหมือนกัน เพราะว่าสตินั้นเป็นเครื่องให้ระลึกถึงสิ่งที่จะต้องระลึกเพื่อเอามาใช้ทันทีในกรณีนั้นๆ นี่สิ่งสุดท้าย สมาธิ ความมั่นคงแห่งจิต นี้คนเราก็มีไม่ใช่ไม่มี อย่าเข้าใจว่าคนทั่วไปไม่มีสมาธิ จะมีแค่คนที่ฝึกสมาธิ คนทั่วไปสัตว์ทั่วไปมันก็มีสมาธิตามธรรมชาติ ยักษ์ มาร ฝีสาง เทวดา ก็มีสมาธิตามแบบของยักษ์ มาร แม้แต่สัตว์เดรัชฉานมันก็มีสมาธิตามแบบของสัตว์เดรัชฉาน ปลาบางชนิดจะพ่นน้ำให้ถูกเหยื่อที่บินอยู่ในอากาศได้ด้วยความมีสมาธิ หรือความเชี่ยวชาญ ความชำนาญ ซึ่งที่แท้ก็เป็นสมาธิ ที่มีอยู่เองตามธรรมชาติ เด็กๆ เล่นทอยกอง เล่นหยอดหลุม หรือขว้างนกขว้างสัตว์อะไรก็ตาม ทำได้โดยมีสมาธิตามธรรมชาติ สมาธินี้มีอยู่ตามธรรมชาติ จึงถือว่าสิ่งที่มีชีวิตมันก็มีสมาธิ ตามสมควรแห่งชีวิตของมันด้วยกันทุกชนิด ขอให้ดูให้ดีว่า องค์ 8 แห่งมรรคนี้ก็คือสิ่งที่สัตว์มีอยู่แล้วตามปกติแต่มันไม่ถูกต้อง จงเข้าใจข้อนี้ว่ามันไม่ถูกต้อง ต้องเอามาจัดมาทำให้ถูกต้อง พระพุทธเจ้าท่านทรงทราบว่าจะต้องทำอย่างไรมันถึงจึงจะถูกต้อง ก็จัดองค์ 8 ประการนี้ให้ได้รับการฝึกฝนปฏิบัติให้มันถูกต้อง มันจึงจะเป็น อริยอัฏฐังคิกมรรคขึ้นมา อย่าลืมว่า ท่านเติมคำว่า อริยะ เข้าไปด้วย อริโยอัฏฐังคิกโกมรรคโค ของเราที่มีอยู่ตามธรรมชาติโดยสามัญสำนึก สัญชาตญาณนั้นมันไม่อริโย คือมันไม่สัมมา ไม่ถูกต้อง ไม่อริโย คือไม่กำจัดกิเลส ซึ่งเป็นฆ่าศึก ที่นี้เราก็มาดูทบทวนซ้ำกันอีกทีว่ามันถูกต้องอย่างไร แล้วให้มันมีความงามอย่างไรนี่อัฏฐังคิกมรรคก็จะเป็นศิลปะสูงสุดดขึ้นมาเพราะเหตุนี้ ข้อแรกความคิดเห็นเรามีกันได้ทุกคน ความที่เกิดมาแล้วได้รับการอบรมอย่างไร อบรมผิดก็มีความคิดเห็นผิด เด็กๆ บางคนถึงชอบขโมย มันมีความคิดเห็นว่าขโมยดีกว่า เมื่อได้รับการอบรมดี มันก็มีความคิดเห็นว่าไม่เอาไม่ขโมย นี่มันแล้วแต่ว่าได้รับการอบรมสั่งสอนมาอย่างไร พระพุทธเจ้าท่านวางหลักสำหรับความคิดเห็นไว้ว่า เห็นเรื่องที่สำคัญที่สุดอย่างถูกต้อง เห็นอย่างถูกต้องในเรื่องที่สำคัญที่สุด เรื่องอะไรสำคัญที่สุด ก็เรื่องดับทุกข์ ถ้าเราทำ ทำอย่างไรจึงจะดับทุกข์ เด็กๆ ก็คิดว่าไปขโมยก็ได้ เอามาใช้ เอามากินสบาย ก็ดับทุกข์ หรือคนที่มันมีปัญญาว่าปฏิบัติอย่างนั้นอย่างนี้ต่างๆ นาๆ ซึ่งเป็นลัทธินอกพุทธศาสนาก็มีอยู่มากมาย ว่านี่มันดับทุกข์ ท่านว่ามันไม่สำเร็จประโยชน์ ต้องมาเอากันที่ตัวความทุกข์ว่ามันเป็นอย่างไร เหตุให้เกิดทุกข์เป็นอย่างไร ความดับสนิทแห่งความทุกข์เป็นอย่างไร หนทางถึงความดับทุกข์เป็นอย่างไรที่เราเรียกกันว่าอริยสัจ 4 ถ้าไปสนใจคำบาลี มันก็ฟังดูยุ่งยาก ก็พูดกันอย่างไทยๆ ก็แล้วกันว่า ความทุกข์ยากลำบากที่เรากำลังประสบอยู่นี้มันเป็นอย่างไร มันมาจากอะไร ถ้าจะให้มันไม่มี ให้มันหมดไปจะต้องทำอย่างไร ให้มีความคิดความเห็นให้ถูกต้องในประเด็นเหล่านี้ ความทุกข์เราก็รู้สึกอยู่แก่ใจ แต่เราก็ไม่สนใจที่จะรู้หรือเข้าใจว่ามันเกิดมาจากอะไร พอมีความทุกข์ขึ้นมาก็ทุกข์เหมือนกับคนบ้า ถึงกับร้องห่มร้องไห้ ถึงกับฆ่าตัวตาย โดยไม่ต้องดูว่าไอ้ความทุกข์นี้มันเป็นอย่างไร มาจากอะไร ทำอย่างไรจึงจะดับทุกข์ได้ ก็แปลว่าไอ้ความคิดเห็นที่เรามีมีอยู่ตามธรรมชาติ โดยสัญชาตญาณนั้นมันไม่สำเร็จประโยชน์ ต้องมาอบรมกันเสียใหม่ มาทำภาวนา คือการอบรมทำภาวนา ภาวนา แปลว่า การอบรม อาวิตา หมายความว่าอบรมแล้ว ต้องทำให้เป็นของที่อบรมแล้ว มีความคิดเห็นที่ถูกต้องว่าทุกข์เป็นอย่างนี้ เหตุหยุดทุกข์เป็นอย่างนี้ ทุกข์ไม่มีเป็นอย่างนี้ หนทางที่จะทำให้ทุกข์ดับไปเป็นอย่างนี้อย่างนี้ ความคิด ความเห็น ความเข้าใจ ความเชื่อ ความรู้ นี่อยู่ในกลุ่มเดียวกัน แต่บาลีใช้คำว่า ทิฏฐิ แปลว่าความเห็น ความรู้ ความเข้าใจ ความเชื่อ มันก็รวมอยู่ที่นี่ ฉนั้นเราจงทำให้มันเข้ารูปกัน เป็นความคิดเห็นที่ถูกต้อง เข้าใจผิดก็ผิด เชื่อผิดก็ผิด เรียนมาผิดก็ผิด มันก็ผิดน่ะ ต้องมาทำให้มันถูกต้องจนเกิดเป็นความคิดเห็นหรือทิฏฐิที่ถูกต้อง แล้วก็เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ พูดซ้ำอีกทีว่า ทุกคนมีทิฏฐิเป็นของตนมาแต่เกิดแต่มันไม่ถูกต้อง นี่มารับการอบรมศึกษาให้มันถูกต้องตามที่พระพุทธเจ้าท่านสอนไว้ แล้วมันก็งาม เมื่อก่อนนี้มันสกปรกแทบจนดูไม่ได้ ความคิดความเห็นมันยังโง่เขลา หรือเป็นอันธพาลไปเสียก็มี มันไม่งาม นี่พอมาได้รับการอบรมดีเป็นองค์แห่งอัฏฐังคิกมรรคแล้ว มันก็งาม ดูแล้วมันก็น่าชื่นใจ ที่นี้ดูองค์ที่สอง คือ สังกัปปะ ก็คือ ความต้องการ ความปรารถนา ความใคร่ที่จะได้ ทุกคนมี สัตว์เดรัชฉานก็มี มนุษย์ก็มี เด็กเล็กๆ ก็มี ผู้ใหญ่ก็มี คนแก่ก็มี ก็มทั้งนั้นแหละความต้องการ แต่มันไม่ถูกต้อง มันไปต้องการในสิ่งที่ไม่ควรต้องการบ้าง มันก็ไปต้องการในสิ่งที่ไม่อาจจะได้บ้าง มันต้องการผิดๆ ชนิดที่เป็นอันตรายแก่ตัวผู้ต้องการเองบ้าง ก็มาศึกษากันเสียใหม่ว่า อะไรควรต้องการหรือไม่ควรต้องการ เพื่อพบแล้วมันก็ต้องแต่ในทางที่ถูกต้อง ต้องการจะออกจากทุกข์ ต้องการจะไม่มีความทุกข์ ต้องการจะอยู่ด้วยกันอย่างไม่มีความทุกข์ ก็เลยเป็นความต้องการที่ถูกต้อง เป็นความต้องการที่มีความงดงามอยู่ในตัวมันเอง ความต้องการนี้ทุกคนมีและก็หวังที่จะให้ความต้องการนั้นประสบผลสำเร็จ แต่แล้วก็ทำไม่เป็นมันก็ไม่ประสบผลสำเร็จ บางทีมันกลับตรงกันข้ามเสียก็มี ใฝ่ฝันหรือหวังจนขาดใจตายไปมันก็ไม่ได้ตามที่ต้องการอย่างนี้ก็มีเพราะมันไม่ถูกต้อง เพราะมันไม่เป็นความการที่ถูกต้อง พอเป็นความต้องการที่ถูกต้องตามหลักของธรรมะ ความต้องการนั้นก็งดงาม และมันก็ได้ตามที่ต้องการด้วยมันก็ยิ่งงดงามใหญ่

หน้าที่ 5 – สัมมาสังกัปปะ อากาลิโก
องค์ที่สองคือ สัมมาสังกัปปะ มันก็มีความงาม ชีวิตเดียวที่สองมันก็งาม ชีวิตเดียวที่หนึ่ง ทิฏฐิ มันก็งาม ชีวิตเดียวที่สอง สังกัปปะ มันก็งาม ชีวิตเดียวที่สาม การพูดจา ซึ่งเป็นเครื่องสื่อสารระหว่างคนด้วยกัน เราจำเป็นที่จะต้องพูดจา ไม่อย่างนั้นมันก็จะไม่มีความเจริญก้าวหน้า ถ้าหากว่าไม่มีการพูดจามนุษย์ก็ยังคงอยู่เหมือนสัตว์ คือถ่ายความรู้ให้กันไม่ได้ สัตว์ไม่มีเครื่องมือถ่ายความรู้เพราะมันพูดไม่ได้ ถ่ายสติปัญญากันไม่ได้ แต่มนุษย์โชคดีที่เกิดพูดได้กันมาตั้งแต่เมื่อไรก็ไม่รู้

ซึ่งทีแรกก็คงพูดไม่เป็นเหมือนกันแล้วมันเกิดพูดเป็นขึ้นมาตั้งแต่เมื่อไรก็ไม่รู้ มันก็ได้สิ่งประเสริฐ คือ การพูดจา มาใช้สำหรับการสื่อสาร เพื่อจะรับความรู้เข้ามาใส่ตนมากขึ้นทุกทีๆ เด็กคลอดมาจากท้องแม่ได้ยินได้ฟังนั่นนี่เพิ่มขึ้นเรื่อย ค่อยรู้ความมากขึ้นๆ โดยทางวาจา นี่เรียกว่ามีวาจาสำหรับการรับเข้ามาเพิ่มความรู้ให้แก่ตน

อีกทางหนึ่งก็มีวาจาสำหรับให้ความรู้ออกไปแก่ผู้อื่น การพูดจามันจึงจำเป็น เมื่อมันสามารถทำได้อย่างนี้มันก็มีโอกาสที่เป็นเครื่องมือที่จะประพฤติด้วยความหวังดีก็ได้ ด้วยความหวังร้ายก็ได้ มันอาจจะใช้เป็นเรื่องหลอกลวงเอาของผู้อื่นมาเป็นของตนก็ได้ หรือมันจะแสดงความดุร้ายให้ออกมาทางวาจาก็ได้ หรือพูดทำให้เกิดความยุ่งยากลำบาก ยุยงให้แตกความสามัคคีก็ได้ แล้วแต่ว่าความคิดนั้นมันผิดไปอย่างไรแล้วการพูดจาก็ผิดตามไปด้วย ฉนั้นการพูดจาก็มีส่วนทำให้โลกนี้พินาศได้ถึงต้องมีการควบคุม พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้และวางบทบัญญัติเกี่ยวกับการพูดจาไว้ว่าต้องเป็นอย่างนี้ๆ ถึงจะเรียกว่ามีการพูดจาชอบ เอามาพิจารณาดู จะเห็นว่ามันเป็นชีวิตเดียวที่งดงามด้วย คือ การพูดจา ไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อ ก็แปลว่าไม่มีความสกปรกเหลืออยู่แม้แต่นิดเดียวในการพูดจา เป็นการพูดจาที่สะอาดสวยสดงดงาม นี่การมีวาจาถูกต้องเป็นสัมมาวาจา มันก็เป็นความงดงาม ชีวิตเดียวที่สี่ คือการเคลื่อนไหวทางกาย ปล่อยไปตามธรรมดามันก็เหมือนสัตว์เดรัชฉาน ต้องทำไปด้วยสติปัญญา ชีวิตนี้อยู่นิ่งไม่ได้ ธรรมชาติมันบังคับให้หยุดนิ่งไม่ได้ ขนาดอยู่นิ่งๆ ไม่ทำอะไรมันก็ตาย ไม่กินอาหาร ไม่เคลื่อนไหว ไม่ทำอะไรหมดมันก็ตาย ทีนี้มันต้องเคลื่อนไหว การเคลื่อนไหวก็ต้องมีหลักเกณฑ์ว่าเคลื่อนไหวอย่างไรมีประโยชน์เคลื่อนไหวอย่างไรเป็นโทษ มันก็เคลื่อนไหวแต่ที่มีประโยชน์ การเคลื่อนไหวที่ไปกระทบกระทั่งประโยชน์ของผู้อื่นนั้นต้องงดเว้น นี่เราจึงเคลื่อนไหวแต่ในทางที่ไม่เป็นโทษแก่ผู้ใด และเป็นประโยชน์ทั้งแก่เราและผู้อื่น ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม หรือไม่กระทำอะไรทุกอย่างที่มันเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้ มันก็เลยงาม งามอยู่ที่วาจา งามอยู่ที่กายด้วยกัน ชีวิตเดียวที่ห้า ได้แก่ การดำรงชีวิตให้รอดอยู่ได้ ชีวิตมันต้องการจะรอดอยู่ได้โดยสัญชาตญาณ อย่างไรๆ มันก็ไม่ยอมตาย มันจะดิ้นรนๆ จนชีวิตรอดอยู่ได้ ที่นี้มันมีปัญหาอยู่ว่าการดิ้นรนนั้นมันถูกต้องหรือไม่ ถ้าไม่ถูกต้องมันก็กลับเบียดเบียนคนนั้นเอง เบียดเบียนสัตว์ตัวนั้นเอง หรือเบียดเบียนผู้อื่นพร้อมกันไป อย่างนี้เรียกว่าเลี้ยงชีวิตไม่ถูกต้อง ควรจะเปลี่ยนเสียเลิกเสีย เลี้ยงชีวิตอย่างถูกต้องไม่มีการเบียดเบียนใคร เพื่อว่าจะไม่มีใครเดือดร้อน เพราะว่าถ้ามันมีใครเดือดร้อนก็แล้วมันทนอยู่ไม่ได้ มันต้องทำปฏิกริยาตอบกลับมา ไอ้คนทำทีแรกมันก็จะต้องเดือดร้อนด้วย มันเลยกลายเป็นเดือดร้อนกันไปหมด ไม่มีใครสงบสุขอยู่ได้ เพราะฉะนั้นเราต้องมีการเลี้ยงชีวิตซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุดนั้นในลักษณะที่ไม่กระทบกระทั่งใคร ถ้าดีที่สุดก็ส่งเสริมซึ่งกันและกัน เอื้อเฟื้อซึ่งกันเผื่อแผ่และกัน เพราะว่าทุกคนต้องการเลี้ยงชีวิตให้อยู่รอดด้วยกันทั้งนั้น ชีวิตเดียวองค์ที่หก คือความพยายาม สัตว์มีความพยายามที่จะให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามความต้องการของตน ถ้ามันมีแต่กิเลส มีแต่อวิชชา มันก็ต้องการผิด มันก็พยายามผิด แม้มีสติปัญญาจะเป็นสติปัญญาอย่างโลภๆ นี้ก็มีทางให้พยายามผิด คือพยายามรับใช้กิเลส เหมือนคนสมัยนี้พยายามเต็มที่ ขยันเต็มที่ หาเงิน หาทอง หาทรัพย์ หาอำนาจมาเพื่อรับใช้กิเลส เพื่อซื้อหาตามอารมณ์ พยายามทำงานให้ได้เงินมากๆ เพื่อซื้อหาตามอารมณ์ ดูความพยายามเขาสิ ลองทำพยายามเพื่อดับทุกข์นั้นไม่สนใจ ไม่รู้อะไรเป็นทุกข์ อะไรเป็นความดับทุกข์ มันก็เลยพยายามตัวเป็นเกลียวสร้างความทุกข์ขึ้นมาใหม่ ทำอะไรทุกอย่างเพื่อซื้อหาความเอร็ดอร่อย ความสนุกสนานทางเนื้อทางหนัง ไม่เห็นว่านี่เป็นเรื่องเสียเปล่าไม่มีประโยชน์อะไรและก็มีความทุกข์เพิ่มขึ้นด้วย ความพยายามตามหลักของอัฏฐังคิกมรรคก็คือ พยายามระวัง ทำให้มันเกิดความผิดพลาดความชั่วร้ายขึ้นมา และก็ละความชั่วร้ายที่เกิดมาแล้วเสีย พยายามให้ความดีความถูกต้องเกิดขึ้นมา และก็รักษาความดีความถูกต้องนั้นไว้ให้มันมีอยู่ ให้มันเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป พยายามอย่างนี้มันก็เหมือนกับพยายามที่จะทำตนให้บริสุทธิ์ สะอาด ปราศจากกิเลสและความทุกข์ กิเลสเป็นของสกปรก ให้เกิดผลคือความทุกข์ ผู้มีปัญญาก็พยายามที่จะชำระชะล้างกิเลส หรือป้องกันความทุกข์อยู่ตลอดเวลา ฉะนั้นจึงไม่ไปหาเงินมากๆ เพื่อซื้อหาตามอารมณ์ เป็นทาสของกามมารมณ์ และก็ทำอย่างอื่น ไม่ต้องเป็นทุกข์ เรียกว่าความพยายามนั้นจะปลดเปลื้องความทุกข์ยิ่งๆ ขึ้นไปทุกทีๆ ให้มีความใกล้พระนิพพานยิ่งๆ ขึ้นไปทุกทีๆ เรียกได้ว่าการพยายามนั้นพยายามเพื่อจะเข้าใกล้พระนิพพาน จนถึงพระนิพพาน คือ ความสงบเย็น ไม่มีความทุกข์เลยที่นี่และเดี๋ยวนี้ ไม่ต้องรอตอนตายแล้ว นิพพานแปลว่า เย็น เย็นก็ไม่มีของร้อน กิเลสเป็นของร้อน ไม่มีของร้อนมันก็เย็น และต้องเย็นที่นี่และเดี๋ยวนี้ ถ้าไม่เช่นนั้นมันไม่เป็นธรรมะในพระพุทธศาสนา ธรรมะในพระพุทธศาสนามีใจความจำกัดชัดเจนอยู่แล้ว กลัวแต่ว่าท่านทั้งหลายจะสวดอย่างเพ้อเจ้อ นกแก้วนกขุนทอง ไม่รู้ความหมาย “สวาขาโต ภควตาธัมโม” ธรรมะอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว “สันทิฏฐิโก” เห็นเองประจักษ์เอง ถ้าไม่เห็นเองไม่ประจักษ์พยานเองแล้วไม่ใช่ธรรมะของพระพุทธเจ้าที่กล่าวไว้ดีแล้ว “อากาลิโก” ไม่ต้องจำกัดเวลา ตอนนั้นตอนนี้ หรือตอนตายแล้ว เป็นต้น ทำเมื่อไหร่ได้เมื่อนั้น อันนี้เป็นอากาลิโก “เอหิปัสสิโก” ดีขนาดจะเรียกกันมาดู “โอปะนะยิโก” ควรจะมีในตน “ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ” รู้สึกเฉพาะตนเป็นคนๆ ไป ถ้าพระนิพพานที่อื่น ตอนทางอื่นมันไม่เป็นสันทิฏฐิโก

หน้าที่ 6 – สันทิฏฐิโก
เมื่อไม่เป็นสันทิฏฐิโกไม่เป็นธรรมะในพระพุทธศาสนา ฉนั้นต้องเย็น ปรากฎอยู่ในใจว่ามันเย็น เย็นเมื่อยังไม่ตาย เมื่อยังมีความรู้สึกอยู่สำหรับจะรู้สึกว่ามันเย็น เมื่อไม่มีกิเลสซึ่งเป็นของร้อนมันเย็น รู้อยู่แก่จิตใจว่ามันเย็น นี้เป็นสันทิฏฐิโก ถ้าไม่สันทิฏฐิโก ไม่ใช่หลักธรรมะในพระพุทธศาสนา อาตมาพยายามอธิบายให้เห็นว่านรกคืออย่างนั้น ในจิตใจอย่างนั้น สวรรค์คือเป็นรู้สึกในจิตใจอย่างนั้น กลับถูกหาว่าพูดเอาเองผิดๆ ไม่พูดตามที่เขาพูดว่าตายแล้วจึงจะไปนรกหรือสวรรค์ เป็นต้น อย่างนั้นมันไม่สันทิฏฐิโก อย่างมากมันก็ได้แต่เชื่อหรือคาดคะเนเอา แต่ถ้าที่มันเป็นไฟร้อนอู้ๆ อยู่ในใจนี่มันสันทิฏฐิโก นี่ถ้ามันสบายอยู่ในใจมันก็เป็นสันทิฏฐิโก เรื่องนรกเรื่องสวรรค์ก็ต้องเป็นสันทิฏฐิโกรู้สึกอยู่ในใจ จึงจะเป็นเรื่องในพระพุทธศาสนา คือเป็นสันทิฏฐิโก นี่เราจะต้องทำสิ่งที่เรียกว่าพระธรรมนั้นให้ปรากฎอยู่ในใจ พยายามให้ใกล้พระนิพพาน พยายามให้ถึงพระนิพพาน คือความเย็นที่ปรากฎอยู่ในใจเพราะว่างจากกิเลส เราป้องกันไม่ให้กิเลสเกิดขึ้นได้นานเท่าไร เราก็เย็นอยู่กับพระนิพพานได้นานเท่านั้น

วันหนึ่งๆ ขอให้มันเย็นอยู่กับพระนิพพานให้นานที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ นี่แหละขอให้เราพยายามชอบ ภาคเพียรชอบกันที่ตรงนี้ หรืออยู่กับพระนิพพานให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ ชีวิตเดียวที่เจ็ด สติ ความมีสติ สติตามธรรมชาติเหมือนสัตว์เดรัชฉานทั่วไปนั้นไม่พอ หรือสติตามที่มนุษย์ธรรมดามีกันอยู่นั้นมันไม่พอ มันไม่เร็ว เห็นสิ่งนารักมันก็รักเสียแล้ว เห็นสิ่งที่น่าโกรธมันก็โกรธเสียแล้ว เห็นสิ่งที่น่ากลัวมันก็กลัวเสียแล้ว มันก็เป็นทุกข์เสียแล้ว สติมันไม่พอ ถ้ามีสติพอที่จะยับยั้งความรู้สึกอันนั้นไว้และก็เอาปัญญามาแก้ไขความรู้สึกผิดๆ ความเข้าใจผิดๆ นั้นทันแก่เวลา เปรียบเทียบให้จำง่าย ให้จำไว้ว่า สติเหมือนยานพาหนะขนส่ง คือมันระลึกได้นั้นมันไปเอามา คิดถึงพระพุทธ พระรรม พระสงฆ์ ก็ไปเอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์มา ระลึกถึงความจริงเรื่องอนิจจัง ทุกข์ขัง อนัตตา ก็คือไปเอาความจริงเรื่องนี้มามาทันเวลาในขณะที่เกิดปัญหาขึ้นมาแล้ว ตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส การได้โผฏฐัพพะที่ผิวหนัง จิตรู้สึกอะไรขึ้นแล้ว มันจะเป็นทุกข์ ถ้าปล่อยไปตามความโง่ความไม่รู้ ความรู้มาได้อย่างไร ก็สตินั้นแหละไปเอามา เคยได้ยินได้ฟังได้อบรมศึกษาเล่าเรียนเอาไว้อะไรนั้นเป็นปัญญาไปเก็บไว้ที่แห่งหนึ่ง สติไปขนเอามาใช้ทันเวลาเมื่อมีการกระทบทางอายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เดี๋ยวนี้เราไม่มีสติพอถึงขนาดนั้น และบางทีเราก็ไม่มีปัญญาด้วย สติก็ไม่มีด้วย มันก็เลยเป็นไปตามบุญตามกรรม ในโลกนี้มีอะไรให้โกรธก็โกรธ มีอะไรให้รักก็รัก มีอะไรให้เกลี้ยดก็เกลียด มีอะไรให้กลัวก็กล้ว ก็เหมือนกับคนบ้า เพราะไม่มีสติยับยั้งความรู้สึกคิดนึก อยากโกรธก็โกรธ อยากรักก็รัก เรียกว่าอย่างผลุนผลันไม่มีการบังคับความรู้สึกด้วยสติ อย่างนี้เราจะเลวยิ่งกว่าสัตว์เดรัชฉานเสียอีก เพราะสัตว์เดรัชฉานยังไม่ผลุนผลันมันยังเนือยๆ มันยังระงับความรู้สึกไว้ได้มาก ไอ้คนเรานี้ไม่บังคับความรู้สึก ไม่มีสติจะบังคับความรู้สึกมันก็เลยมีปัญหาร้ายกาจ เป็นทุกข์ทรมานแก่มนุษย์นั้นเอง ถ้ามนุษย์เผชิญหน้ากับสิ่งที่มีความหมายมาก มีอำนาจมาก มีอิทธพลมาก หรือส่งเสริมกิเลสมากก็พูดอย่างนี้ดีกว่า ถ้าไม่มีสติปัญญาพอมันก็ต้องไปเป็นทาสของกิเลส เราจะต้องมีสติฝึกไว้ดี ฝึกไว้รวดเร็ว นับตั้งแต่ฝึกหยุดไว้ก่อนยังไม่ลงมือคิดหรือพูดหรือทำ ยังไม่ตัดสินใจ เป็นอุปกรณ์อันหนึ่งที่จะมีสติ หรือจะเรียกเป็นสติในขั้นต้นก็ได้ หยุดไว้ก่อน ยังไม่รู้สึก ยังไม่คิดนึก เหมือนนิทานนับสิบก่อน นับหนึ่งไม่ถึงสิบยังไม่พูด จะมีระยะพอสำหรับที่จะคิดจะนึก จะรู้สึก จะตัดสินใจ อาตมาให้คำพูดไว้อีกแบบหนึ่งว่า จะทำอะไรให้นึกถึงพระพุทธเจ้าก่อน เพื่อมีสตินั้นเอง นึกถึงพระพุทธเจ้าก่อน ก่อนที่จะพูด จะคิด จะทำ จะตัดสินใจอะไรในกรณีนี้นึกถึงพระพุทธเจ้าก่อน จะทำอะไรทางกาย ทางวาจา ทางใจ จะโกรธใคร จะต่อว่าใคร จะด่าใคร จะหย่าเมีย จะหย่าผัว จะทำอะไรก็ตามใจ ให้ระลึกถึงพระพุทธเจ้าก่อนแล้วจึงค่อยตัดสินใจ นี่มันเรียกว่ามันเป็นโอกาสของสติ อยากจะแนะให้สังเกตว่า ขนบธรรมเนียมประเพณีของพวกเราทำอะไรตั้งนะโมก่อน จะทำอะไรก็ตามใจตั้งนะโมก่อน เพื่อสำรวญสติให้สมบูรณ์เสียก่อนแล้วจึงทำอะไรลงไป ไอ้เด็กๆ ที่จะขึ้นต้นไม้มันก็พนมมือตั้งนะโมก่อนแล้วมันจึงค่อยขึ้นไป นี่คือมันสำรวญสติให้ดีเสียก่อน ระบบประสาทมันก็ดีที่สุดเสียก่อน แล้วมันจึงขึ้นต้นไม้ แล้วมันก็ไม่พลาด มันพลาดยากเพราะมันทำไปด้วยสติ นี้ทำอะไรให้มีสติ จะพูดว่าจะทำอะไรให้นึกถึงพระพุทธเจ้าก่อนเพื่อให้โอกาสแก่สติ ทีนี้ในทางพระพุทธศาสนานั้นตรัสไว้เกี่ยวกับในทางอัฏฐังคิกมรรคนี้ “สติเป็นไปในกาย สติเป็นไปในเวทนา สติเป็นไปในจิต สติเป็นไปในธรรม” ที่เรียกว่า สติปัฏฐานทั้ง 4 นั้นมันชั้นสูงสุด ถ้ามีการฝึกฝนสติโดยเลือกเอาสิ่งที่ดีที่สุดมาฝึกฝน คือเรื่องของกาย ความจริงทั้งหลายเกี่ยบกับกาย และเรื่องของเวทนา ซึ่งเป็นต้นเหตุแห่งกิเลสตัณหา และก็เรื่องของจิต ซึ่งเป็นเสมือนหนึ่งผู้ปกครองกาย และก็เรื่องของธรรมะ คือสัจจะของสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเอามาทำสติ มันก็ได้สติสูงสุดเท่านั้นเอง และก็ได้ปัญญาพร้อมกันไปในการทำสตินั้นด้วย ฉะนั้นการเจริญสติปัฏฐานนั้นได้ทั้งสติ ได้ทั้งปัญญา ทำพร้อมกันนี้มันดี คือมันจะได้เป็นเกลอสนิทสนมไม่ค่อยแยกจากกัน ทำสติปัฏฐานนั้นเป็นเหตุให้คลอดออกมาทั้งสติ ทั้งปัญญา มันเป็นเกลอกอดคอกันสนิทสนม มันจะได้ไปด้วยกันง่าย มาด้วยกันง่าย ฉะนั้นสติปัฏฐานจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุดสำหรับฝึกสติ มีสติอย่างนี้แล้วก็งดงามเกินที่จะเปรียบได้ เดียวชีวิตเดียวนี้งดงามเกินที่จะเปรียบแล้ว มาถึงสุดท้าย ชีวิตเดียวที่แปด ความมีสมาธิ หรือสมาธิ เป็นความมั่นคงแห่งจิต คนเราก็มีสมาธิอยู่ตามธรรมชาติอย่าง ที่เรียกว่า สัญชาตญาณ ถ้าไม่สมาธิเสียเลยมันก็ทำอะไรไม่ได้ ทำอะไรไม่ถูก สมาธิตามธรรมชาติที่เห็นได้ง่ายๆ เช่นว่าเราจะถ่มน้ำลายให้ถูกอะไรก็ได้ เราจะขว้างก้อนหินให้ถูกอะไรก็ได้ เราจะเล่นหยอดหลุม ทอยกองได้ดีที่สุด สำหรับคนที่มีสมาธิ จะเล่นหมากรุกก็เล่นได้เก่งที่สุดสำหรับคนที่มีสมาธิ สมาธิตามธรรมชาติมันก็มีอยู่แล้วตามสมควรกับธรรมชาติ แต่ว่ายังไม่พอ มันก็จริงมันมักจะสลายกระจัดกระจายกันหมด ต้องมาฝึกกันใหม่ ฝึกโดยตรง ฝึกกับจิตให้จิตมีความเป็นสมาธิ จิตที่มีความเป็นสมาธินั้น ก็คือมีความตั้งมั่นรวมกำลังกัน จิตนั้นมีความบริสุทธิจากกิเลส ว่างจากกิเลสไปพักหนึ่ง และจิตนั้นเป็นอิสระว่องไว เคลื่อนไหวเร็วในการทำหน้าที่ของตน ที่มีสมาธิมีความหมาย 3 ประการอย่างนี้ “สมาหิโต” ตั้งมั่น “ปริสุทฺโธ” บริสุทธิ์ “กมฺมนีโย” ว่องไวในหน้าที่การงานของจิต ถ้าทำจิตให้เป็นอย่างนี้นั่นก็คือมีสมาธิตามหลักแห่งพระพุทธศาสนา จะงามหรือไม่งาม งามกี่มากน้อย ขอให้ไปลองคิดดูว่าคนที่มีจิตอย่างนี้คือจิตมีกำลังเข้มแข็งแสดงฤทธิ์ปาฏิหาริย์ก็ได้ มีจิตบริสุทธิ์ปราศจากกิเลสมันก็เป็นสุขเหลือประมาณในสมาธินั้น มีจิตคล่องแคล่วว่องไวกับการงานมันก็ทำงานได้ดีทั้งการงานทางบ้านเรือนในโลกๆ หรือในทางธรรมทางศาสนาจะบรรลุผลในทางธรรมวิปัสนากรรมฐานอย่างนี้ก็ทำได้ดี นี่จิตที่เป็นสมาธิมีความงดงามเหลือที่จะกล่าวได้ ขอให้สนใจ เพราะชีวิตซึ่งอาจจะแยกได้เป็นแปดเกลียวนั้น ถ้าปล่อยไปตามธรรมดามันก็ไม่น่าดู มันเพียงแต่อยู่ได้เหมือนๆ กับสัตว์เดรัชฉาน จะต้องมาอบรมให้ถูกต้องตามหลักพรหมจรรย์ในพระพุทธศาสนาแล้ว ชีวิตทั้งแปดเกลียวนั้นจะงดงามอย่างยิ่ง งดงามตามแบบของตนๆ ทั้งแปดเกลียว เอาทั้งแปดเกลียวมาควั่นเป็นเชือกเส้นเดียวมันก็ยิ่งงดงามถึงที่สุด เพราะมันรวมความงามทั้งหมดเข้าด้วยกัน

หน้าที่ 7 – ชั้นอริยะ
พอมองเห็นว่าอัฏฐังคิกมรรคมีความงดงามสักเท่าไร จนถึงกับว่าคนสมัยนั้นยกมือขึ้นท่วมหัวไหว้พระอัษฎางคิกมรรค เคารพเท่าพระพุทธเจ้าเลย เพราะพระพุทธเจ้าคือพระธรรม พระธรรมสร้างพระพุทธเจ้าขึ้นมา และก็เหมือนกันหมดแหละที่ว่าอัฏฐังคิกมรรคเป็นพรหมจรรย์สำหรับขจัดความทุกข์ของทุกหมู่ ทุกเหล่า ทุกประเภท มันเป็นหลักที่รวมหมดสำหรับที่จะแก้ปัญหาของทุกคนที่อยู่ในโลกก็ได้ ที่จะออกไปเหนือโลกคือพระนิพพานก็ได้ อย่าเข้าใจผิดตามคน บางคนที่พูดว่า อัฏฐังคิกมรรคนี้เอาไว้สำหรับไปนิพพาน อย่าเอามาสอนเด็กๆ ลูกหลานในบ้านในเรือน มันไม่ได้ มันผิดฝาผิดตัว มันจะทำให้เงอะงะ นั่นแหละคนนั้นมันหลับตาพูดเพราะมันไม่รู้ว่าอัฏฐังคิกมรรคคืออะไร

ถ้ามันเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งจะเห็นว่าอัฏฐังคิกมรรคนี้จะใช้ตั้งแต่เบื้องต่ำที่สุดจนถึงเบื้องสูงทีสุด แม้ลูกเด็กๆ ของเรานี้ก็ต้องมีอริยมรรค มีองค์แปด มีความคิดเห็นถูกต้อง มีความต้องการถูกต้อง มีการพูดจาถูกต้อง มีการกระทำงานถูกต้อง เลี้ยงชีวิตถูกต้อง พยายามถูกต้อง มีสติถูกต้อง มีสมาธิถูกต้องในระดับของเด็กๆ จะต้องมีหลักเกณฑ์อย่างนี้นั้น ขอให้ช่วยกันทำให้รุ่นเด็กๆ มันมีการเดินทางที่ถูกต้อง ดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง มีความงดงามสูดสุดในระดับเด็กๆ ให้เด็กน้อยๆ มีอัฏฐังคิกมรรคครบถ้วนเหมือนกัน แม้ว่าจะไม่มาก ไม่ใหญ่ ไม่โตสูงเท่าของผู้ใหญ่ ก็ขอให้มีอย่างครบถ้วนทั้งแปดองค์ด้วยเหมือนกัน เพราะมันเป็นชีวิตที่แยกออกไปได้แปดเกลียวเหมือนกันมาตั้งแต่เล็กแล้ว แยกออกเป็นเกลียวๆ สอนมันแต่ละเกลียวให้มันถูกต้อง ให้มันมีความคิดเห็นถูกต้อง มีความต้องการถูกต้อง มีการพูดจาถูกต้อง มีการกระทำทางกายถูกต้อง เลี้ยงชีวิตถูกต้อง ภาคเพียรพยายามอย่างถูกต้อง มีสติถูกต้อง มีสมาธิถูกต้อง ที่เป็นอย่างทางกายก็ให้มี ที่เป็นอย่างทางจิตก็ให้มี ที่เป็นอย่างทางวิญญาณคือทางสติปัญญาก็ให้มี อย่างที่เรียกว่า มีศีล สมาธิ ปัญญา 3 ประการนี้อยู่ในอัฏฐังคิกมรรค คือ มรรคมีองค์ 8 ก็จะมีความงามสูงสุดโดยไม่ต้องสงสัย อาตมาพยายามชี้ให้ท่านทั้งหลายเห็นความงาม หรือความเป็นศิลปะ งามด้วย สำเร็จประโยชน์ด้วย และละเอียดปราณีตน่านับถือด้วยในชีวิตที่ประกอบด้วยอัฏฐังคิกมรรคนนี้นั้น และก็แยกให้เห็นเป็นตัวๆ เป็นองค์ๆ เป็นเกลียวๆ ว่ามันงามอย่างไร และเมื่อรวมกันเข้าทั้งหมดแล้วมันมีความงามอย่างไร ให้หัวข้อว่าอัฏฐังคิกมรรคยอดศิลปะแห่งการดำเนินชีวิต ที่นี้มันก็มีจุดรวมอยู่ว่ามันเป็นอริยะ เป็นของชั้นอริยะ ไม่ใช่ชั้นธรรมดา ท่านปุถุชนคือชั้นธรรมดา ชั้นอริยะ คือ ไม่ใช่ธรรมดา สูงสุดประเสริฐ วิเศษ เรียกว่า อริยมรรค มรรคที่เป็นอริยะ แปลว่าไปจากฆ่าศึก ออกจากฆ่าศึก อยู่เหนือฆ่าศึก ฆ่าศึก คือ กิเลส จะไปจากกิเลสก็ได้ อยู่เหนือกิเลสก็ได้ ผลมันก็เท่ากัน อริยะแปลว่าไปจากฆ่าศึก อริยะแปลว่าอยู่เหนือฆ่าศึก อริยะ แปลว่างดงามประเสริฐเหนือศิลปะทั้งหลาย ศิลปะให้โลกนี้จะมีกี่ร้อยอย่างพันอย่างก็ตามไม่งดงามเท่ากับศิลปะแห่งการดำเนินชีวิตโดยหลักแห่งอัฏฐังคิกมรรค งดงามในขั้นต้น งดงามในท่ามกลาง งดงามในเบื้องปลาย งดงามในขั้นต้นของอัฏฐังคิกมรรคก็คือว่า แรกถึงกระแสอัฏฐังคิกมรรค เพียงแต่เข้ามาสู่กระแส เหมือนเหยียบธรณีประตูเข้ามา ยังไม่ได้เขาข้างใน อย่างนี้ก็คือความเป็นพระโสดาบัน มาที่ต้นกระแสแห่งพระนิพพาน เป็นพระโสดาบันงดงามในเบื้องต้น ที่นี้ก็เดินไปตามกระแสนั้นก็มีความงดงามในท่ามกลาง คือ พระสกิทาคามี พระอนาคามี ที่นี้ก็ถึงจุดหมายปลายทางงดงามในที่สุดก็คือ พระอรหันต์ อริยมรรคมีอง 8 นี้เป็นตัวทาง หรือกระแส หรือเกลียวจากจุดโลกที่มีความทุกข์นี้ไปสู่ประนิพพานอันเป็นที่สิ้นสุดแห่งความทุกข์ แรกถึงก็เป็นพระโสดาบันเรียกว่างามในเบื้องต้น เดินไปๆ ก็เรียกว่างดงามในท่ามกลางเป็นพระสกิทาคามี เป็นพระอนาคามี ถึงที่สุดปลายทางเรียกว่างดงามในเบื้องปลายก็เป็นพระอรหันต์ ก็ไม่มีอะไรที่จะน่าดูไปกว่านี้แล้ว ไม่มีอะไรจะงดงามไปกว่านี้แล้ว เมื่อพูดถึงเรื่องทางวิญญาณ ทางสติปัญญา มิใช่ทางรูปธรรม ข้อให้ท่านทั้งหลายได้ทำความเข้าใจในศิลปะแห่งการดำเนินชีวิตนั้นจนมองเห็นว่าอัฏฐังคิกมรรคนั้นเป็นยอดศิลปะแห่งการดำเนินชีวิตโดยนัยยะดังที่กล่าวมา และท่านทั้งหลายก็สามารถจะมีปรมัฏฐศีลในการคลองชีวิต ในทุกแง่ทุกมุมโดยแน่นอน มีชีวิตอยู่เหนือปัญญาทั้งปวง มีชีวิตอยู่ในโลกอย่างมีชัยชนะเหนือสิ่งทั้งปวง ก็ไม่มีอะไรเหลือสำหรับจะเป็นทุกข์แล้วจะเอาอะไรกันอีก มันก็ควรจะพอใจ การบรรยายในวันนี้ก็สมควรแก่เวลาแล้ว อาตมาขอยุติด้วยหวังว่าท่านทั้งหลายจะได้เอาไปพินิจพิจารณาอย่างดีที่สุด เพื่อเป็นประโยชน์ที่สุดแก่ท่านทั้งหลาย

http://www.vcharkarn.com/varticle/32386

. . . . . . .