แนวทางการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานสติปัฏฐาน ๔
โดย
พระเทพสิงหบุราจารย์ (จรัญ ฐิตธมฺโม)
วัดอัมพวัน สิงห์บุรี
วิปัสสนากรรมฐาน
กล่าวโดยทั่วไป
วิปัสสนาฯ เป็นเรื่องของการศึกษาชีวิตเพื่อจะปลดเปลื้องความทุกข์นานาประการ ออกเสียจากชีวิต เป็นเรื่องของการค้นหาความจริงว่า ชีวิตมันคืออะไรกันแน่ ปกติเราปล่อยให้ชีวิตดำเนินไปตามความเคยชินของมัน ปีแล้วปีเล่า มันมีแต่ความมืดบอด
วิปัสสนาฯ เป็นเรื่องของการตีปัญหาซับซ้อนของชีวิต เป็นเรื่องของการค้นหาความจริงของชีวิตตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงกระทำมา
วิปัสสนาฯ เป็นการเริ่มต้นในการปลดเปลื้องตัวเราให้พ้นจากความเป็นทางของความเคยชิน
ในตัวเรานั้น เรามีของดีที่มีคุณค่าอยู่แล้ว คือ สติสัมปชัญญะ แต่เรานำออกมาใช้น้อยนัก ทั้งที่เป็นของมีคุณค่าแก่ชีวิตหาประมาณมิได้ วิปัสสนาฯ เป็นการระดมเอาสติทั้งหมดที่มีอยู่ในตัวเรา เอาออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์
วิปัสสนาฯ คือการอัญเชิญ สติ ที่ถูกทอดทิ้งขึ้นมานั่งบัลลังก์ของชีวิต เมื่อสติขึ้นมานั่งสู่บัลลังก์แล้ว จิตก็จะคลานเข้ามาหมอบถวายบังคมอยู่เบื้องหน้าสติ สติจะควบคุมจิตมิให้แส่ออกไปคบหาอารมณ์ต่าง ๆ ภายนอก ในที่สุดจิตก็จะค่อยคุ้นเคยกับการสงบอยู่กับอารมณ์เดียว เมื่อจิตสงบตั้งมั่นดีแล้ว การรู้ตามความจริงก็เป็นผลตามมา เมื่อนั้นแหละเราก็จะทราบได้ว่าความทุกข์มันมาจากไหน เราจะสกัดกั้นมันได้อย่างไร นั่นแหละผลงานของ สติ ละ
ภายหลังจากได้ทุ่มเทสติสัมปชัญญะลงไปอย่างเต็มที่แล้ว จิตใจของผู้ปฏิบัติก็จะได้สัมผัสกับสัจจะแห่งสภาวธรรมต่าง ๆ อันผู้ปฏิบัติไม่เคยเห็นอย่างซึ้งใจมาก่อน ผลงานอันมีค่าล้ำเลิศของสติสัมปชัญญะ จะทำให้เราเห็นอย่างแจ้งชัดว่า ความทุกข์ร้อนนานาประการนั้น มันไหลเข้ามาสู่ชีวิตของเราทางช่องทวาร ๖ ช่องทวาร นั้นเป็นที่ต่อและบ่อเกิดสิ่งเหล่านี้คือ ขันธ์ ๕ จิต กิเลส
ช่องทวาร ๖ นี้ ทางพระพุทธศาสนาท่านเรียกว่า อายตนะ อายตนะมีภายใน ๖ ภายนอก ๖ ดังนี้ อายตนะภายในมี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อายตนะภายนอกมี รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (กายถูกต้องสัมผัส) ธรรมารมณ์ (อารมณ์ที่เกิดจากใจ) รวม ๑๒ อย่างนี้ มีหน้าที่ต่อกันแบบ คู่ คู่ คือ ตาคู่กับรูป หูคู่กับเสียง จมูกคู่กับกลิ่น ลิ้นคู่กับรส กายคู่กับการสัมผัสถูกต้อง ใจคู่กับอารมณ์ที่เกิดจากใจ เมื่ออายตนะคู่ใดคู่หนึ่ง ต่อถึงกันเข้า จิตก็จะเกิดขึ้น ณ ที่นั้นเองและจะดับไป ณ ที่นั้นทันที จึงเห็นไดว่า จิตไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน การที่เราเห็นว่าจิตเป็นตัวตนนั้น ก็เพราะว่าการเกิดดับของจิตรวดเร็วมาก การเกิดดับของจิต เป็นสันติคือ เกิดดับต่อเนื่องไม่ขาดสาย เราจึงไม่มีทางทราบได้ถึงความไม่มีตัวตนของจิต ต่อเมื่อเราทำการกำหนด รูป นาม เป็นอารมณ์ตามระบบวิปัสสนากรรมฐาน ทำการสำรวม สติสัมปชัญญะอย่างมั่นคง จนจิตตั้งมั่นดีแล้ว เราจึงจะรู้เห็นการเกิด ดับ ของจิต รวมทั้งสภาวธรรมต่าง ๆ ตามความเป็นจริง
การที่จิตเกิดทางอายตนะต่าง ๆ นั้นมันเป็นการทำงานร่วมกันของขันธ์ ๕ เช่น ตากระทบรูป เจตสิกต่าง ๆ ก็เกิดตามมาพร้อมกันคือ เวทนา เสวยอารมณ์ สุข ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ สัญญา จำได้ว่ารูปอะไร สังขาร ทำหน้าที่ปรุงแต่ง วิญญาณ รู้ว่ารูปนี้ ดี ไม่ดี หรือเฉย ๆ ขาดสติกำหนดเป็นโมหะ อันนี้เองจะบันดาลให้อกุศลกรรมต่าง ๆ เกิดติดตามมา อันความประพฤติชั่วร้ายต่าง ๆ ก็จะเกิด ณ ตรงนี้เอง
การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน โดยเอาสติเข้าไปตั้งกำกับจิตตามช่องทวารทั้ง ๖ เมื่อปฏิบัติได้ผลแก่กล้าแล้ว ก็จะเข้าติดต่ออายตนะทั้ง ๖ คู่นั้นไม่ให้ติดต่อกันได้โดยจะเห็นตามความเป็นจริงว่า เมื่อตากระทบรูปก็จะเห็นว่า สักแต่ว่าเป็นแค่รูปไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน บุคคลเราเข้าไม่ทำให้ความรู้สึกนึกคิดปรุงแต่งให้เกิดความพอใจหรือไม่ พอใจเกิดขึ้น รูปก็จะดับลงอยู่ ณ ตรงนั้นเอง ไม่ให้ไหลเข้ามาสู่ภายในจิตใจได้ อกุศลกรรมทั้งหลายก็จะไม่ตามเข้ามา
สติที่เกิดขึ้นขณะปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานนั้น นอกจากจะคอยสกัดกั้นกิเลสไม่ให้เข้ามาทางอายตนะแล้วยังเพ่งเล็งอยู่ที่รูปกับนาม เมื่อเพ่งอยู่ก็จะเห็นความเกิดดับของรูปนาม นั้นจักนำไปสู่การเห็นพระไตรลักษณ์ คือ ความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความไม่มีตัวตนของสังขารหรืออัตภาพอย่างแจ่มแจ้ง
การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานนั้น จะมีผลน้อยมากเพียงใด อยู่ที่หลักใหญ่ ๓ ประการ ๑. อาตาปี ทำความเพียรเผากิเลสให้เร่าร้อน ๒. สติมา มีสติ ๓. สัมปชาโนมีสัมปชัญญะอยู่กับรูปนามตลอดเวลาเป็นหลักสำคัญ นอกจากนั้นผู้ปฏิบัติต้องมีศรัทธา ความเชื่อว่าการปฏิบัติเช่นนี้มีผลจริง ความมีศรัทธาความเชื่อว่าการปฏิบัติเช่นนี้มีผลจริง ความมีศรัทธานี้ เปรียบประดุจเมล็ดพืชที่สมบูรณ์ พร้อมที่จะงอกงามได้ทันทีที่นำไปปลูก ความเพียร ประดุจน้ำที่พรมลงไปที่เมล็ดพืชนั้นเมื่อ เมล็ดพืชให้น้ำพรมลงไป ก็จะงอกงามสมบูรณ์ขึ้นทันที เพราะฉะนั้น ผู้ปฏิบัติจะได้ผลมากน้อยเพียงใดย่อมขึ้นอยู่กับสิ่งเหล่านี้ด้วย
การปฏิบัติ ผู้ปฏิบัติจะต้องเปรียบเทียบดู จิตใจของเราในระหว่าง ๒ วาระ ว่า ก่อนที่ยังไม่ปฏิบัติและหลังการปฏิบัติแล้ว วิเคราะห์ตัวเองว่ามีความแตกต่างกันประการใด
หมายเหตุ เรื่องของวิปัสสนากรรมฐานที่เขียนขึ้นดังต่อไปนี้ จะยึดถือเป็นตำราไม่ได้ ผู้เขียนเขียนขึ้นเป็นแนวปฏิบัติเท่านั้น โดยพยายามเขียนให้ง่ายแก่การศึกษาและปฏิบัติมากที่สุดเท่าที่จะกระทำได้เท่านั้นเอง
เกิดเป็นคนต้องช่วยตนเสียก่อน
แล้วกลับย้อนช่วยคนอื่นจึงจะได้
ต้องรู้จักฝึกหัดทั้งทั้งกายใจ
จึงค่อยไปแนะคนอื่นให้ทำตาม
วิปัสสนากรรมฐาน
ธุระในพระศาสนามี ๒ อย่างคือ
๑. คันถะธุระ
๒. วิปัสสนาธุระ
คันถะธุระ ได้แก่การศึกษาเล่าเรียนให้รู้เรื่องพระศาสนา และหลักศีลธรรม
วิปัสสนาธุระ ได้แก่ธุระหรืองานอย่างสูงในพระศาสนา ซึ่งเป็นงานที่จะช่วยให้ผู้นับถือพระพุทธศาสนาได้รู้จักดับทุกข์ หรือเปลื้องทุกข์ออกจากตนได้มากน้อยตามควรแก่การปฏิบัติ ทางนี้ทางเดียวเท่านั้นที่จะทำให้คนพ้นทุกข์ตั้งแต่ทุกข์เล็กจนถึงทุกข์ใหญ่ เช่น การเกิด แก่ เจ็บตาย และเป็นทางปฏิบัติที่มีอยู่ในศาสนาของพระพุทธเจ้าเท่านั้น
วิปัสสนาธุระ คือ ส่วนมากเราเรียกกันว่า วิปัสสนากรรมฐานนั่นเอง เมื่อกล่าวถึงกรรมฐานขอให้ผู้ปฏิบัติแยกกรรมฐานออกเป็น ๒ ประเภทเสียก่อนการปฏิบัติจึงจะไม่ปะปนกัน กรรมฐานมี ๒ ประเภทคือ
๑. สมถกรรมฐาน กรรมฐานชนิดนี้เป็นอุบายให้ใจสงบคือ ใจที่อบรมในทางสมถะแล้วจะเกิดนิ่ง และเกาะอยู่กับอารมณ์หนึ่งเพียงอย่างเดียว อารมณ์ของสมถะกรรมฐานนั้น แบ่งออกเป็น ๔๐ กอง คือ กสิณ ๑๐ อสุภ ๑๐ อนุสติ ๑๐ พรหมวิหาร ๔ อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑ จตุธาตุวัฏฐาน ๑ อรูปธรรม ๔
๒. วิปัสสนากรรมฐาน เป็นอุบายให้เรืองปัญญา คือ เกิดปัญญาเห็นแจ้งหมายความว่า เห็นปัจจุบัน เห็นรูปนาม เห็นพระไตรลักษณ์ และเห็น มรรค ผล นิพพาน
การเรียนรู้วิปัสสนากรรมฐานนั้นเรียนได้ ๒ อย่างคือ ๑. เรียนอันดับ ๒. เรียนสันโดษ
การเรียนอันดับ คือ การเรียนให้รู้จัก ขันธ์ ๕ ว่าได้แก่อะไรบ้าง ย่อให้สั้นในทางปฏิบัติ เหลือเท่าใด ได้แก่อะไร เกิดที่ไหน เกิดเมื่อไร เมื่อเกิดขึ้นแล้วอะไรจะเกิดตามมาอีก จะกำหนดตรงไหนจึงจะถูกขันธ์ ๕ เมื่อกำหนดถูกแล้วจะได้ประโยชน์อย่างไรบ้าง เป็นต้น นอกจากนี้ก็ต้องเรียนให้รู้เรื่องใน อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ อินทรีย์ ๒๒ อริยสัจ ๔ ปฏิจจสมุปบาท ๑๒ โดยละเอียดเสียก่อน เรียกว่า เรียนภาคปริยัติ วิปัสสนาภูมินั่นเอง แล้วจึงจะลงมือปฏิบัติได้
การเรียนสันโดษ คือ การเรียนย่อ ๆ สั้น ๆ สอนเฉพาะที่ต้องปฏิบัติเท่านั้น เรียนชั่วโมงนี้ก็ปฏิบัติชั่วโมงนี้เลย เช่น สอนการเดินจงกรม สอนวิธีนั่ง กำหนด สอนวิธีกำหนดเวทนา สอนวิธีกำหนดจิต แล้วลงมือปฏิบัติเลย
หลักใหญ่ในการปฏิบัติวิปัสสนาฯ มีหลักอยู่ ๓ ประการ คือ
๑. อาตาปี ทำความเพียรเผากิเลสให้เร่าร้อน
๒. สติมา มีสติ คือระลึกอยู่เสมอว่าขณะนี้เราทำอะไร
๓. สัมปชาโน มีสัมปชัญญะ คือขณะนี้ทำอะไรอยู่นั้นต้องรู้ตัวอยู่ตลอดเวลา
วิธีปฏิบัติ
๑. การเดินจงกรม ก่อนเดินให้ยกมือไขว้หลัง มือขวาจับข้อมือซ้าย วางไว้ตรงกระเบนเหน็บ ยืนตัวตรง เงยหน้า หลับตา ให้ทำความรู้สึกโดย จิต สติ รู้อยู่ตั้งแต่กลางกระหม่อมแล้วกำหนด ยืน หนอ ช้า ๆ ๕ ครั้ง ขณะนั้นให้สติอยู่ที่ร่างกายอย่าให้ออกไปนอกกาย เสร็จแล้วลืมตาขึ้น ก้มหน้า ทอดสายตาไปข้างหน้าประมาณ ๔ ศอก สติจับอยู่ที่เท้า การเดิน กำหนดว่า ขวา ย่าง หนอ กำหนดในใจคำว่า ขวา ต้องยกส้นเท้าขวาขึ้นจากพื้นประมาณ ๒ นิ้ว เท้ากับใจนึกต้องให้พร้อม คำว่า ย่าง ก้าวเท้าขวาไปข้างหน้าให้ช้าที่สุด เท้ายังไม่เหยียบพื้น คำว่า หนอ เท้าเหยียบพื้นเต็มฝ่าเท้า อย่าให้ส้นเท้าหลังเปิด เวลายกเท้าซ้ายก็เหมือนกัน กำหนดคำว่า ซ้าย ย่าง หนอ คงปฏิบัติเช่นเดียวกับ ขวา ย่าง หนอ ระยะก้าวในการเดินห่างกันประมาณ ๑ คืบ เป็นอย่างมากเพื่อการทรงตัวขณะก้าวจะได้ดีขึ้นเมื่อเดินสุดสถานที่ใช้เดินแล้ว พยายามใช้เท้าขวาเป็นหลักคือ ขวา ย่าง หนอ แล้วตามด้วย เท้าซ้าย ย่าง หนอ จะประกบกันพอดี แล้วกำหนดว่า หยุดหนอ จากนั้นเงยหน้า หลับตากำหนด ยืน หนอ ช้า ๆ อีก ๕ ครั้ง เหมือนกับที่ได้อธิบายมาแล้ว ลืมตา ก้มหน้า ท่ากลับ การกลับกำหนดว่า กลับหนอ ๔ ครั้ง คำว่ากลับหนอครั้งที่หนึ่ง ยกปลายเท้าขวา ใช้ส้นเท้าขวาหมุนตัวไปทางขวา ๔๕ องศา ครั้งที่ ๒ ลากเท้าซ้ายมาติดกับเท้าขวา ครั้งที่ ๓ ทำเหมือนครั้งที่ ๑ ครั้งที่ ๔ ทำเหมือนครั้งที่ ๒ ขณะนี้จะอยู่ในท่ากลับหลังแล้วต่อไปกำหนด ยืน หนอ ช้า ๆ อีก ๕ ครั้ง ลืมตา ก้มหน้า แล้วกำหนดเดินต่อไป กระทำเช่นนี้จนหมดเวลาที่ต้องการ
๒. การนั่ง กระทำต่อจากการเดินจงกรม อย่าให้ขาดตอนลงเมื่อเดินจงกรมถึงที่จะนั่ง ให้กำหนด ยืน หนอ อีก ๕ ครั้ง ตามที่กระทำมาแล้วเสียก่อน แล้วกำหนดปล่อยมือลงข้างตัวว่า ปล่อยมือหนอ ๆ ๆ ๆ ๆ ช้า ๆ จนกว่าจะลงสุดเวลานั่งค่อย ๆ ย่อตัวลงพร้อมกับกำหนดตามการการที่ทำไปจริง ๆ เช่น ย่อตัวหนอ ๆ ๆ ๆ เท้าพื้นหนอ ๆ ๆ คุกเข่าหนอ ๆ ๆ นั่งหนอ ๆ ๆ เป็นต้น
วิธีนั่ง ให้นั่งขัดสมาธิ คือ ขาขวาทับขาซ้าย นั่งตัวตรง หลับตา เอาสติมาจับอยู่ที่สะดือที่ท้องพองยุบ เวลาหายใจเข้าท้องพอง กำหนดว่า พอง หนอ ใจนึกกับท้องที่พองต้องให้ทันกัน อย่าให้ก่อนหรือหลังกัน หายใจออกท้องยุบ กำหนดว่า ยุบ หนอ ใจนึกกับท้องที่ยุบต้องทันกัน อย่าให้ก่อนหรือหลังกัน ข้อสำคัญให้สติจับอยู่ที่ พอง ยุบ เท่านั้น อย่าดูลมที่จมูก อย่าตะเบ็งท้องให้มีความรู้สึก ตามความเป็นจริงว่าท้องพองไปข้างหน้า ท้องยุบมาทางหลัง อย่าให้เห็นเป็นไปว่า ท้องพองขึ้นข้างบน ท้องยุบลงข้างล่าง ให้กำหนดเช่นนี้ตลอดไป จนกว่าจะถึงเวลาที่กำหนด
เมื่อมีเวทนา เวทนาเป็นเรื่องสำคัญที่สุด จะต้องบังเกิดขึ้นกับผู้ปฏิบัติแน่นอน จะต้องมีความอดทนเป็นการสร้างขันติบารมี ไปด้วย ถ้าผู้ปฏิบัติขาดความอดทนเสียแล้ว การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานนั้นก็ล้มเหลว
ในขณะที่นั่งหรือเดินจงกรมอยู่นั้น ถ้ามีเวทนาความเจ็บ ปวด เมื่อย คัน ๆ เกิดขึ้นให้หยุดเดิน หรือหยุดกำหนดพองยุบ ให้เอาสติไปตั้งไว้ที่เวทนาเกิด และกำหนดไปตามความเป็นจริงว่า ปวดหนอ ๆ ๆ เจ็บหนอ ๆ ๆ คันหนอ ๆ ๆ เป็นต้น ให้กำหนดไปเรื่อย ๆ จนกว่าเวทนาจะหายไป เมื่อเวทนาหายไปแล้ว ก็ให้กำหนดนั่งหรือเดินต่อไป
จิต เวลานั่งอยู่หรือเดินอยู่ ถ้าจิตคิดถึงบ้าน คิดถึงทรัพย์สินหรือคิดฟุ้งซ่านต่าง ๆ นา ๆ ก็ให้เอาสติปักลงที่ลิ้นปี่พร้อมกับกำหนดว่า คิดหนอ ๆ ๆ ๆ ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจิตจะหยุดคิด แม้ดีใจ เสียใจ หรือโกรธ ก็กำหนดเช่นเดียวกันว่า ดีใจหนอ ๆ ๆ ๆ เสียใจหนอ ๆ ๆ ๆ โกรธหนอ ๆ ๆ ๆ เป็นต้น
เวลานอน เวลานอนค่อย ๆ เอนตัวนอนพร้อมกับกำหนดตามไปว่า นอนหนอ ๆ ๆ ๆ จนกว่าจะนอนเรียบร้อย ขณะนั้นให้เอาสติจับอยู่กับอาการเคลื่อนไหวของร่างกาย เมื่อนอนเรียบร้อยแล้วให้เอาสติมาจับที่ท้อง แล้วกำหนดว่า พองหนอ ยุบหนอ ต่อไปเรื่อย ๆ ให้คอยสังเกตให้ดีว่า จะหลับไป ตอนพอง หรือตอนยุบ
อิริยาบถต่าง ๆ การเดินไปในที่ต่าง ๆ การเข้าห้องน้ำ การเข้าห้องส้วม การรับประทานอาหาร และการกระทำกิจการงานทั้งปวง ผู้ปฏิบัติต้องมีสติกำหนดอยู่ทุกขณะในอาการเหล่านี้ ตามความเป็นจริง คือ มีสติ สัมปชัญญะ เป็นปัจจุบัน อยู่ตลอดเวลา
สรุปการกำหนดต่าง ๆ พอสังเขป ดังนี้
๑. ตาเห็นรูป จะหลับตาหรือลืมตาก็แล้วแต่ ให้ตั้งสติไว้ที่ตา กำหนดว่า เห็นหนอ ๆ ๆ ๆ ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะรู้สึกว่าเห็นก็สักแต่ว่าเห็น ละความพอใจและความไม่พอใจออกเสียได้ ถ้าหลับตาอยู่ ก็กำหนดไปจนกว่าภาพนั้นจะหายไป
๒. หูได้ยินเสียง ให้ตั้งสติไว้ที่หู กำหนดว่า เสียงหนอ ๆ ๆ ๆ ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะรู้สึกว่าเสียง ก็สักแต่ว่าเสียง ละความพอใจและความไม่พอใจออกเสียได้
๓. จมูกได้กลิ่น ตั้งสติไว้ที่จมูก กำหนดว่า กลิ่นหนอ ๆ ๆ ๆ ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะรู้สึกว่ากลิ่น ก็สักแต่ว่ากลิ่น ละความพอใจและความไม่พอใจออกเสียได้
๔. ลิ้นได้รส ตั้งสติไว้ที่ลิ้น กำหนดว่า รสหนอ ๆ ๆ ๆ ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะรู้สึกว่ารส ก็สักแต่ว่ารส ละความพอใจและความไม่พอใจออกเสียได้
๕. การถูกต้องสัมผัส ตั้งสติไว้ตรงที่สัมผัส กำหนดตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ละความพอใจและความไม่พอใจออกเสียได้
๖. ใจนึกคิดอารมณ์ ตั้งสติไว้ที่ลิ้นปี่ กำหนดว่า คิดหนอ ๆ ๆ ๆ ไปเรื่อย ๆ จนกว่าความนึกคิดจะหายไป
๗. อาการบางอย่างเกิดขึ้น กำหนดไม่ทัน หรือกำหนดไม่ถูกว่าจะกำหนดอย่างไร ตั้งสติไว้ที่ลิ้นปี่ กำหนดว่า รู้หนอ ๆ ๆ ๆ ไปเรื่อย ๆ จนกว่าอาการนั้นจะหายไป
การที่เรากำหนดจิต และตั้งสติไว้เช่นนี้ เพราะเหตุว่าจิตของเราอยู่ใต้บังคับของความโลภ ความโกรธ ความหลง เช่น ตาเห็นรูป ชอบใจ เป็นโลภะ ไม่ชอบใจ เป็นโทสะ ขาดสติไม่ได้กำหนด เป็นโมหะ หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายถูกต้องสัมผัส ก็เช่นเดียวกัน
การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน โดยเอาสติเข้าไปตั้งกำกับตามอายตนะนั้น เมื่อปฏิบัติได้ผลแก่กล้าแล้ว ก็จะเข้าตัดที่ต่อของอายตนะต่าง ๆ เหล่านั้นมิให้ติดต่อกันได้ คือว่า เมื่อเห็นรูปก็สักแต่ว่าเห็น เมื่อได้ยินเสียงก็สักแต่ว่าได้ยิน ไม่ทำความรู้สึกนึกคิดปรุงแต่งให้เกิดความพอใจหรือความไม่พอใจในสิ่งที่ปรากฎให้เห็น และได้ยินนั้น รูป และ เสียงที่ได้เห็นและได้ยินนั้นก็จะดับไป เกิด และดับ อยู่ที่นั้นเอง ไม่ไหลเข้ามาภายใน อกุศลธรรมความทุกข์ร้อนใจที่คอยจะติดตาม รูป เสียง และอายตนะภายนอกอื่น ๆ เข้ามาก็เข้าไม่ได้
สติที่เกิดขึ้นขณะปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานนั้น นอกจากจะคอยสกัดกั้นอกุศลธรรมและความทุกข์ร้อนใจที่จะเข้ามาทางอายตนะแล้ว สติเพ่งอยู่ที่ รูป นาม เมื่อเพ่งเล็งอยู่ก็ย่อมเห็นความเกิดดับของ รูป นาม ที่ดำเนินไปตามอายตนะต่าง ๆ อย่างไม่ขาดสาย การเห็นการเกิดดับของ รูป นาม นั้นจะนำไปสู่การเห็น พระไตรลักษณ์ คือ ความไม่เที่ยง ความทุกข์ และความไม่มีตัวตนของสังขาร หรือ อัตภาพอย่างแจ่มแจ้ง
สติปัฏฐาน ๔
มักจะมีคำถามอยู่เสมอว่า เราจะปฏิบัติธรรมในแนวไหน หรือสำนักใด จึงจะเป็นการถูกต้องและได้ผล คำถามเช่นนี้เป็นคำถามที่ถูกต้องและไม่ควรถูกตำหนิว่าชอบเลือกนั่นเลือกนี่ ที่ถามก็เพื่อระวังไว้ไม่ให้เดินทางผิด ทางปฏิบัติที่ถูกต้อง คือ ปฏิบัติตามสติปัฏฐาน ๔
สติปัฏฐาน ๔ แปลให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ ฐานที่ตั้งของสติ หรือ เหตุปัจจัยสำหรับปลูกสติให้เกิดขึ้นในฐานทั้ง ๔ คือ
๑. กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ การพิจารณากาย จำแนกโดยละเอียดมี ๑๔ อย่างคือ
๑. อัสสาสะปัสสาสะ คือ ลมหายใจเข้าออก
๒. อิริยาบถ ๔ คือ ยืน เดิน นั่ง นอน
๓. อิริยาบถย่อย การก้าวไปข้างหน้า ถอยไปทางหลัง คู้ขาเหยียดขาออก งอแขนเข้า เหยียดแขนออก การถ่ายหนักถ่ายเบา การกิน การดื่ม การเคี้ยว ฯลฯ คือ การเคลื่อนไหวร่างกายต่าง ๆ
๔. ความเป็นปฏิกูลของร่างกาย (อาการ ๓๒)
๕. การกำหนดร่างกายเป็นธาตุ ๔
๖. ป่าช้า ๙
๒. เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ การเจริญสติ เอาเวทนาเป็นที่ตั้ง เวทนาแปลว่า การเสวยอารมณ์ มี ๓ อย่างคือ
๑. สุขเวทนา
๒. ทุกขเวทนา
๓. อุเบกขาเวทนา
เมื่อเวทนาเกิดขึ้น ก็ให้มีสติสัมปชัญญะกำหนดไปตามความเป็นจริงว่า เวทนานี้เมื่อเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ไม่เที่ยงแท้แน่นอน เวทนาก็สักแต่ว่าเวทนา ไม่ใช่สัตว์บุคคล ตัวตนเราเขา ไม่ยินดียินร้าย ตัณหาก็จะไม่เกิดขึ้น และปล่อยวางเสียได้ เวทนานี้เมื่อเจริญให้มาก ๆ เป็นไปอย่างสมบูรณ์แล้ว อาจทำให้ทุกขเวทนาลดน้อยลง หรือไม่มีอาการเลยก็เป็นได้ อย่างที่เรียกกันว่า สามารถแยก รูปนาม ออกจากกันได้ (เวทนาอย่างละเอียดมี ๙ อย่าง)
๓. จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ได้แก่ การปลูกสติโดยเอา จิตเป็นอารมณ์ หรือเป็นฐานที่ตั้งจิตนี้มี ๑๖ คือ
จิตมีราคะ จิตปราศจากราคะ
จิตมีโทสะ จิตปราศจากโทสะ
จิตมีโมหะ จิตปราศจากโมหะ
จิตหดหู่ จิตฟุ้งซ่าน
จิตยิ่งใหญ่ (มหัคคตจิต) จิตไม่ยิ่งใหญ่ (อมหัคคตจิต)
จิตยิ่ง (สอุตตรจิต) จิตไม่ยิ่ง (อนุตตรจิต)
จิตตั้งมั่น จิตไม่ตั้งมั่น
จิตหลุดพ้น จิตไม่หลุดพ้น
การทำวิปัสสนา ให้มีสติพิจารณากำหนดให้เห็นว่า จิตนี้เมื่อเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ไม่เที่ยงแท้แน่นอน ละความพอใจและความไม่พอใจออกเสียได้
๔. ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ มีสติพิจารณาธรรมทั้งหลายทั้งปวง คือ
๔.๑ นิวรณ์ คือ รู้ชัดในขณะนั้นว่า นิวรณ์ ๕ แต่ละอย่างมีอยู่ในใจ หรือไม่ ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้นได้อย่างไร ที่เกิดขึ้นแล้วจะละเสียได้อย่างไร ที่ละได้แล้วไม่เกิดขึ้นอีกต่อไปอย่างไร ให้รู้ชัดตามความเป็นจริงที่เป็นอยู่ในขณะนั้น
๔.๒ ขันธ์ ๕ คือ กำหนดรู้ว่าขันธ์ ๕ แต่ละอย่างคืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร ดับไปได้อย่างไร
๔.๓ อายตนะ คือ รู้ชัดในอายตนะภายในภายนอกแต่ละอย่าง รู้ชัดในสังโยชน์ที่เกิดขึ้น เพราะอาศัยอายตนะนั้น ๆ รู้ชัดว่าสังโยชน์ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้นได้อย่างไร ที่เกิดขึ้นแล้วละเสียได้อย่างไร
๔.๔ โพชฌงค์ คือ รู้ชัดในขณะนั้นว่า โพชฌงค์ ๗ แต่ละอย่างมีอยู่ในใจตนหรือไม่ ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้นได้อย่างไร ที่เกิดขึ้นแล้ว เจริญเต็มบริบูรณ์ได้อย่างไร
สรุป ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน นี้คือ จิต ที่คิดเป็น กุศล อกุศล และ อัพยากฤต เท่านั้น ผู้ปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ ต้องทำความเข้าใจอารมณ์ ๔ ประการให้ถูกต้องคือ
๑. กาย ทั่วร่างกายนี้ไม่มีอะไรสวยงามแม้แต่ส่วนเดียว ควรละความพอใจและความไม่พอใจออกเสียได้
๒. เวทนา สุข ทุกข์ และไม่สุขไม่ทุกข์นั้นแท้จริงแล้วมีแต่ทุกข์ แม้เป็นสุขก็เพียงปิดบังความทุกข์ไว้
๓. จิต คือ ความนึกคิด เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงแปรผัน ไม่เที่ยง ไม่คงทน
๔. ธรรม คือ อารมณ์ที่เกิดกับจิต อาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น เมื่อเหตุปัจจัยดับไป อารมณ์นั้นก็ดับไปด้วย ไม่มีสิ่งเป็นอัตตาใด ๆ เลย
อานิสงส์ในการเดินจงกรม
๑. อดทนต่อการเดินทางไกล
๒. อดทนต่อความเพียร
๓. มีอาพาธน้อย
๔. ย่อยอาหารได้ดี
๕. สมาธิที่ได้ขณะเดินตั้งอยู่ได้นาน (ในปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกาย เล่ม ๓๒)
ขอบคุณข้อมูลจาก : http://palipage.com/watam/piyapan1/PRACTICE/basic01.htm