เจาะลึก พระคาถาบูชาหลวงปู่ทวด

เจาะลึก พระคาถาบูชาหลวงปู่ทวด

เมื่อออกแบบปกหนังสือหลวงปู่ทวด
ผู้เขียน (อ.ทรงวิทย์ แก้วศรี) เห็นมีคาถาอยู่ใต้รูปหลวงปู่ทวดว่า
“นะโม โพธิสัตโต อาคันติมายะ อิติภะคะวา”
และภาพประกอบพระหลวงปู่ทวดหลังตัวหนังสือปี ๒๕๐๕
ข้อความตอนบนมีประทับคาถานี้
เป็นภาษาบาลี อักษรขอมอ่านว่า “นโม โพธิสตฺโต อาคนฺติมาย อิติภควา”
ผู้เขียนก็ยังไม่ได้สนใจอะไร โดยเฉพาะเป็นคนที่ไม่เชื่อเรื่องเวทย์มนต์คาถาอยู่แล้ว

ที่ไม่เชื่อ
ไม่ใช่เพราะว่าเวทมนต์คาถาหรือไสยศาสตร์ รวมทั้งโหราศาสตร์ด้วยว่าไม่มีจริง

แต่เพราะ
ไม่เชื่อน้ำมนต์ของคนเสกเวทมนต์คาถาหรือหมอดูมากกว่า

ครั้นต่อมามีความเคยตัวที่ต้องขอพรหรือขอเงินหลวงปู่ทวดใช้เป็นประจำ
คาถาที่ใช้ภาวนาจึงต้องใช้

“นโม โพธิสตฺโต อาคนฺติมาย อิติภควา”
คาถานี้ต่อท้ายบทสวดมนต์ก่อนนอนเป็นประจำ
เลยเกิดความอยากรู้ว่า
พระคาถาประจำหลวงปู่ทวดบทนี้แปลว่าอะไร?

เรื่องคาถาหรือมนต์ต่างๆ นอกจากพระพุทธมนต์ที่เป็นภาษาบาลีแล้ว
เรามักแปลกันไม่ออก
อีกประวัติคลาดเคลื่อนเพราะจำกันมาเลอะเลือนผิดๆ หรืออย่างไรไม่ทราบ

ผู้เขียนเคยถามหลวงพ่ออุตตมะ เมื่อครั้งเป็นกรรมการจัดทำ
หนังสือ “๘๔ ปี หลวงพ่ออุตตมะ” เมื่อ ๑๗ มีนาคม ๒๕๓๗
ถึงเรื่องคำแปลคาถาหรือมนต์บางบท

ท่านตอบอย่างทีเล่นทีจริงยิ้มๆ ว่า
“แปลไม่ได้ก็อย่าไปแปล เพราะแปลแล้วเดี๋ยวจะไม่ขลัง”

เรื่องนี้เห็นจะจริง เพราะมนต์บางบทไม่เป็นภาษา
บางบทแปลได้แต่ความหมาย
ไม่เห็นจะเกี่ยวกับอุปเท่ห์ที่เราต้องการใช้
พลอยจะพาลไม่เชื่อถือก็เลยไม่ศักดิ์สิทธิ์ไปเลย

แต่เรื่องคาถาประจำหลวงปู่ทวดนี้
ผู้เขียนเกิดความสนใจ และเอะใจว่ามีลักษณะผิดกับคาถาหรือมนต์บทอื่นๆ
ซึ่งมักขึ้นด้วยคำว่า “โอม” แบบพราหมณ์ หรือ “สิทธิการิยะ” แบบไทยโบราณ

คาถาประจำหลวงปู่ทวดเป็นภาษาบาลีแบบเถรวาท
แต่ก็แปลไม่ออก เพราะดูเผินๆ มันผิดหลักไวยากรณ์บาลีไปหมด
มีแต่ตัวประธาน (subject) ไม่มีตัวกริยา (verb)
ถ้าแยกศัพท์จะเป็นดังนี้

นโม อันว่าความนอบน้อม (ประธาน)

โพธิสตฺโต อันว่าพระโพธิสัตว์ (ประธาน)

อาคนฺติมาย (แปลไม่ได้)

อิติภควา ว่าเป็นพระผู้มีพระภาคเจ้า
(คำวิกติกัตตา หรือคำวิเศษณ์ = adverb)

ตามหลักบาลีไวยากรณ์นั้น เมื่อมีประธานก็ต้องมีกริยา
ถ้าเป็นกริยาประเภทสอวุตตกัมมะ (transitive verb) ก็ต้องมีกรรม

แต่คาถานี้ยังหากริยาและกรรมไม่พบก็เลยแปลไม่ออก

จึงต้องลองวิเคราะห์กันดู และหาทางแปลออกมาให้ได้

ผู้เขียนเองก็เป็นเปรียญเอก
มีความรู้ทั้งภาษาบาลีและสันสกฤตอยู่ตามสมควรแก่ภูมิ

จึงได้ปรึกษากันกับอาจารย์ชะเอม แก้วคลาย เปรียญ ๗ , M.A.
และอาจารย์สุวัฒน์ โกพลรัตน์ เปรียญ ๙, M.A.
ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาโบราณของหอสมุดแห่งชาติ

ได้วิเคราะห์กันทั้งในแง่หลักภาษาและบาลีไวยากรณ์ จึงแปลกันออก

คาถานี้ผูกเงื่อนงำในทางไวยากรณ์และให้ความหมายที่ดีมาก

การผูกประโยคเป็นลักษณะแบบที่เรียกกันว่า ย-ต
คือประโยคส่ง (ย) ประโยครับ (ต)

เวลาแปลต้องโยกศัพท์เข้ามาจึงจะเห็นความสมบูรณ์

ประโยคที่บริบูรณ์จะต้องเขียนดังนี้

“โย เถโร โพธิสตฺโต อิติภควา อิมาย ชนาย อาคนฺติ
นโม ตสฺส โพธิสตฺตสฺส อิติภควโต เถรสฺส อตฺถุ”

ถ้าแปลโดยพยัญชนะหรือแปลยกศัพท์เรียงตัวตามหน้าที่ของคำในประโยค
ตามหลักบาลีไวยากรณ์จะแปลได้ดังนี้

เถโร อันว่าพระเถระ
โย รูปใด
โพธิสตฺโต เป็นพระโพธิสัตว์
ภควาอิติ ได้ชื่อว่าเป็นผู้มีโชค
อาคนฺติ ย่อมมา
ชนาย สู่ชน (หรือบุคคล)
อิมาย ผู้นี้
นโม อันว่าความนอบน้อม
อตฺถุ ขอจงมี
เถรสฺส แก่พระเถระ
โพธิสตฺตสฺส ผู้เป็นพระโพธิสัตว์
อิติภควโต ได้ชื่อว่า ผู้มีโชค
ตสฺส รูปนั้น
ที่วิเคราะห์โดยละเอียดมาข้างต้นนี้
ก็เพื่อรักษารูปแบบการวิเคราะห์และการแปลพระคาถานี้ไว้ในแง่ของบาลีไวยากรณ์
เผื่อว่าอาจจะมีท่านผู้ใดผู้หนึ่งสนใจที่มาที่ไปดังเช่นผู้เขียนก่อนหน้านี้
อย่างไรก็ดีที่แปลยกศัพท์มาก็เพื่อให้เห็นการแปลโดยพยัญชนะ
ถ้าแปลโดยอรรถเป็นภาษาสามัญชนธรรมดา ก็แปลได้อย่างง่ายดายดังนี้

“นะโม โพธิสัตโต อาคันติมายะ อิติภะคะวา
||
ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่เจ้าประคุณสมเด็จหลวงปู่ทวด
ผู้เป็นพระโพธิสัตว์ เป็นผู้มีโชคซึ่งเข้ามาสถิตอยู่ในตัวของข้าพเจ้านี้”

หลวงพ่อทวด วัดห้วยมงคล ตำบลทับใต้ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

อนึ่ง ในฐานะที่หลวงปู่ทวดได้รับพระมหากรุณาธิคุณในพระเจ้าอยู่หัวเอกาทศรถ
โปรดฯ ให้สถาปนาเป็นสมเด็จพระราชมุนีสามีรามคุณูปมาจารย์
ซึ่งอยู่ในฐานะเป็นสมเด็จองค์หนึ่ง
ผู้เขียนมีความเห็นว่า เราน่าจะเรียกชื่อหลวงปู่ทวดว่า
“เจ้าประคุณสมเด็จทวด”
หรือ “เจ้าประคุณสมเด็จหลวงปู่ทวด” ก็ได้
แม้ผู้เขียนและคณะศิษยานุศิษย์ในสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ วัดเบญจมบพิตร
ก็เคยเรียกท่านว่า “เจ้าประคุณสมเด็จหลวงพ่อ”
และเรียกสมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดสระเกศ องค์ปัจจุบัน ซึ่งเป็นอาจารย์ว่า
“เจ้าประคุณสมเด็จอาจารย์”

เพราะฉะนั้นผู้เคารพเลื่อมใสในหลวงปู่ทวด จึงควรที่จะเรียกท่านว่า
“เจ้าประคุณสมเด็จหลวงปู่ทวด” จึงจะเหมาะสม

ด้วยสังฆานุภาพของเจ้าประคุณสมเด็จหลวงปู่ทวด
ขอผู้มีความเลื่อมใสศรัทธาเจริญภาวนาพระคาถาบทนี้เป็นนิจ
จงเป็นผู้มีโชค ประสบแต่สรรพสิ่งสิริมงคล
วิบูลพูลผล ในลาภยศ สรรเสริญ สุข จงทุกประการเทอญฯ

**** อาจารย์ทรงวิทย์ แก้วศรี เรียบเรียงขึ้น
ถวายเป็นสังฆบูชาเจ้าประคุณสมเด็จหลวงปู่ทวด

วันที่ ๒ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๓๘ เวลา ๐๒.๐๐ น.

=======================
โดย ทรงวิทย์ แก้วศรี
บทความข้างต้นคัดลอกจากนิตยสารพระเครื่องกรุงสยาม
ฉบับที่ ๘ พ.ศ.๒๕๓๘

http://www.oknation.net/blog/print.php?id=661233

. . . . . . .